คนรุ่นใหม่ไม่ใช่พลุไฟบนการเมืองไทยบทสัมภาษณ์ ‘วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’
มุมมองต่อคนรุ่นใหม่และการเมืองในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เจ้าของรางวัลศรีบูรพา และอดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Thai PBS รวมถึงอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV
Reasons To Read
- มุมมองต่อคนรุ่นใหม่และการเมืองในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เจ้าของรางวัลศรีบูรพา และอดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Thai PBS รวมถึงอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV
- นอกจากเรื่องราวการเมืองกับคนรุ่นใหม่ อีกสิ่งหนึ่งที่เขามีความสนใจ เป็นห่วงและอยากกระตุ้นเตือนสังคมคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต
ท่ามกลางหมอกควันพิษ PM 2.5 ที่เชียงใหม่ รุนแรงควบคู่ไปกับหมอกควันแห่งความไม่ชัดเจนที่อำพรางผลการเลือกตั้งของประเทศไทยในรอบ 5 ปี โดยไม่รู้ว่าอย่างไหนรุนแรงกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คนรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์นั้นร้อนระอุไปด้วยคำถาม หากไร้ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจมาให้ความกระจ่าง แต่อย่างน้อยวันนี้ก็ยังมีผู้ใหญ่ใจดีบางท่านที่พร้อมจะพุดคุยกับคนหนุ่มสาว พูดเพื่อให้พวกเขายังมีความรู้ และมีความหวัง แม้ว่าผู้ใหญ่คนนี้จะโดนกระทำมาไม่น้อยก็ตาม
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ‘สารคดี’ ที่ยืนหยัดข้างสิ่งแวดล้อมมาตลอด เขาเคยเป็นรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Thai PBS และผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV ที่ซื่อตรงในการทำหน้าที่จนต้องชนกับขั้วอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล คสช. ถึงสองครั้ง จนต้องถอยออกจากเก้าอี้การงาน แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดอุดมการณ์ผ่านตัวหนังสืออยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือสิ่งแวดล้อม วันชัยในฐานะคนที่ผ่านประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ มาก่อน เขายังคงเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือในโลกจริง พวกเขาไม่ใช่พลุไฟเพียงข้ามคืนบนฟากฟ้าแห่งการเมืองไทย ต่อให้ พ.ร.บ มั่นคงไซเบอร์ฯ ก็ยากที่หยุดการเสิร์ชหา “ความจริง” ของพวกเขา
และยังคุยไปถึงบาดแผลเก่าๆ ของคนทำสื่อ คำแนะนำจากพี่ถึงน้องในเวทีของนักข่าว และคาดการณ์ถึงสิ่งพิมพ์สุดท้ายอย่าง พ็อกเก็ตบุ๊คส์ ที่ยังไม่ยอมตาย สุดท้ายที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใช้แค่ใจยังไม่พอ แต่ต้องพึ่งพาวิสัยทัศน์และความกล้าหาญของรัฐบาลด้วย ซึ่งผู้มีอำนาจยังมีสิ่งนี้อยู่หรือเปล่า? นั่นคือคำถาม แม้ความหวังที่จะได้คำตอบนั้นริบหรี่วันชัยบอกกับ GM ในวันที่สังคมไทยกำลังต้องการมันจริงๆ
‘Don’t expect but hope อย่าคาดหวังแต่จงมีความหวัง’ วันชัยบอกกับ GM ในวันที่สังคมไทยกำลังต้องการมันจริงๆ
GM : หลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ในสายตาของคุณนั้นคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
วันชัย : ประเด็นแรกที่เป็นข้อสังเกต ถ้าเทียบกับโลกตอนสมัยที่ผมเป็นคนอายุ 20 กว่าๆ กับสมัยนี้ สิ่งที่มันแตกต่างชัดเจนคือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารนะ ผมคิดว่าโลกในออนไลน์ ทำให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้ครบถ้วน อยู่ที่ว่าเขาจะรับไปแบบไหนด้วย แต่ว่าโลกออนไลน์ดีอย่างตรงที่ว่าข้อมูลมันเต็มไปหมดเลย ซึ่งถ้าเทียบกับคนรุ่นผมตอนอายุ 20 การแสวงหาข้อมูลอาจจะไม่ได้ง่ายนัก แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือว่าไลน์ก็ตาม มันทำให้ข้อมูลข่าวสารท่วมทะลัก เมื่อท่วมทะลักทุกคนก็มีสิทธิจะรับรู้ข้อมูลเท่ากัน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมคุยกับน้องๆ รุ่นลูกที่เพิ่งเรียนมหาวิทยาลัยปี 2-3 ว่าพวกเขาคิดอย่างไรเวลาที่ถูกค่อนขอด ว่า เอ๊ะ ทำไมเลือกพรรคนั้น พรรคนี้ หรือเลือกจากอะไร น่าสนใจตรงที่ว่า คนเหล่านี้เขาบอกว่าทุกครั้งที่มีประเด็นในทางการเมืองหรือในสังคม เขาจะหาข้อมูลเอง โอเค การหาข้อมูลของเขาก็มาจากเฟซบุ๊ก จากกูเกิ้ล แต่เขาบอกว่าก็ไม่ได้เชื่อใครนะ แต่เขาจะหาข้อมูลเอง เมื่อหาข้อมูลเองแล้ว เขาก็จะคิดเองว่าเขาจะทำอะไรต่อ ผมเลยคิดว่าการเข้าถึงข้อมูลสมัยนี้มันเร็ว เยอะแยะไปหมดเลย มันก็จะมีข้อดีตรงที่ว่า เขามีข้อมูลเยอะ แต่ก็เป็นหน้าที่แยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด หรืออะไรที่น่าสนใจ อะไรที่จริง หรือไม่จริง กับอย่างที่สองที่ผมว่าน่าสนใจ คือมันทำให้คนเหล่านี้เขาไม่ค่อยเชื่ออะไรง่ายๆ ไอ้ประเด็นที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ชักจูงได้ง่าย ผมเลยไม่มั่นใจว่าเป็นคำพูดที่จริงหรือเปล่า โอเค คนที่พูดอาจมีประสบการณ์มากกว่า แต่สุดท้ายนี้เราต้องยอมรับนะครับว่า เราต้องเคารพความคิดของทุกๆ คน อย่าไปปรามาสว่าคนรุ่นใหม่เขาคิดแบบนี้ เขาเลือกแบบนี้ ฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ดีในการรัฐประหารครั้งนี้ ก็คือทำให้คนจำนวนมากไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น
และเวลาที่คนตื่นตัวทางการเมืองมาก สิ่งแรกที่เขาอยากจะรู้มากที่สุดคือ ความจริงคืออะไร แน่นอนว่าชุดความจริงในสังคมออนไลน์มีเต็มไปหมด อยู่ที่ว่าชุดความจริงที่เขาไปค้นหามาคืออะไร สิ่งสำคัญก็คือผมว่าเราต้องเคารพคนรุ่นใหม่ และผมก็เชื่อว่าเดี๋ยวนี้เด็กไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆ ซึ่งถามว่าสมัยรุ่นผมตอนอายุ 20 ผมก็ไม่เชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดง่ายๆ เหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติของคนวัย 20 ปี ซึ่งเราเรียกเป็นคนหนุ่มสาว มีไฟแรง เขาก็จะมีความเป็นตัวของตัวเอง แน่นอนอยู่แล้ว อาจจะตกผลึกหรือไม่ตกผลึกทางความคิด ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้เขาค่อยๆ เรียนรู้ แต่อย่าไปบอกว่าเขาถูกหลอก อย่าไปบอกว่าเขาถูกชักจูง เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเรียนรู้อะไรมาบ้าง หรือเขาศึกษาอะไรมาบ้าง หรือไม่ได้ศึกษาอะไรเลย และที่สำคัญผมคิดว่าโลกในอนาคตก็จะเป็นโลกของคนเหล่านี้ ผมคิดว่าที่เขามีการตื่นตัวทางการเมือง เขาคิดว่าสิ่งที่ถูกกระทำวันนี้ส่งผลถึงเขาในอนาคตด้วย ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ที่เขามาสนใจปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม และโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจมากๆ เลย เพราะคนจำนวนมากรู้สึกแล้วว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่รุ่นผม หรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำมาตลอดนั้นมันทำลายอนาคต ทำลายโลกในหลายๆ เรื่อง ซึ่งคนรุ่นพวกเขาต้องรับผิดชอบ
GM : ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ทางการเมืองจากที่เราเห็นบนสื่อออนไลน์ มันจะเป็นแค่กระแสที่มาแรงเพียงชั่วคราวหรือเปล่า
วันชัย : ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเหมือนพลุนะครับ พุ่งขึ้นมาแล้วก็วาบหายไป แต่ผมคิดว่าตราบใดก็ตามที่สังคมยังมีความขัดแย้ง มีความงงๆ มีความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม คนจำนวนมากในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง หรือรุ่นเก่าก็ตาม ก็ต้องตั้งคำถามแน่นอน
ชีวิตนี้ผมเลือกตั้งมาเป็นสิบครั้งแล้ว ก็ต้องงมากเลยว่าทำไมเลือกตั้งครั้งนี้ เลือกมาหนึ่งเดือนแล้ว เอ๊ะ ฝันไปเปล่าวะ เราเลือกตั้งแล้วแต่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ซึ่งมันเป็นไปได้ยังไง สมัยก่อนผมเลือกตั้งวันนี้ เย็นนี้ก็รู้เลยว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล อันนี้จึงงงมากๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคม อย่างการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมก็คิดว่าคนจำนวนมากเริ่มสงสัย เริ่มสนใจการเมืองว่าเกิดอะไรขึ้น ปกติผมก็ไม่สนใจการเมืองนะ ถึงเวลาเลือกตั้ง ผมก็ไปเลือก แต่ครั้งนี้ผ่านมาหนึ่งเดือน ทำไมยังไม่รู้อะไรเลย กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ทำอะไร หรือ กกต. มีธงอะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตราบใดก็ตาม สังคมมีความไม่ยุติธรรม สังคมมีปัญหา สังคมมีความรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมคนนี้ไม่แฟร์ คนนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนจะตื่นตัวทางการเมืองโดยอัตโนมัติ และแน่นอนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขามีความเชื่อว่าอนาคตเป็นของเขา แล้วถ้าเกิดเขารู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมการเมืองทุกวันนี้เป็นอย่างนี้วะ เขาก็ต้องสนใจอยู่แล้วครับ ซึ่งถ้าสังเกตในออนไลน์ ในเฟซบุ๊ก หรือในคอมเมนต์อะไรก็ตาม ผมคิดว่าเขาก็มีมุมมองหลายมุมที่ดี แน่นอนว่าบางคนอาจบอกว่าเป็นแค่นักรบหน้าจอ แต่ผมมองว่าบางมุมของเขา ผมก็สนใจนะว่าเขาก็มีความคิด มีวิธีคิดที่น่าสนใจ
ผมคิดว่าเราอย่าไปคิดว่าเด็กมันคิดอะไรไม่เป็น เขามีอะไรที่ซับซ้อน มีอะไรที่ลึกซึ้ง แต่บางทีเขาก็ไม่ได้มาคุยกับผู้ใหญ่ เขาก็คงคุยกับคนรุ่นๆ เขา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ สมัยผมเป็นเด็ก เวลาจะปรึกษาใครก็ปรึกษากับเพื่อน น้อยนักที่จะปรึกษากับผู้ใหญ่ แต่แน่นอนว่าความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามันก็มีมาโดยตลอด ในทุกสังคม ในทุกประเทศ เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าอย่าไปรู้สึกว่าเด็กถูกชักจูง เพราะอันนี้ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากเข้าหาผู้ใหญ่เลย
GM : จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากเลยที่เป็นกลุ่ม first vote เทคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่ โดยที่ไม่สนใจคำแนะนำของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว ปรากฏการณ์ตรงนี้มันอธิบายอะไรกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยได้บ้าง
วันชัย : อันแรกเลยนะครับผมคิดว่าเด็กต้องการการเปลี่ยนแปลง เด็กคงรู้สึกว่าหมดศรัทธากับพรรคการเมืองเก่าๆ แล้วหรือเปล่า แล้วผมคิดว่าภายใต้รัฐบาลเผด็จการ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กจำนวนมากก็รู้สึกถึงความไม่พอใจ ถึงความเอารัดเอาเปรียบ ความไม่ยุติธรรมในช่วง5 ปีที่เขาเจอ และเมื่อถึงเวลาที่เขาได้แสดงออก ต้องบอกก่อนนะครับว่าการเลือกตั้งคือการแสดงออก เขาเชื่อว่าอยากเปลี่ยนแปลงแล้ว และในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดที่เขารู้สึกว่าถูกจริตกับเขามากที่สุด มันก็อาจจะมีอยู่ไม่กี่พรรค เพียงแต่ว่าพรรคอนาคตใหม่ อาจจะโดดเด่น โดดเด่นในแง่ของตัวผู้นำพรรคที่อายุยังไม่เยอะ โดดเด่นในแง่ความรู้ ความสามารถ ความสำเร็จในหน้าที่การงาน แล้วเขาก็โดดเด่นในแง่ที่ว่า หลายๆ เรื่องเขาชัดเจนว่าเขาจะทำอะไร เป็นเรื่องของนโยบายพรรค
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ มันเป็นการบอกสังคมว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าใจในทางจิตวิทยาว่าเด็กมันดื้ออยู่แล้วนะ ยิ่งบอกว่าอย่าทำนะ อย่าเอานะ ก็ยิ่งเลือก โดยเรื่องใหญ่ๆ ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในสังคม ในทางการเมืองที่ชัดเจน แล้วก็อยากได้อะไรใหม่ๆ แต่ว่าในสนามการเมืองที่ผ่านมา มันไม่มีพรรคการเมืองใดที่ทำให้เขารู้สึกอย่างนี้ได้ อาจจะมีหลายพรรคการเมือง แต่บุคลากรข้างในก็อาจจะเป็นนักการเมืองเก่าๆ ที่เคยเป็นมาแล้ว และก็ไม่เห็นทำอะไรให้ดีขึ้นเลย ขณะที่พรรคที่เขาเลือกเนี่ย ใหม่ทุกคน ซึ่งมันก็ถูกจริตสำหรับคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เขาจึงคิดว่าพรรคที่เขาเลือกนั้นน่าจะตอบโจทย์ของพวกเขาได้
GM : คุณคิดว่าร่าง พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ฯ ที่กำลังจะกลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งดูเหมือนจะมีหลายประเด็นที่อาจละเมิดสิทธิของประชาชนได้อย่างชัดเจน สิ่งนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่หวาดกลัว หรือลดทอนการแสดงความคิดของพวกเขาในโลกออนไลน์ลงไปไหม
วันชัย : ผมคิดว่าพวกเขาอาจจะยังไม่รู้นะครับว่า ในรายละเอียดของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่ามันเกี่ยวอะไรกับเขาบ้าง แต่แน่นอนว่าการที่รัฐบาลออก พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ฯ ขึ้นมา มันก็มีนัยยะสำคัญว่าเขาต้องการควบคุมการใช้เสรีภาพทางความคิดของประชาชน เพราะว่ากฎหมายมันครอบจักรวาลมาก ถึงเขาจะอ้างเรื่องความมั่นคง มันก็อยู่ที่ว่าจะไปตีความว่าอะไรคือความมั่นคงหรือไม่มั่นคง เนื่องจากการตีความมันใหญ่มาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่า มันแสดงให้เห็นว่ารัฐต้องการควบคุมสิทธิ เสรีภาพของคนในสังคม โดยให้วิจารณญาณว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งวิจารณญาณของคนมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ฉะนั้นเด็กต้องระวังไหม ผมก็ยังเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากก็ยังไม่ค่อยรู้นะครับ ว่าภัยหรือข้อที่ควรระวังคืออะไรบ้าง นอกเสียจากว่า วันหนึ่งเกิดข่าวขึ้นมาชัดๆ ว่าการใช้ พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ฯ มันละเมิดสิทธิ อันนี้อาจทำให้คนรู้สึกระวังมากขึ้น
GM : เหตุการณ์แบบอาหรับสปริงนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ ในประเทศจีนหรือในรัสเซีย เพราะคอมมิวนิสต์ยุคใหม่มีวิธีที่รอบคอบมากขึ้นในการควบคุมไม่ให้ประชาชนเข้าถึงสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ คุณคิดว่าประเทศไทยเองก็กำลังเดินหน้าสู่เส้นทางนี้หรือเปล่า
วันชัย : ถามว่ามีความพยายามไหม ผมก็คิดว่ามีนะครับ ผมคิดว่าอำนาจรัฐเองก็เชื่อว่าการควบคุมการใช้สื่อออนไลน์น่าจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยสำหรับตัวเขาด้วย คือผมคิดว่าชนชั้นปกครองในสังคมไทยก็มีเข้าใจแล้วว่าสื่อออนไลน์บางทีร้ายแรงกว่าอาวุธสงครามอีก ฉะนั้นเมื่อเขาเล็งเห็นข่าวหรืออะไรก็ตามที่อยู่บนสังคมออนไลน์ ผมคิดว่าเขาอยากจะควบคุม แต่จะไปไกลถึงแบบจีนหรือเปล่า ผมนึกภาพไม่ออกว่าเขาจะไม่ให้ประเทศไทยมีเฟซบุ๊กหรอ มันก็คงเป็นไปได้ยาก แล้วสังคมไทยก็พยายามที่จะบอกชาวโลกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย ผมคิดว่าคงยาก แต่คงจะใช้กฎหมายนี่แหละในการควบคุมมากขึ้น เพราะอย่าลืมนะครับว่ารัฐบาลพูดตลอดเวลาว่า อย่าทำผิดกฎหมาย เพราะเขาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในยุคนี้มีการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของคนออกมาเรื่อยๆ พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ฯ ก็เป็นตัวอย่าง ว่ามันคือการควบคุมคนในสังคมโดยทางอ้อม
GM : คนรุ่นใหม่จำนวนมากเพิ่งเคยได้เห็นภาพเหตุการณ์ หรือเพิ่งจะรู้จักประวัติศาสตร์ของวันที่ 6 ตุลา 2519ผ่านเพลงแร็บอย่าง “ประเทศกูมี” ทั้งที่ตำราเรียนไทยหลายเล่มเลือกที่จะไม่กล่าวถึงเลยด้วยซ้ำ คุณคิดว่าต่อไปในอนาคตประวัติศาสตร์ไทยมีโอกาสจะถูกปกปิดมากขึ้นกว่าเดิมไหม
วันชัย : ผมไม่ได้เป็นห่วงนะ แม้ในตำราเรียนไทยจะไม่ได้เขียนเรื่องพวกนี้นะ อย่างที่บอกเด็กรุ่นใหม่มันหาข้อมูลเก่ง เก่งกว่าคนรุ่นผมเยอะมาก ถามว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ในโลกออนไลน์มีไหม มีเยอะมาก คือเดี๋ยวนี้เขาไม่ต้องพึ่งพาตำราเรียนแล้ว ตำราเรียนไม่ได้มีนัยยะสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่สำหรับผมคือเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถจะเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยนะครับ อาจมีแล็ปท็อป สมาร์ทโฟน แน่นอนว่าผมโฟกัสที่คนกลุ่มนี้มากกว่า แต่ถ้าเด็กในชนบทก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมว่าทุกวันนี้แม้ว่าเด็กในชนบทหรือในกรุงเทพฯ ก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลผ่านกูเกิ้ลอะไรก็ตามมันง่ายมาก มันสะดวกมากเลย ถามว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นในธรรมศาสตร์ แล้วพอเด็กรุ่นใหม่เห็นแว่บๆ จากเพลงแร็บ “ประเทศกูมี” แล้วถ้าเกิดเขาสนใจ เขาไปหาข้อมูลได้อยู่แล้ว และแน่นอนว่าพอเข้าไปในโลกออนไลน์มันก็จะมีชุดความจริงเยอะแยะเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เขาต้องไปดีเบตกันเอง ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความรู้กันเอง อันนี้เราไม่ทราบนะครับ แต่ถามว่าข้อมูลมีไหม ผมไม่กลัวเลยนะ เวลาตำราเรียนไทยบอกว่าอันนี้ไม่มีหรือเขียนมาแค่นี้ ตำราเรียนในโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ต้องพึ่งตำราเรียนแล้ว ขอแค่มีอะไรที่เป็นประเด็นสังคม เฮ้ย พฤษภาทมิฬ 2535 คืออะไร ตำราเรียนอาจจะไม่พูดก็ได้ แต่โลกออนไลน์มีพวกนั้นเต็มไปหมดเลย อยู่ที่ว่าเขาอยากรู้หรือเปล่า
GM : คุณน่าจะเป็นผู้อำนวยการระดับสูงของสถานีโทรทัศน์เพียงไม่กี่คนในประเทศที่ต้องปะทะกับขั้วทางการเมืองถึงสองครั้ง ทั้งตอนที่เป็นรองผู้อำนายการสถานีช่อง Thai PBS (รายงานข่าวเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557) และช่วงที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวที่ช่อง PPTV (ถูกกดดันให้ลาออกเมื่อปี 2561) คุณรู้สึกยังไงกับโชคชะตาของตนเองในเรื่องนี้
วันชัย : ถ้าถามว่าเสียใจไหมที่ตกงาน จากการที่เรารับผิดชอบต่อการเสนอข่าวซึ่งบางทีอาจจะล่อแหลมไปหน่อยจนทำให้รัฐบาลในสมัยนั้นอาจจะไม่ชอบ ก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา แต่ถามว่าถึงวันที่เราสวมหมวกเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV ไม่ว่าจะเป็นรองผู้อำนวยการช่อง Thai PBS ผมคิดว่าเมื่อเราสวมหมวกอะไรก็ตาม เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตราบที่ผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวแล้วผมไม่เสนอข่าวเหล่านั้น ก็อย่าทำดีกว่า แต่เมื่อทำแล้ว ก็ต้องยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น ถามว่าเสียใจไหม ก็แน่นอนว่าเสียใจอยู่แล้ว เพราะเราก็ทำหน้าที่ของเราอย่างตรงไปตรงมาในวิชาชีพ แต่ว่าเมื่อถูกการกลั่นแกล้ง ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือสังคมไทยที่เราอยู่
GM : สื่อทั่วโลกส่วนใหญ่ก็ Take Sides ความเชื่อทางการเมืองกันอยู่แล้ว ซึ่งสื่อในบ้านเราเองก็เช่นกัน ดังนั้นอะไรคือจุดที่พอดีระหว่างการรักษาจริยธรรมในฐานะสื่อมวลชน และยังยืนหยัดในอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองไปด้วยได้อย่างสง่างาม
วันชัย : เราต้องแยกประเด็นนี้เป็น 2 ส่วนนะครับ ว่าในฐานะปัจเจกชนแล้ว นักข่าวหรือบรรณาธิการ เขาเป็นคน เขามีชีวิต เขาก็มีความฝักใฝ่ มีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนกัน อันนี้ต้องแยกไว้ประเด็นหนึ่ง แต่กับสื่อที่เป็นผู้ผลิตอันนี้ต้องแยกไปอีกประเด็น ผมคิดว่ามันต้องแยกนะครับ ว่าถ้าเรื่องส่วนตัวของเขา ความเชื่อทางการเมืองของเขา ก็แสดงออกได้ในพื้นที่ส่วนตัว อาทิเช่น ในเฟซบุ๊กหรือในบทความที่เขาเขียน
แต่ว่าเมื่อเป็นข่าวแล้ว ผมคิดว่าหน้าที่ข่าวมีประการเดียวคือให้เป็นคนสื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ให้คนไปตัดสินเอง แต่ไม่ได้ชี้นำ ผมคิดว่าคนทำข่าวก็เหมือนแมสเซนเจอร์ นำสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมออกไปให้ผู้คนเห็นโดยไม่ต้องตัดสิน ในขณะเดียวกันก็ต้องกรองด้วยว่าอันนี้มันเป็นข่าวด้วยหรือเปล่านะ ไม่ใช่แค่เห็นฟอร์เวิร์ดไลน์ก็เอามาทำข่าวแล้ว ไม่อย่างนั้นคุณก็แค่ทำหน้าที่แค่ฟอร์เวิร์ดไลน์ เขาเรียกว่าเป็น Goalkeeper ต้องดูว่าอันนี้มันมีประเด็นข่าวอยู่หรือเปล่า อันนี้คือความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่อะไรนิดนึงก็เป็นข่าวแล้ว หน้าที่ความเป็นมืออาชีพของคนทำข่าว ก็คือการบอกสังคม บอกคนดูว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างตรงไปตรงมา อันที่สองก็คือกรองด้วยว่า สิ่งที่จะบอก มันเป็นข่าวหรือเปล่า หรือมันเป็นแค่เรื่องเม้าท์ ข่าวโคมลอย ไม่มีข้อเท็จจริง
ถ้าเกิดว่าทุกค่ายทำอย่างนี้ และให้คนดูหรือคนอ่านตัดสินเอง สังคมก็จะไม่แตกแยกขนาดนี้ แต่แน่นอนว่าวำนักข่าวแต่ละฝ่าย ก็สามารถประกาศตัวได้ว่าผมเลือกพรรคอะไร ในหลายๆ ประเทศ สื่อทั่วโลกเขาก็บอก อย่างอเมริกัน ถึงวันเลือกตั้งพรรคการเมือง หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็บอกเลือกพรรคเดโมแครต แล้วอีกฉบับบอกเลือกพรรคริพับลิกัน แต่ในเนื้อข่าวนี่เขาแฟร์และมีความเป็นมืออาชีพมาก ก็น่าเสียดายตรงที่ว่าสื่อบ้านเรา เวลาเลือกข้างแล้ว แทนที่จะแยกตัวเองออกจากเนื้อข่าว ก็เอามาปนกัน เพื่อที่จะมีธงอย่างเดียวกัน ก็คือทำให้ผู้แข่งขันด้วยกันดูด้อยลงไป
GM : พูดถึงคนทำข่าวหรือทำสื่อรุ่นใหม่ตอนนี้ ที่เห็นมากขึ้นในสื่อออนไลน์ เว็บไซต์สำนักข่าวหน้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาหลายเจ้า ในฐานะที่คุณทำงานสื่อมวลชนมาหลายสิบปี มองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เขาควรจะระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษในการทำข่าวยุคนี้
วันชัย : อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เวลามาทำข่าว ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์เยอะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรแสดงความเป็นตัวตนในข่าว เราก็เสนอข่าวที่เกิดขึ้นไป แต่อย่าเอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปใส่ เพราะว่ายิ่งคุณเอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไป ข่าวมันจะลดทอนความน่าเชื่อถือ หัวใจของข่าวที่ดีที่สุด ก็คือข่าวชิ้นนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ข่าวที่มีความเห็นส่วนตัวเข้าไปเยอะๆ เราไม่รู้หรอกว่าถูกหรือผิด แต่ยิ่งมีเข้าไปมากๆ จะยิ่งทำให้ข่าวนี้ถูกลดความน่าเชื่อถือ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อาจยังไม่ได้มีประสบการณ์อะไรที่จะวิเคราะห์ได้แหลมคม เพราะฉะนั้นถ้าตัวเองไม่ได้มีของข้างในเยอะ อย่าพยายามเอาความคิดเห็นส่วนตัวมานำเสนอข่าว อย่าลืมว่าเวลาคุณโพสต์อะไรออกไปที มันถูกแชร์ออกไปเยอะแยะเต็มไปหมด สิ่งที่ย้อนกลับมาคือสิ่งที่คุณรายงานข่าวว่ามันน่าเชื่อถือหรือเปล่า อันนี้คือเรื่องสำคัญที่สุด ความน่าเชื่อถือจะเป็นเกราะคุ้มกันการทำข่าวของคุณเอง แต่มันยากนะครับ ยากมาก
GM : ถ้านับวันนี้น่าจะประมาณ 8 ปี แล้วที่คุณไม่ได้ทำนิตยสาร (หลังจากนิตยสาร “สารคดี”) 8 ปีที่ผ่านมา คุณยังคิดถึงการกลับไปทำนิตยสารอยู่บ้างไหม
วันชัย : คือต้องเข้าใจว่านิตยสารที่เป็นกระดาษ มันเป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง ทีวีก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง วิทยุก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง ออนไลน์ก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง ผมเชื่อว่าเราเป็นคนทำคอนเทนต์พอใช้ได้ เพราะฉะนั้นก็เลยยังทำคอนเทนต์อยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะอยู่ในนิตยสารสารคดี ในทีวี หรืออยู่ในอะไรก็ตาม ผมยังถือว่าตนเองเป็นคนทำคอนเทนต์อยู่ ถามว่ายังอยากกลับไปทำนิตยสารอยู่ไหม ไม่ได้อยากจะกลับไปทำนิตยสารที่เป็นกระดาษ แต่ถ้าเป็นนิตยสารออนไลน์ มันอาจจะถูกจริตกว่าคนในโลกปัจจุบันมากกว่า
GM : ตอนนี้คุณเองก็มีผลงานหนังสือเล่มใหม่ๆ ออกมาอยู่เป็นระยะ คุณคิดว่าเนื้อหาของหนังสือเล่ม หรือพ็อกเก็ตบุ๊คนั้นจะทำหน้าที่แทนสื่ออย่างนิตยสารได้มากน้อยแค่ไหน
วันชัย : ผมคิดว่าโอกาสที่นิตยสารจะเฟื่องฟูเหมือนอย่างสมัยก่อนคงยากแล้วล่ะ แต่ถามว่าจะล้มหายตายจากไปทุกฉบับไหม ผมไม่คิดอย่างนั้น แต่สำหรับพ็อกเก็ตบุ๊กผมเชื่อว่าไม่ตาย ผมคิดว่าเสน่ห์ของหนังสือเล่มหรือพ็อกเก็ตบุ๊กมันต่างจากการอ่านหนังสือในเว็บหรืออ่านผ่านแล็ปท็อป เพราะอย่างน้อยหนังสือมันพกพาไปได้ แล้วกระดาษนั้นเขาบอกว่ามันมีความเป็นเพื่อนสูง หนังสือมันดูเป็นเพื่อน มนุษย์พกไปไหนก็ได้ อยากอ่านแล้วก็เปิดได้เลย มันสะดวก ผมคิดว่าหนังสือมันไม่มีระยะเวลา คือมันไม่ตาย ไม่เหมือนแมกกาซีนที่พ้นเดือนก็ไม่มีใครอยากอ่านแล้ว แต่หนังสือมันไม่ตายและอยากอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าดูจากงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา เราจะเห็นเลยครับว่ามีสำนักพิมพ์เล็กๆ เกิดขึ้นเยอะแยะเลยนะ และถามว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ แบบนี้ทำไมเขาอยู่ได้ เพราะว่าเขามีแฟนเฉพาะกลุ่มของเขา คือสังคมการอ่านมันแยก segment ไปยิบย่อยมากเลย เราไม่รู้จักสำนักพิมพ์นี้ ไม่เคยได้ยินชื่อเลย แต่พอไปดูก็ อ้าว มีด้วยเหรอ คือมันก็จะมีกลุ่มคนอ่านของเขานะครับ อาจจะมีอยู่ 4-5 พันคน เขาก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตัวกระดาษที่มันเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก อย่างไรก็ตามยังอยู่รอดปลอดภัย แต่อาจจะไม่เฟื่องฟูเหมือนสมัยก่อน แต่ผมคิดว่ายังไม่ตายหรอก
GM : มาคุยถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันบ้าง ทราบมาว่าคุณเองก็มีบ้านที่เชียงใหม่ เลยอยากถามเรื่องสถานการณ์หมอกควันพิษที่เชียงใหม่ ว่าทำไมถึงดูไม่เป็นวาระวิกฤตฉุกเฉินเท่าในกรุงเทพฯ ทั้งที่ค่าฝุ่นในพื้นที่ในเชียงใหม่สูงจนน่าหวาดกลัวมากกว่าด้วยซ้ำ
วันชัย : อันแรกมันสะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพฯ นี่เสียงดังกว่าเพื่อน ถ้าเหตุการณ์ในเชียงใหม่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ รับรองว่ารัฐบาลอยู่ไม่สุขแน่ ซึ่งที่จริงแล้วก่อนเกิดขึ้นในภาคเหนือมันก็เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จำได้ไหมตอนต้นปี ตอนนั้นค่าฝุ่นมันไม่ได้สูงขึ้นนะ แต่ว่าเมื่อมีเสียงเรียกร้องมากมายมาจากคนในเมือง คนในกรุงเทพฯ รัฐบาลก็ต้องมีแอคชั่นล่ะ คนกรุงเทพฯ เสียงดังจริงๆ ถามว่าแล้วทำไมที่เชียงใหม่ ถึงไม่ค่อยมีใครสนใจ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการตีโจทย์ของรัฐบาล ของคนที่มีอำนาจ ก็คือผู้บริหารที่ดูแลจังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดในทางภาคเหนือ ผมคิดว่าเขาคงตีโจทย์ว่า เฮ้ย มันเป็นเรื่องปกติ เชียงใหม่มีภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ถึงเวลามันก็ต้องมีปัญหานี่แหละ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่เขาไม่ได้วิเคราะห์ว่าทำไมมันเยอะขึ้นขนาดนี้ มันรุนแรงขึ้นขนาดนี้ได้ยังไง ผมคิดว่าเขาไมได้สนใจ แล้วเขาคิดว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันเป็นเหตุการณ์ประจำปี ก็มีทุกปีแหละ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป รัฐบาลก็ไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก
ผมคิดว่าเพราะมันเป็นช่วงใกล้ๆ เลือกตั้งด้วย รัฐแค่กำชับให้ทางผู้มีอำนาจในพื้นที่จัดการนะครับ จนกระทั่งโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์เยอะๆ ก็เลยลงไปดูสักครั้งสองครั้ง แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนะ วันนี้ฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดทางภาคเหนือมันกลับขึ้นมาอีกแล้ว แต่ถามว่าจริงๆ แล้วมันเกิดจากอะไร เราต้องเข้าใจว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ คือประเด็นแรกต้องยอมรับว่าข้าวโพดมันถูกปลูกมาก ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว ปลูกกันเยอะมากเลย เพราะอะไรครับ เพราะคนกินเนื้อสัตว์เยอะ อันนี้หมายถึงคนทั่วโลกด้วยนะ ประเทศไทยเรากินเนื้อสัตว์เยอะขึ้น แล้วที่จีนล่ะ จีนนี่กินมโหฬารเลย เพราะว่าเศรษฐกิจเขาดีขึ้น แต่ก่อนปีหนึ่งคนจีนกินเนื้อได้ไม่กี่วัน แต่ทุกวันนี้อาจกินได้ทุกวัน เพราะว่ามีฐานะดีขึ้น เมื่อคนกินเนื้อสัตว์มากขึ้น อาหารสัตว์มาจากไหน มันก็คือข้าวโพด วันนี้พื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ส่งไปเป็นอาหารสัตว์ให้กับเมืองจีน ก็คือประเทศเพื่อนบ้านทั้งนั้น ที่พม่า ลาว นักลงทุนจีนมาทำสัญญาซื้อขายเลยนะครับ บริษัทเกษตรกรรมของเราก็ไปลงทุนทำอาหารสัตว์ที่จีน เพราะฉะนั้น วันนี้ที่เกิดฝุ่นพิษจำนวนมาก ก็ต้องยอมรับว่ามาจากการเผาไร่ (เกษตรกรจุดไฟเผาพืชไร่ หลังการเก็บเกี่ยวในหน้าแล้ง) จากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าคุณไปดูจะเห็นว่ามาจากรัฐฉาน (ประเทศพม่า) เยอะมาก
ประเด็นต่อมาก็คือว่า แม้ประเทศไทยเองก็ตาม ข้าวโพดก็ผลิตได้ไม่พอนะครับ เพราะว่าคนกินเนื้อสัตว์มาก ที่ผ่านมาเราต้องสั่งข้าวโพดนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ ฉะนั้นเราก็เลยส่งเสริมให้คนปลูกข้าวโพดมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้พื้นที่นาลดลงด้วย เพราะว่าบ้านเราปลูกข้าวเยอะ พอข้าวโพดก็มีความต้องการสูงขึ้น ก็จะลดพื้นที่การทำนาลง ลดการใช้น้ำ เพราะข้าวโพดไม่ต้องการใช้น้ำเยอะ อันนี้ก็เป็นจุดประสงค์ของรัฐบาล ซึ่งมันก็เป็นความต้องการทางตลาดด้วย เพราะว่าข้าวราคาต่ำ แต่ข้าวโพดราคาสูง ก็มาปลูกข้าวโพดกันแทน แล้วถามว่าข้าวโพดพอถึงเวลามันต้องเผา นึกออกไหมครับ ช่วง 3 เดือนเวลาเก็บเกี่ยวมันก็มีซากข้าวโพดเยอะ การเผานี่มันคือวิธีที่ง่ายสุดแล้ว โอเค บางพื้นที่อาจใช้รถแทรกเตอร์ไถกลบเพื่อมาทำเป็นปุ๋ย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลาดชันอย่างนี้มันทำไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องเผา อันนี้ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งนะครับที่ทำให้ช่วงหน้าแล้งมันเกิดไฟป่า
เกษตรกรบางคนอาจมีคำถามว่า เอ๊ะ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับป่าเลย ผมก็เผาในที่นาของตัวเอง แต่ต้องยอมรับนะครับว่าป่าหลายพื้นที่ของเราที่เป็นอุทยาน ข้างในก็เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งนั้น อีกอันหนึ่งก็คือปีนี้อากาศหนาว ภาคเหนือตอนต้นช่วงเดือนเมษายน ตอนเช้านี่ยังหนาวอยู่เลย คือเมื่อความกดอากาศมันสูง ก็เลยทำให้ควันมันขึ้นไปไม่ได้ เมื่อควันขึ้นไปไม่ได้ มันก็ปกคลุม ดังนั้นปีนี้ผมว่ามันมีหลายปัจจัยนะครับที่ทำให้ภาคเหนือมีปัญหาเรื่องหมอกควันพิษสูงมาก แต่ผมคิดว่ารัฐบาลเอง ก็ไม่ได้ตระหนักอย่างชัดเจนว่าเป็นวาระแห่งชาติ คนในเชียงใหม่พูดตลอดเวลาว่าทำไมไม่ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้ว่าก็บอกว่า กลัวว่าถ้าประกาศแล้วเดี๋ยวก็มีปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งมันก็สะท้อนวิธีคิดของคนในรัฐว่าไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก แต่สนใจเรื่องรายได้มากกว่าหรือเปล่า
ผมคิดว่าเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยังไงก็กลับมาใหม่ ตราบใดที่รัฐบาลไม่กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกนะครับ ว่าจะแก้ปัญหาอะไร คุณกล้าที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงไหม คุณกล้าที่ไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านไหม ผมเล่าให้ฟังนิดนึงว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคงจำกันได้นะครับว่ามีหมอกควันพิษปกคลุมมาจากการเผาไฟป่าที่เกาะบอร์เนียว (ประเทศอินโดนีเซีย) ก็คือการเผาต้นปาล์ม ควันมันปกคลุมไปถึงสิงคโปร์เลยนะ ลอยไปไกลมาก รัฐบาลสิงคโปร์นั้นกดดันบริษัทในสิงคโปร์ที่ไปมีส่วนในการทำลายป่าที่บอร์เนียว กดดันจนกระทั่งบริษัทเหล่านี้ยอมที่จะฟื้นฟูให้การเผาป่าลดลง ถามว่ารัฐบาลไทยกล้าไปกดดันบริษัทไทยที่ทำสิ่งเหล่านี้ในต่างประเทศหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นคำถาม
GM : คุณเคยเขียนไว้ว่าบ้านเราควรมี พ.ร.บ. เกี่ยวกับ Clean Air ที่มีเนื้อหาปกป้องอากาศบริสุทธิ์อย่างชัดเจน และมีหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจจัดการขั้นเด็ดขาดกับพวกทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่ในสภาพการเมืองอย่างเช่นที่ผ่านมา ถึงมี พ.ร.บ ฉบับนี้ขึ้นมา แต่ถ้าไปเจอผู้กระทำผิดที่เป็นบริษัททุนใหญ่ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาลขึ้นมา ทุกอย่างก็จะค่อยๆ เงียบเสียงลงเหมือนที่ผ่านมาอีกไหม
วันชัย : เราต้องยอมรับนะครับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเดินตามเศรษฐกิจ คือหมายความว่า มันไม่มีทางจะทำได้อยู่แล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้ารัฐต้องการตัวเลขสูงๆ เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มันก็คือการบริโภคทรัพยากร คำว่าบริโภคทรัพยากร ไม่ได้แค่ตัดป่า ทำลายป่า หรือระเบิดเหมืองเพื่อเอาแร่นะครับ มันหมายถึงการทำลายอากาศ มันหมายถึงการทำน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ถ้าเราต้องการตัวเลขทางเศรษฐกิจที่โตขึ้น ถามว่ารัฐบาลกล้าไหมที่จะเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันดีเซลยูโร ให้ขึ้นมาเป็นยูโร 7 ก็ต้องเกรงใจบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ ถามว่ารัฐบาลกล้าไหมที่จะลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกษตรกรสามารถที่จะลดการเผาลงได้ อันนั้นคือต้นทุนที่สูงทั้งสิ้น
ถามว่ารัฐบาลคิดขนาดนั้นรึเปล่า ผมว่าก็ไม่ขนาดนั้นนะ คืออย่างไรก็ตาม เราต้องเข้าใจว่าในสังคมไทย สภาอุตสาหกรรม หอการค้า เสียงดังสุดในบรรดาภาคประชาสังคมทั้งหลาย ถามว่าคนเหล่านี้พยายามบาลานซ์เรื่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องเศรษฐกิจไหม เขาพยายามบาลานซ์ แน่นอนเขาพยายามรักษาความสมดุล แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นตัวเลขที่เขาต้องจ่าย แล้วเขาจะจ่ายไหมละ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าอากาศเสียที่เชียงใหม่ ถ้าเอาต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการทำให้คุณภาพดีขึ้น ไปทำให้ต้นทุนของราคาสินค้าคนเหล่านี้สูงขึ้นเนี่ย เขาจะยอมไหมล่ะ ผมว่ามันต้องก็คิดหนัก เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่าการที่รัฐบาลจะประกาศเรื่องคลีนแอร์ มีองค์กรอิสระ ที่คอยไปจับเลยว่าโรงงานนี้ทำผิด ผมคิดว่ารัฐบาลคงคิดหนัก เพราะมันก็กระเทือนอุตสาหกรรม กระเทือนเศรษฐกิจ นอกเสียจากว่าเราจะมีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์อีกแบบหนึ่ง
GM : คุณคิดว่าสังคมไทยได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ล่าเสือดำของคุณเปรมชัย หรือบ้านพักตุลาการที่เชิงดอยสุเทพบ้าง
วันชัย : อันแรก ผมคิดว่าคนไทยเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในสังคมไทย ถามว่ากรณีของคุณเปรมชัย ถ้าเป็นคนธรรมดาไม่มีชื่อเสียง ผมคิดว่าคดีคงตัดสินไปนานแล้วแหละ ถามว่าเรื่องป่าแหว่ง ถ้าคนที่ใช้พื้นที่ไม่ใช่เป็นข้าราชการระดับสูง เราก็คงจะตอบได้ว่าป่าแหว่งควรกลับไปอยู่ในสภาพใดในปัจจุบัน แต่เนื่องจากว่าเราเห็นแล้วว่าเมื่อกลายเป็นคนมีชื่อเสียง คนมีอิทธิพลในสังคม การบังคับใช้กฎหมายหรือความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายก็จะตามมา แล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือคนจะรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และเมื่อคนรู้สึกถึงความยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ต้องแสดงออก มีคนถามผมว่า เราจะระงับความขัดแย้งในสังคมไทยได้อย่างไร ผมก็บอกว่าง่ายที่สุดเลยนะคือ แค่คุณบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หรือยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ความไม่สงบก็จะลดลงทันที แต่ถามว่าทุกวันนี้เรากล้าหรือเปล่า ผู้มีอำนาจกล้าหรือเปล่า หรือยังจะเลือกสองมาตรฐานต่อไป
GM : ในเมื่อเราอยู่ท่ามกลางการเลือกตั้งที่ยังไม่มีผลออกมาแน่นอน หรือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังดูไม่คลี่คลาย คนไทยจะยังมีความหวังกับเรื่องอะไรได้อีก
วันชัย : ผมชอบคำหนึ่งของภาษาอังกฤษที่บอกว่า Don’t expect but hope หมายความว่าอย่าคาดหวังแต่จงมีความหวัง ผมคิดว่าตราบใดที่เรามีลมหายใจ เราก็ควรที่จะมีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วก็เราก็ควรที่จะมีส่วนร่วมในหลายๆ อย่างที่มีผลกระทบกับเรา คำว่ามีส่วนรวม คืออาจะมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มันดีหรือไม่ดี ผมคิดว่าเราควรติดตามสังคมอย่างห่างๆ และก็ใช้สิทธิของเราบ้างในบางครั้ง เพราะว่าสังคมประกอบด้วยคนหลากหลาย สังคมประกอบด้วยคนจำนวนมาก คนเหล่านี้ทุกคนควรจะมีสิทธิในการรู้ว่าอนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ถูกกำหนดจากใครบางคน ฉะนั้นควรมีความหวังว่าสังคมมันจะดีขึ้น ถ้าเราร่วมกันที่จะรักษาสิทธิของเรา ร่วมกันที่จะทำให้สังคมมันดีขึ้น อย่ามองเฉยๆ แล้วบอกว่าไม่ใช่ธุระของเรา