อุกฤษ อุณหเลขกะ X เทคโนโลยี คือโอกาสแห่งคุณภาพชีวิต
เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์ ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์
“คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในจรวด ยังสู้คอมพิวเตอร์ในสมาร์ทโฟนสมัยนี้ไม่ได้เลย แสดงว่าอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในมือต้องทรงพลัง และมีประโยชน์มากๆ”
คำพูดของชายหนุ่มแววตามุ่งมั่นตรงหน้าทำให้เราฟังแล้วต้องเหลือบมองเจ้าสมาร์ทโฟนหน้าจอสี่เหลี่ยมที่กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ นอกจากใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและเสพความบันเทิงผ่านการดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกมแล้ว มันยังมีประสิทธิภาพในระดับที่ส่งคนไปดวงจันทร์ได้เลยหรือนี่!
“ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยน ‘เครื่องมือถือ’ เป็นเครื่องทำมาหากินแทนล่ะ” อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่มรุ่นใหม่วัย 30 นิดๆ พูดขึ้นพร้อมกับเว้นจังหวะเงียบให้เราครุ่นคิด ก่อนจะพูดต่อว่า “นั่นคือมุมมองที่ทำให้ผมเริ่มต้นทำ Ricult”
อุกฤษ อุณหเลขกะ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Ricult’ (รีคัลท์) สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภาพถ่ายดาวเทียม และ AI มาช่วยเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ หวังให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซีอีโอหนุ่มคนนี้โด่งดังบนโลกออนไลน์ในรอบปีที่ผ่านมา หลังเปิดเผยว่ายอมทิ้งเงินเดือนหลายแสนบาทในต่างแดน กลับมาเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยในบ้านเกิด
เขาเติบโตมาในครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชีวิตจึงคลุกคลีกับเกษตรกรในต่างจังหวัดตั้งแต่วัยเด็ก ศึกษาระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทด้านบริหารจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเบอร์หนึ่งของโลก ก่อนจะทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา
“ตอนนั้นผมอยู่ในยุคที่ซิลิคอนแวลลีย์กำลังบูม เป็นยุค Digital Disruption ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google หรือ Uber ผมเห็นบริษัทพวกนี้ตั้งแต่ยังเป็นห้องแถวเดียว แต่แค่ 4-5 ปีก็สามารถเปลี่ยนจากบริษัทเล็กๆ เป็นสตาร์ทอัพ และกลายเป็นบริษัทระดับโลกได้ ผมรู้สึกว่าเฮ้ย! อยากจะเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเปลี่ยนธุรกิจบ้าง
“ถ้านับแล้วผมอยู่อเมริกาประมาณ 10 ปี รู้สึกอิ่มตัว…
ไม่ใช่สิ รู้สึกเบื่อแล้วกัน” เขาเปลี่ยนใจกะทันหัน “อยากกลับเมืองไทย เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็อยู่ที่นี่ เริ่มคิดอยากทำ ธุรกิจอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง ผมรู้สึกได้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ยุคโทรศัพท์ ยุคสมาร์ทโฟน และยุคอินเทอร์เน็ต จะเห็นว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของเราหมดแล้ว เช่น การเดินทาง การสั่งอาหาร หรือแม้แต่การหาคู่”
แต่แนวคิดของอุกฤษไม่ได้อยู่ที่การนำเทคโนโลยีมาทำเงินเพียงอย่างเดียว เพราะเขาไม่ได้อยากจะเป็นมหาเศรษฐี ทว่าอยากทำสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วย จึงหันมาให้ความสนใจกับคำว่า ‘Social Enterprise’ ที่ไม่ได้หมายถึงการทำธุรกิจที่หวังจะรวยอย่างเดียว แต่สามารถมอบสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคมได้ด้วย
“ผมหันกลับมามองประเทศไทยว่ามีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ ข้อแรกคือเรื่องการศึกษา ข้อสองคือเรื่องสาธารณสุข และข้อสามคือเรื่องการเกษตร เพราะคนไทยประมาณร้อยละ 40 หรือเทียบเป็นประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทยอยู่ในแวดวงการเกษตร
“ถ้าเราขับรถออกนอกกรุงเทพฯ จะเห็นว่าทิวทัศน์ข้างทางจะเปลี่ยนจากเมืองเป็นชนบททันที วิถีชีวิตของคนต่างจังหวัดพึ่งพาการเกษตรค่อนข้างเยอะ ผมจึงมองว่าคนกลุ่มนี้ค่อนข้างสำคัญ แต่กลับเป็นกลุ่มที่โดนเทคโนโลยีมองข้าม สังเกตให้ดีว่าวงการสตาร์ทอัพในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มักจะโฟกัสอยู่ที่คนเมืองในกรุงเทพฯ ทั้งนั้น เช่น แอปพลิเคชันสั่งอาหาร เรียกแม่บ้าน สอนพิเศษ หาโรงเรียนให้ลูก ทำไมไม่มีใครที่สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์คนต่างจังหวัดบ้าง โดยเฉพาะไปช่วยเขาให้มีคุณภาพชีวิตและมีรายได้ที่ดีขึ้น”
เมื่อเล็งเห็นว่าคนต่างจังหวัดสมัยนี้เริ่มใช้สมาร์ทโฟนกันเยอะขึ้น แถมลูกหลานยังสอนให้เล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ อีก ทำให้อุกฤษมองเห็นโอกาสในการสร้างแอปพลิเคชันที่จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการทำเกษตรได้ เขาลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ
“เกษตรกรทุกคนบอกว่าอยากมีรายได้มากขึ้น ส่วนผลผลิตการเกษตรนั้นขึ้นอยู่กับน้ำ ปีไหนน้ำแล้ง ผลผลิตจะน้อยมาก แต่ในเมื่อระบบชลประทานประเทศไทยไม่ค่อยเข้าถึง แปลว่าพวกเขาต้องพึ่งพาน้ำฝน แต่พอมีปัญหาเรื่องโลกร้อน สภาพอากาศก็แปรปรวน ทำให้วางแผนเพาะปลูกไม่ได้เลย”
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น เทคโนโลยีจึงอาจเข้ามาตอบโจทย์ได้ แอปพลิเคชัน Ricult จึงกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 โดยสามารถพยากรณ์อากาศที่ละเอียดและแม่นยำที่สุดในเมืองไทย เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนเรื่องการรับน้ำฝน ประเมินว่าฝนจะตกและทิ้งช่วงเมื่อไร โดยสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ถึง 9 เดือน นับเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรตัดสินใจและวางแผนช่วงระยะเวลาในการเพาะปลูก
ปัจจุบันผู้ใช้แอปพลิเคชัน Ricult ในไทยมีประมาณ 1 แสนคน โดยภายในปลายปี 2563 ตั้งเป้าให้มีผู้ใช้ถึง 3 แสนคน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่คนต่างจังหวัดใช้เยอะที่สุดในประเทศ พิสูจน์ความเชื่อของอุกฤษที่มองว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองและคนต่างจังหวัดได้
ซีอีโอไฟแรงคนนี้ยังยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้นว่า หากเริ่มทำ Ricult เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คงไม่สามารถเดินทางไปพบปะเกษตรกรหลักล้านคนทั่วประเทศได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา เขาสามารถใช้ประโยชน์จาก Facebook Ads หรือ Google Ads ในการทำโฆษณาออนไลน์ด้วยราคาที่ถูกลง คนไทยภาคเหนือ และภาคใต้ก็สามารถรู้จัก Ricult ได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปแนะนำถึงหน้าบ้าน
“ผมมองเห็นโอกาสที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกร ยิ่งตอนนี้เทรนด์ของเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงมากคือ 5G ซึ่งเป็นคลื่นมือถือที่มีความเร็วกว่าปัจจุบันมาก น่าจะเกือบ 10 เท่า ถ้าเร็วขึ้นก็เท่ากับจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้เราใช้ชีวิตสะดวกมากขึ้น และสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ได้มากมาย แต่ต้องดูราคา 5G ด้วยว่าเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับ 4G เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีขนาดไหน แต่หากเข้าถึงคนหมู่มากไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
“ถ้าในอนาคตราคาของ 5G ถูกลงและสามารถเข้าถึงง่าย ถือเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงและลดความเหลื่อมล้ำหลายอย่างได้ คนต่าง-จังหวัดเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูง ดาวน์โหลดหนังสือทั้งเล่มลงมือถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามากวดวิชาในเมือง เราอาจปรึกษาหมอผ่านสมาร์ทโฟนแทนที่จะต้องเข้ามายังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ การเข้าถึงโอกาส ข้อมูล และบริการต่างๆ ในต่างจังหวัดก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
“ผมไปต่างจังหวัดบ่อย ขึ้นดอย เข้าป่า บางจุดในเมืองไทยสัญญาณโทรศัพท์ยังไม่ถึงเลย บางแห่งมี 4G ในขณะที่บางแห่งยังเป็น 3G อยู่เลย เพราะฉะนั้นก่อนที่เรา จะไปถึง 5G นั้น อย่างแรกคือควรจะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศไทยให้ได้ก่อน…”
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตจะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แต่เคล็ดลับสำคัญที่ศิษย์สำนัก MIT คนนี้บอกเราคืออย่าลืมสร้างนิสัยการอ่านและเปิดรับข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะสามารถคว้าโอกาสต่างๆ ที่เทคโนโลยีหยิบยื่นให้ได้ทันท่วงที แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะ ‘ช้า’ ในบางเรื่องด้วยเช่นกัน
“ตัวผมเองก็ล้มเหลวมาเยอะสมัยที่เปิดตัว Ricult ใหม่ๆ แล้วไม่มีคนใช้ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะทุกคนมองเราเมื่อประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น แต่การสร้างสิ่งใหม่ๆ มักเกิดจากการคิดนอกกรอบ ดังนั้น พยายามหาสิ่งที่รักให้เจอ อย่าให้สังคมกดดันเรา เพราะสังคมยุคนี้ชอบเชิดชูคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆ ประเภท ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) ทำให้หลายคนเร่งสปีดตัวเองเพื่อแสวงหาความสำเร็จ โดยไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ บางครั้งคุณอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ช้าลงบ้าง ไม่ต้องเร่งรีบเหมือนคนอื่นก็ได้”
…หรือนี่อาจจะเป็น ‘ความช้า’ ที่สวนทางกับความรวดเร็วในยุค 5G แต่กลับเป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จที่ชายหนุ่มนาม ‘อุกฤษ อุณหเลขกะ’ ผ่านด่านทดสอบมาแล้ว