fbpx

ตรัย ภูมิรัตน ALMSTFAMOUS

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยี MP3 พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินโลกแห่งเสียงเพลง ในยุคสมัยที่การสื่อสารใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงทั้งรสนิยมและรูปแบบการเสพงานศิลปะของผู้คน ในยุคสมัยที่กระแสหลักแตกสลาย กระจัดกระจายออกเป็นทางเลือกมากมายสารพัด

คุยกันเบาๆเรื่องพื้นที่เล็กๆกับผู้ชายตัวใหญ่ๆ

บอย-ตรัย ภูมิรัตน ยังคงเป็นอย่างที่เราเคยรู้จักเขามาเนิ่นนาน คือเป็นผู้ชายตัวใหญ่ๆ บุคลิกสุภาพเรียบร้อย พูดจาเสียงเบาๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสนทนากับใครๆ ด้วยการนั่งอมยิ้มที่แก้มและแววตา

1 ทศวรรษที่ผ่านมา เขาลอยคอไปในกระแสวงการเพลงไทยอย่างชิลชิล และมีความสุข ได้ทำงานอยู่ในแวดวงเพื่อนฝูงอันเป็นที่รัก และได้สื่อสารบางความคิด ไปถึงใครบางคน ผ่านบทเพลงมากมายนับร้อย และนานๆ ที เมื่อมีเวลาเหลือ ก็เขียนหนังสือ บทความ หรือเรื่องสั้นคนส่วนใหญ่รู้จักตัวตนของเขา ด้วยการนำบทเพลงและหนังสือของเขามาปะติดปะต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงเด่นที่สุดของเขาคือ ‘พื้นที่เล็กๆ’ ทำให้หลายคนรู้จักเขา ในแง่ที่เป็นเด็กชายผู้ยังไม่ยอมเติบโตแต่ GM กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น เราจึงอยากทำความรู้จักตัวตนของเขาให้ลึกซึ้งขึ้น ด้วยการนัดเขามานั่งคุยกันอย่างจริงจังเสียทีแน่นอนว่า พวกเราใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งอมยิ้มให้กันส่วนเวลาที่เหลือจากนั้น เขาบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมามากมาย วัยเด็กอันแสนสุข วัยรุ่นที่เจ็บปวด ความสูญเสีย การเดินทางแสวงหา การเติบโต และการข้ามผ่านช่วงวัยและที่สำคัญ คือเรื่องความรัก และการตัดสินใจแต่งงานแต่งการเสียที ซึ่งทำให้ตอนนี้เขาได้ค้นพบวิธีการจัดแบ่งพื้นที่เล็กๆ แบบใหม่

สำหรับเรื่องการงาน เขาบอกว่าตนเองไม่ใช่นักร้องนักแต่งเพลงที่โด่งดัง ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดาย หรือเสียอก-เสียใจอะไร กับการทุ่มเททำงานนี้มาตลอด 10 ปี เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตของเขาเป้าหมายชีวิตของเขาคืออะไร? คำตอบอยู่ในบทสัมภาษณ์นี้ และ GM คิดว่านี่คือเสียงเบาๆ ของคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน ที่กำลังร่วมกันนิยามความสุข ความสำเร็จ และวิถีชีวิต ที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อน

GM: คุณรู้สึกโอเคไหมกับชีวิตครอบครัว กับอายุที่มากขึ้น ของชายหนุ่มที่อยากมีพื้นที่เล็กๆ ไว้เป็นเด็กตลอดไป

ตรัย : เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเลยนะ พอมีครอบครัว เวลาคิดต้องคิดสองคน ต้องปรับตัว แต่เจ๋งดี ผมชอบ การมีสองคนทำให้ไม่ต้องคิดคนเดียวแล้ว เวลามีเรื่องอะไรก็ช่วยกันคิด ถ้าพูดไปแบบนี้แล้วคนโสดจะอิจฉาไหม แต่ผมคิดแบบนี้จริงๆ เลยนะ ว่ามันดีกว่า เหมือนมีเรื่องที่ต้องทำสองคนแล้วลงตัว อย่างตอนไปขอวีซ่า เราก็เข้าไปขอสองคนได้ ช่วยกันตอบเขาได้ ชีวิตเหมือนดับเบิลตัวเองไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้น่ากลัวอะไร

GM: ถ้าดีแบบนี้ แล้วทำไมคนรุ่นเราถึงแต่งงานกันช้าจัง

ตรัย : มีหลายกรณี บางคนหาคนที่ใช่ยังไม่ได้ บางคนเลือกมาก แต่ส่วนใหญ่คงเป็นคล้ายๆ กับผม คือกลัว กลัวธรณีประตูที่ยังไม่เคยข้ามไป ตอนอายุ 20 กว่า 30 กว่า มองชีวิตผู้ใหญ่ที่มีครอบครัวว่าน่ากลัว ความถนัดของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนกลัวสูญเสียอิสรภาพใช่ไหม

นี่เหตุผลยอดฮิตเลย

GM: แต่พอแข็งใจก้าวข้ามมาปุ๊บ แล้วชีวิตก็ไปต่อได้เรื่อยๆ เองใช่ไหม

ตรัย : ใช่ๆ ผมรอสภาวะแบบนี้มานานแล้วละ คือก่อนหน้านี้ชีวิตผมเป็นแบบที่… อืมม์…คือผมออกจากบ้านมาอยู่คนเดียวได้ 10 ปีแล้ว ตอนนั้นอยากใช้ชีวิตอิสระเหมือนวัยรุ่นทั่วไปนั่นแหละ อยากทำงานของตัวเอง จนวันหนึ่งคุณพ่อเสีย เหลือแต่แม่ ก็เลยขายบ้านหลังนั้นไป ทีนี้อยากกลับบ้านก็กลับไม่ได้แล้ว ผมก็เลยสำนึกขึ้นมาได้ว่าอยากมีบ้าน อยากสร้างบ้านของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง อยากมีโต๊ะกินข้าวในบ้านที่มีทุกคนนั่งอยู่พร้อมหน้ากัน เหมือนตอนเด็กๆ ที่พอกลับถึงบ้าน ก็จะมีของกินวางอยู่เต็มโต๊ะเลย เราอยากทำโต๊ะกินข้าวแบบนั้นขึ้นมาใหม่

GM: ความรู้สึกตอนคิดถึงบ้านเก่า มันเป็นอย่างไร

ตรัย : มันเคว้งๆ ช่วงชีวิตหนึ่งของผมจะเป็นแบบไปเช่าห้องพักอยู่คนเดียว ทุกวันออกไปข้างนอก พอกลับมา ไขกุญแจ เปิดประตูกลับเข้าห้องไป แค่นั้นเอง มันรู้สึกเคว้ง พื้นที่ยืนมันลอยๆ ไม่มีจุดหมาย

GM: นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เพลงของคุณมีอารมณ์เหงาๆ เศร้าๆ ใช่ไหม

ตรัย : ความรู้สึกนี้จะออกมาเยอะในอัลบั้มเดี่ยว ที่พูดเรื่องเศร้าๆ หม่นๆ หน่อย แต่ในชีวิตปกติ ผมไม่ได้เป็นคนที่หม่นมืดนะ เพลงอาจจะหม่น แต่จริงๆ ผมไม่ใช่คนแบบนั้นตลอดเวลา ถ้าจะถามว่าเพลงเหล่านั้นมาจากไหน ผมเพิ่งมาค้นพบตัวเอง ว่าการที่ผมเขียนเพลงแต่ละเพลง เพราะอยากจะพูดอะไรสักอย่าง พูดในสิ่งที่ไม่กล้าพูดกับคนคนหนึ่งต่อหน้า แต่ผมกล้าที่จะเขียนลงไปในเพลง

: ทุกวันนี้คุณแม่ยังมีสุขภาพดีอยู่หรือเปล่าGM

ตรัย : แข็งแรงมาก ขยันทำโน่นทำนี่ แต่เขาจะชอบน้อยใจ เวลาที่ทำอะไรมาให้กินแล้วผมไม่ยอมกิน

GM: แม่โอเคกับผลงานเพลงของคุณหรือเปล่า

ตรัย : ตอนนี้เขาภูมิใจมาก (ยิ้ม) เวลาไปดูคอนเสิร์ต เขาคือแฟนเบอร์หนึ่งเลย เขาเข้าใจในงานที่ผมทำ และเขาภูมิใจ ผมว่าเราทุกๆ คน ถ้าลองได้ทำอะไรเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง 10 ปี มันจะง่ายขึ้น อย่างผมร้องเพลงเดิมซ้ำมา 10 ปี หรือขึ้นคอนเสิร์ตบ่อยๆ จนถึงปีที่ 10 ก็จะเริ่มรู้สึกว่าง่ายแล้ว และก็พอจะมีคนที่รู้จักเพลงของผมแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อนตอนเริ่มเป็นนักร้องแรกๆ ยากมาก

GM: คุณพูดเหมือนในหนังสือ สัมฤทธิ์พิศวง ที่บอกว่าถ้าทำงานครบ 1 หมื่นชั่วโมง หรือประมาณ 10 ปี ถึงจะประสบความสำเร็จ

ตรัย : เป็นประมาณนั้นจริงๆ เราจำได้ว่าตอนปีที่ 6-7 ผมเคยคิดอยากจะเปลี่ยนอาชีพเลยนะ ตอนนั้นท้อ เพราะเราไม่ได้เป็นศิลปินประเภทที่

พอออกมาปุ๊บ ก็ประสบความสำเร็จเลยไง ผมก็เป็นประมาณนี้แหละ เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ แต่พอมาถึงปีที่ 10 มันเริ่มชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ แต่เรารู้สึกเข้าใจตัวเองมากขึ้น อย่างสมมุติผมเคยแต่งเพลงฮิตขึ้นมาได้ในปีแรกๆ แต่หลังจากนั้นก็ทำไม่ได้ หรือได้บ้างไม่ได้บ้าง เคยรู้สึกว่าเอาแน่เอานอนกับงานนี้ไม่ได้ หรือไม่มีแรงบันดาลใจ เริ่มไม่มั่นใจ สิ่งที่เราเคยทำได้นั่นคือฟลุคหรือเปล่า ผมคิดว่าจะทำยังไงให้เกิด Skill ต้องฝึกฝนแค่ไหน แต่พอถึงตอนนี้ ปีที่ 10 เวลามีโจทย์เพลงมาให้แต่ง ผมจะนึกภาพออกเลยว่าตรงนี้ควรเล่าอย่างไร ขยี้อย่างไร เห็นภาพรวมกว้างๆ ขึ้นมาเลย

GM: การแต่งเพลงเป็นเรื่องง่ายขนาดนั้นเลยหรือ

ตรัย : (หัวเราะ) จริงๆ ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น ทุกวันนี้ ทุกครั้งที่ได้งานใหม่มาทำ พอมีกระดาษเปล่าวางอยู่ตรงหน้า ผมหวั่นไหวทุกที ยังคงตื่นเต้นทุกครั้งในการต้องสู้กับมัน เพียงแต่รู้สึกว่าง่ายขึ้นแล้ว แต่ผมว่าการแต่งเพลงโฆษณา แต่งตามโจทย์ของคนอื่นนั้นง่ายกว่านะ คือพอส่งไป เขาไม่ชอบอะไรก็บอกมา ผมก็สามารถปรับตามที่เขาบอก เพื่อให้เขาชอบ เทียบกับพอมาแต่งเพลงตัวเอง อันนี้แหละที่ยากสุด เพราะมันจะดีหรือไม่ดี เราไม่รู้เลย

GM: ความรู้จากวิชาสถาปัตยกรรม สามารถนำมาใช้ในการแต่งเพลงได้ไหม

ตรัย : อาจารย์สมัยเรียนสถาปัตย์เคยบอกเราประโยคหนึ่ง แล้วผมก็จำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า การจะเป็นดีไซเนอร์ เราต้องมีรสนิยมน่าเชื่อถือ

แต่การมีแต่เทสต์แค่นั้นยังไม่ได้นะ ต้องนำหน้าเขาด้วย การทำเพลงก็เป็นการออกแบบอย่างหนึ่งเหมือนกัน เราต้องนำเสนอรสนิยมของเราออกมาให้เขามองเห็นว่ามันงาม แต่จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนคิดลึกซึ้งอะไร แต่ที่คิดเสมอคือคิดว่าเพลงคือไทม์แมชชีนนะ เป็นเครื่องย้อนเวลา พาเรากลับไปนึกถึงครั้งแรกที่เราฟัง โลกตอนนั้นเป็นยังไง สมมุติว่าฟังเพลงของพี่แจ้ (ดนุพล แก้วกาญจน์) ก็จะนึกถึงชีวิตตอน ม.3 แล้วภาพต่างๆ ก็จะตามมา ชัดมาก ทำไมคนเราถึงชอบฟังเพลงเก่า เพราะมันพาพวกเรากลับไปยังโลกที่ปลอดภัยไง เราฟังเพลงใหม่ๆ เดี๋ยวนี้เราไม่อินเท่า เพราะมันเป็นตอนนี้ เวลานี้ไง โลกที่ปลอดภัยของพวกเราคือตอนที่เป็นเด็ก โลกที่ยังไม่รู้จักความรัก ไม่เคยเจอคนหลอกลวง ไม่รู้จักด้านมืด โลกที่มีแต่ความแฮปปี้ มันคือช่วงเวลาตอนที่เราฟังเพลงตอนเด็กๆ ทำให้พอฟังเพลงเก่าๆ ก็จะนึกถึงโลกแบบนั้น และโลกใบนั้นของแต่ละคนที่มีต่อเพลงเพลงหนึ่งก็ไม่เหมือนกัน

GM: คุณก็เลยเอาเพลง นิดนึงพอ ของพี่แจ้มาร้อง Cover จนดังไปเลย

ตรัย : ผมถือว่าเพลงของพี่แจ้เป็นครูเลย เป็นเพลงที่เราร้องกันตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว วงฟรายเดย์ชอบเอามาเล่นกันตอนซ้อม พอมีโอกาสก็เลย Cover นอกจากพี่แจ้ ผมชอบ น้าแต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์ เพลงของเขายุคก่อน สมัยผีเสื้อ-แมลงปอ เป็นโลกใบนั้นของผมเลย ตั้งแต่ตอนอยู่ประถม เพราะพี่ชายเปิดฟังเพลงพวกนี้กรอกหูผมทุกวัน ผมเลยติดไปด้วย

GM: ทำไมเพลงถึงเกี่ยวกับความทรงจำได้

ตรัย : ในมุมของคนแต่งเพลง ผมรู้สึกว่ามันคือการบันทึกเรื่องส่วนตัว พวกเราเข้ารหัสไว้ในเพลง เราขุดความรู้สึกลึกลงไป ก่อนจะเขียนมีเรื่องอะไรตกค้างอยู่ในตัว รีดออกมาจากตัวเอง เพื่อเอาออกมาเขียน ส่วนในมุมคนฟัง เพลงสำคัญกับความทรงจำเพราะเมโลดี้มันเป็นส่วนที่จับต้องไม่ได้นะ แต่เกาะอยู่ที่หัวใจ เราจะจำเสียง โทน น้ำเสียง ความหมาย ผมว่าจริงๆ ความหมายอาจจะตามมาทีหลัง เพราะตอนเด็กๆ เราร้องเพลงไปโดยไม่รู้ความหมายหรอก แต่เสียงต่างหาก ที่ทำให้เราถวิลหาอดีต มันเป็นเรื่องของโทนเสียงมากกว่ามีเรื่องตลกอยู่เรื่องหนึ่ง ตอนเด็กๆ ตอนนั้นบ้าโดราเอมอน ผมคุยกับเพื่อนว่าโตขึ้นจะสร้างไทม์แมชชีนกัน คุยกันดิบดีเลยนะ ตอนนั้นอยู่ ป.3 หรือ ป.4 นี่แหละ คุยๆ เสร็จก็กลับบ้าน ตอนนอนๆ อยู่ก็นึกขึ้นได้ว่า เออ… เฮ้ย! ถ้าสร้างไทม์แมชชีนได้จริง ตัวเราต้องมาหาเราแล้วนี่นา ถ้ามันไม่มา ก็แปลว่าเราไม่ได้สร้างหรอก แต่มีเรื่องนี้ติดอยู่ในใจมาตลอด เพื่อนคนนั้นคงเลิกคิดไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่กี่ปีมานี้ ผมก็นึกเรื่องนี้ขึ้นมา ว่าตอนนี้โตแล้ว ผมสร้างไทม์แมชชีนได้แล้วจริงๆ เพลงของผมคือไทม์แมชชีน

GM: ทำไมตอนเด็กๆ ชีวิตดีกว่าตอนเราโตขึ้นนะ

ตรัย : ทุกคนอาจจะรู้สึกเหมือนกันนะ แสดงว่าโลกเลวร้ายลงทุกวัน คนเยอะขึ้นมั้ง เยอะขึ้นในอัตราก้าวกระโดด พอทุกอย่างต้องแย่งกัน ความโรแมนติกก็จะหายไป ไม่มีที่กว้างๆ แล้ว ที่เงียบๆ เหลือน้อย เมื่อก่อนผมคิดเรื่องนี้อยู่นะ ผมเคยคิดว่าไม่อยากมีลูก เพราะโลกเลวร้ายลงทุกวัน แต่ตอนนี้ผมเปลี่ยนความคิดแล้ว ผมคิดว่าเขาต้องเกิดมาเพื่อเจออะไรเหล่านี้แหละ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาต่อไป สร้างภูมิต้านทานเพื่อให้ลูกโตขึ้นมาให้ได้ เราไม่จำเป็นต้องไปกลัวแทนเขา

GM: ถ้าเป็นรุ่นเรา สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการสอบเอนทรานซ์ ขนาดนึกถึงยังขนลุกเกรียว

ตรัย : ไม่นะ ของผมเป็นตอนทำ Thesis เรียนปริญญาตรี มาถึงตอนนี้ยังฝันร้ายอยู่เลย มันน่ากลัวที่สุดแล้ว แต่ตอนเอนทรานซ์นี่ผมยังไม่รู้สึกถึงความน่ากลัว จำได้ว่ายังไปเที่ยวอยู่เลย หนีเที่ยว เพราะไม่รู้ว่าผลของมันรุนแรงขนาดไหน

GM Thesis ปริญญาตรีน่ากลัวตรงไหน

ตรัย : งานมันเยอะ แล้วผมทำไม่ได้ดีตามที่วางแผนไว้ ผมทำ Thesis ออกแบบรัฐสภา คอนเซ็ปต์คิดไว้สนุกมากเลย คือจะขุดลึกลงไปในดิน 20 เมตร เวลานักการเมืองเข้ามาทำงานหรือมาประชุม ก็ต้องเดินลงไปใต้ดิน มีบันไดลงไป เวลาทำงาน พวกเขาจะได้รู้สึกว่ารับใช้ทั้งแผ่นดิน คือต้องอยู่ข้างล่าง ไม่ใช่เป็นท่านรัฐมนตรี หรือเป็นนักการเมืองสูงส่ง และที่คิดว่าถูกต้องมาก คือผมออกแบบเก้าอี้นั่งให้เป็นวงกลม นี่คือคิดไว้ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนนะ ก่อนที่เขาจะมาจัดเก้าอี้ใหม่ให้เป็นกลมๆ แบบในตอนนี้ ตอนสมัยโน้น รัฐสภายังเป็นแบบเก่า จัดเก้าอี้เป็นหน้ากระดานแบ่งเป็นสองข้าง ผมเลยจัดเก้าอี้ใหม่เป็นวงกลมตั้งแต่ตอนนู้นละ ตอนนี้เขาออกแบบรัฐสภาใหม่ และจะไปสร้างอยู่ตรงโรงเรียนโยธินบูรณะ นั่นเป็นไซต์ที่ผมเคยเลือกไว้ใน Thesis เหมือนกัน เลือกไป 5 ไซต์ เช่น มีตรงโยธินฯ สนามม้านางเลิ้ง และที่เหลือก็เป็นต่างจังหวัด ย้ายน่ะดีแล้ว เพราะที่เดิมค่อนข้างคับแคบแล้ว ประชากรเพิ่มขึ้น ผู้แทนต้องมากขึ้น

GM: คุณมีความคิดเห็นต่อการเมืองอย่างไร

ตรัย : ผมเคยอารมณ์รุนแรงเรื่องการเมืองนะ ไม่ชอบใครบางทีก็บ่นไปในเฟซบุ๊คแรงๆ เหมือนกัน แต่จนวันหนึ่งรู้สึกว่าเปิดเฟซบุ๊คขึ้นมา ก็เห็นว่ารอบตัวเรามีแต่คนด่ากัน เกลียดกัน พูดกันด้วยถ้อยคำรุนแรง ไม่ว่าจะข้างไหนก็เถอะ แล้วประเทศนี้จะไปกันยังไง ด้วยความที่คนเกลียดกันแบบนี้ หลังๆ ผมก็เลยเริ่มขี้เกียจพูดเรื่องการเมืองในโซเชียลมีเดียทั้งหลายแล้ว ไม่ค่อยด่าใครแล้วตอนนี้ เพราะทั้งสองฝ่ายก็มีความเชื่อที่แข็งแกร่งกันทั้งคู่ แล้วผมจะไปเดือดร้อนแทนทำไม ไม่ว่าผมจะชอบข้างไหนก็ตาม เวลาคุยการเมือง จะชอบคุยแบบนั่งคุยกันมากกว่าไปเขียนด่ากันให้เจ็บใจนะ

GM: พวกเราไม่จำเป็นต้องต่อสู้กันแล้วหรือ

ตรัย : ก็ต่อสู้เป็นเรื่องๆ ไปสิ เรื่องไหนที่ไม่ถูก ไม่ชอบ ก็ค่อยไปสู้ แต่ไม่ต้องไปเลือกข้างตั้งแต่แรก เลือกวิจารณ์เป็นเรื่องๆ ไป ผมถึงเป็นคนไม่ดูฟุตบอล เป็นแฟนทีมไหนไม่เป็น เป็นแฟนแล้วมันเหนื่อย เหนื่อยใจ พอข้างเราดันไปทำไม่ดีเหมือนกัน เราต้องลุกขึ้นมาปกป้องอีก มันยิ่งเหนื่อย หรือพอเห็นข้างเขาออกมา เราก็มองว่าเขามีแต่ผิดตลอด แบบนี้ก็ไม่ได้อีก

GM: การออกแบบรัฐสภาให้อยู่ต่ำลงไป 20 เมตร สะท้อนให้เห็นทัศนคติของคุณ ที่มีต่อนักการเมืองเลยนะ

ตรัย : เราก็คงคิดเหมือนคนอื่นๆ มั้ง คืออะไรๆ ก็โทษนักการเมืองไว้ก่อน นักการเมืองเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัว เพราะเขามีอำนาจ ผมก็รอคนที่เป็นฮีโร่ ที่จะมาเป็นต้นแบบนักการเมืองนะ ถ้าเกิดมีฮีโร่คนนี้ขึ้นมา

ความเกลียดนักการเมืองก็อาจจะมีน้อยลง อาจจะมีในสักวัน ถ้ายังมีความหวังกันอยู่ อะไรก็ยังเป็นไปได้ทั้งนั้น

: คุณอยากจะเป็นนักการเมืองไหม

ตรัย : เฮ้ย! ไม่เป็น ผมเป็นคนที่ไม่มีภาวะผู้นำ เพราะผมเสียงเบา ผมอาจเป็นคนที่มีความคิด แต่ก็เป็นความคิดแบบของผมคนเดียว

ไม่สามารถที่จะบอกให้ใครมาเชื่อตามได้ แล้วผมก็ไม่ชอบไปบอกให้ใครคิดตามผมด้วย ดังนั้นคงเป็นนักการเมืองไม่ได้ นักการเมืองถ่ายทอดเป็น ต้องชักจูง ล้างสมอง

GM: แต่เพลงก็ชักจูงคนฟังได้ ล้างสมองคนฟังได้นะ

ตรัย : ก็ผมชอบร้องเพลงแบบเสียงเบาๆ ไง (หัวเราะ)

GM: สังคมอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร คนอายุ 30-40 อย่างเรา ควรจะเป็นแรงผลักดันสังคมไปในทิศทางไหน

ตรัย : อุดมคติเหรอ คือแบบคนกินผักกันมากขึ้น ชีวจิตกันมากขึ้น รีไซเคิลมากขึ้น อะไรแบบนี้มั้ง รีไซเคิลกันมากๆ สังคมก็อาจจะดีขึ้น แต่ผมเชื่อว่าเพลงมีอิทธิพลกับคนนะ เพราะศาสนาของผมคือเพลง ความเชื่อความศรัทธาของผมคือเพลง มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันช่วยชีวิตคนได้ ให้กำลังใจคนได้ ทำได้ถึงขั้นนั้น เพราะเพลงมันไปถึงได้ใกล้หัวใจที่สุด มันยิ่งกว่าเราไปโน้มน้าวด้วยการพูด เพราะพอได้ฟังเพลงไปแล้ว คนฟังเขาจะเอาไปพูดเองในใจของเขาหลังจากนั้น

GM: โปรเจ็กต์ 3 AM ที่คุณทำร่วมกับสแตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข)และบอย โกสิยพงษ์ ที่แต่งเพลงเพื่อการกุศล มันเวิร์กไหม

ตรัย : ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นว่าเวิร์กหรือเปล่า แต่เราสามคนเชื่อว่า การเริ่มนี่แหละที่เจ๋งมาก อย่างน้อยก็ได้ทำ ได้ลงมือ พี่บอยจะใช้คำว่า เราหว่านเมล็ดไว้ เราทำอะไรโดยที่เราไม่คาดหวังว่าจะได้อะไรกลับคืนมาเป็นอย่างไร เราก็เอาอาชีพของเรา ที่เป็นทุนของเราใส่ลงไป แล้วรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นมุมของเรา เราจะไม่แต่งเพลงไล่ใครออกไปไหน เพลงของเราอย่างมากที่สุด ก็จะบอกว่าลืมแล้ว

หรือเปล่า ว่าเราเคยรักกัน

GM: เรียกว่าแนวเพลงฟีลกู้ด หรือพวกโลกสวย อะไรแบบนี้หรือเปล่า

ตรัย : บุคลิกคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกันไง บุคลิกอย่างผมคือแค่เดินไปแตะบ่าเขา คุณๆ ใจเย็นๆ กันนะ เท่านี้เอง แต่ไม่ได้บอกว่า แหม!

โพสิทีฟเหลือเกินนะ เพราะอะไรถูกอะไรผิด ก็ว่ากันไปเป็นเรื่องๆ ดีกว่า อย่างวง 3 AM ของเรา ก่อนแต่งเพลงหนึ่งต้องคิดเยอะมาก ว่าจะไปโดนใครหรือเปล่า อย่างเรื่องน้ำท่วม พอแต่งแบบนี้ คนที่โดนน้ำท่วมก็จะบอกว่า บ้านคุณไม่โดน คุณไม่รู้สึกหรอก ก็อาจจะมีแบบนี้ได้ มันมีเหลี่ยมมีคมให้โดนใครๆ ก็ได้ตลอดเวลา การแต่งเพลงแบบนี้ก็ยาก แต่งไปแต่งมา สุดท้ายออกมาก็เลยไม่โดนใครเลยจริงๆ (หัวเราะ) ผมว่าเราควรมีหลักหนึ่งว่าเชื่อในอะไร สำหรับผม หลักนั้นคือผมไม่อยากทะเลาะกับใคร

GM: เสียดายที่ไม่ได้ตามอ่านทวิตเตอร์ของคุณ ตอนที่สถานการณ์กำลังร้อนๆ

ตรัย : ดีแล้วละ ตอนนั้นพอไปฟังใครมา ความรู้ ความเชื่อ บางทีฟังด้านเดียว ผมก็กระโจนไปเลย ตอนนี้เลยรู้สึกว่าเวลาจะแสดงความคิดความเห็นอะไร เราทุกคนมาคุยกันให้ตกผลึกก่อนจะดีกว่า

GM: วินาทีที่ฉุกคิดขึ้นมาได้ ว่าต้องเบรก ต้องหยุด ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น คุณเห็นอะไร หรือใครมาว่าอะไรคุณ

ตรัย : คือตอนนั้นผมเปิดเฟซบุ๊คขึ้นมา แล้วจู่ๆ ก็เห็นทั้งหน้ามีแต่คำหยาบ ความเกลียดชัง ก็เริ่มรู้สึกว่านี่พวกเราจะเล่นกันไปทำไม เอาความเกลียดชังโยนลงไปตรงนั้นทำไม ไม่รู้ว่าคนประเทศอื่นเขาเล่นกันแบบนี้หรือเปล่า แต่พอคนเราได้พูดความเห็นออกมาตลอดเวลา โดยไม่ปิดกั้น เราจะเป็นเหมือนเม่น ทำให้ไม่กล้าไปเเตะกันและกัน เราไปตีตราว่าคนนี้เป็นข้างนั้น คนนั้นเป็นข้างนี้ โซเชียลมีเดียมันเปลี่ยนโลก ตอนใช้ประโยชน์จะดีมากเลย บางทีเราเหงาๆ เราเล่นมันเพราะต้องการแชร์อารมณ์ของเรา แต่เราไม่รู้ตัวหรอกว่าคนที่อ่านอยู่มีเยอะแค่ไหน ทุกคนไม่ได้เข้าใจเราตรงกัน โซเชียลมีเดียมีความอันตรายอยู่ตรงนี้

GM: คนดังอย่างคุณยังมีมุมที่เหงาๆ ด้วยเหรอ จนต้องมานั่งเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อแชร์ความรู้สึกกับคนอื่น

ตรัย : เฮ้ย! ผมยังไม่ดัง (หัวเราะ) ต้องใช้คำว่าใจกวัดแกว่งมากกว่า เหมือนกับตอนเล่นคอนเสิร์ตเสร็จ จิตใจฟูมาก เพราะเมื่อกี้เพิ่งมีคนมาดูเป็นพันๆ แต่พอกลับถึงบ้าน ผมต้องอยู่คนเดียว ใจมันก็แกว่ง อยากพึมพำอะไรออกมาบ้าง เพื่อที่จะได้ฟังเสียงสะท้อนของใครสักคนในจักรวาล มันโหดมากเลยนะ ความรู้สึกตอนนั้น ที่พอเล่นคอนเสิร์ตเสร็จ กลับมาบ้านแล้วต้องอยู่คนเดียว นี่คือเมื่อก่อนนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เพราะไม่ได้กลับบ้านมาอยู่คนเดียวแล้ว (ยิ้ม)

GM: คนเป็นพันๆ หายวูบไปในเวลาไม่กี่วินาที มันเป็นอย่างไร

ตรัย : นักร้องคงรู้สึกอย่างนี้กันหลายๆ คนนะ มีความสุข ใจฟู แต่ถ้าเป็นเมื่อสิบปีก่อน ผมไม่ชอบเลย การขึ้นเวทีแบบนี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับผม ทำอย่างไรถึงจะรีบขึ้น รีบลง พอขึ้นไปยืนก็หลับหูหลับตาร้องเลยนะ (หัวเราะ) เพราะตื่นเต้นมาก อยากจะรีบๆ ลง คือตอนนั้นยังไม่คอนเนคกับคนฟัง ผมเป็นคนเสียงเบาไง ต้องใช้เวลาปรับตัวมาเรื่อยๆ จนตอนนี้คนเริ่มรู้จักเพลง รู้จักผมบ้าง มันก็ทำงานง่ายขึ้น ขึ้นเวทีเลยรู้สึกสนุกขึ้น ยิ่งคนฟังแฮปปี้เท่าไร ผมก็ยิ่งสนุกขึ้น

GM: อย่างตอนเด็กๆ แสดงอยู่บนเวทีของโรงเรียน หรือบนเวทีประกวด คุณตื่นเต้นไหม

ตรัย : โอย! ตื่นเต้น (เน้นเสียง) ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกันนะ ทำไมชีวิตนักดนตรีนี่อยู่แค่ในห้องอัดไม่ได้เหรอวะ ไม่ชอบออกไป

ข้างนอก ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ ไม่ชอบถ่ายรูป แบบที่มาวันนี้ถือเป็นเรื่องยากสำหรับผมเลยนะ ผมเป็นพวกเด็กนั่งกลางห้อง นั่งนิ่งๆ หลบครู

ไม่ทำตัวโดดเด่นนะ เออ…แต่นี่ล่าสุดตอนนี้ดันได้มาเล่นละครเวทีเฉยเลย พอเขามาชวนเล่นละครก็รับเลย ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำเลย เป็นโลกใบใหม่เลยเนี่ย

GM: เป็นละครเวทีเรื่องแรกเลยหรือเปล่า

ตรัย : เป็นเรื่องที่ 2 เรื่องแรก คือ หนูน้อยหมวกแดง ตอน ป.2 เล่นเป็นแม่หมูน้อยหมวกแดง (หัวเราะ) ตอนรับเล่นแล้วก็กังวลมากเพราะรู้ว่า

มันเป็นคนละพื้นที่ ตัวผมไม่ได้เป็นแบบนี้เลย เราไม่เคยพูดเสียงดัง การขึ้นเวทีนี่ผมจะคุ้นเคยกว่ากับการขึ้นไปเล่นดนตรี ร้องเพลง แต่อันนี้มันคือการพูดบทเพื่อทำลายความเงียบ มันไม่ใช่ตัวผมเลย แต่คราวนี้ก็เหมือนกับมาดูพื้นที่ใหม่ๆ แต่ก็พบว่าพอมาซ้อมทุกวันๆ ก็สนุกดีนะ การได้เล่นเป็นคนอื่นเนี่ย แล้วพอหมดละครเรื่องนี้ผมคงไม่ได้เป็นคนแบบนี้อีกแล้ว นี่เลยได้พูดดังๆ ที่สุดเท่าที่ชีวิตเคยพูดเลย

GM: พอเล่นละครเวทีแบบนี้ กลับไปจะกลายเป็นคนเสียงดังมากขึ้นหรือเปล่า

ตรัย : ไม่หรอก มันเหมือนแค่ผมสนุกกับการได้แสดงบทบาท โดยรู้ว่ามันไม่ใช่ ผมรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร เหมือนเล่น MSN แล้วตั้งชื่อสมมุติ หรือเหมือนตอนเราเล่นเว็บบอร์ดห้องเฉลิมไทย แล้วใช้ชื่ออื่นไปตอบในกระทู้ มันก็เป็นแค่ช่วงนั้นเท่านั้น เออ…เดี๋ยวนี้ยังมีใครเล่น MSN กันอยู่หรือเปล่า

GM: แทบไม่เหลือแล้วมั้ง มันเหมือนกับพอมีอันใหม่เข้ามา อันเก่าก็จะค่อยๆ หายไป

ตรัย : แล้วอย่างเฟซบุ๊คเนี่ย คุณว่าจะหายไปมั้ย ตอนนี้มันก็แข็งแรงมากนะ มันเหมือนกลายเป็นทุกอย่างย้ายเข้าไปอยู่ในนั้นหมดแล้ว

GM: สักวันเฟซบุ๊คก็คงต้องเสื่อมไป ทุกอย่างต้องเสื่อมไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว

ตรัย : ใช่ แต่ผมว่าที่จะเสื่อมก่อน คือใจของเรามั้ง ถ้าเล่นมากๆ จิตใจเรานี่แหละจะเสื่อม เพราะเราจะต้องไปอยากรู้นู่นรู้นี่ ดูคนนั้นคนนี้ เมื่อก่อนไม่เป็นแบบนี้ เมื่อก่อนเรารู้จักคนคนหนึ่ง เราก็รู้เรื่องของเขาเท่านี้ แต่พอมีเฟซบุ๊ค เราจะรู้เรื่องของเขามากขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม คุณว่าไหม? เหมือนมันไม่เป็นธรรมชาติยังไงก็ไม่รู้ มันล่วงล้ำเกินไป เดี๋ยวนี้เวลาเล่น ผมเองก็ต้องคอยลิมิตตัวเองนะ ไม่งั้นจะเป็นทุกข์เปล่าๆ การรู้เรื่องคนอื่นเยอะๆ ผมเห็นโฆษณาทีวีอันนึงแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! นี่มันเกินไปแล้ว ที่บอกว่าความสุขของฉันคือการถ่ายรูปอาหารเพื่อให้เพื่อนอิจฉา เขาพูดมาในโฆษณาอย่างนี้เลย ถ่ายรูปแล้วจะได้เอาไปลงเฟซบุ๊คเพื่อให้เพื่อนอิจฉา นี่มันก็คือการสร้างความอิจฉา เราไปดู เฟซบุ๊คคนนู้นคนนี้เราก็จะอิจฉา เรื่องนู้นเรื่องนี้ เราอยากได้อยากมีบ้าง

GM: เท่าที่ผมตามดูอินสตาแกรมของคุณ ก็เห็นคุณโพสต์รูปอาหารบ่อยๆ นะ

ตรัย : อันนั้นเรียกว่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (หัวเราะ) คือผมก็ไม่ได้ตั้งใจให้ใครมาอิจฉา คือยังไงดี พูดไม่ถูก ไม่ได้อยากให้อิจฉานั่นแหละ! ไม่ได้อวดนะ แค่อยากแบ่งปัน (หัวเราะ)

GM: เดี๋ยวนี้มีแต่คนพูดถึงเรื่องโซเชียลมีเดียพวกนี้ตลอดเวลา

ตรัย : ผมว่าถ้าเราพูดถึงเรื่องอะไรบ่อยๆ แปลว่าเรายังไม่มีคำตอบให้กับเรื่องนั้นนะ คือเรายังข้ามไปไม่พ้น เราก็เลยต้องพูดถึงมันบ่อยๆ เป็นไปได้ว่าเราพูดถึงมัน เพื่อพยายามหาวิธีใช้งานมันอย่างถูกต้องมั้ง

GM: คุณเล่นโซเชียลมีเดียเพราะอะไร คุณเหงาเหรอ

ตรัย : ถ้าเป็นคนเหงานะ ผมว่ามันก็ช่วยให้ลืมความเหงา ก็เหมือนเหล้า กินแล้วไม่ได้ทำให้ความทุกข์หายไป แต่มันก็ทำให้ลืมความทุกข์ไปได้

แป๊บนึง ผมก็ยังเหงานะ แต่ไม่ได้เหงาแบบเดิมแล้วมั้ง เพราะแต่งงานแล้ว ผมว่ามนุษย์ทุกคนก็ล้วนเหงาทั้งนั้นแหละ

GM: ถ้าบอกว่ายังเหงาแบบเดิม ภรรยาคงโกรธแน่เลย

ตรัย : ไม่เหงาๆ คุณช่วยเขียนตรงนี้ตัวใหญ่ๆ เลยนะ (หัวเราะ) คือผมว่าความเหงามันคือสถานะที่ต้องไหลไปตลอด จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เพราะมันยังไม่เต็ม เราทุกคนมีความไม่เต็มในแต่ละเรื่อง มนุษย์บนโลกใจมันไม่ได้เต็มทุกคนหรอก ตอนนี้ความเหงาสำหรับผมอาจจะไม่ใช่เรื่องคู่แล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องอื่น ผมว่าคนที่ไม่เหงาก็คือคนที่เขาเต็ม อยู่ได้ด้วยตัวเองในเรื่องใดก็ตาม ต้องเป็นพระ หรืออะไรแบบนั้น คนที่ครอบครัวสมบูรณ์ครบทุกอย่างแล้วก็เหงาได้นะ มีได้ทั้งนั้น

GM: แต่ยิ่งแก่ตัวไป คนเราจะเหงาน้อยลง

ตรัย : ใช่ๆ ผมคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน มันเหมือนกับโพรงว่างในใจเรา ยิ่งผ่านวันไป มันจะค่อยๆ เต็มขึ้นมา เหมือนเราได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ผมก็หวังว่าพอถึงอายุหนึ่ง ก็อาจจะไม่อยากเอาอะไรมาเติมแล้ว ทุกวันนี้ก็เหงาน้อยลงถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ตอนนี้เริ่มอยากเติมเรื่องลูก อยากมีลูก

GM: แปลว่าในขณะที่โพรงเก่าเต็มแล้ว ก็มีโพรงใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ

ตรัย : ก็เป็นไปได้ อย่างเวลาแต่งเพลง เราก็อยากให้คนได้ฟังเพลงเราเยอะๆ ผมว่าการแต่งเพลง มันก็คือความเหงานั่นแหละ ทำอย่างไรเราถึงจะส่งความคิดนี้ไปให้คนได้เยอะๆ มันก็เหมือนพวกนกที่ร้องหาคู่ไง เพลงก็คือเสียงนกร้องหาคู่ ทุกเพลงเกิดขึ้นเพราะต้องการให้ใครได้ฟัง มันก็คือความเหงานั่นแหละ เหมือนทวิตเตอร์ของเราทุกคน มันรอใครสักคนมาอ่าน ไม่ใช่การบ่นบ้าคนเดียว

GM: เทียบกับโลกรอบตัวในตอนนี้ อะไรๆ มันรวดเร็วเหลือเกิน เทคโนโลยีเปลี่ยนแค่ไหน ตัวคุณเปลี่ยนแค่ไหน

ตรัย : เปลี่ยนทุกวันนะ เปลี่ยนเร็วมาก อย่างเมื่อก่อนตอนเล่นเว็บบอร์ดเฉลิมไทย เวลาจะคุยกันก็คุยกันบนกระดานบอร์ด นัดไปดูหนัง สมัยนั้นยังไม่มี ICQ โคตรลำบาก แต่เดี๋ยวนี้เร่งมากขึ้น พอมี WhatsApp เราก็หลบกันไม่ได้แล้ว เพราะส่งข้อความเข้ามาถึงมือ เราต้องรู้ มันบังคับ

ให้เราต้องรับข้อมูล นึกไม่ออกเลยนะว่าเมื่อก่อนนัดเจอเพื่อนจตุจักร เจอกันตรงไหน ตรงหอนาฬิกาเที่ยงตรง สมัยนี้ไปกี่โมงก็ได้ ถึงแล้วก็ค่อยโทรฯ หาว่าอยู่ตรงไหน อนาคตคงเปลี่ยนไปอีก

GM: รู้มาว่าตอนนั้นคุณใช้นามแฝงว่า ‘เฉียวฟง’

ตรัย : เราอยู่ในห้องเฉลิมไทย รวมกันเป็นแก๊งดูหนัง สมัยนั้นมีเทศกาลหนังจัดที่เกอเธ่บ้าง ที่อื่นบ้าง พวกเราก็จะรวมกลุ่มกันไปดู คนพวกนี้มีแต่ที่บ้าหนังจริงๆ ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เป็นชุมชนเสมือน แต่พอมาเจอตัวจริงกันที่หน้าโรงหนัง ก็ไม่ใช่ชุมชนเสมือนอีกต่อไปแล้ว ก็เป็นเพื่อนกันเหมือนปกติ คุยกันแบบสุภาพเรียบร้อย

GM: โลกเฉลิมไทยดีกว่าโลกเฟซบุ๊คไหม

ตรัย : ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเล่นเฟซบุ๊คอย่างไร แต่ตอนนี้เฟซบุ๊คผมมีแต่เพื่อนที่รู้จักกันจริงๆ ไม่ได้กดรับคนทั่วไป แฟนเพลงจะอยู่ในแฟนเพจ ผมจะไปคุยกับพวกเขาในนั้น เฟซบุ๊คส่วนตัวมีเพื่อนแค่ 200 คน

GM: ถ้าเทียบโลกทวิตเตอร์กับโลกเฉลิมไทยล่ะ แตกต่างกันหรือเปล่า

ตรัย : เพื่อนในเฉลิมไทยมีแต่คนประหลาดๆ (หัวเราะ) คือน่าจะเป็นคนที่ขวนขวายประมาณหนึ่งเลยละ ชอบดูหนังเหมือนๆ กันจึงมารวมตัวกันได้ แต่ทวิตเตอร์จะกว้างๆ กว่า เพราะยุคก่อนนั้น คนที่จะใช้คอมพิวเตอร์ได้ ใช้อินเตอร์เน็ตได้ จะต้องเนิร์ดมากประมาณหนึ่ง สมัยนั้นมีพี่ปรัชญา

ปิ่นแก้ว มีหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค พี่ยักษ์-คมสัน นันทจิต มีแต่คนแปลกๆ แบบนี้มาคุยกัน แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ได้เข้าไปแล้ว ตั้งแต่ยุคที่เขาให้มีอมยิ้ม เขาให้สมัครแล้วใส่หมายเลขบัตรประชาชนเราเคยกรอกเข้าไป แต่ปรากฏว่าคอมพ์แฮงค์ตลอด กรอกอีกก็แฮงค์อีก เพราะผมใช้ชื่อนี้สมัครครั้งแรกไปแล้ว ชื่อก็ค้างอยู่อย่างนั้น ก็สมัครชื่อนี้ไม่ได้อีก ผมก็เลย อือ…ไม่เล่นละ

GM: บอย ตรัย ในนาม ‘เฉียวฟง’ เป็นคนอย่างไร

ตรัย : ตอนเป็นเฉียวฟง ผมจะมุทะลุกว่านี้หน่อย เพราะตอนนั้นยังหนุ่ม เป็นถึงประมุขพรรคกระยาจกเลยนะ

: ชอบตัวละครเฉียวฟงใช่ไหม

ตรัย : เขาเป็นคนเศร้า เป็นตัวละครที่ผมชอบที่สุดในเรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า เขาเป็นศูนย์รวมแห่งความซวยทุกอย่างของเรื่อง แต่เขายัง

ยืนหยัด ตรงไปตรงมา ยึดถือในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร อ่านนิยายกำลัง-ภายในตอนเด็กๆ แต่อ่านไม่เยอะนะ อ่านฤทธิ์มีดสั้น อ่านเรื่องที่เขาฮิตๆ กันนั่นแหละ แต่ถ้าเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่น ผมอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะกว่า เยอะจนอายเลย ปีนี้เลยเริ่มเพลาๆ แล้ว เพราะการ์ตูนเต็มบ้าน ตอนนี้

ไม่ซื้อทุกเรื่องแล้ว ก็หันมาอ่านนิยาย เล่มนึงอ่านได้นานกว่า และพบว่าพออ่านนิยาย แล้วกลับไปอ่านการ์ตูนอีกรอบ การ์ตูนมันจะจืดไปเลยนะ

GM: อ่านนิยายแนวไหนบ้าง

ตรัย : ตอนนี้กำลังอ่านแนวสืบสวนสอบสวน นิยายชุด ไมรอน โบลิทาร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ผมกลับมาอ่านนิยายจริงจังช่วงนี้ เพราะเขาสร้าง

ตัวละครได้สมจริง อ่านสนุก เหมือนคนเขียนสร้างคนจริงๆ ขึ้นมาได้เลย

GM: อ่านวรรณกรรมจะทำให้เนื้อหาในงานเพลงเป็นจริงเป็นจังขึ้นไหม เทียบกับที่เมื่อก่อนอ่านการ์ตูน

ตรัย : ไม่น่าเกี่ยวนะ หรือว่าเกี่ยวก็ไม่รู้ คือโดยไม่รู้ตัวอาจมีอะไรที่อ่านออกมาในเพลง ผมอ่านเพื่อความบันเทิงล้วนๆ ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะไปเอาจริงเอาจังอะไร ตอนอ่านการ์ตูนก็เหมือนกัน ไม่คิดว่ามันจะต้องไปอยู่ในเพลง เพลงจะเป็นโลกอีกใบหนึ่ง ผมไม่คิดว่ามันเกี่ยวโยงกัน แต่มันอาจจะเป็นอิทธิพล

GM: ขนาดนามปากกา Zentrady ก็มาจากการ์ตูน

ตรัย : นั่นมาจากการ์ตูนเรื่อง มาร์ครอส หรือตอนแต่งเพลง พื้นที่เล็กๆ ก็มาจากความคิดเกี่ยวกับการ์ตูน อืมม์…แต่อย่างเพลงแนวอกหักล่าสุด ก็ไม่ได้มาจาก ไมรอน โบลิทาร์ หรอกนะ

GM: พอแต่งงานแล้ว คุณยังเหลือพื้นที่เล็กๆ ที่ยังเป็นเด็กอยู่หรือเปล่า

ตรัย : ยังมีนะ เราก็แบ่งๆ กัน เขาก็ยังมีพื้นที่เล็กๆ ของเขาเหมือนกัน เขามีส่วนที่จะต้องเย็บปักถักร้อย ทำงานอดิเรกอะไรของเขาไป ส่วนผม

ก็มีพื้นที่ของการ์ตูนและหุ่นยนต์

GM: พออยู่กันไปนานๆ พื้นที่ของเราอาจจะโดนเขาเบียดบังไปนะ

ตรัย : (หัวเราะ) ไม่ๆ พื้นที่คงจะมา Merge กันมากกว่า

GM: อยากให้พูดถึงอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่น ชอบเรื่องไหนที่สุดในวัยเด็ก และมันมีผลอย่างไรในปัจจุบัน

ตรัย : ที่มีอิทธิพลที่สุดคงเป็นเรื่องโดราเอมอน ผมชอบผลงานของ อาจารย์ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ตามอ่านแทบทุกเรื่อง เขาจะสอดแทรกไซ-ไฟ มิติเวลา โลกอนาคต ไทม์แมชชีน นี่เป็นความชอบของตัวอาจารย์เขา แทบทุกเรื่องเกี่ยวกับคนย้อนอดีตได้ โลกที่มีไทม์แมชชีนจะเป็นยังไง มันทำให้ผมตื่นตะลึง ถ้าย้อนอดีตได้จะเป็นยังไง ผมเลยหมกมุ่นกับตรงนั้น ยิ่งพอมาอ่านงานที่เป็นไซด์โปรเจ็กต์ของอาจารย์ ก็เป็นการ์ตูนแนวไซ-ไฟที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก เหมือนอ่านหนังสือต่วย’ตูน มันเป็นโลกจินตนาการของเด็กผู้ชาย ตอนนี้ความรู้สึกก็ยังไม่หายไปนะ ผมว่าเพื่อนๆ คนอื่นก็เป็นแบบนี้กันทุกคน มันเป็นความคันของเด็กผู้ชาย ที่ชอบเรื่องเหนือจริง มนุษย์ต่างดาว วิทยาศาสตร์

GM: ย้อนกลับไปดูแล้วคิดว่ามันไร้สาระไหม

ตรัย : ไม่หรอก แต่มันต้องใช้ให้ถูกเวลา ผมแต่งเพลง ‘พื้นที่เล็กๆ’ ไม่ได้จะบอกว่าทุกคนควรเป็นเด็กตลอดไป หรือตลอดเวลาหรอกนะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อเรื่องการเหยาะซอสแม็กกี้บนไข่ดาว ความเป็นเด็กยังต้องให้มีอยู่ในใจ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเรา เรามีมุมเด็กเหลือไว้ เพื่อให้ทุกอย่างไม่ตึงเกินไป บางทีผมคิดว่าอาจจะต้องแต่งเพลงภาคสอง ของเพลงพื้นที่เล็กๆ

GM: ชีวิต 38 ปีของคุณ วันที่คุณรู้สึกว่าโตแล้วคือวันไหน

ตรัย : คือวันที่อยากกลับบ้านนั่นแหละ เหมือนเรื่อง The Wizard of Oz โดโรธีทะเลาะกับที่บ้าน ไม่มีใครเข้าใจเลย จนระหกระเหินไปอยู่ดินแดนของพ่อมด มีเพื่อนเป็นสิงโต หุ่นกระป๋อง หุ่นฟาง เจออะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ความฝันสูงสุดของโดโรธีคืออยากกลับบ้าน ผมคิดว่าคนเขียนเขาใช้โดโรธีเป็นตัวแทนของผู้คนที่ตามหาความฝัน และความฝันสูงสุดของทุกคนคือบ้าน การได้กลับบ้าน ผมคิดเหมือนกันว่าการเดินทางทั้งหมดในชีวิตของคนเรา ก็เพื่อให้ได้กลับบ้าน ชีวิตคนเราจึงต้องออกเดินทางสักครั้ง อาจไม่ใช่หมายถึงการเดินทางแบบเดินทางไปข้างนอก ไปไกลๆ ก็ได้ แต่หมายถึงการออกจากอะไรที่คุ้นเคย ชีวิตต้องได้ผจญภัย เพื่อที่จะได้รู้ว่ากลับบ้านมาแล้วรู้สึกอย่างไร

GM: ในการเดินทางของคุณ มีอะไรกระทบจิตใจมากที่สุด

ตรัย : คือตอนที่หลานเสียชีวิต หลานผมเป็นโรคไตตั้งแต่เกิด พอคลอดออกมา หมอบอกว่าจะอยู่ได้ถึงอายุ 12 ขวบ ให้ครอบครัวเราทำใจตั้งแต่ตอนนั้นเลย เขาเป็นหลานที่ผมรักมาก เป็นลูกของพี่ชาย เรื่องนี้รู้สึกว่าโหดที่สุดแล้ว และมีเรื่องก่อนหน้านั้นคือตอนพ่อผมเสีย ปี 2003 ผมคิดว่าตอนนั้นพ่อยังไม่ทันรู้เลยว่าผมทำอะไรอยู่ ผมยังไม่ได้พิสูจน์อะไรให้พ่อเห็น พ่อยังคิดว่าผมเป็นเด็กอยู่เลย พ่อหัวใจวาย ชีวิตผมเคว้งเลย แล้วหลังจากนั้น หลานรักก็มาเสียไปอีกคนหนึ่ง

GM: ความตายเป็นสิ่งกระทบใจมากที่สุด

ตรัย : ผมคิดว่ามันคือสุดยอดของบทเรียนนะ การสูญเสียคนรัก ผมใกล้ชิดเขามาตลอด ดูเหมือนเขาไม่กลัวนะ เขารู้ตัวตลอดว่าเขาไม่สบาย แต่เขาเจ๋งกว่าคนที่ร่างกายแข็งแรงอย่างเราๆ เสียอีก เขาไม่กลัว เวลาที่ได้ไปคุยกับคนที่ใกล้ชิดคนป่วยลักษณะนี้ ก็คิดแบบเดียวกันนะว่าเด็กที่จะต้องไปก่อนเวลาอันควร เขาจะมีความฉลาด เหมือนได้ใช้ชีวิตที่เหลือมาก่อน เบิกชีวิตที่เหลือมาใช้ตอนนี้ เขาฉลาดกว่าเด็กทั่วไป ตอนมีชีวิตอยู่ เขามีความสุขเต็มที่เหมือนเด็กปกติ แต่เขาแค่เจ็บปวดในระยะเวลาใกล้ๆ ที่จะไป เราเห็นมาตลอด เขาคือสุดยอดของความเข้มแข็ง เห็นเขาเจ็บแล้วเราแย่แทน

GM: บั้นปลายชีวิตคนรุ่นเราจะเป็นอย่างไร

ตรัย : ของคนอื่นไม่รู้นะ แต่ถ้าของผมนะ ผมอยากอยู่บังกะโลเล็กๆ ยังแต่งเพลงอยู่จนแก่ ใช้ชีวิตท่ามกลางทะเล แต่งเพลงได้ทุกวัน อยากแต่งเพลงไปให้นานที่สุด

GM: รู้ได้อย่างไรว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อทำงานนี้

ตรัย : ไม่รู้ และคงไม่มีใครจะรู้ได้ ผมมาทำงานนี้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ผมตั้งใจทำนะ ตอนเริ่มต้นก็ไม่คิดว่าจะมาทำได้นานถึงขนาดนี้ ตอนเด็กๆ ไม่รู้ว่าโตขึ้นมาอยากเป็นอะไร ตอนเป็นวัยรุ่นก็คิดแค่ว่าจะไปเรียนสถาปัตย์ จะเป็นสถาปนิกที่ดี ชอบซูโม่สำอาง อยากได้ทำละครคณะ อยากทำอะไรสนุกๆ บันเทิงๆ

: ฉะนั้นแล้ว คุณรู้ได้อย่างไรว่าจะทำงานนี้ไปจนแก่ตาย บางที

ถ้ามีทางอื่นเปิดขึ้นมา คุณอาจจะเฉไฉออกไปก็ได้

ตรัย : คือตอบด้วยความรู้สึกชอบ มองไปข้างหน้าแล้วคิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วน่าจะมีความสุข คนอย่างผมคงไม่ไปทำไร่ทำสวน เดี๋ยวมือด้าน

มือแตก ไม่น่าจะทำไหว คือถึงแม้ต่อไปงานแต่งเพลงจะไม่ได้ทำเป็นงานหลักสำหรับเลี้ยงชีพ อย่างน้อยการแต่งเพลงก็น่าจะเป็นงานอดิเรก ที่ได้ทำไปจนแก่ อยู่ที่ว่า ณ วันนั้น ผมยังอยากพูดกับใครอยู่หรือเปล่า วันที่ผมแก่ไป ผมอาจเป็นคนแก่ขี้รำคาญก็ได้ คนแก่แย่ๆ ที่รำคาญทุกอย่างรอบตัว พอรำคาญทุกอย่างแล้ว ก็อาจจะไม่อยากสื่อสารกับใคร เพราะการแต่งเพลง จริงๆ แล้วมันคือการพูดอะไรบางอย่าง กับคนบางคน ถ้าผมไม่อยากพูดอะไรกับใครแล้ว ผมก็แต่งเพลงไม่ได้ ก็ขอให้ผมเป็นคนแก่ที่ไม่ขี้รำคาญก็แล้วกัน

GM: ถือเป็นอาชีพในฝันเลยนะ ได้พูดกับคนอื่นด้วย และได้ตังค์ด้วย

ตรัย : ก็จริงนะ แต่ไม่ใช่แค่พูดๆ ออกไปนะ ก็ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้วย ทักษะในการแต่งเพลง เวลาทำงานผมจะนึกถึงใบหน้าของคนฟังไปด้วย ว่าถ้าเขาได้ยินประโยคนี้เขาน่าจะชอบนะ ต้องคิดเรื่องนี้ด้วยตลอด

GM: หน้าคนคนนี้ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไหม

ตรัย : ถ้าเป็นเพลงรัก ก็จะคิดถึงหน้าคนคนเดิมเสมอ

GM: ถ้าเป็นเพลงอื่นๆ เพลงฟีลกู้ด ให้กำลังใจ หน้าของบอยโกสิยพงษ์ คงโผล่ขึ้นมาใช่ไหม

ตรัย : (หัวเราะ) พี่บอยเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งเพลงเท่านั้น แต่เป็นทุกเรื่องในชีวิต ผมชอบชีวิตเขา ชอบความเย็นสบาย ผมว่าเขาเหมือนโยดา เป็นปรมาจารย์อะไรแบบนั้น ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ชีวิตสงบๆ แบบเขา มีแต่ความรักให้คนอื่น แต่ผมเป็นพุทธนะ

พี่บอยเป็นคริสต์

GM: ต่างกันไหมเวลาคุยกัน

ตรัย : ไม่ต่างนะ คุณลองไปคุยกับเขาสิ สนุกดี พี่เขาใช้คำนี้เลยนะ ว่า “เจอจุดมุ่งหมายแล้ว” ต่อไปนี้จะทำอะไรก็ทำเพื่อจุดมุ่งหมายเดียว เลิกเล่นของเล่นแล้ว คือโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หันไปเผยแผ่ศาสนา เรียนคำสอนพระเจ้า ผมก็มานั่งนึกๆ ว่าอือ ทำไมผมยังเล่นของเล่นอยู่เลยนะ

GM: ก็จุดหมายของคุณไม่ได้เป็นแบบเขา จุดหมายของคุณคือโต๊ะกินข้าวที่บ้านไง

ตรัย : ใช่ๆ ตอนนี้เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำกับข้าวเป็นหม้อใหญ่ๆ ไว้

ใครกลับมากินตอนไหนก็ได้ ผมว่าเราใช้คำว่าเติบโตดีกว่า เพราะพวกเรายังไม่แก่เลย เหมือนเด็ก 4 คนในหนัง Stand By Me คุณเคยดูไหม ที่เด็กๆ ออกเดินทางไปตามหาศพ เวลาผ่านไปแค่วันเดียว กลับมาพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ตอนจบเด็ก 4 คนในเรื่องก็เจอศพ มันก็แค่นั้น ไม่มีอะไร

เมื่อก่อนดูแล้วยังไม่เข้าใจ พอตอนนี้ถึงจะเข้าใจ ผมเข้าใจว่าสำหรับพวกเขา เมื่อกลับมาแล้วรู้สึกว่าเมืองเล็กลง เพราะว่าพวกเขาเติบโตขึ้นแล้ว

GM: ในสายตาของคุณ วันนี้กรุงเทพฯ เล็กลงไหม

ตรัย : ไม่เลย กรุงเทพฯ ไม่เปลี่ยนเลย แต่สำหรับเวทีคอนเสิร์ต มันเปลี่ยนไปแล้วนะ อย่างเวทีหนึ่งจุคนได้ 1 พันคน เมื่อก่อนผมรู้สึก โอย! ตายแน่ๆ คิดวนๆ แบบนี้ตลอดเวลา แต่พอผมได้เจอเวทีใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างเมื่อวาน ผมไปร้องเพลงในช่วงพักครึ่งฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก สนามจุได้เป็นหมื่นคน ผมคิดในใจ อืมม์…พอไหวโว้ย!! เหมือนโลกใต้น้ำที่เรากลัว เราไม่เคยเห็น ไม่เคยไป แต่พอเรียนดำน้ำ ได้ลงไปเห็น ก็ชอบ พอรู้จัก ก็หายกลัว แต่ถ้าเป็นกระดาษเปล่าวางอยู่ข้างหน้ายังกลัวอยู่ (หัวเราะ) กระดาษเปล่าก่อนแต่งเพลง แต่ถ้าแต่งเสร็จแล้วจะหายกลัวเลย

GM: อย่างที่คุณบอกว่าการแต่งเพลงก็เพราะต้องการพูดอะไรกับใครสักคน แปลว่าผู้ฟังในอุดมคติมีความสำคัญมากใช่ไหม

ตรัย : เราถึงรู้สึกว่าศิลปินที่บอกว่า อยากทำอะไรที่เป็นตัวเอง ไม่ได้ต้องการให้ใครเข้าใจ ผมว่าเขาสับสนนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนล้วนต้องการให้ใครสักคนฟัง ไม่งั้นมันไม่มีเหตุผลที่ต้องสร้างเพลงขึ้นมา อย่างน้อยต้องมีคนหนึ่งละ แต่งให้ใครสักคน

GM: สมัยเป็นหนุ่มๆ คุณเคยติสท์แตกหรือเปล่า แต่งเพลงออกมา คนจะไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่งไว้ฟังเองก็ได้ อะไรทำนองนี้

ตรัย : ผมว่านั่นเป็นข้อแก้ตัวของวัยหนุ่มมากกว่านะ หรือข้อแก้ตัวของความผิดพลาด จริงๆ แล้ว ต้องมีอย่างน้อยคนหนึ่งที่เราอยากให้เขาเข้าใจ ถ้ายิ่งมีหลายๆ คนเลยก็จะยิ่งดี และพอยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มคนจะเล็กลง เพราะเริ่มชัดเจนแล้ว ว่าเราไม่ได้จะหว่านเพลงนี้ให้ทุกคน แต่เราอยากจะส่งตรงให้ใคร เพลงโดนคนเดียวก็ดีใจแล้ว โดนคนที่เราต้องการให้โดน

GM: นักร้องวัยรุ่นสมัยนี้ พวกเขาติสท์แตกกันไหม

ตรัย : ผมว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ก็จะทำงานด้วยความเข้าใจทั้งนั้นแหละ แต่บางทีที่เราเห็นว่าเขาเยอะ นั่นอาจจะเป็นการออกแบบของเขา เป็นรูปแบบการแสดงของเขา อย่างพวกริชแมนทอย พอมาทำงานด้วย ก็รู้เลยว่าเด็กพวกนี้มีความคิด ไม่งั้นไม่ดังแบบทุกวันนี้หรอก อย่างที่อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) พูด ผมเคยฟังเขาพูดว่า “คนที่ดังๆ หรือคนที่สำเร็จ ส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหาหรอก เพราะเขาเข้าใจว่าต้องทำอะไร แต่คนที่มีปัญหาส่วนมาก มักจะเป็นพวกปลาเล็กปลาน้อยทั้งนั้นแหละ” แต่ผมไม่ได้หมายถึงว่าการทำงานด้วยหัวใจมันผิดนะ เราต้องทำงานด้วยหัวใจ แต่ก็ต้องมีทิศทาง ไม่ใช่ออกมาเอะอะโวยวาย หรือพูดว่าไม่ต้องการให้ใครฟัง เพลงนี้เป็นของฉันคนเดียว อะไรแบบนี้ มันเหงานะ

GM: สมัยก่อน ศิลปินบางคนต้องรอจนตายไปก่อนแล้วคนถึงจะเข้าใจผลงานของเขา ทำไมสมัยนี้ไม่โรแมนติกแบบนั้น

ตรัย : ก็เหมือนกับที่มีวงดนตรีเยอะแยะเลยในตะวันตก ที่ออกมาแล้วก็ไม่ดัง จนกระทั่งเขาแยกวงไปแล้ว เสร็จแล้วญี่ปุ่นกว้านซื้อเอามาขายใหม่ และก็ฮิตที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมันจับหมวดหมู่ให้ทุกอย่าง ผมก็มีความสงสัยอย่างหนึ่ง ว่าทำไมประเทศเราไม่สามารถจัดหมวด หรือว่าทำสารานุกรมเพลงไทยตามปี ว่าปีนี้เป็นแนวนี้ออกมา หรือว่าวงนี้เป็นแนวนี้ ไม่เห็นมีใครทำเลย

GM: ก็ได้นะ สมัยเราก็มีค่ายนิธิทัศน์ แกรมมี่ อาร์เอส หรืออาจจะจัดแบ่งว่าเป็นยุคแกรมมี่ และยุคหลังแกรมมี่ อะไรแบบนี้ได้ไหม

ตรัย : ก็เป็นไปได้ เขาก็เรียกว่ายุคของเพลงอัลเทอร์เนทีฟไง ของผมก็เริ่มต้นในยุคนั้นเหมือนกัน เพลงผมเป็นแนวป๊อปๆ ไม่ค่อยมีกีตาร์เสียงแตก กีตาร์เสียงแตกยุคนั้นต้อง เสก โลโซ ออดี้ เนิร์สเซอรี่ซาวด์ แล้วก็อาจจะแบ่งเป็นยุคหลังเบเกอรี่มิวสิคปิดตัว ผมว่าน่าจะเรียกว่าเป็นยุคดอกไม้เหี่ยว คือก่อนปี ค.ศ. 2000 มันเป็นยุคผลิบานของอัลเทอร์เนทีฟไทย ค่ายนู้นค่ายนี้เปิดกันใหญ่เลย แล้วหลัง 2000 ก็ปิดกันหมดเลย

GM: แล้วคนยุคนี้เขาฟังเพลงอะไรกัน

ตรัย : ผมคิดว่าตอนนี้วัฒนธรรมเกาหลีเข้ามาอย่างรุนแรง คนไทยต้องการดูการแสดงที่เป็นเต็มโชว์มากขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่มานั่งฟังเพลงอย่างเดียว แต่มันต้องครบ ต้องดูเป็นโชว์ ครบทั้งร้อง เต้น ต้องแสงสีบนเวที

GM: ต้องขาวๆ ขายาวๆ หุ่นดีๆ

ตรัย : ไม่ใช่ๆ หมายถึงว่าบนเวทีมันต้องเป็นโชว์ ไม่มีแบบเวทีไปคนนึงแล้วก็เล่นกีตาร์ตัวเดียวเหงาๆ หรืออย่างอพาร์ตเมนต์คุณป้า อย่างนี้ก็หาได้ยาก

GM: แล้วพวกคุณจะรอดตายจากยุคนี้ได้อย่างไร

ตรัย : มันก็คงต้องมีช่องทางเล็กๆ ไง ให้พวกเราพอลอยคอไปได้เรื่อยๆ

GM: ช่องเล็กๆ คือพวก Fat Radio ค่ายสนามหลวง ค่ายสมอลล์รูม อะไรพวกนี้ใช่ไหม

ตรัย : พวกนี้เป็นทางเลือกให้กับคนที่เบื่อของกระแสหลัก แต่พอพวกนี้อยู่นานๆ เขาต้องมีวิธีปรับตัวเองด้วย ถ้าไม่ปรับตัวเลย มันก็ไม่พัฒนา พวกนี้เป็นกลุ่มเล็กจะปรับให้ใหญ่ก็ลำบาก ผิดภาพของเขา แต่จะเล็กแบบนี้ต่อไปนานๆ ก็จะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ แต่การมีอยู่ของทางเลือก ก็เป็นหลักฐานว่าสังคมเราไม่ได้ต้องการอะไรที่เป็นกระแสหลักตลอดเวลาหรอก และไม่แน่ว่าตอนนี้ พวกอินดี้ก็อาจจะกลายเป็นกระแสหลัก มันก็ต้องสลับขั้วกันไปเรื่อยๆ ผมก็คิดว่าแก่นแท้การจะเป็นอินดี้ ก็คือการที่เราไม่ต้องทำอะไรที่เราไม่อยากทำ อย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันเกร่อ แต่บางที การเป็นอินดี้นี่มันมีเส้นแบ่งบางๆ กับความน่ารำคาญนะ คือการจะดื้อ มันต้องพอดีไง มันถึงจะน่าดู มันถึงจะน่าเชื่อ

GM: โดยรวมๆ คุณมองวงการเพลงในปัจจุบันอย่างไร

ตรัย : ตอนนี้เหมือนเวลาขายเพลง มันต้องแพ็คมาพร้อมกับการตลาดด้วย จะทำอัลบั้มหนึ่ง ต้องมีการตลาดด้วย จะทำโปรเจ็กต์หนึ่ง ต้องมีการตลาดด้วย อย่างเวลาเราจะกินไอติม เราไม่รู้เลยว่าอร่อยหรือเปล่า แต่ด้วยการตลาด เมื่อมีคนอื่นกินกันเยอะๆ เราก็เลยต้องกินด้วย ไอติมดังก่อนที่เราจะได้ชิมมัน เพลงก็ดังก่อนที่เราจะได้ฟัง ทุกสิ่งดูเหมือนว่าจะดังก่อนที่เราจะได้รู้จักมัน ซึ่งแบบนี้อันตราย เพราะตัวผลงานจริงๆ จะไม่สามารถทำให้คนชื่นชอบ คนก็ไม่สามารถใช้วิจารณญาณของตัวเองได้ ทุกอย่างถูกยัดเยียดด้วยความเชื่ออะไรบางอย่างไว้ก่อน ผมก็เลยคิดว่าในยุคต่อไป เราจะต้องแยกแยะให้ออก ระหว่างผลงานกับการตลาด ในยุคสมัยนี้น้องๆ ศิลปินถ้าไม่ทำเองนะ ถ้าไม่รู้จักเอาไปลงยูทูบ เขาจะต้องโดนจับเข้าสู่ระบบนี้เลย ระบบ

การตลาด บางทีอาจจะต้องไปทำร่วมกับสินค้าหนึ่ง แล้วก็ต้องเป็นเพลงที่คล้ายๆ กับเพลงส่งเสริมสินค้านั้นไปเลย แต่ผมว่าเด็กสมัยนี้เก่งนะ เพราะเขาต้องแข่งขันกันมาก ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ เขารู้วิธีเข้าไปในยูทูบ แล้วก็ไปวัดกันตรงนั้น

GM: รู้สึกอึดอัดมั้ยเวลาทำงานอยู่ในวงการนี้นานๆ แล้วยังอยู่ในระดับนี้ ไม่ได้กระโดดขึ้นไปเป็นซูเปอร์สตาร์ อย่างเสก โลโซ หรือแบบ ตูน บอดี้สแลม

ตรัย : อย่าให้วิจารณ์คนอื่นเลย มันเสียว (หัวเราะ) คือถ้าถามว่าท้อไหม ผมว่าก็ไม่เกี่ยวแล้วนะ เพราะว่ามันทำมา 10 กว่าปีแล้ว

GM: มีความจำเป็นไหม ที่จะต้องดังทะลุขึ้นไปให้เป็นแบบ ตูน บอดี้สแลม

ตรัย : หมายถึงผมน่ะเหรอ จะบ้าเหรอ (หัวเราะ) ผมทำสิ่งที่ทำได้ ทำต่อไปแบบนี้ ไม่ได้วางแผนไกล เพราะจะเกินความสามารถตัวเอง ก็ทุกข์ใจเปล่าๆ อย่างมาเล่นละครเวทีคราวนี้ ก็ถือว่าออกเดินทางมาไกลที่สุดแล้ว ออกจากบ้านไกลสุดแล้ว การคาดหวังหรือความทะเยอทะยานมันก็ดี ทำให้เราพัฒนา แต่การที่เราตั้งโจทย์ไว้ใหญ่มาก มันก็ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความทุกข์ทุกวัน เพราะเราต้องพยายามเหลือเกิน ผมชอบตั้งใกล้ๆ ไว้ก่อน มันก็เลยได้ประมาณนี้มั้ง แต่ทุกวันนี้ผมก็แฮปปี้ดีนะ เหมือนที่พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) เคยบอกว่าทำงานได้เงิน 2 บาท 1 บาทไว้กินข้าว อีก 1 บาทเอาไปซื้อดอกไม้ การซื้อดอกไม้สำหรับผม อาจจะเป็นการออกอัลบั้มเดี่ยว เขียนเพลงที่อยากบอก เป็นความสุขใจ

GM: ต่อไปถ้ามีลูก อีกหนึ่งบาทนั้นก็คงไม่ได้เอาไปซื้อดอกไม้แล้ว

ตรัย : เปลี่ยนเป็นซื้อทอฟฟี่แทน หรือเอาไปหยอดเครื่องเล่นให้ลูก ทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ซื้อดอกไม้ให้ตัวเอง ตอนผมทำอัลบั้มเดี่ยว ชุด 1-2 พอเรากลับมาฟัง ก็จะรู้สึกว่ามันคือชีวิตเลยนะ เหตุการณ์หนักๆ ตอนนั้นออกมาเป็นเพลงหมดเลย ก็เคยมาคิดดูว่า ทำไมช่วงนี้ถึงไม่ทำชุดเดี่ยวใหม่ๆ ก็ได้คำตอบว่าเป็นเพราะไม่มีอะไรหนักๆ เข้ามาในชีวิตหรือเปล่า หรือไม่มีอะไรมากระทบชีวิตให้มันยาก หรือว่าเติบโตขึ้น โพรงว่างมันถูกถมไปมากขึ้น ก็เลยไม่ค่อยมีอะไรอยากจะพูดหรือเปล่า ผมมาดูหลักหมุดกับเวลาที่เคยออกอัลบั้ม มันคือช่วงที่ชีวิตกำลังผ่านความบาดเจ็บทั้งนั้นเลยนะ

GM: พอแก่ๆ แล้วมันก็ไม่ดีอย่างนี้นี่เอง Passion ในเรื่องการทำเพลงลดลง มันกลายเป็นเรื่องการทำงานหาเลี้ยงชีพไปแล้ว

ตรัย : Passion ก็กลายเป็น Skill ไปแล้วไง แก่แล้วก็จะเกิดความรู้สึกไม่รู้จะพูดอะไรไปทำไม ซึ่งน่ากลัวเหมือนกันนะ ผมว่าก็คงต้องทำงานต่อไปนี่แหละ แต่ว่าดอกไม้คงไม่เหมือนเดิม ดอกไม้ของผมอาจจะเป็นการทิ้งหลักฐานไว้บนโลกว่าเราคือใคร ผมก็รู้สึกว่าผมโอเคนะ จากวันที่ล่มสลาย ทุกอย่างล่มสลายในชีวิต ก็ค่อยๆ สร้างขึ้นมาใหม่ จนวันนี้ก็มีวันที่กินข้าวพร้อมกันทั้งครอบครัว ผมก็รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

GM: เพลงที่ประทับใจที่สุดของคุณคือเพลงอะไร

ตรัย : ก็คงเป็นเพลงพื้นที่เล็กๆ นั่นแหละ แต่ว่าตอนนี้มีเพลงใหม่เพิ่งแต่งเสร็จ ยังไม่ออกเผยแพร่ เป็นเพลงที่ผมรู้สึกเหมือนตอนแต่งเพลง พื้นที่เล็กๆ เลย จะอยู่ในอัลบั้มใหม่ที่ทำร่วมกับ ก้อ กรูฟไรเดอร์ แต่เพลงนี้ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะโปรโมต แต่เป็นเพลงที่รู้สึกว่าแต่งเสร็จแล้วรู้สึกเหมือนเพลงพื้นที่เล็กๆ เพราะมันเหมือนได้สารภาพอะไรออกมา เวลาแต่งเพลงที่มันโดนใจตัวเองมากๆ ได้พูดเรื่องนี้แล้วรู้สึกดีมากๆ ชื่อเพลงยังไม่สรุปว่าจะใช้ชื่ออะไร เราคิดไว้ 2 ชื่อ เลือกอยู่ ระหว่าง ‘ไม่มีสิ่งไหน’ กับ ‘สลับกันไป’

GM: ‘ไม่มีสิ่งไหน’ ฟังติดหูกว่านะ

ตรัย : เหรอๆ หรือว่า ‘ผ่านมา ผ่านไป’

GM: นั่นมันชื่อเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย ไม่ใช่เหรอ

ตรัย : อ้าว! เหรอ (หัวเราะ)

GM: แล้วเพลงที่คุณว่าจะเป็นเพลงภาคต่อของ ‘พื้นที่เล็กๆ’ ล่ะ

ตรัย : ผมอยากเขียนภาคต่อของ พื้นที่เล็กๆ อยากแต่งว่า ไม่มีใครเป็นเด็กได้ตลอดไป คือความจริงของโลกไง มันจะได้บาลานซ์กัน ไม่อย่างนั้นคนจะใช้เพลงพื้นที่เล็กๆ เป็นข้ออ้างไม่ยอมโต ไม่ยอมทำงาน เพราะไม่มีใครเป็นเด็กได้ตลอดไป เจ้าหญิงเจ้าชายอาจจะมีแค่ในหนังสือนิทาน

ในโลกความจริงเราต้องออกไปเผชิญกับมันด้วยเหมือนกัน เราต้องเข้มแข็ง กว่าในนิทานนะ เราอยากจะแต่งเพลงแบบนี้ให้ลูก

GM: การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่และนิทานเด็ก เดี๋ยวนี้เวลาเอามาทำเป็นหนังฮอลลีวู้ดแล้วจริงจังเหลือเกิน

ตรัย : นิทานสโนว์ไวท์ที่ทำเวอร์ชั่นใหม่ก็โหดขึ้น จริงขึ้น แบทแมนที่จริงจังขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ใช่ของเด็กแล้ว ซูเปอร์ฮีโร่สมัยนี้เหมือนจริงมากขึ้น สมัยก่อนพวกซูเปอร์ฮีโร่มีพลังวิเศษ มันก็เลยไม่น่าเชื่อ แต่เดี๋ยวนี้จริงมาก เพื่อให้คนเชื่อมากขึ้น หนังซูเปอร์ฮีโร่ทุกวันนี้จริงจังหมดเลย แต่ซูเปอร์ฮีโร่แบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นะ อย่างการ์ตูนที่ผมชอบเรื่องล่าสุด อ่านเมื่อ 4-5 ปีได้แล้วมั้ง ชื่อ Zebraman ที่ชอบเพราะยุคนี้ทำซูเปอร์ฮีโร่มาหลอกเรา แต่เราไม่เชื่อกันแล้ว ว่ามันจะมีพลังมีอะไร ในเรื่องซีบร้าแมน คือคนบ้าของเล่นที่อยู่ในห้องของตัวเอง วันหนึ่งเขาตัดชุดซีบร้าแมน แล้วใช้ความกล้าปีนออกไปกดน้ำ โดยที่แต่งชุดตลกๆ ออกไป พอเห็นคนโดนรังแกอยู่ คำถามคือ เราจะช่วยเขาไหม โดยที่เราเป็นคนธรรมดา เพียงแต่ใส่ชุดซูเปอร์ฮีโร่ตลกๆ ผมว่าโลกทุกวันนี้ ฮีโร่ต้องเป็นอย่างนี้นะ เป็นข้างในของเราทุกคน ที่คอยถามตัวเองอยู่เสมอ ว่าเราจะปกป้องคนอื่นได้ไหม ผมว่าเด็กทุกวันนี้อาจรู้เรื่องพวกนี้หมดแล้ว เหลือแต่เด็กในโลกของดิสนีย์เท่านั้นที่ไร้เดียงสา

GM: อย่างหนังเรื่องสตาร์ วอร์ส ที่ทำออกมาใหม่ 3 ภาค คนดูที่เป็นแฟนสตาร์ วอร์ส และโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ก็ไม่อินกับมันแล้ว

ตรัย : ใช่ๆ เราว่าเขาน่าจะสร้างเรื่องใหม่ไปเลย ดันสร้างออกมาแบบนี้ คือเป็นคนละเจเนอเรชั่นแล้ว เหมือนเอาไอ้มดแดง 10 ตัวแรก กับ 10

ตัวหลังมาเล่นด้วยกัน มันไม่เหมือนกันเลย ไอ้มดแดงตัวหลังๆ นี่มันแปลงร่างด้วยโทรศัพท์มือถือแล้ว ไอ้มดแดงสำหรับคนรุ่นเรา เราว่ามันจบตั้งแต่ตัวที่ 10

GM: การทำงานในปัจจุบัน คุณทำอะไรบ้าง ฐานะพออยู่ได้บ้างไหม

ตรัย : แต่งเพลงหลายประเภท ผมว่าสถานการณ์ของผมก็กลางๆ คืองานส่วนใหญ่ของผมเป็นการแต่งเพลง ถ้าจะให้มีเงินอู้ฟู่ต้องไปเล่นคอนเสิร์ตเยอะๆ แต่คนจะเล่นคอนเสิร์ตเยอะได้นี่ต้องเป็นที่รัก ต้องเป็นที่ต้องการถึงจะมีงานเยอะ ของเรานี่มันครึ่งๆ กลางๆ พวกที่รับงานผับ ก็ต้องมีเพลงครื้นเครงหน่อย แต่เพลงของเราก็ดันเป็นเพลงสำหรับนั่งฟังมากกว่า ไม่ใช่เพลงเดินสาย แต่เราก็พอมีเล่นคอนเสิร์ตอยู่บ้างนะ ไม่ได้มีบ่อย แต่งานแต่งเพลงให้ศิลปินก็มีสม่ำเสมอ มีอยู่เรื่อยๆ อ้อ! ปีนี้ได้แต่งเพลงประกอบหนัง 2 เรื่อง เพลงประกอบละคร เพลงโฆษณา

GM: การทำงานในวงการเพลงนี่ยากขึ้น เพราะ MP3 เข้ามาเปลี่ยนแปลงใช่ไหม

ตรัย : มีส่วน ตอนเกิด MP3 ขึ้นมาตอนแรกๆ ก็ตกใจ ผมเสียใจว่าทำไมคนฟังไม่เลือกหน่อย อย่างน้อยถ้าอยากได้ของฟรี ก็ต้องเลือกหน่อย

โหลดกันไปเฉพาะบางเพลง ไม่ใช่โหลดเอาหมดทั้งอัลบั้ม อย่างเดี๋ยวนี้เขาเอาฮาร์ดดิสก์ไปโคลนกันเลย ไม่ได้เลือกเฉพาะเพลงที่ชอบแล้วละ แต่เอาไปทั้งหมด ทุกเพลง ทุกอัลบั้ม ดูดไปทีเดียว คือรู้สึกว่าต้องมีเพลงครบทั้งหมด ถึงจะสบายใจ ต้องไปเอามาทั้งหมด แล้วค่อยมาเลือกเอาเองทีหลัง ผมว่าการโคลนฮาร์ดดิสก์กันแบบนี้ ทำให้คนฟังเพลงขาดบุคลิก เราเป็นคนแนวไหน เพลงที่เป็นแนวของเราเป็นอย่างไร ที่มันจะหล่อหลอมเราได้ มันไม่มีแล้ว

สำหรับผม MP3 ที่เป็นข้อดีก็มี มันทำให้ทุกคนฟังเพลงฟรีกันหมด ดาวน์โหลดกันหมด ถ้าคิดเป็นมูลค่าการโปรโมตเพื่อจะให้เพลงถึงหูคนเท่าตอนนี้ คิดเป็นมูลค่าโฆษณาก็คงเยอะมหาศาล นี่เป็นข้อดี คือเพลงไปถึงคนได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณทำเพลงดี ทุกคนจะได้ฟัง และทุกคนก็จะได้รักมัน คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟอร์แมตนี้กันไปหมดแล้ว คือแต่งเพลงแล้วก็อัพโหลดใส่ยูทูบ แล้วก็รอให้มียอดกดไลค์เยอะๆ ถ้าผมเกิดยุคนี้ อาจไม่ได้เกิดในวงการเพลงเลยก็ได้ เพราะผมกลัวกล้อง เราอยู่คนละรุ่นกัน ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เวลาไปเสนอเดโมเพลง ยังถือกีตาร์ไปตัวเดียวอยู่เลย คือ โป้ โยคีเพลย์บอย ล่าสุดทำซิงเกิลใหม่ให้ค่ายเพลง ก็ยังถือกีตาร์ไปตัวเดียว ไปเล่นให้ฟัง นี่แหละสุดยอด

GM: มองอนาคตวงการนี้ไว้อย่างไร

ตรัย : ผมกลัวว่ามันจะกลายเป็นคอนเทสต์ไปหมด ทุกคนเกิดจากการประกวดแข่งขัน เหมือนเมืองนอก ไม่ได้บอกว่าการประกวดไม่ดีนะ มันดี การแข่งขันกันเยอะๆ จะทำให้มีคนเก่งเยอะขึ้นด้วย แต่กลัวมันจะกลายเป็นอย่างนี้หมด คนที่ทำเพลงแบบอาร์ทิสติก แบบใช้อินเนอร์ จะไม่มีช่องทางให้เกิด

GM: ลองนึกภาพตัวเองตอนไปแคสต์รายการเดอะสตาร์

ตรัย : (หัวเราะ) รู้เลยว่าต้องกลับไปเป็นสถาปนิกแน่นอน เพราะไม่ใช่ตัวผมเลยที่จะต้องไปแข่งกับใคร ให้ไปยืนร้องเพลงโดยไม่มีดนตรี ไม่มีทาง สยองมาก

GM: ให้เขียนหนังสือง่ายกว่า

ตรัย : เขียนหนังสือยากกว่านะ มันยากกว่าตรงที่จบช้ากว่า ตอนนี้ก็มีที่เขียนค้างอยู่เหมือนกัน กำลังทำเล่มใหม่อยู่

GM: เป็นการรวมบทความ เหมือนเล่ม ‘ใต้แสงสีมะนาว’ หรือเปล่า

ตรัย : ไม่ๆ เล่มนี้เป็นภาคต่อของจิ้งหรีดแห่งเมืองสีเทา ซึ่งจิ้งหรีดฯ เหมือนเป็นเพลงที่ไม่มีทำนอง

GM: พี่ยักษ์-คมสัน นันทจิต ให้คำแนะนำในการเขียนหนังสือ

อย่างไรบ้าง

ตรัย : พี่ยักษ์เป็นเพื่อนคู่คิดมายาวนานตั้งแต่สมัยเว็บบอร์ดเฉลิมไทย เป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่ชาย ที่ให้คำปรึกษาเรื่องงานได้ตลอด และให้คำปรึกษาอีกหลายเรื่อง เรื่องคุณธรรมน้ำมิตรเป็นส่วนใหญ่ ช่วงแรกๆ ที่เขียนบทความก็วานให้พี่ยักษ์ช่วยอ่านให้ก่อน ให้คุณวิภว์ (บูรพาเดชะ) อ่านด้วย พี่ยักษ์แก้กระจุย เขาชอบแก้ ส่วนคุณวิภว์ไม่แก้เท่าไร พี่ยักษ์สอนว่า เวลาจะเขียนอะไรต้องมีประโยคเดียว มีประโยคเดียวของการเขียนสิ่งนั้น คือต้องมีหัวใจของมัน สมมุติเขียนบทความหนึ่ง ก็ต้องสามารถสรุปด้วยประโยคเดียวได้ ว่าทั้งหมดที่กำลังเขียนอยู่นั่นน่ะ มันเกี่ยวกับเรื่องอะไร ทำอะไรต้องมีประเด็น นี่เป็นสิ่งที่จำได้เสมอมา อย่างใต้แสงสีมะนาว ผมเอาเศษเล็กเศษน้อยของความทรงจำวัยเด็ก เอามาร้อยรวมกับประเด็นที่อยากพูด ผมอยากพูดเรื่องคุณลุงที่ยังเล่นดนตรีอยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่าง พอล แมคคาร์ทนีย์ เขียนถึงบ็อบ ดีแลน ที่เปลี่ยนแนวดนตรีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบอกว่าคนเราย่อมเปลี่ยนแปลงได้ หรืออย่างเขียนถึง U2 ที่เขาเคยเปลี่ยนไปตอนชุด Zooropa ก็ไปอิเล็กทรอนิกส์จ๋า เทคโนจ๋าๆ วันหนึ่งก็กลับมาเป็นร็อคเหมือนเดิม ฉันกลับมาแล้ว ไปเที่ยวมา

GM: ตกลงแล้ว คนเราควรเปลี่ยนแปลงไป อย่าง บ็อบ ดีแลน หรือคนเราควรจะกลับมาเหมือนเดิม เหมือนอย่าง U2

ตรัย : ทุกเรื่องในโลกมีสองด้าน เราไม่สามารถเชื่อตัวเองได้ตลอดไปว่าสิ่งที่ทำมาตลอดเป็นเรื่องที่ถูก ต้องลองไปดูพื้นที่อื่นๆ ด้วย บางทีอาจจะใช่ทั้งสองอย่าง เหมือนเหรียญมีสองด้านแหละ

GM: บางทีการเขียนเพลง เขียนหนังสือไปเรื่อยๆ มันจะมีรูปแบบที่คงที่อยู่ จนเราหลงไปว่านี่คือตัวเรา เราต้องยืนหยัดอยู่กับตัวตนนั้น เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้

ตรัย : แต่ผมชอบความโรแมนติกแบบนั้นนะ การยืนหยัดตัวตนเดียวไปเรื่อยๆ เหมือนไอ้มดแดง สู้ต่อไป! ทาเคชิ!! ผมอาจเป็นคนยุคนั้น ที่คิดแบบนี้ ยุคที่เชื่อว่าความดี ความถูกต้อง ว่ามีอยู่จริง การเปลี่ยนกลับไปกลับมาน่ะได้ แต่ต้องไม่เปลี่ยนตัวเอง เราสามารถเปลี่ยนพื้นที่ในความคิดได้ แต่จุดยืนต้องไม่เปลี่ยน แม้โตขึ้น เราก็ต้องเป็นคนเดิม เราอาจจะทดลองในการทำงาน โดยลองทำเพลงแบบอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ และเติบโต คือเราก็ต้องไม่เชื่อตัวเองที่สุด บางทีความคิดเราก็อาจผิดพลาดได้ แต่ต้องมีจุดยืน

GM: ทำงานมา 10 ปี เคยทดลองอะไรแล้วผิดพลาดสุดๆ ไหม

ตรัย : ผมเป็นคนที่ทำอะไรครั้งแรก แล้วจะผิดพลาดเสมอ (หัวเราะ) ตอนไปประกวดครั้งแรกก็จะผิดพลาด เคยประกวดโค้กมิวสิคอวอร์ดด้วย ตกรอบทุกทีเลย แต่ทุกครั้งที่ผิดพลาด ครั้งต่อๆ ไป ผมจะนึกภาพออกว่าจะต้องทำอย่างไร ผมใช้ความผิดพลาดในการขัดเกลาตัวเอง แก้ไขไปเรื่อยๆ เหมือนการแต่งเพลง ก็แก้ไปเรื่อยๆ ให้โอกาสตัวเองในการสำรวจ ในการทดลอง ตอนขึ้นไปร้องบนเวทีแล้วพลาด ผมก็คิดเสมอว่ายังมีคราวหน้า มันดีตรงที่ไม่กดดันมาก เมื่อก่อนเคยกดดันมาก เพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี แต่หลังๆ พบว่าชีวิตคนเราพลาดบ้างได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรๆ มันพลาดได้ ไม่เป็นไร

GM: ได้กำลังใจมาจากไหน เวลาทำผิดพลาดแต่ละครั้งGM

ตรัย : ก็แค่ทำใจว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดา ผมเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง ทำไมต้องทำอะไรก็ต้องสำเร็จตั้งแต่ในครั้งแรกด้วยล่ะ!? ผมว่าเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องมีกำลังใจมากมายอะไรขนาดนั้นก็ได้ ไม่ได้รวบรวมทั้งหมดของชีวิต มาต่อสู้เพื่อโอกาสครั้งนั้นครั้งเดียว ผมคิดว่ามันจะมี

ครั้งหน้าอยู่แล้ว

GM: ช่วงเล่นดนตรีสมัยเรียนมัธยม เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้คุณได้มามีวันนี้ใช่ไหม

ตรัย : ใช่ การเล่นดนตรีทำให้รู้สึกว่าพิเศษ ผมอาจเป็นเหมือนเด็ก

คนอื่นๆ ที่เล่นดนตรี ผมอาจวาดรูปได้ ทำอย่างอื่นได้ แต่ก็เล่นดนตรีได้ด้วยนะ ผมคิดถึงมันตลอด ต่อให้ไปเรียนต่อ หรือทำอะไรก็ตาม ก็ยังคิดถึงดนตรีอยู่

GM: เด็กสมัยนี้จะมีโอกาสได้ทดลอง ได้ผิดพลาด ได้ค้นพบสิ่งที่ชอบได้อย่างไร ในเมื่อโลกเราเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ตรัย : ตอบไม่ได้ มันยากมาก เพราะผมยังไม่มีลูกไง เลยยังไม่เข้าใจสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ สมมุติถ้าลูกแอบดูหนังโป๊อะไรอย่างนี้ ต้องอายุเท่าไรถึงจะยอมรับได้

: แล้วคุณเองล่ะ คุณดูหนังโป๊ครั้งแรกตอนอายุเท่าไร

ตรัย : (หัวเราะ) ผมเอาหนังสือโป๊ไปโรงเรียน ตั้งแต่ตอน ป.1 เอาไปโดยที่ไม่ได้เข้าใจมันหรอกนะ แบบโชว์เก๋าไง โดนมาสเตอร์จับได้ โดนตีด้วย หนังสือโป๊พี่ชาย หยิบไปงั้นแหละ หยิบใส่กระเป๋าไปอวดเพื่อน

GM: ถ้าไม่ใช่เรื่องหนังสือโป๊ คุณว่าเรื่องอะไรน่ากลัวที่สุด

ตรัย : (หัวเราะ) ผมว่ามโนธรรมมั้ง เรื่องความรู้สึกว่าไอ้นี่ผิด ไอ้นี่ไม่ควรทำ เราควรจะรู้สึกผิดไหม ถ้าทำลงไป เราควรจะทำหรือไม่ทำ เพราะบางทีคนมันชอบแอบทำไง แต่ถ้ามีมโนธรรมอยู่ในใจ เราก็จะรู้สึกผิด

GM: กิจวัตรทุกวันนี้ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

ตรัย : ถ้าเป็นวันปกติ ก็ตื่นขึ้นมาทำกับข้าว รอส่งภรรยาไปทำงาน ชงกาแฟให้เขาเอาไปกินบนรถ พอเขาไปแล้ว เราก็แวบขึ้นไปเล่นเกม

ได้แป๊บหนึ่ง เล่นเกมเพลย์ (หัวเราะ) แล้วก็ทำงานที่บ้าน แต่งเพลงไป ทำเพลงโฆษณาไป ก็แบบนี้ทุกวัน

สัมฤทธิ์พิศวง

Outliers : The Story of Success เขียนโดย Malcolm Gladwell มีบทหนึ่งกล่าวถึง 10,000-Hour Rule อธิบายความสำเร็จ

ในหน้าที่การงาน ว่าเราต้องทำงานนั้นต่อเนื่องครบ 10,000 ชั่วโมงเสียก่อน

ชรัส เฟื่องอารมย์

อัลบั้ม ผีเสื้อ ปี 2525 และ อัลบั้ม แมลงปอ ปี 2526 สังกัด รถไฟดนตรี

อัลบั้มเดี่ยวของบอย-ตรัย ภูมิรัตน

My Diary Original Soundtrack (2004 / เบเกอรี่มิวสิค)

บุคคลที่ 3 (2006 / เบเกอรี่ มิวสิค, โซนี่ บีเอ็มจี)

Love So Fine (2009 / เลิฟอีส, เบเกอรี่ มิวสิค, โซนี่ มิวสิค)

ตอนนั้นผมเปิดเฟซบุ๊คขึ้นมา แล้วจู่ๆ ก็เห็นทั้งหน้ามีแต่คำหยาบ ความเกลียดชัง ก็เริ่มรู้สึกว่านี่พวกเราจะเล่นกันไปทำไม

รัก 5-6 เส้า Fat The Musical

ละครเวทีครั้งแรกของแฟตเรดิโอ กำกับการแสดงโดย คมกฤษ ตรีวิมล แสดงในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2555

ฮาร์ลาน โคเบน

นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวน

มีตัวละครเอกชื่อว่า ไมรอน โบลิทาร์

The Wizard of Oz

วรรณกรรมเยาวชน แต่งโดย L. Frank Baum วาดภาพประกอบโดย W. W. Denslow เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1900 ในชื่อ The Wonderful Wizard of Oz หลังจากนั้นก็ถูกนำไปทำเป็นละครเวที ภาพยนตร์ และตีพิมพ์ซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วน ในชื่อ The Wizard of Oz

Stand by Me (1986)

Director : Rob Reiner

ไอติมดังก่อนที่เราจะได้ชิมมัน เพลงก็ดังก่อนที่เราจะได้ฟัง ทุกสิ่งดูเหมือนว่าจะดังก่อนที่เราจะได้รู้จักมัน

Zebraman (Zeburaman)

หนังของ Takashi Miike ออกฉายในปี 2004 และถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือการ์ตูนมังงะอีกหลายเล่ม โดย Reiji Yamada\

เหมือนไอ้มดแดง สู้ต่อไป! ทาเคชิ!! ผมอาจเป็นคนยุคนั้น ที่คิดแบบนี้ ยุคที่เชื่อว่าความดี ความถูกต้อง ว่ามีอยู่จริง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ