ตรวจสุขภาพทะเลไทย ว่ายังหายใจดีอยู่ใช่ไหม? กับ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
คุยกับอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในวงการทะเลไทยมาเป็นเวลานาน หลายคนอาจไม่รู้ว่าตอนนี้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในประชาคมโลกในเรื่องของการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล
แม้สังคมไทยหลังการเลือกตั้งยังคงไม่ชัดเจน ค่าฝุ่นในอากาศยังคงย่ำแย่ แต่สังคมของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลไทยในตอนนี้กำลังเดินหน้าสู่ความเปลี่ยนแปลงกันอย่างจริงจังแล้ว
คุยกับอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในวงการทะเลไทยมาเป็นเวลานาน หลายคนอาจไม่รู้ว่าตอนนี้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในประชาคมโลกในเรื่องของการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล จากการประชุมระดับรัฐมนตรีในหลายประเทศ จนเกิดเป็น ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (Declaration on Combating Marine Debris) ซึ่งมีแผนแม่บทในการแก้ปัญหาระยะยาว แม้ว่าไทยจะติดอันดับท้อปเท็นของโลกในเรื่องการทิ้งขยะลงทะเลก็ตาม แต่ก็พอมองเห็นความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงผ่านแนวทางว่าภายในพ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะต้องลดจำนวนขยะพลาสติกในทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% แล้วเวลา 17 ปีที่เหลือเราจะทำอะไรเพื่อไปถึงแผนนี้บ้าง
พร้อมกับอีกหลายคำถามอัพเดทสถานการณ์ทางทะเลที่น่าสนใจ เช่น ยังมีปัญหาเรื่องไหนที่หาทางแก้ยากกว่าปะการังถูกทำลาย? คราบน้ำมันที่เจอตามชายหาดมาจากไหน เจอต้นตอหรือเจอตอ? โรงไฟฟ้าถ่านหินยังจะกลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกไหม? กระทั่งว่าตอนนี้เรารับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีแค่ไหนแล้วกับพายุปาบึก เมื่อเทียบกับคราวสึนามิและพายุเกย์?
อาจารย์ธรณ์ ชวนคุยและตอบคำถามในทุกประเด็นที่จะทำให้เราเข้าใจทะเลไทยในแบบที่มันกำลังเป็นอยู่จริง
GM : ภาพรวมของปัญหาทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ธรณ์ : ในกรณีของทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทยในปัจจุบันนะครับ สิ่งที่ผ่านมา 10 ปีนี้คือเรามีการใช้ทะเลอย่างหนักมาก ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องของการประมง และผลกระทบต่างๆ ทั้งน้ำเสียหรือขยะทะเล แต่ไม่มีการพูดถึงกัน จนเมื่อประมาณสัก 4 ปีก่อน เริ่มมีการขยับเขยื้อนเพราะเราได้ใบเหลือง IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) จากทางยุโรปนะครับ การประมงไทยได้รับใบเหลือง ทำให้เราเริ่มมีการปรับระบบเรื่องของการประมง เพื่อให้ควบคุมได้ ในที่สุดเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเราก็หลุดใบเหลืองไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการประมงก็มีการดูแลในระดับหนึ่ง
ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวในช่วง 8-10 ปีนี้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ใช้คำพูดนี้ได้เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2553 มี 15 ล้านคน แต่ปีที่แล้วปี 2561 มีนักท่องเที่ยว 41 ล้านคน แค่ชาวต่างชาติอย่างเดียวนะครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ประโยชน์มันเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วง 4 ปีนี้เรามีการปรับตัวทั้งในเรื่องการดูแลอุทยานทะเลเข้มแข็งขึ้น มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองแห่งใหม่ๆ มีการเข้ามาดูแลในเรื่องขยะทะเล สภาพในปัจจุบันเรียกว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและกำลังเริ่มดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องปลาในทะเลเพราะมีการดูแลในเรื่องของการประมง ไม่ว่าจะเป็นสภาพของแนวปะการังซึ่งตอนนี้มีการฟื้นตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดคือมีปะการังเสียหายมากกว่า 77% ของพื้นที่ ตอนนี้ก็ลดลงเหลือไม่เกิน 60% ของพื้นที่แล้ว ซึ่งในอนาคตเราก็ตั้งเป้าว่ามันจะต้องดีกว่านี้ พูดง่ายๆ คือกราฟมันเคยลงมาแล้วตอนนี้กำลังเชิดขึ้น เพียงแต่เราก็ต้องเข้าใจว่าการใช้ประโยชน์มันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่หนักขึ้นหนักขึ้น เรื่องผลกระทบของขยะทะเลที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นในระหว่างที่เรากำลังพยายามที่จะทำให้สภาพของทะเลไทยดีขึ้น เราก็ต้องช่วยกันให้หนักขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น ดูแลการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ดูแลผลกระทบไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย ขยะทะเลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและขยายตัวของประเทศ เราก็ต้องดูแลให้มาก ต้องลงทุน ต้องใช้งบประมาณ ต้องใช้คน ที่สำคัญที่สุดคือต้องให้คนไทยทุกคนเข้าใจปัญหาแล้วก็ช่วยกัน
GM : ล่าสุดที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีระดับอาเซียนที่บ้านเรา ในเรื่องปฏิญญากรุงเทพฯ สู้ขยะทะเล การประชุมครั้งนี้ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจไหม?
ธรณ์ : ในส่วนของขยะทะเลโดยเฉพาะนั้นเราเริ่มตั้งแต่การประชุมขยะทะเลในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน จากนั้นก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2562 ปีที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน เพราะฉะนั้นจึงเสนอประเด็นขยะทะเลเข้าสู่การประชุมอาเซียน เพราะว่า 5 ประเทศในอาเซียนนี้อยู่ในอันดับ 1-10 ที่ทิ้งขยะทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไทย และมาเลเซีย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของอาเซียนในเรื่องการดูแลร่วมกัน ไม่งั้นมันก็จะมีเรื่องของสัตว์ทะเลตาย ไม่ว่าจะเป็นวาฬนำร่องตายที่ไทย วาฬสเปิร์มตายที่อินโดนีเซีย ฉลามวาฬตายที่มาเลเซีย ทุกครั้งจะเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนมาโฟกัสที่ภูมิภาคเรา และอาจจะเกิดการตักเตือนหรือถูกบีบทางด้านการค้าต่างๆ เหมือนกับ IUU ที่เราเคยโดนมาแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จึงมีการจัดประชุมที่กรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม (2562) เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้นำข้อมูลต่างๆ เพื่อนำเสนอแบบที่เราเรียกว่า ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ สู้ขยะทะเล’ (Declaration on Combating Marine Debris) เพราะฉะนั้นจะเป็นครั้งแรกของอาเซียนที่จะระบุชัดเจนเลยว่าเราจะสู้ปัญหาขยะทะเลไปด้วยกัน อันที่จริงก็เป็นครั้งแรกของอาเซียนด้วยซ้ำที่แต่ละฝ่ายจะออกมารวมตัวกันเพื่อจะบอกอะไรสักอย่าง เพื่อจะอนุรักษ์ทะเลอย่างชัดเจนที่สุด
เพราะฉะนั้นปฏิญญากรุงเทพก็ร่างเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนก็รับร่างเรียบร้อยแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน (2562) เพื่อให้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ รายละเอียดมีอยู่มากมายแต่เอาสาระสำคัญก่อนว่า ในปฏิญญากรุงเทพฯ ก็เห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องมีการร่วมมือ และจัดการในเรื่องทฤษฎีนโยบายร่วมกันในการจัดการปัญหาขยะทะเล ร่วมกันให้ความรู้กับประชาชนในด้านการศึกษาด้วย และร่วมกันในเรื่องของการที่จะให้ภาคเอกชน รวมถึง NGO และอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการทำงาน ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง อย่างการหาถุง Bioplastic รวมถึงเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ในทะเล เช่น เรือกำจัดขยะทะเล ตาข่ายดักขยะทะเล ลักษณะเช่นนั้นจะเกิดขึ้น 4 แนวทางอย่างที่ผมบอก เมื่อเกิดการลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ เดือนมิถุนายนนี้
ในขณะเดียวกันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีการร่วมมือกัน มีการพูดคุยกันหลายครั้งเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเด็นขยะทะเลก็เช่นกัน รวมทั้งครั้งล่าสุดซึ่งเป็นระดับ High Level มีท่านรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเป็นประธานในงาน ซึ่งพูดถึงเรื่องนี้ว่าทางยุโรปและประเทศไทย รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียทั้งหมดมี อินเดีย มองโกเลีย รวมทุกชาติมารวมกันเพื่อหาแนวทางว่าจะช่วยกันอย่างไร เพราะตอนนี้เฉพาะในประเทศไทยก็มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเกือบ 7 ล้านคน ซึ่งมันก็เป็นแนวทางต่างๆ ที่แฝงอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านั้นที่จะมาช่วยจัดการกลุ่มนักท่องเที่ยว ช่วยให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นนำเทคนิควิธีการจากทางยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำเรื่องการจัดการปัญหาขยะพลาสติกเข้ามาบอกกล่าวในประเทศไทย หรือหาทางจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งยุโรปและไทยช่วยกัน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย
GM : แล้วแนวทางการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้คืออะไร?
ธรณ์ : แนวทางของประเทศไทยเองก็มีชัดเจนนะครับ ในที่ประชุมรัฐมนตรีระดับอาเซียนก็มีสาสน์จากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่าภายในพ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะต้องลดจำนวนขยะพลาสติกในทะเลให้ได้อย่างน้อย 50%
ปี 2579 ซึ่งบางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมมันนานจัง แต่พูดตามตรงว่ากระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดขยะ บางทีวิธีการจัดการมันก็ไม่ใช่จบกันง่ายๆ ไม่งั้นมันคงไม่มีปัญหาคาราคาซังกันมาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยสุดประเทศไทยก็ชัดเจนอีกเรื่องหนึ่งคือการแบ่งขยะพลาสติกนะครับ พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เราแบนเรื่องพลาสติกหุ้มฝาขวดแล้วปัจจุบันก็แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เราจะแบนในเรื่องของถุง Oxo (Oxo-degradable) ที่จะมีการกำหนดในปีนี้ มันคือถุงพลาสติกที่แตกสลายได้เป็นเม็ดๆ แต่เม็ดเหล่านั้นมันไม่ย่อยสลาย เราแบนในเรื่องของ Microbeads ที่เอามาผสมเครื่องสำอางล้างหน้าอะไรพวกนี้ อันนี้ก็จะมีการแบนซึ่งจะทำภายในปีนี้ ส่วนในเรื่องของถุงก๊อบแก๊บ ถุงขนาดบาง ถุงพลาสติกที่เอามารีไซเคิลไม่ได้ กระบอกพลาสติกนั้นเรากำลังตั้งเป้าจะแบนภายใน 3 ปีข้างหน้า และจากนั้นก็จะเป็นเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกในรูปแบบอื่นๆ ที่เป็น single used เรามี road map ที่ได้วางไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง road map นี้ได้นำเสนอเข้า ครม. ไปแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นจาก road map พวกนี้แต่ละหน่วยงานก็จะออกมาพูดคุยกับภาคเอกชนให้เข้าใจตรงกัน เพราะว่าเราต้องกำหนดทางไปข้างหน้าเพื่อเขาจะได้ปรับตัวได้ เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมีของประเทศไทยนี่ ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 3 มีคนที่เกี่ยวข้องกับวงการอุตสาหกรรมพลาสติกต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ไม่รู้อีกกี่แสนครอบครัวที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นหากเราจะทำอะไรพวกนี้ต้องปรับตัวให้ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปแบนจนหมด แล้วปล่อยให้คนมีปัญหาเป็นล้านๆ คน แบบนี้มันก็คงไปด้วยกันไม่ได้ เราก็เลยต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน 3-5 ปี จริงแล้วก็เหมือนกับทุกประเทศครับ ที่จะกำหนดแนวทางล่วงหน้าและค่อยหาทางไปด้วยกันจนถึงวันนั้น
GM : ตอนนี้ปัญหาทรัพยากรทางทะเลในบ้านเรา เรื่องอะไรที่กำลังเผชิญวิกฤตหนักที่สุด ในขั้นที่ว่าต้องแก้ไขด่วนเป็นลำดับแรก?
ธรณ์ : ปัญหาที่หนักนั้น อันที่จริงแล้วคำว่าหนักมีอยู่ 2 อย่างคือ หนักแต่แก้ปัญหาได้ เช่น ปะการังดีขึ้น ในเรื่องของขยะทะเลลดน้อยลง อันนี้ผมถือว่าหนัก แต่ยังพอเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา
แต่อีกอันมันอาจจะไม่หนักเท่าพวกแรกแต่ยังมองไม่เห็นแนวทางแก้ไขเลยก็คือเรื่องน้ำเสีย บอกตามตรงว่าเราจัดการน้ำเสียได้แค่ 30% อันที่จริงแล้วเรามีปัญหามากกับน้ำเสีย มีข่าวน้ำเสียทุกวัน ที่ภูเก็ตนี่น้ำไหลลงหาดสีดำเต็มไปหมด ซึ่งเราก็ยังจัดการปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่ยากมากเนื่องจากจะต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน เราไม่สามารถที่จะสร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่จะต้องบำบัดได้ทุกอย่าง โรงบำบัดน้ำเสียนี่หลายคนเข้าใจผิดว่าเอาน้ำเสียอย่างไรก็ได้ใส่เข้าไป มันไม่ใช่ มันจะต้องมีการกรอง 2 ชั้น อันแรกคือร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ ต้องมีการจัดการเรื่องน้ำเสียในระดับหนึ่ง เพื่อให้น้ำที่ปล่อยออกมานี่มีคุณภาพเหมาะสมเพื่อที่จะเข้าโรงบำบัด ไม่ใช่ว่าเอาน้ำบ้าอะไรก็ได้ใส่โรงบำบัดแล้วจะเป็นน้ำดีนะ ไม่ใช่เลย แต่ปัญหาของเราก็คือว่าบางทีเราพยายามบอกว่ามาสร้างโรงบำบัดกันเถอะ แต่ต้นทางที่ปล่อยน้ำออกมาจากร้านอาหารลงแม่น้ำลำคลอง จากร้านสตรีทฟู้ดส์ แม้กระทั่งน้ำจากเครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญที่ปล่อยโดยตรงลงท่อระบายน้ำนี่มันไม่ได้รับการควบคุม เมื่อน้ำเสียเข้ามาปุ๊บโรงบำบัดก็รับไม่ไหว บำบัดไม่ได้เพราะคุณภาพน้ำมันย่ำแย่เกินไป มันก็เกิดการ overload อย่างที่ผมบอก กลายเป็นว่าน้ำเสียเข้าโรงบำบัดได้แค่ 30% ที่เหลือบำบัดไม่ได้ก็กลายเป็นคราบน้ำสีดำ คือถ้าแก้ก็ต้องแก้กันทั้งหมด ทุกคนก็ต้องช่วยกัน มีการตรวจตราอย่างเข้มงวดทั้งร้านอาหาร โรงแรมที่มีมาตรฐานในการปล่อยน้ำเสียก็ต้องทำตามนั้น ซึ่งอันนั้นเป็นปัญหาที่ลำบากมากเพราะว่าเรายังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามเราก็มีเป้าหมายที่จะทำที่เกาะพีพีนะครับ ตอนนี้ก็ได้พูดคุยกันเกือบหมดแล้วว่าจะเริ่มทำจากเกาะพีพี ซึ่งมีปริมาณน้ำเสียในระดับที่ยังพอทำอะไรได้และที่นี่ยังตั้งอยู่ในแนวปะการังด้วย น้ำเสียจึงมีผลกระทบแรง เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ได้ที่เกาะพีพีเราก็จะเอาโมเดลที่เกาะพีพีนั้นไปใช้ตามเกาะต่างๆ ตามชายฝั่งทะเล ซึ่งมันก็จะทำต่อกันไปเรื่อยๆ ขณะที่เมืองใหญ่อย่างเกาะภูเก็ตนั้นก็ต้องแล้วแต่ว่าคนภูเก็ตจะลุกขึ้นมาพร้อมกันหรือเปล่า ซึ่งถ้าหวังพึ่งภาครัฐอย่างเดียวผมบอกเลยว่าไม่มีทาง และเรื่องของน้ำเสียกับขยะนั้นเอาจริงๆ รัฐบาลกลางก็ไม่ได้มีอำนาจมากมาย เพราะได้ส่งอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นอะไรที่กั๊กและลักลั่นกันระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาคที่ทับซ้อนกันอยู่ด้วย
GM : แล้วปัญหาเรื่องน้ำมันรั่วไหลตามชายฝั่งทะเล เราจะจัดการอย่างไร
ธรณ์ : ปัญหาเรื่องคราบน้ำมันเป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งแย่มากในการจัดการ แม้ว่าผลกระทบที่ได้รับจะอยู่ในระดับที่มาเป็นวูบๆ แต่เรื่องการจัดการกับต้นตอปัญหานี่ลำบากมาก ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีประเด็นคราบน้ำมันเกิดขึ้นริมทะเลไม่ต่ำกว่า 15-20 ครั้ง แต่เราก็ไม่เคยจับต้นตอได้เลยสักครั้ง ครั้งที่เราเจอต้นตอจริงๆ ก็คืออย่างคราวที่เกิดอุบัติเหตุ อย่างนั้นเราจะรู้ แต่กรณีรอยคราบน้ำมันปริศนามาจากไหนก็ไม่รู้ เราไม่เคยจับได้ ไม่เคยหาเจอเลยว่ามันลอยมาจากไหน สิ่งที่เราทำได้คือการพัฒนา MOU (Memorandum of Understanding) มีการพัฒนาแล็บในการวิเคราะห์ โดยเอาคราบน้ำมันเหล่านั้นไปวิเคราะห์แล้วดูเทียบเคียงว่ามันเป็นน้ำมันจากแหล่งไหน ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่เคยตรง เหตุผลง่ายๆ คือน้ำมันที่มาจากน้ำมันขุดเจาะมันมีแหล่งที่มาชัดเจนอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่น้ำมันที่เห็นรั่วไหลตามชายฝั่ง แท่นน้ำมันขุดเจาะไม่ได้อยู่ติดชายฝั่ง อยู่ห่างจากฝั่งไป 150 กิโลเมตร ถ้ามันลอยมาถึงฝั่งได้นี่คนก็เห็นกันมาตลอดทางแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่มันจะเป็นน้ำมันจากแหล่งขุดเจาะจึงเป็นไปได้ยากมาก ขนาดเรือที่ขนส่งน้ำมันเข้าออกประเทศไทย มันก็มีคราบน้ำมัน มี Oil fingerprint แน่นอน เพียงแต่ว่าเรือพวกนั้นถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจริงๆ เขาก็ไม่เทน้ำมันทิ้งหรอก น้ำมันที่เป็นคราบ น้ำมันที่เป็นปัญหาหลักๆ ก็คือพวกลักลอบทิ้ง อาจจะเป็นน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว อาจจะเป็นน้ำมันที่ต้องการกำจัดแต่ไม่อยากเสียเงินค่ากำจัดก็เลยลักลอบปล่อยทิ้งทะเลไป ขณะเดียวกันน้ำมันตามแนวประการัง พวกเรือยอร์ช เรืออะไรต่างๆ ก็ปล่อยน้ำล้างท้องเรือลงไปในแนวปะการัง มันก็จะเห็นเป็นคราบน้ำมัน อันนี้ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดเป็นจุดเล็กๆ แต่คราบน้ำมันที่มีข่าวว่าเข้าเต็มชายหาดจากพวกลักลอบทิ้ง แต่เราหาไม่เคยเจอเลย อันนั้นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มองไม่เห็นทางออกว่าเมื่อไหร่เราจะสามารถจับผู้กระทำผิดได้ เพราะว่ามันมีกฎหมายอยู่แล้วแต่เรายังหาต้นตอไม่เจอ
GM : หน่วยงานที่รับผิดชอบยังหาต้นตอไม่เจอ หรืออาจเจอตอจากผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือบริษัทใหญ่หรือเปล่า?
ธรณ์ : ไม่เกี่ยวหรอกครับ อันนี้เป็นเรื่องประเด็นระดับชาติ อิทธิพลระดับไหนก็คงเอาไม่อยุ่ เพียงคนอาจจะบอกว่าก็ รู้ๆ กันอยู่ ว่าอะไร อย่างไร แต่เราก็หาหลักฐานไม่ได้ ไอ้คำว่ารู้ๆ กันอยู่นั้นเอาฟ้องศาลไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่าถ้าเขาลักลอบทิ้งนั้นเขาทิ้งตอนกลางคืน และเขาก็ไม่ได้จอดเรือทิ้ง เขาแล่นทิ้งไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ปล่อยทิ้งทีละหน่อย ใครมันจะไปตามหาได้ เรือในประเทศไทยมีไม่รู้กี่หมื่นลำ เพราะฉะนั้นมันเลยต้องพึ่งเทคโนโลยีซึ่งเราก็พยายามทำกันอยู่ ไม่ว่าจะใช้ดาวเทียมจับคราบน้ำมัน ซึ่งจริงๆ ทำได้แต่เรายังย้อนกลับไปหาต้นตอไม่ได้สักที แต่ถึงย้อนไปได้เราก็ไม่มั่นใจว่าภาพจากดาวเทียมจะเอามาเป็นหลักฐานให้กับศาลหรืออัยการเพื่อสั่งฟ้องได้หรือเปล่า มันยังต้องทำกันไปอีกไกลครับ
GM : ตอนนี้เรื่องของกระแสโรงไฟฟ้าถ่านหินเหมือนจะถูกความกดดันลดลงไปพอสมควร เพราะว่ามีการต่อต้านกัน มีการพักโครงการเพื่อพิจารณากันมากขึ้น นี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีแล้วใช่ไหม?
ธรณ์ : อันที่จริงแล้วเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินนี่หลายคนยังไม่เข้าใจนะครับ ประเทศไทยเดิมทีเรากำหนดแล้วว่ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ พูดแบบนี้ดีกว่า ประเทศไทยมีแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือแผนที่ชื่อ PDP (Power Development Plan) เพราะฉะนั้นแผน PDP คือเป็นแผนใหญ่สุด ไม่ว่าจะเป็น กฟผ.หรือใครก็ตาม จะต้องอยู่ภายใต้ PDP อันนี้ เพราะแผน PDP จะผ่านกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และเข้า ครม. ไปเป็นแผนที่ครบสูตร และก็เป็นแผนแบบนี้มาหลายปีแล้วไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นนะครับ เพียงแต่ว่าแผน PDP ก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซ แต่หลังจากนั้นในช่วงแผน PDP 2015 เรากลัวว่าก๊าซในอ่าวจะหมด เราก็เลยกลับมาให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะฉะนั้นปริมาณสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เพิ่มจาก 15% กลายเป็น 30% ทางหน่วยงาน กฟผ. หรือหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผน PDP
แต่พอมาถึงแผน PDP 2018 เร็กมีการประมูลบงกช-เอราวัณได้ (เอราวัณและบงกชคือแหล่งปิโตรเลียมในทะเลแถบอ่าวไทย โดยบริษัท ปตท.สผ เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ชนะในการประมูล) ในราคาที่ค่อนข้างต่ำมาก แผน PDP 2018 ก็เลยถูกปรับ กลายเป็นว่าเราต้องการพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแค่ 12-13% ประมาณนั้น และกลับมาเพิ่มพลังงานก๊าซแทน เหมือนแผน PDP เดิมก่อนหน้านั้นนานแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าทำตามแผน PDP ใหม่ ซึ่งตอนนี้เข้า ครม.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินจะลดลงเหลือแค่ 10 % ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เลย แต่เราต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแทน และก๊าซธรรมชาติก็เป็นที่ยอมรับของคนไทยมากกว่าถ่านหินอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าตราบใดที่แผน PDP 2018 ยังอยู่ ซึ่งปกติจะทบทวนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี มันก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในตอนนี้
แต่ถ้าเกิดแผน PDP โดนปรับในอนาคตล่ะ ผมเชื่อว่าในอนาคต 5 ปีข้างหน้า พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจะชัดเจนยิ่งขึ้น และเราก็จะมีเรื่องของก๊าซธรรมชาติที่เราไปเปิดประมูลสำเร็จมา เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อว่าจะมีปัญหาหรือเราจะกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เราจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากเพราะมีแผน PDP เดิมกำหนดไว้ แต่ตอนนี้ไม่มี PDP อันนั้นแล้ว เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง คือ PDP 2018 ไม่ได้กำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแล้วตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้นเราจะไปพูดกับ กฟผ.หรือหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างไร ต่อให้เขาก็บอกว่าตนเป็นหน่วยงานปฏิบัติ นโยบายแบบมาแบบนั้นเขาก็ต้องทำ ซึ่งจะไปทำแบบเดิมได้อย่างไรในเมื่อนโยบายที่กำหนดมามันเปลี่ยนไปแล้ว กฟผ.ก็คงไม่ทำอะไรแล้ว เขาเองก็คงขี้เกียจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเหมือนกัน
GM : ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรทางทะเลนั้นได้ร่วมมือหรือประสานงานกันได้ดีแค่ไหน?
ธรณ์ : การร่วมมือกันคือการตั้งเป็นองค์ความรู้นะครับ ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลนั้นไม่ต้องเป็นห่วง เราทำงานด้วยกันอยู่แล้ว เรามีสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติและให้ความรู้ ที่จริงนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทยนี่ทำงานเกินหน้าที่มากที่สุดในโลกแล้ว ผมพูดแบบนี้แล้วกัน โดยดูจากตัวผมเป็นหลักนะครับ เรื่องของการมีบทบาท เราก็มีบทบาทในการเป็นกรรมการต่างๆ แต่ปัญหาคือทะเลมันกว้างมากนะ กว้างมากๆ อย่างเรื่องคราบน้ำมันเรื่องเดียวนี่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นสิบกว่าหน่วยงาน เรื่องดูแลนักท่องเที่ยวก็มีไม่รู้กี่สิบหน่วยงาน เรื่องของความมั่นคง เรื่องของพลังงาน เรื่องของการประมงก็มีกระทรวงแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง คือทะเลมันเป็นแหล่งที่รวมทุกสิ่งทุกอย่าง การประสานงานความร่วมมือก็จะตีเป็นประเด็นไป เช่น ประเด็นประมง กรมประมงหน่วยงานก็ทำงานไป กระทรวงแรงงานก็ทำงานร่วมกัน ถ้าเป็นประเด็นด้านพลังงานก็มีหน่วยงานไปทำ
แต่มันไม่มีการประสานมารวมกันทั้งหมด เข้าใจไหมครับ มันต้องดูภาพรวมด้วย ไม่ใช่ด้านนี้ดูอันหนึ่ง เอาอันนั้นมาบูรณาการกัน 2 กระทรวง เอาอันนี้มาบูรณาการกัน 5 กระทรวง เอาอันนี้มาบูรณาการกับเอกชน มันทำไม่ได้ มันสับสนในชีวิตนะครับ ยกตัวอย่าง เรื่องขยะทะเลที่มีการจัดประชุม Asia-Europe Meeting ไปนั้นเป็นงานของกระทรวงต่างประเทศ ขณะที่งานปฏิญญาอาเซียนเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เพราะแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามันมีหลายอันเหลือเกินที่ปะปนกันอยู่ รวมทั้งนโยบายด้านต่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้เรามี พรบ. รักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่จะดูองค์รวม แต่จะดูแบบหลวมๆนะครับ เพราะจะเข้าไปก้าวล่วงอำนาจของอีกหน่วยงานไม่ได้ พรบ. มันก็มีเท่ากันจะไปทับคนอื่นเขาไม่ได้ แต่อย่างถึงที่สุดก็ทำให้เกิดองค์รวมในการปฏิบัติการโดยเฉพาะในเรื่องกรณีฉุกเฉิน เช่น กรณีพายุปาบึกเข้าหรืออะไรแบบนั้น มันจำเป็นต้องมีปฏิบัติการแบบองค์รวม แต่เรื่องของการแก้ปัญหานี่ต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Platform ต่างๆ ทั้งการใช้ Big Data เพื่อเก็บข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เก็บข้อมูลด้านความปลอดภัย เพราะอย่างกรณีเรือฟีนิกซ์ล่มที่ภูเก็ตเราก็เสียหาย ประเทศไทยเสียหายไปกว่าหมื่นล้านบาทจากเรือล่มลำเดียว เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็พยายามใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง การสำรวจด้วยโดรน การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการสำรวจ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือกับเรือสำรวจจากต่างประเทศ เช่น เรือสำรวจจากนอร์เวย์ก็เพิ่งมานะครับ ข้อมูลจากจีนต่างๆ สิ่งเหล่านี้เราก็พยายามทำข้อมูลองค์รวมของเราขึ้นมา ซึ่งหากดูการปรับตัวนี่ต้องบอกตามตรงว่าหน่วยงานราชการต่างๆ การปรับตัวเพื่อรับเทคโนโลยีดิจิตอลนั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควร บางทีเขาก็ไม่ได้เรียนรู้ทางด้านนั้น การปรับตัวก็ไม่ได้ว่องไว และหน่วยงานองค์กรต่างๆ มันมีกฎหมาย มันมีระเบียบ มันมีคุณป้า-คุณลุงอยู่เยอะนะครับ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทางทะเลเราไปเร็วกว่าด้านอื่นแล้วนะ ผมคิดว่าทางทะเลเราจะใช้เวลาอีกราว 10 ปี ซึ่งเป็น10 ปีที่เราจะปิดช่องว่างนี้ให้ได้ แต่อย่าคิดว่ามันนานนะครับ ถ้าเราคิดย้อนหลังไปร้อยกว่าปี ตอนนั้นเรายังใช้อนาล็อกกันมาตลอดอยู่เลย การปรับตัว Destructive ในช่วง 10 ปี เพื่อไปสู่ Digital Platform ผมคิดว่ามันก็คงใช้เวลาราวนี้นั่นแหละ เพราะว่ามันไม่ง่ายเลยในการปรับตัว
GM : เมื่อสักครู่อาจารย์พูดถึงพายุไต้ฝุ่นปาบึก อาจารย์มองว่าหน่วยงานต่างๆ ในบ้านเราตอนนี้มีพัฒนาการในการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางทะเลมาไกลแค่ไหนแล้วจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา
ธรณ์ : เรามาไกลนะ ขอเทียบกับพายุปาบึกและพายุเกย์ด้วยแล้วกัน เราพัฒนามาเรื่อยๆ ตอนพายุเกย์เข้ามาเราแทบจะไม่ได้เตือนอะไรเลย เราก็เตือนแค่ว่าพายุใหญ่มาเรืออย่าออกจากฝั่งนะ เตือนผ่านกรมอุตุฯ ดูทางทีวีกันอย่างเดียว แต่ชาวบ้านบางทีก็ไม่เชื่อ บางทีก็ไม่เข้าใจ เอาเรือไปจอดใกล้ฝั่ง เรือล่มไป 400 กว่าลำ ตอนพายุเกย์เข้าผมอยู่ด้วย ตอนนั้นผมลงไปสำรวจนะครับ เพราะฉะนั้นจึงรู้ตัวเลขว่ามีเรือ 400 กว่าลำที่ได้รับความเสียหาย ชาวประมงเสียชีวิตจำนวนมากนะครับ แล้วตามชายฝั่งโดน storm surge (น้ำขึ้นจากพายุ) เข้าไปเยอะ ตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จักเลย storm surge ว่าคืออะไร ยังไม่รู้ว่าความแรงของพายุเกย์นั้นเรือประมงเอามาจอดอยู่ริมฝั่งไม่ได้ คุณต้องเอาเรือขึ้นคานขึ้นฝั่งไปเลย อะไรประมาณนั้น ซึ่งก็เป็นองค์ความรู้รวมที่เรียนรู้กันมา พอถึงสึนามิเราก็ไม่รู้จักอีกเหมือนกัน หลายคนก็เสียชีวิตเพราะว่าไม่รู้จัก ไม่เข้าใจนะครับ อันนั้นก็เป็นบทเรียนของเรา
พอถึงคราวที่พายุปาบึกเข้าเราได้เรียนรู้เยอะมากขึ้น เรามีการเตือน ผมก็มีการเตือนกันผ่านทางเฟซบุ๊ค ก็มีคนเริ่มตกใจกัน เฮ้ย มันไม่ใช่ลมธรรมดานะ แล้วก็เริ่มคุยกันเรื่องstorm surge กรมอุตุก็ให้ข้อมูลต่างๆ อัพเดทรายละเอียดตลอด ติดตามเส้นทางของพายุด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ขณะเดียวกันคนไทยก็มี App สามารถดูข้อมูลต่างๆมาช่วยกันวิเคราะห์ เพียงแต่ว่าอย่าวิเคราะห์ล่วงหน้านาน ผมพูดตามตรง อย่างเช่นพวก App วัดค่าฝุ่น คุณดูสักชั่วโมงข้างหน้าพอ จะไปดูสามวันล่วงหน้ามันไม่ไหวหรอกครับ เพราะสภาพภูมิอากาศมันไม่ง่ายขนาดนั้นนะครับ เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยเข้าใจมากขึ้น มีการช่วยกันอธิบายในเฟซบุ๊ค หรือในมีเดียต่างๆ มากขึ้น ทำให้เรารับมือได้ดีขึ้น
แต่พายุปาบึกนี้ต้องบอกตามตรงว่าเป็นพายุระดับต่ำ เทียบกับเกย์หรือสึนามินี่ความรุนแรงของภัยพิบัติมันน้อยกว่ากันมาก แต่อย่างน้อยสุดมันก็แสดงให้เราเห็นว่าแทบจะไม่มีผู้เสียชีวิตเลยนะ ความเสียหายของทรัพย์สินก็แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ตอนนี้เราจึงมาพูดถึง Big Data กัน เพราะต้นเดือนหน้า (เมษายน 2562) ก็มีประชุมใหญ่ของสภาวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง Big Data System ของระบบเตือนภัยทั้งหมด ที่ไม่ใช้คำว่าภัยพิบัติเพราะมันตีความได้กว้างมาก ในแง่ของการพัฒนาผมเชื่อว่าเราดีกว่าเดิมเยอะ เพียงแต่ว่าโคงสร้างพื้นฐานของเรามันยังไม่ใช่ ยกตัวอย่างเช่น คุณจะเตือนภัยดีแค่ไหน แต่ท้องถนนมีท่อสร้างขวางทางน้ำ และระบบระบายน้ำที่เล็ก น้ำก็ท่วมข้างในอยู่ดี หรือไม่ว่าระบบเตือนภัยดีแค่ไหน ฝนตกเยอะๆ บนยอดเขา แต่คลองมีแต่หมู่บ้านลุกล้ำเข้าไปในลำน้ำจนขวางปิดคลองไปหมด คลองตื้นเขินกลายเป็นที่ทิ้งขยะ น้ำก็ระบายไม่ออก สุดท้ายน้ำก็ท่วมอยู่ดี คือระบบเตือนภัยดีขนาดไหน ถ้าเรือคุณไม่ได้มาตรฐานโดนคลื่นหน่อยเดียวก็จมเหมือนกรณีเรือฟินิกซ์ มันก็เหมือนกัน ฉะนั้นนอกจากระบบเตือนภัยที่เราพัฒนาไปเยอะแล้ว มันก็ต้องพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานของเราที่สอดรับกับการรับมือกับภัยธรรมชาติด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่ไปฝากความหวังไว้กับระบบอย่างเดียว มันต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกันด้วย ซึ่งอันนั้นยากกว่าอีก เพราะโครงสร้างพื้นฐานมันเยอะต้องใช้เงินไปไม่รู้กี่แสนล้านบาทในการปรับโครงสร้างขึ้นมา
GM : จากข้อมูลทั้งหมดที่ ในอีก 10 – 15 ปีข้างหน้านี้เราคาดการณ์ได้ไหมว่าจะสามารถฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทยไปได้ถึงขั้นไหน?
ธรณ์ : เราจะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ ทางทรัพยากรของเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผม มันไม่มีการคาดเดาอะไรได้หรอกครับ เพราะว่าทะเลนี่มันก็เหมือนกับเด็ก เหมือนกับคนที่ป่วยไข้อยู่ ที่ตอนนี้กำลังฟื้นตัวหลังจากป่วยหนัก แต่ถ้าคนที่ฟื้นมาไม่ได้รับการดูแล อาหารก็ให้ห่วยๆ มีเสียงรบกวน มีฝุ่น pm 2.5 ลอยเข้ามาในห้องพักฟื้นอยู่ตลอดเวลา ห้องพักไม่สะอาด อย่างไรคนป่วยก็ไม่ฟื้นเป็นปกติ เพราะฉะนั้นมันไม่มีใครทำนายได้หรอกว่าคนป่วยคนนั้นจะฟื้นถึงขั้นไหน จะหายดีเมื่อไหร่ ตราบใดที่มันขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรกับคนป่วยคนนั้น ซึ่งเราก็คือพวกเรา คุณยังใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ใบหรือเปล่า คุณยังเปิดร้านอาหารและทิ้งน้ำเสียลงท่อระบายน้ำแบบไม่รับผิดชอบหรือเปล่า คุณยังเอาสัตว์แปลกๆ มาทำอาหารหรือเปล่า มันยังมีปัจจัยอีกมหาศาลมากที่จะตอบได้
ถ้าทุกคนช่วยกันเหมือนกับที่เราช่วยกันมาตลอด 4-5 ปีนี้ ผมก็บอกได้ว่าทะเลมันจะฟื้นใน 10-15 ปี เราจะมีทะเลที่ถือว่าสวยที่สุดในโลกอีกครั้ง