fbpx

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ THE MULTIPLEPERSPECTIVE MAN

สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติหลากมิติ !ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม, การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในแง่มุมเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่สังคมไทยเองก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติหลากด้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับความคิดและความเชื่อทางการเมือง รอยร้าวแห่งความแตกต่างเปื้อนความแตกแยกนั้นลามลึกเหมือนมีดกรีดเข้าไปในทุกกลุ่ม ทุกฐานะทางเศรษฐกิจ โลกสองใบที่ดูเหมือนแยกขาดออกจากกัน

โดยเนื้อแท้จึงผูกโยงอยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ออก ณ ห้วงยามอันซับซ้อนเช่นนี้ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ น่าจะเป็นคำตอบอันดีในการสนทนาพูดคุยเพื่อร่วมกัน

แสวงหา ‘ทางออก’ จากวิกฤติต่างๆ ด้านหนึ่ง, ยากปฏิเสธว่า ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คือผู้รู้ระดับกูรูในเรื่องเศรษฐกิจ ด้วยปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ด้านการเงินและการพัฒนา กับประสบการณ์ยาวนานที่คลุกคลีอยู่กับการเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ในโมงยามที่เศรษฐกิจโลกผันผวน และขณะเดียวกันก็กำลังจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขึ้นในอนาคตอันใกล้ เขาจึงตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจได้ดีที่สุดขณะเดียวกัน อาจด้วยประสบการณ์รัฐศาสตร์เมื่อร่ำเรียนในระดับปริญญาตรี ประกอบกับความสนใจการบ้านการเมืองอย่างลึกซึ้ง ก็ทำให้เราเห็นความแหลมคมในการวิพากษ์มิติต่างๆ ของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในตัว ดร. อนุสรณ์อยู่เนืองๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เช่นการเมืองเรื่องเหลืองแดงของไทย กระทั่งถึงการลุกฮือขึ้นของประชาชนในตะวันออกกลาง และอื่นๆ นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราชวนเขามาใคร่ครวญร่วมกันถึงวิถีก้าวและความเป็นไปของปี 2012 ปีที่หลายคนระแวงและระวังกันอย่างสุดตัวหลากความเห็น-หลายคำตอบ, ที่กลั่นกรองจากหลากมิติประสบการณ์ของเขา เป็นเรื่องที่สังคมไทย ‘ควรรู้’ หากยังมุ่งหวังที่จะพาประเทศก้าวเดินสู่ความมั่นคงในอนาคต-นับต่อจากนี้ !

INTERVIEW

สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติหลากมิติ !

ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม, การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในแง่มุมเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่สังคมไทยเองก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติหลากด้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับความคิดและความเชื่อทางการเมือง รอยร้าวแห่งความแตกต่างเปื้อนความแตกแยกนั้นลามลึกเหมือนมีดกรีดเข้าไปในทุกกลุ่ม ทุกฐานะทางเศรษฐกิจ โลกสองใบที่ดูเหมือนแยกขาดออกจากกัน โดยเนื้อแท้จึงผูกโยงอยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ออกณ ห้วงยามอันซับซ้อนเช่นนี้ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ น่าจะเป็นคำตอบอันดีในการสนทนาพูดคุยเพื่อร่วมกันแสวงหา ‘ทางออก’ จากวิกฤติต่างๆ ด้านหนึ่ง, ยากปฏิเสธว่า ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คือผู้รู้ระดับกูรูในเรื่องเศรษฐกิจ ด้วยปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ด้านการเงินและการพัฒนา กับประสบการณ์ยาวนานที่คลุกคลีอยู่กับการเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ในโมงยามที่เศรษฐกิจโลกผันผวน และขณะเดียวกันก็กำลังจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขึ้นในอนาคตอันใกล้ เขาจึงตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจได้ดีที่สุดขณะเดียวกัน อาจด้วยประสบการณ์รัฐศาสตร์เมื่อร่ำเรียนในระดับปริญญาตรี ประกอบกับความสนใจการบ้านการเมืองอย่างลึกซึ้ง ก็ทำให้เราเห็นความแหลมคมในการวิพากษ์มิติต่างๆ ของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในตัว ดร. อนุสรณ์อยู่เนืองๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เช่นการเมืองเรื่องเหลืองแดงของไทย กระทั่งถึงการลุกฮือขึ้นของประชาชนในตะวันออกกลาง และอื่นๆ นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราชวนเขามาใคร่ครวญร่วมกันถึงวิถีก้าวและความเป็นไปของปี 2012 ปีที่หลายคนระแวงและระวังกันอย่างสุดตัวหลากความเห็น-หลายคำตอบ, ที่กลั่นกรองจากหลากมิติประสบการณ์ของเขา เป็นเรื่องที่สังคมไทย ‘ควรรู้’ หากยังมุ่งหวังที่จะพาประเทศก้าวเดินสู่ความมั่นคงในอนาคต-นับต่อจากนี้ !

GM : คุณมองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2012 เป็นอย่างไร

ดร. อนุสรณ์ : หน่วยงานทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงินของโลก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ หรือเอกชนอย่างซิตี้กรุ๊ป เจพีมอร์แกน เชส และองค์กรระหว่างประเทศอย่าง ยูเอ็น โออีซีดี มองไปในทิศทางเดียวกัน คือ เศรษฐกิจโลกปี 2012 จะเติบโตลดลงจากปีที่ผ่านมา อย่างหน่วยงานเศรษฐกิจของยูเอ็นจะมองในมุมมองที่อนุรักษนิยมมาก คือ เขามองว่าเศรษฐกิจโลกจะโตแค่ 2.6-2.8% นี่เป็นกรณีที่ดีที่สุดส่วนกรณีเลวร้ายสุดอาจจะขยายตัวได้แค่ 0.5% เท่านั้น

อันเนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วยังต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจห้าประการที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ และไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น คือ หนึ่ง, วิกฤติหนี้สินภาครัฐในยุโรปและสหรัฐอเมริกา สอง, ภาคการเงินอ่อนแอและฐานะเปราะบางของภาคธนาคาร สาม, อุปสงค์ซบเซาจากมาตรการรัดเข็มขัด สี่, อัตราการว่างงานในระดับสูง และห้า, คือความล่าช้าของมาตรการแก้ปัญหาจากกระบวนการทางการเมือง ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนและการค้าโลก ความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในปีนี้ ประกอบกับปัญหาตกค้างมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2552 ทั้งหมดอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่าง ซึ่งมีผลทำให้หลายประเทศระมัดระวังในการเปิดเสรี และหันมาปกป้องตำแหน่งงานและอุตสาหกรรมภายในมากขึ้น

GM : ใครๆ ก็พูดกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปกับสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องน่าห่วงมาก คุณว่าสองเรื่องนี้จะมีผลอย่างไรกับเศรษฐกิจโลกในปีนี้บ้าง

ดร. อนุสรณ์ : ในส่วนของปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น ในปี 2555 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ปัญหาจะยังคงยืดเยื้อไปอีกหลายปีจึงจะฟื้นตัวชัดเจน สหรัฐอเมริกาเองก็จะค่อยๆ ลดบทบาทการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และศูนย์กลางจะเคลื่อนย้ายมาทางเอเชียมากขึ้น ส่วนที่ยังน่าเป็นห่วง ผมมองว่าน่าจะเป็นวิกฤติหนี้ของยุโรปที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2553 หรือที่เราเรียกว่า ‘วิกฤติยูโร พ.ศ. 2553’ โดยความกลัววิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ได้เริ่มสร้างความกังวลแก่รัฐในทวีปยุโรปบางรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกยูโรโซน กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งได้นำไปสู่วิกฤติความเชื่อมั่น อัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลก็เพิ่มสูงขึ้น จนต้องมีการรับประกันการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรระหว่างประเทศเหล่านี้กับสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลของรัฐบาลและระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ร่วมกับสถานการณ์หนี้สาธารณะยุโรปที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังยุโรปได้อนุมัติเงินช่วยเหลือครอบคลุมที่มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับทั้ง 3 ประเทศ แต่มีสัญญาณว่ากรีซมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ที่ได้รับการอนุมัติได้ เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม และยิ่งเป็นไปได้ที่ว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจในประเทศยูโรโซนอื่นๆ ตามไปด้วย ความกังวลดังกล่าวมุ่งไปยังโปรตุเกสและไอร์แลนด์ ซึ่งทั้งสองประเทศมีหนี้สูง รวมเข้ากับการขาดดุล เรื่องเหล่านี้จึงลุกลามออกไป ทำให้ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจประเทศยุโรปอื่นๆ ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน นี่คือภาพที่ผมฉายเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

GM : คุณคิดว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร

ดร. อนุสรณ์ : ทางแก้ก็คือยุโรปต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการครั้งใหญ่ ประเทศที่มีปัญหาวิกฤติการณ์หนี้สินรุนแรงมากๆ ต้องมีการพิจารณาลดหนี้ให้ ไม่ใช่เพียงเพิ่มสภาพคล่องหรือให้ยืมเงินมาจากหนี้ก้อนเก่า ทำแบบนั้นก็เท่ากับซื้อเวลาและยืดปัญหาไปในอนาคตเท่านั้น รัฐบาล เอกชน ประชาชน ต้องทำงานหนักขึ้น รัดเข็มขัด และต้องยอมลำบาก ลดสวัสดิการลงมา

GM : คุณคิดว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือ เพราะการลดสวัสดิการน่าจะทำให้ผู้คนไม่พอใจ และส่งผลกระทบทางการเมือง

ดร. อนุสรณ์ : มีผลต่อเรื่องทาง

การเมืองแน่นอนครับ แต่จะมากน้อยแค่ไหนในปีนี้น่าจะมีคำตอบ อย่างที่ทราบกันดีว่าสหภาพยุโรปมีพื้นฐานเป็นรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งมาก แต่รูปแบบของรัฐสวัสดิการที่ว่าแตกต่างจากนโยบายประชานิยมในแง่ของการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ดังนั้น การรัดเข็มขัดเพื่อแก้วิกฤติน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมมากที่สุด ส่วนเรื่องการตัดสวัสดิการเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่ต้องไปหาวิธีบริหารจัดการกับประชาชน รวมถึงทำความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญของวิกฤตินี้

GM : ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย รวมถึงการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้ไหม ในแง่ไหนบ้าง

ดร. อนุสรณ์ : ผมมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิกฤตินี้ไม่มีผลกระทบอะไรเลย หากมองแบบเจาะลึกลงไปแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่ต้องพึ่งพาการส่งออก ภาคการลงทุน ภาคการท่องเที่ยว ที่มีกับประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปแต่สิ่งที่ผมอยากจะบอก คือ ยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีปัญหามาก เราต้องยิ่งรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกันให้แนบแน่น เพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนต่อกันในภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเป็นหุ้นส่วนกันมากขึ้น เพราะหากประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของตัวเองได้ ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของเอเชีย เนื่องจากวิกฤติการณ์หนี้สินในยุโรปและอเมริกา ทำให้ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเคลื่อนตัวมาที่เอเชีย ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เอเชียภิวัฒน์’ เร็วขึ้น

GM : หากเกิด AEC ขึ้นมา คุณว่าจะทำให้ภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ดร. อนุสรณ์ : ในเบื้องต้นการเกิดขึ้นของ AEC อาจจะสร้างแรงกดดันให้กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ เรียกร้องให้รัฐบาลมีการผลักดันให้ปกป้องอุตสาหกรรมภายในมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มการค้าเสรีต่างๆ เกิดขึ้น AEC นั้นเน้นเรื่องการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจ การผลักดันให้ปกป้องอุตสาหกรรมภายในจึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับนโยบายของประชาคม AEC แต่ผมคิดว่าธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้อยู่แล้ว คงอยากให้ AEC เดินหน้าเต็มที่ เพราะบริษัทเหล่านั้นจะได้ประโยชน์ในแง่ของพื้นที่ มีเครือข่ายการผลิตการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยไม่มีกำแพงอะไรมาขวางกั้น โดยเฉพาะกำแพงภาษี ส่วนกิจการขนาดย่อยที่อาจจะมีประสิทธิภาพในการแข่งขันไม่มากนั้น ก็อาจจะมีเสียงดังขึ้นในประเด็นที่ต้องการให้ชะลอการดำเนินการบางอย่างภายใต้กรอบของ AEC แต่โดยภาพใหญ่ผมคิดว่าอย่างไร AEC ต้องมีการเดินหน้าเต็มที่แน่นอน นี่คือมิติหนึ่งความเปลี่ยนแปลงอีกมิติหนึ่งคือ AEC จะช่วยเสริมความคิดที่ผมหรือนักเศรษฐศาสตร์หลายคนในโลกมองว่า ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจกำลังจะเคลื่อนย้ายมาเอเชีย หรือที่ผมใช้คำว่า ‘เอเชียภิวัฒน์’ โดยมี AEC เป็นแรงกระตุ้นสำคัญทำให้ความคิดนี้เป็นจริงอย่างหนักแน่นมากขึ้น เพราะตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดการลงทุน และสามารถเป็นศูนย์ทางความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจได้

GM : ภูมิภาคอาเซียนเองดูเหมือนยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางการเมืองมากเท่าไหร่ และหลายประเทศก็เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาในประวัติศาสตร์ คุณคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคทำให้การรวมตัวยากขึ้นหรือไม่

ดร. อนุสรณ์ : เสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่เท่าที่สำรวจดูกระแสในขณะนี้ หลายประเทศที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกัน ความไม่ลงรอยกันเริ่มได้รับการเยียวยาในแนวทางที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ไทย-เขมร ความสัมพันธ์ระหว่างกันน่าจะดีขึ้นกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ กรณีที่รุนแรงที่สุดก็คือเรื่องเขาพระวิหารของไทย-เขมร ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มคลี่คลายแล้ว ส่วนพม่าเองก็เริ่มมีท่าทีที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งภายในของสมาชิกรายอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรรุนแรงที่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ จึงเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่เราต้องจับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้ AEC เป็นจริงได้โดยเร็ว และมีความมั่นคงมากที่สุดถ้าจะสะดุด ก็อาจเกิดขึ้นจาก 2-3 ปัจจัย ปัจจัยที่หนึ่งเกิดจากผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนที่ขัดกันอย่างรุนแรง นั่นจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา อันที่สองคือผู้นำทางการเมืองในรัฐที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยอาจสร้างปัญหาได้ อย่างพม่าหรือเขมรที่ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่มีลักษณะของการผูกขาดอำนาจอยู่มาก แม้กระทั่งลาวหรือเวียดนามก็ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เขาบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ตรงนี้ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

GM : คุณคิดว่า AEC สามารถเทียบเคียงกับสหภาพยุโรปได้ในแง่ไหนบ้าง

ดร. อนุสรณ์ : เทียบเคียงในบางด้านได้ในแง่ของการเป็นกลุ่มประเทศที่มีพรมแดนติดกันและค้าขายระหว่างกันมายาวนาน วัฒนธรรมการดำรงชีพก็คล้ายคลึงกัน แต่ถ้ามองให้ลึก การรวมกลุ่ม

ของสหภาพยุโรปประสบความสำเร็จได้เพราะระบบการปกครอง

ในประเทศสมาชิกคล้ายกัน พื้นฐานทางเศรษฐกิจก็ไม่แตกต่างกันมาก ประชาชนในบางประเทศของเขาสามารถพูดภาษาของกัน

และกันได้ ประกอบกับภูมิหลังและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ยุโรปเคยเกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง ดังนั้นในอดีต ยุโรปจึงเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง เมื่อคนอยู่กับความขัดแย้งนานๆ ก็เบื่อหน่ายความขัดแย้ง ทำให้คนยุโรปไม่ได้เห็นว่ารัฐชาติเป็นสิ่งสำคัญอะไรนักหนา เขากลับมองเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน การมีชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีมากกว่า ตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้รวมกลุ่มกันได้อย่างมั่นคง แต่ถึงแม้ว่าเขามีความพร้อมและมีพื้นฐานที่ดีมากขนาดนั้น ตอนนี้ยังมีปัญหาอย่างที่ผมได้พูดไปก่อนหน้านี้

GM : คุณพูดราวกับว่าแนวคิดแบบชาตินิยมอาจเป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

ดร. อนุสรณ์ : ถูกต้อง แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าลัทธิชาตินิยมเกิดขึ้นมาอย่างไรด้วย คือลัทธิชาตินิยมถูกสร้างขึ้นในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนลัทธิชาตินิยมในเอเชียเกิดขึ้นในช่วงที่มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากลัทธิจักรวรรดินิยมของชาวตะวันตกเพื่อล่าอาณานิคม ตรงนี้เป็นแกนความคิดที่มีอยู่ความเป็นชาตินิยมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมหรือเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ มีความเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคต่อความคิดที่จะเปิดกว้างหรือเปิดเสรีมากๆ สองสิ่งที่ว่านี้มีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว การคิดแบบเปิดเสรีหรือภูมิภาคนิยมคือการคิดแบบนานาชาตินิยม พูดง่ายๆ ว่าก้าวข้ามพรมแดนของความเป็นชาติ สมมุติว่าถ้า AEC เดินหน้าได้ดี ต่อไปความเป็นรัฐชาติจะลดลง แต่ความเป็นรัฐเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือกันจะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้แนวคิดของการเป็นภูมิภาคมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็จะลดน้อยลง ทุกคนจะมองถึงเรื่องสันติภาพที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า ผมยกตัวอย่างเวลาคนที่มาจากกลุ่มประเทศ EU เขาจะบอกว่าเขามาจากกลุ่มประเทศ EU ไม่ได้บอกว่าตัวเองมาจากเยอรมนี สเปน หรือประเทศอะไรก็แล้วแต่ เป็นความรู้สึกของหมู่เหล่ามากขึ้น อย่างพวกเราเวลาไปประชุมต่างๆ ในเวทีโลก ก็บอกว่ามาจากอาเซียน แต่อาเซียนประเทศไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

GM : คุณบอกว่าลัทธิชาตินิยมเป็นอุปสรรคต่อความเจริญทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค แต่กับประเทศที่มีสำนึกชาตินิยมสูงอย่างญี่ปุ่น ทำไมจึงเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภูมิภาค

ดร. อนุสรณ์ : ญี่ปุ่นมีภูมิหลังของตัวเองที่มีลักษณะเฉพาะทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แม้กระทั่งเรื่องของภูมิศาสตร์ทางที่ตั้งที่แยกตัวโดดเดี่ยวเพราะความเป็นเกาะ ฉะนั้น โดยพื้นที่ โดยภูมิศาสตร์ เขาสามารถดำเนินนโยบายแบบปิดประเทศได้ คือปิดประเทศเมื่อครั้งยังเป็นยุคศักดินาอยู่ ส่วนเรื่องของชาตินิยมของญี่ปุ่นที่ถูกฝังอยู่ในความเชื่อ อยู่ในวิถีชีวิตนั้น ถ้าเราศึกษาให้ละเอียดจะพบว่าหลักของศาสนาชินโตมีการเน้นย้ำเรื่องของชาตินิยม ลัทธิบูชิโดก็เป็นส่วนเสริมความคิดหรือแนวคิดแบบนี้ให้เข้มข้น แต่ญี่ปุ่นสามารถทำมาหากินกับต่างชาติได้ดี ตรงนี้ผมมองว่าเขาเล่นเป็น แล้วเขาก็คิดอย่างรอบคอบ คิดละเอียด คิดอย่างมียุทธศาสตร์ว่าอะไรที่เขาจะเปิด อะไรที่เขาจะปิด ถึงแม้ว่าเขาจะบอกกับโลกว่าเขาเปิดหมด แต่จริงๆ เขาไม่ได้เปิดทั้งหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการที่เราทำ FTA กับญี่ปุ่น สิ่งที่เขาจะไม่เปิดเลย คือเรื่องการผลิตข้าว คือถ้าเปิด รับรองว่าประเทศไทยได้ผลประโยชน์เต็มๆ ดังนั้น เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่ออุดหนุนชาวนาให้

ทำนา ชาวนาจึงเป็นคนมีฐานะมากในประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นเช่นนี้ เราต้องเข้าใจว่าในอดีตญี่ปุ่นเคยไม่มีข้าวกิน เขามีบทเรียน ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรการผลิตข้าวจะต้องอยู่ในประเทศโดยไม่ต้องนำเข้ามาก หรือถ้านำเข้ามากก็อาจเอาไปทำสาเกหรือทำอะไรอย่างอื่น เป็นการพลิกแพลงเพื่อบอกให้โลกรู้ว่าญี่ปุ่นไม่ได้ปิดกั้น ญี่ปุ่นเปิดการค้าเสรี แต่ในขณะเดียวกันก็ดูแลอุตสาหกรรมหลักของประเทศไปด้วยทางหนึ่ง

GM : ในความเห็นของคุณ ไทยสามารถนำโมเดลแบบญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในการเปิดเสรีให้มีเสถียรภาพได้บ้างไหม

ดร. อนุสรณ์ : สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเป็นชาตินิยมไม่สูง เพราะถ้าเราดูประวัติศาสตร์ของเรา เดิมเราคือประเทศสยาม เราเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นเราคือสยาม เราคือประเทศเสรีสำหรับคนทุกชาติพันธุ์ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ไม่ได้เสียหายอะไรถ้ามีการจัดการให้ถูกต้อง เหมือนสหรัฐอเมริกาก็เป็น Melting Pot ของคนทุกชาติพันธุ์ ถามว่าเขาเจริญได้ไหม-ก็สามารถเจริญได้ ของเราอาจไม่จำเป็นต้องเดินไปตามเส้นทางของประเทศอื่น แต่ว่าเราคงต้องศึกษาบทเรียนดูตัวอย่างอะไรที่ประสบความสำเร็จในความเห็นของผม กรณีของ AEC เราต้องเดินหน้าเปิดเสรีเต็มที่ เพราะว่าโดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เราคือศูนย์กลางของ AEC ถ้าเราสามารถเชื่อมระบบขนส่งคมนาคมให้ดี เราจะเป็นศูนย์กลาง ถ้าเราวางตำแหน่งให้ประเทศเป็นศูนย์กลางเหมือนสิงคโปร์ ผมเชื่อว่าเราจะยิ่งใหญ่กว่าสิงคโปร์ เพราะเราเป็นประเทศใหญ่ มีทรัพยากรมากกว่า มีประชากรมากกว่า แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้ประชากรมีคุณภาพ เด็กรุ่นใหม่ต่อไปจะต้องพูดภาษาอังกฤษให้ดีมาก ความรู้ทางด้านไอทีต้องเยี่ยม เราต้องผลิตคนแบบนี้ออกมา เราจะได้ประโยชน์ แต่ก็มีหลายคนตั้งข้อห่วงใยว่า จะมีหลายอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง อาจจะถูกซื้อ ถูกยึด ถูกเทคโอเวอร์ รัฐก็ต้องพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ให้ดี ต้องมียุทธศาสตร์ คือผมใช้คำว่าอย่าไปซี้ซั้วเปิดเสรีโดยไม่วางแผน แม้เราจะตระหนักว่าการเปิดเสรีมันจะเป็นประโยชน์กับไทยมาก แต่ว่าเราก็ต้องไม่เปิดเหมือนตอนที่เราเปิดธุรกิจค้าปลีก ที่ทำเอาโชห่วยตายหมด ต้องมีการเปิดบางส่วน แล้วปกป้องบางส่วนที่เราเห็นว่าจำเป็น โดยที่ไม่ไปขัดแย้งกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก

GM : นอกจากมิติทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว คุณคิดว่ามีมิติอื่นอีกไหมที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้รับกับการเกิดขึ้นของ AEC

ดร. อนุสรณ์ : มิติทางการเมืองการปกครอง (ยิ้ม) ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าอำนาจทางธุรกิจก็ดี หรือเศรษฐกิจก็ดี มันมักจะผูกโยงกับเรื่องของการเมืองเสมอ อำนาจทางการเมืองมีผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันธุรกิจอุตสาหกรรมก็มีพลังที่มีอิทธิพลต่อบทบาทของการเมืองได้ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่สามารถทำให้โครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปได้ย่อมมีผลในทางการเมือง ผมยกตัวอย่างน้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้นิคมอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายอย่างหนัก โรงงานที่ได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่งเป็นโรงงานของบรรษัทข้ามชาติที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เขาก็ต้องล็อบบี้หรือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความมั่นใจกับเขาว่าน้ำจะไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมอีก ถามว่านี่คือการเมืองไหม คำตอบก็คือใช่ เป็นแรงผลักให้เกิดการจัดการที่เรียบร้อย

GM : เสียงจากภาคธุรกิจในลักษณะข้ามชาติเหล่านี้สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลซึ่งยังเป็นรัฐชาติแบบเดิมได้ไหม

ดร. อนุสรณ์ : มันก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ด้วยว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร ถ้าจัดการได้ดีก็ไม่สามารถสั่นคลอน วิกฤติตรงนั้นอาจจะเป็นพลังบวกด้วยซ้ำไป เพราะสิ่งที่ต่างชาตินำเสนอแล้วเราแก้ได้ก็ทำให้เขามั่นใจ แต่ถ้าโดนเรียกร้องแล้วจัดการไม่ดี ผลของมันก็กลายเป็นลบ ยิ่งทำให้เสียภาพพจน์หรือสูญเสียความเชื่อมั่น ทีนี้ก็กลับมาที่ประเด็นที่ว่า แล้ว AEC จะมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับทางการเมืองในประเทศอย่างไร มันจะโยงได้เมื่อผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติมีมาก ถ้าการจัดการไม่ดี ไม่สมดุล มันจะทำให้ดุลอำนาจของทุนข้ามชาติเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดทุนข้ามชาติเหล่านั้นก็จะพยายามผลักดันตัวเองเข้ามามีบทบาททางการเมืองภายในประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตัวอย่างจะคล้ายกับสหรัฐอเมริกา เวลาที่ดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศ ประเทศไหนที่มีผลประโยชน์ของอเมริกามากๆ อเมริกาจะมีจุดยืน มีเสียงที่ดังมากๆ เวลาเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเหล่านั้น ก็เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศบางประเทศในอเมริกาใต้ที่เปิดเสรีมากๆ แล้วมีกลุ่มทุนของอเมริกาเข้าไปลงทุนจนมีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ในนั้นอย่างเช่นคิวบาช่วงก่อนที่ ฟิเดล คาสโตร จะขึ้นเป็นผู้นำ รัฐบาลก่อนหน้านั้นมีผลประโยชน์แนบแน่นกับกลุ่มทุนสหรัฐฯ แล้วทุนสหรัฐฯ เองก็พอใจกับระบอบการปกครองแบบเผด็จการแบบนั้นด้วย เพราะว่าคุยกันง่าย (หัวเราะ) ทั้งที่ในความเป็นจริง ประเทศที่นำเสนอตนเองว่าเป็นเจ้าแห่งประชาธิปไตยไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนระบอบเผด็จการ จนในที่สุดกลุ่มทุนก็จะไปมีอิทธิพลกับการเมืองภายใน หรือพอมีการเปิดเสรีมากๆ ขึ้น แล้วคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ประโยชน์ ดุลอำนาจทางการเมืองก็จะสวิงกลับ ทำให้ผู้นำมวลชน หรือผู้นำทางการเมืองที่เห็นโอกาสสามารถสร้างตัวเองขึ้นจากนโยบายต่อต้านต่างชาติหรือนโยบายชาตินิยมได้ โดยดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยม อย่างในเวเนซุเอลา ฮูโก ชาเวซ

ก็เติบโตแบบนี้ พอขึ้นสู่อำนาจก็ยึดกิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี ฉะนั้นเราจะดำเนินนโยบายอะไร ผมจึงอยากให้ดำเนินแบบมัชฌิมาปฏิปทาน่าจะดีกว่า

GM : แล้วภาคธุรกิจทั่วไปล่ะ ควรต้องปรับตัวรับมือกับ AEC อย่างไรบ้าง

ดร. อนุสรณ์ : ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับ AEC เพราะอย่างไรมันต้องเกิดขึ้นแน่ และต้องเดินหน้าแน่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็เชื่อในดุลอำนาจ คือบางอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด นั่นหมายความว่าภาคธุรกิจที่รู้ตัวว่าถ้าเปิด AEC ขึ้นมาแล้วตัวเองฝ่อ แข่งขันไม่ได้แน่ ก็อาจต้องต่อสู้เรียกร้องกดดันให้มีการชะลอ แต่สำหรับคนที่ได้ประโยชน์ก็คงเดินหน้าเต็มที่อย่างไม่มีเงื่อนไข ในแง่ของรัฐคงต้องพิจารณาให้ดีว่าคนส่วนใหญ่ต้องได้ประโยชน์ ถึงแม้ว่าเปิดไปแล้วภาคธุรกิจต้องลำบาก แต่ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ก็เหมาะสมที่จะทำ ยกตัวอย่างสมัยก่อนเราขอโทรศัพท์พื้นฐานสักเครื่องหนึ่งต้องใช้เวลานานมาก ต่อมาเราเปิดให้มีการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาด ถามว่ามันดีไหมกับประชาชนส่วนใหญ่ แต่ถ้าถามเจ้าของธุรกิจย่อมไม่ดี ก็ต้องปรับตัวกันไป

GM : เศรษฐกิจนั้นผูกโยงกับการเมืองอย่างแนบแน่นเป็นโครงข่ายอำนาจขนาดใหญ่ บางคนเกรงว่าหากมีผู้เสียผลประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำที่นำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ได้ คุณมองอย่างไร

ดร. อนุสรณ์ : ความวุ่นวายในเรื่องนี้ผมมองว่าเป็นพัฒนาการ คือแม้จะ Chaos แต่รัฐก็ต้องจัดการให้ได้ และคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ต้องเข้าใจว่านี่คือพัฒนาการ สังคมระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าในหลายประเทศ ล้วนแต่ต้องผ่านเหตุการณ์แบบนี้ทั้งสิ้น แต่ว่าในแต่ละที่จะมีประสบการณ์หลากหลาย ของเราก็จะเป็นแบบของเรา มันต้องเกิดขึ้นแน่ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องปกติ

GM : ถ้ากล่าวเฉพาะเจาะจงลงมาที่ปี 2555 นี้ คุณคิดว่าทิศทางของเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะเป็นอย่างไร

ดร. อนุสรณ์ : สำหรับเศรษฐกิจไทย ผมและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประมาณการไว้ที่ 5.8-6.5% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ภาคการบริโภค และภาคการลงทุน โดยคาดว่าการลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทั้งปี พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะ

ในช่วงครึ่งปีแรก การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะทำให้ภาคการบริโภคฟื้นตัวในรูป V-shaped Recovery ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยรวมถึงการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

GM : นอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่พูดกันมากว่าสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยให้หยุดชะงักได้ก็คือปัจจัยทางการเมือง เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการเกิดขึ้นกับการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจอยู่ด้วย คุณคิดอย่างไรกับการปรับคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งเกิดขึ้น

ดร. อนุสรณ์ : การปรับ ครม. ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถสนองนโยบายได้ดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการต่างตอบแทนกันทางการเมืองสำหรับคนทำงาน เพราะ ครม. ปู 1 มีหลายท่านทำงานในช่วงหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ร่างและผลักดันนโยบายต่างๆ

แต่ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหาร ซึ่งถูกต้องแล้วที่ต้องเอาบุคคลเหล่านี้เข้ามา อย่างเช่น คุณจารุพงศ์ (เรืองสุวรรณ) เลขาธิการพรรค ดร. สุชาติ (ธาดาธำรงเวช) เป็นต้น บางตำแหน่งน่าจะเป็นเรื่องของการต่อรองตำแหน่งกันของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในพรรคเพื่อไทยพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ มีกลุ่มการเมืองหลากหลาย ฉะนั้นการบริหารพรรคไม่ให้เกิดความแตกแยกเลยต้องจัดสรรผลประโยชน์จัดสรรตำแหน่งให้ทุกคนพอใจ จึงเป็นข้อจำกัดทางการเมืองที่เราอาจไม่ได้คณะรัฐมนตรีในฝันนะครับ คนเก่งๆ ดีๆ ในประเทศนี้มากมายที่ไม่ได้ขึ้นมาบริหารประเทศ คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งไม่สนใจเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง ส่วนนักการเมืองที่มีคุณภาพจำนวนหนึ่งไม่มีพวกพ้อง ไม่ได้สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์เอาไว้มากพอ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเข้าดำรงตำแหน่งบริหาร บางคนมีโอกาสเพราะใกล้ชิด

กับนายใหญ่หรือนายใหญ่เห็นฝีมือ ฝีมือในการทำอะไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องเป็นเรื่องความไว้วางใจ การทำงานการเมืองนั้นเขาไม่ตั้งคนไม่ไว้ใจ บางคนเก่ง แต่ไม่ไว้ใจ ก็ไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ บางคนไม่เก่งมาก แต่นายใหญ่หรือผู้นำไว้ใจ ก็เข้าอยู่ในจุดสำคัญในการทำงาน ธรรมชาติของการเมืองก็เป็นแบบนี้ ไม่ว่าประเทศไหน เพียงแต่ว่า ประเทศที่มีระบบการเมืองที่พัฒนากว่า ระบบเขาจะคัดกรองคนมีคุณภาพเข้ามาทำงานในตำแหน่งบริหารได้ดีกว่า สังคม สื่อมวลชน และกลไกต่างๆ จะตรวจสอบให้มั่นใจว่าได้คนดีมาบริหารประเทศ ดูการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเห็นชัดว่ากว่าจะได้เป็นผู้แทนพรรคลงแข่งชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวต้องผ่านการแข่งขันและถูกสาธารณชนตรวจสอบขนาดไหนกรณีพรรคเพื่อไทย เนื่องจากกลุ่มทางการเมืองมาก พรรคนี้ก็เลยต้องบริหารจัดการตรงนี้มากเป็นพิเศษ หากเราต้องการผู้บริหารประเทศหรือคณะรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติดีขึ้น เราต้องใช้วิธีเลือก ครม. โดยตรงจะดีกว่า ในระบบการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ตำแหน่งทางการเมืองมักจะเข้าทำนองสมบัติผลัดกันชม บางทีก็อาจไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมนัก หากมาดำรงตำแหน่งเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ไม่มีผลงาน หรือมาใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางที่มิชอบ สังคมก็ต้องคอยตรวจสอบดู แต่เราก็ต้องให้โอกาสทุกคนทำงานดูก่อนนะครับ

GM : คุณมองว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังคนใหม่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง จะทำงานเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เช่นเรื่องการออกพระราชกำหนดโอนหนี้

ดร. อนุสรณ์ : น่าจะบริหารเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องการโอนหนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งตั้งท่านกิตติรัตน์เนื่องจากรัฐบาลต้องการจัดการบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูใหม่โดยให้แบงก์ชาติรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยด้วย นอกเหนือจากเงินต้นที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก 1.14 ล้านล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูให้เกิดความชัดเจนและเด็ดขาดเป็นเรื่องที่ดีและเป็นภาระที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบมากกว่าที่จะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ เพราะหนี้ส่วนนี้มันได้กลายเป็นหนี้ของประเทศหรือหนี้สาธารณะไปแล้วจากการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สถาบันการเงินเมื่อปี 2540 หนี้ในส่วนของเงินต้นลดลงน้อยมากในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนที่แบงก์ชาติต้องรับผิดชอบ ขณะที่ภาระดอกเบี้ยต้องนำเงินภาษีประชาชนและงบประมาณจ่ายไปแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท พ.ร.ก. การบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูจะช่วยลดภาระทางการคลัง ทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินที่เคยจ่ายเป็นภาระดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูมาฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมและลงทุนโครงการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ได้ ขณะเดียวกัน ทำให้การจัดการงบประมาณมีความคล่องตัวที่จะกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ เงินที่เอามาชำระดอกเบี้ยแทนที่จะเก็บจากธนาคารพาณิชย์ ข้อเสียจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถสร้างสภาวะที่ป้องกันให้ธนาคารพาณิชย์ผลักภาระต้นทุนไปยังผู้ใช้บริการได้ อาจทำให้สถาบันการเงินของไทยบางส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ดีนักแข่งขันกับสถาบันการเงินต่างชาติลำบากภายใต้การเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้นจริงๆ แล้วขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด อยู่ที่ระดับ 40.3% ของจีดีพีเท่านั้น นี่จากข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2554 นะครับ หากดูจากนิยามของหนี้สาธารณะตามมาตรฐานสากล หนี้สาธารณะประกอบไปด้วยหนี้ของรัฐบาล และหนี้ขององค์กรสาธารณะ และหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูไปให้แบงก์ชาติดูแลจึงไม่ได้ลดหนี้สาธารณะโดยรวมลงแต่อย่างใด

GM : มีคนตั้งข้อสงสัยกันมากว่า การให้กองทุนรวมวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นใน ปตท. แทนรัฐบาล ซึ่งมีผลทำให้ ปตท. หลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นไปด้วยเหตุผลอะไร เพราะถ้าหนี้สาธารณะไม่ได้มากจนเป็นปัญหา การอธิบายว่าต้องทำอย่างนี้เพื่อลดหนี้สาธารณะก็ไม่น่าจะใช่เหตุผล ในเวลาเดียวกัน กลับจะสร้างปัญหาเรื่องการผูกขาดตลาดด้วยซ้ำ และมีท่าทีว่าการบินไทยก็อาจเดินไปในแนวนี้ด้วย

ดร. อนุสรณ์ : เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามและตีโจทย์ให้แตกว่า ต้องการอะไร ต้องการลดความเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงาน หรือต้องการลดตัวเลขหนี้สาธารณะโดยรวม หากเป็นอย่างหลัง ไม่ได้เกิดผลใดๆ ในทางปฏิบัติเท่าไหร่นัก หากนำเอากองทุนวายุภักษ์มาถือหุ้นแทนกระทรวงการคลังใน ปตท. และการบินไทยปตท. และการบินไทย หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะมีรัฐถือหุ้นต่ำกว่า 50% แต่กองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนที่กระทรวงการคลังถือหุ้น

อยู่ หาก ปตท. และการบินไทย หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็คิดกันไปว่าการกู้ยืมเงินของ ปตท. และการบินไทยหลายแสนล้านบาทย่อมไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะในแง่ตัวเลขตามกฎหมาย โดยเฉพาะตามมาตรา 4 พ.ร.บ. หนี้สาธารณะปี 2548 แต่ในความเป็นจริงหนี้ไม่ได้หายไปไหน เราไม่ควรไปกังวลยอดหนี้สาธารณะมากเกินไป เพราะหนี้ที่ระดับ 40% ของจีดีพี ถือว่าบริหารจัดการได้ ไม่จำเป็นต้องไปปรับแต่งตัวเลข ว่ากันไปตามข้อเท็จจริงจะดีกว่า และรัฐบาลยังมีช่องว่างในการกู้เงินได้อีกไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทเพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ ยอดหนี้ก็ยังอยู่ในเพดาน 60% ซึ่งยังปลอดภัยอยู่หากเศรษฐกิจขยายตัวดีตามเป้า ไม่มีปัญหาอีกคำถามหนึ่ง คือมีกลไกหรือวิธีการอย่างไรที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกองทุนวายุภักษ์จะหมดอายุในปี พ.ศ. 2556 หากเปลี่ยนเป็นกองทุนเปิดแล้ว หุ้นที่กองทุนถืออยู่ใน ปตท. และการบินไทย จะทำอย่างไรกันต่อ กองทุนเปิดนี้ก็ต้องซื้อขายกันในตลาด ในราคาตลาด เป็นเรื่องที่ต้องเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนทั่วไป กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม ต้องป้องกันไม่ให้เป็นการผ่องถ่ายไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และต้องเป็นการลงทุนตามปกติในตลาดทุนอีกประเด็นที่ตั้งโจทย์เอาไว้คือจะเอาอย่างไรกับนโยบายบริษัทพลังงานแห่งชาติหรือสายการบินแห่งชาติ หากหน่วยงานสองแห่งนี้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว จะทำหน้าที่ตามนโยบายดังกล่าวยากขึ้น ก็ต้องปรับนโยบายเป็นการเปิดเสรีธุรกิจเหล่านี้อย่างเต็มที่ไปเลย ไม่ต้องมีบริษัทแห่งชาติ จะเดินแนวไหนก็ต้องคิดให้ดีๆ ให้รอบคอบ ยึดถือผลประโยชน์ของส่วนรวม ก็จะเดินหน้าไปได้ครับ

GM : นอกจากเรื่องเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยหวาดเกรงกันมากว่ารัฐบาลจะรับมือได้ไม่ดีจนสร้างความขัดแย้งในสังคมจนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก็คือความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสูงสุดของไทย โดยเฉพาะการเห็นต่างในกรณีการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยส่วนตัวแล้วคุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ และคิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบได้กว้างมากแค่ไหน

ดร. อนุสรณ์ : เราต้องพูดถึงกลุ่มทางการเมือง ไม่ใช่แค่รัฐบาลหรือพรรคการเมือง นั่นคือขั้วอำนาจต่างๆ ในสังคมไทยได้ใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบจากมาตรา 112 ในทางการเมืองมามาก เพราะนำสถาบันกษัตริย์มาอ้างเพื่อทำลายศัตรูฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กรณีนี้จึงเป็นโทษกับสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ยังทำให้สังคมไทยโดยรวมไร้เสถียรภาพด้วย ในเรื่องดังกล่าว โดยส่วนตัวผมคิดว่าควรจะแก้ในประเด็นที่ไม่ใช่ให้ใครก็ฟ้องได้ ควรจะให้สถาบันกษัตริย์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นผู้ฟ้องร้องเพื่อลดสิ่งที่เรียกว่าการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง อย่างกรณีศึกษาที่เป็นบรรทัดฐานกรณี ‘อากง’ เป็นสิ่งที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วง เพราะสะท้อนให้เห็นว่าถ้าข้อความเอสเอ็มเอสถูกส่งไปโดยเครื่องของเราโดยที่มีคนแอบเอาเครื่องมือถือของเราไปส่งแล้วมีข้อความหมิ่นสถาบัน เราก็ต้องติดคุก อย่างกรณีอากงนี่ติดคุกตั้ง 20 ปี คือมันเป็นเรื่องที่รุนแรง ฉะนั้นในเรื่องของโทษ ก็ควรจะลดลงมาให้มันอยู่ในระดับที่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันกษัตริย์ ไม่ควรจะรุนแรงแบบนั้น

GM : หลายฝ่ายแย้งว่า สถาบันฯ จะทำหน้าที่ฟ้องร้องด้วยตัวเองได้อย่างไร บางคนมีข้อเสนอว่าให้ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อพิจารณา คุณคิดน่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาตรงนี้ได้หรือไม่

ดร. อนุสรณ์ : ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นคณะกรรมการกลางหรอก แต่ให้มีการตั้งหน่วยราชการกลางขึ้นมาสักหน่วยเพื่อทำหน้าที่นี้ก็พอ แต่ตั้งขึ้นมาแล้วต้องไปนั่งคิดอีกว่าถ้าหน่วยราชการนี้ไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของขั้วอำนาจใดขั้วอำนาจหนึ่ง ก็จะกลายเป็นเครื่องมืออีก ฉะนั้นในโลกศตวรรษที่ 21 ถึงที่สุดแล้วเราควรจะให้มีเสรีภาพในการคิด การพูด ถ้าเสรีภาพดังกล่าวไม่ได้ไปสร้างปัญหาทางสังคมหรือไม่ได้มีเจตนาร้าย คือผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ปฏิรูปกฎหมายเหมือนอังกฤษ เพราะถ้าจะว่ากันตามจริง สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็มั่นคง แล้วยังเป็นประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเขาก็อยู่ได้ แล้วยังอยู่มาอย่างมั่นคงยาวนาน ประเทศชาติก็เจริญก้าวหน้า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเอาแบบของญี่ปุ่น คือไม่ต้องให้มีการพูดถึงเลย แล้วสถาบันอยู่เหนือทุกอย่าง คือเวลาที่จักรพรรดิญี่ปุ่นจะให้ความเห็นอะไรต้องมีคนรับรอง คือต้องให้แยกออกไป เพราะความเห็นตรงนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาจากการตีความว่าเข้าข้างฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่าก็คล้ายกับความขัดแย้งในประเทศไทยเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง ต่างคนต่างก็ตีความกันเองไปหมดคนที่ต่อสู้เรียกร้องผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่เอาเจ้า ในทางกลับกันแล้วเขาอาจจะเป็นคนที่เอาเจ้าอย่างยิ่งเลยก็ได้ สิ่งที่เรียกร้องเพียงแค่ต้องการทำให้สถาบันกษัตริย์มั่นคง ให้สามารถอยู่ไปได้อย่างยาวนาน สามารถสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นแนวปฏิรูป อย่างอาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) ท่านเองก็เป็นรอยัลลิสต์ที่รักเจ้าโดยไม่มีประโยชน์แอบแฝง ท่านเป็นคนรักเจ้าที่กล้าวิจารณ์เจ้า ผมเชื่ออย่างที่อาจารย์สุลักษณ์พูดว่า การวิจารณ์อย่างมีวิจารณญาณจะทำให้สถาบันมั่นคงขึ้น ผมถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขในด้านของการพิจารณาคดี ส่วนกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้มีการแก้ไขก็เช่นกัน อาจจะไม่ใช่คนที่เอาเจ้าก็ได้ ดูเหมือนเจตนาดี แต่ประสงค์ร้ายก็มี ส่วนกลุ่มคนที่ผมใช้คำว่าพวกคลั่งเจ้า ที่เราเรียกว่าอุลตรารอยัลลิสต์ (Ultra Royalist) ความตั้งใจโดยสุจริตใจของเขาบางครั้งอาจจะไปเข้าทาง และอาจจะเป็นแนวร่วมมุมกลับในทางหนึ่งกับกลุ่มคนที่อยากล้มเจ้าก็ได้ในบางครั้ง อธิบายให้ชัดก็คือหวังดี รักมากเกินไป จนกระทั่งกลายเป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นบวกกับสถาบันกษัตริย์ จนเป็นประโยชน์กับพวกล้มเจ้าสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำให้เรารู้เท่าทันคือการให้ข้อมูล แล้วจะทำอะไรก็ควรทำโดยใช้สติปัญญาเป็นพื้นฐาน คืออย่าไปทำตามเพราะแค่ถูกชักจูงจากโฆษณาชวนเชื่อในด้านใดด้านหนึ่ง ควรใช้ข้อมูล ใช้ความรู้ มาเป็นฐานเพื่อการตัดสิน

GM : คุณคิดว่าสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ที่มีเสถียรภาพมั่นคงควรเป็นอย่างไร

อนุสรณ์ : สถาบันกษัตริย์แสดงถึงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนมายังชาติไทย หรือประเทศสยามในอดีต ฉะนั้นจึงเป็นสถาบันสำคัญที่จะสามารถให้ความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับสังคมได้ แต่ก็ต้องมีการปรับให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัย อย่างถ้าเป็นประเทศในยุโรป ก็ต้องตรวจสอบได้ อย่างเช่นการใช้จ่ายของสถาบันฯ ในอังกฤษ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้

แต่ว่าก็มีดีกรีที่ต่างกัน หากตรวจสอบได้จะยิ่งเพิ่มความศรัทธาจากประชาชนมากขึ้นอีก

GM : คุณเคยกลัวบ้างไหมว่าจะมีใครกล่าวหาว่าคุณไม่เอาเจ้า

ดร. อนุสรณ์ : ผมไม่เคยกลัวประเด็นนี้เลยนะ เพราะสิ่งที่ผมคิด ผมพูด เกิดจากเจตนารมณ์ในการทำประโยชน์ให้ประเทศและคนส่วนใหญ่ แล้วก็เพื่อความสงบของสังคมนี้ ดังนั้นผมไม่กลัว ผมเข้าใจนะว่าคนสามารถเข้าใจผิดได้ กาลิเลโอก็ถูกเข้าใจผิดจากศาสนจักรในอดีต ทั้งที่สิ่งที่เขาคิดและเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ว่าในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ว่าความถูกต้องก็เป็นความถูกต้องวันยังค่ำ

GM : ลักษณะหนึ่งของสังคมไทยคือนิยมเสพดราม่าจากความขัดแย้ง แล้วทำให้ความขัดแย้งนั้นปะทุรุนแรงยิ่งขึ้น คุณคิดว่าเราจะหลุดพ้นเรื่องเหล่านี้ไปได้อย่างไร

ดร. อนุสรณ์ : ผมยืนยันอย่างเดิมว่า สิ่งที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้คือการใช้สติปัญญา ด้วยการให้ความสำคัญกับความรู้และข้อเท็จจริง ว่าอะไรคือความจริง อะไรเท็จ แต่เรากลับใช้ความดราม่าตรงนี้มาเป็นเงื่อนไขเชื้อไฟในการต่อสู้ ทำให้สังคมไทยมีความขัดแย้งสูงมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่รุนแรงขนาดนี้

GM : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์

ดร. อนุสรณ์ : ผมมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง อย่างการเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 ผมมองว่าถูกต้อง เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์มีความมั่นคงในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็จะทำให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่เป็นธรรมมากขึ้น คือคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะได้รับความเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่ง คนที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยก็ควรจะคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ควรใช้คำพูดที่รุนแรงขนาดไล่ไปอยู่ประเทศอื่น คิดแบบนี้ไม่ได้ อันนี้เป็นวิธีคิดในสังคมเผด็จการ สังคมไทยควรเป็นสังคมที่ยอมรับได้กับความคิดเห็น ความเชื่อที่แตกต่าง และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เราถึงจะเป็นสังคมที่ดีได้

GM : คุณคิดว่าเมืองไทยอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงแบบ Arab Spring หรือการปฏิวัติดอกมะลิของชาวตะวันออกกลางได้ไหม

ดร. อนุสรณ์ : ไม่ครับ เพราะเงื่อนไขในไทยกับประเทศในตะวันออกกลางต่างกัน คือโลกอาหรับหลายประเทศปกครองด้วยอำนาจนิยมยาวนานมาก จนมีแรงกดดันภายในสูง แล้วก็เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีสูง

GM : การปฏิวัติในตะวันออกกลางมีพลังขึ้นมาจากการใช้สื่อสังคมและสื่อใหม่ คุณคิดว่าสื่อเหล่านี้มีพลังมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม

ดร. อนุสรณ์ : ก็อาจจะมีผลบ้าง แต่อย่างที่ว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเราเป็นสังคมที่เปิดมากกว่า ฉะนั้นจึงสามารถบริโภคสื่อได้หลากหลายและเปิดกว้างกว่า ดังนั้นน้ำหนักการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียอาจจะไม่มากเท่าอาหรับที่เริ่มแล้วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายทันที เพราะทุกสื่อถูกปิดหมด ทุกสิ่งทุกอย่างเลยไหลไปสู่โซเชียลมีเดียกันหมด

GM : การเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธีนั้น คุณคิดว่าเราต้องเคลื่อนไหวอย่างไรเพื่อไม่ให้ไร้เดียงสาจนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ต้องการสร้างความขัดแย้ง

ดร. อนุสรณ์ : การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีต้องมีการจัดตั้ง-ย้ำนะครับ, ต้องมีการจัดตั้งอย่างมีกลยุทธ์ และมีอุดมการณ์การเคลื่อนไหวอย่างเสรีชน เพราะถ้าไม่มีกลยุทธ์ หรือไม่มีการจัดตั้ง ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีเครือข่าย แม้ว่าอุดมการณ์จะแรงกล้ามากแค่ไหนก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกจากนี้ คนที่เป็นแกนนำเองก็ต้องมีความคิดเท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนอื่น หรือเป็นฝ่ายที่ถูกใช้ประโยชน์ในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม คือเราจะทำอะไรต้องคิดให้ดีก่อน แล้วในกระบวนการสันติวิธี สิ่งที่เน้นก็คือ Dialogue หรือการสนทนา อย่างกลุ่มเคลื่อนไหว พอเคลื่อนไหวเสร็จก็ต้องไปคุยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าทำไมเขาถึงคัดค้าน คุยกันด้วยเหตุด้วยผล นั่งคุยกันฉันมิตร

GM : นอกจากการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 คุณคิดว่ายังมีเรื่องอื่นอีกหรือไม่ ที่อาจสร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทยในปีนี้จนทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน

ดร. อนุสรณ์ : การนิรโทษกรรมคุณทักษิณ (ชินวัตร) การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ขั้วอำนาจจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อจุดไฟแห่งความขัดแย้งได้ในปีนี้ ผมเชื่อว่าเงื่อนไขการเมืองน่าจะเป็นประเด็นหลักอีกครั้งที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เพราะแม้จะมีผลกระทบน้ำท่วมขนาดไหนก็ตาม แต่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่

GM : คุณคิดว่าการบริหารงานของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะนำพาเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยไปได้ไกลแค่ไหน

ดร. อนุสรณ์ : รัฐบาลนี้ ท่านนายกฯ หรือตัวผู้นำอาจจะไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเองมากนัก เราคงต้องหันกลับมาเชื่อพลังของประชาชน คืออย่าไปฝากความหวังกับรัฐบาลไว้มากเกินไป แล้วรัฐเองคงต้องมีหน้าที่ทำให้พลังของประชาชนเข้มแข็ง เพราะท้ายที่สุดแล้วประเทศเป็นของประชาชน ฉะนั้นถ้าประชาชนเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง รัฐบาล นักการเมืองมาแล้วก็ไป ดังนั้นประเทศอยู่ได้หรือไม่นั้น ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ผมไม่ได้บอกนะว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน ก็มีบ้าง เพราะรัฐมีทั้งอำนาจและงบประมาณ และมีหน้าที่บริหารประเทศ หากเราได้รัฐบาลที่ดี เสียสละ มีวิสัยทัศน์ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ประเทศก็จะโชคดี แล้วถามกลับไปว่ารัฐบาลมาจากไหน ก็มาจากประชาชน ถ้าประชาชนของเราเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เราก็จะได้รัฐบาลที่ดีมีคุณภาพ

GM : คุณมีความเห็นอย่างไรกับโครงการนิวไทยแลนด์ที่รัฐบาลจะดำเนินการในปีนี้

ดร. อนุสรณ์ : เนื้อหาสาระหลายอย่างโครงการที่ดี แต่ว่าต้องระวังอย่าให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน คือต้องบริหารให้มีความโปร่งใส แต่โดยทิศทางผมเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอะไรหลายอย่าง เพราะถ้าหากบริหารจัดการไม่ดี หรือมีการใช้เงินอย่างไม่โปร่งใส เงินที่ว่าดีอาจเป็นหนี้สาธารณะก้อนใหญ่มหาศาลที่ถูกทุ่มลงในสังคมก็ได้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ