ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย พยากรณ์เศรษฐกิจ
นอกจากจะเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้ว ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย ยังมีตำแหน่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกตำแหน่งหนึ่ง นั่นก็คือการเป็นผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน
ถ้าคุณชอบฟังคำพูดของหมอดู ไม่ว่าจะไปดูด้วยตัวเอง หรือนั่งฟังผ่านสื่อ ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เชื่อว่าคุณต้องอยากรู้จักกับ ดร. ธนวรรธน์ ไม่น้อย ก็โธ่! ชื่อศูนย์ที่เขานั่งเป็นผู้อำนวยการอยู่นั้นน่ะ มันแสดงตัวชัดเจนไม่ใช่หรือว่าทำหน้าที่คล้ายกับ ‘หมอดู’ อยู่โทนโท่ ที่สำคัญ ดร. ธนวรรธน์ ก็ยอมรับเองด้วยว่า การพยากรณ์เศรษฐกิจก็มีอะไรๆ คล้ายกับการดูหมออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน !
เมื่อมองไปรอบตัว คุณจะเห็นความไม่แน่นอนของอะไรๆ เต็มไปหมด ตั้งแต่เรื่องใกล้ๆ ตัว อย่างเช่น น้ำมันจะขึ้นราคาพรุ่งนี้หรือเปล่า หมูจะแพงไปถึงไหนกัน ข้าวสารล่ะ-ราคาจะเป็นอย่างไร โบนัสกลางปีจะออกไหม ไล่ไปจนถึงเรื่องระดับรัฐบาล ใครจะมาดูแลเศรษฐกิจ แล้วเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หุ้นจะถึงพันจุดไหม รวมไปถึงเรื่องระดับโลก อย่างซับไพรม์ ค่าเงินดอลลาร์-บาท หรือการผงาดของจีนและอินเดีย ไม่มีอะไรแน่นอนสักอย่าง แต่ทุกอย่างล้วนเอื้อมมือของมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างใกล้ชิด
ด้วยเหตุนี้ GM จึงเชื่อว่าเรากำลังต้องการ ‘หมอดู’ อย่างเร่งด่วน แต่จะเป็นหมอดูประเภทเลข 7 ตัว ไพ่ยิปซี หรือหมอดูพลังจิต
ก็ล้วนเคยมีการพิสูจน์มาแล้วทั้งสิ้นว่าแม่นบ้างไม่แม่นบ้าง อย่ากระนั้นเลย เรามา ‘ดูหมอ’ กันด้วยตัวเลขสถิติและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจกันดีกว่า และชื่อของหมอดูที่ว่า ก็ไม่น่าจะมีใครน่าสนใจเกินหน้าผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจอย่าง ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย ได้อีกแล้ว
เราจะมาขอให้เขา ‘ฟันธง’ กัน !
GM : อะไรคือการพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เราพยากรณ์มันได้จริงๆ หรือ แม่นยำแค่ไหน วิธีการเป็นอย่างไร
ดร. ธนวรรธน์ : การพยากรณ์เศรษฐกิจก็เหมือนการดูหมอ คนเราดูหมอก็เพราะอยากรู้ว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีอุบัติเหตุไหม แล้วก็หน้าที่การงานเป็นยังไง ความรักเป็นยังไง การเรียนเป็นยังไง เศรษฐกิจเป็นยังไง การพยากรณ์อย่างนี้ก็เหมือนกับการ
ดูหมอให้กับเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าการพยากรณ์นี้ใช้ความรู้ทางสถิติ ถามว่าแล้วทำไมคนถึงอยากรู้อนาคต คำตอบคือ จะได้วางแผนได้ถูก เช่น หากจะเกิดอุบัติเหตุจะได้ระวัง หรือพยากรณ์ว่าเด็กคนนี้หน่วยก้านดีจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็เป็นการตรวจสอบตัวเองว่า
จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีไหม เหมือนกับเศรษฐกิจ เช่น บอกว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะแย่
มันแย่ทุกสินค้า เราก็ต้องปรับตัวว่าเราจะสต็อกของไว้ดีไหม จะลดราคาสินค้า ทำโฆษณาดีไหม หรือเขาบอกว่าแย่ แต่ที่ดีคือคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น เพราะฉะนั้น
ผมคิดว่าการพยากรณ์เศรษฐกิจคือการคาดการณ์ธุรกิจและเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจหรือคนทั่วไปปรับตัวได้
GM : มีวิธีการอย่างไรบ้าง
ดร. ธนวรรธน์ : อย่างแรกคือการใช้ตัวเลข คือตัวเลขที่เป็นตัวเลขในเชิงสถิติจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ เอาตัวเลขมาทำเป็น Model หรือว่าใช้หลักสมการทางสถิติ หลักง่ายๆ
เช่น คนญี่ปุ่นอายุเฉลี่ย 80 เพราะฉะนั้น เราก็เดาได้เลยว่าพอคนอายุ 80 ต้องระวังการเสียชีวิต มีสถิติบอกว่าพื้นที่ตรงนี้รถชนบ่อย เวลาที่เราเดินเข้าไปตรงทางโค้งตรงนี้จะเห็นรถชนบ่อย นี่ละครับคือการใช้หลักสถิติ เราจะได้สถิติในการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจว่า
ถ้าเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาเป็นแบบนี้ อนาคตดอกเบี้ยจะลด อนาคตจะค้าขายฝืดเคือง เพราะฉะนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจแบบนี้ที่ใช้แบบจำลองทางสถิติ เราคาดการณ์ได้ว่า
ดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไร ราคาสินค้าจะเป็นเท่าไร จะได้ปรับตัวได้ถูก นี่เป็นสมมุติฐานแรก สอง, เราก็ใช้ความรู้สึกของคน ความรู้สึกของผู้เชี่ยวชาญ เราจะเคยเห็นบางคนที่เป็น
คนมีความสามารถพิเศษในการคาดการณ์ด้วยประสบการณ์ เช่นมีความรู้สึกว่าสถานการณ์
ตอนนี้มันมีความผิดปกติเกิดขึ้น เพราะเขาอาจจะทำธุรกิจของเขาแล้วรู้สึกว่ายอดสินค้า
มันคืนกลับมาเยอะ เขาก็จะเริ่มรู้สึกแล้วว่ายอดขายในอีก 6 เดือนข้างหน้ามันจะลดลง
9 เดือนข้างหน้าจะแย่ สัญญาณแบบนี้เราจะใช้ในการสอบถาม Focus Group ด้วยการออกแบบสอบถามแล้วเอาผู้เชี่ยวชาญมานั่งคาดการณ์ว่าทิศทางเป็นอย่างไร โดยใช้ความรู้สึกหรือประสบการณ์ของเขา แล้วก็ใช้จุดนี้ในการคาดการณ์สถานการณ์อนาคต เพราะฉะนั้น อันที่หนึ่งคือใช้ตัวเลข ใช้ข้อมูลทางสถิติ อันที่สองคือใช้ความรู้สึก
GM : ด้วยความที่เศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องหลายด้านมาก ก็ต้องใช้สถิติหลายด้าน ตามไปด้วย
ดร. ธนวรรธน์ : มันก็เป็นตามหลักการวิชาการทั่วๆ ไปว่าเศรษฐกิจที่เราสนใจมีเศรษฐกิจอะไรบ้าง ก็จะมีกรอบมองว่า อย่างแรก เราจะดูการค้าขาย เราจะได้ยินคำว่า Real Sector บ่อยมาก เวลาหนังสือพิมพ์ พาดหัว Real Sector มีปัญหาก็คือธุรกิจค้าขายมีปัญหา เพราะฉะนั้น เราต้องจับประเด็นดูให้ครบ ตั้งแต่ราคา ปริมาณการขาย แยกตามสาขาต่างๆ เกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ไฟฟ้า อันที่สอง ดูการจ้างงานว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร ดูบรรยากาศว่า Real Sector พวกนี้เป็นอย่างไร ดูราคาขายสินค้า
ดูการจ้างงานว่าสภาพแวดล้อมโดยทั่วๆ ไปเป็นอย่างไร นั่นอันหนึ่ง
อันที่สองเราจะดูตลาดการเงิน ดูว่าดอกเบี้ยแบงก์เป็นยังไง ปล่อยสินเชื่อเยอะไหม ปล่อยสินเชื่อให้ภาคเกษตรเยอะไหม ให้ภาคอุตสาหกรรมเยอะไหม
อันที่สามดูเรื่องการจ้างงาน เจาะลึก ว่าค่าจ้างเป็นยังไง เงินเดือนเป็นยังไง
ในแต่ละสาขา หลักของการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจะดู 3 เรื่องนี้ คือการขายสินค้า เรื่องแบงก์ แล้วก็เรื่องการจ้างงาน พอดูครบแบบนี้แล้วก็จะมีกรอบในการมองเศรษฐกิจได้ครบ แต่เศรษฐกิจมันเกี่ยวกับด้านการต่างประเทศด้วย เราก็จะมองต่อไปที่การส่งออก การค้า อัตราดอกเบี้ยโลก แล้วเราก็จะเซตกรอบ Model ตัวที่เราสนใจ โดยต้องดูมาตรการ และนโยบายของรัฐประกอบด้วย นโยบาย พวกนี้จะไปบรรจุอยู่ในสมการ ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร
GM : หมอดูมีดูแม่นไม่แม่น การพยากรณ์เศรษฐกิจมีแม่นไม่แม่นบ้างไหม
ดร. ธนวรรธน์ : ผมว่า 2 ปีที่ผ่านมาหมอดูทั่วโลกก็หน้าแตกกันยับเหมือนกัน คือต้องพูดว่าเราดูได้ในระดับที่น่าพอใจ เรื่องของเศรษฐกิจอาจจะต่างกับหมอดูเล็กน้อย หมอดูบอกว่าคุณจะมีอุบัติเหตุนะ ต่อให้ระมัดระวัง แต่ดวงมันจะเกิดอุบัติเหตุก็ต้องเกิด แต่ประเด็นของหมอดูทางเศรษฐกิจ ถ้าบอกว่าคุณจะเกิดอุบัติเหตุนะ สามัญสำนึกของมนุษย์ต้องบอกว่าจะต้องระมัดระวังในการขับรถ ไม่ขับรถในบางช่วง บางทีผลของการกระทำจึงเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพราะฉะนั้น การพยากรณ์เศรษฐกิจ ถ้าเราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะแย่ รัฐบาลเกิดมีความรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเสียฟอร์มแย่เลยถ้าเศรษฐกิจแย่ไปตามการคาดการณ์ รัฐบาลก็ต้องฟื้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น พฤติกรรมของรัฐ พฤติกรรมของคนบางคนที่พยายามเข้าไปแก้ เข้าไปพยุงสถานการณ์ทำให้เศรษฐกิจมันเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยการคาดการณ์เศรษฐกิจออกไป ไปจุดประกายให้อีกฝ่ายเขามาเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนเงินอัดฉีดเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไปในทิศทางอื่นได้ โอกาสพลาดก็จะมีเยอะ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดี อย่างเช่น ปี 2550 ทุกคนพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 4.7% แต่พอเจอระเบิดบอมบ์ไปทีตอนเดือนธันวาคมปี 2549 คนก็เห็นยอดขายสินค้าลดลง คนเริ่มกลัวเรื่องระเบิด เราก็ต้องปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เศรษฐกิจมาเรื่อย พอมีเหตุการณ์ที่หม่อมอุ๋ยลาออก การเมืองเริ่มมีปัญหา เสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์มีความสั่นคลอนในระดับหนึ่ง คนก็ปรับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจลงมาเรื่อยๆ แต่ท้ายที่สุดพอรัฐบาลรู้ ก็อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ บังเอิญส่งออกดี เศรษฐกิจก็กลับมาโต 4.7% ทั้งที่คนคาดการณ์กันว่าจะโต 4% ในช่วงกลางๆ ปีที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่นิ่งและค่าเงินบาทแข็ง เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจผิดง่ายไหม ผิดง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของโลกาภิวัตน์ ที่การเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเร็วมาก คนที่จะมาแก้ไขประเทศจะแก้ไขข้อมูลได้เร็วไหม
อย่างเมื่อต้นปี เอาง่ายๆ มีใครที่เขียนไว้หรือเปล่าว่าสหรัฐฯจะลดดอกเบี้ย 1.25% ไม่มีใครคิด มีใครคิดบ้างว่าตลาดหุ้นไทยจะตกต่ำมากกว่า 800 จุด จะมีใครคิดว่าหลังจากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วตลาดหุ้นจะตกทั่วโลก ผมว่าไม่มีใครคาดคิด ถามว่าเศรษฐกิจตอนนี้พยากรณ์พลาดง่ายไหม ง่ายมาก เพราะว่าสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว พอเปลี่ยนแปลงแล้วมันครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ ของโลกเยอะมาก เพราะว่าระบบโลกาภิวัตน์เงินไหลเข้ามาเยอะมาก ก็เลยทำให้เงินเข้า-ออกมีผลต่อเศรษฐกิจ แล้วมีผลทำให้บางปัญหากระทบแรงกว่าที่คาด ผมว่าการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การคาดการณ์ต้องออกมาบ่อยแล้วก็ถี่ การติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทุกเดือน
เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนเราจะเห็นหน่วยงานการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจฟันธงทันทีว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะโต 4.9% หรือ 5.1% จะบอกตัวเลขเป๊ะๆ แต่ตอนนี้ปี 2551 คนคาดการณ์เท่าไร 4.5 ถึง 5.5% คือคาดการณ์เป็นช่วง เนื่องจากความผิดพลาดของการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจมันง่าย แล้วสถานการณ์มันผันผวนง่าย การคาดการณ์ที่แม่นยำในช่วงนี้จึงยาก
GM : ตัวเลขหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมักจะพยากรณ์ออกมา จริงๆ แล้ว ตัวเลขนี้คืออะไร บอกอะไรเราได้บ้าง
ดร. ธนวรรธน์ : ผมเท้าความก่อนว่าตัวเลขนี้คืออะไร เวลาคาดการณ์เศรษฐกิจ เวลาดูเศรษฐกิจมันจะมีตัวเลขเกี่ยวกับสองฝั่งคือ ตัวเลขที่เกี่ยวกับฝั่งของผู้ผลิต กับฝั่งของผู้ใช้ ทางฝั่งผู้ผลิต ทางการจะเก็บตัวเลขปริมาณการผลิต การใช้ไฟ หรือว่าการตั้งราคาที่ผู้ผลิตรายงานทางสรรพากรเกี่ยวกับภาษี แล้วทางฝั่งของผู้บริโภคเก็บยังไง ก็เก็บจากยอดขายบ้าน ขายรถ ขายของตามห้างสรรพสินค้า ต่างๆ ยอดขาย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บมันเป็นตัวแทนของการบริโภค การจัดเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์เศรษฐกิจจะต้องเอาข้อมูลจากทางการ เพราะฉะนั้น กว่าที่ทางการจะรวบรวมข้อมูลได้ใช้เวลานาน
สมมุติตอนนี้เราอยู่ที่เดือนกุมภา- พันธ์ ข้อมูลที่ทางการมีเป็นข้อมูลเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้น เป็นการมองย้อนหลัง มันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โดยรวม ก็เลยมีคนเริ่มคิดขึ้นมาว่า ข้อมูลที่จัดเก็บมันช้า สู้ถามคนดีกว่า สู้ผมโทรฯไปถามรัฐวิสาหกิจว่ากำไรดีไหม โทรฯไปถามผู้บริโภคว่าคุณซื้อของเยอะขึ้นไหม มันก็จะได้ข้อมูลที่เร็ว พอได้ข้อมูลที่เร็วปั๊บ สมมุติว่าเราอยู่ที่เดือนกุมภาฯ เราโทรฯถามวันนี้เราได้ข้อมูลเดือนกุมภาฯเลย เพราะแนวโน้มของการได้ข้อมูลที่เร็วทำให้มีแนวคิดที่จะถามคนซื้อของ ถามผู้ประกอบการ ว่าเขาผลิตอย่างไร มันเลยเกิดดัชนีตัวหนึ่ง เรียกว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ฝั่งผู้ซื้อ แล้วความเชื่อมั่นของนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการอยู่ฝั่งผู้ขาย เรื่องนี้สหรัฐฯคิดขึ้นมาประมาณปี 1950 ก็ประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว ของไทยไม่เคยมีดัชนีตัวนี้มาเลย เราทำเป็นเจ้าแรก
ดัชนีตัวนี้เป็นตัวที่ใช้ชี้วัดว่าความเชื่อมั่นจะเป็นไปยังไงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ มีความรู้สึกยังไงต่อเงินในกระเป๋าตัวเอง ต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถ้าเขามีความรู้สึกที่ดี มีความเชื่อมั่นที่ดี เขาก็จะจับจ่ายใช้สอยเยอะ แต่ถ้าไม่มีความเชื่อมั่น เขาจะจับจ่ายใช้สอยและซื้อของน้อย เพราะฉะนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเองเป็นดัชนีที่ใช้วัดความมั่นอกมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจ ถ้าเขามั่นใจเกินกว่าปกติหรือมั่นใจในระดับปกติเขาจะซื้อของเยอะ ถ้าเขาซื้อของเยอะหรือซื้อของเป็นไปตามปกติ เศรษฐกิจก็จะมีความคึกคักเพราะการบริโภคเป็นสัดส่วน 50% ของ GDP ไทย นี่เป็นดัชนีที่ใช้วัดว่าประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนและจะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของเขา
GM : ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น แต่ถือว่าดีพอแล้วหรือยัง
ดร. ธนวรรธน์ : ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ระดับปกติที่เราเฉลี่ยอยู่ใกล้ๆ 100 ตอนนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 80 เพราะฉะนั้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ถือว่าไม่ดี แต่เวลาดูดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เราดูจุดที่ว่าปัจจุบันดีหรือไม่ดี ดูตามจุดปัจจุบันว่าปัจจุบันนี้เศรษฐกิจดีไหม คนจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ ดูเป็นจุดๆ ไป ถ้าสูงกว่า 100 คนเชื่อมั่นเยอะ ถ้าต่ำกว่า 100 คนเชื่อมั่นน้อย นี่คือการดูแบบจุดที่เราใช้วัด เวลาดูต้องดูการเคลื่อนตัวของแต่ละเดือน คือฐานสัญญาณการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นของปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาโดยตลอด แล้วก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 เดือนหลัง นั่นหมายความว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ทรุดตัวลงมา 2 ปี เนื่องจากการเมืองมีปัญหา
เพราะฉะนั้น เวลามองดัชนีผู้บริโภคต้องมองสองนัยยะ หนึ่ง, คนยังขาดความเชื่อมั่น ทำให้คนจับจ่ายใช้สอยไม่เยอะ แต่สอง, ถ้าดูตามเทรนด์ตามแนวโน้ม คนมีความมั่นอกมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย คนก็จะเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
GM : ตลอดเวลาที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯจัดทำมา ดัชนีที่ว่านี้เคยสูงถึง 100 บ้างไหม
ดร. ธนวรรธน์ : ดัชนีความเชื่อมั่นเคยถึง 100 ประมาณปี 2548 เป็นปีที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารงานเป็นปีท้ายๆ แล้ว ตอนนั้นเศรษฐกิจเริ่มเติบโตประมาณ 6% คนมีความรู้สึกว่าเงินทองหาคล่อง หลังเกิดวิกฤติปี 2544 ดัชนีค่อนข้างต่ำ แล้วก็ค่อยๆ ดีขึ้นมา บางตัวร่วงลงไปตอนปี 2544 ตอนที่เศรษฐกิจไทยโตเพียงแค่ 2% หลังจากนั้นพรรคไทยรักไทยก็เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจก็เริ่มโตขึ้น 5-6% ตอนนั้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็เริ่มกลับคืน ผมจำตัวเลขไม่ค่อยแม่น แต่ว่าประมาณต้นปี 2548 แต่หลังจากนั้นเราลอยตัวน้ำมันดีเซลในเดือนกรกฎาคม ปี 2548 ดัชนีผู้บริโภคก็ค่อยๆ ปรับตัวลง ดัชนีผู้บริโภคดีถึง 100 คือช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ถือว่าถึง 100 ทุกรายการ
GM : คุณเห็นหน้าตารัฐบาลใหม่แล้ว คิดว่าจะมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง
ดร. ธนวรรธน์ : จุดแรกคือตัวเศรษฐกิจมันแย่ลง ความเชื่อมั่นลดลงเพราะคนไม่มั่นใจการเมือง ถ้าคนมีความมั่นอกมั่นใจในการเมือง ความเชื่อมั่นก็จะเริ่มดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้นส่งสัญญาณขึ้น-ลงของเศรษฐกิจถูกจังหวะมาหลายครั้ง ตอนสมัยรัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศ ประมาณปี 2544 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะสูงสุด เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น มาส่งสัญญาณอีกรอบตอนที่น้ำมันเริ่มแพง เศรษฐกิจก็เริ่มลง แล้วพอหลังจากที่ยุบสภาปั๊บก็ดิ่งลง พอมี คมช. ปั๊บ ดัชนีเริ่มดีขึ้น คนคิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังจากที่มีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์เข้ามา แต่สัญญาณตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ตัวเลขกลับลง สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่บอกว่ายอดขายขายได้เยอะ แต่กำไรน้อย ดัชนีผู้บริโภคจึงตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี เพราะฉะนั้น มันเป็นสัญญาณที่สอดคล้องกัน
กับคำถามที่ว่าถ้ารัฐบาลใหม่มา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ คนจะมีความหวัง แต่ต้องรอประมาณ 2-3 เดือน กว่าจะรู้ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ตอบแบบ สอบถามกลับมาคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ก็เลยทำให้คนมีความหวัง แต่คำถามคือตัวดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับขึ้น ดีขึ้นเยอะไหม ตอบว่าดีขึ้นไม่มาก เพราะ หนึ่ง, คนอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นแค่ไหน สอง, คนยังไม่มั่นใจว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะดีแค่ไหน จากการสำรวจในตอนนั้น คนยังไม่เห็นภาพว่าจะทำงานได้เป็นยังไง อาจจะกังวลด้วยซ้ำว่าการเมืองจะมีภาพยังไง คงต้องตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนถัดๆ ไปว่ามันจะดีหรือเปล่า รัฐบาลจะสร้างความมั่นใจได้หรือเปล่า
แต่ถ้าถามในเบื้องต้น ทุกครั้งที่เราสำรวจนอกจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค คนมีความหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว การมีรัฐบาลใหม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีความหวังว่าจะมีคนเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนก็อยู่ด้วยความหวัง แต่ถ้าถามว่าประชาชนเชื่อมั่นในฝีมือรัฐบาลไหม ผมก็จะบอกว่าตอนนี้จากการสำรวจทุกรอบ ไม่มีเลยว่าเชื่อ แต่หวังว่าจะช่วยได้ ตอนนี้คนอยู่ด้วยความหวังไม่ได้อยู่ด้วยความเชื่อ แต่ว่าถ้าอยู่ด้วยความหวังแล้วรัฐบาลทำความหวังให้เป็นจริงแล้วเป็นความเชื่อ รัฐบาลชุดนี้ก็จะสามารถกระตุกความเชื่อมั่นให้ฟื้นขึ้นมาได้ และนั่นเป็นสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
GM : คุณคิดว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร
ดร. ธนวรรธน์ : ผมว่านโยบายเขาเขียนครบ ข้อแรกเลย รัฐบาลจะพยายามดูแลราคาสินค้า พยายามทำให้ราคาสินค้าไม่แพง ถ้าไปดูแนวนโยบายของรัฐ มาตรการแรกก็คือการทำให้เงินไม่เฟ้อ ค่าครองชีพไม่สูง ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ที่จะดูแลราคาสินค้าที่สำคัญในการดำรงชีวิตไม่ให้ขึ้นราคาได้ แล้วก็จัดทำโดยกระทรวงพลังงานที่จะดูแลเรื่องก๊าซ LPG แล้วก็ขึ้นค่าไฟ FT เพียงแค่ 2 สตางค์ ซึ่งเป็นเรื่องระยะสั้นที่รัฐบาลทำและเห็นภาพได้ในเชิงปฏิบัติ ดูแลเรื่องข้าวของแพง วาทะของท่านนายกรัฐมนตรีที่โดดเด่นมากในช่วงสัปดาห์นี้ก็คือเศรษฐศาสตร์เศษสตางค์ แสดงว่าโดยพื้นฐานความคิดของท่านนายกรัฐมนตรีคิดเกี่ยวกับเรื่องข้าวของแพง ซึ่งก็ถือว่าเป็นหลักคิดที่เป็นไปได้ เป็นหลักคิดที่น่าสนใจ
รัฐบาลควรดูแลเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ถามว่าทำไมถึงทำ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ทุกคนยังมีความรู้สึกว่าของขายไม่ค่อยได้ ทุกคนมีความรู้สึกว่าของแพง แล้วก็ไม่อยากใช้ เงินที่เข้ามาในกระเป๋าประชาชนจะมีคงที่ แต่ราคาของแพงขึ้น เวลา ควักออกไปจะควักในปริมาณเงินที่มากขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจฝืดเคือง ตรงจุดนี้จะบั่นทอนความเชื่อมั่นได้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือสนับสนุนในเรื่อง OTOP สนับสนุนในเรื่องของการอัดฉีดเงินเข้าสู่ SML การปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนระดับรากหญ้าโดยให้ธนาคารของรัฐดำเนินการ ผมเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่รัฐบาลเองพยายามฟื้นเศรษฐกิจ
ในระยะประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไป รัฐบาลก็มีโครงการขนาดใหญ่ มีทั้งการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ทำรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเราจะเริ่มเห็นการประมูลโครงการที่จะสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วก็โครงการลงทุนสาธารณูปโภคทางบก ทางน้ำ ทางราง อะไรต่างๆ ก็ว่าไป ผมเชื่อว่าเราจะเริ่มภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี โครงการพวกนี้จะมีขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ส่วนในระยะยาว รัฐบาลมีโครงการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้สินค้าไทยแข่งได้ในตลาดโลก พยายามสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทุกระดับ นอกเหนือจากนั้นจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมโดยเฉพาะการคมนาคมทางอากาศ เป็นศูนย์กลางการบริการเพื่อสุขภาพ นอกนั้นก็จะเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แล้วประเด็นที่ผมรู้สึกว่ารัฐบาลเขียนไว้ดีคือการส่งเสริมให้คนมีการออมเงินในระยะยาว ส่งเสริมให้มีการพัฒนาตลาดทุนของเรา ทำตลาดหุ้นให้น่าลงทุน
ที่สำคัญคือโลกยุคนี้เป็นโลกยุคเทคโนโลยี โลกกำลังเคลื่อนตัวไปสู่อีกยุคหนึ่งในอนาคต ในโลกยุคหน้าคนจะมีอายุยืนยาวขึ้น คนไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 90 ปี หรือบางคนอาจจะอายุ 100 ปี เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำแล้วเขียนไว้ในแนวนโยบายของรัฐคือการส่งเสริมการออมในระยะยาวเพื่อให้คนได้มีเงินเอาไว้ใช้ในยามชรา นั่นคือ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นนโยบายของรัฐที่ได้วางแผนไว้อย่างเป็นขั้นตอน
GM : นโยบายหนึ่งที่เสียงดังมากคือเรื่อง Mega Project ซึ่งทำให้เกิดหนี้สาธารณะ คุณคิดว่าหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นควรจะมีมากน้อยแค่ไหน
ดร. ธนวรรธน์ : ผมว่าจุดแรกเราต้องดูก่อนว่าเราจำเป็นต้องมี Mega Project ไหม เราต้องมาดูก่อนว่าสิ่งที่ประเทศไทยเราขาดคืออะไร แล้วมันสำคัญไหม ผมมองว่า Mega Project เหมือนเรากำลังจะมีลูก 1 คน แล้วเรากำลังจะส่งลูกเรียนหนังสือ ส่งลูกเรียนโรงเรียน 2 ภาษา ให้ลูกเรียนดนตรี ให้ลูกเรียนศิลปะ ให้ลูกเรียนพิเศษ ถามว่าจำเป็นไหม บางทีพ่อแม่ก็กู้ยืมเงินมาให้ลูกเรียน ส่งลูก แต่สิ่งที่สำคัญคือมันจำเป็นไหม
ถ้าผมคิดว่ามันคุ้มค่า คือการลงทุน Mega Project ก็สำคัญ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดินถ้าเกิดขึ้นเพื่อลดการจราจรทางบก ลดการนำเข้าน้ำมัน ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ คำถามคือถ้าตอบโจทย์แค่นี้มันจำเป็นไหม โจทย์ต่อมาคือ มันช่วยให้คนไม่ต้องซื้อรถ ช่วยให้คนเดินทางหรือคมนาคมขนส่งได้ง่าย คนส่งเอกสารแทนที่จะขับมอเตอร์ไซค์ก็นั่งรถไฟฟ้าดีกว่า การเดินทางของคน ของนักท่องเที่ยวคล่องตัวขึ้น ไม่ต้องเผชิญกับรถติด ขนส่งสินค้าก็รวดเร็ว ผมคิดว่าโจทย์มันบังคับว่าจำเป็น
สอง, ที่เราต้องมาดูคือจำเป็นต้องมี 9 สายจริงหรือเปล่า หรือมี 5 สายก็เพียงพอ โจทย์นี้ผมตอบไม่ได้ อาจจะต้องมีงานวิจัยมารองรับ แล้วถามต่อไปว่าถ้าเราต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ เราต้องการใช้ระยะเวลาเท่าไร ถ้าเราเป็นนักธุรกิจ เราอยากจะขนสินค้าจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ใช้เวลากี่วัน บอก 2-3 วัน เพราะมันต้องจอดรอที่ชานชาลา รอให้รถขนคน รถด่วน รอให้รถธรรมดาไปก่อน แต่สินค้าที่สามารถสร้างเงินตราให้กับประเทศชาติ จ่ายภาษีให้กับสังคมเยอะ ให้รอก่อน โจทย์ตรงนี้ก็หมายความว่าเราก็น่าที่จะสร้างรถไฟรางคู่ เพื่อจะได้ประโยชน์ในการขนส่ง
สิ่งสำคัญผมเชื่อว่ามันไม่สำคัญว่าเรามีเงิน 2 ล้านล้านบาทหรือเปล่า มันสำคัญว่าต้องทำอะไรบ้าง และอะไรคือความสำคัญระดับต้นๆ การเรียงลำดับของโครงการสำคัญมาก เพราะเรามีเงินน้อย คำถามต่อมาคือเงิน 2 ล้านล้านบาทนี่ให้หลักคิดรัฐบาลจะสร้างยังไง ถ้ารัฐบาลสร้างเองคุ้มค่ามันไม่มีปัญหาเพราะมันต้องคืนเงินได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่สร้างเอง ให้เอกชนมาร่วมทุน เอกชนพร้อมร่วมไหม ถ้าร่วม ประเทศชาติได้ประโยชน์ก็ทำได้
ประเด็นที่สาม ถ้าใช้เงินเยอะแล้วกลัวว่าจะผิดวินัยทางการเงินการคลัง คำถามคือเราเปลี่ยนกฎเกณฑ์เรื่องวินัยทางการเงินได้ไหม ถ้าต่อไปในอนาคตเรามั่นใจว่าโครงการเหล่านั้นทำให้เราสามารถคืนเงินได้ ผมว่ากฎบางอย่างก็เปลี่ยนได้
ประเด็นต่อมาที่มีการวิจารณ์กันว่าจะหาเงินได้ไม่เพียงพอ คำถามคือว่าถ้า Mega Project เหล่านั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้รัฐบาลมีเงินมากขึ้น ทำให้มีการเก็บภาษีทำให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้น บางทีเราอาจจะหาเงินได้ง่ายขึ้น เพียงแต่เราต้องตอบคำถามว่ามันจำเป็นต้องทำจริงหรือเปล่า
GM : หนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ควรเป็นสัดส่วนเท่าไหร่กับ GDP
ดร. ธนวรรธน์ : กระทรวงการคลังบอกว่า 50% ของ GDP ซึ่งก็เป็นหลักที่ใช้กัน แต่ถ้าถามว่า ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะเท่าไหร่ คำตอบคือ 130% แต่ถามว่าทำไมคนเชื่อเขา เพราะคนเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นดี แต่ถามว่าทำไมเราถึง 50% อันแรกเราไม่อยากให้มันสูงเกินไป กฎนี้เป็นกฎที่นานาชาติยอมรับ ถ้าประเทศใดมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าญี่ปุ่นน้อยกว่าอเมริกาแล้วมีหนี้สาธารณะเยอะ ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเราจะเอาหนี้สาธารณะ 60% ล่ะ ผมถึงบอกว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้ผ่อนคลายได้ถ้าจำเป็น แต่คำถามคือ เราจำเป็นต้องผ่อนคลายไหม?
GM : นโยบายของรัฐบาลที่มีลักษณะประชานิยมนั้น มีอะไรน่าเป็นห่วงในทางเศรษฐกิจไหม
ดร. ธนวรรธน์ : ประชานิยมเหมือนกับคนเลี้ยงลูก คำถามแรกคือลูกขอซื้อขนม ขอซื้อทอฟฟี่พ่อแม่ให้ไหม หรือว่าหัวหน้าอยากให้ลูกน้องรัก พาไปกินเหล้าทุกวัน คำถามคือ ลูกน้องรักไหม แล้วลูกน้องเมาไหม–เมา ถ้าหัวหน้าคุมไม่ดีก็เสร็จ ถ้าพ่อแม่ตามใจลูกอย่างเดียว ลูกเสียคนได้ไหม–เสียได้ ผมว่าประเด็นเหล่านี้มันคือนโยบายประชานิยม การทำให้ลูกน้องรัก ทำให้ลูกรัก ก็คือนโยบายประชานิยม แต่เป็นประชานิยมที่ผูกขาด
ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลเลือกพักหนี้เกษตรกร เลือกให้กองทุน SML แล้วคนเอาเงินไปซื้อของ เป็นหนี้กับกองทุนหมู่บ้าน หรือเอาเงินไปแบ่งกันใช้แล้วหมดไป ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ มีปัญหา ไม่มีเหตุผลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นประชานิยมที่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นประชานิยมที่เอาเงินให้ประชาชนแล้วใช้ได้ถูกทิศทาง เหมือนเป็นการส่งเสริมให้ลูกไปซื้อหนังสือไปเรียนพิเศษ ผมว่าเป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องกำกับดูแล ติดตามผลสัมฤทธิ์ของนโยบาย มันไม่มีข้อพิสูจน์เลยว่าแนวนโยบายประชานิยมสมัยไทยรักไทยสร้างผลเสียอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกันก็ไม่มีข้อพิสูจน์เช่นกันว่าประชานิยมทำให้เศรษฐกิจดีมากขึ้น แต่เราจะสังเกตได้ว่า การวิพากษ์ประชานิยมเป็นการวิพากษ์ด้วยความรู้สึกนึกคิด เป็นการวิพากษ์โดยหยิบยกเอาสถานการณ์ที่มีข้อบกพร่องของแนวนโยบาย ซึ่งอาจจะมีมากระดับหนึ่ง แต่ไม่มีคนรู้ตัวเลขแน่นอน คนอาจจะจับกรณีของหมู่บ้านบางหมู่บ้านที่คนเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ คนเอาไปซื้อของ ตรงนี้มันขาดการพิสูจน์ทางหลักวิชาการว่าประชานิยมล้มเหลวมากน้อยเพียงใด
GM : แล้วประชานิยมรอบใหม่ครั้งนี้ คุณพยากรณ์ได้ไหมว่าในระยะ 3-5 ปี จะเป็นอย่างไร
ดร. ธนวรรธน์ : ต้องเน้นว่าเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกนะครับ เวลาที่ผมให้ความเห็น บางเรื่องผมไม่มีข้อมูล ผมจะระวังในเรื่องคำพูดมาก ผมมีความรู้สึกว่าหลายครั้งเวลาเราวิพากษ์วิจารณ์เราวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรู้สึก และมีข้อมูลไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็เลยย้ำว่า ถ้าบอกว่าประชานิยมจะเป็นยังไงในอนาคต มันใช้ความรู้สึกแล้ว
เราเดินทางไปทำวิจัยที่ต่างจังหวัดเยอะมาก เราพบว่าประชาชนในหลายภาคส่วนมีชีวิตความเป็นอยู่หรือมีมุมมองทางธุรกิจมากขึ้น คำถามคือแนวประชานิยมของไทยรักไทย กองทุนหมู่บ้าน OTOP อย่างน้อยมันได้จุดความคิดของเกษตรกร ของประชาชนและของราชการให้มีความคิดในเชิงธุรกิจ เริ่มจะพูดถึงการดีไซน์ การออกแบบ เริ่มพูดถึงคำว่าลูกค้า สิ่งที่รัฐบาลไปสร้างกระบวนการความคิด กระบวนการวางแผนโดยที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเข้ามามีส่วนในการกำหนดกระบวนการ ทิศทางการพัฒนา ทิศทางเศรษฐกิจ แล้วผมคิดว่านโยบายประชานิยมที่ไทยรักไทยสร้างไปจุดกระแสความคิดให้คนระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้ ติดตามเรื่องการใช้เงิน ฉะนั้น ถ้าคนไทยร่วมกันสร้างฐานงานแล้วตรวจสอบ ผมว่าประชานิยมมันน่าจะสำเร็จได้ ข้อหนึ่งที่ค้นพบคือการตรวจสอบการใช้เงิน การตรวจสอบของสื่อมวลชน ของภาคประชาชน ดูความ เปราะบางของประชานิยมที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้คนเป็นหนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการใช้เงินผิด มันจะทำให้รัฐบาลระวัง
เราไปทำงานสำรวจให้กับธนาคารออมสิน สำรวจธนาคารหมู่บ้านทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง ธนาคารหมู่บ้านที่แปลงเป็นกองทุนหมู่บ้านนั้น มีหลายธนาคารที่ประสบผลสัมฤทธิ์ บางธนาคารฝากแล้วปล่อยกู้ในหมู่บ้าน บางธนาคารก็รับฝากอย่างเดียว แต่ประชาชนรู้สึกว่ามีที่ฝากเงิน หลายหน่วยงานในต่างจังหวัด เราพบว่าประชาชนมีภาระหนี้แฝงอยู่ แต่หนี้โอนจากนอกระบบเข้ามาในระบบ ที่เคยจ่ายดอกเบี้ยแพงก็จ่ายดอกเบี้ยถูกลง มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นี่คือข้อมูลจริงๆ ที่เราได้จากหลายโครงการ
GM : แล้วเรื่องคอร์รัปชั่นล่ะ
ดร. ธนวรรธน์ : ผมไม่คิดว่าคอร์รัปชั่นจะหมดไปจากเมืองไทย แต่ว่าต้องสร้างนิสัย สร้างโอกาสให้เห็นว่าจะช่วยกันดูแลยังไง ถามว่าถ้าเป็นโครงการที่ให้ไปหางบประมาณเองเขาจะคอร์รัปชั่นไหม ถ้าไปอยู่ในกองทุนหมู่บ้านมีการคอร์รัปชั่นได้ไหม–ได้ เราจะลดคอร์รัปชั่นได้อย่างไรให้คนตระหนักรู้ถึงผลประโยชน์ของการมีส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ของกองทุน ระดับการคอร์รัปชั่นมันคงจะไม่สูง ถ้าพยายามควบคุมไม่ให้สูง ผมว่าถ้าเงินปล่อยไปสู่ภาคประชาชนโดยลดขั้นตอน ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สองแล้วไปถึงมือประชาชนเลย ผมว่าการคอร์รัปชั่นมันจะมีขนาดน้อยลง
GM : มีเสียงวิจารณ์ว่า ประชานิยมนั้นคือการเอาเงินจากส่วนกลางไปลงที่รากหญ้า แต่เวลารากหญ้าใช้เงิน เงินทั้งหมดก็จะกลับไปที่ทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐบาล
ดร. ธนวรรธน์ : ผมมองว่าถ้าไม่มีโครงการประชานิยม ประชาชนจะซื้ออะไร ถึงไม่มีประชานิยม ประชาชนซื้อของก็ซื้อมอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์มือถือ ให้มีนโยบายอะไรก็ตาม คนก็จะไขว่คว้าหาโทรศัพท์ ไขว่คว้าหาทีวี ซื้อคอมพิวเตอร์มาแช็ตอินเตอร์เน็ต แล้วขณะเดียวกันอาจจะซื้อมอเตอร์ไซค์ เป็นไปได้ก็ซื้อรถกระบะ ระบบเศรษฐกิจมันมีความผูกพัน คนที่ขายของได้ก็ขายกับนักธุรกิจ เช่น ขายผักให้กับนักธุรกิจ พอได้เงินปั๊บก็ไปจ้างเกษตรกร คนงานมาทำงาน คนงานได้เงินก็ไปซื้อของ ผมว่าโดยพื้นฐานมันคือความผูกพันโดยตัวมัน แต่ตัวนโยบายประชานิยมคือแนวนโยบายของรัฐที่ลงไปทำให้ประชาชนมีเงินมากขึ้น คำถามคือการที่ประชาชนมีเงินมากขึ้นแล้วเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภคไหม ถ้าเราเอาไปให้ แล้วคนไปซื้อโทรศัพท์มือถือเลย เพราะเขามีความรู้สึกว่ารัฐบาลจูงใจให้เขาซื้อ อย่างนี้มีความบกพร่อง อย่างนี้เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบ แต่ถ้าเขาได้เงินมากขึ้น แล้วถ้าคิดว่าเขาอยากได้เขาก็ไปซื้อ นั่นเป็นพื้นฐานของคน สิ่งที่เราต้องพยายามคุยกับชาวบ้านชาวช่องคือการให้ความรู้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โทรศัพท์มือถือไม่จำเป็น
GM : ขอถามเรื่องเศรษฐกิจโลกบ้างว่า ดูเหมือนตอนนี้ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนขั้วอำนาจ จากสหรัฐอเมริกาไปที่อื่นๆ เช่น จีน อินเดีย คุณคิดว่าจะมีผลอย่างไรกับเราบ้างไหม
ดร. ธนวรรธน์ : ถามว่าทำไมตอนนี้เราเริ่มพูดถึงโลกยุคใหม่ที่เอเชียเริ่มผงาด อย่างแรกเอเชียมีวัตถุดิบ เอเชียมีตลาดที่มีขนาดใหญ่ แล้วเอเชียเริ่มเติบโตขึ้น ก็เลยทำให้เอเชียน่าลงทุน เทคโนโลยีเดิมถูกกำหนดโดยสหรัฐฯ ยุโรป แล้วก็ญี่ปุ่น แต่ตอนนี้กระแสโลกาภิวัตน์เปลี่ยนมาให้ความสนใจกับการลงทุนในเอเชียอย่างจีนกับอินเดียเพราะมีประชากรมากที่สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากสหรัฐฯกับยุโรปมาอยู่ที่เอเชีย ด้วยขนาดของตลาด ทำให้มองจีนกับอินเดียได้ว่าเป็นเหมือนคนอายุประมาณ 20-21 ปี ซึ่งถ้าเป็นสาวก็เป็นสาวสวย ส่วนอเมริกาเป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่อายุประมาณ 45 ปีขึ้น ญี่ปุ่นก็ประมาณ 35-40 ปี ยุโรปประมาณ 50 ปี เพราะเอเชียเป็นเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว คึกคัก มีบทบาทสำคัญต่อโลก มีประเทศที่มีเทคโนโลยี คือเกาหลีกับญี่ปุ่น ส่วนเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์เป็นอินเดีย มีตลาดที่มีประชากรประมาณ 3,000 กว่าล้านคนมีทั้งกลุ่มประเทศที่มีน้ำมัน คือ OPEC มีธุรกิจที่สำคัญ มีทั้งเทคโนโลยี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์พวกนี้มีเงินเหลือก็ไปลงทุนตามที่ต่างๆ เอเชียเลยเป็นตลาดซึ่งกันและกัน เป็นเศรษฐกิจ ซึ่งกันและกันมากขึ้น
ตอนนี้โลกก็เลยให้ความสำคัญกับเอเชีย ไทยก็จะมีความสำคัญกับเอเชียมากขึ้นภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน อาฟต้า กรอบการลงทุนตามลุ่มแม่น้ำโขง อิรวดี และเจ้าพระยา กรอบการลงทุนตามพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย หรือกรอบการลงทุนในอินเดียใต้ ไทย อินเดีย มาเลเซีย บังกลาเทศ พม่า เนปาล ภูฏาน กรอบการลงทุนของอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอาเซียนกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กรอบการลงทุนในเอเชียที่ขยายใหญ่ขึ้นมันทำให้เอเชียของเราชัดเจนมากขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น
GM : แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังพัวพันกับสหรัฐอเมริกาในเรื่องค่าเงิน รวมไปถึงเรื่องซับไพรม์ด้วย คุณมองว่าเรื่องซับไพรม์ถึงที่สุดของมันแล้วหรือยัง จะมีอะไรมากกว่านี้ไหม
ดร. ธนวรรธน์ : ผมคิดว่าซับไพรม์ไม่น่าจะมีอะไรยืดเยื้อไปถึงปีหน้า ประมาณครึ่งปีนี้ซับไพรม์น่าจะสุดแล้ว จุดแรกต้องมองว่าตัวเลขการรับรู้เริ่มมีมากขึ้น ทางการสหรัฐฯใช้มาตรการเกินดุลถึง 6 แสนล้านเหรียญ แล้วลดดอกเบี้ย 2 ครั้งรวม 1.25% นั่นคือการตอบสนองอย่างรุนแรงและเร็วของซับไพรม์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ซับไพรม์น่าจะคลี่คลาย เหมือนหมอบอกว่าคนไข้ต้องปั๊มหัวใจด่วน ฉีดยา ผ่าตัดอย่างรุนแรง มันผ่านสถานการณ์ตรงนั้นมาแล้ว
ต้องจับตามองว่า นโยบายดอกเบี้ยที่เฟดลดลง 1.25% แล้วมันจะประคับประคองให้ฟื้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน เพราะเศรษฐกิจมันต้องการเวลาในการเยียวยา ในช่วงของไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่น่าจะหนัก และในช่วงไตรมาสที่ 3 สถานการณ์ซับไพรม์น่าจะค่อยๆ คลายตัวลง ประมาณปีหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯคงจะเริ่มกลับมาชัดเจน ขึ้น ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ซับไพรม์ ไม่ควรเป็นปัญหารุนแรงระดับโลกแล้ว เพราะมีการติดตามข้อมูลแก้ไขโดยเร็ว
GM : แล้วเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนตัวลงเรื่อยๆ
ดร. ธนวรรธน์ : มันหนีไม่พ้นที่ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนเพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯแย่ จุดที่สองสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยไปรวมเบ็ดเสร็จก็เกือบ 2% จาก 5 เหลือ 3 และอาจจะลดอีกเหลือ 2.5% เพราะฉะนั้น ดอกเบี้ยสหรัฐฯลดลงเกือบ 100% ภายในระยะเวลา 1 ปี คือจาก 5 เหลือ 2.5 ซึ่งตามหลักการมันไม่ควรจะอ่อนมาก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯแย่ ทำให้ดอลลาร์อ่อน แนวโน้มของดอลลาร์จะอ่อนตัวลง ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้ม แข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
GM : มีคนวิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทอาจแข็งไปแตะที่ระดับ 28 บาท
ดร. ธนวรรธน์ : สิ่งที่ผมจะตอบก็คือ 28 บาทเป็นไปได้ไหม–ได้ 26 ยังได้เลย ถ้าเราบริหารงานแล้วผิดพลาด แต่โอกาสที่จะ 28 บาทนั้นน่าจะยาก บอกก่อนนะ แล้วถ้ารัฐบาลบริหารจัดการดีๆ มันก็ควรจะอยู่ที่ 32 เท่านั้นแหละ เราน่าจะสามารถประคองให้บาทอยู่ที่ประมาณ 31 บาทได้ แต่ถ้าสมมุติว่าเราบริหารงานไม่ดีแล้วมีผลทางจิตวิทยามาก มีคนเก็งกำไรค่าเงินบาท คราวนี้บาทอาจจะหลุดมาอยู่ที่ 28 ได้ แต่ 28 นี่เมื่อไหร่ ถ้าว่าอีก 5 ปีข้างหน้าบาทอยู่ที่ 28 บาทต่อดอลลาร์ได้ไหม–ได้ แต่ตามหลักเกณฑ์
บาทไม่ควรถึง 28 ในช่วง 2 ปี เพราะเร็วเกินไป แต่ถามว่าบาทควรจะถึง 28 ไหม ก็ไม่ควร บาทควรจะประคับประคองตัวเองเต็มที่ 30 พอแล้ว หรือกลับไปอยู่ที่ 33-34 ถ้าถามว่าปีนี้บาทควรจะอยู่ที่เท่าไร รัฐบาลน่าจะจัดการให้อยู่ที่ 32 ได้
GM : ถ้ามีการยกเลิกนโยบายสำรอง 30% ขึ้นมาจริงๆ ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร
ดร. ธนวรรธน์ : ถ้ารัฐบาลยกเลิก 30% แล้วมีมาตรการรองรับ บาทก็จะแข็ง เพราะเงินมันไหลเข้ามาเยอะ วิธีทำให้บาทไม่แข็งทำยังไง–ก็อย่าให้เงินมันไหลเข้ามาเยอะ อย่าสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว อย่าสนับสนุนให้เกิดการส่งออก ซึ่งมันก็ไม่ดีถูกไหม เพราะพอเงินเข้ามาเยอะๆ ก็ต้องเอาเงินออกไปเยอะๆ ที่เรายังไม่มีคือไม่มีนโยบายให้เงินไหลออก ทำให้เงินไหลออกทำได้ยังไง ข้อที่หนึ่ง, รัฐบาลบริหารสินค้านำเข้าเอาเข้ามาเยอะๆ สอง, รัฐบาลเร่งกระจายเงิน คืนเงินดอกเบี้ย สาม, รัฐบาลไทยไปลงทุนต่างประเทศ ลาว กัมพูชา พม่า เราก็ส่งบริษัทไทยไปทำธุรกิจตรงนั้น ประเด็นถัดมาคือไทยต้องสนับสนุนให้ธุรกิจตัวเองกระโดดไปอยู่ต่างประเทศ หรืออาจจะมีการบริหารบริษัทที่อยู่นอกประเทศ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลควรต้องทำ ถ้ามีเงินเข้าเยอะ ก็ต้องมีเงินออกไปเยอะ นี่คือแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด แต่เราไม่มีกฎหมาย เราไม่เหมือนสิงคโปร์ เราไม่เหมือนจีน ประเทศอื่นเขาทำแบบนั้น ไทยทำแบบนั้นก็น่าจะได้
GM : ปีนี้ตลาดหลักทรัพย์จะเป็นอย่างไร ดัชนีจะถึงพันจุดไหม
ดร. ธนวรรธน์ : ตลาดหลักทรัพย์จะถึงพันจุดไหม–ตอบตามหลักก็คือก็เป็นไปได้ถ้าข่าวบวกมันเยอะ แล้วข่าวบวกเป็นไปได้ไหม–ก็เป็นไปได้ ถ้ารัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความคึกคักได้ เช่น ซับไพรม์ไม่ได้แย่อย่างที่คิด น้ำมันในตลาดโลกไม่ได้แพงมาก ประคับประคองได้ แล้วรัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ประมาณ 5.5% ต้นปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์มองว่าตลาดหุ้นอาจจะถึงพันจุด แต่พอมาปลายปีไม่เป็นอย่างนั้น นั่นเพราะหนึ่ง, ซับไพรม์มีปัญหา สอง, การเมืองอาจจะนิ่งไม่พอ แล้วถ้าซับไพรม์คลี่คลาย แล้วการเมืองสามารถอัดฉีดเม็ดเงินทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างคึกคักได้ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดไม่ได้ ถ้ามีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ความต้องการปูนซีเมนต์เกิดขึ้น ต้องการวัสดุก่อสร้าง บริษัทก่อสร้างเริ่มมีการรับเหมาก่อสร้างมากขึ้นแล้ว ท้ายที่สุดคือคนเริ่มจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
ผมมองว่ามันเป็นไปได้ แต่ถ้ามองในเชิงอนุรักษ์ เราคิดว่าพันจุดไม่ควรจะถึง เศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสโต 4-4.5% แต่ถ้ามีแรงขับดัน ก็น่าจะถึง 5.5% ถ้าโต 4.5-5% ตลาดหุ้นน่าจะวิ่งขึ้นถึง 900 กว่าจุด แต่ถ้าถึง 5.5 ก็เป็นไปได้ที่จะวิ่งขึ้นไปถึงพันจุด แต่ผมว่าช่วงนี้เร็วเกินไปในการคาดการณ์เศรษฐกิจเพราะเราเต็มไปด้วยคำว่า ถ้า ถ้า แล้วก็ถ้า มันต้องรอดูอีก 3 เดือนข้างหน้าว่ารัฐบาลทำได้แค่ไหน
GM : คุณคิดว่าใครน่าจะเป็นผู้เล่นคนสำคัญในรัฐบาล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ดร. ธนวรรธน์ : ตามบทบาท ผู้เล่นสำคัญในปีนี้ต้องเป็นหมอเลี้ยบ (น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เพราะสิ่งสำคัญคือ รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ไม่ลงทุนโฉ่งฉ่าง แล้วก็ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คนสำคัญคือหมอเลี้ยบในการที่จะหาเงิน เอาเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ผู้เล่นสำคัญก็อาจจะมาจากรัฐมนตรีคมนาคม เพราะต้องตอบสนองเรื่องอย่างนี้ด้วย สิ่งสำคัญคือต้องประคองเรื่องเศรษฐกิจการค้า ต้องพยายามผลักดันเรื่องการส่งออก ทำการส่งออกให้มีชีวิตชีวา ทำการค้าชายแดนให้โดดเด่น คนสำคัญอีกคนคือรัฐมนตรีพลังงาน (พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ควบคุมดูแลพลังงานไม่ให้แพง ขณะเดียวกันคนที่น่าจะมีความสำคัญมากๆ อีกส่วนหนึ่งคือท่องเที่ยว ที่รองนายกฯ มิ่งขวัญ (แสง-สุวรรณ) ดู ปีนี้ผมว่าทางนี้น่าจะเป็นพระเอก
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ระดับปกติเราเฉลี่ยอยู่ใกล้ๆ 100 ตอนนี้อยู่ที่ 80 เพราะฉะนั้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ถือว่าไม่ดี
ประชานิยมเหมือนกับคนเลี้ยงลูก ถ้าพ่อแม่ตามใจลูกอย่างเดียว ลูกเสียคนได้แต่ถ้าเอาเงินให้ประชาชนแล้วใช้ได้ถูกทิศทาง ก็เหมือนการส่งเสริมให้ลูกไปซื้อหนังสือ
ผมคิดว่าซับไพรม์ไม่น่าจะมีอะไรยืดเยื้อไปถึงปีหน้า ทางการสหรัฐฯใช้มาตรการตอบสนองอย่างรุนแรงและเร็ว เหมือนหมอผ่าตัด มันจึงผ่านสถานการณ์ตรงนั้นมาแล้ว
‘ฟันธง’กับ ธนวรรธน์ พลวิชัย
GM ลองให้อาจารย์ธนวรรธน์ ทำตัวเป็นคู่แข่งกับหมอดูฟันธง ด้วยการฟันธงภาวะเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปจนถึงตัวเลขในบัญชีออมทรัพย์ของคุณ !
ค่าเงินบาท : ผันผวนแต่แข็งค่า สัญญาณมันชัดเจน ต้นปีค่าเงินบาทเริ่มที่ 32.5 ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับการยกเลิกนโยบายกันสำรอง 30% เงินบาทจะแข็ง การเก็งกำไรค่าเงินบาทจะกลับเข้ามาบ้าง ค่าดอลลาร์ก็อ่อน เงินบาทจะแข็งขึ้น แต่แข็งเท่าไรยังไม่ชัด ระดับ 31-32 บาทเป็นระดับที่ต้องดูว่ามันจะยืนอยู่ไหมในปีนี้
ค่าน้ำ ค่าไฟ : จะทรงตัวสูง ขึ้นอยู่กับค่า FT ระดับราคาน้ำมันไม่ถึงกับแพงมาก ราคาพลังงานจึงไม่น่าจะสูง แต่อยู่ที่ค่า FT กระทรวงพลังงานคงต้องดูแลให้อยู่ในระดับเดิม ผมใช้คำว่าทรงตัว
ตัวเลขในบัญชีออมทรัพย์ : ผมว่าน่าจะดีขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คนจะหาเงินได้คล่องตัวขึ้น แม้ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นน่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ปีนี้เงินออมน่าจะดีขึ้น แต่ก็ต้องแล้วแต่วินัยและพฤติกรรมในการใช้เงิน
ค่ารถเมล์ : ต้องบอกว่าไม่น่าเปลี่ยนมาก ถ้าขึ้นก็ขึ้นนิดหน่อย เหตุผลสำคัญคือน้ำมันราคาอาจจะแพง แต่ราคาน้ำมันไม่น่าจะเปลี่ยนมาก มีการขึ้นค่ารถเมล์ไปแล้ว จึงไม่น่าจะขึ้นอีก
ดอกเบี้ย : ผมเชื่อว่าดอกเบี้ยทรงตัวต่ำ มีโอกาสลดได้ตามดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่ในปลายปี ทางการน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ เป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยอาจจะลด แล้วนิ่ง แล้วเพิ่ม ถึงบอกว่าทรงตัวต่ำใกล้เคียงเดิม
ราคาน้ำมัน : ปัญหาหนักอกของคนไทยก็คือคนไทยใช้น้ำมันเยอะ พลังงานทดแทนเข้ามาไม่ได้ ราคาน้ำมันยังไม่อยู่ในช่วงขาลง ราคาน้ำมันน่าจะแพงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปีที่แล้วประมาณ 5-10 ดอลลาร์ นั่นหมายความว่าราคาน้ำมันปีนี้โดยเฉลี่ยแล้วจะแพงกว่าประมาณ 2-3 บาท ทรงตัวสูง
หนี้บัตรเครดิต : ไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะบอกว่าหนี้สินต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น หนี้บัตรเครดิตอาจจะเริ่มมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าเราระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยด้วยบัตรเครดิตมากขึ้น ถ้ามองในระดับเศรษฐกิจมหภาค หนี้บัตรเครดิตถือว่ามีไม่เยอะ และด้วยพฤติกรรมที่เราสำรวจมาประมาณ 2-3 ปีคนไทยจะระวังการใช้บัตรเครดิตมากขึ้น ผมคิดว่าระดับปัญหาไม่น่าจะรุนแรง เป็นปัญหาของบุคคลเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เป็นปัญหาของคนทั่วไป
ราคาที่ดิน : จะแพงขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจที่จะดีขึ้น อสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคัก ที่ดินที่อยู่ตามแนวทางรถไฟฟ้า แนวทางโครงการของรัฐ ราคาที่ดินก็จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตขึ้น เพราะราคาที่ดินค่อยๆ แพงขึ้น
ภาษีที่เราต้องเสีย : น้อยลง แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ระดับ รัฐบาลมีนโยบายขยายฐานภาษี ลดภาระภาษีให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้น ภาษีควรจ่ายในอัตราที่ถูกลงในบางประเภท โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย แต่คนที่มีรายได้สูงก็จะต้องจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น ภาษีบางประเภทอาจจะต้องจ่ายแพงขึ้น เช่น ภาษีฟุ่มเฟือย ภาษีมรดกอาจจะต้องมีการเก็บเพิ่มขึ้นในอนาคต ภาพโดยรวมผมว่ามันถูกลง ต้องย้ำว่าเพราะ FTA ด้วยนะที่ทำให้ภาษีถูกลง แต่เราจ่ายภาษีมากขึ้นไหม ก็ถ้าเรารวยขึ้นเราก็จ่ายภาษีมากขึ้น
ราคาหมู : หมูระยะสั้นๆ แพง หมูแพงเพราะว่าช่วงประมาณต้นปีหมูตายเพราะว่ามีโรคระบาด ปริมาณหมูมันถึงลดน้อยลงปีที่แล้วหมูถูก ปีนี้คนที่เลี้ยงหมูก็จะระวัง
ข้าวสาร : ข้าวสารก็น่าจะเป็นราคาอย่างนี้ ไม่น่าจะลดลง
เงินเดือนและโบนัส : น่าจะดีขึ้น ในช่วงปลายปีน่าจะดีขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น เพราะฉะนั้น เงินเดือนก็น่าจะปรับดีขึ้น แต่เศรษฐกิจจะขึ้นมากแค่ไหนต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคต