fbpx

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ แนวความคิดก่อนวันพิพากษา

The Man Behind ‘The Marketing of Nations’

ในแวดวงวิชาการด้านการตลาด ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ ฟิลิป ค็อตเลอร์ (Philip Kotler) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งหนังสือการตลาดของเขาถูกใช้เป็นตำราเรียนในวิชาบริหารธุรกิจทั่วโลกในประเทศไทย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ศิษย์เอกของ ฟิลิป ค็อตเลอร์ ได้ใช้วิชาการตลาดพลิกโฉมการเมืองไทยจนพรรคไทยรักไทยสามารถเอาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึงสองสมัย ส่งให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นรัฐบาลพรรคเดียวกุมเสียงข้างมากในสภาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสมัยที่สอง ส่วนตัว ดร. สมคิดก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยถือเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากนักธุรกิจและมิตรประเทศ

ด้วยความวุ่นวายจากงานประจำทำให้ ฟิลิป ค็อตเลอร์ แทบจะไม่รับเป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาปริญญาเอก จนกระทั่ง ดร. สมคิดส่ง สุวิทย์ เมษินทรีย์ ลูกศิษย์จากนิด้าซึ่งกำลังเตรียมโครงการเขียนหนังสือ The Marketing of Nations ร่วมกันไปเรียนที่นั่น พลังสามประสานศิษย์-อาจารย์จึงเกิดขึ้น จนค็อตเลอร์ถึงกับเคยเอ่ยปากว่า “ถ้ามีศิษย์อย่างสุวิทย์ ให้ส่งมาอีก”

จากเล่มแรก สุวิทย์ได้เขียนหนังสือเล่มที่สอง ชื่อ Market-ing Moves ร่วมกับ ฟิลิป ค็อตเลอร์ และ ดีพัก ซี. เจน (Dipak C. Jain) สองปรมาจารย์ด้านการตลาด โดยมีสำนักพิมพ์แห่งวิทยาลัยบริหาร ธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นผู้จัดพิมพ์ผลงานทางด้านวิชาการอันโดดเด่นทำให้ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้รับเลือกให้เข้าร่วมงานกับ บูซ อัลเลน แอนด์ แฮมิลตัน (Booz Allen & Hamilton) บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง โดยเป็น 1 ใน 17 ของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่บริษัทวาดหวังว่าจะสามารถนำเสนอกรอบคิดที่สร้างมิติใหม่ของการให้คำปรึกษาทางธุรกิจเส้นทางชีวิตของสุวิทย์คงไม่เปลี่ยน ถ้า ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ตัดสินใจลงเล่นการเมืองในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ดร. สุวิทย์จำใจต้องทิ้งรายได้กว่าครึ่งล้านบาทต่อเดือนกลับเมืองไทยเพื่อช่วยสานฝันให้อาจารย์ โดยถือเป็นมือขวาที่ทำงานใกล้ชิด ดร. สมคิด มาโดยตลอด ทำให้รู้ความคิด ความเป็นไป และเบื้องหลังการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญอย่างลึกซึ้ง จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบ เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

อะไรคือความแตกต่างระหว่างสมคิดกับทักษิณ ?

อะไรคือจุดแตกหักในความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ?

อนาคตทางการเมืองของสมคิดจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

อนาคตของประเทศไทยควรจะขับเคลื่อนไปทางไหน ?

หนึ่งวันก่อนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะอ่านคำพิพากษาคดียุบพรรค การเมือง (30 พฤษภาคม 2550) อันเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ทั้งคนไทยและนักการเมืองตั้งตารอ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เปิดใจให้สัมภาษณ์อย่างละเอียดทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม อันเป็นการเชื่อมภาพเล็กเข้ากับภาพใหญ่ของประเทศไทย เป็นการมองออกไปไกลกว่าเรื่องความขัดแย้ง การเมือง และการเลือกตั้งและนี่คือหลักคิดของนักการตลาดที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ผู้ซึ่ง ฟิลิป ค็อตเลอร์ เคยฝากความหวังว่า จะเป็นตัวตายตัวแทนของเขาในรุ่นต่อไป

GM : อยากให้อาจารย์เล่าประวัติความเป็นมาของชีวิตในช่วงต้น

ดร. สุวิทย์ : เท่าที่จำความได้ ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นนักภูมิศาสตร์ ตอน ป.2 ก็เริ่มอ่านแผนที่โลก รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ ทำให้เห็นว่าโลกมีทั้งความเหมือนและความต่าง นั่นเป็นช่วงของการเรียนรู้ แต่ที่เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ คือช่วง ป.6 ปกติในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ต้องมีส่งงาน เพื่อนบางคนส่งงานเลื่อยไม้เป็นรูปกังหันวิดน้ำ บางคน

เอาแก้วมาใส่ของทดลอง แต่ผมคิดไม่ออกว่าจะส่งอะไรดี ที่บ้านเลยกระตุ้น บอกว่าทำไมไม่ทำการทดลองให้เพื่อนดูแทนที่จะส่งเป็นของประดิษฐ์ ผมก็ เฮ้ย! เอาอย่างนั้นเลยหรือ วันส่งงานผมเลยหยิบน้ำแข็งหนึ่งถุง เกลือเม็ดใหญ่หนึ่งถุง แล้วก็ไปซื้อน้ำไบเล่ย์ที่โรงเรียน ทำการทดลองให้ดูว่าไอศกรีมทำยังไง อธิบายว่าทำไมเกลือถึงดูดความร้อน ขณะที่คนอื่นส่งงานเป็นชิ้น ผมส่งเป็นการทดลองอย่างนั้นเลยตรงนั้นเป็นจุดแรกที่ทำให้เกิดความกล้า ผมเคยคิดว่าทำไมตัวเองชอบคิดนอกกรอบ จริงๆ มาจากว่าที่บ้านเปิดโอกาสให้คิด คุณครูก็ดี แทนที่จะว่า ว่าทำไมไม่ส่งงานเป็นของประดิษฐ์เหมือนคนอื่น เขากลับเชียร์เรา บอกว่าสุดยอด เรารู้สึกว่าสิ่งนี้คือรางวัล นั่นเป็นจุดแรกที่ทำให้ผมเริ่มคิดนอกกรอบ

GM : ที่บ้านอาจารย์ทำอะไร

ดร. สุวิทย์ : ที่บ้านค้าขาย ทำเกี่ยวกับเครื่องประดับ อยู่แถววงเวียน 22 กรกฎา

GM : เรียนจบ ป.6 ที่ไหน

ดร. สุวิทย์ : ผมจบ ป.6 ที่พลับพลาไชย แต่แหกคอกจากพี่น้องคนอื่นเพราะเป็นคนเดียวที่เลือกไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลโดยที่ไม่มีใครแนะนำ ผมไปสอบของผมเอง

เลยได้ไปต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ตอน ม.ศ.1 ผมไม่เรียนเลย ตามรุ่นพี่ที่อยู่ ม.ศ.3 ไปทำการทดลองที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้โล่รางวัลที่ 2 สาขาชีววิทยาเรื่องอิทธิพลของน้ำผึ้ง เราพยายามอธิบายว่าทำไมน้ำผึ้งถึงฆ่าเชื้อได้ ในขณะที่เพื่อนคนอื่นเรียนตามปกติอยู่ในห้องเรียน แต่ผมได้เห็นห้องแล็บ ได้คุยกับอาจารย์ที่เป็นดอกเตอร์ สมัยนั้นรู้สึกว่าดอกเตอร์เก๋มาก ตอนนั้นอาจารย์พรชัย มาตังคสมบัติ หัวหน้าภาคจุลชีววิทยามาเป็นที่ปรึกษาให้ ปัจจุบันท่านเป็นอธิการบดีฯมหิดล เมื่อก่อนอาจารย์เพิ่งจบใหม่ๆ กำลังไฟแรง ส่วนเราก็เด็ก แต่เขาให้โอกาส ให้เราไปนั่งถามโน่นถามนี่ เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย ผมจึงได้ความรู้จากการคุยกับดอกเตอร์ คุยกับนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก และการได้ทำแล็บหลังจากทดลองทำไอศกรีม ทีนี้ได้มาเห็นของจริงอีก โอ้โฮ! มีความรู้สึกว่าการเรียนในชั้นเรียนนี่โง่จังเลย เรียนอยู่แต่ในห้อง การที่ผมมีโอกาสได้ตามรุ่นพี่ มีอะไรก็ถามรุ่นพี่ เลยกลายเป็นว่าความรู้ของผมส่วนใหญ่เป็นความรู้ของ ม.ศ.3 ม.ศ.5 หรือปริญญาโท โดยที่เรารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ทำให้มีแรงดลใจ รู้สึกว่าเรายังไปได้อีก นี่ทำให้ผมปฏิเสธการเรียนในห้องเรียนในเวลาต่อมา แต่อาจารย์ที่เทพศิรินทร์ดีอย่าง พอเห็นว่าเราได้รางวัลและสนใจไปทางนี้ เขาให้ตั๋วเลย บอกว่าคุณมาเข้าแถวแล้วไปทำแล็บได้เลย ผมเลยอยู่ในห้องแล็บมากกว่าในห้องเรียนพอขึ้น ม.ศ.2 ผมเริ่มรู้สึกว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต้องตอบคำถามสังคมด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าเรารู้อยู่คนเดียว อย่างเรื่องน้ำผึ้ง เราอธิบายว่าทำไมมันฆ่าเชื้อโรคได้และฆ่าอย่างไร แล้วก็จบ แต่ผมรู้สึกว่าเราต้องหาประเด็นทางสังคมมาศึกษา ผมเริ่มท้าทายตัวเองโดยบอกว่า เราต้องไม่เอาโจทย์จากรุ่นพี่ เราต้องคิดเอง ซึ่งตอนนั้นมีสองเรื่องที่น่าศึกษา หนึ่ง, คือเรื่องวิกฤติอาหารซึ่งกำลังจะขาดแคลน อีกเรื่องคือประชากรโลกเริ่มมากขึ้น ในขณะที่อาหารเพิ่มขึ้นแบบอนุกรมเลขคณิต คือค่อยๆ ขึ้น แต่ประชากรโลกกลับขึ้นแบบอนุกรมเรขาคณิต คือขึ้นแบบทวีคูณ เพราะฉะนั้น ปริมาณของสองสิ่งนี้จะค่อยๆ ห่างกันไปเรื่อยๆผมเลยคิดโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะเอาสองเรื่องนี้มารวมอยู่ด้วยกัน แบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เลยลองทำสองเรื่องรวมกัน โดยบอกว่าจะเอายีสต์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์มากำจัดน้ำเสียและสกัดโปรตีนจากยีสต์มาเป็นอาหาร ผมทำการทดลองนี้อย่างมุ่งมั่นมาก ตอนนั้นคิดเพียงแค่ว่าโจทย์ของวิทยาศาสตร์ต้องตอบปัญหาสังคม ก็เลยทำ ปรากฏว่าได้รางวัลโล่พระราช- ทาน ดีใจและภูมิใจมากตอนนั้นผมเพิ่งอยู่ ม.ศ.2 ได้เงินรางวัลมา 500 บาท ซึ่งเยอะมาก ผมเอาไปซื้อผงอาการ์ (Agar) ซึ่งเป็นวุ้นวิทยาศาสตร์ที่ใช้เลี้ยงเชื้อแบคทีเรียและมีราคาแพงมาก ผมขอชั้น 3 ทำเป็นห้องแล็บ ที่บ้านก็ให้ เผอิญผมอ่านมาจากในตำราว่า แบคทีเรียที่รากของต้นถั่วจะมีไลโบโซมซึ่งเป็นเชื้อราสีฟ้าที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เมื่อก่อนต้องเห็นเองให้ได้ อ่านอย่างเดียวไม่เชื่อ ผมปลูกถั่วเลย จากนั้นขุดดินมาเกลี่ยบนเชื้ออาการ์ แต่ไม่มีอะไรขึ้น ตอนหลังรู้ว่าที่มันไม่ขึ้นเพราะมีแบคทีเรียปนกับอย่างอื่น ทีนี้จะฆ่าเชื้อยังไง ไม่มีเงินซื้อยาฆ่าเชื้อแล้ว ผมเลยไปเอาลิสเตอรีนมาใช้ ได้ผล เริ่มมีปมสีฟ้าขึ้น ผมเลยรู้สึกว่าของที่เราเชื่อต้องเป็นของที่เราเห็น ไม่ใช่เชื่อแต่ตามหนังสือตอนขึ้น ม.ศ.3 ผมกลับมานั่งคิดถึงโครงการที่ผมได้โล่พระราชทาน จุลินทรีย์ที่ผมใช้คือยีสต์แก้น้ำเสียได้จริง แต่มันผลิตโปรตีนบางส่วนไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ผมเลยเริ่มศึกษาว่าจะผ่าตัดดีเอ็นเอของยีสต์ได้ยังไงเพื่อให้มันผลิตกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายมนุษย์สร้างไม่ได้ เพราะกรดอะมิโนที่สกัดได้จากยีสต์ในการทดลองครั้งก่อนเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายเราสร้างได้ เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นแต่ขณะที่เริ่มทำเรื่องนี้ ผมคิดว่า เฮ้ย! ไม่แน่จริงนี่หว่า ทำไมต้องให้เชื้อสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคมาสร้างกรดอะมิโน ให้ ผมรู้สึกว่าเราต้องเก่งกว่านั้น คือต้องสร้างขึ้นมาบนหลอดทดลอง มีกรด อะมิโนพื้นฐานตัวหนึ่งเรียกว่าพาราอะมิโนเบนโซอิกแอซิด (Para-Amino-benzoic Acid) หรือ PABA มีลักษณะเป็นเบนซีนริง (โครงสร้างทางเคมีมีลักษณะเป็นวง) ผมบอกไม่พึ่งยีสต์แล้ว ขอสังเคราะห์เองบนหลอดทดลอง แต่ผมเข้าใจผิด คิดว่าเบนซินนั้นคือน้ำมันเบนซิน เลยไปซื้อน้ำมันเบนซินจากปั๊มตรงข้ามบ้านมาใส่หลอด ความจริงมันคนละเรื่องกัน น้ำมันที่เราเรียกว่าเบนซินความจริงคือออกเทน แต่เบนซีนริงเป็นเบนซินอีกอันหนึ่ง ตอนนั้นผมไม่รู้ ก็เอาน้ำมันใส่หลอด แล้วใส่กรดตามลงไป ปรากฏว่าระเบิดบึ้ม ต้องไปอยู่โรงพยาบาลเดชาเป็นเดือนเพราะเป็นดีซ่านด้วย โครงการที่จะผ่าตัดดีเอ็นเอเลยจบไป หลังจากนั้นผมเลยเปลี่ยนแนว มาสนใจเรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity) เรื่องของไอน์สไตน์อะไรไป

GM : การทดลองแปลกๆ ในวัยเด็กให้บทเรียนอะไรกับชีวิต

ดร. สุวิทย์ : ที่พอสรุปได้ก็คือ อิทธิพลในช่วงเด็กเปิดโอกาสให้ผมคิดนอกกรอบ ได้คิดอะไรแปลกๆ คำว่านวัตกรรม (Innovation) ไม่ใช่อะไร มันคือโอกาส ว่าตอนเด็กๆ เขาเปิดโอกาสให้คุณคิดไหม ให้คุณได้ท้าทายตัวเองหรือเปล่า ความไม่พอใจของผมคือไม่พอใจตัวเอง ที่ว่าทำได้แค่นี้หรือ ต้องไปอีกขั้นสิ โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับเลย คล้ายๆ กับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการก็คือคนที่ไม่พอในสินค้าหรือความคิดของตัวเอง และต้องการไต่ไปอีกระดับหนึ่งอิทธิพลความคิดในตอนเด็กทำให้ผมเลือกเรียนเภสัชศาสตร์เพราะอยากสังเคราะห์ยา ขณะที่เรียนเภสัชฯ ผมได้รับโอกาสโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเปิดสอนปริญญาโทด้านครุศาสตร์วิทยาศาสตร์ เขาต้องการหาเด็กที่บ้าๆ เลยเชิญผมให้ไปเป็นวิทยากรพิเศษในขณะที่เราเพิ่งเรียนปี 1 ปี 2 อยู่ที่มหิดล ให้เราเล่าว่ามีแรงบันดาลใจยังไง นั่นเป็นการเปิดโอกาสให้เราทำงานข้ามขั้นตอน เพราะเราควรจะได้เป็นวิทยากรพิเศษเมื่อเราจบดอกเตอร์ แต่นี่เราได้เป็นตั้งแต่เรายังเรียนอยู่ปี 1 ปี 2 เท่านั้นเอง และพอดีว่าตอนนั้นมีการเสวนาทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย มีหลายชาติเข้าร่วม เขาก็เชิญเราไปพูดอีก เหล่านี้เกิดจากโอกาสที่เปิดให้เราตอนเด็กๆ ทั้งนั้น

GM : ดูเหมือนอาจารย์จะเรียนมาถูกทางแล้ว ทำไมถึงเปลี่ยนสายมาเรียนต่อปริญญาโท ทางด้านบริหารธุรกิจ

ดร. สุวิทย์ : การเรียนเภสัชฯก็สนุกไปอีกแบบ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ เหมือนเราเรียนแบบรู้ด้านเดียว คือเรียนทางด้านเภสัชฯ ด้านวิทยาศาสตร์ แต่เรา

ไม่ได้เรียนเรื่องบริหารเลย ตอนนั้นผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าจะหยิบเอาสิ่งที่เรียนไปใช้อย่างไร ผมเลยมาเรียนต่อด้านบริหารที่นิด้า แต่เรียนนิด้าก็เบื่อ ไม่อยากเรียน โดดเรียนตลอด พอดีว่าตอนนั้นอาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลับมา ผมซึ่งอยู่ปี 1 เบื่อ เลยกระโดดไปเรียนวิชาปี 2 กับอาจารย์สมคิดผมเริ่มคึกว่า โอ้โฮ! เรื่องการบริหารจัดการนี่มีอะไรน่าสนใจเต็มเลย ผมเลยเขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องประสิทธิผล (Effectiveness) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ว่าจริงๆ แล้วรากของมันมาจากมุมมองสองมุมมอง มุมมองหนึ่งคือ System Approach  นั่นคือถ้าเรามองแบบระบบ มันจะนำเราไปสู่ประสิทธิผล อีกมุมมองหนึ่งคือ Mechanic Approach คือถ้าเรามองขยายลงไป และรู้ว่ากลไกข้างในเป็นยังไง มันจะนำเราไปสู่ประสิทธิภาพ ผมอยากรู้ว่าความคิดนี้ถูกหรือเปล่า เลยเขียนรายงานอยู่ถึงตีสี่ตีห้าสองสามคืน เขียนเสร็จไปเคาะประตูห้องอาจารย์สมคิดซึ่งไม่รู้จักกัน บอกว่าผมเป็นเด็กปี 1 ไปเรียนวิชาของอาจารย์ อยากให้อาจารย์ช่วยดูรายงานชิ้นนี้ให้หน่อยว่าถูกไหม ตอนนั้นแกเพิ่งมาใหม่และเป็นที่นิยมมาก อยู่ดีๆ ก็มีเด็กที่ไหนไม่รู้มาหา แกก็ดี บอกว่าอีกสองสามวันให้มาใหม่ แกจะวิจารณ์ให้ แล้วแกก็วิจารณ์ให้จริงๆ

รายงานนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าได้เห็นรากของวิชาการบริหารจัดการ วิชาการบริหารจัดการดูเหมือนเป็นวิชาที่หยิบฉวยอะไรมาก็ได้เพื่อให้เกิดผล แต่จริงๆ ไม่ใช่ ผมเริ่มรู้สึกว่าเราเอาวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์มันได้ อย่างเช่นในการมองแบบ System Approach สมมุติคุณอยู่ตรงนี้ มีใครอยู่ในระบบของคุณบ้าง และมันเกี่ยวเนื่องกัน

ยังไง ถ้าคนใดคนหนึ่งหายไป สมดุลก็จะเปลี่ยน ถ้ามีอะไรเสริมเข้าไป สมดุลก็จะเปลี่ยนอีก กลายเป็นสมดุลใหม่ ฉะนั้นตรงนี้คือประสิทธิผล นั่นคือเราอยู่กับใครและเราทำอะไรอยู่ แต่ถ้ามองแบบ Mechanic Approach คือการมองขยายลงไปว่ามีอะไรอยู่บ้าง หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งพร่องไปก็จะทำให้มันไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ ว่าตัวไหนจะทำให้มันขับเคลื่อนไปได้ รายงานของผมมีแค่นี้ คือเป็นรายงานที่ใช้ผลลัพธ์นำขึ้นไปสู่ราก ผมอยากรู้ว่าจริงๆ แล้ว เรื่องของการบริหารจัดการ หรือเรื่องอะไรก็ตามมีความเป็นสากลไหม คือมีรากความคิดแบบเดียวกันหรือเปล่า นั่นทำให้รู้จักอาจารย์สมคิด อาจารย์เลยชวนให้มาทำงานด้วยกัน

GM : การได้ร่วมงานกับนักวิชาการด้านบริหารธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทยตั้งแต่อายุยังน้อย ให้ประโยชน์กับชีวิตอย่างไรบ้าง

ดร. สุวิทย์ : ผมได้อาจารย์ต้นแบบที่ดี อย่างอาจารย์สมคิด อาจารย์สังเวียน (อินทร-วิชัย) อาจารย์พิพัฒน์ (พิทยาอัจฉริยกุล) ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาจารย์สมชาย (ภคภาสน์วิวัฒน์) และมีผมเป็นเด็กคนเดียว ขณะที่ทีมเป็นอาจารย์เป็นรุ่นพี่ เพราะฉะนั้นเราเลยเหมือนเอี้ยก้วย คืองงไปหมด เวลาพวกอาจารย์เขาถกกัน เขาถกเป็นเฟรมเวิร์ก อิทธิพลในตัวผมตอนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเห็นภาพที่อาจารย์สมคิด อาจารย์สมชาย อาจารย์สังเวียน อาจารย์พิพัฒน์ ถกกันในเชิงวิชาการ ในขณะที่การเรียน MBA คืออาจารย์ถกกับเด็ก แต่นี่เราได้เห็นอาจารย์ถกกันเอง ถือเป็นความโชคดีอีกอย่าง นั่นคือได้เห็นภาพที่คนอื่นไม่ได้เห็น ได้เห็นภาพการถกกันเชิงวิชาการว่า ถ้าตั้งบนสมมุติฐานอย่างนี้ใช้ไม่ได้เพราะอย่างนี้ แต่จะใช้ได้เพราะอะไร เราซึ่งเป็นเด็กได้เห็นภาพนี้ก็เกิดเป็นความประทับใจ ทำให้เริ่มสนใจการตอบปัญหาว่า ‘ทำไม’ มากกว่า ‘อย่างไร’ คืออยากคิดกลับไปที่ต้นธารแห่งความคิดไปสู่รากมากกว่าไปสู่ใบเพราะฉะนั้น ความคิดที่จะทำธุรกิจหลังเรียนจบมีน้อยมาก แม้ว่าตอนนั้นอาจารย์สมคิดจะให้โอกาสเข้าไปเรียนรู้งาน ให้ไปช่วยแกที่ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ดส์ กับที่นครหลวงเครดิต ก็ได้ประสบการณ์มาพอสมควร

GM : ทำไมตอนนั้นอาจารย์ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอก

ดร. สุวิทย์ : หลังเรียนจบ ตอนนั้นผมมีสองทางเลือก หนึ่งคือไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทไฟแนนซ์ สองคือไปเรียนต่อ โชคดีที่ไม่เลือกทางแรก ไม่อย่างนั้นได้ไปเปิดท้ายขายของแน่นอนเพราะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนั้นผมรักดีเลยไปเรียนต่อ แต่ก่อนไปเรียนต่อ อาจารย์สมคิดให้โอกาสชวนไปเขียนหนังสือ คือก่อนจบ อาจารย์สมคิดเคยเขียนหนังสือ The New Competition ร่วมกับอาจารย์ค็อตเลอร์ ทีนี้อาจารย์ค็อตเลอร์มาชวนอาจารย์สมคิดว่าอยากเอาเรื่องการตลาดมาประยุกต์ใช้ในระดับชาติไหม ตรงนี้ต้องถือว่าอาจารย์สมคิดเปิดโอกาส แกถามผม สุวิทย์สนใจไหม มาเขียนร่วมกัน ผมไม่มั่นใจว่าจะเขียนได้หรือเปล่า แต่รู้สึกว่าแกเปิดโอกาส เลยตอบตกลง แกบอกอีกว่า ไหนๆ จะเขียนเรื่องนี้แล้ว ก็ไปเรียนปริญญาเอกที่เคลล็อก (Kellogg) นอร์ทเวสเทิร์นเสียเลย ผลงานที่ร่วมกันเขียนเล่มนั้นคือ The Marketing of Nations ซึ่งเปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ค็อตเลอร์ต้องยอมรับว่าโอกาสที่เปิดกว้างทางวิชาการจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่ง

มาจากหนังสือ The Marketing of Nations เล่มนี้ ซึ่งเราไม่เชื่อว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั่วๆ ไปใช้ได้ ไม่เชื่อว่ามหภาคกับจุลภาคแยกกันได้ และเราเชื่อว่าจริงๆ แล้ว หลักของการบริหารจัดการเป็นทฤษฎีสากล ไม่ใช่ว่าการบริหารธุรกิจเป็นเรื่องของภาคเอกชน ส่วนการบริหารรัฐกิจเป็นเรื่องของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว นี่คือต้นความคิดหรือฐานคิดที่บอกว่าหลักการบริหารจัดการสามารถนำมาใช้ในระดับชาติได้ โดยเราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของ Exchange Value ว่าคุณจะผลิตอะไร คุณจะซื้ออะไร และเป็นเรื่องของการแข่งขันที่เกิดขึ้นในระดับจุลภาค ซึ่งก็จะเกิดในระดับมหภาคเช่นกัน ก่อนหน้านั้นยังไม่มีคำว่า Competi-tiveness ด้วยซ้ำ เพิ่งมามีทีหลัง

GM : พอเรียนจบแล้ววางแผนการชีวิตอย่างไรต่อ

ดร. สุวิทย์ : หลังเรียนจบ พอดีว่าบริษัทที่ปรึกษา บูซ อัลเลน แอนด์ แฮมิลตัน ต้องการคัดดอกเตอร์ 17 คนจากทั่วโลกเพื่อมาสังเคราะห์ทฤษฎีใหม่ๆ เฟรมเวิร์กใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยปกติแล้ว คนที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษามักเป็นคนจบ MBA ปริญญาเอกจะน้อย แต่ที่นี่ต้องการคนจบ PhD ให้ไปคิดต้นน้ำทางความคิดให้ ผมเป็น 1 ใน 17 คนนั้น เลยได้ไปทำงานที่บูซ อัลเลนฯอยู่ช่วงหนึ่ง การทำงานที่บริษัทที่ปรึกษาดีตรงที่ทำให้เราได้ประสบการณ์เรื่องธุรกิจทางปัญญา ซึ่งเกิดมาก่อนสังคมฐานความรู้ด้วยซ้ำ มันเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยมนุษย์และความรู้ ทำให้ผมได้เรียนรู้เยอะ ช่วงหลังถูกส่งมาเมืองไทย ผมเลยขอบริษัทอยู่เมืองไทยต่อ ไม่กลับแล้ว จากนั้นอาจารย์สมคิดจึงชวนมาช่วยทีมที่คุณทักษิณตั้งขึ้นมา รวมๆ แล้ว ผมรู้จักอาจารย์สมคิดมาร่วม 20 ปี ความเป็นศิษย์-อาจารย์ผ่านมาหลายยุค และจนถึงวันนี้ ผมก็ยังติดนิสัยเดิม คือไม่อยู่ในกรอบ ยังสนุกกับมัน ยังค้นหาตัวเองอยู่เสมอ

GM : ดร. สมคิดมีภาพภายนอกในทางการเมืองอย่างหนึ่ง แต่จากที่รู้จักดร. สมคิดมา 20 ปี ตัวตน ดร. สมคิดจริงๆ เป็นยังไง

ดร. สุวิทย์ : จริงๆ แล้ว ผมเป็นคนที่คบคนไม่มาก ส่วนใหญ่คบในแนวตั้ง ไม่รุ่นพี่ก็รุ่นน้อง รุ่นเดียวกันไม่ค่อยมี และจะคบเพียงไม่กี่คน แต่คบแล้วคบเลย สำหรับอาจารย์สมคิด สิ่งแรกที่ผมมองคือ หนึ่ง, แกมีความเป็นอาจารย์ คือยินดีที่จะสอน อดทนที่จะฟัง และยินดีที่จะให้คำติชม ซึ่งสมัยก่อนคนที่จบเคลล็อก จบนอร์ทเวสเทิร์น เรียนกับอาจารย์ค็อตเลอร์มา แถมยังเขียนหนังสือ The New Competition ด้วย ทำให้เราคิดด้วยภาพง่ายๆ ว่าน่าจะเป็นคนที่หยิ่ง หาทางเข้าถึงตัวยาก แต่เมื่อผมไปแอบเรียนกับแก ไปเคาะประตูให้อ่านรายงาน แกก็คุยกับผมเป็นเรื่องเป็นราว แกเป็นคนที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูชัดเจน

สอง, หลายๆ ครั้ง แกเหมือนเป็นมากกว่าอาจารย์ คอยให้คำปรึกษา คอยดูแล ผมโชคดีที่เจออาจารย์ดีๆ อย่าง ดี. เจน ก็เหมือนกัน ตอนที่ผมขาหัก แกขับรถไม่เป็นแต่ยังให้แฟนแกขับรถพาผมไปเรียน นี่คือศิษย์-อาจารย์ อาจารย์สมคิดก็เป็นแบบนี้ บางทีผมก็ไม่อยากเอ่ยปาก แต่แกจะใส่ใจ นั่นคือช่วงแรกของการเป็นศิษย์-อาจารย์ แต่หลังจากได้ทำงานร่วมกัน ได้นั่งถกกัน ผมว่านอกจากความเป็นอาจารย์ ยังมีความเป็นเพื่อนร่วมงานด้วย เราจะทำงานกันที่บ้านแกถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม เมื่อก่อนสูบบุหรี่ทั้งคู่ นั่งคิด มวนแล้วมวนเล่า บางทีถูกจับออกไปข้างนอกเพราะควันคลุ้งบ้านไปหมด แต่สนุกครับ เสน่ห์ของแกอยู่ตรงที่เวลาคุยกันไม่กี่คน แกจะปฏิบัติต่อเราเหมือนเพื่อนร่วมงาน เหมือนเป็นทีมงาน ไม่เหมือนแกเป็นอาจารย์ แกจะถาม เฮ้ย! ตรงนี้คิดยังไง ทำไมถึงคิดอย่างนี้ แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะ บางทีผมก็บอก อาจารย์ ผมไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่ถ้าคุยสองคน ถ้ามีคนอื่นเราก็ดูตามบริบท เพราะฉะนั้น การถกกันในเชิงวิชาการ หรือปัจจุบันในเชิงนโยบาย เชิงความคิดอ่านทางการเมือง เลยเป็นลักษณะของเพื่อนคุยกับเพื่อน แกเป็นคนใจกว้าง สามารถ ถกกับแกได้ แต่ความเป็นศิษย์-อาจารย์ยังคงมีอยู่

GM : ระหว่างอาจารย์กับ ดร. สมคิดซึ่งเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ดร. สุวิทย์ : ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์เป็นความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากผมเป็นคนที่มองอะไรแบบมหภาค แต่อาจารย์สมคิดจะมองลึก แกมีความลึกซึ้ง อย่างผมมองระบบ แกจะมองคน หรือบางทีแกจะมองเป็นขั้นเป็นตอน แต่ผมจะข้ามขั้นไปเลยว่ามันควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างบางเรื่องที่เป็นวิชาการมากๆ เวลาผมงมอยู่ แกจะบอกว่า ทำไปทำไม มันตอบอะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้น หลายๆ เรื่องเวลาร่วมงานกันมันมีพลัง เป็นความร่วมมือในเชิงสร้างสรรค์ อย่างในหนังสือ The Marketing of Nations ผมจะนั่งเขียนโครงแล้วคุยกับแก จากนั้นค่อยไปคุยกับอาจารย์ค็อตเลอร์ ช่วงนั้นแกกลับมามีสภาพเหมือนเป็นนักศึกษา คือสะพายเป้ไปห้องสมุด นั่งค้นคว้าเพื่อเขียนตำราด้วยกันมาช่วงหลัง อาจารย์บอกว่าแกต้องเข้าการเมือง ให้ผมเข้าไปช่วย ผมมีโอกาสคุยกับอาจารย์อุตตม (สาวนายน) เรายังคุยกันว่ายังไงเราก็ต้องส่งอาจารย์ให้ถึงฝันให้ได้ถ้าจะไปช่วย ตอนนั้น ผมยังทำงานอยู่ที่บูซ อัลเลนฯ เป็นช่วงวิกฤติที่ค่าเงินบาท อ่อนมาก เงินเดือนผมจากสองแสนกว่ากลายเป็นเกือบห้าแสนบาท จนฝรั่งต้องมาบอกว่าเปลี่ยนเป็นเงินไทยได้ไหม ผมบอก…โน แต่ตอนนั้นก็ยอมทิ้งเงินก้อนใหญเพื่อมาช่วยแก เงินเดือนหายไปสักหนึ่งในห้า อาจารย์ต้องฝากให้ไปอยู่ตามบอร์ดต่างๆ เพราะเราไม่มีเงินเดือนที่แท้จริง ตอนหลังได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีถึงได้เงินเดือน 63,000 บาท ถือว่าได้อีกรสชาติหนึ่ง ตั้งแต่อาจารย์ลงมาเล่นในเชิงการเมือง ผมเชื่อว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ความสัมพันธ์ที่แกกับผมมีไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพียงแต่ว่าแกเครียดมากขึ้น

GM : ในฐานะคนใกล้ชิด อาจารย์มองพัฒนาการของ ดร. สมคิดอย่างไร

ดร. สุวิทย์ : ผมเคยคุยกับอาจารย์สมคิดนานมาแล้วว่า อาจารย์นี่แปลก ทำไมขึ้นจุดสูงสุดเร็วเหลือเกิน นั่นคือหลังจากที่แกเขียนหนังสือ The New Competition เพราะตอนนั้นยังไม่มีคนไทยที่เขียนหนังสือระดับโลก ผมถามแกว่า แล้วก้าวต่อไปของอาจารย์คืออะไร จนกระทั่งแกมาเป็นรัฐมนตรีฯคลัง ผมก็ยังถามว่า ก้าวต่อไปของอาจารย์คืออะไร หลายๆ อย่างเหมือนดวงชะตาชักนำแกไป ณ วันที่เราคุยกันถึงหนังสือ The New Competition ผมยังไม่คิดเลยว่าแกจะมาทางการเมือง เพียงแต่รู้สึกว่าอาจารย์มองอะไรไม่เหมือนกับอาจารย์คนอื่นและถึงจุดสูงสุดเร็ว ผมเลยสงสัยว่าแกจะไปทางไหนต่อ แต่ตอนนั้นยังมองไม่ออกว่าจะออกมารูปนี้เมื่อไม่นานมานี้คุยกัน แกถามว่าทำงานกันมากี่ปีแล้ว ผมบอก 20 ปี เพราะฉะนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง และเป็นลักษณะที่เกื้อกูลกันมากๆ แกเป็นคนน่ารัก แกเคยบอกผมว่าถ้าผมยังไม่แน่ใจอะไรมากมาย อย่ามาลงการเมือง โชคดีที่แกกันผมออกมาจากการเมือง ผมเลยกลายเป็นนักวิชาการที่เข้าไปช่วย ซึ่งเป็นภาพที่ดี เพราะพอผมกลับมาสู่ความเป็นนักวิชาการ ตัวตนผมยังอยู่ ถ้าตอนนั้นผมไปทางการเมือง วันนี้คงพูดไม่ได้อย่างนี้ เพราะจะกลายเป็นว่าเรามีเป้าหมายอะไรหรือเปล่า

GM : อะไรทำให้ ดร. สมคิดซึ่งเป็นนักวิชาการมาก่อน พอเข้าไปเล่นการเมืองแล้วมีเสน่ห์ มีบารมีทางการเมือง

ดร. สุวิทย์ : ความจริงใจ ความจริงใจเป็นสิ่งแรก คือแกไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยอาชีพ ไม่ได้มองการเมืองเป็นการเมือง และไม่ใช่นักวิชาการที่ไปเป็นนักการเมือง

แกมีตัวตนของแก ตอนที่คุยกันเรื่องหนังสือ The New Competition แรงดลใจของอาจารย์คือแกเห็นว่าประเทศอื่นเขาสู้กันยังไง ไม่ว่าจะอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น แล้วประเทศไทยล่ะอยู่ไหน จนกระทั่งเราเอาเล่ม The Marketing of Nations เป็นคำตอบว่าถ้าเราจะสร้างชาติ สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ เราจะใช้หลักการตลาดอย่างไร ความจริงคืออาจารย์มีความคิดความอ่านเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง การสร้างความสามารถในการแข่งขันมานานแล้ว ต้องการจะทำการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ไปสู่อีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่อยู่ดีๆ บอกว่า ผมจะเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้น การเมืองเป็นเรื่องมาทีหลัง หลังจากได้พิจารณาแล้วว่างานทางการเมืองจะเป็นฐานให้แกสร้างความมั่งคั่งของประเทศขึ้นมาได้ โดยอาจารย์สั่งสมประสบการณ์จากการไปนั่งในบอร์ดต่างๆ เรียนรู้จากเอกชน จากตลาดหลักทรัพย์ จนภายหลังคุณทักษิณชวนไปทางการเมืองเต็มตัว จึงต้องถือว่าคุณทักษิณเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้เล่นในสิ่งที่แกมีความมุ่งมั่นส่วนที่สอง ด้วยความที่แกไม่ใช่นักการเมืองโดยแท้ คือไม่ได้คิดที่จะสะสมทุน สะสมคน สะสมอะไร แกเพียงแต่ดูว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ แกจะเล่นยังไง ซึ่งมันพอดีกับสมการทางการเมืองบางอย่างที่เปิดโอกาสให้ต้องเอาคนอย่างอาจารย์สมคิดมาช่วย อย่างเรื่องของกระทรวงการคลัง ใครจะคิดว่านักการตลาดอย่างอาจารย์สมคิดจะมาเล่นจุดนี้ ตรงนี้ผมมองว่ามาจากการที่แกมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศมากกว่าความมุ่งมั่นหรือความทะเยอทะยานทางการเมือง นอกจากนี้ อาจารย์ลงไปเล่นเชิงนโยบาย (Policy-based) ไม่ใช่เชิงการเมือง (Political-based) ซึ่งการเล่นเชิงนโยบายทำให้การออกตัว การขายมันง่าย เพราะว่าจริงใจ บอกเลยว่าเราคิดอย่างนี้ๆ เราอยากให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันแบบนี้ มันพูดตรงๆ ได้ ไม่ต้องพูดเอาใจคนโน้นคนนี้แบบนักการเมืองเสน่ห์อย่างที่สามก็คือ แกเป็นคนที่สามารถผสมผสานการมองหลายๆ มิติได้อย่างลงตัว มิติแรกคือ แกมีอุดมการณ์หรืออุดมคติ (Ideology) ว่าจะไปทางไหน ในขณะเดียวกันแกมีมุมมองของความเป็นจริง (Realistic) คือมองความจริงว่าเป็นยังไง เพราะถ้ามีอุดมคติอย่างเดียว จะเป็นนักวิชา-การ ในขณะที่ถ้ามองความจริงอย่างเดียวก็เป็นนักการเมือง แต่แกสามารถผสมผสานอุดมคติกับความจริงเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมองด้านที่จับต้องปฏิบัติได้จริง (Pragmatic) ตัวอย่างเช่น ลูกพาแม่เที่ยว นี่เป็นโปรแกรมที่แสดงความกตัญญู ในขณะเดียวกันถ้าใครดูแลพ่อแม่สามารถหักภาษีได้สองเท่า นี่คือเป็นรูปธรรม จับต้องได้ หรืออย่างโอท็อป เราทำเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่แค่เพื่อกระแส นอกเหนือจากมิติของอุดมคติ ความจริง และความเป็นนักปฏิบัติแล้ว ตัวแกเองยังเป็นนักยุทธศาสตร์ (Strategist) ด้วย สามารถจับโน่นจับนี่มาผสมผสานกัน ผมว่านี่คือความครบเครื่องของแกอีกอย่างหนึ่งคือแกมีทีมงานที่ดี การเป็นคนดีทำให้แกได้ทีมที่ดี อย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ (วิบูลย์สวัสดิ์) ท่านยุวรัตน์ (กมลเวชช) ปลัดสมพล (เกียรติ- ไพบูลย์) และอาจารย์อุตตม ส่วนผมนี่เด็กสุดก็ได้เข้าไปเรียนรู้เพราะเป็นลูกศิษย์ ความดีของทีมนี้คือ หนึ่ง, ไม่ได้หวังผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นทีมที่มีใจกับอาจารย์ ความที่มีใจกับแกทำให้ทำงานกันง่าย ถ้าไม่มีใจ มีแต่ผลประโยชน์ มันยาก เพราะต้องเอาอะไรมาแลกเปลี่ยนกัน แต่ทีมเราทำงานด้วยใจให้อาจารย์จริงๆ ยกตัวอย่าง ทีมงานอาวุโสอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์หรือท่านปลัดสมพล ตอนที่มีตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี สองท่านนี้ต้องได้ แต่พวกท่านกลับเปิดโอกาสให้ผมกับอาจารย์อุตตมได้ คือพวกเราอยู่กันแบบเป็นครอบครัว ทีมงานของอาจารย์ สมคิดมีเสน่ห์ตรงนี้ คือเรียนรู้กัน ช่วยเหลือกัน แลกเปลี่ยนกัน มีคนยุคเก่ายุคใหม่อยู่ร่วมกัน เอาประสบการณ์และความรู้มาผสมผสานกันได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้อาจารย์สมคิดแตกต่างจากคนอื่นอีกส่วนหนึ่งคือรากเหง้า อาจารย์สมคิดมาจากครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้าง จน มีพี่น้อง 11 คน แกเคยเล่าให้ผมฟังว่าบ้านที่แกอยู่ที่ทรงวาดเป็นบ้านสองชั้นครึ่ง นอนกัน 22 คน เรียกว่าตื่นมาเดินเหยียบกันได้เลย เนื่องจากความยากจนทำให้คุณพ่อต้องฝากแกไปให้คุณอาเลี้ยง คุณอามีลูกอีกคนก็ให้อาจารย์สมคิดช่วยดูแล แกเลยมีความเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็ก ชอบสอนคน คงมาจากต้องสอนน้องที่แกต้องดูแล สั่งสมความรับผิดชอบมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น ความคิดความอ่าน นโยบายที่อยากช่วยเหลือคนยากจน อยากช่วย SMEs แกมาด้วยใจ

คุณลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้อาจารย์สมคิดไม่เหมือนใคร แกไม่ใช่นักการเมือง ถ้าเทียบกับคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) คุณอภิสิทธิ์เติบโตเพื่อมาเป็นนักการเมือง

แต่อาจารย์สมคิดไม่ได้เติบโตมาเพื่อเป็นนักการเมือง ไม่ใช่คนอันตราย ทำให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกอบอุ่น รู้สึกนอนใจได้

GM : แล้วส่วนผสมอย่าง ดร. สมคิด พอไปทำงานกับคนอย่างคุณทักษิณ ผลออกมาเป็นยังไง

ดร. สุวิทย์ : ต้องเรียนตรงๆ ว่าคุณทักษิณเป็นคนเปิดโอกาสให้อาจารย์สมคิด เป็นคนที่เห็นศักยภาพของอาจารย์สมคิด คุณทักษิณไม่ได้จบมาทางด้านธุรกิจ จบมาทางสายตำรวจ แต่แกเป็นคนฉลาด อาจารย์สมคิดเป็นคนป้อนข้อมูลเรื่องวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ให้คุณทักษิณ จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของสองคนนี้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน อาจารย์สมคิดเป็นคนที่มองขาดในแง่ของอุดมคติผสมผสานกับความเป็นจริง ซึ่งจะง่ายต่อคุณทักษิณ เพราะเวลาทำอะไรก็ตามสามารถอธิบายได้ในหลายมิติ ไม่ใช่มิติเดียว ไม่อย่างนั้นมันจะเทไปข้างใดข้างหนึ่ง อย่างตอนหลัง บางโครงการคุณทักษิณไปฟังคนอื่นโดยไม่มีอาจารย์สมคิด แนวคิดก็จะเทออกไปทางการเมืองล้วนๆ อาจารย์สมคิดยังแอบไปแก้ อย่างเรื่องโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน (SML) หรือกองทุนหมู่บ้าน คุณทักษิณแค่คิดว่าหมู่บ้านมีสามแบบ คือ เล็ก กลาง ใหญ่ จะแจกยังไง แต่อาจารย์สมคิดจะคิดต่อ บอกว่า ถ้างั้นเอาเศรษฐกิจพอเพียงลงไปเลย เป็นการสร้างศักยภาพของหมู่บ้าน คือแทนที่จะป้อนเขา ไปสอนเขาตกปลาดีกว่าหลายเรื่องคุณทักษิณมีความคิดที่ดี อาจารย์สมคิดเป็นคนที่สามารถถอดรหัสและเติมเข้าไปใหม่ บางเรื่องแก้ให้ด้วย แต่การแก้บางครั้งก็ทำให้คุณทักษิณโกรธ เพราะเขาไม่ได้อยากทำตามนั้น อย่างโอท็อป เราเห็นที่ทำตอนแรกแล้วคิดว่าต้องเละแน่ เราถึงพยายามเข้าไปทำให้เขาอยู่อย่างยั่งยืนให้ได้ เริ่มให้เขาจัดชั้น แยกสินค้า ดูคุณภาพว่าสองดาว สามดาว หรือห้าดาว ถ้าสองดาว เราลงไปซ่อมให้ดีขึ้น ถ้าสามดาวทำให้เป็นห้าดาวได้ เราส่งคุณถึงฟ้าเลย คือเราใช้หลักการบริหารจัดการลงไปจับในเรื่องของนโยบาย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นโยบายเท่านั้น อีกอย่างคือบ้านเราอย่าไปเชื่อข้าราชการมาก คนที่มีใจก็มี แต่บางเรื่อง บางคนแค่ต้องการทรัพยากร คือถ้ามีเงินผมทำให้ แต่ดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่เราไม่ได้ต้องการแค่นั้น เราต้องการให้ข้าราชการทำงานด้วยใจจริง โอท็อปจึงเป็นตัวอย่างแรกที่สี่ห้ากระทรวงทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยการนำของอาจารย์สมคิด ซึ่งเรามองว่ามันคือบูรณาการ

หลักสำคัญอีกอย่างของโอท็อปคือ ในที่สุดแล้วเราต้องการให้ชุมชนยืนได้ด้วยขาตัวเอง ไม่ใช่มีแค่นโยบายโอท็อปแล้วก็จบ เราเอามาคิดต่อว่าหลักคิดที่จะใส่ลงไปคืออะไร เพราะถ้าหลักคิดตอนแรกถูก ถึงจะเสียเวลาหน่อย แต่หลักนั้นจะถูกตลอด ต่างจากถ้าหลักคิดตอนแรกผิด มันก็จะหลงทางเข้าป่าไป อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในการทำงานกับอาจารย์สมคิด ความซี้ซั้วจะไม่มี อาจารย์จะถอดรหัสนโยบายก่อนว่ามีอะไรบ้างก่อนที่จะลงมือทำ เราค่อนข้างจริงจังในเรื่องเหล่านี้ เหมือนเรื่องงบประมาณผู้ว่าซีอีโอ เรารู้อยู่แล้วว่าต้องหลับตาข้างหนึ่ง เพราะงบส่วนหนึ่งต้องถูกแบ่งให้ ส.ส. เราบอกแบ่ง ส.ส. ได้ไม่เป็นไร แต่ห้ามเอางบลงจังหวัดอย่างเดียว กันออกมาเลย 30 เปอร์เซ็นต์ไปลงที่หน่วยย่อย เพราะไม่ใช่ว่าทุกจังหวัดต้องมีสนามบิน แต่ละจังหวัดควรมีอะไรที่แตกต่าง อะไรที่จำเป็นร่วมกันก็เอามาไว้ตรงกลาง เป็นต้น อย่างหลักคิดนี้ นโยบายซีอีโอมาจากนายกฯจริง และท่านต้องการให้มันออกมา แต่เราต้องมานั่งเกลาเรื่องพวกนี้ใหม่ให้มันอยู่อย่างยั่งยืนได้ อย่างเรื่องโอท็อปหรือกองทุนหมู่บ้าน เราถึงต้องมาตั้งคอนเซ็ปต์ 3 Ps คือ Place Product People เพราะถึงวันหนึ่ง โอท็อปไม่ใช่สินค้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคน และบางเรื่องก็เป็นสถานที่ เช่นการท่องเที่ยวหมู่บ้าน ถ้าเรามีส่วนผสมที่ลงตัว มันจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ แต่ถ้าเราคิดแค่ว่าโอท็อปต้องขายให้ได้ อีกสักพักก็เละเพราะฉะนั้น การทำงานของเราเป็น value creation ในเชิงนโยบาย อย่างเรื่องของการพยายามสร้างนวัตกรรม เราบอกเลยว่า โอเค คุณไปรวมตัวกัน แล้วเรามา matching funds แล้วก็หักภาษีไปเลย 200 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เมื่อก่อนต้องมานั่งตรวจสอบแล้วบอกว่า เราเชื่อพวกคุณ พวกคุณเอาไปบริหารกันเอง คือหลายเรื่องมันมีแก่นระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ ส่วนใหญ่เราจะทำงานตรงกลาง นี่เป็นส่วนที่ทำให้งานของอาจารย์สมคิดแตกต่างจากคนอื่น ผมไม่ได้บอกว่าคนอื่นไม่ดี แต่อย่างน้อยเราถอดรหัสนโยบายเพื่อสร้างระบบที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติต่อไป

GM : มีโครงการอะไรที่ทำแล้วไปขัดแย้งกับคุณทักษิณ ทำให้เกิดความไม่พอใจ มีจุดแตกหักในเชิงความสัมพันธ์ไหม

ดร. สุวิทย์ : ในเชิงนโยบายมีอยู่บ้าง ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในเรื่องของผลประโยชน์ เราไม่รู้ แต่คุณทักษิณในช่วง 2 ปีแรกกับช่วงหลังๆ นี้ไม่เหมือนกันเลย

คนที่รายล้อมท่านก็เปลี่ยนไป ซึ่งมีส่วนทำให้สองคนนี้มีระยะห่างระหว่างกัน ช่วงหลังหลายๆ เรื่องถูกชงโดยคนที่อยู่รอบๆ ไม่ใช่อาจารย์สมคิดแล้ว บางครั้งคุณทักษิณก็แสดงความไม่พอใจบ้างโดยการโยกไปโยกมา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

GM : ช่วง 2 ปีแรกและช่วงหลัง คุณทักษิณเปลี่ยนไปอย่างไร

ดร. สุวิทย์ : 2 ปีแรกต้องเรียนว่า หนึ่ง, ทุกคนมุ่งมั่นที่จะแก้วิกฤติ เราทำงานหนักโดยเฉพาะตอนที่อยู่กระทรวงการคลัง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ มั่นคงมาก ในขณะเดียวกันเริ่มมีความหวังว่าเศรษฐกิจเราจะฟื้นแล้ว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เกิดลักษณะอย่างนี้ขึ้น คือการเมืองมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะฉะนั้น ผลงานในช่วง 2 ปีแรกของคุณทักษิณจึงโดดเด่น คุณทักษิณจะมีแนวคิดใหม่ๆ ลูกเล่นใหม่ๆ มาเรื่อย แต่ผมว่าจุดที่ทำให้แกเปลี่ยนไปคือช่วงหลังเอเปค ทั้งๆ ที่ในช่วงเอเปค ภาพของคุณทักษิณเป็นภาพที่เราอยากเห็น นั่นคือเป็นผู้นำในภูมิภาค แม้กระทั่งสิงคโปร์ยังเริ่มมองว่าคุณทักษิณคือผู้นำภูมิภาคคนต่อไป ซึ่งแกมีคุณสมบัติที่จะเป็น แต่พอหลังเอเปคปุ๊บ ผมไม่รู้ว่าแกลืมฐานรากอะไรไปหรือเปล่า หรือเพราะคนรอบข้างที่เปลี่ยนไป แกเลยไม่เหมือนเดิมแล้ว

GM : เพราะอะไรถึงเป็นช่วงหลังการประชุมเอเปค

ดร. สุวิทย์ : เหมือนช่วงเอเปคเป็นจุดสูงสุด คือทั้งในแง่ผลงานและความเชื่อมั่น แต่หลังจากนั้น เริ่มมีคนรอบข้าง ญาติสนิทมิตรสหายเข้ามา ตัวคุณทักษิณเองเป็นยังไง เราไม่ทราบ แต่เรารู้สึกว่าคนรอบข้างแกมีกลิ่น คือในขณะที่แกพยายามจะเข็นผลงานไปให้สุด แต่ความเชื่อมั่นที่มีต่อพวกเราได้ลดลงแล้ว ดังนั้น ไม่ยั่งยืนแน่ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีผลงาน แต่ความเชื่อมั่นลดลงมานานแล้ว เพราะฉะนั้นผลงานเลยลดลงตาม ผมถึงเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่เราเชื่อมั่นต่อกันหรือเปล่า ช่วงหนึ่งอาจเป็นเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ แต่ภาพ-ลักษณ์ไม่ยั่งยืนหรอกหากภาพลักษณ์นั้นไม่สามารถทำให้งานออกมาได้ ในช่วงรัฐบาลคุณทักษิณต้องยอมรับว่าไม่ใช่มีแค่ภาพลักษณ์ แต่มีผลงานด้วย เลยทำให้ยั่งยืนมาได้นานพอสมควร เรื่องผลงานไม่มีปัญหา เรื่องประสิทธิภาพไม่มีปัญหาผมว่าไม่มีรัฐบาลไหนที่กล้าเล่นกับราชการจนราชการกลัว ไม่มีรัฐบาล ไหนที่พูดแล้วอาเซียนฟัง ประเทศอื่นฟัง ไม่มีรัฐบาลไหนที่เอาจริงเรื่องยาเสพติดแม้ว่าอาจดูรุนแรงไปหน่อย จะบอกว่าเป็นประชานิยมอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดมาตายที่เรื่องรากฐาน ผมหวังว่าในอนาคตเราจะได้นายกฯที่เก่งอย่างคุณทักษิณพร้อมทั้งมีคุณธรรมด้วย ผมเชื่อว่าคนยังอยากได้นายกฯเก่งแบบคุณทักษิณ แต่ก็รู้สึกว่ายังมีบางอย่างขาดหายไปเช่นเรื่องความโปร่งใสหรือคุณธรรม คุณทักษิณเป็นยังไงเราไม่ทราบ แต่นี่คือภาพที่เกิดขึ้น

GM : ถ้าให้อาจารย์มองในฐานะนักวิเคราะห์ อะไรที่ทำให้คุณทักษิณเปลี่ยนไป หรือไม่ได้เปลี่ยน แต่ฐานเดิมเป็นแบบนั้น

ดร. สุวิทย์ : ผมว่ามีสองสามปัจจัย ปัจจัยหนึ่งคือ คนเราพลาดกันได้ พอถึงจุดหนึ่งคนเราอาจจะมีความมั่นใจเกินไป มั่นใจว่ามี 17 ล้านเสียง มั่นใจว่าควบคุมระบบราชการไว้ได้แล้ว ความมั่นใจเหล่านี้ดี ถ้าเป็นอย่างลีกวนยู คือยอมเปลี่ยนประเทศไปเลย ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าอย่างอื่นคงที่ ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้ประเทศไทยพัฒนา นอกจากว่าอยากจะใช้เวลากับมันแล้วก็ค่อยๆ เตาะแตะๆ ไป แต่ผมเชื่อว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย มีวิถีที่จะพัฒนาประเทศแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องลอกกัน มันมีหลายโมเดล และอย่าไปบ้าจี้ตามฝรั่ง ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์กินไม่ได้ แต่อาจจะเท่ เหมือนอินเดีย แต่อินเดียสู้จีนไม่ได้เลยรูปแบบของคุณทักษิณเป็นรูปแบบที่เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่อันตรายตรงที่มันคาบลูกคาบดอกว่าจะใช้อำนาจนั้นอย่างไร ถ้าใช้อย่างผิดวิธี จะไปไกลเลย เหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ถ้าใช้อำนาจอย่างเหมาะสมและประคองไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นคนละเรื่องเลย นั่นคือถ้าไม่สะดุดขาตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณทักษิณสะดุดขาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ซึ่งน่าเสียดาย

ส่วนหนึ่งมาจากความมั่นใจเกินไป เมื่อเริ่มรู้สึกว่าควบคุมได้ มันจะกลายเป็นกิจวัตร พูดอะไรไปเป็นเหมือนพระเจ้า แต่ไม่ใช่ ความจริงยิ่งคุณมีอำนาจเท่าไร คุณต้องยิ่งนอบน้อมเท่านั้น มันเป็นสัจธรรม

ปัจจัยที่สอง ผมว่ามาจากการที่ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์แล้ว แต่ท่านยังไม่เปลี่ยน จริงๆ แล้ว บทที่หนึ่งในหนังสือ Thailand Stand-Up ผมเขียนเอาไว้ว่า

4 ปีแรกซ่อม 4 ปีต่อไปสร้าง 4 ปีแรกเราแฮปปี้ แต่ไม่ได้บอกว่ายุทธศาสตร์ต้องไม่เปลี่ยน ความเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดเวลา คุณไม่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น 4 ปีจากนี้ไปคุณจะประชานิยมอย่างเดียวไม่ได้แล้ว 4 ปีแรกคุณอาจต้องใช้ประชานิยมเยอะเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่คุณต้องค่อยๆ ถอนยา ต้องค่อยๆ สร้างขีดความสามารถ อย่างเรื่อง SML ที่อาจารย์สมคิดแอบไปทำ คือต้องการยกระดับโดยการเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปเพื่อสร้างความสามารถในชุมชน เราคิดเรื่องลด ละ เลิก มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ตอนนี้เรื่อง SML ถูกป้ายสีไปหมดแล้วเราคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว ว่าให้พึ่งพาตัวเอง พึ่งพากันเอง รวมกันเป็นกลุ่ม ในเฟสที่สอง เราบอกว่าต้องมี 4 อย่าง หนึ่ง, คือเพิ่มโอกาส แต่ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มขีดความสามารถ และต้องปรับนิสัย คือให้ลด ละ เลิก และถ้าเป็นไปได้ต้องเชื่อมโยงเข้าไปสู่โลก นี่คือยุทธศาสตร์ใหม่ในช่วงที่สอง ก่อนหน้านี้เราให้โอกาส แต่เราก็โปรยเงินไปเยอะ นั่นเพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ แต่ในช่วง 4 ปีหลัง โปรแกรมลด ละ เลิก ต้องเกิด และต้องพัฒนาขีดความสามารถ รวมทั้งต้องใช้บันไดสามขั้นเศรษฐกิจพอเพียง คือพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง รวมกันเป็นกลุ่ม

ฝังเข้าไป ตอนช่วงเลือกตั้งมีใช้อยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ กลายเป็นโครงการอาจสามารถอะไรไม่รู้ คนละเรื่องกันเลย ซึ่งนั่นเป็นคนละแนวคิดกับของเรา

GM : ซึ่งตอนนั้นความสัมพันธ์เริ่มมีระยะห่างแล้ว

ดร. สุวิทย์ : มีระยะแล้วพอสมควร แต่พูดอย่างยุติธรรม ตอนนั้นคุณทักษิณก็ให้โอกาสผมทำเรื่องโลกาภิวัตน์ จนออกมาเป็นหนังสือ จุดเปลี่ยนประเทศไทย เรื่องนี้เคยเสนอคุณทักษิณนานแล้ว เป็นไอเดียง่ายๆ เรื่อง in-out out-in เชื่อไหมว่าต่อให้ค่าเงินบาทแข็งแค่ไหน ถ้าสู้แบบ out-out เราไม่ต้องกลัวเรื่องค่าเงิน เพราะทั้งสี่ส่วนจะสมดุลกัน ตอนที่คุณทักษิณมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้ ผมทำออกมาเป็นข้อแนะนำสามสี่เรื่อง แต่ยังไม่ทันได้เอาไปใช้เท่าไหร่ ก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน

GM : แสดงว่าช่วงที่โยก ดร. สมคิดไปมาเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้

ดร. สุวิทย์ : จริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณทักษิณกับอาจารย์สมคิดไม่ได้เลวร้ายนักในช่วงต้น แต่ในช่วงหลัง เห็นชัดเลย โดยเฉพาะช่วงทักษิณ 2 ระยะห่างระหว่างคุณทักษิณกับอาจารย์สมคิดมากพอสมควรทีเดียว ห่างมากในลักษณะที่ว่า หนึ่ง, เวลามีอะไรปุ๊บ คุณทักษิณจะมีวงในของแกอย่างคุณเนวิน คุณยงยุทธ หมอมิ้ง เป็นต้น สอง, ช่วง 2 ปีหลัง ก่อนการปฏิวัติ อาจารย์สมคิดแทบไม่ได้เข้าพรรคเลย ทำงานอย่างเดียว

GM : ความสัมพันธ์ย่ำแย่ขนาดนี้ ทำไมตอนเกิดวิกฤติ ดร. สมคิดถึงไม่ลาออก

ดร. สุวิทย์ : ตอนนั้นแกคิดมาก ผมได้คุยกับแก แกบอกว่าคนที่ทำให้แกมาทำงานนี้ได้ก็คือคุณทักษิณ แล้วตอนนี้คุณทักษิณก็เหมือนคนไข้ที่อยู่ในไอซียูแล้ว แกเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ถ้าดึงออกซิเจนออก คุณทักษิณตายแน่นอน แต่คำถามคือแกดึงได้หรือเปล่า ในเชิงจริยธรรม ไม่ได้ และคำว่าช่วยชาตินี่ ตอนนั้นในความจริงเป็นอะไรก็ยังไม่รู้ คืออารมณ์มันพาไปเสียเยอะ เพราะฉะนั้น แกมองว่าคุณทักษิณสภาพย่ำแย่ อยู่แล้ว ถ้าตอนนั้นแกออกมา คงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลล้ม เพราะก่อนหน้านี้ก็หายไปทีละคนๆ อยู่แล้ว แต่แกเลือกที่จะไม่ทำเพราะมันผิดหลักมนุษยธรรม คือแกรู้สึกว่า เขาเป็นคนที่สร้างคุณขึ้นมา คุณจะทำลายเขาง่ายๆ อย่างนั้นเลยหรือ ณ วันนี้ มองกลับไป ถ้าตอนนั้นอาจารย์สมคิดลาออกจริง แล้วตอนนี้แกคิดจะเล่นการเมือง แกก็ต้องถูกมองว่าเป็นคนเนรคุณ ซึ่งเรื่องเนรคุณเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนไทยรับไม่ได้ นี่เป็นเรื่องรากฐาน เป็นคำถามในเชิงปรัชญา ในเชิงหลักการ ไม่ใช่ปัญหาในเชิงการเมืองแค่ว่าคุณเดินออกมา ไอ้นั่นก็ตายแล้ว ง่ายๆ อย่าคิดมาก แกไม่คิดแบบนั้น แกเกิดมาเพราะคนคนนี้ แล้วจะให้ฆ่าคนที่ทำให้คุณเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

GM : แต่ทำไมถึงจุดหนึ่ง หลังจากปฏิวัติ นายกฯพลเอกสุรยุทธ์มาชวนให้ดร. สมคิดไปช่วยงาน ทำไมแกถึงกระโดดเข้าไปช่วยรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะทหารซึ่งปฏิวัติรัฐบาลเก่าออกไป

ดร. สุวิทย์ : หนึ่ง, อย่างที่บอก อาจารย์สมคิดไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แกคือคนคิดนโยบาย ความที่แกไม่ใช่นักการเมือง แกมองว่าแกเข้ามาทำงานการเมือง ฉะนั้น เมื่อนายกฯทักษิณจบไป แกก็ออกมา ตอนนั้นมีหลายคนให้แกเป็นศาสตราพิชาน (Distinguished Professor) รวมถึงที่เคลล็อกด้วย นอกจากนี้ จริงๆ แล้ว อาจารย์สมคิดกับท่านสุรยุทธ์มีการติดต่อกันพอสมควร สมัยที่ท่านยังเป็นองคมนตรีก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ้าง ซึ่งในหลายๆ ครั้ง อาจทำให้คุณทักษิณเคืองด้วยซ้ำ แต่เมื่อผู้ใหญ่เขาเชิญมา คุณจะไม่ไปก็ไม่ได้ ประเด็นคือพอถึงจุดนี้ พลเอกสุรยุทธ์เชิญอาจารย์สมคิดไปกินข้าว อาจารย์สมคิดได้ทำข้อแนะนำไปให้ท่าน 6-7 ข้อ ยกตัวอย่างข้อหนึ่งคือ เวลาท่านเข้า ครม. ท่านต้องมีทีมงานกรองให้ก่อน เพราะหลายครั้งหลายเรื่องกลายเป็นระเบิดอยู่ใน ครม. เนื่องจากรัฐมนตรีขิงแก่รับเรื่องต่อมาจากราชการ ซึ่งตอนนี้อยากได้อะไรก็จะรีบเอา พลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกฯที่ไม่เคยเตรียมการเพื่อเป็นนายกฯ ท่านจึงไม่มีทีมกรองข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่แนะนำไปและกลายเป็นเรื่องคือ ท่านไม่ควรไปต่อกรกับคุณทักษิณ ท่านมีหน้าที่บริหารบ้านเมือง เรื่องคุณทักษิณให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจัดการไป เพราะในช่วงแรก รัฐบาลนี้ยังจะชนกับคุณทักษิณอย่างเดียว กลายเป็นวันๆ ทำงานเพื่อต่อสู้กับคุณทักษิณ แทนที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง อาจารย์เลยแนะนำไปว่าโฟกัสของท่านต้องมุ่งไปที่การบริหารราชการแผ่นดิน เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของคุณทักษิณ เรื่องที่สามคือ ความเชื่อมั่นในประเทศสำคัญก็จริง แต่นอกประเทศ

ก็สำคัญด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้ท่านไปผูกมิตรกับอย่างน้อย 3-4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ญี่ปุ่นเป็นหัวใจในการลงทุนของเรา ส่วนจีนอย่างน้อยเวลามีอะไรเขาจะรักเรา เขาจะอธิบายในประชาคมโลกแทนเรา อเมริกาต้องเอาไว้ เพราะเขากำลังเพ่งเล็งเราเรื่องประชาธิปไตยเนื่องจากมีการปฏิวัติ ต้องไปคุยให้เขาเข้าใจว่าจะจบเมื่อไหร่ จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ท่านสุรยุทธ์เลยบอก ดีเลย ให้มาช่วยกันหน่อยที่เป็นเรื่องขึ้นมาก็เพราะหลังปฏิวัติ ผมกลับมาที่ศศินทร์ แล้วก็จัดงานงานหนึ่งขึ้น บอกอาจารย์สมคิดให้ช่วยมาพูดให้หน่อย เพราะผมจะตั้งสถาบัน SIGSA (Sasin Institute for Global and Social Affair) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศศินทร์กับเคลล็อก และในฐานะที่อาจารย์ได้ศาสตราพิชานจากเคลล็อก อาจารย์ก็จะมาเป็นประธานของบอร์ดนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นช่วยมาเป็นคีย์โน้ตให้หน่อย เราคุยกันเยอะว่าแกจะพูดเรื่องอะไร เสร็จแล้วไปๆ มาๆ มีผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าให้พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ฝรั่งเริ่มโจมตีเยอะ อาจารย์สมคิดเลยบอกให้ไปเชิญ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล มาพูด แต่ผมรู้สึกว่ามันคนละอารมณ์กับท่านอื่นที่เชิญมา อย่างอาจารย์ศุภวุฒิ สายเชื้อ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่แกบอกว่า เฮ้ย! ยังไงก็ต้องมี ผมก็โทรฯไป แต่ ดร. สุเมธบอกว่าแกไม่ว่าง ผมเลยเสนออาจารย์สมคิดว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน เชิญอาจารย์เกษม วัฒนชัย เพราะโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าแกมีมุมมองและหลักที่กว้างเหมือนกัน แต่ก็ติดต่อไม่ได้ ในที่สุดเลยคุยกันว่า อาจารย์พูดเองเลยไหม แกบอกเอาก็เอาเผอิญวันนั้นเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศแต่งตั้งอาจารย์สมคิด ผมเลยถูกเหมารวมว่ามีแผนหรือเปล่า ที่ศศินทร์ก็ต่อว่าผมใหญ่ว่าเอาการเมืองเข้ามาที่ศศินทร์ เป็นเรื่องเป็นราว ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย อาจารย์เพียงแต่บอกผมเช้าวันนั้นว่านายกฯสุรยุทธ์อาจมีคำสั่งแต่งตั้ง ผมยังบอกอาจารย์ว่า ตอนนี้คนไทยค่อนข้างมีอารมณ์เยอะ ไม่ค่อยมีเหตุมีผลกันมากมาย โอกาสที่จะโดนทาสีง่ายมาก แล้วก็เป็นเรื่องขึ้นมาจริงๆ นอกจากนี้ ในแง่การปฏิบัติมันยาก เพราะจะไปทับซ้อนกับคนที่ทำงานอยู่ใน ครม. อยู่แล้ว คือในทางปฏิบัติมันจะเกิดความขัดแย้ง และเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะแยะเรื่องของเรื่องก็คือตอนนั้นอาจารย์ไปพักผ่อนที่ญี่ปุ่น นายกฯสุรยุทธ์เรียกให้กลับมาช่วยอธิบายเรื่องต่างๆ แกเลยมานั่งคิดว่าเวิร์กหรือเปล่า คือในส่วนหนึ่ง แทนที่นายกฯจะแก้ต่างแทนเรา กลายเป็นเหมือนกับว่าเราไปของานเขาทำ แกเลยต้องกลับมาแก้ต่างให้ตัวเองโดยประกาศถอนตัว ผมว่าอย่างน้อยเหตุการณ์ครั้งนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นหลายอย่าง อย่างน้อยในเชิงการเมืองก็รู้ว่าใครคิดอะไรยังไงกับเราบ้าง แกโดนอัดแรงมาก เรามองว่าเป็นอิสระจากพวกนี้ดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่าพวกเขาคิดยังไง กลายเป็นเปลืองตัวเปล่าๆ เพราะฉะนั้นถอนตัวออกมาแล้วก็ชี้แจงให้ประชาชนทราบ เรื่องนี้ มีทั้งด้านบวกและลบสำหรับอาจารย์ แต่งานนั้นทำให้เรารู้ว่าสังคมไทยเป็นยังไง

GM : งานนั้นทำให้เกิดการแยกมิตรแยกศัตรูทางการเมืองอย่างชัดเจน

ดร. สุวิทย์ : จริงๆ ในภาษาการเมือง ใช่ แต่เนื่องจากเราไม่ได้เป็นนักการเมือง เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก สิ่งหนึ่งคือเป็นการพิสูจน์ว่าถ้าอาจารย์เป็นนักการเมืองโดยแท้ แกจะไม่ทำอย่างนี้ แต่เนื่องจากแกเป็นคนเข้ามาทำงานการเมือง เป็นคนคิดนโยบาย แกเลยเห็นว่าอะไรที่ช่วยชาติได้ก็อยากช่วย ความจริงตำแหน่งที่ได้รับเป็นงานเล็กน้อย แต่แกก็ยังทำ หนึ่ง, เป็นด้วยความที่เคารพรักที่แกมีกับท่านสุรยุทธ์ สอง, ด้วยว่าแกมีสายสัมพันธ์เดิมอยู่แล้วกับทางจีนและญี่ปุ่น จึงอยากช่วย บางเรื่องในเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เราจำเป็นต้องใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่อย่างที่อาจารย์มี ความคุ้นเคยสนิทสนมทำให้การทำงานเร็วขึ้น ซึ่งถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติ เราคงไม่เข้าไปยุ่ง ความจริงคือมาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่คิดว่าจะเจอแบบจังๆ อย่างนี้

GM : แต่ ดร. สมคิดก็ใช้จังหวะนั้นฉีกตัวเองออกจากคุณทักษิณ

ดร. สุวิทย์ : ความจริงการฉีกตัวเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยทักษิณ 2 แล้ว เพียงแต่ว่าภาพภายนอกอาจารย์เป็นคนเงียบ ไม่ค่อยปริปาก เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครมาช่วยนั่งอธิบายว่าแกกับนายกฯคิดกันยังไง จริงๆ คืออยู่กันไม่เหมือนเดิม ความห่างมีอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว ความใกล้ชิดในช่วง 2 ปีแรก ความรู้สึกอะไรต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อคุณทักษิณเปลี่ยนวง เพียงแต่นั่นเป็นภาพที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นจังหวะที่อาจารย์บอกว่าได้ฉีกตัวออกห่างจากคุณทักษิณแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ ความเชื่อมั่นระหว่างกัน

ลดลงมานานพอสมควรแล้ว เพียงแต่ความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้ถูกถ่ายทอดมาก่อน ในวันที่ท่านประกาศลาออกจึงเป็นโอกาสให้ท่านได้ถ่ายทอดออกมา เอ้า! อยากรู้

ใช่มั้ย อยากรู้ก็จะเล่าให้ฟัง

GM : แล้วความสัมพันธ์กับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นอย่างไร

ดร. สุวิทย์ : ทั้งคุณสนธิ คุณทักษิณ และอาจารย์สมคิดรู้จักกันมาก่อน ช่วงที่กลับมาใหม่ๆ อาจารย์สมคิดได้ไปเรียนรู้งาน ส่วนหนึ่งคือการไปเป็นบอร์ดตามที่ต่างๆ อย่างที่สหพัฒน์ ตลาดหลักทรัพย์ ผู้จัดการก็เป็นหนึ่งในบอร์ดที่แกเข้าไปทำงาน เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์กับคุณสนธิมีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างคุณสนธิกับคุณทักษิณเป็นยังไงเราไม่ทราบ อาจจะเหมือนร่วมแข่งร่วมค้า บางทีก็เหมือนแข่งกันอยู่ในที จากที่ผมได้ยินได้ฟังมา ทั้งคู่เป็นคู่แข่งขันเพื่อเป็นนายกฯทั้งคู่ เพียงแต่เรื่องอย่างนี้ดวงใครดวงมัน อาจารย์สมคิด ในฐานะที่รู้จักกับทั้งสองฝ่าย แกก็อยู่ตรงกลาง ที่ผ่านมาคุณสนธิก็ไม่ได้ยุ่งกับเรามาก อาจเป็นด้วยความรู้สึกดีที่มีต่อกัน อาจารย์สมคิดเลยเป็นคนหนึ่งที่แกไม่ตี ไม่พูดถึง พูดก็น้อยมาก นานๆ เอี่ยวที แสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณสนธิและอาจารย์สมคิดเป็นความสัมพันธ์อีกแบบ คืออาจไม่ใช่ในเชิงของผลประโยชน์ เลยยังมีความเอ็นดูต่อกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าท่าทีจะเปลี่ยนไปยังไง เพราะพันธมิตรหรืออะไร นั่นคือบทบาทของคุณสนธิในยุคหลัง

GM : แล้วอะไรที่ทำให้ ดร. สมคิดรวมทั้งตัวอาจารย์เองพยายามที่จะสร้างกลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นมา ที่เรียกขานกันว่า กลุ่มธรรมาธิปไตย

ดร. สุวิทย์ : อาจารย์สมคิดไม่เกี่ยวกับธรรมาธิปไตย คนที่ก่อตั้งธรรมาธิป-ไตยเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว เรียกตัวเองว่า Voice of the Generation มีคุณพิมล ศรีวิกรม์ คุณอธิไกร จาติกวณิช (พี่ชายคุณกรณ์ จาติกวณิช) แล้วก็มีคุณอิศเรศ จิราธิวัฒน์ และคุณพาที สารสิน เป็นต้น คนเหล่านี้จริงๆ เป็นพวกรุ่นน้องผม อยู่ดีๆ คงเห็นว่าผมเป็นอาจารย์ เลยจับผมเข้าไปอยู่ในกลุ่มด้วย ความจริงธรรมาธิปไตยไม่ใช่กลุ่มการเมือง แต่เป็นกลุ่มที่มีความสนใจบ้านเมือง บางคนมาลงการเมืองไม่ได้หรอก มีธุรกิจมากมายต้องดูแล เพียงแต่พวกเขาสนใจว่าการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาของไทยจะเป็นยังไง แต่ยอมรับว่าบางคนในกลุ่มอาจเล่นการเมือง อย่างคุณพิมลนี่ชัดเจน ตัวผมเองก็อาจลงเล่นการเมืองหรือไม่ก็ไม่รู้ พวกเราบางคนมาจากสายวิชาการ บางคนมาจากสายธุรกิจ มีที่ปรึกษาอย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เพราะลูกชายแก คุณเพชร ก็อยู่ในกลุ่ม นอกจากนี้ก็มีอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อาจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ โดยความสัมพันธ์ของกลุ่มไม่ได้เกี่ยวกับอาจารย์สมคิด เพียงแต่หลายคนในกลุ่มนั้นใกล้ชิดอาจารย์สมคิดเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ต้องแยกกลุ่มธรรมาธิปไตยออกไปก่อนทีนี้ถามถึงตัวอาจารย์สมคิดเอง

มีความคิดที่จะเล่นการเมืองหรือไม่หลังปฏิวัติ ผมว่าจริงๆ แกมองว่าเมื่อเกมจบแล้วก็จบ ไม่ได้คิดอ่านอะไรมากมาย เพียงแค่รอดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ส่วนหนึ่งแกก็คงรู้สึกว่ากำลังทำงานอยู่แล้วต้องสะดุดไป ความคิดอ่านที่มีมาตั้งแต่ตอนที่เขียน The New Competition และ The Marketing of Nations ยังคงอยู่ เรารู้สึกเสียดายอะไรหลายอย่างเพราะกว่าเมืองไทยจะอยู่ในสภาพ ที่ฟิตขนาดนี้ไม่ใช่ง่าย และโอกาสนั้นกำลังจะหมดไป ในฐานะคนไทย เรามองว่าจะยอมทิ้งไปแบบนี้หรือ ทั้งๆ ที่ต่อจากนี้ไป เราก็มองว่าการเมืองไม่มีเสถียรภาพอยู่แล้ว อย่างน้อยก็อีก 2-3 ปี นอกจากนี้บ้านเรามีความคิดผิดๆ ว่าใครที่เล่นการเมืองต้องไม่ดี มีภาพเป็นลบ และมองในลักษณะของการครอบครองอำนาจ ซึ่งมันพูดยาก แต่หลังจากพรุ่งนี้ไป (30 พฤษภาคม) อะไรๆ จะชัดขึ้น แนวโน้มถามว่าอาจารย์สมคิดมีโอกาสจะเล่นการเมืองไหม มี แต่เล่นการเมืองของแกมีได้หลายรูปแบบ ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเล่นเพื่อไปเป็นนายกฯ ไม่อย่างนั้นแกไม่ไปช่วยท่านสุรยุทธ์ให้เจออัดหนักๆ หรอก เพียงแต่แกยินดีที่จะเป็นอะไรก็ได้ที่พอจะช่วยได้โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าถ้าอาจารย์สมคิดจะเล่นการเมือง ก็เพราะยังมีความคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยอยู่ เป็นความรู้สึกนึกคิดในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และผมว่าแกยังทำงานชิ้นนั้นอยู่ เพียงแต่ตอนนี้งานที่ว่านั้นเป็นประติมากรรมผ่านกลไกทางการเมือง ไม่ใช่ผ่านกลไกทางวิชาการหรือการเป็นที่ปรึกษา เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงจุดนี้ ถ้ามองการเมืองไม่เลวร้ายมาก การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยก็ยังต้องใช้เรื่องการเมืองขับเคลื่อน แต่จะขับเคลื่อนแบบไหน ไปทางไหนต่างหากที่สำคัญ ประเด็นหลักคืองานชิ้นนั้นยังไม่จบ แกควรจะทำภาพนั้นให้จบไหม โดยส่วนตัว ผมว่าแกยังมีศักยภาพที่จะทำอะไรให้ประเทศไทยได้

GM : ซึ่งต้องรอดูพรุ่งนี้ (30 พฤษภาคม 2550 วันตัดสินคดียุบพรรค) ก่อน

ดร. สุวิทย์ : ส่วนหนึ่งก็ต้องรอพรุ่งนี้ เป็นพรุ่งนี้ที่รอคอยสำหรับหลายๆ คนเลย เราก็ไม่รู้ว่าแกจะถูกตัดสิทธิ์หรือเปล่าในฐานะกรรมการพรรค ถ้าโดน ถามว่าแกยังจะเล่นการเมืองไหม ผมว่าแกก็ยังจะเล่น แต่ว่าในอีกรูปแบบหนึ่ง อาจจะไปช่วยคนอื่น ผมว่าแกยังยินดีทำอยู่ในหลายๆ รูปแบบ เพียงแต่ว่าจะไปประกาศอะไรก่อนพรุ่งนี้ก็ไม่ได้ พรุ่งนี้เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนจากบทที่หนึ่งไปสู่บทต่อไป เพราะฉะนั้น คุณต้องรอดูว่าธีมของเรื่องจะเขียนว่ายังไง ถ้าธีมของเรื่องเปิดโอกาสและมีคนที่มุ่งมั่นในตัวแก อยากให้แกทำงานด้านการเมืองให้เป็นเรื่องเป็นราวก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าโอกาสไม่เปิด แกก็อาจจะไปช่วยคนอื่นแทน

GM : อาจารย์มองการเมืองหลังจากนี้ไปอย่างไร ถ้ามองกันยาวๆ หน่อย

ดร. สุวิทย์ : ถ้ามองยาวๆ ผมกลับมองในแง่ดี ผมมองว่านี่คือ learning curve ของสังคมไทย ประเทศไทยเคยเจอ learning curve ทางเศรษฐกิจมาแล้วเมื่อเราเจอวิกฤติเมื่อปี ’40 แต่เราไม่เจอ learning curve ทางการเมืองมานานแล้วตั้งแต่หลังจาก 14 ตุลาฯ ซึ่งขณะนี้บริบทของโลกก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว ก่อนหน้านั้นเรามีเรื่องคอมมิวนิสต์ เรื่องเรียกร้องประชาธิปไตย ตอนนี้เป็น learning curve อีกอันหนึ่ง ประเด็นที่ท้าทายสำหรับผมคือการเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ มันมาแน่ไอ้ทุนนิยมแบบเหี้ยมๆ แต่ถ้าคุณพร้อม คุณจะมองว่ามันไม่เหี้ยม แต่ไม่ว่าแบบไหนมันมาแน่ เพราะฉะนั้น กรณีอย่างเทมาเส็กยังถือว่าเด็กๆ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่บางท่านบอกผมว่าถ้าคุณทิ้งไว้อย่างนี้ ต่อไปจะมีเจ้านายเป็นสิงคโปร์ เป็นเกาหลี แล้วอีกหน่อยรุ่นลูกๆ หลานๆ เราจะยิ่งกว่านี้ แต่เรากำลังเผชิญกับโลกของความเป็นจริง ประเด็นคือเราพร้อมหรือเปล่า เราปรับตัวเข้ากับตรงนี้ได้หรือไม่อีกประเด็นคือ จุดยืนเราอยู่ตรงไหน ตัวตนเราอยู่ตรงไหน ขณะนี้เรายังสับสน ยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่าเราจะอยู่ตรงไหน เราจะเอาแบบไหนดี เอาแบบเกาหลีไหม หรือจะเอาสุดๆ แบบสิงคโปร์เพื่อไปสู่ทุนนิยมสมบูรณ์แบบ หรือเราจะเอาแบบหยิบชิ้นปลามันตามที่เราต้องการ มีโมเดลไหนในโลกบ้าง คือในทางหนึ่งเรากำลังสับสน แต่อีกทางหนึ่งเรากำลังค้นหาตัวเอง เพราะฉะนั้น เราจึงมีคำถามว่าเศรษฐกิจพอเพียงใช้กับบริบทอะไรได้บ้าง ถ้าเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แล้วทุนนิยมจะเอาแค่ไหน เราพยายามที่จะประยุกต์กับทุกสิ่ง ผมกำลังมองว่าความล้มลุกคลุกคลาน

ที่เกิดขึ้นต้องมองเป็น learning curve เหมือนเรื่องเศรษฐกิจ แต่น่าเสียดาย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ความทรงจำต่ำ ไม่เข็ดกับเรื่องเก่าๆ ไม่เอาบทเรียนมาเรียนรู้ จริงๆ โอกาสช่วงปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจคือช่วงหลังวิกฤติ แต่ไม่มีใครทำ ทิ้งมานาน ส่วนปัจจุบันเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง แต่มันกลับกลายเป็นการโต้ตอบระหว่างสองฝ่ายมากกว่าที่จะมองไปข้างหน้า กลายเป็นว่าต้องจัดการอำนาจเก่า คิดอยู่แค่นี้ ซึ่งถ้ายังคิดอย่างนี้มันก็น่าเสียดายแต่ในที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่าเราก็เหมือนเด็กทารก คือในช่วงที่กำลังจะเติบโต เด็กจะท้องเสีย แล้วก็โต พอจะโตอีกขั้นก็จะท้องเสียอีก ผมหวังว่าเรากำลังอยู่ในขั้นนั้น คือกำลังท้องเสีย จริงๆ ย้อนหลังไปในอเมริกาหรืออังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็เป็นลักษณะนี้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปมองว่าประเทศเราไม่มีอนาคต จริงๆ บ้านเรามีรากบางรากอยู่แล้ว แต่ประเทศเรายังมีลักษณะอย่างในหนังสือที่อาจารย์หลายท่าน รวมถึงอาจารย์เอนกเขียนไว้ว่า สังคมเรามีไพร่ ราษฎร กับพลเมือง บางคนถูกปฏิบัติเหมือนไพร่ แต่บางทีก็ทำตัวเองเหมือนไพร่ด้วย อย่างบางทีก็ไปหลงดีใจกับการปฏิวัติ โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันทำลายอะไรหลายอย่าง แต่เราไม่ว่ากันเพราะมันอธิบายได้หลายเหตุผล ถึงที่สุดแล้วจุดสมดุลคือสิ่งสำคัญ จุดสมดุลของเราคืออะไร จุดสมดุลของประเทศไทยอยู่ที่ไหน ตรงไหนคือจุดสมดุลระหว่างภาคประชาชนและเอกชนกับภาครัฐและระบบราชการ

GM : ถ้าอย่างนั้นจุดสมดุลของสังคมไทยในมุมมองของอาจารย์อยู่ที่ไหน

ดร. สุวิทย์ : เราต้องใช้วิธีมองแบบ system approach นั่นคืออันไหนถูกดึงออกไปก็อาจเสียสมดุล แต่อันไหนมีมากเกินไปก็อาจเสียสมดุลเช่นกัน อย่างรัฐบาลคุณทักษิณ อาจเพราะมีอำนาจมากเกินไป ครบเครื่องมากไป เลยทำให้ระบบอื่นๆ รวน เพราะฉะนั้น การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับสมดุลใหม่ ถ้าปรับได้ดี ผมเชื่อว่าเรายังไปได้ นอกจากนี้ ต้องมองประเทศเราแบบประเทศในอุดมคติ อย่าไปตามคนอื่น อย่าไปเหมือนคนโน้น คนนี้ ความอยากนั้นไม่ผิด แต่อยากแล้วไม่ได้หมายความว่าต้องไปเป็นแบบนั้น เพราะคุณจะสูญเสียตัวตนของคุณไปความจริงอีกอย่างคือ สังคมไทยเป็นสังคมที่มี power distance มันมีผู้ใหญ่กับเด็ก มีกลุ่มคนที่เป็นขุนนางศักดินา มีอมาตยาธิปไตยอะไรเยอะแยะ ถ้ามองแบบง่ายๆ มองในแง่ดี มันคือความหลายหลาก แต่คำถามคืออะไรคือจุดสมดุลของสิ่งนี้ ถ้าทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ผมเชื่อว่าทุกส่วนจะมั่งคั่งร่วมกันได้ อย่างบางทีเราไปกระตุ้นพัฒนาชนบทมากๆ จริงๆ เราอาจหยิบยื่นสิ่งที่เขาไม่อยากได้ก็ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวตนของเขาเสียไป บางเรื่อง บางที อาจกลายเป็นรัฐบาลรังแกฉัน เหมือนพ่อแม่รังแกฉันไป เพราะเราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว เราคิดแทนเขามากไปหรือเปล่า แต่ว่าจะไม่คิดแทนเขาก็ไม่ได้ เพราะในที่สุดสังคมไทยตายที่การศึกษาถ้าคนไทยการศึกษาดีกว่านี้ ทุกคนมีความรู้ รู้สิทธิรู้หน้าที่ สังคมเราคุยกันง่ายกว่านี้ แต่ที่ยากเป็น

เพราะช่องว่างทางการศึกษา ช่องว่างระหว่างคนรู้และคนไม่รู้โดยเฉพาะในโลกของเครือข่าย มันกว้างกว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนด้วยซ้ำ มันมีการเอาเปรียบกันบนความรู้และความไม่รู้ ตรงนี้สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบมหาศาล ตราบใดที่รากฐานข้อนี้ไม่ถูกแก้ไข เราก็จะอยู่ในวงเวียนของการค้นหา อยู่ระหว่างภาวะสมดุลชั่วคราว แล้วก็เกิดวิกฤติ แล้วก็วนกลับไปใหม่ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดตายทุกคนเพราะฉะนั้น ถ้าแน่จริงต้องปฏิวัติวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ปฏิวัติทหาร และไม่ใช่ปฏิวัติเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเราไม่ได้แย่อย่างที่คิดเพราะเรามีฐานรากรองรับ ถึงจะแย่ยังไงก็ยังพออยู่ได้ ไม่เหมือนบางประเทศที่ล้มไปเลย ประเด็นสำคัญของเรามาตายที่เรื่องวัฒนธรรม เห็นได้ชัดว่าเราสับสนและกำลังอยู่ในสังคมที่สับสน คือไม่รู้ตัวเอง นอกจากนี้ เรายังอยู่ในสังคมที่ถดถอย ทั้งที่เพิ่งปฏิวัติไปไม่นาน คิดว่าจะมีปฏิวัติซ้อนแล้ว สังคมเราเหมือนเป็นสังคมที่ซื้อเวลา คิดว่าการเลือกตั้งคือทางออก แต่ไม่ใช่ ยังมีอีกหลายอย่างซ่อนอยู่ เพียงแต่เราเลือกที่จะซื้อเวลาไปเรื่อยๆ

GM : ถ้าอย่างนั้นอาจารย์มองอนาคตเมืองไทยอย่างไร

ดร. สุวิทย์ : ผมว่าอนาคตเมืองไทยต้องดูที่สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง ต้องย้อนกลับไปที่คำพูดของในหลวง คือทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นมั่วๆ ซั่วๆ เพราะแต่ละคนไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทหารไม่รู้ว่าทหารควรทำหน้าที่อะไร นักการเมืองที่ดีควรทำหน้าที่อะไร ส่วนเรื่องที่สองคือ เรื่องคน เรื่องการศึกษา ผมเชื่อว่าต่อให้กระจายอำนาจลงไปยังไง มันได้แต่โครง แต่ไม่ได้สมองและวิญญาณ วิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดไม่ได้เพียงเพราะไปบอกเขาว่าเขาเป็นประชาธิปไตย ถ้าในสมองเขาไม่ได้มีสำนึกในความเป็นประชาธิปไตย ถึงคุณให้ประชาธิปไตยไปก็เหมือนให้อะไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าคุณให้ความคิด ให้จิตวิญญาณเขา ถึงเขาไม่ได้ เขาจะเรียกร้องเอง แต่ประชาธิปไตยเราเหมือนกับเรากำลังทำประชานิยม คือเรายังป้อนเขา แทนที่จะบอกว่าประชาธิปไตยเป็นยังไง แล้วให้เขาเอาไปคิด ไปตกปลาเอาเอง

บ้านเราเลยกลายเป็นชอร์ตคัตหมด เศรษฐกิจมาก่อนประชาธิปไตย มองประชาธิปไตยเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงๆ เป็นรากฐานที่สำคัญ ผมเคยอ่านในหนังสือว่า เสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ แต่เหนือเสรีภาพคือความเป็นธรรม ความเป็นธรรมสำคัญกว่าเสรีภาพ แต่ความเป็นธรรมกลับไม่ได้เป็นนโยบายหรือหลักในสังคมไทย กระทั่งเสรีภาพก็เหมือนกัน เหล่านี้เป็นพื้นฐานแต่เราไม่มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ อาจเป็นคำพูดที่ดูถูกและรุนแรง แต่เราเองก็ยอมรับว่าเราเป็นไพร่ เป็นแค่ราษฎร นโยบายอะไรมาก็รับหมด ซึ่งไม่ใช่ รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างใหม่นี้อาจให้อำนาจ ให้สิทธิเยอะแยะ แต่ตราบใดที่คนยังไม่มีความรู้ ความคิด หรือจิตวิญญาณ เขาจะซี้ซั้วใช้สิทธิ จะเกิดความวุ่นวายอีกมากมาย เหมือนปล่อยผี เอ้า! ไหนๆ อยากได้ ให้หมดเลย แต่จริงๆ คุณใช้ไม่เป็นหรอก ถ้าคุณใช้เป็น เมื่อไม่มี คุณจะเรียกร้องเองเพราะฉะนั้น อธิบายเรื่องนี้ได้เหมือนกับเรื่องประชานิยม คือในที่สุดต้องค่อยๆ ถ่ายโอน ที่สำคัญ ประเทศไทยจะเปลี่ยนหรือไม่ อยู่ที่การศึกษาล้วนๆ ผมให้เวลา

10 ปี กล้าไหมที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษา หนึ่ง, คือให้ความเป็นธรรม ให้ทุกคนเข้าถึง ทุนการศึกษา และได้รับคุณภาพในการศึกษาเท่ากัน ถ้าทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเท่ากัน และคนมีโอกาส ผมเชื่อว่า 10 ปีเปลี่ยนประเทศไทยได้ ผมไม่สนเลยว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง แต่เรื่องการศึกษาคือเรื่องรากฐานที่สุด แต่เวลาพูดอย่างนี้ เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวทั้งที่จริงๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพียงแต่เรื่องที่สำคัญ คุณต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ มันถึงจะเกิดผลในระยะยาว แต่บ้านเราส่วนใหญ่อยากได้ควิกวิน (Quick Win) คือเอาเรื่องไม่ค่อยสำคัญแต่เร่งด่วนขึ้นมาก่อน เพื่อให้มีผลงาน อย่างรัฐบาลไทยรักไทย ยอมรับเลยว่าล้มเหลวในเรื่องการศึกษา ห้าหกปีที่อยู่เปลี่ยนรัฐมนตรีศึกษาไป 6 คน เละแล้วอย่างนี้ จะไปไหนได้ ขณะที่นโยบายเปลี่ยนไปเรื่อย ผมมองว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นอะไรที่สัมพันธ์กัน แต่บนรากฐานอะไร รากฐานนั้นคือเรื่องคุณภาพของคน คือเรื่องของการศึกษาความจริงปัญหาเชิงโครงสร้างประเทศไทยมีไม่กี่ปัญหา แต่การเมืองมันไม่นิ่ง เลยไม่มีใครมานั่งดูเรื่องพวกนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจ บ้านเราโชคดีที่แรงงานมีความยืดหยุ่น ไม่อย่างนั้นจะเกิดวิกฤติมากกว่านี้ แต่ในอนาคต Aging Society เกิดแน่ เพราะคนเกิดน้อยลง ขณะที่คนแก่มากขึ้น ถ้าเป็นลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ คุณภาพคนจะห่วย ต่อไปจะเป็นภาระมหาศาล ประเด็นนี้ถามว่าเป็นประเด็นทางการเมืองไหม ใช่ แต่ไม่มีใครอยากหยิบเพราะไกลตัว ทำไปวันนี้ เดี๋ยวคนข้างหน้าได้เสวยสุข นี่คือปัญหาของเรา เพราะการเมืองเราอยู่ไม่นาน ถึงจะบอกว่าจะเอาการลงทุนจาก

ต่างชาติเข้ามา แต่การที่ต่างชาติจะเข้ามา ส่วนหนึ่งอยู่ที่บรรยากาศในการลงทุนว่าดีไหม แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากว่าคุณมีคนคุณภาพป้อนให้เขาหรือเปล่า ถ้าคุณไม่มี อนาคตการลงทุนดีๆ จากต่างชาติไม่เข้ามาอยู่แล้ว มันพันกันเองหมดประเด็นคือจะทำยังไง หนึ่ง, ต้องเตรียมเด็กเกิดใหม่ ไหนๆ คลอดแล้วต้องให้มีคุณภาพ ช่วงก่อนเตรียมเข้าโรงเรียนสำคัญมาก สอง, แรงงานที่มีอยู่ ซึ่งเป็นแรงงานไร้ทักษะเสียเยอะ จะเอามาฝึกใหม่กันยังไง เรื่องเหล่านี้เป็นเมกะโปรเจ็กต์ทางด้านของซอฟต์แวร์ซึ่งผมค่อนข้างให้ความสำคัญ เมกะโปรเจ็กต์ทางฮาร์ดแวร์อย่างรถไฟ อาจจำเป็น แต่ถ้าคุณทำแค่นั้น เผลอๆ คนอื่นอาจได้ใช้ แต่ถ้าคุณทำเรื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เรื่องแรงงาน เรื่องการศึกษา คุณได้ใช้แน่

(สัมภาษณ์ : 29 พฤษภาคม 2550)

“ผมรู้จักอาจารย์สมคิดมาร่วม 20 ปี ความเป็นศิษย์-อาจารย์ผ่านมาหลายยุค และจนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังติดนิสัยเดิม คือไม่อยู่ในกรอบ ยังสนุกกับมันอยู่”

“ผมเคยคุยกับอาจารย์สมคิดว่า อาจารย์นี่แปลก ทำไมขึ้นจุดสูงสุดเร็วเหลือเกิน นั่นคือหลังจากที่แกเขียนหนังสือ The New Competition เพราะตอนนั้นยังไม่มีคนไทยเขียน”

“ถามว่าแนวโน้มอาจารย์สมคิดจะมีโอกาสเล่นการเมืองไหมมี แต่การเล่นการเมืองของอาจารย์มีได้หลายรูปแบบไม่จำเป็นว่าต้องเล่นเพื่อไปเป็นนายกฯ”

“จุดยืนเราอยู่ตรงไหน ขณะนี้เรายังสับสน ยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่า จะเอาแบบเกาหลี หรือจะเอาสุดๆ แบบสิงคโปร์ หรือเราจะเอาแบบหยิบชิ้นปลามันตามที่เราต้องการ”

“สังคมไทยเป็นสังคมที่มี Power Distance มันมีผู้ใหญ่กับเด็ก มีกลุ่มคนที่เป็นขุนนางศักดินา มองในแง่ดี มันคือความหลากหลาย แต่คำถามคือ อะไรคือจุดสมดุลของสิ่งนี้”

“ถ้าแน่จริงต้องปฏิวัติวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ปฏิวัติทหาร และไม่ใช่ปฏิวัติเศรษฐกิจ เรามาตายเรื่องวัฒนธรรม เห็นได้ชัดว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่สับสน ไม่รู้จักตัวเอง”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ