สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ อนาคตของอาร์เอสและอนาคตของตลาดบันเทิงไทย
ถ้าคุณอ่าน GM อย่างน้อยที่สุด คุณก็คงรู้สึกบ้างว่าโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลแบบเต็มตัวมาสักพักแล้ว ทั้งสิ่งที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ต อี-เมล์ สมาร์ท การ์ด ดีวีดี อี-คอมเมิร์ซ โทรศัพท์มือถือ และอะไรต่อมิอะไรใกล้ๆ ตัวที่ช่วยกันทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นกว่าในอดีตมากมายหลายเท่า ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องหนังเรื่องเพลงอยู่บ้าง ก็คงเคยได้ยินว่าเดี๋ยวนี้เรามีวิธีดูหนังฟังเพลงโดยที่ไม่ต้องไปซื้อเทป-ซีดีกันแล้ว ทั้งวิธีดาวน์โหลดหรือฟังฟรีในเว็บไซต์ หยิบยืมของเพื่อนมาไรท์แผ่น หรือไม่ก็ยอมเสียเงินนิดๆ หน่อยๆ ด้วยการซื้อแผ่นผิดกฎหมายที่วางขายกันเกลื่อนกลาดให้เลือกซื้อกันไม่หวาดไม่ไหว
และถ้าคุณเป็นคอบันเทิงที่ติดตามแวดวงนี้อย่างจดจ่อ ก็ย่อมทราบดีว่าผลกระทบจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงกับทำให้ค่ายบันเทิงลำบากกันถ้วนหน้า ค่ายเพลงเล็กๆ ทยอยปิดตัว ค่ายขนาดกลางก็ควบรวมกัน ส่วนค่ายใหญ่นั้นยิ่งน่าหวั่นไหว ไหนจะผลประกอบการที่ตกต่ำ มีข่าวลือเรื่องการเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก และยังมีข่าวคราวการพยายามปรับเปลี่ยนองค์กรกันออกมาเรื่อยๆ
หลังจากขาดทุนย่อยยับมา 2 ปี (131 ล้านในปี 2547 และ 433 ล้านในปี 2548) ของค่ายใหญ่ย่านลาดพร้าว บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มตั้งหลักได้ในปี 2549 จากข่าวในเชิงรุกต่างๆ ที่ออกมา อย่างการเปิดตัวบริษัทลูก อาร์เอสไอ ดรีม เอ็นเตอร์- เทนเมนต์ ที่ได้ลิขสิทธิ์ ‘อุลตร้าแมน’ ไปครอง หรือ อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ (RSbs) ที่คว้าสิทธิ์บริหารจัดการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกใน 2 สมัยหน้า…แถมท้ายด้วยการเปลี่ยนโลโก้บริษัททั้งหมดในเครือให้ดูทันสมัย เป็นอันหนึ่งอันเดียว เหมือนเป็นการประกาศการเริ่มต้นใหม่อะไรบางอย่าง
สำหรับอาร์เอสที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อพฤษภาคม 2546 อันเป็นช่วงที่วงการเพลงกำลังเริ่มย่ำแย่พอดี มองจากภายนอกแล้วผลประกอบการที่ตกต่ำในช่วง 2 ปีต่อมาถือว่าน่าหวั่นใจแทนไม่น้อย แต่ภาพทางบวกในปี 2549 ก็กลายเป็นการกลับมาที่น่าจับตา เกิดอะไรขึ้นในช่วงปีแห่งความตกต่ำ เกิดอะไรขึ้นในปีที่ผ่านมา และจะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้กับอาร์เอส
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวนี้คือหนุ่มใหญ่วัย 44 ปีที่ชื่อ สุรชัย เชษฐโชติ-ศักดิ์ หรือที่ใครๆ คุ้นปากกว่าถ้าจะเรียกเขาว่า ‘เฮียฮ้อ’
สุรชัยเป็นน้องชายแท้ๆ ของ เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ หรือ ‘เฮียจั๊ว’ ผู้ก่อตั้งอาร์เอสสมัยที่เริ่มจาก RS. Sound เมื่อปี 2525 จนบริษัทเติบใหญ่ ผ่านเรื่องราวความล้มเหลวและความสำเร็จมากมาย กลายมาเป็น RS Promotion ย้ายสำนักงานจากย่านโคลีเซียมมาอยู่อาคารเชษฐโชติศักดิ์ที่ลาดพร้าวซอย 15 สร้างอาคาร 2 และอาคาร 3 เพิ่มเติม และกลายเป็นบริษัทมหาชนในที่สุด
ในระหว่างเรื่องราวอันยาวนานถึง 25 ปีของอาร์เอส ล้วนมีเงาของสุรชัยอยู่เบื้องหลัง วันนี้เขาคือเจ้าของตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องราวสุดเหวี่ยงของค่ายใหญ่ย่านลาดพร้าวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าคุณจะสนใจเรื่องบันเทิงในระดับใด…นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งในโลกใหม่ยุคดิจิตอลนี่คือเรื่องของการฝ่ามรสุมธุรกิจบันเทิงวันนี้และนี่คือทางเดินในอนาคตของค่ายเพลงเก่าแก่ชื่ออาร์เอส !
GM : ช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศเรามีปัญหาในภาพรวมหลายเรื่อง ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เรื่องเหล่านี้กระทบต่อวงการบันเทิงบ้างไหม
สุรชัย : กระทบทางตรงไม่มาก กระทบทางอ้อมมากกว่า มันเป็นเรื่องบรรยากาศ ทั้งบรรยากาศการลงทุน บรรยากาศการใช้จ่าย มันจะมีผล ส่วนที่ผมว่าไม่กระทบทางตรงเพราะผมมองว่า สุดท้ายแล้วคนไทยก็บริโภคบันเทิง สังเกตดูในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะกระทบอย่างไร ปีที่ธุรกิจล้มละลาย ปีที่ธุรกิจมีวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจบันเทิงก็เติบโต เพราะฉะนั้น ผมว่าโดยตรงไม่ คนไทยยังบริโภคบันเทิงอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แถมยิ่งเครียดก็จะยิ่งบริโภค
GM : คุณมองการทำธุรกิจบันเทิงในวันนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหน
สุรชัย : มองได้หลายๆ ภาพ ในด้านการแข่งขัน ผมว่ามันยังรุนแรงและหนักหน่วงเป็นปกติธรรมดา ในอดีตเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจด้วยกัน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจบันเทิงเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล การเข้ามาของดิจิตอลสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการและในแง่ของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคคือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและเปลี่ยนโฉมไปเลย ตรงนี้ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกหลายแห่งปรับตัวไม่ได้ ถึงกับปิดตัวลงไป และหลายๆ ธุรกิจต้องเปลี่ยนโฉมการทำงานไปหมด รวมทั้งอาร์เอสก็ปรับเปลี่ยนเหมือนกัน เรามองการแข่งขันที่ท้าทายอยู่ว่าเราจะวิ่งตามหรือวิ่งไปพร้อมๆ กับผู้บริโภคได้อย่างไร จะแข่งกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างไร คือตอนนี้มันเปลี่ยนคู่แข่ง เราแข่งกับผู้บริโภค เราแข่งกับเทคโนโลยี คู่แข่งในอุตสาหกรรมอาจจะไม่ใช่คู่แข่งหลักแล้วก็ได้ การทำธุรกิจสมัยใหม่คู่แข่งอาจจะเป็นคู่ค้า คู่ค้าอาจจะกลายเป็นคู่แข่งก็ได้ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว
GM : คุณคิดว่าที่คนเคยมองเปรียบเทียบอาร์เอสเป็นคู่แข่งกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นี่เป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว ?
สุรชัย : ไม่แปลกที่คนนอกจะเคยมองอย่างนี้ เพราะเรากับเขาในอดีตทำธุรกิจค่อนข้างใกล้เคียงกันมากว่า 20 ปี อาจจะมีต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คนก็จะมองเปรียบเทียบกัน บางครั้งเราก็เป็นฝ่ายรุก บางครั้งก็เป็นฝ่ายรับ เป็นเรื่องธรรมดาของ
การทำธุรกิจ แล้ว ณ วันนี้ใครจะมองเราเปรียบกับแกรมมี่ หรือเปรียบเรากับใครก็แล้วแต่ แต่เราคิดว่าในเมืองไทยเราค่อนข้างชัดเจน มองในรายละเอียดแล้วถ้าคนที่เข้าใจ จะรู้ว่าไม่เหมือนกัน ในการทำธุรกิจก็ไม่เหมือนกัน อย่างที่บอก เราไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่ง สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือการแข่งกับผู้บริโภคและเทคโนโลยี
GM : วันนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างไรบ้าง
สุรชัย : วันนี้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา จะทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางเลือกที่หลากหลาย และพอมีการสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้น มีช่องทางใหม่ๆ ที่จะรับข่าวสารข้อมูล ทำให้ผู้บริโภคมีกลุ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้น จะเริ่มหาตัวตนของตัวเองมากขึ้น สังเกตว่าหลักการตลาดในยุค 5 ปีที่ผ่านมา แมสจะไม่ค่อยได้ผล เป็นเรื่องของเซกเมนต์ นั่นหมายความว่าผู้บริโภคเริ่มมีกลุ่มมีก้อนที่ชัดเจนขึ้น แยกย่อยขึ้น และซับซ้อนขึ้น ซึ่งมันก็ส่งผลถึงผู้ประกอบการทุกๆ ธุรกิจ แต่ว่าธุรกิจบันเทิงอาจจะมีแฟ็กเตอร์แย่กว่าตัวอื่นนิดนึง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของรสนิยม ไม่ใช่เรื่องของโปรดักท์ เป็นเรื่องของความพอใจ เป็นเรื่องของแฟชั่น เพราะฉะนั้น มันจะมีความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่า เราต้องตามให้ทัน
GM : เมื่อรู้ว่าผู้บริโภคเป็นแบบนี้แล้ว อาร์เอสมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร
สุรชัย : จริงๆ เรื่องอย่างนี้มันไม่ได้ทำได้ภายในวันเดียว อาร์เอสใช้เวลาทำเรื่องนี้มานานหลายปี ตั้งแต่ปี 2547-2548 แต่ว่าก่อนหน้านี้เราเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพอสมควรแล้ว
GM : คือเริ่มเห็นยอดขายน้อยลง ?
สุรชัย : ใช่, ยอดขายน้อยลง ที่สำคัญธุรกิจเพลงเมืองไทยที่ขายเทป-ซีดีกันอยู่มันมีข้อเสียสูง เพราะมันเป็นการขายฝาก 100% ที่เมืองนอกขายขาด แต่ของเมืองไทยขายฝาก 100% ขายไม่ได้มันก็กลับมาหาเราทั้งหมด ตอนที่ขายออกไปก็เป็นมูลค่าดี แต่พอเอากลับมามันกลายเป็นพลาสติกแผ่นเดียวเท่านั้น ในอดีตธุรกิจของอาร์เอสพึ่งพายอดขายเทป ซีดี วีซีดี เป็นหลัก ตรงนี้มีผลกระทบ มันก็ทำให้เราลำบาก ยอดขายเทป-ซีดีน้อยลง ของปลอมที่ละเมิดเราก็เยอะ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเขาบริโภคคอนเทนต์ด้วยวิธีอื่นๆ ไม่บริโภคผ่านซีดีหรือเทปอีกต่อไป เราใช้คำว่า ‘ผู้บริโภคเป็นผู้ละเมิดเอง’
แล้วในแง่ต้นทุนทุกอย่างก็สูงขึ้นตลอด ค่าเวลาโปรโมต งบโฆษณา ทุกอย่างสูงขึ้นในขณะที่ยอดขายลดลงหรือทรงตัว ที่สำคัญคือทำให้มาร์จิ้นแทบจะไม่มี กลายเป็นว่าเราเจอศึกรอบด้านเลย สุดท้ายก็ลำบาก ปี 2545-2546 นี่ไม่เฉพาะเมืองไทย เราจะเห็นว่าช่วงนั้นมีข่าวค่ายเพลงเมืองนอกใหญ่ๆ ควบรวมกันบ้าง ต้องลดสเกลลงหมด อาร์เอสก็เลยต้องปรับตัว เราใช้เวลา 2 ปีปรับหลายอย่าง แต่ที่ตั้งธงเลยคือเราต้องการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ในอดีตอาร์เอสเป็นมิวสิกคอมพานี (music company) เป็นค่ายเพลงเต็มตัว ก็ต้องเปลี่ยน เพราะอยู่อย่างนั้นมันลำบาก
เราก็เปลี่ยนมามองว่าเพลงเอย หนังเอย ศิลปิน ทุกอย่างมันเป็นคอนเทนต์ ทีนี้คอนเทนต์มันไม่จำเป็นต้องไปผ่านถึงผู้บริโภคด้วยวิธีเดียว พอเรามองอย่างนี้ปุ๊บ เราสามารถจะมีแนวทางในการทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น แต่ทั้งหมดนี้เราทำทีเดียวไม่ได้ คนในองค์กรต้องเข้าใจก่อน เพราะในอดีตที่ผ่านมาคนในองค์กรอาร์เอสโตมากับโปรดักชั่นเบส (production base) คนในองค์กรเรากว่า 60-80% คือนักเขียนเพลง โปรดิวเซอร์ ทีมผลิต ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ผู้กำกับละคร คนเขียนบท ทำฉาก ทำไฟ คือเป็นคนโปรดักชั่น ฉะนั้น เมื่อต่อไปนี้สิ่งที่เราจะขายไม่ใช่สินค้าอีกต่อไปแล้ว เป็นเรื่องของคอนเซ็ปต์ ไอเดีย เป็นเรื่องคอนเทนต์ที่บางทีมันจับต้องไม่ได้ เป็นการขายฝัน ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้มันต้องเปลี่ยนคนในองค์กรด้วย
2-3 ปีที่ผ่านมานี้เราทำหลายเรื่อง เราทำเรื่องตัวเลข เรื่องไรท์ออฟ (write off) ซีดี วีซีดี ทิ้งสิ่งที่ไม่มีคุณค่า เพราะว่าโมเดลที่อาร์เอสจะเดินไปไม่ได้พึ่งพาเรื่องการขายเทป-ซีดีอีกต่อไป
GM : ถึงขั้นต้องทำลายแผ่นซีดีทิ้งเลย ?
สุรชัย : เราทำลายทิ้งเลย มูลค่าประมาณ 400 ล้าน เราจัดองค์กรใหม่ จัดโครงสร้างผู้บริหารใหม่ ปรับทีมใหม่ ตั้งธงไว้ว่าเราใช้กลยุทธ์ 3S, S แรกคือ Style คนในองค์กรต้องมีสไตล์ในการทำงานอีกแบบหนึ่ง ให้เข้ากับยุคดิจิตอล เป็นมาร์เก็ตติ้งและครีเอทีฟเบส (marketing and creative base) ไม่ใช่โปรดักชั่นเบสอีกต่อไป เป็นเรื่องของพฤติกรรมไลฟ์สไตล์หรือวิธีคิดของคนทำงานที่ต้องเปลี่ยนไป สไตล์การทำงานใหม่ๆ จะต้องเกิดขึ้น นี่คือเรื่องของคนทำงาน S ตัวที่ 2 คือ Speed ธุรกิจดิจิตอลมันมีความจำเป็นที่ต้องใช้ความรวดเร็ว การทำธุรกิจสมัยใหม่ความช้าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ความใหญ่ไม่สำคัญเท่าความรวดเร็ว สปีดเป็นตัวหนึ่งที่เรากำหนดไว้ S ตัวสุดท้ายคือ Synergy ด้วยความที่อาร์เอสมีธุรกิจที่ค่อนข้างหลากหลาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรายังทำและไม่ค่อยได้ผลเท่าไรคือการเชื่อมโยงธุรกิจแต่ละธุรกิจ ปีนี้เรากำหนด 3 ตัวนี้เป็น 3S
GM : การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นแน่นอน ระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ ความขัดแย้งที่คุณต้องเจอมีอะไรบ้าง
สุรชัย : มีครับ ช่วง 2 ปีนี้เราทำหลายเรื่องอย่างที่บอก แต่ละเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งเรื่องการทำลายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มันก็เหมือนขาดทุนหนัก เป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่เราพร้อมที่จะขาดทุนเพราะเรามองไปในอนาคต อีกเรื่องคือการจัดทีมบริหารใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งกระทบกับทีมทำงานเก่า ตรงนี้สำคัญเพราะกระทบกับคน อะไรที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นเรื่องที่อ่อนไหว
ปี 2548 ทั้งปีเป็นปีที่มีการถ่ายเทพนักงานอาร์เอสสูงที่สุดตั้งแต่เราทำธุรกิจมา เราให้นโยบาย ให้แนวทางไปแล้วว่า เราจะเปลี่ยนอะไรในอาร์เอส แต่เพราะว่าอาร์เอสอยู่มาตั้ง 20 กว่าปี มันจะมีวัฒนธรรมขององค์กร มีคนที่อยู่กับองค์กรมานานๆ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ที่เขาจะยึดติด แต่ก็จะมีคนกลุ่มใหญ่ๆ ที่เชื่อผู้นำและเห็นด้วย เฮียจะพาไปอย่างไร ก็พร้อมจะปรับตัวเองเข้ากับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ คนกลุ่มนี้สุดท้ายจะอยู่ลำบาก ก็จะออกไป แล้วมีคนที่แอนตี้ ต่อต้านลึกๆ แต่ไม่กล้าแสดงออก สุดท้ายคนพวกนี้ก็ต้องออกไปด้วย คนที่ต่อต้านมีตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติการ ทีนี้ระดับปฏิบัติการยังไม่ค่อยน่าห่วงเท่าคนที่เป็นถึงระดับบริหารเองแล้วยังไม่เข้าใจแล้วมีอคติอยู่ในใจ ก็จะสร้างปัญหาให้กับเราพอสมควร สุดท้ายแล้วคนพวกนี้ถึงจุดหนึ่งก็ต้องออกไป ผมก็ต้องไปเชิญผู้บริหารคนใหม่ๆ มาร่วมงานกับเรา
GM : แล้วคนใหม่ๆ ที่เข้ามาจะเข้าใจทิศทางของคุณไหม เพราะอาร์เอสก็มีภาพองค์กรเฉพาะตัวที่ติดมานานหลายปี
สุรชัย : เราคงเปลี่ยนจากคนที่มีทั้งหมดให้เขาเป็นอีกแบบนึงไม่ได้ การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ข้อดีมี ข้อเสียมี ข้อเสียคือคนใหม่อาจจะยังไม่รู้จักอาร์เอส ยังไม่รู้จักจุดแข็ง หรือรู้จักประวัติของอาร์เอสเท่าที่ควร แต่ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เรียนรู้ได้ ข้อดีคือ หนึ่ง, คนพวกนี้เป็นมืออาชีพ ผ่านการทำงานที่หลากหลายมาแล้ว สอง, มีประสบการณ์จากการทำงานในองค์กรอื่นๆ เข้ามา ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือคนพวกนี้เฟรชมาก เขามองอาร์เอสจากข้างนอกเข้ามาแล้วอาจจะมีมุมมองที่เราไม่รู้มาก่อน ก็จะเป็นข้อดี
GM : เช่นอะไรบ้าง
สุรชัย : หลายๆ อย่างที่เรามีและเป็นจุดแข็งของเรา คนข้างนอกมองเป็นเรื่องใหญ่มาก ดีมาก แต่บางทีคนในองค์กรไม่รู้ตัว เพราะมันใกล้ตัวมาก อยู่กับมันทุกวันไม่เห็นมีค่าก็มี และอีกอย่าง สิ่งที่เรามองเป็นจุดแข็งของอาร์เอส คนนอกอาจมองว่าสำหรับโลกธุรกิจสมัยใหม่มันอันตราย เช่น การที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนจนเกินไป อะลุ้มอล่วยกันเกินไปมันก็ลำบากเหมือนกัน การจะดำเนินธุรกิจยุคสมัยดิจิตอลที่รวดเร็วเราต้องระวัง ที่จริงตอนนี้ผู้บริหารระดับแถว 2 รองจากผม ทุกคนปรับตัวและทำงานอยู่ในองค์กรอาร์เอสได้อย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นคุณพรพรรณ (เตชะรุ่งชัยกุล), คุณยรรยง (อัครจินดานนท์), คุณมณฑิรา (ลิมปนารมณ์), คุณวรพจน์ (นิ่มวิจิตร), คุณประสงค์
(รุ่งสมัยทอง) ทุกๆ คนก็สนุกสนานกับการทำงาน ปรับตัวเข้ากับองค์กรได้แล้ว เพราะว่าเป็นมืออาชีพทั้งนั้น และอยู่กับเรามา 2 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง ก็กลมกลืนกันแล้ว
GM : คุณมีหลักในการเลือกผู้บริหารเข้ามาร่วมงานกับอาร์เอสอย่างไร
สุรชัย : ถ้าเป็นระดับผู้อำนวยการ ระดับรองกรรมการผู้จัดการ ผมจะคุยด้วย แต่ถ้าระดับรองจากนั้นไปแล้ว จะมีผู้บังคับบัญชาควบคุมเขาเอง ส่วนใหญ่ผู้บริหารที่จะชวนมาคุยผมจะมีข้อมูลขั้นต้นอยู่แล้ว จะเห็นหน้าอยู่แล้ว ก็เรียกเข้ามาคุย ถามว่าแค่ครึ่งชั่วโมงที่นั่งคุยกันจะรู้อะไรมากขึ้น ผมว่ามันไม่สามารถบอกอะไรได้หรอก แค่มานั่งยิงความรู้สึกกันมากกว่า ลองโยนความรู้สึกแล้วฟีดแบ็คกันว่าเราสไตล์เป็นอย่างไร เรื่องความสามารถผมว่าเรารู้กันอยู่แล้วจากผลงาน และเขาต้องมาพิสูจน์อยู่ดี เพราะบางทีเรามองว่าน่าจะใช่ แล้วไม่ใช่ก็มีเหมือนกัน เรื่องความสามารถต้องใช้เวลา ไม่ใช่นั่งคุยกันครึ่งชั่วโมงแล้วเห็น แต่การที่เรามานั่งคุยกันนี่ ภาษาผมเรียกว่า ‘คลิก’ กันหรือเปล่า เป็นแบบเดียวกับเราหรือเปล่า เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็รู้แล้วว่าจะให้เขามาทำงานด้วยไหม ถ้าเข้ามาแล้วมันเป็นเรื่องของการทำงานก็พิสูจน์กันไป
GM : จากวันที่เริ่มปรับองค์กร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากซีดีปลอมและการละเมิดของผู้บริโภคมา 3 ปีแล้ว ถึงวันนี้ปัญหาเทปผีซีดีเถื่อนสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง
สุรชัย : ยังรุนแรงอยู่ กระทบทั้งธุรกิจเพลง ทั้งภาพยนตร์ ตอนนี้กระทบไปทั่ว มีการละเมิดเต็มไปหมด เรายังร่วมกับภาครัฐปราบปรามอยู่ ถามว่ามันมีโอกาสจะหมดไหม ผมไม่ได้หวังขนาดนั้น เพราะว่าเราสู้กับมันมาหลายปีแล้ว แค่ให้มันลดลงหรือทำกันลำบากกว่านี้หน่อยก็พอ วันนี้มันทำกันเกลื่อนมาก ที่สำคัญคือคนในภาครัฐในหลายๆ หน่วยงานมองว่านี่เป็นเรื่องของเอกชน เขามองว่าการละเมิดเป็นเรื่องของบริษัทบันเทิง ไม่ใช่เรื่องของประเทศ ผมว่าถ้าคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบมองอย่างนี้มันอันตราย
เพราะว่าเขามองชั้นเดียวไง เขาไม่มองว่าการที่คนพวกนี้ขายของโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีมันกระทบโดยตรงอยู่แล้ว แล้วเงินพวกนี้ตรวจสอบไม่ได้ คุมไม่ได้ มันก็ไปเบี้ยบ้ายรายทาง ไปสร้างอิทธิพลกัน สุดท้ายมันก็กลายเป็นเนื้อร้ายของสังคม
GM : ปัญหานี้ในแง่จิตสำนึกของผู้บริโภคล่ะ
สุรชัย : จริงๆ แล้วต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กันอยู่แล้ว เรื่องรณรงค์ให้ปรับทัศนคติก็ต้องทำ แต่ว่าสุดท้ายถ้าเรารณรงค์แต่ออกจากบ้านแล้วเจอเลย มันก็ทำยาก เหมือนเรื่องบุหรี่ที่บอกว่าไม่ควรสูบ แต่ถ้าเด็กๆ ซื้อที่ไหนก็ได้ มันก็ไม่สำเร็จ มันต้องทำไปพร้อมๆ กัน ถ้ารณรงค์แล้วในแง่ของการควบคุมปราบปรามมันไม่เต็มที่ แล้วมันมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องก็ลำบาก บางทีเราไปจับต้องใช้ตำรวจนอกพื้นที่ไปจับ ถ้าตั้งใจจริง มองมันเป็นปัญหาของชาติก็ต้องรีบแก้ เพราะมันไม่ได้กระทบแค่นี้นะ มันกระทบไปหมด ต่างชาติเขามองเราในแง่ลบ เราเองคงไม่แฮปปี้ถ้าใครเอาข้าวหอมมะลิของไทยไปจดลิขสิทธิ์ตามที่มีข่าวเรารู้สึกอย่างไร มันเป็นวิธีคิดเดียวกัน
GM : ถึงวันนี้ อาร์เอสเข้าตลาดหลักทรัพย์มา 3 ปีแล้ว การเข้าตลาดหุ้นส่งผลกับบริษัทนี้อย่างไร คิดถูกหรือคิดผิดที่เป็นบริษัทมหาชน
สุรชัย : เราเข้าตลาดหุ้นตอนปี 2546 มองในมุมของเราที่มาจากบริษัทที่เริ่มต้นมาจากครอบครัว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นบริษัทจำกัด มีระบบการทำงานแบบมืออาชีพ จนตอนนี้ต้องเปลี่ยนจากการถือหุ้นของครอบครัว 100% ถามว่าข้อดีข้อเสียมีไหม ผมว่าทุกอย่างมันมี 2 ด้าน ในมุมบวกผมมองว่าเราตัดสินใจถูกที่นำอาร์เอสเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะมันทำให้เราพยายามที่จะปรับปรุงหลายๆ สิ่งให้ดีขึ้น ให้แข็งแรง ให้ได้มาตรฐาน ต้องยอมรับว่าปี 2545-2546 พอเรามีเป้าว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราทำงานกันเร็วมาก มันทำให้เรามีธรรมาภิบาลที่ดี ตรวจสอบได้ ระมัดระวังตัวเราเอง อย่างผมสวมหมวก 2 ใบ คือทั้งเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้น ผมก็ต้องมีวินัย เมื่อก่อนทำอย่างไรก็ได้ เป็นของเรานี่ จะทำอะไรก็ได้ วันนี้ไม่ได้ วันนี้จะทำอะไรบางเรื่องต้องเข้าที่ประชุม บางเรื่องต้องเตรียมข้อมูล หลายๆ เรื่องต้องชี้แจงได้ ต้องเปิดเผย บางเรื่องทำไปแล้วมันเป็นข้อผูกมัดของผู้ถือหุ้นกับตลาด มันทำให้องค์กรระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ในแง่ของธุรกิจเองบางครั้งมันทำให้เรารอบคอบมากขึ้น
GM : ในช่วงที่มีการปรับองค์กร ผลประกอบการของอาร์เอสอาจจะออกมาดูไม่สวยนัก คุณหนักใจบ้างไหม
สุรชัย : ถามว่าหนักใจไหม ผมไม่หนักใจเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เราตั้งเป้าอยู่แล้ว เราจะปรับโครงสร้าง เรารู้ว่าจะเกิดอะไรกับอาร์เอสใน 2 ปี ผมไม่หนักใจ แต่ว่าไม่สบายใจเท่านั้นเอง เพราะว่าเรื่องแบบนี้เราจะสื่อสารกับผู้ถือหุ้นให้เข้าใจได้อย่างไร เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องที่เรากำลังจะทำ นักข่าวเองก็จะมีคำถามช่วงนั้นว่าทำไมขาดทุน ทำไมพนักงานออกบ่อย สมองไหลเหรอ มีเรื่องพวกนี้เยอะ แต่ว่าเราก็ต้องทน เพราะเรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ พอก้าวพ้นตรงนั้นมาทุกอย่างก็พร้อม ปี 2549 ก็เป็นอย่างที่เราวาดภาพไว้ ปีนี้ธุรกิจก็จะเป็นไปในโมเดลที่เราวางไว้ ผลประกอบการก็จะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้
GM : คาดว่าราคาหุ้นของอาร์เอสจะเป็นอย่างไรในอนาคต
สุรชัย : ผมคาดไม่ได้หรอก ผมคิดว่าหุ้นมันเป็นไปตามผลการดำเนินงานของบริษัท คือบริษัทดี หุ้นต้องดี บริษัทไม่ดี หุ้นก็ต้องไม่ดี หุ้นคือกระจกสะท้อนธุรกิจของบริษัท ผมบอกได้แค่นั้น ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นในตลาดมันก็เป็นไปตามสภาพ ตามปัจจัย เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เพียงแต่ว่าปีนี้จะเห็นว่าอาร์เอสค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเราจะทำอะไร
GM : อยากให้เล่าย้อนไปหน่อยว่า ในปี 2549 ที่ผ่านมา เกิดอะไรบ้างกับบริษัทอาร์เอส
สุรชัย : ปีที่แล้วเป็นปีที่เราประกาศตั้งแต่ต้นปีว่าเราจะเป็น entertainment content for wide world และ market media service คือเป็นผู้บริหารคอนเทนต์และเป็นผู้บริหารสื่อครบวงจร เราพยายามจะบอกตลาดหรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน โดยพูดรวมๆ ว่าอาร์เอสวันนี้ต่างจากอดีตอย่างไร คือเราไม่ได้ยึดยอดขายซีดีเหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว
ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้ขายซีดีหรือวีซีดีนะ เรายังขายอยู่ แต่ว่าไม่ได้ขายทุกชุด ไม่ได้หลับหูหลับตาตะบี้ตะบันขาย เราต้องเลือก หลายๆ ชุดไม่จำเป็นต้องมีซีดีก็ไม่ต้องมี อย่างศิลปินของเราที่เป็นดิจิตอลอย่าง DDZ ซึ่งเพิ่งวางไปเมื่อต้นปีก็ทำรายได้ให้เราสูงมาก ขณะที่เราไม่ได้ทำซีดีขายสักแผ่นเลย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ content world wild ผู้บริโภคต้องการเจอเขาได้ในโลกดิจิตอล
เรามองว่าซีดีเป็นพาหะนำคอนเทนต์ไป ถ้าเปรียบเทียบก็คือ เพลง 1 เพลงคือ
คอนเทนต์ แผ่นคือถนนเส้นหนึ่ง ดาวน์โหลดฟูลซองดิจิตอล (full song digital) ก็คือถนนเส้นหนึ่ง โมไบล์คอนเทนต์ (mobile content) ก็เป็นเส้นหนึ่ง รถคันนี้เหมาะจะไปเส้นไหนก็ไปเส้นนั้น แผ่นซีดีมันก็เป็นแค่ถนนเส้นหนึ่งที่จะนำพาคอนเทนต์ไปถึงผู้บริโภค
บางคอนเทนต์ไม่เหมาะก็ไม่ต้องพาไป ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ความรู้กับคนต่างๆ อาร์เอสเองก็เดินไปทางนี้ตลอด ปีที่แล้วเราขายโรงงานทิ้ง เราไม่มีสายการผลิตซีดีอีกต่อไป เราเอาต์ซอร์ซ (out source) หมด แล้วเราก็รุกเข้าไปสู่ธุรกิจกีฬา นี่จะเป็นคอนเทนต์อีกตัวหนึ่ง ในแง่ของธุรกิจบันเทิงเรายังทำเพลง บริหารศิลปิน สร้างศิลปิน บริหารกิจกรรม เราเน้นโชว์ ทำภาพยนตร์ ทำหมดทุกอย่าง แต่ว่าพยายามทำทุกอย่างให้มันเป็นคอนเทนต์แล้วก็ใช้การตลาดนำ จะเห็นว่าเราปรับโครงสร้างแล้ว ทุกๆ ตัวของเราค่อนข้างมีทิศทางที่ชัดเจน ภาพยนตร์เราก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราใช้การตลาดนำทุกเรื่อง และผลประกอบการเป็นไปตามที่เราคาดหวังกันไว้ เราคาดว่าจะปิดยอดขายที่ประมาณ 3,200 ล้าน ก็ได้ตังค์แล้ว ก็มีกำไร 3 เท่า
GM : ในอนาคตต้องถึงขั้นทำเพลงเพื่อซัพพอร์ตโทรศัพท์มือถือหรือเปล่า
สุรชัย : จำเป็นครับ คือก่อนจะสร้างงาน 1 งานบางทีต้องชัดเลยว่าเราจะสร้างให้ใคร ในอดีตเราจะมองจากเราออกไป ตอนนี้เรามองจากข้างนอกเข้ามาบ้าง แล้วก็มองจากเราไปบ้าง ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เราจะมองเอาต์ไซด์อิน (outside in) อย่างเพลง ‘ว่างแล้วช่วยโทรกลับ’ ของลิเดีย หรือเพลง ‘โทรมาทำไมครับ’ ของ DDZ อย่างนี้จะเป็นเพลงที่เนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ เรื่องอย่างนี้มันคือการที่เราพยายามใช้ผลวิจัย หาดูว่าผู้บริโภคเราเป็นใคร ต้องการอะไร แล้วเราทำไปหาเขา เรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้
GM : แสดงว่าเราจะได้ฟังเพลงอย่าง ‘ว่างแล้วช่วยโทรกลับ’ หรือ ‘ใช้เบอร์เดิม’ มากขึ้นอีก
สุรชัย : มันก็แล้วแต่ นี่คือตัวอย่าง ก็เหมือนภาพยนตร์ เราก็ทำแบบที่ตลาดต้องการ เพราะเราใช้เอาต์ไซด์อิน เอาตลาดมานำเรา เอาความต้องการของผู้บริโภคมานำเรา
GM : ที่บอกว่ามีการวิจัยนี่ใครมาวิจัยให้
สุรชัย : ทีมงานของอาร์เอสเอง เรามีหน่วยงานวิจัยของเรา และมีการเอาต์ซอร์ส
GM : คุณให้น้ำหนักกับการวิจัยมากน้อยแค่ไหน
สุรชัย : ก็ให้พอสมควร แต่ว่าเราไม่ได้ทำทุกอย่างตามผลวิจัย เพราะว่าต้องยอมรับว่าเราเองอยู่ในธุรกิจตรงนี้มานาน เราทำอยู่กับมันทุกวัน การที่เราทำอย่างนี้ทำทุกวันเหมือนเรามีแนวทาง มีข้อมูลใกล้ชิดกับผู้บริโภคอยู่แล้ว เราไม่ได้อยู่ไกลตลาด เราเห็นรสนิยมของคนไทยที่ไม่ค่อยเปลี่ยน อยู่มา 20 ปี ชอบอย่างไรก็ชอบอย่างนั้น อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด ในยุคสมัย เราก็ยังมั่นใจในประสบการณ์ของเรา แต่การที่เรามีผลวิจัยบ้าง มันแค่ช่วยตอกย้ำ ช่วยตรวจสอบ แล้วบางทีผลวิจัยมันจะบอกอะไรหลายๆ อย่างที่เราคิดไม่ถึง แต่โดยพื้นฐานแล้ว การทำวิจัยสม่ำเสมอก็เพียงเพื่อสนับสนุนแนวคิดหรือการวางกลยุทธ์
GM : ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ทางอาร์เอสเริ่มต้นทำมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้คุณพอใจมันแค่ไหน
สุรชัย : เรามีนิตยสาร Fame กับ Front แล้วก็มีนิตยสารบันเทิงที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว คือ ดาราเดลี่ กับ ดาราเดลี่ วีคเอ็นด์ ก็เป็นไปตามเป้านะครับ ค่อนข้างจะได้รับการตอบรับที่ดี ปี 2550 เราเชื่อว่าจะเป็นปีที่เราสามารถทำกำไรได้แล้ว เพราะว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นแบบนี้อยู่แล้ว จะขาดทุนในช่วงแรก แต่จะมากแค่ไหน นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ ขึ้นอยู่กับสายป่าน เราตั้งเป้าว่าเราจะขาดทุนปีสองปี ซึ่งมันก็เป็นไปตามเป้า เราก็เชื่อจากแผนงานที่ออกมา ปี 2550 สิ่งพิมพ์ของอาร์เอสจะเป็นปีที่เราสามารถทำกำไรกับมันได้เป็นต้นไปแล้วเราคงไม่เพิ่มหัว ไม่เพิ่มเล่มให้มากขึ้นไปกว่านี้แล้ว คงทำที่มีอยู่ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
GM : ถ้าดีขึ้นแล้วทำไมถึงไม่เพิ่มหัว
สุรชัย : ผมว่าจริงๆ แล้วปริมาณมันไม่ได้บอกอะไรเท่าไร ตอนนี้นิตยสารที่เรามีเป็นนิตยสารที่เรามีมาตอบเซกเมนต์ (segment) แล้ว อย่าง Fame เป็นนิตยสารไฮเอ็นด์ ส่วน Front เป็นนิตยสารผู้หญิงจากกลุ่มเฟิร์สจ๊อบเบอร์ (first jobber) ดาราเดลี่เป็นนิตยสารธุรกิจบันเทิง ส่วนดาราเดลี่ วีคเอ็นด์ ก็เป็นนิตยสารบันเทิงที่ออกเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับผลตอบรับดีที่สุด
GM : อาร์เอสเป็นบริษัทบันเทิง แต่ทำไมเมื่อทำสิ่งพิมพ์จึงเปิดตัวด้วยนิตยสารผู้หญิงอย่าง Front ก่อน
สุรชัย : จริงๆ มันอยู่ที่จังหวะ โอกาส และความพร้อมของทีมมากกว่า อย่างมีแผนพร้อมอยู่แล้ว แต่มันอยู่ที่จังหวะกับโอกาส และทีมงาน ผมมองโปรเจ็กต์แต่ละโปรเจ็กต์ว่ามันเหมือนลิ้นชัก โปรเจ็กต์ทุกอย่างคือความคิดที่เราเก็บไว้ จังหวะไหนเหมาะ เราก็หยิบมันขึ้นมาก่อน ดูว่าปัจจัยเปลี่ยนไปไหม ถ้าปัจจัยไม่เปลี่ยนเราก็เอามานั่งวิเคราะห์กันใหม่ แต่ทุกอย่างเมื่อมันเป็นแนวคิด มันมีแนวทาง รอจังหวะที่ดีๆ มันมองได้หลายทาง
GM : ในด้านธุรกิจคลื่นวิทยุของอาร์เอส ทราบมาว่าเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร
สุรชัย : จริงๆ ก็ค่อนข้างอยู่ตัว ตอนนี้เรามีอยู่ 3 คลื่น ก็ตอบทุกเซกเมนต์เหมือนกัน คลื่น Max ก็กลุ่มวัยรุ่น Cool ก็ตอบกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน เป็นเพลงฟัง Easy Listening อันดับ 1 มาตลอด คลื่น Latte ก็จะตอบกลุ่มยัปปี้หน่อย กลุ่มคนออฟฟิศชายและหญิงก็ค่อนข้างดีนะครับ เพราะว่ากลุ่มเราเป็นผู้นำในตลาด
GM : คุณคิดอย่างไรที่วงการวิทยุมีการแปรผันสูง อย่างในเรื่องสัมปทานหรือว่าเรื่องอนาคตของ กสช.
สุรชัย : ธุรกิจวิทยุเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ถามว่าเป็นความเสี่ยงไหม คือถ้าเรารับกับมันคนเดียวแล้วคนอื่นไม่ได้รับมันอาจจะเป็นความเสี่ยง แต่นี่มันเป็นกติกาในเมืองไทยอยู่แล้ว แล้วตอนนี้ผมว่าเรื่องวิทยุนี่มันเลยช่วงเวลาที่คนจะวิ่งมาแย่งกันทำแล้วนะครับ จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาทุกคนคืนคลื่นเสียด้วย ดีมานด์ในการอยากจะได้คลื่นมันไม่ได้มากกว่า เราเองก็ไม่ได้ต้องการเพิ่มคลื่น ในตลาดเองผมก็เชื่ออย่างนั้น เพราะมันมีคลื่นเหลือ
GM : ในส่วนธุรกิจนิวมีเดียที่คุณกำลังบุกเบิกตอนนี้สถานการณ์อยู่ในระดับไหน
สุรชัย : นิวมีเดียนี่ เราใช้คำว่าธุรกิจดิจิตอลของอาร์เอส ซึ่งอันนี้ผมกล้าประกาศว่าเราก้าวเร็วกว่าคนอื่น เรารุกเร็วมาก ของเราเรียกได้ว่าแข็งแรงที่สุดในตลาดเลยก็ว่าได้ จริงๆ สายงานนี้
เป็นสายงานที่ผมเชื่อว่าเป็นกองหน้าเลย ถ้าเปรียบอาร์เอสเป็นทีมฟุตบอล นี่คือ
ตัวรุกในธุรกิจโมเดลใหม่ของอาร์เอส มันจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ นำคอนเทนต์ของเราออกไปด้วยช่องทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งไปสอดคล้องกับวิชั่นของอาร์เอสด้วย
GM : มีช่องทางอะไรบ้าง
สุรชัย : เยอะแยะ อันนี้มีเว็บไซต์ มือถือ การดาวน์โหลดฟูลซองอะไรต่างๆ ผมว่ายังมีโอกาสอีกมหาศาล ล่าสุดเราเป็นบริษัทแรกในโลกนะที่เป็นเจ้าของคอน-เทนต์ แล้วจะทำเอ็มพี3 ขาย ในโลกนี้เจ้าของคอนเทนต์จะไม่สนับสนุน ไม่ยอมให้เกิดการขายคอนเทนต์ด้วยเอ็มพี3 แต่วันนี้ผมเชื่อว่าช้าเร็วมันก็ต้องถึงจุดนั้น วันนี้เอ็มพี3 มันเข้าไปอยู่ในลมหายใจของผู้บริโภคสมัยใหม่กันหมดแล้ว เราจะต้องถามตัวเองแล้ว ถ้าปิดอยู่ป้องอยู่ก็ทำไป แต่ถ้าปิดไม่อยู่ เราเดินเข้าไปหาโอกาสดีกว่า มันเหมือนในยุคหนึ่งที่คนต้องการเพลงผ่านการดาวน์โหลดแล้วเราไม่ให้ดาวน์โหลด เราต้องการขายแผ่น ถามว่าเราจะนำผู้บริโภคหรือให้ผู้บริโภคนำเรา ผมเชื่อว่าผู้บริโภคเป็นใหญ่ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดตลาด มันถึงไม่มีเหตุผลว่าทำไมอาร์เอสต้องถอยจากการขายแผ่นเอ็มพี3 เราจะปลดระบบป้องกันต่างๆ การบล็อกด้วยโค้ดต่างๆ ทิ้ง เราจะขายแบบไม่มีข้อจำกัด ส่วนเรื่องปราบปรามต่างๆ ทุกวันนี้ถ้าเราไม่ขายมันก็มีการละเมิดอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราไม่ขายเอ็มพี3เอง แล้วมันจะไม่มีการละเมิด มันก็มีอยู่ดี งั้นเราก็ขายเองด้วย แล้วก็ไปจับคนที่ละเมิดด้วยดีกว่า
แล้ววิธีขายก็มีหลายวิธีนะครับ จะมีคอลเลกชั่นออกมาเป็นระยะๆ แล้วเราเชื่อว่าทั่วโลกก็ต้องมาทำอย่างนี้ เพราะสุดท้ายมันคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของผู้บริโภคที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
GM : เรื่องการขายเพลงด้วยวิธีดาวน์โหลดนี่คุณมั่นใจแค่ไหนว่าจะทำรายได้ให้ เพราะผู้บริโภครุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็เคยชินกับการได้ของฟรีจากอินเตอร์เน็ตไปแล้ว
สุรชัย : ผมเชื่อว่าช้าหรือเร็วมันก็ต้องเกิด ผมไม่ได้คาดหวังให้เรามีผู้บริโภคดาวน์โหลด 100% เป้าหมายผมขอให้ได้ถึง 10% ของการใช้ผมก็ได้มหาศาลแล้ว ที่สำคัญคือการขายเพลงผ่านการดาวน์โหลดเราไม่มีต้นทุน เราไม่ต้องประดิษฐ์สินค้า ไม่ต้องไปวางจำหน่าย ไม่ต้องปั๊มแผ่น เพราะฉะนั้นมาร์จิ้นมันสูง เราพยายามทำเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด เรื่องราคา ทุกเรื่อง ทำยังไงให้ผู้บริโภคกับเรามาเจอกันให้ได้ ความต่างระหว่างเรากับการดาวน์โหลดเถื่อนมันแตกต่างกันได้ ในขณะเดียวกันเราก็ทำเรื่องของการจับกุมปราบปรามเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้บริการดาวน์โหลดเถื่อนอยู่ ก็ทำไปพร้อมๆ กัน ผมเชื่อว่าเกิดครับ
GM : ดูเหมือนคุณจะดูโมเดลธุรกิจบันเทิงดิจิตอลมาจากต่างประเทศแล้วนำมาใช้กับอาร์เอส แต่ว่าผู้บริโภคในเมืองไทยมีลักษณะพิเศษอะไรต่างจากคนในต่างประเทศหรือเปล่า
สุรชัย : หลักๆ ผมเชื่อว่าโลกทั้งโลกมันหมุนไปทางเดียวกัน ในรายละเอียดอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เพราะคนต่างที่ก็อาจจะมีนิสัยหรือมีวิธีอะไรที่ต่างกัน แต่ในแง่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เมื่อโลกมองไปทางนั้น ทั่วทั้งโลกจะหมุนไปทางนั้น
เมื่อประมาณปี 2544 ผมพาลูกชายไปเที่ยวญี่ปุ่น ผมพาไปเที่ยวบ่อยมาก ทุกครั้งที่ไป ลูกชายผมจะไปที่ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมากสำหรับเด็กวัยรุ่น เขามีขายพวกวอล์กแมนรุ่นใหม่ๆ เต็มไปหมด แต่ปี 2545 ผมไปหาซื้อวอล์กแมนยากมาก ไปซื้อทั้งวันไม่เจอ แล้วมันกลายเป็นของถูกๆ ขายเลหลัง ของที่มันวางอยู่ในห้างมันกลายเป็นเครื่องพวกเครื่องเล่นเอ็มพี3 เป็นไอพอด เครื่องเท่ากล่องไม้ขีด ลูกชายผมยังซื้อมาใช้เลย แล้วต่อมาเมืองไทยเริ่มเข้ามาบ้างแล้ว ผมยังบอกตัวเองว่ามันไม่มีเหตุผลที่ผู้บริโภคในโลกจะไม่เข้ามาเล่น เพราะมันกะทัดรัดกว่า ถูกกว่า สะดวกกว่า ใส่เพลงได้มากกว่า ถ้าเราเป็นผู้บริโภค เราจะปฏิเสธมันไหม ไม่มีทาง เหมือนกล้องถ่ายรูป ผมโตมากับการต้องเปลี่ยนฟิล์ม 36 รูป 24 รูป แล้ววันหนึ่งกล้องดิจิตอลเข้ามา เลือกรูปได้ ไม่ชอบเปลี่ยนใหม่ ชอบเซฟไว้ สะดวกสบาย ผมเชื่อว่าช้าเร็วฟิล์มก็จะถูกลบไปจากสมองของผู้บริโภค โลกมันหมุนมาทางนี้ ถ้าสิ่งนี้มันดีมันก็ไปของมันเองแน่
ผมกลับมา ผมมองว่าอาร์เอสอยู่กับซีดีมันก็ลำบากอยู่แล้ว แล้วอนาคตเครื่องพวกนี้เข้ามาเราจะยิ่งแย่ เพราะฉะนั้น เราจัดการตัวเองก่อนดีกว่า เรื่องแบบนี้ถ้าเราจับกระแสจากต่างประเทศเทรนด์มันเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น อย่างอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน ทุกวันนี้วัยรุ่นทั่วโลกใช้เวลากับฟรีทีวีไม่ถึง 20-30% ต่อวัน คุณจะเชื่อหรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าเชื่อแล้วจะหยิบมันมาวิเคราะห์และจะอยู่กับมันอย่างไร จะหาประโยชน์กับมันอย่างไร จะสร้างตัวเองให้อยู่กับเขาได้อย่างไร หลักการเดียวกัน วันนี้ผมจะเจอแฟนของอาร์เอสได้ดีผมต้องไปสร้างอะไรในอินเตอร์เน็ตให้เขาเจอให้ได้ ผมจะเจอกับเขาที่อื่นเขาจะไม่เจอผม ต้องเจอในอินเตอร์เน็ต มันเป็นความจริง มันก็เป็นโจทย์ยากที่เราต้องทำ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เรารู้แล้วว่าผู้บริโภคคือใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร
GM : ตัวคุณเองเข้าอินเตอร์เน็ตบ่อยแค่ไหน
สุรชัย : ผมไม่ใช่เทคโนโลยีแมน คือในรายละเอียดมีคนจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นคนชอบอ่านเรื่องพวกนี้มาก ชอบอ่านชอบติดตามพฤติกรรมมนุษย์ ดูว่าความสำเร็จของไอพอดมันมีวิธีคิดอย่างไร ผมชอบคิดอย่างนี้ ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นได้มันคือผลลัพธ์ และผมชอบมองย้อนกลับไปว่ามันมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร หรือเว็บไซต์ YouTube ความสำเร็จมันเดินทางมาได้อย่างไร มันตอบอะไรในตลาด อย่างนี้ผมมองเห็นแล้ว YouTube มันบอกอะไรได้บางอย่างที่คนอื่นมองไม่เห็น ที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ก่อนว่าอะไรมันเกิดขึ้นในโลก ต้องหาผู้บริโภคให้เจอเสียก่อนว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร ต้องการอะไร ส่วนโจทย์ที่เราจะทำอาจจะยาก อาจจะตอบเขาไม่ได้ทุกเรื่อง คือตอบเขาได้บางเรื่องก็ไม่เป็นไร เป็นการบ้านที่ยากหรือง่ายแตกต่างกันไป ผมกับทีมงานต้องไปทำ ผมต้องไปเรียนรู้ก่อนว่าเราจะเจอเขาที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ดีกว่าทำโดยที่ไม่รู้เลย
GM : ในปี 2550 อาร์เอสจะเป็นอย่างไร
สุรชัย : ถ้าในแง่การทำธุรกิจก็คงจะเป็นการตามต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่วนตัวใหม่ๆ ไม่มีอะไรเปิดเผยได้ในตอนนี้
GM : ในความเห็นของคุณ ศิลปินนักร้องในอนาคตควรจะมีลักษณะเป็นอย่างไร
สุรชัย : ถ้าเรามองศิลปินเป็นคอนเทนต์ ผมก็คิดว่าจะไม่มีข้อจำกัดของศิลปินอีกต่อไป ผมชอบเปรียบคอนเทนต์เป็นรถ ถ้าผมมีรถคันหนึ่งผมอยากจะมีรถที่วิ่งไปได้ทั่วโลก ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี ไม่ใช่ไปได้แค่เส้นใดเส้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น ศิลปินคนหนึ่ง ถ้าเขาขายแผ่นได้ ดาวน์โหลดได้แล้ว ต้องเล่นละครได้ เล่นหนังได้ เป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ ทำกิจกรรมได้ ศิลปินที่ออกมาแล้วขายเพลงอย่างเดียว เล่นคอนเสิร์ตอย่างเดียว ในอนาคตอาจอยู่ไม่ได้ เราก็จะทำบ้างแต่ว่าทำให้มันน้อยหน่อย พยายามทำศิลปินที่สามารถหารายได้ได้รอบตัวที่สุด แล้วในโลกดิจิตอล ถ้าเรามีศิลปินที่รองรับเรื่องดิจิตอลได้เลยก็ยิ่งดี อย่าง DDZ เมื่อปีที่ผ่านมา ในอนาคตเราก็จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง แล้วก็จะมีศิลปินที่เป็นคาแร็กเตอร์ออกมาอีก
GM : ศิลปินเพลงในอนาคตยังจำเป็นที่จะต้องมีฝีมือเล่นดนตรีดี ร้องเพลงดีอยู่ไหม
สุรชัย : จำเป็น ในแง่การทำงานผมว่าไม่ได้แตกต่าง ในแง่การสร้างศิลปินก็ยังไม่แตกต่าง เรายังต้องสร้างตามความต้องการของผู้บริโภค ตลาดต้องการอะไรมันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่ ต้องเป็นเพลงที่เขาชอบ ต้องฮิตให้ได้ เพราะฉะนั้น เพลงที่เขาจะชอบต้องร้องดี ร้องเพราะ เพลงเพราะนั้นแน่นอนอยู่แล้ว อันนี้ต้องมี เพียงแต่สิ่งที่มันเปลี่ยนไปคือวิธีมองธุรกิจเท่านั้นเอง
GM : เราจะมีสิทธิ์ได้ฟังเพลงแหวกๆ แปลกๆ อย่างแจ๊ซ หรือเพลงอินดี้จากอาร์เอสอีกบ้างหรือเปล่า
สุรชัย : คือถ้ามีตลาดเราก็ทำ เป็นเรื่องของตลาดอยู่แล้ว คนบางคนถามว่าอาร์เอสจะมีสิทธิ์ทำหนังอาร์ตไหม ผมคิดว่าถ้ามีรีเสิร์ชมาว่าคนเริ่มเบื่อหนังตลาดแล้ว อยากดูหนังอาร์ต ผมก็ทำ อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ผมทำธุรกิจผมตั้งต้นที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก
GM : คุณคิดอย่างไรเรื่องการทำให้อาร์เอสโกอินเตอร์
สุรชัย : ตอนนี้มีการนำคอนเทนต์ของเราไปหารายได้ในต่างประเทศอยู่แล้ว ทั้งหนัง รายการทีวี แม้กระทั่งเพลงบางอัลบั้ม แต่ถ้าถึงขนาดไปลงทุนเลยผมยังไม่มีความคิดอย่างนั้น หนึ่ง, ผมคิดว่าในประเทศเรายังมีเรื่องที่จะให้ทำอีกตั้งเยอะแยะ สอง, ทำอะไรเมืองนอกมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ธุรกิจของเราก็ยังมีอะไรที่จะไปต่อยอดต่างประเทศได้ ที่ไปขายได้เป็นครั้งคราวเราก็ไปอยู่แล้ว แต่ถ้าไปลงทุนเลย เราก็ต้องไปแข่งกับบริษัทที่โน่นอยู่ดี อยู่ที่นี่เราเป็นคนตัวใหญ่ ใครจะมาแข่งกับเราก็ลำบาก เราจะไปตัวเล็กอยู่ที่อื่นมันก็ไม่เมกเซ้นส์
GM : ในการทำงานในอาร์เอส คุณมีการกระจายอำนาจบริหารจากตัวคุณแค่ไหน
สุรชัย : จริงๆ แล้วถ้าแบ่งธุรกิจแต่ละธุรกิจก็จะมีรองกรรมการผู้จัดการดูไปเลย ผมไม่เข้าไปยุ่งแล้ว คุยกันเรื่องเป้าหมายเท่านั้น จะมีบางธุรกิจที่ยังดูเองอยู่ เช่น ดูแลเรื่องเพลงกับหนัง เพราะเริ่มต้นมาผมก็ดูแลเองอยู่ แล้วพยายามสร้างทีมให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนธุรกิจอื่นๆ แต่ละธุรกิจก็จะมีรองฯคนอื่นๆ ดูแลอยู่แล้ว
GM : โดยส่วนตัว หลังจากการปรับองค์กร คิดว่าตัวเองงานหนักขึ้นหรือว่าสบายกว่าเดิม
สุรชัย : วิธีทำธุรกิจ ถ้าเราพร้อม มันก็ไม่ได้ยากมาก เพราะมันต้องใช้ความไว ใช้ความเปลี่ยนแปลง ใช้ความแปลกใหม่ ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้น แล้วพอทีมงานเราแข็งแรง มันก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าชีวิตคนทำงาน เราไม่คาดหวังจะเจอเรื่องง่ายๆ อยู่แล้ว ผมว่าใครคิดว่าปีนี้จะเจอเรื่องง่ายๆ ผมว่าไม่ใช่แล้วนะ ชีวิตคนทำงานธุรกิจไม่มีคำว่าง่าย ไม่มีคำว่าสบาย เพียงแต่ขอให้ความลำบากเป็นความท้าทายที่มีเป้าหมายรออยู่ แล้ววิ่งไปข้างหน้า องค์กรทั้งองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ผมก็สบายใจในระดับหนึ่ง
GM : องค์กรคุณใหญ่ขึ้นขนาดที่มี
พนักงานเป็นพันๆ คน คุณมีหลักในการบริหารบุคลากรอย่างไร
สุรชัย : ณ วันนี้จริงๆ ผมไม่ได้ลงไปดูในรายละเอียดแล้ว ปล่อยให้ผู้บริหารแต่ละฝ่ายเขาดูแลไป ทีนี้ภาพใหญ่ขององค์กรผมก็พยายามสื่อสารไปว่า อาร์เอสเรามีทิศทางเป็นอย่างไรอยู่เสมอ
ผมว่าพนักงานต้องการไม่กี่เรื่องในชีวิตทำงาน หนึ่ง, ต้องการรู้ว่าองค์กรมีความมั่นคง สอง, รู้ว่าองค์กรเดินทางไปในทางที่ดี เพราะว่าเบ็ดเสร็จ องค์กรดี คนในองค์กรก็ต้องดีด้วย เป็นเรื่องที่เราสื่อสารตลอด ผมจะคุยกับพนักงานทุกครั้งตอนปีใหม่ ถึงจะใช้เวลา
ไม่เยอะแค่ 5 นาที 15 นาที ก็จะพูดว่าตอนนี้อาร์เอสเป็นอย่างไร เราจะเดินไปอย่างไร ให้เขารู้ เป็นครั้งเดียวที่เราจะบอกทุกระดับได้ ส่วนระดับสูงเราพูดกันบ่อยๆ อยู่แล้ว แล้วผมจะพูดตลอดว่าคนในองค์กรต้องดี ผมเชื่อว่าคนทำงานต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมกับสิ่งที่ตัวเองทำให้กับองค์กร ต้องการความมั่นคง ต้องการบรรยากาศและความสนุกในการทำงาน คนทำงานที่ดีต้องไม่กลัวความเครียด ความเครียดเหมือนการต่อสู้ การต่อสู้นั้นมันมีรางวัลมีการตอบแทนรออยู่ เรื่องของผลตอบแทนในการทำงาน และเรื่องของความภูมิใจด้วย คนต้องพร้อมที่จะเดินไปกับเราด้วย
GM : ที่คุณบอกว่า องค์กรดี คนก็ต้องดี คำว่า ‘ดี’ ของคุณหมายถึงในแง่ไหน
สุรชัย : คือถ้าบริษัทไม่ได้กำไรคนทำงานก็ไม่แฮปปี้ ไม่มั่นคงเรื่องผลตอบแทน โบนัส เงินเดือน ความก้าวหน้าในการทำงาน องค์กรจะเติบโต คนทำงานต้องเติบโตก่อน คือองค์กรยิ่งขยายงาน ยิ่งเติบโต แสดงว่าโอกาสที่คนในองค์กรจะขยับขยายและเติบโตต้องมี การเติบโตขององค์กรคือการเติบโตของคนในองค์กร ผลสำเร็จขององค์กรก็คือผลสำเร็จที่มาจากคนในองค์กรช่วยกันทำ ผลตอบแทนที่ประสบความสำเร็จก็จะถูกแบ่งไป ไม่ว่าผู้ถือหุ้นหรือว่าผู้ทำงาน ก็จะมีผลตอบแทนที่ดี
GM : อาร์เอสเป็นบริษัทมหาชนที่มาจากระบบครอบครัว ถึงวันนี้ลูกน้องยังเรียกคุณว่า ‘เฮีย’ อยู่หรือเปล่า
สุรชัย : ไม่แปลก มันคนละส่วน เขาเรียกเฮีย ผมว่ามันแก้ไม่ได้ เฮียก็คือพี่ ผมแฮปปี้นะ ถ้าเขาเรียก ‘พี่ฮ้อ’ มันก็ไม่ใช่ (หัวเราะ) ถ้าเขาเรียกว่า ‘คุณสุรชัย’ มันก็จริงจังไป แล้วสิ่งหนึ่งที่พยายามอยู่คือ ตอนนี้วัฒนธรรมอาร์เอสเปลี่ยนไป การทำธุรกิจเปลี่ยนไป แต่ส่วนหนึ่งในองค์กรที่ไม่เปลี่ยนคือเรามีความเป็นแฟมิลี่ คนในอาร์เอสจะสัมผัสง่าย ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ภายในองค์กรอย่างเดียว มันเป็นคาแร็กเตอร์ของอาร์เอสที่คนภายนอกสัมผัสได้ด้วย แม้กระทั่งผมก็ไม่ใช่คนเข้าหายาก เจอง่ายคุยง่าย เจอลูกน้องก็คุย พนักงานเรียกเฮียๆ นักร้องก็เรียกเฮีย
GM : ผู้บริหารใหม่ๆ เรียกคุณว่าเฮียด้วยไหม
สุรชัย : เรียกเฮียครับ ทุกคนก็เรียก
GM : คุณมีการสร้างบรรยากาศในการทำงานอย่างไรให้คนในอาร์เอสมีความสุขกับงาน
สุรชัย : ต้องยอมรับว่าปีสองปีที่ผ่านมาที่เราปรับโครงสร้าง บรรยากาศในองค์กรอาร์เอสไม่ค่อยดี อึมครึม อันนี้ผมก็รู้ แล้วเราพยายามสื่อสารนะ แต่เรื่องนี้มันปฏิเสธไม่ได้ ช่วงนั้นพนักงานขวัญไม่ค่อยดี ไม่ค่อยสบายใจ ไม่รู้ว่าเราจะอยู่อย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผมว่าคนทำงานอาร์เอสวันนี้ เรื่องความมั่นคงชัดเจนแล้ว องค์กรนิ่งแล้ว ทุกคนสนุกกับการทำงาน ทุกคนมีเป้าหมายแล้ว ในอดีตเหมือนกับทำงานไปวันๆ ทำไปให้เสร็จทำไปให้ดี แต่ไม่รู้ว่าเมื่อวัดผลแล้วอะไรเรียกว่าดี อะไรเรียกว่าไม่ดี แต่วันนี้คนในองค์กรอาร์เอสทุกสายงานมีเป้าหมาย รู้เลยว่าทำแค่ไหนจะถึง แค่ไหนไม่ถึง ถึงแล้วได้อะไร มันทำให้ทุกคนมีความชัดเจนในการทำงาน มีความมั่นคง ในขณะเดียวกัน บรรยากาศในการทำงานคือแข่งขัน สนุก และที่สำคัญ คนทำงานต้องเหนื่อยทุกคน แต่ว่าถ้ามีตัววัดผลที่ชัดเจน ทุกคนก็ท้าทายครับ
GM : ฟังดูเหมือนกับว่าวัฒนธรรมในองค์กรเปลี่ยนไปเลย
สุรชัย : นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เปลี่ยน ในอดีต อาร์เอสอยู่มา 25 ปี ในปีที่ผ่านมาเราต้องการให้วัฒนธรรมในการทำงานเปลี่ยน แต่ว่ามันเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าถ้าเปลี่ยน เรื่องแรกคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดเขา เราก็เอาเลือดใหม่มาจะได้เร็ว เอาคนใหม่ๆ เลือดใหม่ๆ มาเจือกัน
ในอดีต วัฒนธรรมอาร์เอสที่ผมไม่ชอบเลยคือ ‘เอะอะอะไรก็เฮีย’ อันนี้คือวัฒนธรรมที่จับต้องได้ในอาร์เอส ผมไม่ชอบเลย เอะอะอะไรก็ “เฮียฮ้อเอา เฮียฮ้อต้องการ” ซึ่งมันไม่จริง แต่มันเหมือนไปทำจนมันง่ายในการปกครอง ทำให้องค์กรเป็นลักษณะตัวใหญ่
หัวลีบ นี่เป็นวัฒนธรรมที่แก้ไม่ได้สักที เรื่องแบบนี้มันต้องทำข้างบน ถ้าคนข้างบนรู้ว่ามันจบที่เขาไม่ต้องจบที่เฮีย มันจะจบเลย ผมบอกผู้บริหารระดับรองผมว่า “จบที่คุณนะ มีไม่กี่เรื่องที่จบที่ผม” แล้วเขาไปสื่อสาร เรื่องนี้มันก็จะเปลี่ยนไปเอง มันจะไม่เกิดขึ้นอีก ตอนนี้เรื่องทุกเรื่องจะจบที่รองฯหมด มีไม่กี่เรื่องหรอกที่จะต้องผ่านมาถึงเฮีย มันก็จะชัดเจน เป็นการทำงานกันด้วยเป้าหมาย ด้วยแผนงาน
GM : แล้วตัวคุณเองมีความสุขกับงานแค่ไหน
สุรชัย : ผมเป็นคนที่มีความสุขกับงานอยู่แล้ว ตอนนี้ชีวิตผมก็มีแค่นี้ ผมทำงานตั้งแต่วัยรุ่น ไม่เคยหยุดทำงาน ทำไปเรื่อยๆ
GM : คุณยังจำความรู้สึกตอนแรกที่ตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจวงการบันเทิงได้ไหม
สุรชัย : จริงๆ มันเป็นความบังเอิญและความโชคดีมากกว่า ตัวผมก่อนจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป ผมเป็นเด็กที่บ้าเพลงมาก ฟังเพลงฝรั่งยุค ’70s ’80s หัวปักหัวปำ จะรู้จักเพลงเยอะมาก โตมาในยุคเปลี่ยนผ่าน เพลงไทยสมัยนั้นมีแต่ลูกกรุงกับลูกทุ่ง ผมโตมาพร้อมๆ กับการเกิดของวงชาตรี มันฟังแล้วใกล้ๆ กับสิ่งที่เราต้องการจะฟัง เป็นวงที่เอาเพลงฝรั่งมาเป็นภาษาไทย ทั้งคอร์ดเอย กีตาร์เอย เอามาจากเพลงฝรั่ง เราก็ชอบฟังเพลงอย่างนั้น
แล้วบ้านผมอยู่ที่โรงหนังโคลีเซียม ก็เลยเป็นเด็กที่ดูหนังแทบทุกเรื่องที่เข้า เพราะผมมุดเข้าไปดูฟรี เลยเป็นเด็กที่บ้าเพลง บ้าหนัง พอพี่ชายมาทำอาร์เอส ซาวนด์ เราก็มาช่วย มันก็เหมือนเราได้มาทำในสิ่งที่เราอยากทำ แล้วมันก็แปลงจากสิ่งที่เราชอบมาเป็นธุรกิจได้ เราเข้ามาทำธุรกิจตอนที่อายุ 18-19 เท่านั้น
ตอนนั้นผมคิดเหมือนผมเป็นตัวแทนของตลาด ถ้าเราหยิบเพลงอะไรมาแล้วชอบ ประชาชนก็ต้องชอบด้วย ถ้าเราชอบวัยรุ่นก็น่าจะชอบ เหมือนเราเป็นตัวเทสต์ให้ตลาด ก็เริ่มต้นมาด้วยความคิดอย่างนั้น แล้วมันก็จริงนะ มันคือความโชคดีและเป็นความบังเอิญ เลยได้เริ่มต้นทำงานจากอะไรที่เราชอบผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ใครที่ได้ทำธุรกิจที่ตัวเองชอบแล้วเอาจริงเอาจังกับมัน จะต้องทำได้ดีแน่นอน
GM : อยากให้เล่าตารางชีวิตประจำวันของคุณให้ฟังหน่อย
สุรชัย : ของผมง่ายมากเลย ตื่นประมาณ 6-7 โมงเช้า อ่านหนังสือพิมพ์ พอ 9 โมงก็เดินมาทำงาน ทำไปถึง 6 โมงทุ่มนึง ถ้ามีงานต้องออกไปข้างนอกก็ไป กินข้าวกับลูกค้าบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง แต่ผมจะไม่ค่อยอยากออกไปข้างนอก ถ้าไม่มีงานก็กลับบ้าน อยู่บ้านก็สบายๆ ไม่ค่อยไปไหน ชีวิตจะเป็นอย่างนี้ไม่ค่อยมีอะไร ดูทีวี อ่านหนังสือ
GM : มีวันหยุดไหม
สุรชัย : เสาร์-อาทิตย์ถ้าไม่ไปต่างจังหวัด ตีกอล์ฟ ก็อยู่บ้าน อ่านหนังสือ คือจะแค่นี้ เพราะเป็นคนไม่ซื้อของ ไม่เดินห้าง ไม่อะไรอยู่แล้ว นานๆ จะเข้าโรงหนังสักที แค่นั้นเอง ช่วงเวลาพักผ่อนของผมจะไปต่างประเทศ ถือโอกาสไปชาร์จแบตทีเดียว 7 วัน 10 วัน ปีหนึ่งไปประมาณ 4-5 ครั้ง 2 เดือนไปครั้งประมาณอย่างนี้
GM : คุณอ่านหนังสือแบบไหน
สุรชัย : จริงๆ แล้วอ่านทุกอย่าง แต่ผมไม่อ่านนิยาย นิยายไทย นิยายแปล ไม่อ่านแค่นั้นจริงๆ ที่เหลืออ่านหมด แต่ถ้าชอบ ชอบฮาวทูแทบจะทุกประเภท แล้วแต่ว่าช่วงไหนสนใจเรื่องอะไร
GM : มีเล่มไหนที่อ่านแล้วชอบเป็นพิเศษ
สุรชัย : เยอะ ส่วนใหญ่อ่านเสร็จแล้วชอบจะเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้เอามาอ่านอีก พวกฮาวทูอ่านได้แค่ครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง เพราะมันเป็นวิธีคิดให้เราเอามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ใช้กับการบริหารเท่านั้น
GM : คุณทำธุรกิจเรื่องหนัง เรื่องเพลง แล้วการดูหนังฟังเพลงถือเป็นการพักผ่อนของคุณไหม
สุรชัย : ไม่ครับ วันหยุผมไม่ฟังเพลง เวลาส่วนตัวผม ผมไม่ฟังเพลง ถ้าฟังก็จะเป็นพวกเพลงฝรั่งเก่าๆ ยุควัยรุ่น ’60-’70s ไปเลย เพลงยุคปัจจุบันฟังเพื่อเป็นงานมากกว่า ก็จะมีช่วงเวลาในแต่ละวันที่ฟังพวกนี้ เช็กว่าตลาดเป็นอย่างไร ถ้าเวลาส่วนตัวจะไม่ฟังเพลง ถ้าดูทีวีจะเป็นกีฬา สารคดี ดูข่าว บันเทิงผมไม่ค่อยดูเพื่อผ่อนคลาย ส่วนใหญ่ติดตามดูนะ ดูบ่อย แต่ไม่ได้ดูเพื่อความสนุก หนังก็เหมือนกัน ผมเข้าโรงหนังปีหนึ่งไม่เกิน 3-4 ครั้ง ผมเป็นคนดูหนังไม่เหมือนตลาด หนังแอ็คชั่นผมก็ไม่ดู ถ้าไปดูก็เพื่อดูว่าหนังเขาไปถึงไหนกันแล้ว ไม่ได้ชอบ พวกนี้ไปดูเพราะว่าต้องดู หนังที่ผมชอบเป็นหนังอีกแบบ ผมชอบพวกสืบสวนสอบสวน ไม่มีสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ หนังพวกบิ๊กคอนเซ็ปต์ผมจะไม่ชอบ จะไม่ค่อยไปดู มันไม่ได้เป็นหนังที่ใหม่ในเชิงการตลาดเลย ที่ผมจะต้องไปดู อย่าง Eragon ก็ดูว่าเทคนิคมันเป็นยังไง ไปดู เจมส์ บอนด์ ก็แค่ดูว่าการตลาดมันเป็นอย่างไรเท่านั้น
GM : คุณมีเวลาให้ครอบครัวแค่ไหน
สุรชัย : ผมไม่มีปัญหาเลย ผมเป็นแฟมิลี่แมนมาก บังเอิญโชคดีว่าผมมีลูกชาย 2 คน ที่เรียนอยู่ออสเตรเลียทั้งคู่ ปีหนึ่งเขาจะมาแค่ครั้งหรือสองครั้ง เพราะฉะนั้น ผมอยู่เมืองไทยกับแฟนแค่ 2 คน ก็เหมือนหนุ่มโสด สาวโสด ตอนเย็นกลับบ้านก็กินข้าวด้วยกัน ขับรถไปกินข้าวข้างนอกบ้าง เสาร์-อาทิตย์ก็ไปตีกอล์ฟกัน ไปเล่นกีฬาบ้าง ผมไม่มีสังคมเยอะแยะอะไร เพราะฉะนั้น นอกจากเรื่องงานกับเรื่องชีวิตประจำวันที่ผมเล่าไป ผมก็จะอยู่กับครอบครัวคือแฟนของผม แล้วปีหนึ่งลูกชายกลับมา 2 ครั้ง ก็ใช้ชีวิตอยู่กับลูกอยู่กับครอบครัว ไปเที่ยวต่างประเทศ ผมทำอย่างนี้มาเป็นสิบปีแล้ว คือในหนึ่งปีจะหาเวลาไปเยี่ยมลูก 3-4 ครั้ง ชีวิตผมมีแค่ 2 ด้านแค่นี้
เรื่องการบริหารเวลาเป็นเรื่องที่ผมซีเรียสอยู่แล้ว เพราะคนเราเกิดมาสิ่งหนึ่งที่มีเท่ากันคือเวลา ไม่มีใครมีมากกว่ากันน้อยกว่ากัน อยู่ที่ใครจะบริหารมันได้ดีกว่ากัน ถ้าบริหารเวลาไม่ดีก็ลำบาก
GM : เคยคิดถึงเรื่องเกษียณบ้างไหม
สุรชัย : คิด ไม่เกินอายุ 55 นะ ผมว่า 55 สำหรับคนอื่นผมว่ามันยังหนุ่มมาก แต่สำหรับผมผมพอแล้ว ไม่เกิน 55 ผมก็อยากจะนั่งพัก คำว่าเกษียณของผมไม่ได้แปลว่าเลิก แต่ว่าผมคิดจะไปนั่งเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ถือหุ้น คือเป็นบอร์ด แล้วหาคนมาทำงาน ผมว่านี่คือเป้าหมายที่เราคิดตั้งแต่วันนี้ ทำไปๆ มีเวลาอีกประมาณ 10 ปี ก็วางให้แข็งแรง พออายุ 55 ผมก็พอแล้ว
GM : คุณจินตนาการชีวิตหลังเกษียณไว้อย่างไร
สุรชัย : ท่องเที่ยวครับ ผมจะท่องเที่ยวอย่างเดียวเลย ผมชอบท่องเที่ยว แล้วก็คงไปเล่นกอล์ฟ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะว่าเป็นคนชอบท่องเที่ยวตั้งแต่เด็กๆ
GM : มีที่ไหนที่คุณอยากไปเที่ยวแต่ยังไม่ได้ไป
สุรชัย : สถานที่ที่ยังไม่เคยไปและมีแพลนไว้ว่าจะไปให้ได้คือแถบขั้วโลกเหนือครับ มีแผนเอาไว้ว่าจะไป แต่ไปเที่ยวที่นี่ต้องใช้เวลามาก ไปเที่ยวครั้งหนึ่งก็ใช้เวลาเป็นเดือน ต้องรอให้มีเวลามากกว่านี้
GM : อนาคตของลูกๆ คุณวางแผนไว้ไหม
สุรชัย : ไม่ได้วางแพลนไว้ให้ลูก 2 คนนะ ผมจะเลี้ยงลูกแบบเพื่อน แล้วก็สอนให้เขาคิดเอง แล้วลูกก็อยู่เมืองนอกมาตั้งแต่เด็ก ก็จะเลี้ยงเขาแบบให้มีภูมิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินการอะไรก็ตามให้เขาตัดสินใจเอง สงสัยอะไรเราก็ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ แต่ไม่เคยบังคับลูก เพราะฉะนั้น ไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แค่ให้เขารู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร รับผิดชอบตัวเองในเรื่องเรียน และให้เป็นคนดี ดูแลตัวเองได้ เท่านี้ก็พอแล้ว