fbpx

ล้วงลึกตัวตน สุรบถ หลีกภัย จาก The Youngest Media Mogul สู่สนามการเมือง

ภาพจำของคนเจนเอ็กซ์และคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มีต่อ ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย คือเด็กชายมาดติ๋มๆ ที่มักจะปรากฏบนสื่อในฐานะของลูกชาย ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ไปช่วยเรียกคะแนนนิยมให้กับผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งหลายครั้ง

จากเด็กน้อยทายาทนักการเมืองอาวุโสของเมืองไทยฉายา ‘มีดโกนอาบน้ำผึ้ง’ เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มฟ้อ หล่อเฟี้ยว เปรี้ยวจี๊ด ที่ก่อร่างสร้างธุรกิจสื่อแนวใหม่ที่น่าสนใจ

จากชื่อเรียกคุ้นปากว่า ‘น้องปลื้ม’ ชาวไซเบอร์รู้จักสุรบถในชื่อ ‘ปลื้ม VRZO’ เพราะเขาสร้างที่ทางของตัวเองและสร้างปรากฏการณ์ในธุรกิจนิวมีเดียได้สำเร็จ เขาเป็นเจ้าของรายการ VRZO รายการขวัญใจวัยรุ่นทางยูทูบที่ส่งให้วลี ‘ขอ 3 คำ’ ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว

ในอดีต นักธุรกิจสื่อผู้ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าแห่งธุรกิจสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ มักจะได้รับการขนานนามว่า Media Mogul แต่สำหรับสุรบถ หลีกภัย ขี่คลื่นความถี่ 3G ขึ้นมาเป็น The Youngest Media Mogul ที่น่าจับตา

เส้นทางการสร้างธุรกิจทางสื่ออินเตอร์เน็ตของสุรบถ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้เจริญรอยตาม เราได้พูดคุยสุรบถเพื่อล้วงลึกถึงเส้นทางความสำเร็จที่เร็วและแรง

หลังแสงแฟลชสุดท้ายของช่างภาพที่ลั่นชัตเตอร์เพื่อเก็บภาพสุดเท่ของสุรบถมาเรียบร้อยแล้วหลายร้อยหลายพันภาพ สุรบถเปลี่ยนไปใส่เสื้อยืดสีดำขนาดพอดีตัวและกางเกงยีนส์ เราจึงเริ่มบทสนทนากับเขาถึงที่มาของ VRZO

พอเราได้เข้ามาใกล้ชิดกับเขา จะสังเกตเห็นถึงรูปร่างที่เล็กบอบบางของเขาได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึง ‘แหวก’ ของปลื้มได้อย่างหนึ่ง คือรอยสักที่ท้ายทอยยาวไปถึงลำตัวและแขนของเขา

อืมม์…ทีแรกนึกว่ารอยสักดูเท่สุดติ่งแล้ว แต่หลังจากพูดคุยกับเขาเสร็จสิ้น เราว่าความคิดของหนุ่มคนนี้กลับเท่และล้ำลึกกว่ารอยสักนั้นหลายเท่า !

“พร้อมแล้วครับ เริ่มสัมภาษณ์ได้เลย” สุรบถพูดประโยคดังกล่าวด้วยเสียงดังฟังชัด น้ำเสียงและท่าทางสุดมั่นของเขาขณะพูดเป็นแบบเดียวกับที่ผู้ชมคุ้นเคยทางหน้าจอยูทูบและจอโทรทัศน์ในช่วงที่ให้สัมภาษณ์สื่อ

สุรบถเริ่มต้นเล่าถึงเส้นทางสายอาชีพที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาทำบัตรประชาชนครั้งแรกในชีวิตมาได้เพียง 1 ปี

ตอนนั้นเขาทำงานพิเศษหลายอย่าง เช่นเป็นพนักงานเสิร์ฟ ช่วยงานในสวนสัตว์ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาก้าวสู่โลกธุรกิจอย่างเต็มตัว คือการนำตู้สติ๊กเกอร์มาเปิดให้บริการที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในเชียงใหม่ ด้วยความที่ตู้สติ๊กเกอร์เป็น ‘ของเล่น’ ที่โดนใจวัยรุ่นยุคนั้น ส่งผลให้สุรบถโกยเงินจากธุรกิจดังกล่าวได้เป็นกอบเป็นกำ

หลังประสบความสำเร็จจากธุรกิจตู้สติ๊กเกอร์ สุรบถลุยต่อด้วยการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ร้านของเขาไปได้สวยจนต้องเปิดสาขาเพิ่ม ทำให้เขามั่นใจในการเปิดร้านอาหารเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเอง

สุรบถปักหมุดบนพื้นที่ทางธุรกิจได้สำเร็จอย่างเต็มภาคภูมิจากการทำรายการ VRZO เขาก่อตั้งชื่อแบรนด์ VRZO ขึ้นมาเพื่อให้เป็นแบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่น แต่ก็จับพลัดจับผลูหันมาใช้ชื่อนี้ผลิตรายการทางยูทูบเสียก่อน นอกจากนี้ VRZO ยังรับทำโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต

ด้วยรูปแบบรายการที่แปลกใหม่และแตกต่างจากรายการทางช่องฟรีทีวีทั่วไป ทำให้เรตติ้งของรายการ VRZO พุ่งกระฉูด สุรบถยืนยันว่าเขาและก๊วนทีมงาน ระดมสมองกันเพื่อคิดรูปแบบรายการขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ลอกเลียนมาจากรายการโทรทัศน์รายการไหนทั้งสิ้น เพราะก๊วนของเขากับสื่อโทรทัศน์เหมือนเป็นเส้นขนานระหว่างกัน อีกทั้งคนในยุคของเขาอุทิศเวลาให้กับสื่อในโลกออนไลน์และสื่อหนังสือมากกว่าเอาเวลามานั่งดูรายการโทรทัศน์เหมือนคนรุ่นพ่อแม่

ด้วยความที่สุรบถและทีมงานรายการไม่มีใครที่เรียนมาทางด้านนิเทศ-ศาสตร์ ทำให้รูปแบบรายการแปลกและแตกต่าง

“ผมจบรัฐศาสตร์ ช่างตัดต่อรายการจบด้านครู คนทำกราฟิกจบดุริยางค์ฯ ส่วนช่างกล้องจบช่างปั้น รายการจึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่จะคงบางช่วงไว้เป็นหลักเท่านั้น เช่น ตอนที่ออกไปสัมภาษณ์ขอความเห็นคนดูดี 100 คน ในประเด็นต่างๆ แล้วให้สรุปออกมาเป็นคำ 3 คำ อย่างวันไหนนึกสนุกอยากทำอะไรห่ามๆ ก็ถ่ายแล้วเอาไปออกในรายการได้เลย” ผู้บริหารหน้าใสกล่าวพลางยิ้ม

ก่อนย้อนเล่าให้ฟังถึงจุดกำเนิดของรายการว่า เมื่อวัยรุ่นในยุค ‘ทัช แอนด์ แชร์’ ที่เสพติดโลกออนไลน์เกิดปัญหาชีวิตขึ้นมาแล้วอยากขอคำปรึกษา มักเลือกที่จะไปโพสต์ขอความคิดเห็นในเว็บบอร์ดมากกว่าการไปขอคำปรึกษาจากคนใกล้ชิด แต่โลกออนไลน์เป็นโลกที่ ‘ลับ ลวง พราง’ ทำให้หลายครั้งไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ที่มาให้คำแนะนำในประเด็นต่างๆ เป็นใครมาจากไหน และมีความรู้จริงในเรื่องเหล่านั้นหรือไม่ จุดประกายให้สุรบถลุกขึ้นมาทำรายการ VRZO เพื่อนำเสนอในยูทูบ

เนื้อหาหลักคือให้ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยคน 100 คน ที่ผู้ชมจะได้เห็นหน้าค่าตาและรู้ข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นใครมาจากไหน ซึ่งดูน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากกว่าคำแนะนำแสนสวยหรู ที่ไม่รู้ว่าตัวตนของผู้หวังดีเหล่านั้นจะ‘มีดี’ เหมือนคำแนะนำที่ให้ไว้หรือไม่ และตอนท้ายรายการจะสรุปออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ให้ดูเลยว่า ในหัวข้อดังกล่าวมีผู้ที่เห็นไปในทิศทางใดมากน้อยแค่ไหน8

“ประเด็นที่เราเอาไมค์ไปจ่อปากคนดูไม่ได้เป็นเรื่องเบาๆ สำหรับเด็กๆ เสมอไป แต่หลายเรื่องเป็นเรื่องที่จริงจัง เป็นความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ทัศนคติของคนแต่ละรุ่น และเรื่องปัญหาสังคมเราก็เอาไปถาม แต่นำเสนอด้วยการสอดแทรกความตลกขบขันเข้าไป ดังนั้น กลุ่มผู้ชมของเราจึงกว้างมากครับ มีตั้งแต่เด็ก ม.ต้น ไปจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงานอายุ 25-26 ปี” สุรบถบอกถึงเนื้อหาสาระของรายการและกลุ่มผู้ชม

ตอนนั้นรายการ VRZO นำเสนอผ่าน 2 สื่อหลัก คือยูทูบ และช่อง Very TV ทรูวิชั่นส์ 85 โดยจะเผยแพร่ทางยูทูบเป็นที่แรกเหมือนช่วงแรกๆ ที่พวกเขาเริ่มต้นทำรายการ หลังจากนั้นจะออกอากาศซ้ำทาง Very TV ที่มาที่ไปที่ทำให้สุรบถ ‘เข็น’ รายการให้สามารถออกอากาศทางเคเบิลยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย เกิดจากที่รายการไปโดนใจทีมงานของช่องเข้าอย่างจัง

การดีลธุรกิจข้างต้นทำให้ บริษัท VRZO กลายเป็นพาร์ทเนอร์ของช่อง Very TV เรียกว่า ‘Win/Win’ ทั้งสองฝ่าย เพราะทรูวิชั่นส์จะเข้ามาช่วยในเรื่องการหาสปอนเซอร์ให้กับรายการ

สุรบถมองว่าการได้ไปออกอากาศทางทรูวิชั่นส์เป็นการเพิ่มความหลากหลายของผู้ชมรายการให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ จากเมื่อก่อนที่ผู้ชมจะเป็นวัยรุ่นยุคดอตคอมเป็นส่วนใหญ่

ไอเดียจาก The Youngest Media Mogul สำหรับคนที่อยากเริ่มต้น สุรบถแนะนำว่า การสร้างแชนแนลขึ้นมาในยูทูบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เหตุผลที่เลือกใช้ยูทูบเป็นช่องทางหลักในการนำเสนอรายการเพราะในเมืองไทยยูทูบเป็นสื่อออนไลน์ที่มีคนดูมหาศาลถ้าเทียบกับสื่ออื่น และยูทูบยังให้ชมฟรี ทำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย

นอกจากนั้น สุรบถยัง ‘อ่านเกมขาด’ เพราะเขาเลือกที่จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการโปรโมตรายการ แทนที่จะหวังพึ่งสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์และนิตยสาร ความนิยมที่พุ่งสูงทะลุเพดานของรายการ VRZO ทำให้แม่ทัพอย่างสุรบถต้อง ‘ยกเครื่อง’ บริษัทขนานใหญ่ เริ่มจากเพิ่มบุคลากรของบริษัท

แรกเริ่มเดิมทีทีมงานหลักของรายการ VRZO มี 3 คน ที่แท็คทีมกันทำงานทั้งหมดแบบ ‘ม้วนเดียวจบ’ ทั้งการเป็นพิธีกร ถ่ายทำและตัดต่อ ตอนนั้นบริษัทของหนุ่มผู้มาดมั่น กำลังเติบใหญ่และสยายปีกอย่างรวดเร็ว!!

นอกจากเป็นพิธีกร สุรบถยังรับหน้าที่ครีเอทีฟ ดูแลหัวข้อที่จะนำไปถามความเห็นคน 100 คน ดูเนื้อหารายการแต่ละตอนว่าจะใส่อะไรลงไป และสวมหมวกผู้บริหารของบริษัทคอยดูแลให้งานทุกอย่างดำเนินได้ตามแผน

พอได้ยินตัวเลขรายได้ของบริษัท VRZO หลายคนต้องตาลุกวาวอย่างแน่นอนครับ โดยแยกเป็นรายได้จากผู้สนับสนุนรายการ 70% อีก 30% มาจากการขายสินค้า VRZO แต่ทั้งนี้สุรบถยืนยันเสียงดังฟังชัด ว่าบริษัทของเขาจ่ายภาษีครบถ้วนทุกบาททุกสตางค์นะครับ !

“ผมไม่รู้ว่าคนอื่นทำธุรกิจซิกแซกและเลี่ยงบาลีกันขนาดไหน แต่ผมขอทำธุรกิจแบบเถรตรงและถูกกฎหมายครับ คุณพ่อสอนอยู่เสมอว่าทำธุรกิจต้องเป็นธรรมาภิบาล ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่ไปเบียดเบียนใคร ไม่โกงภาษี ไม่ไปโกงใคร แล้วธุรกิจนั้นจะทำให้เรามีความสุข” สุรบถกล่าว

สินค้าที่มาเป็นผู้สนับสนุนในรายการ VRZO มีหลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัยรุ่น สุรบถวิเคราะห์เหตุผล ที่เจ้าของสินค้าเลือกมาลงโฆษณากับรายการของเขา ซึ่งนำเสนอผ่านนิวมีเดียว่า เกิดจากการบอกต่อกัน ‘ปากต่อปาก’ ของเจ้าของสินค้าที่เห็นถึงยอดขายที่กระเตื้องขึ้นหลังจากนำสินค้ามาให้สุรบถและทับทิมช่วยกันโปรโมต จึงบอกต่อกับเจ้าของสินค้าในแวดวงเดียวกัน

บางครั้งผู้ชมอาจเบื่อที่สุรบถออกมาขายของแบบฮาร์ดเซลส์เพื่อเอาใจลูกค้ามากเกินไป ต่อเรื่องนี้ เขาอธิบายว่า ที่ทำเช่นนั้นเพราะเป็นการซื้อใจลูกค้า ให้รู้สึกคุ้มค่าที่มาลงโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต เพราะลูกค้าบางเจ้ามองว่าสื่ออินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายและมีประสิทธิภาพมากเท่ากับสื่ออื่นอย่างเช่นฟรีทีวี

ผู้ชมไม่ต้องกลัวว่าโฆษณาจะมาเบียดบังเนื้อหาของรายการจนเสียอรรถรส เพราะสุรบถยืนยันว่าสามารถจัดสมดุลเพื่อให้เนื้อหาและโฆษณาไปด้วยกันได้อย่างลงตัว เขาแบ่งอย่างชัดเจนว่าโฆษณาจะเข้ามาแทรกได้ในเฉพาะช่วงเปิดและปิดรายการเท่านั้น รวมถึงไม่ตั้งหน้าตั้งตาขายของเพียงอย่างเดียว แต่นำข้อมูลสินค้ามานำเสนอในรูปแบบ ของตัวเอง

“อย่างลูกค้ามีสินค้ามาให้ 2 รส 2 แบบ ผมลองหมดแล้วเห็นว่าแบบหนึ่งเจ๋งกว่าอีกแบบหนึ่ง ก็จะบอกคนดูไปตรงๆ ว่าผมชอบรสนี้นะ ส่วนอีกรสไม่ค่อยชอบ คนดูรับได้ครับ รู้สึกว่าไม่เฟค เพราะแม้จะเป็นสปอนเซอร์ เราก็ไม่ได้อวยอย่างออกนอกหน้า

“ผมว่ายูทูบแฟร์ๆ กับคนดูมากกว่าสื่อกระแสหลักอื่นๆ ที่คล้ายกันนะ เพราะถ้าคุณเบื่อโฆษณาหรือรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม สามารถเลื่อนข้ามไปดูเนื้อหาในช่วงอื่นที่มีเนื้อหาสาระมากกว่าได้ ไม่เหมือนบางสื่อที่เหมือนกับบังคับให้ต้องดู ไม่สามารถกดข้ามได้” สุรบถพูดไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ

เขายืนยันถึงประสิทธิภาพของสื่อใหม่จากคำบอกเล่าของเจ้าของสินค้าที่มาลงโฆษณาในรายการว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พอรายการออกไปปุ๊บ ปรากฏว่าสินค้าที่สนับสนุนรายการในตอนนั้นถูกเหมาหมดเกลี้ยงในหลายๆ สาขาของร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่ง จนทีมงานร้านสะดวกซื้อดังกล่าวต้องไปเค้นเคล็ดลับการตลาดจากเจ้าของสินค้าเลยทีเดียว

สุรบถร่ายถึงพลังอันมากมายมหาศาลของสื่อออนไลน์อีกว่า เมื่อก่อนงบที่ใช้ไปกับสื่ออินเตอร์เน็ตจะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ตอนนี้ความแรงของสื่อออนไลน์ทำให้เจ้าของสินค้าหลายราย เทงบโฆษณาให้กับสื่อออนไลน์มากขึ้น

บางครั้งมีลูกค้าจองคิวลงโฆษณากับรายการยาวไปถึง 6 ตอนเข้าไปแล้ว ทำให้หลายครั้งที่สุรบถต้องตัดใจบอกปัดเจ้าของสินค้า เพราะอาจทำรายการเพื่อประชาสัมพันธ์ในช่วงโปรโมตแคมเปญที่กำหนดไว้ไม่ได้

แม้ทางออกในเรื่องดังกล่าว อาจอยู่ที่การหาบุคลากรมาเสริมทัพ แต่สุรบถให้เหตุผลว่ารายการ VRZO ค่อนข้างซีเรียสกับการตัดต่อ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดมากเป็นพิเศษ เพื่อให้รายการออกมาลื่นไหลและมีจังหวะจะโคน ดังนั้นการหาช่างตัดต่อรายการมาร่วมทีมจึงเป็นเรื่องยากพอๆ กับการ ‘งมเข็มในมหาสมุทร’

“เคยมีคน 80 กว่าคนมาสมัครช่างตัดต่อ ปรากฏว่าไม่มีใครผ่านการคัดเลือกเลยครับเรื่องฝีมือเรายอมรับนะว่าเก่งจริง แต่สไตล์การทำงานไม่ผ่าน เพราะอยากได้คนที่รู้สไตล์ของรายการ รู้จังหวะจะโคน เพื่อให้รายการออกมาดีที่สุดในแบบที่ผู้ชมคุ้นเคย”

หลังจากสร้างแบรนด์ VRZO ให้ฮิตติดตลาด นักธุรกิจหนุ่มหัวก้าวหน้าคงยึดมั่นว่า ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ จึงตั้งหน้าตั้งตาขยายแบรนด์อย่างไม่หยุดหย่อน

ความที่ VRZO เริ่มต้นจากเป็นแบรนด์เสื้อผ้า แต่หลังจากทำรายการในชื่อเดียวกันแล้วได้รับความนิยมอย่างสุดๆ ทำให้เสื้อผ้าต้องหันมาผูกติดกับรายการ โดยเขาเริ่มผลิตเสื้อผ้าที่มีโลโก้ของรายการ หรือสกรีนคาแร็กเตอร์ตัวละครในรายการ หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ ‘VRZO Wardrobe‘ เสื้อผ้าสตรีทแวร์ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์มืออาชีพ

ส่วนสินค้า VRZO ก็มีหลากหลายขึ้น ที่นอกจากเสื้อผ้า ยังขยายไปสู่ของใช้และแอ็คเซสโซรี่ เช่น กระเป๋า หมวก กำไล และปากกา สุรบถบอกว่ายอดขายของสินค้ากระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ

“สินค้าขายดีอันดับ 1 คือเสื้อยืด ยอดขายตกเดือนละหลายพันตัวเลยครับ อย่างแฟนคลับรายการตามสถาบันการศึกษา พอมีคนกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อ VRZO แล้วถูกใจก็จะไปชวนเพื่อนๆให้ใส่บ้าง จากกลุ่มหนึ่งสู่อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการทำการตลาดแบบปากต่อปากที่ดีมากครับ

“สินค้าที่เจ๋ง ที่มีคุณภาพอยู่แล้ว การจะทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จผมว่าการบอกต่อแบบปากต่อปากเป็นช่องทางที่ดีที่สุดนะ” สุรบถยืนยัน

พอสินค้าฮิตติดตลาด เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีสินค้าลอกเลียนแบบ ไม่เว้นแม้แต่สินค้า VRZO สุรบถแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า เสื้อเป็นสินค้าที่ถูกทำเลียนแบบมากที่สุด ถึงกระนั้นเขาก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

“คนไทยเราชินกับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และการก๊อบปี้เสียแล้วละครับ ผมได้ยินมาว่าประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ทำของลอกเลียนแบบมากที่สุดในโลกเชียวนะ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา (หน้านิ่ง) สุดท้ายเรื่องนี้นำไปสู่การล้มหายตายจากไปของผู้ผลิตสินค้าหรือผู้สร้างสรรค์งานถูกกฎหมาย แต่โชคดีที่แฟนคลับ VRZO เป็นแฟนคลับเหนียวแน่น จึงมีแบรนด์ลอยัลตี้ จงรักภักดีต่อตราสินค้า พวกเขายึดมั่นกับการใช้สินค้าจริงเพราะมีคุณค่าทางจิตใจและมีคุณภาพมากกว่าของก๊อบ ที่สำคัญ แฟนคลับมองเห็นว่าการซื้อสินค้าถูกลิขสิทธิ์เป็นการสนับสนุนให้ทีมงานอยู่รอดได้เพื่อผลิตรายการที่พวกเขาชื่นชอบต่อไป พอแฟนคลับเห็นเสื้อของปลอมก็ถ่ายรูปมาโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ค ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้เราได้ดีมากครับ” นักธุรกิจไฟแรงกล่าวด้วยความมั่นใจ

ช่องทางทำเงินอีกแหล่งหนึ่งของสุรบถคือการขาย Brand License ที่ผ่านมาเขาได้ขาย Brand License ของ VRZO ให้ญาติเพื่อไปเปิดร้านกาแฟ ‘VRZO Coffee’ ซึ่งตอนนั้นเปิดให้บริการคอกาแฟอยู่แถวๆ เกษตร-นวมินทร์

THE POWER OF YOUTUBE
: คิดว่ายูทูบจะผลักดันโลกให้ก้าวกระโดดไปในทิศทางไหน ?
สุรบถ :
 ยูทูบจะผลักดันโลกให้มีความเปิดกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ เพราะใครจะนำเรื่องอะไรมาเผยแพร่ทางยูทูบก็ได้ คนยุคอนาคตจะเห็นความสำคัญของยูทูบกันมากขึ้น ผมว่าต่อไปยูทูบและสื่อออนไลน์อื่นๆ จะเป็นช่องทางหลักที่วัยรุ่นใช้ในการติดตื่อสื่อสารกับโลกภายนอก

STOP HATE SPEECH!
GM ถามสุรบถตรงๆ ว่าพอโดนคอมเมนต์เสียๆ หายๆ หรือโดน Hate Speech จากผู้ชมรายการทางยูทูบหรือจากเกรียนคีย์บอร์ด เขารู้สึกอย่างไร? คำตอบที่ได้คือ

“ผมมองเป็นเรื่องธรรมดาครับ มีคนรักก็ย่อมมีคนเกลียด จะเกลียดผมเพราะอะไรก็แล้วแต่ จะบอกให้ฟังนะ บางคนที่ไม่ชอบผมแล้วมาคอมเมนต์แรงๆ ไม่เคยดูรายการที่ผมทำด้วยซ้ำไป แต่ตั้งตัวว่าไม่ชอบตั้งแต่แรกแล้ว ผมมีภูมิต้านทานต่อคำด่าหยาบคาย พอโดนคอมเมนต์เสียๆ หายๆ ผมไม่เก็บมาคิดให้ทำลายความเชื่อมั่นของตัวเองหรอก เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ในโลกออนไลน์

“ฝากถึงคนที่เสพติดการคอมเมนต์คนอื่นด้วยคำหยาบคายหน่อยแล้วกันครับ โอเคว่าคนอย่างผมรับเรื่องนี้ได้ แต่สำหรับบางคนที่ Sensitive สิ่งที่คุณทำมันไปทำร้ายเขาเลยนะ ยังไงแล้วการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตก็ต้องคำนึงถึงมารยาทในการแสดงความเห็นด้วย อย่าสนุกจนเกินขอบเขตโดยการสาดเสียเทเสียใส่คนอื่นไปทั่ว มันเถื่อนและถ่อย คุณสนุกอยู่คนเดียวนะ แต่ผมว่ามันไม่เจ๋ง ไม่คูล ไม่ทำให้คนอื่นสนใจตัวคุณขึ้นมาได้เลยสักนิด”

แต่ถ้าเป็นคำวิจารณ์ที่มีเหตุผลในลักษณะ ‘ติเพื่อก่อ’ เช่น วิจารณ์ว่าพูดเร็วและรัวเกินไป หรือเสียงดังจนทำลายแก้วหู สุรบถจะพนมมือขอบคุณงามๆ และน้อมรับเพื่อนำมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

LAUGHING OUT LOUD !
หลังความสำเร็จของรายการ VRZO ความท้าทายครั้งใหม่ของสุรบถและทีมงานคือรายการใหม่ที่ชื่อว่า ‘555’ ที่ให้ผู้ชมร่วมสนุกโดยการส่งมุกตลกเข้ามาในรายการ จากนั้นทีมงานจะคัดมา 5 มุก เพื่อให้กรรมการ 5 คนให้คะแนน มุกของใครที่คณะกรรมการเทคะแนนให้มากที่สุดจะพิชิตเงินรางวัลจำนวน 5,555 บาทไปครอง สีสันของรายการอยู่ที่มุกตลกหน้าตายปนมุกทะเล้นๆ และท่าทางกวนๆ ของกรรมการสุดป่วนทั้ง 5 คน ดูจบแล้วจะหัวเราะหรือร้องไห้ คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

POLITICAL POWER
แม้อาจโดนยิงคำถามในเรื่องการเจริญรอยตามคุณพ่อโดยการลงเล่นการเมืองเป็นรอบที่ร้อย แต่สุรบถก็ยังยืนยันคำเดิมเหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับหลายสื่อ

“งานในแวดวงการเมืองเป็นเรื่องของอนาคตครับ ถ้ามีโอกาสคงได้ทำ ผมจะดูจังหวะของสังคมด้วย ถ้าลงเล่นการเมืองผมไม่ได้มองถึงอำนาจที่ได้รับนะ เพราะพอได้อำนาจมามันมีแต่เรื่องที่ทำให้เหนื่อย แต่จะมองถึงความสุขมากกว่า ถ้าทำงานการเมืองแล้วทำให้คนในหมู่บ้าน คนในพื้นที่ที่ผมดูแลอยู่มีความสุข กินดีอยู่ดี ผมก็จะหาโอกาสลงเล่นการเมืองดูสักครั้ง แต่ถ้าการเล่นการเมืองทำให้ผมตกไปอยู่ในวงจรอุบาทว์ มีแต่การโกงกิน ผมไม่เล่นการเมืองดีกว่า”

เป็นขวัญใจวัยรุ่นจากรายการ VRZO ถ้าอนาคตลงเล่นการเมือง ฐานเสียงจากแฟนคลับน่าจะมีเยอะ?

“เหตุผลที่ทำรายการ VRZO ไม่ได้หวังผลทางการเมืองเลยแม้แต่นิดเดียวครับ ใครที่ติดตามรายการจะรู้ว่าช่วงแนะนำตัวผมไม่ได้ใช้ชื่อว่า ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย จะบอกแค่ว่า ปลื้ม ขนาดเอนด์เครดิตท้ายรายการยังใช้ชื่อว่าปลื้มเฉยๆ เลย ไม่อยากให้คนคิดว่าทำรายการเพราะหวังผลทางการเมือง หรือทำเพราะอยากช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้พรรคประชาธิปัตย์หรือช่วยคุณพ่อ ขอยืนยันเลยว่าผมเป็นกลางทางการเมือง แม้พ่อผมสังกัดอยู่พรรคหนึ่งพรรคใด แต่ไม่จำเป็นที่ผมจะเข้าข้างพรรคนั้นเสมอไป และคงไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมดหรอกครับที่ผมจะต้องเกลียดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของคุณพ่อ แต่ละพรรคย่อมมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เพราะทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ เพื่อนผมหลายคนเป็นลูกนักการเมืองที่ไม่ได้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่เราเป็นเพื่อนกันได้เที่ยวด้วยกันได้ ทำธุรกิจด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา อย่างคนที่ทำงานกับผมและซี้กับผมที่สุด มีคุณแม่ที่เคยเป็นแกนนำให้ นปช. ให้คนเสื้อแดง เราก็ทำงานด้วยกันได้คนอาจเหมารวมว่าผมเป็นเสื้อเหลือง เพราะคุณพ่อสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ใช่เลย”

สุรบถยืนยันว่าโดยส่วนตัวไม่รู้จักหรือเคยพูดคุยกับ โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ทายาทอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

“ถ้าเจอกันก็คงยกมือสวัสดีทักทายกันตามปกติ เพราะเขาอาวุโสกว่าผม” สุรบถยิ้ม

แต่สื่อก็มักจับคุณ 2 คนมาเปรียบเทียบกันเสมอ ว่าคนนี้เจ๋งหรือดีกว่าอีกคน รู้สึกอย่างไร?

“นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะการเปรียบเทียบอย่างนี้เป็นสิ่งไม่ดี เหมือนการเอาแฟนเราไปเปรียบเทียบกับแฟนคนอื่น ทุกคนมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ทั้งพี่โอ๊คและผมต่างมีข้อดีและข้อเสีย ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะนำเรา 2 คนไปเปรียบเทียบกัน”

หลายครั้งที่พานทองแท้ใช้พื้นที่ในนิวมีเดีย และโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่สุรบถกลับไม่ต้องการให้การเมืองเข้าไปผสมปนเปในสื่อที่เขาผลิต

“ที่ผ่านมาผมใช้เฟซบุ๊คเพื่อเป็นพี่เลี้ยงนอกเวทีให้กับน้องๆ สังเกตดูได้เลยว่าถ้าการเมืองเข้ามามีส่วนกับเรื่องอะไรปุ๊บ เช่นเข้ามามีส่วนในศิลปะ ในสื่อ สิ่งเหล่านี้จะถูกการเมืองกลืนไปหมดเลย อย่างถ้ามีวงกลมวงใหญ่ภายในบรรจุเรื่องราวทางศิลปะ พอมีน้ำที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหยดลงมา วงกลมวงนั้นจะกลายเป็นเรื่องการเมืองทันทีผมจึงไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจและสื่อที่ทำ”

สุรบถเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพและคมคายไม่น้อย

ช่างภาพ : กิตตินันท์ จรรยางาม / ธีระวัฒน์ พวงศรี
Update : 10 Oct 2018

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ