fbpx

ธนาวัต ขันธรรม แอนิเมเตอร์ผู้เสกตัวละครสมมุติให้มีชีวิต

เรื่อง: ตติยา แก้วจันทร์  ภาพ: พิชญุตม์ คชารักษ์

คำว่า ‘ออสการ์’ ฟังแล้วช่างรู้สึกห่างไกลเกินไขว่คว้าเสียเหลือเกิน แต่หนุ่มแอนิเมเตอร์ไทย ‘เซ้ง-ธนาวัต ขันธรรม’ ผู้มีส่วนร่วมในแอนิเมชั่นเรื่อง Spiderman: Into the Spider-Verse สามารถพิชิตรางวัลดังกล่าวมาครองได้สำเร็จ กลายเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ อย่างน้อยความสามารถของคนไทยก็เคยไปถึงรางวัลระดับออสการ์มาแล้ว

จากเด็กหลังห้องที่เรียนเกือบตกทุกวิชา เกรดเฉลี่ยไม่เคยเกิน 2.3 แต่กลับเก่งวิชาศิลปะและคอมพิวเตอร์ อาจเป็นเพราะพรสวรรค์ พรแสวง หรือลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะคุณพ่อของเซ้งเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ชื่นชอบแอนิเมชั่น และชอบนำแอนิเมชั่นเรื่องต่างๆ มาให้ลูกชายดูตั้งแต่ยังเด็ก เขาจึงซึมซับสิ่งเหล่านี้ไปแบบไม่รู้ตัว โดยมี ‘Toy Story’ เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจที่เติมไฟแห่งความฝัน ทำให้เด็กหลังห้องคนนี้อยากพาตัวเองไปคลุกคลีกับวงการแอนิเมชั่น

เขาตัดสินใจเดินตามความฝันด้วยการเข้าเรียนสาขาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยรังสิต ความสนุกของการเรียนเริ่มต้นขึ้นเมื่อได้ทดลองขยับการเคลื่อนไหวของตัวละครแอนิเมชั่นที่สร้างขึ้น ให้มีชีวิตชีวา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาจริงจังกับงานสายนี้มากขึ้น คือ การได้ไปฝึกงานที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือเป็นด่านทดสอบแรกที่ทรหดไม่เบาสำหรับผู้ชายขี้อาย ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ก็ทำให้เขาได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่ว่าสักวันจะต้องไปทำงานที่ต่างประเทศให้ได้

วันที่บัณฑิตหนุ่มคนนี้จบการศึกษาจากรั้วรังสิต เขาเริ่มงานเป็นแอนิเมเตอร์ครั้งแรกที่ The Monk Studio เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ราว 3 ปี จึงลาออกไปเล่นหุ้นอยู่พักหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่เขาเล่าด้วยเสียงหัวเราะว่า “อยากได้เงินเยอะๆ อยากได้เยอะมากๆ” (หัวเราะ)

แม้การเล่นหุ้นทำให้เขาได้เงินกลับมาค่อนข้างเยอะ ทว่าความรู้สึกบางอย่างกลับไม่ถูกเติมเต็ม เซ้งจึงลงเรียนคอร์สแอนิเมชั่นจาก ต่างประเทศควบคู่ไปด้วย รู้ตัวอีกทีสายตาของเขาไม่ได้จดจ่ออยู่ในตลาดหุ้นเลย แต่หันไปโฟกัสกับจอแอนิเมชั่นมากกว่า เขาตัดสินใจปิดพอร์ทหุ้นและกลับมาซบอกวงการแอนิเมชั่นที่เขาหลงใหลตั้งแต่จำความได้อีกครั้ง

“เวลาเล่นหุ้นรู้สึกว่าตัวเองเครียดมาก เพราะมันขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา เซ้งถึงบอกตัวเองว่าความจริงแล้วกูก็ไม่ได้ต้องการเงินเยอะขนาดนั้นนี่หว่า แค่อยากทำสิ่งที่มีความสุข รู้สึกไม่เหนื่อยเมื่อได้ทำ เลยตัดสินใจกลับมาทำงานที่ The Monk Studio”

ความใฝ่ฝันที่อยากไปทำงานต่างประเทศ ยังคงรบกวนจิตใจเขาเสมอ ความฝันนั้นคงไม่มีวันเป็นความจริง หากไม่ลองเดินเข้าไปหามัน เซ้งตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการสมัครเป็น แอนิเมเตอร์ ทำงานอยู่ที่เมืองนานกิง ประเทศจีน ได้ทำโปรเจกต์เรื่อง ‘Duck Duck Goose’ ซึ่งเขาแอบกระซิบว่าสามารถหาชมผลงานเรื่องนี้ได้ ใน Netflix ของไทย

หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาหลายปี เขาตัดสินใจยื่นใบสมัครไปที่บริษัทระดับโลกอย่าง Sony Pictures Imageworks ของประเทศแคนาดา จนผ่านด่านสัมภาษณ์สุดโหดและได้เข้าไปทำงานในที่สุด โดยเริ่มโปรเจกต์แรกด้วยการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘Hotel Transylvania 3’ ต่อมาคือ ‘Spiderman: Into the Spider-Verse’ และ ‘Angry Bird 2’

“ที่นี่เป็นบริษัทในฝันของหลายคน มีพนักงานเกือบ 1,500 คน มีคนไทยอยู่ในนั้นแค่ 2 คน สังคมมีความปัจเจกสูงมาก ตัวใครตัวมัน แต่จะเปิดกว้างมากๆ ในเรื่องไอเดีย ดังนั้นการแข่งขันภายในจึงสูงมาก ตามไปด้วย ทุกคนอยากทำช็อตที่ดีที่สุดให้หนังสักเรื่อง แต่ช็อต มีจำกัด หลังจบโปรเจกต์แรกซึ่งมีแอนิเมเตอร์ 140 คน ถือว่าเยอะมากๆ แต่ในจำนวนนี้บริษัทต้องการแค่ 50 คนที่จะได้ไปต่อสำหรับโปรเจกต์ถัดไปคือ Spiderman: Into the Spider-Verse หมายความว่า 90 คนจะโดนเลย์ออฟ ตอนนั้นเซ้งกดดันมากๆ ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราเด่นที่สุด (หัวเราะ)

“เพื่อนร่วมงานค่อนข้างเย็นชา นั่งหันหลังชนกัน ทั้งวันพูดกัน มากสุดคือ ‘Hi’ ไม่มีหันมาคุยเล่นกันเลย ทุกคนเข้ามาเพื่อโฟกัสกับงาน ฉันมาทำงาน ไม่ต้องคุยก็ได้ ตอนแรกเซ้งอึดอัดมาก แต่พอไปถึงโต๊ะ ทุกอย่างต้องจดจ่ออยู่กับจอมอนิเตอร์อย่างเดียว ข้อดีคือเน้นการ Work-Life Balance ไม่จำกัดว่าเราจะเข้ามาทำงานกี่โมง ขอเพียงอย่างเดียวให้งานเสร็จ เมื่อทำงานเกิน 6 โมงเย็นก็ขอโอทีได้เลย

เพราะเขาจะให้ความสำคัญว่าอย่าทำงานฟรี คุณต้องทำงานแล้ว ได้เงินเท่านั้น”

ในที่สุดความสามารถของหนุ่มคนนี้ก็สามารถช่วงชิงตั๋วรอบต่อไปที่มีเพียง 50 ใบมาครองได้สำเร็จ โดยโปรเจกต์นับจากนี้ทางบริษัทคาดหวังมาก มีการลงทุนมูลค่าสูง ขณะที่เหล่าแอนิเมเตอร์เอง ก็ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เซ้งทำงานประมาณ สัปดาห์ละ 75 ชั่วโมง เท่ากับว่าจะมีวันหยุดเดือนละ 5 วันเท่านั้น

“ถือว่าโหดมากๆ ครับ ทำ 5 เดือนติดกัน เซ้งเป็นไมเกรนตั้งแต่เดือนที่ 3 ความยากของโปรเจกต์นี้คือการเสนอไอเดีย เพราะเรามีไดเรกเตอร์ถึง 3 คน เหมือนต้องพยายามสู้กันด้วยไอเดียที่เหนือกว่าตลอดเวลา สำหรับ Spiderman: Into the Spider-Verse ใช้แอนิเมเตอร์ประมาณ 172 คน ถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์แล้ว เฉลี่ยกันว่าทุกๆ 1 สัปดาห์ แอนิเมเตอร์ 1 คน จะสามารถปิดงานได้แค่ 1 วินาทีในหนังเท่านั้น”

“ใช่ครับ! ฟังไม่ผิด สัปดาห์ละ 1 วินาที”

เมื่อหนังเรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เซ้งเล่าว่าวินาทีที่เขาเห็นชื่อตัวเองขึ้นใน End Credit ทำให้ความรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งหมดหายไปทันที ถือเป็นครั้งแรกที่โลกสร้างสไปเดอร์แมนเป็นคนผิวสี แถมได้เข้าชิงออสการ์ สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2019 และที่สำคัญยังคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้สำเร็จอีกด้วย

“ผมคิดว่าเดี๋ยวบริษัทต้องมีจัดฉลองอะไรสักอย่างแน่ๆ อุตส่าห์ได้ออสการ์ทั้งที แต่พอรุ่งเช้าปรากฏว่าบริษัทแจกไอติมคนละแท่ง ไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ แยกย้ายไปทำงาน” (ยิ้ม)ชายหนุ่มเล่าอย่างอารมณ์ดีเมื่อหวนนึกถึงเซอร์ไพรส์ใหญ่ที่บริษัทระดับโลกจัดให้

แน่นอนว่าเบื้องหลังการทำงานแบบมืออาชีพของเหล่า แอนิเมเตอร์หัวกะทิระดับโลก ก็ต้องพึ่งพาอุปกรณ์และเทคโนโลยี ที่เพียบพร้อม เพราะอย่างที่ทราบกันว่าบริษัทแม่คือ Sony ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมล้ำสมัย แม้วงการแอนิเมชั่นทั่วโลกจะใช้โปรแกรม Maya เพื่อสร้างภาพสามมิติ แต่สิ่งที่ Sony แตกต่างจากที่อื่นคือการมีระบบฮาร์ดแวร์ที่มีความทันสมัยสูงมาใช้ นับเป็นการลงทุนที่รองรับอุตสาหกรรมบันเทิงที่เติบโตและพัฒนาตลอดเวลา

“บริษัทแม่มีระบบฮาร์ดแวร์อยู่ที่ลอสแอนเจลิส พนักงานทำงานแบบ Remote Work ได้ เราสามารถควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์จากสหรัฐฯ ผ่านคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของเราได้เลย ถือเป็นข้อดีของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยิ่งถ้าต่อไปในอนาคตเรามี 5G หรืออินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงมากๆ จะยิ่งทำให้เราทำงานในฮาร์ดแวร์ที่เจ๋งมากๆ ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเทอร์เน็ตด้วย”

ในฐานะแอนิเมเตอร์สายเลือดไทยที่เคยไปทำงานระดับอินเตอร์ทั้งในจีนและแคนาดา ทำหน้าที่ชุบชีวิตให้ตัวละครสมมุติลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวและโลดแล่นบนจอฟิล์มมาแล้วมากมาย เขายืนยันว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีฝีมือสูงมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าค่าแรงงานในไทย ค่อนข้างต่ำ บวกกับมีบุคลากรด้านนี้น้อย

สำหรับประเทศไทยมีเด็กจบใหม่จากวงการแอนิเมชั่นเยอะมากในแต่ละปี แต่ในจำนวนนี้เป็นแอนิเมเตอร์ยังไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์เลย ตอนที่เซ้งไปทำงานที่จีน เงินเดือนสามเท่าจากไทย หรือแค่เรา เขยิบไปใกล้ๆ อย่างมาเลเซียก็เงินเดือนคูณสองแล้ว ทำให้เราเสียแอนิเมเตอร์ไทยฝีมือดีให้ต่างชาติไปค่อนข้างเยอะ เหมือน ‘สมองไหล’ ออกนอกประเทศนั่นแหละครับ”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ