ศักดิ์ดา แก้วบัวดี
การเมืองผู้ลี้ภัย และ เรื่องเศร้าที่ซ่อนใต้พรมแดง
ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา หากถามว่าหนึ่งในนักแสดงไทยที่เดินพรมแดงในงานระดับโลกอย่าง ‘เทศกาลหนังเมืองคานส์’ มากที่สุดคือใครคำตอบคือ อารยา เอ ฮาร์เก็ต…ก็ไม่ใช่วิทยา ปานศรีงาม…ก็ไม่ใช่อีกเขาคือ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงคู่บุญของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยระดับโลก อย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เคยมีผลงานร่วมกันอย่าง ‘สัตว์ประหลาด’, ‘แสงศตวรรษ’,
‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’, ‘แม่โขงโฮเต็ล’, ‘รักนี้ที่ขอนแก่น’ ซึ่งภาพยนตร์แต่ละเรื่องเป็นที่รู้จักกันในระดับโลกนอกจากภาพการเป็นนักแสดงภาพยนตร์อิสระแล้ว ศักดิ์ดา แก้วบัวดี มีพื้นที่ข่าวอีกครั้ง ช่วงที่เขาเรียนภาษาฝรั่งเศสที่กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นช่วงปรอทอุณหภูมิทางการเมืองขึ้นสูงสุด ช่วง กปปส. ปิดถนนประท้วง เขาได้ขึ้นชูป้ายเรียกร้องอยู่คนเดียว เป็นภาษาฝรั่งเศสใจความว่า Respect My Vote – โปรดเคารพสิทธิในการเลือกตั้งของฉันด้วย
การนัดหมายสัมภาษณ์ของ GM รอบนี้ เราจะไม่เน้นคุยเรื่องผลงานภาพยนตร์ เราจะไม่เน้นคุยเรื่อง ‘การเมือง’ ในความหมายเชิงสถาบันการปกครอง แต่เราจะพูดคุยกันเรื่อง ‘ผู้ลี้ภัย’ อันเป็นภารกิจ
เพื่อมนุษยธรรมที่ศักดิ์ดาได้ช่วยเหลือผู้คนจากหลายๆ ประเทศ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ทั้งแบบผิดและถูกกฎหมาย มีทั้งคนจากคองโก ปากีสถาน ไปจนถึงชายชาวเวียดนามที่ถูกขังอยู่ที่บ้านเราถึง 9 ปี!
อันที่จริง จะใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ในความหมายนี้คงจะไม่ถูกนัก เพราะเรื่องของ ‘คนพลัดถิ่น’ (Diaspora) มีหลายหลากแบบ ทั้งเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ (Refugee) ที่ถูกส่งตัวไปอยู่ประเทศที่ 3 ได้อย่างถูกกฎหมาย หรือผู้ที่อยู่ในภาวะ ‘ผู้ขอลี้ภัย’(Asylum Seeker) ที่รอสถานะผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มคนที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่การพูดคุยกันวันนี้ ศักดิ์ดาบอกว่าเพื่อความเข้าใจง่ายๆ เราจะอนุโลมใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ กัน
ณ อพาร์ตเมนต์ย่านพหลโยธิน ศักดิ์ดาลงมารับทีมงานพร้อมกับรับกล่องพัสดุที่มิตรสหายส่งของกินของใช้มาช่วยผู้ลี้ภัย เขาเล่าว่าช่วงนี้มีคนส่งของมาให้เขาเรื่อยๆ เราเลยช่วยยกของเหล่านี้ขึ้นมาที่ห้องกันและนี่คือเรื่องราวของ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี คนจริงของเราที่เคยผ่านทั้งการทำงานก่อสร้าง เป็นพนักงาน KFCนักแสดงที่เดินบนพรมแดงเมืองคานส์ และนักสังคมสงเคราะห์ของผู้ลี้ภัย…
GM: ตอนนี้คุณทำอะไรอยู่
ศักดิ์ดา : ตอนนี้กลับมาที่เมืองไทย (ไปเรียนภาษาที่ฝรั่งเศสมาหลายปี) ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นแหล่งให้ทำเป็นกิจจะลักษณะ มีถ่ายหนังพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์บ้าง เพิ่งไปถ่ายมาที่ขอนแก่น เป็นหนังสั้นของพี่เจ้ยที่ตอนนี้ห้ามเปิดเผยอะไร
GM: แต่เห็นว่า เจ้ย-อภิชาติพงศ์ เคยบอกว่า จะไม่ทำหนังโรงที่เมืองไทยแล้ว
ศักดิ์ดา : อันนั้นหมายถึงเป็นหนังยาว แต่อันนี้เป็นหนังสั้นร่วมกับผู้กำกับอีก 6 คนของไทย ที่รู้จักกันแล้วเอาหนังสั้นมารวมกันเป็นหนังยาว
GM: ทราบว่าตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
ศักดิ์ดา : ผู้ลี้ภัย จะว่าผู้ลี้ภัยเลยทีเดียวก็ไม่ได้ ในเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัยในบ้านเรา ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยมาจากที่ไหน หรือเพิ่งได้จากที่นี่ก็ตาม มาอยู่เมืองไทยก็ผิดกฎหมาย แต่ว่าคำที่พูดโดยรวมกว้างๆ ให้คนอื่นรู้จักก็น่าจะเป็นผู้ลี้ภัยนี่แหละ แล้วก็มีอีกอย่างที่คุยกันไว้ Asylum Seeker ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย มันก็จะเวิ่นเว้อเกินไป ก็เลยพูดโดยรวมว่าเป็นผู้ลี้ภัย
GM: ที่ผ่านมาทำอะไรในด้านนี้บ้าง
ศักดิ์ดา : เอาเริ่มต้นก่อนนะ ตั้งแต่ตอนแรก ผ่านมาปีหนึ่งแล้ว คือผมมาอยู่ที่เมืองไทยก็มีเพื่อนฝรั่งเศสที่มาเยี่ยมคนลี้ภัยข้างในนั้น แล้วปรากฏว่าเพื่อนคนฝรั่งเศสเขากลับไปฝรั่งเศส ก็เลยเหลือผมที่ยังไปเยี่ยมต่อ หลังจากนั้นพอไปเยี่ยม ก็รู้ขึ้นมาเรื่อยๆ ว่ามันไม่ใช่มีแค่ที่เรามองเห็นในส่วนห้องเยี่ยม แต่มันจะมีอีกเยอะข้างใน ก็พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า เราจะรู้รายชื่อคนอื่นได้ยังไง เพื่อที่จะมาเยี่ยม เพราะเราต้องรู้รายชื่อ ถึงจะมาเยี่ยมได้ เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ เพราะโดยกฎแล้ว ถ้าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ครอบครัว เข้าเยี่ยมไม่ได้
แต่จริงๆ แล้วคนที่มาเยี่ยมส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นคนจากองค์กรคริสเตียนต่างๆ พวกนี้ ผมก็เลยสอบถามจากคนที่ผมไปเยี่ยมว่า ขอรายชื่อคนที่อยู่ห้องเดียวกันได้ไหม เขาก็บอกโอเค ได้ แต่มันมีอีกหลายห้องที่เขาไม่สามารถขอชื่อได้ เพราะเขาไม่เจอกันเลย หลังจากนั้นก็รู้ว่า มีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าคน ในนั้นจะมีทั้งปากีสถาน คองโก ซีเรีย เขมร ลาว จีน มีหมด
แล้วส่วนใหญ่ที่ผมเยี่ยม 80% เป็นชาวปากีสถาน ซึ่ง 100% ที่ผมเจอนับถือศาสนาคริสต์ที่มีปัญหามาจากประเทศเขา โดนไล่ล่ามาจากที่นั่น เลยต้องหนีตายมาอยู่ที่ประเทศไทย หลายครอบครัวโดนโจมตีแล้วมาถึงไทยในสภาพที่บาดเจ็บเลยก็มี ส่วนใหญ่ทุกคนจะอยู่มา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2013
GM: เกิดเหตุการณ์อะไรในปีนั้น ทำไมคนปากีสถานหนีมาที่นี่
ศักดิ์ดา : ที่ผมถาม เขาบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่คนอิสลามต่อเนื่องมาถึง IS ซึ่งจะให้เขาบอกสาเหตุจริงๆ เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมพวกอิสลามถึงผลักดันคริสเตียนอย่างพวกเขาออกมานอกประเทศ พอมาถึงเมืองไทย เขาก็มีวีซ่าแค่ 3 เดือน เป็นวีซ่าท่องเที่ยว หลังจากนั้นพอครบ 3 เดือนก็จะโดนตำรวจจับในฐานะที่หลบหนีเข้าเมือง แต่ตำรวจก็จับไม่หมดนะ เพราะตอนนี้มีเข้ามาเกือบ 9,000 คน เลยจับเท่าที่จับได้ พอจับมาก็โดนขังตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน บางคน 2 ปี 3 ปี 4 ปีก็มี ซึ่งนานมาก
GM: จับมาแล้วเขาทำยังไงต่อ
ศักดิ์ดา : เรื่องการส่งกลับประเทศอยู่ที่ความสมัครใจของพวกเขาด้วย ถ้าเขาไม่สมัครใจก็ส่งกลับไม่ได้ แต่ถึงเขาจะสมัครใจอยากกลับ ถ้าไม่มีเงินก็กลับไม่ได้ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง แล้วตรงนี้ไม่เคลียร์ว่ารัฐบาลไทยจะส่งกลับหรือเปล่า เพราะมันเป็นงบที่ค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน
ดังนั้น หลายคนที่อยู่ในนั้นนานหลายปีมาก หาค่าตั๋วเครื่องบินไม่ได้ แต่ในส่วนที่ออกนอกประเทศไทยมีอยู่ 2 กรณีก็คือ หนึ่ง, ยื่นเรื่องผ่านทาง UNHCR (ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) แล้ว UNHCR ตอบรับกลับมาก็จะมีอยู่น้อยกว่า 1% ที่จะได้ก้าวผ่านจาก Asylum Seeker เป็น Refugee ไปประเทศที่สาม แล้วปรากฏว่าคนที่เหลือ 99% ใช้ชีวิตหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเหตุที่ว่าหลังจากไปเยี่ยมพวกเขาที่ ตม. แล้ว ก็เลยต่อเนื่องไปเยี่ยมคนข้างนอกด้วย โดยการเอาอาหารไปให้
GM: อีก 9,000 คนเขาทำอะไรกัน
ศักดิ์ดา : อีก 9,000 คนก็หลบหนีกันอยู่ข้างนอก ส่วนใหญ่เช่าอพาร์ตเมนต์ถูกๆ อยู่ บางคนที่สงสารก็ไปเยี่ยม เอาของกินของใช้ไปให้ แต่มันต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือน เรื่องค่าเช่าต่างๆ ผมคนเดียว
ไม่สามารถไปช่วยเหลือทุกคนได้ เขาก็ไปขอความช่วยเหลือจากทางโบสถ์คริสต์ ซึ่งเป็นสมาคมคริสเตียนที่อยู่ที่นี่ ซึ่งทางโบสถ์หลายที่เขาให้ความช่วยเหลือไม่ได้ทุกคนเหมือนกัน เพราะจำนวนคน 9,000 คน เป็นจำนวนมหาศาลมาก เลยช่วยเหลือเท่าที่ทำได้จริงๆ
แล้วช่วงแรกก่อนที่ผมจะโพสต์เรื่องราวลง Facebook นี้ ผมทำมาก่อนหน้านั้นประมาณ 3-4 เดือน โดยใช้เงินส่วนตัวของผม ก็หมดค่าใช้จ่ายไปค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เลยตัดสินใจว่า ไม่ไหว ลองโพสต์ขอความช่วยเหลือดู ปรากฏว่าพอโพสต์ก็มีคนตอบรับกลับมา มีคนส่งของมาบริจาค ในช่วงแรกมีคนขอบริจาคเป็นเงิน ผมก็ตอบปฏิเสธไป เพราะผมไม่สะดวกใจเรื่องนั้น เพราะมีดราม่ากันเรื่องนี้เยอะมาก หลังจากนั้นพอไม่ไหวแล้วจริงๆ เงินผมค่อยๆ หมดไป ก็โอเค ตั้งกระทู้ใหม่ เป็นกระทู้แรกว่า มีครอบครัวหนึ่งต้องการไปแคนาดา เพราะได้รับการตอบรับจาก UNHCR แล้ว เป็นครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน แต่ไปแคนาดาไม่ได้ เพราะต้องจ่ายค่าปรับ Overstay ให้กับ ตม. คนละ 20,000 บาท เพราะถ้าไม่มีเงินมาจ่าย ก็ไม่ได้ไปแคนาดา คือโดนตัดสิทธิ์ ชีวิตเขาก็จะเปลี่ยนไปเลย ต้องหลบหนีอยู่ในเมืองไทย มันเป็นเงินค่อนข้างเยอะ 120,000 บาท ผมก็เลยลองโพสต์ลง Facebook ว่า ใครอยากช่วยครอบครัวนี้ให้โอนเงินมา ผมก็จะเอาเงินไปจ่ายค่าปรับ คนไทย
ก็ใจดี ไม่กี่ชั่วโมงผมก็ได้เงินจำนวนนั้น แล้วผมก็เอาเงินไปจ่ายค่าปรับ ตอนนี้พวกเขาอยู่แคนาดาเรียบร้อยแล้ว
GM: ก่อนที่จะเกิดการตั้งโพสต์แบบนี้ หมดเงินไปเท่าไหร่กับการช่วยเหลือพวกเขา
ศักดิ์ดา : ก่อนหน้านี้ เราหมดเงินไปกับการจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้กับผู้ลี้ภัยคองโก ชื่อ พอล ทั้งเรื่องเงินที่ซื้อของซื้ออะไรที่เยี่ยมเขาแล้ว แล้วก็ค่าส่งตัวจาก ตม. ใช้เงินเยอะ จะให้บอกเป็นจำนวนเงิน ผมพูดไม่ได้จริงๆ เพราะการใช้จ่ายในแต่ละครั้งไม่ได้จดอะไรไว้เลย แต่ถ้าเอาเฉพาะค่าตั๋วเครื่องบินอะไรก็น่าจะเป็นแสน
GM: ได้รับการสนับสนุนจากไหนบ้าง
ศักดิ์ดา : ช่วงแรกมีแค่ผมกับแฟนที่ช่วยซัพพอร์ตตรงนี้ แล้วก็เงินที่ผมได้มาจากการทำงานถ่ายหนังมาช่วย แต่ผมก็ต้องเก็บไว้ส่วนตัวบ้าง แล้วหลังจากนั้นก็ได้เงินจากที่คนบริจาคมาช่วย
GM: นอกจากปากีสถาน คองโกแล้ว ที่ผ่านมาได้ช่วยผู้ลี้ภัยจากที่อื่นไหม
ศักดิ์ดา : ส่วนใหญ่ที่ผมช่วยจะมี 3 สัญชาติ คือ เวียดนาม คองโก แล้วก็ปากีสถาน แล้วก็โซมาเลียด้วย เพราะว่าเวลาไปช่วยคนหนึ่งมันติดพันต่อเนื่อง ไม่ใช่เราเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ
GM: ล่าสุดเห็นคุณโพสต์ว่ามีคนเวียดนามติดอยู่ที่ไทย 9 ปี
ศักดิ์ดา : ใช่ 9 ปี ที่ผมรู้เพราะมีคนคองโกคนหนึ่งที่ผมไปช่วยเขา สาเหตุที่มาจากคองโก เพราะที่คองโกเขาค่อนข้างจน ครอบครัวมีลูก 4 คนอยู่ด้วยกัน มีกลุ่มคนไทยไปเปิดบริษัทจัดหางานอยู่ที่คองโก แล้วเหมือนไปหลอกลวงคนคองโกมาทำงานที่ไทย เขาก็เลยต้องไปหาเงินมาจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน ค่านายหน้า เป็นหนี้เป็นสินอยู่ที่นั่น
พอเขามาถึงเมืองไทยก็ถูกเอาไปปล่อยที่ไหนสักที่หนึ่ง แล้วก็ไม่ได้รับการติดต่อจากกลุ่มคนไทยนี้อีกเลย ก็รู้แล้วว่าโดนหลอก พอวีซ่าหมดก็โดนจับ เขาอยู่นี่มาแล้ว 2 ปีกับ 7 เดือน ช่วงนี้เขาก็ยื่นเรื่องกับ UNHCR ว่าอยากจะลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ทาง UNHCR
ก็ตอบปฏิเสธตลอด
ผมไปเยี่ยมก็ไม่รู้จะทำยังไงดี จะเดินเรื่องเองก็ไม่ได้ ก็เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนคนฝรั่งเศสว่าติดต่อสถานทูตฝรั่งเศสกันไหม จริงๆ มันมีโอกาสน้อยมาก แต่โชคดีพอไปติดต่อ สถานทูตฝรั่งเศสตอบกลับมาว่าโอเค เดี๋ยวจะส่งคนมาสัมภาษณ์เขาแล้วก็ส่งผู้ช่วยท่านทูตมาสัมภาษณ์เขาที่ ตม. หลายครั้งมาก ตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ระหว่างนั้นเขาก็ติดต่อสถานทูตอื่นด้วยตัวเองด้วย คือสถานทูตสหรัฐอเมริกา แต่โดนตอบปฏิเสธไป ฝรั่งเศสก็ให้ลี้ภัยไปฝรั่งเศสได้ แล้วต้องพาเขาออกไปทำวีซ่า ไปถ่ายรูปเพื่อทำประวัติต่างๆ ผมเลยคุยกับเขาว่า ในห้องขังมีใครอีกที่น่าสนใจ เขาก็บอกว่ามีคนเวียดนามที่อยู่มา 9 ปี เขาบอกว่าคุยกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะคนเวียดนามคนนี้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เลยรู้แค่ว่าอยู่ 9 ปี เมียกับลูกอยู่ข้างนอก ไม่สามารถมาเยี่ยมได้ คือไม่ได้เจอกันเลย
GM: ตลอด 9 ปี?
ศักดิ์ดา : ใช่ๆ ดังนั้น อยากจะประกาศมากเลยว่า ถ้าใครรู้ภาษาเวียดนาม ผมอยากจะพาไปเป็นล่ามให้หน่อยว่าเขาต้องการอะไรบ้าง
GM: คุณทำงานนี้มาพักใหญ่ อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาสนใจเรื่องนี้
ศักดิ์ดา : จริงๆ แล้วผมไม่ได้ทำที่นี่ที่เดียว ตอนที่ผมอยู่ฝรั่งเศส หรือก่อนไปฝรั่งเศส ผมก็ทำอยู่ตรงนี้มาบ่อยมาก แต่ไม่ได้ทำกับผู้ลี้ภัย ทำกับคนอื่น พวกคนไร้บ้าน หรือว่าไปเจอใครข้างทางที่ดูสภาพทรุดโทรม หิว หรือว่าสภาพเหมือนคนไร้บ้าน ผมก็จะเข้าไปช่วย บางทีก็ซื้อข้าวไปให้พวกเขา
ตอนนั้นยังไม่รู้จริงๆ ว่ามีปัญหาผู้ลี้ภัยตรงนี้ แล้วก็ไปอยู่ฝรั่งเศส ระหว่างทางที่เดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็มีคนไร้บ้านเยอะมาก ผมก็คิดว่าทำยังไงดีที่จะช่วยเขาได้ ผมยังไม่มีสิทธิ์ที่จะช่วยเขาได้
อย่างเป็นทางการ เพราะผมก็ไม่ใช่คนสัญชาติฝรั่งเศส ทำได้มากที่สุดก็ทำอาหารจากที่บ้าน ระหว่างที่ไปมหาวิทยาลัย ก็เอาอาหารไปวางต่อหน้าเขา ไปให้เขา บางทีนั่งกินอะไรอยู่ มีเด็กๆ มาขอทาน
อะไรประมาณนี้ ก็จะถามว่ากินอะไรไหม จะซื้อให้ ซึ่งมันต่อเนื่อง พอกลับมาเมืองไทย รู้เรื่องผู้ลี้ภัยก็โอเค เข้ามาทำ แทบจะเรียกได้ว่าเต็มตัว แต่มันก็จะไม่ได้มีเต็มตัวเป็นรูปแบบบริษัท ได้รับเงินเดือน เหมือนเป็นมูลนิธิอะไร
GM: Mindset เวลาทำเรื่องพวกนี้ คิดเป็นการทำบุญแบบไทยพุทธ หรือมองว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก
ศักดิ์ดา : ผมไม่คิดเรื่องการทำบุญเลย เพราะพูดตรงๆ ผมไม่เชื่อเรื่องการทำบุญ และผมไม่เคยไปทำบุญที่วัด (หัวเราะ) การทำบุญที่วัด เหมือนกับว่าต้องการบุญตอบแทนกลับมาเพื่อให้เรามีโชคหรืออะไรดีขึ้น หรืออาจจะถูกหวยตามความเชื่อของไทย สำหรับผม การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เราไม่ได้อะไรกลับมาอยู่แล้ว นอกจากจะเสียเงินยังต้องเสียเวลาของเราด้วย มันก็เลยเหมือนเป็นการช่วยคนที่ยากลำบากเป็นมนุษย์โลก อะไรแบบนี้มากกว่า
GM: เรามองเรื่องแบบนี้ว่าเป็นคุณธรรมแบบไหน
ศักดิ์ดา : คุณธรรมแบบไหน (หัวเราะ) มันมีคุณธรรมหลายแบบเหรอ
GM: ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)
ศักดิ์ดา : (คิด) อืมม์…คุณธรรม ผมไม่ค่อยเข้าใจคำนี้ เพราะคุณธรรมที่หมายถึงคือยังไง จริงๆ แล้ว สำหรับผม มันเป็นการช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ ผมไม่ได้มองเห็นคนตรงนี้แล้ว คนนี้เราจะเข้าไปช่วยดีไหม ช่วยแล้วจะได้อะไร แต่เวลาผมเห็นปุ๊บ ผมก็เห็นแล้วว่า คนนี้ไม่มีข้าวกินนะ เวลาไปไหนกับแฟนก็จะพูดเลยว่า หยุดรถก่อน เพิ่งเห็นคนเดินอยู่ข้างทาง ดูท่าทางหิวโซ แล้วผมก็หยุดรถเปิดประตูออกไปซื้อข้าวร้านข้างๆ ใกล้ๆ เซเว่นมาให้เขาประมาณนี้ แต่ถ้าเดินไปไหนด้วยกัน แฟนผมจะเจอบ่อยมากเรื่องพวกนี้ โชคดีที่เขาเข้าใจ ไม่รู้ว่าเป็นคนอื่นมาอยู่กับผมแล้วเจอผมทำอะไรแบบนี้ตลอดเวลา เขาจะเบื่อหรือเปล่า
GM: ถ้าเคยอ่านประวัติ คุณเคยทำงานก่อสร้าง หรือพนักงาน KFC เพราะเคยลำบากแบบนั้นมาก่อนหรือเปล่า เลยเข้าใจพวกเขา
ศักดิ์ดา : ลำบากๆ ครอบครัวผมเป็นชาวไร่ พ่อปลูกอ้อย ตอนนั้นจบ ม.6 ที่จริงจะไม่ได้จบ ม.6 ด้วย ไม่มีตังค์เรียน พ่อเลยให้ออกจากโรงเรียน แต่ว่าก็ไปอยู่วัด ทำงานเสาร์-อาทิตย์ รับจ้างเพื่อมาเรียนจนจบ ม.6 ที่บ้านไม่มีตังค์ให้เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ไม่เป็นไร ก็ขอเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เริ่มแรกเลยทำงาน KFC ได้เงินเดือนตอนนั้นอยู่ที่ 4,000 กว่าๆ มั้ง นานแล้ว ห้องเช่าก็อยู่ไกลมาก เพราะในเมืองค่อนข้างแพง บางครั้งก็นอนอยู่ริมถนน นอนป้ายรถเมล์ ไปอาบน้ำเช็ดตัวอยู่ในห้องน้ำในห้างตอนเช้า แล้วทำงานอย่างนั้นเลย
หลังจากทำ KFC เงินไม่มีพอให้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย เลยลองไปทำงานอย่างอื่นบ้าง เป็นเซลส์ขายของตามข้างถนน แบบพวกเดินอยู่ดีๆ มีคนมาทัก ผมมีสินค้าตัวหนึ่งมาให้พี่ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนงานไปเรื่อย ทั้งร้านวิดีโอซึทาญ่า ทำงานไซต์ก่อสร้าง แบกปูนแบกอะไรพวกนี้ แล้วก็มีทำงานโรงงาน CP เป็นพวกยกของ แล้วก็ได้มาทำงานที่ทรู คือเป็นฝ่ายขายอินเทอร์เน็ต ตอนนี้เริ่มมีเงินแล้ว เพราะมันค่อนข้างได้เงินเยอะ ค่าคอมมิชชัน เวลามันผ่านไป 10 กว่าปีแล้ว ก็เลยขี้เกียจเรียน ไม่เรียนดีกว่า วุฒิจริงๆ ตอนนี้อยู่ที่ ม.6 ที่ไปเรียนที่ฝรั่งเศส ก็คือไม่ได้เรียนเอาวุฒิ เรียนเอาภาษาเท่านั้นเอง
GM: ประสบการณ์ที่ผ่านมา มีผลกับวิธีคิดในการช่วยเหลือคนไหม
ศักดิ์ดา : มีเยอะมาก เพราะผมลำบากมาก่อน เลยรู้ว่าความลำบากเป็นยังไง พอผมเห็นคนก็เลยรู้ว่ามันลำบากมาก ถ้าเป็นเราตอนนั้น เราต้องการคนช่วยเหลือ เราก็เลยย้อนกลับว่า คนเขากำลังต้องการการช่วยเหลือ ผมเลยวิ่งเข้าไปช่วยเขา โดยไม่ต้องคิดอะไรให้วุ่นวาย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นตรงนี้
GM: การช่วยเหลือตอนนี้เป็นระดับปัจเจกคนต่อคน แล้วจะยกระดับให้เป็นการช่วยในระดับโครงสร้างได้อย่างไร
ศักดิ์ดา : ตรงนี้ยังพูดอยู่กับแฟนแล้วก็เพื่อนบางคนที่ทำอยู่ด้วยกันว่า จริงๆ ที่ทำอยู่ตอนนี้ ไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเลยคงไม่ได้ ทำได้ดีที่สุดคือปลายเหตุที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็คือการไปช่วยเหลือเขา ซึ่งไปเปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลงกฎเขาเลยไม่ได้ ยาก ยากมาก เราคนเดียวทำไม่ได้ นอกจากเราจะมีอำนาจ ถึงเราจะมีอำนาจเหรอ ก็น่าคิดเหมือนกันนะ ขนาด UNHCR ที่ใหญ่ๆ ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แล้วเราเป็นใคร เราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้เหรอ
GM: แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ศักดิ์ดา : ใช่ๆ ก็ยังดี อย่างที่บอกว่ารายล่าสุดที่กำลังช่วยเหลืออยู่ก็คือลุงที่ป่วยเป็นมะเร็งแล้วต้องการการรักษา
GM: เป็นคนที่ไหน
ศักดิ์ดา : เป็นคนปากีสถาน แล้วลูกชายเขาติดต่อผมมาว่า พ่อเขาป่วยเป็นมะเร็ง เขาเอาเงินที่เก็บมาจากปากีสถานนี้ ต้องเล่าย้อนก่อนว่าเขามาจากปากีสถานได้ไง ครอบครัวนี้ เขาเป็นเอนจิเนียร์ ลูกชายเขาเป็นผู้จัดการของอาร์ตแกลเลอรีที่ปากีสถาน เป็นคนที่ค่อนข้างฐานะดี แล้วก็คนที่นั่นเขาอิจฉาว่าคนคริสต์มีเงิน มีหน้าที่การงานที่ดี ก็ไม่ปล่อยไว้ โจมตี จนน้องสาวเขาโดนปาหินที่หัวจนเกือบแตก
GM: โดนชาวบ้านรุมปาหิน
ศักดิ์ดา : ใช่ๆ โดยที่ไม่มีเหตุผล เหตุผลคือเป็นคนคริสต์ เขาก็อยู่ที่หมู่บ้านนี้ไม่ได้ ทำอย่างไรดี ถ้าย้ายไปที่อื่นก็โดน เพราะกลุ่มหัวรุนแรงมีเครือข่ายกัน ในเมื่อโดนโจมตี ก็เลยย้ายไปต่างประเทศ
แล้วประเทศไทยคือจุดหมายที่เขามา มาอยู่ที่ไทยตั้งแต่ปี 2013 เขาก็มีเงินเก็บจากปากีสถาน ก็หมดไปกับการรักษามะเร็งให้พ่อหลายแสน เงินหมดก็ยังต้องทำคีโมต่อ เขาไม่รู้จะทำยังไง ก็พากลับมาที่ห้อง ดูสภาพห้อง เป็นห้องที่โกโรโกโส เล็กมากๆ 4 คนต้องยัดอยู่ในห้องเดียวกัน พ่อเขาถ้าไม่ได้ทำคีโมตายแน่นอน เขาเลยติดต่อกับกลุ่มคริสเตียน ซึ่งเป็นคนเกาหลีที่รู้จักกันที่ปากีสถาน เขาก็รับเคสพ่อเขาไปรักษาฟรีที่เกาหลี ซึ่งเขาออกให้แค่เรื่องการรักษาเท่านั้น เขาไม่มีค่าเครื่องบิน ซึ่งค่ารักษาเขาไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช ก็จะเป็นเงินอยู่ที่ 500,000 กว่าบาท
เขาเลยมาขอร้องกับผมว่า ให้ช่วยซัพพอร์ตส่งพ่อเขาไปเกาหลีหน่อย เพื่อไปรักษาที่นั่น เมื่อเดือนที่แล้วผมเพิ่งช่วยคนไปแคนาดา ก็หมดเงินไปส่วนหนึ่งแล้ว ผมก็เลยบอกว่า ตอนนี้ไม่ไหวจริงๆ ผมก็ต้องเซฟตัวเองไว้ด้วย ให้ไปขอเงินคนบ่อยๆ มันก็ไม่ได้เหมือนกัน ผมนอนคิดอยู่คืนหนึ่ง หลังตอบปฏิเสธเขาไป ว่าเออ…ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย คนหนึ่งอาจเสียชีวิตเลยก็ได้นะ เอาวะ เราแค่ลองโพสต์ขอทีหนึ่ง ไม่ให้ก็ไม่ให้ ปรากฏว่าคนไทยก็ยังใจดีอยู่ ก็สนับสนุนกันเรื่องนี้ ได้เงินค่าตั๋วเครื่องบินมา โดยเดินทางทั้ง 2 คน พ่อกับแม่เขาที่ไปดูแลด้วย ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ไป-กลับจนกว่าจะรักษาหาย หมดขั้นตอนคีโมแล้วบินกลับไป พ่อเขาอายุ 65 ปี มีวีซ่าเข้า-ออกเมืองไทยได้ไม่ผิดกฎหมาย เขามีวีซ่าไปเกาหลีได้ แต่หมดวันที่ 11 เดือนหน้า ดังนั้น ขั้นตอนต่างๆ ต้องเสร็จก่อนถึงจะเข้าเกาหลีได้ เมื่อวานก็เพิ่งเอากระเป๋าสิ่งของที่จำเป็นกับการเดินทางไปให้เขา
GM: เคยช่วยโรฮีนจาไหม
ศักดิ์ดา : โรฮีนจายังไม่เคย เพราะมันไม่มีโอกาสไปช่วยเหลือตรงนั้นเลย ถ้ามีโอกาสคิดว่าจะช่วยตามที่กำลังเราทำได้ เพราะว่าเราก็ทำตรงนี้ด้วย แต่พูดตรงๆ ว่าแค่ทำอยู่ตรงนี้ก็ไม่มีเวลาแล้ว
โชคดีที่ผมไม่ได้ทำงานเหมือนคนออฟฟิศตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ เลยไปทำตรงนี้ได้ ถ้าต้องทำงานตรงนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้มาข้องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยตรงนี้มากนัก
GM: คิดอย่างไรกับความเห็นแนวชาตินิยม กับคำพูดที่ว่า ระหว่างภาษีที่เราเสียกับการให้ผู้ลี้ภัย อะไรสำคัญกว่า
ศักดิ์ดา : มีพูดกันเยอะมาก หลายคนพูดว่าทำไมผมไม่ไปช่วยคนไทยที่ยากจนเยอะแยะมากมายก่อน ทำไมผมต้องเอาเงินระดมทุนเอาอาหารไปให้ผู้ลี้ภัยต่างชาติที่หนีมาเมืองไทยเอง เขาบอกว่า
การช่วยเหลือคนสำหรับผม มันไม่เกี่ยวที่เชื้อชาติ ไม่ว่าคนชาติไหนก็คนเหมือนกัน ใครลำบากก็ช่วยเขาหมด แล้วจริงๆ ผมไม่ได้ช่วยผู้ลี้ภัย คนไทยข้างถนน ผมก็ช่วยตลอด เลยไม่รู้ว่าคนที่พูดตรงนี้
เขาคิดอะไรยังไง เอาชาติเดียวไว้ก่อนชาตินิยมมากๆ ชาติอื่นช่างหัวมัน ผมก็โอเคนะ ปล่อยเขาไป ไม่ได้ไปตอบโต้อะไรมากมาย
GM: ตอนนี้อะไรคือความท้าทายกับการทำงานด้านนี้
ศักดิ์ดา : ท้าทายที่สุดคือกฎหมายไทย (หัวเราะ) พูดตรงๆ ว่าที่ทำอยู่ตอนนี้อาจจะผิดกฎหมาย เพราะว่าคนที่ผมไปช่วยเหลือเป็นคนผิดกฎหมาย ดังนั้นคนที่ให้ความช่วยเหลือคนที่ผิดกฎหมาย ก็อาจจะเป็นคนที่ผิดกฎหมายไปด้วย แต่ทาง ตม. ก็เรียกผมเข้าไปคุย เขาก็พูดประมาณนี้เหมือนกัน แต่ว่าเหมือนเขาจะอนุโลมด้วย เขาก็ไม่ได้เลวร้ายไปซะทีเดียว เพราะรู้ว่ามีคนภายนอกมาเยี่ยมพวกเขาเยอะ คนจากโบสถ์อะไรอย่างนี้ ก็อนุโลมให้เข้าเยี่ยม เพราะว่าที่ ตม. เขาก็ยังเป็นคนอยู่นะ ไม่ได้ใจร้ายอะไรมากมาย นอกจากคนบางคนที่ต่อว่าผมเป็นประจำทุกครั้งที่ไป ตม. เขาก็ต่อว่าไปอย่างนั้นแหละ พอว่าเสร็จเขาก็ให้ผมเข้าไปเยี่ยมให้การช่วยเหลือ
GM: แสดงว่าเขาก็เป็นคนจิตใจดี
ศักดิ์ดา : แต่ต้องทำหน้าที่ของเขา
GM: เคยคิดไหมว่าจะขยายเป็นองค์กรหรือมูลนิธิ ซึ่งตอนนั้นสื่อจะสนใจและทำให้เรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น
ศักดิ์ดา : ตอนนี้มีองค์กรที่ทำอย่างนั้นเยอะมากทั้งคริสเตียน IOM (International Organization for Migration) หรือ UNHCR ที่เป็นองค์กรใหญ่ อย่างองค์กรคริสเตียน เขาจะทำหลายโบสถ์
เขาจะทำเป็นกลุ่ม แล้วพยายามดึงผมเข้ากลุ่ม ช่วงแรกที่ผมเข้ากลุ่มคริสเตียน เวลาผมจะเยี่ยม เขาจะให้ผมเยี่ยมเฉพาะคนที่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ในนั้น มันไม่ได้มีแค่คนคริสต์อย่างเดียว มันมีทั้งพุทธ อิสลาม อะไรเยอะมาก ผมเลยรู้สึกไม่สบายใจ ผมเลยไม่เอาดีกว่า ทำคนเดียวสบายใจ สามารถเยี่ยมใครก็ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งองค์กร ผมเคยคุยกับกลุ่มคนไทยด้วยกัน ซึ่งมีไม่เยอะ 3-4 คนในกลุ่ม เขาก็บอกว่ามันยาก เคยคุยแล้วหาข้อมูล มันต้องมีทุนมีกรรมการอะไรยุ่งยาก อีกอย่าง ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยถาวรด้วย อีกไม่กี่ปีผมก็ต้องกลับไปฝรั่งเศสแล้ว แล้วองค์กรนี้จะทำยังไงต่อล่ะ
GM: มันน่าสนใจว่าชีวิตคุณมีอะไรที่แตกต่างกันมาก ทั้งได้ไปเดินพรมแดง รู้จักคนดังระดับโลก แต่อีกมุมหนึ่งคือช่วยเหลือคนชายขอบ รู้สึกยังไงกับสังคมที่เราพบเจอ มันกว้างและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ศักดิ์ดา : ผมว่ามันไม่ได้ขัดแย้งกันนะ ขณะที่ผมไปเดินพรมแดงที่เมืองคานส์ครั้งแรกกับหนังสัตว์ประหลาด (ปี พ.ศ. 2547) ตอนนั้นผมยังเป็นชาวไร่อยู่เลย คือผมกลับมาบ้าน ต้องมาช่วยพ่อกลับไป
ตัดอ้อยอยู่เลย ผมเลยไม่ได้คิดว่าผมเป็นคนอีกระดับหนึ่ง แค่เหมือนไปทำหน้าที่ให้กับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมากกว่า แล้วก็สองอย่างมันคอนทราสต์กัน แต่มันมีอะไรหลายอย่างเชื่อมโยงนะ อย่างที่ผมบอกว่า ผมเป็นตัวแทนของไทยอยู่ในพรมแดง แต่ชีวิตผมจริงๆ ก็คือใช้ชีวิตระดับล่างอยู่ ก็เหมือนกับว่าใครก็ได้ทุกคนสามารถที่จะมีชีวิตที่เรียบหรูแล้วอยู่ในระดับล่างในเวลาเดียวกันได้
GM: เป็นเรื่องของโอกาส
ศักดิ์ดา : ใช่, ผมก็ไม่ได้คิดว่าไปอยู่จุดสูงสุดตรงนั้น แล้วผมจะไม่สามารถไปใช้ชีวิตในระดับที่เขาเรียกว่าระดับล่าง จะใช้คำว่าระดับล่างก็ไม่รู้จะพูดยังไง ผมไม่เคยคิดว่าจะไม่กลับมาใช้ชีวิตแบบนั้น
ผมกลับมา ก็ใช้ชีวิตปกติ เวลานัดเพื่อนไปสังสรรค์เฮฮา ผมมีเพื่อนหลายกลุ่ม ทั้งเพื่อนระดับบนระดับล่างเยอะมาก เวลาเราไปต่างจังหวัดก็กินเหล้าขงเหล้าขาวอยู่เลย มันก็เลยทำให้ผมไม่แยกแยะชีวิตในหลายแง่มุม หลายสังคม บางครั้งผมอยากจะรวมกลุ่มเพื่อนในกลุ่มระดับหนึ่งไปเจออีกระดับหนึ่ง มันก็ไม่สามารถทำได้
GM: ยังไงครับ
ศักดิ์ดา : อย่างเช่นเพื่อนกลุ่มต่างจังหวัด ผมก็พาเขามากรุงเทพฯ แล้วพาไปสังสรรค์กับเพื่อนกรุงเทพฯ คนชั้นกลาง เขาก็ไม่มีความสุข เขาบอกว่ามันไม่ใช่ตัวเขา การใช้ชีวิตมันคนละอย่างกัน เพื่อนคนต่างจังหวัดก็ไม่สามารถมาใช้ชีวิตในเมืองได้ เพื่อนในเมืองก็ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือคบกับคนที่ต่างจังหวัดบ้านผมได้ แต่ผมทำตัวเหมือนเป็นน้ำ ไปอยู่ที่ไหนก็ปรับตัวได้ทุกอย่าง ผมค่อนข้างโชคดีตรงนี้ ชีวิตผมมันขึ้นเป็นกราฟ ผมผ่านมาแล้วทุกระดับ
GM: พูดถึงหนังของเจ้ย-อภิชาติพงศ์สักนิด ส่วนใหญ่หนังจะพูดถึงคนชายขอบหลายๆ เรื่อง ที่ตรงนี้มัน Shape ความคิดเราอย่างไร
ศักดิ์ดา : พี่เจ้ยให้ความเคารพกับคนต่างจังหวัดและคนรุ่นเก่ามาก แล้วการทำหนัง ผมไปเล่นให้เขาเรื่องแรกเป็นคาแรคเตอร์ตัวละครที่เป็นเด็กต่างจังหวัดเลย ก่อนที่จะได้เล่นจริง พี่เจ้ยเขาสัมภาษณ์ผมก่อนว่าชีวิตเป็นยังไงอะไรๆ มาบ้าง เขาก็เอาชีวิตจริงๆ ผมมาใส่ในหนัง มันทำให้รู้สึกว่าผมชอบพี่เจ้ยตรงนี้ ที่ให้ความสำคัญกับนักแสดง ให้รายละเอียด ให้ความเคารพกับคนต่างจังหวัดมาก
สมมุติเขาไปถ่ายที่ต่างจังหวัด เขาจะดึงคนที่นั่นจริงๆ มาเล่นด้วย แล้วส่วนใหญ่จะไม่ใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียง เพราะนักแสดงที่มีชื่อเสียง แนวความคิดของเขาจะไม่เหมือนกับคนทั่วไป หรือการแสดงจะไม่ลื่นไหลเหมือนคนทั่วไป คือเขาจะพูดได้เฉพาะตามบท หนังของพี่เจ้ยแนวต่างจังหวัด คนเล่นเขาเป็นคนต่างจังหวัดอยู่แล้ว เขารู้อยู่แล้วว่าพูดอะไรยังไงโดยไม่ต้องมีบทก็ได้ (กับคำถามเรื่อง Shape ความคิดก็คือ) ทำให้เราเคารพคนที่อยู่ต่างจังหวัด โดยที่เขามีชีวิตได้ในตัวเขาเองอย่างที่พี่เจ้ยเคารพ
GM: เราทำงานด้านนี้ เคยได้ไปคุยแชร์ความคิดกับ UNHCR บ้างไหม
ศักดิ์ดา : ไม่มีเลย คือผมว่าทาง UNHCR คิดว่าประเทศไทยนี้ อย่างที่…ไม่อยากจะพาดพิงว่าพรีเซนเตอร์อย่างคุณปู (ไปรยา) เป็นทูต จริงๆ ที่ผมเข้ามาอยู่ตรงนี้ปีกว่าๆ ไม่เคยเห็นผลงานว่าทำอะไรเลย เหมือนเขาเข้ามาแค่โปรโมตองค์กรเท่านั้น และทำกิจกรรมตรงที่มีสื่อเห็น หลังจากไม่มีสื่อ ก็เงียบไป ไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย ซึ่ง UNHCR สาขาประเทศไทยพลาดมากตรงนี้ ที่ทำงานแบบไม่รู้จะพูดยังไงว่า ทำงานกันไม่เป็น
แล้วผมก็เคยเข้าไปประชุมเมื่อคราวก่อน สองสามอาทิตย์ก่อน เขาเรียกว่าประชุม BASRAN เป็นกลุ่มช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เมืองไทย เขาก็เรียกกลุ่ม UNHCR มาคุยในที่ประชุม ทาง UNHCR ก็มาช้า
มาสายเกือบหนึ่งชั่วโมง คนที่ประชุมซึ่งเป็นฝรั่งทั้งหมดก็รอให้ UNHCR มาพูดบนเวที แต่มาทีหลัง พอมาถึงที่ประชุมก็มาต่อท้าย ไม่ได้แสดงตัว จนกระทั่งพิธีกรต้องประกาศหา เขาค่อยยกมือ
หลังจากนั้น เขาก็ให้รายละเอียดที่ค่อนข้างไม่ชัดเจน และตอบคำถามของคนที่ประชุมไม่ได้เท่าใดนัก จนคน Walkout ออกจากห้องประชุมเยอะมาก มีคนถามว่า อยากรู้จำนวนสัดส่วนของผู้ลี้ภัยในเมืองกับในแคมป์ว่าประเทศไทยอยู่ที่เท่าไหร่ เขาก็เลี่ยงตอบไปว่าอย่างนั้นขึ้นอยู่กับอันนี้ ซึ่งจำนวนสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ เขาน่าจะมีอยู่ในมือแล้ว แต่เขาอาจจะไม่ได้ทำการบ้านหรือไม่รู้ หรือคนที่ UNHCR ส่งมา ไม่รู้จริง ทำให้ผมรู้สึกว่า UNHCR ในเมืองไทย เขาทำงานกันจริงๆ หรือเปล่าเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในห้องนั้น เขาก็ถามว่าทำงานกันจริงๆ ทำไมผู้ลี้ภัยมีจำนวนน้อยมากที่ได้บินไปต่างประเทศ
มีอีกครั้งที่ผมไปช่วยงานผู้ลี้ภัยที่ BRC (Bangkok Refugee Center) อยู่อินทามระซอย 35 อันนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จาก UNHCR มาประจำกันอาทิตย์ละครั้ง ผมก็ไปช่วยที่เขาประชุมพอดี ได้นั่งฟัง
เขาประชุม ทางมุมมองของ UNHCR เขาก็บอกว่าช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะผู้ลี้ภัยมีจำนวนเยอะ และ UNHCR ต้องคัดกรองคนด้วย ไม่ได้ช่วยเหลือทุกคน แล้วอีกอย่างขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางด้วยว่าจะรับหรือไม่รับ เขาไม่สามารถรับเคสมาทำจากผู้ลี้ภัยแล้วจะส่งไปต่างประเทศได้ทุกคน พอพูดมาอย่างนี้ ผมก็เคลียร์ก็เข้าใจไง แต่ว่ายังไงมันก็มีจำนวนน้อยอยู่ดี น้อยกว่า 1% ซึ่งผมคิดว่าถ้าเขาทำงานจริงๆ มันน่าจะได้มากกว่านี้
GM: จากการได้ทำงานด้านผู้ลี้ภัย ที่สุดแล้วอยากให้คนไทยมองคนกลุ่มนี้อย่างไร
ศักดิ์ดา : ผมพูดประจำว่า ถ้าเจอเขาข้างถนน หรือเจอเขาอย่างอาบังขายถั่ว ซึ่งหลายคนดูถูกเขาว่าเป็นคนหนีมาจากต่างประเทศ มาเป็นต่างด้าว จริง ๆ ที่นี่ผมก็จ้างคนต่างด้าวทำความสะอาดให้ผม อยากให้มองเขาเป็นคนคนหนึ่งในสังคม ไม่อยากให้มองว่าเป็นต่างด้าว หรือเป็นคนที่ไม่ใช่คนไทย แล้วรังเกียจเขา ถ้าช่วยเหลือเขาได้ก็อยากให้ช่วยเหลือ แล้วก็สนับสนุนอะไรก็ได้ที่ช่วยได้ เพราะเขาอยู่ยากกันจริง ๆ ไม่ได้มีชีวิตที่เรียบหรู เขาพลัดถิ่นมา ถ้าเป็นเราไปอยู่ต่างประเทศไม่ได้เป็นประเทศที่เราเกิดหนีไปลี้ภัยไป เราก็คิดถึงบ้านนะ คือนอกจากคิดถึงบ้านยังใช้ชีวิตยากลำบากในประเทศนั้น แล้วโดนคนดูถูก หลายรายที่อยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่รู้ว่าชีวิตเขาจะมีความหมายอะไรอีกแล้ว ซึ่งอยากจะฝากถึงคนไทยว่าถ้าช่วยเหลือได้ก็ช่วย ไม่ได้บังคับ แค่ขอความเห็นใจ