fbpx

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

IS THE PUNCH BOWL STILL HERE?

เศรษฐกิจไทย ห้ามกะพริบตา!!

“… to take away the punch bowl just as the party gets going.”

|  วิลเลียม แมคเชสนีย์ มาร์ติน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ในยุคทศวรรษ 1950s  |

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อ้างถึงคำกล่าวนี้ขึ้นมา เมื่อถูก GM ถามถึงจุดยืนและหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกคน

ในช่วงที่ผ่านมา นักธุรกิจและนักการเมืองส่วนหนึ่ง มองผู้ว่าการฯ คนนี้ ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาค่าเงินบาทแข็งเกินไป ด้วยการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูง ในทางตรงข้าม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งกลับสนับสนุนแนวทาง ที่พยายามจะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ โดยใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมืออย่างเคร่งครัด รัดกุม

ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจจะยังไม่เข้าใจเลยว่าค่าเงินแข็งและดอกเบี้ยจะส่งผลต่อปากท้องของตนเองอย่างไร

ความยากลำบากอยู่ตรงนี้!

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของเศรษฐกิจไทย จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับสภาพความผันผวนอย่างคาดเดาไม่ได้ของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของนานาประเทศ ที่นับวันจะยิ่งแปลกประหลาด นอกตำรามากขึ้นเรื่อยๆผู้ที่มาอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการฯ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงแรงกระทบกระแทกเหล่านี้

อะไรคือผิด อะไรคือถูก ?

คำถามแบบนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาคำตอบ ในยุคสมัยที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ค่อยๆ แพร่กระจายและแทรกซึมเข้าไปถึงผู้ทำงานในทุกระดับ ทุกด้าน การตัดสินใจหนึ่งๆ ไม่ว่าจะมุ่งไปทางด้านใด ก็ต้องมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ และตามมาด้วย

คำวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงทั้งนั้น ข้าราชการและนักวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่บนหอคอยงาช้าง รู้แต่ทฤษฎี แต่ไม่รับรู้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน และความยากลำบากของนักธุรกิจ เช่นนั้นหรือ?

หรือว่านี่คือหน้าที่ของข้าราชการและนักวิชาการเหล่านี้ ที่จะต้องคอยระแวดระวัง คอยแตะเบรก และคอยยกโถน้ำพันช์ ออกจากงานเลี้ยงไปก่อนที่เราทุกคนจะเมามาย และทำปาร์ตี้นี้ล่มด้วยน้ำมือพวกเราเองในที่สุดในเวลาเช้าตรู่ของวันฝนโปรย หลังจากกระแสข่าวความขัดแย้งค่อยๆ จางลงไปแล้ว ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดห้องทำงานที่วังบางขุนพรหม ให้ GM เข้าไปนั่งคุยอย่างเจาะลึก

“ช่วงนี้พวกประเทศใหญ่ๆ ดำเนินนโยบายการเงินแบบแปลกๆ ก็เลยมีคนเสนอให้เรา ปรับปรุงกรอบนโยบายการเงินแบบแปลกๆ แบบนั้นบ้าง เราเองก็ไม่หยุดนิ่ง เราศึกษาอยู่ว่ามีอะไรที่สามารถปรับปรุงได้อีก”

GM: ในช่วงเวลาที่ท่านมารับตำแหน่งได้เกือบ 3 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของการทำงานเป็นผู้ว่าการหรือเปล่า เพราะภายนอกประเทศและภายในประเทศของเรา มีปัญหาที่ปะทุขึ้นมาพร้อมๆ กัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ดร. ประสาร : พูดว่ายากที่สุดอย่างนั้นคงไม่ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของการทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากเรามีความรับผิดชอบอยู่ ก็หนีไม่พ้นหรอกที่ต้องเจอกับความเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งฝ่ายการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะไปบอกว่าช่วงนี้ยากลำบากที่สุดก็คงไม่ได้ เพราะแต่ละยุคแต่ละสมัยมีประเด็นของมันอยู่นะ ถ้าดูในเชิงเปรียบเทียบ เศรษฐกิจในประเทศเราตอนนี้ยังถือว่าดีกว่าช่วงหลังปี พ.ศ. 2540 ค่อนข้างเยอะ ช่วงนั้นเรามีปัญหาเยอะ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลบัญชีระหว่างประเทศ ดุลการคลังก็ขาดดุล ระบบสถาบันการเงินก็อ่อนแอ เทียบกับยุคนั้น ผมว่าเราในวันนี้แข็งแกร่งขึ้นมาเยอะแล้ว ส่วนด้านต่างประเทศก็แตกต่างกันอีก คือในยุคนี้ ตั้งแต่หลังจากปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ที่เกิดวิกฤติใหญ่ในอเมริกา แถมทวีปยุโรปยังแก้ปัญหากันไม่ตก แถมดูเหมือนว่าเครื่องไม้เครื่องมือเขาก็กำลังจะหมด ทำให้พวกเขาต้องดำเนินนโยบายการเงินที่สุดขั้วไปเลย เป็นนโยบายแปลก-ประหลาดที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน และมันก็สร้างปัญหาให้กับทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ถ้าจะนับตรงจุดนี้ ผมว่ามันเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่จะไปบอกว่านี่เป็นความยากลำบากที่สุด หนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่าท่านผู้ว่าการฯ คนก่อนๆ คงพูดแบบนั้นไม่ได้

GM: ความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศตอนนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในขณะที่เกิดปัญหาในอีกหลายๆ ประเทศรอบๆ บ้านเรา

ดร. ประสาร : เป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปในหลายๆ อย่าง ปี 2540 ตอนนั้นถือเป็นบทเรียนใหญ่ของประเทศไทย หลายฝ่ายถูกกระทบกระเทือนทั้งภาครัฐและเอกชน พวกเราเอาบทเรียนนั้นมาปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะภาคเอกชนนี่แก้ไขกันไปเยอะ สมัยก่อนเราต่างก็คิดว่าก่อหนี้ได้โดยไม่ต้องระมัดระวัง แต่พอมาถึงตอนนี้ เอกชนมีความระมัดระวังสูงขึ้น ภาครัฐก็มีความรัดกุมมากขึ้น มีการกำกับดูแลการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลพวงจากความผิดพลาดหลังปี 2540 ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องปฏิรูปพวกนี้ต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะโลกเราไม่หยุดนิ่ง พวกมาตรการหรือเครื่องมือต่างๆ หลังจากนำมาใช้แล้ว เราก็พบจุดอ่อนที่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นไปอีกได้ ในแง่นโยบายการเงิน หลังปี 2540 เราปรับแก้และใช้ระบบ Flexible Inflation Targeting มาหลายปี ซึ่งเป็นระบบที่มีความโปร่งใส สามารถส่งผลให้ฝ่ายการเงินสามารถคาดการณ์เงินเฟ้อได้ด้วยความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่ง 10 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาวิเคราะห์ต่างๆ เศรษฐกิจของเรามีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไป พอมาถึงช่วงนี้ พวกประเทศใหญ่ๆ ดำเนินนโยบายการเงินแบบแปลกๆ ก็เลยมีคนเสนอให้เราปรับปรุงกรอบนโยบายการเงินแบบแปลกๆ แบบนั้นบ้าง เราเองก็ไม่หยุดนิ่ง เราศึกษาอยู่ว่ามีอะไรที่สามารถปรับปรุงได้อีก ระยะหลัง ผมเห็นว่ามีแนวโน้มที่นักเศรษฐศาสตร์จะมอบภารกิจให้กับนโยบายการเงินค่อนข้างมากขึ้น นอกจากจะต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้อแล้ว ยังถูกคาดหวังให้ไปช่วยดูแลเรื่องเสถียรภาพในระบบการเงินด้วย เช่น หนี้ภาคครัวเรือน การขยายตัวของสินเชื่อ ทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่ธนาคารกลางของทุกประเทศต้องศึกษาดู

ส่วนในแง่สถาบันการเงิน หลังวิกฤติครั้งใหญ่ในอเมริกาและยุโรป เขาคิดกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ออกมา QE นี่ก็เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่จบ ผมมองว่านั่นเป็นความตั้งใจดี อยากจะปรับปรุงปริมาณกับคุณภาพเงิน อยากทำเรื่องสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ อยากทำเรื่องของสถาบันขนาดใหญ่ พอออกมาคนก็เห็นด้วยกันเยอะ แต่มันซับซ้อนเหลือเกิน แล้วกฎเกณฑ์พวกนี้มีประสิทธิผลแค่ไหน อย่างไร ก็ยังไม่ชัดเจน ประกอบกับกฎเกณฑ์พวกนี้เหมาะสำหรับพวกประเทศทางยุโรป อเมริกาเท่านั้นหรือเปล่า ผมยังไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับคนทางเอเชียหรือไม่ ยกตัวอย่างเรื่องกฎเกณฑ์การรักษาสภาพคล่อง เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าความจริงแล้ว ธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชีย มีระดับสภาพคล่องที่ดีกว่าทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกาเยอะ เพราะส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์ของพวกเรา รับเงินฝากจากลูกค้ารายย่อย จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเวลาที่โดนถอนที ถอนไปเป็นกอบเป็นกำ เทียบกับธนาคารของตะวันตก พวกเขาใช้วิธีออกตราสารทางการเงินในระบบการเงิน พอหายไปที มันหายไป ก้อนใหญ่ๆ แบบนี้ก็เกิดเป็นข้อสังเกตขึ้นมาว่า QE ที่ใช้แก้ปัญหาทางยุโรป จะเอามาใช้แก้ปัญหาทางฝั่งเอเชียได้ไหม โจทย์พวกนี้ยังไม่นิ่ง มีวิวัฒนาการตามสภาพความเป็นจริงอยู่เรื่อยๆ เรานิ่งนอนใจไม่ได้ แม้ว่า 15 ปีที่ผ่านมา อะไรๆ ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องให้ปรับปรุงแก้ไขอยู่เรื่อยๆ

GM: วิธีการแปลกๆ ที่ท่านกล่าวถึง อย่าง QE แท้ที่จริงแล้ว มันถูกต้องตามหลักวิชาการแค่ไหน

ดร. ประสาร : ประเด็นมันอยู่ที่ทางเลือกของพวกเขามากกว่า เขามีทางเลือกเหลือน้อย เราต้องดูถึงความเป็นมาของปัญหานี้ ว่ามันเริ่มตั้งแต่ปี 2008 เกิดวิกฤติสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในอเมริกากลาง แล้วลุกลามถึงยุโรปด้วย สาเหตุเพราะเขาก่อหนี้กันมาเยอะ อาจถูกถล่มด้วยตลาดอนุพันธ์ด้วย ครั้งกระโน้นมีความจำเป็นที่ทางการอเมริกาต้องเข้าช่วยเหลือระบบสถาบันการเงิน เพราะถ้าไม่ช่วย ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบจะล่ม แต่พอทำแบบนั้น ก็กลายเป็นว่าหนี้สาธารณะของอเมริกา ซึ่งก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ระดับอยู่ที่ประมาณ 40% ของจีดีพี พอหลังเข้าไปช่วย ก็กระโดดไป 80% ของจีดีพี พอเป็นแบบนี้ก็เรียกว่าหนี้สาธารณะชนเพดาน

ตามปกติแล้ว พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เครื่องมือที่ใช้ได้ตรงที่สุด คือนโยบายการคลัง แต่อย่างในอเมริกา นโยบายการคลังหายไปแล้ว เพราะหนี้สาธารณะมันชนหมด เครื่องมือเขาหมดแล้ว ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินของเขาก็มีส่วนเข้ามาช่วยได้ด้วย โดยการลดดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือศูนย์แล้ว เขาไม่สามารถลดลงไปได้อีก เครื่องมือการเงินก็หมดอีก แต่ทีนี้เศรษฐกิจเขาก็ยังไม่ฟื้น ผลการศึกษาพบว่า ถ้าไม่ทำอะไรทางด้านนโยบายการเงิน เศรษฐกิจก็อาจล่มสลายเหมือนกับปี ค.ศ. 1932 ที่เกิดเศรษฐกิจฝืดเคืองครั้งใหญ่ หรือเรียกว่า The Great Depression คือในยุคนั้น ธนาคารกลางใช้วิธีไม่เข้ามาช่วยเรื่องสภาพคล่อง แต่กลับทำในทิศทางตรงข้าม คือไปหดปริมาณเงินด้วยซ้ำ จากนั้นก็เลยล่ม พอมาคราวนี้ เขาเลยพลิกกลับ เมื่อดอกเบี้ยเป็นศูนย์แล้ว จะทำให้ต่ำกว่านั้นได้อย่างไร คือมันต้องทำให้ติดลบนั่นเอง วิธีทำให้ติดลบ คือส่วนดอกเบี้ยระยะยาวที่ปกติมันจะสูงกว่าดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่แล้ว ธนาคารกลางก็ปั๊มเงินออกมา แล้วซื้อพันธบัตรระยะยาว 5-10 ปีให้ลงมา ให้ดอกเบี้ยต่ำลงมาอีก

การทำอย่างนี้ เจตนาคือให้ธุรกิจสามารถกู้เงินระยะยาวได้ด้วยราคาที่ถูกมาก จึงชักจูงให้คนมาลงทุน เพื่อหวังว่าจะไปลดปัญหาการว่างงาน ลอจิกส์ที่เขาคิดคือแบบนี้ จึงทำเป็น QE ขึ้นมา QE1 QE2 QE3 ตอนที่ทำ QE1 ก็เพื่อช่วยระบบสถาบันการเงิน พอมาทำ QE2 และ QE3 ก็เพื่อต้องการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมาลงทุน จะลดการว่างงาน แต่ทำไปแล้วผลยังไม่เห็นชัด เพราะเรารู้ๆ กันอยู่ว่านักธุรกิจนี่ เวลาเขาตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุน มันยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าเรื่องดอกเบี้ย อย่างเช่น เขาลงทุนแล้วจะขายของได้หรือเปล่า

กำลังซื้อของลูกค้ามีไหม เรื่องนี้สำคัญมากกว่าว่าเขาจะได้เงินมาในต้นทุนที่ถูกแค่ไหน เพราะฉะนั้นเงินที่ปั๊มๆ ออกมาตอนนี้ก็

กลายเป็นสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ของเขาอาจจะปล่อยไม่ออก ก็มาค้างอยู่ที่ธนาคาร กลางของเขา ขณะเดียวกันผลตอบแทนก็ต่ำ ทำให้เงินส่วนหนึ่งกระจายมาที่ภูมิภาคเอเชีย เพราะแถวบ้านเราเป็นเศรษฐกิจที่ยังเติบโตปีละ 5% ผมถึงได้เรียกว่าพวกนี้เขาใช้นโยบายการเงินที่ค่อนข้างแปลก

GM: QE จะเป็นการบัญญัติความรู้ใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ได้เลยไหม

ดร. ประสาร : เนื่องจากเหตุการณ์มันยังไม่จบ เรายังไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร จบลงแล้วจะเป็นผู้ดีหรือผู้ร้าย คิดว่าอีกสัก 20 ปี พอเวลาผ่านไป ในอนาคตจะต้องมีคนเขียนถึงเรื่องนี้กันเยอะ แต่ปัจจุบัน เราไม่มีทางรู้หรอก ฝ่ายที่สนับสนุนการทำแบบนี้ ก็บอกว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าไม่ทำแบบนี้เศรษฐกิจอเมริกาคงซบเซาไปยาว เป็นผลร้ายกับเศรษฐกิจโลก การที่เขาทำแบบนี้เหมือนกับการพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทั้งโลกเข้าสู่ The Great Depression ส่วนฝ่ายที่ค่อนข้าง Skeptical หรือพวกที่ไม่ค่อยเห็นด้วย ก็บอกว่าผลร้ายกำลังจะตามมา โดยที่ว่าเวลานี้ เงินสหรัฐฯ ออกไปเยอะ ถึงวันหนึ่งเขาก็ต้องเอากลับคืน แต่การเอากลับคืน ดอกเบี้ยมันอาจเด้งขึ้น จะเกิดผลเสียหายค่อนข้างมาก หรืออาจเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ค่อนข้างมากในเศรษฐกิจของเขา เรากำลังยืนอยู่ใน ค.ศ. 2013 ยังไม่สามารถเห็นภาพครบ ผมว่าอีกสัก 5 ปีข้างหน้า จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ประเทศเราก็ได้รับผลข้างเคียงไปแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจเราแข็งแกร่ง แต่ก็มีเงินทุนไหลเข้า ซึ่งบางครั้งบางคราวก็ทำให้สกุลเงินของเราแข็งขึ้น จึงสร้างผลข้างเคียง ซึ่งผู้ส่งออกก็อาจกังวลว่าค่าเงินบาทแข็งเร็วไป ผู้ส่งออกก็ได้รับความกระทบกระเทือนเรื่องรายได้ที่ลดลงทันที

GM: ในที่สุดก็กลายมาเป็นประเด็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเห็นขัดแย้งกับกระทรวงการคลังใช่ไหม

ดร. ประสาร : คือเราวางกรอบนโยบายการเงินเอาไว้ ว่าจะใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือต้องดูแลระดับเงินเฟ้อ พยายามรักษาสมดุลให้เศรษฐกิจของเราเติบโตตามเสถียรภาพ เหล่านี้เป็นภาระหลักของดอกเบี้ยอยู่แล้ว ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เราตั้งใจว่าจะให้ยืดหยุ่น เพราะมันคือตัวคอยปรับสมดุลระหว่างภายในกับภายนอกประเทศ แล้วเราก็ปล่อยเงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างค่อนข้างเสรี แต่ก็ยังต้องอยู่ในขอบเขตอันหนึ่ง เพราะตามหลักการแล้ว ถ้าเงินทุนไหลเข้าเยอะ บาทก็จะแข็งขึ้นไป เราเชื่อว่าถ้ากลไกนี้มันทำงานตามปกติ พอแข็งขึ้นไปจุดหนึ่ง มันก็จะกระจุกตัว ถ้าเงินทุนไหลเข้าเยอะและเร็ว อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งเร็ว ทำให้กระทบกับสิ่งต่างๆ ได้ เราก็มีขอบเขตที่จะต้องคอยจับตาดูอยู่

ความเห็นแตกต่างที่เกิดขึ้นมา ก็มีคำถามมาว่าทำไมแบงก์ชาติไม่แทรกแซง ทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ดอกเบี้ยเราวางไว้เพื่อเป็นเครื่องมือดูแลเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจากปลายปีที่แล้ว เศรษฐกิจเราเติบโตได้เร็วมาก ในเวลาอย่างนี้ เราไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยเหมือนเป็นการไปเร่งมันอีก เป็นการส่งสัญญาณที่ผิด จะส่งผลข้างเคียงได้ และเราก็ไม่ต้องการไปเพิ่มอีกวัตถุประสงค์หนึ่งให้กับดอกเบี้ย การลดดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ Flow เงินทุนไหลเข้า เท่ากับไปเพิ่มวัตถุประสงค์ให้กับเครื่องมือเดิม ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวกับที่เราใช้อยู่แล้ว และที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์ 2 อย่างนี้วิ่งคนละทิศกัน เช่น เศรษฐกิจในประเทศเราร้อนแรงเพราะมีเงินทุนไหลเข้า ถ้าเรายิ่งไปลดดอกเบี้ย หน้าที่หลักที่จะคอยดูความร้อนแรง ก็จะทำงานเสียไปเลย นี่เป็นข้อพิจารณา ในขณะที่เราคิดว่าเครื่องมือ 3 อันนี้ใช้ประกอบกันได้ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และเงินทุนเคลื่อนย้าย เราถึงได้เสนอมาตรการอื่นๆ ไปที่กระทรวงการคลัง ถ้าเกิดเราไปถึงสถานการณ์จำเป็นจริงๆ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเกินขอบเขตไปแล้ว บางทีอาจสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ ได้อีกในการกำกับดูแลการไหลเข้า คืออย่าให้ไหลเข้าสะดวกนักก็เป็นไปได้ แต่เครื่องมือพวกนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ไปกระทบกระเทือนกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะในระยะยาว เราเป็นเศรษฐกิจที่ต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ กรอบความคิดของเราคือ จะมีการติดตามจับตาดู เลือกใช้เครื่องมือตามภารกิจให้เต็มที่ก่อน ถ้าเกินขอบเขตจึงจะยืมเครื่องมืออื่นมา จนถึงตอนนี้ ผมก็คิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ด้วยดี อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นพอประมาณ เราคอยเตือนภาคเอกชนอยู่บ่อยๆ ว่ายังมีความเสี่ยง มีความผันผวนได้นะ

GM: ท่านคิดว่ากระแสตอบรับของสื่อมวลชนและนักวิชาการทั่วไป มีความเชื่อมั่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือต่อกระทรวงการคลังมากกว่ากัน

ดร. ประสาร : เรื่องนี้สำคัญมาก เราทุกฝ่ายจะประมาทไม่ได้ ความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อทุกฝ่าย เพราะสิ่งที่พวกเราทำ เป็นเรื่องระดับนโยบาย ถ้าเกิดความไม่เชื่อมั่นขึ้นมา ก็จะไม่เกิดผลอย่างที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากความรู้ ความเข้าใจ เราอยากได้พื้นฐานของความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่ง นั่นคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การอธิบาย การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการเงินนั้นเข้าใจยาก ถ้าเป็นในระดับปัจเจกบุคคล เรื่องการเงินที่อาจจะเข้าใจง่ายหน่อย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น การใช้จ่ายของเขา รายรับ-รายจ่ายประจำวัน แต่พอพูดถึงนโยบายการเงิน เป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนหมู่มาก ตรงนั้นมีความซับซ้อนขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนคนเดียวก็มีความซับซ้อนอยู่แล้ว ยิ่งพอมารวมกันเป็นคนหมู่มากด้วยจะยิ่งซับซ้อนขึ้น เป็นเรื่องทางสังคม ยิ่งเราไปใช้นโยบายซึ่งมีข้อต่อหลายข้อต่อ ก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปใหญ่ เรื่องของการทำความเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้แต่เรื่องที่ผมอธิบายให้คุณฟังเมื่อสักครู่ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนเคลื่อนย้าย พวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจ ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นได้เลย

ถ้าเขาไม่เข้าใจเรา เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อยู่เป็นระยะๆ และต้องประกอบด้วยอย่างอื่น เราต้องทำงานในลักษณะที่เขาไว้ใจ ประมาทไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

GM: ตอนนี้ดูเหมือนว่าประชาชนจะสับสนกับข่าวความขัดแย้งฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องลดดอกเบี้ย อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ควรลดอย่างยิ่ง ความสับสนแบบนี้จะนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นไหม

ดร. ประสาร : เศรษฐกิจในระดับมหภาคเป็นเรื่องของจิตวิทยา แน่นอนว่ามีบางส่วนเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องเงินเฟ้อ ตามหลักวิชาบอกว่ามาจากอุปสงค์-อุปทาน อุปสงค์คือคนต้องการใช้จ่าย ต้องการซื้อสินค้าเยอะ มันก็มีแรงกดดันของเงินเฟ้อ ส่วนอุปทานก็คือด้านซัพพลาย เช่น ราคาน้ำมันขึ้น นี่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ คือใช้เส้นกราฟอุปสงค์-อุปทานมาอธิบายได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ นักเศรษฐศาสตร์กลับพบว่าในแต่ละสังคม นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์แบบนี้แล้ว ยังมีเรื่องของจิตวิทยาเข้ามามีส่วนอยู่มากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น การคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนทั่วไป นี่ก็ถือเป็นปัจจัยที่เข้ามาด้วย ถึงแม้ว่าระดับอุปสงค์-อุปทานจะอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าผู้คนส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าต่อไปของจะแพงขึ้น เพียงเท่านี้ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเขา พวกเขาอาจจะกลัวจึงรีบซื้อของเก็บกักตุน พ่อค้าก็รีบขึ้นราคา นี่เป็นผลทางจิตวิทยา ผมจึงกล่าวว่าความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกฝ่าย เวลาดูเรื่องเงินเฟ้อ จะเห็นว่าอุปสงค์-อุปทานเป็นปัจจัยที่เราทำความเข้าใจได้ แต่เมื่อมีปัจจัยที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง คือเรื่องของการคาดการณ์อนาคต จะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีความซับซ้อนมากขึ้น เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาในระบบเศรษฐกิจของเรา

อย่างเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนกัน อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน และปัจจัยพื้นฐานของประเทศนั้น แต่ในบางช่วงบางตอนจะมีการเก็งกำไรเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม เช่นช่วงที่ผ่านมา เราอาจบอกว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามการคาดการณ์ทุนบัญชีเดินสะพัดของเราเกินดุลเพียงเล็กน้อย แน่นอนเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัว ตามความเป็นจริง บาทไม่ควรแข็งเร็วอย่างนี้แล้วใช่ไหม แต่พอมีการเก็งกำไรเข้ามา มีการคาดการณ์ว่าบาทจะแข็ง จะเกิดพฤติกรรมของทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก มุ่งไปในทิศที่ทำให้บาทแข็ง เมื่อผู้ส่งออกคิดว่าบาทอาจจะแข็ง พอขายของแล้วได้เงินมา ก็รีบขายเงินออกไป เพราะกลัวว่าบาทแข็งก็จะได้เงินน้อยลง ในขณะที่ผู้นำเข้าพอคิดว่าบาทจะแข็ง ก็จะชะลอการซื้อ พฤติกรรมอย่างนี้ยิ่งทำให้บาทแข็งเร็ว สัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เราเห็นว่ากระแสซื้อดอลลาร์น้อยมาก ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือเพราะคนที่อยากซื้อดอลลาร์ มีความรู้สึกว่าบาทจะแข็ง ก็เลยไม่ซื้อ พอไม่ซื้อ ก็ไม่มี Counter Flow ทำให้บาทแข็งเร็วได้ ความซับซ้อนแบบนี้ที่เกี่ยวกับจิตวิทยา เป็นอันที่เราต้องให้ความใส่ใจในการทำความเข้าใจ ถ้าไม่มองประเด็นพวกนี้ ก็มองแต่อุปสงค์-อุปทานอย่างเดียว หรือมองแต่ Fundamental อย่างเดียว ก็จะไกลจากความเป็นจริงของตลาดได้

GM: ตอนนี้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าข้าวของแพงขึ้นทุกอย่าง แต่ทำไมตัวเลขเงินเฟ้อที่เสนอโดยหน่วยงานราชการต่างๆ กลับไม่สูงขึ้น

ดร. ประสาร : ต้องออกตัวนิดหนึ่งก่อน ว่าข้อมูลเศรษฐกิจบางด้าน แบงก์ชาติเราเก็บเอง แต่บางด้าน หน่วยอื่นเก็บมา แต่เราคือผู้นำมาใช้ กรณีของตัวเลขเงินเฟ้อ หรือ Consumer Price Index / CPI กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เก็บ แล้วเราเอามาใช้ กระทรวงพาณิชย์คือผู้ที่ออกสำรวจตลาด เขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ตะกร้าการอุปโภคบริโภค’ ในตะกร้าจะมีลิสต์สินค้าต่างๆ ที่เขาจะคอยเก็บข้อมูลราคา เช่น อาหารสด อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า การเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ โดยสินค้าแต่ละประเภทจะมีน้ำหนักถ่วงเอาไว้ ทุกๆ 2 สัปดาห์หรือถี่กว่านั้น เขาจะออกสำรวจราคา ผมรู้สึกว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าของแพง อาจจะเป็นเพราะเขาซื้อพวกอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก เช่น

ไปกินอาหารที่ร้าน จากจานละ 20 บาท กระโดดไป 25 บาท ความจริง 25 บาท ก็ขึ้นราคาเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่คำถามคือ ทำไมซีพีไอเพิ่มขึ้นทีละนิดๆ เท่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำหนักของสินค้าแต่ละประเภทนั่นเอง ทางกระทรวงพาณิชย์อาจจะให้น้ำหนักกับอาหารสด หรือสินค้าประเภทอื่นๆ มากกว่า

ปัจจัยที่อธิบายกันในช่วงระยะหลังๆ ที่อัตราเงินเฟ้อของเราไม่ค่อยกระโดดขึ้นไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่กระฉูดขึ้น ยืนอยู่แถวๆ 100-105 เหรียญต่อบาร์เรล ไม่เกินจากนั้นไป เพราะมีข่าวว่าไปพบแหล่งน้ำมันจำนวนมหึมาที่สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าต้องอาศัยเทคโนโลยีและใช้เวลาอีกนานกว่าจะไปขุดขึ้นมาใช้ ต้องไประเบิดหิน แต่พอมีข่าวแบบนี้ออกมา ก็ทำให้น้ำมันในตลาดโลกลดลงไป พอน้ำมันทรงตัวในระดับนี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่างๆ ไม่สูงขึ้นไปด้วย เพราะบาทแข็งด้วย อีกหนึ่งปัจจัยที่เราติดตามอย่างใกล้ชิด คือเรื่องเพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ทำไมตัวนี้ยังไม่ส่งผ่านไปถึงระดับเงินเฟ้อ ที่เราได้รับคำอธิบายบ้าง คือช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง โอกาสที่ภาคธุรกิจจะไปขึ้นราคาก็ทำไม่ได้อย่างสะดวก พวกเขาจึงต้องซับค่าแรงที่สูงขึ้นไว้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรที่ดีไปกว่าตัวเลขจากการสำรวจที่เป็นระบบของกระทรวงพาณิชย์ แต่เราอาจจะต้องไปวิเคราะห์ไส้ในของสูตรการคำนวณ ได้ว่าสินค้าตัวไหนขึ้น ตัวไหนไม่ขึ้น เราไปกินอาหารสำเร็จรูปตามร้าน รู้สึกว่าแพงขึ้น แต่ช่วงหลังๆ ธุรกิจมีการทำโปรโมชั่นเยอะ เช่นเสื้อผ้าลดราคา 50% กันทุกวัน พิซซ่า 1 แถม 1 แบบนี้ก็มีผลต่อตัวเลขด้วยเช่นกัน

GM: เรารู้สึกว่าข้าวของแพงขึ้น แต่ทำไมในที่สุด ดอกเบี้ยนโยบายก็ลดลง ครั้งล่าสุด 0.25%

ดร. ประสาร : เรื่องของดอกเบี้ยก็อย่างที่ผมบอกไป หน้าที่คือพยายามรักษาสมดุล เพราะตัวแปรหรือดัชนีพวกนี้จะเห็นได้ทันทีไม่ว่าจะลดหรือเพิ่ม จะมีบางคนได้ บางคนเสีย ถ้าลดดอกเบี้ย ฝ่ายผู้มีเงินออมก็จะไม่ชอบ ฝ่ายที่ชอบคือฝ่ายที่กำลังต้องการกู้ ดอกเบี้ยถ้าลดเยอะไปก็ไม่ดี เพราะมันจะไปกระตุ้นการใช้จ่าย ลดการออม บางทีทำให้เกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดหุ้น หน้าที่เราคือให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ มันจึงไม่ดีที่จะไปกระตุ้นเกินกว่าเหตุ การลดดอกเบี้ยเที่ยวนี้ เพราะตัวเลขไตรมาส 1 ออกมา

ในทางว่าเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัว เราจึงช่วยประคับประคอง การลดดอกเบี้ยเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคเอกชน ว่าให้เขามีความมั่นใจว่าเรายินดีผ่อนปรนให้ ถ้าเราเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจชะลอตัว

GM: ไม่ใช่ลดดอกเบี้ยเพราะได้รับแรงกดดันจากกระทรวงการคลัง

ดร. ประสาร : ไม่ใช่ครับ เราเน้นย้ำประเด็นนี้ตลอดมา สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน การมีเงินฝากที่ดอกเบี้ยลดลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทางแบงก์ชาติเราจะไม่อยู่ดีๆ ไปลดดอกเบี้ยซะเยอะแยะอย่างที่บางคนต้องการ โอว… มีเงินทุนไหลเข้าเยอะ เราลดดอกเบี้ยไปสัก 1% ดีไหม แบบนี้แบงก์ชาติเราไม่ทำ เพราะเรารู้ว่าอีกข้างหนึ่งของดอกเบี้ยคือเรื่องเงินออม ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการลงทุน ขณะเดียวกัน เราชะล่าใจเรื่องเงินเฟ้อไม่ได้ จริงอยู่ว่าตัวเลขอาจออกไปในทางว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ข้าวของอาจแพงขึ้น ถ้าไม่ระมัดระวัง เราเลยพยายามดูความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน สำหรับชาวบ้านทั่วไป เราก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตไปได้ คำว่า ‘การเติบโตของเศรษฐกิจ’ เมื่อทอนมาเป็นเรื่องชีวิตของชาวบ้าน มันก็คือการที่เรามีงานทำ เรามีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างเช่นถ้าพูดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโต 5% พอบวกกับเงินเฟ้อประมาณ 3% หมายความว่าผลิตภัณฑ์ประชาชาติ หรือผลผลิตของชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 8% นั่นคือเราทุกคนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากปีที่แล้วเพิ่มอีก 8% ปีที่แล้วเราทำได้ 100 ปีนี้เราก็ทำได้ 108 ตัวเลขตรงนี้ เมื่อเฉลี่ยลงไปเป็นกำไรของบริษัท โบนัสของพนักงาน เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ด้านหนึ่งเราพูดเรื่องเงินเฟ้อ อีกด้านหนึ่งพูดเรื่องการเติบโต ชีวิตของเราทุกคนก็กระทบถึงกันอย่างนี้ ด้านการเติบโตสัมพันธ์โดยตรงกับด้านรายได้ของเรา ด้านเงินเฟ้อสัมพันธ์โดยตรงกับด้านรายจ่ายของเรา หน้าที่ของแบงก์ชาติคือพยายามรักษาสมดุลสองด้านไว้ให้เราทุกคน คือต้องให้เศรษฐกิจโต รายได้ของเราเพิ่มสม่ำเสมอ เด็กนักศึกษาเรียนจบมาแล้วมีงานทำ คนที่มีงานทำอยู่แล้ว เฉลี่ยรายได้ก็ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า การดูด้านเงินเฟ้อหรือรายจ่าย คืออย่าให้เราต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเร็วจนเกินไป เวลานี้โดยรวมเศรษฐกิจเราโต 5% เงินเฟ้อทั่วไป 2% เศษๆ การว่างงานต่ำกว่า 0.5% ด้านดุลระหว่างประเทศก็มีความแข็งแกร่ง เงินทุนสำรองก็ค่อนข้างดี ดังนั้นสภาพเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศของเราถือว่าค่อนข้างดี หากเทียบกับในอดีตหลายๆ ปีก่อน

GM: ความสมดุลนั้นอยู่ตรงไหนครับ ท่านในฐานะของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาเรื่องความสมดุลอย่างไร จึงจะไม่ถูกตำหนิว่าคอนเซอร์เวทีฟเกินไป หรือแอ็กเกรสซีฟเกินไป

ดร. ประสาร : ต้องกลับมาเรื่องพื้นฐานความเข้าใจในหน้าที่ของตัวเรา สิ่งที่แบงก์ชาติต้องตระหนักอยู่เสมอ คืองานของเราไม่ได้ทำเฉพาะในปัจจุบัน แต่เรายังต้องดูแลอนาคตของประเทศในระยะยาวด้วย การพยายามอธิบายเรื่องของความยั่งยืนในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนอยู่พอสมควร ภารกิจของธนาคารกลางทุกประเทศ นอกจากดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตในวันนี้แล้ว ยังต้องดูแลเสถียรภาพ หมายถึงเสถียรภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือการดูความสมดุลของรายจ่าย ส่วนเสถียรภาพระยะยาวคือทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มีความยั่งยืน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณถามว่าพวกเราคอนเซอร์เวทีฟหรือเปล่า คุณเองต้องพยายามอ่านให้ออกว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังมีความเสี่ยงภัยอะไรบ้างไหม แล้วหนทางหรือวิธีป้องกันนั้นต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้สิ่งเลวร้ายที่เรากำลังสุ่มเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นมาจริงๆ เพราะถ้าสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นมันก็จะสายเกินแก้ บางครั้งอาจนำไปสู่วิกฤติอย่างที่เราเคยเห็นในอดีตของประเทศไทย หรืออย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก

ความลุ่มลึกอยู่นี่แหละ คือต้องอธิบายอนาคต และต้องอธิบายความเสี่ยง มีคำกล่าวหนึ่งซึ่งดีมาก กล่าวโดยผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง ในยุคทศวรรษ 1950s ชื่อว่า วิลเลียม แมคเชสนีย์ มาร์ติน เขาดำรงตำแหน่งอยู่ในสมัยของประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน เขากล่าวว่า งานของธนาคารกลางก็เปรียบเหมือนคนที่ไปงานปาร์ตี้ ในงานปาร์ตี้มีการดื่มน้ำพันช์กัน น้ำพันช์ก็คือน้ำผลไม้ที่เติมแอลกอฮอลล์ลงไป คนอื่นๆ ในงานก็ดื่มน้ำพันช์กันไปอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งถึงขีดหนึ่งซึ่งกำลังจะเมาเละเทะแล้ว หน้าที่ของธนาคารกลางก็คือต้องยกชามใส่น้ำพันช์ออกจากงาน นี่เป็นอุปมาอุปไมยที่ดีมาก คือเขาไปร่วมอยู่ในงานด้วยนั่นแหละ แต่เขาคือผู้ที่ต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ว่าขณะนั้นเพื่อนเมาหรือยัง ถ้าเขาอยู่นิ่งเฉยต่อไป ปล่อยให้เพื่อนในงานทั้งหมดเมา มันอาจนำไปสู่ความเสียหาย แต่เขาต้องมีความกล้าหาญมากพอที่จะเดินเข้าไปยกชามน้ำพันช์ออกจากงาน ซึ่งแน่นอนว่าต้องสร้างความไม่พอใจให้เพื่อนๆ คำกล่าวหาที่ต้องเจอแน่ๆ อยู่แล้วคือ “คุณคอนเซอร์เวทีฟเกินไปนะ พวกเรายังไม่เมาเลย” แต่ในใจของนายธนาคารกลางทุกคน ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว ว่าถ้าฉันปล่อยพวกคุณดื่มต่อไป ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง และเขาก็ต้องประเมินด้วยว่าในขณะที่ทุกคนยังพอมีสติอยู่ การยกชามน้ำพันช์ออกไป ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันค่อนข้างมาก และจะจัดการกับความขัดแย้งนั้นอย่างไร

เวลาที่เราเตือนคุณ หนี้ภาคครัวเรือนกำลังจะสูงเกินไปแล้วนะ! คุณก็อาจจะมองว่าเราคอนเซอร์เวทีฟเกินไป ใช่ไหม? แต่เราก็ต้องทำ เพราะเราคิดว่า นี่ก็ยังดีกว่าถูกกล่าวหาว่าเราไม่ทำหน้าที่ เราปล่อยปละละเลยจนเกิดวิกฤติ อย่างล่าสุดเกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนวิกฤติ 2008 ความจริงธนาคารกลางของเขาไปปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำนานมาก ดอกเบี้ยแท้จริงก็ติดลบอยู่หลายปี จนกระทั่งไปก่อให้เกิดฟองสบู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย พอมันแตกจึงเกิดผลเสียหายมหาศาล 5 ปีต่อมาก็ยังแก้ไม่ตก พอมองย้อนหลังไป ธนาคารกลางก็ถูกตำหนิรุนแรงมาก แบบนี้จะแย่ยิ่งกว่าถูกตำหนิว่าคอนเซอร์เวทีฟหรือเปล่าล่ะ

GM: สถานการณ์ในเมืองไทยตอนนี้ พวกเราดื่มน้ำพันช์กันไปถึงระดับไหนแล้ว

ดร. ประสาร : (หัวเราะ) เราก็ติดตามกันอยู่ และเราก็คอยเตือน เวลานี้อาจจะยังไม่กระจายทั้งระบบ แต่เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง เช่น หนี้ภาคครัวเรือนที่โตขึ้นเร็วมาก จากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่เคยอยู่ในระดับ 50% ของจีดีพี มาตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80% ของจีดีพี

GM: แต่ในเรื่องตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน คนในรัฐบาลนี้หลายคนบอกว่าเป็นการกู้ไปซื้อรถยนต์ เพื่อประโยชน์ด้านการทำงาน และกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น

ดร. ประสาร : ใช่ อันนั้นเป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายกันอยู่ เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจ เพราะสัญญาณพวกนี้โดยทั่วไปไม่ออกมาให้เห็นชัดเป็นขาวเป็นดำ มันจะผสมผสาน ผมเข้าใจว่าในประเทศอื่นที่เกิดวิกฤติหนี้ภาคครัวเรือนก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือมีการก่อหนี้ด้วย มีการซื้อสินทรัพย์ด้วย ปนๆ กันแบบนี้ อย่างในสหรัฐอเมริกา ก่อนปี 2008 ขาหนึ่งก็ก่อหนี้เยอะ อีกขาหนึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์ แต่พอเกิดฟองสบู่แตก กลายเป็นว่าสินทรัพย์พวกนี้ราคาก็หล่นลง เพราะกำลังซื้อของคนตกลงไปด้วย บ้านของคนทั่วไปในสหรัฐฯ หลังวิกฤติมา ราคาก็ตกลงมาเยอะ ของเราระยะหลังๆ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเอาไปซื้อรถ เพราะมีโครงการคืนภาษีรถคันแรก แต่ก็เริ่มมีข่าวคราวเรื่องการทิ้งสัญญาซื้อ เรื่องพวกนี้ประมาทไม่ได้ เป็นตัวอย่างของการติดตาม ผมไม่ได้ฟันธงว่าตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนตอนนี้ เป็นสัญญาณแบบไฟแดง ผมถือว่าเป็นไฟเหลืองในบางจุดอยู่

GM: ก็เพราะดอกเบี้ยต่ำ ฝากธนาคารไปก็ไม่ได้อะไร เราก็เหมือนถูกบีบให้ต้องซื้อข้าวของมาหาความสุขให้ตัวเองดีกว่า หรือต้องไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ดีกว่า

ดร. ประสาร : ก็ใช่ และผมอยากให้คุณยับยั้งชั่งใจบ้าง ถ้าคุณมีเงินเหลือ และอยากจะกระจายไปหาสินทรัพย์อื่นเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น นี่คือการยกตัวอย่างคนที่มีเงินออมอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเห็นว่าบ้านราคาขึ้น รถยนต์ก็ลดราคาพอดี แทนที่จะฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำ ไปซื้อสินทรัพย์พวกนี้มาเป็นประโยชน์ดีกว่า นี่เป็นตัวอย่างของคนที่มีเงินออมเหลือ อย่างนี้ไม่เป็นอะไรเท่าไหร่ แต่ที่เราเป็นห่วงคือคนที่เงินออมไม่พอที่จะซื้อบ้าน หรือซื้อรถ แล้วก็เริ่มกู้ ใจหนึ่งก็คิดว่า เพราะราคาสินทรัพย์พวกนี้จะขึ้นไปเรื่อยๆ ฉันก็รีบกู้เสียก่อนเลย แต่การทำของกลุ่มหลังนี้ต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่ากลุ่มแรก เพราะการกู้ เหตุการณ์ข้างหน้าไม่ได้เอื้อ เช่นความพลิกผันทางเศรษฐกิจอาจทำให้รายได้ของเขาเปลี่ยนแปลงไป การก่อหนี้อย่างนั้นต้องมีความระมัดระวัง เราเน้นให้ความสำคัญไปที่คนกู้ คือการก่อหนี้ แต่คนออมเราก็ห่วงเหมือนกัน เพราะดอกเบี้ยต่ำๆ อาจมีการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร บิดเบือนกลไกในการจัดสรรเงินออมในรูปแบบต่างๆ แต่ที่มักจะสร้างปัญหาคือพวกที่ก่อหนี้

GM: หรือว่าเป็นเพราะสถาบันการเงินสมัยนี้ มีความสามารถในการปล่อยเงินกู้เพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยกันอย่างมาก

ดร. ประสาร : เป็นการทำการตลาดที่สร้างฐานลูกค้ากว้างออกไป โดยกินไปถึงกลุ่มลูกค้าที่มีอำนาจซื้อในปัจจุบันยังไม่ถึง แล้วก็ไปใช้เงินกู้ เรียกว่าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคธุรกิจก็ไปติดต่อกับผู้ให้สินเชื่อเพื่อไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแบบผ่อนส่ง เป็นการพึ่งพากันระหว่างฝ่ายผู้ขายสินค้ากับฝ่ายผู้ให้สินเชื่อ เพื่อไปสร้างอำนาจซื้อให้ผู้บริโภค อันนี้ก็เป็นอีกข้อที่ควรระวัง มีแง่บวกคือทำให้ประชาชนรายเล็กรายน้อยเข้าถึงแหล่งเงิน แต่มีแง่ลบคือเป็นทางหนึ่งในการสร้างหนี้ ที่ถูกต้องคือเราต้องให้ความรู้ ความเข้าใจขนานกันไป ด้านหนึ่งคืออำนวยความสะดวกให้เข้าถึงแหล่งเงิน ด้านหนึ่งคือสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อหนี้ การบริหารเงินของตนเอง

แบงก์ชาติตอนนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก มีการตั้งหน่วยงานใหม่ชื่อว่า ศคง. เพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บริการทางการเงิน นอกจากรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ งานหลักอีกอย่างคือให้ความรู้กับประชาชน ให้รู้จักการบริหารเงิน ปีนี้กำลังจะมีแคมเปญ ‘ถ้ารู้จักแบ่ง ก็ไม่ต้องแบก’ สอนประชาชนว่าถ้ารู้จักแบ่งเงินออมของตนเองให้ถูกต้อง ต่อไปก็ไม่ต้องแบกภาระหนี้ ถ้าคนนี้ไปกู้เงินดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคโดยไม่รู้จักแบ่งเงินออม ท้ายที่สุดจะแบกภาระหนี้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นงานของแบงก์ชาติและสถาบันการเงินในตอนนี้ เราต้องทำขนานกันไป

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. เป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน โทรฯ สายด่วน 1213 และร้องเรียนออนไลน์ [email protected]

GM: เดี๋ยวนี้เดินไปซื้ออะไรที่ไหน ก็ต้องเห็นป้ายราคาแปะว่าผ่อน 0% 10 เดือน

ดร. ประสาร : (หัวเราะ) ดอกเบี้ยก็รวมอยู่ในราคาสินค้าอยู่แล้ว ในราคาสินค้า 1 หมื่นบาท ถ้าเราไปซื้อเงินสดเขา อาจลดเหลือ 9 พันบาทใช่ไหม ส่วน 1 พันนั่นแหละ ที่ดอกเบี้ย 0% ทุกคนในระบบเศรษฐกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยหมดเลย ไม่ว่าจะผ่อนหรือไม่ผ่อนก็ตาม มันเป็นเรื่องของระบบทุนนิยม คือต้องมีราคาของทุนแฝงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในรูปแบบต่างๆ กันไป

GM: แต่เงินทองเป็นสิ่งสมมุติไม่ใช่หรือครับ เราต้องการอะไรเราก็รูดบัตรซื้อมันมา ก็แค่นั้น

ดร. ประสาร : แน่นอนครับ ว่าเงินเป็นสิ่งสมมุติ มันช่วยอำนวยความสะดวกในการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ผมชอบใช้คำว่า ‘สมมุติ’ อยู่เสมอ แต่ถ้าคุณจะบอกว่า แบบนี้ทำไมแบงก์ชาติไม่พิมพ์เงินออกมาเยอะๆ คนไทยจะได้มั่งมี ผมก็จะใช้คำว่า ‘สมมุติ’ มาอธิบายคุณเช่นกัน คือเงินเป็นเรื่องสมมุติใช่ไหม แต่อย่าลืมว่าราคาก็เป็นเรื่องสมมุติเช่นกัน เช่น ของชิ้นหนึ่งราคา 1 พันบาท ถ้าเราไปเพิ่มปริมาณเงินให้ไปอยู่ในกระเป๋าของคนไทยทั้งประเทศ 2 เท่า ของชิ้นนั้นจะขึ้นราคาเป็น 2 พันบาทอยู่ดี ไม่มีใครรวยขึ้นได้เลยในสภาวะแบบนี้ ส่วนเรื่องการกู้เงิน หรือการรูดบัตรเครดิต คุณก็ต้องเข้าใจว่า บัตรพลาสติกนี้เป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ ตราบเท่าที่คุณเองต้องมีเงินอยู่ในบัญชีนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปรูดบัตรโดยที่ตัวเองไม่มีเงินในบัญชี จะไปบอกว่ามันเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีใครยอมรับคุณหรอก ไม่มีใครที่สร้างเงินขึ้นมาได้ คนที่สร้างได้คือแบงก์ชาติเท่านั้น

GM: ถ้าเราไม่พิมพ์เงินขึ้นมา แต่เรากู้เงินมาจำนวนมหาศาลเพื่อให้ประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ล่ะ

ดร. ประสาร : บางครั้งเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีคนเอาเงินมาให้ อย่างโครงการพิเศษต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นโครงการเงินกู้ให้คนเอาออกไปใช้ โดยหลักการแท้ที่จริงแล้ว เขาต้องการให้เราใช้ในเรื่องที่เกิดดอกผล เกิดผลผลิต เพื่อวันข้างหน้าเราจะชำระคืนได้ ไม่ใช่ได้เปล่า เพราะวันหน้าเราจะมีภาระหนี้ ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เหมือนกัน การกู้เงินจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตระยะสั้น ผมมักเปรียบเทียบให้เห็นแบบนี้นะ เหมือนการส่งนักกีฬาไปแข่งโอลิมปิก ทำได้ 2 อย่างคือ อย่างหนึ่งคือให้นักกีฬาโด๊ปยา ซึ่งระยะสั้นทำได้ดี พอฤทธิ์ยาหาย แรงก็ตก โอลิมปิกครั้งถัดไป เขาก็ไม่สามารถไปแข่งได้อีก แต่อีกวิธีหนึ่งคือให้นักกีฬาบำรุงสุขภาพ ฝึกฝนอยู่เสมอ อันหลังนี่จะยั่งยืนกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจก็คล้ายกัน วิธีแรกใช้แบบกระตุ้น ใช้การแจก มีอัตราการเติบโตจริงอยู่ แต่พอฤทธิ์ยาหาย อัตราการเติบโตก็หล่น กับอีกวิธีหนึ่งคือลงทุนแล้วมันยั่งยืน แบบหลังจะดีกว่าไหม

GM: ถ้ากู้เงินมา แล้วเกิดปัญหาเศรษฐกิจอะไรขึ้นมา มันคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าตอนที่ไอเอ็มเอฟเข้ามาช่วยเรา ในปี 2540 ใช่ไหม

ดร. ประสาร : มันก็ไม่อย่างนั้นเสมอไปนะ อย่าลืมว่าปี 2540 กว่าเราจะฟื้นมาได้ ก็เจ็บปวดกันเยอะนะ บางคนล่มสลายไปเลยก็มี บางคนก็เหมือนถูกตัดแขนตัดขาไปเลย ธุรกิจใหญ่ๆ ตระกูลที่มีชื่อเสียงในไทยหายไปจากวงการเยอะนะ ธนาคารพาณิชย์ที่สร้างกันมาก็หายไปหลายราย บริษัทเงินทุนหายไปเยอะ บางกิจการต้องขายกิจการออก เราต้องทำงานกันหนัก ปรับปรุงระบบงาน หลังจากนั้นทุกคนต้องทำงานหนัก ต้องปฏิรูป ถ้าไม่ทำ มันไม่มาเป็นอย่างทุกวันนี้ ช่วงนั้นอาจโชคดีตรงที่ว่า เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกค่อนข้างเติบโตดี ประเทศเราก็ได้อาศัยการค้าระหว่างประเทศ เราได้เกินดุลการค้า เอารายได้จากต่างประเทศมาชดใช้หนี้ต่างประเทศ มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าอัตโนมัติ หล่นลงไปแล้วจะขึ้นมา เหมือนยุโรปตอนนี้หล่นลงไป 5 ปีแล้ว ยังไม่ขึ้นมาเลย อเมริกาก็ยังไม่ขึ้นมาเหมือนกัน

GM: ตอนปี 2540 ท่านเห็นปัญหาก่อนแล้วหรือเปล่า

ดร. ประสาร : ตลาดหุ้นเริ่มลงก่อนหน้าปี 2540 แล้วครับ พวกเราเริ่มรู้ตัวก่อน แต่ก็ยังเสียหายกันขนาดนั้น ผมว่ามาตอนนี้คงไม่ร้ายแรงเท่า การลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน ยังมีความระมัดระวังกันอยู่ เราไม่ค่อยได้เห็นอะไรเหมือนสมัยโน้น บางปีมีการลงทุนในโรงงานเหล็ก 6 โรงพร้อมกันเลย มีการลงทุนในอสังหาฯ มากมาย มีการเก็งกำไรกันเยอะ ลงทุนในพวกปิโตรเคมี โทรคมนาคม อัตราส่วนหนี้ต่อทุนสูงมาก ถ้าเทียบกับตอนนี้เห็นชัดว่าอัตราส่วนน้อยกว่า ตอนสมัยนั้นก็มีการเตือนๆ กันอยู่ตลอด แต่เหมือนคนกำลังอยู่ในงานปาร์ตี้ดังคำกล่าวของแมคเชสนีย์นั่นแหละ ความจริงเริ่มมีสัญญาณเตือนบ้าง แต่ว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็น คิดว่าเรายังไปต่อได้ เพราะต่างประเทศให้ความเชื่อมั่น ให้เงินทุนมาใช้ ตอนนั้นมีคนพูดว่าเงินสำรองเราเยอะ ตั้ง 3.9 หมื่นล้าน แต่ดันลืมคิดไปว่าเรามีหนี้ต่างประเทศตั้งแสนกว่าล้าน

GM: ในตอนนั้น ตัวท่านเองได้มีความพยายามจะเอาโถน้ำพันช์ออกจากงานหรือเปล่า

ดร. ประสาร : ตอนปี 2539-2540 ผมอยู่ กลต. ตอนนั้นพวกเราก็พยายามดูแลกันอย่างเต็มที่ ปัญหาที่พบมากในตอนนั้นคือในตลาดหุ้นมีคนพยายามปั่นหุ้น เราเลยพยายามสร้างกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ เข้าใจว่าที่แบงก์ชาติก็เริ่มมีคนเห็นสัญญาณของปัญหาแล้ว แต่ตอนนั้นพวกเราอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ ยังไม่เคยเจออะไรแบบนั้นมาก่อน จนไปถึงจุดหนึ่งที่ปัญหาบีบรัดเข้ามา ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดคืออัตราแลกเปลี่ยน ถ้ายอมปล่อยให้เงินบาทอ่อน ก็กลัวว่าฐานะของพวกลูกค้าธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน จะกระทบกระเทือนรุนแรง เหมือนว่าพวกเรารู้แล้ว แต่พวกเราต้องการเวลาในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอีกสักหน่อย แต่ปัญหา

มาแรงและมาเร็วกว่าที่คาดเอาไว้

GM: คนส่วนใหญ่มองข้าราชการในธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นพวกเทคโนแครต เฝ้าดูอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่เข้าใจบรรยากาศในงานปาร์ตี้จริงๆ หรอก

ดร. ประสาร : ถ้าคุณเรียกเราว่าเทคโนแครตก็โอเค แบงก์ชาติเป็นเทคโนแครต คำนี้มาจาก 2 ส่วน คือ เทคนิค หมายถึงวิชาการ และ แครต หมายถึงผู้มีอำนาจ รวมแล้วคือผู้มีอำนาจที่อาศัยหลักวิชาในการทำงาน คนแบงก์ชาติจะถูกเรียกว่าเป็นเทคโนแครตนั่นถูกต้องแล้ว แต่ความท้าทายคือ พวกเราต้องอาศัยหลักวิชาที่เชื่อมโยงกับความเป็นจริง ไม่ใช่หลักวิชาที่อยู่บนหอคอยงาช้างอย่างที่คุณว่า นี่เป็นข้อเตือนใจ ว่าเดี๋ยวนี้กระบวนการในการทำงานนอกจากอาศัยข้อมูล สถิติ เราก็พยายามสร้างความเชื่อมโยงกับความเป็นจริงในระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด เช่น เรามีการออกพบปะนักธุรกิจทั่วประเทศเป็นประจำ นอกจากนี้ ในการจะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แทนที่จะตัดสินเฉพาะคนแบงก์ชาติอย่างเดียว เราก็เชิญผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาร่วมด้วย มีลักษณะเป็นคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน เราขอความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา เพราะไม่ใช่เราจะถูกทุกอย่างเสมอไป

GM: มีครั้งไหนที่ท่านตัดสินใจผิดไปบ้างไหม ในรอบเกือบ 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง

ดร. ประสาร : อย่างที่บอกคุณแล้ว เนื่องจากกระบวนการของเราที่ผ่านมา เป็นเรื่องของคณะกรรมการมากกว่าเป็นเรื่องของตัวผู้ว่าการฯ เพียงเดี่ยวๆ พวกเราใช้ความระมัดระวัง ไม่ตัดสินใจอะไรแบบสุดขั้ว หรือสวิงไปมาจนเกินไป จึงยังไม่มีเรื่องไหนที่เวลาผ่านมาแล้ว มันจะกลายเป็นเรื่องผิดพลาดร้ายแรง ไม่ว่าจะเรื่องขึ้นดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย เราก็ใช้ความระมัดระวังมาโดยตลอด ตอนผมเข้ามาช่วงแรกๆ ถ้าพูดถึงทิศทางของนโยบายการเงิน ตอนนั้นผมเข้ามาเพื่อปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก เราพยายามเอาดอกเบี้ยขึ้นจาก 1.25% ไต่ขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งถึง 3.25% ระหว่างนั้นก็มีเหตุการณ์มากมาย ทั้งการชุมนุมทางการเมือง สึนามิที่ญี่ปุ่น และน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลาง เราก็ค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยเอาไว้ โดยรวมก็สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี ส่วนการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เราก็พยายามเสริมความมั่นคงให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ จนตอนนี้ก็อยู่ในสถานะที่มีความแข็งแกร่งพอสมควร แล้วเราก็เริ่มหันมาเอาใจใส่ในเรื่องความเป็นธรรมกับประชาชน การคิดค่าธรรมเนียม การให้ข้อมูลที่เพียงพอ

GM: ตอนนี้มีกระแสข่าวมากมาย ว่าสถาบันการเงินเอารัดเอาเปรียบประชาชนในรูปแบบต่างๆ

ดร. ประสาร : เพราะเดี๋ยวนี้ระบบธนาคารพาณิชย์มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เราใช้หลักพื้นฐานให้เขามีการแข่งขันกันเพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า แต่การแข่งขันตอนนี้มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม แทนที่จะแข่งเฉพาะผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง เปลี่ยนเป็นแข่งขันกลุ่มผลิตภัณฑ์ เน็ตเวิร์กของการให้บริการ เราพยายามชี้ให้เขาเห็นถึงความสำคัญที่เขาต้องรักษาความเชื่อมั่นจากประชาชนในระยะยาว ให้เขามีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ชี้ให้เขาเห็นว่าจำเป็นต้องปรับตัวตามไปด้วย คุณจะเห็นว่ามีการปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ลงไปเรื่อยๆ เดือนหน้าก็จะลดอีกครั้งหนึ่ง เราไม่อยากเข้าไปแทรกแซงหรือออกกฎข้อบังคับที่เข้มงวด แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ ส่วนเรื่องการให้ข้อมูลที่เพียงพอและการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นธรรม เราร่วมมือกับ กลต. ออกกฎให้เขาปฏิบัติ เรื่องพวกนี้ต้องทำต่อเนื่องไป ผมคอยรับฟังอยู่ตลอด ว่าเราต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกไหม เรามีหน้าที่ดูแลประชาชน โดยเฉพาะรายเล็กรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรม ทั้งในแง่ของการให้เขาเข้าใจสิทธิที่จะมีทางเลือก สิทธิที่เขาจะได้รับข้อมูล สิทธิที่เขาจะได้รับราคาที่เป็นธรรม สิทธิที่เขาจะได้รับค่าชดเชยเพื่อทุเลาปัญหาถ้าได้รับผลกระทบกระเทือน เรื่องพวกนี้เราทำผ่าน ศคง.

GM: ความสามารถทางการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยกับในระดับโลกระดับภูมิภาคของเราสูงแค่ไหน

ดร. ประสาร : ถ้าเป็นขาเข้าก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เพราะเราค่อยๆ เปิดมาหลายปี แล้ว ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่งในการพัฒนาระบบงาน พัฒนาคน ขยายสาขา ขยายเครือข่าย การเปิดขาเข้า เราน่าจะแข่งขันกับเขาได้ ส่วนขาออกไปต่างประเทศ ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดอยู่พอสมควรในการแข่งขันนอกประเทศ การจะไปสร้างใหม่ต้องออกกำลังมาก ไม่ค่อยได้กำไร แรกๆ จะขาดทุนเพราะรายจ่ายค่อนข้างเยอะ อีกประการหนึ่งคือฐานทุนของเราไม่ค่อยสูง สายป่านไม่ยาวมาก เปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ของเพื่อนบ้านเรา ก็จะมีธนาคารสิงคโปร์ที่ใหญ่กว่ารายใหญ่สุดของเราอยู่ 3 เท่า มาเลเซียใหญ่กว่ารายใหญ่สุดของเราอยู่ 2 เท่า ทั้งคู่มีฐานทุนใหญ่กว่าของเราและออกนอกประเทศได้มากกว่าของเรา อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ยุคใหม่สามารถเลือกรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายที่เหมาะกับตัวเขาเอง เช่น บางธนาคารแทนที่จะไปตั้งสาขา ก็เลือกไปผูกพันธมิตร ใช้ต้นทุนที่ถูกกว่า สิ่งที่น่าภูมิใจคือ เขาปรับตัวโดยการเลือกยุทธศาสตร์ เขาไม่ได้นิ่งนอนใจ

ส่วนกรณีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ เป็นโจทย์ที่ท้าทายประเทศไทย ว่าเราจะสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจได้อย่างไร นอกจากจะต้องควบคุมประสิทธิภาพ เรายังต้องมีเรื่องการวิจัย มีตัวอย่างที่ผมมักจะยกขึ้นมาเปรียบเทียบอยู่เสมอ ถ้าถอยหลังไป 60 ปี ประเทศในภูมิภาคนี้อย่างจีน ไทย มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ใกล้ๆ กัน ประมาณ 10% ของรายได้ประชาชาติต่อหัวของคนอเมริกัน 60 ปีที่แล้วคนอเมริกัน 1 คนมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 10 เท่าของคนเหล่านี้ แต่ปัจจุบันของประเทศไทยมี 15% แล้ว ก็ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับอเมริกัน แต่มาเลเซียขึ้นไปเป็น 20% ไต้หวันกับเกาหลีขึ้นเป็น 70% ประเด็นคือเพราะอะไร ทำไมเกาหลีกับไต้หวันมี Value Added เขาลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างเกาหลีกับไต้หวัน เกาหลีจะเน้นแบรนด์ แต่ไต้หวันไม่เน้นแบรนด์ เน้นที่การผลิตมากกว่า ลองคิดดูว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจเราคล้ายๆ กัน คือ Factor-driven Economies เป็นเศรษฐกิจที่ผลักดันโดยอาศัยปัจจัยการผลิต เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ พอยุคต่อมา พวกเราก็เป็น Efficiency-driven Economies คือนอกจากใช้ปัจจัยการผลิตให้หมดไป เราก็ต้องพยายามใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นยุคของการแข่งขันกันเพิ่มประสิทธิภาพ พอมาถึงตอนนี้ เศรษฐกิจเคลื่อนไปสู่พวกนวัตกรรม เกาหลีกับไต้หวันไปสู่จุดนั้นแล้ว มาเลเซียกำลังเคลื่อนไป ไทยยังอยู่ที่ Efficiency-driven Economies และติดกับดักของพวกรายได้ปานกลาง หรือ Middle-income Trap ถ้าเรายังอยู่กับที่แบบนี้ต่อไป เราจะถูกพวกกัมพูชา เมียนมาร์ไล่หลัง ถ้าเราจะไปเป็นอินโนเวชั่นแบบเกาหลีและไต้หวันบ้าง เราก็ต้องเร่งทำแบรนดิ้ง ลอจิสติกส์ การวิจัยและพัฒนา

GM: จริงๆ เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติด้วยหรือเปล่า แบงก์ชาติมีเครื่องมืออะไรในการส่งเงินไปสู่การสร้างนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจแบบใหม่

ดร. ประสาร : เราทำได้แบบทางอ้อม คือเรื่องพวกนี้จะค่อนไปทางเศรษฐกิจจริง เวลาเราพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เราจะอุปมาอุปไมยเหมือนลูกศร 3 ลูก ลูกศรที่หนึ่ง คือ นโยบายการเงิน ลูกที่สอง คือ นโยบายการคลัง และลูกที่สาม คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจจริง นโยบายการเงินและการคลัง ที่เราเรียกว่าเป็นเศรษฐกิจมหภาค ผลมันจะเป็นระยะสั้นเสียเยอะ ผลระยะยาวคือปฏิรูปเศรษฐกิจจริงเสียมากกว่า ซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก พูดเรื่องเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา คมนาคม แน่นอนว่านโยบายการเงินอาจมีส่วนเอื้อได้บ้าง เช่นตัวอย่างเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าทิ้งให้เงินบาทอ่อนลงเรื่อยๆ สร้างความรู้สึกให้กับผู้ส่งออก ว่าเวลาไปแข่งขันนอกประเทศ ให้เขาใช้ราคาถูกเข้าว่า สบาย เขาก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะมาพัฒนาประสิทธิภาพของเขา หรือพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อไป

แข่งขันกับโลกภายนอก หรือในเรื่องนโยบายการเงิน ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือระบบชำระเงินที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ก็ลดค่าใช้จ่าย ช่วยเรื่องความมั่นคง เพิ่มประสิทธิภาพ ทำนองนี้มากกว่า

GM: นโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันภาคเศรษฐกิจจริง ตามเงินงบประมาณที่เขามี เขาได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากแบงก์ชาติแค่ไหน

ดร. ประสาร : ทุกฝ่ายน่าจะมีเป้าหมายร่วมไปด้วยกัน คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิด ว่าแบงก์ชาติอิสระไปจากรัฐบาลเสียทั้งหมด ความจริงคือไม่ใช่อย่างนั้น เรามีอิสระในบางส่วน และไม่ได้มีอิสระในบางส่วน กล่าวคือเราไม่ได้มีอิสระในแง่เป้าหมาย โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กฎหมายปี 2551 ก็เขียนบอกไว้ แต่จุดที่แบงก์ชาติมีอิสระตามที่กฎหมายกำหนดให้อิสรภาพไว้บ้าง ก็คืออิสระในการเลือกใช้เครื่องมือ และเวลาในการใช้เครื่องมือ เพราะถือว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเทคโนแครตอย่างที่คุณว่า เราคือผู้ใกล้ชิดกับตลาดการเงิน อีกประการหนึ่งคือการเลือกใช้เครื่องมือและเวลาที่จะใช้เครื่องมือพวกนี้ไปกระทบกับกลุ่มผลประโยชน์แตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงต้องการหน่วยงานที่มีอิสระและมีความเป็นกลางในการตัดสินใจ เช่นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน สมมุติว่ามีรัฐมนตรีบางท่านดูแลคลัง แน่นอนว่าบาทแข็งท่านชอบ แต่ท่านอาจมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บาทแข็งท่านก็เลยไม่ชอบ ชอบให้บาทอ่อนแทน ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เลยให้ธนาคารกลางคือผู้ดูแลว่าอะไรที่เหมาะสม อะไรที่สมดุลกับเศรษฐกิจ เรามักพูดกันในธนาคารกลางว่า ธนาคารกลางไม่ควรมีอิสระในเรื่องเป้าหมาย เป้าหมายเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนด แต่เรามีอิสระในการเลือกเครื่องมือ และเวลาที่ใช้เครื่องมือ

GM: แต่เรื่องค่าเงินบาทแข็งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเห็นแย้งกัน ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟู

มาให้กับแบงก์ชาติ ทำให้ดูเหมือนว่าเป้าหมายของสองหน่วยงานนี้ขัดกันเสมอๆ

ดร. ประสาร : ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำเหมือนกัน เป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งบางครั้งมีมากกว่าหนึ่งวัตถุประสงค์ แต่ละฝ่ายให้น้ำหนักกับวัตถุประสงค์แต่ละอันแตกต่างกัน ปัญหาแบบนี้ต้องอาศัยการปรึกษาหารือ การให้เหตุผล และท้ายที่สุดคือต้องยึดข้อกำหนดทางกฎหมาย ว่าฝ่ายใดมีขอบเขต มีอำนาจรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ฝ่ายที่ดูเรื่องนโยบายการคลัง เรื่องการลงทุน โดยทั่วไปจะเอียงไปในทางที่อยากให้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนธนาคารกลางวางน้ำหนักมาดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ในความเป็นจริงคือ ถ้าดูหลายๆ เรื่องรวมกัน พวกเรามีเรื่องที่ความเห็นสอดคล้องกันมากกว่านะครับ แต่มันไม่ได้ออกไปเป็นข่าวเท่านั้นเอง อีกประการคือเรื่องเวลาในการใช้ อย่างการจัดการกับค่าเงินบาทแข็ง ทางเราเห็นว่าดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง อาจต้องมีกฎในการมาจำกัดการไหลเข้า กระทรวงการคลังเป็นห่วงกฎพวกนี้ เพราะบางทีใช้แล้วทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่อยากมาลงทุนที่ประเทศไทย เขาก็มีเหตุผลของเขา เราต้องอธิบายว่าจะใช้พวกนี้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น ถ้าจะใช้ก็ต้องไปขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

GM: คือเท่าที่ติดตามข่าวกันมา ผู้ว่าการฯ มักจะมีความขัดแย้งกับนักการเมืองเสมอมา ตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย ในยุครัฐบาลเผด็จการ ท่านก็ต่อสู้และยืนหยัดอยู่ในงานราชการ ไม่ไปข้องแวะงานการเมืองเลย

ดร. ประสาร : เรื่องการเขียนบทความ จดหมายถึงอาจารย์ป๋วย เป็นความพยายามจะสื่อให้กับพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยทุกคน เพราะอาจารย์ป๋วยเป็นคนที่น่าเชื่อถือของพนักงาน ท่านได้แสดงหลักธรรมต่างๆ ที่น่ายกย่อง สิ่งที่เราทุกคนที่นี่พยายามทำ คือการเดินตามค่านิยมร่วมที่เรามีอยู่ คือ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน’ ค่านิยมนี้เป็นเข็มทิศให้เรา เป็นแนวปฏิบัติ ยืนตรง หมายถึง การยึดถือหลักการถูกต้อง อะไรคือผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ มองไกล หมายถึง การไม่คิดเฉพาะปัจจุบัน ต้องคิดเผื่ออนาคต เวลาทำนโยบายต่างๆ ผลในอนาคตจะเป็นอย่างไร สร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม และคำว่า ยื่นมือ หมายถึง การยอมรับผู้อื่น ฟังความเห็นคนอื่น ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือเท่าที่เราจะทำได้ อย่างล่าสุด กรรมการนโยบายการเงินประเมินเศรษฐกิจแล้วเห็นว่าตัวเลขไตรมาส 1 เริ่มชะลอตัว อาจมีความเสี่ยงเรื่องการเติบโต เราก็ยอมปรับดอกเบี้ยลง 0.25 เราติดดินที่จะรู้จักสดับฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร เรารู้ว่าผู้ส่งออกกำลังเดือดร้อน เราต้องหาทางปรับตัวเข้าหาเขา ส่วนเรื่องปัญหากับนักการเมือง ผมคิดว่าแต่ละประเทศก็จะมีปัญหาการเมืองของตัวเอง การเมืองคือการจัดสรรอำนาจ จัดสรรทรัพยากร จะดีไม่ดีขึ้นกับระดับและคุณภาพของการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศนั้น ถ้าคำถามของคุณตั้งใจจะถามว่าผมสนใจจะไปเป็นนักการเมืองในอนาคตหรือไม่ ผมก็ตอบเลยว่าไม่ ไม่ใช่ว่าไม่เคารพนับถือนักการเมือง เพราะในการเมืองก็มีคนดีๆ อยู่มากมายเหมือนกัน แต่เราทุกคนย่อมต้องเข้าใจขอบเขตของตัวเอง

อ่านบทความ ‘จดหมายจากผู้ว่าการ ถึงอาจารย์ป๋วย’ ในวารสาร ‘พระสยาม’ ได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย http://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Phrasiam/PagesIndexPhrasiam.aspx

GM: ในยุคสมัยที่เรามีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูง รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ท่านหนักใจแค่ไหนในฐานะที่ต้องดูแลรักษาสมบัติของชาติ

ดร. ประสาร : ถ้าคุณหมายถึงนโยบายประชานิยม ผมเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมไปบ่อยแล้วนะ โดยศัพท์ของมันไม่ได้เป็นคำมีความหมายน่ารังเกียจ ประชานิยมคือทำนโยบายที่เป็นที่นิยมของประชาชน แต่ที่เป็นปัญหาเพราะมันมีอีกคำหนึ่ง ในภาษาอังกฤษที่ว่า Populist Policy เป็นนโยบายที่ไปใช้ในประเทศต่างๆ แล้วมีบทเรียนให้เห็นว่ามันทำให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นข้อเตือนใจและสร้างความกังวล เรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยหรือละตินอเมริกาเท่านั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วทางการเมือง เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ก็เคยเจอ แต่ก็วิวัฒนาการตามระดับคุณภาพของการมีส่วนร่วมของประชาชน อังกฤษ อเมริกา สมัยก่อนมีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายประเภทที่แจก แต่พอถึงจุดหนึ่ง ประชาชนก็ปรับตัวได้ เอ…มันสร้างภาระให้เราเอง ต้องขึ้นภาษีกับเราเอง บางครั้งก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ เดือดร้อนกันไปเองหลังจากนั้น…ปรากฏว่านักการเมืองที่เสนอแนวคิดทางเลือก กลับเป็นที่นิยมมากขึ้นมาแทน มันก็ต้องมีวิวัฒนาการกันไป ของบ้านเราเอง ผมก็อยากให้ประชาชนได้ตื่นตัวและตั้งคำถาม เช่น นโยบายนั้นๆ เปรียบเทียบผลประโยชน์แล้วกับต้นทุนที่เสียไป มันคุ้มหรือไม่คุ้ม ผลต่อประเทศ มีความยั่งยืนอย่างไร มันมีความทั่วถึงไหม คนบางกลุ่มได้ แต่บางกลุ่มไม่ได้ ต้องดูความเป็นธรรมด้วย คนที่เสียภาษีรู้สึกอย่างไร ดูภาระการคลังว่าเป็นอย่างไร ความเคยชินของประชาชนจะเป็นอย่างไร

ถึงวันหนึ่ง เราจะได้เห็นชาวนาลุกขึ้นมาพูด พวกคุณมาแจกเงินซื้อข้าวในราคาแพงกว่าปกติแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าฉันจะได้ แต่ฉันคิดว่าประเทศชาติของฉันเสียหาย ถ้าถึงวันนั้น เราจะเห็นแสงสว่าง ประชาชนสามารถแยกออกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลเสียส่วนรวม รวยกระจุก เสียกระจาย เศรษฐกิจไม่ได้เดินหน้าไปได้ด้วยความเห็นแก่ตัวของทุกคน ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว แต่เราต้องเข้าใจเรื่อง Tragedy of the Commons ด้วย คือเมื่อทุกคนต่างอยากจะเอา อยากจะได้ แต่กลไกมีข้อจำกัด มันจะนำไปสู่ความเลวร้ายร่วมกันทั้งหมด เช่น การตัดไม้ทำลายป่า คนที่ไปตัดต้นไม้ก็ขายไม้ได้ แต่ระยะยาวทั้งสังคมมันเสียร่วมกันหมด หรือคนไปจับปลาในอ่าวไทยโดยใช้ตาข่ายที่ถี่มาก ตอนแรกๆ ได้กำไรดี แต่พอปลาเริ่มหายไป สุดท้ายก็ไม่มีใครได้อะไรเลย เศรษฐกิจจึงต้องมีเรื่องคุณธรรมเข้ามาร่วม มีเรื่องกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลเข้ามา เราถึงจะรักษาสังคมนี้ให้อยู่ร่วมกันได้ต่อไป

GM: พอท่านพูดคำว่า ‘คุณธรรม’ ปุ๊บ ท่านดูเหมือนว่าจะกลายเป็นพวกคอนเซอร์เวทีฟปั๊บเลย

ดร. ประสาร : (หัวเราะ) ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ สังคมจะอยู่ได้ต้องมี 3 เสาหลัก เสาแรกคือ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ข้อบังคับของสังคม ทำไมเราถึงต้องห้ามคนตัดไม้ทำลายป่า ทำไมเราต้องรักษาสิทธิของสาธารณะ สถานที่สาธารณะใครจะมายึดครองเอาไปทำโน่นทำนี่ไม่ได้ มาถึงจุดหนึ่ง เพียงแค่เสาแรกเสาเดียวก็ไม่พอ กฎหมายไปคุมทุกเรื่องไม่ได้ กฎหมายมีเยอะไปก็เป็นอุปสรรค เราจึงต้องมีเสาที่สอง คือ เรื่องกลไกตลาด การแข่งขันอย่างเสรี เปิดให้ทุกคนแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ถ้าทุกคนขับดันตัวเองไปตามความต้องการ ก็หวังว่าจะขับดันสังคมไปได้ด้วย แต่เสาที่สองนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ ก็คือ Tragedy of the Commons อย่างที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่ เพราะคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเห็นแต่ประโยชน์ระยะสั้น เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ในที่สุด เราจึงต้องมีเสาที่สาม คือ ระบบจริยธรรม คุณธรรม เป็นตัวควบคุมจิตใจเราทุกคนเอาไว้ สังคมจะราบรื่นได้ต้องอาศัย 3 เสาหลักนี้ทำงานประกอบกัน

GM: สมัยยังเป็นหนุ่มๆ ตอนท่านเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯยุค 2516 เวลานั้นท่านมองโลกในอนาคตไว้อย่างไร และทุกวันนี้

ท่านผิดหวังกับมันหรือเปล่า

ดร. ประสาร : บางอย่างเป็นไปอย่างที่หวัง และบางอย่างก็ยังไม่เป็น ตอนผมอยู่มหา’ลัย เป็นระบอบการเมืองที่ควบคุมโดยทหาร เราอยากเห็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง เราอยากเห็นสังคมเปิดขึ้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น พอเวลาผ่านไป 30-40 ปี บางอย่างก็เปิดมากขึ้น สังคมไทยเปิดมากขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือเรามีชนชั้นกลางมากขึ้น ธุรกิจภาคเอกชนเติบโตกันเร็ว แต่ความฝันที่เราอยากเห็นระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง มันยังไม่ได้อย่างที่เราคิด กลายเป็นรูปแบบที่มีจุดอ่อนในตัวมันเอง เช่น เป็นการเลือกตั้งที่อาศัยอิทธิพล อาศัยหลักประชานิยมเพื่อเข้าไปสร้างความนิยมในการเลือกตั้ง ในมิติทางเศรษฐกิจคือมีชนชั้นกลาง

มากขึ้น ธุรกิจภาคเอกชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่การเมืองไม่เป็นไปตามที่เราฝันไว้ สังคมมีปัญหาซับซ้อนรุนแรงกว่าแต่เก่า เป็นธรรมดาของแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่เราทุกคนจะต้องเผชิญความท้าทายที่สมน้ำสมเนื้อกับยุคสมัยของเรา จริงไหมล่ะ!?

“เวลาดูเรื่องเงินเฟ้อ จะเห็นว่าอุปสงค์-อุปทาน เป็นปัจจัยที่เราทำความเข้าใจได้ แต่เมื่อมีปัจจัยที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง คือเรื่องของการคาดการณ์อนาคต จะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีความซับซ้อนมากขึ้น เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาในระบบเศรษฐกิจของเรา”

“คำกล่าวหาที่ต้องเจอแน่ๆ อยู่แล้วคือ ‘คุณคอนเซอร์เวทีฟเกินไปนะ พวกเรายังไม่เมาเลย’ แต่ในใจของนายธนาคารกลางทุกคน

ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว ว่าถ้าฉันปล่อยพวกคุณดื่มต่อไป ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ