fbpx

‘2475 – 2562 ’87 ปีที่ประชาธิปไตยไทย กำลังดาวน์โหลด

บทสัมภาษณ์ ‘ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ’ กับคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของคนไทยผ่านมุมมองทางการเมืองในเชิงประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนระอุอยู่ในปัจจุบัน

Reason to Read

  • บทสัมภาษณ์ ‘ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ’ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาตอบคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของคนไทยผ่านมุมมองทางการเมืองในเชิงประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนระอุอยู่ในปัจจุบัน

ในยุคที่คนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และเราก็กำลังจะได้สัมผัสอินเทอร์เน็ตความแรงระดับ 5G ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าการรอคอย ‘ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ ของคนไทยนั้นยาวนาน น่าหงุดหงิดและบั่นทอนจิตใจมากแค่ไหน ก็ขอเทียบว่าเป็นการดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต (ความเร็วต่ำ) นี่แหละ

ถ้าเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 2475 เป็นการคลิกปุ่มดาวน์โหลดประชาธิปไตยแบบของไทย แสดงว่าตอนนี้คนไทยก็นั่งรอมา 87 ปีแล้ว แต่ประชาธิปไตยก็ยังดาวน์โหลดได้ไม่เต็มใบเสียที แล้วเราต้องรอไปอีกนานแค่ไหน? ระหว่างทางเราผ่านอะไรมาบ้าง แล้วในอนาคตต้องเจอกับอะไร?

GM Live พูดคุยกับ ‘ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ’ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาตอบคำถามดังกล่าวผ่านมุมมองทางการเมืองในเชิงประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนระอุในปัจจุบัน

GM Live : 24 มิถุนายนปีนี้ ครบรอบ 87 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 วันนี้คนไทยได้อะไรจากเหตุการณ์ประวัตศาสตร์ครั้งนั้น?

ประจักษ์ : พื้นฐานที่สุดเลยก็คือเรามีรัฐสภา มีประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นผลจากการปฏิวัติ 2475 ถ้าไม่มี 2475 เราก็ไม่มีประชาธิปไตยในขั้นพื้นฐาน การเมืองแบบที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้ง มีนักการเมืองแข่งขันกันมีระบบรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดเกิดขึ้นครั้งแรกจากการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

GM Live : จาก 2475 ถึง 2562 การเมืองไทยผ่านอะไรมาบ้างเพื่อคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ และคุณมีมุมมองอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เมืองไทยมี ‘ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ’ สักที 

ประจักษ์ : มันก็เป็นธรรมชาติของทุกสังคม เมื่อปฏิวัติแล้วไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจบลงหรือสังคมเปลี่ยนชั่วข้ามคืนเลย เช่น การปฏิวัติอเมริกา 1776 ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 มันไม่ได้หมายความว่าสังคมอเมริกา สังคมฝรั่งเศสสามารถเป็นประชาธิปไตยได้ในชั่วข้ามคืน มันก็ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา สังคมไทยก็เช่นกัน เราต้องมอง 2475 เป็นจุดเริ่มต้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่หลังจากนั้นประชาธิปไตยก็พัฒนาต่อเนื่องมา ในช่วงแรกก็ดำเนินไปได้ด้วยดี สุดท้ายก็เริ่มมีจุดระหกระเหิน

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการรัฐประหารปี 2490 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยไม่ค่อยรู้นัก คือมันเกิดความวุ่นวายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วจบด้วยการที่เราเป็นหนึ่งในประเทศผู้แพ้สงครามเพราะว่าเราไปร่วมกับญี่ปุ่น แต่โชคดีเรามีขบวนการเสรีไทยที่ไปร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างอังกฤษ สหรัฐฯ ก็ทำให้มีการเจรจาจนเราหลุดรอดจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม

แต่การเมืองในช่วงนั้นมันก็ยังมีการต่อสู้ขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ หลายฝ่าย กระทั่งในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองก็มีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความวุ่นวายในรัฐสภา แม้ว่ามีความพยายามจะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นมาโดยฝ่ายผู้นำขบวนการเสรีไทย ก็คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่สุดท้ายมันจบลงด้วยการที่ทหารเข้ามาทำการรัฐประหารในปี 2490 ตรงนั้นแหละนับเป็นจุดสิ้นสุดของระบบการเมืองของคณะราษฎรที่กินระยะเวลาสั้นๆ แค่ 15 ปีเท่านั้น ยังไม่ทันเปลี่ยนแปลงอะไรมากก็โดนล้มล้างอำนาจ ผู้นำคณะราษฎรก็หลุดรอดจากอำนาจไปหมดกระทั่งต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

หลังจากนั้นมันเริ่มวงจรใหม่ ผู้นำกลุ่มใหม่เข้ามายึดอำนาจก็คือผู้นำกองทัพซึ่งได้รับการศึกษาภายในประเทศเป็นหลัก ก็ไม่ยึดหลักและคุณค่าประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาคแล้ว ตอนนั้นมันเป็นเรื่องของมิติทางความมั่นคงเป็นหลัก แล้วก็เริ่มแพตเทิร์นของสิ่งที่เรียกว่า ‘วงจรอุบาทว์’ คือกองทัพเข้ามาแทรกแซงและคุมอำนาจทางการเมือง เริ่มสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ขึ้น จากจอมพล ป. พิบูลสงครม ในปี 2490 ต่อมาก็เป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร อันนี้ยาวนานประมาณ 25 ปีที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของกองทัพ

จาก 2490 มาถึง 2516 เราได้มีการเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็คือตอน 14 ตุลาฯ ที่นักศึกษาก่อตัวเป็นขบวนการแล้วก็ลุกขึ้นสู้จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือระบอบของจอมพลถนอมล้มลง เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมา ประชาชนก็มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ถ้า 2475 เป็นจุดเริ่มต้น 14 ตุลาฯ 2516 มันก็เหมือนเป็นเอปพิโซดสอง

หลังจากประชาธิปไตยถูกทำให้หยุดนิ่งเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมา การเมืองเริ่มหลุดจากมือของชนชั้นนำเพียงไม่กี่คนมาเป็นเรื่องของประชาชนทุกกลุ่ม แต่หลังจากนั้นมันก็ยังไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ก็ยังมีการต่อสู้กันระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำ ระหว่างนักการเมืองพลเรือนกับการเมืองที่เป็นข้าราชการประจำ อย่างกองทัพ วงจรอุบาทว์ ที่พอมีการเลือกตั้งแล้วก็มีความวุ่นวายแล้วกองทัพก็เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง มันก็ยังวนเวียนกลับมาอยู่เรื่อยๆ นับจาก 14 ตุลาฯ จนถึงปัจจุบัน

————————————————

คณะราษฎรเป็นผู้นำชาตินิยมเขามีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างแรงกล้า เป็นกลุ่มคนที่รักชาติแล้วทนเห็นประเทศไม่มีเอกราชที่สมบูรณ์ไม่ได้

————————————————

GM Live : เมื่อครั้งที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ 2475 มีการนำหลัก 6 ประการ ได้แก่ 1. หลักเอกราช 2. หลักความปลอดภัย 3. หลักเศรษฐกิจ 4. หลักเสมอภาค 5. หลักเสรีภาพ และ 6. หลักการศึกษา มาเป็นนโยบายในการพัฒนาชาติ แต่ทุกวันนี้บางมิติก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร?

ประจักษ์ : อันนี้ถือเป็นนโยบายหลักในการเข้ามาปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางนี้ ถ้าเราไปดูสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกๆ ตอนเข้ารับตำแหน่ง คำปฏิญาณตนก็คือจะยึดหลัก 6 ประการของคณะราษฎรในการบริหารประเทศ ในบางด้านมันก็สำเร็จลุล่วงอย่างเรื่องเอกราช ตอนนี้ก็ถือว่าเราเป็นประเทศที่มีเอกราชสมบูรณ์แล้ว

แต่ช่วงนั้นเป็นปัญหาใหญ่ แม้ว่าไทยจะไม่ตกเป็นอาณานิคมโดยตรงแต่ในทางปฏิบัติเราถือว่าเป็นกึ่งอาณานิคม หลายเรื่องเราตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้การบังคับควบคุมของมหาอำนาจต่างชาติ เพราะเขาถือว่าเรายังไม่มีระบบกฎหมายที่สมบูรณ์ ก็ต้องไปแก้ไขตรงนี้ รวมถึงแก้ไขสนธิสัญญา จนเราได้เอกราชมาอย่างสมบูรณ์ จริงๆ ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะสำเร็จ คณะราษฎรเป็นผู้นำชาตินิยม เขามีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างแรงกล้า เป็นกลุ่มคนที่รักชาติแล้วทนเห็นประเทศไม่มีเอกราชที่สมบูรณ์ไม่ได้ เราเสียเปรียบต่างชาติในหลายเรื่อง

เรื่องความปลอดภัยก็ต้องถือว่าดีขึ้นเยอะ ผมว่ามิติที่ยังมีปัญหามากคืออีกสี่เรื่องที่เหลือ เรื่องเศรษฐกิจแม้ว่าเราจะแก้ไขปัญหาความยากจนไปได้เยอะมาก ถ้านับจากปี 2475 ตอนนี้ก็ต้องถือว่าคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นกว่ายุคนั้นเยอะ ความยากจนลดไปเยอะมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความเหลื่อมล้ำ เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังมีเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งนานวันยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นว่ามันรวยกระจุกจนกระจาย ความมั่งคั่งหรือผลพวงการพัฒนาเศรษฐกิจมันไปกระจุกตัวอยู่กับคนแค่ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าในแง่ความเหลื่อมล้ำอาจจะหนักกว่า 2475 ด้วยซ้ำ

เรื่องเสรีภาพก็ระหกระเหินโดยเฉพาะช่วงห้าหกปีที่ผ่านมานี้ สื่อก็โดนปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐได้อย่างเต็มที่ เรื่องเสมอภาคเป็นปัญหาใหญ่ ตอนนั้นคณะราษฎรต้องการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมในเชิงสถานะ อย่าลืมว่าแต่ก่อนคนไทยเป็นไพร่ทาส พอหลุดจากไพร่ทาสก็ยังไม่ได้เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเต็มขั้น คณะราษฎรต้องการแก้ไขปัญหาตรงนี้

เวลาพูดถึงความเสมอภาคคือเสมอภาคในแง่สถานะและศักดิ์ศรี ไม่ได้หมายความว่าทำให้ทุกคนมารวยจนเท่ากัน แต่หมายถึงว่าทุกคนควรมีความเสมอภาคในโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องการเข้าถึงโอกาสในการทำมาหากิน รัฐควรมีหน้าที่ในการอำนวยความเสมอภาคทางโอกาส ตรงนี้รวมถึงเสมอภาคในแง่การเป็นพลเมืองไทยภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน

สมมติมีกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ มันควรบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน มิตินี้ยังไม่เกิด เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป เช่น ถ้าคุณเป็นคนรวย คุณขับรถไปชนคนตายคดีไม่คืบหน้าไปไหนกระทั่งคุณพ้นผิดไปได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนจนทำอย่างเดียวกันกฎหมายฉบับเดียวกันบังคับใช้กับคนจนอย่างเข้มงวด เราเห็นเรื่องนี้เยอะมากในเรื่องความเสมอภาค

ส่วนเรื่องการศึกษาก็ดีขึ้นมาก คือคณะราษฎรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จริงๆ การศึกษามันมาขยายตัวหลังการปฏิวัติ 2475 ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก่อนหน้า 2475 การศึกษาเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย เฉพาะคนที่เกิดในครอบครัวชนชั้นสูงเท่านั้นถึงจะเข้าถึงการศึกษา ก่อน 2475 เรามีมหาวิทยาลัยแค่แห่งเดียว หลังจากนั้นถึงเกิดมหาวิทยาลัยขยายตัวขึ้นรวมถึงขยายไปยังต่างจังหวัดด้วย ตรงนี้ก็ถือว่าดีขึ้นทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น

แต่ปัญหาก็เหมือนเรื่องเศรษฐกิจ มันพัฒนาขึ้นในเชิงปริมาณ แต่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพของโรงเรียนอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ คุณภาพของการศึกษาไทยมันไม่เท่ากัน โรงเรียนดีๆ ก็มากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หมด

GM Live : จากหลัก 6 ประการที่คุณมองว่ายังแก้ไขไม่สำเร็จ รัฐบาลปัจจุบันควรแก้ไขข้อไหนอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะอะไร?

ประจักษ์ : ผมคิดว่าเรื่องความเสมอภาค เพราะมันเป็นบ่อเกิดที่นำไปสู่เรื่องอื่นๆ คือเราต้องเชื่อว่าคนเราเสมอภาคกันก่อนเพราะถ้าเราไม่เชื่อว่าคนเสมอภาคกันเราก็จะไม่คิดว่าทำไมเราต้องไปพัฒนาการศึกษา ไปทำให้การศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกันสำหรับทั้งเด็กต่างจังหวัดและเด็กในเมือง เราจะไม่รู้สึกว่าทำไมต้องทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนๆ กัน เราจะไม่ได้คิดถึงเรื่องการกระจายโอกาสให้กับทุกคน

เสมอภาคกับเสรีภาพจริงๆ มันโยงกัน ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องเสมอภาคเราจะรู้สึกหวงแหนเฉพาะสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ข้าพเจ้าจะคิดยังไงก็ได้ วิพากษ์วิจารณ์ยังไงก็ได้ แต่คนอื่นที่คิดต่างจากตัวเองเรากลับไม่พยายามไปปกป้องเสรีภาพของเขาเพราะเราเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ได้มีฐานะเท่าเทียมกับเราหรือต่ำกว่าเรา คือถ้าไม่เชื่อเรื่องคนเท่ากันแล้วมันลำบาก  ปัญหาอื่นๆ มันจะแก้ไขไม่ได้หรือเราไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปแก้ไข

————————————————

เรารู้แหละว่าตอนนี้คนยังไม่เสมอภาคแต่ความเสมอภาคคือเป้าหมายคือความฝันไม่ใช่มาบอกว่าให้ยอมรับสภาพเถอะคนมันก็เป็นอย่างนี้แหละ คุณจะมาเรียกร้องอะไรถ้าเป็นแบบนี้คือมันเป็นสังคมที่ไม่มีความฝัน

————————————————

GM Live : คิดอย่างไรกับวาทกรรม ‘คนไม่เท่ากัน’ ที่หลุดออกมาจากปาก ส.ส. กลางที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

ประจักษ์ : ตรงนี้ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะว่าจริงๆ เขามาจากการเลือกตั้ง แล้วคนที่เลือก ส.ส. มาก็คือประชาชนหาเช้ากินค่ำคนธรรมดาทั่วไป แล้วคนเหล่านั้นก็คาดหวังว่าจะให้ ส.ส. เป็นปากเสียงให้เขาและพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนดีขึ้น แต่กลายเป็นว่า ส.ส. คนนั้นเขาไม่เชื่อเรื่องความเสมอภาค ทีนี้มัน… เราคงคาดเดาได้ว่ากฎหมายที่จะออกมา นโยบายที่จะออกมา มันจะออกมาในทิศทางไหน ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องความเสมอภาคแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำมันเป็นเรื่องปกติผมว่าอันนี้มันก็เป็นเรื่องที่น่าตกใจ

แล้วผมคิดว่าจริงๆ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดด้วย สิ่งที่ ส.ส. ท่านนั้นพูดในสภาตัวอย่างที่เขายกเขาว่าคนแตกต่างกัน ความเสมอภาคกับความแตกต่างมันคนละเรื่อง คนต่างอยู่แล้วทั้งในแง่เพศสภาพ ผู้หญิงผู้ชาย เรื่องสีผิว เรื่องการนับถือศาสนา อันนี้แตกต่าง มนุษย์แตกต่างหลากหลายอยู่แล้ว

เวลาเราพูดเรื่องความเสมอภาคไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนมาเหมือนกันหรือให้ทุกคนมาจนเท่ากันหรือรวยเท่ากัน แต่ทำยังไงที่จะลดช่องว่างให้มันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พูดง่ายๆ เวลาเราบอกเราอยากได้สังคมที่มีความเสมอภาค เรารู้แหละว่าตอนนี้คนยังไม่เสมอภาค แต่ความเสมอภาคคือเป้าหมาย คือความฝัน ไม่ใช่มาบอกว่าให้ยอมรับสภาพเถอะ คนมันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันแตกต่างกัน รวยจนแตกต่างกัน คุณจะมาเรียกร้องอะไร ถ้าเป็นแบบนี้คือมันเป็นสังคมที่ไม่มีความฝันไง

GM Live : คุณคิดว่าหลัก 6 ประการเพียงพอสำหรับการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบันหรือไม่?

ประจักษ์ : ผมคิดว่ามันก็เป็นหลักที่ยึดไว้ได้เพราะมันเป็นหกมิติที่มันกว้างครอบคลุม จริงๆ ใครทำหกมิตินี้ได้สำเร็จผมคิดว่าคนก็นิยมชมชอบนะ ถ้าเกิดว่าคุณเป็นผู้นำหรือเป็นรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจดีได้ ทำให้คนมีความเสมอภาคกัน ทำให้คนรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตแล้วคนก็รู้สึกมีเสรีภาพในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนปราบปรามหรือถูกจับกุมโดยรัฐ แล้วก็เรื่องการศึกษา ถ้ามันเริ่มต้นด้วยความเสมอภาคทางการศึกษา เรื่องอื่นๆ ก็จะตามมา

ฉะนั้น หลักหกประการนี้ยึดไว้ได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันมีความซับซ้อนมากขึ้น สังคมปัจจุบันซับซ้อนกว่าสมัย 2475 เยอะ คนที่จะมานำพาประเทศยิ่งต้องเก่งกว่าสมัย 80 กว่าปีที่แล้วมหาศาล เพราะว่ายุคโลกาภิวัตน์ ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยี เราอยู่ตรงไหนในโลกนี้เราต้องรู้ก่อน แล้วเราจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ยังไง มันไม่ใช่เรื่องง่าย

GM Live : จากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีอะไรน่าสนใจและน่าพูดถึงบ้าง?

ประจักษ์ : จริงๆ ก็หลายเรื่อง แต่เรื่องที่น่าสนใจมากคือความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ซึ่งสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่สอนหนังสือมาก็รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แหละที่นักศึกษามีความตื่นตัวมากที่สุด ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเอง มีการพูดคุยกันเอง แชร์ข้อมูลกันเองโดยเราไม่ต้องไปกระตุ้นอะไร เราเห็นคนรุ่นใหม่ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์ ปกติคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เปอร์เซ็นต์การใช้สิทธิ์จะต่ำแค่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ทั้งประเทศคนไปใช้สิทธิ์กันประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์

คนรุ่นใหม่เมื่อก่อนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อหรือการเลือกตั้งเป็นเรื่องไกลตัว ไปใช้สิทธิ์แล้วยังไงมันก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ทัศนคติเหล่านี้มันเปลี่ยนไป เด็กก็มาคุยเรื่องการเลือกตั้งกันเยอะกลายเป็นหัวข้อยอดฮิตในโซเชียลมีเดีย

ผมคิดว่าอันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่น่าสนใจ ซึ่งผมคิดว่าหนึ่งก็ต้องขอบคุณสื่อใหม่ทั้งหลาย สื่อโซเชียลมันทำให้เขามีช่องทางการรับรู้เยอะมากขึ้น เมื่อก่อนข้อมูลข่าวสารมันถูกผูกขาดอยู่ในสื่อหลักเท่านั้น ถ้าคุณสนใจอยากจะตามอะไรคุณก็ต้องไปเปิดทีวีดูหรือไปฟังวิทยุหรือว่าไปอ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่คัลเจอร์ของคนรุ่นนี้แล้ว พอมีสื่อใหม่มันทำให้เขาติดตามข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น แล้วก็ทุกคนสามารถเป็นสื่อในตัวเองด้วย คือมันเป็นการสื่อสารสองทาง ผมว่ามันเข้ากับคนรุ่นใหม่

สองผมคิดว่ามันการเมืองไทยมันยืดเยื้อ ความขัดแย้งนี้ยืดเยื้อและวิกฤตและมันลงลึกมากจนกระทั่งว่าคุณไม่สนใจยังไงมันก็มากระทบกับตัวคุณ เพราะความขัดแย้งมันลงมาถึงระดับครอบครัวเพื่อนฝูง นักศึกษาหลายคนเริ่มจากจุดง่ายๆ คือเขาไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่เขาไม่สามารถคุยเรื่องการเมืองได้หรือพ่อแม่เขาทะเลาะกันเรื่องการเมือง คิดไปคนละทาง เช่นพ่อเชียร์เสื้อแดงแม่เชียร์เสื้อเหลือง หรือบางครอบครัวอาจจะสลับกัน มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นด้วยเรื่อยๆ จนมันต้องสนใจ

GM Live : ถ้าคุณเป็นนักการเมืองแล้วเจอกติกาที่ไม่เป็นธรรมคุณจะทำอย่างไร?

ประจักษ์ : ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมบางครั้งมันเลือกสนามที่เราจะเข้าไปแข่งขันต่อสู้ไม่ได้ สมมุติว่ามันไม่มีสนามอื่นเปิดให้เรา อันนี้มันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่เปิดขึ้นมาผมก็คงต้องลงแข่งขัน แต่ว่าในระหว่างที่แข่งขันเราก็ต้องบอกคนดูไปด้วยให้รับรู้ว่ากติกามันไม่เป็นธรรมยังไง เหมือนเราถูกบังคับให้ลงแข่งฟุตบอลในเกมที่เราก็รู้แหละว่ามันกรรมการเขาแอบเข้าข้างฝ่ายตรงข้าม แล้วก็สภาพแวดล้อมหลายอย่างก็ไม่เอื้อ กฎกติกาก็อาจจะไม่เป็นธรรม ก็คงลงแข่งแต่ว่าก็จะบอกให้คนดูให้คนเชียร์รู้ว่าความไม่เป็นธรรมมันอยู่ตรงจุดไหนบ้าง เพราะถ้าคนรู้อย่างน้อยมันมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในครั้งหน้า เช่นครั้งหน้าถ้าแข่งอีกขอเปลี่ยนกรรมการ ไม่เอากรรมการแบบนี้

————————————————

การเมืองมันไม่ใช่เรื่องของการบังคับแล้วมันเป็นเรื่องของการเจรจาหว่านล้อมมันต้องใช้ทักษะอีกชุดหนึ่งถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถปรับตัวได้ยังอยู่ในโหมดที่เป็นลุงตู่เป็นนายกฯ ที่มี คสช. มี ม.44 ก็จะลำบา

————————————————

GM Live : คุณคิดว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอย่างไร?

ประจักษ์ : จริงๆ น่าเห็นใจนะ ลำบาก เพราะว่าถ้าดูจากประวัติศาสตร์ของไทยส่วนใหญ่ผู้นำกองทัพจะเก่งในการขึ้นสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร อันนี้เป็นทักษะที่เชี่ยวชาญ ถนัด กองทัพมีสถิติที่ค่อนข้างดี ยึดอำนาจแล้วจะไม่ค่อยล้มเหลวจะสำเร็จมากกว่า แต่ทีนี้พอคุณพัฒนาแต่ทักษะตรงนี้คุณก็คุ้นชินกับการที่ว่าขึ้นมาสู่อำนาจเป็นนายกฯ เป็นผู้นำผ่านการยึดอำนาจมา พอยึดอำนาจเสร็จก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด ไม่ให้มีการเลือกตั้ง สภาก็แต่งตั้งคนของตัวเองมาทั้งหมด ครม. ก็แต่งตั้งลูกน้องตัวเองมาทั้งหมด อันนี้มันก็ง่ายเพราะว่ามันไม่มีฝ่ายค้านเลย ไม่มีการตรวจสอบเลย กระทั่งสื่อก็ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ไม่งั้นก็โดนปิด ฉะนั้น บริหารประเทศในช่วงที่ยังเป็นระบอบที่มาจากการรัฐประหารเต็มๆ มันง่ายกว่า ก็จะอยู่ในอำนาจกันได้หลายปีสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม อยู่กันคนละห้าปีสิบปี

แต่พอเข้าสู่โหมดที่จะต้องมาเลือกตั้งแล้วพยายามแปลงตัวเองจากการเป็นผู้นำรัฐประหารมาเป็นผู้นำเลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะล้มเหลว ยังไม่มีใครสำเร็จ พลเอกสุจินดา คราประยูร พอมาเป็นนายกจากการเลือกตั้งอยู่ได้ 47 วัน คนก็ไม่ยอมรับ คนก็ประท้วงต่อต้าน จอมพลถนอมก็เหมือนกัน พอชนะเลือกตั้งจอมพลถนอมก็กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบแล้วปรากฏว่าเป็นได้สองปี บริหารสภาไม่ได้เพราะมีฝ่ายค้านในสภา และในรัฐบาลก็มีหลายพรรคการเมือง ในพรรคตัวเองก็มีหลายกลุ่มหลายมุ้งก็ต่อรองตำแหน่งแย่งชิงกัน เวลาจะลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือผ่านร่างกฎหมาย พวก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองนี่แหละมาขอเงิน เพื่อแลกกับการยกมือให้ผ่านร่างกฎหมาย มาวิ่งเต้นต่อรองอะไรเยอะแยะไปหมดจนจอมพลถนอมแกปวดหัว แกเป็นแม่ทัพนายพล คุ้นชินกับการออกคำสั่งมาทั้งชีวิต ตอนนี้สั่งใครไม่ได้

สุดท้ายบริหารได้สองปีแกเลยยึดอำนาจตัวเองเรียกว่าการรัฐประหารตนเอง มีในประเทศไทยเท่านั้น คือตัวเองเป็นนายกฯ อยู่แล้วนะ แล้วก็ยึดอำนาจจากตนเองก็คืนกลับไปเป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารอีกครั้งเพราะมันคุมอะไรได้เบ็ดเสร็จกว่า

ฉะนั้นถ้าเราดูบทเรียนประวัติศาสตร์ตรงนี้ก็คือพลเอกประยุทธ์ก็เจอโจทย์ที่ยากนะ ไม่ง่าย แกจะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไหม แกมีทักษะไหมในการที่จะประสานเจรจาต่อรอง ตอนนี้แกจะไปชี้นิ้วสั่งใครเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้วนะเพราะรัฐบาลเองก็มีตั้ง 19 พรรคมารวมกันแล้ว แล้วแต่ละพรรคก็เรียกร้องตำแหน่งต่างๆ เรื่องของการเมืองมันไม่ใช่เรื่องของการบังคับแล้วมันเป็นเรื่องของการเจรจาหว่านล้อม มันต้องใช้ทักษะอีกชุดหนึ่ง ในสภาเองตอนนี้ก็จะมีฝ่ายค้านที่มาตรวจสอบและสังคมทั่วไปตอนนี้ก็ทุกคนก็ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น สื่อก็มีเสรีภาพมากขึ้น ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถปรับตัวได้ ยังอยู่ในโหมดที่เป็นลุงตู่ เป็นนายกฯ ที่มีคสช. มี ม.44 มันก็จะลำบาก เพราะต่อไปนี้มันก็จะไม่มี ม.44 ไม่มีคสช. แล้ว

GM Live : อะไรคือสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในการเป็นรัฐบาลผสม?

ประจักษ์ : ความไร้เสถียรภาพ คือในประวัติศาสตร์ไทยแค่อยู่ครบวาระสี่ปีก็เป็นเรื่องยากแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มาถึงปัจจุบันเราเพิ่งเคยมีรัฐบาลอยู่ครบวาระแค่ชุดเดียว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเป็นรัฐบาลผสม รัฐบาลผสมหลายพรรคความขัดแย้งมันเยอะ คือในรัฐบาลด้วยกันน่ะขัดแย้ง ไม่ได้ล่มเพราะฝ่ายค้านนะ ล่มเพราะว่าเจรจาต่อรองผลประโยชน์ แบ่งเค้กกันไม่ลงตัวในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเอง สุดท้ายก็ต้องยุบสภาหรือลาออก อายุขัยเฉลี่ยก็คือประมาณแค่หนึ่งปีครึ่งเท่านั้น ของรัฐบาลผสม

GM Live : เรามีแนวโน้มที่จะเป็นรัฐล้มเหลวเหมือนเวเนซุเอลาไหม?

ประจักษ์ : ภาวนาว่าจะไม่ถึงขั้นนั้น เวเนซุเอลานี่คือหนักเลยนะ ประชาชนต้องไปขโมยของในซูเปอร์มาร์เกตมากินเพราะว่าอดอยาก รัฐล้มเหลวหมายถึงว่าประเทศนั้นแทบจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐหลงเหลืออยู่แล้ว มันไม่ฟังก์ชันแล้ว ฉะนั้น อาชญากรรมก็จะพุ่งสูง ความลำบากยากแค้นทางเศรษฐกิจก็กระจายไปทุกหย่อมหญ้า คือรัฐไม่สามารถทำหน้าที่แม้แต่อำนวยความปลอดภัยให้กับประชาชนหรืออำนวยปัจจัยสี่ให้กับพลเมืองของตัวเองได้อีกต่อไป เราคงยังไปไม่ถึงในจุดนั้น ภาวนานะ คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นอาจจะเป็น ‘รัฐบาลล้มเหลว’ มากกว่าไม่ใช่รัฐล้มเหลว เนื่องจากประกอบกันด้วยพรรคเยอะมากเป็นประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและของโลก 19 พรรคไม่เคยมีมาก่อน ของไทยเองอย่างมากที่สุดเราเคยมีรัฐบาลผสม 9 พรรคก็เยอะแล้ว 19 พรรคจะบริหารกันยังไง ความขัดแย้งมันก็จะสูง

GM Live : ทำนายซีนเนริโอทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไว้ว่าอย่างไร

ประจักษ์ : มีคนบอกว่า“Everything is possible in Thai politics”ก็คือทุกอย่างเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้ในการเมืองไทย อะไรที่ทำนายไว้มักจะผิด คนทำนายมีแนวโน้มที่จะหน้าแตกมากกว่าที่จะทำนายถูก เช่นปี 2557 ก่อนเดือนพฤษภาแค่ไม่กี่วันก็รัฐประหารแล้ว ทุกคนก็ยังบอกว่าไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น สุดท้ายก็มีการรัฐประหาร งั้นครั้งนี้จะให้ทำนายคงยาก คือถ้าดูจากประวัติศาสตร์มันก็มีแค่สามสี่ซีนเนริโอนั่นแหละ มันไม่พ้นไปจากนี้

หนึ่งก็คือรัฐบาลไปไม่รอด ขัดแย้งกันสูงก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ สองก็คือตัวนายกไม่ยุบสภาแต่ลาออกเฉยๆ สมมติพลเอกประยุทธ์รู้สึกว่าไปไม่รอดแล้ว ลาออกแต่ไม่ยุบสภาก็หมายความว่าสภายังคงอยู่ สภาก็แค่โหวตกันใหม่ สรรหาคนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกประยุทธ์ ซีนเนริโอที่สามก็คือแบบ พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็คือสุดท้ายบริหารไปจุดหนึ่งประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรมหรือไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลก็อาจจะมีการประท้วงต่อต้านแบบพฤษภาทมิฬปี 2535 สุดท้ายซีนเนริโอที่สี่ก็คือเป็นแบบที่ผมยกตัวอย่างตอน จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตนเอง คือพลเอกประยุทธ์รัฐประหารตนเองแล้วก็ยุบสภา ยุบฝ่ายค้าน ยุบพรรคการเมืองทั้งหมด วุ่นวาย บริหารจัดการไม่ได้ก็กลับไปเป็นนายกฯ มี ม.44 อีกครั้ง บริหารประเทศแบบมีอำนาจเด็ดขาดแบบผู้นำจากการรัฐประหาร

GM Live : คนไทยรอนายกฯ คนใหม่มานาน เชื่อว่าตอนนี้หลายคนอาจจะผิดหวัง มีวิธีคิดให้สบายใจสบายใจไหม

ประจักษ์ : ขึ้นชื่อว่าการเมืองมันไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่มันแน่นอนคือความอนิจจังของอำนาจ ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้ชั่วฟ้าดินสลาย ยิ่งในสังคมไทยถ้าเราดูประวัติศาสตร์อำนาจมันเปลี่ยนมืออยู่ตลอดเวลา สังคมไทยเป็นสังคมที่ประหลาด คือประชาธิปไตยมันไม่ค่อยยั่งยืน ที่เราพูดกันมาตั้งแต่ปี 2475 ประชาธิปไตยล้มลุกคุกคลานระหกระเหิน คนก็ชอบบ่นว่าทำไมเราไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์สักทีผ่านมา 87 ปีแล้ว แต่อีกด้านกลับของมันก็คือระบอบเผด็จการก็ไม่ยั่งยืนเหมือนกันเมื่อเทียบกับในหลายประเทศอย่างอินโดนีเซีย พม่า หรือในพวกประเทศที่เกิดอาหรับสปริง พวกตูนีเซีย ลิเบียร์ อียิปต์ ซีเรีย เราก็ไม่เคยมีเผด็จการแบบนั้นนะ แบบในอาหรับในแอฟริกา พวกนั้นอยู่กัน 30 ปี 40 ปีเลย โดยไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงเลย มันหยุดนิ่งมากๆ เราไม่เคยมีขนาดนั้น

อย่างมากที่สุดที่เรามีนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารที่ยาวนานที่สุดก็คือช่วงจอมพลสฤษดิ์จอมพลถนอมต่อกัน 16 ปี หลัง 14 ตุลาฯ มาแล้วมันก็ไม่เคยมีแล้วเพราะว่า หนึ่งประชาชนตื่นตัวมาก สองก็คือภาคประชาสังคมของไทยแล้วก็สื่อมีความเข้มแข็งกว่าในหลายประเทศ มันไม่ใช่อยู่ๆ จะมาปิดให้ทุกอย่างมันหยุดนิ่งตลอดกาล มันเป็นไปไม่ได้ สังคมไทยมันมีเนื้อดินของสิทธิเสรีภาพที่คนเขาหวงแหนอยู่ แค่รอคอยโอกาสเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มันก็จะเติบโตขึ้นมา

ฉะนั้นก็อย่าไปหมดหวัง อย่าไปเศร้าใจอะไร การเมืองไทยมันไม่เคยหยุดนิ่ง มันเปลี่ยนแปลงได้เสมอแล้วเราก็อยู่ในโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องไม้เครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่ มันจะทำให้รูปแบบการใช้อำนาจต้องปรับตัว ถ้าเราดูตัวอย่างจากทั่วโลก ถ้าผู้นำคนไหนไม่ปรับตัวมันก็มีความเสี่ยงสูงที่จะหมดจากอำนาจไปได้อย่างรวดเร็ว อาหรับสปริงใครจะไปคิดว่าสี่ห้าประเทศนั้นหลังจากหยุดนิ่งมา 30-40 ปี อยู่ดีๆ ผู้นำโดนโค่นล้มหมดเลยเป็นโดมิโน่ แล้วเราก็เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในอีกหลายประเทศ

การเมืองไทยมันอยู่ในยุคที่เปลี่ยนผ่านแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนหมดทั้งในแง่โครงสร้างอำนาจ กฎกติกาทางการเมือง ตัวละครทางการเมืองก็เปลี่ยนหน้าหมด ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ นำมาซึ่งวัฒนธรรมความคิดแบบใหม่ ความหวังก็อยู่ที่คนรุ่นใหม่นี่แหละ

ถ้าคุณยังรู้สึกผิดหวังกับการเมืองไทยได้แสดงว่าการเมืองไทยยังมีความหวัง เพราะถ้าคุณผิดหวังหมายความว่าคุณอินกับมัน คุณรู้สึกว่าประเทศชาติก็เป็นของคุณด้วย ถ้าคุณผิดหวังกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแรงกล้าแสดงว่าคุณอยากจะเปลี่ยนมัน คุณแคร์มัน แล้วถ้ามีคนแคร์มันมากพอแล้วรวมพลังกันได้การเมืองมันก็เปลี่ยนได้ อันนั้นแหละคือความหวัง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ