fbpx

พิชัย วาศนาส่ง วิเคราะห์ชีวิต

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2493 ท่านบอกว่าเงินที่หามาได้ส่วนมากในชีวิต หมดไปกับค่า ‘หนังสือและแผ่นเสียง’

เป็นการยากที่จะนิยามบุรุษผู้นี้ว่าท่านคือใคร และทำอะไรมาบ้างตลอดชีวิตกว่า 80 ปี

จะเรียกว่า กูรูสารพัดด้าน-อาจารย์-นักเขียน-สถาปนิก-ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์-นักจัดรายการวิทยุ-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-ประธานกรรมการบริษัท แต่หลังชื่อของ พิชัย วาศนาส่ง มักจะตามด้วยคำว่า ‘นักวิเคราะห์ข่าว’ อยู่เสมอ จนคำนี้กลายเป็นยี่ห้อของท่านไปเสียแล้ว

ในวันที่บ้านเรามีคนเล่าข่าวเกลื่อนทั่วโทรทัศน์ บางถ้อยคำของท่านอาจทำให้คนรุ่นใหม่ต้องหยุดฟังเสียหน่อย แม้บางคนจะมองว่า ในอีกด้านความชราจะหมายถึงการพ้นสมัย แต่แน่ใจหรือว่า บุรุษผู้นี้พ้นสมัย โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมมองของท่าน และโปรดอย่าลืมว่า เราสามารถเรียนรู้ชีวิตทางลัดจากผู้อาวุโสได้เสมอ

พิชัย วาศนาส่ง เคยเป็นผู้บรรยายสดทางโทรทัศน์ในวันที่ยานอวกาศอะพอลโล 11 ไปถึงดวงจันทร์ นอกจากนี้ ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ออกรายการโทรทัศน์นานที่สุดตั้งแต่ยุคช่อง 4 บางขุนพรหมจนถึงยุคปัจจุบัน

เคยถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าร่วมกบฏ 26 มีนาคม 2520 ที่นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ระหว่างที่ถูกจองจำก็แปลหนังสือชื่อ ‘ตำราพิชัยสงครามของซุนวู’

แม้จะหันมาสนใจเรื่องเบาๆ อย่าง การทำอาหาร ท่านก็รู้ลึกซึ้งจนถึงขั้นวิเคราะห์รากของวัฒนธรรมการกินทั่วโลกได้อย่างถึงพริกถึงขิง เป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือไว้มากมายชนิดที่เจ้าตัวเองก็จำได้ไม่หมด และอาชีพดั้งเดิมอย่างสถาปนิก ท่านก็เคยเป็นถึงนายกสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทยมาแล้ว

การทำอาหาร

อาจารย์พิชัย กล่าวว่า “ตามทฤษฎีของจีนโบราณ คนจะสอบจอหงวนต้องเข้าใจเรื่องวิธีทำอาหาร เพราะชาวจีนเชื่อว่าคนที่จะเป็นผู้ใหญ่ปกครองบ้านเมือง ถ้าไม่รู้จักอาหารการกินที่ดีแล้วละก็ ถือว่าเป็นคนที่ไม่มีความประณีต ไม่มีความละเอียดลออ ยัดปากเข้าไป เอาน้ำกรอกเข้าไป เอาไม้กระทุ้งลงไปในท้อง ไม่รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย คนแบบนี้จะปกครองประเทศให้ได้ดีได้อย่างไร” เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คงต้องรับฟังอย่างยิ่ง !

พิชัย วาศนาส่ง เป็นผู้รอบรู้ที่มีส่วนผสมของความอ่อนไหวในระดับที่พอดี ซึ่งเราจะเห็นได้จากวิธีที่ท่านใช้ชีวิต และในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ GM จึงอยากให้การมองย้อนไปวิเคราะห์ชีวิตของท่าน เป็นเสมือนการรับพรจากผู้ใหญ่ และใช้พรนั้นเป็นดั่งเข็มทิศนำทางเพื่อก้าวไปในโลกเบื้องหน้าอันไม่มีใครหยั่งคาดถึง

สองชั่วโมงกว่ากับบทสนทนาที่น่าทึ่งอย่างต่อเนื่อง กระทั่งท่านเอ่ยว่า “วันนี้ผมเหนื่อยจนถึงขีดสุด” แต่ท่านก็ยังสนุกกับบทสนทนา

อนุญาตให้คุณจิบชาร้อนๆ ขณะอ่าน เพื่อพิสูจน์ความยิ่งยง ของผู้อาวุโสท่านนี้ร่วมกัน…

GM : ทุกวันนี้กิจวัตรของคนอายุ 80 ปี อย่างอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ

พิชัย : ปกติ ผมก็ทำงานเรื่อยๆ ไป ตั้งแต่เริ่มทำงานมาจนบัดนี้เข้าใจว่า 60 กว่าปีแล้วนะ ผมทำมาหลายอย่าง แรกทีเดียว ก็เป็นสถาปนิก เพราะจบทางวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากจุฬาฯ เป็นสถาปนิกอยู่ได้สัก 7-8 ปี แล้วก็เปลี่ยนอาชีพไปทำงานโทรทัศน์ ตั้งแต่เริ่มเปิดช่อง 4 บางขุนพรหม ทำมาได้ 16 ปี เปลี่ยนอีก กลับมาทำงานทางด้านออกแบบ จัดสรรที่ดิน ก็ทำเรื่อยๆ ต่อมาก็ทำวิทยุบ้าง โทรทัศน์บ้าง เขียนหนังสือบ้าง เดี๋ยวนี้พออายุมากแล้ว ก็เลยงดอะไรต่างๆ ออกไปเยอะ คงเหลือแต่ศึกษาหาความรู้ให้ทันกับโลกปัจจุบัน คนเราถ้าหากนึกว่าตัวเองรู้แล้วไม่พยายามที่จะหาความรู้เพิ่มเติม ก็จะกลายเป็นแก่กะลาไป ผมก็ไม่อยากจะแก่อย่างกะลาหรอก อยากจะแก่อย่างเป็นเนื้อมะพร้าว ยิ่งแก่เนื้อยิ่งหนา ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น

ช่อง 4 บางขุนพรหม

เกิดจากดำริของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย แพร่สัญญาณครั้งแรกเมื่อปี 2498 นับเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกบนผืนแผ่นดินเอเชีย สมัยนั้นออกอากาศกันสดๆ ไม่มีการบันทึกเทป คนที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์สมัยนั้นจึงต้องอาศัยความเก๋ากันล้วนๆ และไม่บอกก็คงเดาถูกว่า การได้ออกโทรทัศน์ในสมัยนั้นเป็นเรื่องโก้แค่ไหน

GM : ช่วงนี้อาจารย์สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ

พิชัย : ก็การเมืองระหว่างประเทศ ผมสนใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ผมอายุประมาณ 20-21 แล้วก็สนใจเรื่อยมา ถึงได้มาทำเรื่องของการวิเคราะห์ข่าว เขียนหนังสือเกี่ยวกับต่างประเทศไว้มาก เหตุการณ์ของโลกเป็นเรื่องที่น่าสนใจตรงที่ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีขึ้นมีลงอยู่เสมอ แล้วยิ่งนานเข้าเราก็ยิ่งรู้ว่า เหตุที่มันขึ้น-ลงเป็นเพราะอะไร อย่างเรื่องของเศรษฐกิจปั่นป่วนทั่วโลกตอนนี้ มันเกิดขึ้นเพราะ หนึ่ง, การรบราฆ่าฟันของผู้ก่อการร้ายในอิรัก สอง, การบริหารระบบการเงินของสหรัฐฯไม่รัดกุม ทั้งๆ ที่เป็นประเทศนายทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับทำให้มีการปล่อยเงินกู้ออกไป จนกระทั่งในที่สุดเงินทุนสำรองไม่มีเหลือ ทีนี้พอถึงเวลาที่คนหลังๆ ต้องการเงินไปลงทุนบ้าง ก็ไปเอาเงินที่ธนาคารไม่ได้ ทุกอย่างก็เลยติดขัดไปหมด เช่น บริษัทที่รับสร้างเครื่องบินใหญ่ๆ สร้างเครื่องบินให้หลายๆ ประเทศ ทีหนึ่งสิบลำยี่สิบลำ เขาสร้างไปได้ครึ่งทาง พอถึงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำก็ไปหากู้เงินจากแบงก์เพื่อที่จะมาทำต่อ แต่แบงก์ก็ไม่มีเงินสดที่จะให้แล้ว เพราะปล่อยกู้ไปหมดโดยที่ไม่ได้ระมัดระวัง สถาบันการเงินทั้งหลายพากันยุ่งไปหมด ตอนนี้ก็เป็นอย่างนี้ พวกความรู้อย่างนี้เป็นเรื่องที่ผมชอบ

GM : ทำไมการเสพข่าวทั่วโลกถึงกลายเป็นลมหายใจของอาจารย์

พิชัย : (หัวเราะ) ใช้คำว่า ‘เสพข่าว’ ยังกับเสพติด ผม เสพติดข่าว จริงๆ นั่นแหละ ผมชอบเรื่องสื่อสารมวลชนโดยธรรมชาติ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผมก็สนใจติดตามข่าวมาตลอด ตอนนั้นยังหนุ่มๆ เรารู้ข่าวแต่เฉพาะด้านญี่ปุ่นกับด้านเยอรมันที่ไปตั้งฝ่าย อักษะอย่างเดียว เพราะตอนนั้นประเทศเราอยู่ฝ่ายอักษะ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าใครชนะ ใครแพ้ เรารู้แต่ว่าฝ่ายเราชนะมาตลอด แต่ถึงตอนแพ้เราไม่รู้ ไปถอยทัพที่ไหนบ้างเราไม่รู้ ตอนนั้นผมก็แอบฟังข่าวจากวิทยุคลื่นสั้น เลยรู้ว่าข่าวมันสำคัญมาก เราต้องฟังทั้งสองข้าง ตอนนี้อุปกรณ์ในการที่จะแสวงหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เมื่อก่อนนั้น ก็แล้วแต่ว่าเขาจะปล่อยข่าวอะไรมาให้เราฟัง อะไรที่เขาคิดว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เขาก็ไม่อยากให้เรารู้ แต่ตอนหลังหนังสือพิมพ์อย่าง ไทม์ นิวส์วีค ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น แต่ผมก็ยังไม่ค่อยอิ่มใจเรื่องการเสนอข่าวของพวกที่ทำงานด้านการข่าวในเมืองไทย

เสพติดข่าว

นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า คนที่เป็นโรคเสพติดข่าว อาจมีข้อดีคือทำให้ทันสถานการณ์ แต่รูปแบบการนำเสนอที่เร้าใจ ใส่อรรถรสในรายการข่าว โดยเฉพาะข่าวร้าย เช่น ภาพคลิปวิดีโอเด็กตบตีกัน ภาพคนฆ่าตัวตาย จะทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมรุนแรงโต้ตอบกันมากขึ้น หวาดกลัวต่อสังคมจนเครียด เคยชินกับความรุนแรง ขาดความเมตตาในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อักษะ

มาจาก Axis Powers เป็นฝ่ายที่ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มีแกนนำคืออิตาลี (มุสโสลินี), เยอรมนี (ฮิตเลอร์) และญี่ปุ่น (จักรพรรดิฮิโระฮิโตะ) ประเทศที่ร่วมสนับสนุนฝ่ายนี้มี อาทิ โรมาเนีย ฮังการี ลิเบีย อินเดีย และประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ด้วย

GM : ทำไมถึงไม่อิ่มใจครับ

พิชัย : ไม่อิ่มใจเพราะเลือกข่าวไม่ตรงกับที่ผมคิด ที่เราควรจะรู้แต่เราไม่ได้รู้ เขากลับไปเลือกเอาอะไรต่างๆ ที่เขาคิดว่าสนุก จริงๆ การที่คิดว่าข่าวอะไรที่ควรเสนอนั้น ต้องดูจาก หนึ่ง, ข่าวที่คนต้องรู้ เช่น ข่าวการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล การเงิน การเมืองต่างๆ ภาษีอากร หรือการออกกฎหมายของบ้านเมืองที่ประชาชนต้องรู้ สอง, ข่าวที่คนควรรู้ เช่น การรายงานอากาศว่าวันนี้จะร้อนจะหนาว เวลาน้ำท่วมทางขาด ฝนตก หนักที่นั่นที่นี่ มันเป็นเรื่องที่คนควรจะรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิต สาม, ข่าวที่ประเทืองปัญญา เข้าใจไหมครับว่าคำว่าประเทืองปัญญา มันหมายความว่าต้องทำให้สมองเราคิดกว้างขวางยิ่งขึ้น นั่นก็คือข่าวพวกสารคดีต่างๆ หรือว่าการพัฒนาของมนุษยชาติทั้งหลาย เขาทำอะไรกันที่ไหนในโลกนี้ ถ้าเรารู้ เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะได้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่น เรื่องโลกร้อน มันทำให้เรามีความละเอียดในการติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้เรื่อยๆ ไป

ตอนผมยังหนุ่มๆ มีข่าวของผู้หญิงที่โดนจับไปกระทำชำเรา คดีนั้นชื่อคดีลำยอง คดีนี้เป็นที่ร่ำลือกันมาก เป็นข่าวที่หนังสือพิมพ์เล่นได้นานถึงหลายเดือน การทำงานสะดวก สนุก และขยายไปเรื่อยๆ เริ่มต้นตั้งแต่รายงานกันว่าลำยองถูกจับตัวอย่างไร ไปจนถึงตำรวจจับคนร้าย แล้วก็เลยว่าไปถึงเรื่องสิทธิสตรี ทำไมผู้หญิงถูกรังแก หนังสือพิมพ์ขายดิบขายดีมาเป็นแรมเดือน เพราะทุกวันคนอยากอ่านข่าวลำยอง อันนี้คือการทำข่าวที่เกิด Effect ต่อสังคม

GM : สื่อมวลชนที่ทำเรื่องข่าวทุกวันนี้ไม่เก๋าเหมือนรุ่นก่อนหรือ

พิชัย : อย่าไปพูดว่าเก๋าหรือไม่เก๋าเลยนะ เราต้องอายุมากพอสมควรถึงจะเริ่มรู้ดีรู้ชั่วว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราก็จะรู้ว่าอะไรที่ควรเน้น ถ้าอะไรไม่ดีเราเพียงแต่ผ่านไปเท่านั้นก็จบ การเสนอข่าวมันต้องมี What Where When Why How ตามหลักของสื่อสารมวลชนทั่วๆ ไป เกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทำไมถึงเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นอย่างไร ครบถ้วนกระบวนความที่เกิด พอรู้แล้วเราต้องนึกต่อไปอีกว่ามันจะมีผลกระทบต่ออะไรบ้าง การเสนอข่าวต้องเล่าให้มันต่อเนื่องกันมาเลย ต้องมีความละเอียดในการติดตามและจิตที่มองเห็นอนาคต

วิธีการเสนอข่าวของต่างประเทศ เราจะเห็นว่าตัวข่าวเขาไม่ยาวเท่าไร แค่สั้นๆ ให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พอมาขึ้นหน้าสี่หน้าห้าก็จะเริ่มเป็นการวิเคราะห์ข่าว  ถ้าสื่อมวลชนคนไหนทำข่าวเตะทิ้งไปแต่ละวัน คนอ่านก็ไม่ได้เกิดสติปัญญาในทางลึก ฉะนั้น หน้าที่ที่ผมชอบที่สุดก็คือ ผมมีสิทธิ์ที่จะเริ่มต้นคิดว่าอะไรเป็นข่าว แล้วข่าวนี้มีประวัติข้างหลังเป็นยังไง และข้างหน้าจะเป็นยังไงต่อไป

อย่างข่าวที่ผู้สื่อข่าวอาหรับถอดรองเท้าปาประธานาธิบดีจอร์จ บุช เราจะรู้ไหมว่าเกือกคู่นั้นเศรษฐีตะวันออกกลางขอซื้อ 10 ล้านเหรียญ เพราะมันเป็นเกือกที่คนกล้าทำในสิ่งที่เป็นความอึดอัดของผู้คนในตะวันออก กลาง ทีนี้เราต้องวิเคราะห์ข่าวให้ลึกต่อไปอีกว่า เพราะอะไรบุชถึงถูกขว้างด้วยรองเท้า ก็เพราะคนที่นั่นเจ็บร้อน คนต้องมาตายเป็นพันเป็นหมื่นก็เพราะว่าบุชส่งกำลังทหารเข้าไปในอิรักและอัฟกานิสถาน เพื่อพยายามที่จะเข้าไปกวาดล้างพวกผู้ก่อการร้าย แต่มันโดนผู้คนด้วย ประชาชนจะเดือดร้อนเท่าไร เขาก็ไม่แคร์ ความอึดอัดใจของคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ ทำให้เขามีจิตวิญญาณที่อาฆาตเคียดแค้นอยู่ ถามว่าทำไมบุชถึงต้องทำอย่างนี้ล่ะ เราก็เล่าย้อนหลังไปได้อีกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินเข้าไปชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มันเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องเล่าให้ละเอียด คนที่ฟังข่าวจะได้เข้าใจ

โทรทัศน์บ้านเรามันก้าวหน้าทางวัตถุ แต่เรื่องความคิดยังไม่ก้าวหน้า โทรทัศน์มุ่งไปทางบันเทิงมากกว่าการให้ความรู้แก่ผู้ชม ที่เรียกว่าบันเทิงปัญญาก็ไม่ได้เน้นเท่าไร แค่ใส่ๆ ไปเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องละคร ที่บ้านผมมีจานดาวเทียมรับโทรทัศน์ได้ทั่วโลก เขาใช้โทรทัศน์เป็นเครื่องให้สติปัญญาแก่คนเยอะมาก ทุกประเทศเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แต่ของบ้านเรามีแต่ละคร เพราะผู้ที่ทำรายการหารายได้จากพวกนี้มากกว่า แต่พวกสารคดีไม่รู้ว่าเพราะคนไม่ชอบดูหรือไง ถึงได้มีน้อย แต่เราก็สามารถสอนให้เขารู้จักดูได้ ด้วยวิธีการพรีเซนเทชั่น ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องที่เขาอยากดู มันก็เกิดความน่าสนใจบ้าง นี่เราควรจะทำอย่างนี้บ้าง ไม่ใช่เสียเวลาไปเปล่าๆ น่าเสียดาย

“เราต้องช่วยกันมองอนาคต มากกว่าอยู่เฉพาะวันต่อวัน อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดตลอดเวลา ถึงแม้ทุกวันนี้อายุมากแล้วผมก็ยังคิด เราจะเอาแต่ความสุขส่วนตัวไปวันๆ อย่างนั้นหรือ”

รายการที่ผมดูเสมอก็พวกข่าว อีกอันหนึ่งก็รายการที่พยายามจะเสนอข้อคิดที่มาจากผู้มีสติปัญญา ก็เป็นบางรายการเท่านั้นแหละ บางรายการที่เกี่ยวกับศาสนาก็ดีมาก เช่น รายการของคุณเพชรี พรหมช่วย ที่เอาคนที่ดำรงชีวิตด้วยการเอาพระพุทธศาสนามาแก้ปัญหา รายการนี้ดีมาก ดูสนุก นอกนั้นผมก็ไม่ได้สนใจดูอะไร มีดูรายการถ่ายทอดกีฬาบ้างก็เท่านั้น

รายการของคุณเพชรี พรหมช่วย

รายการ ‘ธรรมในใจ’ ออกอากาศเช้ามาก คือเวลา 04.45 น. มี สมฤทธิ์ ลือชัย และ เพชรี พรหมช่วย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการนำเอาหลักธรรมมานำเสนอในรูปแบบที่จับต้องได้จริง วันไหนกลับจากบาร์มาดึกดื่น เล่นแคมฟร็อกถ่างตารอสักหน่อย เดี๋ยวคุณก็ได้ดูอีกรูปแบบหนึ่งของ ‘ธรรมะอินเทรนด์’ แล้ว

GM : อาจารย์ปั้นลูกศิษย์ไว้หลายคน หนึ่งในนั้นมีชื่อของ คุณจักรภพ เพ็ญแข มีอะไรอยากพูดถึงคุณจักรภพไหมครับ

พิชัย : ไม่ต้องพูด ก็เขาเป็นไปแล้วจะให้ทำยังไง เขาได้เลือกทางเดินของเขาไปแล้ว แต่ละคนคุม Destiny ของตัวเอง ทุกคนต้องมีเป้าหมายชีวิตของตัวเอง กำหนดอะไร ก็คือเสรีภาพของตัวเองแบบนั้น

GM : อาจารย์ได้ดูสุนทรพจน์ที่ว่ากันว่าจับใจหลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไหมครับ

พิชัย : ได้ดู แต่อย่าเพิ่งบอกว่าจับใจหรือไม่จับใจ ต้องดูที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ที่คำพูด ทุกคนก็พูดได้ดีทั้งนั้นแหละ ตอนนี้บ้านเมืองเราต้องการ ความเปลี่ยนแปลง เพราะอะไรล่ะ เพราะศาลพิสูจน์แล้วว่าคุณทักษิณได้กระทำความผิด แต่คุณทักษิณก็ไปอยู่นอกประเทศและพยายามแข็งใจจะคืนมา โดยพยายามทำให้พรรคพวกที่อยู่ในไทยคอยช่วยเหลือ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนพยายามหาความรู้กันต่อไปว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ความเปลี่ยนแปลง

แคมเปญ CHANGE และความต้องการของผู้คนที่อยากจะเห็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ นี่แหละที่ทำให้ บารัค โอบามา ประกาศก้องว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในผืนแผ่นดินสหรัฐฯ เพราะวันนี้สหรัฐฯก็ได้มีประธานาธิบดีผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์แล้ว แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่า นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตื้นเขินเพียงแค่เปลี่ยนรสชาติ หรือยิ่งใหญ่ถึงขั้นเปลี่ยนระบบ

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากเหตุ เราต้องใช้อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เรื่องต่างๆ พวกเสื้อเหลืองเสื้อแดงมันเพราะอะไรล่ะ ถ้าให้ผมวิเคราะห์ลึกลงไป ก็ต้องบอกว่าเพราะกลไก รัฐมันเสื่อมไปหมดแล้ว ประชาชนไม่ได้รับความคุ้มครองแล้ว คุณทักษิณก็พูดออกมาเองว่าระบบศาลของเราไม่ถูกต้อง มันก็เลยทำให้คนระแวงไปหมดว่าความถูกต้องของเราอยู่ที่ไหน ผมถึงบอกว่าถ้าผมวิเคราะห์ไปในทางลึกๆ มันก็จะออกมาอย่างนี้ แต่บังเอิญผมไม่พูดเรื่องเหล่านี้ พูดให้ฟังเท่านั้น อย่าไปถือเป็นมาตรฐานอะไรเลย คนถามผมอยู่ตลอดเวลาว่าความถูก-ผิดอยู่ที่ไหน ซึ่งที่จริงสิ่งเหล่านี้ทำไมเราไม่คิดกันเอง ทั้งๆ ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ท่านพุทธทาสเคยบอกว่าคนที่จบปริญญาเอกมีเยอะ แต่ทำไมโลกถึงยังวุ่นวาย เพราะคนที่มีความรู้แล้วมี สัมมาทิฐิยังมีน้อย เมื่อใดก็ตามที่คนเอาทิฐิไปเปลี่ยนเป็นมิจฉาทิฐิ โลกมันก็วุ่นวาย ถ้าเป็นชาวพุทธเราต้องวิเคราะห์ให้ออก

สัมมาทิฐิ

คือความเห็นถูกต้อง เห็นตามความเป็นจริง พูดเหมือนทำง่าย แต่การมองเห็นแบบนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างยิ่ง

GM : ทำไมอาจารย์ถึงมีความสนใจที่หลากหลายและค้นคว้าจนรู้แจ้งอย่างลึกซึ้ง กระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นกูรูหลายด้าน เช่น ด้านดนตรีคลาสสิก อาหาร การเขียน สถา-ปัตยกรรม อะไรที่บ่มเพาะอาจารย์ให้เป็นแบบนี้ครับ

พิชัย : มนุษย์มันมีอารมณ์ อารมณ์ของเราจะเกิดอยู่ตลอดเวลา บางทีเห็นนานๆ เข้ามันก็เกิด ผัสสะ พอเกิดผัสสะแล้วก็ชอบ พอผมเห็นอะไรที่จะเกิดประโยชน์ในการเผยแพร่ ผมก็จะเอามาทำให้เป็นเรื่องขึ้นมา อย่างวันดีคืนดีเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ผมก็พูดว่าวันหนึ่งข้างหน้าถ้าโลกร้อน มันจะเดือดร้อนกันใหญ่ นี่เป็นเรื่องที่ผมเรียนรู้มาจากข่าว พอรู้ขึ้นมาแล้วก็รู้สึกกังวลแทนคนอื่นที่ไม่รู้ หน้าที่ของเราคือ จะดีจะชั่วก็ต้องทำให้คนเขารู้ ส่วนเขาจะสนใจหรือไม่สนใจ ผมไม่ค่อยจีรัง

ผัสสะ

หมายถึง สัมผัส   การกระทบ เป็นความประจวบกันแห่ง 3 สิ่ง คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส) และวิญญาณ ผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวะธรรม 3 ประการ คือ อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ

จากการติดตามข่าวต่างๆ ทำให้ผมพูดเรื่องโลกร้อนในสภาฯ ภายหลังคนถึงได้หันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น นี่คือความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องมีต่อบ้านเมือง ผมเห็นว่าการมองอนาคตเป็นเรื่องสำคัญ เรามีตัวอย่างที่ดีคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมองอนาคตว่าวันหนึ่งน้ำจืดในบ้านเราจะเป็นปัญหา ถ้าเราไม่ทำแก้มลิง เราไม่ทำอ่างเก็บน้ำเอาไว้ จะไม่มีน้ำทำการเกษตร แล้วบ้านเราจะอยู่ได้อย่างไร ทรงพระราชทานพระราชดำริเรื่องน้ำไว้เยอะแยะ แต่ทำไมรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้าไปกลับไม่ได้มีจิตที่จะมองเห็นอนาคต กลายเป็นภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันมองอนาคต มากกว่าที่จะมาอยู่เฉพาะวันต่อวันอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดตลอดเวลา ถึงแม้ทุกวันนี้อายุมากแล้วผมก็ยังคิด เราจะเอาแต่ความสุขส่วนตัวไปวันๆ อย่างนั้นหรือ แล้วลูกหลานเราล่ะ อย่างเวลานี้มี อาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเสนอแนวคิดว่า ทำไมเราไม่ทำตึกกว้างขนาดกินพื้นที่สัก 20 ไร่ ต่อฐานสูงขึ้นไปสัก 30-40 ชั้น วงรอบด้วยกระจก ทำให้แสงแดดจากบนหลังคาตึกเพียงพอที่จะสามารถรักษาอุณหภูมิข้างในได้ตลอดปีตลอดชาติ ปลูกมะเขือเทศ ปลูกผักกาดอะไรต่างๆ เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงคนที่อยู่ใกล้ๆ ตึกนั้น มีชั้นหนึ่งสำหรับเลี้ยงไก่สำหรับไข่โดยเฉพาะ พอได้เวลาปั๊บก็ฆ่าไก่เอาเนื้อ ไม่เสียประโยชน์ ผลิตอาหารหมุนเวียนอยู่ในตึกนี้ ถ้าทำได้ ต่อไปข้างหน้าเราจะมีตึกเดียวที่สามารถเลี้ยงคนที่อยู่รอบๆ ได้ห้าหมื่นคน มีกินไม่รู้จักหมด ผมจะสนใจเรื่องอย่างนี้ สิ่งที่เป็นความหวังของมนุษยชาติในอนาคต

อาจารย์ใน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

คือ Dr. Dickson Despommier ซึ่งคิดคอนเซ็ปต์เรื่อง Urban Farm หรือการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Agriculture) โดยประมาณแล้ว อาคารที่ว่า ถ้าสร้าง 150 อาคาร จะสามารถเลี้ยงดูเมืองขนาดเท่านิวยอร์กได้ตลอดทั้งปี เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

GM : คนไทยต้องปรับปรุงด้านไหนบ้าง ถึงจะได้ชื่อว่าช่วยกันมองอนาคต

พิชัย : ต้องใส่ใจปัญหาที่อยู่รอบตัวว่าอะไรที่จะกระทบต่อส่วนรวมได้ในอนาคต มันจะดีหรือไม่ดี จะเสียหายหรือไม่ แม่น้ำลำคลองสกปรก ไม่มีใครมอง ใจนึกบ้างไหมว่าเชื้อโรคทั้งนั้น แล้วจะทำอย่างไรให้น้ำสะอาด เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แม่น้ำในเมืองจีนก็สกปรก แต่ผู้นำเขาบอกว่าต้องทำให้แม่น้ำสะอาด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ แล้วเขาก็ทำจนสำเร็จ ไทยเรามีห้วยหนองคลองบึงตั้งเยอะแยะ ทำไมเราไม่ทำให้สะอาด ตอนนี้อินโดนีเชียก็กำลังแก้ปัญหาน้ำเน่าที่สุดในโลก ตกเย็นคนนั่งถลกผ้าถุงซักผ้าอยู่ริมคลอง แล้วปล่อยน้ำเสียลงคลองไป ไม่มีการอายกัน แสนจะสกปรก เรื่องพวกนี้แหละน่าสนใจ มันเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ เราต้องมองว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียวสิ แต่อยู่กับคนอื่นๆ อีกตั้งเยอะแยะ

GM : ไทยมีรากทางวัฒนธรรมอะไรบ้าง ที่จะทำให้เรากลับมาเป็นแลนด์ ออฟสไมล์ในสายตาคนต่างชาติได้เหมือนเดิม

พิชัย : ผมคิดว่าถ้าทุกคนรู้จักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีความเหิมเกริมที่จะอยู่อะไรจนเกินตัว ไม่คิดทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนที่มีกับคนที่จนมากเกินไป ปรับระดับเข้าหากัน ไอ้ที่มากเกินไปก็ลดระดับลงบ้าง หรือว่าที่น้อยเกินไปก็พยายามดึงตัวให้สูงขึ้นไป ไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำได้ อย่างคนที่นึกว่าตัวเองรวย ก็อย่าแสดงตัวให้มากว่าฉันรวยกว่าคนอื่น คนที่จนก็ไม่ต้องนึกว่าเราจะคบกับใครก็ไม่ได้ เพราะเขารวยกว่า ไม่ใช่ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และต้องคิดว่าเราอยู่ของเราอย่างเพียงพอ ไม่คิดที่จะอยากไปเอาของคนอื่นเขามา อย่ามองคุณค่าของสิ่งของเหนือกว่าคุณค่าจิตใจ อันนี้สำคัญมาก ทุกวันนี้เราเอาแต่สิ่งของมาเป็นเครื่องวัด ผมถึงว่าใครมาบ้านผมแล้วก็ชอบ มันร่มรื่นเพราะว่าต้นไม้เยอะ สบาย แต่ถ้าผมนิยมวัตถุ ผมก็คงสะสมอย่างอื่นแทน แต่นี่ผมนิยมสะสมต้นไม้มากกว่า

GM : ตอนนี้เมืองไทยมีปัญหาเยอะมาก แต่ปัญหาสังคมเรื่องไหนที่อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ครับ

พิชัย : เรื่องความประพฤติของมนุษย์ เวลานี้คนไทยค้นยังไม่พบเลยว่าตัวเองเป็นยังไง ไม่รู้ว่าภาษาอะไรที่ถูกต้องที่สุดสำหรับคนไทย อย่างคำว่า อินเทรนด์ เก็ตไม่เก็ต อินไม่อิน มันเป็นภาษาที่รู้เฉพาะคนหนุ่มๆ สาวๆ แต่พอไปเขียนเป็นภาษาแล้วฟังไม่รู้เรื่อง คำไทยมีอยู่แล้วทำไมเราไม่ใช้ คำว่า ‘อินเทรนด์’ จะใช้คำว่า ‘แนวโน้ม’ แทนได้ไหม

“ภาษาไทยผิดอะไร ถึงต้องโยนมันทิ้งไปแล้วเอาตีนเหยียบเสียด้วยซ้ำ เป็นการดูถูกภาษาพ่อภาษาแม่ของเราอย่างยิ่ง เหมือนพ่อแม่ให้มรดกทรัพย์สิน แต่ลูกกลับเอาไปใช้เล่นการพนัน”

ผมเป็นคนที่ห่วงภาษามาตั้งแต่เกิด เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่เราควรจะภูมิใจที่สุด ไทยเป็น 1 ใน 30 กว่าชาติในโลกนี้ที่มีตัวหนังสือของตัวเอง เรามีทั้งอักขรวิธี วจีวิพากษ์ วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ สารพัดอย่าง ทำไมเราไม่ภูมิใจที่จะใช้ภาษาไทย ในเมื่อภาษาต่างประเทศไม่ได้มีอะไรที่ดีเท่ากับภาษาไทย คนไม่ได้สนใจภาษาไทยอย่างจริงจังเพราะไม่รู้คุณค่า

ภาษาไทยผิดอะไร ถึงต้องโยนมันทิ้งไปแล้วเอาตีนเหยียบเสียด้วยซ้ำ ผมนึกอย่างนั้นนะ อันนี้เป็นการดูถูกภาษาพ่อภาษาแม่ของเราอย่างยิ่ง เหมือนพ่อแม่ให้มรดกทรัพย์สินแก่ลูกไป แต่ลูกกลับเอาไปใช้เล่นการพนัน เล่นเบี้ยเสียถั่วจนในที่สุดก็หมด พวกนักการศึกษาสมัยใหม่มักนึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญเพราะเอาไปทำมาหากินได้ แต่อย่าลืมว่าการที่มนุษย์สามารถมีความเข้าใจอะไรที่ลึกซึ้งได้ ต้องเริ่มต้นจากความละเอียดอ่อนในการใช้ภาษา ผมพูดอยู่เสมอว่าการที่เราเรียนวรรณกรรมอย่างเช่นพระราชนิพนธ์สังข์ทอง จะช่วยทำให้เรารู้จักเขียนหนังสือกะทัดรัดชัดเจน ใช้บรรทัดน้อยแต่กินสาระกว้างขวาง ไม่เพ้อเจ้ออย่างที่เราชอบเขียนกันอยู่ทุกวันนี้

สังข์ทอง

กลายเป็นละครดังในเช้าวันหยุดไปในปีที่ผ่านมา แต่คุณรู้ไหมว่า สังข์ทองนั้นเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เดิมเป็นละครนอก คือใช้แต่ผู้ชายเล่น แม้แต่บทของนางรจนา เป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวัณสังขชาดก ซึ่งเป็นชาดกพุทธประวัติ

GM : อาจารย์เป็นห่วงคนรุ่นใหม่เรื่องอะไรบ้างครับ

พิชัย : เราเรียนหนังสือโดยไม่ค่อยที่จะคิด คือเราสนใจแต่ปริญญาเพื่อจะเอาไปหากิน คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ว่าไม่รู้นะ แต่รู้แล้วกลับไม่เก็บเอาไว้ เมื่อก่อนเราเรียนเรขาคณิต จำได้ไหมล่ะ a2 = b2+c2 ทฤษฎีบทที่ 29 ของเรขาคณิต แล้วมีคำว่า ซ.ต.พ. ซึ่งต้องพิสูจน์ นั่นก็คือเรื่องของการที่เราต้องพิสูจน์เสียก่อนถึงจะเชื่อ ซึ่งในที่สุดก็มาลงกับพระพุทธศาสนา หลักกาลามสูตร จงอย่าเชื่อในสิ่งที่ร่ำลือกันมา จงอย่าเชื่อสิ่งที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนจนกว่าจะได้พิจารณาด้วยเหตุและผล สูตรคณิตศาสตร์ต่างๆ เราทุกคนเรียนมาแล้วลืมหมด เพราะงั้นทุกคนถึงทำงานโดยไม่มีเหตุผล เพราะไม่ได้คิด ไม่ได้จำ ผมถึงต้องรู้และจำอะไรต่างๆ หลายอย่าง ผมหัดคิดเลขเร็วทุกวันเพื่อไม่ให้สมองเสื่อม ยกตัวอย่างเวลานั่งรถยนต์ คนขับก็ขับไป ผมก็มองท้ายรถแล้วก็บวกเลขทะเบียนรถ ผมทำเกือบทุกคัน คือถ้าเรานั่งว่างมันก็หลับสิ เวลาที่เราจะใช้ประโยชน์จากร่างกายเราก็หมดไปเฉยๆ วิธีใช้เวลาของคนเรามันมีอยู่ 24 ชั่วโมง ถ้าหลับต้องหลับให้จริง ถ้าตื่นต้องตื่นให้จริง ตื่นทั้งจิตด้วย ตื่นทั้งกายด้วย ไม่ใช่ตื่นเฉพาะกาย แต่จิตไม่ตื่น แย่เลย

GM : ใช้ชีวิตมาจนถึง 80 ปีแล้ว ถามว่าอาจารย์ชอบตัวเองตอนอายุเท่าไรมากที่สุดครับ

พิชัย : ตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ผมชอบทั้งนั้นแหละ ก็ผ่านอะไรมาตั้งเยอะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนเด็กๆ ผมเดินไปโรงเรียน 4-5 กิโลฯทุกวัน ผมไม่ได้น้อยใจเลยว่าพ่อแม่ไม่มีสตางค์ให้ขึ้นรถ แล้วไม่มีรถยนต์ไปส่งผมที่โรงเรียน แต่หารู้ไม่ ผมกลับได้ประโยชน์มากกว่าเพื่อนๆ ที่มีรถยนต์ที่บ้านไปส่ง หรือขึ้นรถรางไปโรงเรียน เพราะอะไร ขณะที่ผมเดินไปโรงเรียนทุกวัน ผมได้รู้ว่าใครเขาทำอะไร เขาหากินอะไร หยุดดูเรื่อย ความรู้รอบตัวผมเกิด แล้วไปไหนก็ตาม ผมชอบไปของผมเรื่อยๆ ผมใช้เวลาในการเดินไปเที่ยวทุกซอกทุกมุม ไปกรุงโรม ไปลอนดอน ไปปารีส ผมก็จะเห็นว่าเขามีชีวิตอยู่กันยังไง ทำอะไร ไม่ต้องไปขึ้นรถ ผมเดินเสียจนเข่าเสีย ตอนหลังก็มาคิดถึงข้อเท็จจริงที่ ขงจื๊อ สอนว่า ‘คนจะเป็นนักปราชญ์ได้ ถ้าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม เดินทางหมื่นลี้’ ผมนั่งเรือบินจนกระทั่งไม่รู้กี่แสนกี่ล้านลี้แล้ว แต่ถ้าผมนั่งเรือบินขึ้นไปจนกระทั่งเรือบินลง แล้วผมนั่งหลับแล้วมันจะไปรู้อะไร แต่ถ้าผมเดินไปตามถนนหนทางเรื่อยๆ ผมจะรู้อะไรเยอะแยะเลย ที่ไหนเขาอยู่กันยังไง ตรงไหนมีแม่น้ำ ตรงไหนมีสัตว์อยู่ มันมองเห็นชัดเลย เพราะเราเดินไปช้าๆ ทำไมต้นไม้ต้นนี้ใบแค่นี้ ทำไมต้นไม้นี้ใบยาวตั้งวา แล้วทำไมต้นไม้นี้ถึงขึ้นไปบนหลังคา ทุกอย่างทำให้เราเรียนรู้ได้ทั้งนั้นถ้าเรารู้จักสังเกต

ขงจื๊อ

คำสอนของนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีนคนนี้ ฝังรากอิทธิพลลึกลงไปในสังคมเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลาถึง 20 ศตวรรษ หลักปรัชญาของขงจื๊อนั้นเน้นเกี่ยวกับ ศีลธรรมส่วนตัว และศีลธรรมในการปกครอง ความถูกต้องเหมาะสมของความสัมพันธ์ในสังคม ความยุติธรรมและบริสุทธิ์ใจ ก่อนสิ้นใจ ขงจื๊อได้ทิ้งท้ายข้อความไว้ว่า ‘ขุนเขาต้องพังทลาย ขื่อคานแข็งแรงปานใด สุดท้ายต้องพังลงมา เหมือนเช่นบัณฑิตที่สุดท้ายต้องร่วงโรย’

ผมเคยไปอยู่อเมริกา แล้วมีคน Offer ให้ผมทำงานทีวีที่นั่น ผมมานั่งนึกๆ ดู ได้เงินเดือนวีคละพันเหรียญ ตกเดือนละสี่พันเหรียญ ซื้อบ้านก็ได้ ซื้อรถยนต์ก็ได้ ผ่อนไปเรื่อยๆ ทุกอย่างมีพร้อมหมดเลย แต่สุดท้ายผมจะได้อะไร แล้วพ่อแม่พี่น้องผมอีกตั้งเยอะแยะเขามาด้วยไหมล่ะ เขาไม่มา เขาก็อยู่กรุงเทพฯ แล้วผมจะมีอะไร ผมมีแต่ความสุขกาย แต่มันจะสุขใจไหม คำตอบคือไม่ แต่อยู่ที่กรุงเทพฯ นี่สบาย ได้เห็นหน้าแม่หน้าพ่อ เห็นหน้าพี่หน้าน้อง ผมถึงบอกว่าบางทีคนมันคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเร่งตัวเองให้รู้จักคิดเสียตั้งแต่ยังหนุ่มๆ สาวๆ ไม่มีทางตกอับ เราต้องรู้จักตัวเองให้เร็ว

จุดแรกที่สุดที่ผมอยากจะสอนคนให้เข้าใจ อันแรก ต้องทำให้ตัวเองมี Reputation ที่ดี คือการมีชื่อเสียงเกียรติ- คุณในตัวของเราเอง ตั้งแต่เด็กจนโตเราจะต้องรักษาเกียรติภูมิของเราไว้ให้ได้ อย่าง จอร์จ วอชิงตัน ตอนเด็กๆ ไปฟันต้นแอปเปิ้ลที่พ่อรักมาก พ่อถามว่าใครฟันต้นแอปเปิ้ลของข้า จอร์จ วอชิงตันบอกผมเองครับพ่อ ผมว่ามันเกะกะ ผมก็เลยฟันทิ้ง พ่อโกรธมาก เพราะว่าแอปเปิ้ลต้นนั้นอร่อยมาก แต่ว่าในที่สุดพ่อก็บอก ดีแล้วละที่เอ็งทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง เป็นคนที่ทำอะไรผิดแล้วยอมรับ ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง โตขึ้นทำอะไรก็ตาม คนเขาจะได้นับถือ

จอร์จ วอชิงตัน

คือแม่ทัพคนสำคัญในสงครามประกาศอิสรภาพ ผู้กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ยาวนานถึง 2 สมัย อุดมการณ์ยิ่งใหญ่และคติการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างของคนรุ่นหลังทำให้ชื่อของเขาไม่เคยตาย

เอาง่ายๆ ผมจะวิจารณ์คุณให้ฟัง ผมนั่งดูคุณ เออเด็กคนนี้ใช้ได้ Repu-tation ของคุณใช้ได้ เพราะอะไร ผิวพรรณคุณสะอาดหมดจด ผมหวีเรียบๆ แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย คุยกันถ้าคุณไม่ตั้งใจฟัง ผมมองดูผมก็รู้ แต่นี่คุณมองตา ตั้งใจฟังผม ผมก็กล้าพูดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคุณมองไปโน่นไปนี่ ไม่มองผม ผมก็ไม่เล่าอะไรให้ฟัง เดี๋ยวก็จบ นี่คือ Reputation มันเกิด ต้องรักษาให้ได้ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่

อันที่สอง ต้องทำให้ตัวเองมี Governance ก็คือการรู้จักที่จะเป็นผู้บริหารงานได้ดี กำกับดูแลได้ดี ถ้าหากว่าเรามี Governance ก็คือเรามีความยุติธรรม ปกครองคนก็ปกครองด้วยความยุติธรรม รู้ผิดรู้ถูกของคนอื่น รู้ถูกรู้ผิดของตัวเอง รู้จักควบคุมการบริหารจัดการงานที่ทำให้สำเร็จไปตามเวลา นี่คือ Good Governance รัฐบาลก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน

อันที่สาม อยู่ที่ไหนต้องทำให้ที่นั่นให้มี Stability คือทำให้เกิดความมั่นคงกับสถานที่ที่เราอยู่ อยู่บริษัทก็ต้องช่วยให้บริษัทมี Stability ไม่ใช่เขาจ้างเราร้อยหนึ่งแต่เราทำงานแค่ยี่สิบบาท เขาขาดทุนทุกวันวันละแปดสิบบาท ถ้าจ้างเราร้อยบาท เราก็ควรจะทำงานให้เขาได้สองร้อย นั่นละ Stability มันเกิด

สามประการนี้ Reputation Gover-nance Stability ถ้าใครเอามาถือเป็นหลักในการใช้ชีวิต คนนั้นเอาตัวรอดได้เลย

GM : อาจารย์ยังเดินทางบ่อยเหมือนตอนหนุ่มๆ ไหมครับ

พิชัย : ตอนนี้ไม่เดินทางมากแล้ว หัวใจไม่ค่อยจะดี เลยลดละการเดินทาง

GM : พออายุมากขึ้น ร่างกายเป็นข้อจำกัดไหมครับ

พิชัย : การเรียนรู้ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาสังขารเข้าไปช่วยมากเท่าไร นั่งเฉยๆ มองดู ลม ฟ้า อากาศ แล้วก็คิดไป เช่น ธรรมะมาจากอะไร คำตอบคือธรรมชาติ พระพุทธเจ้าประสูติอยู่ใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ก็ใต้ต้นไม้ ปรินิพพานก็ใต้ต้นไม้ ท่านอยู่กับธรรมชาติ แล้วท่านก็มองเห็นโลกทะลุปรุโปร่ง ทุกอย่างในโลกนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ต้นจามจุรีที่เห็นอยู่นี้แตกใบอ่อนในฤดูใบไม้ผลิ พอถึงเดือนเมษาฯ พฤษภาฯ ใบมันก็จะร่วงหมด เพราะใบมันแก่แล้ว ก็เหมือนคนเราที่เจ็บแล้วก็ตาย พระ- พุทธเจ้าท่านทรงทราบธรรมะจากธรรมชาตินี้ ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นคำสอนที่ท่านให้มาตั้งแต่แรกแล้ว ชีวิตคนเราสั้นแค่นี้เอง เวลาตายแล้วเขาก็เอาไปเผาหมดค่า คืนสังขารให้กับธรรมชาติ แล้วมันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ภาวะแห่งโลกคือการหมุนเวียน ถ้าเรามองอย่างนี้เราจะเข้าใจ แต่ถ้ารู้อะไรมา แล้วไม่คิดก็จะไม่เห็น ถ้าไม่คิดก็จะนึกไม่ออกว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้

การสังเกตเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญญา อย่างผมสังเกตว่าทำไมต้นไม้ต้นนี้ถึงต้องปลูกอย่างนั้น มันเติบโตใบเบ้อเริ่มเทิ่มเพราะได้อยู่ในรำไรของป่า ได้แสงจากแดดมาบ้าง ร่มไปบ้าง มันก็มีเวลาหยุดเวลาพัก ตรงกันข้าม ถ้าโดนแดดเรื่อยๆ มันก็โตไม่ออก เพราะฉะนั้นผมก็เอาธรรมชาติที่ผมเห็นนี่แหละมาใช้ในการคิดว่าจะวางต้นไม้ที่ไหน ให้มันงามให้มันสวย ไอ้นี่ก็ใช้ได้ใช่ไหมล่ะ จากการที่เราตั้งข้อสังเกต แล้วมันจะเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดผมก็ได้ต้นไม้ที่งาม คนอื่นเลี้ยงเท่าไรก็ไม่โตเท่าผมเลี้ยง ผมไม่ได้ไปโอ้อวดอะไร นี่เล่าให้คุณฟัง

GM : ตอนนี้ความทะเยอทะยานที่สุดของอาจารย์คือเรื่องอะไร

พิชัย : ไม่มี ผมไม่อยากเป็นอะไรทั้งสิ้น ผมเคยพูดเสมอเมื่อมีคนเขา Offer ให้ผมเป็นโน่นเป็นนี่ ผมขอเป็นนายพิชัยอย่างเดียวเถอะ เพราะนายพิชัยใครก็ถอดผมไม่ได้ ความรู้ที่ผมมีอยู่ ใครก็ขโมยผมไปไม่ได้ ถ้ามีเงินคนก็ยักยอกผมได้ โกงผมได้ อะไรได้สารพัดอย่าง แต่ถ้าผมมีความรู้เก็บเอาไว้มากเท่าไร ผมใช้ไม่หมด ผมถึงบอกว่าถ้าตราบใดที่ผมยังอ่านหนังสือได้ ฟังอะไรต่างๆ ได้ ผมพอใจที่ผมจะรู้ไปจนตาย นี่แหละคือของขวัญปีใหม่ที่จะฝากให้กับทุกคน โปรดได้รู้ว่าทุกคนมีสมรรถภาพอย่างเดียวกับผม เป็นแต่ว่าจะยอมนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม ซ.ต.พ. ซึ่งต้องพิสูจน์ เสียก่อนถึงจะเชื่อนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงทำอย่างเดียวกัน ในที่สุดไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา มันลงตัวอย่างเดียวกัน คือ ซึ่งต้องพิสูจน์ทั้งนั้น ผมรู้ไปทำไม รู้ไปเพื่อพิสูจน์

GM : อาจารย์เขียนหนังสือมาเยอะมาก และยังเป็นนักอ่านตัวยงอีกด้วย หนังสือเล่มไหนที่เปลี่ยนชีวิตอาจารย์มากที่สุดครับ

พิชัย : หนังสือทุกเล่ม เมื่อก่อนผมชอบอ่านงานของคุณหลวงวิจิตรวาทการ อย่าง ‘ห้วงรักเหวลึก’ เป็นเรื่องที่เล่าได้สารพัดชนิดที่เราจะเข้าใจได้ว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น หนังสือในบ้านทั้งสองหลังนี้มีทั้งหมดเป็นพันเป็นหมื่นเล่ม เพื่อนมาหาผมที่บ้าน แล้วถามว่าเอ็งอ่านหนังสือนี่หมดเหรอ ผมบอกถ้าข้าอ่านหมด ข้าก็บ้าแล้ว รู้อะไรสารพัดแล้วก็สับสนอยู่ในสมอง มันก็บ้า แต่เราได้ความรู้จากหนังสือเล่มหนึ่ง แม้แต่วรรคเดียวก็ยังดี แล้วต่อไปเราก็สามารถหยิบมารีไรต์ หรือแปลออกมา แล้วก็เอามาขยายความได้

GM : อาจารย์เคยผ่านช่วงที่แย่ๆ ของชีวิตมาแล้ว เคยแม้กระทั่งติดคุกที่เรือนจำบางขวางกว่า 8 เดือน แต่ก็กลับแปลหนังสือในคุกเรื่องตำราพิชัยสงครามของซุนวู

พิชัย : ผมทำยิ่งกว่านั้นอีก ไปสอนนักโทษทำงานฝีมือ ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าราชทัณฑ์ เป็นที่รู้จักกันดีว่าผมเข้าไปสอนอยู่ในคุกด้วยความเพลิดเพลิน

GM : เพราะฉะนั้นช่วงที่ติดคุกจึงไม่ใช่ช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดในชีวิต

พิชัย : ไม่ใช่ ยังไม่รู้ว่าจะย่ำแย่ที่สุดเมื่อไหร่ ท้อแท้เมื่อไรก็คือย่ำแย่เมื่อนั้น ความท้อแท้มันทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่อยากเรียน ไม่อยากรู้ ไม่อยากทำ คนเราอย่าท้อแท้ อกหักก็ไม่ต้องท้อแท้ เราก็ยังอยู่ ตัวเราก็เป็นอย่างนี้

GM : อาจารย์ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกมาเยอะ เจอคนดังระดับโลกมาก็มาก เหตุการณ์ไหนที่กระทบใจอาจารย์มากที่สุด

พิชัย : เรื่องนี้พูดยากเหลือเกิน ทุกอย่างมันมีดีมีชั่วทั้งนั้นแหละ ผมเห็นต้นไม้ตายเมื่อไร ผมก็เศร้า วันก่อนตลิ่งพังทับงูตายผมก็เศร้า เพราะว่าที่บ้านผม ผมห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเด็ดขาด เลี้ยงไก่ไว้ตั้ง 40-50 ตัวมันก็อยู่ นกมากินน้ำในบ้านนี้บ่อยๆ บางทีงูก็เลื้อยไป กระรอกก็มากินชมพู่ที่ปลูกไว้ ผมก็ไม่โกรธ นั่งมองมันไปเรื่อยๆ เพราะว่าตามธรรมชาติ มันต้องอยู่ด้วยกัน ผมก็ขออยู่ด้วยคน เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ผมถือศีล 5 เคร่ง ผมไม่ตบยุง เวลาเดินผมต้องระวังไม่ให้เหยียบมด คุมสติของตัวเองเอาไว้อย่างนี้ นั่งมองไปเรื่อยๆ มันก็สุขดี เพราะบ้านผมเหมือนป่า ไม่ว่าใครก็ตามมาอยู่ที่นี่แล้วต้องมีความสุข ถ้านั่งอยู่ตรงนี้แล้วอึดอัด คงไม่คุยกันได้นาน

GM : บทบาทไหนที่เป็นตัวตนอาจารย์มากที่สุดครับ

พิชัย : พูดยาก (หัวเราะ) ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ ผมยังดีใจที่ผมยังเป็นคนอยู่ อันนี้ต้องคิดให้ดีๆ นะ ต้องไปตีความให้ดีว่า คำว่าเป็นคนหมายความว่าอะไร ผมยังเป็นคนอยู่นี่ ผมถือศีล 5 ผมไม่เล่นเบี้ยเสียถั่ว ผมไม่กินเหล้าเมายา อันนี้ผมพอใจแล้ว ถึงแม้ว่าไม่ถึงขั้นประพฤติพรหมจรรย์ แต่อย่างน้อยที่สุด ผมก็ยังอยู่ในศีลในธรรม

GM : ปีใหม่นี้อาจารย์ตั้งใจจะทำอะไรบ้าง

พิชัย : ไม่เคยคิดเลยนะเรื่องนี้ ไม่มีประโยชน์ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ทุกอย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะเผชิญกับอะไรปีหน้า จะอดอยากปากแห้งหรือว่าจะมีงานทำสม่ำเสมอ ก็ยังนึกไม่ออก และไม่นึก มันมาเมื่อไรก็เมื่อนั้น เป็นอะไรก็แก้ไขกันตอนนั้น แต่ถ้าชีวิตมันดีอยู่ ก็ทะนุถนอมมันเข้าไว้

กฎธรรมชาติ

หลักธรรมที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา สรุปสั้นๆ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็มีไม่ได้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับ”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ