พศวีร์ เวชพาณิชย์
สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์ Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์
- เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘บริษัท Startup’ คุณจะนึกถึงอะไร ภาพที่ปรากฏขึ้นในห้วงความคิดอาจเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น Facebook หรือ Agoda แต่ที่จริงแล้วโลกแห่ง Startup นั้น มีความหลากหลายและต้องใช้เวลาในการ ‘ปั้น’ ไอเดียแรกเริ่มให้เป็นรูปเป็นร่าง ฟูมฟักจนสามารถสร้างผลกำไร และเติบโตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานนั้นเองจึงจะเรียกว่าเป็น Startup ที่มีความยั่งยืน และสำหรับตลาด ‘อสังหาริมทรัพย์’ นั้น แม้จะไม่ได้บูมหรือใหญ่โตเทียบเท่ากับ Tech Startup แต่ก็คือสิ่งจำเป็นในการอยู่อาศัย ย่อมมีความสำคัญอย่างไม่ธรรมดา
- เช่นนั้นแล้ว การได้มีส่วนร่วมในบริษัท Startup ที่มีเครือข่ายในระดับ Global สำหรับ พุฒ-พศวีร์ เวชพาณิชย์ ผู้ดำรงตำแหน่ง CTO แห่งบริษัท RentSpree Thailand คอยดูแลระบบแอปพลิเคชัน RentSpree สำหรับผู้ใช้งานฝั่งอเมริกา จึงเป็นมากกว่าความฝัน หากแต่เป็นเส้นทางอันท้าทาย การเรียนรู้ และการทำตามเป้าหมายให้ถึงฝั่งฝัน
ที่มาที่ไปหลังจากเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พัศวีร์ : ตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะเข้ามาทำธุรกิจ Startup นะครับ เพราะเห็นว่าโตและไปได้เร็ว ก็เหมือนกับเด็กจบใหม่ไฟแรง มีความคะนองนิดหนึ่งครับ เริ่มทำฟรีแลนซ์ก่อน บวกกับตอนที่ใกล้ๆ เรียนจบมีคนต้องการให้ผมสร้างโปรแกรมต่างๆ ให้ค่อนข้างมากพอสมควร ก็พอจบปุ๊บผมก็ทำเลย ใครเสนองานอะไรมาก็ทำหมด ทำฟรีแลนซ์กับเพื่อนอีก 3 คนอยู่ประมาณปีหนึ่ง ได้ประสบการณ์พอสมควร เพราะเหมือนว่างานฟรีแลนซ์ที่ผมทำเป็นความห้าวตามสไตล์เด็กรุ่นใหม่แต่ก็มีงานที่เจ็บที่สุด คือทำงานกัน 3 คน ใช้เวลา 3 เดือนด้วยค่าจ้างแค่ 30,000 บาท แต่ก็ดีที่ได้ประสบการณ์ หลังจากนั้นผมก็รู้แล้วว่างานแบบนี้ 30,000 บาทไม่ได้แล้ว ก็เริ่มปรับราคาขึ้นมานิดหนึ่ง
การดีลงานระหว่างฝั่งไทยกับอเมริกา มีความยากหรือความแตกต่างกันอย่างไร
พัศวีร์ : ในจุดนี้ เนื่องด้วย COO ที่ฝั่งแอลเอ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นคนไทย กำแพงภาษาจึงไม่ใช่ปัญหา แต่กับสมาชิกคนอื่นๆ เรื่องภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคมากๆ ชนิดที่ว่า ฝึกให้เขียนโปรแกรมยังง่ายเสียกว่า อีกประการหนึ่งคือเรื่องของ Time Zone หรือเวลาท้องที่ จัดว่าค่อนข้างแย่มาก คือห่างกันเกือบ 15 ชั่วโมง เวลาทางนั้นทำงาน ตรงกับเวลานอนทางฝั่งไทย ก็พยายามจัดการกันในเรื่องนี้
ปรับตัวอย่างไรกับสภาวะแบบนี้
พัศวีร์ : ในส่วนของ RentSpree พยายามผลักดันอะไรที่เป็นการทำงานระหว่างทีมให้ลงตัวมากขึ้น อย่างเช่นงานในส่วน support ก็จะมาเซตในส่วนขอบเขตของงานที่สามารถรับได้ ถ้ามีงานด่วนที่สุดรับได้ที่เท่าไร กำหนดเป็นตัวเลขไปเชื่อมกับระดับความหนักหน่วงของปัญหา บางปัญหาหนักมากก็ต้องมีคนคอยมอนิเตอร์อยู่ 24 ชั่วโมงเพื่อให้เพื่อนเหมือนมี Overhead Time ติดต่อกันได้
ทำฟรีแลนซ์มาตลอด แล้วมาร่วมหัวจมท้ายกับ RentSpree ได้อย่างไร
พัศวีร์ : เป็นเรื่องของจังหวะครับ คือตอนแรกรุ่นพี่ผมเปิดบริษัท และพวกผมก็ทำงานฟรีแลนซ์กัน 3 คน แต่ทีนี้มีคนหนึ่งสละเรือ ขอลาออกไปเรียนต่อ พอเหลือ 2 คนเราก็เคว้ง พอมาเจอรุ่นพี่คนที่ว่า ก็มาร่วมกันเป็น Software House ซึ่งผู้ก่อตั้งต้องการทดสอบไอเดียด้วยเงินก้อนแรกสุดที่มี เรียกว่าเงินก้อน Angel ทำนองว่าได้จากการขอหยิบยืมจากคนรอบตัวบ้าง กู้ธนาคารบ้าง มาจ้างเราเป็นเหมือน Contract ให้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้เขาก่อน ทำอย่างนั้นอยู่ประมาณปีหนึ่งจากผลิตภัณฑ์ชุดแรก ก็มีที่ทำเสร็จแล้วไม่โอเคก็โละทิ้งหมดเลย แล้วก็ไปทำจุดอื่นแทนก็โอเคขึ้น โตขึ้น พอโตไปได้สักพักก็รวมเอาทีมที่มีไปเข้าร่วมกับ RentSpree เป็น RentSpree Thailand ขึ้นมา
อยากให้ช่วยเล่าเกี่ยวกับประเด็นในส่วนของ ‘Seed Fund’สักนิดหนึ่ง
พัศวีร์ : ต้องเล่าก่อนเกี่ยวกับ Startup ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยเงินFunding ซึ่งจะมีระดับขั้นต่างๆ เริ่มด้วยขั้น Angel Fundหรือเงินที่ลงกันเองอย่างที่กล่าวไป ใช้เงินก้อนนี้สร้างธุรกิจขึ้นมา พอถึงจุดที่สองเริ่มมีผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ ก็จะเป็น Seed Fund ซึ่งจะมีจำนวนบอกเอาไว้ชัดเจน จากนั้นก็จะไต่ขึ้นไปเป็น Series A, Series B, Series C ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้น บริษัทจะมีมูลค่ากว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว ซึ่งก็มีทางไปต่อสองทาง คือเปิด IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน หรือถูก Acquiring ซื้อไปโดยกลุ่มบริษัทที่ใหญ่กว่า เป็น Exit หรือปลายทาง
เคยวางตัวเองไว้ว่า RentSpree จะไปถึงขั้น ‘ยูนิคอร์น’ แล้วหรือไม่
พัศวีร์ : ในจุดนี้ผมคิดว่า RentSpree น่าจะไปถึงระดับยูนิคอร์นยากแล้วน่ะครับ อันนี้ในมุมมองของผมนะ คือจะมีเกณฑ์ของระดับยูนิคอร์นอยู่ คนจับตามองการเติบโตชัดเจน ซึ่งการที่ Startup เป็นยูนิคอร์นก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป ไม่ว่าจะในเคสของบริษัท Theranos หรือ WeWork ที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาว หรือเอาที่ใกล้ตัวที่สุดก็ Uber ซึ่งพวกนักลงทุนหรือ Venture Capital จะระวังตัวกันมาก กับ Startup ที่ไม่ทำรายได้ มองว่ามีความเสี่ยงและอันตราย ซึ่ง Uber นั้นก็มีจำนวนคนใช้นะครับ มีจำนวนผู้ให้บริการมากขึ้น เน้นการเติบโตแต่ไม่สร้างรายได้หรือกำไร ทีนี้กลับมาที่RentSpree ในจุดที่เราได้เงิน เรามีรายได้คงตัวพอสมควร ในระดับ ‘Break-Even’ คือเพียงพอจะหล่อเลี้ยงทีมได้ ก็เลยทำให้ VC มองว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยพอสมควร
มีเงื่อนไขอื่นอีกหรือไม่ในการจะได้รับ Seed Fund
พัศวีร์ : เงื่อนไขก็คือคนควรจะต้องมี Market Proof หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการตลาด มีผู้ใช้งานจริงให้เห็น พวกไอเดียตั้งต้นน่าจะไม่ค่อยพอกับการได้รับ Seed Fund เท่าไร คือจะต้องมีผู้ใช้งานที่ได้รับความพึงพอใจในระดับหนึ่งเลยถึงจะเพียงพอ ซึ่งในจุดนี้ VC จะลง Seed Fund เขาจะมองถึงการเติบโตของบริษัทที่ลงทุนให้ไปถึง Series A คือประมาณ 10 เท่า รวมถึงในแง่การเติบโต แต่ในมุมของผมที่เป็นนักพัฒนา ตัวสินค้าที่ทำมาก็ต้องพิจารณาว่าน่าจะสามารถสร้างรายได้และกำไรในระดับหนึ่ง และสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้
จำนวน Seed Fund ที่ได้มาเกือบ 70 ล้านบาท เคยคิดไว้หรือเปล่าว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้
พัศวีร์ : จริงๆ Seed Fund เป็นหลักไมล์ที่ Startup จะต้องผ่าน เงิน 70ล้านบาท อาจฟังดูเยอะนะครับสำหรับเงินไทย แต่มันเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเล็กๆ ของเกม Startup เลยด้วยซ้ำ ถ้าขึ้น Series ถัดๆ ไป ก็จะยิ่งมากขึ้นกว่าจุดนี้หลายเท่า แต่ถ้าถามว่าผมฝันถึงขั้นไหน ก็เหมือนคนทำ Startup ทั่วไป ก็หวังจะ Exit ด้วยมูลค่าบริษัทที่สามารถ IPO เปิดขายหุ้นเป็นบริษัทมหาชนได้ แต่ตอนนี้ ผมคิดเอาไว้ให้ถึงระดับ Series B แล้วค่อยมาดูกันอีกทีว่าเราจะ Exit แบบไหน จะ IPO หรือถูกซื้อไป ซึ่งตอนแรกก่อน COVID-19 มา วางเป้าเอาไว้ที่ประมาณ 3-4 ปี แต่พอมีวิกฤติเข้ามาระยะเวลาก็เพิ่มมากขึ้น
กลัวหรือเปล่ากับการที่มีบริษัท Tech Startup เปิดเพิ่มมากขึ้น
พัศวีร์ : เอาจริงๆ ส่วนตัวผมชอบให้มีบริษัท Startup มากกว่านี้ เพราะในปัจจุบันซบเซาลงไปมาก เมื่อเทียบกับตอนที่ผมเรียนจบใหม่ๆ รวมถึงกระบวนการที่จะเป็น Venture Capital นั้นค่อนข้างมีความซับซ้อนสูง เลยส่งผลกระทบต่อเงินทุน ถ้าไม่มีเงินทุน ธุรกิจก็ไม่กระเตื้อง ภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ทั้ง VC และ Startup สามารถดำเนินงานต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอเมริกาน่าจะมีการแข่งขันสูง คิดว่าอะไรคือข้อดีของ RentSpree ที่ให้กับผู้ใช้งาน และแตกต่างจากผู้ให้บริการเจ้าอื่น
พัศวีร์ : สิ่งที่แตกต่าง คือ พยายามรื้อกระบวนการต่างๆ ใหม่ ความแปลกของ Property Tech คือ เป็นตลาดที่ค่อนข้างมีการ Disruptหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ค่อนข้างยาก เพราะในส่วนอสังหาริมทรัพย์คือความพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนในกระบวนการที่มีอยู่แต่เดิม แต่พยายามลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวก และให้ผู้ใช้งานเห็นจริงๆ ว่า ถ้าคุณใช้งานสินค้าของเรา จะช่วยลดเวลาให้คุณได้ และช่วยลดต้นทุนให้คุณได้
กระบวนการที่เร็วขึ้นนิดหนึ่ง สะดวกขึ้นนิดหนึ่ง สลักสำคัญถึงขั้นสร้างความต่างได้เลยจริงๆ หรือ
พัศวีร์ : สร้างความแตกต่างพอสมควรนะครับ เพราะโปรแกรมที่ทำคือการเชื่อมโยงระหว่าง Buyer-Customer ยกตัวอย่างง่ายๆ คือนายหน้าเป็นคนกลางให้เจ้าของ หาคนมาเช่าที่อยู่อาศัย สัญญาหนึ่งปี ทีนี้ตัวนายหน้าจะมีขั้นตอนการทำงานของเขาอยู่พอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่พร้อมเปิดใจรับแนวทางใหม่ๆ นะครับ เพราะถ้าสมมุติว่าเขาได้เวลาเพิ่มขึ้นมาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เขาก็ยินดีที่จะปรับวิธี ทีนี้ โมเดลธุรกิจของเราคือไปเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรของนายหน้า แล้วทำหน้าที่สกรีนคนที่จะมาเช่าบ้าน พูดคุยตกลงกันว่าจะมีส่วนแบ่งประมาณนี้ สนใจหรือไม่ ถ้าสนใจก็ร่วมมือกัน นี่คือขั้นตอนที่ทำให้ได้เข้าไปในตลาด
ตำแหน่ง CTO ที่ดูแลด้านเทคนิค ประสบปัญหาในการจัดการ และจัดสรรเวลาชีวิตอย่างไร
พัศวีร์ : (นิ่ง) ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ หาคนมาเติมตำแหน่งไม่ทัน คือได้งบประมาณมาแล้ว แต่หาคนมารองรับในตำแหน่งงานไม่ได้ซึ่งเกิดจากตลาดซอฟต์แวร์ของไทยนั้นแข่งกันค่อนข้างสูง และภาคมหาวิทยาลัยผลิตวิศวะคอมพิวเตอร์ได้ไม่ทัน นอกจากนั้นก็เป็นปัญหาปลีกย่อย เช่น โตช้าไปหรือไม่ ควรจะขอเงินมาเพิ่มอีกเท่าไร ซึ่งปัญหาก็คลี่คลายไปได้หลายส่วนแล้ว
สำหรับชีวิตส่วนตัว ผมค่อนข้างสนุกกับการทำงานและการแก้ปัญหาเลยไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร และนโยบายบริษัทค่อนข้างจะมีเวลาการทำงานยืดหยุ่น คือเข้างานก่อน 11.30 น. ทำงาน 8 ชั่วโมง คำนวณไป จัดการชีวิตตัวเองไป แล้วแบ่งเวลาที่เหลือ เช่น ผมชอบออกกำลังกาย เพราะช่วยลดความเครียด นอนได้ง่ายขึ้น นอกนั้นก็หาความรู้เพิ่มเติม เป็นต้น
แล้วคิดว่า RentSpree จะมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างแบรนดิ้งของตัวเองเพิ่มเติมหรือไม่
พัศวีร์ : จะทำคือทำได้นะครับ แต่อย่างที่เรียนให้ทราบ ปัญหาหน้างานหลักๆ ตอนนี้เลยคือ คนไม่พอ ซึ่งผมโฟกัสในจุดนี้ไปก่อน เพราะไม่ทันจริงๆ แต่ก็คิดเผื่อเอาไว้ว่า ถ้าสามารถแก้ปัญหาด้านจำนวนคนทำงานได้แล้ว ก็อาจจะขยายพื้นที่ไปภูมิภาคยุโรปก่อน
ทำไมถึงไม่ขยายตลาดมาที่ประเทศไทย
พัศวีร์ : กฎระเบียบตัวเดียวเลยครับ คือที่อเมริกาตัวอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมีกฎระเบียบที่ล้ำสมัยพอสมควร อย่างระบบนายหน้าของไทย ผมเป็นนายหน้า ผมลงประกาศว่าจะขายบ้าน แต่ไม่กล้าลงว่าบ้านที่ว่านั้นอยู่ที่ไหน เพราะกลัวผู้ซื้อจะข้ามไปซื้อกับเจ้าของโดยตรง แล้วคนซื้อก็ไม่อยากหักหัวคิวให้นายหน้า ซึ่งตรงนี้คือส่วนที่กฎระเบียบต้องเข้ามาช่วย
แต่ในอเมริกา ผมอยากจะขายบ้าน ผมคุยกับนายหน้า เซ็นสัญญากันให้เคลียร์ ตกลงกันให้ชัดเจน แล้วเวลาที่จะขายบ้าน เขามีกลุ่มเครือข่ายที่ทำให้ขายบ้านได้ง่ายขึ้น และมีระบบที่สามารถเลือกได้ว่าจะให้มีคนมาช่วยขายบ้านหรือเปล่า จะแบ่งผลประโยชน์อย่างไร มีกฎกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ไม่ได้มีข้อกำหนดในจุดนี้ รวมถึงนายหน้าที่อเมริกา ก็มีกฎระเบียบในการทำงาน แบ่งเป็นลำดับขั้น เริ่มต้นจาก Real Estate Agent จากนั้นขยับขึ้นมาเป็น Realtor ที่ต้องมีชื่ออยู่ในสามองค์กรเป็นขั้นต่ำ
ประสบปัญหาความต่างระหว่างวัย ที่แนวคิดแตกต่างกันหรือไม่
พัศวีร์ : ในจุดนี้ ถ้ามองในรูปแบบของทีม ในฐานะที่เป็นคนดูแล ผมใช้วิธีแบบรุ่นเก่านะ คือใครที่พยายามมาก ก็ควรจะก้าวหน้า แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ คือทำงานหนัก และทำงานให้ฉลาด คอยหมั่นตรวจสอบผลลัพธ์อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่อยากได้ คือผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ทีนี้กลับมาที่เรื่องเด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน ผมว่าคนรุ่นใหม่ชอบ Storytelling ชอบเรื่องราวเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเราต้องหาให้เจอ และถัดจากนั้นคือการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและแรงบันดาลใจ รวมถึงค่าตอบแทนสำหรับทีมงาน ให้มีความเหมาะสม ลงตัว ไปกันได้กับชีวิตของคนทำงาน
แล้วเจอ ‘แรงบันดาลใจที่ว่า’ นี้หรือยัง
พัศวีร์ : ถ้าพูดให้คนรุ่นเก่าๆ ฟังอาจจะไม่ค่อยชอบนิดหนึ่ง แต่ทุนนิยมคือสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนเด็กรุ่นใหม่ได้ดีพอสมควร คือเด็กๆ เขาอยากมีเงิน อยากจะใช้จ่าย อยากจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ใช้สินค้าดีๆ เพราะฉะนั้นตัวนี้คือส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็น Motivation หลักให้เด็กรุ่นใหม่ได้
Rentspree เชื่อมระหว่างผู้ให้เช่า ผู้หาที่อยู่ และคนกลาง มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาโปรแกรมแล้ว ‘ตัดคนกลาง’ ออกไปหรือไม่
พัศวีร์ : เป็นไปได้ครับ แต่คงยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะกระบวนการหาเช่าที่อยู่อาศัยนั้นละเอียดอ่อน ดังนั้นวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ไม่ได้ตั้งว่าจะตัดคนกลางออก แต่ต้องการที่จะสร้างคอนเนคชันระหว่างแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็คือเจ้าของที่อยู่อาศัย นายหน้า และผู้เช่า สร้างคอนเนคชันของคนกลุ่มนี้ให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดการแมตช์ของบ้านที่ดี นั่นคือสิ่งที่เราตั้งเป้าเอาไว้
ในฐานะ ‘รุ่นพี่’ ในสาย Startup มีคำแนะนำหรือจุดที่อยากให้ระวังอะไรบ้าง
พัศวีร์ : ยืนยันคำเดิมครับว่า เริ่มให้เร็ว ลงมือทำ เรียนรู้ในทันที เพราะ Startup ถ้าเทียบกับ SME คือต่างกันมาก และเป้าหมายของสองธุรกิจก็ต่างกัน ทุกวันมีเรื่องให้เรียนรู้ไม่จบไม่สิ้น อย่างที่สองคือไอเดียกับการลงมือทำ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะ คือไอเดียมีราคาไม่เท่ากับการลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพราะไอเดีย ใครก็คิดได้ แต่การทำให้เห็นต่างหากที่จะวัดกันไปเลยว่ามันจะ ‘เกิด’ ได้หรือเปล่า
แต่การ ‘พิตช์งาน’ หรือเสนอไอเดีย ก็ยังเป็นขั้นตอนสำคัญอยู่ไม่ใช่หรือ
พัศวีร์ : ผมมองว่าการพิตช์งานคือการ ‘ลงมือปฏิบัติ’ ในขั้นต้น คือคุณสามารถทำให้คนสนใจในไอเดียของคุณได้ไหม คุณ ‘ขาย’ไอเดียของคุณให้กับผู้ซื้อ ให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถเกิดขึ้นจริงได้ไหม เพราะถ้านั่งคิดอยู่คนเดียว ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าไอเดียที่ว่าจะขายได้หรือไม่ได้
ใช้หลักอะไรในการทำงานในแต่ละวัน
พัศวีร์ : นี่เป็นจุดที่ผมค่อนข้างจะเป็นความแตกต่างระหว่างรุ่นพอสมควร คือผมค่อนข้างเชื่อว่า ถ้าเราพยายามมากพอต้องได้รับผลตอบแทนกลับมา เป็นสิ่งที่ทำให้เดินหน้าต่อไป ทำงานให้หนักมากขึ้นครับ
มองภาพ RentSpree Thailand ในอนาคตไว้อย่างไรหลังผ่านเวลาไป 2 ปี จะยังทำหน้าที่ Support ตลาดที่แอลเอ หรือจะขยายกิจการมาที่ประเทศไทย
พัศวีร์ : ตัวโมเดลธุรกิจค่อนข้างจะเปิดกว้างนะครับ และภาพที่ผมมองเอาไว้ ผมอยากให้มีบรรยากาศของ Silicon Valleyในเมืองไทย เพราะผมเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพ เพราะบริษัทที่เป็น Tech Firm ใหญ่ๆ หลายที่ ก็มีสาขาที่ไทยอยู่เหมือนกัน คนไทยมีความสามารถที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับโลก เพียงแต่ว่าน่าจะยังขาดการเชื่อมโยงของ Community ให้เกิดการพัฒนากลุ่มสังคมร่วมกัน โดยส่วนตัวผมอยากให้บริษัทไปถึงระดับโลก แต่ก็อยากขับเคลื่อนให้เมืองไทยมีบรรยากาศแบบ Silicon Valley ด้วยเช่นกัน
ถ้าไม่ได้ทำ RentSpree คิดว่าจะทำงานอะไร
พัศวีร์ : (นิ่ง) ข้อนี้ไม่เคยคิดมาก่อนเลยครับ แต่ถ้าตอบตรงๆ ก็คงไม่ทิ้งทักษะด้านการเขียนโปรแกรมของตัวเอง เพราะผมอยู่และมีความสุขกับการเขียนโปรแกรมได้เป็นเวลานานๆ สามารถนั่งได้ตั้งแต่เช้า เขียนโปรแกรม พัฒนานั่นนี่ รู้ตัวอีกทีก็มืดแล้ว ส่วนจะเป็นตลาดไหนของด้านซอฟต์แวร์ก็คงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ชีวิตของคนสะดวกมากยิ่งขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเพราะส่วนตัวผมชอบอะไรที่ ‘มีประสิทธิภาพ’ ‘สะดวก’ และ ‘รวดเร็ว’ ซึ่งถ้าสิ่งที่ผมทำช่วยให้เกิดสิ่งเหล่านี้กับผู้ใช้งานได้ก็จะรู้สึกได้รับการเติมเต็มพอสมควร