เพชร โอสถานุเคราะห์ เพียงคนธรรมดาหรือผู้วิเศษ
เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว หนุ่มยุคนั้นได้ยินชื่อ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ พร้อมๆ กับความดังของเพลงเพราะๆ อย่าง ‘เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ’ ความดังของเพลงนี้อยู่ข้ามยุคข้ามสมัยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนนำมาร้องใหม่อยู่เสมอ แม้ว่า เพชร โอสถานุเคราะห์ จะมีอัลบั้มใหม่ออกมาแล้วก็ตาม บทบาทที่เราคุ้นตาชายที่ไม่ใช่ผู้วิเศษคนนี้ น่าจะเป็นการเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และนักธุรกิจที่ทำมาแล้วหลายหลาก ตั้งแต่งานโฆษณา งานนิตยสาร งานด้านการตลาด ซึ่งก็ดูเหมือนไปกันได้ด้วยดีกับภาพลักษณ์ที่ดูแตกต่างจากปุถุชนทั่วไป เพชรมักมาพร้อมแว่นตาดำ ผมที่ปล่อยฟูตามธรรมชาติ และเสื้อผ้าสีสันสดใส ทุกวันนี้แม้วัยจะล่วงเลยเข้าสู่หลัก 5 แล้วก็ตามที แต่กระนั้นก็อดไม่ได้ที่จะมีผู้คนตั้งคำถามถึงบทบาทของเขากับการขึ้นมาเป็นประธานบริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดูจะเป็นนักบริหารการศึกษาที่บุคลิก ‘แตกต่าง’ และเปรี้ยวที่สุดในประเทศนี้ก็ว่าได้ การตัดสินใจขึ้นมากุมบังเหียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพอย่างเต็มตัวในห้วงเวลาที่ไม่มีอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้เปรียบเสมือนหัวเรือใหญ่ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เขาจะนำพาไปในทิศทางใด เสียงแห่งความสงสัยที่ดังขึ้นรอบตัวเพชรถึงบทบาทใหม่จะทำให้เขาไปถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่อย่างไร นี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่จะคุยกับเขา เพชรนั้นมีหลายเหลี่ยม และเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายเหลี่ยมมุมของ ‘เพชร’ เม็ดนี้ ที่เราต่างไม่เคยได้รู้มาก่อน เราไปคุยกับคนธรรมดาที่แสนวิเศษคนนี้กันเลยครับ !
GM : คุณมองเรื่องธุรกิจการศึกษาในบ้านเราทุกวันนี้เป็นอย่างไร
เพชร : จริงๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจนี้มากนัก เพราะตั้งแต่เริ่มต้นที่ทางอาจารย์สุรัตน์และอาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ เริ่มก่อตั้ง ครอบครัวเราก็ไม่ได้มองเป็นธุรกิจ ผมเองก็ไม่ได้มอง แล้วก็ไม่ได้สนใจคู่แข่งอะไรมากมาย แค่ทำตัวของเราให้ดีที่สุดก็เท่านั้น แต่ตอนนี้ลงมาสัมผัสมากขึ้น ต้องยอมรับว่าการแข่งขันนั้นสูง แต่ดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจน ทุกมหาวิทยาลัยก็ยังทำอะไรคล้ายๆ กัน มหาวิทยาลัยเอกชนก็มักมองมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นแม่แบบ ซึ่งตอนนี้มหาวิทยาลัยของรัฐก็มีนโยบายในการรับนักศึกษามากขึ้น เช่นการเปิดมหาวิทยาลัยราชภัฏมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เห็นว่าภูมิสถาปัตย์ของการศึกษาและการแข่งขันเริ่มเปลี่ยนไป เราเองก็ต้องเริ่มมีการปรับปรุงตัวเองให้ก้าวทันกับสังคมมากขึ้น ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะคำนึงถึงธุรกิจมากขึ้นนะครับ เพราะถ้าคิดอย่างนั้น เราคงไม่กล้าลงทุนกับห้องสมุดที่เรานั่งอยู่ตรงนี้เป็นร้อยๆ ล้านแน่ๆ
GM : คุณมองว่าช่องว่างเรื่อง ‘ค่านิยม’ ระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐกับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นแคบลงไหม ?
เพชร : กรณีนี้เราหมายถึงมหา- วิทยาลัยของรัฐระดับหัวแถว แบบ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล อะไรแบบนั้นนะ…ผมมองว่าเรื่องค่านิยมยังมีอยู่บ้าง แต่ถ้าในเรื่องของคุณภาพการศึกษา ความแตกต่างแทบไม่มีจริงๆ ผมก็พูดเรื่องนี้มากไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ผมรู้ว่าบางคณะของเรานั้น คุณภาพการศึกษาไม่ได้เป็นรองใครเลย หรืออาจจจะดีกว่า นี่ผมพูดกว้างๆ นะ เพราะถ้าจะพูดแบบเจาะลึก เราต้องพูดเป็นคณะๆ อย่างคณะนิติศาสตร์ คนอาจไม่รู้เลยว่าเรามีคณะนิติศาสตร์ทั้งๆ ที่เรามีมาแล้ว 20 กว่าปี ถ้าจะบอกว่าคณะนิติศาสตร์ของเราเหนือกว่าของธรรมศาสตร์ก็คงไม่มีใครเชื่อ และก็คงไม่ใช่ ในกฎหมายที่ธรรมศาสตร์เขาถนัดเขาก็ทำมาได้ดี แต่หากเป็นกฎหมายใหม่ๆ เช่นเรื่อง กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ทางปัญญา พูดได้ว่ามหาวิทยาลัยของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการนี้ เรามีนักวิจัยดีเด่นระดับชาติด้านลิขสิทธิ์ทางปัญญา เรามี
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างปีนี้คนที่สอบเนติบัณฑิตได้ที่ 1 ของประเทศไทยก็มาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือถ้าหากพูดถึงคณะที่เด่นๆ ของเราอย่างคณะนิเทศศาสตร์ถ้าวัดกันเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เรื่องผลงานของศิษย์เก่าเด่นๆ ก็ต้องที่นี่ แต่เรื่องพวกนี้เราไม่ได้โปรโมต ไม่มีใครรู้ แต่คนในวงการนั้นๆ เขาก็จะรู้กัน
GM : มองอย่างนี้แล้วดูเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชนกำลังจะก้าวไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐแล้วในหลายๆ ด้าน
เพชร : คุณจะมองอย่างนั้นก็ได้ แต่ประเด็นจริงๆ สำหรับผม ผมกลับมองว่ามันไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน มหา-วิทยาลัยแต่ละแห่งควรมีจุดแข็งของ
ตัวเองที่ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมาแข่งกันทุกเรื่อง อย่างเรา เราเด่นในเรื่องของนิเทศศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ซึ่งทุกคนรับรู้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่คนอื่นจะมาแข่งกับเรา ทุกคนต้องหาจุดแข็งของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องแข่งกัน ทุกมหาวิทยาลัย ไม่สามารถเอาดีได้ทุกเรื่องแน่นอน มันมีบางคณะที่เด่น บางคณะที่ไม่เด่น รัฐเองก็ไม่จำเป็นต้องแข่งกันโดยตรง เช่นว่า มหาวิทยาลัยของรัฐอาจทำได้ดีเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขาทำได้ดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป อย่างที่ฮาร์วาร์ด หากคุณไปเรียนแพทย์หรือ Business Law ก็โอเค แต่คุณคงไม่ไปเรียนอาร์ตที่นั่น ฉะนั้นไม่จำเป็นที่ทุกคนจะมาค้นคว้าวิจัยเรื่องเดียวกันหมด มันเปล่าประโยชน์ ซ้ำซ้อน ผู้บริโภคก็สับสน เราเลยคิดว่า เราน่าจะหาจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน และผมคิดว่า เราหาตัวเองเจอแล้ว เราถึงกล้าพูดว่ามหาวิทยาลัยของเราเป็น Creative Universityและเราจะทำให้มันชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เรามีคณะนิเทศศาสตร์ที่แข็ง
มีคณะศิลปกรรมที่แข็ง มีการสอนที่ทันสมัยกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ เรามีคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีผลงานน่าสนใจมาก ผมไม่ได้พูดว่าเราดีกว่าเขา แต่เรามี Innovation ที่เป็นเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้น และเรายังมีคณะนิติศาสตร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของลิขสิทธิ์ทางปัญญา ซึ่งมันก็ส่งเสริมให้เราเดินไปทางสร้างสรรค์ ความหมายของผม การเรียน แบบสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงนิเทศศาสตร์หรือศิลปศาสตร์เท่านั้น แต่มันแทรกอยู่ในทั้งการเป็น นักกฎหมาย วิศวกร นักธุรกิจ ทุกคนสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ และท้ายสุดมันจะขยายออกไปสู่การสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์
GM : การสูญเสียคุณพ่อ (อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์) เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณรู้สึกว่าต้องเริ่มทำอะไรกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากขึ้นหรือเปล่า
เพชร : การสูญเสียคุณพ่อเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นะ…แต่ไม่เกี่ยวกับการที่ผมเข้ามาดูแลมหาวิทยาลัย เพราะตอนนั้นคุณพ่อไม่ได้ดูแลมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ยกเว้นในยุคแรกๆ เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคุณแม่เสียมากกว่า เพราะคุณพ่อท่านไปดูแลธุรกิจอื่นของโอสถสภา ผมก็อยู่เบื้องหลังมาสักพัก ใหญ่ๆ แล้ว ราวๆ 5-6 ปี ดูแลเรื่องประชาสัมพันธ์ เรื่องโฆษณาและโครงการก่อสร้างในโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ พอถึงเวลาหนึ่งก็เห็นว่าถึงเวลาที่เราต้องทำอะไรมากขึ้นก็เลยต้องเข้ามาทำ มันเป็นเรื่องของเวลา ที่ต้องเข้ามาดูแลมากกว่าเพราะมันเริ่มใหญ่ขึ้น ตอนนี้ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องธุรกิจแล้วละ มันเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของคนที่เราต้องดูแล มหาวิทยาลัยของเรามี นักศึกษากับคณาจารย์เป็นหมื่น ซึ่งเราก็ต้องทำให้มันดี ฉะนั้นก็ต้องดูให้ดี
GM : เรารู้มาว่ามหาวิทยาลัยของคุณกำลังมีการจัดระบบระเบียบใหม่เยอะมาก
เพชร : จริงๆ ตอนนี้เราทำการสำรวจ แล้วเราก็พบว่าผลงานของเด็กของเรานั้นมีมาก แล้วก็มองว่า ทำอย่างไรเราจะเอื้ออำนวยให้เด็กทำได้มากขึ้น หรือมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่านี้ เราก็ค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ ดู ที่เราเริ่มทำไปแล้ว ครีเอทีฟ เวิร์กช็อปไปแล้ว 2 ครั้งครั้งแรกเราก็เชิญ คุณต่อ สันติศิริมาช่วยกันทำเวิร์กช็อป เราเชิญอาจารย์ทุกคณะ ตั้งแต่ผู้บริหาร คณบดี หัวหน้าภาควิชา และลงไปถึงนักศึกษา แต่ไม่ใช่ทุกคนนะ ตอนนี้เรายังทำไม่ไหว แต่เราก็จะหยิบเอาคนที่น่าสนใจมาจากทุกคณะ รวมทั้งวิทยาลัยนานาชาติ ให้เขาได้สัมผัสว่าการคิดในเชิงสร้างสรรค์ต้องทำยังไง ซึ่งก็สร้างแรงบันดาลใจได้ดี อย่างเช่นคณะบัญชี อาจจะไม่รู้ว่าการทำบัญชีแบบสร้างสรรค์นี่ทำยังไง เขาก็เห็นภาพชัดขึ้นจากการทำเวิร์กช็อปครั้งนี้ และเราเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ถ้าเราจะเป็น Creative Univer-sity ต้องทำยังไง ผมคิดว่าการที่เราจะเป็น Creative University ได้ สิ่งที่ต้องมีก็คือการรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่การสั่งลงไป แล้วก็ไม่ใช่อาจารย์เอาแต่สอน แต่ต้องเป็นการเรียนแบบทั้งอาจารย์และนักศึกษาได้เรียนไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เรียนทุกอย่างจากในห้องเรียนอย่างเดียว ซึ่งคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากต่อจากนี้
GM : หากให้คะแนนเต็ม 10 ตอนนี้เดินมาถึงครึ่งทางของสิ่งที่คุณคิดหรือยัง
เพชร : ถ้าเราไปทางนี้มันจะไม่มีทางถึง 10 เพราะเราจะไปเรื่อยๆ พอคุณคิดว่าเราเดินมาถึง 5 เป้าหมายเรามันก็เขยิบไปอีกแล้ว เราก็จะมองเห็นอะไรอีกมาก มันฟังดูน่าสนุก การสร้างสรรค์มันไม่มีทางจบสิ้น
GM : แต่ปัญหาที่มองข้ามไม่ได้คือ เด็กที่เข้ามาในระบบอุดมศึกษาของเรา กระบวนความคิดยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
เพชร : จะมองแบบนั้นก็ใช่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคำถามว่าระบบการศึกษาของเรานั้นดีพอแล้วหรือ ตัว ระบบการศึกษา ทั้งระบบเองก็ควรต้องเปลี่ยนซึ่งในปัจจุบัน เรายึดระบบของรัฐเป็นต้นแบบ พูดตามตรงว่ามันเป็นอย่างนี้มานานมากแล้ว พอจะเปลี่ยนแปลงอะไรทีมันยากมาก ตอนนี้มีเรื่องของการวัดมาตรฐานซึ่งมันไปเกี่ยวโยงถึงระดับนานาชาติ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดี คือทำให้ทุกคนสามารถเทียบมาตรฐานกันได้ แต่ถึงเราจะพยายามหามาตรฐานยังไง ก็ดูเหมือนว่าทุกคนก็อยู่ในกรอบกรอบหนึ่ง ถ้าหากโลกนี้เปลี่ยนไป และระบบการศึกษาเราเปลี่ยนไม่ทันก็หมายความว่า โลกทั้งโลกถูกตีกรอบ เพราะฉะนั้น ผมเองเชื่อว่าการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัย ต้องไม่ใช่มีแนวทางการศึกษาแบบเดียว มันต้องมีมากกว่านั้น นี่ผมไม่ได้พูดแค่ว่าในประเทศไทย ผมพูดถึงทั้งโลก การศึกษาต้องมีทางเลือกมากกว่านี้ มีที่เรียนรู้นอกระบบมากกว่านี้ แม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่นักเรียน เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนทำงานแล้ว ที่ต้องการจะเติมอะไรให้กับตัวเองก็ต้องจัดการที่ทางให้กับพวกเขาได้เลือก…คือบางที
ใบปริญญาเราเอาไปเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่างเท่านั้น แต่ถามว่ามันสมองของเราได้อะไรแค่ไหน ใบปริญญานั้นมัน ‘ใช่’ สำหรับเราหรือเปล่า มนุษย์เราต้องออกมาเป็นแบบเดียวกันหมดเลยหรือ ผมคิดว่ามันไม่ใช่แบบนั้น มีอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จโดยที่ไม่ได้เรียนรู้จากในระบบก็มี ซึ่งเราต้องพยายามสร้างโอกาสตรงนั้นให้มากขึ้น
GM : มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่จบมาแล้วไม่ได้ทำงานอย่างที่ตัวเองเรียนมา ทุกที่ต่างผลิตบุคลากรออกมาแต่มีไม่ถึงครึ่งที่ได้ทำงานอย่างที่
ตัวเองเรียนมาจริงๆ คุณมีทางออกอย่างไรกับเรื่องนี้ไหม
เพชร : ผมคิดว่าระบบการศึกษาโดยรวมมันก็ต้องเป็นแบบนี้ เพราะไม่ว่าที่ไหนก็ตามต้องทำการเรียนการสอนแบบแมส (Mass Production) ไว้ก่อน คือมีไว้สำหรับคนกลุ่มใหญ่ มีความยืดหยุ่นน้อย ซึ่งจริงๆ มันควรต้องมีโรงเรียนหรือสถาบันแบบพิเศษสำหรับผลิตหรือพัฒนา ‘ครีม’ เท่านั้น ของแต่ละวงการ เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นครีมได้หมด แต่คนที่อยู่ในระดับครีม ทำไมต้องเข้าระบบที่เป็นแมสด้วย ฉะนั้นเราต้องทำทั้งสองอย่าง เรารับใช้คนหมู่มาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องควานหา ‘ครีม’มหาวิทยาลัยของเรามีทุนให้สำหรับนักศึกษาที่เป็นครีม ซึ่งคนที่ได้รับทุน
ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนที่ทำคะแนนได้ดีเพียงอย่างเดียว แต่เราจะดูโดยรวม ให้เขาลองทำโปรเจ็กต์และพัฒนาพวกเขาต่อไป นี่เป็นระบบที่เราเอามาเสริมตลาดแมส สิ่งที่เราต้องทำควบคู่กันไปก็คือ เราต้องเปลี่ยนค่านิยมของคนใหม่ด้วยว่าบางครั้งคุณไม่จำเป็นต้องเรียนเอาปริญญา คุณไม่จำเป็นต้องเรียนในกรอบเพียงอย่างเดียว เรามาเรียนนอกระบบกันบ้างดีไหม เพราะผมว่ามีคนอยากลองเรียนแบบนี้มากนะ
GM : ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่นะครับเพราะเราต้องพูดถึงเรื่องของตลาดแรงงานที่จะต้องเปลี่ยนค่านิยมอีก
เพชร : ระบบแบบที่ผมว่าไม่ได้หมาย ความว่ามันจะเป็นระบบธุรกิจการศึกษาที่เวิร์กนะ เพราะในแง่ของธุรกิจมันมีเงื่อนไขมากกว่านั้นมาก คุณอาจต้องลงทุนสูงแต่กำไรนิดเดียว หรือไม่มีกำไรเลย แต่ถามว่าตลาดแรงงานต้องการคนแบบนี้ไหม ผมว่าเขาโหยหานะ แต่ว่ามันไม่มีให้เขาเลือก หรือมีก็น้อยมาก
GM : คุณมีโอกาสทำงานมาแล้วหลายๆ แบบ การได้ลองทำงานหลายๆ ด้านให้อะไรกับคุณบ้าง
เพชร : ชีวิตมันก็หลากหลาย ได้รสชาติดี ตอนนี้ผมว่าผมก็ได้ใช้มันนะ ใช้ประสบการณ์ต่างๆ ในสิ่งที่ทำมา
GM : คุณคิดว่าการเข้ามาทำงานด้านการศึกษา โดยที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ สร้างปัญหาให้คุณมากไหม
เพชร : จริงๆ ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเองนะ ผมไม่ค่อยชอบเรียนในระบบเท่าไหร่ ฉะนั้นผมจึงเชื่ออยู่เสมอว่าบางครั้งเราไม่ต้องเรียนอะไรมาเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างเดียว อย่างตอนนี้ผมทำมหาวิทยาลัย แต่ผมไม่ได้เรียนมาทางด้านการศึกษา แต่มันกลับเป็นผลดีเพราะมันมาเสริมกับคนที่เรียนมาทางด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี ถ้าผมเรียนมาทางด้านการศึกษาแล้วจบดอกเตอร์ มันก็คงไม่ได้อย่างนี้ มันก็มองไปในทางเดียวกันหมด ผมไม่ได้หมายความว่าจบดอกเตอร์ไม่ดีนะ แต่ว่าสังคมต้องมีคนหลากหลายประเภทมามิกซ์กัน ซึ่งผมก็เป็นส่วนผสมที่ดีสำหรับมหา-วิทยาลัยกรุงเทพ แล้วสังคมไทยเราก็ต้องการคนระดับนี้เข้ามาเสริมทัพเรื่อยๆ เราเองก็จะพยายามทำความคิดนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
GM : ดูเหมือนจะต้องลงทุนอีกมากมาย
เพชร : ใช่ครับ เรากำลังลงทุนในคน ในซอฟต์แวร์มากกว่าเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งเรื่องคนเป็นงานที่ต้องทำไปเรื่อยๆ
GM : อย่างตอนนี้เราเห็นว่าคุณมีการร่วมมือกับต่างประเทศอย่างมาก ตอนนี้การร่วมมือดังกล่าว เป็นอย่างไรบ้าง
เพชร : ตอนนี้เราก็ไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแบบสันคอลเลจ ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นอันดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อทางด้านหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneur- ship) เราก็อยากให้นักศึกษาทุกคณะสามารถออกไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือออกไปทำงานแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของได้
GM : หลายคนมองว่ามหา-วิทยาลัยของคุณเป็นสังคมของคนรวย แล้วคนจนล่ะเขามีโอกาสได้รับอะไรดีๆ แบบนี้ เขาจะหาจากไหน
เพชร : แน่นอนว่าคนจนทั่วไปอาจจะมาเรียนไม่ได้ แต่เราเชื่อว่ามหาวิทยาลัยของเราไม่ใช่ที่สำหรับสังคมไฮโซ มีนักศึกษาหลายคนที่หนีมาจากที่อื่นเพราะทนสังคมไฮโซไม่ได้ ผมเองก็เคยเรียนที่นี่ 2 ปี ก่อนจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเพื่อนของผมคนไหนไฮโซเลยสักคน เราก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเราไฮโซเลยด้วยซ้ำ เราคงไปสรุปแบบนั้นทั้งหมดก็คงไม่ได้ แล้วเราก็มีทุนเรียนดีให้ มีทุนกีฬา มีทุนอื่นๆ อีก มีประมาณ 650 ทุนต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษา
GM : เราทราบว่าคุณยังสนใจเรื่องศาสนาด้วย
เพชร : จริงๆ ต้องบอกว่าผมสนใจธรรมะ เรื่องศาสนาผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ผมไม่เข้าวัด (หัวเราะ)
GM : จุดเริ่มต้นของความสนใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมะนี่เริ่มจากอะไร
เพชร : มันเริ่มมาตั้งแต่เด็กแล้ว จุดเริ่มต้นก็คงเป็นตอนที่ผมไปเรียนไฮสกูลที่อเมริกา มันเหงามั้ง เราถูกโยนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ แล้วเราก็ยังวัยรุ่น ยังหาตัวเองไม่เจอ รู้สึกว่าเราต้องหาอะไรบางอย่าง…แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องการที่ยึดเหนี่ยวนะ ผมแค่รู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ขาดไป ผมก็จะเข้าห้องสมุด ผมเป็นเด็กที่ชอบเข้าห้องสมุด แต่หนังสือ ที่ผมสนใจไม่ใช่หนังสือเรียน ผมก็จะไปเปิดหนังสือวรรณคดี ก็ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ What The Buddha Taught ชื่ออะไรประมาณนี้ เขาเขียนให้ฝรั่งอ่านแล้วมันอ่านง่าย ตรงๆ พออ่านแล้วก็ชอบ กลับมาเมืองไทย ผมก็สนใจเรื่องของท่านพุทธทาสเพราะคุณปู่คุณย่าอ่าน ผมก็หยิบมาอ่านบ้าง ก็เข้าท่าดี ความสนใจนี้ก็สั่งสมมาเรื่อยๆ คือจริงๆ ผมว่าเรื่องธรรมะกับผมมันไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษอะไร ผมว่ามนุษย์เราทุกคนเกิดมาเพื่อหลุดพ้น เกิดมาเพื่อออกไปจากวงจรของความทุกข์หรือวงจรของความสุขที่ประเดี๋ยวประด๋าว ทุกคนต่างแสวงหาเรื่องพวกนี้ เราอาจจะพยายามหาทางออกทางอื่นอยู่ แต่จริงๆ หารู้ไม่ว่า เราต่างอยากเติมเต็ม ‘ข้างใน’ ซึ่งมันก็คือเรื่องของจิตวิญญาณ
GM : การเติบโตภายใน มันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวัยที่มากขึ้นของคุณด้วยไหม ?
เพชร : ก็อาจจะมีส่วน แต่ผมว่าคงต้องเป็นคนที่ผ่านความทุกข์มา ถ้าไม่เจอทุกข์มันก็ไม่อยากพ้นทุกข์ ซึ่งผมพูดได้ว่าทุกคนมีทุกข์ คนอาจจะคิดว่าผมสบายแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะอ่อนไหว ฉะนั้นผมก็จะรู้สึกกับเรื่องต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งผมคิดว่าธรรมะมีส่วนช่วยได้ และเชื่อว่าวันหนึ่งทุกคนก็ต้องไปทางนี้
GM : แต่ดูเหมือนธรรมะกับบุคลิกของคุณดูขัดแย้งกันมาก
เพชร : ใช่, แต่คนเราทุกคนมีหลายมุม ทุกคนมีความซับซ้อนอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นแต่ละคนมีบุคลิกที่ซับซ้อนแตกต่าง ซึ่งจริงๆ ถ้าใครได้ฟังงานเพลงของผมจะรู้ว่าผมสนใจเรื่องธรรมะมานานแล้ว ในอัลบั้มแรกผมก็แต่งเพลงที่ชื่อ ‘ธรรมดา…มันเป็นเรื่องธรรมดา’ ซึ่งเนื้อเรื่องมันก็ธรรมดาๆ แต่ลึกซึ้ง ผมพยายามบอกคนฟังว่าต้องปล่อยวาง
GM : คุณได้อะไรจากธรรมะบ้าง
เพชร : …(คิดอยู่นาน) ผมเคยนิ่งมากๆ ได้นะ…ตอนนี้ไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ เพราะทำงานอยู่ในวงจรที่มันวุ่นวายเต็มไปหมด งานมหาวิทยาลัยทำให้เราต้องเจอผู้คนมากมาย ซึ่งขัดกับพื้นฐานนิสัยของผม เพราะผมเป็นคนชอบอยู่บ้าน ชอบอยู่คนเดียว นั่งคิดนั่งเขียนทำอะไรเงียบๆ ของผมไป พอต้องมายุ่งเกี่ยวกับคนมากๆ ชีวิตเริ่มวุ่นวายก็มีแกว่งบ้าง แต่ธรรมะก็ช่วยได้มาก ถึงข้างนอกจะวุ่นวายยังไงก็ช่าง แต่ข้างในเราต้องไม่วุ่นวาย ตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็พยายามอยู่
GM : เรื่องธรรมะที่คุณสนใจ ถูกนำมาใช้ในการทำงานของคุณมากไหม
เพชร : ผมว่าลึกๆ แล้วคงมี แต่ผมก็วิเคราะห์ไม่ได้ว่ามันอยู่ตรงไหน แต่หนึ่งสิ่งที่รู้สึกก็คือมันสอนให้เรา ‘วาง’ เป็น เมื่อเราทำดีที่สุดแล้วในแต่ละวัน ถ้ามันจะได้ไม่ได้ยังไงก็ต้องปล่อย อีกอย่างที่คิดตลอดก็คือ เราตายแล้วเราเอาอะไรไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นบางทีมันทำให้คิดได้ว่า การทำงานของเราทุกวันนี้ เป้าหมายหลักเราไม่ใช่เพื่อให้เรารวยขึ้น แต่เราต้องการทำเพื่อเด็กรุ่นใหม่ๆ ผมมาเดินที่นี่เห็นเด็กมานั่งกันอยู่ใต้ตึก เป็นเด็กๆ ทำโน่นทำนี่ มันมีความสุขนะ แล้วเราจะเอาเงินไปทำไมมากมาย! ตรงนี้ไม่ดีกว่าเหรอ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า มหา-วิทยาลัยกรุงเทพจริงๆ เราไม่ได้อยู่ในรูปแบบของธุรกิจมหาวิทยาลัย เราทำด้วยใจรัก แล้วเราให้กับเด็กมาก เด็กหลายคนรู้สึกเช่นนั้นว่าเราให้เยอะมาก คุณอาจจะมองว่าค่าหน่วยกิตเราแพง แต่อย่าลืมว่าถ้าคุณเห็น หอสมุด ของเราที่ทำระดับเดียวกับฮาร์วาร์ดเรามีอุปกรณ์การศึกษาที่ได้มาตร-ฐานแบบระดับเดียวกับต่างประเทศโดยที่คุณไม่ต้องเสียค่าเรียนแพงกว่านี้อีกสิบเท่า ซึ่งผมว่ามันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
GM : ดูคุณเป็นคนรักสันโดษ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็เป็นนักดนตรี ที่ดูต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เช่นไปร้องเพลงหรือแสดงคอนเสิร์ต นั่นก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้คุณดูเป็นนักร้องที่ไม่ค่อยออกงาน
เพชร : ผมไม่ชอบเล่นคอนเสิร์ต มีน้อยมาก คราวที่จัดไปตอนที่ทำอัลบั้ม ‘Let’s Talk About Love’ เหมือนกับฝืนใจมีนะ เพราะคิดว่าเราไม่เคยมีคอนเสิร์ตเลย ตอนทำชุดแรกก็ไม่เคยมี ลองสักทีเว้ย! เดี๋ยวแก่กว่านี้แล้วทำไม่ไหว ถามว่าสนุกไหม-ก็ดี แต่ให้เอาอีกไหม-ไม่จำเป็น ผมแต่งเพลงอีกยังได้ แต่ให้ไปร้องเพลงต่อหน้าคน ไม่ดีกว่า…คือผมไม่ได้กลัวนะ แต่มันไม่ใช่ทางของผม เวลาอยู่บนเวทีผมอาจจะพยายามมากไปก็ได้ ผมไม่ใช่คนแบบ คนเขาเฮแล้วเราเฮด้วย ผมไม่ใช่เอนเตอร์เทนเนอร์แบบนั้น เหมือนกับว่าเราน่าจะเป็นนักแต่งเพลงมากกว่า เพียงแต่ว่าผมหวงเพลง ยังมีอีโก้อยู่ แม่งแต่งเกือบตาย แต่คนอื่นเอาไปร้อง เดี๋ยวไม่มีใครรู้ว่าผมแต่ง อะไรแบบนี้
GM : แล้วคุณเคยแต่งเพลงให้คนอื่นไหม ?
เพชร : ก็มีหลายคนมาขอให้ผมแต่งให้แต่ผมไม่แต่ง ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้สนใจนะ แต่ผมเลือกแล้วว่าผมจะไม่แต่ง เพราะว่าผมมีเวลาจำกัดมากกว่า แล้วผมมีความสนใจหลากหลาย มีงานหลายอย่างที่ต้องทำ แต่หากผมเป็นนักแต่งเพลงอาชีพก็คงทำแบบนั้น อย่างตอนที่ไมโครเอา เพลง ผมไป นั่นก็ไม่ได้แต่งให้ แต่โปรดิวเซอร์ของผมชุดแรก คุณจอร์จ-กฤษ โชติทิพวัฒนา ขอเพลงผมไป ซึ่งถ้าเขาไม่ขอ ผมก็คงไม่ให้ พูดง่ายๆ ว่าถ้าแกรมมี่มาขอตอนนั้นก็ไม่ให้ (หัวเราะ)
GM : หลายคนรู้สึกเหมือนกับเราว่า คุณทำเพลงในฐานะของศิลปินแท้ๆ ที่ทำงานตามใจตัวเอง ไม่แคร์ยอดขาย ถ้าใครชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร
เพชร : ผมไม่เคยคิดว่าการทำเพลงของผมคือธุรกิจ ผมทำเพื่อความสะใจ อันนั้นชัดเจนว่าเราทำเพื่อความสะใจ เอาแบบครั้งเดียวในชีวิต ถ้าทำอีก ก็คงไม่ขนาดนี้แล้ว ผมเจอกับ บอย โกสิยพงษ์ เขายังบอกเลยว่า ‘สุดๆ พี่’ เขาก็อยากทำแบบเรา ทำแบบไม่ต้องแคร์เรื่องเงินเรื่องทอง ตอนที่ผมตัดสินใจลงทุนไปกับมิวสิกวิดีโอไป 11 ล้านผมหวังแค่ว่าจะทำเอาไว้ดูเอง ไม่ได้กะว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ ต้องให้มันดังเป็นที่รู้จักอะไรแบบนั้น แต่แค่ว่าเราเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ เราทนดูของไม่ดีไม่ได้ ก็เลยเอาวะ! ทำสักทีแต่พอทำเสร็จแล้วก็ไม่ได้หยิบมาดูอีกเลย เพราะดูแล้วไม่ชอบ ดูแล้วกลับรู้สึกว่าตัวตนมันก็เกิด เลยนิ่งดีกว่า ให้มันผ่านไปแล้วผ่านไปเลย…แต่ผมไม่ใช้ความเป็นศิลปินในการทำงานบริหารมหาวิทยาลัยนะ คนละส่วนกันเลย แต่ก็คงมีบ้างที่ความคิดของผมมันเข้าไปผสมปนเปอยู่ เพราะสุดท้ายมันก็ตัวผม… (เพชรนิ่งนึกอยู่สักพัก ก่อนพูดว่า) จริงๆ ต้องพูดใหม่ว่า ผมไม่คิดด้วยซ้ำว่าผมเป็นศิลปิน
GM : ทำไมครับ
เพชร : ไม่รู้ทำไมผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นนักแต่งเพลงหรือนักดนตรีสักเท่าไหร่ คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราสนใจ คือไม่ได้ดูถูกมันนะ แต่มีความรู้สึกว่า เฮ้ย! มันก็ไม่ได้ยากอะไรนี่หว่า แต่ถ้าเราได้แต่งนิยายสักเล่มนี่ น่าจะมันกว่าว่ะ
GM : แล้วทำไมคุณไม่ลองดูครับ
เพชร : ผมแต่งเสร็จแล้ว เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เป็นนิยายขนาดสั้นแฝงธรรมะ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็คิดว่าจะพิมพ์ แต่ผมเป็นคนแบบนี้ คือชอบดอง
เหมือนกับตอนแต่งเพลง คือแต่งเสร็จแล้วก็จะชอบเก็บไว้อย่างนั้น ผมสนุกตอนแต่ง พอแต่งเสร็จแล้วดองไว้นานๆ แล้ว ความอยากมันก็หมดไป
GM : เห็นว่าคุณเคยไปเข้าคอร์สกับเอ็คฮาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle)
เพชร : ผมไปประมาณ 4-5 วัน ที่คอสตาริกา ก็…ดีมาก คอร์สของเขาก็ไม่มีอะไรมาก ถ้าเป็นภาษาพระก็คือ ไปฟังท่านเทศนา กิจกรรมหลักๆ ก็มี
ฟังท่านเทศนาตอนเช้า 2 ชั่วโมง เย็นอีก 2 ชั่วโมง ตรงกลางก็ว่าง แล้วแต่ว่าเราจะทำอะไร บางวันหลังจากที่ท่านเทศนาเสร็จก็จะมีกิจกรรมที่บรรดาลูกศิษย์ของเขาจัดขึ้น วันสุดท้ายก็มีการตอบปัญหา
GM : คุณพูดถึงเรื่องศาสนากับธรรมะ คุณบอกว่าคุณไม่สนใจศาสนาแต่สนใจธรรมะ มันหมายถึงอะไร
เพชร : ผมว่าศาสนามันเป็นเรื่องของรูปแบบ มีการสืบทอดกันมา ศาสนาทุกศาสนาเมื่อมีการสืบทอดกันมาก็มักจะมีการพอกพูน ‘เปลือก’ มากขึ้น มันจะไม่บริสุทธิ์แบบดั้งเดิมอีกต่อไป แม้กระทั่งสาวกมาเขียนเป็นคัมภีร์ก็อาจจะเพี้ยนได้ ศาสดาพูดแบบนี้ แต่คนก็เอามาตีความตามที่ตัวเองเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง แค่นี้ก็เพี้ยนแล้ว นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมไม่สนใจศาสนาบางครั้งพอเราสนใจศาสนา มันกลายเป็นว่าเราสนใจแต่เปลือกหนาๆ ของมัน ไม่สนใจแก่น จริงๆ ‘แก่น’ ของศาสนาทั้งหมดมุ่งสู่ความจริงเดียวกันคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ การสนใจธรรมะของเราก็คือการสนใจแก่น ซึ่งจากการอ่านหนังสือของเอ็คฮาร์ท โทลเลอ เราก็พบว่าแก่นของทุกศาสนามันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกับที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นเรื่องเดียวกับที่พระเยซูสอน และเป็นเรื่องเดียวกับที่พระยะโฮวาสอน เมื่อก่อนเราไม่เลื่อมใสในพระเยซูว่าท่านเป็น Son of God ได้อย่างไร แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าท่านพูดเรื่องอะไร คำว่า God ของท่านไม่ใช่คำว่า God คำเดียวกับสิ่งที่เราเข้าใจแต่แรก God เป็นคำเดียวกับ ‘การหลุดพ้น’ เป็นเรื่องเดียวกับการปล่อยวาง ผมก็เลยคิดว่าหากเราเลยมาสนใจธรรมะ คือสนใจศึกษาความจริงที่มันเกิดขึ้นในโลกนี้ สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เราก็คือคนที่มีธรรมะ ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดด้วยซ้ำไป
GM : แล้วคุณคิดเห็นอย่างไรกับพุทธแบบไทยๆ
เพชร : เป็นเรื่องของ ‘รูปแบบ’ เสียส่วนใหญ่ ถามว่าการนับถือศาสนาแบบนี้มันมีข้อดีอยู่บ้างไหม…มันก็ดีระดับหนึ่ง แต่หากทุกศาสนาหันมาเริ่มต้นกับการไม่ยึดติดกับรูปแบบ เริ่มใหม่กับแบบเพียวๆ เลยน่าจะดีกว่า แล้วเชื่อไปว่าของตัวเองนั้นถูก ของคนอื่นผิด หากเราสามารถฆ่าคนอื่นได้เพียงแค่คนคนนั้นเห็นต่างจากเรา อย่างนี้ไม่ถูกแน่ เลิกตรงนั้นไปได้ไหม แล้วมามองใหม่ว่า ธรรมะมันต้องอยู่ตรงนี้ ตรงปัจจุบันโดยที่ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะคนคนหนึ่งพูดเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว แล้วเราก็เชื่อหรือเชื่อเพราะว่ามีการสืบทอดกันมา ถ้าธรรมะมีจริงมันต้องอยู่ตรงนี้! อยู่ตรงหน้าเรา เราต้องสัมผัสมันได้ด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องอาศัยรูปแบบ พิธีกรรมอะไร อาศัยคนที่จะแนะนำเราได้ คนที่เข้าใจ โลกนี้คงไม่ต้องขัดแย้งกันเรื่องศาสนา
GM : ตอนนี้ ในตลาดหนังสือของบ้านเรามีหนังสือแนวธรรมะและการศึกษาด้านจิตวิญญาณ หรือหนังสือแบบการมองในแง่บวก การให้กำลังใจกับชีวิต คุณรู้สึกกับกระแสพวกนี้อย่างไร
เพชร : ผมไม่ค่อยเลื่อมใสในอะไรแบบนี้ อย่างกระแส The Secret ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้อ่านอย่างละเอียด แค่พลิกๆ ดู เปิดผ่านๆ แต่พอจับใจความได้ว่า มันเป็นเรื่องของการตลาดและการค้าล้วนๆ มันเป็นการสอนให้คนเราสะกดจิตตัวเองเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ มันไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของการค้นหาตัวตนในแง่จิตวิญญาณ มันตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ หนังสือพวกนี้เป็นเหมือนการแนะนำหนทางให้เราสู่ความสำเร็จ ที่คนส่วนมากต้องการจะได้มา คนส่วนใหญ่ต้องการเทคนิคบางอย่างเพื่อให้เราประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องธุรกิจและชีวิต มันเป็นเรื่องของทางวัตถุไม่ใช่ทางจิตใจ ไม่ใช่เรื่องของการหลุดพ้น มันคนละเรื่องกันเลย ธรรมะมันต้องคิดว่าทุกอย่างที่มันโปรแกรมมานั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะต้องถอดมันออก เพราะถ้าไม่ถอดเราจะยึดติดความคิดแบบหนึ่งสองสามสี่ตามลำดับ แล้วเราก็จะแบกความคาดหวังแบบนั้นไว้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว กลายเป็นความทะเยอทะยาน จริงๆ หากมองในเชิงของธรรมะ การแข่งขันกับตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง เพราะคนเราก็มักคิดเปรียบเทียบตัวกับสิ่งรอบข้างเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องของตัวตนอีกเช่นกัน
GM : ตอนที่คุณพ่อคุณเสีย คุณมีอาการเป๋ไหมครับ ธรรมะช่วยเหลือคุณในการเยียวยาความสูญเสียคราวนี้มากแค่ไหน
เพชร : ช่วยได้มาก ผมไม่เป๋นะ แค่รู้สึก ว่านี่เป็นเรื่องจริงใช่ไหมที่ท่านจากไปแล้ว แต่เผอิญว่าธรรมะผมหนักแน่น ณ วันนั้น ที่ท่านเสีย พวกลูกก็ไปรวมตัวกันอยู่ที่โรงพยาบาล ผมเป็นคนเดียวที่นิ่งที่สุด ก็ปล่อยวาง ไม่ได้ทุกข์มากกับการจากไปของคุณพ่อ กระทั่งเวลาผ่านไปหลายเดือนแล้วเพิ่งมาร้องไห้ อาจจะเก็บกดข้างในมั้ง แต่ก็ไม่ได้ฟูมฟาย แค่ระลึกถึงว่าท่านจากไปแล้วจริงๆ เรื่องของการตาย พอเราเข้าใจธรรมะ เราจะรู้ว่าสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของคนเรามันก็เป็นแก่นเดียวกับธรรมชาติฉะนั้นการตายอย่างที่เราเข้าใจจริงๆ ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน ผมไม่ได้เชื่อเรื่องชาติหน้า แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่มีเพราะไม่มีใครรู้ แต่ผมเชื่อว่าแก่นลึกที่สุดของคนเราเป็นแก่นเดียวกับจักรวาล ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน การตายเป็นแค่การเสื่อมไปของร่างกายเท่านั้น ท่านเอ็คฮาร์ท โทลเลอ ก็บอกว่า ตอนคนเราจะจากโลกนี้ไป ในแวบหนึ่ง เราจะได้กลับไปสัมผัสกับสภาพดั้งเดิมของชีวิต ทุกคนจะผ่านตรงนั้น เพียงแต่ตัวเองจะรู้ตัวหรือเปล่า จิตบางคนกลัวก็จะถอยหนี ความตายมันไม่มีจริง ร่างกายเท่านั้นที่หายไป แต่แก่นแท้ของจิตวิญญาณยังอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเรายังหลงเหลือจิตสำนึกของคนคนนี้อยู่นะ แต่เราจะกลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การตายเป็นประตูให้เราเข้าไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราจากมาซึ่งเป็นสภาพดั้งเดิมที่เราเป็นอยู่แล้วแต่ไม่รู้ตัว การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เราเข้าใจถึงสภาวะนั้น ในตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่เรียกว่าการตายก่อนตาย พระอรหันต์จะสามารถสัมผัสความตายแบบนั้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ความตายไม่ใช่ความตายจริงๆ แต่มันเป็นเหมือนประตูที่นำไปสู่ตรงนั้น เราก็เลยมีความรู้สึกว่า การที่ท่านจากไปนั่นคือการที่ท่านได้กลับไปเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล เป็นเรื่องที่ดี
GM : แล้วคุณกลัวตายไหม
เพชร : ความคิดของปุถุชนก็ยังเป็นบ้างที่กลัวการสูญเสีย แต่พอเราคิดถึงการคืนสภาพนั้นแล้ว เราก็สงบ ก็โอเค ผมเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งเราต้องนอนอยู่บนเตียง และรอให้ความตายมาถึง ผมก็คงทำจิตใจให้นิ่งได้ เพื่อที่จะไปประสานกับธรรมชาติ จริงๆ ผมอยากอยู่นานๆ นะ อยากมีเวลาศึกษา อยากหลุดพ้น แต่มันเป็นความคิดของคนผัดวันประกันพรุ่ง เพราะจริงๆ การหลุดพ้นคือการคิดเดี๋ยวนี้ทำเดี๋ยวนี้ เพราะหากคุณคิดว่าวันนี้ยุ่งอยู่ไม่มีเวลา วันพรุ่งนี้ค่อยหลุด มันก็ไม่มีทางหลุดสักที
GM : ลูกๆ ได้อิทธิพลเกี่ยวกับเรื่องธรรมะจากคุณไหม ?
เพชร : ก็ได้บ้าง คือบางทีผมก็เรียกมาเลย เรียกมามองตากันเฉยๆ เลย เพื่อให้อยู่กับปัจจุบัน ก็อธิบายให้เขาฟังว่าเรามาแชร์โมเมนต์กันนะ ไม่ต้องพูดกัน อยู่กับตัวเอง เพราะบางทีเขาก็ลุกลี้ลุกลน ทำโน่นทำนี่ ผมก็จะจับมือเขาจับไหล่เขานิดหนึ่ง แล้วก็บอกเขาว่าเราไปด้วยกัน วางเรื่องที่อยู่ในหัวไว้ก่อน วางอนาคตอีก 5 นาทีไว้ก่อน อยู่ด้วยกันตรงนี้ ซึ่งก็ช่วยได้มาก
GM : คุยถึงเรื่องวงการเพลงบ้าง คุณมองวงการเพลงบ้านเราเป็นอย่างไร
เพชร : คุณถามผิดคนแล้วละ ทุกวันนี้ผมไม่สนใจเรื่องวงการเพลงเลย ไม่รู้เรื่องเพลงเลย (หัวเราะ) แต่ถ้าแต่งเพลง อะไรนี่ผมแต่งได้ทันที มันคนละส่วนกันนะ ความสามารถในการแต่งเพลงไม่ได้เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องวงการเพลง ผมไม่สนใจวงการเพลงในตอนนี้ เพราะพอผมไม่ได้อยู่ในช่วงที่จะแต่งเพลง ผมก็จะไม่ฟังเพลงเท่าไหร่ เพราะมีเรื่องอื่นต้องคิด หัวผมรับได้ทีละน้อยๆ คิดได้ทีละอย่าง ฉะนั้น ถ้าลิ้นชักเรื่องเพลงของผมปิด ผมก็จะปิดมันไว้จนกว่าผมจะสนใจอยากทำมันอีก ผมก็จะเปิดมันใหม่ เวลาจะแต่งเพลง ผมก็จะฟังบ้าง ผมไม่รู้หรอกว่าเพลงใคร แต่ผมฟังเพื่อดูดซึมเสียงต่าง เอาไว้ในหัวแล้วพอเข้าห้องอัด ผมจะได้คุยกับโปรดิว-เซอร์กับแอเรนเจอร์ว่าผมชอบแบบนี้ อยากได้เสียงแบบนี้ มีตัวอย่างมาให้เขาบ้าง อะไรแบบนั้นฉะนั้นถ้าถามผมตอนนี้นอกจากไม่รู้แล้ว ผมก็ไม่สนใจด้วย ผมไม่เคยทำเพลง เพื่อธุรกิจ ผมไม่ทำเพลงตามกระแส แล้วผมก็เชื่อด้วยว่าเราไม่ควรทำอะไรตามกระแส เพราะมันจะอยู่ได้เพียงเดี๋ยวเดียว แต่ถ้าเราทำมันออกมาจากข้างในแล้ว มันจะไร้กาลเวลา ผมเคยคุยกับ
นักแต่งเพลงที่เมืองนอก เขาบอกว่าจริงๆ ตัวเพลงมันไม่มีวันล้าสมัย เราถึงเห็นเพลงอย่างของเดอะบีทเทิลส์ กลับมารีไซเคิล รีมิกซ์ได้ตลอด เพราะฉะนั้นสำหรับคนแต่งเพลง จึงไม่ต้องไปสนใจกระแส คุณแค่ทำของคุณให้ดี แล้วคุณเรียบเรียงได้อีกสิบๆ แบบ เพราะแก่นมันดีอยู่แล้ว ฉะนั้นคุณไม่ต้องไปสนใจตรงนั้นเลย
GM : แสดงว่าคุณมองเพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ได้มีความเป็นศิลปะ
เพชร : ไม่ขนาดนั้น แต่ผมว่าวงการเพลงทุกวันนี้มันไม่ได้ก้าวไปไหน ไม่ได้หมายความว่ามันไม่พัฒนานะ แต่โดยธรรมชาติเพลงป๊อปมันเป็นแบบนี้ มันเป็นวัฏจักรของมัน พัฒนาอะไรไปกว่านี้ไม่ได้ แล้วมันไม่ใช่ทิศทางที่ผมสนใจ
GM : มีคนบอกว่าเพลงทุกวันนี้จะนับเป็นศิลปะนั้นแทบไม่ได้แล้ว คุณคิดยังไงกับคำพูดแบบนี้
เพชร : จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ผมว่ามันก็มีความน่าสนใจอยู่ อย่างเพลงแร็พนี่ก็สนุกดีนะ การใช้ภาษาน่าสนใจ คิดได้เก่งเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเพลงรักๆ ที่อยู่ในกระแสหลักก็ไม่ค่อยมีอะไร นานๆ จะมีเพลงที่ทำนองดีๆ โผล่มาที ผมชอบฟังเพลงที่ทำนองมากกว่าเนื้อร้อง
GM : อย่างนักร้องสมัยนี้ มีใครที่น่าสนใจไหมครับ
เพชร : เวลาผมฟังเพลง ผมไม่ค่อยสนใจนักร้องเลย เวลาผมฟังเพลงผมจะยกย่องแต่นักแต่งเพลง เพราะฉะนั้นนักร้องที่ไม่แต่งเพลงนี่ไม่ได้อยู่ในสายตาผม เวลาผมฟังเพลงผมจะดูว่าเขาแต่งเพลงเองจริงหรือเปล่า ผมเองผมก็ไม่ได้คิดว่าผมเป็นนักร้อง ผมเป็น Singer/Song Writer มากกว่า แล้วถ้าเพลงไหนที่ฮิตมากๆ ผมก็จะไม่ฟังมันเลย ส่วนใหญ่เพลงที่ฮิตมักจะเป็นเพลงที่ตื้นมาก เมื่อก่อนมันยังไม่เป็นแบบนี้นะ แต่ไม่รู้ทำไมเดี๋ยวนี้ถึงเป็นแบบนี้ เพลงสมัยก่อน เพลงติดท็อปเท็นก็จะมีเพลงลึกๆ อยู่ในนั้นบ้างสักเพลงสองเพลง แต่สมัยนี้มันไม่มีอะไรแบบนั้นแล้ว อย่างมาดอนน่า นี่แทบไม่มีอะไรเลย Pet Shop Boy ก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว เพราะทุกอย่างเป็นธุรกิจ จริงๆ ผมก็ไม่อยากจะไปตัดสินคนอื่นเพราะเราเป็นเหมือนคนที่ ‘ห่างเหินวงการ’ คอมเมนต์ของผมก็ไม่ต้องยึดถืออะไรกับมัน เพราะผมไม่ได้ตามจริงๆ แต่พูดแค่ว่าแนวโน้มของมันเป็นแบบนั้น
GM : แล้วปกติคุณฟังเพลงแนวไหน
เพชร : จริงๆ ผมเป็นคนไม่ค่อยฟังเพลง ผมเป็นคนที่ชอบอยู่เงียบๆ อยู่ในรถก็ไม่เปิดเพลงฟัง อยู่บ้านก็อยู่เงียบๆ ถ้าจะฟังก็จะมีเพลงคลาสสิก ไม่ก็เพลงแจ๊ซ หรือเพลงที่ไม่มีเสียงร้อง ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะฟังเดอะบีทเทิลส์นี่ค่อนข้างฟังบ่อย
GM : ทำไมถึงชอบเดอะบีทเทิลส์
เพชร : เพลงของพวกเขามันเป็นเรื่องของ ‘สุนทรียะ’ เป็นเพลงที่มีหลายมิติ เนื้อร้อง ทำนองสุดยอด ความสุนทรีย์มันมีสูง อันนั้นคือสาเหตุหลักที่ทำให้เราชอบ คือเราไม่ได้เสพดนตรีเอามัน เพลงมันๆ มันมีแต่ความมันแต่ขาดสุนทรีย-ภาพ ไม่มีความลึก มันแบนๆ ตื้นๆ สำหรับเรา แต่การฟังบีทเทิลส์เหมือนการมองภาพเขียนอย่างเพลงคลาสสิกนี่ชอบมาก มันเป็นเพลงที่ทำให้เรานิ่งได้ คือมันมีหลากหลายมิติ มีความซับซ้อน อย่างพอเราสนใจมิติที่มันลึกซึ้ง เพลงคลาสสิกก็พาเราไปสู่มิติที่มันลึกซึ้งได้ อย่างเพลงของบาค เขาแต่งเพลงขึ้นมาเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าสำหรับบาคคือ จักรวาล ธรรมชาติ มันคือความหมายเดียวกับชีวิต เป็นเพลงแห่งการสรรเสริญชีวิต ซึ่งฟังได้ไม่เบื่อ
GM : ถ้าให้นิยามงานเพลงของคุณเองล่ะ คุณจะนิยามว่าเป็นเพลงแบบไหน
เพชร : ก็คงนิยามลำบากนะว่าเป็นแบบไหน สิ่งที่เราทำคือความหลากหลาย มิติ ความเพราะของท่วงทำนอง ความลึกซึ้งในแง่ของเนื้อร้องที่ไม่ได้เป็นแค่ชั้นเดียว แต่มีหลายชั้น คือมองในแง่ของเพลงรักธรรมดาๆ ก็ได้ด้วย หรือจะคิดให้มากกว่านั้นก็ได้ด้วย เป็นบทกวีได้ด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ได้มีคำจำกัดความ เราไม่ได้คิดว่าเราจะทำเพลงแนวไหน แต่เราสนใจทำเพลงออกมาให้เป็นศิลปะ มีความสุนทรีย์ แต่คงได้รับอิทธิพลมาจากเดอะบีทเทิลส์สูง แต่เราไม่ได้เลียนแบบนะ เดอะบีทเทิลส์อาจเป็นแม่แบบ แต่เวลาผมแต่งเพลงผมก็ไม่ได้นึกถึงมัน แต่บางคนพอฟังก็จะบอกว่าเพลงนี้มีกลิ่นอายของเดอะบีทเทิลส์ ก็โอเค มีก็ดี
GM : คนฟังจะได้อะไรจากงานของคุณ
เพชร : ได้เสพเพลงที่มีสีสันหลากหลาย มีมิติ มีความลึกซึ้งกว่าเพลงป๊อปทั่วไป
GM : และเราก็คงได้ฟังในอัลบั้มชุดต่อไป
เพชร : ก็คงอย่างนั้น เพราะผมมองว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ว่าอย่างนั้นก็เพราะว่า ผมไม่ได้รีบเร่งที่จะทำ หรือทำเพื่อพิสูจน์อะไร ถึงตอนนี้อัลบั้มออกมาแล้ว มันจะไม่ดีก็ไม่เป็นไรนะ เมื่อก่อนนี่ไม่ได้เลย การคิดแบบนั้นทำให้รู้สึกว่าการทำเพลงทีเป็นเรื่องยุ่งยาก เหนื่อย เดี๋ยวนี้ถ้าเราปล่อยวางขึ้นก็ไม่เป็นไร ได้เท่าไหร่เท่านั้น ดีเหมือนกันที่คิดแบบนี้ ถ้าคิด มากก็คงไม่มีอะไรออกมาสักที จริงๆ ผมก็แต่งเพลงไว้แล้ว เป็นเพลงภาษาอังกฤษ แต่ว่ามันไม่เหมาะกับผมที่จะร้องเอง เลยคิดว่าจะให้คนอื่นมาร้อง ดนตรีทุกอย่างทำเสร็จมาเกือบปีแล้วด้วย เพราะหลังจากอัลบั้ม Let’s Talk About Love มีเพลงที่ผมแต่งเพิ่มอีก 20 กว่าเพลง
GM : ในบรรดาเพลงทั้งหมดที่คุณออกเป็นอัลบั้มมา คุณคิดว่าเพลงไหนตรงกับตัวคุณมากที่สุด
เพชร : ก็น่าจะเป็น ‘ธรรมดา’ นั่นคือเพลงที่ลึกที่สุด เนื้อร้อง ทำนองมันลงตัว แล้วพอเราแต่งออกมา เรารู้สึกว่า เออ… ดีนะ ผมยังมีเพลงที่แต่งออกมาแล้วยังแตะเรื่องธรรมะไว้หน่อยหนึ่ง แบบที่ไม่หนัก แบบที่เซอร์แล้วหลุดโลกด้วยในยุคนั้น แต่แฝงธรรมะด้วย
GM : คุณคิดไหมว่าเพลงของคุณจะกลายเป็นเพลงฮิต อย่างเช่นเพลง ‘เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ’
เพชร : ไม่คิดเลย แต่มันอาจจะเป็นเรื่องของเนื้อร้อง ทำนองดี เนื้อหามันอยู่เหนือกาลเวลา แล้วก็โชคดีที่คนเอาไปทำใหม่มาก ก็ต้องขอบคุณคนทั้งหลายที่นำไปทำใหม่ (หัวเราะ)
GM : ผมชอบประโยคหนึ่งที่คุณเขียนไว้ในเว็บไซต์ของคุณ ว่าคุณเป็นพวก ‘ทำงานบ้างไม่ทำงานบ้าง’ แล้วจริงๆ คุณคิดจะหยุดทำงานหรือยัง
เพชร : อยากนะแต่หยุดไม่ได้ ตอนนี้มันกำลังถึงพริกถึงขิง ก็เลยต้องดูแลต่อไป เพราะเรากำลังทำอะไรที่พิเศษ เป็นงานใหญ่ มันก็สนุกนะ…แต่ว่าเฮ้ย! ถ้าไม่ทำดีกว่าไหม ก็ตอบว่าดีกว่าแน่ รวมทั้งแต่งเพลงด้วยนะ (หัวเราะ) จริงๆ ผมอยากมีเวลาศึกษาธรรมะมากขึ้น
GM : คุณพูดเหมือนว่าความรู้สึกอยากมี อยากได้ของคุณ มันหมดไปแล้ว ไม่อยากได้อะไรในชีวิตแล้ว ยังมีอะไรอีกไหมครับที่คนชื่อ เพชร โอสถานุเคราะห์ อยากทำ
เพชร : อยากไม่ทำอะไรเลยหรือทำแบบไม่ทำ อันนี้ถ้าทำได้คงแจ๋ว แต่เรื่องวัตถุก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ผมก็ยังชอบแต่งตัว ยังมีกิเลสเรื่องนี้อยู่เยอะ
GM : คนในวัยขนาดคุณแต่งตัวขนาดนี้ คนรอบข้างรู้สึกอย่างไรบ้าง
เพชร : คนในครอบครัวก็ปกตินะ เพราะพวกเขาเห็นผมแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ผมแต่งตัวมากกว่าลูกผมเยอะ (หัวเราะ) คือผมก็ไม่ได้แต่งตัวเปรี้ยวมาก แต่งกลางๆ ผมเองก็ไม่ได้ใส่ของแพง ซื้อเสื้อผ้าก็ซื้อมาบุญครอง ไม่ได้ซื้อของแบรนด์เนมอะไร เห็นราคาก็ซื้อไม่ลง ส่วนเรื่องคนอื่นๆ คุณคงต้องไปถามพวกเขาเอาเอง
GM : การแต่งตัวแบบนี้มันทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นหนุ่มอยู่ตลอดเวลาไหม
เพชร : ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมแก่ และก็ไม่ได้รู้สึกว่าการแต่งตัวจะทำให้ผมรู้สึกหนุ่มหรืออย่างไร มันก็เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร และผมก็คงแต่งตัวแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 90 ถ้าผมไม่หลุดพ้นไปก่อนนะ ถ้าหลุดพ้นนี่ มันก็อาจจะไม่แคร์แฟชั่นแล้ว (หัวเราะ) อาจจะเลิกซื้อเสื้อผ้าไปเลย
FYI
บางส่วนจากความคิดเห็นของ รัตนาพร พืชผล หัวหน้าแผนกมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ พูดถึงสไตล์การแต่งตัวของเพชร : “ตั้งแต่เห็นอาจารย์เพชรก็เห็นอาจารย์แต่งตัวแบบนี้อยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกอะไรค่ะ แต่ถ้าหากเป็นอาจารย์ท่านอื่นมาแต่งแบบอาจารย์เพชรก็คงแปลก จริงๆ แล้วดิฉันชอบดูอาจารย์แต่งตัวนะคะ เพราะท่านไม่เหมือนใคร ในวันที่เป็นทางการที่อาจารย์ต้องใส่สูท สูทของอาจารย์ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่าง มันมีความโดดเด่น ดูดี และเป็นตัวตนของอาจารย์ มีสูทอยู่ตัวหนึ่งที่ดิฉันชอบมากคือ แขนสูทจะเป็นคนละสีกับตัวเสื้อ”