นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
GM กับนวพล เราค่อนข้างคุ้นเคยกันดี และเชื่อว่าผู้อ่านก็น่าจะคุ้นเคยกับผู้ชายคนนี้นั่นเพราะ…นอกเหนือจากชื่อเสียงของเขาจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับและนักเขียนบทรุ่นใหม่แล้ว หลายปีมานี้ GM กับเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มีโอกาสได้พูดคุยกันหลายครั้ง ซึ่งก็มีหลายประเด็นมากๆ ที่เราได้ยิงคำถามใส่ ไม่เฉพาะแค่เรื่องหนัง กระทั่งเรื่องธรรมะ GM ก็เคยชวนเขาคุย และยังเคยไปฟังเขาพูดตามเวทีต่างๆ ล่าสุดคือเวที TEDxBangkok 2016 นวพลเลยถาม GM
ตอนที่โทรฯ ไปทาบทามว่า“เราไม่รู้จะมีเรื่องอะไรพูดไหม คุยกันไปจนหมดแล้วมั้ง”GM บอกกับเขาว่า อยากจะชวนมาคุยถึงเรื่องพัฒนาการของวงการหนังไทยในรอบปีที่ผ่านมา และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวข้องกับหนังที่เราพบเจอบนโลกอินเทอร์เน็ต GM อยากรู้ว่าในฐานะผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในวงการนี้ เขามองเห็นอะไรตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
นับเป็นการชักชวนที่ไม่มีพิธีรีตองใดๆ มากมาย ซึ่ง…นวพลตอบตกลง เรานัดเจอกันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านรัชดาฯ มองด้วยสายตาของนักเขียน เราพบว่าห้างฯ ใหม่แห่งนี้น่าจะเหมาะกับการถ่ายหนังของนวพล โดยเฉพาะบริเวณลานจอดรถชั้นดาดฟ้า ดูเผินๆ แล้วสัมผัสได้ถึงความเหงาประหลาดๆ เราอาจจะคิดไปเองว่าในสายตาของนวพลคงจะชอบโลเคชันประมาณนี้แต่ก็นั่นแหละ เราคิดไปเอง ในสายตานวพล เขาอาจไม่ได้มองอย่างเราก็ได้เช่นเดียวกับคำถามทั้งหลายที่เราเตรียมมาพูดคุยกับเขาในวันนี้ GM ไม่คิดเอาเองว่านวพลจะตอบคำถามอย่างไร เพราะสายตาของผู้กำกับ กับสายตาของนักเขียน เรามองคนละแบบ อีกทั้งแม้จะเจอกันอยู่บ่อยครั้ง
แต่เราก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้สนทนากับเขา เครื่องอัดเสียงเริ่มต้นทำงานโดยส่งสัญญาณเป็นตัวเลขว่ากำลังอัดเสียงเรียบร้อย นวพลก็ส่งสัญญาณว่าพร้อมแล้วเช่นกัน ในสายตาของนวพล เขามองในสิ่งที่เราสงสัยอย่างไร การสปอยล์ตอนจบของหนังก็เป็นมารยาทที่ไม่ดีใช่ไหม การสปอยล์คำตอบของเขาผ่านบทเกริ่นนำก็เช่นกัน / จบ
: ตลอดทั้งปีนี้ ตลาดหนังไทยดูซบเซาไหมในความคิดของคุณ
นวพล : ปีก่อนเราก็โดนถามว่าปีนี้หนังไทยซบเซาไหม เราตอบแบบเดิมว่าไม่นะ (หัวเราะ) มันอยู่ที่แต่ละปีมีหนังที่ประสบความสำเร็จกี่เรื่อง ถูกพูดถึงกี่เรื่องมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดหนังไทยจะซบเซา อยู่ที่ว่าปีนี้ใครจะนึกถึงหนังไทยที่เคยเข้าไปฉายไปแล้วออกบ้าง คำว่า ‘หนังไทยซบเซา’ สำหรับเราคือคนไม่ดูหนังไทยแล้วจริงๆ เงียบหมดทุกเรื่องนั่นแหละซบเซา เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้มีสภาวะซบเซาอะไรขนาดนั้น เพียงแต่ว่าตอนนี้การแข่งขันเยอะขึ้น ค่าตั๋วมันสูง เวลาตัดสินใจดูหนังสักเรื่องจึงต้องคิดให้ชัวร์นิดนึงว่าดูแล้วคงจะชอบจริงๆ มันไม่สามารถดูหว่าน 3-4 เรื่องได้เหมือนเมื่อก่อน เขาต้องคิดแล้วว่าเดือนนี้มีอะไรน่าดู
แต่ว่าทุกครั้งเวลาหนังไทยเข้าฉาย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม แฟนเดย์ฯ, ขุนพันธ์ หรือหลวงพี่แจ๊ส 4G ถึงจุดหนึ่งไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทไหน คนก็ไปดู ในวงการก็ยัง
ขับเคลื่อนต่อไปได้ เพียงแต่ว่าก็ลุ้นๆ เอาละกันว่าปีนั้นมันมีหนังเรื่องอะไรบ้าง ทำเงินได้มากหรือน้อยแค่ไหน ระบบการตัดสินใจของคนดูเด็ดขาดขึ้น เมื่อก่อนเราคงเคยได้ยินคนพูดประมาณว่า ‘ไม่ดูหนังไทย’ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วนะ ผมกลับรู้สึกว่าเวลาหนังไทยเข้าโรงฉาย ถ้าหนังดีจริงๆ มันดึงความสนใจได้มากกว่าหนังต่างประเทศด้วย
GM : หนังรักหรือหนังตลกยังคงเป็นหนังกระแสหลักที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าอยู่ใช่ไหม
นวพล : มันคาดเดาได้แค่คร่าวๆ ด้วยซ้ำ ว่าแนวทางหนังแบบไหนจะได้เงิน อย่าง ‘พี่มากพระโขนง’ ก็ไม่ได้เป็นการคาดคะเนไว้ก่อนว่ารายได้จะไปไกลขนาดนั้น มันคงไม่อยู่ดีๆ ก็ เฮ้ย! เราแบบทำหนังนี้เสร็จแล้วเราจะได้พันล้านแน่นอน เป็นไปไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ในฐานะคนทำหนังเขาก็อยากให้มันดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อยู่แล้ว
ถ้าทำให้มันดี ไปได้สุดทาง คนก็อยากดู แต่เราก็เข้าใจว่าประเภทของหนังก็มีระดับความสำเร็จที่แตกต่างกัน สมมุติเราทำหนังดราม่ามากๆ รายได้มันอาจน้อยกว่า
หนังตลกอยู่แล้ว แต่ก็มีที่ทางของมันอยู่
GM : เทรนด์ของหนังไทยมีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไป
นวพล : ภาพรวมของตลาดหนังมันไม่ค่อยเปลี่ยนหรอกเพราะผู้กำกับไม่เยอะ ทั้งวงการมีผู้กำกับไม่เกิน 50 คน ต้องรอคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ที่ชัดเจนหน่อยคือ
2-3 ปีให้หลังมานี้หนังเล็กๆ เริ่มเข้ามาฉายเยอะขึ้น และมีพื้นที่ให้หนังฟอร์มเล็กได้ฉายในโรงขึ้น สถานการณ์การเติบโตของหนังขนาดเล็กก็มีมา 2-3 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้หนังอินดี้เข้าฉายเป็นเรื่องปกติมาก รอบฉายเยอะขึ้น ยืนโรงฉายนานขึ้น อาจไม่ได้เยอะแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นแบบหาดูยาก เรื่องพวกนี้ทำให้รู้ว่าคนเปิดรับมากขึ้น โรงหนังเปิดรับ
มากขึ้น โดยรวมไม่ได้มีอะไรแย่นะ แต่คราวนี้มันอยู่ที่ว่าเราจะทำหนังยังไงให้มันโดน แต่เรารู้สึกว่าบางทีก็ไม่จำเป็นต้องสร้างหนังมาเพื่อโดนคนก็ได้ ทำให้มันดีในแบบที่หนังเรื่องนั้นควรจะเป็น เรารู้สึกว่าถ้าทำหนังไม่ว่าหนังแนวไหนก็ตาม ถ้ามันไปได้สุดทาง คนจะอยากมาดูอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังอินดี้ หรือไม่อินดี้ก็ตาม
GM : อาชีพผู้กำกับยังเป็นอาชีพในฝันที่คนรุ่นใหม่สนใจอยู่ไหม
นวพล : โห! เราว่าเยอะเลยครับ เยอะกว่าเดิมอีก (หัวเราะ) ยุคนี้อุปกรณ์หรือว่าช่องทางในการเผยแพร่ผลงานมันเยอะขึ้นจนทุกคนก็จะรู้ว่าทำง่าย แต่สุดท้ายก็กลับไปจุดเดิมว่า ทุกคนรู้ How แต่ทุกคนจะเล่า What อย่างไร จะเล่าอะไรให้ดี นั่นคือสิ่งที่ต้องไปค้นหาทางให้เจอ ตอนนี้เราเห็นหนังสั้นเยอะมาก แต่หนังสั้นที่เวิร์กอาจไม่ได้เยอะตามปริมาณที่มีอยู่ ไม่ได้รู้สึกว่าหนังดีเยอะขึ้นตามปริมาณ สมมุติ 30 ปีก่อน มีการประกวดหนังสั้น มีคนส่งเข้าประกวด 20 เรื่อง หนังที่ดีที่สุดมี 3 เรื่อง ส่วนตอนนี้
มีน้องๆ ส่งหนังสั้นประกวดมากขึ้น บางครั้งมี 50 เรื่อง แต่หนังที่ดีอาจมีแค่ 2 เรื่องด้วยซ้ำ
GM : นักวิจารณ์หนังเยอะขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนหรือเปล่า เพราะง่ายกว่าเป็นผู้กำกับ
นวพล : นักวิจารณ์ไม่ได้มีจำนวนเยอะกว่าเมื่อก่อนหรอก สมมุติ 10 ปีก่อน คนวิจารณ์หนังมี 100 คน วันนี้นักวิจารณ์หนังก็อาจมี 100 คนเหมือนกัน แต่พื้นที่ที่
เผยแพร่คำวิจารณ์ยุคก่อนมันจำกัด มีแค่หนังสือ 3 เล่มเท่านั้น แต่ตอนนี้ทุกคนมีเพจเฟซบุ๊กแล้ว ฉะนั้น นักวิจารณ์ 100 คนก็จะมี 100 เพจ มี 100 ช่องทางในการ
นำเสนอบทวิจารณ์ เลยรู้สึกว่ามีเยอะ แต่ไม่ใช่สถิติที่ชัวร์นะ เราแค่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ ว่านักวิจารณ์เท่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือมันมีพื้นที่มากขึ้น แล้วมันก็ง่ายในการนำเสนอ
พอใครเขียนอะไรก็เขียน เปิดเพจบริหารกันไป
GM : มีอะไรบ้างที่เป็นวิวัฒนาการที่ดีของคนทำหนังรุ่นใหม่
นวพล : ที่เห็นชัดเจนเลยคือเรื่องโปรดักชัน เดี๋ยวนี้คุณภาพงานของน้อง เห็นแล้วแบบ เหี้ย! นี่คุณภาพการถ่ายทำจะเท่ากูแล้ว (หัวเราะ) ขนาดเป็นหนังของนักศึกษานะ
ปกติหนังนักศึกษากับหนังที่เข้าฉายในโรงจะค่อนข้างเห็นความแตกต่างชัดเจนว่า อ๋อ! นี่คือหนังนักศึกษา นี่คือหนังโรง เดี๋ยวนี้หนังนักศึกษาบางเรื่อง คุณภาพเทียบเท่าหนังโรงแล้ว แต่สิ่งที่พัฒนาก็คือเนื้อเรื่อง ชั้นเชิงการทำหนังของแต่ละคน ซึ่งเรื่องชั้นเชิงนี่ไม่ได้เกี่ยวกับวัยหรอก
GM : โอกาสที่เด็กรุ่นใหม่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ เปิดกว้างแค่ไหน
นวพล : โอกาสมีมากขึ้น แต่ต้องฝึกฝนตัวเองด้วย เอาจริงๆ ค่ายหนังก็ขาด
ก็วนไปวนมา บุคลากรไม่พอ สมมุติจะให้น้อง ก ทำโปรเจกต์นี้ มันทำไม่ได้ ติดงานอยู่ น้อง ข ก็ติดงาน ดังนั้น โอกาสเยอะอยู่ เพียงแต่ว่าต้องฝึกตัวเองให้ขึ้นมาให้ได้
ช่องทางเผยแพร่มีเยอะแยะ อินเทอร์เน็ตนั่นแหละช่องทางที่ดี
GM : ถ้าอยากได้โอกาส พวกเขาควรจะทำอย่างไรในยุคนี้
นวพล : ต้องเดินไปหา หรือไม่ก็ทำงานให้เขาเห็น ที่พูดบอกว่ายุคนี้โอกาสมีมากขึ้น เพราะว่าคุณสามารถโปรดักชันเองได้แล้ว คุณมีช่องทาง
ที่ช่วยพิสูจน์งานของคุณ ถ้าโพสต์ลง YouTube แล้วคนดูล้านวิว มันก็ยืนยันได้ประมาณหนึ่งว่า หนังสามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มคนดูหมู่มากได้
และโอกาสที่หนังของเราจะไปถึงคนของค่ายหนังก็ง่ายกว่า ในอดีตมันต้องประกวดอย่างเดียว
ถ้าประกวดไปไม่ผ่านรอบแรกก็บ๊ายบาย
แต่ตอนนี้ไม่ผ่านรอบแรก ก็ลง YouTube ถ้าดีจริงอย่างไรก็ไปถึง ทุกวันนี้เวลาเราหาตากล้อง
หรืองานที่เกี่ยวข้อง เราก็ไปดูงานตาม YouTube นี่แหละ ดูแล้วงานนี้ชอบก็จะถามว่าใครทำ
GM : อนาคตวงการหนังไทยจะมีแนวโน้มเปลี่ยนหน้าตาไปจากเดิมแค่ไหน
นวพล : มันมีรายละเอียดเยอะมากเลยนะ ถ้าคิดง่ายๆ เราคิดว่าหนังอินดี้จะเกิดขึ้นเยอะเพราะว่าอย่างที่บอก เรื่องโปรดักชันไม่ใช่สิ่งที่
น่าห่วง คนทำหนังอิสระยุคใหม่ก็เยอะมาก และพยายามหาวิธีทำหนังด้วยงบที่ไม่น้อยแต่คุณภาพเยอะขึ้น จนมันสามารถเข้าไปฉายดูในโรงได้
หนังสั้นที่คุณภาพดีๆ จะมีเยอะขึ้น หากเป็นเมื่อก่อนหนังอินดี้เราจะคุ้นกับชื่อผู้กำกับอยู่
ไม่กี่คน แต่วันนี้คนทำมีเยอะขึ้น ส่วนสตูดิโอผู้สร้างหนังเราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง มันอยู่ที่ทิศทางของโปรดิวเซอร์ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน และเรามีผู้กำกับหน้าใหม่ๆ บ้างไหม คนทำหนังรุ่นเก่าจะเปลี่ยนวิธีการไหม เดาไม่ได้เลยว่าเขาจะเปลี่ยนอะไร แต่เราเชื่ออยู่แล้วว่าคนทำทุกคน
ก็อยากเปลี่ยน แต่ว่าการเปลี่ยนของสตูดิโอมันไม่สามารถทำได้แบบทันทีทันใด ต้องใช้เวลา อาจจะ 10 ปี แต่อย่างน้อยมันก็เปลี่ยน ใจเย็นๆ นิดนึง สมมุติพี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) เขาประสบความสำเร็จทำหนังได้พันล้านบาท โปรเจกต์ถัดไป เขาก็ไม่ได้คิดว่า อ่ะ เอาเหมือนเรื่องที่แล้วละกัน ผู้กำกับก็ต้องการ Challenge ใหม่ๆ แต่ว่ามันอาจจะไม่ Major Change ขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ พี่โต้งทำหนังสงครามไปเลยในเรื่องต่อไป มันไม่ใช่
GM : เปลี่ยนไปเลยแบบทันที มันจะเหมือนปลาช็อกน้ำ เสี่ยงเกินไป
นวพล : เรารู้สึกว่าเรื่องที่มันสำคัญกว่าการพลิกโฉมเปลี่ยนไปในทันที คือการวิ่งระยะยาวไปเรื่อยๆ ได้อย่างมั่นคง สมมุติเราพลิกโฉมเลยแต่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเสียหมดเลยนะ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นค่อยๆ พลิกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยมันอาจจะเกิดผลในระยะยาว แต่มันจะดีขึ้น การทำหนังเป็นการลงทุนที่มหาศาล สมมุติมีเงินทุนให้
20 ล้านบาท เราเอาไปทำอย่างอื่นก็ได้นะ ถ้าอยากได้กำไรกลับมา แต่ถ้าเอาไปลงกับหนังนี่ แม่งเสี่ยงฉิบหาย (หัวเราะ) การทำหนังมันแขวนอยู่บนการคาดหวังทางธุรกิจที่สูงมาก ฉะนั้นเขาจะไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกใหญ่ได้ มันต้องเปลี่ยนแบบค่อยๆ เพราะเราต้องรอคนดูให้เขาค่อยๆ เรียนรู้การปรับตัว เรียนรู้ไปด้วยกัน
ทั้งอุตสาหกรรม ให้เปลี่ยนแนวทางการทำหนังของสตูดิโอไปเลยทำกันได้ แต่ถ้าไม่เวิร์กมันจะตายแล้วจบเลย
GM : คุณน่าจะเคยได้ยินคำพูดประมาณว่าหนังห่วยแบบนี้เข้าฉายได้อย่างไร หนังดีๆ ไม่ได้เข้าฉายหรือได้โรงฉายน้อย เพราะโดนหนังบางเรื่องที่ในสายตาคนดูหนังบอกว่าห่วย แย่งรอบฉายไป คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
นวพล : เรื่องนี้พูดยาก มันเหมือนว่าแบบไหนคือหนังดี แบบไหนคือหนังที่เราบอกว่ามันห่วย ถ้าหนังทำเงินได้เยอะก็ไม่ห่วยสำหรับคนอีก
กลุ่มนะ ข้อถกเถียงแบบนี้ใช้ไม่ค่อยได้ เราคงรู้สึกไม่ดีถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า มึงดูหนังห่าอะไรวะ กูดูไม่เห็นรู้เรื่องเลย พวกมึงสนุกอะไรกัน ตอแหลหรือเปล่า (หัวเราะ) เราก็คงแบบ เอ้ย! ก็กูสนุกไง จะให้กูทรยศความรู้สึกตัวเองได้ยังไง เราถึงพูดตั้งแต่ตอนแรกว่าหนังทุกแนวมีทางของมัน
ทำให้มันดีในแบบของมัน โดยที่ไม่ต้องไปก้าวก่ายคนอื่นก็ได้
เรารู้สึกว่าคนเดี๋ยวนี้ในยุคที่สามารถมีประเทศของตัวเองได้ หมายถึงทุกคนมีกลุ่มของตัวเองที่ชอบในงานของเรา จะเห็นว่าเพลง
บางเพลงใน YouTube เราฟังแล้วแบบ เพลงอะไรวะ (หัวเราะ) แต่แม่ง…ร้อยล้านวิว!! เราไม่รู้จัก
แต่ว่าร้อยล้านวิวเลยนะ ทุกคนมีโซนของตัวเอง เพียงแต่เราฟังแล้วอาจไม่ชอบก็ได้ ลองคิดกลับว่าถ้าเราเป็นคนทำงานนั้นสิ เราคงดีใจกับสิ่งที่ทำแล้วมีคนชอบ ไม่ได้เป็นค่ายใหญ่ แต่มีคนฟังร้อยล้านวิวนะเว้ย ต้องปรับความคิดกันใหม่ว่าทุกคนสามารถมีโซนของตัวเองได้ เราอยู่ในยุคที่มีตัวเลือกมากมาย ถ้าไม่ชอบก็ไม่ได้ผิดอะไร วันหลังก็ไม่ต้องดู มันตรงไปตรงมามาก คุณไม่ต้องดูหนังไทยก็ยังได้ ถ้าคุณคิดว่าจ่ายตั๋วหนังไป 200 บาทแล้วไม่คุ้ม แล้วแต่การตัดสินใจของคนดูเลย ยิ่งตอนนี้ใครอยากทำอะไรก็ทำเลย ถ้าคุณมีกลุ่มของตัวเองได้ก็ดี ไม่ต้องสนใจใคร ท้ายที่สุดหากหนังคุณห่วยจริงๆ คนดูนี่แหละที่จะตัดสินเอง
GM : แต่ประเด็นที่พูดถึงมากก็คือโอกาสที่โรงภาพยนตร์ให้กับหนังได้ฉาย ซึ่งดูเหมือนไม่เสมอภาค
นวพล : มันก็เป็นเรื่องการ Distribute และหนังถูกตัดสินว่าเป็นหนังเล็กเลยควรถูกฉายแค่ 5 โรง ซึ่งเราว่าต้องสู้กันต่อไปว่าหนังเล็กๆ นั้นจะตกลงกับโรงอย่างไร
ขณะเดียวกันการเพิ่มรอบฉาย เพิ่มโรงก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เราอยู่ทั้งวงการอินดี้ และวงการแมส เห็นเลยว่าการที่จะฉาย 30 โรง ค่าใช้จ่ายมันมหาศาล เอาง่ายๆ สมมุติคุณมีหนังอยู่ในโรง 30 โรง แต่คุณไม่มีโปสเตอร์ ไม่มีการโปรโมตอะไรเลยว่าหนังคุณฉายที่ไหน รอบเท่าไหร่ มันไม่ต่างอะไรกับคุณไม่มีหนังอยู่ในโรงนั้นอยู่ดี
เพราะคนเขาไม่รู้ว่าหนังคุณฉายอยู่
GM : เรื่องนี้มันเสียโอกาสทั้งสองฝ่าย โรงหนังและเจ้าของหนัง ถ้ามีการจัดการที่ไม่ลงตัว
นวพล : ใช่, ในแง่ของคนทำหนัง ค่าใช้จ่ายที่ต้องมีแน่ๆ อย่างการทำเทปสำหรับเอาไปฉายมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณหนึ่ง ขณะเดียวกันคำถามคือว่ายุคนี้แล้วมันต้อง
ฉายโรงเท่านั้นหรือเปล่า เราอยู่ในยุคที่ทุกสิ่งมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งช่องทาง แต่เรายังติดอยู่กับระบบเดิมๆ ทำหนังก็ต้องฉายในโรง มันไม่ใช่แล้ว เหมือนคุณอยากมีรายการวิทยุ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องพึ่งสถานีวิทยุ เพราะโลกมี Podcast ใครกดฟังวิทยุเมื่อไหร่ก็ได้ บางทีคุณภาพดีกว่าวิทยุด้วยซ้ำ หรือถึงอาจจะแย่กว่า แต่ก็ใช่ว่าจะฟังไม่รู้เรื่อง มันไม่จำเป็นต้องอยู่ในโมเดลแบบใดแบบหนึ่งด้วยซ้ำ เพียงแต่จะทำยังไงให้สิ่งที่เราทำสามารถสื่อสารไปถึงคนดูได้
GM : เหมือนที่หนังสือ ‘เวิร์ค แอนด์ ทราเวล’ ของคุณก็ไม่ได้ขายตามช่องทางเดิมๆ แต่ก็ขายหมด
นวพล : ‘เวิร์ค แอนด์ ทราเวล’ เราเขียนขึ้นมาโดยไม่คำนึงเลยว่าคนจะชอบ
หรือไม่ชอบ แต่นี่คือสิ่งที่เราต้องเขียน เพราะมันคือบันทึกสิ้นสุดเฟสการทำงานตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา การที่เราเริ่มเขียนหนังสือด้วยวิธีคิดแบบนี้ แปลว่าเราเขียนในสิ่งที่
อยากจะเขียนเท่านั้น แล้วหวังว่าคนจะอ่านมันมั้ง (หัวเราะ) เราเลยขายแค่ออนไลน์
เป็นหลักเลย อยากทำให้ง่ายที่สุด แต่ก็เผื่อไว้ว่าจะทำ Pop-up Store ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ ขึ้นมาด้วย เผื่อบางคนไม่แน่ใจว่านี่มันหนังสืออะไร อยากลองอ่านก่อนซื้อก็ทำได้
แต่สุดท้ายตัวหนังสือขายในออนไลน์ 3 วันแรก คนซื้อจนเกือบจะหมดแล้ว Pop-up Store เลยกลายเป็นขายเล่มที่เหลือไป แต่ตอนแรกที่เราแพลนเยอะว่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่า เต๋อ-นวพล ทำอะไรเดี๋ยวมีคนซื้อ อย่างตอนทำเสื้อ
Mary is Happy, Mary is Happy ขายล็อตแรก เราผลิตแค่ 200 ตัว เพราะไม่ได้คิดว่า
จะมีคนซื้อจนหมด ถ้าคิดว่ามีคนซื้อแน่ๆ เราจะผลิตเป็นพันตัวแล้ว จะผลิต 200 ตัว ทำไมวะ (หัวเราะ)
GM : ข้อดีของการทำอะไรแบบพอดีตัว คืออะไร อย่างไร หากไม่นับเรื่องการแบกรับความเสี่ยง
นวพล : ถ้าเกิดเราทำหนังสือจำนวนเยอะๆ มันคิดอยู่แล้วละว่าอาจไม่รอด แต่ถ้าทำในแบบที่อยากทำ มันมีความส่วนตัวกว่า แล้วเราก็รู้สึกว่าให้มันเป็นอย่างที่มันเป็นเถอะ พิมพ์น้อยหน่อยถ้ามันไม่ได้ขายเร็วขนาดนั้น ครึ่งปีหมด หรือปีหนึ่งหมดก็ดีแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือขายหมดอย่างเร็ว แค่ไม่กี่วัน เราก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น จริงๆ
ก่อนจะทำหนังสือ ‘เวิร์ค แอนด์ ทราเวล’ ไปคุยกับเพื่อนว่านอยด์เหมือนกัน จะขายได้หรือเปล่าวะ กูทำไปแล้ว 1,500 เล่มนะเว้ย (หัวเราะ) มันไม่มีความรู้สึกแบบขายได้
หมดชัวร์ แต่ก็ไม่ได้ขายอย่างไม่มีแบบแผน เราก็มีการวางระบบการขาย ทั้งมีให้ลองอ่านก่อน มีตัวอย่างหนังสือ และมี Pop-up Store สำหรับคนที่ไม่สะดวกสั่งออนไลน์
แต่วันแรกขายไปแล้ว 500 เล่ม พอวันที่ 3 มันเหลือ 300 เล่ม ก็ไม่รู้จะทำยังไง หมดก็หมด ไม่มีเวลากระทั่งอธิบายเลย (หัวเราะ)
GM : ไม่ Reprint เหรอ
นวพล : คงอีกนาน เพราะเราไม่แน่ใจว่า ถ้าเกิดเรามั่นใจมาก เรา Reprint ไปแล้ว แต่ตอนนี้แค่คิดว่าคนที่อยากอ่านที่มาไม่ทันอาจมีแค่ 300 คนก็ได้นะ แล้วเราจะ Reprint ยังไงวะ เพราะ Reprint ทีนึง ต้องทำอีก 1,500 เล่มเลย แล้วถ้า Reprint แล้วเหลือ 1,200 เล่ม กูก็ต้องกลับไปอยู่สภาวะเดิม คือหวาดระแวงนะ (หัวเราะ) ขอทำใจสักครู่ ที่น่าสนใจคือการทำโปรเจกต์นี้ ทำให้รู้สึกว่านี่คือโมเดลใหม่ของการขายหนังสือที่เป็นไปได้ อนาคตหากเรามีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนแค่ 50 หน้า เราก็ทำได้นี่หว่า คนอ่านยินดีที่จะซื้อนี่หว่า เอาจริงๆ นะ คนโอเคกับการซื้อออนไลน์มากกว่าไปร้านอีก เราอ่านคอมเมนต์แล้วรู้สึกว่าคนซื้อเขารู้สึกว่าการไปซื้อหนังสือที่ Pop-up Store ลำบาก กูโอนได้ไหม กูไม่ว่างไปไง ตรงข้ามกับเราที่คิดว่าเดี๋ยววันนี้แวะไปก็ได้วะ ง่าย ได้อ่านเลยด้วย กลายเป็นว่าคนปกติทั่วๆ ไป คือชอบสั่งซื้อออนไลน์ และไม่ต้องมีร้านก็ได้ อ้าว! ก็ดีดิ จบ (หัวเราะ)
GM : หากมองในตอนนี้ ‘เต๋อ-นวพล’ ก็คือแบรนด์ที่แข็งแรงและมีคนพร้อมจะอุดหนุนงานคุณเสมอนะ
นวพล : จะเรียกว่าแบรนด์ก็ดูฮาร์ดคอร์ไป (หัวเราะ) เราแค่รู้สึกว่าก็ทำในสิ่งที่อยากทำไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ทำหนัง หรือทำอะไรก็ตาม ตั้งแต่ 5 ปีก่อน ก็ไม่ได้คิดว่าแบบเดี๋ยวต้องทำแบบนี้ สั่งสมเพื่อจะได้มีโอกาสได้ทำแบบนั้นต่อ ทุกงานที่ทำ เอาจริงๆ นะ ไม่รู้คนอื่นยังไง สำหรับเรา มันไม่มีเวลาคิดหรอกว่าทำเสร็จแล้วภาพลักษณ์แบรนด์ ‘นวพล’ จะเป็นอย่างไร เอาหนังให้รอดก่อนก็ยากมากแล้ว (หัวเราะ) ตอนอยู่ในห้องตัดต่อ ไม่ได้คิดว่าเราจะตัดยังไงให้โดนใจคน ตัดให้ตัวเองชอบก่อนดีกว่าก็หมดเวลาแล้ว อย่างงานเขียนก็คือเขียนให้ตัวเองชอบก่อนก็หมดเวลาแล้ว เราก็ทำในสิ่งที่มันควรจะเป็น เพราะรู้สึกว่าถ้าคำนึงถึงแบรนด์เมื่อไหร่ มันเหมือนหลอกคนนิดหนึ่ง เรารู้สึกว่าอยากทำงานโดยที่ไม่ต้องพะวงว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบ
GM : กับลูกค้าที่จ้างคุณทำโฆษณา เขาเข้าใจตัวคุณมากแค่ไหน
นวพล : มันอาจจะเปลี่ยนไปในแง่ที่ว่าคนเชื่องานของเรามากขึ้น ยิ่งเราทำโฆษณาก็จะยิ่งเข้าใจเราชัดเจน บางคนเคยเห็นงานเก่าๆ เรามาแล้ว เขาจะรู้สึกเชื่อใจมากขึ้น แล้วมันจะทำงานด้วยกันง่ายขึ้น เมื่อก่อนเวลาคุยกับลูกค้า เราต้องยืนยันกับเขาว่าสิ่งที่ผมทำมันจะไม่อินดี้นะพี่ (หัวเราะ) ลูกค้าเขาเข้าใจว่าเราเป็นอินดี้ เลยต้องยืนยันให้เขาสบายใจ
GM : แล้วเขาเชื่อไหม
นวพล : ก็ต้องยืนยันหนักแน่น ประมาณว่าผมมานั่งกับพี่ตรงนี้แล้ว ผมไม่ทำแบบอินดี้อย่างที่พี่เข้าใจแน่นอน เขาอาจคิดว่าเราจะเอาเงินของเขาไปปล่อยเซอร์หรือเปล่า (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นคือหนังเรื่อง ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ ช่วยพิสูจน์ประมาณหนึ่งว่า แม้หนังจะไม่ได้ร้อยล้าน แต่ก็เข้าถึงคนดูเป็นวงกว้าง ดูแล้วสนุก ซึ่งตัวลูกค้าเองอาจเคยดูแล้วด้วยซ้ำ อะไรอย่างนี้ เขาจะอ๋อ! รู้สึกโล่งใจ แต่บางงานพอมันมาถึงจุดที่คุยกันแล้ว อาจจะไม่ได้ตรงใจจริงๆ ก็แยกย้ายกันได้ ไม่ได้โกรธกัน
GM : ในยุคที่คนตื่นเต้นกับ ‘ไวรัลคลิป’ทุกแบรนด์ต่างก็อยากจะมีโฆษณาที่ใครๆ ก็แชร์และพูดถึง สถานการณ์แบบนี้ทำให้คนทำงานสายนี้ทำงานกันยากขึ้นแค่ไหน เวลาลูกค้ายื่นโจทย์ว่าอยากได้โฆษณาที่เป็นไวรัล
นวพล : ทำงานยากขึ้นแน่นอน หากเป็นเราถ้าเจอโจทย์แบบนี้ไม่รับงานนี้ว่ะ (หัวเราะ) ก็เข้าใจเขานะว่าอยากให้มันเปรี้ยงปร้าง แต่ว่าคำว่า ‘ไวรัล’ ไม่มีกฎที่จะเช็กพอยต์ว่าทำตาม 5 ข้อนี้แล้วจะดัง และต่อให้มันมีเช็กพอยต์เหล่านี้ มันก็ไม่สามารถใช้ได้ตลอด ถ้ามันเป็นสูตรของปีก่อน ปีนี้มันก็ไม่มีคนซื้อแล้ว สำหรับเรา ไวรัลคือสิ่งที่มันยังไม่เคยเกิดขึ้น ลูกค้าจะรับความเสี่ยงกับสิ่งที่มันไม่เคยเกิดขึ้นหรือเปล่า ซึ่งผมก็ประกันไม่ได้ว่า มันจะเวิร์กหรือมันจะไม่เวิร์ก แต่ว่าทุกครั้งที่มันเกิดไวรัล นั่นคือสิ่งที่มันไม่เคยมีมาก่อน หรือมันเคยมี แต่มันไม่เหมือนกับที่ผ่านมา เราเชื่อในข้อนี้มากกว่า เลยรู้สึกว่าถ้าเกิดลูกค้าขึ้นต้นด้วยคำว่า อยากทำให้ไวรัล เราเลยรู้สึกว่าไม่เอาดีกว่า
แบบถ้าเกิดหวังยอดวิว ไม่เอาเลย เราแค่รู้สึกว่าอยากทำให้มันเวิร์กเฉยๆ
GM : คุณไม่อยากแบกรับความหวังที่ผูกมากับยอดวิว
นวพล : ก็ใช่ อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้รับทุกงาน และถ้าเกิดเงื่อนไขของงานมาด้วยวิธีคิดแบบนั้นก็ไม่เอา เพราะขนาดทำหนังยังไม่รู้เลยว่าจะได้ร้อยล้านหรือเปล่า หนังจะเจ๊งหรือเปล่า เราเองยังไม่รู้เลย (หัวเราะ) ผมประกันให้พี่ไม่ได้ว่ะ ถ้าพี่จะเริ่มคุยงานด้วยวิธีคิดแบบนี้ เราไม่อยากทำงานด้วย เพราะถ้าทำงานด้วยแนวคิดนั้น
เมื่อไหร่ ตอนระหว่างทำจะสับสน เต็มไปด้วยความระแวง กังวลว่าแม่งจะไวรัลไหม
GM : อีกกระแสหนึ่งที่เห็นชัดบนโลกออนไลน์ คือสังคมของการแสดงความเห็น การวิจารณ์ โดยเฉพาะการวิจารณ์หนังตัวคุณเองชอบวิจารณ์กับเขาด้วยไหม
นวพล : เราคิดว่าเราเสนอความคิดเห็นสนุกๆ มากกว่าวิจารณ์ คือมันไม่ได้เป็นหลักเป็นการซีเรียสอะไรมาก ทุกวันนี้ในเพจก็ยังเขียนอยู่
เราจะเขียนง่ายๆ ว่าเราคิดยังไง กับเราจะเขียนถึงมันในแง่คนทำหรือในแง่วิธีการทำมากกว่า จะเป็นเน้น Emotional เรารู้สึกว่าบทเรื่องนี้
ครึ่งแรกดี ครึ่งหลังช้าไปหน่อย ถ้าเกิดตัดครึ่งแรกออก ครึ่งหลังอาจจะดีขึ้น เราอยากเขียนแบบนี้มากกว่า จริงๆ การวิจารณ์ใดๆ ทั้งมวล
ถ้าคุยกันด้วยคำพูดดีๆ ไม่ว่าจะติหรือชม คนทำก็จะรู้สึกไม่เป็นไร แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดสวยๆ หรือชมอย่างเดียวนะ จะติแบบตลกๆ ก็ได้ ชอบอ่าน
GM : คนทำงานยินดีรับคำวิจารณ์ที่ดูแล้วมีเหตุผล
นวพล : ทุกคนชอบฟังความเห็นแบบนี้กันทั้งนั้น มันจะแตกต่างกันระหว่างคำวิจารณ์ว่า ‘เฮ้ย! ทำไมงานเขียนมึงห่วยอย่างนี้วะ ใช้สมองเขียนจริงรึเปล่า’ กับคำวิจารณ์แบบ ‘เราว่าช่วงท้ายประโยคโดยรวมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าแก้ประโยคท้ายใหม่โดยรวมอาจจะดีขึ้น’ เราว่าคนฟังคำวิจารณ์จะรู้สึกคนละแบบ ได้รับสารที่เหมือนกัน คุยกันดีๆ ก็ได้ จะใส่อารมณ์กันทำไม จะใช้คำ ฮาร์ดคอร์ใส่กันทำไม จริงๆ บางรีวิวมันดีนะ ถึงเขาจะแสดงความเห็นว่าไม่ชอบ แต่มันมีเหตุผลความไม่ชอบอยู่ แต่พอคำวิจารณ์เต็มไปด้วยครีมเค้กที่มีแต่ความฮาร์ดคอร์ กว่าคนทำงานอ่านทะลุไปจนถึงเนื้อเค้ก แม่งผ่านครีมคำด่าเยอะมากมายจนจะอ้วกอยู่แล้ว มันไปไม่ถึงเนื้อจริงๆ ทำไมเราไม่ตักครีมออกแล้วเอาเนื้อให้เขาดูเลยวะ เราเลยรู้สึกว่ามันอยู่ที่การใช้คำคุยกันดีๆ มากกว่า
: คุณรับมือกับคำวิจารณ์บนอินเทอร์เน็ตอย่างไร
นวพล : เราฟังครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะ Take อะไรไปได้บ้างมากกว่า สมมุติว่าเราทำหนังช้า คอมเมนต์หนึ่งบอกว่าดูแล้วจะหลับ ก็…ตามนั้นแหละ แก้ไม่ได้ เราทำหนังช้ามันมีความเป็นไปได้อยู่แล้วที่จะหลับ สำหรับเราคงไม่สิทธิ์ที่จะไปบอกเขาว่า เฮ้ย! ดูไม่เป็นละสิเลยหลับ หลับก็หลับ ไม่เป็นไร ก็แค่ไม่ตรงใจ เราก็เคยหลับในหนังคนอื่นเหมือนกัน เพราะมันไม่ตรงแนว หนังมันดีด้วยนะ แต่หลับว่ะ คือแบบกูรู้ว่าตั้งใจทำมากเลย แต่มันไม่ใช่แนว เนื้อหาไม่ได้เป็นสิ่งที่เราสนใจ การวิจารณ์หนังก็เหมือน
กินข้าวแล้วไม่อร่อย ไม่อร่อยก็คือไม่อร่อย ก็เดี๋ยวไปกินร้านอื่น มันไม่จำเป็นที่จะต้องเดินไปด่าแม่ค้าว่า ป้า…อย่างนี้เอาส้นตีนทำเหรอ (หัวเราะ) พูดกันดีๆ ก็ได้ สิ่งที่ดีกว่า อย่างไรซะคนทำงานครีเอทีฟต้องฟังอยู่แล้ว ชอบไม่ชอบอะไรก็ฟังไว้ เขาแค่ Take ในสิ่งที่มันเอาไปปรับปรุงได้ ถ้าสิ่งที่มีคนให้ความคิดเห็นมันอาจจะจริงก็ได้ เออว่ะ
ตรงนี้เราพลาด ตรงนี้เราอยากให้คนเข้าใจแบบนี้ แต่คนเข้าใจผิดไปอีกแบบหนึ่ง ก็อาจจะเป็นการสื่อสารที่เราผิดเอง เรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายขนาดนั้น
GM : มันเป็นเพราะว่ายุคนี้มันไม่เห็นหน้ากัน ก็ใส่กันได้อย่างไม่เกรงใจใช่ไหม
นวพล : เราไม่รู้ว่าคนเขียนคอมเมนต์เขาคิดอย่างไร ไม่กล้าเดาด้วยว่าเขาเขียน
แบบนั้นด้วยสาเหตุอะไร แต่ว่ามันมีวิธีที่ดีกว่านั้นในการที่จะคอมเมนต์ หรือติอะไรที่มันละม่อมหน่อย เรารู้สึกว่าไม่ต้องฮาร์ดคอร์ก็ได้ หรือพี่จะฮาร์ดคอร์ก็ได้ แล้วแต่
พี่นะ เพียงแต่ว่าผม Take มันเข้าไปยากมาก เอาจริงๆ แล้ว เราทำหนังเรื่องหนึ่ง
เวลาเรารับคอมเมนต์มาเยอะๆ สุดท้ายมันจะเหลือคอมเมนต์หลักๆ อยู่ประมาณ
3-4 ข้ออยู่ดี หมายถึงว่า คำชมจะมี 3 ข้อหลักๆ คำติจะมี 3 ข้อหลักๆ เท่านั้นเอง
เพราะสุดท้ายแล้ว มันจะวนไม่พ้นเหตุผลเหล่านั้น
GM : คำวิจารณ์มีผลกับคนทำงานหนังระดับไหน
นวพล : เราว่ามันอยู่ที่ว่าเรา Take มันแบบไหนมากกว่า เวลาเจอคำติมันก็จะเสียใจนิดหน่อย แต่ว่าสำหรับเรามันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากกว่า เออ…มันพลาด
เพราะว่าอะไร รู้หรือเปล่า แล้วมันไม่สามารถแก้อะไรได้ เราทำมาตั้งนาน ใช้เวลาเขียนบทอยู่ 2 ปี แล้วทำไมกูถึงมองไม่เห็นข้อผิดพลาดนั้นจนคนดูเขามาเห็นเอง
แล้วบางทีเราเห็นด้วยกับคำตินั้น แต่กูทำอะไรไม่ได้แล้วว่ะ ต้องรอโอกาสถัดไป ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่ปีข้างหน้าเหมือนกัน การเกิดขึ้นของหนังเรื่องหนึ่งมันใช้เวลานานมาก เป็นไปได้ที่จะเสียใจ หลังจากนี้ไปก็ขึ้นอยู่กับว่าใครปรับวิธีคิดเพื่อปรับปรุงต่อไปในอนาคตยังไงมากกว่า เราก็รู้สึกว่าจริงๆ คำติมันมีประโยชน์อยู่แล้ว คำชมเราดีใจนะ แต่มันก็จะแค่แป๊บเดียว ที่เหลือก็จะต้องเอาไปปรับปรุงครั้งหน้า เพราะเราเชื่อว่าเวลาทำงานชิ้นหนึ่งมันเห็นอยู่แล้วว่าผิดพลาดตรงไหน เราก็ได้แต่อย่าให้คนเห็นมันเยอะขนาดนั้น เรารู้อยู่แล้วว่ามีข้อผิดพลาด เราจะปรับปรุงมันก็ต้องรอเรื่องหน้าเลย แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ (หัวเราะ)
GM : ตลอดทั้งปีนี้เราเห็นชื่อคุณผ่านตาเยอะมาก ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่บ้าง
นวพล : เราเขียนบทให้กับ GDH แล้วก็ทำบทโปรเจกต์หนังอินดี้ของตัวเองด้วยที่เพิ่งไปเสนอที่คานส์มา งานโฆษณาก็รับทำอยู่ และทำอะไรจุกจิกไปเรื่อย สิ่งที่เราอยากทำก็ได้ทำไปหมดแล้ว หนังสือก็เขียนเสร็จไปหมดแล้ว ที่อยากทำในช่วงครึ่งปีหลังก็ได้ทำไปเกือบหมด อาจจะทำหนังสืออีกหรือเปล่าก็เป็นไปได้ เรารู้สึกว่ายังมีไอเดียมากมายที่อยากจะเอาเรื่องไปเล่าอีกเยอะ รวมไปถึงการจัดงานนิทรรศการของตัวเองก็เป็นวิธีการเล่าเรื่องอย่างหนึ่งที่เราได้ทดลอง
GM : ผลตอบรับของนิทรรศการ ‘I Write You a Lot’ เหนือความคาดหมายไหม
นวพล : เราก็ไม่ได้คิดว่าคนจะมาเยอะขนาดนี้ เพราะมันเอาแต่ใจเรามาก ส่วนตัวคิดแค่ว่านี่มันนิทรรศการศิลปะ และในเมื่อมันเป็นนิทรรศการศิลปะ กูก็อยากทำอะไรในสิ่งที่อยากทำไปเลย ไม่มีการแบบ โอ๊ย! เดี๋ยวคนดูไม่มาดู รอบนี้เราไม่สนใจ (หัวเราะ) เพราะว่าดูฟรีอยู่แล้ว ก็อยากทำให้สุดๆ ไปเลย ผลปรากฏว่า เหี้ย!
คนแม่งมาว่ะ โดยเฉพาะเด็กๆ เต็มไปหมดเลย สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือพวกเขาไม่แคร์ว่ามีเดียนั้นคืออะไร มันน่าสนใจสำหรับพวกเขาหรือเปล่า
แค่นั้นจบ ซึ่งมันไม่เกี่ยวว่าอินดี้หรือไม่อินดี้ เพียงแต่ว่ามันสื่อสารกับเขาหรือเปล่า ดูน่าสนุกสำหรับเขาหรือเปล่า ถ้าใช่เขาก็จะมา มันตรงไปตรงมามาก เราเลยรู้สึกว่าไม่ต้องแคร์รูปแบบหรือว่าวิธีการกันแล้ว มันคงคล้ายกับเราซื้อของ ถ้าของนั้นมันดีพอ เราก็ไม่สนหรอกว่าใครทำ ถ้ารู้สึกว่าดีก็คือดี
เราไม่ดูว่า เฮ้ย! แมสว่ะ อินดี้ คิดเหี้ยอะไรเยอะแยะ (หัวเราะ) มันลืมคิดไปแล้ว ถ้าเกิดรู้สึกว่าอยากดูก็คงไปดู อยากดูแล้วตั๋วไม่แพงก็คงไปดู ถ้าตั๋วแพงไปก็ไม่ได้ดู ถ้าดูโปสเตอร์ไม่สนใจก็คงไม่ เราพยายามทำให้เรียบง่ายทุกอย่าง ทำให้มันตรงไปตรงมา บางทีมันก็ไม่ต้องวางกลยุทธ์หนักๆ อะไรขนาดนั้น มันง่ายมากเลย
GM : ย้อนกลับไปตอนทำนิทรรศการตอนนั้นคิดอะไรอยู่
นวพล : เขามาชวน โดยที่ตอนแรกเราพยายามบอกว่าผมไม่ได้อาร์ตอะไรขนาดนั้นนะ เราไม่รู้ว่าเขามาท่าทีไหน เพราะไม่รู้จักกัน แต่พอคุยกันเยอะๆ ก็เห็นภาพร่วมกันว่าเรามองไปในทางเดียวกัน เราอธิบายเขาไปว่าสิ่งที่ทำอาจจะไม่ใช่ Super Art แต่ผมคิดว่านี่คงจะเหมาะกับแกลเลอรี แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนี่จะเรียกว่าอาร์ตสำหรับวงการด้วยหรือเปล่า แต่ว่าสิ่งที่อยากจะทำคือแสดงภาพถ่ายแล้วก็มี Live Screenwriting พี่โอเคไหม โอเคก็ทำ จบ นิทรรศการของเราคือการเล่าเรื่องแบบหนึ่งผ่านภาพถ่ายใน Light Box มีการเขียนบทจากวิวนอกหน้าต่างแกลเลอรี กับมีเขียนบทสด คิดแค่นี้เลย เพราะเราขี้เกียจนิยามว่านี่มันอาร์ตพอหรือเปล่า (หัวเราะ) คิดแล้วมันทำงานไม่ได้ มาระแวงว่า ทำแบบนี้ดีไหม เดี๋ยวไม่อาร์ตคงไม่สนุก ก็เหมือนกัน ไม่ได้คิดว่านี่แมสหรือไม่แมสนั่นแหละ
เราคิดว่าจะทำอะไรบ้างแค่นี้ก็ปวดหัวแล้ว ไม่มีเวลามานั่งคิดหรอกว่ามึงอาร์ตหรือเปล่า สรุปคือเราปล่อยหมด ไม่สนใจ กูทำแบบนี้ จบ แล้วก็รอดูว่าคนจะมีปฏิกิริยาเป็นอย่างไร เราไม่รู้เหมือนกันว่าคนจะมาดูมากน้อยแค่ไหน วันแรกๆ ก็คงเยอะแหละ เขามาดูเพราะมันประหลาดดี ที่อยู่ดีๆ เราไปทำนิทรรศการ ปรากฏคนมาเยอะ
ทุกสัปดาห์ ทุกวัน จนวันสุดท้าย เหนือการควบคุมมาก ก็ดีใจที่มันเกิดขึ้น แต่ว่าถ้าถามว่าตอนแรกคาดหวังไหม ไม่ได้คาดหวัง
GM : งานนิทรรศการของคุณช่วยย้ำความคิดของคุณที่ว่าการเล่าเรื่องจะเล่าผ่านสื่ออะไรก็ได้ใช่ไหม
นวพล : การจะเล่าเรื่อง ไม่ว่าอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องผ่านหนังสือหรือหนัง เราทดสอบมาแล้วว่า มันอะไรก็ได้จริงๆ ขอแค่หาวิธีการสื่อสารกับผู้ชมให้ได้ เรารู้สึกว่าคนยุคนี้สนุกว่ะที่มีตัวเลือกในการสื่อสารเยอะไปหมด เราสามารถไปดูการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในห้องโดยไม่ต้องไปดูในโรงหนัง หรือที่ไม่ใช่แค่การเปิดกระดาษดู ช่องทางต่างๆ มันตอบสนองเรามากขึ้น ทำให้เราสามารถเล่นอะไรใหม่ๆ ได้ด้วย อย่างไรซะคนก็เปิดรับอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเรานำเสนอเขาได้ดีแค่ไหน นำเสนอไปถึงเขาหรือเปล่า
เราจึงไม่เคยโทษคนดูเลยว่าทำไมดูหนังกูไม่รู้เรื่อง เอาเข้าจริง มันอาจจะมีคนมาดูแล้วรู้สึกแบบ นี่คือเหี้ยอะไรวะ (หัวเราะ) ซึ่งก็ไม่เป็นอะไร อย่างน้อยเขาก็มาดู เวลาคนไม่ชอบงานเรา เราไม่เคยขับไล่เขาเลยนะ ก็บอกเขาว่าไม่เป็นไรครับ งานหน้าพี่มาดูใหม่ละกัน ผมจะทำให้มันดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่าถ้าทำให้มันถึงจุดที่ดีพอ เขาจะยังยินดีรับฟัง
GM : สิ่งที่คุณทำมาทั้งหมดจนถึงวันนี้ คุณรู้สึกอย่างไรกับการเล่าเรื่องผ่านรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมา
นวพล : เราแค่รู้สึกว่าดีใจที่ทำแล้วมีคนสนับสนุน มีคนรับฟัง มันเหมือนกับเรามีเรื่องเรื่องหนึ่งจะเล่าแล้วมีคนตั้งใจฟัง ความรู้สึกมันเหมือนส่งของไปถึงเขาได้มากกว่า
อย่างตอนไปพูดใน TEDxBangkok มีเวลา 15 นาที ก็ต้องเลือกเรื่องที่สามารถส่งไปถึงคนมากที่สุดในเวลาที่กำหนด ซึ่งคนที่ฟังส่วนใหญ่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน โดยรวมเป็นคนทั่วไปที่มาจากหลากสาขาอาชีพ ดังนั้น เราคิดถึงคนฟังก่อนว่าเขาคือใคร แล้วเราจะพูดอะไรที่สื่อสารสาระไปถึงเขา แล้วเกิดประโยชน์กับเขาบ้าง
ไม่มากก็น้อย แล้วเราก็ใช้ 15 นาทีนั้นในการทำสิ่งนั้น แล้วเราก็จบส่วนหนังสือ ‘เวิร์ค แอนด์ ทราเวล’ เราเขียนประสบการณ์ในการทำงานตลอด 4-5 ปี ก็หวังว่าจะมีคนซื้อไปอ่านแล้วก็จบ และถ้ามันขายหมดเราก็สบายใจ จากนั้นไปทำอย่างอื่นต่อ เพราะว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นแป๊บเดียว และมันก็จะจบไป
เวลาเราทำหนังเรื่องใหม่คนดูก็คงลืมหนังเรื่องเก่าไปแล้ว เราเจอวัฏจักรนี้มาเยอะ ดังนั้นมันเลยไม่ใช่ความรู้สึกภูมิใจแล้วยึดติดกับมัน เราก็แค่รู้สึกว่า Mission มัน Completed จากนั้นเราก็ไปเล่นเกมด่านต่อไป มันมีเรื่องอื่นๆ จะเล่าต่อ อนาคตเราอาจจะทดลองกับคนก็ได้ว่าถ้าทำหนังสือแบบสามเหลี่ยม เขาจะมีปฏิกิริยากับมันอย่างไร จะซื้อไหม จะอ่านไหม หรือจะอ่านรู้เรื่องไหม ซึ่งถ้าเกิดทำขึ้นมาแล้วขายได้ก็ดีใจแค่นั้นแหละ
GM : อายุมีผลกับความรู้สึกต่องานที่ทำเปลี่ยนแปลงไปไหม
นวพล : เราอาจจะแก่แล้วแหละ ความรู้สึกที่แบบแม่ง Feel Good เหมือนเมื่อก่อนเลยไม่มี ก็แค่รู้สึกว่าความดีใจตื่นเต้นเป็นฟังก์ชันหนึ่งของชีวิต ประมาณว่าพูด 15 นาที
ถ้ามันเปลี่ยนคนได้บ้างไม่มากก็น้อย เราดีใจนะหรือหนังสือที่เขียนมาจากประสบการณ์เราที่เป็นอีกด้านหนึ่งในชีวิตเรา ถ้าคนอ่านแล้วเขาได้อะไรจากมันบ้าง หรืออ่านแล้วค้นพบว่า แม่งเกลียดไอ้เหี้ยนี่สัตว์ๆ (หัวเราะ) เราก็คิดว่านี่คือสิ่งที่เราได้กระทำไปแล้ว และมันก็จบแล้ว
เราทำงานชิ้นใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ได้เลย ความรู้สึกแบบนี้มันสงบดีนะ ไม่งั้นมันวุ่นวายถ้ามัวแต่พะวงว่าเขาจะชื่นชมไหม ไม่รู้จะเอาตัวเองไปผูกกับความรู้สึกแบบนั้นทำไม เพราะเรารู้สึกว่าทุกวันนี้ถ้าได้เล่าในสิ่งที่ชอบแล้วก็มีคนสนับสนุนมัน จนเราสามารถทำงานชิ้นต่อไปได้ แค่นั้นก็โอเคมากแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ชอบและมันเป็นอาชีพ
ต่อไปได้ด้วย
GM : ตอนที่ถูกชวนไปขึ้นเวที TEDxBangkok ตื่นเต้นไหม
นวพล : ตอนแรกไม่มั่นใจเลย (หัวเราะ) เพราะว่าก่อนหน้าที่จะถึงนี้ เราเคยไปพูดที่ OKMB (งานมันส์สมอง OKMD Workshop Knowledge Festival 2016) โห้! เหี้ยสัตว์ แม่งไม่เวิร์กเลย ขึ้นไปแล้วรู้เลยว่าไม่เวิร์ก ซึ่งเราเตรียมมาน้อยด้วย ในทีแรกนึกว่าขึ้นไปแล้วจะพูดได้เลยเว้ย
เจอคนเข้าไป 500 คน แม่ง!น็อกเลย กูพูดยากไปหรือเปล่า มุกซับซ้อนไปหรือเปล่า เราก็ลืมด้วยว่าต่อไปต้องพูดอะไร วันนั้นรู้สึกเสียเซลฟ์มาก เราบอกทีมงานว่า
‘พี่ ผมพูดไม่ค่อยดีเลยว่ะ’ มันยุบยับไปหมด เวลาก็เกิน แต่ไม่รู้อีท่าไหนทีมงาน TEDx มาชวนเขาสัมภาษณ์ก่อนเลยนะว่าถ้าคุณจะพูด คุณจะพูดอะไร เราก็เล่าไปว่า
จะพูดเรื่องอะไร (นวพลพูดในหัวข้อ ‘ความจริงจริงๆ’) ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่ในใจคือลองอีกทีแล้วกัน ไม่ได้ก็ไม่ไปพูดแล้ว กูพูด Public Speaking
ไม่ได้แน่ๆ
GM : เราก็ไปฟังคุณพูดใน TEDxBangkok มานะ พูดได้ดีมากๆ ด้วย
นวพล : โชคดีที่เขาให้ซ้อมก่อน ระบบการจัดการของ TEDx เขาจริงจังมาก เราเพิ่งรู้ว่าต้องเขียนสคริปต์ด้วย ซึ่งมันเป็นวิธีที่ดีมาก เพราะเวลาเขียนออกมาก่อน เวลาขึ้นไปพูด เราจะได้ไม่นอยด์ ได้ซ้อมก่อนด้วย และคราวนี้คนมาฟังเยอะกว่างานที่ OKMD อีก ยิ่งต้องซ้อมพูดให้ได้ ในขณะที่ซ้อมก็ค่อยๆ เรียนรู้วิธีการพูดว่า อ้อ! พูดต่อหน้าคนหมู่มากต้องพูดด้วยวิธีไหน ค่อยๆ เรียนรู้ไป มันเหมือนกับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงของเรา ถ้าจะบอกว่า การเป็น Public Speaking ก็คือมีเดียใหม่ในการเล่าเรื่องก็ไม่ผิด ครั้งที่แล้วมึงหลบอยู่ในสักที่แล้วมึงเขียนบทสดในแกลเลอรี รอบนี้มึงถูกวางแหมะ
ไว้อยู่บนเวทีปะทะกับคนพันกว่าคน ด้วยการพูดในเวลา 15 นาที สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่สนุก ก็ลองดู ถ้ามันห่วยไม่เป็นไร ห่วยก็ห่วย คือกูพูดไม่ได้แค่นั้นเอง ไม่ชอบก็ด่ากูก็ได้ เพราะกูทำได้แค่เนี้ยแหละ รอบหน้าไม่ขึ้นแล้ว (หัวเราะ) ก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้กับสิ่งใหม่นี้
อีกหนึ่งโอกาสที่ดีมากสำหรับเราคือการได้เจอคนพันกว่าคน ซึ่งคนที่มาฟังเราเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ได้มายุ่งอะไรกับวงการภาพยนตร์หรืออยู่ในวงการสื่อ เขาไม่รู้เรื่อง Media Literacy อะไรทั้งนั้น เราเลยเลือกเรื่องที่เบสิกมาพูด นั่นคือการรู้เท่าทันสื่อ แล้วก็หวังว่า คอนเทนต์นี้จะส่งไปถึงเขา เราไม่หวังว่าคนฟังจะบรรลุธรรมหรอก แต่คิดว่าอย่างน้อยครั้งหน้าเขาก็อาจจะสังเกต หรือหยุดคิดมากขึ้นตอนที่รับข่าวสื่อหรือดูสื่อที่เห็นว่าความจริงเรากำลังโดนหลอกหรือเปล่า
GM : เราเคยดูหนังสั้นของคุณเมื่อนานมาแล้ว ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องเลย กระทั่งวันนี้เราได้ดูผลงานล่าสุดของคุณ มันเปลี่ยนไปมาก อะไรที่ทำให้คุณเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้
นวพล : สำหรับเราตอนนั้นเป็นช่วงทดลองว่ะ กำลังหาอยู่ว่าเราชอบเล่าเรื่องแบบไหน สุดท้ายแล้วเราอาจจะตอบว่า เราชอบสไตล์การดำเนินเรื่องแบบนี้ คือชอบบทสนทนาการคุยกันยาวๆ ชอบแช่กล้องนิ่งๆ แต่ไม่แช่กล้องนิ่งๆ นานๆ เหมือนเมื่อก่อนนะ (หัวเราะ) บทสนทนาก็ไม่เรื่อยเปื่อยขนาดนั้น แต่ยังชอบบทสนทนาแบบการแช่กล้องอยู่ เราก็แค่คัดบางส่วนขึ้นมา ถ้าเกิดมองย้อนกลับมาดู เราอาจรู้สึกว่ามันยาวไป มันอาจเรื่อยเปื่อยเกินไปแบบที่คุณรู้สึกก็ได้ แต่สำหรับเราแล้ว มันคือช่วงทดลอง
การทำงานของเราก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากหนังสั้นเมื่อก่อนก็ค่อยๆ พัฒนากลายมาเป็นหนังเรื่อง ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ หรือเป็นคลิปโฆษณานอติลุส หากสังเกตดูแนวทางการเล่าเรื่องก็เป็นสไตล์เรา คือถ่ายบทสนทนาระหว่างคนขายหมูปิ้งกับสาวออฟฟิศ คุยกันยาวๆ มันเหมือนกันกับหนังสั้นเราสมัยก่อนเลย แต่วิธีการที่เปลี่ยนไปคือเราตัดสลับ คัตรับไปที่หน้าตัวละคร สลับกับมุมกว้าง ใช้ภาษาของหนังทั่วไปมากขึ้น แต่จริงๆ มันก็คือฉากสนทนากันยาวๆ จนจบ นั่นแหละ เพียงแต่มันพัฒนาการเล่าเรื่องแล้วจนไม่น่าเบื่อ
GM : หลายคนบอกว่าคุณคือตัวอย่างของคนที่มาจากสายอินดี้ และเข้าไปสู่สายแมสได้ คุณเห็นด้วยกับคนที่แปะป้ายคุณในเรื่องนี้ไหม
นวพล : ทุกวันนี้มันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เวลาเราทำอะไรก็ไม่ได้คิดขนาดนั้น เราแค่คิดว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับหมวดไหน อย่าง Mary is Happy, Mary is Happy ด้วยเนื้อเรื่องและสเกลหนัง ก็ควรจะทำกับอินดี้แล้วแหละ แต่ถ้าเราทำบท ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ ตอนนั้นรู้สึกว่ามันสามารถไปถึงผู้คนได้มากกว่านั้น มันดูง่ายกว่า อีกอย่างเราก็ไม่ได้โฟกัสไปที่การทำหนังรูปแบบไหนเป็นพิเศษ ในขณะที่เราทำหนังยากๆ ก่อนหน้านั้นเราก็ทำหนังง่ายๆ
มันทำสลับกันไป เลยไม่รู้สึกว่าเราก้าวสู่เขตใหม่ แล้วจะไม่กลับไปสู่เขตเก่า จริงๆ แล้ว
เขตอินดี้กับเขตแมสมันอยู่ในร่มเดียวกันสำหรับการทำงานของเรา เราเลยไม่รู้สึกว่า
แบบเปลี่ยนไป
GM : การเดินทางของคุณมันเป็นสเต็ปของคนทำงานหนังที่เริ่มจากงานเล็กๆ ก่อน เสมือนการนับหนึ่ง แล้วสร้างชื่อมาเรื่อยๆ ในสเกลงานที่แตกต่างกันแต่คนก็ยังติดภาพว่าคุณคือผู้กำกับอินดี้อยู่ดี
นวพล : เราคิดว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะคิดกับเราแบบนี้ จริงๆ แล้วในวงการหนังฮอลลีวูด ผู้กำกับดังๆ หลายคนมาจากหนังเล็กก่อนจะได้ทำหนังใหญ่นะ แต่ไม่เห็นมีใครเปรียบเทียบแบบนั้น อย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็โตจากหนังเรื่อง ‘Memento’ หนังเล็กสุดๆ
แต่ปัจจุบันนี้ไปถึง ‘Interstellar’ เลย ก็ไม่เห็นมีใครไปบอกว่า โนแลน มึงกลับไปทำหนังเล็กๆ อย่างเดิมสิ มึงไปทำหนังอวกาศทำไม หรือ มาร์ค เว็บบ์ ทำหนังเรื่อง 500 Days of Summer ล่าสุดไปกำกับ The Amazing Spider-Man เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย! มาตรฐานเดียวกันหน่อย (หัวเราะ)
GM : จำได้ว่าเมื่อก่อนคุณชอบใส่เสื้อ รด. ด้วย ทำไมเดี๋ยวนี้เลิกใส่แล้ว
นวพล : (หัวเราะ) ก็ต้องเปลี่ยนไปบ้างตามความสนใจ ยังใส่อยู่นะ แต่ใส่นอน อันที่จริงคนเราไม่เห็นจำเป็นต้องไปบังคับตัวเองให้ใส่ชุด รด. รักษาคอนเซปต์ตลอดก็ได้ ให้เป็นไปตามธรรมชาติดีกว่า ถ้าตอนนี้ความสนใจเปลี่ยนก็เปลี่ยน บางทีสมมุติว่าผู้กำกับหนังทำหนังแบบที่เราคุ้นเคย วันหนึ่งอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนแนว เราไม่เคยโทษเขาเลย เพราะเข้าใจว่าบางคนก็คงเบื่อ กูทำหนังอย่างนี้มาเรื่องที่ 4 แล้ว เรื่องที่ 5 จะให้กูทำอย่างนี้อีกหรอ
คนดูอาจจะชอบว่าแบบตลกเว้ย! ทำอีกสิ แต่กูทำจนชินแล้ว ขอท้าทายตัวเองใหม่ๆบ้างเถอะ