หัวใจหลักของนักการตลาดดิจิทัล
อาจจะสร้างความแปลกใจในทีแรกเมื่อรู้ว่าคนจบสาขาศิลปะการละคร ผันตัวมาเป็นนักการตลาดดิจิทัลมืออาชีพ ทว่าศาสตร์ที่ ‘ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง’ ได้เล่าเรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างดี
“พื้นเพผมเรียนมาด้านศิลปะมากกว่าสายธุรกิจด้วยซ้ำ แต่ถ้าถามเรื่องความสนใจ ผมเหมือนคนสองขั้วในคนเดียว คือด้านหนึ่งก็ชอบเทคโนโลยี Gadget เป็นคนชอบคอมพิวเตอร์ เล่นเกม ฝึกเขียนโปรแกรม ทำเว็บไซต์ เรียกได้ว่ามุมหนึ่งเป็น Geek เลย แต่ในอีกมุมหนึ่งผมก็เป็นคนชอบศิลปะ ผมชอบดูหนัง ดูละครเวที อ่านหนังสือประเภทต่างๆ”
ณัฐพัชญ์เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านการจัดการวัฒนธรรม จากบัณฑิตวิทยาลัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานทั้งสายครีเอทีฟรายการ สายการตลาดและเข้าสู่วงการดิจิทัลเอเจนซี่ จนกระทั่งเปิดบริษัทบริการให้คำปรึกษาและเทรนนิ่งด้านการตลาดดิจิทัล
เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกเส้นทางในชีวิตขึ้นอยู่กับการเลือกของเราเอง และนิยาม ‘ความสำเร็จ’ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เป็นเรื่องยากที่เราจะหาไม้บรรทัดสักอันมาขีดเส้นมาตรฐานของคำคำนี้
“แต่ถ้าจะบอกว่าความสำเร็จที่ดีเป็นอย่างไร ผมมักใช้แนวคิดว่ามันควรเป็นความสำเร็จที่ส่งผลดีให้กับตัวเอง และส่งผลดีให้กับสังคม หากความสำเร็จนั้นมาจากการเบียดเบียนสังคม ก็คงไม่ใช่ความสำเร็จที่ดีอย่างแน่นอน”
การเป็นนักการตลาดที่มีบทบาทผู้นำภายในองค์กรควบคู่ไปด้วยนั้น ทำให้เขาต้องเรียนรู้และปรับตัวฝ่ากระแส Digital Disruption ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมหัวใจหลักสำคัญที่เขาใช้ในการบริหารคนภายในองค์กร
“บริบทในปัจจุบันเรามักจะเห็นการลดกฎและกรอบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อให้บริษัทคล่องตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับการทำงานที่เปลี่ยนวิถีและสไตล์อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดภาพว่าการบริหารยุคใหม่นั้นจะทันสมัยกว่าแต่ก่อน ไม่มีกฎระเบียบหรือเจ้ายศเจ้าอย่าง กลไกจึงแตกต่างจากในอดีตมาก เช่น โครงสร้างทีม วิธีการบริหารคน และการกำกับดูแล
“ถ้าให้เลือกระหว่าง ‘ดี’ กับ ‘เก่ง’ ผมเลือกความดีก่อน การทำงานและบริหารงานด้วยความดีความเมตตาจะทำให้เรามองโลกในแบบที่เห็นอกเห็นใจสิ่งต่างๆ เราจะพยายามเข้าใจคนทำงาน เข้าใจทีมงานว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอะไร เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด”
ซึ่งความปรารถนาที่อยากจะให้คนที่ทำงานกับเขามีความสุขนั้น จะส่งต่อมาในรูปแบบของนโยบายและวิธีการทำงานภายในองค์กรต่อมา เพราะสุดท้ายแล้วนักการตลาดหนุ่มคนนี้มองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในทุกๆ องค์กรก็คือ ‘คน’ นั่นเอง