fbpx

กิ๊ก-กรณิศ ตันอังสนากุล ผลิตภัณฑ์ที่ Green ที่สุด คือการไม่ผลิตอะไรเลย

เรื่อง : สุธามาส ทวินันท์ / ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม

แม้กระแสตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนว่าปีนี้การพยายามลดปริมาณขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Waste นั้น ดูจะเป็นเทรนด์รักษ์โลกที่ทุกภาคส่วนในบ้านเรากระตือรือร้นเป็นพิเศษ 

เมื่อความต้องการบริโภคสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น บรรดาแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ต่างก็พยายามปั้นสินค้ารักษ์โลก และติดป้ายคำว่า ‘Green’ ออกมาเพื่อดึงเม็ดเงินจากคนที่ยอมควักกระเป๋าจ่ายบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าสามารถ ‘เซฟโลก ’ได้ แต่บางครั้งเมื่อความกรีนกลายเป็นแฟชั่น การผลิตที่สูงกับการซื้อที่ไม่หยุดนิ่งก็ไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมและโลกผ่านการบริโภคหรือใช้สินค้าอย่างที่เราเข้าใจ 

‘กิ๊ก-กรณิศ ตันอังสนากุล’ นักวิจัยด้านธุรกิจยั่งยืน และผู้ก่อตั้งเพจ ReReef เพื่อให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล หลังจากมีข้อมูลออกมาว่าไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะสู่ทะเลมากที่สุด แต่การให้ความรู้อย่างเดียวโดยขาดการลงมือทำย่อมไม่เกิดผลอะไร เธอจึงนำความรู้ที่ได้จากการเรียนด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการสิ่งแวดล้อมจากประเทศสวีเดนมาออกแบบผลิตภัณฑ์ยั่งยืนภายใต้แบรนด์ ReReef ที่มีสินค้าตั้งแต่ ครีมกันแดดเป็นมิตรต่อปะการัง,  แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่, หลอดซิลิโคลน, ถุงซิลิโคลนใส่อาหาร ฯลฯ  พร้อมผลักดันโครงการลดพลาสติกใช้แล้วทิ้งอีกหลายโครงการ 

แต่ในฐานะผู้ผลิตที่ควบตำแหน่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เธอเองก็อดกังวลไม่ได้ ในเรื่องการใช้สินค้ากรีนบนพื้นฐานของความเข้าใจผิด โดยเฉพาะเมื่อความกรีนถูกขับเคลื่อนด้วยแฟชั่น แล้วสินค้าแบบไหนที่ยั่งยืนจริงไม่ใช่แค่การตลาด หรือความเข้าใจผิดอะไรที่เราคิดว่าช่วยโลกแต่ก็ยังทำร้ายมันอยู่ดี  

ตอนช่วงที่ตั้งเพจ ReReef แรกๆ การผลักดันในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างไรบ้างเมื่อมันไม่ได้เป็นเทรนด์อย่างทุกวันนี้ 

กิ๊ก : ตอนแรกที่เราตั้งเพจ ReReefขึ้นมาก็เพื่อจะสื่อสาร ปัญหาที่เกิดกับทะเล และส่วนหนึ่งที่เราทำผลิตภัณฑ์ออกมาเพราะว่า ณ ตอนนั้นมันหายาก คือเราพยายามพร่ำบอกเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเขาถามว่าแล้วทำต้องทำยังไงล่ะ เราขาดทางเลือกให้เขา เราจึงลองเสนอผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้เพราะถ้ามีความรู้ แต่การกระทำไม่เกิด ก็ไม่เป็นประโยชน์อยู่ดี และเอาจริงคนที่จะเข้ามากดไลค์เพจเราได้ เขาก็ต้องมีใจอยู่แล้วครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้มันไม่ได้ยากเท่าไหร่ แต่ ณ ตอนนั้น แม้แต่คนที่มีใจอยู่แล้วก็ยังดำเนินชีวิตไม่ง่าย เพราะการที่เราไปถึงร้านอาหารแล้วบอกเขาว่าไม่เอาหลอดนะคะ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจเลยในทันที หรือบางครั้งก็ได้หลอดอยู่ดี 

ทุกวันนี้ผ่านมา 2 ปี คนอื่นก็เข้าใจเรามากขึ้น ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และเมื่อมีเรื่องเกรต้า ธันเบิร์กเข้ามา เราก็ยิ่งสื่อสารง่ายขึ้น เพราะการทำงานเรื่องนี้ทำคนเดียวมันเหนื่อยนะ มันต้องมีเพื่อนจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว จริงๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมมันเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ หลายๆ คนที่ส่งเสียงไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือโครงสร้าง เราไม่ต้องการฮีโร่หรือว่าคนที่ยิ่งใหญ่คนเดียว แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ใหญ่ขึ้น ผู้ที่มีอำนาจเขาไม่สามารถ ไม่สนใจได้เหมือนเมื่อก่อน มันเหมือนกับว่าเราเริ่มจากการเป็นคนเล็กๆ ที่กลุ่มใหญ่ขึ้นจนตอนนี้ก็ไม่ใช่คนกลุ่มเล็กๆ แล้ว 

ในโลกของการทำธุรกิจนั้น การทำผลิตภัณฑ์แบบไหนที่ยั่งยืนต่อทุกมิติ

กิ๊ก : ยากจัง (หัวเราะ) เพราะคำว่ายั่งยืนมันมีหลายมิติมาก ถ้ากว้างๆ ที่สุดตามหลักความยั่งยืนก็จะมีอยู่ 3 ข้อ คือต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม แปลว่าธุรกิจที่ยั่งยืนจริงๆ นั้นต้องมาจากการตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้าน แต่ก็พูดยากนะว่าผลิตภัณฑ์ไหนที่ยั่งยืนเพราะมันมีหลายมิติอยู่ข้างใน แต่ถ้าให้ตอบว่าอันไหนไม่ยั่งยืนเนี่ยจะตอบง่ายกว่า ไม่ยั่งยืนก็คือในทางตรงกันข้ามเลย ก็ทิ้งภาระทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องหลัง แต่ในผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่มีกระบวนการ Supply Chain ยาวมาก มันก็มีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ตลอดเส้นทางการผลิต และก็ต้อง internalized externailities คือนำต้นทุนหรือผลกระทบที่เกิดภายนอกมาพิจารณาด้วย  อย่างเช่น โรงงานปล่อยน้ำเสีย โรงงานปล่อยควันพิษ เราต้องดูว่าเขาเอากระบวนการแบบนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจทำธุรกิจไหม สมมุติไม่มีกฏหมายที่ไปบังคับ เขาเอามาคิดไหมว่ามันเป็นต้นทุนที่เขาต้องจัดการกับสิ่งที่เขาทำ

นี่คือเหตุผลอธิบายว่าทำไมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถึงต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงหรือเปล่า 

กิ๊ก : ใช่ค่ะ เพราะเขาอิงเรื่องสิ่งที่ช่วยลดผลกระทบเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอกมาเป็นต้นทุนของสินค้าด้วย อย่างสมมุติว่าเราจะผลิตของอะไรบางอย่างขึ้นมา เราก็ต้องดูต้นทุนสินค้า ต้นทุนการจัดการ อาจจะบวกกำไรเพิ่มเป็นกี่เปอร์เซ็นก็ว่าไป แล้วจึงมาเป็นราคาปลีกที่จะขาย ถ้าบริษัทใดก็ตามเขาสนใจต้นทุนที่เกิดจากสังคมและสิ่งแวดล้อม เขาก็จะนำส่วนนั้นเอามาคิดในการกำหนดราคา แต่ว่าไอ้ของที่ถูกเนี่ยมันไม่ใช่ต้นทุนจริงๆ เพราะยังไม่ได้คิดสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกกับโรงงาน เช่น ของถูก แต่โรงงานเขาอาจจะเป็นโรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลพิษให้ชุมชนและชุมชนป่วยก็ได้ ฉะนั้น เราจึงดูได้ยากว่าอะไรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงๆ เพราะเส้นการผลิตของมันยาวมาก 

ยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือที่ใกล้ตัวเราที่สุดเนี่ย ข้างในประกอบไปด้วยกี่ชิ้นส่วน กว่าจะกลายมาเป็นโทรศัพท์เครื่องหนึ่งมากกว่านั้นคือมีกอริลล่าตายทุกวันที่ประเทศคองโกจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่นำมาผลิตโทรศัพท์ให้เราประเทศพวกเขาเป็นประเทศยากจนอ่ะ แร่ธาตุมันมีค่ายังกับเพชร มันจึงเกิดเหมืองผิดกฎหมาย เหมืองที่ใช้แรงงานเด็กเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นการจัดการเรื่องแรงงาน เรื่องสวัสดิการอะไรมันก็ไม่มี แล้วคนงานที่ทำเหมืองอยู่ในป่า อาหารของเขาก็คือ กอริลล่าเนี่ยแหละ เพราะกอริลล่าเป็นสัตว์ที่เคลื่อนที่ช้าอยู่เป็นฝูง มันจึงโดนล่ามากิน ขณะเดียวกันเขาก็ล่าสัตว์อื่นมาขายด้วยเลย เพราะฉะนั้นนี่คือเบื้องหลังของโทรศัพท์เรา 

บางครั้งเราก็จะเจอผลิตภัณฑ์บางอย่างที่โหนกระแสรักษ์โลก แต่เบื้องหลังไม่ได้ยั่งยืนจริงๆ ตรงนั้นถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือเปล่า แล้วผลิตภัณฑ์ไหนบ้างที่แท้จริงแล้วไม่ได้กรีนอย่างที่เราเข้าใจ

กิ๊ก : ของที่กรีนที่สุดก็คือของที่มันไม่มีการผลิตออกมา อันนี้คือการกรีนที่สุดแล้ว (หัวเราะ) เพราะเมื่อผลิตออกมาแล้วมันมีการใช้ทรัพยากร ถึงจะบอกว่าเสื้อตัวนี้เป็นออแกนิกนะ แต่กระบวนการเป็นยังไง จ้างคนผิดกฎหมายไหม ออแกนิกจริงหรือเปล่า คือมันคิดได้เยอะมากถ้าจะมองในเชิงลึก เพราะฉะนั้นการจะบอกว่าของไหนกรีน ไม่กรีนเนี่ย ต้องคิดเยอะก่อนที่จะชี้ และบางครั้งสินค้าที่สร้างออกมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างก็อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เว้นแต่อันที่เขาตั้งใจจะให้ข้อมูลบิดเบือน อย่างตอนนี้ในฝั่งขยะพลาสติกจะพูดกันเยอะในเรื่องถุง Oxo-biodegradable ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีความเข้าใจผิดกันว่าถุงอันนี้ย่อยสลายได้ แต่จริงๆ ถุง Oxo-biodegradable อันนี้ ไม่ได้ย่อยสลายแค่มันแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกได้เร็วขึ้น ซึ่งไมโครพลาสติกก็คือพลาสติกชิ้นเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรที่ไม่ได้หายไป แต่มันปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเล แล้วพอเราทานอาหารทะเลเข้าไปเราก็ได้รับไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย 

อีกอย่างหนึ่งของการใช้พลาสติกแบบย่อยได้อ่ะ กระบวนการย่อยของมันไม่ใช่ว่าย่อยได้เลยโดยธรรมชาติ แต่มีเงื่อนไขที่ว่าจะย่อยได้นั้นต้องเอาไปฝังในดินแบบนี้ จุลินทรีย์แบบนี้ อุณหภูมิเท่านี้ มันถึงจะย่อย ถ้าไปอยู่ในดินที่ต่างจากนี้อาจจะใช้เวลานานกว่านี้ หรือถ้าโยนลงไปในทะเลก็ไม่ได้ย่อยอยู่ดี หรือถ้าเรารู้สึกว่ามันย่อยได้แต่เราโยนลงถังขยะ มันก็ไม่ได้ย่อยนะ อันนี้คือความเข้าใจผิดและคนก็ยังจัดการไม่ถูกต้อง

แต่เราก็คิดว่าไม่ได้ถึงขั้นพยายามหลอกลวงหรือถึงขั้นที่จะใช้การตลาดด้วยคำว่ากรีนอะไรมากกว่านั้น เพียงแต่ว่าคอนเซ็ปต์อาจจะผิด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการมองหาว่าของอันไหนกรีนไม่กรีน คือการที่เรารู้สึกว่า เป็นหลอดกระดาษนิ ใช้ไปเถอะไม่เป็นไรหรอก หรือพลาสติกอันนี้เหรอ มันย่อยได้ ใช้ไปเลย เพราะยิ่งเรารู้สึกว่าของอันนี้รีไซเคิลได้หรือย่อยได้ เราจะไม่ลดมัน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต้องการ สิ่งที่เราต้องการคือขอให้คุณลดการใช้ แล้วที่เหลือที่จำเป็นนั่นแหละ จึงค่อยหาของพวกนี้มาแทน 

สำหรับคนที่อยากทำผลิตภัณฑ์ยั่งยืนนั้น นอกจากเรื่องของความยั่งยืน 3 ด้านที่ต้องตอบโจทย์ ยังมีองค์ประกอบอะไรอีกไหมที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ยั่งยืนด้วย และก็สามารถขายได้ด้วย 

กิ๊ก : มันต้องตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานก่อนเป็นอันดับแรก คือมันไม่มีใครที่ซื้อของเพราะว่ากรีนอย่างเดียวแต่ไม่ได้เอาไปใช้ เพราะฉะนั้นของต้องขายด้วยตัวมันเอง ของต้องกรีนด้วยตัวมันเอง แล้วความสวยงามจึงเป็นเรื่องรองลงมา คุณภาพต้องดีด้วย และราคาก็ต้องเกาะกับตลาดโดยอยู่บนฐานของสินค้าประเภทเดียวกันที่มีอยู่ 

แต่เมื่อผลิตภัณฑ์ยั่งยืนไม่ได้มีราคาที่เกาะกับท้องตลาดมาก เพราะต้นทุนอื่นที่นำมาบวกเพิ่ม แล้วคนทั่วไปอย่างแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ถ้าอยากจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมบ้าง เขาสามารถทำอย่างไรได้บ้าง 

กิ๊ก : โอเค ของกรีนบางอย่างมันแพงกว่าของทั่วไปจริง แต่วิธีง่ายที่สุดหากเราอยากลดการใช้พลาสติก เราก็แค่เอาถุงพลาสติกที่ได้มาเมื่อวานอ่ะ เอาไปใช้ซ้ำ ไม่ได้ต้องซื้อถุงผ้าหรืออะไรเลย มันไม่ได้จำเป็นต้องซื้อถุงผ้าเก๋ไก๋สวยงามเอาไว้ใช้ก็ได้ หากมีเป้าหมายเดียวกันเราพกถุงพลาสติกก็ได้ แล้วก็ถ้าให้โฟกัสที่ตัวบรรจุภัณฑ์พลาสติก เราไม่เถียงว่าของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจจะแพงกว่า อย่างชานอ้อย หรือกระดาษที่ย่อยสลายได้ แต่สิ่งที่จะทำให้กลไกราคาเปลี่ยนคือ ภาครัฐไง หนึ่งพวกเขาต้องเข้ามาดูโครงสร้างของราคาล่ะ อย่างที่บอกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมันมี Cost ที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างทาง ฉะนั้นภาครัฐจึงต้องเข้ามาดูภาพใหญ่ในเชิงโครงสร้าง 

แต่อีกอันที่เราคาดหวังคือในฝั่งของผู้ผลิตที่เป็นรายใหญ่ ในระดับอุตสาหกรรมเนี่ย ก็หวังในเทคโนโลยีหรืออะไรก็ตามที่ ณ วันหนึ่งเขาอาจจะคิดค้นอะไรที่มันถูกลงได้ ซึ่งก็เป็นอีกฝั่งหนึ่งที่ก็คงต้องทำงานควบคู่กันไป และอีกเรื่องที่เราอยากแสดงความคิดเห็นคือ การที่บางคนคิดว่าความกรีนเป็นเรื่องของคนรวยหรือชนชั้นกลาง เราขอค้าน เราอยากจะให้คิดก่อนว่าความกรีนหมายถึงอะไร 

ลองดูการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่เช้าจรดเย็น มันมีมิติอื่นๆ ของเราที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา แน่ใจจริงๆ หรือว่าถ้าคนที่วันหนึ่งเขาไม่ใช้พลาสติกเลยสักชิ้นหนึ่ง เขาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแม่ค้าที่เข็นรถขายของ บางคนขับรถไปทำงาน เราก็ปล่อยคาร์บอนฯ ไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่แล้ว หรือเราเปิดแอร์ เราใช้ไฟ อะไรมากมาย โดยไปบอกว่าแม่ค้าไม่กรีนเลยอ่ะ ทำไมแม่ค้ายังใช้โฟมอยู่ แต่แม่ค้าไม่ได้เปิดแอร์นะ รถของแม่ค้าก็เข็นเอา มันมีมิติอื่นที่เขาสร้างผลกระทบน้อยกว่าเราแน่ๆ 

ซึ่งก็มีงานวิจัยอันหนึ่งที่เราเคยอ่านนานมากล่ะ เขาพยายามที่จะคำนวนผลของสิ่งแวดล้อมออกมาในเชิงปริมาณคาร์บอนฯ ปรากฎว่าคนกรุงเทพมีปริมาณคาร์บอนฯ เท่ากับปริมาณของคนนิวยอร์กอ่ะ แล้วต่อให้ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศเราน้อยมาก แต่คนกรุงเทพ ก็ยังมีเยอะกว่าคนต่างจังหวัดอยู่ดี เราจึงต้องระลึกเสมอนะว่าตั้งแต่เช้าจรดเย็น สิ่งที่เราลดได้มันไม่ใช่แค่ลดเรื่องการใช้ถุงพลาสติกอย่างดียว มันมีหลายๆ อย่างมาก 

ในเมื่อทุกมิติของชีวิตเราต่างกระทบกับสิ่งแวดล้อม เราควรช่วยโลกอย่างไรให้ได้มากที่สุด แต่ไม่มากจนเกินพอดี 

กิ๊ก : มันไม่มีจุดที่บอกว่าแค่ไหนถึงพอดี เพราะว่าตอนนี้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมมันแย่มากแล้วอ่ะค่ะ อยากให้ที่คนช่วยในจุดที่รู้สึกว่าทำได้ก็แล้วกัน แต่ในระดับปัจเจกก็จะทำได้ประมาณหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องพึ่งภาครัฐให้เข้ามาช่วยในปัจัยอื่นๆ ด้วย  อย่างในเพจ Rereef เวลาเราทำคอนเทนต์ก็จะมีคนมาคอมเม้นต์ว่าคนญี่ปุ่น คนยุโรป เขามีจิตสำนึก มีวินัยมากกว่าเรา แต่ตัวเราเองไม่ได้มองว่าคนเขาดีกว่าเรามากขนาดนั้น เพียงแต่มันมีระบบบางอย่างเอื้อต่อการใช้ชีวิต 

ที่คุณบอกว่าตอนนี้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมมันแย่มาก คือมันแย่ถึงขั้นไหน 

กิ๊ก : ล่าสุดที่ดูใน Facebook เขาบอกว่าประมาณปี ค.ศ. 2050 กรุงเทพจะจมน้ำ ปี ค.ศ. 2030 ขยะจะเยอะกว่าปลาในทะเล คือเห็นอะไรแบบนี้เราว่ามันก็แย่แล้วนะ หรือฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่งมาในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา เชียงใหม่เขาเจออะไรแบบนี้มาไม่รู้ตั้งกี่ปี อันนี้เรายังไม่แย่อีกเหรอ แค่เราเกิดมาในช่วงที่เราไม่เคยเห็นว่ามันดีไง (ยิ้ม) เราเลยไม่รู้สึก อีกอย่างคือพวกพายุต่างๆ ที่เกิดของมันอยู่แล้ว แต่ภาวะการเปลี่ยนสภาพอากาศและโลกร้อนทำให้พายุมันแรงขึ้น เพราะพายุมันจะเก็บพลังงานตอนที่ผ่านทะเล ยิ่งทะเลมีอุณภูมิสูงขึ้น พายุก็เก็บพลังงานมากขึ้น เราจึงเห็นภัยพิบัติถี่ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อันนี้เกิดจากโลกร้อนนะ และเราก็จะเห็นภัยพิบัติที่รุนแรงอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

การพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดของไทยด้วยการเริ่มจริงจังกับการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร เราเริ่มช้าไปไหม 

กิ๊ก : ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมีหลายอย่าง แต่ไม่ได้แปลว่าพอเรื่องพลาสติกมา เราจะทำแต่เรื่องพลาสติกแล้วเรื่องอื่นเราจะไม่ทำ เราก็ต้องทำทุกเรื่องแหละ เพียงแต่ว่า โอเค ถ้าตอนนี้คนพูดถึงเรื่องพลาสติก เราก็พยายามจะดันมันไปข้างหน้าต่อ ถ้าเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างแรกเลยเราต้องลดการใช้ก่อน และถ้าเป็นเรื่องของพลาสติกใช้แล้วทิ้งนั้นถึงเราหาสินค้ามาทดแทนอันเดิม แต่อย่าลืมว่ามันต้องผลิตอยู่ดี เราต้องมองด้วยว่ามันคือการดึงทรัพยากรบางสิ่งมาทำ แล้วกระบวนการผลิตใช้พลังงาน หรือปล่อยอะไรอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นทางลดที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องใช้ เพราะหากลดการใช้ลงก็ไม่เกิดการสร้างใหม่ขึ้นมา ถ้าในกรณีที่เราไม่สามารถลดได้ แต่จำเป็นต้องใช้อยู่ อันนี้แหละเราค่อยหาทางเลือกมาใช้ทดแทน แต่การ Reduce เนี่ยเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ 

ทุกภาคส่วนควรแก้ไขปัญหาหรือรณรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้คนรู้สึกอินตาม จนยอมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา

กิ๊ก : เราโตมากับโครงการปลูกจิตสำนึก อะไรต่างๆ ก็สร้างจิตสำนึก ทุกสิ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกหมดเลย โดยหวังว่าคนเราเมื่อมีจิตสำนึกที่ดีแล้วปัญหามันจะหายไป แน่นอนว่าเมื่อทุกคนเป็นคนดี ประพฤติดีทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่อย่าลืมว่าเมื่อเรามีจิตสำนึกแล้วเนี่ย การการกระทำ ณ ขณะใช้จ่ายซื้อของมันจะเป็นไปด้วยกันไหมอ่ะ 

เคยมีงานวิจัยที่อังกฤษศึกษาว่า คุณจะยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ไหมหากมีสินค้าที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทุกคนก็ตอบว่า “ได้ ! ฉันยินดีซื้อ” แต่พอเวลาไปจับจ่ายจริงๆ เขาก็ไม่ได้ซื้อไง ถามว่าตอนที่สำรวจข้อมูลเขาโกหกไหม เขาก็ไม่ได้โกหกหรอก เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ แต่ ณ จุดที่อยู่หน้างานมันมีปัจจัยอื่นด้วย 

ที่นี้ปัจจัยอื่นที่เราไม่ควรมองข้าม นอกเหนือจากการปลูกจิตสำนึกก็คือ Facilitator แปลเป็นไทยว่าสิ่งอำนวยความสะดวก ไอ้ตัวสิ่งอำนวยความสะดวกเนี่ยมันมาในรูปของกฎระเบียบ กฎหมาย และบรรยากาศของสังคม โดยมันคือสิ่งที่สร้างบรรยากาศให้เกิดพฤติกรรมที่เราต้องการ ขณะเดียวกันมันก็ปิดกั้นพฤติกรรมบางสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เขาทำ 

อย่างในสวีเดน เขาแก้ไขปัญหาการใช้ถุงพลาสติกด้วยการคิดค่าถุงพลาสติก ซึ่งก็เป็นปัจจัยการสร้างบรรยากาศอันหนึ่ง หรือการที่ทุกคนพกถุงผ้า ก็เป็นบรรยากาศทางสังคมที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากจะเหมือนกับเขา อีกอันหนึ่งก็คือ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน 

ตอนที่เราทำเพจ ReReef ใหม่ๆ และรณรงค์เรื่องการใช้ Single use plastic โดยบอกเพื่อนๆ ว่าพกกระบอกน้ำไปดิจะได้ไม่ต้องใช้ขวดพลาสติก ปัญหาคือแล้วเติมที่ไหนระหว่างวัน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของการดีไซน์โครงสร้างพื้นฐานในการเพิ่มทางเลือกให้เราลดการใช้พลาสติก 

ลองนึกภาพถ้าปัจจัยเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกกับโครงสร้างพื้นฐานมันทำงานดีมากๆ จนทำให้ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและสบายที่สุด ตลอดจนถูกที่สุด คุ้มที่สุด เราไม่ต้องเป็นคนดีและมีจิตสำนึกก็ได้ ถูกม่ะ เราอาจจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วทางนี้ มันอาจจะเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับเรา เราก็จะเลือกทางนี้โดยที่เราไม่ต้องเป็นคนดีอ่ะ เพราะฉะนั้นลองคิดดูดีๆ สำหรับคนที่จะทำนโยบายหรือทำโครงการอะไรแบบนี้ มันเพียงพอไหมที่เราจะเอาแต่มุ่งสร้างจิตสำนึก โดยที่อาจจะมองข้ามปัจจัยอื่นอย่างเพียงพอ 

จากตอนแรกที่ตั้งเพจ ReReef มาจนถึงที่ทุกวันนี้การใส่ใจสิ่งแวดล้อมขยายจากคนกลุ่มเล็กไปเป็นกลุ่มใหญ่ให้บทเรียนอะไรกับคุณบ้าง 

กิ๊ก : (นิ่งคิด) เราเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงและคิดว่ามันมีพลังที่จะอยู่ไปอีกหลายปี เรากำลังมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงภาครัฐซึ่งเท่าที่ทราบเนี่ย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ เขาก็เริ่มให้ความสำคัญ แล้วก็อยากจะลงมาคุยกับภาคประชาสังคมมากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจเขาก็ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งนานแล้ว เรามองเห็นว่ายังไงเขาก็ต้อง ใส่ใจเพราะว่าธุรกิจมันไม่สามารถดำเนินอยู่ได้ในโลกที่ล่มสลาย

ส่วนในภาคผู้บริโภคเอง ก็มีความเข้าใจมากขึ้นพร้อมที่จะเริ่มลงมือเรื่องลดขยะมากขึ้น เราก็สื่อสารง่ายขึ้น ผลิตภัณฑ์ทางเลือกก็เยอะขึ้น แต่จริงๆ ReReef ก็ทำงานลำบากในแง่ที่เราขายของ แต่เราอยากให้คนซื้อไปแล้วใช้นานๆ ไม่อยากให้ทำหาย ไม่อยากให้ทำพัง ไม่อยากให้ต้องกลับมาซื้อใหม่ตามแฟชั่น ฟังก์ชันของมันก็คือหลอดดูดน้ำ เราแค่จะมีให้คุณเลือกว่าคุณชอบผิวสัมผัสแบบไหนเท่านั้นเอง แต่เราไม่อยากให้คุณต้องมีครบทุกสีอ่ะ เราอยากให้คุณมีอันเดียว (หัวเราะ) เราอยากให้คุณมีถุงผ้าแค่อันเดียว โดยไม่อยากให้คุณมี 7 วัน 7 สี เพราะถ้าคุณมีเยอะมันก็เท่ากับว่าคุณใช้ทรัพยากรเยอะ 

นี่จึงเป็นข้อกังวลอย่างหนึ่งของเราในการทำที่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อมันกลายเป็นเทรนด์ โอเค เป็นเทรนด์ก็ดี คนจะได้พูดถึง คนจะได้สนใจ แต่พอมันเป็นเทรนด์ที่มากับคำว่าแฟชั่น เราจะต้องเปลี่ยนตลอด มีแก้วออกใหม่จะต้องไปซื้อ มีหลอดออกใหม่จะต้องเอา มันผิดวัถตุประสงค์อ่ะ อย่าลืมว่ากระบวนการผลิตก็ต้องใช้ทรัพยากรต้องใช้พลังงาน และปล่อยของเสียออกมาอยู่ดี แต่เราก็ทำงานลำบากนะคนขายของที่ไหนจะบอกว่าเราอยากให้คุณใช้นานๆ และไม่ต้องกลับมาซื้อ (หัวเราะ) 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ