เขมวิช ภังคานนท์ เจาะระบบสังคมแหกกรงขังชีวิต
น่าแปลกดี ที่นาฬิกาเรือนกลมๆ บนฝาผนังบ้านของเขา เดินเร็วกว่านาฬิกาบนข้อมือของผมอยู่ 1 ชั่วโมง 30 นาที ดังนั้น ยามสายของผม คือเวลาเที่ยงไปแล้วของเขา แต่วันนี้เขาไม่ได้รีบเร่งเพราะถูกใครหรืออะไรมาเร่งรีบอีกต่อไป ตรงกันข้าม กลับมีเวลาเหลือเฟือที่จะละเลียดทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวสถานะปัจจุบันของหนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษๆ คนนี้ คือผู้เต็มใจตกงาน มันน่าสงสัยจริงๆ ว่าอะไรหนอ ที่ทำให้หนุ่มโปรโฟล์ดีทั้งการศึกษาและสถานะทางสังคม ตัดสินใจออกมาอยู่บ้านอ่านหนังสือ ทำงานเพลง เขียนนวนิยาย จูงสุนัขบุลล์เทร์เรียสีขาวอวบอ้วน
เดินเล่นไปวันๆ ในอดีต เขาดำรงตำแหน่ง Vice President แห่ง Lehman Brothers บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ ณ ใจกลางของเศรษฐกิจการเงินโลก แต่แล้ว เขาลาออกมาเป็นนักดนตรีอินดี้และนักเขียนอิสระ มีชีวิตอยู่ชายขอบของกราฟและตัวเลขที่วุ่นวายทั้งปวง จะว่าไปแล้ว เขาทำสิ่งเหล่านี้ก่อนใคร ก่อนที่คีย์เวิร์ดร่วมสมัยอย่างพวก…ลาออกไปเล่นหุ้น…สโลว์ไลฟ์…เดินตามความฝัน…ค้นหาแพสชั่น อะไรพวกนั้นจะกลายเป็นคำฮิตอย่างทุกวันนี้ เขาแฮ็กระบบที่ซับซ้อนของทุนนิยม แหกกรงขังของชีวิต ออกมากระโดดโลดเต้นในโลกของความฝันของตัวเอง ตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน นอกจากเป็นผู้รอดตายแล้ว เขายังจะดำเนินชีวิตต่อมาได้อย่างชิลล์ๆ สร้างผลงานประณีตๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องโดดเด่น โด่งดัง มิหนำซ้ำ ยังหันหลังให้โซเชียลมีเดีย นี่คือส่วนหนึ่งของระบบชีวิตแบบใหม่ ที่เขาเซตขึ้นมาเพื่อใช้เอง และนี่คือประเด็นที่รอการสนทนาระหว่างเรา หนุ่มใหญ่ผู้ลงมือ Life Hacking จากการงาน ชีวิต ความรู้สึกเจ็บปวด หรือยอดไลค์ เขากำลังนั่งลูบเคราอยู่ตรงหน้าเรา และมีคำตอบต่อปริศนาร่วมสมัยเหล่านี้ …เขมวิช ภังคานนท์
30 Something
GM : วันสิ้นเดือนนี้ เงินเดือนของคุณจะเข้าบัญชีมาอีกเท่าไร
เขมวิช : (หัวเราะ) ไม่มีแล้ว เงินเดือนไม่ออกแล้ว …น่าเสียใจจริงๆ ผมเป็นหนึ่งในจำนวนคนตกงานในประเทศนี้ ผมตกงานมา 11 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2004 เพื่อนหลายคนที่ทำงานธนาคารในเวลานั้น พูดกับผมว่าเอาเบอร์โทรศัพท์มาเลย บอกมาเลยว่าจะเอายังไง ผมตอบเพื่อนทุกคนว่าไม่ใช่ไม่ชอบงานธนาคาร แต่ผมอยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า ช่วงอายุ 30-40 ของคนเรา ถ้ามันผ่านไปแล้ว เราจะเอาคืนกลับมาไม่ได้อีก ต่อให้เรามีเงินจำนวนมากเท่าไหร่ก็ตาม เงื่อนไขต่างๆ ล้วนไม่น่าสนใจอีกแล้ว ไม่มีมูลค่าอะไรเพื่อให้พวกเขารั้งให้ผมอยู่ต่อ เวลานั้นนายของผมเป็นฝรั่ง เขาเป็นคนที่เท่มาก ผมจำคำพูดในวันที่ไปลากับเขาได้ เจ้านายบอกผมด้วยน้ำเสียงติดตลก Congratulations ยินดีด้วยนะ แล้วเขาก็ถามว่า เขมวิช ยูลาออกไปทำอะไร ผมตอบ ไปทำเพลง ผมสบตาและตอบเขาไปอย่างนั้น เจ้านายพยายามสุดฤทธิ์เพื่อกลั้นเสียงหัวเราะไว้
คนทั่วไปมาฟังดู คงเป็นเรื่องเข้าใจยากและไม่ชิน คนวงนอกพากันคิดไปต่างๆ นานา แต่คนวงในจะเข้าใจ ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมตัดสินใจอะไรแปลกๆ อย่างเช่น ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ผมอยากเป็นนักข่าว ผมไม่รีรออะไร เรียนจบออกไปสมัครเป็นผู้สื่อข่าวสายการเงิน ให้กับบางกอกโพสต์ พอได้ทำตรงนี้ นึกอยากไปทำงานสายการเงินที่ธนาคาร ผมสมัครเป็นคนแบงก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สมัยที่คุณโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้จัดการ พอทำงานที่นั่นได้สักพัก เห็นคนอายุ 30-40 เดินไปเดินมา คิดกับตัวเองเลยว่าพอเราอายุเท่าพวกเขา เราก็คงจะเป็นอย่างนั้น แล้วนี่คือสิ่งที่เราอยากจะเป็นรึเปล่า? ผมโค้ดคำพูดทำนองนี้ในใจครั้งแรก ไม่ใช่เป็นอย่างพวกเขาไม่ดีนะครับ เพราะพอถึงทุกๆ วันที่ 25 ยังไงๆ เราก็จะได้โล่งใจ
ตอนนั้นผมเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม งานก็คือการเดินแจกปากกา ดินสอ (ยิ้มกริ่ม) ให้กับผู้บริหารที่เข้ามาอบรมคอร์สฝึกบุคลากรของธนาคาร โชคดีไทยพาณิชย์ในยุคนั้นจ้างอาจารย์จากสถาบันดังๆ ด้านไฟแนนเชียลหรือเอ็มบีเอของโลกมาเทรนให้ เช่น Wharton School
of the University of Pennsylvania ผมได้แอบฟังอยู่ด้วย (หัวเราะ) ตอนนั้นเกิดเป้าหมายใหม่ว่า… มีคนกลุ่มหนึ่งในโลกที่มีชีวิตแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากคนทั่วไป เรียกว่า ‘คนที่มีอิสรภาพทางการเงิน’ ยอมรับว่าอยากไปถึงตรงนั้นให้เร็วที่สุด ผมเดินไปปรึกษาท่านผู้จัดการฝ่าย บทสนทนายิงกันไปมาว่า “คุณอยากไปเป็นทนายความการเงินในอเมริกา แต่ตอนนี้คุณตอกบัตรอยู่ที่ธนาคาร
ในเมืองไทยนี่นะ”
พอท่านอนุญาต ผมก็ลาออก แล้วสอบเข้าโรงเรียนกฎหมายในอเมริกา สอบผ่านจนได้เป็นทนายความในนิวยอร์ก ตัดภาพมาอีก 4 ปี ผมได้ทำงานเป็นทนายความในวอลล์สตรีท คนคิดว่าเป็นเรื่องแปลก ผมทำตรงนั้น ทำได้ดี ได้โปรโมตมาเรื่อยๆ เป็นจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว จนได้มาทำงานให้ที่บริษัท Lehman Brothers ประเทศญี่ปุ่น ทำงานในโตเกียวเป็นงานที่หนักอยู่แล้ว ซาลารีแมนที่นั่นต้องกระดูกเหล็กพอสมควร บริษัท Lehman Brothers เป็นธนาคารข้ามชาติที่ใหญ่ การล้มของเขามีผลต่อเศรษฐกิจโลกได้ ผมได้ไปทำงานตรงนั้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไทย เขากำลังต้องการคนที่พูดภาษาไทยได้ รู้กฎหมายอเมริกา กฎหมายไทย มีประสบการณ์ เข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทั้งสองชาติ และอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นในเวลานั้นพอดี (ดีดนิ้ว) ปรากฏว่ามีผมคนเดียว จึงได้ทำงานกับ Lehman เรื่อยมา ถูกทดสอบด้วยเคสยากๆ ต่อเนื่อง ทำงานจนรู้สึกแต่ละปีมันผ่านไปรวดเร็ว ตำแหน่งสุดท้าย คือ Vice President ที่ Lehman Brothers กรุงเทพฯ ประเทศไทย ออฟฟิศอยู่ที่ตึกสินธร ถนนวิทยุ ตรงท้ายซอยบ้านผมนี่เอง
จนวันหนึ่ง ตอนอายุ 33 คุยกับเพื่อนที่ทำงานแบงก์ ถ้าเราทำไปจนถึงอายุ 60 มี Retirement Package ให้เลือกเยอะแยะ อยู่บนเรือยอชท์
ส่วนตัว ถือแก้วไวน์ นอนผึ่งแดด เวลาในชีวิตถูกใช้ไปกับอุตสาหกรรมการเงินอีกอย่างน้อยๆ 25 ปี กว่าเราจะไปถึงภาพลองฮอลิเดย์แบบนั้น แต่ถ้ากลับกัน ตอนนั้นผมนึกอยากเป็นนักดนตรี เพราะมีเพื่อนๆ ที่เรียนสาธิตปทุมวัน ทำงานในวงการเพลง คุณโป้-โยคีย์เพลย์บอย และกลุ่มเบเกอรี่มิวสิค อีกด้านหนึ่งเทรนด์ของนักร้องในตอนนั้น มีประกวด AF เวทีของเด็กหนุ่มสาว มีรายการเรียลิตี้โชว์ที่เป็นเรื่องของทีนเอจ ตลาดเพลงไทยยังเป็นของทีนเอจ แต่ขณะเดียวกัน วงการเพลงไทยเปิดกว้างมากขึ้น มีศิลปินที่ทำเพลงเพราะรักการทำเพลง แล้วพวกเขาเป็นเพื่อนๆ ผม วงฟรายเดย์ กรูฟไรเดอร์ส โยคีย์เพลย์บอย พี.โอ.พี โมเดิร์นด็อก ทุกคนก็เพื่อนๆ ในกลุ่มทูเดย์ส อะโกคิดส์ พวกเขาเป็นกำลังใจที่ดี บอกว่าถ้าพี่เขมอยากทำ พี่ทำได้ คุณอดุลย์ ฟรายเดย์ ผมก็เลยไปแจมดนตรีกับพวกเขา เรื่องที่เกิดขึ้นในใจตอนนั้นคือมันไม่เกี่ยวว่าผมทำงานอะไร ได้ค่าตอบแทนมากมายแค่ไหน แต่ช่วงอายุ 30-40 ยังเป็นช่วงเวลาที่ผ่านแล้วผ่านเลย ผมเอากลับมาไม่ได้
Law School
เขมวิชเล่าว่าชีวิตการเรียนต่อปริญญาโทของเขาอยู่ไปมาระหว่างเมืองอินเดียนา เพนซิลวาเนีย กับ บอสตัน เขาเรียนปริญญาโทที่ Indiana University of Pennsylvania ต่อด้วย Suffolk University Law School ทำ Juris Doctor เพื่อสอบระดับเนติบัณฑิตเป็นทนายความในสหรัฐอเมริกา ด้วยการสอบ New York State Bar Exam โดยระหว่างเรียน เขามักใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์ ตระเวนคลับแจ๊ซ ร้านแผ่นเสียง และเดินเล่นในสวนสาธารณะเพื่อสำรวจชีวิตผู้คน จากนั้นเขามารับตำแหน่งทำงานในโตเกียวอยู่หลายปี
GM : ฟังดูพล็อตเรื่องของคุณก็ไม่ต่างจากเทรนด์ในตอนนี้ ที่เร่งรีบมีอิสระทางการเงิน แล้วออกมาทำตามความฝันซะ อย่างนั้นหรือเปล่า
เขมวิช : มันเป็นเรื่องของโชคด้วย ผมอยากจะให้เครดิตตัวเองมากๆ ว่าทั้งหมดที่คุณสรุปเป็นประโยคคำถามเมื่อครู่ เกิดจากการวางแผน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องบอกว่ามันเป็นความโชคดีด้วย ที่มีภรรยา มีครอบครัว ที่เข้าใจและสนับสนุน มีเหตุการณ์ในชีวิตบางอย่างที่คอยเตือนสติเรา โดยเฉพาะเรื่องของจังหวะเวลา เวลาของผมเคยถูกไดรฟ์ด้วยข้อความอินบ็อกซ์ในโปรแกรม Outlook เปิดอ่านข้อมูล
Assignment ทำมาร์คอัพสัญญาการเงิน หน้าที่ของทนายความที่ต้องดูแลลูกความ ผลประโยชน์ต่างๆ นานา ผมประชุมเสร็จมาดูแลตอบคำถามในนั้น แต่ละวันมันผ่านไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นปีหนึ่งมันก็จะผ่านไปเร็วสิ้นดี
วัตถุประสงค์ในการดำรงอยู่ของคนคนหนึ่งที่เกิดมา มันควรจะเป็นอย่างนี้หรือ มีเนคไทอยู่ 5 เส้น เลือกผูกวันละ 1 เส้น ทำตามรูปแบบชีวิตคล้ายคลึงกับเมื่อวาน ผลักประตูเข้าห้องทำงาน แก้วกาแฟวางตรงนี้ นั่งลงเปิดคอมพิวเตอร์ พิมพ์ชื่อล็อกอินเนม วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ต้องมา ไม่ต้องใส่เนคไท เสื้อเชิ้ต ไม่ต้องกำเจลใส่มือแล้วเสยผม เป็นทรง กอร์ดอน เก็กโค อย่างในหนัง Wall Street (2013) ชีวิตเวียนวนเหมือนในหนัง The Matrix (1999) เข้ามาเสียบปลั๊ก แต่ต้องย้ำนะว่าผมไม่ได้โจมตีว่าการทำงานประจำที่มีรูปแบบชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งเลวร้ายเลย กลับกัน ชีวิตแบบนั้นเป็นสิ่งที่ผมทำได้ราบรื่น แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน มันมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในความคิดของผมเองว่าเรามีอย่างอื่นที่อยากทำมากกว่า และถ้าเราไม่ได้ทำมัน เราจะเสียดาย เราจะสงสัยกับเรื่องนั้นไปตลอด
GM : ทำไมช่วงอายุ 30-40 ปีของเราจึงมีค่ามาก ถึงขนาดที่คุณต้องยอมแลกกับชีวิตการทำงาน
เขมวิช : ช่วงอายุ 30-40 ปี เป็นช่วงเวลาที่คนทั่วไปแสวงหาความมั่นคงก้าวหน้าทางการงานกันทั้งนั้น ถ้าคิดในกรอบที่คุณพูดมา ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะกับคนที่เขาเจอแล้วว่านี่คืองานที่เขาชอบทำ แต่สำหรับผม ผมได้สติตอนอายุ 33 ว่างานตรวจเอกสาร งานเป็น Investment Banker ถ้าผมลาออกไปคนเดียว ระบบของเขาไม่เจ๊งหรอก วันต่อๆ มาก็จะมีโคลนนิ่งมานั่งทำงานตำแหน่งนี้แทนผมอย่างง่ายดาย ผมไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น แต่ความสำคัญที่ผมควรจะหล่อเลี้ยงไว้ ก็คือวัตถุประสงค์ในการดำรงอยู่ของคนคนหนึ่งที่เกิดมา ความเป็นนักดนตรีที่ผมอยากรู้ว่าตัวเองทำได้หรือเปล่า ตอนเด็กๆ ผมเคยแต่งเพลงให้เพื่อนร้อง แล้วทุกคนชอบกัน ผมเล่นดนตรี ฟังดนตรีมาตลอด ผมน่าจะโปรดิวซ์ผลงานของตัวเองได้ โอเคเรื่องแบบนี้ผมอาจเชื่อสัญชาตญาณตัวเองเกินไป แต่จะให้ผมอายุ 40 หรือ 50 แล้วออกมามีผลงานเพลง ให้ผมไปต่อคิวประกวด AF ร้องเพลงในรายการแข่งกับเด็กวัยรุ่น ผมไม่ใช่ ซูซาน บอยล์ ที่จู่ๆ ก็เกิดได้
ทุกคนยอมรับเธอ เพราะว่าด้วยอายุและการไม่ละทิ้งความอยากเป็นนักร้อง แต่ให้ผมทำเรื่องแบบนี้ตอนอายุ 50 ผมไม่ได้มีจุดขายอะไรแบบนั้นเลย ดังนั้น ผมต้องลงมือทำตั้งแต่ตอนที่ผมอยากทำมากที่สุด และผมสัญญาว่าจะใช้โอกาสนี้ให้คุ้มจากอายุ 33-37 ผมมีผลงานเพลง 3 อัลบั้ม ผมทำงานแบบปีเว้นปีได้ 1 ชุดช่วงที่ผมทำงานเพลง ผมได้รู้จักพี่รัก-อนันต์ ลือประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการบริหารเซกชั่นจุดประกายหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พี่รักเขียนวิจารณ์เพลงมายาวนาน ปี 2004 ปีเดียว พี่รักให้ข้อมูลว่ามีศิลปินไทยออกผลงานมา 500 ชุด แต่พื้นที่ในการแนะนำผลงานเพลงของศิลปินหน้าใหม่ เช่น ในนิตยสาร DDT หรือ Happening รีวิวได้แค่ครั้งละ 2-3 อัลบั้มต่อเดือน ตอนนั้นเทคโนโลยีด้านดนตรีพร้อมมาก นักดนตรีอิสระได้เริ่มทำงานเพลง มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำเป็นเบดรูมสตูดิโอได้ แต่คุณต้องมีความรู้ประมาณหนึ่ง ถึงจะทำเพลงออกมาได้อย่างที่ต้องการ ผมนั่งอ่านหนังสือประเภท How To Be Sound Engineer แล้วเริ่มต้นขยับโน่นปรับนี่ ทำงานเพลงของตัวเองไป ผมเป็นโปรดิวเซอร์ ผมต้องคุยกับนักดนตรีได้ คุยกับคนมิกซ์เพลงได้ การทำงานกับบุคลากรกลุ่มนี้ จะมีภาษาของมัน คุณต้องรู้เรื่องระดับหนึ่งถึงจะสื่อสารกับเขาได้ว่า เอาอะไร ไม่เอาอะไร เพิ่มลดอะไร
Music
ผลงาน 3 อัลบั้มของเขา ได้แก่ Insomnia Lullabies (2005), cu@dnOfTheWorld (2007), Space Station (2009)
โดยอัลบั้มชุดที่ 2 ได้รับรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม, ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม และ เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม จากเวทีคมชัดลึกอวอร์ด
เพลง Get Going และเพลง แม่น้ำร้อยสาย จากอัลบั้มชุดที่ 3 ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยมจากสีสันอะวอร์ดส์
เราขอแนะนำให้คุณลองฟังบางเพลงที่เขาถ่ายทอดออกมาในห้วงชีวิตขณะนั้นได้ดี คือเพลง โลกในรอยน้ำตา และ หัวใจกับความฝัน
Money or Love
GM : ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างตัดฉับ ถ้ามันเกิดไม่เวิร์กล่ะ คุณรับมือกับความเสี่ยงอย่างไร
เขมวิช : ผมเป็นคนที่กลัวความเสี่ยงพอสมควรเลยล่ะ (หัวเราะ) เพราะทำงานในแง่ที่เกี่ยวกับสถานะการล้มละลายทางการเงินของบุุคคลมาเยอะแยะ อ่านคำฟ้องพวกนี้มาจนรู้พล็อต งานเดิมของผมจัดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพบรรดาธุรกิจที่ล้มตายซะด้วยซ้ำ ผมเจอเคสนักธุรกิจร้อยล้าน แต่กลายมาเป็นหนี้พันล้าน หน้าที่ผมคือต้องหาข้อสรุปของการพัง การล้มละลายของธุรกิจเหล่านี้ผมจึงไม่ได้ทะเล่อทะล่าออกมาเป็นนักดนตรีแบบที่ไม่ได้วางแผนมาอย่างรัดกุม ผมลาออกมาด้วยสติของทนายความและ Investment Banker ด้วยความเป็นนักการเงิน นักลงทุน ผมซึมซับเรื่องพวกนี้อย่างถี่ถ้วน ความเป็น Investment Banker ทำให้ผมได้มองไปรอบๆ แล้วสังเกตเห็นว่า มูลค่าสิ่งของรอบๆ ตัวตอนนี้ อะไรที่ถูก อะไรที่แพง อะไรควรลงทุนไว้เก็งราคาในอนาคต อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรชายตาเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมมีคุณสมบัติของสองวิชาชีพนี้อยู่เต็มอกคุณลองคิดดูนะ ว่านักดนตรีอายุ 33 กับนักดนตรีอายุ 43 หรือ 53 ในทางเศรษฐกิจหรือสถิติในอุตสาหกรรมเพลงไทยแล้ว ตลาดเพลงไทยให้มูลค่ากับนักดนตรีที่อายุแค่ไหนมากกว่ากัน วงการเพลงไทยยังมีส่วนที่เป็นคอมเมอร์เชียล ศิลปินที่มุ่งมั่นจะทำเพลงเพื่อเป็นงานศิลปะและอยากอยู่ให้ได้ อยู่ในแง่ของธุรกิจ พวกเขาต้องแบกรับความขัดแย้งรอบด้าน ความฝันของผมที่ออกมาทำงานเพลงเวลานั้น จึงต้องทำบนความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและครอบครัวด้วย ผมเรียลิสติกกับเรื่องนี้มาก การออกมาเป็นนักดนตรีอินดี้ ทำเอง ขายเอง ส่งร้านเปี๊ยก ดีเจสยาม จะอยู่รอดได้ยังไงผมคิดเผื่อหลายๆ ด้าน ในความเป็นอินดี้ แต่ผมอินดี้อยู่บนโปรแกรมไมโครซอฟต์ เอกซ์เซล (หัวเราะเสียงดัง) ผมติดทำโปรแกรมเอกซ์เซลมาก ใช้โปรแกรมนี้คล่องพอๆ กับโปรแกรม Pro Tools ที่ใช้ทำเพลง ผมจัดสรรงบประมาณทำเพลงไว้เท่านี้ๆ เวลาเท่านี้ๆ ต้องเสร็จ เวลาในการเป็นศิลปินของเขมวิช คุณมีโควตาอยู่เท่านี้นะ ต้องเริ่มเดินจากจุดนี้ไปจุดนั้น วันที่อัลบั้มเสร็จ คือวันที่เท่าไหร่ ปีไหน แต่ละเพลงเราให้เวลากับมันอย่างเต็มที่แล้ว คือเท่าไหร่ นั่นคือใช้วิธีที่เคยทำงานประจำมาทำกับงานเพลง ผมใส่ระบบเข้าไป เพื่อให้งานมันเกิด เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาของศิลปินที่พบได้ทั่วๆ ไป แม้แต่ตัวผมเองก็มี คือความเลื่อนลอยไงล่ะ
GM : โมเดลคำนวณทางด้านการเงิน หรือโปรแกรมเอกซ์เซลที่ทำ มันคำนวณออกมาเป็นเพลงฮิตได้เลยไหม
เขมวิช : มีคนที่พอยต์ประเด็นนี้ให้ผมฟังเมื่อ 9 ปีก่อน คือ คุณบอย โกสิยพงษ์ ตอนที่ผมไปคุยกับค่ายเลิฟอีส พี่บอยถามผมว่า เขมอยากให้อะไรกับคนฟัง เป็นคำถามที่ผมจดจำมาตลอด ผมหันมาทำงานเพลง หลังจากที่ยุติความคิดเรื่องเงิน เรื่องรายได้ไว้แล้ว ชีวิตผมจึงแบ่งเป็น 2 ซีกชัดเจน ระหว่างเงินกับศิลปะ ถ้าผมยังเอาเรื่องงานศิลปะไปขึ้นอยู่กับเงิน มันจะปนเปเละเทะ ไม่ถึงปลายทางของอะไรสักอย่างเดียว ผมทำเพลงเพราะต้องการศิลปะ ดังนั้นจึงต้องกลับมาคุยกับตัวเอง มาตรฐานในการทำงานศิลปะของเขมวิชคืออะไร
GM : แล้วมันคืออะไร
เขมวิช : (นิ่งคิด) ความซื่อสัตย์เป็นอันดับหนึ่ง ความซื่อสัตย์มีความหมายค่อนข้างกว้าง คนที่วาดรูป เขียนหนังสือ แต่งบทกวี คนเหล่านี้จะได้รับแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจที่เดินทางมาหาเรา เป็นเรื่องที่ผมใส่ใจมากที่สุด ผมไม่ได้แต่งเพลงแบบเขียนขึ้นกระดานดำ เอาละ เพลงนี้จะใช้คอร์ดอะไรบ้างว่ามา บลา บลา บลา ท่อนฮุกต้องใช้คอร์ดเมเจอร์ ไม่ใช่ ผมแต่งเพลงแบบที่เมื่อได้ยินเสียงจากแรงบันดาลใจ เราก็มีหน้าที่นำเสนอเสียงนั้นออกมาอย่างซื่อสัตย์ มันจะต้องได้รับการถ่ายทอดบนมาตรฐานที่ประณีตที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด นั่นเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องที่ว่าจะทำออกมาแล้วคนจะชอบหรือไม่ชอบ จะฮิตหรือไม่ฮิต เรื่องพวกนี้เป็นอันดับรองๆ ลงมาอันดับท้ายๆ
(นิ่งคิด) แต่จะว่าไป อันดับที่มาก่อนข้อนี้ก็มีนะ เช่นเพื่อนๆ เราที่อยู่ใน Wavelength เดียวกัน เขาจะชอบหรือไม่ชอบ คนกลุ่มนี้อาจจะมี 20
หรือว่า 200 คน หรือถึงแม้จะมีแค่ 1 คน ที่เราให้ความสำคัญกับเขา เขาให้ความสำคัญกับเรา เขาได้ฟังผลงานของเราแล้วอินมากๆ มีเพื่อนผมเป็นคนเกาหลี ไอชอบงานของยูมาก ไอเอาไปฟังตอนออกกำลังกาย วิ่งบนเทรดมิลล์แล้วมันส์มาก อย่างนี้ผมฟังแล้วรู้สึกดี ผมทำเพลงเพื่อคนกลุ่มนี้ แล้วผมมีความสุข ผมขอสารภาพว่าทำเพลงตลาดไม่เป็น อะไรที่เริ่มรู้สึกว่าเริ่มคล้ายๆ กัน อะไรที่มาถูกทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์คล้ายๆ กัน ไม่สร้างความแตกต่าง หรือปั๊มตามกันมา เดินตามสายพานกันมา ผมจะพยายามเลี่ยงอย่างถึงที่สุด เมื่อผมได้ทำแล้ว ก็ควรจะทำอะไรก็ตามที่แตกต่าง ไม่อย่างนั้นไม่ต้องลงมาทำก็ได้ ผมถอดปลั๊กออกจากระบบมาแล้ว การทำงานเพลงที่หวังผลทางเศรษฐกิจ ผมไม่อยากเป็นตัวโคลนนิ่งของระบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ไม่มีเหตุผลที่ต้องกลับไปจุดเดิม ถ้าผมมาทำงานตรงนี้แล้วเราไม่ได้สร้างเอกลักษณ์ในผลงานของตัวเอง ผมรู้สึกไม่โอเค แผนการที่ผ่านมามันล้มครืน
GM : แต่ใครๆ ก็อยากให้ผลงานของตัวเองฮิตทั้งนั้น
เขมวิช : ผมก็อยาก (ตอบทันที) แต่มีคำพูดที่ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล คุยกับคุณเอก-สรพงษ์ ชาตรี เป็นเรื่องที่คลาสสิกมากๆ ผมอ่านมาจากบทสัมภาษณ์พี่เอก ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อนานมาแล้ว คือพี่เอกอยากกำกับหนัง เลยไปปรึกษาท่านมุ้ย ท่านมุ้ยถาม คุณอยากกำกับหนังอะไร พี่เอกตอบทำนองว่า อยากกำกับหนังที่ฮิตๆ ได้สตางค์ ท่านมุ้ยเตือนว่า ถ้าคิดอย่างนั้นระวังจะซวยสองเด้ง คือ หนึ่ง, คุณไม่ได้ทำอย่างที่ตัวเองอยากจะทำ และ สอง, ถ้าทำออกไปแล้วไม่มีใครชอบหนังเรื่องนี้เลย ชะตากรรมของหนังเรื่องนี้จะยิ่งตกต่ำ เพราะจะไม่มีใครชอบมันเลย รวมถึงตัวคุณเองพออ่านถึงตรงนี้ก็ประทับใจทั้งสองท่านมาก เพราะทำให้เราตระหนักได้ว่า เราจะทำอะไร เราต้องมีศรัทธาในสิ่งที่เราทำ ข้อนี้เป็นเรื่องที่คนทำงานศิลปะจะเข้าใจดี เพราะบางทีมันก็จำเป็นต้องเลือก ถ้าผมจะต้องอยู่กับผลงานของตัวเองนานกว่าใครเพื่อน ต้องอยู่กับแผ่นซีดีและหนังสือที่เขียนมากกว่าใคร มีผมคนเดียวที่สร้างสรรค์มันขึ้นมาตามลำพัง ผมถามตัวเองแบบหยั่งลึกถึงแก่นของงานว่าผมชอบมันไหม ผมรักมันไหม จากวันแรกที่งานชิ้นนี้เกิดขึ้นกับผมคนเดียว ไม่ได้มีโซเชียลมีเดียมาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีคลิกวิวมากำกับครอบงำความคิดอย่างเรื่องการวิ่งมาราธอน ที่ ฮารุกิ มูราคามิ เขียนไว้ในหนังสือ What I Talk About When I Talk About Running ถือเป็นอุปมาอุปไมยที่ดี คนบางคนจะรู้ว่าการลงมือทำอะไรบางอย่าง แล้วมันเป็นสิ่งที่เชิดชูใจในตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศให้ใครรู้ว่าความสำเร็จนี้คืออะไร ตัวเราเองรู้สึกละว่าเรากำลังลงมือทำในสิ่งที่ดี น่าทะนุถนอม มองเห็นแง่งามในความสำเร็จนั้นด้วยสายตาของเราเอง เติมเต็มจิตวิญญาณ วัตถุประสงค์ของการดำเนินชีวิตของตัวเราได้ ณ วันเวลาหนึ่ง นั่นก็เพียงพอหรือว่าคุ้มค่าแล้ว
GM : เคยคิดไหมว่า กรอบความคิดแบบนี้ จะทำให้เราลดความพยายาม ลดการออกแรงฝ่าฟันกับอะไรภายนอก
เขมวิช : ไม่นะครับ (นิ่งคิด) ผมออกแรงฝ่าฟันมานาน กว่าที่จะมาเป็นอย่างนี้ได้ เส้นทางเดินที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง การสอบเป็นทนายความ
ในนิวยอร์ก โอกาสผ่าน 50-50 ตกแล้วก็ต้องเริ่มใหม่ หรือทำงานในบริษัทใหญ่ ที่ชี้นิ้วไปเจอใคร ก็ไม่มีใครจำใครได้ คนคนนั้นจะต้องทำงานหนักขนาดไหน ถึงจะได้โปรโมตขึ้นมาเป็น VP โดยที่ไม่ต้องผ่านการเป็น Assistant Vice President มาก่อน เขาคนนั้นอายุสามสิบต้นๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้ทะนงตัว ผมต่อสู้มาเยอะ ถ้าใครบอกว่าชีวิตแบบนี้ง่ายๆ …ที่เขมวิชทำ มันก็แค่อยากติสท์ ลองมาทำอย่างที่ผมผ่านมาดูสิ คุณจะรู้ว่า หมอนี่มันบ้าชัดๆแม้แต่เรื่องดนตรี ทุกวันนี้ผมเชื่อนะว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ อนุญาตให้นักดนตรีทำอะไรได้เยอะ อาจจะมีเด็กที่จีเนียสมากๆ คนหนึ่ง ทำเพลงออกมาแล้วไม่จำเป็นต้องเข้ามาฝ่าฟันในระบบค่ายเพลง เขาไม่ต้องหัดเล่นกีตาร์จนนิ้วพอง เขาไม่ต้องมีทักษะการเล่นดนตรีชั้นเลิศ แต่ว่าอย่างเดียวที่เขามี คือไอเดีย เขานำไอเดียมาขยำลงไปในโปรแกรมซอฟต์แวร์ ด้วยเทคโนโลยีพวกนี้จะช่วยทำให้ไอเดียแปรสภาพไปเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น เขาทำสำเร็จจนมีผลงานออกมาให้คุณฟัง คุณยืนดูเขาจากวงนอก แล้วคุณจะตัดสินเขาได้อย่างไรว่า ที่เขาทำนั้นง่ายเหลือเกิน ที่เขาทำนั้นมันคือ Short Cutเรื่องเล่าของศิลปิน มักอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมๆ ตลอดมา ว่าศิลปินที่เก่งๆ มักถูกนิยาม หรือถูกเขียนถึงทำนองว่า เขาได้ฝ่าฟันอะไรมาบ้าง ต่อสู้กับอะไรมา อะไรแบบนี้ใช่ไหม แต่ในยุคนี้ คุณน่าจะเปิดใจสักนิดกับเรื่องเล่าแบบใหม่ ว่าถ้าศิลปินคือคนที่ทำงานสร้างสรรค์ นอกจากมีฝีมือ มีทักษะ มีความชำนาญแล้ว สิ่งที่คนทำงานสร้างสรรค์ต้องมีคือไอเดีย ทักษะกับเทคนิคเป็นสิ่งที่ได้จากการฝึกฝนและประสบการณ์ ส่วนนี้ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคุณจะได้มันมาก็ต่อเมื่อคุณลงมือทำ ยอมแลกด้วยการฝ่าฟัน เลือดตาแทบกระเด็น ทำมันซ้ำๆ ลองผิดลองถูก ค้นหา ทดลอง หรือผิดพลาด แต่เรื่องของไอเดียล่ะ จำเป็นที่คุณต้องฝ่าฟันไหม ไอเดียเป็นเรื่องเฉพาะคน เป็นตัวตนของคนคนนั้น ผมไม่คิดว่าตัวเองมาทำเพลงได้ เพราะฝ่าฟันน้อยกว่าคนอื่นในเรื่องพวกนี้ ผมไม่ใช่เศรษฐีนักดนตรีอยู่ดีๆ ก็เล่นเป็น ผมไม่กล้าดูถูกดนตรีที่สร้างขึ้นมา ต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ผมต้องฝ่าฟันชนิดหนึ่งผมนะ…เคยเจอของจริงมาเยอะ อัลบั้มชุดที่ 2 บินไปทำมาสเตอร์ที่นิวยอร์ก สตูดิโอชื่อว่า Sterling Sound เป็นห้องที่ลอยอยู่กลางอากาศ เขาออกแบบพิเศษให้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุด ด้วยเทคนิคด้านซาวนด์เอนจิเนียร์ ผมร่วมงานกับมาสเตอริ่งซาวนด์เอนจิเนียร์ที่เคยทำผลงานดังๆ ให้บรูซ สปริงทีน เจมส์ เทย์เลอร์ แล้วเขาทำงานกับเด็กหนุ่มอายุสามสิบกว่าๆ อย่างผม ที่เข้าไปแล้วเปิดเพลงนี้ให้ฟัง เขาตอบกลับมาว่า งานคุณ คุณภาพคล้ายกับเพลงเดโม คุณใช้อะไรมอนิเตอร์ คุณควรจะปรับปรุงเรื่องนั้น เรื่องนี้ เขาไล่ยาวมาเป็นชุดๆ ผมโดนมาเต็มๆ พอเจอคนที่นั่นว่ามาอย่างนี้ เกิดความคิดว่า เรากำลังทำอะไรอยู่วะเนี่ย ถ้าเลือกทำแบบนี้จริงๆ ควรพัฒนางานของตัวเองให้ดี วัตถุประสงค์เรื่องความซื่อสัตย์จ่อหัวผมอยู่ตรงนั้นเลย ผลงานที่เขาชี้ให้เห็นความบกพร่อง เกิดจากความงุ่มง่าม เกิดจากความไม่คม ผมไปเจอคนหวังดีที่คอยขัดเกลาให้ จ่ายยาแรง ถ้าผมเป็นคนที่ไม่สู้ล่ะ งอนป่อง ขี้ใจน้อย ไม่ทำแล้ว ล้มกระดานเว้ย มันก็จบแค่นั้น แต่ผมโน้ตข้อผิดพลาด ข้อที่เรียนรู้พวกนั้นอย่างละเอียด เพื่อกลับมาเราจะได้ทำงานที่ดีขึ้น ผมตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วยความซื่อสัตย์
STUDIO
ในวงการเพลงอเมริการู้ซึ้งเป็นอย่างดีว่า Sterling Sound Audio Mastering Studio ในนิวยอร์ก คือ Home to Grammy Awards ที่นี่เป็นสตูดิโอที่มิกซ์อัลบั้มเพลง ชนะรางวัลแกรมมี่อวอร์ดในกลุ่ม Album of the Year มากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลกซาวนด์เอนจิเนียร์ที่เขมวิชได้ร่วมงานด้วย คือ เกรก คาลบี้ (Greg Calbi) เขาเคยผ่านการมิกซ์เสียงให้กับศิลปินชั้นนำ อย่าง จอห์น เลนนอน อัลบั้ม Walls and Bridges (1974) มีชื่ออยู่ในเครดิตการทำสุดยอดอัลบั้ม Born to Run (1975) ของ บรูซ สปริงทีน รวมถึงงานของ Talking Head Noel Gallagherผลงานที่สร้างชื่อล่าสุดของเกรก คือ อัลบั้ม Current ของวงอินดี้ร็อคจากออสเตรเลีย Tame Impala
Social Approval
GM : คุณลงทุนลงแรงไปกับผลงานขนาดนี้ แต่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยโปรโมตให้คนได้เข้ามารู้จัก
เขมวิช : ผมรู้ตัวว่าโปรโมตไม่เก่ง ผมไม่ถนัดพูดถึงผลงานตัวเอง ผมทำงานของผมเสร็จแล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาดค่ายเพลง ผมชอบทำงาน แต่ไม่ชอบขายงาน (หยุดคิด) เปรียบเทียบอย่างนี้ พอล โกแก็ง รู้ดีทุกอย่างเกี่ยวกับภาพที่เขาเพ้นต์ขึ้นมา เขาอยู่บ้านทำงานของตัวเองไปเงียบๆ คนที่นำภาพของเขาออกไปขาย ได้เงินมาเท่าไหร่ โกแก็งก็ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย เขายังวาดภาพของตัวเองต่อไป ไม่ว่าจะมีการขายหรือว่าไม่มีการขาย พอลยังอยู่กับฝีแปรงพู่กันของตัวเองเหมือนเดิม พอลสนใจว่าในเฟรมที่อยู่ตรงหน้า เฉดสีที่ถ่ายทอดออกมา ทำได้เหมือนกับที่เขาจินตนาการไว้ไหม…แค่นั้น ผมทำงานของตัวเองเสร็จ ได้มีความสุข พิถีพิถันเต็มที่แล้ว ต่อมามีคนติดต่อขอซื้อ ถ้าคิดแล้วมันโคเวอร์ค่าใช้จ่ายการสร้างงานชิ้นนั้น ก็เชิญครับ ผมขายให้ แต่ผลงานชิ้นนั้นจะดังหรือไม่ดัง คนส่วนใหญ่จะชอบหรือไม่ชอบ หรือมันต้องได้รับการฟัง การตัดสินจากคนส่วนใหญ่ให้ครบวงจร สำหรับผมไม่สนใจเรื่องนี้เลย วงจรสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ที่ผมทำงานชิ้นนั้นสำเร็จด้วยความซื่อสัตย์ นับจากวันแรกถึงวันมาสเตอร์ริ่งอย่างคุณเองก็คงคิดเหมือนกัน พวกเราเป็นคนทำงานสร้างสรรค์เหมือนกัน จะรู้ว่าการเขียนหนังสือให้ออกมาอย่างที่เราพึงพอใจที่สุด การเว้นวรรคคำ การตบบรรทัดขึ้นย่อหน้าใหม่ ทำให้มีจังหวะการอ่านแบบนี้ เฉือนเนื้อหาออก เรียบเรียงเนื้อหาใหม่ ทำให้ออกมาซื่อสัตย์อย่างที่ใจคุณคิด นี่ถือเป็นเรื่องที่ยากไหม ยากนะ แล้วถ้าคุณต้องมาคิดเผื่อคนอื่น มองข้ามช็อตไปอีกว่างานชิ้นนี้จะมีคนชอบไหม จะได้ไลค์กันถล่มทลายหรือเปล่า คุณเอาคุณธรรมจากภายนอกมาตัดสินงานของคุณเอง แล้วความสุขในการทำงานของคุณ มันอยู่ตรงไหนเวลาผมทำงานเพลง ผมจะบอกว่าทางค่ายห้ามอีดิทอะไรในผลงานของผม นี่คือ Director’s Cut จะนำเพลงไปเรียงซีเควนซ์ใหม่ เพราะว่าเพลงนี้เพราะกว่าเพลงนี้ อะไรแบบนี้ไม่ได้ ต้องเรียงตามซีเควนซ์ที่ผมเรียงไว้เท่านั้น คนที่ดื้อด้าน มีทัศนคติแบบนี้จะอยู่รอดในตลาดหรือเปล่า (หัวเราะ) ผมเป็นคนตรงไปตรงมามากพอที่จะตอบว่า คุณเขมวิช คุณอยู่ในตลาดไม่ได้หรอก เพราะตลาดเพลงต้องการฟังอะไรที่สดชื่น มีลักษณะร่วมสมัย เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตในชีวิตของคนอายุสามสิบกว่าๆ ต่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมเขียนเพลงว่า ถ้าคนเรานอนไม่หลับ มันมีเรื่องอะไรให้คิดบ้าง ผมไม่อาจไปเขียนเรื่องที่ผมไม่รู้สึกอะไรกับมัน ฟังอย่างนี้แล้ว หลายคนเริ่มลงความเห็นว่า เขมวิช งั้นคุณก็ทำเพลงไว้ฟังเองคนเดียวก็แล้วกัน คุณไม่ยอมปรับตัวไปกับอะไรทั้งนั้น คุณเลือกการเป็นคนโดดเดี่ยวเองแล้วผมก็ตอบกลับไปว่า บางทีคนที่โดดเดี่ยว อาจจะเป็นคนที่ต้องทำอะไรตามใจคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทำงานที่ไม่ใช่เพื่องาน แต่ทำเพื่อย่างอื่น แล้วเห็นว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คนคนนี้สิ ที่ต้องโดดเดี่ยว ผมทำเพลงเพื่อเพลง ผมอยู่กับดนตรี ความสุขจากดนตรีเกิดขึ้นตั้งแต่มีสารโดพามีนเกิดขึ้นในสมอง ผมไม่ทรยศต่อมัน ชีวิตผมยินดีที่จะอยู่ได้ด้วยวิธีอื่น
GM : คุณคิดอย่างไร ที่วงการเพลงทั้งโลกกำลังตัดสินเพลงจากยอดคลิกวิวในยูทูบ
เขมวิช : เรื่องนี้ต้องคุยกันยาว ผมอยากตอบว่าเป็นเรื่อง Generation Gap ระหว่างคนรุ่นคุณ ที่สามสิบกว่าๆ กับคนรุ่นผม ที่สี่สิบกว่าๆ คลิกวิวหรือเพจไลค์แสดงถึงการยอมรับ ใช่ไหม ตอนที่ผมเด็กกว่านี้ ตอนอายุ 20 เคยมีคนที่สยามสตูดิโอ เป็นโปรดักชั่นงานด้านโฆษณาที่ดังมากเลย ติดต่อมา เขาโทรฯ มาที่บ้านผม แล้วคุณแม่รับสาย บอกว่าผมไม่อยู่ แล้ววางสายไป ผมมารู้ทีหลัง และตอนนี้เขาคงไม่โทรฯ กลับมาอีกเลย (หัวเราะ) คิดดูสิ การได้เป็นนายแบบโฆษณา ดังดี ได้เงินเยอะ มีชื่อเสียงง่าย ตอนเราเด็กๆ ก็จะคิดแต่เรื่องแบบนั้นตอนเราอายุ 18-20 เรามีความฝันต่างๆ นานา แต่สรุปรวมปลายทางของเรื่องนี้ มีอยู่แค่บรรทัดเดียว คือ … ‘ต้องการให้คนอื่นยอมรับในความฝันของเรา’ (เขาดีดนิ้ว) เรื่องพวกนี้มันเดินทางผ่านกาลเวลามาเรื่อยๆ เรื่องเดียวกันกับเมื่อ 20 ปีก่อน เรื่องนั้นในวันนี้ ก็คือยอดไลค์ หรือยอดวิวบนยุคโซเชียลมีเดีย ตอนที่คุณอายุ 18 คุณก็อยากให้คนอื่นบอกว่าคุณเก่ง คุณเจ๋งทั้งนั้นแหละครับ จะเรียกเรื่องพวกนี้ว่าเป็นการยอมรับหรือ Approval ก็ได้ แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ คนแต่ละช่วงวัยมองมันไม่เหมือนกัน ต้องการมันไม่เท่ากัน มันมีความหอมหวานเร่งเร้าปฏิกิริยาได้ไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้ผมไม่เด็กแล้ว การมีคลิกวิวมากๆ เรียกว่า Volume มันคนละประเด็นกับ Value หรือ Quality ซึ่งก็คือคุณภาพคลิกวิว มันเป็นเรื่องของยุคสมัยนี้ ที่อุตสาหกรรมเพลงและคนฟังใช้มันเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดของศิลปิน อืมม์…แต่มันจะอิมแพ็คเฉพาะศิลปินที่เชื่อในพลังของมันเท่านั้น หน้าที่ของศิลปินจะถูกตัดสินว่ามีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าจาก Approval Rating ที่โชว์อยู่บนยูทูบเท่านั้นเองหรือเรื่องคลิกวิวมันจำเป็นสำหรับศิลปินที่มีความสุดโต่งของวงการอย่าง บียอนเซ่ ออกเพลงมาปุ๊บ ก็อัพโหลดขึ้นยูทูบ Approval ของเธออาจอยู่ที่ 500 ล้านคลิกวิว เธอกับทีมงานก็จะออกแบบอะไรทุกอย่างมา เพื่อพิชิตเส้นกราฟตรงนั้น มีบิสเนสไดรฟ์ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีศิลปินบางคนถูกขังตายด้วยยอดคลิกวิวเช่นกัน คือ PSY เจ้าของเพลง Gangnam Style ความฮิตระดับนี้ไม่ได้เกิดจากเขา แต่เกิดจากลมชนิดหนึ่งที่พัดผ่านมา แล้วลมชนิดนั้น ทำให้คนติด ต้องฮิตเพลงนี้ลองนึกถึงสนามมาราธอนสิ คุณออกวิ่งไป แค่อยากให้มีพยานที่มองเห็นความสำเร็จของคุณ อาจมีแค่ตัวคุณเองหรือว่าคนที่คุณอยากวิ่งเพื่อเขา คนคนนั้นเป็นคนที่คุณอยากให้รู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นี้ มันมีความหมายสำหรับเขา งานปาร์ตี้หลังเส้นชัยอาจจะมีแค่เพื่อน 2-3 คน เท่านี้ก็เชิดชูใจแล้ว สำหรับผม การมี 200 วิวในยูทูบ แต่เป็นคนที่มาหยุดฟังเพลงของผม โดยที่เขาไม่รู้มาก่อนว่าผมเป็นใคร ทำอะไรมาบ้าง เขาอยู่กับผลงานที่ผมทำขึ้น แล้วมันสร้างความสุขให้เขาหรือเธอได้บ้าง เพลงผมได้พูดอะไรกับพวกเขาได้บ้าง แล้วเขาได้ยินสารนั้น สาระแค่นี้สำหรับผม คือการยอมรับที่มีคุณค่ามาก พิเศษมาก
PICK UP
ถ้าให้เขมวิชต้องเลือกอัลบั้มสักชุด ในบรรดาที่สะสมไว้จำนวนไม่น้อย เขานึกถึง Amnesiac (2001) อัลบั้มชุดที่ 4 ของวง Radiohead ที่เป็นผลงานต่อเนื่องจากชุด Kid Aงานในชุด Amnesiac ได้รับการพูดถึงว่า งานเชิงทดลองของวงที่กล้าผสมผสานทั้งดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ คลาสสิก แจ๊ส ร็อค และเพลงบรรเลงที่เอื่อยเฉื่อยเลื่อนลอย เป็นงานที่ทางวงนี้ไม่ประนีประนอมกับผู้ฟังอีกต่อไป เสน่ห์ของงานชุดนี้ คือมีนักดนตรีแจ๊สอาวุโสอย่าง Humphrey Lyttelton หรือ The Humph มาร่วมบรรเลงทรัมเป็ตในเพลง Life in a Glasshouse ที่ตราตรึงผู้ฟังนักI am the Author of my own Live
GM : ดูเหมือนว่า ระบบในชีวิตของคุณที่ได้เซตขึ้นมาในตอนนี้ จะต้องแยกเรื่องผลงาน ความฮิต รายได้ ออกจากกันหมด
เขมวิช : ในงานหนึ่งงานที่คุณลงไปทำ คุณต้องรู้ก่อนว่าคุณถนัดอะไรมากที่สุด แล้วคุณก็โฟกัสกับสิ่งนั้นไปยาวๆ หรือเอาง่ายๆ ว่า ในงานหนึ่งงาน มีภาพไหนที่คุณชอบมองมันมากที่สุด ชอบทำมากที่สุด ลงไปทำเรื่องนั้นให้ดี หรือว่าในงานชิ้นนั้นๆ มีส่วนที่คุณไม่ชอบทำ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้งานมันเกิดขึ้น คุณก็ต้องทำ ลองสังเกตดู จะรู้ว่ามันจะมีความสำเร็จอยู่หลายๆ ส่วน ไม่ใช่แค่ส่วนเดียว โอเค ถ้าคุณชอบเป็นช่างฝีมือ ชอบอยู่บ้านทำงานก๊อกๆ แก๊กๆ ของคุณไป ความสำเร็จของคุณคือความฟินที่ได้ทำผลงานชิ้นนั้นๆ อย่างเต็มที่ ทำมันออกมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ใกล้เคียงกับที่วางเป้าหมายไว้ คุณไม่มีอะไรติดค้าง แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ขายงานเก่งเลย แล้วอยากประสบความสำเร็จในเรื่องที่คุณไม่มีความชำนาญ คุณจะพัง เพราะคุณไม่ได้จงใจสร้างงานชิ้นนั้นขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์ หรือว่าความนิยม แต่คุณกลับนำมันไปใช้แสวงหาผลประโยชน์หรือว่าความฮิต คุณก็จะพัง
GM : อยากให้ช่วยพูดถึงการทำงานเป็นนักเขียนด้วย คุณมีผลงานหนังสือออกมา 3 เล่ม เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง ไม่อยู่ในระบบธุรกิจสิ่งพิมพ์แบบเดิมๆ และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ค่อยมีนักอ่านรู้จักผลงานของคุณเท่าไร
เขมวิช : ใช่ครับ นักเขียนในสมัยนี้มีหน้าที่จะต้องโปรโมตตัวเอง ต้องนำเสนอตัวเองเก่งๆ บอกเล่าว่ามี Personal Branding ยังไง มีรูปแบบการดำเนินชีวิต ไลฟ์สไตล์ และทัศนคติต่อเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร ต้อง On ตัวเองอยู่บนโลกโซเชียลฯ เหล่านี้มันแสดงถึงความน่าสนใจ และโยงใยให้ไปหยิบจับผลงานของนักเขียนคนนั้นๆ ทำให้ผู้อ่านอาจสนใจตัวนักเขียนมากกว่าผลงานก็ได้ เลยไปขอลายเซ็นพวกเขาแต่…นักเขียนพวกนี้ไม่ใช่ยุคที่ผมมา ผมไม่เคยเจอคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ผู้ที่ประพันธ์เรื่อง กา หนึ่งในเรื่องสั้นจาก ซอยเดียวกัน ที่ผมประทับใจ ผลงานของท่านกระทบใจผม คุณวาณิชจะมีไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตอย่างไร นักอ่านอย่างผมไม่ค่อยสนเท่าไร แต่ผมคิดว่า ผลงานของท่านนั้นเป็นส่วนที่ดีที่สุด ที่ท่านอยากนำเสนอให้กับผู้อ่าน นักเขียนหลายท่านหลายยุคหลายสมัย มีความสอดคล้องต้องกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ชีวิตและความคิด ได้ถูกเล่าผ่านผลงานของพวกเขาไปหมดแล้ว ถ้ามีอะไรที่เขาอยากเล่า เขาจะเล่าผ่านผลงานกลับมาที่ตัวผม เขมวิช ภังคานนท์ (ตอบเน้นเสียง) ขอสารภาพว่า ตัวตนของตาคนนี้ไม่ได้มีไลฟ์สไตล์อะไรที่น่าทวีต หรือว่าทำเดลี่บล็อก เขาไม่ได้ขยันออกความคิดต่อเรื่องต่างๆ บนนิวส์ฟีด ธรรมชาติผมไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น (หัวเราะ) แต่สำหรับคนที่ทำเรื่องพวกนี้อย่างลื่นไหล เช่น พี่พลอย จริยะเวช ที่ผมนับถือ พี่พลอยทำเรื่องนี้แบบเป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติของตัวเขาอย่างไม่ขัดขืน นี่คือ Personal Branding ของเขา แต่เขมวิชล่ะ มี Personal Branding แบบไหน ผมเป็นคนที่รักความเป็นส่วนตัวมาก ให้ไปทำอะไรแบบที่เราไม่เชื่อหรือไม่ชำนาญ ก็พอทำได้นะ แต่จะทำได้ไม่นาน
GM : คุณไม่อยากมีคอนเนคชั่นกับแฟนๆ ของคุณเลยหรือ
เขมวิช : ถ้ามองเรื่องนี้โดยเฟรมว่าผมเป็นคนใจร้าย ที่ไม่คิดแชร์อะไรกับแฟนเพลง แฟนหนังสือ ทำไมคุณไม่คิดกลับกันบ้าง ผมอาจจะคิดว่าไม่มีอะไรควรค่าแก่การแชร์ให้พวกเขาเลย เพราะเรื่องต่างๆ ที่ถูกแชร์ มันถูกแชร์เพราะว่าเป็นเทรนด์ เรากดส่งออกไป เพื่อยืนยันสถานภาพบางอย่างของเราต่อสถานการณนั้นๆ ผมก็แชร์ แชร์ผ่านการเขียนหนังสือ การเขียนหนังสือเป็นวิถีทางของการแชร์ ที่มีมาก่อนปุ่มบนเฟซบุ๊คของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นร้อยๆ ปี การที่เห็นว่าคนในสังคมแชร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยบางครั้งอาจมองข้ามเนื้อหาของสารของที่ถูกแชร์ด้วยซ้ำ การแชร์หลายๆ ครั้งเป็นไปเพื่อนัยให้หัวเรื่องหรือรูปภาพนั้นๆ ช่วยประกอบสร้างว่าคนแชร์เท่ เก๋ มีเทสต์แบบนี้ๆ หรือด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ เพื่อทำลายความว่างเปล่า นั่นเท่ากับว่าเราทำให้เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องไร้สาระเรื่องหนึ่ง ขออภัยด้วยที่เรื่องพวกนี้ไม่ได้อยู่ในจุดยืนของผมเลยที่ผ่านมา ผมไม่รู้จักนักเขียนมากนัก ตัวนักเขียนที่ผมชอบเขาตายไปแล้ว 400 กว่าปี นิคโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli) ผมไม่มีทางไปรู้เลยว่า ไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของเขาเป็นแบบไหน เขาไม่ได้ให้สิ่งนั้นเป็นเรื่องราวที่ตกทอดมาสู่ผม แต่การอ่านผลงานของเขา ทำให้รับรู้ถึงความเป็นมนุษย์บางอย่างที่เขาส่งผ่านตัวหนังสือเหล่านั้นออกมา มันมาจับใจ ข้อนั้นเป็นสิ่งที่เขาแชร์ออกมาแล้ว
The Author
นิคโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli ค.ศ.1469-1592) เป็นนักปรัชญา นักเขียน และนักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลี เป็นบุคคลตัวอย่างของประเทศ ในยุคเรเนซองส์ เช่นเดียวกับ เลโอนาร์โด ดา วินชี แต่งานคิด งานเขียนของมาเคียเวลลีไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จนกระทั่งเขาเสียชีวิตไปแล้ว โดยมาเคียเวลลีจะเขียนงานและส่งให้เพื่อนฝูงอ่านเท่านั้น งานที่ได้รับความนิยมของเขา คือ The Art of War
Short Story
เราให้เขมวิชเลือกงานเขียนที่ประทับใจ เขาเลือก Hunting Knife เรืองสั้นที่อยู่ในชุด Blind Willow, Sleeping Woman ของ ฮารุกิ มูราคามิ เป็นเรื่องสั้นที่อยู่ในความทรงจำเขามากที่สุดเรื่องหนึ่ง ในการติดตามผลงานนักประพันธ์ท่านนี้มาตลอด เนื้อเรื่องเริ่มต้นขึ้นด้วยกิจกรรมการว่ายน้ำของตัวละคร ดังที่ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น-นวนิยายของมูราคามิหลายเรื่อง เช่น Colorless Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage
GM : ถ้าการแชร์คือการแบ่งปัน ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราอยู่รอดกันมาได้จากการแบ่งปันกันไม่ใช่หรือ
เขมวิช : จะบอกอย่างนั้นก็ได้ พอฟังขึ้น แต่มนุษย์เราไม่ได้แบ่งปันกันอยู่ตลอดเวลา ทุกนาที ทุกวินาที แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ผมไม่ได้ไม่เชื่อในโซเชียลมีเดีย ไม่ได้คิดว่ามันมีความจำเป็น ในแง่ของการทำหนังสือออกมาสักเล่มหนึ่ง โดยที่คนเขียนหนังสือคนนี้ชื่อว่า เขมวิช ภังคานนท์ ผมขว้างเหยื่อไม่เป็น ผมเฝ้ารอการตอบสนองจากโซเชียลฯ ไม่ได้ ทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนงานสักชิ้น ผมมีตารางเวลาชัดเจนว่าทำกี่โมงถึงกี่โมง ผมทำอย่างนี้ก็เพื่อที่ปลายทางของผมจะได้มีอะไรมาแบ่งปันผู้อ่านจริงๆ ผ่านผลงานที่เลือกแล้วว่านี่คือด้านที่ดีที่สุดที่ผมอยากจะสื่อออกไป หลายคนติดอยู่กับกรอบของโซเชียลฯ มันเพิ่งมามีอิทธิพลกับคนทั้งโลกเมื่อปี 2009 แล้วบอกว่าพฤติกรรมของคนที่ไม่โซเชียลฯ เป็นพวกต่อต้านยุคสมัย ผมถอนหายใจเลยนะ (เขาพูดเสร็จ ก็ถอนใจยาวๆ) เป้าประสงค์ของคนที่ไม่โซเชียลฯ พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นคนแปลกแยก ลึกลับ หรือต่อต้านกระแส แต่เป้าประสงค์พวกเขา ยังอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้อยากเป็นพวกทำตัวลึกลับแล้วดูคูล การดำเนินชีวิตที่มีเวลา มีสมาธิให้กับการทำงาน ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่หรือ ไม่ใช่พอเราจะมีผลงานแล้ว เราจำเป็นต้องเอาจังหวะเวลานั้นมาโฆษณาตัวเอง มาเปิดเผยตัวเองซะเหลือเกินเพื่อจะขายของ มีฤดูกาลที่ทำอะไรออกนอกหน้า ทำแบบนั้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง มันพานไม่ชอบตัวเองเข้าไปอีก
GM : แต่เดี๋ยวนี้คนสร้างสรรค์ผลงานอะไร ก็จะมีอีเวนท์ให้มาเจอกันง่ายๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในผลงานของกันและกัน
เขมวิช : มีวงนิวเวฟในยุค ’80s ของอังกฤษอย่าง New Order หรือว่าวงร็อคอย่าง U2 บางคืนพวกเขาจะทำ Secret Show ไปเล่นในคลับเล็กๆ ที่มีแต่คนคอเดียวกันเท่านั้นที่รู้ ตามไปเจอะเจอกันได้ เป็นอีเวนท์ที่ใสบริสุทธิ์มาก เหมือนกัน ระหว่างผมกับแฟนเพลง แฟนหนังสือ ถ้าติดตามกันจริงๆ ผมจะสบายๆ กับพวกเขา เรารู้ว่าจะเจอะเจอกันได้ที่ไหน คนที่มาเป็นตัวจริง คนที่ไปก็เป็นตัวจริง มันเป็นอีเวนท์ที่คูล คนไม่เยอะแยะหรอก แต่เจอกันแล้วอบอุ่น สำหรับผมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พิเศษ ผมมองเห็นกระแสที่เป็นไป ถามว่า ถ้าไม่ได้เป็นคนที่มีจริตแบบนั้นแล้ว ผมจำเป็นต้องบิดจริตของตัวเองเพื่อเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่าผมมีตัวตนแบบนี้มานาน ยอมรับตัวเองได้ ผมไม่ใช่นักเขียนที่ต้องมีหน้าแฟนเพจส่วนตัว ยอดคลิกไลค์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยกระดับตัวตนหรือว่าความรู้สึกของผม เมื่อก่อนผมมี hi5 ผมตอบคนเยอะแยะเลย เพราะเป็นช่วงที่ผมแนะนำตัวกับคนฟังเพลง ให้เข้ามาฟังผลงาน เราคอมเมนต์ตอบกันไป-มาสนุกสนานอยู่ช่วงหนึ่ง จนในที่สุด คนที่เล่นโซเชียลฯ จะพบจุดเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน จากคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่สร้างขึ้น เรารู้ว่าเรากำลังสื่อสารกับคนคอเดียวกัน แต่แล้วเมื่อขยายตัวขึ้น เรากลับไม่รู้จักกลุ่มผู้ฟังที่เป็นกลุ่มคนคอเดียวกันของเราแล้ว ออเดียนซ์ของเรากลายเป็นตัวเลข เป็น Digit เป็นส่วนเล็กๆ เราเริ่มแปลกหน้าต่อกัน ไม่รู้ใครเป็นใคร เนื้อหาจริงๆ ที่พวกเขาต้องการคืออะไรกันแน่ นั่นจึงเป็นที่มาว่าผมไม่รู้จะมีทวิตเตอร์เอาไว้ทวีตอะไร เพื่อใคร ผมติดอารมณ์ของการสื่อสารแบบทนายความ ที่ต้องคุยกันแบบ One-to-One ผมไม่ได้แอนตี้โซเชียลมีเดียแต่อย่างใด ผมเคยมีเฟซบุ๊ค ล็อกอินเข้าไปบ้าง ติดตามผู้กำกับ นักเขียน ศิลปินที่ตามงานของเขาอยู่ แต่ตามเขาแบบโดยที่ไม่ได้สนใจเรื่อง Personality ของเขาเลย ผมสนใจไอเดียรวบยอดที่เขาทำออกมาในรูปแบบผลงานเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า เช่นกัน มองกลับมาที่ผมเอง เขมวิชไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวบนโซเชียลฯ ของเขาเพื่อบอกเล่าตัวตนของตัวเองจะมีประโยชน์ใดๆ ต่อผู้อื่น แต่ผลงานที่ผมทำไว้ต่างหาก ได้ทำหน้าที่นั้นไปแล้ว มัน Up to It ที่คุณจะได้รับประโยชน์จากผม
มีศิลปินหลายคนที่ผมติดตามผลงาน อย่าง หว่องกาไว งานเรื่อง The Grandmaster (2013) เป็นผลงานที่ชอบมาก ผมอยากรู้ว่ามุมมองที่เขามีต่องานชิ้นนี้เป็นอย่างไร และคนที่ดูเรื่องนี้ มีไอเดียกับมันอย่างไรบ้าง อีริค แคลปตัน เป็นอีกคนที่อยากเจอ มีคนเคยบอกว่าจะพาไปเจอ อยากเจอไหม ผมใจหายวาบเลย ไม่เจอเขาแบบ In-Person ดีกว่า อีริค แคลปตัน เป็นบุคคลที่ผมศึกษาชีวิตเขามาเป็นเวลานานที่สุด ค่อนข้างที่จะรู้ทางเลี้ยวเขา อีริคไม่ได้ทวีตว่าตื่นเช้ามาทำอะไรบ้าง ปวดฟัน ส่องกระจกแล้วชมตัวเอง เขาไม่ได้มีเรื่องส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะผมยังมีความเชื่อแบบโบราณมากว่า นักเขียนกับนักอ่านนั้นเราติดต่อกันได้ตลอดเวลา ผ่านสายสัมพันธ์ที่ห่างไกล อีกคนเขียนงานของตัวเองไป อีกฝ่ายอ่านผลงานของนักเขียนคนนั้น อย่างน้อยนี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ที่ต่างฝ่ายจะได้รับจากกัน นักเขียนที่ตายไปแล้วหลายร้อยปี ก็ยังมีโอกาสได้ติดต่อกับนักอ่านของเขา แต่ก่อนที่จะเข้าใจผิดไปกันใหญ่ ผมไม่ได้เป็นศิลปินที่มีอีโก้ ฟอร์มจัด ถ้าวันไหนผู้อ่าน ผู้ฟังเดินมาเจอผม เราเจอกันในร้านขายหนังสือ ขายแผ่นเสียง ผมยินดีคุยกับทุกคน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผมกลับมีความคิดที่ต่างออกไป ว่าศิลปินที่มีอีโก้จัด คือศิลปินที่มียอดวิวบนโซเชียลฯ มากๆ ต่างหากล่ะ เพราะว่าตัวเลขความนิยมแสนวิว ล้านวิว สิบล้านวิว มันมีโอกาสที่จะเล่นงานอีโก้ของศิลปินคนนั้นๆ ได้ง่ายมากถ้าเขาอิงกับสิ่งที่เข้ามา หรือว่าโลกหยิบยื่นให้ผมมีอีโก้เฉพาะเรื่องงานที่รัก ในการทำงานที่โดดเดี่ยว ปิดกั้น ดำดิ่ง เพื่อหวังให้งานชิ้นนั้นเสร็จออกมาแบบที่คิดไว้ ถ้าใครชอบงานผม ผมขอบคุณและดีใจ ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบงานเขมวิชเลย ผมต้องขอบคุณเหมือนกัน พอยต์แบบนี้ทำให้ผมคิดถึงเหตุการณ์ที่ เควนติน แทแรนติโน ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์หลายครั้ง สาขา Best Original Screenplay เขาได้มา 2 ตัวจาก Pulp Fiction (1994) และ Django Unchained (2012) มันห่างกันมากถึง 18 ปี หลังจากทำเรื่องล่าสุด มีข่าวว่าเควนตินในวัย 52-53 เขาจะรีไทร์การทำหนังแล้ว พอกันที ตอนที่เควนตินขึ้นไปรับรางวัลอะไรสักอย่าง เขาบอกว่าในฐานะนักเขียน มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกพวกคุณ ‘I don’t want input!’ แล้วแต่คนจะตีความว่าผู้กำกับคนนี้มีอีโก้ไหม แล้วถามว่าถ้าเขารับเอาสิ่งที่ทุกคนหยิบยื่นให้ ถ้างานออกมาห่วยล่ะ ใครล่ะจะรับผิดชอบ ก็คนเขียนอีกนั่นแหละ
Social Media
จริงๆ แล้ว เขมวิชก็ยังไม่ได้ตัดขาดจากผู้อ่านโดยสิ้นเชิง เขามีแฟนเพจ ‘ตี่ตี๋หมาอ้วน’ เพื่อสื่อสารกิจกรรมต่างๆ ของเขาผ่านตี่ตี๋ สุนัขพันธุ์บุลล์เทร์เรียร์ ที่เขาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคู่กายมาหลายปี ที่ผ่านมาเขาเคยเขียนผลงานเรื่อง ‘สิ่งที่ตี๋ไม่มีวันลืม’ เป็นบทความว่าด้วยเรื่องราวรอบตัว ที่ใช้สายตาของ ตี่ตี๋หมาอ้วน เป็นตัวแทนบอกเล่า เข้าไปติดตามได้ที่ facebook.com/tt.fatdog
GM : คุณคิดอย่างไรกับคนยุคปัจจุบัน ที่คิดและอ่านอะไรๆ ในสเตตัสหรือทวีตตลอดเวลา
เขมวิช : ต้องพูดถึงยุคของคนแล้วละ คนที่อายุ 60-70 ก็นับเป็นคนยุคปัจจุบันเหมือนกันนะ พวกเขาอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือถ้าไม่อ่านหนังสือ ไม่ดูทีวี แต่ว่า Media Consuming เป็นอย่างที่คุณบอก อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย เอาเวลาออกไปจากการอ่านหนังสือ แต่ไปอ่านอย่างอื่น แม้แต่หนังสือพิมพ์ The New York Times ก็นำส่วนหนึ่งของข่าวมาโค้ดข้อความบนทวิตเตอร์ ลักษณะนิสัยการอ่านของเราในยุคปัจจุบัน
ถูกวิวัฒนาการ ได้เปลี่ยนแปลง จำแนกแยกย่อยลงไป จนกระทั่งถึงอะไรบ้าง ผมอ่านได้ทั้งบทความขนาดยาวและบทความสั้นๆ เลยไปถึงวรรคหนึ่งในบทกวีที่มีคำน้อยๆ แต่สื่อสารได้หมดจด ประหยัดผมเป็นนักเขียนที่โปรความสั้น ในพฤติกรรมการอ่านของคนแต่ละยุค ยุคเบบี้บูม เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ มิลเลนเนียล ทุกยุคอาจจะมีลักษณะพฤติกรรมการอ่านของตัวเองที่แตกต่างกัน ผมมีคุณย่าอายุ 84 ท่านนอนไม่ค่อยหลับ ตอนตี 1 ตื่นขึ้นมาเปิดไอแพด เพื่อดูว่าที่ปารีสตอนนี้มีนิทรรศการศิลปะอะไรบ้าง คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ศิลปินที่เขียนรูปในแกลเลอรีว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับผลงาน ท่านชอบงานศิลปะ ท่านอ่านเรื่องงานศิลปะ แบบนี้จะถือว่าโลกอินเทอร์เน็ตเป็นภัยต่อการอ่านไหม ตอบในปีกหนึ่งเหมือนกันว่า ไม่ เคยไปรายการทีวีรายการหนึ่ง ถูกถามว่า คิดอย่างไรที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยสุด เราถามกันถึงเรื่องการอ่านปีละ 8 บรรทัดอะไรนั่น ผมบอกว่าไม่น่าจะจริง เพราะต้องไม่นับแค่เฉพาะอ่านหนังสือ เรามีแหล่งการอ่านจากที่อื่นๆ เยอะมาก อ่านโซเชียลมีเดียก็นับเป็นการอ่านอย่างหนึ่ง ณ ที่นั่นที่นี่เกิดอะไรขึ้น มาในรูปแบบของข่าวสาร
GM : คุณมาถึงช่วงอายุ 40-50 คุณคิดว่าในช่วงอายุนี้ เราต้องการอะไร เราควรทำอะไร
เขมวิช : เขียนหนังสือมั้งครับ ทำอะไรต่อไปในยุคนี้เหรอ อืมม์…เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะว่ามีตัวอย่างที่น่าสนใจอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เขาเขียนโค้ดเฟซบุ๊คตอนอายุ 21 ตอน 25 กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน ตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่ เขากำลังรันคอมพานี กำลังดูแลบริษัทอยู่ โฟกัสที่ค่อนข้างจำกัดในเรื่องเวลาของพวกเรา ว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ ทำให้ภาพในระยะยาวมันหายไป บางทีมือเราไม่ได้จับปากกา แต่วันนี้เจอแล้ว ตัวละครนี้ในนวนิยายที่อยากเขียน ไอเดียมาแล้ว มันก็ค่อยๆ ประกอบกัน ถามว่าตั้งใจทำอะไร คิดว่าอย่าใช้ตัวอาชีพมานิยามผมเลย ใช้ตัวผลงานน่าจะสะดวกใจกว่าว่าผมกำลังสนใจทำอะไร ตอนนี้หรือต่อไป คือการเขียนหนังสือ
Novel
Vertigo Forest ป่าของใจ ในป่าของโลก เป็นผลงานนวนิยายเรื่องยาวเล่มแรกที่เขมวิชเล่าถึง การผจญภัยในป่าเมืองกาญจนบุรี เป็นแนว Psychological Thriller มีกลิ่นอายความลึกลับ ความเชื่อ ศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ และตำนานขุมทรัพย์ทองคำทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2เมื่อลูกสาวนักการเมืองหายตัวไปอย่างลึกลับในป่าทึบอำเภอทองผาภูมิ ทำให้ ‘พรานมน’ อดีตนักนำทางในป่าต้องมาทำหน้าที่ตามหาคนหาย เนื้อหาในเล่มนำไปสู่การเดินทางภายในจิตใจ สิ่งที่ซ่อนเร้นในป่าและในใจของผู้คน มี ‘ป่าซ้อนป่า’ อยู่ในเล่มนับเป็นนวนิยายไทยรสชาติใหม่ที่ผ่านการรีเสิร์ชเนื้อหาลงพื้นที่ นำความรู้เรื่องประสาทวิทยา และมุมมองการสืบค้นแบบอดีตผู้สืบข่าว ทนายความ ที่เป็นแบ็คกราวนด์ของผู้เขียนมาเบลนด์เข้ากัน
Film
Whiplash (2014) ดูแล้วชอบ ในฐานะที่เป็นนักดนตรีแจ๊สคนหนึ่ง ผมเก็ตเรื่องนี้ แจ๊สนี้เกี่ยวพันกับอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นการคำนวณ แต่คัลเจอร์ในการสอนดนตรีแจ๊สไม่ง่าย แจ๊สเป็นดนตรีที่อิมโพรไวซ์ จะต้องคิด ตอบโต้กันทันทีทันควัน คนที่จะเล่นดนตรีประเภทนี้ได้ดี จะต้องลับสมองเรื่องคณิตศาสตร์ให้คม มีความรู้เรื่องสเกลที่สูง เข้าใจสัดส่วนจังหวะ นอกจากมี Memory ที่ดี ยังต้องมี MuscleMemory ที่ดีด้วย เพื่อที่จะเล่นตัวโน้ตได้คม การสอนดนตรีแจ๊ส ด้านหนึ่งเราจะสอนเด็กแบบเชื่องๆ ไม่ได้ เฟลทเชอร์ทำถูกหรือไม่ ไม่รู้ แต่คุณสอนแจ๊สที่มีแนวทางการสอนหรือว่าคาแร็กเตอร์เอาจริงเอาจังแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในวงการแจ๊ส มันพบกันได้ วิธีที่หนังสื่อออกมามีเขวี้ยงข้าวของนี่ก็เกินไป แต่เรื่องความคาดหวังต่อประสิทธิภาพการเล่นนี้ คุณครูแจ๊สย่อมมองไม่ต่างจากครูเฟลทเชอร์ในเรื่อง โลกของดนตรีแจ๊สมีความคาดหวังสูง เด็กเข้ามาพร้อมกับความคิดว่าอยากเป็นอัจฉริยะ การเกลาเขาให้เป็นนักสู้มันก็คงมีหลายวิธี คำหนึ่งที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ คือ 2 คำในภาษาอังกฤษที่อันตรายที่สุดคือ Good Job ดีแล้ว เหมือนคำปลอบใจ แต่มันคืออะไรกันแน่ น่าเคลือบแคลงสงสัย
Life Hacking
GM : ในการแหกกรอบต่างๆ ในชีวิตมาได้ถึงวันนี้ คุณต้องเผชิญความเจ็บปวดอะไรบ้าง
เขมวิช : มี, มีความเจ็บปวด มีความเสียดาย (นิ่งคิด) ผมว่าเมื่อทุกคนมองย้อนกลับไป ทุกคนก็ต้องมี ไม่มีใครไม่รู้สึกเสียดาย ถึงจะมีบางคนที่บอกว่าเขาใช้ชีวิตมาคุ้มค่าเหลือเกิน หรืออะไรก็ตามแต่ ผมไม่คิดว่าเขาจะไม่เสียดายอะไรเลยจริงๆ เพราะทุกอย่างในโลกนี้ มันมีทางเลือกและทางไปของมัน เหมือนอย่างที่เราคุยกันในตอนแรก งานประจำไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรด้วยการลาออกจากงานประจำ ถ้าคุณเป็นคนที่รักงานประจำที่คุณทำอยู่ ไปทำงานทุกวันด้วยความสุขมากกว่าความทุกข์
สมมุติว่ามีเขมวิชที่ทำงานประจำ เวลานี้คนคนนั้นเขากำลังจะทำอะไรอยู่นะ ผมเองก็อยากรู้ ว่าเงาของเราในจักรวาลคู่ขนาน Alternate
Universe เขากำลังเป็นอะไร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ผมอาจมีหลายคน ผจญอยู่กับแต่ละสถานการณ์ คุณคงจะเข้าใจเรื่องทำนองนี้ดี เพราะทุกครั้งที่ชีวิตคุณเดินทางมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ มาถึงทางแยก คุณต้องเลือกทางหนึ่ง เลือกสิ่งหนึ่ง ตัดเส้นทางอื่นๆ ของอีกสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกออกไปอย่างเย็นชาคุณและผมมักเลือกในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดแล้วในตอนนั้น และไม่ไปเลือกอีกเส้นทาง แต่ใครจะรู้ ในเส้นทางที่เราไม่ได้เลือก มันอาจมีอะไรที่ดีๆ รออยู่ และในเส้นทางที่เราเลือกแล้วนี้ มันก็มีเรื่องที่ดี และเรื่องที่ย่ำแย่ปะปนกันมา สรุปแล้วผมว่ามันเหมือนไม่ได้เลือกอะไร ถ้าเช่นนั้น เอาเป็นว่า ขอให้ได้เลือกทำสิ่งที่ชอบ การที่ผมมาพูดวันนี้ว่า ชีวิตผมคุ้มค่าแล้วที่ได้เลือกทำแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่ามันเกินไปนะมีเรื่องที่ผมเสียดาย อาจจะเป็นวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ คุณอยากได้คำตอบที่ชัดเจน ผมยังไม่มีให้ตอนนี้หรอก ผมยังตอบคำถามนี้โดยใช้ประโยชน์ของความเลือนราง เช่น เวลาที่มีงานเลี้ยงรียูเนียน เพื่อนเก่าๆ มาเจอกัน เอ้า… เป็นอย่างไรกันบ้าง เห็นเขาคุยกันว่างานแบงก์ตอนนี้ค่อยยังชั่วแล้วนะ ยูน่าจะอยู่ตอนที่ปี 2008 ตอนที่พวกไอขนกล่องกันออกมาจากไทม์สแควร์ ผมก็ได้แค่ถามๆ แล้วเทรดนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้กฎหมายใหม่ออกมาแล้วเป็นยังไงบ้าง อาทิตย์ที่แล้วมีเพื่อนจาก Bank of America มาเยี่ยม บอกว่าตอนนี้ไออายุ 51 แล้วนะ เขมวิช ยูน่าจะเห็นแบงก์ช่วงนั้นช่วงนี้มันเป็นอย่างนี้ ผมชอบนะครับ ชอบความเป็น Banking Lawyer ชอบความเป็น Investment Banker ชอบติดตามข่าวสารพวกนี้ นิตยสาร Financial Times ก็ยังอ่านอยู่ ติดตามข่าวสารในแวดวงไม่เคยขาด ด้านหนึ่งชีวิตนักศิลปิน เราก็อยากจะรู้ว่า ถ้าเกิดยังมีแรงบันดาลใจอยู่ เพลงพวกนี้มาหาเรา เราจะทำเป็นอะไรได้บ้าง หรือว่าที่พร่าเลือนกว่านั้น คือ เรื่องชีวิต ครอบครัว เรื่องวิธีการตัดสินใจ ทางเลือกอะไรพวกนี้ เป็นเรื่องที่ผมขอเลือกให้มันเป็นเรื่องเลือนๆ
GM : มูราคามิกล่าวว่า Pain is inevitable. Suffering is optional. หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่เราเลือกแล้วที่จะยอมรับมัน
เขมวิช : ก็ด้วยวัยและประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมตอบโดยสังเขปได้ว่า ความเจ็บปวดมีอยู่ทุกที่ อะไรที่เราแคร์ มันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด
เมื่อไรที่เราแคร์มัน มันจะทำให้เราเจ็บปวดแน่นอน แต่ว่าเราเลือกชนิดของความเจ็บปวดได้ เลือกได้ เช่น เวลาที่คุณวิ่ง คุณเหนื่อยไหม มีความรู้สึกเจ็บปวดทางร่างกายไหม ถ้าไม่วิ่งก็ไม่เจ็บปวด แต่คุณก็ยังวิ่ง จริงไหมผมบอกไม่ได้หรอกครับว่าทำแบบไหนแล้วจะไม่เจ็บปวด ทุกงานล้วนเจ็บปวดหมด แต่เราต้องเลือกว่างานไหนที่เราชอบมันจริงๆ แล้วเราจะยอมรับความเจ็บของมันได้ มันจะเจ็บขนาดไหนกันเชียว สมมุติว่านี่เป็นงานที่สบายมากเลยนะ งานเป็นนักเขียน เป็นนักลงทุน งานค่อนข้างสบาย ถ้าเกิดผมเป็นทหารล่ะ ต้องออกไปลาดตระเวนเนี่ย ตาย พิการ อันนั้นเรื่องจริง แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เราภูมิใจในความเป็นทหาร ว่านั่นเป็นสิ่งที่กำหนดนิยามความเป็นตัวตนของเรา เพราะฉะนั้น เรานิยามได้ว่างานคืออะไร แต่ว่าเวลาใครจะมาบอกว่าเขามี Pain Free Life ผมไม่เชื่อคุณหรอก
GM : ในตอนช่วง 30-40 วิถีชีวิตแบบที่ออกมาจากกรง การแฮ็กชีวิตของคุณ มีความยุ่งยากมากแค่ไหน
เขมวิช : นี่คงไม่สายไป ถ้าก่อนที่บทสนทนาของเราจะสิ้นสุด แล้วผมจะมานิยามศัพท์คำว่า ‘แฮ็ก’ เป็นการปิดท้าย แฮ็กคืออะไร แฮ็กคือการแหกระบบ การแหกระบบนั้นไม่ใช่สักแต่ว่าจะแหกออกมา ไม่ใช่สักแต่ว่าทำแล้วต้องมาหอบ แฮ่ก แฮ่ก แต่มันเป็นการสร้างวิธีการเข้าถึงระบบใหม่ โดยที่เราเป็นคนกำหนดเองว่าตัวเราควรจะทำอะไรบ้าง สมมุติว่าจุดเริ่มต้นนั่นเป็นพอยต์ A ของเรา และพอยต์ B คือการกำหนดว่าการที่เราจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เนี่ยคืออะไร เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องมาสืบสวนวิธีการให้ดีว่า หนทางที่จะเดินไปพอยต์ B ควรจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ที่ผ่านมา ผมคิดว่าตัวเองทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แถมเจ้าความสำเร็จที่ผมได้รับ ก็ไม่ใช่ความสำเร็จแบบโชติช่วงเพียงแต่ว่าผมแค่หาวิธีได้แล้ว หาทางใหม่ที่เป็นไปได้ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่ง วิธีแฮ็ก เราต้องรู้ว่าระบบเดิมนั้นทำงานอย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด รู้กรอบของมัน เช่น การเป็นนักดนตรีมีเฟรมเวิร์กการทำงานแบบนี้ มีขั้นตอนการทำงานแบบนี้ หรือว่าการเป็นนักวิ่งมาราธอนมีเฟรมเวิร์กแบบนี้ ขั้นตอนแบบนี้ ต้องเจ็บปวดกับเรื่องอะไร การเป็นนักเขียนมีธรรมชาติการทำงานแบบนี้ การที่ผมแฮ็กชีวิตออกมาเพื่อให้เป็นนักเขียน และแฮ็กเพื่อให้เป็นนักดนตรี เพื่อนร่วมงานต้องยอมรับผลงานที่สร้างขึ้นมาด้วย เพราะเราต้องพึ่งเขา ไม่ใช่คุณเอาแต่อยู่ในโลกที่จะแฮ็ก แต่ไม่ยอมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร การแฮ็กที่ดี เราจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัด เล็งที่เป้า และไปด้วยวิธีการที่ตัวเราเองก็ชอบทำ อย่ายึดติดที่รูปแบบภายนอก เช่น คุณอยากเป็นแบทแมน หาชุดแบทแมนมาใส่ แต่ออกไปหน้าปากซอย ไปกวนตีนคนอื่นแล้วถูกวินมอเตอร์ไซค์กระทืบกลับมา นั่นก็ไม่ใช่แบทแมน ภายใต้ชุดที่่สวมใส่อยู่นั้น แบทแมนต้องมีทักษะอะไร ต้องมีความสามารถอะไร คุณต้องทำให้ได้อย่างนั้นความตั้งใจที่จะแฮ็กนี้สิ่งสำคัญที่สุด มันทำให้เราได้มาซึ่งคำถามที่อาจไม่เคยถามมาก่อนในชีวิต ว่าจากพอยต์ A ไปพอยต์ B มันไปยังไงบ้าง ตราบใดที่เราเป็นคนกำหนด เราจะรู้มาตรฐาน กติกา หรือรางวัล ว่ามันคืออะไร เราอาจจะไม่ได้รับอะไรๆ ที่เหมือนกับคนที่ยังอยู่ในระบบได้รับกัน นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะได้รับอะไรอย่างอื่นที่พวกเขายังไม่เคยได้รับจากชีวิตมาก่อนเช่นกันแต่ในที่สุดแล้ว เราจะไม่ได้พบว่าที่ทำลงไป ทำให้เรากลายเป็นคนพิเศษกว่าใคร ไม่ใช่เลย…พอยต์นี้ผิด และเราไม่ได้จะมีความสุขเหนือกว่าพวกเขา เราก็ยังมีความทุกข์พอๆ กันในแง่ของมนุษย์ แต่สิ่งที่เราได้ มันเป็นเพียงแค่เรื่องการกำจัดข้อสงสัยในชีวิตบางข้อให้หมดไป ผมไม่รู้ว่าทำไมความสงสัยถึงเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของผมนัก แต่ผมเชื่อว่าคนเรามักมีความอยากรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ว่าเราสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพอะไรได้บ้าง และที่ผ่านมา ผมพยายามหาคำตอบนี้