ปฏิบัติการสาวไส้วงการบันเทิง จากปากคำคนข่าวบันเทิงอักษรย่อ ต.
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ไม่ต้องปรายตาดูข่าวมาก คุณคงรับรู้ได้ว่า พื้นที่ข่าวทั้งบนจอโทรทัศน์ หน้าปัด วิทยุ จออินเตอร์เน็ต และหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนจดจ่ออยู่กับข่าวบันเทิง เรื่องของนักร้องนามแฝง ฟ. กับหญิงสาวนามแฝง อ. อันลือลั่นกลายเป็นตำนานที่ยังค้างคา ไม่นับรวมข่าวคลิปที่รั่วไหล ภายใต้นามแฝงของนักแสดงอย่าง ธ. กับสามีที่ชื่อ ป. ไม่นับรวมผู้เกี่ยวข้องที่ว่ากันว่ามีนามแฝงว่า พ. ทั้งสองเรื่องอาจเพิ่งเกิดขึ้นและยังหาบทสรุปของมันเองไม่ได้ แต่ก่อนหน้านี้ วงการบันเทิงไทยล้วนเต็มไปด้วยข่าวค(ร)าวเหล่านี้ไม่ขาดสาย ใครไปมีอะไรกับใคร ใครตั้งท้องกับใคร ใครมั่วสุมชุมนุมกับใคร ใครมีเพศสภาพของตนเป็นอย่างไร ล้วนคล้ายเป็น ‘พันธกิจ’ อันสูงส่งของเหล่านักข่าวบันเทิงไทย ที่ต้องไปขุดคุ้ยเจาะลึกมาให้ได้ กระทั่งกลายเป็นข่าวฉาว คาว ใคร่ ที่โด่งดัง และส่งผลให้สื่อสามารถ ‘ขายข่าว’ ต่อไปได้อีกเป็นเม็ดเงินมหาศาล
นั่นเป็นเหตุผลที่ GM อยากจับเข่าคุยกับคนข่าวบันเทิง เราหมายถึงการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เจาะลึกถึงการทำงานของพวกเขา ความคิด จิตใจ จิตวิญญาณ จริยธรรม จรรยาบรรณ ความรู้สึกนึกคิด ว่าคนที่ทำงานในฐานะ ‘นักข่าวบันเทิง’ มีสิ่งเหล่านี้อย่างไร มากน้อย พร่องขาด หรือล้นเกินในบางมิติ
คำถามก็คือ…เขาคนนั้นควรเป็นใคร ?
เราติดต่อใครคนนั้นไป แต่คำตอบที่ได้คือรอยยิ้ม เขาบอกว่าถ้าอยากจะ ‘ผ่า’ วงการข่าวบันเทิงให้ลึกไปถึงระดับ DNA ละก็
ขอเขาไม่เปิดเผยตัวตนจะดีกว่า เพราะหากให้พูดกันตรงๆ วิพากษ์กันซึ่งหน้า ย่อมมีเพื่อนพ้องบาดเจ็บล้มตายลงไม่น้อย ดังนั้น วิธีที่เขาจะทำได้ก็คือการอำพรางใบหน้าและชื่อแซ่ เพื่อให้สามารถพูดได้ตรงไปตรงมา วิพากษ์เพื่อสิ่งที่ดีกว่าได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของสังคมไปด้วยในตัวเราบอกเขาติดตลกว่า ขอใช้ ‘นามแฝง’ กับนักข่าวบันเทิงดูบ้างดีไหม เขาอาจเป็นซ้อสิบเอ็ด เป็นเจ้าพ่อวงการบันเทิงที่ซุกซ่อนตัวอยู่หลังฉาก หรือเป็นนักข่าวตัวเล็กๆ ที่เชี่ยวช่ำกับสนามก็ได้ แต่เราจะเรียกเขาว่า ต. (นามแฝง) และเลือกถาม ต. ด้วยคำถามในแบบที่ GM ถาม ไม่ใช่คำถามแบบที่นักข่าวบันเทิงชอบถาม เขาตอบเราว่าได้ พร้อมกับเสียงหัวเราะปัญญาชนจำนวนมากชอบพูดกันแรงๆ ว่า นักข่าวบันเทิงไร้สมอง ทำแต่ข่าวไร้สาระ เรื่องที่ใครจะไปมีอะไรกับใคร แต่ ต. บอกเราอีกอย่างหนึ่งว่า บางทีคำสวยๆ หรูๆ อย่างคำว่าภาระหน้าที่ พันธกิจ หรือแม้แต่จรรยาบรรณหรือจริยธรรมตามบรรทัดฐานของสังคมนั้น ก็อาจใช้ไม่ได้เท่าไหร่นักกับนักข่าวบันเทิง ผู้ต้องคลุกคลีอยู่กับชีวิตจริงๆ ของการทำข่าวเพื่อ ‘ขาย’
นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ GM สัมภาษณ์บุคคลไร้หน้า ในนามแฝง ต. แต่เรารับประกันว่า เขาให้คำตอบที่น่าสนใจ และน่านำมาพินิจพิเคราะห์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคสมัยที่เราเสพข่าววันละ (มากกว่า) สามมื้อ !
Q : ถามตรงๆ คุณคิดว่า คุณภาพของนักข่าวบันเทิงในยุคสมัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง
A : ผมรู้นะ (ตอบทันควัน) ว่าคุณอยากจะ ‘ด่า’ นักข่าวบันเทิง ว่ามันด้อยคุณภาพ วันๆ เอาแต่สนใจเรื่องที่ว่า ใครจะเอากับใคร ดาราคนไหนไปกิ๊กกับคนไหน คนไหนได้กับคนไหน ใครขึ้นห้องขึ้นคอนโดฯกับใคร ได้แต่เอาไมค์ไปจ่อปากถาม อย่างนั้นใช่ไหม
Q : แล้วเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า
A : ผมไม่ได้จะแก้ตัวแทนหรอก (ถอนหายใจ) แต่จะบอกคุณว่า นักข่าวบันเทิงน่ะ ไม่ได้ทำงานกันง่ายๆ นะคุณ แต่ละคนต้องออกหาข่าวกันตั้งแต่เช้า ตระเวนไปตามกองถ่ายบ้าง สถานีทีวีช่องต่างๆ บ้าง คิดว่าทำข่าวมันง่ายนักหรือไง คุณไม่เคยเห็นเหรอ เวลาที่ต้องไปกลุ้มรุมขอสัมภาษณ์พวกดาราน่ะ มันไม่ใช่งานสบายนะ แต่ก็ต้องทำ ใช่, ส่วนหนึ่งก็ทำเพราะอยากทำ เพราะมันเป็นวิชาชีพด้วย แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเสพสื่อบันเทิงน่ะ เขาก็ชอบด้วย อันนี้คุณต้องยอมรับ ไม่งั้นมันจะอยู่ได้ไง ไม่งั้นหนังสือซุบซิบดารา หรือรายการที่ซุบซิบเกี่ยวกับแวดวงบันเทิงทางทีวี มันจะอยู่ได้ยังไง มันจะมีโฆษณามาลงได้ยังไง
คุณคิดว่าจะให้เราทำแต่ข่าวดีๆ งามๆ ใครไปชนะการประกวดเคมีโอลิมปิกอะไรมาเท่านั้นหรือไง แล้วมันมีมั้ยล่ะ ข่าวพวกนั้นน่ะ มีหนังไทยเรื่องไหนมั่งไปได้ออสการ์ ไม่มี มีแต่ข่าวเล็กๆ น้อยๆ อย่างอภิชาติพงศ์
(วีระเศรษฐกุล) ไปได้รางวัลจากเมืองคานส์มา พวกคุณบอกว่า โอ้โห! เหมือนกับได้ออสการ์เลย ทำไมพวกนักข่าวบันเทิงแ_่งไม่สนใจ แต่ไปดูสิ หนังของเขาน่ะ ชาวบ้านดูแล้วรู้เรื่องที่ไหน แล้วจะให้ไปล้วงควักอะไรจากคุณเจ้ยมาทำข่าวล่ะ จะให้ไปถามเรื่องปรัชญา
ซับซ้อนอะไร ใครที่ไหนมันจะสน เราก็ต้องตามติดเรื่องฟิล์ม แอนนี่ เรื่องคลิปเสียง เรื่องใครท้องกับใคร อะไรพวกนี้ ซึ่งผมขอบอกนะว่ามันก็เป็นเรื่องไทยๆ ของเรานี่แหละ ใครๆ ก็สนใจ มันเป็นของที่ชาวบ้านเขาอยากรู้อยากเห็นกัน คุณต้องยืนอยู่กับความเป็นจริงหน่อยสิ โลกเขาต้องการอะไรอย่างนี้นะคุณ ไม่ได้ต้องการอะไรที่มันเลอเลิศมาจากสวรรค์ชั้นฟ้าเสียหน่อย
นี่พูดกันตรงๆ เลยนะ เพราะคุณบอกว่าให้พูดตรงๆ ชื่อแซ่อะไรไม่เอาไปลง ก็จะบอกกันตรงๆ ยังงี้แหละ ชอบกล่าวหากันว่านักข่าวบันเทิงมันเป็นตัวร้าย เป็นตัวเสื่อม เป็นเสนียดจัญไรของสังคมกันนัก ก็ต้องบอกกันเลยว่า พวกเราน่ะไม่ได้ทำงานกันง่ายๆ นะคุณ เงินทองก็ใช่จะได้กันมากมาย นี่หมายถึง นักข่าวตัวเล็กๆ คนที่ไปทำข่าวกันจริงๆ ต้องคอยตระเวนตามโรงถ่าย ตามทีวีช่องต่างๆ มันไม่ได้ง่ายเลยที่จะคอยไปตาม
ไปล้วงไปเจาะ อย่างที่เขาว่ากันว่ามันเป็นโลกมายาน่ะ มีอะไรจริงมั่งเราก็ไม่รู้ ก็ต้องไปตามไปสืบกัน ชีวิตนักข่าวบันเทิง
มันไม่ได้ง่ายๆ นะ บางทีก็ต้องไปรอ ยิ่งเป็นพวกดาราดังๆ น่ะ บางทีนักข่าวต้องไปรอกันเป็นวันๆ กว่าจะได้สัมภาษณ์หรือได้ข่าวอะไรมาสักชิ้น
Q : จริงหรือที่ว่าข่าวบันเทิงแบบนี้ทำข่าวยาก หลายคนมองว่ามันเป็นการทำข่าวที่ ‘ง่าย’ ถึงขั้น ‘ง่ายมาก’ เสียด้วยซ้ำไป เพราะแค่เอาไมค์ไปจ่อปากอย่างที่เรียกกันว่าทำข่าวแบบปิงปอง แล้วถามคำถามที่เป็นข้อขัดแย้งจากอีกฝ่ายหนึ่ง ผ่านการมองโลกแบบขาว-ดำ พระเอก-ผู้ร้าย หรือนางเอก-ตัวอิจฉา จากนั้นก็เอาคำตอบที่ได้มาถ่ายทอดต่อโดยไม่ต้องสนใจว่าผู้ที่ตอบจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
A : อ้าว! แล้วนักข่าวสายอื่นไม่เป็นยังงี้หรือไงคุณ คุณลองดูสิ นักข่าวการเมืองก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น แล้วไม่ใช่แค่นักข่าวเมืองไทยนะ นักข่าวเมืองนอกต่างประเทศที่ไหนเขาก็ทำกัน ผมว่าพวกคุณอคติหรือเปล่า ถึงเห็นว่าการทำข่าวแบบปิงปองอะไรนี่มันเป็นเรื่องเลวร้าย ผมว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนะ ก็ถ้ามันมีประเด็นให้ถาม เราก็ต้องถาม ถ้าเราไม่ถาม ก็ถือเป็นเรื่องของการตกข่าวน่ะสิ แล้วถ้าตกข่าว คุณว่าจะเกิดอะไรขึ้น นักข่าว
ก็ต้องโดนบรรณาธิการข่าวด่า หาว่าทำไมเล่มนั้นได้ข่าวสีฟ ทำไมเล่มเราไม่ได้ นักข่าวมัวแต่ไปมุดหัวทำอะไรอยู่ที่จริงนะ ผมเคยได้ยินว่ามีคนพูดถึงขั้นที่ว่า นักข่าวบันเทิงไทยนั้นไร้สมองด้วยซ้ำ อันนี้ผมบอกตรงๆ ว่ายอมรับไม่ได้ว่ะ เพราะถ้าไม่มีสมองก็ทำงานไม่ได้หรอก แต่ถ้าจะบอกว่ามันมีคนทำงานไม่ดี มันก็ต้องมีอยู่แล้ว
ไอ้ที่ทำงานพลาดกันน่ะ มันก็มีอยู่ มีอยู่บางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่ากันตรงๆ พูดแบบนี้ก็ดูถูกกันล่ะนะ แต่เราไม่ใช่คนหลงตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่บ้างบางคน อะไรดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีก็ว่าไม่ดี แต่อย่ามาด่ากราด บอกว่าทุกคนมันโง่ไปหมด นักข่าวบันเทิงน่ะจะบอกให้ว่าไม่จำเป็นต้องสร้างภาพอยู่แล้ว (หัวเราะ) ไม่เหมือนพวกดาราหรอก
ผมว่าที่คนบอกว่านักข่าวบันเทิงไม่มีคุณภาพ เป็นเพราะคนมองว่าเราทำแต่ข่าวซุบซิบ บางทีก็ไม่รู้ว่าเต้าข่าวหรือเปล่า แต่ข่าวพวกนี้น่ะ จะบอกให้ว่าคนชอบอ่าน ไม่เชื่อคุณก็ดูเว็บ
ผู้จัดการสิ อยู่มาได้น่ะ ต้องยอมรับว่านอกจากเรื่องการเมืองแล้ว สมัยแรกๆ ซ้อเจ็ดก็เป็นตัวดึงดูดคนเลยนะ ขนาดว่าหยาบมั่งอะไรมั่ง ไม่มีจรรยาบรรณมั่ง คนก็ไม่เห็นว่าอะไร แถมยังชอบกันอีก ว่าสามารถไปขุดคุ้ยเบื้องหลังสกปรกออกมาได้ แล้วเรื่องที่เขานำเสนอก็นำเสนอแต่เรื่องในมุ้งของดาราด้วย โธ่! ก็ถ้าสังคมมันสนใจ ข่าวพวกนี้มันขายได้ แล้วถามหน่อยว่าจะให้ไปทำข่าวอื่นที่มันขายไม่ได้หรือไง จะบ้าเหรอ
Q : แล้ว ‘เต้าข่าว’ นี่มีจริงหรือเปล่า ถามตรงๆ แล้วไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณหรือ
A : จะบอกอะไรให้ (ลดเสียงเบาลง) เขาบอกว่า ไม่มีมูลหมามันไม่ขี้หรอก มันก็ต้องมีเชื้อไฟบ้าง มันถึงจะมีควัน แล้วพูดก็พูดเถอะ กี่เรื่องแล้วที่ลือๆ กัน แล้วตอนหลังมันฉาวออกมาเป็นเรื่องจริง จะบอกให้ เรื่องที่ลือๆ กันน่ะ เห็นมั้ยสรุปออกมาก็จริงทุกที ถึงบางข่าวเจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธ แต่ก็นะ …ถ้าไม่มีใครไปขุดคุ้ย ไม่มีใครไปเจาะไปชอนไช มันก็เงียบๆ ไป หรือถ้าเจ้าตัวไม่ได้ดังจริงๆ เดี๋ยวข่าวมันก็เงียบ แต่ถ้าเป็นคนดังๆ แล้วมีการขุดคุ้ยนะ เรื่องจริงมันจะฉาวจะแดงโร่ออกมาเหมือนเวลาลือกันทุกทีแหละ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ‘เต้าข่าว’ หรือเปล่า ต้องบอกว่าไม่อยากจะเซด ของจริงน่ะมันยิ่งกว่าในข่าวอีก
Q : มีตัวอย่างไหม เรื่องที่ข่าวลือกลายเป็นความจริง
A : โอ๊ย! คุณไปอยู่หลังเขาที่ไหนมา เรื่องพวกนี้มีเยอะจะตายไป ลองนึกดูดีๆ สิ มีให้เพียบไปหมด เอ้า! อย่างล่าสุดก็เรื่องอักษรย่อ ฟ. กับ อ. ไง ตอนแรกๆ ก็เป็นข่าวลือกันไปลือกันมาว่าเป็นตัวอักษรย่อ ให้คนเดากัน ปรากฏว่าตอนหลังก็ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โตให้ขุดคุ้ยกันเป็นเดือนๆ ไม่รู้จักจบสิ้นแต่ถ้าเรื่องดังๆ หน่อย ก็อย่างนางเอกเบนโลนั่นไง อันนั้นน่ะ ลือกันมาตั้งแต่ก่อนเรื่องจะแดงนานอยู่นะ จำไม่ได้เหรอ แล้วเจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธ แต่ในที่สุดความจริงมันก็คือความจริง ไม่มีไฟก็ไม่มีควัน ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ เห็นมั้ยว่ามันจริงตลอด หรือถ้าไม่จริงตลอด ก็ขอเอาหัวเป็นประกันได้เลยว่ามันจริงมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งพวกข่าวเตียงหักรักร้าง หรือใครเป็นเก้งเป็นกวางเป็นไก่ อะไรพวกนี้ด้วยนะ ไม่ต้องกระซิบหรอก จริงทั้งนั้นแหละ ข่าวตบตีกันแย่งผู้ชาย จำได้มั้ยล่ะ ข่าวลือเรื่องคลิปหลุดหน้าเหมือนหน้าไม่เหมือนน่ะ สรุปแล้วก็จริงทุกที เพียงแต่ว่า (เน้นเสียง) คนที่เป็นข่าว รวมกับองค์กรต้นสังกัดของตัวเอง จะมีวิธีจัดการยังไงให้มันจบอย่างแนบเนียน หรือว่าถ้ามันจบแบบแนบเนียนไม่ได้ เพราะกระแสสังคมมันไปไกลเกินกว่าจะฉุดเอาไว้ได้ มันก็จะแตกโพละออกมา แล้วพอมันแตกโพละออกมา คราวนี้ก็มีอยู่สองอย่าง คือทนทำตัวเหมือนนาธานปฏิเสธไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ออกมายอมรับกันตรงๆ ขอโทษ ซึ่งเราคนไทยด้วยกันก็จะให้อภัยกันน่ะนะ (ยิ้ม)
เอายังงี้ เดี๋ยวเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เรื่องพระเอกคนนี้ที่มีข่าวว่า เอ่อ…แต่หยุดอัดเสียงก่อนนะ…
Q : ไม่มีเลยหรือ ที่ข่าวลือกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ ไม่เป็นความจริง
A : นึกไม่ออก (ตอบทันที)
Q : ไม่มีข่าวดีๆ บ้างเลยหรือ หรือไม่คิดว่าจะเจาะข่าวในเรื่องที่ดีๆ ของดารานักแสดงบ้างเลยหรือ เช่น นักแสดงคนนี้เล่นฉากนี้ได้ดีมาก มีวิธีฝึกฝนตัวเองอย่างไร ทำไมถึงไม่สนใจ แต่กลับไปให้ความสนใจแต่กับเรื่องส่วนตัวของดารา เรื่องฉาวโฉ่มากกว่า
A : ไอ้ที่จะตอบนี่ บอกได้เลยนะว่าเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ (เน้นเสียง) เป็นข้อเท็จจริงของสังคมไทยเรานี่แหละ ก็เพราะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องใต้เข็มขัดของดารา
มันขายได้ไงคุณ อ้าว! ไม่จริงเหรอ มันจริงเสียยิ่งกว่าจริงอีก มัน-ขาย-ได้ (เน้นเสียง) อันนี้ต้องเน้นกันเลย ข่าวแบบนี้คนชอบอ่าน ชอบมากด้วย แล้วเวลาเอาไปพาดเป็นหัว ขึ้นปกนิตยสารดาราน่ะ บอกเลยว่าเปรี้ยง ยิ่งถ้าพาดหัวได้หวือหวามากเท่าไหร่ก็ยิ่งขายได้ แล้วถ้าเป็นข่าวใหญ่ข่าวสีฟที่คนอื่นที่ไม่ได้ข่าวนี้ พวกนักข่าวเล่มอื่นก็จะตามข่าวกันต่อ วิ่งกันให้วุ่นทั้งวงการ (หัวเราะ) ไปเอาไมค์จ่อปากดาราถาม ทีนี้มันก็อยู่กับกึ๋นของดาราแล้ว ว่าจะตอบหรือเปล่า หรือว่าจะตอบยังไง อ้าว! อันนี้มันวัดกึ๋นกันเลยนะคุณ ใครว่าไม่มีประโยชน์ ได้เห็นกึ๋นดารากันก็ตอนนี้แหละ
Q : ไม่คิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ?
A : ใครจะบอกว่าไร้สาระก็บอกกันไป แต่ผมว่าข่าวทุกข่าวมันไม่ไร้ค่าไร้ประโยชน์หรอก มันอยู่ที่เราจะมองมากกว่า แล้วก็อยู่ที่แต่ละคนจะออกมายอมรับเปิดใจกับข่าวยังไงด้วย ถ้าคนที่โกหกเบนโล ผลที่ออกมามันก็เบนโลน่ะ ถูกแบน ไม่มีใครจ้าง ไม่มีใครเอางานมาให้ แต่บางคนที่กล้าออกมายอมรับตรงๆ แมนๆ ผมว่าก็เป็นการบอกคนอื่นว่ามันก็มีทางออกของมันนะ บางทีออกมาขอโทษ สังคมก็ให้อภัยแล้ว แต่ถ้าคนไหนที่ไม่ออกมายอมรับนะ เป็นไม่ได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียว
Q : อะไรคือ ‘จรรยาบรรณ’ ของนักข่าวบันเทิง
A : (นิ่งคิด) ถามกลับหน่อย ไอ้นักข่าวอื่นๆ น่ะ มันมีจรรยา-บรรณกันมากนักหรือไง ไหนบอกมาหน่อย แล้วไม่ต้องนักข่าว คนอื่นๆ ที่ทำอาชีพอื่นๆ น่ะ มันบวชเรียนกันหมดแล้วหรือเปล่า นิพพานกันหมดแล้วหรือเปล่า ก็เปล่า แล้วเวลาพูดเรื่องจรรยาบรรณ พวกคุณก็อยากให้มีการควบคุมนักข่าวบันเทิงกันใช่มั้ยล่ะ รู้หรอกน่า (ยิ้มมุมปาก) ผมเคยเถียงกับนักวิชาการมาแล้วเรื่องนี้ เขาบอกว่านักข่าวต้องมีจรรยาบรรณแบบสร้างสรรค์ ผมก็ถามกลับว่า อ้าว! แล้วไอ้แบบสร้างสรรค์ที่ว่าน่ะ มันคือแบบไหนล่ะ เขาก็บอกว่า เวลาทำข่าวน่ะ ควรจะทำข่าวอะไรที่สร้างสรรค์บ้าง ไม่ใช่เอาแต่ทำลาย อย่างหันมารายงานกันบ้างว่า เรตติ้งหนังหรือละครไทยแต่ละเรื่องจริงๆ แล้วเป็นยังไง หรือว่าเทรนด์ของละครในปีหน้าที่จะมาถึงมันควรจะเป็นยังไงบ้าง หรือว่านำเสนอดารา ว่าคนนั้นคนนี้มีวิธีการแสดงยังไง ใครเล่นแบบละครเวทีโอเวอร์แอ็คติ้ง ใครเล่นแบบเนียนๆ ใครเล่นแบบฮอลลีวู้ด ใครเล่นแบบนักแสดงอังกฤษ
ผมบอกจะบ้าเหรอ ไอ้ที่ว่ามาน่ะมันเพ้อเจ้อ บ้าบอคอแตกหรือเปล่า ถ้าเรามานั่งพับเพียบพนมมือแต้รายงานข่าวพวกนี้ ถามหน่อย ใครที่ไหนมันจะมาดู ใครที่ไหนมันจะมาลงโฆษณาด้วย แล้วที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำ เราทำนะคุณ ก็มีทำกันอยู่ อาจจะน้อย แต่ก็ทำ แล้วที่มันน้อยน่ะ ไม่ใช่เพราะไม่อยากทำ แต่เพราะทำไปแล้วมันไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ มีแต่พวกนักวิชาการออกมายกหางกันเอง
แต่มันไม่ใช่โลกของความเป็นจริงไง อันนี้ต้องบอกเลยว่าให้ลงมาจากหอคอยงาช้างกันหน่อย มาดูว่าที่จะให้ทำข่าวพวกนี้น่ะ มันไม่ใช่งานของนักข่าวบันเทิง มันทำไม่ได้หรอก มันเป็นงานของนักข่าวสายศิลปวัฒนธรรม
Q : แต่ข่าวพวกนี้เกี่ยวพันกับวงการบันเทิงเต็มที่ อย่างข่าวการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ ข่าวการปฏิรูปสื่อ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงทั้งสิ้น คุณไม่คิดว่านักข่าวบันเทิงควรเข้ามามีบทบาทในการรายงานข่าวเหล่านี้ด้วยหรือ อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้คนในวงการบันเทิงได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองในเรื่องเหล่านี้ในวงกว้างบ้าง ว่าพวกเขามีความเห็นอย่างไร มีโอกาสได้แสดงออก ถึงกึ๋นของตัวเองบ้าง ไม่ใช่พอไมค์จ่อปาก ก็ได้แต่ตอบคำถามว่าเมื่อคืนไปเที่ยวกับใครมา หรือคบใครเป็นแฟน
A : (หัวเราะเสียงดัง) ก็บอกแล้วไงว่านั่นไม่ใช่งานของนักข่าวบันเทิง แต่ผมว่าเป็นงานของนักข่าวสายที่เรียกว่า นักข่าวศิลปวัฒนธรรมมากกว่าไม่รู้นะ แต่ผมว่ามันเป็นวัฒนธรรมไปแล้วละ ที่นักข่าวบันเทิงก็ต้องทำข่าวบันเทิงแบบนี้ แล้วไม่ค่อยมีคนตั้งคำถามอย่างที่คุณถามด้วย มันก็ดีนะที่ถาม อันนี้พูดอย่างคนเปิดใจกว้างๆ เลย
จะบอกให้ว่า นักข่าวบันเทิงน่ะ เป็นคนที่เปิดใจกว้างมากเป็นแม่น้ำอะเมซอนเลย เพราะถ้าไม่กว้างนะ เราคงรับความประพฤติของคนในวงการบันเทิงหลายคนไม่ได้หรอก เพียงแต่คนอื่นๆ ก็ต้องเปิดใจ
ให้กว้างกับนักข่าวบันเทิงด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่จะมานั่งจับผิด ทั้งที่สังคมบันเทิงมันมายา มันสกปรก มันมีอะไรเบื้องหลังอยู่เยอะแยะมากมายที่เราก็อยากขุดคุ้ย อยากเปิดโปง แต่บางทีมันก็ทำไม่ได้
ไอ้ที่ทำได้ก็คือการ ‘บอกใบ้’ ไง บอกใบ้ให้ประชาชนคิดเอาเองว่า คนนั้นคนนี้มันมีเบื้องหลังอย่างไร แล้วก็ไปตัดสินใจกันเอาเอง ว่าใครดีใครเลวยังไงบ้าง
Q : คุณบอกว่านักข่าวบันเทิงมีคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งคือใจกว้าง ยอมรับพฤติกรรมของคนในวงการได้หมด แต่พวกเขายอมรับพฤติกรรมของคนบันเทิงได้ ไม่ใช่เพราะนักข่าวจำเป็นต้องทำงานกับคนในวงการเพื่อยังชีพหรอกหรือ และที่จริงนักข่าวก็ดูจะไม่ได้มีความอดทนอะไรมากนัก เพราะจำนวนมากก็ดูเหมือนจะสนุกไปกับการมีอำนาจถือปากกาในการ ‘พิพากษา’ คนในวงการบันเทิงมากกว่า
A : มันก็ใช่อยู่ ว่านักข่าวมีอำนาจ เหมือนมีประกาศิตอยู่เหมือนกัน แต่ย้อนกลับไปเรื่องจรรยาบงจรรยาบรรณอะไรของคุณนั่นก่อน ต้องบอกก่อนว่า ไอ้ข่าวคาวๆ ที่เห็นกันอยู่น่ะ มันดูเหมือนมีมากใช่มั้ย แต่จริงๆ แล้ว ถ้าวัดกันจากพื้นที่สื่อจริงๆ นะ ขอบอกว่าไม่ได้มากมายอะไรเลย คุณเปิดหนังสือพิมพ์หัวเขียวดูก็ได้ คุณก็จะเห็นว่า ข่าวคาวๆ จริงๆ น่ะ มันมีพื้นที่อยู่ไม่ได้เยอะอะไร แต่จะมีพวกข่าวเปิดกล้อง ข่าวใครเล่นละครอะไรกับใครที่ไหน หรือบางทีก็มีเรื่องอุบัติเหตุในกองถ่าย เรื่องกุ๊กๆ กิ๊กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์
แต่เป็นสิ่งละอันพันละน้อยของดารามากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่แฟนคลับเขาสนใจ มีแนะนำอัลบั้มใหม่ หนังเรื่องใหม่ ละครเรื่องใหม่ อะไรพวกนี้อยู่เป็นสัดส่วนไม่น้อยนะคุณ
แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เป็นสังคมต่างหากที่ทำให้ข่าวบางข่าวมันกระพือไปเป็นเรื่องใหญ่ เอ้า! พูดง่ายๆ ยกตัวอย่างที่เพิ่งผ่านมา ก็กรณีของฟิล์มกับแอนนี่ ผมในฐานะนักข่าวบันเทิงเองก็ยังรู้สึกเลยว่ามันจะอะไรกันนักกันหนา เรื่องมันไม่ได้มีอะไรเลย แล้วมันก็ควรจะจบๆ กันไปได้ในหนึ่งอาทิตย์ด้วยซ้ำ แต่คุณก็ดูสิ มันเกิดสีสันมหัศจรรย์พันลึกกันขึ้นมาเยอะแยะ
มีคนมาให้ความเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งคนที่เกี่ยวข้องไม่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เจ๊เบียบ (ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช) ไปจนถึงพจน์ อานนท์ แม้แต่เกย์นที (ธีระโรจนพงษ์) ก็เข้ามา มีการเข้าโรงพยาบาลของฝ่ายหนึ่งกันหลายครั้ง มีการออกโทรทัศน์ เรียกว่าต่างฝ่ายต่างใช้สื่อเป็นกันทั้งคู่ถามว่าอย่างนี้น่ะ สื่อเป็นฝ่ายที่ใช้คนดังเพื่อทำข่าว หรือว่าคนดังที่เป็นข่าวใช้สื่อเพื่อทำสงครามกันเอง ผมว่ามันก็ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ใช้กันไปใช้กันมา ถูกใช้มั่ง ใช้เขามั่ง เสร็จแล้วใครได้ประโยชน์บ้าง อ้าว! แน่นอน สื่อน่ะได้ประโยชน์ อย่างน้อยๆ ก็ได้ข่าว ได้โฆษณา เอาข่าวไปเล่นกันอยู่ได้ตั้งเป็นเดือนๆ จนบางทีนักข่าวเองก็เบื่อเหมือนกัน แต่ถามว่าสองฝ่ายที่เขาสู้กันอยู่ เขาได้ประโยชน์มั้ย มันก็ได้เหมือนกัน เพราะว่าต่างคนต่างก็ได้ออกมาพูด ได้ออกมาตอบโต้กันไป แลกกันไปคนละหมัดสองหมัด โดยใช้วิธีการต่างๆ ซึ่งมันมีข้อมูลลึกๆ อีกเยอะ แต่ผมคงไม่พูดให้คุณฟังหรอก
แต่ไอ้ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนดู คนเสพสื่อ คนเสพข่าวน่ะ พวกนี้ได้อะไรมั้ย ก็ได้ (เสียงสูง) ได้ไปเต็มๆ ได้เสพข่าวไงคุณ คนดูเขาก็อยากรู้ มันเหมือนหนังเหมือนละครเรื่องหนึ่งเหมือนกัน
ชวนติดตาม แต่ติดตามแล้วได้อะไร ผมว่าก็เป็นเรื่องของแต่ละคนเขานะ เขาจะติดตามแล้วให้บทเรียนอะไรกับชีวิตเขาก็เรื่องของเขา เราไม่จำเป็นต้องไปคิดแทนเห็นหรือยังว่ามันก็ได้ประโยชน์กันหมดนั่นแหละ ตั้งแต่
ตัวสื่อ คนที่ตกเป็นข่าว ไปจนถึงชาวบ้านร้านช่องที่อยากรู้เรื่องของดารา แถมพวกโฆษณาที่มาลงก็ได้ขายของด้วย สื่อก็ได้ทำมาหากิน แล้วยังไงล่ะ มีอะไรเป็นข้อเสียที่ทำให้นักข่าวบันเทิงต้องเลิกทำข่าวพวกนี้ เชื่อผมเถอะ เราก็จะทำกันต่อไปแบบนี้จนชั่วฟ้าดินสลายนั่นแหละ
ทีนี้ถ้าถามว่า อ้าว! แล้วเราเป็นคนพิพากษาอะไรหรือเปล่า เฮ้ย! ก็ต้องบอกว่า ถ้ามองดูข่าวที่ออกมา มันก็ออกมาตามเนื้อผ้านะคุณ โอเคละ มีนักข่าวบางคนที่สนิทกับฝ่ายนึงมากกว่าอีกฝ่าย ก็อาจจะเอนเอียงเข้าข้างกันไปบ้าง แต่มันไม่มีใครทานกระแสสังคมได้หรอก ยิ่งตอนนี้สื่อมันเยอะจะตายไป
มีตั้งแต่หนังสือพิมพ์ไปจนถึงทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ค แล้วยังพวกนักสืบพันทิปอีกล่ะ ในที่สุดมันก็ต้องนำเสนอข่าวออกมาทั้งสองด้านนั่นแหละ แล้วก็ไอ้ตรงนี้แหละที่ผมว่านักข่าวบันเทิงมันต้องมีคุณสมบัติในการอดทนสูง จะบอกว่าตอแหลก็ว่าได้ ก็แหม! คุณว่าเราชอบดาราทุกคนหรือไง เปล่าเลย! มันก็มีถมไป ไอ้ดารา เหี้-ๆ น่ะ
ผมเคยเจอนะ ไอ้พวกดาราหน้าใหม่ๆ มันนึกว่ามันเจ๋ง มันดังแล้ว แล้วตอนนั้นผมเริ่มทำงานใหม่ๆ มันยังไม่รู้ว่าเราเป็นนักข่าวบันเทิงไง พอมีคนแนะนำให้รู้จัก มันก็เชิดใส่เราเลย เชิดจริงๆ นะ แบบพยักหน้าให้ ไม่ยกมือไหว้ ไม่ยิ้มให้ อายุมันก็น้อยกว่า เราก็นึกในใจว่าช่างแม่- แบบนี้ไม่เจริญหรอก
แต่พอคนแนะนำเห็นบรรยากาศมันเจื่อนๆ เขาก็บอกเพิ่มว่าเราเป็นนักข่าวบันเทิง โอ้โห! แม่-ลุกขึ้นมาไหว้กูเลย อ้าว!
อันนี้จริงๆ นะ ไหว้แบบฝากเนื้อฝากตัว อ่อนน้อมถ่อมตัว
ผิดจากหนึ่งนาทีที่แล้วแบบหน้ามือเป็นหลังตีนไปเลย แต่ตอนนี้ไอ้คนนี้ก็หายไปไหนแล้วไม่รู้ ไม่ได้ผุดได้เกิดหรอก ถ้านิสัยสันดอนเป็นแบบนี้ (หัวเราะ)
แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในวงการบันเทิงมานานๆ ส่วนใหญ่จะไม่เป็นแบบนี้นะ เพราะถ้าเป็นแบบนี้ก็อยู่ไม่ได้นานหรอก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีบ้างน่ะ คนที่เราไม่ชอบ ตามประสาปุถุชนน่ะคุณ ใครจะไปชอบได้ทุกคน อย่างเรารู้ทั้งรู้ว่าอีนี่เป็นเมียน้อยชาวบ้านเขา ทำคนอื่นเขาเจ็บ ผิดศีลธรรมจรรยา ไม่น่าสนับสนุน แต่บอกตรงๆ มันก็ต้องตอแหลตีหน้ากระแซะเข้าไปขอข่าว ขอสัมภาษณ์ แล้วเรื่องที่เราจะเจาะส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันก็ต้องตีซี้กันหน่อย (หัวเราะ) ไปถามเป็นงานเป็นการไม่ได้อะไรหรอก นักข่าวก็เลยต้องไปคอยดักรอไง ตามหน้าโรงถ่ายอะไรพวกนี้ เพื่อให้ได้ข่าวเล็กข่าวน้อยอะไรมาปิดก็ยังดี
Q : ถ้าอย่างนั้น อะไรคือ ‘ศักดิ์ศรี’ ของนักข่าวบันเทิง
A : คุณถามเหมือนว่า นักข่าวบันเทิงคือจำเลยของสังคม เป็นอะไรที่เลวทรามชั่วช้ามาก จริงๆ แล้วนักข่าวบันเทิงก็เป็นคนนะคุณ เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าคุณบอกว่านักข่าวบันเทิงทำไมถึงได้นำเสนอแต่อะไรต่ำๆ ไม่เหมาะสม ไม่จรรโลงสังคม ผมขอเสนออะไรอย่างหนึ่งได้มั้ยครับ เอาอย่างนี้นะ ถ้าพวกคุณทำกันได้ ผมว่าไอ้ความไม่เหมาะสม ไม่จรรโลงอะไรที่ว่านี้ จะต้องหมดไปแน่ๆ
ผมเสนอให้พวกคุณเลิกติดตามข่าวดารากันไปเลยดีมั้ยครับ ไม่ต้องมาอ่าน ไม่ต้องมาติดตาม ไม่ต้องเปิดดู ไม่ต้องสนอกสนใจ เวลาใครส่งคลิปหลุดอะไรมาให้ก็ไม่ต้องดูมัน
ไม่ต้องเปิด ไม่ต้องกระสันอยากจะรู้ว่าใครไปทำอะไรกับใครที่ไหน หนังสือดาราเล่มละยี่สิบห้าบาทพวกนั้นก็ไม่ต้องไปซื้อ ซื้อกันแต่หนังสือวรรณกรรมดีๆ สร้างสรรค์ซีไรต์อะไรที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ต้องมาสนข่าวพาดหัวว่าคลิปคนนั้นหลุด คนนี้ไปทำใครท้อง หรือผัวดาราคนไหนไปมีเมียน้อยที่ไหน เท่านี้แหละ เท่านี้เอง ถ้าพวกคุณทำได้ ผมรับรองว่าจะไม่มีนักข่าวบันเทิงที่พวกคุณไม่ชอบใจหลงเหลืออยู่เลยในประเทศนี้ คุณทำได้มั้ยล่ะ
Q : คุณกำลังจะบอกว่า เพราะมีอุปสงค์ จึงต้องมีอุปทาน ?
A : อ๋อ…แหงสิครับ ไม่งั้นมันจะต้องมาแฉกันทุกเช้าหรือไง แล้วรายการแบบนี้ทำไมถึงอยู่ได้ แถมยังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ตลอดเวลาอีก ยิ่งกว่ารายการเล่าข่าวของคุณสรยุทธอีกนะ แล้วลองดูพวกรายการทอล์กโชว์สิ มีเทปไหนที่มันดังๆ บ้างล่ะ อย่างปีนี้จะมีเทปไหนดังเท่ารายการตีสิบตอนที่คุณวิทวัสสัมภาษณ์แอนนี่อีกมั้ย ไม่มี ต่อให้เป็นเรื่องดีๆ คุณเจ้ยไปได้รางวัลที่เมืองคานส์มาออกมาเล่าประสบการณ์การทำหนัง
ก็ไม่มีใครสนใจมากเท่าเรื่องแอนนี่หรอกคุณ ยอมรับความจริงเรื่องนี้กันบ้างเถอะ จะบอกว่ามันมีอุปสงค์อุปทานก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ สังคมบ้านเรามันเป็นแบบนี้ นักข่าวบันเทิงก็เลยต้องเป็นแบบนี้ จะให้เป็นแบบอื่นไปได้ยังไง
Q : ในทางวารสารศาสตร์ มันมีข่าวอยู่สองแบบ คือข่าวที่คน ‘อยาก’ รู้ กับข่าวที่คน ‘ควร’ รู้ คุณคิดว่าในข่าวบันเทิงไทย สัดส่วนของข่าวสองแบบนี้มันมีสมดุลกันไหม หรือว่าเราพยายามแต่ตอบสนองคนเสพด้วยข่าวที่คนอยากรู้เท่านั้น แต่ไม่ทำข่าวที่คนควรรู้เลย ซึ่งในที่สุด ผลของมันก็จะเหมือนพายเรือในอ่าง เพราะคนเสพข่าวก็จะเป็นผู้ผลิตนักข่าวบันเทิงแบบเดิมๆ และในเวลาเดียวกัน ข่าวที่ออกมาจากนักข่าวบันเทิงก็จะไปผลิตคนเสพข่าวในแบบเดิมๆ
A : บอกตรงๆ ว่า ผมก็เศร้าใจอยู่เหมือนกัน ที่ไม่มีใครไปทำข่าวในแบบที่คุณว่ามา หมายถึงข่าวดีๆ หรือข่าวเชิงนโยบาย ข่าวประเภทต่อต้านการจัดเรตติ้งหนัง หรือข่าวอะไรพวกนี้
ผมเคยไปทำข่าวพวกนี้นะครับ อย่างตอนไปทำข่าวต่อต้านการจัดเรตติ้งหนังน่ะ ปรากฏว่ามีคนไปทำข่าวกันแค่หยิบมือเดียว น้อยมาก แล้วข่าวมันจะออกไปถึงคนดูได้ยังไง
แต่ลองเปรียบเทียบกันดูนะ ถ้ายังจำกันได้ ข่าวดาราแต่งงาน อย่างข่าวนุ่น-วรนุช ขนาดอยู่ในช่วงบ้านเมืองวิกฤตินะ มันยังเป็นข่าวออกมาได้เลย หรือถ้าย้อนไปหน่อย ผมว่าข่าวสมัยทาทา ยัง หมั้นกับเปรม หรือข่าวงานแต่งของภราดร (ศรีชาพันธุ์) กับนาตาลี (เกลโบวา) น่ะ นักข่าวแทบจะยกกันไปทั้งประเทศ แล้วก็ไปแออัดยัดทะนานกันตรงนั้น เหมือนกับเป็นอีเวนท์ระดับชาติกันเลยทีเดียว แต่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะอุปสงค์ไง อันนี้คำที่คุณพูดเองนะ อุปสงค์ของสังคมไทยมันต้องการข่าวที่ ‘กูอยากรู้’ ไม่ใช่ข่าวที่ ‘กูควรรู้’ มันก็เลยได้อะไรแบบนี้ออกมา
แต่ผมเห็นด้วยกับคุณนะว่าข่าวที่ ‘คนดูควรรู้’ นั้น ควรจะมีมากกว่านี้ ตอนนี้ยังมีน้อยเกินไป มีแต่คนทำข่าวตอบสนองตัณหาของผู้ชม หรือเผลอๆ ก็ของตัวนักข่าวบันเทิงเอง แต่ไม่มีใครทำข่าวที่คนดูควรจะรู้กันบ้างเลย ซึ่งถ้าเอากันจริงๆ ผมว่านี่เป็นภาระหน้าที่ของนักข่าวบันเทิงอยู่เหมือนกัน เพียงแต่มันยังไม่มีใครตระหนัก แล้วก็ไม่มีใครเข้ามาจัดการดูแล สงสัยมัวแต่ไปทำข่าวดาราแถลงแย่งผู้ชายกันอยู่ละมั้ง
Q : คุณคิดว่าข่าวที่คน ‘อยาก’ รู้นั้น จริงๆ แล้วนักข่าวอยากรู้เองหรือเปล่า แล้วไปคิดแทนคนดู ว่าถ้าได้รู้ข่าวนี้แล้วจะชอบใจพออกพอใจที่ได้รู้
A : เห็นรู้เข้าก็ซี้ดปากกันทุกรายไปนั่นแหละ (หัวเราะ) ยิ่งข่าวฉาว ข่าวใต้เตียงได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งชอบ ไม่พลาดหรอกคุณ คนก็คนเหมือนกัน มันก็รู้สึกเหมือนๆ กันนั่นแหละว่าข่าวแบบนี้นะ มันแน่ๆ ถ้าได้ออกไป แต่เราก็ต้องดูด้วย ไม่ให้ดาราเขาเดือดร้อน เพราะดาราก็เหมือนกับเป็นแหล่งข่าวของนักข่าวบันเทิงนั่นแหละ นักข่าวต้องดูแลแหล่งข่าวของตัวเองฉันใด
นักข่าวบันเทิงก็ต้องดูแลดารานักแสดงที่ตนดีลด้วยฉันนั้น
แต่มันมักจะไม่ค่อยเป็นอย่างที่ว่านี้น่ะสิ (หัวเราะ)
Q : มันฝังลึกกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ ขององค์กรที่ผลิตข่าวบันเทิงหรือเปล่าว่าจะต้องทำข่าวแบบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่อง ของนักข่าวบันเทิงเฉพาะตัว เป็นคนคนไป
A : ก็อาจเป็นได้ มันเป็นการแข่งขันกันด้วยไง คือคนที่จะเป็นนักข่าวได้น่ะ อย่างน้อยก็ต้องมีใจรัก ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่างของการเป็นนักข่าว เช่น เกาะติด จิกไม่ปล่อย ขี้สงสัย เข้ากับคนได้ง่าย มีมนุษยสัมพันธ์ดี อะไรพวกนี้ ผมว่าคุณสมบัติพวกนี้มันดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี แต่พอต้องจิกกัดเกาะติด มันก็เลยต้องแข่งขันกันด้วย พอต้องแข่งขันกัน ก็โดนหล่อหลอมออกมาจากการแข่งขันนี่แหละ เฮ้ย! เล่มนั้นได้ข่าวแบบนั้นมา เล่มฉันทำไมไม่ได้ พอไม่ได้ก็ต้องไปตาม ในที่สุด ข่าวบันเทิงมันก็เลยเหมือนๆ กันไปหมดคือสารภาพตามตรงนะว่า ผมเองก็เห็นปัญหาของวงการบันเทิงเหมือนกัน ว่ามันขาดอะไรบ้าง มันขาดคนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์ ขาดคนที่จะมาคอยควบคุมดูแลกันอย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นเรื่องเป็นราว แต่ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เหมือนที่เราพูดกันมาทั้งหมดนั่นแหละ สังคมมันต้องการ มันก็เลยยังอยู่ได้ในรูปแบบนี้
Q : แปลว่าสังคมไทยไม่ได้ต้องการข่าวบันเทิงที่มีคุณภาพ แต่สนใจใคร่รู้เรื่องใต้สะดือตลอดมา ?
A : และอาจจะตลอดไป (หัวเราะ) แล้วเราจะไปทำอะไรได้ คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง รัฐบาลยังไม่เห็นทำอะไร
Q : คุณคิดว่าบทบาทของรัฐควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยวแค่ไหน อย่างกระทรวงวัฒนธรรมเป็นความหวังได้ไหม
A : โอ๊ย! (เสียงดัง) ไปดูแลตัวเองให้รอดกันก่อนเถอะครับ
อันนี้ผมอ่านมาจากไหนสักแห่ง เขาบอกว่ากระทรวงวัฒนธรรมน่ะ ยังไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เลย อ่านแล้วผมก็เลยคลิก ว่าเออ…ไอ้เรื่องที่คนไทยชอบเสพข่าวบันเทิง…ข่าวบันเทิงนี่เป็นข่าวอันดับหนึ่งเลยนะครับจะบอกให้ ข่าวอื่นๆ ชิดซ้ายหมด ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ หรือข่าวกีฬาอะไรก็ตาม สู้ข่าวบันเทิงไม่ได้หรอก คือที่เราชอบข่าวบันเทิงกันมากขนาดนี้น่ะ ผมว่ามันเป็นเรื่อง ‘วัฒนธรรมไทย’ ด้วยนะคุณ คือเราชอบติดตามเรื่องของคนบันเทิง อยากรู้เรื่องแบบนี้คุณลองนึกย้อนกลับไปในอดีตสิ ถ้าบ้านคุณอยู่ในตลาด อยู่บ้านนอกน่ะ ข่าวคราวที่อยากรู้คืออะไร ก็คือเรื่องที่ว่าไอ้นั่นกับอีนี่มันมีอะไรกันหรือยัง อีสาวนั่นมันเอาผัวเมื่อไหร่ ใครหนีตามใครไป ยิ่งถ้าเป็นพวกคนเด่นๆ ดังๆ ของหมู่บ้านนะ ยิ่งเป็นที่สนใจ ใครหนีตามใคร ใครกระโดดน้ำตายเพราะช้ำรัก มันเรื่องพื้นบ้าน เรื่องวัฒนธรรมทั้งนั้นแหละ มันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเรา แล้วอยู่ๆ พอกลายมาเป็นสื่อโทรทัศน์ เป็นหนัง เป็นวงการบันเทิง คนก็ยังอยากรู้เรื่องแบบเดิมๆ นี่แหละ แต่ไอ้เรื่องใครจะเล่นหนังแบบไหน หรือแม้แต่เรื่องได้รางวี่รางวัลอะไรมาน่ะ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องแบบไทยๆ นะ มันเป็นเรื่องแบบฝรั่ง เป็นแบบตะวันตกทั้งเพ
สมัยก่อนมีที่ไหนที่คนไทยจะให้รางวัล หมู่บ้านนี้มีแม่เพลง พ่อเพลงดีเด่นอะไรพวกนี้ ไม่มี้ (เสียงสูง) ใครเล่นดีเล่นเก่งก็ได้รับความนิยมกันไป แต่ไม่มีใครจะไปมอบรางวัล หรือจัดเวทีชิงรางวัลอะไรกันหรอก ไอ้ของพวกนี้มันมาทีหลัง อย่างพวกนักร้องลูกทุ่งที่ร้องประกวดกันตามเวทีต่างๆ น่ะ อันนี้มันมาทีหลัง มันลอกเลียนวัฒนธรรมต่างชาติมา แต่ของเราไม่มี ของเราก็เป็นแค่ข่าวบันเทิงแบบพื้นบ้าน ตามประสาคนที่อยากรู้…พูดตรงๆ ก็สอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน นั่นแหละวัฒน-ธรรมไทยแท้แต่โบราณ ของจริง แล้วจะให้เราไปทำข่าวอย่างอื่นได้ยังไง
แต่พูดตรงๆ บางทีผมก็อึดอัดใจ อาจเป็นเพราะเราเป็นผู้ชายด้วยมั้ง คือบางทีก็ได้ยินนักข่าวบันเทิงด้วยกันเองนี่แหละ เวลาถามดารานักแสดงแล้ว บอกตรงๆ นะรับไม่ค่อยได้เหมือนกัน คือมันอาจจะแข่งขันกันสูงหรือยังไงไม่รู้ เลยทำให้กล้าถามออกไปชนิดที่ถ้าผมเป็นคนถูกถามก็คงอึ้ง แล้วก็คงโกรธเหมือนกัน หรือบางทีมันก็เหมือนกับนักข่าวคนนั้นอาจจะยั่วให้ดาราที่ถูกถามโกรธ แล้วตบะแตกอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าบางเรื่องมันก็เป็นข่าวเชิงลบ เป็นเรื่องไม่ดี คือถ้าพูดออกมาดาราก็เสียแน่ๆ เขาก็เลือกที่จะไม่พูด แต่ก็ยังถามกันเซ้าซี้ก็มี ซึ่งบางทีดาราก็เกรงใจ ก็ต้องตอบ
Q : ทำไมดารานักแสดงต้อง ‘เกรงใจ’ นักข่าวถึงขนาดนั้น
A : (นิ่งคิด) เออ…อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าคิดอยู่ เพราะผมเห็นพวกนักข่าวบันเทิงบางคน คือต้องออกตัวก่อนว่าไม่ใช่ผมนะ ผมไม่เคยคิดอะไรแบบนี้เลย ให้ตายดิ้น แต่มันมีนักข่าวหลายคน ที่คิดเหมือนกับว่า กูคือพระเจ้า กูคือผู้สร้างมึงขึ้นมา โดยเฉพาะ พวกคนที่อยู่ในวงการข่าวบันเทิงมานานๆ ประมาณว่าเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของวงการอะไรอย่างนี้แหละ คนพวกนี้นะแทบจะชี้เป็นชี้ตายได้เลย ไม่เชื่อก็ดูข่าวที่มีพวกเจ้าพ่อเจ้าแม่วงการข่าวบันเทิงเขาเป็นคนจัดสิ แค่ยกหูหรือแค่กระดิกนิ้วเท่านั้นแหละ ดาราจากทุกค่าย ทุกสารทิศก็แห่กันไปหมด เหมือนเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเหมือนกันนะ (หัวเราะ)
Q : แต่ถ้า GM จัดงาน นักร้องนักแสดงจากหลายค่ายก็ยินดีมาเหมือนกัน ทั้งที่เราไม่ใช่เจ้าพ่อเจ้าแม่วงการบันเทิงอะไร
A : อันนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ก็คุณเป็นสื่อ คนที่ขึ้นป่งขึ้นปกอะไรเขาก็อยากมาร่วมด้วยกันอยู่แล้ว แล้วคุณก็ลงให้เขาดีๆ ไม่ได้ทำอะไรให้เขาเสียหาย แต่ไอ้ที่ผมว่าน่ะ บางทีดาราก็ไปมีข่าวเสียหายอยู่ในสื่อของเจ้าพ่อเจ้าแม่นั่น แต่เขาก็ยังต้องมาร่วมงาน ประมาณว่าหน้าชื่นอกตรม แต่งตัวเสียสวยมาเชียว แล้วบางทีก็ทุเรศมาก อันนี้ผมบอกได้เลยว่าทุเรศ คือมาถูกถ่ายรูปประเภทชอนไชไปเห็นกางเกงในหรือนั่งโป๊ๆ อะไรแบบนั้นน่ะ ที่ว่ามานี่ไม่ใช่พวกดาราที่ตั้งใจจงใจจะใส่ชุดโป๊ๆ มาสร้างข่าวนะคุณ
แต่เคยเห็นมั้ย หนังสือบันเทิงบางเล่มน่ะ ชอบมากถ้าได้รูปอุบาทว์ๆ ของดาราไปลง
ไม่ว่าจะเป็นรูปตอนอ้วน รูปตอนนั่งโป๊โดยไม่ได้ตั้งใจอะไรแบบนี้ แต่ดาราพวกนี้ก็ยังยอมนะ เพราะคิดว่าน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่พวกนักข่าวบางคนสิ คิดมากกว่านั้น คือคิดว่ามีบุญคุณกับนักแสดงกับดารา เพราะเป็นคนทำให้ดัง มีชื่อเสียงเงินทองขึ้นมาได้ก็เพราะนักข่าว นักข่าวบางคนก็เลยทำตัวเบ่งสุดๆ คับติ้วไปหมด ผมเห็นแล้วยังอึดอัดแทน (หัวเราะ) นึกว่าตัวเองวิเศษกว่าคนอื่นที่สำคัญก็คือ ไปละเมิดนักแสดง คือผมใช้คำว่าละเมิดได้เลยนะ ทั้งเรื่องคำถามเวลาสัมภาษณ์ที่บางทีผมยังต้องหันไปมองหน้าคนถามเลยว่ามันถ่มคำถามแบบนั้นออกมาได้ยังไง
แต่นักข่าวพวกนี้คิดว่าตัวเองมีสิทธิขุดคุ้ยทุกเรื่องของดาราออกมาตีแผ่ บอกว่าดาราเป็นบุคคลสาธารณะ ทำให้ดังได้ก็ทำให้ดับได้ ไอ้แบบนี้แหละที่ผมไม่ชอบ
Q : เคยเบื่อบ้างไหมที่ต้องทำแต่ข่าวบันเทิงแบบนี้
A : ก็มีนะ โดยเฉพาะเวลาไปเจอพวกนักข่าววิเศษพวกนี้ แต่ก็จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นงาน แต่มันเป็นสิ่งที่ประชาชนเขาอยากรู้อยู่ ณ เวลานั้นๆ เราก็มีจิตวิญญาณนักข่าวเหมือนกับนักข่าวสายอื่นเหมือนกัน เหมือนนักข่าวสงครามอะไรพวกนี้ด้วย เพียงแต่ก็อย่างที่บอก ต้องคอยดูว่าการนำเสนอจะทำยังไง จะมีท่าทียังไงกับแต่ละข่าวมากกว่า
Q : คุณคิดอย่างไรกับนิตยสารบันเทิงที่มักจะพาดหัว แรงๆ บางครั้งก็เข้าข่ายหยาบคายหรือละเมิดสิทธิของดารานักแสดงด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน หนังสือเหล่านี้ก็ขายดี
A : พวกเต้าหลุด หวอโผล่ อะไรแบบนี้เหรอ (หัวเราะ) ก็ไม่คิดยังไง คิดเหมือนที่ว่ามาแล้ว ว่าถ้าตราบใดที่มันมีคนซื้อ ก็จะมีคนทำออกมาขายอยู่เสมอ แล้วคุณดูสิ หนังสือพวกนี้นะ บางทีไม่ได้มีแต่ข่าวที่นักข่าวเป็นคนทำนะคุณ เขาให้ผู้อ่าน
นั่นแหละเป็นปาปาราซซี่ เวลาไปเดินห้าง ไปกินข้าว หรือไปเที่ยวที่ไหน ถ้าเห็นดาราหรือคนดังๆ นะ แอบถ่าย เก็บรูปมาเลย ใครไปไหนกับใคร โดยเฉพาะถ้าขึ้นคอนโดฯกับใครนี่นะ บอกได้เลยว่าฮือฮา แล้วสามารถส่งไปลงนิตยสารพวกนี้ได้ด้วย เรียกว่าเป็นปาปาราซซี่กันได้ทุกคน ถ้ารูปที่ถ่ายได้น่ะมันเด็ดจริง แต่เรื่องจริงเป็นยังไงไม่รู้ ก็แล้วแต่ มันก็มีนิตยสารข่าวบันเทิงที่เป็นแบบนี้อยู่ด้วย
แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า นิตยสารหรือรายการข่าวบันเทิงหลายที่เขาก็พยายามปรับปรุงนะ พยายามทำให้ดีขึ้น ไม่เต้าข่าว ไม่เล่นเรื่องข่าวเซ็กซ์ๆ อยู่อย่างเดียว โอเคว่าเรื่องที่อยู่ในเล่มอาจจะไม่ได้สาระจ๋า แต่ก็ไม่ได้มีแต่เรื่องบ้าๆ บอๆ ฉาวๆ เท่านั้น อาจจะมีไปสัมภาษณ์ดาราเรื่องหนังสือที่อ่าน การออกกำลังกาย ร้านอาหารที่ชอบไป อะไรพวกนี้ แต่ก็อาจจะมีอยู่บ้างที่สัมภาษณ์เรื่องผู้หญิงผู้ชายในสเปค เรื่องแฟน แต่โดยรวมๆ ผมว่ามันก็ดีขึ้นนะ
Q : แต่หลายคนก็วิจารณ์เรื่องโฆษณาแบบคลาสสิ-ฟายด์ในส่วนหลังของนิตยสารเหล่านี้ ว่ามีการโฆษณาขายบริการทางเพศหรือการโหลดคลิปทางเพศ อย่างโจ๋งครึ่ม
A : อ้อ! อันนี้จริง ยอมรับว่ามี แล้วโดยส่วนตัวผมก็ไม่เห็นด้วย คิดว่าไม่มีใครเห็นด้วย นอกจาก คนที่ลงโฆษณากับเจ้าของนิตยสารที่รับเงินมา แต่ผมเข้าใจว่ามันคงมีการเลี่ยงกฎหมายอะไรกันบางอย่าง ไม่งั้นคงต้องถูกจับกันไปแล้ว นี่ยังมีอยู่เต็มไปหมด มีแทบทุกเล่มก็ว่าได้ละมั้ง
ซึ่งผมว่าเสื่อม แต่มันคงเป็นช่องทางทำรายได้ให้หนังสือ ก็เลยยังอยู่ได้ แต่เรื่องนี้ผมก็ไม่อยากวิจารณ์มากนักหรอก เดี๋ยวเข้าตัว (หัวเราะ) เดี๋ยวถูกฟ้องพูดถึงเรื่องถูกฟ้อง คุณไม่ถามบ้างเหรอว่านักข่าวบันเทิงถูกฟ้องร้องกันมากแค่ไหน ไม่ใช่ว่าพวกดาราเขาจะงอมืองอเท้ายอมให้นักข่าวเขียนอะไรเขาก็ได้อย่างเดียวนะ ไอ้ที่ฟ้องร้องกันก็เยอะ ซึ่งผมก็ต้องย้อนกลับไปพูดเหมือนเดิมนั่นแหละ ว่าเพราะมันแข่งกันขายข่าว หลายเจ้าก็เลยยอมทำผิดทั้งกฎหมายทั้งจริยธรรม นำเสนอข่าวประเภทที่ไปละเมิดเขา คือจริงๆ ก็รู้กันอยู่แก่ใจทั้งสองข้างนะครับ คือฝ่ายดารานักแสดงอะไรก็ไม่ได้ดีเด่นักหรอก แต่ต้องฟ้องเพื่อป้องกันตัวเอง ฟ้องเอาให้มันเป็นข่าวไว้ก่อน จริงๆ อาจจะเป็นอย่างในข่าวก็ได้ แต่ก็ฟ้องเพื่อป่าวประกาศว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เสร็จแล้วก็ไปสมยอมกันทีหลังอะไรแบบนี้
แต่มันก็มีเหมือนกัน ที่ข่าวผิด หรือจริงๆ จะบอกให้ว่า
ตัวนักข่าวเล็กๆ น่ะ ไม่ได้ผิดหรอก แต่พวกบรรณาธิการข่าวเอาไปใส่สีตีไข่ เอาไปพาดหัวเสียๆ หายๆ ดาราเขาก็เลยฟ้องเอา ไอ้แบบนั้นน่ะถ้าเกิดขึ้น ก็ต้องมีการลงขอโทษ หรือไม่ก็ติดต่อผู้ใหญ่ในวงการให้มาช่วยไกล่เกลี่ยให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้นั่นแหละ ทำไมเหรอครับ ก็คนในวงการบันเทิงมันถือคติน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าไงคุณ ถ้าสื่อขอไปทางค่าย ค่ายก็ต้องบอกให้ดารานักร้องในสังกัดตัวเองยอมหยวนๆ กันไป เพราะว่ายังไงๆ ค่ายก็ยังหวังอยากให้สื่อนั้นมาพีอาร์ตัวเองอยู่ดี คืออาจจะไม่ใช่แค่นักร้องดาราคนนี้ แต่หมายถึงคนอื่นๆ ต่อไปในอนาคตด้วย
แต่ถ้าดาราไม่ยอมนะ ถึงเป็นเรื่องขนาดไหน จะบอกให้ว่าสื่อก็ยังได้เปรียบอยู่ดี อ้าว! ก็ขายข่าวต่อได้ไงคุณ เพราะว่ายิ่งฟ้องก็ยิ่งเป็นข่าว คราวนี้มันก็ยิ่งขายข่าวได้ แล้วเรื่องที่ฟ้องกันน่ะ อย่างมากก็แค่หมิ่นประมาท เป็นลหุโทษ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร สื่อบันเทิงส่วนใหญ่เลยถือคติว่าถึงฟ้องกันไปจนถึงที่สุดแค่ไหน ก็ยังคุ้ม คุ้มกับยอดขายที่ขายได้ มันเป็นกันแบบนี้ เป็นวงจรอุบาทว์หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่บอกตรงๆ ว่ามันก็มีส่วนทำลายมาตรฐานวิชาชีพนักข่าวบันเทิงอยู่เหมือนกัน แต่ถามว่ามีใครสนมั้ย (หัวเราะ) ไม่มีหรอก มีแต่คนสนว่าได้เงินแค่ไหน ขายข่าวได้มากแค่ไหนเท่านั้นแหละ
Q : ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวบันเทิงกับประชา-สัมพันธ์เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวกับประชาสัมพันธ์สายอื่นไหม
A : ไอ้นี่มันก็น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าอีกเหมือนกัน เพราะจะว่าไป พีอาร์แวดวงบันเทิงเขาก็ทำงานหนักนะ แต่บางทีมันก็มีอะไรพิลึกๆ ไม่บอกแล้วกันว่าเป็นพีอาร์ค่ายไหนหรือนักร้องคนไหน แต่มันก็มีประเภทเวลาที่นักร้องคนหนึ่ง สมมุติว่าชื่อเอก็แล้วกัน ถึงเวลาหนึ่ง เอไม่ค่อยเป็นข่าว ก็จะไม่ค่อยดัง ไม่ค่อยมีงาน พีอาร์ก็จะเอาแล้ว โทรฯมาหาแล้ว บอกว่าขอปรึกษาหน่อยว่าช่วงนี้น้องไม่ค่อยมีงาน จะทำยังไงดี อยากให้เราเล่นข่าวเขาให้หน่อย ไม่งั้นกระแสเงียบ ถามว่าอ้าว! แล้วจะให้เล่นข่าวอะไรล่ะ ก็ในเมื่องานมันไม่มี จะไปประชาสัมพันธ์ว่ามีงานไหนก็ไม่ได้พีอาร์บางรายนะ จะบอกให้ ถึงขั้นบอกให้เล่นข่าวด้านลบกันเลยก็มี คือสมัยนี้น่ะ ไม่ว่าจะเป็นข่าวลบข่าวบวกข่าวฉาวข่าวดีอะไร ขอให้เป็นข่าวเหอะ เอาหมด ทั้งพีอาร์ทั้งนักร้องดารานั่นแหละ เชื่อมั้ยว่าบางคนไม่มีข่าว ก็สร้างกระแส ปล่อยคลิปตัวเองออกมาให้คนฮือฮา เดากันเล่นๆ ว่าใช่มั้ยหรือว่าไม่ใช่ แต่พวกนี้ฉลาด คือไม่ได้ทำให้เห็นชัดๆ แต่เอาให้พอคล้ายๆ ดูเหมือนว่าจะใช่หรือไม่ใช่ แล้วก็ปล่อยกันเอง แค่นี้ก็ดังแล้ว เป็นข่าว เรียกว่าชิงพื้นที่สื่อเข้ามาได้ คืออะไรก็ได้ ขอให้แรงๆ เอาไว้ก่อน ซึ่งมันก็ทุเรศพอสมควร คือจะมาบอกว่านักข่าวบันเทิงไร้สมองน่ะ บางทีก็ต้องบอกด้วยว่าศิลปินกับพีอาร์ ก็ไร้สมองด้วยเหมือนกัน ถ้ามาเจอกรณีแบบนี้
แหม! ยิ่งเมาท์ยิ่งมัน จะบอกว่าเรื่องศิลปินไร้สมองนี่มีเป็นกุรุสเลยนะ ถ้าจะให้เล่า เอาเป็นกระสายสักเรื่องก็ได้ แต่ไม่บอกชื่อก็แล้วกัน คืออย่างบางคนที่เห็นภาพภายนอกสวยหรูดูดีน่ะ บางคนนี่โปรไฟล์สุดยอดเลยนะ ดูเหมือนเป็นลูกกตัญญูหรืออะไรทำนองนั้นไปเลย แต่ขอบอกว่าพวกนี้บางคนก็ใส่หน้ากาก กันเก่งมากๆ บางคนเขาเรียกว่าเคลือบคาราเมล คือสร้างภาพอันสวยงามให้นักข่าวบันเทิงได้นำไปเสนอสู่สายตาผู้ชม คืออาจจะเป็นเรื่องแบบนี้ด้วยมั้ง ที่นักข่าวบันเทิงไม่ค่อยแน่ใจเวลาจะนำเสนอเรื่องดีๆ เพราะนำเสนอไปหลายทีแล้ว เบื้องหลัง มันเน่าเฟะทุกที
ทีนี้ถามว่าแล้วรู้ได้ไงว่านักร้องเคลือบคาราเมลที่ว่าน่ะ เบื้องหลังมันแย่ อ้าว! ก็นักข่าวนี่ครับ เวลาต้องไปออกคอนเสิร์ต ออกงานอะไร นักข่าวก็จะไปรวมตัวกัน ทีนี้ก็เลยเกิดการแลกเปลี่ยนประเด็นแซบๆ จะบอกว่าเป็นการเมาท์ก็ไม่ได้เสียทีเดียวนะ ถ้าตามหลักการเขียนข่าวเขาบอกว่ามันเป็น การครอสเช็กกันมากกว่า คือต้องตรวจสอบข้อมูลกัน เพื่อให้ได้ข่าวที่มีมูล แล้วมันก็มีจริงๆ อย่างนักร้องที่ว่าน่ะ ถูกปั้นมาจากทางค่ายมากมาย ไม่ได้ปั้นแค่เรื่องทำศัลยกรรมหน้าอะไรแบบนี้นะ แต่ถึงขั้นสร้างประวัติชีวิตใหม่กันหมดเลยทั้งชีวิต มีการส่งไปทำงานบางอย่าง เช่น ไปเป็นพิธีกรที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศก่อน จะได้ไปฝึกความรู้รอบตัว หรือว่าสร้างอาชีพเดิมก่อนเข้าวงการให้ อะไรแบบนี้
แล้วใครที่บอกว่ารักเรียน จะกลับไปเรียน ไม่อยากอยู่ในวงการเลย หลายคนก็สตรอเบอร์รี่นะครับ เพราะมีนักข่าวเคยได้ยินมากับหู เรื่องที่ว่าถ้าไม่เรียนหนังสือต่อแล้วต่อไปจะทำอะไร ศิลปินก็ตอบกลับมาว่า จะไปเรียนทำไม อยู่อย่างนี้ก็มีกินมีใช้แล้ว ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ซึ่งมันก็สะท้อนความคิดของศิลปินไทยเหมือนกัน อย่ามาหาว่านักข่าวบันเทิงมันห่วยอยู่อย่างเดียวเลยครับ ถ้าจะบอกว่าห่วย มันก็ห่วยกันหมดนั่นแหละ
Q : คุณคิดอย่างไรกับการพูดกันว่า ดาราเป็นบุคคลสาธารณะ การขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่นักข่าวบันเทิงทำได้อย่างชอบธรรม
A : ในความคิดของผม ผมว่ามันก็จริง แต่จริงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าดาราคงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยเรื่องส่วนตัวทุกเรื่องหรอก แต่ว่าก็ไม่ใช่จะปิดมันไปหมด มันก็มีบางคนที่ไม่ยอมตอบคำถามนักข่าวเลย อันนี้ก็คงรู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นใคร มีอยู่ไม่กี่คนหรอก เรียกว่าหวงแหนเรื่องส่วนตัวมากๆ จะบอก ว่ายิ่งเก็บ คนก็ยิ่งอยากรู้ แต่ถ้าต่อต้านมากๆ เผลอๆ ก็อาจโดนนักข่าวบันเทิงแบนไปอีก ทำให้งานไม่รุ่ง แต่บางคนเขาก็
ไม่แคร์นะ โดนนักข่าวแบนก็แบนไป แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า นักข่าวบันเทิงควรจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับงานและสังคม แต่ไม่ใช่ไปล่วงล้ำเรื่องส่วนตัวของเขา ยกเว้นแต่ว่าเรื่องส่วนตัวนั้นมันจะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่ไม่ดีอะไรขึ้นมา
Q : แสดงว่าดารานักแสดงควรต้องทำตัวให้เป็นโรลโมเดลต่อสังคมด้วยหรือ
A : (นิ่งคิด) อันนี้ไม่แน่ใจ คิดว่าไม่ทุกคน คือคุณสังเกตไหม บางคนที่ไม่ทำตัวเป็นโรลโมเดลก็มี อย่างนักร้องบางคนก็เล่นตลก ใช้คำหยาบ หรือพูดเรื่องเพศบนเวทีอะไรแบบนี้ เป็นนักร้องผู้หญิงด้วย แบบนี้จะถือว่าเป็นโรลโมเดลได้มั้ย ก็คงไม่ได้ แต่ก็อาจจะเป็นโรลโมเดลของคนบางกลุ่ม อย่างนักร้องหญิงที่ว่าก็อาจจะเป็นโรลโมเดลของกลุ่มเกย์อะไรแบบนี้ที่สนุกๆ กันไป แต่จะให้มาเป็นโรลโมเดลของเด็กและเยาวชนก็คงไม่ได้
แต่ทีนี้มันมีบางคนที่อยากจะพรีเซนต์ตัวเองเหลือเกินว่าเป็นคนดีมากๆ เช่น ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
ซึ่งถ้าหากคนมาจับได้ทีหลังว่าไปเมาแอ๋อยู่ในผับบาร์หรือขับรถทั้งที่เมา ตรวจแอลกอฮอล์แล้วไม่ผ่าน อะไรพวกนี้ คนพวกนี้
ก็น่าจะต้องพิจารณาตัวเองอยู่เหมือนกัน คือน่าจะถูกวิจารณ์ได้ เพราะไปทำตัวให้เป็นโรลโมเดลแล้วนี่ แต่บางคนเขาไม่ได้ทำตัวให้เป็นคนดีจ๋าแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น แบบนี้จะไปขุดคุ้ยอะไรเขาล่ะ ก็ควรจะวิจารณ์กันแต่ในขอบเขตเรื่องงาน
Q : แล้วคิดอย่างไรที่นักข่าวบันเทิงมีคู่แข่งอย่างนักสืบพันทิป ที่ดูเหมือนจะทำหน้าที่ในการหาข่าวเชิง Inves-tigative ได้ดีเสียยิ่งกว่านักข่าวบันเทิงเสียอีก ทั้งยังไม่ได้ปลุกเร้าหรือกระตุ้นให้ผู้รับข้อมูลรีบวิ่งเข้าไปอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนขาวกับดำ แต่ให้อยู่กับเหตุและผล ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบทบาทที่จรรโลงสังคมมากกว่าภาพลักษณ์ ของนักข่าวบันเทิงโดยทั่วไป
A : ผมก็เข้าไปอ่านนะ (ยิ้ม) บางทีก็ได้ประเด็นเอามาเป็นข่าวเหมือนกัน แต่จะบอกว่ามันคนละอย่างกันน่ะ อย่างข่าวที่จะปรากฏในทีวีหรือหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารบันเทิง มันก็ต้องเป็นเรื่องที่ใหญ่หน่อย แต่อย่างในพันทิป บางทีเขาก็จับผิดได้จริง
แต่มันเป็นประเด็นเล็ก ประเด็นรอง คือมันอยู่ในนั้นน่ะได้ คนอ่านก็รับรู้ได้ แต่มันหยิบขึ้นมาเป็นข่าวไม่ได้ เพราะเรื่องมันเล็กเกินไปยกตัวอย่างข่าวนาธานก็แล้วกัน อย่างในตอนแรกๆ ข่าวของนาธานก็ไม่มีสื่อเล่นนะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ หลายๆ เรื่อง กว่าที่จะขึ้นมาถึงสื่อใหญ่ๆ ได้ ก็ต้องใช้เวลาขุดคุ้ยให้เห็นว่า เฮ้ย! มันมีเรื่องเล็กๆ หลายๆ เรื่องมารวมกันแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียวนะ คราวนี้นักข่าวบันเทิงหรือสื่อใหญ่ๆ ถึงจะหยิบขึ้นมาเล่นได้ จะบอกว่านักข่าวบันเทิงไม่ทำงานแนว Investi-gative ก็แหม! มันก็ไม่ยุติธรรมกับเรานะคุณ เพราะว่าลึกๆ แล้วเราก็ทำ เพียงแต่มันก็เหมือนที่ว่าไปเมื่อกี้ คือประเด็นที่เราได้มามันยังเป็นประเด็นเล็กๆ อยู่
เราก็ไม่ได้รายงาน อย่างที่บอกว่านักข่าวเราก็มานั่งคุยกันอยู่ตลอดเวลาเจอหน้ากัน เช็กข่าวกันตลอดว่า เฮ้ย! เรื่องนั้นมันจริงมั้ยวะ เรื่องนี้เป็นยังไง แต่ถ้ามันยังไม่เปรี้ยง ไม่ใหญ่พอ
มันก็ออกมาเป็นข่าวไม่ได้ แต่ในเว็บบอร์ดน่ะ เขาเห็นอะไรผิดสังเกตนิดหนึ่ง เขาก็เอามาลงได้แล้ว แล้วมันก็เลยเหมือนกับว่า เอ๊ะ! ทำไมนักสืบพันทิปทำงาน แต่ทำไมนักข่าวบันเทิงไม่ทำงานวะ อะไรแบบนี้
Q : มีคนเคยบอกว่า คนในวงการบันเทิงและนักข่าวบันเทิงนั้น รับเอาบทบาทแบบละครหลังข่าวมา ‘จับ’ กับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ต้องมีนางเอกกับนางอิจฉา พระเอกกับผู้ร้าย หรือขาวกับดำ ฝ่ายดีกับฝ่ายเลวอยู่เสมอ คุณคิดว่าอย่างไร
A : ผมก็ไม่แน่ใจ (นิ่งคิด) แต่ว่าอะไรๆ ในสังคมไทยมันก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่เหรอครับ ก็อย่างเรื่องการเมือง จริงๆ ผมก็ไม่อยากพูด แต่คุณถามขึ้นมา มันก็เห็นๆ กันอยู่เหมือนกันว่าต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตัวเองเป็นพระเอกนางเอกกันหมด อีกข้างเป็นผู้ร้าย มันก็เป็นแบบนี้มาตลอดไม่ใช่เหรอ เมืองไทยน่ะ แล้ววงการบันเทิงมันอยู่กับพระเอกนางเอกจริงๆ มันก็ต้องหาสิ ว่าใครดีใครร้าย เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะ
Q : แต่มันก็ส่งผลให้คนในสังคมไม่ค่อยคิดด้วยเหตุด้วยผล แต่เลือกกระโจนเข้าข้างใดข้างหนึ่งไปก่อน ทำให้เกิดฝักฝ่ายขึ้นมาทั้งที่บางเรื่องก็ไม่จำเป็น อย่างกรณีฟิล์มกับแอนนี่ ที่ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงลึกๆ แต่เราจะเห็นกองเชียร์ ของแต่ละฝ่ายได้ชัดเจน
A : แล้วบางคนก็ต้องหน้าม้านในตอนหลัง (หัวเราะ) คือถ้ามองแบบที่คุณว่ามันก็เหมือนจะอันตรายนะ แต่มันก็เป็นยังงี้กันมาตลอดนั่นแหละ ดูเหมือนเราจะเป็นสังคมขาว-ดำ ที่ต้องหาพระเอกผู้ร้าย นางเอกนางอิจฉากันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ดี ทำให้นักข่าวบันเทิงอย่างผมมีงานทำ (หัวเราะ)
Q : คุณมีอะไรจะฝากถึงคนทำงานที่เป็นนักข่าวบันเทิงร่วมอาชีพบ้างไหม ว่าควรต้องปรับตัวอย่างไร หรือควรมีวิธีการทำงานอย่างไรเพื่อให้วงการข่าวบันเทิงมีทิศทางที่ดีขึ้น
A : ผมว่าตอนนี้นักข่าวบันเทิงทำข่าวเพื่อขายกันเยอะมาก เลยต้องมีเรื่องใต้เตียง ในมุ้ง คลิปฉาว อะไรกันเยอะแยะ ทั้งฉาวทั้งโฉ่อะไรพวกนี้ ซึ่งสำหรับผม หลายครั้งผมก็เบื่อการไปจิกกัดเกาะติดข่าวพวกนี้อยู่เหมือนกัน และถึงเราจะคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องรายงานเพื่อไม่ให้ตกข่าว แต่นักข่าวบันเทิงเองก็ควรต้องปรับตัว คือต้องหันมาเปลี่ยนที่ตัวเองก่อนด้วยเหมือนกัน คืออย่างนักข่าวบันเทิงกับนักข่าวศิลปวัฒนธรรม ที่ผมบอกว่ามันแยกกัน มันไม่เหมือนกันน่ะ บางทีก็ต้องทำให้มันเข้ามาหากันด้วย เช่น ลองหาแง่มุมทำข่าวบันเทิงแบบอื่นๆ ด้วยบ้างดีไหม ทำให้มันเป็นข่าวที่สร้างสรรค์มากขึ้น หรือว่าสนใจข่าวในเชิงลึก หรือข่าวที่มีประโยชน์จริงๆ ส่งผลต่อประชาชนจริงๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับ เรื่องบันเทิง หรืออะไรอย่างนี้
ที่สำคัญนะครับ นักข่าวต้อง ‘ทำการบ้าน’ ให้มากขึ้นด้วย อันนี้จริงๆ ผมว่าไม่ใช่แค่นักข่าวบันเทิง แต่รวมถึงนักข่าวอื่นๆ ด้วย เพราะถ้าทำการบ้านมากขึ้น มันก็จะทำให้เจาะประเด็นได้มากขึ้น เป็นประเด็นที่คนอื่นเขาไม่เล่นกัน แล้วก็อาจจะมีประโยชน์ เช่น ถามเรื่องคอนเซ็ปต์งานบ้าง ทำไมถึงทำงานออกมาอย่างนี้ อย่างพวกนักแสดง เห็นไปเรียนการแสดงกับหม่อมน้อย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) กันทุกคน แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่เห็นมีใครถามเลยว่า หม่อมน้อยสอนอะไรมาบ้าง (หัวเราะ) ผมเองก็ไม่เคยถาม เออเนอะ มันก็เลยดูแย่ๆ เหมือนกัน มันเหมือนถูกหล่อหลอมมาให้ถามแต่เรื่องพรรค์นั้น
“ไม่มีมูลหมามันไม่ขี้หรอก มันก็ต้องมีเชื้อไฟบ้าง มันถึงจะมีควัน แล้วพูดก็พูดเถอะ กี่เรื่องแล้วที่ลือๆ กัน แล้วตอนหลังมันฉาวออกมาเป็นเรื่องจริง จะบอกให้ เรื่องที่ลือๆ กันน่ะ เห็นมั้ยสรุปออกมาก็จริงทุกที”
“สื่อเป็นฝ่ายที่ใช้คนดังเพื่อทำข่าว หรือว่าคนดังที่เป็นข่าวใช้สื่อเพื่อทำสงครามกันเอง ผมว่ามันก็ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ใช้กันไปใช้กันมา แล้วใครได้ประโยชน์ แน่นอน สื่อน่ะได้ประโยชน์ อย่างน้อยๆ ก็ได้ขายข่าว”
“ถ้าคุณบอกว่านักข่าวบันเทิงทำไมถึงได้นำเสนอแต่อะไรต่ำๆ ไม่เหมาะสม ไม่จรรโลงสังคม ผมขอเสนออะไรอย่างหนึ่งได้มั้ยครับ ผมเสนอให้พวกคุณเลิกติดตามข่าวดารากันไปเลยดีมั้ย”
“มีนักข่าวหลายคน ที่คิดเหมือนกับว่า กูคือพระเจ้า กูคือผู้สร้างพวกมึงขึ้นมาโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการข่าวบันเทิงมานานๆ ประมาณว่าเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของวงการ คนพวกนี้ แทบจะชี้เป็นชี้ตายได้เลย”
“แหม! ยิ่งเมาท์ยิ่งมัน จะบอกว่าเรื่องศิลปินไร้สมองนี่มีเป็นกุรุสเลยนะ ถ้าจะให้เล่า เอาเป็นกระสายสักเรื่องก็ได้ แต่ไม่บอกชื่อก็แล้วกัน บางคนนี่โปรไฟล์สุดยอด แต่ใส่หน้ากากเก่งมาก เรียกว่าเคลือบคาราเมล”