fbpx

FINDING INNER PEACE IN EVERY DAY LIFE

บุกเบิก ภายนอก สุขสงบ ภายใน

ตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับ จิตร์ ตัณฑเสถียร ตั้งแต่เมื่อปีก่อน ที่ได้รับทราบข่าวว่าเขาไปบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น และดูมีวี่แววว่าจะบวชแบบไม่สึกออกมาอีกเลย

เราชอบแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมะร่วมสมัยของเขา ในฐานะคนหนุ่มที่เคยเป็นนักโฆษณามือเยี่ยม แล้วหันไปศึกษา

พุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามแนวทางของเซน จนถือเป็นศิษย์เอกคนหนึ่งของหมู่บ้านพลัม ประสบการณ์ชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมอีกหลายแขนงของเขา คงนำมาประมวลเป็นบทเรียนให้ผู้อ่านของ GM ได้เป็นอย่างดีเลย

แต่จนแล้วจนรอด ด้วยเหตุและปัจจัยที่ยังไม่เอื้ออำนวยเสียที เราจึงคลาดกับเขาหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งได้ข่าวว่าเขาลาสิกขาออกมาและกลับมาทำงานในกรุงเทพฯ

แบบนี้ก็ง่ายเลยสิ! พวกเราไม่ต้องยกกองบรรณาธิการเดินทางไกลไปถึงจังหวัดขอนแก่น เพียงแค่นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปขึ้นสถานีลุมพินี และเดินต่อเข้าซอยงามดูพลีไปอีกไม่กี่อึดใจ ก็ได้พบเขาที่นัดหมายไว้ ในศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ อาคารแห่งใหม่ของ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ชายหนุ่มในชุดเสื้อผ้าสีอ่อนดูสุภาพเรียบร้อย เขาพกสมุด ดินสอ ปากกา พะรุงพะรังเหมือนหนุ่มออฟฟิศบ้างาน นอกนั้นก็ไม่มีอะไรที่สะดุดตา นอกจากแท็บเล็ตสุดไฮเทคเครื่องหนึ่ง วิ่งลงมาจากบันไดชั้นบนสุดของอาคารที่เปิดโล่ง เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเดินขึ้น-ลงแทนการใช้ลิฟต์ เขาดูทะมัดทะแมงและไม่มีท่าทีเหนื่อยหอบ

“มาๆ เราขึ้นไปนั่งคุยกันที่ห้องสมุดนะครับ อยู่ชั้นสองเอง” เขาชวนเราเดินขึ้นบันไดทีมช่างภาพของ GM ก้มลงมองดูชุดไฟ ขาตั้ง และกระเป๋าอุปกรณ์ถ่ายภาพทั้งหนักทั้งใหญ่ แล้วแหงนหน้ามองบันไดขึ้นไปด้วยตาปริบๆ

การกลับมาทำงานเป็นนักการตลาดเพื่อสังคม และกลับมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เมืองนี้อีกครั้ง ทำให้ จิตร์ ตัณฑเสถียร มีเรื่องราวมาบอกเล่ากับเรามากขึ้น เขาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาให้กับ สสส. ในด้านการตลาดเพื่อสังคม นอกจากนี้ เขายังเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรการกุศลอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลเด็ก วัดปทุมวนาราม โรงเรียนอาชีวะวัดมหาไถ่ ฯลฯ

ในห้องสมุดที่เงียบสงบ เรานั่งคุยกันด้วยเสียงที่เบาที่สุดเท่าที่จะเบาได้ เขาช่วยอธิบายหลักธรรมะที่ตนเองไปเสาะแสวงหาร่ำเรียนมาจากหลายแหล่ง เขาช่วยแจกแจงสภาพสังคมร่วมสมัยที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งที่สมมุติขึ้นโดยนักการตลาด

และมากไปกว่านั้น เขาได้บอกวิธีประยุกต์ธรรมะเข้ากับชีวิตประจำวัน ว่าเราจะอยู่อย่างไรในโลกที่แสนวุ่นวาย โดยไม่กระทบกับภายในใจที่สงบสุข เราจะมุ่งมั่นทำงานที่ยุ่งเหยิงเคร่งเครียดได้อย่างไร โดยไม่ส่งผลร้ายต่อสังคม แต่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

ตั้งแต่เที่ยงจนกระทั่งแดดร่มลมตก ทีมช่างภาพของเราก็ขนอุปกรณ์ขึ้นมาและจัดเตรียมมุมภาพไว้เรียบร้อย ในวันนี้ จิตร์ ตัณฑเสถียร กลับมาสู่มาดคมเข้มด้วยผมสั้นเกรียน มีหนวดเคราหร็อมแหร็ม แต่ยังคงไว้ด้วยรัศมีของความสงบเยือกเย็นจากภายใน

GM : ตอนแรกที่ได้ยินข่าวคุณไปบวชที่วัดป่าธรรมอุทยานจังหวัดขอนเเก่น ก็คิดว่าคุณคงจะบวชไปตลอดชีวิตแล้ว

จิตร์ : มีคนไปนิมนต์ผมให้สึกออกมาเพื่อช่วยทำงาน เขาไปหา 3 รอบ คนใน สสส. นี่แหละ ผลัดกันไป ทั้งเพื่อน ทั้งพี่ ผมเลยสึกออกมาทำงาน จริงๆ แล้วตอนบวชนั้นมีความสุขสงบมาก ตอนนี้ สสส. กำลังขยายงานออกไปหลายด้าน เขาอยากให้ผมมาช่วยงานที่ศูนย์สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม หรือเรียกว่า Social Marketing คือการใช้โนว์ฮาว ความรู้จากวิชามาร์เก็ตติ้ง เพื่อมาทำแคมเปญรณรงค์อะไรต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ผมก็ทำงานแบบ Social Marketing มานานแล้ว เช่นทำการตลาดให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง หรือให้หน่วยงานที่เป็น Nonprofit Organization อื่นๆ อย่างสมัยที่ทำงานให้กับหมู่บ้านพลัม นั่นก็เป็นตัวอย่างของ Social Marketing คือวิชาการตลาดที่นำมาใช้เพื่อสังคม ไม่เน้นเรื่องเงินกำไรเป็นหลัก สำหรับผมแล้ว คิดว่าการตลาดก็คือการทำให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขยายวงกว้างขวางออกไปมากขึ้น เป็นเหมือนการสร้างมิตรภาพระหว่างคนขายกับผู้บริโภค ทำได้กับทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะกับสินค้าและบริการ ใช้กับธรรมะก็ได้ ใช้กับความคิด ไม่ใช่สิ่งของจับต้องได้

GM : ตัดสินใจนานไหมจึงยอมสึก

จิตร์ : ตอนกำลังบวชอยู่ สสส. ก็มานิมนต์ให้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คอยให้คำปรึกษาเขาในด้านการสื่อสาร จิตวิทยา และคน ตอนนั้นมีจดหมายมาหาพระอยู่เรื่อยๆ จดหมายแต่ละฉบับก็บรรยายมาว่าตอนนี้สถานการณ์ทุกข์เหลือเกิน ปัญหาใหญ่เหลือเกิน เกินกว่า สสส. ที่ทำมากว่า 10 ปีจะยอมปล่อยให้เสียเปล่าไป เช่นที่เขาทำโฆษณา ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ถึงโฆษณา

จะประสบความสำเร็จด้วยดี มีคนสนใจกันเยอะ แต่สถานการณ์ด้านการตลาดสุราได้ขยายออกไปเกินกว่าที่เขาจะรับมือ เขาบอกตอนนี้จะเป็นฟาง

เส้นสุดท้ายแล้วนะ ที่ผ่านมา ในการรณรงค์เรื่องเหล้าและบุหรี่ กว่าจะประสบผลอย่างที่เห็นกัน มีนักคิดมากมายอยู่ข้างหลังที่คอยผลักดันให้แคมเปญต่างๆ เกิดขึ้นมาได้ การรณรงค์แต่ละเรื่องต้องใช้สรรพกำลังมากพอสมควรนะ กว่าจะอธิบายเรื่องหนึ่งๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสังคม ให้หลายๆ คนเข้าใจ

ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่า

จะได้รับความเห็นชอบไปหมดเสียทุกเรื่อง อย่างประเด็นเรื่องเหล้าก็ยังมีอีกหลายแง่มุม หลายปัญหาที่จะต้องยกขึ้นมาพูดถึงและสื่อสารออกมา เลือกเอาที่เป็นจุดคานงัดของสังคมจริงๆ เลือกจุดผิด ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปเลยนะ ผมเองก็เริ่มเสียดายต้นทุนทางสังคมที่สั่งสมกันมา สิ่งที่สร้างขึ้นมาจะหลุดลอยไป ทำให้ต้องมาคิดทบทวนว่าคนเราจะรักษาหัวใจแบบพระ

เอาไว้ แต่ออกมาทำงานในร่างของคนธรรมดาได้หรือไม่ ซึ่งท้าทายมาก

GM: ตอนบวชอยู่วัดป่าฯ ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง

จิตร์ : ถามถึงเรื่องนี้ เดี๋ยวต้องขอย้อนไปถึงตอนที่ไปใช้ชีวิตที่หมู่บ้านพลัมก่อนนะ มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลย ว่าเราจะมีวิธีการเลี้ยงดูตัวเองให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างไร ซึ่งเทคนิคที่ว่าของหมู่บ้านพลัม คือการอยู่กับ

ปัจจุบันขณะ ซึ่งผมก็ได้เริ่มต้นเข้าไปศึกษาที่นั่น จะเรียกว่าฟลุคหรือเป็นธรรมะจัดสรรก็ได้ครับ จนมาถึงวิธีการแบบวัดป่าธรรมอุทยาน ตอนนั้น

ผมทำงานเป็นนักวิจัย ได้ลงฟีลด์ที่จังหวัดขอนแก่น แล้วได้ไปพบกับ

หลวงพ่อกล้วย ผมมักจะไปตักบาตรตอนเช้า เออ…เช้านี้ไปไหนกันดีพวกเรา ถ้าไม่ต้องรีบไปไหน ก็ตื่นเช้ามารอตักบาตรอยู่แถวๆ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด จากนั้นก็ได้ตามไปฟังครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ที่วัด ท่านเทศน์อย่างเมกเซนส์นะ สำหรับผม คำสอนของท่านสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปทำวิจัยที่ขอนแก่น ผมก็จะไปตักบาตร ไปฟังพระเทศน์ตอนเช้าที่วัดป่าธรรมอุทยานนั่นแหละ เหมือนคนฟังรายการข่าวตอนเช้า ไม่ต่างจากการไปรับโนว์ฮาวแล้วลองเอามาใช้ ซึ่งเวิร์กมาก พอไปหลายครั้งเข้า หลวงพ่อกล้วยชวนว่าลองมาอยู่ฝึกกับหลวงพ่อสัก 6 สัปดาห์สิ เออ…จะทำอย่างไรกับเวลา 6 สัปดาห์ที่ต้องเสียเวลางานไป ผมก็รีบเคลียร์งานให้เสร็จโดยด่วน ก่อนหน้านี้ ผมเคยไปอยู่หมู่บ้านพลัมที่ประเทศฝรั่งเศส

ก็เลยคิดว่าการไปอยู่วัดป่าฯ ที่ขอนแก่นก็คงไม่ต่างอะไรกันมาก ปรากฏว่าตอนไปถึง ไปกางเต็นท์อยู่ในที่อาจจะแปลกนิดหนึ่งนะ คืออยู่ในป่าช้า (หัวเราะ) แล้วก็พบว่านั่นได้ประโยชน์มาก เหมือนเข้าห้องแล็บอะไรสักอย่าง ให้สภาพแวดล้อมรอบตัวมันปลุกเร้าอะไรต่างๆ ในใจเรา แล้วเราก็วิจัยๆ ค้นหาตัวเองไป

GM : ระหว่างวัดป่าฯ ที่ขอนแก่นกับที่หมู่บ้านพลัม คำสอนเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

จิตร์ : เหมือนเป็นภาคต่อของกันและกันเลยครับ ภาคแรกของหมู่บ้านพลัม

ก็โดดเด่นมาก ตอนนั้นเริ่มต้นศึกษาธรรมะแรกสุด ผมติดปัญหาในเรื่องความเข้าใจในภาษานะ อีกหลายคนคงเป็นเหมือนกัน บางคนอาจเรียกว่าเป็นวิบาก คือผมฟังคำพระแบบไทยไม่เข้าใจ เคยพยายามอย่างมาก

โดยเฉพาะพวกคำใหญ่ๆ เช่น คำว่า เมตตา ตอนเรียนธรรมะ ครูก็คาดหวังว่าเราต้องเข้าใจคำเหล่านี้อยู่แล้วใช่ไหม แต่ให้ตายเถอะ ผมไม่เข้าใจจริงๆ

อืมม์…เมตตาเป็นคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ มันเป็นอะไรกันแน่

มันหมายความว่าอะไรกันแน่ แล้วยังมีคำว่า กรุณา นี่ยิ่งไปกันใหญ่ มุทิตา

นี่ไม่ต้องพูดถึง ถึงขนาดมีเพื่อนลงทุนซื้อดิกชันนารีมาให้ มันก็พอช่วยได้บ้าง แต่ไม่สามารถตอบคำถามในใจได้หมด ผมก็รู้สึกว่าแป้กมาก หมายถึงอะไร พรหมวิหาร อริยสัจ เราแพ้ทางคำเหล่านี้ แล้วจะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร

กันเล่า ในเมื่อไม่เข้าใจ จึงเป็นที่มาให้ผมเลือกไปอยู่หมู่บ้านพลัม เพราะที่นั่นทำให้พ้นจากกรอบของภาษาชุดเก่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ สอนว่าพรหมวิหาร 4 คือหัวใจที่ Immeasurable แปลว่าใจที่กว้างขวางใหญ่โต จนประเมินค่าไม่ได้ ท่านเรียกเมตตาว่า Love พอใช้คำแบบนี้ก็เข้าใจเลย ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เป็นการเดินอ้อมไกลมากกว่าจะพบมัน สิ่งเหล่านี้ผมได้รับจากหมู่บ้านพลัม

เป็นหนทางของความรัก ความเมตตา เป็นสติ ได้รู้ว่าฐานของพุทธที่เราจะปฏิบัติ มันสามารถไปถึงไหนได้บ้าง

จำได้ว่าตอนไปอยู่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มีคนที่นั่นถามว่ายูมาจากประเทศอะไร พอผมบอกว่ามาจากประเทศไทย เขาก็ถามต่อว่า ยูรู้จักหลวงปู่ชาไหม ผมตอบไปว่า อ๋อ! เคยได้ยิน เขาก็แนะนำว่ายูควรจะไป

ที่นั่นนะ จะได้ไม่ต้องจากบ้านมาไกลขนาดนี้ ผมก็สงสัย แต่ท่านไม่อยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ผมรู้จักหลวงปู่ชาและพระเกจิดังๆ จากชาวตะวันตกหลายคนนะ เพิ่งมารู้ทีหลังว่าบ้านเรามีของดีอยู่แล้ว แต่เผอิญเส้นทางที่เราเลือกเดิน

เป็นทางเบื้องต้นเสียก่อน ได้ตัวช่วยในการเรียนรู้ คือการผ่านไปสู่ภาษาอื่นมาสักครั้งหนึ่งก่อน เพื่อที่จะไม่ตกกรอบภาษาเก่าในชุดความหมายเดิม

แล้วค่อยตีกลับมาภาษาเรา

ผมอยู่ในแวดวงโฆษณา แวดวงคนทำงานศิลปะ เวลาอยู่ในอะไรที่ดิบๆ ทำให้ในหัวเรามีแต่การตั้งคำถาม ไม่รู้จักการปล่อยวาง ทำให้สมองไม่ว่าง

แต่พอไปอยู่หมู่บ้านพลัม ก็ทำให้เข้าใจอะไรบางอย่างได้ ผมเพิ่งมาพูด

คำพระ หรือคำใหญ่ๆ มาสัก 2 ปีที่ผ่านมานี้เองนะ ตอนอยู่ที่หมู่บ้านพลัมเรียกการพูดคุยแบบนี้ ว่า Skillful Means ถือว่าเป็นแท็กติกในการสื่อสาร

ก็แล้วกัน ที่หมู่บ้านพลัมเราใช้เพลงเป็นพาหะ ทำให้เข้าใจได้ง่าย แต่คอนเทนต์เดียวกันกับที่เรียนรู้จากวัดป่าฯ ของไทยเราเลย ชีวิตใน

หมู่บ้านพลัมจะมีสุนทรียะ สวยงาม มีความน่ารับประทานอยู่ เวลาที่เริ่มรับประทานไปแล้ว รู้สึกว่าอยู่ท้อง หายหิว เป็นธรรมะที่ช่วยให้ผมรู้สึกอยู่ท้องได้ในเวลานั้น

กำเนิดหมู่บ้านพลัม หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง ‘สังฆะ’ ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศอาทิ ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทย โดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ ‘สังฆะ’ เกือบ 1,000 กลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก http://www.thaiplumvillage.org/

วัดป่าธรรมอุทยาน สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 38 ต.สำราญ อ.เมือง ขอนแก่น 40000 พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธโร (หลวงพ่อกล้วย) วิปัสสนาจารย์

GM : พอมาอยู่วัดที่ขอนแก่น แตกต่างกันแค่ไหน

จิตร์ : ผมรู้สึกว่าเป็นธรรมะที่สะอาดขึ้น มุ่งเข้าไปหาแก่นมากขึ้น

ตัดความสวยงาม หรือรสหวานที่เคลือบอยู่ออกไปหมดเลย แต่จริงๆ แล้ว

ท่านหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ก็มีหลักการสอนหลายระดับนะครับ ในระดับสูงๆ แบบนี้ท่านก็มี เพียงแต่ในเวลานั้นสำหรับผม ท่านจะพาไปตรงนั้นตรงนี้ ตามจังหวะจะโคนของผู้เริ่มต้น ตอนที่ผมมาบวชที่ขอนแก่น มีหลายคนชอบมาถามว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างผมกับหมู่บ้านพลัมหรือเปล่า ขอบอกว่า

ไม่ใช่เลย ผมคิดว่านี่คือการเรียนรู้ภาคต่อของกันและกัน เหมือนได้เจอญาติครบเซตแล้ว ตอนนี้ผมมีทั้งพ่อทางธรรม และมีปู่ทางธรรม พอฟังคำสอนจากหลวงพ่อกล้วย ก็ทำให้นึกถึงคำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ตลอดเวลา และทำให้เกิดมุมมองใหม่ ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น

ที่วัดป่าฯ นั้นตรงกันข้ามกับหมู่บ้านพลัม ที่หมู่บ้านพลัมมีทุกอย่างที่ผมชอบ แต่ที่ขอนแก่นกลับเต็มไปด้วยทุกอย่างที่ผมไม่ชอบ หมู่บ้านพลัม

มีอะไรบ้างล่ะ ที่หมู่บ้านพลัมรับประทานอาหารมังสวิรัติ ผมสบายมากเพราะไม่ใช่แกะดำ ไม่ใช่คนหมู่น้อย ผิดกับวัดป่าฯ ที่ขอนแก่น ชาวบ้านจะใส่บาตรอาหารอะไรมาก็ต้องตามแต่ศรัทธาของเขา แต่ผมก็ยังเป็นมังสวิรัติอยู่นะ เพราะฉะนั้นอาหารที่จะให้ผมกินเกือบไม่มี ที่หมู่บ้านพลัมมีสุนทรียะทุกอย่าง สวยงาม เฉลียวฉลาด ทุกอย่างเป็นวิถีเซน มันตรงทางมากสำหรับผมในตอนเริ่มต้น มีการดื่มน้ำชา ส่วนวัดป่าฯ ที่ขอนแก่นไม่มีเครื่องดื่มอะไรที่

น่าอภิรมย์เลย แถมไม่มีสุนทรียะอะไรเลยด้วยซ้ำ หมู่บ้านพลัมมีร้องเพลง เมื่อก่อนผมชอบฟังเพลง แต่วัดป่าฯ มีเพียงความเงียบ ที่หมู่บ้านพลัมเดินไปข้างๆ เห็นต้นโอ๊ก มันเจริญหูเจริญตาไปหมด ผิดกับที่วัดป่าฯ ซึ่งเราอยู่กับหลุมศพ ที่วัดป่าฯ มีสภาพแวดล้อมเป็นป่าไผ่ อยู่กับของแหลมคมอันตราย

ที่หมู่บ้านพลัมได้นอนเตียงสะอาดๆ แต่วัดป่าฯ ต้องนอนหนาวกว่าที่ฝรั่งเศส นอนในเต็นท์ พื้นเต็นท์เย็นเฉียบเพราะแนบอยู่กับดิน หมู่บ้านพลัมมีวินัย

มีกฎกติกาชัดเจน มีตารางเวลาที่แน่นอน แต่ที่วัดป่าฯ ไม่มีอะไรสักอย่าง มีชาวบ้านแปลกๆ มีคนมาเป็นเจ้าลัทธิด้วย มีคนทุกประเภท สับสนปนเปกันไปหมด สรุปแล้วคือที่วัดป่าฯ มีทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวผม

: ทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวคุณ แล้วมันจะดีกับคุณได้อย่างไร

จิตร์ : ก่อนที่จะมีหมู่บ้านพลัมอย่างทุกวันนี้ ท่านติช นัท ฮันห์ แข็งแรง

และงดงาม จนหลายคนขนานนามว่าเป็นดอกบัวในเปลวเพลิง เพราะท่านสามารถสงบสุขอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับเวียดกง

ในสมัยนั้น ต่างกับยุคปัจจุบันของพวกเรา ที่ไม่ได้มีการสู้รบกันแบบนั้นอีกแล้ว เราจึงศึกษาธรรมะได้อย่างสุขสบายกว่าคนรุ่นท่าน ผมเชื่อว่างานของพวกเราในยุคนี้ คือการแสวงหากันใหม่ ว่าเราจะทนรับได้อย่างไร ในสภาวะที่ไม่น่ารัก เราสงบได้อย่างไร ในสิ่งแวดล้อมที่เร้าอารมณ์ เมื่อก่อนตอนอยู่

หมู่บ้านพลัม งานของผมคือการกวนเต้าหู้ เป็นงานที่เข้าทางเด็กจีนๆ อย่างผมมากเลย แต่อยู่ที่วัดป่าฯ ผมทำงานก่อสร้าง มัดลวด ผูกเหล็ก เทปูน มันหลุดจากคอมฟอร์ท โซน 100% ทีเดียวล่ะ และนี่แหละคือวิธีการแสวงหาของคนรุ่นเรา อยู่ไปแล้วผมมีอาการเดี้ยงทั้งตัว ทำงานกับเหล็กกับสนิม เจอบาด

เจอตำ ผมคุ้นเคยกับอาหารจีนที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว แต่อาหารที่วัดป่าฯ รสจัดจ้านตามแบบอีสาน ใช้น้ำปลา ใช้ปลาร้า ผักที่กินก็เป็นผักที่ชาวบ้านปลูกเอง

จึงฝาดและขม แต่เชื่อไหมว่า ผมกลับค่อยๆ รู้สึกว่าอยู่อย่างนี้มีความสุข

และสงบมาก

ตอนบวชเป็นพระใหม่ๆ ถึงขนาดมีคนตามไปถ่ายทำรายการทีวี เขาถามว่าชีวิตทางโลกเป็นทุกข์มากเลยเหรอ มีอะไรที่ไม่พอใจเหรอ จึงต้องมาบวชวัดป่าฯ ผมตอบไปว่า พอใจหมดเลย ไม่เป็นทุกข์เลย เพราะมันไม่มีอะไรเลย

นี่แหละ ทำให้ตัดสินใจมาบวช (หัวเราะ) ตอนจะสึกออกมาคราวนี้ก็คิดแบบเดียวกันนั้นเลยครับ คือพอบวชไปสักพัก ชีวิตลงตัวและมีความสุขมาก

ชีวิตพระทำให้เราเริ่มรู้สึกสบาย ลงตัวดีทุกอย่างแล้ว ที่ว่าสบายนี่ไม่ใช่ว่า

ไม่ได้ทำงานอะไรนะ ผมมีงานทำเยอะมาก ดูแลเด็กพิการทางสมอง เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ด้านต่างๆ ผมเป็นพระที่ทำงานกับเด็ก โจทย์ที่ได้รับ

ดูเหมือนแปลกใหม่ ท้าทาย ผมมีความสุขมาก ทุกอย่างในชีวิตที่ผ่านมา

เป็นเหมือนของขวัญที่พระเจ้าประทานให้เลย คือผมเป็นชาวพุทธที่มักจะอธิบายโลกแบบศาสนาสากลนะครับ คือชีวิตที่ได้มานี้เป็นโจทย์ที่ดีเหลือเกิน พบว่าสามารถอยู่อย่างมีความสุข ตอนสอนเด็กๆ ก็อยู่กับเขาด้วยความรักอย่างมีความสุข แต่ในที่สุด ก็เลือกที่จะจากมาเพื่ออยู่ท่ามกลางสภาพ

แวดล้อมใหม่ๆ เพื่อจะได้คิด ได้ทบทวนใจ รับได้ไหมกับเรื่องราวใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ จนถึงวันนี้ ทำให้ผมพบคำตอบว่าวัดคือสถานที่สำหรับ

การปฏิบัติ วัดไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ที่มีโบสถ์ มีอุโบสถ เหมือนที่หลายคนเข้าใจ วัดจึงเป็นได้ทุกสถานที่แล้วสำหรับผม

: แสดงว่าออฟฟิศของคุณก็เป็นวัดสำหรับคุณได้

จิตร์ : ใช่ๆ นี่แหละที่ผมอยากจะบอก ทุกๆ สถานที่ที่เราอยู่คือวัดของเรา เหมือนอย่างที่ครูบาอาจารย์เคยบอกเคยสอนมา ว่าเราไม่สามารถแบ่งเวลาที่จะปฏิบัติกับไม่ปฏิบัติได้ เพราะถ้าแบ่งเวลาไม่ปฏิบัติ แล้วพอถึงช่วงเวลาในการปฏิบัติมันจะยาก เราจึงปฏิบัติธรรมไปตลอดเวลา และในทุกสถานที่

ผมขอแชร์เรื่องหนึ่งให้คุณนำไปคิด ทำอย่างไรให้การปฏิบัติอยู่ในกิจกรรมที่ปกติที่สุดในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่หมายถึงต้องรอวันลาหยุดงาน ไปนุ่งขาว

ห่มขาวเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เราไม่ต้องมีฟอร์มมากได้ไหม แค่ทำทุกวินาทีของชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ วินาทีต่อวินาที แม้จะอยู่ขอนแก่น

ห่มผ้าเหลืองเป็นพระ ก็ปฏิบัติธรรมได้ พอสึกออกมา แล้วกลับมาทำงานมากมาย ก็ปฏิบัติธรรมได้เช่นกัน ทำเหมือนกัน แค่โรงละครของเราเปลี่ยน

สตอรี่ไลน์เปลี่ยน แต่ด้วยหัวใจดวงเดิม คุณภาพแบบเดิม

หลวงพ่อกล้วยได้สอนไว้ว่าโลกทั้งโลกจะเป็นครูสอนอารมณ์เรา ถ้าเราไหลตามอะไร ถ้าเราสะดุ้งกับอะไร เรากระเทือนกับอะไร ก็จงรู้ไว้ว่าสิ่งนั้นแหละคือครู คือสิ่งที่เราต้องปรับปรุงตัวเอง เปรียบเหมือนเวลาคุณอาบน้ำแล้วโกนหนวด ถ้าโกนไม่ดี มีดก็จะบาดนิดนึง แต่คุณไม่รู้ตัวหรอก จนกระทั่งน้ำค่อยๆ ไหลผ่านหน้าคุณไป พอโดนตรงนั้นแล้วมันจะแสบๆ คุณจึงจะรู้ว่าตรงนั้นมีรอยบาด คุณจึงต้องขอบคุณน้ำที่ทำให้เรารู้ว่าแผลอยู่ตรงจุดไหน

จะได้ทาเบตาดีนให้หาย นั่นคือการพิจารณาร่างกาย ลองพลิกกลับมาดูแลจิตใจภายใน โลกทั้งโลกก็เหมือนน้ำที่คอยสาดเราอยู่ เจ็บตรงไหน จั๊กจี้

ตรงไหน อยากได้อะไรก็ดึงเข้าหาตัว ไม่อยากได้อะไรก็ผลักไสออกจากตัว

นี่แหละคือสิ่งที่ต้องคอยตามไปเรียนรู้ โชคดีที่ผมรู้เป้าหมายของชีวิตว่าต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ อย่างในช่วง 2-3 วันมานี้ เจอเหตุการณ์ตลกมาก ผมนั่งแท็กซี่มาที่ สสส. ไม่รู้เป็นอะไร 2 วันติดกันแล้ว นั่งมาจากสนามกีฬาแห่งชาติ แท็กซี่พอเลี้ยวเข้ามาถึงซอยสาทร 3 ปุ๊บ คนขับต้องบอก พี่ๆ ผมไม่ไปส่งพี่ละนะ พี่ลงแค่ตรงนี้พอ (หัวเราะ) ผมก็ทำใจเฉยๆ สบายมาก ผมยังรักคนขับแท็กซี่ทั้งสองคนนี้ได้อยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าเรายังอยู่ใน

เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นี่ได้อย่างปลอดภัย อยู่อย่างคนที่ไม่โกรธ ไม่ได้อยากให้โลกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่ใจต้องการ เพื่อให้มีความสุข เราอยู่กับโลกอย่างที่มันเป็น

: นอกจากเรื่องความโกรธ เรื่องน่าหงุดหงิดแล้ว เวลามาอยู่

กรุงเทพฯ มีสิ่งเร้ามากมาย ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นเปิดใหม่ทุกวัน

ล่อหูล่อตาเวลาเราเดินไปไหนมาไหน

จิตร์ : ก็ฝึกด้วยหลักการเดียวกันกับตอนอยู่หมู่บ้านพลัมเลยครับ มันเป็นกระบวนการของพวกนักการตลาด ผมเรียกว่าวิธีการสร้างคุณค่า ซึ่งก็มีคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมใช่ไหม ถ้าเรารู้ว่าอะไรคือคุณค่าแท้ อะไรคือคุณค่าเทียม เราจะไม่ถูกหลอกไปกับโฆษณาที่ล่อหูล่อตาเราทุกวัน เราจะอยู่อย่างมีเหตุมีผล เดี๋ยวนี้ผมไม่ซื้อเสื้อผ้าบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ ซื้อทีต้องดูเหตุและผล ผมคิดไปถึงต้นทุนที่แท้จริงของเสื้อผ้าที่ใส่เลย บางทีถ้าแพงเกินไปมากก็รู้ตัวว่าไม่จำเป็นต้องใส่ของแพงแบบนี้

: เสื้อที่คุณใส่อยู่นี้แบรนด์อะไรครับ

จิตร์ : Shanghai Tang ตัวนี้มีคนซื้อให้ตั้งแต่เมื่อ 6-7 ปีแล้วนะ ผมใส่เพราะมันเป็นเสื้อคอจีน ใส่สบาย มีอะไรก็ใส่ไปอย่างนั้น การเป็นคนทำงานเกี่ยวกับการตลาด แบรนดิ้ง ทำงานอยู่กับสิ่งเหล่านี้ พอนานๆ เข้า มันทำให้ผมคลายความอยากลงไปได้เอง ทุกวันนี้ก็เดินผ่านสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เกือบทุกวันเลย เพราะต้องไปขึ้น-ลงรถไฟฟ้าแถวนั้น ก็ไม่ได้รู้สึกอยากเดินช้อปปิ้ง ไม่ได้รู้สึกอยากได้อะไรเป็นพิเศษ

: เพราะคุณใส่ Shanghai Tang หรูหรา คุณก็เลยไม่สนใจ

H&M หรือ Uniqlo ที่เพิ่งเปิดช็อปใหม่ใช่ไหม

จิตร์ : (หัวเราะ) เพราะผมมีเสื้อผ้าเพียงพอแล้วต่างหาก อาจเป็นความโชคดีของผม ที่ไม่ได้เป็นคนประเภทที่ Seek Approval จากใคร คุณต้องมองผมด้วยสายตาประทับใจ อะไรทำนองนั้น ผมรู้ว่าการใส่เสื้อผ้า ก็เพื่อห่อหุ้มร่างกายด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะสม ตอนอยู่บ้าน ผมใส่กางเกงเล ตอนออกมา

ข้างนอก มาอยู่ กทม. ผมไม่ใส่อย่างนั้น เพราะต้องใส่เสื้อผ้าที่สมเหตุสมผลและถูกกาลเทศะ

: แล้วเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ล่ะ เห็นคุณพก iPad ติดตัวด้วย

จิตร์ : ผมใช้ iPad เพราะคิดว่าทำไมเราต้องอ่านอะไรๆ จากกระดาษด้วยเล่า ในเมื่อทุกวันนี้แก่นสารหรือคอนเทนต์บรรจุอยู่ในสื่ออื่นๆ ที่มีหลายรูปแบบ ผมไม่วุ่นวายกับตัวสื่อ หรือตัวพาหะที่จะนำสารออกมา เอาเวลาไปเลือก

คอนเทนต์ที่เหมาะสมดีกว่า และถ้า iPad ออกรุ่นใหม่มา เป็นรุ่น Mini แล้วมันเซิร์ฟผมได้ดีกว่า ผมก็อาจจะซื้อมาใช้ ผมดูที่ฟังก์ชัน รู้ไหมว่าโทรศัพท์มือถือของผมเพิ่งพังไปได้เมื่อ 3 เดือนก่อน เลยซื้อของ i-mobile มาใช้ ซื้อที่เชียงใหม่ เป็นการเลือกที่ไม่ผิดหวังเลย ผมไม่มีความจำเป็นต้องใช้ iPhone เพราะผมมี iPad อยู่แล้ว ฟังก์ชันส่วนใหญ่มันซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น สำหรับผม

i-mobile เครื่องนี้มีฟังก์ชันที่เหมาะกับงานที่ทำอยู่มากกว่า

: ในขณะที่นักโฆษณาคนอื่นๆ กำลังใช้เรี่ยวแรงกำลังในการ

ทำสิ่งตรงข้ามกับที่คุณกำลังทำ ทุกวันนี้คุณแปลกแยกกับเพื่อนในวงการหรือเปล่า

จิตร์ : ไม่เลย ผมไม่ได้เป็นฝั่งตรงข้ามกับคนเหล่านั้น ผมไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ได้ต่อต้านการตลาด การโฆษณา อย่าง iPad รุ่นใหม่ที่หน้าจอเป็นแบบเรติน่าดิสเพลย์ ถ้าผมเป็นช่างภาพคงลงทุนซื้อมาใช้แล้ว เพราะจะได้ใช้ดูภาพที่คมชัดขึ้น แต่เนื่องจากผมทำงานเขียน ทำงานเอกสาร ผมก็ใช้แค่รุ่นนี้พอ ถ้าเป็นเครื่องที่ช่วยให้ผมทำงานได้อย่างก้าวกระโดด ผมอาจซื้อก็ได้ หรืออย่างรถยนต์ส่วนตัวที่ผมใช้ คือ Honda CR-V หลายๆ คนก็ถามว่าเมื่อไรจะซื้อใหม่เสียที เพราะมันอายุ 13 ปีแล้วนะ เป็น CR-V เกือบรุ่นที่ 1 เลย แต่ผมก็ชอบมันมาก เพราะคุ้นเคยกับรถที่มีส่วนสูงกำลังพอดี ตอนนี้

ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้รถยนต์ เวลาเดินทางออกต่างจังหวัดก็จะมีเพื่อน

ทีมงาน หรือลูกศิษย์ มาช่วยขับรถ ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ส่วนใหญ่ใช้

รถไฟฟ้า แล้วก็เดิน มันดีกับสุขภาพมากเลยนะ ถ้านับทุกมิติ การเดิน

เมกเซนส์มากที่สุด

ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของ Object Literacy วัตถุสิ่งของต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นในชีวิตประจำวัน เป็น Moment of Truth ครั้งหนึ่งของผมเลย ผมเคยไป

ที่ร้านชาแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ จำไม่ได้ว่าที่โรงแรมมารีน่าเบย์ หรืออะไรทำนองนั้น เป็นร้านใหญ่โตมาก เต็มไปด้วยพร็อพต่างๆ นานา ชุด High Tea ของเขามีเพียงขนมชิ้นน้อยๆ มีน้ำชา คนเสิร์ฟแต่งตัวสวยงาม แต่ความรู้สึกในใจที่เกิดขึ้นกับผม มันแปลกมาก มันเหมือนอยู่ในโรงละครสร้างความเชื่ออะไรสักอย่าง ความที่ผมอยู่ในครอบครัวคนทำอาหาร ผมสแกนสิ่งที่เขาเสิร์ฟมาให้ พบว่ามีขนมวางเรียงอยู่บนชั้น 3 ชั้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 8 ชิ้น มีน้ำร้อนจำนวนเท่ากำปั้นอยู่ในแก้วเซรามิกใบหนึ่ง และมีน้ำร้อนปริมาณเยอะ

กว่าหน่อยอยู่ในเหยือกเซรามิกที่หุ้มด้วยโลหะสีเงิน คำนวณเปรียบเทียบจำนวนของกินกับราคาที่ต้องจ่าย นั่นกลายเป็น Moment of Truth ได้เลย เวลาได้ยินคนพูดถึงแบรนดิ้ง พูดถึงมาร์เก็ตติ้ง เราต้องรู้ว่ามันคือการแพ็คหีบห่อของประสบการณ์โดยรวม

และสร้างโรงละครแห่งความเชื่อที่กว้างใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราบอกว่าขายโปรดักท์ ยุคต่อมาบอกว่าขายแบรนด์ ต่อมาเราบอกว่าขายประสบการณ์ ตอนนี้เน้นขายอารมณ์ ขายความเชื่อ โรงละครนี้เลยใหญ่ขึ้นๆ ทุกที

: เวลาคุณเจอใครเดินเข้ามาหา คุณวิเคราะห์ว่าเขาเหมือนกับ

ที่วิเคราะห์ชุดน้ำชา High Tea นั่นด้วยไหม

จิตร์ : (ถอนหายใจ) ผมเป็นคนโฆษณาที่มาจากสายนักวิจัย จึงต้องพยายามทำความเข้าใจบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผมทำวิจัยเพื่อนำไปสู่แผนเชิง

กลยุทธ์ ว่าเราจะขายสินค้าให้กับพวกเขาได้อย่างไร ที่ผ่านมาก็ต้องพยายามอ่านและเรียนรู้ศาสตร์ของการถอดรหัสพวกนี้เยอะมาก เช่น Bathroom Reading อ่านลักษณะบุคลิกของคนจากห้องน้ำของเขา ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง ถ้าทีมวิจัยของเราเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง แล้วไปเจอรูปวาดของ

ลูกเจ้าของบ้าน แม้จะไม่ใช่บ้านที่มีฐานะ แต่เขาก็หมั่นนำรูปวาดของลูกไปติดตามที่ต่างๆ ในบ้าน เราสามารถบอกได้ว่าครอบครัวนี้ พ่อแม่ให้ความสำคัญกับลูก เพราะเราอยากจะขายของให้เขา ก็ต้องรู้ว่าอะไรคือหัวใจสำคัญของเขา อะไรคือสิ่งที่เขารัก เราก็จะเข้าไปผูกเรื่องเกี่ยวกับชีวิตและครอบครัวของเขา พอผูกเสร็จ ก็หาวิธีทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราจะขาย จัดการนำเสนอมันเข้าไปให้มีบทบาทในเรื่องราวนั้น

แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ดีกับการปฏิบัติธรรมเลยนะครับ มันคือการที่เราไปตัดสินเขา ไปวิพากษ์วิจารณ์เขา ตลกดีที่เมื่อก่อนต้องไปคะยั้นคะยอให้เขาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง เพื่อจะได้ตัดสินเขา ผมฝึกตัวเองมาแบบนี้ แต่ระยะหลังมานี้ ผมต้องคอยตามปิดปุ่มเหล่านี้ให้หมด ไม่ให้เผลอเข้าไปบ้านเพื่อน ขอเข้าห้องน้ำแล้วไปวิพากษ์วิจารณ์ห้องน้ำเขาอีก ตาเราไม่ดีเอง คอยสอดส่องไปเห็นแชมพู 5 ขวด

แบบนี้ก็รู้แล้วว่าคนในบ้านนี้ต่างคนต่างอยู่ ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมากเลย นี่ขนาดแค่ดูในบ้านและในห้องน้ำของเขานะ มากกว่านี้ต้องถอดรหัสลึกไปถึงชาติพันธุ์ ชนชั้น วรรณะ สีผิว ใส่เสื้อผ้ายี่ห้ออะไร นักวิจัย

ก็พยายามเล็ง แอบมองสิ่งของในบ้านเขา แอบมองว่าเขาอ่านแมกกาซีนอะไร

ซึ่งนั่นก็คือเป็นการอุปโลกน์กันขึ้นมานะ กว่าจะปิดปุ่มนี้ได้ก็ยากมาก หลายครั้งผมพบว่า การคิดแบบนี้ทำให้เราคบอยู่กับคนที่เราคิด ไม่ได้คบกับคนที่เป็นเขาจริงๆ อย่างสมมุติ ถ้าตอนที่ผมบวชอยู่ ผมไปเจอเด็กพิการแล้วผมไปตัดสินพวกเขาตามความคิดของผมเอง ผมคงไปสอนอะไรเขาไม่ได้เลย พอเห็นเด็กพิการกำลังคลานด้วยมือกับเข่าเข้ามา ก็เชื่อทันทีว่าเขาไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้วชีวิตนี้ แต่ขอโทษนะ เด็กที่ผมพบเจอ เขาซนอย่างกับลิงเลย แขนของเขาแข็งแรง หัวเข่าของเขาหยาบหนา เขาสามารถเคลื่อนไหวได้ในแบบของเขา ถ้าผมยังอยู่กับความเชื่อเดิมๆ มองเขาไป ประเมินเขาไป และเลือกที่จะสอนเขาไปตามสิ่งที่ผมเชื่อไว้แต่แรก ผมจะทำอะไรไม่ได้อีกตั้งเยอะ มันทำให้เสียโอกาสการเข้าถึงศักยภาพของทุกคนได้ตามที่เป็นจริง ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตาม Stereotype โลกไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราต้องมองให้ลึกกว่า เพื่อจะได้เห็นในสิ่งที่มากกว่า เห็นแม้กระทั่งศักยภาพที่ตัวเขาเองยังมองไม่เห็น

: ถ้าให้ลองเปิดปุ่มนี้ขึ้นมา คุณวิเคราะห์คนไทย คนกรุงเทพฯว่าอย่างไร

จิตร์ : ถ้าในการทำงานตอนนี้ กลุ่มเป้าหมายที่เราจะต้องรณรงค์ก็มีหลายกลุ่มมาก ผมรู้สึกว่า… (คิดนาน) …เอากลุ่มที่น่าห่วงที่สุดก็แล้วกัน คนที่มีความสามารถในการแยกแยะคุณค่าแท้คุณค่าเทียมมีน้อยมากๆ เป็นคนที่มีความอยากสูง บริโภคนิยมอย่างเต็มตัว ตอนนี้กระแสการบริโภคขึ้นไป

สูงมาก ทั้งบริโภคสิ่งของ บริโภครสนิยม บริโภคประสบการณ์ มันล้นมาก เป็นนักเสพตัวยง นี่คือประการแรกที่ผมมอง ประการต่อมา ผมคิดว่าในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเป็นนักสื่อสารตัวยงอีกด้วย เป็นนักแสดงออกด้วยเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เพราะมีสื่อใหม่เกิดขึ้นมา เพื่อรองรับ

การแสดงความเห็น เปรียบเทียบกับคนในแวดวงสื่อ คนสื่อยังต้องมี

จรรยาบรรณสื่อคอยกำกับดูแล แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนในแวดวงอาชีพ แต่เป็นนักสื่อสารโดยโอกาส ผมไม่รู้ว่าจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ที่รู้ตอนนี้ คือเรากลายเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความคิดเห็น

GM : ในโลกที่ข้อมูลข่าวสาร Free Flow และสังคมเปิดเสรีเรามี Freedom of Speech ทำไมมีความคิดเห็นมากๆแล้วจึงเป็นเรื่องไม่ดี

จิตร์ : ก็เหมือนทุกคนมีเสรีภาพที่จะพกปืน แต่ทุกคนไม่ได้เรียนการใช้ปืน

มาก่อน ที่แย่กว่านั้นคือ คนยิงทำร้ายกันแล้ว มันไม่มีเวทีให้ขอโทษ ให้ปรับความเข้าใจกัน อย่างเมื่อก่อนมีเว็บไซต์ที่มีเจ้าหน้าที่แอดมินคอยดูแลแต่ตอนนี้กฎกติกามันน้อยมาก

GM : คุณเองมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ค ทำไมเลือกใช้เฟซบุ๊คแล้วสถานการณ์ที่เห็นในเฟซบุ๊ค มันสะท้อนอะไรได้บ้างไหม

จิตร์ : ผมมีลูกบุญธรรม 2 คน คนหนึ่งอยู่สวิตเซอร์แลนด์ กับอีกคนอยู่เชียงใหม่ ชื่อ ปัน กับ ดาว พวกเราคุยกันผ่านเฟซบุ๊ค ผมว่าเฟซบุ๊คมันดีตรงที่เราเอาไว้รักษาความสัมพันธ์ บางวันผมก็เซตเกมขึ้นมาเล่นด้วยกัน โดยจะโพสต์ถึงกันวันละหนึ่งสเตตัส เช่น ตั้งเกมว่าให้โพสต์ในหัวข้อ My Happiness การตั้งหัวข้อดีๆ ทำให้เราคิดถึงความสุขหนึ่งอย่างในแต่ละวัน อย่างน้อย

นี่เป็นวินาทีที่ดีที่สุดของวัน ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นก็ตาม หรือถ้าลูกคนหนึ่ง

มีปัญหาไม่มั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ ผมอยากจะช่วยให้เขาหัดอ่านหนังสือ ผมจะตั้งหัวข้อให้เรามาโพสต์ว่า My Read of the Day จะเปลี่ยน

คอนเทนต์ไปเรื่อยๆ ผมตั้งกรุ๊ปในเฟซบุ๊คมีกันอยู่ 3 คนนี้เท่านั้น ส่วนแอคเคานต์เฟซบุ๊คที่คุณเห็นผมอยู่ นั่นเอาไว้ใช้ประชาสัมพันธ์ข่าวงานดีๆ ที่ผมเข้าไปมีส่วนช่วยทำงาน เพราะผมอยากเติมพลังงานบางอย่างเพิ่มเข้าไปในสังคม อย่างล่าสุดไปดูงานที่สวนสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ดูแล้วดีจังเลย ผมอยากพูดถึงมันให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ผมคิดว่า

ทุกคนที่เล่นเฟซบุ๊ค ควรแชร์สิ่งที่คู่ควรกับการประชาสัมพันธ์ เป็นการ

เล่าเรื่องผ่านมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ต้องเป็นทางการมากก็ได้

GM : เฟซบุ๊คของคุณคงจืดชืดมากๆ

จิตร์ : (หัวเราะ) สิ่งที่ผมเห็นมากๆ คือความทุกข์ในการยึดมั่นถือมั่นกับ

ความคิด เห็นการสื่อสารที่ชี้ออกนอกตัว มากกว่าชี้เข้ามาหาตัว วัฒนธรรมการชี้ออกในเฟซบุ๊คมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ชี้กันและกัน เกิดการพยายามปกป้องตัวเองว่าฉันเป็นฝ่ายถูก พยายามเรียกร้องว่าใครเป็นพวกฉัน ให้กดไลค์หรือกดแชร์ สิ่งเหล่านี้ตรงข้ามกับความสุขแบบโลกของธรรมะ โลกของการขัดเกลาภายใน เพราะการชี้ออกนอกตัว เป็นการสร้างความขัดแย้ง

แต่การชี้เข้าหาตัวเอง จึงเป็นการสร้างความเข้าใจ เกิดอะไรขึ้น? ทำไมเรา

ถึงคิดต่าง เกิดอะไรขึ้น? ทำไมเราถึงโกรธ ทำไมใจเราถึงมีคำพูดแบบนี้ กระบวนการชี้ออก ได้ลงรากลึกมาก เราเลือกที่จะ…ปั้ง! (ทำนิ้วชี้เป็นปืน)… มองหาเหยื่อแล้วเหนี่ยวไกปืนใส่เขา ขณะเดียวกันนั้น โอกาสในการเจอต้นตอปัญหาที่แท้จริงภายในตัวเราจะหายไปเลย

GM : ในฐานะที่คุณเป็นคนไม่ชอบดูทีวี การมีหน้าจอติดตัวเราไปแทบจะตลอดเวลา ทำให้เราเป็นผู้เสพสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เทียบกับสมัยก่อนที่มีแค่จอทีวีตั้งอยู่ที่บ้าน คุณมีความเห็นอย่างไร

จิตร์ : หน้าจอแก็ดเจ็ตพวกนี้หลุดยากกว่าหน้าจอทีวีนะครับ เพราะมันติดตัวเราไปตลอดเวลา แถมมันยังมีเนื้อหาที่ Relevancy อย่างมาก คือมันมีความสอดคล้องกับความสนใจของเรา เพราะเราเลือกได้เอง พอเปิดเข้าไปดูหนังของผู้กำกับคนนั้น ก็มีหนังเรื่องอื่นให้ดูต่อไปได้อีกเรื่อยๆ พอฟังเพลงจบไป มันก็มี Related Videos ขึ้นมาบอกเราว่ามีอันนี้เกี่ยวข้องกัน เราก็จะเปิดดูไปได้เรื่อยๆ เลย ยิ่งเนื้อหาสอดคล้องก็จะยิ่งแกะออกยาก การศึกษาทางโลก

คือการเรียนรู้ว่าโลกนี้มีอะไร คนจึงรู้แต่สิ่งที่อยู่นอกตัว ตรงกันข้ามกับการศึกษาธรรมะที่เป็นการมองเข้าไปข้างใน เวลาที่เราใช้ไปในการมองออกไปข้างนอก เท่ากับว่าเสียโอกาสที่จะมองเข้ามาข้างใน มองออกไปข้างนอก

1 นาที ก็เท่ากับเสียโอกาสมองเข้าไปข้างในตัวเรา 1 นาทีเช่นกัน มองหน้าจอ

มากๆ ก็ยิ่งเสียโอกาสมองเข้าไปข้างใน ไปๆ มาๆ เมื่อเราคุ้นเคยกับโลก

ข้างนอกแบบใดแบบหนึ่ง ทำให้สนใจที่จะทำความรู้จักกับตัวเองน้อยลง สมมุติวันหนึ่งอินเตอร์เน็ตเกิดเสียขึ้นมา คุณไม่มี Wi-Fi ใช้ คุณจะรู้สึกแย่ทันที แต่ไม่เป็นไร คุณก็หยิบแท็บเล็ตขึ้นมาเล่นเกม หรืออ่านอะไรแบบออฟไลน์แทนก็แล้วกัน คือต้องคอยมองหาอะไรก็ได้ที่อยู่ข้างนอกตัวเอง ฉันเองคือ

คนสุดท้ายที่ฉันเองอยากรู้จัก ถ้าเผลอดำเนินชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระ เรียกการทำแบบนี้ว่าการส่งจิตออกนอก ภาษาที่เข้าใจง่ายหน่อยคือ เรียนรู้โลกภายนอก มากเสียจนเสียโอกาสที่จะสัมผัสกับตัวเอง จึงรู้สึกเหงา เงียบ ว้าวุ่น กระสับกระส่าย ผมว่าบางทีเราก็ต้องย้อนถามตัวเอง มีอะไรบ้างที่เราควรรู้ มีอะไรที่เป็นจุดหมายของเรา ถ้าเราบอกว่าขออุทิศชีวิตนี้เพื่อการรู้ภายใน การดำเนินชีวิตจะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าเราบอกว่าชีวิตนี้ขอเป็นคนเจนจบทางโลก รู้โลก จะเป็นคนอีกแบบหนึ่งเลยนะ

ในทุกวันนี้ ตอนเช้าๆ ผมใช้เวลากับการเปิดรับเรื่องราวจากภายนอก แอพพลิเคชั่นที่ผมใช้มากที่สุดคือ Flipboard มันจัดระบบระเบียบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้กับผมได้ดีมาก ในการทำงานรณรงค์เรื่องต่างๆ การตลาดเพื่อสังคม ผมและทีมงานต้องเรียนรู้ในเชิงลึก มีข้อมูลอะไรใหม่

ก็ต้องแชร์ถึงกัน มีโนว์ฮาวเรื่องนี้ มี Buzz Word นี้เกิดขึ้นมา ด้านการศึกษา

ก็ต้องรู้แพลตฟอร์มใหม่บนดิจิตอล ผมต้องมีความรู้ที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่น อยากรู้เรื่องนี้ก็ต้องรู้แหล่ง ไปค้นหาให้เจอ เสร็จแล้วก็นำออกมาใช้ อย่าเสียเวลาเอ้อระเหยลอยชายอยู่ในนั้นนานเกินไป

Flipboard แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต มีทั้ง iOS และ Android ใช้อ่านข่าวจากแหล่งต่างๆ นำมาจัดวางให้มีลักษณะคล้ายหน้านิตยสาร

GM : ขอดู Flipboard ของคุณได้ไหมว่ารับข่าวจากที่ไหนบ้าง

จิตร์ : มีอยู่หลายแหล่งเลยครับ

– ที่ชอบมากที่สุดคือ Brainpickings.org ของ Maria Popova เป็นอันดับ 1

ที่ผมเข้าไปดูมากที่สุด ผมชอบ Maria Popova ที่เธอเป็นคนแบบ Patternist คือจะคอยมองหารูปแบบของทุกอย่าง อย่างเวลามีอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้น เธอรวบรวมมาแล้วอธิบายว่าทั้งหมดนี่มันมีลักษณะร่วมกันอย่างไร

พวก Patternist จะเป็นนักถอดรหัสไปด้วยในตัว เธอเรียนมาทางด้าน Patternist และไปทำงานที่ซาทชิแอนด์ซาทชิ ในบล็อกนี้มีความรู้เยอะเลย

– Futurity.org เป็นแหล่งให้ผมคอยอัพเดทสิ่งใหม่ๆ

– ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ก็จะดูที่ Futurelab.net

– นอกจากนี้ Pickthebrain.com เรื่องราวเกี่ยวกับสมองโดยตรง

– ส่วนเรื่องธุรกิจและการตลาดเป็นเรื่องอะไรที่ต้องอ่าน ถ้าตามอ่าน

นิตยสารมาร์เก็ตเทียร์ไม่ทัน ก็จะเข้าไปอ่าน Harvard Business Review

– มีกราฟิกสวยๆ ที่ Designsponge.com นำเสนอเป็นวิช่วล

– Coolhunting.com เกี่ยวกับเทรนด์ แต่ดีไซน์ของเขาในเว็บไซต์ เปิดด้วยเบราว์เซอร์จะสวยกว่า เวลาออกมาบนหน้าจอแท็บเล็ตแล้วไม่สวยเลย

เฉิ่มๆ ไงไม่รู้ (หัวเราะ) แต่ก็ต้องเอามาแปะไว้เผื่ออ่าน

– Stanford Social Innovation Review มีบทความยาวๆ ประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4 รอให้สงบๆ ก่อนค่อยอ่าน

อ่านพวกนี้ก็เยอะพอแล้ว วิธีอ่านก็แล้วแต่ว่าจะสแกนอ่านให้ทั่วๆ ทุกเว็บ เพราะวันหนึ่งๆ จะมีของใหม่มาไม่กี่เรื่อง ถ้าอ่านได้ไวๆ ครึ่งชั่วโมงก็จะสแกนอ่านได้ 2 เว็บ หรือจะอ่านแบบแนวดิ่งไปเลย อย่างในวันเสาร์-อาทิตย์

ที่ผมต้องการหาข้อมูลอะไรลึกซึ้ง ก็อ่านเว็บนี้ดิ่งเข้าไปเลย อ่านย้อนหลังไป 7-8 วันเลย

GM : ตอนนี้คุณช่วยทำงานในโครงการอะไรที่ สสส. บ้าง

จิตร์ : สึกออกมาทั้งที ขอให้ได้ทำงานคุ้มค่าผ้าเหลืองหน่อย ปวารณาตัวให้ ยกตัวให้เลย ทำตัวให้เป็นเหมือนแอพฯ หนึ่งของที่นี่ ใครอยากให้ช่วยอะไรก็มาดาวน์โหลดผมไปใช้งานได้ เท่าที่ทำอยู่ตอนนี้มี 4 ส่วน แต่ต้องออกตัวก่อนว่าผมทำงานแบบ Behind the Scene จึงมีหน้าที่ช่วยดูแล ให้คำปรึกษาเท่านั้น ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาให้ศูนย์การสื่อสารฯ ที่เป็นห้องสมุด ก็คอยหาอะไรดีๆ เข้ามาใส่ เพื่อให้คุ้มกับเงินที่ลงทุนกันไป ดูแลแมกกาซีนสุข ดูแล

แบรนดิ้งใหญ่ของ สสส. และดูการสื่อสารทั้งหมดของ สสส.

GM : ตอนนี้แบรนด์ สสส. ในใจคนไทยเป็นอย่างไร คุณคิดว่ามีคนมอง สสส. ในแง่ร้ายบ้างไหม

จิตร์ : ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ได้คุยกันตอนที่ผมยังบวชเป็นพระ พอเขารู้ว่าผมจะสึกออกมาเพื่อช่วยงาน สสส. เขาก็บอก เออๆ พอดีเลย กำลังอยากด่า สสส. อยู่เลย (หัวเราะ) ผมก็ถาม อยากด่าอะไรช่วยบอกให้ฟังหน่อยได้ไหม เขาก็บอกว่า เรื่องการดื่มเหล้าที่ สสส. รณรงค์อย่างหนักเนี่ยะ ทุกวันนี้กลายเป็นมายาคติแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นมาโดย สสส. ทำให้คนคิดว่าเหล้ามันแย่อย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่จริงแล้วเหล้ามันไม่ได้เลวร้ายอะไรขนาดนั้นเลย เขาให้ความเห็นมาแบบนี้ ผมก็เข้าใจได้นะ อาชีพของนักโฆษณาก็คือการสร้างมายาคติหนึ่ง อาชีพของคุณทำนิตยสาร ก็สร้างมายาคติเหมือนกัน อย่างเรื่องการดื่มเหล้า ก็มีมายาคติอื่นๆ ที่อยู่มาก่อน คุณจะมองเรื่องนี้อย่างไรผมไม่รู้ แต่สำหรับ

ตัวผม การทำงานของ สสส. ที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ คือการละลายมายาคติเดิม แล้วสร้างมายาคติใหม่ขึ้นมาแทน อย่างเช่นก่อนหน้านี้ในทุกเทศกาล

เหล้าคือของขวัญที่พึงให้กัน ถ้าเป็นเช่นนั้น พอถึงปีใหม่ ผมอยากจะขอบคุณยามที่ดูแลพวกเราอย่างดี ผมก็ซื้อเหล้าให้เขาดื่ม แต่ถ้าคิดให้ดีๆ ลึกๆ แล้วเราอยากให้ยามที่ดูแลเราดื่มเหล้าไหมครับ การให้เหล้ากลายเป็น Norm หรือเรื่องที่ทำกันไปโดยที่เราไม่เคยตั้งคำถาม ถ้าดูเม็ดเงินที่อยู่ในธุรกิจสุรา มันใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ สสส. ได้รับมา มันเหมือนมวยคนละรุ่นเลย นี่คือความยากของการทำงานของ สสส. ว่าเอามายาคติใหม่ๆ มาสลายมายาคติเดิมๆ ในสภาพการณ์ที่ต้องทำงานหนักกว่า

GM : เราสามารถมองเหล้าแบบปลอดจากคติใดๆ เลยได้ไหมแล้วเปิดโอกาสให้ทุกคนตัดสินใจเอง เลือกที่จะดื่มหรือไม่ดื่มได้เองอย่างเสรี โดยไม่มีต้องมีองค์กรอะไรมาครอบงำความคิด

จิตร์ : นั่นคืออุดมคติเลยละครับ เราควรมองอย่างที่มันเป็น ผมเองเติบโต

มาจากครอบครัวคนขายเหล้านะครับ ธุรกิจที่บ้านของผมเมื่อก่อนเป็น

อิมพอร์ตเตอร์ นำเข้าเหล้า นำเข้าไวน์ ครอบครัวทำธุรกิจนี้มาตั้งแต่ก่อนผมเกิดเสียอีก แต่คุณเชื่อไหม เราเป็นครอบครัวที่ไม่ห้ามสมาชิกดื่มเหล้า เพราะเรามองมันเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เวลาที่เราปวดท้อง เราเอาเหล้า Gin

มาดื่มด้วยซ้ำไป ในงานเลี้ยงก็มีการดื่มกัน แต่ไม่ใช่ดื่มเหล้าจนเมาหัวราน้ำ ครอบครัวเราไม่มีใครดื่มเหล้าจนเมาหัวราน้ำสักคน เพราะเหล้าเป็นของ

ที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน บ้านเรามีวัฒนธรรมการดื่มในรูปแบบของวัฒนธรรมตะวันตก ในบ้านจึงไม่มีปัญหากับเหล้า ไม่มีใครเมาถึงขนาด

ขึ้นเสียงกับคนในบ้าน พอพ้นออกไปนอกบ้าน ตอนหนุ่มๆ ผมยังแปลกใจ

ว่าทำไมพ่อแม่เพื่อนคนอื่นถึงห้ามลูกดื่มเหล้า พอเพื่อนผมโดนห้าม

มากๆ เข้า เขาก็ดื่มเสียจนแย่ พ่อแม่ผมเองต่างหากที่ไม่เคยห้ามเรื่อง

เหล้าเลย เขาห้ามอยู่อย่างเดียว คือเวลาไปกินเหล้ากับเพื่อนข้างนอก ระวังอย่าไปกินโดนเหล้าปลอม พวกเหล้าที่เอามาลดราคาถูกๆ แอลกอฮอล์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย

ย้อนกลับมาเรื่องการรณรงค์ของ สสส. ทำไมต้องใช้งบประมาณมาทุ่มลงกับเรื่องนี้มากมาย เพราะผมคิดว่าบ้านเราไม่มีวัฒนธรรมการดื่มเหล้า

ที่ถูกต้อง ดื่มเพื่อเมา ป่ะ! เย็นนี้ไปเมากันเถอะ ตอนนี้การดื่มเหล้าใน

บ้านเรา ไม่ได้มีการตระหนักถึงผลที่ตามมา เป็นการดื่มแบบ Abusive Drinking ดื่มจนไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ รับผิดชอบผลของ

การกระทำตัวเองไม่ได้ เกิดเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง อีกประเด็นหนึ่งคือ

เรื่องราคา สมัยผมหนุ่มๆ ไปเรียนที่รัฐโอกลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา และในตอนนี้ ทุกปีผมจะไปอยู่ยุโรปช่วงซัมเมอร์ ผมลองเปรียบเทียบดูราคาเหล้าเบียร์ในต่างประเทศ พบว่าราคาไม่ได้แพงกว่าสินค้าอย่างอื่นเลย

ในขณะที่เมืองไทยเรามีภาษี มีตั้งราคาเหล้าเบียร์ไว้แพงมาก แต่กลุ่มคน

ที่ดื่มเยอะๆ กลับเป็นคนจน คนที่รายได้น้อย มันก็ยิ่งส่งผลร้ายต่อเขามากขึ้นไปอีก ผมมีความรู้สึกว่าประเทศของเรามีความทุกข์เยอะมาก ทุกข์จาก

ความยากจน ทุกข์จากความไม่เสมอภาค สังคมที่มีลักษณะเป็นฐานพีระมิด คนชั้นล่างจะไปพูดอะไรกับเจ้านายซึ่งอยู่บนยอดพีระมิดได้ง่ายๆ ได้อย่างไร คนไทยอยู่บนพื้นฐานของระบบชนชั้น มันฟังกันไม่ได้ ดังนั้น การดื่มเหล้า

จึงเป็นหนทางหนึ่งในการหนี เป็น Escapism หลีกหนีจากความเป็นจริงในชีวิต เมื่อไม่มีใครฟังได้ มันก็เป็นทุกข์ คนไทยเราเลยอยากกลบเกลื่อนสิ่งนั้น

GM : ความคิดแบบนี้ถือเป็นการเหมารวม หรือ Stereotype คนจนในประเทศไทยไหม อย่างที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์แคมเปญหนึ่งของ สสส. ที่บอกว่า ‘จน เครียด กินเหล้า’ ว่านั่นคือการที่องค์กรคิดแบบชนชั้นกลาง มาสร้างภาพเหมารวมให้กับคนจน

จิตร์ : การมองแบบ Stereotype ไม่ใช่เรื่องดีนัก ถือว่าเป็นจุดอ่อนของวิธีการรณรงค์แบบนี้ แต่ในการสื่อสารออกไปสู่วงกว้าง นักการตลาด นักโฆษณาเราต้องทำเหมือนกันนั่นแหละ คือการ Generalized กลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า หรือผู้ฟังของเรา สำหรับผมนะ ถ้าต้องมีใครสักคนหนึ่งที่ควรจะได้รับ

การปกป้องจากเรื่องเหล้ามากที่สุด ใครสักคนที่ควรได้รับการปกป้องก่อนแรกสุด ผมถามว่าเขาคนนั้นไม่ใช่คนที่มีรายได้น้อยเหรอ มันลำบากจริงๆ

นะครับ ชีวิตของเขาต้องจ่ายค่าเหล้า จ่ายค่าบุหรี่ จ่ายค่าเครื่องดื่มชูกำลัง

ผมรู้ปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนมาทำ สสส. เสียอีก เพราะเมื่อก่อนผมเคยทำงานวิจัยให้กับสินค้าเหล่านี้มาก่อน ผมรู้ตัวเลข รู้ความคิดเห็นของเขา รู้ว่าแต่ละเดือนๆ เขาจ่ายเป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อยๆ เลย ดังนั้น เวลาที่เราทำการ

สื่อสารแคมเปญอะไรออกไปในวงกว้าง อันดับแรกสุด เราก็ต้องเลือกหยิบใครสักคนหนึ่งขึ้นมา แล้วเอาคนคนนั้นมาเป็นตัวละคร ผมเรียกว่า Generalized ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าไม่ได้หมายความว่าคนจนทุกคนจะมีพฤติกรรมแบบนี้หมด หรือคนรวยจะไม่เป็นแบบนี้นะ คนรวยที่ร้ายกาจนั้นน่ารังเกียจกว่าคนจนอีกครับ คนรวยที่อยู่ข้างถนน เขามีอิทธิพล มีรถความเร็วสูง มีอาวุธครบมือ เมื่อเมาขึ้นมาก็อันตรายกว่าคนจน แต่คนกลับมองเข้ามาว่าเรา Stereotype บ้างล่ะ เป็นละครคนจนบ้างล่ะ แบ่งแยกชนชั้นบ้างล่ะ ซึ่งถ้าจะให้ผมสื่อสารไปถึงคนรวยก็ได้เหมือนกัน ตัวละครคนรวยจะต้องน่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ

GM : ทำไมเรื่องศีลธรรม ความดี ในทุกวันนี้ จึงถูกตีโต้ด้วยเรื่องชนชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

จิตร์ : ผมคิดว่าการอ้างเรื่องชนชั้น เป็นการอ้างที่จะได้เสียงสนับสนุนร่วมด้วยเสมอ สามารถบิวท์ Common Rapport ได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าถามต่อไปว่าทำไมถึงต้องการให้ชนชั้นล่างเข้ามาร่วมอยู่ในพวกเดียวกัน คำตอบก็เพราะชนชั้นล่างเป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งนี่ก็จะย้อนกลับไปเรื่องปัญหาชนชั้น ความไม่เสมอภาคกัน ความทุกข์ในสังคมไทย ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่ผมคิดว่าทุกคนต้องยอมรับกันบ้าง และต้องมองเห็นส่วนดีของกันและกันบ้าง เพราะทุกอย่างย่อมมีจุดโหว่ โฆษณาของ สสส.

ยาวแค่ 30 วินาที จะให้อธิบายหมดทุกปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วนได้อย่างไร นี่ไม่ได้ช่วยแก้ตัวแทน สสส. นะ แต่มันคือวงการโฆษณาทั้งหมด ถ้าเราเลือกเอาข้อดีของเขาไปใช้บ้างได้ไหม ถ้าเราตั้งแง่และหาจุดอ่อน ทุกๆ อย่างก็จะมีจุดอ่อน ทุกคนมีจุดอ่อนเหมือนกันหมด เหมือนที่ผมบอกเอาไว้ว่า เราอยู่ในสังคมที่ชี้ออก และก็เล็งใส่กัน ที่สุดก็จะทำอะไรกันไม่ได้เลย

GM : ความดีมีอยู่จริงไหมครับ หรือความดีเป็นแค่สิ่งสัมพัทธ์แค่นั้น

จิตร์ : ทั้งความดีและความชั่ว ก็เป็นสิ่งสัมพัทธ์ทั้งนั้น จะดีจะชั่วก็ขึ้นกับบริบท

GM : ถ้าความดีเป็นแค่สิ่งสัมพัทธ์ เวลาคุณจะรณรงค์เรื่องอะไร

ต่อจากนี้ไป ก็ควรจะต้องระบุด้วยไหม ว่านี่คือสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรทำในบริบทของคุณเอง

จิตร์ : การสื่อสารที่ชัดเจนที่สุดก็คือ One-to-one ใช่ไหมครับ แต่พอเราทำงานสื่อสารเป็น One-to-many เราก็แทบจะไม่สามารถเดาได้เลยว่าผู้ฟัง

ผู้ชมที่แท้จริงคือใครบ้าง ต้องใช้กลยุทธ์แบบไหน ที่สุดก็เลยต้อง Generalize กันขึ้นมา ซึ่งคุณก็มองว่าเป็นการ Stereotype อีก ตกลงเราจะได้ทำอะไร

กันไหม ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นมิติเชิงการค้า พวกนักการตลาดสินค้าต่างๆ เขาก็ทำของเขาไปเรื่อยๆ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบ สสส. ด้วยนะ ทุกวันนี้ พวกเราทำงานให้กับ สสส. จะใช้เงินกับเรื่องอะไรก็ตาม เราระมัดระวัง

เป็นพิเศษ เพราะเรารู้ตัวดีว่านี่คือเงินภาษีของประชาชน ต้องคิดกันให้ดีๆ ตอนนี้เราเป็นเหมือนตัวแทนประชาชน จะเงินร้อย เงินพัน เงินหมื่น

ไปกับการผลักดันเรื่องอะไรในสังคมไทย เราก็ต้องคิดให้รอบคอบ ซึ่งผมยอมรับว่าประชาชนจะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ เพราะต้นทุนที่เราใช้รณรงค์อยู่ เป็นเงินของคุณ

GM : ในห้วงเวลาที่สังคมไทยไม่มีความเห็นพ้องในเรื่องอะไรเลยการทำงานรณรงค์เพื่อสังคมจะยากขึ้นมากแค่ไหนครับ

จิตร์ : เราทุกคนกำความเชื่อของตัวเองไว้ ทุกคนมีสิทธิ์เชื่อ ทางธรรมท่านได้สอนไว้ ว่าให้ลองแบมือออก แล้วจะพบว่าเราไม่ได้เป็นอะไรเลย เราไม่ได้มีอะไรเลย แต่ตามปกติ คนเราจะไม่สามารถทรงอยู่ในอารมณ์นั้นได้ เราจึงต้องเป็นอะไรสักอย่าง เชื่ออะไรสักอย่าง เพื่อให้ตัวตนมีอยู่ ทำให้ความเชื่อต่างๆ มันค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ทางธรรมท่านสอนไปอีกทางหนึ่ง

คือให้ดึง Notion ต่างๆ ออก ดึงความยึดมั่นถือมั่นออก แต่ก็ต้องระวังกัน

ด้วยนะ เพราะขณะที่คุณดึง Notion หนึ่งออกไป คุณก็อาจจะกำลังผลัก Notion บางอย่างเข้ามาใส่ อย่างเรื่องการกินมังสวิรัติของผม แล้วมีคนมา

บอกว่า คุณต้องกินน้ำเต้าหู้ด้วยนะครับ มันเยี่ยมมาก คนเราสมัยนี้ต้องเลี่ยงนมวัวนะครับ เพราะวัวเดี๋ยวนี้มัน…บลา…บลา And so the story goes

พูดกันไปได้เรื่อย การกินมังสวิรัติในที่สุดก็กลายเป็นเรื่องอื่นไปได้เลย

และผมเชื่อว่าการแสดงสิทธิ์ การแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องที่ควรกระทำ

ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่พวกเราเชื่อบางเรื่องเป็นความเชื่อชั่วคราวเท่านั้นด้วยซ้ำ

GM : นอกจากเรื่องความดีแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามกันมาก คือการมองโลกในแง่ดี ว่าการมองโลกในแง่ดีแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาทางชนชั้น ปัญหาทางการเมือง

จิตร์ : ผมคิดว่ามีคนพูดถึงปัญหากันเยอะแล้ว และการพูดถึงปัญหาก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใช่ไหม บางทีคนชอบพูดว่า เรามาพูดถึงปัญหากันเถอะ

พูดไปแล้วสรุปได้ไหมว่าทางออกของปัญหาคืออะไรล่ะ ผมเคยไปเป็นวิทยากรให้กลุ่มเครือข่ายพลังบวก งาน Ignite Thailand สิ่งที่พวกเราทำ ศัพท์ทางธรรมเรียกว่าการแสดงมุทิตาจิต เพื่อแก้ไขความรู้สึกที่เรา

ไม่สามารถเข้าถึงความดีความงามของกันและกันได้เลย ที่ผ่านมา เราพยายามบอกว่าเขาทำในส่วนของเขาดีแล้ว ทุกๆ คนได้ทำในส่วนของตัวเองได้ดีอยู่แล้ว ถ้าบอกว่าสิ่งเหล่านี้ที่พวกเราทำมันผิด แล้วจะให้ทำอะไร เรามา

ไม่รักกันเถอะ แบบนี้ก็ไม่ใช่อีก ถ้าจะตั้งคำถามว่าพวกเราชวนฝันจังเลย

แล้วผมสงสัยว่ามันผิดด้วยหรือที่เราจะฝันในเรื่องดีๆ

การอยู่กับโลกได้โดยไม่เจ็บ ก็ต้องเห็นโลกตามความเป็นจริงนะครับ

แต่นอกเหนือกว่านั้น เราควรมีความหวังว่าโลกนี้จะดีขึ้นได้ ดังนั้น ระหว่างที่เห็นตามความเป็นจริงแล้ว เราควรรู้จักมองในแง่บวกและมองด้านลบไปพร้อมๆ กัน การมองตามความเป็นจริง คือประเมินสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ส่วนการมองด้านบวกและด้านลบก็คือการทำ Scenario Planning ไงล่ะครับ คือเราจะเห็นทั้ง Positive Projection และ Negative Projection ไปด้วย

พร้อมกัน เหมือนกับการเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ เรารู้ได้ล่วงหน้าว่าถ้ากระตุ้นเขาด้วย A B C D แล้วด้านบวกจะเกิด แต่ถ้าเรากระตุ้นด้วย D E F G

แล้วด้านลบก็จะเกิด มันทำให้เราสามารถดำเนินงาน หรือดำเนินชีวิตไปได้โดยไม่สุ่มเสี่ยง เพราะได้ประเมินถึงผลที่จะเกิดไว้แล้วครบทุกทาง การคิดบวก

ก็เพื่อให้เรามองถึงความเป็นไปได้ สมมุติเรามีต้นไม้สักต้น จะคิดบวกหรือ

คิดลบดีล่ะ ถ้าอยากให้เขาโตต้องรดน้ำพรวนดิน ถ้าอยากให้เขาตายก็ทำ

ตรงกันข้าม ไม่รดน้ำพรวนดิน เติมสารเคมีเยอะๆ เราเองอยู่ในโลกปัจจุบันเป็นคนเลือกชะตาประเทศไทย จะพลิกหงายหรือจะพลิกคว่ำเท่านั้นเอง

GM : แล้วใครคือคนที่จะตัดสินว่าชะตากรรมของประเทศไทยควรไป

ทางไหน ในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง หรือในฐานะของเสียงส่วนใหญ่

จิตร์ : ถ้าจะบอกว่าในฐานะปัจเจก ก็อาจจะดูสุดโต่งเกินไป แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อเสียงส่วนใหญ่ไปเสียทุกเรื่อง ถ้าผมเป็นคนประเภทที่ทำตามเสียงส่วนใหญ่ทั้งหมด ผมก็คงจะไม่ได้เดินเข้าวัด ผมคงไม่ได้เป็นคนแบบนี้ในวันนี้ สำหรับผมนะ ผมเลือกเดินตามครูบาอาจารย์บางคน ผมเลือกอ่านหนังสือบางเล่ม โดยไม่ได้เลือกอ่านตามที่คนส่วนใหญ่ชอบอ่านกัน อาจไม่ต้องเป็นหนังสือขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ หรืออาจจะเป็นก็ได้ การเลือกครูนั้นสำคัญ

และการเลือกเดินตามคนหมู่มากก็ต้องระวัง แต่ผมสามารถอยู่ร่วมกับคน

ส่วนใหญ่ได้ โดยการทำความเข้าใจ ว่าความคิดของเขามาจากไหน อย่างเช่นผมถามคุณหน่อย ว่าคุณเคยไปยืนต่อแถวซื้อคริสปี้ครีมไหม คุณเองก็เลือกที่จะไม่ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณรังเกียจคริสปี้ครีมใช่ไหม ถ้าผมเดินผ่านร้านโดนัทร้านนี้แล้วเกิดหิวขึ้นมา มองเข้าไปก็เห็นว่า เอ! ทำไมคน

ต่อแถวกันเยอะจัง มันน่าจะมีอะไรดีหรือเปล่าโดนัทเจ้านี้ จะเข้าไปซื้อมา

รับประทานดูสักชิ้นเพื่อเปิดหูเปิดตาก็ไม่เห็นเป็นอะไร เรายังต้องอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ แล้วจะไปขวางโลกทำไม เราไม่ได้หลุดออกไปจากโลก โดยเฉพาะการออกมาเป็นคนรับใช้สังคม ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีตเช่นนี้

เราไม่สามารถทำให้โลกแห่งความสงบของเราคับแคบอยู่แค่ในห้องนอนหรือบ้านเราได้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนทุกข์มันก็อยู่ตรงนี้ ที่กลางอก สุขก็อยู่กลางอก ปล่อยวางก็กลางอก

ผมคิดว่าเราอยู่อย่างมี Passion แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น คำสอนเซนบอก

เอาไว้ว่า ชาวนาชาวสวนที่ดี จะละจากสวนของพวกเขาในสภาพที่ยังดีอยู่ หมายความว่าเราอยู่ที่ไหน ทำมาหากินอะไร ก็ทำนุบำรุงที่นั่นให้ดีงาม เราจะไม่เป็นคนทำไร่เลื่อนลอย เผาป่าเสร็จ ลงเคมี เก็บเกี่ยวเสร็จ ก็ย้ายไปหา

ที่ใหม่ นั่นไม่ใช่การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ลูกหลานตามวิถีเซน ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหน เวลาพวกเราลาจาก ต้องจากไปด้วยสภาพดิน

ที่สมบูรณ์ดีอยู่ ผมเองก็มี Passion ที่จะรักษาที่นี่ไว้ และจะเอาทักษะที่มีอยู่ ทำให้โลกนี้น่าอยู่ หรืออย่างน้อยก็ให้เราพออยู่ร่วมกันได้ พวกนักการตลาดที่ดี ก็ต้องมีส่วนดูแลผู้บริโภค ไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบจนสุดท้ายผู้บริโภค

หนีหายหมด เขามีคำกล่าวว่า ถ้าจะ Grow Brand ก็ต้อง Grow Market ด้วย ถ้าจะ Keep Market Alive ก็ต้อง Keep Consumer ด้วย ผมทำงานอยู่กับแนวคิดอย่างนี้มาตลอด แบรนด์ที่คิดจะอยู่ยั้งยืนยงโดยเฉพาะแบรนด์ไทย ตอนเริ่มต้นใหม่ๆ ก็จะต้องชวนผู้คนให้ทดลองใช้สินค้าของตนเองเป็นครั้งแรก โดยการลดแลกแจกแถม การเริ่มต้นครั้งแรกถือว่ามีต้นทุนการตลาดสูงมาก และถ้ามันดีจริง คนก็จะซื้อสินค้าครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ต่อไปเรื่อยๆ คุณจึงจะคุ้มทุนและได้กำไร การทำธุรกิจในโลกสมัยใหม่ เป็นไปไม่ได้หรอกที่คุณสร้างขึ้นมาแล้วขายลูกค้าเพียงครั้งเดียว ทุกแบรนด์ต้องยอมลงทุนก้อนใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราไปตลอดชีวิต คิดดูสิว่า ชั่วชีวิตคนคนหนึ่งถ้าใช้สินค้านั้นต่อเนื่องไปตลอดชีวิต จะสร้างมูลค่าให้มากแค่ไหน

GM : ในชีวิตนี้ คุณติดแบรนด์อะไรบ้าง

จิตร์ : (คิดนานมาก) … ผมชอบมูจิ เวลาไปซื้อของ ผมขี้เกียจไปลอง ไปเลือก เสื้อผ้าเขาเหมือนๆ กันหมด รู้สึกว่าเขาคัดมาเป็นพิเศษแล้ว และปกติผมชอบใส่เสื้อขาว

ชื่อแบรนด์มูจิ ย่อมาจากภาษาญี่ปุ่น Mujirushi Ryhin แปลว่าสินค้าคุณภาพดี โดยไม่ต้องแปะป้ายยี่ห้อ

GM : เพราะเสื้อผ้ามูจิไม่มีป้าย ไม่มีโลโก้ใดๆ ติดอยู่เลยใช่ไหมแบบนี้คุณใส่กางเกงยีนส์ ใส่รองเท้า คุณต้องเลาะสัญลักษณ์ต่างๆ ออกหรือเปล่า

จิตร์ : (หัวเราะ) ไม่ถึงขนาดนั้น หลักการของผมคือเลือกเสื้อผ้า

เครื่องแต่งกายที่ไม่มีลายอะไร แค่นี้ก็พอ เสื้อผ้าที่ลายเยอะๆ ตะเข็บเยอะๆ ผมไม่เอา เสื้อผ้าที่ดูโฉ่งฉ่างผมมีไม่เยอะ ผมไม่ใช่พวก Forefront Man หรือคนที่ยืนแถวหน้าโดดเด่น ผมชอบอยู่เงียบๆ อยู่ข้างหลัง

GM : ทุกวันนี้คุณรวยแค่ไหน

จิตร์ : รวยมากๆ ครับ (ยิ้ม)

GM : เดาว่าคุณหมายถึงรวยความสุข ความพอเพียง อะไรทำนอนั้นแน่ๆ

จิตร์ : (หัวเราะ) นั่นแหละ มันก็เป็นสิ่งสัมพัทธ์อย่างที่คุณว่าไงล่ะ

GM : อยากถามเป็นเรื่องตัวเงินจริงๆ ว่าคุณคงต้องทำงานหนักเก็บเงินได้เยอะ จึงสามารถมาทำงานเพื่อสังคมแบบนี้ได้ใช่ไหม

จิตร์ : มันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องร่ำรวยก่อนถึงจะเป็นคนดีได้ ความดีไม่ได้

ขึ้นกับฐานะ ชาวบ้านในต่างจังหวัดเสียอีกที่ผมพบว่าพวกเขาอ่อนโยน

น่ารักกว่า แต่ผมก็ไม่ได้จะ Stereotype คนร่ำรวยว่าเป็นคนไม่ดีนะ ผมแค่คิดว่าความร่ำรวยจะทำให้เราทำอะไรๆ ได้ยากขึ้นไปอีก เพราะเงินทองสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมรอบตัวเราได้ ทำให้ผมมีความสุขภายนอกได้ เช่น

รถติด ผมก็ขึ้นเครื่องบิน ถ้าเครื่องบินช้าไป ก็ขึ้นไพรเวทเจ็ต ถ้าผมมีเงิน

ถึงระดับหนึ่ง ผมสามารถทำให้ตัวเองไม่ต้องพบกับความทุกข์ได้เลย ที่อยู่

คับแคบผมก็เช่าห้องใหญ่ ห้องใหญ่ไม่พอ ผมก็เช่า 2 ห้อง ผมมีโอกาส

เป็นคนที่ไม่ได้เห็นทุกข์ได้มากด้วยซ้ำ คนที่เรียนรู้ว่าทุกข์ที่แท้มันอยู่ตรงนี้

(ชี้ไปที่หัวใจ) แล้วก็เลือกที่จะไม่ไปจัดการหรือควบคุมสิ่งภายนอก

เพื่อนๆ ที่รู้ว่าผมเรียนจบมาทางสายการเงิน ก็ชอบมาถามเสมอว่าจะวางแผนเกษียณอายุอย่างไรดี ผมบอกว่าสำหรับผมนะ ก็เก็บเงินไว้จำนวนหนึ่ง แล้วเราก็ลดฝั่งรายจ่าย โดยลดรสนิยมลงไป ถ้าผมใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม

ป่านนี้ผมมีเงินเท่าไรก็ไม่พอ ใส่เสื้อผ้ามีลายบ่อยๆ ก็เบื่อเหมือนกันนะ ผมใส่เสื้อผ้าสีพื้น มันก็ใส่ได้เรื่อยๆ อย่างสีขาว สีฟ้าอ่อน กางเกงสีกากี ตอนเตรียมกระเป๋าเดินทางไปไหนมาไหนนี่เร็วมากเลยนะ เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าตามจำนวนวันที่เดินทางได้เลย ไม่ต้องเลือก คนอื่นสามารถแพ็คกระเป๋าแทน

ได้เลยด้วยซ้ำไป และอีกประการที่สำคัญ คือพยายามดูแลตัวเองให้สุขภาพดี ดูแลจิตใจให้ดี ผมเห็นมามาก คนที่ทำงานหนักจนวัยเกษียณแล้วก็ต้อง

เจ็บป่วย หลักๆ เลยนะ คือลดไลฟ์สไตล์ รักษาสุขภาพ และพร้อมกับฝากความดีความงามไว้กับทุกที่ ผมช่วยทำงานให้กับหลายหน่วยงาน หลายองค์กร อย่างตอนนี้นะ สามารถไปอยู่เชียงรายสักอาทิตย์หนึ่ง โดยไม่ต้องเอาเงินติดตัวไปด้วยสักบาท ไปอยู่ขอนแก่นได้โดยไม่ต้องเอาเงินติดตัวไปเลย เพราะมีเพื่อนฝูง มีคนที่รัก ผมจะนอนบ้านไหนล่ะ นี่คือการลงทุนในแบบ

ของผม เงินจากการทำงานผมบริจาคออกไป ที่เหลือก็ใช้เท่าที่จำเป็น ตอนนี้วางแผนให้กับตัวเองไว้ว่าอีกประมาณ 3  ปี จะหาหนทางทำงานแบบอื่น

คือเราต้องยอมรับกันนะ ว่าพวกเราทุกคนมีความรู้ มีโอกาส มีโนว์ฮาว

มีฐานคิด มีการงานต่างๆ เหล่านี้เป็นต้นทุนที่สังคมเอามาฝากไว้กับเรา หน้าที่ของเราคือจากนี้ไป เราก็จะต้องส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับคนรุ่นต่อไป ไม่ได้คิดว่าตอนนี้ฉันเก่ง พวกคุณต้องมาเป็นลูกศิษย์ลูกหานะ แต่เราจะผ่องถ่าย

สิ่งดีๆ ออกไปผ่านการทำงาน และถ่ายทอดโอกาสที่ได้รับจากสังคม กลับไปให้คนรุ่นต่อไป อย่างเรื่องการตลาดเพื่อสังคม ดูสิ! ทุกวันนี้มีสอนที่ไหนกันล่ะ แต่ผมเป็นมนุษย์ขยันไง มาๆ เดี๋ยวผมจะทำงานนี้ให้ แล้วจะส่งมันต่อไป

จะบุกเบิก เอาด้ามพร้าฝ่าเข้าไปให้มันเกิดขึ้น

GM : เคยเห็นคลิปในยูทูบ ที่คุณเป็นวิทยากรสอนเรื่องแบรนดิ้งให้กับผู้ประกอบการเพื่อสังคม

จิตร์ : สายงานนั้นคือ Sub-organization ของ สสส. ชื่อว่า สกส. สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (TSEO) กำลังมีคนสนใจงานด้านนี้

กันเยอะเลย โดยเป็นคนหลายสาย สายหนึ่งเป็นเอ็นจีโอที่อยากปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่ต้องรอขอทุน แต่การจะไปขอทุนจากใครในช่วงเศรษฐกิจอย่างนี้มันยาก เขาก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้กลยุทธ์การตลาดเข้าช่วย ผมคิดว่าการอยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นสิ่งดี เพราะมันคือการคิดแบบครบรอบ ไม่ได้คิดแค่เรื่องขอทุนไปใช้ แต่ต้องคิดหาวิธีทำให้ตัวเองอยู่ได้ ผมก็พยายามคิดหาทางสอน ว่าต้องไม่ขมฝาด เป็นวิชา Branding for Non-marketeer คืองานตอนนี้ ผมพยายามส่งความรู้ออกไปสู่คนที่เขาต้องการใช้ ในรสชาติที่ไม่ขมฝาดเกินไป

แล้ว 3 ปีจากนี้ อาจจะมี New Beginning มี Chapter ใหม่ของชีวิตผม

ผมจะไปทำงานภาคการเกษตรมากขึ้น เพราะเชื่อว่าในภาคอาหารการกินของเราในยุคต่อไป หากเรายังบริโภคอย่างเร็วจี๋เหมือนทุกวันนี้ ในอนาคตเราจะลำบาก ผมอยากจะลองไปปลูกพืชอาหาร ปลูกพืชพลังงานทดแทนเผื่อ

ไว้ให้ เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวของผมนะ เวลาทำงาน ถ้าเราคิดว่าเราเป็น

ส่วนหนึ่งของโลก ไม่ได้คิดแค่คำว่า ‘ฉัน’ เพราะเราคือส่วนหนึ่งของโลก

ถ้าคนอื่นมีสภาพชีวิตย่ำแย่ เราจะอยู่สบายได้อย่างไร ในความคิดผม คิดถึงคำว่า ‘เรา’ คือไม่ได้คิดแค่ ‘ฉัน’ แต่คิดว่าเป็น ‘เรา’ ตอนนี้เริ่มทำแล้วที่อุดรธานี เป็นปีแรกที่ผมไปทดลองสีข้าวเอง สีด้วยมือนะ สนุกดี มีเพื่อนไปช่วยทำด้วย 3-4 คน ได้ข้าวประมาณ 6 กิโลกรัมต่อ 2 วันนะ เล่นบ้าง ทำบ้าง มีนาทั้งหมด 9 ไร่ แต่ผมแบ่งข้าวมาประมาณ 3 ไร่ นอกนั้นก็ยกข้าวให้

คนปลูก เพราะเรายังทำอะไรไม่เป็นเลยนะเรื่องนา เรียกว่ามีที่ดินอยู่ ก็แทบจับเสือมือเปล่า จึงควรแบ่งผลประโยชน์ให้คนทำงานจริงๆ ถ้าทำนาแล้วเราไม่ได้ข้าว เราก็ยังสามารถซื้อข้าวกินได้ แต่ชาวบ้านที่มาช่วยงาน คือเขาต้องอดเลยนะ การไปทำนาที่อุดรธานี ทำให้ผมเข้าใจเลย เวลาได้ยินคนพูดว่าอีสานแล้งเป็นอย่างไร รู้ได้เลยจริงๆ ว่าอีสานมันแห้งแล้งขนาดไหน ชาวนาชาวสวนถึงกับต้องขโมยน้ำกันใช้

GM : แล้วจะมีเวลามาศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม อยู่อีกหรือครับ

จิตร์ : มันเป็นเรื่องของคำที่เราใช้เรียกนะครับ อย่างคำว่า นิพพาน

ท่านหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ อธิบายว่ามันคือ Total Liberation คือการเป็น

อิสระอย่างสมบูรณ์ โดยไม่เห็นมีใครบอกเลยว่าเราต้องไปอยู่ที่ไหน ต้องบวช

อยู่ที่วัด หรือต้องนั่งสมาธินิ่งๆ ผมคิดว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของใจอย่างเดียว อิสระมันอยู่ในนี้ (ชี้ไปที่หัวใจ) ไม่ใช่ที่นี่ ที่นั่น แต่เป็นที่นี่ ถ้าเราเข้าใจ

แก่นแท้ของการปฏิบัติธรรม เราก็สามารถทำในรูปแบบที่เหมาะสมกับ

สภาพการณ์ของเรา

GM : แปลว่าการทำงานบุกเบิกโลกข้างนอก แต่ข้างในใจก็มีอิสระ มีความสุขสงบได้หรือ

จิตร์ : ได้แน่นอน ถ้าเราสามารถยอมรับสภาพ ยอมรับเงื่อนไขของมันได้ แบบนี้ก็จะไม่เป็นทุกข์ แต่บางครั้งเราไปยกให้ตัวเองดูดี ไม่ให้ตัวเองมีตำหนิ ทำไมไม่ยอมรับล่ะว่า เราเป็นมนุษย์ปกติ แล้วเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นน้อยลง จะได้รับการอภัย ถ้าเชื่อในพลังของการ

ให้อภัย เราปรับปรุงตัวเอง จะพัฒนาเป็นคนที่ดีขึ้น สร้างปัญหาน้อยลง

ในทุกๆ วัน ตอนสมัยที่ทำงาน ก่อนไปบวช ผมก็ฝึกฝนได้ระดับหนึ่ง และก็พบว่ามีอิสระอย่างเด็ดขาดขึ้นตอนได้เข้าไปอยู่ในวัด ซึ่งมีสภาวะเงื่อนไขที่เอื้อ แล้วพอสึกออกมา ก็ได้รู้ว่าความไม่ชอบมันอยู่ที่ใจ มันมาพร้อม Notion ต่างๆ ว่า ‘ฉันเป็น’ ‘ฉันจึง’ ‘ฉันโน่นนี่’ เต็มไปหมด คำว่า ‘ฉัน‘ ทำให้ปวดหัว

ความปรารถนาที่เราจะดีดตัวออกจากเสียงนี้ (ดีดนิ้ว) เสียงนี้อยู่ข้างใน

ว่าเวลาดีใจ ใครมากล่าวชื่นชม ก็ดีใจตัวลอย เราฝึกที่จะไม่ล่องลอยไปตาม

คำชม มองใจว่าเป็นเหมือนตัว Pacman ที่งับไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรที่จะ

ไม่ไปงับแบบนั้น เวลาเครียด ก็เกิดจากการที่เรามีความคาดหวัง ไม่เหมาะสมกับความจริง แล้วเราก็ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการทำให้ความจริง

กับความหวังเป็นสิ่งเดียวกันให้ได้

GM : ถ้าแคมเปญออกมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าผลงานออกมาแล้วไม่ดี คุณจะเครียดไหม

จิตร์ : ผมรับผิดชอบกับสิ่งที่คิด สิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ แต่ผมไม่เครียดนะ

รับผิดชอบหมายถึงยินดีที่จะเข้าไปปรับปรุง แก้ไข และเรียนรู้จากมัน แต่จะไม่ไปแบกความรู้สึกหรือจมอยู่กับความรู้สึกนั้น ผมค้นพบว่า การทำงาน

เป็นที่ปรึกษาให้อะไรๆ มากเลย ถ้าไหวพริบทางอารมณ์ของผมเท่ากับ

คนทั่วไป มีหรือที่บริษัทเครื่องดื่มระดับโลกจะจ้างผมเป็นที่ปรึกษา ในขณะที่คณะกรรมการบอร์ดนั่งกันเป็นสิบคน เด็กไทยคนนี้เป็นใครมาจากไหน

หูเราไวกว่า ใจเรากว้างกว่า ที่จะพอหยิบของคนอื่นมารวมกันแล้วกลาย

เป็นของใหม่ ในใจเรามีความกลัว แต่ไม่มีความโกรธ ในการแสดงออกเราก็ต้องแอ๊บว่าไม่กลัว

GM : เวลาพรีเซ้นต์งาน คุณต้องเก็บความกลัวไว้ด้วยใช่ไหม

จิตร์ : ความกลัวเกิดขึ้นแน่นอน แต่เราแค่ปล่อยให้ความกลัวมานั่งอยู่ข้างๆ ไม่ใช่มาเกาะกุมอยู่ในใจ เราใช้ความกลัวที่กำลังพอดี คือรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่สามารถเกิดขึ้นได้ เราก็ทำงานต่อไปด้วยใจ ถ้าไม่กลัวอะไรเลย เราจะกลายเป็นคนประมาทไป แต่ถ้าเราดูความกลัวไว้ โดยไม่ไปวุ่นวาย

กับเขามากเกินไป เราจะมีอิสระภายในใจอีกแบบหนึ่งคือ ไม่ตื่นเต้น

ไม่หวาดระแวง อย่างเวลาผมเขียนหนังสือ ถ้าไม่ไปคาดหวังกับยอดขาย

มากนัก เขียนออกมาให้ดีที่สุด ใครจะอ่านหรือไม่อ่านก็เรื่องของเขา เพราะผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะเขียนเพื่อละความเป็น จิตร์ ตัณฑเสถียร รายได้ก็ยกให้

การกุศลไป แบบนี้ก็ไม่ต้องไปกลัวอะไร

ตั้งแต่ผมเรียนจบและเริ่มต้นทำงาน งานแรกสุดคือการดูแลการเงิน

ให้กับธุรกิจของครอบครัว ทำอยู่ประมาณ 2 ปี จากนั้นย้ายไปบริษัทเอเยนซี่โฆษณา ทำอยู่ 10 กว่าปี ก่อนมาตั้งบริษัทของตัวเอง 2 บริษัท เพื่อทำงานวิจัยอยู่ 10 กว่าปีเหมือนกัน ตอนแรกๆ ถามว่าเครียดไหม เครียดมากๆ เพราะ

ยังไม่รู้ ยังไร้เดียงสา ยังไม่รู้วิธีรอดในสายงานที่ทำ เหมือนคนตะกายดาว

ยังถือว่าโชคดีที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว อาชีพนักวางแผนกลยุทธ์โฆษณายังไม่มี

ใครทำกัน ไม่ต้องไปแข่งกับใคร แค่ให้ตัวเองไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครก็ดีมากแล้ว (หัวเราะ) ผมไม่เคยมีแรงจูงใจจากรางวัล เหมือนในเกมวอลเลย์บอล นักวางกลยุทธ์ก็คือตัวเซต คอยตั้งลูกให้คนอื่นตบลงในแดน

คู่แข่ง ตบให้จมพื้นไปเลย รางวัลจะเป็นของมือตบ และผมมีความสุขกับการเซตลูกแบบนี้

GM : จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการทำงานคืออะไร

จิตร์ : ก็แล้วแต่คนนะครับ สำหรับผม ตอนช่วงยุคแรกๆ ก็มีจุดมุ่งหมาย

แค่ว่าอยากทำโฆษณาที่ดี ให้สินค้าขายได้ พอโตขึ้นมาหน่อย ก็อยากทำให้แบรนด์ของลูกค้าเป็นที่รักในระยะยาว ต่างกับตอนยุคแรกที่อยากเห็น

ผลงานในระยะสั้นเลย เพราะเมื่อโตขึ้น ก็มีวิสัยทัศน์เริ่มมองไปได้ไกลขึ้น เห็นทั้งใกล้และไกล ถัดมาก็เริ่มเห็นหน้า เห็นหลัง เห็นบน เห็นล่าง ยิ่งขยันมากขึ้น ขวนขวายมากขึ้น เดินมาถึงจุดที่เป็นคนวางแผนกลยุทธ์ จะวางแผนกลยุทธ์ได้ต้องมีจิตวิทยาคน ทำสำรวจ พอชำนาญก็ขึ้นไปถึงระดับที่ปรึกษา ดูแล 30-40 แบรนด์ จ่ายเงินให้เราเป็นชั่วโมง วันละเป็นแสนๆ ก็มี ดูเหมือนเก่งนะ เขาคาดหวังจากเรามาก คำถามฉลาดๆ ที่ยิงใส่เราทุกวัน รวมเวลาทั้งหมดเป็นสิบปีที่ทำงานมาแบบนี้ จุดมุ่งหมายของผมในตอนนั้นก็แค่

ไม่อยากเป็นคนขี้โกงในคุณภาพของงานอาชีพนี้เท่านั้น

GM : ถ้าคนรอบข้าง สังคมรอบตัว ร้อนรุ่มขึ้น ต่อสู้แข่งขันถกเถียงกัน ทำร้ายกัน คุณจะอดทนเป็นคนพูดเพราะๆ พูดแต่เรื่องดีๆ แบบนี้ได้ไปอีกนานแค่ไหน

จิตร์ : ก็ถึงจุดที่เราต้องเลือกนะ ว่าถ้าปัญหาในสังคมมีมากอยู่แล้ว เราจะ

ไปเป็นเหมือนเขา หรือเราจะเป็นคนอีกแบบหนึ่งให้เขาเห็น ผมเชื่อนะ ว่าในระหว่างที่คนทะเลาะกัน จะต้องมีนาทีที่เขาเหนื่อยและหยุดพัก ถ้านาทีนั้นเขาได้ผ่านมาเห็น เฮ้ย! แถวนี้มีน้ำให้ดื่ม เขาจะเดินมาที่เรา ขอแค่มาดื่ม

สักคนหนึ่งก็พอ ผมไม่ได้เป็นมนุษย์ที่เชื่อในการสร้างโลกใหม่ แต่ผมเชื่อว่าเราต้องคอยสร้างทางเลือกอื่นๆ เอาไว้ให้คนมาพบเห็น ผมเป็นมนุษย์เรียลิสติก มันได้เท่านี้เพราะคอนดิชั่นพร้อมเท่านี้

GM : ทุกวันนี้ คุณดูมหรสพอย่างอื่นอีกไหม เช่น เพลง หนังอย่างเวลาลงรถไฟฟ้าขากลับบ้าน แวะดูหนังที่สยามสแควร์บ้างไหม

จิตร์ : ไม่ค่อยได้ดูหนังเลยนะ เพราะคิดว่ามันกินเวลาเราเยอะเกินไป

ส่วนใหญ่ดูบนเครื่องมากกว่า ดูล่าสุดคือ The Avengers ก็สนุกดี ผมอนุญาตให้ตัวเองมีความสนุกได้นะ แต่ไม่ได้ยึดติดความสนุก ไม่ใช่ว่าผมกินลูกชิ้น

อะร้อย อร่อย เมื่ออร่อยแล้วก็ต้องรู้ว่าความอร่อยแบบนี้มันไม่เสถียร ต้องรู้

ผลของมัน ถ้าคุณเคยเรียนเศรษฐศาสตร์ จะรู้ว่าความอร่อยแต่ละคำๆ

ยังไม่เท่ากันเลย จะไปเอาอะไรอีกล่ะ จานแรกหมดไปแล้ว จะเริ่มวุ่นวาย

ถ้าเรามัวแต่จะหาประสบการณ์แบบเก่า ต้องยอมรับว่ามันเป็นแค่ชุดประสบการณ์ 1 ชุดที่มาแล้วก็ไป แล้วก็ไม่ได้ยึดติดประสบการณ์นี้เหนือประสบการณ์นั้น สำหรับพวกเพลงเหรอ ผมเคยฟังเพลงมามากเสียจนไม่รู้

จะฟังอะไรแล้ว เมื่อก่อนที่บ้านเคยมีซีดีถึง 5 พันแผ่นเลยนะ ตอนนี้จะให้ซื้อ

ซีดีอะไรอีกล่ะ

GM : คุณอาจจะแก่เกินไปแล้วสำหรับการเริ่มต้นฟังเพลงใหม่ๆมีคนเคยกล่าวว่าเราฟังเพลงใหม่ไปจนถึงอายุ 30 เท่านั้นแหละ หลังจากนั้นเราจะฟังแต่เพลงที่เคยคุ้นมาแล้วตลอดชีวิต

จิตร์ : โอ้ว (หัวเราะ) ผมยังฟังเพลงของศิลปินใหม่ๆ อยู่นะ ผมยังรู้จัก

วงปีศาจแบนด์ เป็นวงอะคูสติกที่เป็นแบ็คอัพให้ เป้ อารักษ์ อย่างตอนนี้

ผมไปเป็นที่ปรึกษาทำกิจกรรมให้วัดปทุมวนาราม เขาบอกว่าจะมีแป้งโกะ

มาร่วมกิจกรรม ผมก็งงสิ แป้งโกะคือใคร ต้องรีบไปรีเสิร์ชใหญ่เลยว่าแป้งโกะคือใคร (หัวเราะ) การจะสื่อสารกับคนอื่นได้ เราก็ต้องติดตามวัฒนธรรม

ร่วมสมัยไปให้ทันด้วย ถ้าไม่ตามเราจะทำให้คนอื่นเสียเวลาแบบนี้ เพราะโลกนี้คือรหัส เวลาผมเดินห้างสรรพสินค้า ก็เห็นว่าเขาผูกรหัสอะไรเอาไว้

มูจิคืออะไร อเล็กซานเดอร์ แมคควีน คือใคร

GM : แล้วเรื่องความรู้สึกทางเพศล่ะ สำหรับผู้ชายอายุ 40 กว่าอย่างคุณ

จิตร์ : ผมไม่ไปกระตุ้นมัน และผมก็เป็นคนประเภทที่ไม่ถูกกระตุ้นได้ง่ายๆ โดยพวก Porn Material ทั้งหลายอยู่แล้ว นี่เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่ยังพบความสุขที่สูงกว่านั้น เหมือนกับถ้าคุณเป็นคนที่กินกาแฟประจำ คุณจะรู้ว่ากาแฟที่กิน อันไหนดีกว่าอันไหน ถ้าวันนี้ผมเจอความสุขชั้นเยี่ยมในใจแล้ว ความสุขอื่นๆ ก็ไม่ใช่เบ็ดที่จะมาตกผมได้สำเร็จ มันไม่ใช่ความอดกลั้นด้วยนะ เราไม่ไปแสวงหาความสุขจากการพอใจแบบนั้นแล้ว แต่เรามีความสุข

จากการเป็นอิสระจากความพอใจและไม่พอใจ

ขอเล่าวิธีการฝึกปฏิบัติให้ฟังนะครับ อย่างตอนอยู่ที่หมู่บ้านพลัม

เขาสอนว่าให้เป็นอิสระจากความอยาก โดยตระหนักรู้ว่าเรากำลังอยาก

อะไรอยู่ ผมฝึกความตระหนักรู้ได้อย่างค่อนข้างเยี่ยมเลยละ แล้วพอมา

อยู่วัดกับหลวงพ่อกล้วย ผมรู้สึกอดอยากมาก หิวมาก ในใจก็มีภาพช็อกโกแลตสนิกเกอร์สผุดขึ้นมา แถววัดนั้นก็มีขาย แบบแท่งเล็กแท่งละ

10 บาทเอง ตอนนั้นไม่รู้เป็นอะไร อยากกินมาก (หัวเราะ) หลวงพ่อก็ทำให้ผมเข้าใจธรรมชาติของความอยาก ที่มันคอยมาแหย่หัวใจเรา พอตระหนักรู้และไม่ได้รับการตอบสนอง แล้วมันก็ค่อยๆ หายไปใช่ไหม แต่มันจะรอ

อยู่ตรงนั้น แล้วมันก็จะหาจังหวะแหย่มาอีกทีหนึ่ง ไม่มีสนิกเกอร์สเหรอ วันนี้ทำงานเหนื้อยเหนื่อย สนิกเกอร์สสักหน่อยสิ แค่ช็อกโกแลตถั่ว ผมทะเลาะกับมัน 2-3 เดือนเลยนะ เวลาฝึกไปเรื่อยๆ จะรู้ว่าความอยากมีอำนาจแค่เท่านี้

เองเหรอ โถ! เจ้าทำได้แค่นี้เอง! จนถึงวันหนึ่งที่เราสามารถพูดจากหัวใจ

ได้เต็มๆ เจ้าความอยาก เจ้าทำอะไรฉันไม่ได้แล้ว แต่หลังจากนั้นก็จะมี

ความอยากตัวใหม่ๆ คอยจู่โจมเราอยู่ตลอด โดยเฉพาะตัวที่เราสังเกตไม่ทัน

รู้อีกทีเลือดกบปากเลย ก็ลุกขึ้นมาเช็ดเลือด แล้วสู้กันใหม่

GM : ผมติดตามดูรายการทีวีของคุณพล ตัณฑเสถียร ที่เขาสอนทำอาหารน่ากินมากๆ อืมม์…ความสุขคือการได้กินอาหารอร่อยใช่ไหม

จิตร์ : พลก็ทำหน้าที่ของพล เขาก็มีมิชชั่นในชีวิตของเขา และมิชชั่นของเขา

ก็อาจจะไม่ใช่มิชชั่นเดียวกับผม ถึงจะรักกันแค่ไหน เราไปบังคับให้เขาเป็นเหมือนเรา หรือให้คิดเหมือนเราไม่ได้ ขนาดพลกับผมถูกเลี้ยงมาด้วยกัน

ซี้กันมาก ไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ ตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นมา เราก็เลือก

เป้าหมายชีวิตไม่เหมือนกัน ตอนที่ผมไปบวช พอเล่าเรื่องที่ผมต้องทำงานซ่อมโน่นซ่อมนี่ให้เขาฟัง พลบอกว่าจะไปทนลำบากแบบนั้นทำไมโก๋

ให้คนอื่นซ่อมให้สิ จนบางครั้งผมก็ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกัน จะทำตัวให้ลำบากไปทำไม คิดๆ ไป ผมก็ตอบพลไปว่า ผมไม่ลำบากนะ

ผมมีความสุขต่างหาก เอาไม้บรรทัดของเราไปวัดใครไม่ได้หรอก คำถามสำคัญที่เราต้องตอบคือ เราเกิดมาเพื่ออะไร ไม่ต่างจากคำถามที่ว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหน มันทำให้เราวางแผนได้ถูกในทุกก้าว

GM : เราเกิดมาเพื่ออะไร

จิตร์ : ก็มีหลายความคิดนะ เกิดมาเพียงเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หลายคนเชื่ออย่างนี้ หรืออย่างแนวทางของวัดปทุมฯ ท่านสอนเน้นย้ำว่าเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม ผมฟังแล้วก็ หา! ก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไรนะ คำว่าเกิดมาเพื่อใช้กรรม ฟังดูไม่สร้างสรรค์เท่าไรนัก ตามแนวทางเซน ผมเรียนจากภาษาอังกฤษ

นะครับ กรรมคือ Action คือการกระทำ ทั้งกระทำทางกาย วาจา และใจ

สิ่งที่เราเจอคือผลของกรรม ถ้าผมปฏิบัติกับคนอื่นไม่ดี แน่นอนว่าผมย่อม

ไม่ได้รับอิสรภาพ ถ้าอยากได้สิ่งดี ก็ต้องสร้างเหตุที่เหมาะสม เชื่อว่าเราทำอะไรไปก็ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น เชื่อเรื่องกรรมเพียงแค่นี้ เราแก้ไขอดีตไม่ได้ ดังนั้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ถ้าไม่อยากเป็นคนที่ประสบปัญหาอะไรมาก ก็จงอย่าไประรานคนอื่น เรื่องเกิดมาเพื่อทำบุญแล้วไปขึ้นสวรรค์ก็ไม่เห็นมีเลย

และนอกจากนี้ ทางเซนกล่าวถึงพระนิพพานน้อยมาก หลายคนปรารถนานิพพาน อยากเข้าถึงนิพพาน คำว่านิพพานนี่แหละที่ยิ่งทำให้เราไกลห่างออกไปจากนิพพาน จึงเกิดแนวการสอนให้เป็นผู้ฝึกดูแล

ความอยากของตัวเอง แม้กระทั่งความอยากดี อยากงาม อยากให้คนอื่นดีเหมือนตัวเอง ความอยากจึงกลายเป็นความรักที่ขม ความรักที่บวกกับ

ความคาดหวัง อย่างถ้าผมมาทำงานเพื่อสังคม แล้วเชื่อว่าคุณต้องเชื่อคำ

ที่ผมให้สัมภาษณ์ไปทุกคำ นั่นแหละอันตราย ผมเพียงอยากแค่ขอนำเสนอให้คุณมีความคิดเพิ่มขึ้นมาอีกสัก 1 ชุด คิดเกี่ยวกับมัน เอาไปพิสูจน์

แล้วคุณก็ตัดสินใจเลือกเอง และสำหรับผม ผมเชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ แล้วก็มีคำถามต่อไปว่าเรียนรู้อะไร เราเรียนรู้ความหมายที่สำคัญของ

การเกิด ถ้าเราเชื่อในแนวทางของพระพุทธเจ้า เราก็เรียนรู้เพื่อจะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง

เราทุกคนกำความเชื่อของตัวเองไว้ ทุกคนมีสิทธิ์เชื่อทางธรรมท่านได้สอนไว้ว่า ให้ลองแบมือออกแล้วจะพบว่าเราไม่ได้เป็นอะไรเลย เราไม่ได้มีอะไรเลยแต่ตามปกติ คนเราจะไม่สามารถทรงอยู่ในอารมณ์นั้นได้เราจึงต้องเป็นอะไรสักอย่าง เชื่ออะไรสักอย่างที่นั่นทำให้พ้นจากกรอบของภาษาชุดเก่า

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ สอนว่าพรหมวิหาร 4คือหัวใจที่ Immeasurable แปลว่าใจที่กว้างขวางใหญ่โต จนประเมินค่าไม่ได้ท่านเรียกเมตตาว่า Love พอใช้คำแบบนี้ก็เข้าใจเลยพวกเราทุกคนมีความรู้มีโอกาส มีโนว์ฮาว มีฐานคิด มีการงานต่างๆ เหล่านี้เป็นต้นทุนที่สังคมเอามาฝากไว้กับเราหน้าที่ของเราคือจากนี้ไป เราก็จะต้องส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับคนรุ่นต่อไป

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ