เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ กรรมพยากรณ์เศรษฐกิจไทย !
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อาจไม่ใช่ชื่อที่ทุกคนคุ้นหูมากนัก หากคุณไม่ได้อยู่ในแวดวงข้าราชการสายการเงินการคลัง แต่หากคุณเป็นคนสนใจเรื่องของเศรษฐศาสตร์แล้วละก็ คุณอาจรู้จักผู้ชายคนนี้ในฐานะคอลัมนิสต์นาม ‘ดร.เอก เศรษฐศาสตร์’ ในหนังสือ-พิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กับคอลัมน์แนวเศรษฐศาสตร์อ่านสนุกชื่อ ‘มุมเอก’
ปัจจุบันเอกนิติหยุดเขียนคอลัมน์ชั่วคราว เพราะหน้าที่ใหม่ในการเป็นโฆษกประจำกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคนั้นมีมากล้นมือ และถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบหลักที่เรียกร้องเวลาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในยามที่ประเด็น ทางเศรษฐกิจแทบจะกลายเป็นหัวข้อสนทนารายวันของคนตั้งแต่รากหญ้าจนถึงยอดหญ้าไปแล้ว
ด้วยความที่เป็นเศรษฐกรหนุ่มไฟแรงในแวดวงข้าราชการไทย ซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก ทำให้การเข้ามารับตำแหน่งโฆษกกระทรวงการคลัง จุดประเด็นที่คนพูดถึงเอกนิติว่าเป็นใครมาจากไหน และด้วยอายุเพียง 40 ต้นๆ ทำไมถึงได้รับความไว้วางใจในงานสำคัญๆ โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งว่ากันว่าเป็นคลังสมองของกระทรวงการคลังในการกำหนดทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลังของชาติ
“ดร. เอกนิติ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งคนหนึ่งของกระทรวงการคลังในยุคนี้”
นั่นเป็นคำนิยมจาก ดร. วีระพงษ์ รามางกูร หรือ ‘ดร. โกร่ง’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มแรกของ
‘ดร. เอก’ ยิ่งทำให้เราอยากรู้จักเขามากขึ้นว่าประโยคที่ ดร. โกร่งเขียนไว้นั้นเกินจริงหรือไม่
คุณจะได้รู้ไปพร้อมๆ กับเรา
GM : คุณสนใจเรื่องเศรษฐกิจมหภาคมาตั้งแต่เมื่อไหร่
เอกนิติ : ผมสนใจเรื่องของเศรษฐกิจมานานแล้วครับ รู้ตัวตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้วว่าชอบ และรู้ด้วยว่าตนอยากทำงานราชการ อาจเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของครอบครัว
คุณพ่อ (ศ.ดร. อิสสระ นิติทัณฑ์-ประภาศ) อยู่ในแวดวงของการคลังของประเทศ ท่านเคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ส่วน
คุณแม่ (ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ) เป็นอดีตปลัดกระทรวงฯ (อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เรียกว่าโตมากับครอบครัวข้าราชการ และก็สนใจเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้อยากเป็นหมอหรือว่าวิศวกรอะไรแบบนั้น ขึ้นมัธยมปลายผมก็บอกคุณแม่เลยว่าผมจะเลือกศิลป์คำนวณ เพราะเรารู้ว่าเราต้องการจะเรียนอะไร พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เลือกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนั้นผมเข้าเรียนด้วยโควตาของนักกีฬา เพราะผมเล่นรักบี้ตั้งแต่เรียนอยู่ที่วชิราวุธ ก็ถือว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้ทำสองอย่างที่รักไปพร้อมๆ กัน ผมเองเป็นประธานชมรมรักบี้ของมหาวิทยาลัย ฉะนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่ของผมตอนเรียนก็มีสองอย่าง คือเล่นรักบี้กับเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นทั้งสองอย่างที่ผมชอบ เป็นโชคดีของเราที่ตอนนั้นได้มีโอกาสเข้าไปเล่นถึงระดับเยาวชนทีมชาติด้วย กีฬามันช่วยผ่อนคลายเราจากการเรียน เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นส่วนที่ช่วยเสริมกัน และเนื่องจากผมชอบเศรษฐ-ศาสตร์อยู่แล้วด้วย ผมเลยน่าจะเป็นคนแรกของนักศึกษาโควตานักกีฬาที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
GM : บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่างคุณน่าจะมีโอกาสดีในการทำงานกับภาคเอกชน แต่เพราะอะไรคุณถึงมุ่งมั่นอยากรับราชการ ดูเหมือนคนรุ่นใหม่จะหันหลังให้กับงานราชการเสียเป็นส่วนใหญ่
เอกนิติ : การรับราชการเป็นความตั้งใจของผม อาจเพราะเรื่องพื้นเพของครอบครัวด้วยส่วนหนึ่ง ผมเห็นคุณพ่อ คุณแม่ทำงานอยู่ในแวดวงข้าราชการตั้งแต่เด็ก เป็นต้นแบบของข้าราชการที่ดี แต่ตอนนั้น ตอนที่ผมจบในช่วงปี พ.ศ. 2535 งานราชการไม่เป็นที่สนใจกับเด็กจบปริญญาตรีใหม่ๆ เพราะเศรษฐกิจบ้านเรากำลังโต ทำงานภาคเอกชนได้เงินเดือนเยอะกว่ามาก แต่ผมก็เป็นคนเดียวในรุ่นเลยที่ประกาศตัวว่าอยากรับราชการ
แต่ก่อนจะเข้ารับราชการ ผมก็อยาก ‘ทดสอบ’ ใจตัวเอง เพราะผมจบปริญญาตรีในเวลาสามปีครึ่ง ทำให้ผมมีโอกาสถามตัวเองว่า เราอยากทำงานราชการจริงๆ ไหม เพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง ก็เลยตัดสินใจสมัครทำงานในภาคเอกชน ตอนนั้นตลาดหุ้นบูมมาก เราก็อยากเรียนรู้ว่าตลาดหลักทรัพย์มันเป็นอย่างไร ก็มีโอกาสได้ทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ทำงานในฝ่ายดูแลลูกค้าบุคคล เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
GM : แล้วผลที่ออกมา คุณสนุกกับการทำงานไหม
เอกนิติ : ก็สนุกครับ แต่ในใจลึกๆ ของเราก็คือยังอยากรับราชการอยู่ดี คิดว่าตัวเองเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ งานที่เหมาะสมที่สุดกับเศรษฐกรก็คือ การได้ทำงานเกี่ยวข้องกับนโยบาย การรับราชการน่าจะได้ใช้ในสิ่งที่เราเรียนมามากกว่า ระหว่างที่ผมอยู่ภัทรฯ เขาก็เสนอทุนให้ไปเรียนต่อปริญญาโทซึ่งก็คงต้องเป็นด้านเศรษฐศาสตร์การเงินเท่านั้น
แต่ตัวผมเองผมอยากเรียนด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและอยากเรียนให้ถึงปริญญาเอก ผมก็เลยตัดสินใจลองสอบชิงทุน ก.พ. ซึ่งระหว่างรอผลสอบ กรมสรรพากรเขาเปิดรับราชการพอดี ผมเลยคิดว่าในเมื่อท้ายสุดเราก็ต้องรับราชการอยู่แล้ว ถ้าอยู่ที่นี่เราก็ได้เห็นได้รู้อะไรอีกอย่างหนึ่ง เลยตัดสินใจไปสอบรับราชการของกรมสรรพากรด้วย ก็ได้มาทำในตำแหน่งนักวิชาการสรรพากร
ที่สรรพากรเขตปทุมวัน รับผิดชอบส่วนของการเร่งจัดเก็บอากรคั่งค้างของแขวงรองเมือง ได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่เราสนใจ มาทำได้ไม่นานผลสอบทุน ก.พ. ประกาศ พอดี ซึ่งผมก็ได้ไปเรียนต่อ โดยผมเลือกมาใช้ทุนที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
GM : ตอนนั้นคุณรู้ตัวได้อย่างไร ว่าต้องการทำงานที่นี่โดยตรง
เอกนิติ : เพราะคุณพ่อเคยทำงานอยู่ที่สำนักงบประมาณ และตัวเองก็รู้ว่าสำนักงบประมาณเป็นเรื่องของรายจ่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องนโยบายการคลังที่ผมสนใจ ก็ต้องเป็นที่นี่ ผมก็เลยเลือกทุน ก.พ. ในความต้องการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ระหว่างที่รอสอบสัมภาษณ์ผมก็ทำงานที่สรรพากรไป ช่วงนั้นเองเผอิญท่านผู้อำนวยการของ สศค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)
ในเวลานั้น คือ ศ.ดร. สมชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งท่านเคยสอนผมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผอิญท่านทราบเรื่องของผมจากอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ท่านก็เลยทำหนังสือไปขออธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งขณะนั้นคือ หม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) ในเมื่อผมต้องการมาใช้ทุนที่ สศค. อยู่แล้ว ก็จะขอโอนมาทำงานที่ สศค. เลย ความที่ สศค. ไม่เคยรับคนที่จบปริญญาตรีมาก่อน อย่างน้อยๆ ก็ต้องเป็นปริญญาตรีจากต่างประเทศ ก็เลยได้ประสบการณ์อีกด้านหนึ่ง ทำงานได้สักพักผมก็ไปเรียนต่อ ทุกอย่างที่เล่ามาเกิดขึ้นในสองปีของการทำงาน เป็นสองปีที่ได้พบอะไรมากมาย
GM : คุณไปเรียนที่ไหน และกลับมาทำงานอะไรบ้าง
เอกนิติ : ผมไปเรียนที่ University of Illinois of Urbana Champaign และปริญญาเอกที่ Claremont Graduate University ที่แคลิฟอร์เนีย ผมกลับมาถึงเมื่อต้นปี 2543 มาทำงานในกองนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติปี 2540 ไม่นาน เรายังอยู่ในโครงการไอเอ็มเอฟอยู่ ช่วงนั้นผมกลับมาในช่วงที่ท่านศุภรัตน์ (ควัฒน์กุล) เป็นผู้อำนวยการของที่นี่ ท่านธารินทร์ นิมมาน-เหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้โอกาสผมในการทำงานหลายชิ้น งานสำคัญๆ ก็เช่น การเจรจาต่อรองกับไอเอ็มเอฟ ช่วยดูทั้งในแง่ของเรื่องนโยบายการคลัง การออกมาตรการต่างๆ แบงก์เองก็มีปัญหาเยอะ ในเรื่องการขายแบงก์ รัฐบาลจะจัดการอย่างไร กองทุนฟื้นฟูจะเข้าไปดูแลผู้ฝากเงินอย่างไร เป็นช่วงที่ได้ใช้วิชาจากที่ตัวเองเรียนมาค่อนข้างมาก
หลังจากนั้นช่วงปี 2544 ตอนนั้นมีตำแหน่งของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังว่างลง สมัยนั้นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และหม่อมเต่าตั้งขึ้น เพื่อดึงคนเก่งๆ มาทำงานให้เงินเดือนสู้กับต่างประเทศ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และ ดร. วีระทัย สันติประภพ ที่เป็นผู้ดูแลสถาบันนี้อยู่ ลาออกไปทำงานในภาคเอกชน เลยไม่มีคนที่เข้ามารักษาการสถาบันนี้ ท่านศุภรัตน์เลยส่งผมกับ ดร. นิตินัย ศิริ- สมรรถการ จากกรมสรรพากร ไปเป็นรักษาการผู้อำนวยการสถาบันที่นั่น
ผมก็ไปทำงานอยู่ระยะหนึ่งเพื่อให้สถาบันนี้มีความต่อเนื่อง ก็มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องนโยบายและเศรษฐกิจค่อนข้างมาก รักษาการ
อยู่ได้สักพักหนึ่ง ผมกับดร. นิตินัยก็พยายามไปทาบทามคนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันตัวจริง สุดท้ายเราก็ได้ ดร. คณิต แสงสุพรรณ ปัจจุบันท่านก็ยังดำรงตำแหน่งนี้อยู่ ผมก็กลับมาทำงานที่ สศค. ในช่วงที่ท่านสถิต นุ่มพงพันธ์ เป็นผู้อำนวยการอยู่ ก็มาช่วยท่านในการจัดตั้งกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้มาสร้างระบบงาน ระบบเศรษฐกิจมหภาค และทำแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคให้กับ สศค. อย่างเป็นระบบ คือในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงการคลังไม่เคยมีหน่วยงานนี้ เวลาจะทำนโยบายที จะประเมินภาวะเศรษฐกิจ ต้องไปขอจากสภาพัฒน์ให้มาช่วย ต้องไปขอแบงก์ชาติให้มาช่วย แต่หากเราต้องการทำนโยบายการคลังให้ได้อย่างสมบูรณ์ กระทรวงการคลังต้องมีแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของตนเองจึงจะดี จากกอง ณ วันนั้นก็ถูกยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนวันนี้เป็นสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ผมเลยได้มีโอกาสได้มาเป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
GM : ทราบมาว่าคุณเคยทำงานกับธนาคารโลกด้วย
เอกนิติ : ครับ, ช่วงหนึ่งต้องลาออกจากราชการไปทำงานที่ธนาคารโลก ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องคัดเลือกคนที่จะไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของกรรมการบริหารของธนาคารโลก ผมไปในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่ของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ก็เลยได้ไปอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ไปอยู่ที่นั่นปีเศษๆ ได้ประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้ได้เห็นภาพกว้างมากขึ้น
GM : การเป็นข้าราชการนั้น อย่างหนึ่งคือต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลหลายรัฐบาลที่มีนโยบายและความคิดแตกต่างกัน คุณพบความยุ่งยากอะไรกับนักการเมืองเหล่านี้บ้างไหม
เอกนิติ : ผมคิดว่าในเชิงการทำงานด้านเศรษฐกิจ เรื่องความต่างทางด้านนโยบายมีอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าใครเข้ามาทำงานก็เจอโจทย์เดียวกัน อย่างครั้งแรกที่ผมกลับมาทำงานในรัฐบาลชวน 2 เราเจอวิกฤติต้มยำกุ้งที่หนักมาก ตอนนั้นผมเชื่อว่าไม่ว่าพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอโจทย์แบบเดียวกัน เงินทุน สำรองเราหมด ค่าเงินบาทอ่อนมาก ธนาคารล้ม เศรษฐกิจหดตัว ผมในฐานะที่เป็นข้าราชการ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจการคลังก็ต้องทำงานในหน้าที่ของเราต่อไปอยู่ดี คือให้คำปรึกษา เป็นมันสมองด้านการคลังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเหตุผลเริ่มแรก ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ สศค. คนแรกตั้งขึ้นมา เราต้องคอยช่วยสนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าเป็นอย่างไร แล้วเสนอแนะนโยบาย บทบาทของข้าราชการประจำคือต้องเสนออย่างตรงไปตรงมา ตรงไหนที่เราเห็นว่าไม่ดี ก็ต้องบอกว่าไม่ดี ส่วนเรื่องการตัดสินใจ เป็นเรื่องของข้าราชการการเมือง รัฐมนตรีจะใช้หรือไม่ใช้ รับหรือไม่รับ เป็นหน้าที่ของท่าน
GM : มีบ้างไหมที่เราแนะนำไปอย่างหนึ่ง แต่ฝ่ายการเมืองกลับไปทำอีกแบบหนึ่ง
เอกนิติ : ก็มีครับ เป็นปกติของการเสนอแนะนโยบาย
GM : ปกติแล้วถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงโดยทั่วไป หากพบเจอเรื่องทำนองนี้ในแวดวงราชการ ก็อาจรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ไปทำงานกับภาคเอกชนดีกว่า แต่เพราะอะไรคุณถึงยังคงทำงานราชการอยู่
เอกนิติ : ผมว่าผมเป็นคนโชคดีที่มีครอบครัวรับราชการ ผมเห็นตัวอย่างมามาก คุณพ่อคุณแม่เองก็เคยเจอมรสุมทางการเมือง คุณพ่อเองเคยเจอกรณีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คุณพ่อไม่ได้ตำแหน่งนี้ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่มีตำแหน่งอาวุโสที่สุดในขณะนั้น คุณแม่เป็นปลัดสำนักนายกฯ ก็ถูกย้ายให้ไปเป็นเลขาสำนักงานการจราจรแห่งชาติ ก่อนที่จะได้ย้ายกลับมาเป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอนที่คุณแม่ถูกย้ายจากปลัดสำนักนายกฯ ทั้งๆ ที่ไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน แต่เราก็พอรู้กันอยู่ว่ามันมีประเด็นทางการเมือง ก็มีคนมาถามคุณแม่ว่าทำไมไม่ลาออก คุณแม่บอกว่าไม่จำเป็นต้องออก เพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร วันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องถอดหัวโขนอยู่ดี พยายามให้มองโลกในแง่ดีไว้ คิดเสียว่าได้ไปทำงานที่ใหม่ก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลยทำให้ผมได้รับภูมิคุ้มกันในเรื่องของจิตใจ เวลามีปัญหาเรื่องอะไรก็ยังมีครอบครัวที่เป็นตัวอย่าง คนรุ่นเดียวกับผมที่เข้ามารับราชการเหลืออยู่น้อย เพราะระบบราชการมีปัญหามาก ทั้งเรื่องขั้นตอน การประเมินความก้าวหน้า ระบบอาวุโสอะไรอย่างนี้ มันไม่เหมือนเอกชนที่เขาวัดกันด้วยความสามารถ แต่สิ่งที่ผมได้จากการรับราชการก็คือเขาให้โอกาสผมทำงาน ทำให้ผมตัดสินใจที่จะยังทำงานราชการ
จริงๆ ภาคเอกชนหลายแห่ง มีองค์กรระหว่างประเทศมาทาบทาม แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจ คือชีวิตเรามีปัจจัยหลายอย่างในการตัดสินใจ หนึ่งคือเรายังต้องใช้ทุนและใจตัวเองก็ยังถือว่าสนุกกับการทำงาน ณ วันนี้ราชการก็ให้โอกาสผมเรียนรู้ ซึ่งผมก็ต้องเรียนรู้อีกมาก เลยคิดว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ลึกๆ แล้วผมมีความสุขกับการได้ทำงานในสิ่งที่ผมรัก
GM : บทบาทหน้าที่ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังต้องทำอะไรบ้าง
เอกนิติ : หลักๆ ก็คือ ช่วยอธิบายให้กับสื่อมวลชนทราบถึงนโยบายของรัฐบาลว่านโยบายที่กระทรวงการคลังมีอะไรบ้าง ทำแล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไร ช่วยให้ประชาชนได้ข้อมูลและเข้าใจการทำงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งสามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เอาไปใช้ในการวางแผนงานธุรกิจ วางแผนชีวิตได้ นโยบายต่างๆ อาจดำเนินการได้ดียิ่งขึ้นเพราะได้ความเชื่อมั่นมากขึ้น การทำนโยบายต้องสามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจด้วย ผมคิดว่าประสบการณ์เรื่องของการสอนหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานนี้
GM : แต่คุณก็ยังปลีกเวลามา ทำงานเขียน ได้อยู่ ?
เอกนิติ : ตอนนี้ภารกิจมันมีมากเหลือเกินครับ งานเขียนเองก็ไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะเขียนประจำ สมัยก่อนที่เขียนเพราะเริ่มจากการสอนหนังสือด้วย เวลาผมสอน ผมจะเล่าประสบการณ์ชีวิตจริงในทางปฏิบัติมาให้ฟังด้วย ควบคู่กับการสอนเรื่องทฤษฎี ก็มีนักเรียนเรียกร้องมาหลายรุ่นว่าเมื่อไหร่ผมจะเขียนหนังสือออกมาสักที ก็เลยบังคับตัวเองว่าต้องเขียน พยายามเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย คนไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์เลยก็รู้เรื่องได้ ตอนนี้งานสอนหนังสือก็ลดลงครับ จะใช้เวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์สอนหนังสือ ก็มี 3 แห่งคือที่จุฬาฯ นิด้า และที่มหิดล
GM : อยากให้คุณอธิบายคำว่า ‘เศรษฐศาสตร์มหภาค’ ว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ ฟังดูเป็นคำที่ใหญ่โตมาก คำคำนี้เกี่ยวพันมาถึงประชาชนอย่างเราๆ ได้อย่างไร
เอกนิติ : จริงๆ เศรษฐศาสตร์มหภาคเกี่ยวข้องกับทุกๆ ส่วนในสังคม เพราะเราทุกคนต่างเกี่ยวข้องกันในฐานะเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้ผลิตคนหนึ่ง โดยมีรัฐเข้ามาดูแลนโยบายต่างๆ เช่น การจัดเก็บ ภาษีรายได้ การทำงบประมาณรายรับรายจ่ายของประเทศ ขณะเดียวกันรัฐไทยก็ยังไปเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ เศรษฐศาสตร์มหภาคจึงเป็นการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของสิ่งทั้งปวง ทั้งระดับประเทศและในระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น วิกฤติเศรษฐกิจแฮม-เบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้น เราอาจจะคิดว่ามันเกี่ยวอะไรกับเรา แต่แท้จริงแล้วมันเกี่ยวกับคนไทยค่อนข้างมากหากเราเข้าใจเศรษฐกิจในภาพรวม
GM : เกี่ยวอย่างไร อยากให้คุณอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ของคอลัม- นิสต์อย่าง ‘ดร.เอก’ ให้ฟัง
เอกนิติ : หากดูลักษณะเศรษฐกิจของประเทศเรา จะเห็นว่าเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก พอวิกฤติเศรษฐกิจโลกมาจากต่างประเทศ ทำให้เราส่งออกได้น้อยลง ส่วนที่กระทบก่อนเป็นอันดับแรกคือภาคการส่งออก ผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกก็จะขายได้น้อยลง เพราะประเทศคู่ค้าไม่มีกำลังซื้อ พอผู้ผลิตขายได้น้อยก็ต้องลดการจ้างงาน ผลต่อเนื่องมาถึงผู้บริโภคที่ต้องถูกเลิกจ้าง ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็กินใช้น้อยลง
ก็วนกลับมากระทบกับภาคธุรกิจที่เน้นบริโภคภายในประเทศก็ต้องปรับตัว ก็ต้องลดกำลังการผลิตลงเพราะผู้บริโภคไม่มีเงินซื้อ ส่งต่อกันเป็นทอดๆ เป็นวงจรอุบาทว์ หากปล่อยต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะหดตัวลงไปเรื่อยๆ คนตกงานมากขึ้น ก็จะลุกลามต่อไปเป็นปัญหาสังคม ขโมยก็มีมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องหาทางตัดวงจรนี้ โดยกำหนดนโยบายเหมือนกับรัฐมีกล่องเครื่องมืออยู่ ก็อยู่ที่ว่ารัฐจะหยิบเอาเครื่องมือไหนมาใช้ให้เหมาะสม อาจเป็นเรื่องของมาตรการทางภาษี หรือการเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภค
GM : ฟังจากที่คุณว่า ดูเหมือนนักเศรษฐศาสตร์มหภาคน่าจะมองเห็นภาพรวมและอนาคตของเศรษฐกิจได้มากกว่าคนอื่น
เอกนิติ : ครับ แบบจำลองโครงสร้างเศรษฐกิจ ช่วยให้เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงและทำนายการเปลี่ยน แปลงได้พอสมควร แต่อย่างที่เรารู้ว่าเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ผันผวนมาก โลกเปลี่ยนทุกนาที เราจำเป็นต้องประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด
GM : ถ้าอย่างนั้นขอถามแบบชาวบ้านๆ ว่า ปีนี้สภาวะเศรษฐกิจทั่วไปโดยรวมจะกระทบกับเงินในกระเป๋าของเรามากน้อยแค่ไหน
เอกนิติ : ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยคงดีขึ้น เพราะปีที่แล้วมันแย่มากๆ คงไม่มีทางแย่ไปกว่านี้ได้แล้ว (หัวเราะ) บ้านเราเจอทั้งวิกฤติทางเศรษฐกิจและวิกฤติทางการเมือง ทุกอย่างติดลบหมด แต่จากข้อมูล ณ วันที่เรานั่งคุยกันอยู่ ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้น ตัวนี้จะเป็นตัวสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ก็ขยายตัว ดีขึ้น บังเอิญว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการส่งออก ฉะนั้นชั่วดีอย่างไรเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้น โดยการส่งออกจะเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกอย่างดีขึ้น เม็ดเงิน ที่เราได้จากการส่งออกจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ชาวบ้านน่าจะมีรายได้ ดีขึ้น ตอนนี้อัตราการว่างงานก็ลดลงมาอยู่ในระดับปกติ คือราวสี่ห้าแสนคน จากเมื่อกลางปีที่แล้วที่ขึ้นสูงไปถึงแปดแสนเก้าแสนคน ผมคิดว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังดีอยู่น่าจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น แต่มีข้อแม้ว่า การเมืองในประเทศต้องไม่รุนแรงมากเหมือนกับเมื่อปีสองปีที่แล้ว
GM : แต่เงื่อนไขนี้ดูจะหาความแน่นอนไม่ได้
เอกนิติ : ครับ หากดูให้ดีจะเห็นว่า การเมืองเป็นปัจจัยที่ดึงเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด เพราะเราควบคุมไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะนำพาเราไปทางไหน มันจะพัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ก็ไม่รู้ อาจจะมีการปิดสนามบินหรืออะไรที่แย่กว่านั้น จริงๆ เรื่องของอนาคตก็ไม่มีใครรู้หรอกครับว่ามันจะไปทางไหนแน่ๆ ยิ่งเรื่องเศรษฐกิจด้วยแล้วยากมาก อย่างตอนนี้อาจจะมีประเทศไหนสักที่กำลังซุกหนี้เสียเหมือนที่อเมริกา เคยทำ แล้วรอเวลาระเบิดอยู่ก็เป็นได้
GM : ก่อนเกิดวิกฤติแต่ละครั้ง เพราะอะไรนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มีอยู่ทั่วโลกถึงไม่เคยส่งสัญญาณใดๆ ออกมา เตือนก่อน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติแฮม-เบอร์เกอร์ในอเมริกา หรือดูไบเวิลด์ ดูเหมือนเราไม่เคยรู้ล่วงหน้าก่อนได้เลย ทั้งที่น่าจะคาดการณ์ได้ หรือมีสัญญาณอะไรบ้าง
เอกนิติ : ผมคิดว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกคน รู้ได้แค่เพียงว่าพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศไหนเป็นอย่างไร แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างเช่นเรื่องดูไบ เราก็รู้กันมาบ้างแล้วว่า มันเริ่มมีสัญญาณฟองสบู่ให้เห็น แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิดวิกฤติขึ้นเมื่อไหร่ มันขึ้นกับว่าจะมีอะไรมาเป็นตัว ‘จุดประกาย’ ให้เกิดวิกฤตินั้นปะทุขึ้น เช่น วิกฤติที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมา ทุกคนรู้ว่าพื้นฐานของสหรัฐ อเมริกาอยู่ในภาวะที่แย่มาก แต่ไม่มีใครรู้ว่า เลห์แมน บราเธอร์ส จะเป็นตัวจุดประกาย ซึ่งโลกในอนาคตจะมีความผันผวนอย่างนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือต้องเตรียมรับความผันผวนอันนี้ให้ดี สรุปก็คือแม้เศรษฐกิจในภาพใหญ่จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่มันก็ไม่ได้เป็นถนนที่ราบเรียบ มันเป็นถนนที่ขรุขระพอสมควร เราก็ต้องคอยหลบหลุมหลบบ่อ ให้ดี
GM : ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่ว่ากันว่าจะเป็นตัวฉุดที่ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น จะเป็นอย่างนั้นจริงไหม หรือมีอะไรบางอย่าง ‘ซุก’ อยู่กับเขาเหมือนกัน
เอกนิติ : ต้องถือว่า จีน เป็นตัวหลักที่ทำให้เศรษฐกิจหลายๆ ประเทศสามารถฟื้นขึ้นได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย เราได้อานิสงส์จากจีนมาเยอะ แต่ตอนนี้ก็มีความเสี่ยงตรงที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อในจีนนั้นเร็วมาก เริ่มมีคนพูดกันถึงเรื่องปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจอสังหา-ริมทรัพย์ แต่ผมว่าเนื่องจากรัฐบาลจีนสามารถกำหนดใช้นโยบายได้ง่ายและเร็วกว่าประเทศอื่น ด้วยการบริหารงานที่ทุกอย่างถูกควบคุมด้วยรัฐบาลค่อนข้างมาก นโยบายต่างๆ จึงทำได้เร็ว ตอนนี้จีนประกาศออกมาแล้วว่าจะชะลอสินเชื่อเพราะเขาเริ่มเห็นปัญหานี้ แล้วจะเพิ่มการลงทุนในส่วนอื่นแทน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ความรวดเร็วของการกำหนดนโยบายจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น ส่วน อินเดีย นั้นมีปัญหาต่างกับจีน ทุกวันนี้อินเดียยังเป็นประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่มาก ยังมีคนจนอยู่เยอะ แต่เศรษฐกิจอินเดียยังโตอยู่ได้เพราะเขามีทรัพยากรที่พรั่งพร้อม นั่นคือจำนวนประชากร ทั้งแรงงานและกำลังการซื้อ แค่จำนวนประชากรของ 2 ประเทศนี้รวมกันก็คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลกไปแล้ว เมื่อมองไปในอนาคต การเติบโตเศรษฐกิจของโลกผมว่าไม่พ้น 2 ประเทศนี้ อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ส่วนอเมริกาผมคิดว่าคงฟื้นตัวช้าเพราะมีปัญหาสะสมเยอะ ทั้งปัญหาหนี้เสียในภาคเอกชนของผู้บริโภค หนี้บัตรเครดิตยังไม่ได้รับการแก้ไข สภาพของอเมริกาอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องหันมาประสานประโยชน์กับประเทศในเอเชียให้มากขึ้น
GM : การรวมตัวรวมกลุ่มกันในแถบเอเชีย อย่างเช่นอาเซียนหรือข้อตกลงอื่นๆ ปัจจุบันคุณคิดว่าเป็นอย่างไรบ้างถ้าเทียบกับกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่างสหภาพยุโรปหรืออียู
เอกนิติ : หากเทียบกับอียู อาเซียนเรายังห่างไกลอยู่มากครับ แต่ก็ดีขึ้นในด้านการค้า ผ่าน อาฟต้า
ในสมัยท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน โดยการเอื้อประโยชน์กันด้านการค้าทำให้มีการค้าระหว่างกันมากขึ้น การที่เรามีการลดภาษีระหว่างกัน มีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น ช่วยลดความผันผวนจากภายนอก แต่แท้จริงแล้วการที่จะทำให้มันได้ผลสูงสุด การค้ามันต้องมาคู่กับการคลัง ซึ่งเรายังไม่ค่อยมีการดำเนินการระหว่างกัน เราเพิ่งมาเริ่มหลังวิกฤติปี ’40 นี่เอง ครั้งที่เราประชุมกันที่เชียงใหม่ จนเกิด ข้อตกลงริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งมาจากแนวความคิดที่ว่า ทำไมเวลาประเทศในเอเชียเรามีวิกฤติ ทำไมเราต้องวิ่งไปหาไอเอ็มเอฟ ทำไมเราไม่ช่วยเหลือกันเอง จากข้อตกลงคราวนั้น เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ กลายเป็นกองทุนพหุภาคีที่ใกล้ชิดมากขึ้น คราวนี้หากใครมีปัญหาเรื่องบัญชีเดินสะพัด ก็สามารถไปดึงเงินจากกองทุนมาใช้ได้
GM : ตอนนี้มีเงินสำรองในกองทุนอยู่มากไหม
เอกนิติ : ราว 20,000 ล้านดอลลาร์ จะเริ่มมีผลจริงๆ ในต้นปีนี้ ในระยะยาว เราสามารถนำเงินก้อนนี้ออกมา ไม่ใช่แค่นำมาใช้ในยามวิกฤติ แต่สามารถกู้ออกมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศสมาชิก เพราะในหลายประเทศก็ยังต้องการเงินไปพัฒนาประเทศ เช่น ลาว หรือกัมพูชา แม้แต่ไทยเองก็ต้องการนำเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทำขั้นตอนและวิธีดำเนินงานที่เราเรียกว่าโครงการพัฒนาพันธบัตรเอเชีย อันนี้คือความร่วมมือในการลงทุนระหว่างกัน เป็นความร่วมมือที่มีความสำคัญกับเรามากที่สุด และมันเป็นองค์ประกอบที่สวยมากคือมันมีสมดุล เพราะอาเซียนอย่างเดียวก็เล็กเกินไป แต่พอมีจีนกับญี่ปุ่นเข้ามา ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ทั้งคู่ ก็คอยถ่วงดุลกัน และในอนาคต อาเซียนบวกสาม จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของเอเชียได้เป็นอย่างดี
GM : การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีข้อดี อย่างไร
เอกนิติ : ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ไม่ว่าประเทศ ใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจมีมากเหลือเกิน ฉะนั้นทุกประเทศต้องแสวงหาความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยง ประเทศไทยเราเองก็ร่วมมือกับหลายๆ ประเทศ ในหลายๆ เวที ทั้ง WTO เรา ทั้ง ASEM และ APEC และอีกมากมาย เราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้วเพราะจะค้าขายกับใครก็ลำบาก เทคโนโลยีทุกวันนี้มันเชื่อมโยงกันไปหมด ทุนก็เช่นกัน มันเชื่อมโยงและโยกย้ายได้ง่ายมาก
GM : จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน มีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจอย่างไร
เอกนิติ : จริงๆ อาเซียนเป็นตัวที่มีความสำคัญทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและทำเลที่ตั้งเพราะใกล้กับจีนและญี่ปุ่น ฉะนั้นก็เพียงพอให้ประเทศทั้งสองให้ความสนใจ ผมคิดว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของอาเซียนในการเป็นจุดเชื่อมในการพัฒนา หมายถึงการที่ประเทศต่างๆ จะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งได้ ต้องมีเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันยกตัวอย่างกรณีการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมาสามารถพัฒนามาได้อย่างทุกวันนี้ เพราะญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศเราเพื่อลดต้นทุน ในช่วงปี พ.ศ. 2528 เพราะญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าเงินแข็งจนไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่างอเมริกาได้ การย้ายฐานการผลิตในครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นสามารถแก้ปัญหาของตนได้ และพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมญี่ปุ่นถึงต้องสนใจอาเซียน จีนก็คิดในลักษณะเดียวกัน เพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเราก็เช่นกัน หลายประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันกับเรา เราเองก็ต้องไปพัฒนาตัวเองให้ขึ้นไปสู่ระดับที่ขายสมองมากขึ้นเหมือนที่ญี่ปุ่นทำได้ เราจะเรียกว่า Creative Economy หรือการเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรืออะไรก็ตามแต่ แต่หัวใจหลักของมันก็คือ เราต้องเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตมาเป็นผู้ออกแบบ เพราะแรงงานไทยไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อก่อน
GM : การที่แต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน แต่มาร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องการค้าเสรีจะทำให้ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่า ได้ประโยชน์จากเรามากกว่าที่เราจะได้จากเขาหรือไม่
เอกนิติ : ผมคิดว่ามันวิน-วินทั้งสองฝ่าย เราเองก็ได้ประโยชน์จากเขา ทุกวันนี้ ที่เราพัฒนาขึ้นมาได้เพราะเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นส่งถ่ายมาให้เรา ตอนนี้เราก็สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็ต้องดึงเพื่อนบ้านที่ยังต่ำกว่าเราให้พัฒนาขึ้นด้วย ที่สำคัญอย่าลืมว่าจีนและญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลก (จีนมีเงินทุนสำรองราว 68,000,000,000,000 บาท) และทุนสำรองส่วนมากอยู่ใน
รูปของเงินดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะด้อยค่าลงทุกวัน การลงทุนก็เป็นการกระจายความเสี่ยง เมื่อเขามาลงทุนเราก็ได้ผลประโยชน์จากเม็ดเงินตรงนั้นด้วย เป็นองค์ประกอบที่ลงตัว เราอย่ามองเขาเป็นคู่แข่ง แต่ผมมองว่าเราต่างเป็นคู่ค้ากันมากกว่า
GM : คุณคิดอย่างไรกับการเปิดเสรีทางการค้า พ่อค้าอาจมองว่าดี แต่บางคนก็เห็นว่ามีผลเสียด้วย เช่นทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะในด้านการเกษตร
เอกนิติ : การเปิดเสรีทางการค้าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ไม่มีประเทศใดที่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ โลกจะพัฒนาไปในทางที่เราเรียกว่า Specialization มากขึ้นทุกที คือใครเก่งอันไหนก็จะเก่งไปทางนั้นแล้วก็ค้าขายระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปิดการค้าเสรี ซึ่งเป็นผลดีหากสินค้าเราแตกต่างจากคนอื่น ไม่เหมือนใคร หน้าที่ของรัฐบาลก็คือทำอย่างไรให้ส่วนที่จะถูกกระทบจากการเปิดเสรีนั้นถูกกระทบช้าที่สุดและน้อยที่สุด ขณะเดียวกันส่วนที่เก่งอยู่ต้องผลักดันให้เก่งขึ้นไปอีก แข่งขัน กับประเทศอื่นๆ ได้ นั่นคือหลักการของการค้าเสรี มันถึงต้องมีการเจรจาต่อรอง ซึ่งทุกประเทศก็มักพยายามเจรจาต่อรองในการปกป้องในเรื่องที่ตัวเองยังสู้เขา
ไม่ได้ และเร่งพัฒนาประเทศขึ้นไปพร้อมๆ กัน เพื่อในวันที่ต้องลงสนามรบทางการค้าอย่างเต็มตัวจะได้ไม่เสียเปรียบ
GM : แล้วสำหรับเรา อะไรน่าจะเป็น Specialization ในสายตาของคุณ มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่แข่งขันได้ และอุตสาหกรรมใดที่เสียเปรียบ น่าจะล้มหายตายจากไปในอนาคตอันใกล้
เอกนิติ : ที่ชัดเจนที่สุด น่าจะมีอุตสาห-กรรมอยู่ 3 ประเภทที่น่าจะไปดีก็คือ อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพราะพื้นฐานทุกอย่างของเราพร้อมหมด อันที่สองคืออุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งบ้านเราทำมานานแล้ว คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่เราแค่รับจ้างประกอบ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เทคโนโลยีหลายอย่างเราผลิตได้เองในประเทศ ถือว่าไทยเรามีความเชี่ยวชาญและเป็นอุตสาหกรรม
ที่ฟื้นตัวได้เร็วมาก สาม, คือในเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ประเทศไทยเรามีทรัพยากรที่เอื้อมากสำหรับการท่องเที่ยว ยิ่งหากว่าเราไม่มีปัญหาการเมือง เราสามารถอัพเกรดมูลค่าการท่องเที่ยวของเราได้อีกมาก ไม่แตกต่างจากฝรั่งเศส
ส่วนอุตสาหกรรมที่คิดว่าเราอาจจะสู้คนอื่นเขาไม่ได้ คืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมากๆ เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ปัจจุบันแรงงานของเราราคา
ไม่ถูกแล้ว สิ่งที่ท้าทายเราอยู่ก็คือ เราจะใช้เทคโนโลยีอะไรในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เราเตรียมคนของเราพร้อมหรือยังกับการแข่งขันกับคนอื่นๆ หากเราสามารถพัฒนาต่อจากสิ่งที่เราทำอยู่ หันมาขายสมองมากกว่าแรง เหมือนกับที่ฝรั่งทำกับเรา เราก็จะไปได้ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของเราคือระบบการศึกษา ซึ่งพัฒนาไปไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม คือพัฒนาได้ช้ามาก อย่าลืมว่าในอนาคตไม่ไกลจากนี้ ปัญหาเรื่องประชากรสูงวัยจะเป็นปัญหาใหญ่ ฉะนั้นในระยะเวลาไม่ไกลมากนัก เราต้องเตรียมให้แรงงานของเราซึ่งมีแนวโน้มจะน้อยลงเรื่อยๆ เก่งขึ้น เรื่องพวกนี้ต้องวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง
GM : ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงอีกไหม
เอกนิติ : ผมเคยเขียนเรื่อง ‘หลุมดำแห่งอนาคต’ ซึ่งเป็นการมองระยะยาวเกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศจะต้องเตรียมการรับมือ ซึ่งก็จะมีเรื่องของผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้น เรื่องของภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศและเรื่องของความผันผวนทางการเงิน เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่ครับ มันเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องเจอ เพียงแต่ว่าใครจะถอยห่างจากหลุมดำที่ว่านี้ได้มากน้อยเท่าไหร่ หรือว่าจะถูกดูดเข้าไป
GM : เพื่อรับมือกับหลุมดำเหล่านี้ ไทยเรามีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เอกนิติ : ในเรื่องของผู้สูงอายุ ตอนนี้เรามีการเตรียมการบ้างแล้ว ทางกระทรวงการคลังมีการเสนอมาตรการกองทุนการออมเพื่อวัยชราภาพ เราสร้างกลไกในการออมเงินเพื่อจูงใจให้คนหันมาออมเงินกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนอยู่ที่ระดับล่าง โดยรัฐบาลจะสมทบเงินส่วนหนึ่งที่ สศค. เสนอไปก็คือ ให้เงินสมทบในแต่ละช่วงอายุของการออม เช่น หากเริ่มออมในช่วงอายุ 30-40 ปี รัฐบาลจะสมทบให้ 50 บาททุกๆ 100 บาท อายุ 40-50 ปีรัฐบาลสมทบให้อีก 80 บาททุกๆ 100 บาท ซึ่งคนไทยทุกคนสามารถได้รับสิทธิ์นี้ อันนี้เป็นกลไกที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเริ่มทำแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องโลกร้อน ประเทศเรายังไม่ค่อยได้ทำอะไรเท่าไหร่ ตอนนี้เรากำลังจัดทำเครื่องมือจัดการทางการคลังเรื่องโลกร้อน เช่น การกำหนดภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนอันสุดท้ายผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ก็คือ ความผันผวนของการเงินของโลก
ตอนนี้เราก็พยายามแสวงหาความร่วมมือในการลดความเสี่ยง และตัวเราเองก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย เพราะปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ความผันผวนทางการเงินมีสูงขึ้น เนื่องจากดูจากแนวโน้มที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจของโลกดีขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือภาวะเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับราคาน้ำมันที่สูงมากขึ้น ราคาของแพง ค่าเงินบาทจะเริ่มแข็งขึ้น หน้าที่ของเราก็คือดูแลตลาดเงินตลาดทุนไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป ในระยะสั้นเราคงต้องใช้เครื่องมือทางการเงินของแบงก์ชาติในการจัดการ ดูแลไม่ให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน เพราะนี่เป็นหน้าที่หลักของเขา ส่วนกระทรวงการคลังเองเราก็ร่วมมือกับแบงก์ชาติ ช่วยสอดส่องดูแลและพยายามร่วมมือกันระหว่างภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
GM : นโยบายทางการเงินการคลังจะมีอะไรใหม่ไหม
เอกนิติ : เราน่าจะจัดเก็บรายได้ได้ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจของเราดีขึ้น ฐานะการคลังของประเทศน่าจะดีขึ้น สิ่งที่ต้องจับตามองก็คือบนความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ผมเชื่อว่าปีหน้า นโยบายของกระทรวงการคลังจะเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนด้านนโยบายทางการคลังในหลายๆ มุม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เรื่องการกระจายรายได้ ยิ่งในช่วงที่ภาคเอกชนอ่อนแอ การคลังต้องเป็นตัวนำ รอเวลาให้พวกเขาฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ การคลังจึงค่อยถอยบทบาทออกมาเพื่อเป็นผู้ตาม เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง จะได้ใช้เมื่อจำเป็น นั่นคือเป้าหมายหลักๆ ของนโยบายในปีนี้
GM : คุณมีหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจดีๆ มาแนะนำให้อ่านบ้างไหม
เอกนิติ : ไม่มีที่ผมติดตามเป็นพิเศษ แต่ที่จะอ่านบ่อยๆ ก็จะเป็น The Eco-nomist เพราะเขาจับแนวทางการเคลื่อนไหวของโลกได้เร็ว ใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย แต่หนังสือที่อยากแนะนำมากกว่าหนังสือเศรษฐศาสตร์ก็คือ หนังสือธรรมะมากกว่า (หัวเราะ) ตัวเองโชคดีได้อ่านหนังสือธรรมะ ใครที่เพิ่งเริ่มสนใจธรรมะ ให้ลองอ่านหนังสือของคุณศรันย์ ไมตรีเวช ดูครับ คุณศรันย์เขียนได้สนุกโดยเฉพาะเรื่อง ‘กรรมพยากรณ์’ ซึ่งผูกเป็นนิยาย อ่านง่าย หรือหากใครปฏิบัติธรรมอยู่บ้างแล้ว ก็อยากให้ลองอ่านหนังสือของหลวงพ่อปราโมทย์ (ปาโมชโช) ที่อยากแนะนำเรื่องธรรมะ เพราะคิดว่าสามารถนำไปใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกสาขา ตัวผมเองก็เคยประสบกับตัวเอง ที่เราเคยพยายามหาคำตอบกับชีวิตว่าอะไรคือความสุข เราก็เคยใช้ชีวิตเต็มที่แบบที่ลูกผู้ชายเราเป็นกัน แต่สุดท้ายก็พบว่าธรรมะทำให้เราพบความสุขที่แท้จริงได้
GM : ถามจริงๆ คุณสนใจการเมืองไหม คนไทยมีโอกาสเห็นคุณเล่นการเมืองหรือเปล่า
เอกนิติ : แปลกมาก จู่ๆ ก็มีหลายคนมาถามผมเรื่องนี้ (หัวเราะ) ผมดูเหมือนอยากเล่นการเมืองเหรอครับ (หัวเราะ) ต้องเรียนว่า ณ วันนี้ไม่มีความคิดเรื่องการเมือง และไม่มีความคิดที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเป็นอะไร อย่างไร ผมยึดคติว่าเราต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด แต่ที่คิดไว้คือ อนาคตคงจะไปสอนหนังสือ แล้วใช้เวลาที่เหลือในการศึกษาธรรมะครับ
“บทบาทของข้าราชการประจำคือต้องเสนออย่างตรงไปตรงมา ตรงไหนที่เราเห็นว่าไม่ดี ก็ต้องบอกว่าไม่ดี ส่วนเรื่องการตัดสินใจ เป็นเรื่องของข้าราชการการเมือง”
‘โดมิโน เอฟเฟคต์ ทางรอดเศรษฐกิจไทยบนเส้นด้ายวิกฤตโลก’ เป็นชื่อหนังสือที่รวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพ ธุรกิจ ในคอลัมน์ ‘มุมเอก’ โดย ดร. เอก เศรษฐศาสตร์ โดยเน้นไปที่ภาษาที่สื่อสารได้ง่าย ชัดเจนและเห็นภาพในทันที ปัจจุบันพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ Bizbook
แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เป็นระบบสมการทางคณิตศาสตร์ที่จำลองความสัมพันธ์และกลไกในระบบเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ประมาณการเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ เนื่องจากแบบจำลองเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์ ที่ช่วยในการพยากรณ์เศรษฐกิจ (Economic Forecasting) การวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ (Economic Simulation) การประเมินผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ (Policy Simulation) อย่างเป็นระบบ โดยใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์และเศรษฐมิติ)
นิตยสาร The Economist คาดการณ์ว่า จีนจะดำเนินนโยบายในการลดการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ในการลงทุนที่มีความเสี่ยง และป้องกันการเก็งกำไรในตลาดเงินของตัวเอง โดยคาดว่า GDP น่าจะเติบโตอยู่ที่ราว 8.6% และมีรายงานว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ GDP อาจกลับไปเป็นตัวเลข 2 หลักอีกครั้ง
“ปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยคงดีขึ้นเพราะปีที่แล้วมันแย่มากๆ คงไม่มีทางแย่ไปกว่านี้ได้แล้ว แต่จากข้อมูล ณ วันที่เรานั่งคุยกันอยู่ ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้น”
อินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรอยู่ 1.18 ล้านคน น้อยกว่าจีนราว 300 ล้านคน GDP ต่อคนต่อปีนั้น จีนมีมากกว่าอินเดียอยู่เกือบ 4 เท่า แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่สูง นั่นคือ 6.3%
ข้อมูลจาก : The Economist The World in 2010
ข้อริเริ่มเชียงใหม่ หรือ CMI (Chiang Mai Initiative) เป็นการประสานการทำงานของประเทศในอาเซียนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อการสร้างเครือข่ายความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Arrangements-BSAs) ระหว่างประเทศสมาชิก ข้อริเริ่มนี้ถูกนำมาใช้หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย หรือวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เพื่อบรรเทาวิกฤติในภูมิภาคและประสานการดำเนินงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดยปัจจุบันได้ขยายเงินทุนสำรองจาก 80,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องของประเทศสมาชิก โดย 10 ประเทศกลุ่มอาเซียนจะใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ สมทบจัดตั้งกองทุน สัดส่วน 20% และประเทศ
+3 สัดส่วน 80%
ASEAN Plus Three หรือที่เรารู้จักกันในนาม อาเซียนบวกสาม แต่ปัจจุบันได้มีการขยายข้อตกลงร่วมกันกับประเทศต่างๆ มากขึ้น จนเกิดเป็นข้อตกลงใหม่ในชื่อ อาเซียน+6 ซึ่งเพิ่ม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียเข้ามาด้วย
อาฟต้า ย่อมาจาก เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ Asian Free Trade Area ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่า ภายในปี 2553–2558 ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีลงให้เหลือร้อยละ 0-5 และต้องทยอยลดหรือเลิกภาษีที่เป็นการกีดกันทางการค้าให้หมดไปด้วย ข้อตกลงนี้ครอบคลุมสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้าที่ขัดกับความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิตและศิลปะ
“น่าจะมีอุตสาหกรรมอยู่ 3 ประเภทที่น่าจะไปดีก็คือ อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ”
ปัจจุบันอัตราการเกิดของทารกในประเทศไทยนั้นมีไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร
“ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ความผันผวนทางการเงินมีสูงขึ้น เนื่องจากดูจากแนวโน้มที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจของโลกดีขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือภาวะเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับราคาน้ำมันที่สูงมากขึ้น”
กรรมพยากรณ์ : ดร. เอกนิติ ใช้แนวคิดเรื่องกรรมจากพุทธศาสนามาวิเคราะห์ กรรมของสภาพเศรษฐกิจไทยอย่างน่าสนใจว่า “หนังสือเล่มนี้พูดถึงคนที่เป็นไปตามกรรมที่ตนเองทำ และคนสามารถเปลี่ยนกรรมได้ด้วยการเร่งสร้างความดี ผมก็เอาเรื่องนี้มาผูกกับสิ่งที่ผมถนัดก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เช่นหากว่าเราจะดูอนาคตกรรมเศรษฐกิจไทย ผมว่าเราอาจจะต้องมาชดใช้กรรมของเราจากการทะเลาะกันเอง เป็นกรรมเก่าของเราที่เอาแต่ใส่ร้ายป้ายสีกันเองทุกรูปแบบ ทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราสามารถทำกรรมดีแล้วเราก็จะดีขึ้น เช่นคบกับกัลยาณมิตรเช่นประเทศในเอเชียด้วยกัน เร่งปฏิรูปสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น”)
กรรมพยากรณ์เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก
GM ได้แรงบันดาลใจจากบทความหนึ่งของ ดร. เอกนิติ ในเรื่อง ‘กรรมพยากรณ์’
จึงอยากให้เขาลองพยากรณ์ดูว่า จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ในปีนี้เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเด็นเหล่านี้อย่างไรบ้าง
ค่าเงินบาท
คำพยากรณ์ : ค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นมาก เพราะอเมริกาพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกสู่ตลาดมาก ซึ่งเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์นั้นอ่อนค่าลง ฉะนั้นทิศทางของค่าเงินบาทก็น่าจะแข็งค่าขึ้น
ดัชนีตลาดหุ้นไทย
คำพยากรณ์ : ข้อนี้ตอบยากมาก แต่ถ้าหากจะมองในมุมกว้าง ผมเดาจากกรรมเก่าของเรา ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาสินทรัพย์มานาน เราไม่มีการออกหลักทรัพย์ใหม่ๆ ไม่มีหุ้นใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้กับนักลงทุน นักลงทุนในตลาดหุ้นส่วนมากก็เป็นนักลงทุนรายย่อย ไม่ค่อยมีนักลงทุนสถาบัน เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนมาก แต่ตอนนี้เราเริ่มทำกรรมดีบ้างแล้ว คือมีแผนพัฒนาตลาดทุนขึ้นมา กรรมนี้หากเราเร่งทำก็จะทำให้นักลงทุนให้ความน่าเชื่อถือมากขึ้น สถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ในภาพใหญ่ก็คงไม่ขึ้นมามาก ยังผันผวนสูง เพราะกรรมเก่ายังมีมาก
อัตราดอกเบี้ย
คำพยากรณ์ : คงขึ้นแน่ๆ สาเหตุหลักน่าจะมาจากเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้จากในไตรมาส 1 และ 2 และตามบทบาทของแบงก์ชาติหัวอนุรักษนิยมทิศทางที่แบงก์ชาติจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยคงเป็นในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป
ภาษี
คำพยากรณ์ : พูดยากมาก ผมคิดว่าการขึ้นอัตราภาษีอาจทำได้ยาก เพราะเศรษฐกิจไทยของเรายังอ่อนแออยู่ แต่อาจจะมีภาษีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น เรื่องของภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เป็นการขยายฐานภาษี แต่โอกาสที่จะกิดขึ้นอาจยังไม่ใช่ภายในปีนี้อาจต้องอาศัยเวลานานกว่านั้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำพยากรณ์ : ในระยะไม่ไกลเกินไปเราคงเห็นการปรับอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะรายได้ที่เราได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราเก็บอยู่ทุกวันนี้ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบรายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีของประเทศ และเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของเราก็ถือว่าต่ำ ในภาวะที่ประเทศมีรายจ่ายมากมาย ทั้งดอกเบี้ยและเงินที่จะนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ในเวลาไม่ไกลนัก เชื่อว่ารัฐคงต้องพิจารณาปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องระวังให้มาก ต้องเลือกระยะเวลาที่เหมาะสม
GDP
คำพยากรณ์ : คงจะโต แต่ไม่โตเร็วนัก ฐานที่ต่ำจากการติดลบถึง 3 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ตัวเลขเราคงบวกอยู่แล้ว และได้อานิสงส์จากคู่ค้าในเอเชีย การบริโภคในประเทศอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงให้ GDP เขยิบขึ้น คิดว่าน่าจะโตราวๆ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แค่นั้นก็ดีมากแล้ว
ราคาน้ำมันและทองคำ
คำพยากรณ์ : ตอบยากอีกเช่นกัน เพราะสินค้าสองอย่างนี้เป็นสินค้าที่นักเก็งกำไรชอบ ผมคิดว่าในปีหน้าคงผันผวนเหมือนอย่างที่เป็นอยู่นี้ตามความต้องการของตลาด แต่คิดว่าผันผวนในทางที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน เพราะยิ่งเศรษฐกิจเริ่มดี การบริโภคพลังงานมีมาก ราคาน้ำมันก็จะสูงมากขึ้น บวกกับค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่อ่อนลง เมื่อดอลลาร์อ่อน คนก็จะหันมาถือทองคำแทนเพื่อหวังทำกำไร