fbpx

ดวงใจ มหารักขกะ ข่าวต้องเป็นข่าว คนข่าวต้องเป็นมืออาชีพ

33 ปีก่อน นิสิตจบใหม่จากครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าว คว้าไมค์ออกไปตระเวนทำงานมาแล้วทุกสาย และได้ผ่านมรสุมการเมืองทั้งภายนอกและภายในองค์กรมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนปัจจุบัน ดวงใจ มหารักขกะ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักข่าวไทย บมจ. อสมท  ด้วยคำยืนยันอย่างมั่นคงว่า ‘ข่าวจะต้องเป็นข่าว’ และผู้ที่จะมาบริหารงานองค์กรข่าวได้ จะต้องเป็นคนข่าวเท่านั้นจึงจะเข้าใจงานนี้ได้ชัดแจ้งที่สุด“งานข่าวไม่ได้เรียนกันวันเดียวเข้าใจ มันไม่ใช่งานบริหารทั่วไป ที่จะเอาใครก็ได้มาบริหาร เราต้องเข้าใจคำว่า ‘ข่าว’ คำว่า ‘สื่อสารมวลชน’  จรรยาบรรณและจุดยืนที่มั่นคงท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงมากมาย คนข่าวก็ไม่จำเป็นต้องสวยต้องหล่อ แต่ขอให้เป็นคนดีและมีอุดมคติร่วมกัน เราจะถ่ายทอดสิ่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น”บทสัมภาษณ์ของเธอ จะทำให้ได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ขององค์กรสื่อสารมวลชนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเราจะได้รู้ว่า ‘ข่าว’ และ ‘สื่อสารมวลชน’ ที่แท้จริงคืออะไร

GM : คุณมีมุมมองอย่างไรต่อวงการสื่อสารมวลชนและฟรีทีวีของบ้านเรา

ดวงใจ : วงการสื่อสารมวลชนของบ้านเรากำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟรีทีวี ในกรณีที่กฎหมายของสำนักงาน

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติมีผลบังคับใช้ และจะมีเทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนอย่างแรกก็คือจะเกิดช่องทีวีเพิ่มขึ้นอีกมาก เกิดสื่อแบบใหม่อีกหลายรูปแบบ เราจึงต้องคิดให้ไกลไปถึงจุดนั้นเลยว่าวันนี้ต้องปรับตัวอย่างไร อสมท

ก็มีแนวทางว่าต้องรักษาคุณภาพของข่าวไว้ดังเดิม ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องตอบสนองความต้องการและความสนใจของผู้ชมให้ได้มากขึ้น เราเชื่อว่าการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด คือการเน้นไปที่การปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหา การปรับเพียงแค่ผังรายการ เปลี่ยนช่วงเวลา

ออกอากาศอาจจะไม่เป็นผลอีกแล้ว เพราะคนดูทีวีตอนนี้มีทางเลือกเยอะเหลือเกิน เขาอาจจะไม่อยากดูทีวีแล้วก็ได้ เช่นเขาอาจจะอยากเข้าไปหาข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตอย่างเดียวเลย ในอินเตอร์เน็ตมีทีวีทุกรายการให้เขาเปิดดูย้อนหลังได้ ดูเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ เราออกข่าวตอนทุ่มหนึ่ง เพราะเป็นเวลาข่าวภาคค่ำ แต่ช่องอื่นออกไปแล้วตอนห้าโมงเย็น เพราะเป็นเวลาข่าวภาคเย็นของเขา แต่ประเด็นที่ต้องสนใจคือ ผู้ชมสมัยนี้อาจจะดูทั้งห้าโมงเย็นและมาดูซ้ำตอนทุ่มหนึ่งอีกครั้ง หรือคนดูอาจจะไม่ดูเลยทั้งห้าโมงเย็นและทุ่มหนึ่ง เพราะเขารู้ข่าวแล้วจาก SMS หรือเขาจะไปเปิดดูย้อนหลังทางอินเตอร์เน็ตแทน

GM :  องค์กรที่มีความเป็นมายาวนานอย่าง อสมท จะยังคงสร้างงานให้ถูกใจผู้ชมในปัจจุบันได้อย่างไร

ดวงใจ : ก่อนจะตอบคำถามนี้ ดิฉันขออธิบายอีกนิดว่า สำนักข่าวไทย อสมท เราตอบสนองคนดูกลุ่มไหน เรามีสำนักข่าวไทยอยู่ด้วย เราเป็นคนทำข่าวมืออาชีพเพื่อป้อนโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ ส่งออกทาง SMS และป้อนสื่ออื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น เรายังต้องมุ่งการผลิตและนำเสนอเนื้อหาข่าวที่ยังคงรักษามาตรฐานของเรา คือถูกต้อง เชื่อถือได้ และรวดเร็ว แต่ดิฉันว่าในทุกวันนี้ ความรวดเร็วอาจจะเท่ากันหมดแล้ว เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปไกล SMS ที่มือถือเดี๋ยวก็ปิ๊บ!…เดี๋ยวก็ปิ๊บ! ส่งข่าวใหม่มาอัพเดทเราได้ตลอดเวลา ดิฉันเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงข่าวสำนักข่าวไทย เขาคิดถึงข่าวที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ แม้อาจจะไม่หวือหวา การที่เราถูกมองว่าอนุรักษนิยม อาจเป็นเพราะว่าเราเป็นองค์กรที่เก่าแก่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ตั้งแต่ยังเป็นสถานีแรกของประเทศ ดังนั้นชื่อเสียงที่สั่งสมมา เราจำเป็นต้องยึดถือไว้ แม้จะถูกมองว่าอนุรักษนิยม แต่เราถือว่าการทำข่าวแบบไม่ใส่สี ไม่หวือหวา ไม่ใส่ความคิดเห็นน่าจะถูกใจผู้ชมส่วนใหญ่ สมัยนี้หลายช่องทำรายการข่าวแบบการเล่าข่าว มีการใส่ความคิดเห็นเข้าไป หรือมีการทำรายการข่าวให้ดูสนุกเหมือนดูละคร จนกลายเป็นรายการบันเทิงรูปแบบหนึ่ง แต่สำหรับเรา เรายังยึดถือว่าข่าวต้องเป็นข่าว การทำงานเป็นนักข่าวคือวิชาชีพ ที่ต้องมีหลักการและจรรยาบรรณให้ยึดถือ เราถือว่ารายการข่าวของเราคือแบบอย่างมาตรฐานของการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และการรายงานข่าวที่เป็นข่าวอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดที่เทคโนโลยีเปลี่ยน เราเองติดตามอยู่ตลอดค่ะ ในรอบปีที่ผ่านมา อสมท

จึงนำเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟกราฟิก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีภาพ 3 มิติที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ประกอบในรายการข่าวภาคค่ำ แบบนี้คุณจะบอกว่าเราอนุรักษนิยมอย่างเดียวก็ไม่ได้

GM : เป็นไปได้ไหม ที่นิยามของคำว่า ‘ข่าว’ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ข่าวกลายเป็นความบันเทิงไปแล้ว และจะเป็นแบบนี้ตลอดไป

ดวงใจ : ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนชีวิต วัฒนธรรม ภาษา แฟชั่น ‘ข่าว’ เอง วันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน พฤติกรรมคนบริโภคสื่อก็เปลี่ยน มันก็ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนแล้วว่าเราจะมีจุดยืนอยู่ตรงไหน คุณเองล่ะ!? มีจุดยืนตรงไหน คุณจะวิ่งตามกระแสไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายตัวตนที่แท้จริงของคุณ

จะเหลืออยู่ตรงไหน เรื่องธุรกิจขอยกให้เป็นเรื่องของฝ่ายการตลาด ฝ่ายหาเงินเข้าบริษัทดีกว่า แต่สำหรับทีมข่าว แน่นอนว่าเราก็ต้องตอบสนองความต้องการของผู้ชมด้วย เราจับตาดูเรตติ้งอยู่ตลอดเวลา เท่าที่ผ่านมา เราพบว่าคนดูชื่นชอบเราอยู่ และเราถือว่านี่จะทำให้รายได้ค่อยตามมาเอง

GM : องค์กรข่าวอย่างสำนักข่าวไทย และข่าวทีวีของ อสมท ยังมีความสำคัญอยู่อีกไหม ในขณะที่ทุกวันนี้เรามีทวิตเตอร์ ยูทูบ บล็อกเกอร์อยู่มากมายในไซเบอร์สเปซ

ดวงใจ : ดิฉันมองว่าที่คุณยกตัวอย่างมาเหล่านั้น คือเครื่องมือในการสื่อสาร แต่เนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือจะนำมาจากไหน ดังนั้น ทีวีอาจจะได้รับผลกระทบ เมื่อมีช่องทางอื่นๆ หลากหลายมากขึ้น แต่ช่องทางเหล่านั้นก็ต้องการนำเนื้อหาที่น่าเชื่อถือไปสื่อสารอยู่ดี ข่าวเชิงลึก ข่าวเจาะ ข่าว Investigative จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นี่แหละที่สำคัญ สำนักข่าวไทย ซึ่งจะไม่มีทางตกยุคหรือตกรุ่นแน่นอน เพราะมันวัดกันที่ฝีมือการเจาะการเรียบเรียงประเด็น และมุมมองของนักข่าว

GM : ทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ทำให้คุณบริหารงานข่าวของ อสมท ยากขึ้นหรือไม่

ดวงใจ : 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่ยากหรอกเมื่อนำไปเทียบกับ 10 ปีข้างหน้า ตอนนี้เราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน สู่เทคโนโลยีดิจิตอลทั้งระบบ เราปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไปแล้วมากมายเพื่อรองรับ ตอนนี้เรากำลังทดลองใช้การถ่ายทำข่าวด้วยระบบ Hi-Def อุปกรณ์ที่เราจะสั่งซื้อเข้ามาใหม่ เช่น กล้องเทปก็ไม่สั่งแล้ว เราจะใช้แต่กล้องที่มีหน่วยความจำแบบ Solid State ล้วนๆ ถ้าเราเข้าสู่ทีวียุคดิจิตอล เทคโนโลยีจะทำให้เราบีบอัดช่องสัญญาณได้

จากเดิมที่ใช้ได้ช่องเดียว จะเพิ่มเป็นอีก 5-6 ช่อง เราจะมีทีวีเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว อาจจะมีทีวีช่องที่เหมาะกับคุณที่สุด ไม่ได้มีเพียงฟรีทีวี 6 ช่อง ที่คุณชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง

GM : ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมาก คุณคิดว่าสื่อมวลชนไทยมีส่วนทำให้มันดีขึ้นหรือแย่ลงหรือไม่

ดวงใจ : บางคนคาดหวังให้สื่อมวลชนมาเป็นผู้ชี้ทางออกให้สังคมไทย แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็กล่าวหาว่าสื่อมวลชนคือตัวปัญหา เพราะสื่อเลือกข้าง ไม่เป็นธรรม ถ้าถามดิฉัน ก็ขอยืนยันว่าการเป็นสื่อมวลชนย่อมต้องยืนอยู่ตรงกลาง แต่เดี๋ยวคุณก็จะถามต่อ ว่าดิฉันกลางอย่างไร? กลางตรงไหน? เอาเป็นว่า อสมท ยึดถือหลักวิชาชีพและจรรยาบรรณ เราเสนอข้อเท็จจริงล้วนๆ จากทุกด้าน เพื่อให้ผู้ชมได้รับข้อมูลรอบด้านที่สุด มองอะไรๆ ให้ทะลุปรุโปร่ง แล้วคุณก็เอาไปคิดกันเอง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับเลยว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างมากจริงๆ นะ เพราะเราอาจจะยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชาชนของเราส่วนใหญ่อาจจะมีการศึกษาดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่รู้เท่าทันสื่อเท่าที่ควร คนส่วนใหญ่อาจจะฟังอะไรต่อมิอะไรแล้วไม่ได้กรอง จึงต้องอาศัยความรับผิดชอบของสื่อ แต่ละสำนัก แต่ละแขนง ว่าเราต้องรับผิดชอบข่าวสารที่นำเสนอออกไปด้วย เราจึงต้องปลูกฝังคนข่าวของเรา ว่าต้องเป็นคนดีด้วยนั่นเอง

GM : สำหรับคุณ นักข่าวที่ดีต้องเป็นคนอย่างไร

ดวงใจ : ทุกวันนี้ดิฉันเห็นนักข่าวรุ่นน้องเข้ามาเริ่มทำงานกับ อสมท เขาเก่งขึ้น กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เรียนรู้เร็ว สรุปคือเก่งกว่าสมัยดิฉันเริ่มมาทำงานที่นี่เยอะ (หัวเราะ) แต่ดิฉันว่านักข่าวรุ่นใหม่ก็ยังคงต้องศึกษาจากรุ่นเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องอุดมการณ์และความซื่อสัตย์ คนรุ่นเก่าอย่างดิฉันก็ไม่ใช่ว่าจะล้าสมัยไปเสียหมด เพียงแต่เราไม่ทันได้เรียนเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้นเอง แต่เราได้ผ่านการเรียนรู้และปลูกฝังให้เป็นคนข่าวที่แท้จริงมาอย่างยาวนาน ดิฉันว่าการปลูกฝังอะไร ถ้าทำกันในยุคก่อน ยุคที่เทคโนโลยีไม่หวือหวาแบบนี้ ยุคที่อะไรๆ ไม่รวดเร็วแบบนี้ เราจะปลูกฝังได้ลึกซึ้งและมั่นคงกว่านะ ดิฉันมองว่าคนรุ่นใหม่อาจจะเก่ง รวดเร็ว แต่มักฉาบฉวย เพราะยังไม่มีเวลามาซึมซับให้เข้าถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ นี่คือสิ่งที่ดิฉันพูดเสมอในที่ประชุม เราถือหลักว่าต้องหมั่นถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน แต่ต้องถ่ายทอดจิตสำนึกของความเป็นนักข่าวที่ดีด้วย มันคือการเป็นคนดีนั่นแหละ เหมือนกับคุณมีลูกมีหลานอยู่ คุณมองดูพวกเขา เป็นห่วงเขา และคาดหวังให้เขาเป็นคนดี ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็เหมือนกัน คนเก่งต้องควบคู่กับความดีและคุณธรรมด้วย มันถึงจะยั่งยืน ภายในองค์กรเราเป็นแบบจำลองของทั้งสังคมนั่นแหละ คนเก่งก็ต้องเป็นคนดีด้วย ประเทศชาติจึงจะอยู่รอดแบบยั่งยืน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ