fbpx

สืบกรรมกับ ‘ดังตฤณ’

ตัวอักษรสีเหลืองสด ถูกขับเน้นอยู่บนพื้นสีน้ำเงินฟ้า อ่านได้ความว่า ‘เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน’ ดูเป็นประโยคกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น

ของผู้ที่ยังมีลมหายใจอย่างพวกเราได้เป็นอย่างดีว่า หนังสือชื่อแสนเชิญชวนให้อ่านเล่มนี้ มันมีประโยชน์อันใดบ้างกับชีวิตเหลือบมองขึ้นไปบริเวณมุมบนด้านขวาของหนังสือมีวงกลมสีทองปิดอยู่พร้อมรายละเอียดว่าหนังสือเล่มนี้ ถูกพิมพ์มาแล้ว 70 ครั้ง !

70 ครั้งสำหรับหนังสือความหนาระดับพจนานุกรมและราคาเกือบสามร้อยบาท นับว่าเป็นผลงานที่น่าพอใจ ยิ่งหากคุณได้รู้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งชวนตั้งคำถามว่าอะไรทำให้หนังสือเกี่ยวกับ พุทธศาสนาเล่มหนึ่ง (ที่ไม่ใช่หนังสือพระไตรปิฎก) สามารถทำยอดขายได้มากมายเช่นนี้ผู้เขียนคือ ‘ดังตฤณ’ ชื่อจริงว่า ‘ศรันย์ ไมตรีเวช’ หนุ่มไทยวัยกลางคน เขาไม่ได้นุ่งขาวห่มขาวในวันที่เราเจอกัน ในกระเป๋ากางเกงเขายังมีโทรศัพท์ iPhone และสวมนาฬิกา TAG Heuer ดูเป็นผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งมากกว่าจะเป็นคนเคร่งศาสนาอย่างที่เรานึกคิดไว้แต่แรก เขาเริ่มงานเขียนด้านพุทธศาสนามาตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ มีทั้งความเรียง บทความ และนิยาย

งานเขียนของดังตฤณสร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ชื่นชมและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแตกฉานในคำสอนของพระพุทธเจ้าของเขา เขาได้ฉายานามจากนักอ่านผู้สนใจธรรมะว่าเป็นนักเขียนที่ให้แง่คิดธรรมะในเชิงรุก มีการนำเสนอในมุมมองของพุทธศาสนาแบบฆราวาสที่แตกต่างจากมุมของสงฆ์ เขียนด้วยภาษาที่กระชับ เรียบง่าย และข้อมูลที่อ้างอิงมาอย่างดี ทำให้หนังสือของเขาไม่เคยหลุดจากชั้นหนังสือขายดี 10 อันดับ ต่อสู้กับนิยายเกาหลีได้อย่างสูสีในภาวะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายเช่นนี้ หลายคนพูดถึงศาสนาว่าน่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยลดความรุนแรง เราหวังว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ อาจทำให้พวกเราคิดได้และกระจายความคิดดีๆ เหล่านี้ออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น

GM : มองความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้อย่างไรครับ

ดังตฤณ : มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ และสังคมมนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์ที่ต้องการจ่าฝูง ต้องการผู้นำมาเป็นคนชี้ขาดว่าต้องเป็นอย่างโน้นต้องเป็นอย่างนี้ แนวความคิดแบบประชาธิปไตยว่าไปก็เป็นความคิดแบบกบฏต่อความเป็นมนุษย์ เป็นระบอบที่ต้องแก่งแย่งกัน พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” หมายความว่าคนอยากมีอำนาจกันทั้งนั้น คนที่พอจะมีทางยึดอำนาจมาได้ก็อยากจะทำอยากจะได้มา ตอนนี้เหมือนกับต่างคนต่างคิดในมุมมองของตน เหมือนนักมวยที่พยายามหา

จุดอ่อนแล้วก็หาช่องชก ผมคิดว่ามันจบไม่ได้หากว่าเรายังมองคนละฝั่งแบบนี้

GM : สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากเหตุรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น

ดังตฤณ : ที่เราชอบพูดกันว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผมคิดว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธอยู่แง่เดียวเท่านั้น คือเราไม่เคยมีการฆ่าฟันล้างบางถึงเลือด

ถึงเนื้อด้วยเหตุทางศาสนา นอกนั้นผมไม่เคยเห็นเลยว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธอย่างไร ในเมื่อมีคนแค่หยิบมือที่เข้าใจแก่นสารความเป็นพุทธ พุทธให้ใช้ปัญญานำ คนส่วนใหญ่ของเราก็ใช้ศรัทธานำพุทธให้เป็นหนึ่งเดียวกัน สำนักต่างๆ ก็สอนให้แบ่งแยกกัน อย่าไปเชื่อ อย่าไปไหว้อีกสำนักหนึ่ง

พระพุทธเจ้าให้เอาพระธรรมเป็นตัวแทนพระองค์ คนส่วนใหญ่ก็เอาอาจารย์ของตนเป็นที่ตั้งของศาสนา เวลาเกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งในบ้านเมือง แทนที่จะช่วยกันสร้างความเข้าใจให้เกิดความมีแก่ใจอภัยกัน เราก็ด่าฝ่ายตรงข้ามก่อน แล้วค่อยชวนกันสวดมนต์อ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกป้องคุ้มครองเมือง เป็นกันอย่างนี้เราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำอย่างไรว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนเราถูกครอบให้เชื่อสัญลักษณ์ พอเห็นวัดเยอะ หรือเห็นคนยืนต่อคิวใส่บาตร เห็นคนกรอกแบบฟอร์มว่าฉันเป็นพุทธกันเป็นส่วนใหญ่ เราก็นับแล้วว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธผมจะนับว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธต่อเมื่อคนส่วนใหญ่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ให้เชื่ออะไร ให้ทำอะไร ระหว่างนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่บอกว่าไทยเรายังเข้าใจพุทธน้อย ต้องช่วยๆ กัน ไม่ใช่มัวแต่จ้องอยู่ว่าใครผิด หาอยู่ว่าใครถูก ระหว่างไม่เจอคนถูกก็ด่าแหลก รบแหลก ไม่ใส่ใจทำความเข้าใจหรือพยายามยกระดับตนเองและคนรอบข้างใดๆ ทั้งสิ้น

GM : แล้วเราควรทำอย่างไรในสภาวะ แบบนี้เพื่อให้มันผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ดังตฤณ : คำว่า “ควรทำอย่างไร?” นั้น ก่อนอื่นต้องแบ่งว่าใครเป็นคนทำ ขอให้นึกถึงวงกลม 3 ชั้นของความสัมพันธ์ คือวงกลมชั้นในสุด วงกลมรอบชั้นใน และวงกลมรอบนอก

วงกลมชั้นในสุด คือคนที่กุมอำนาจรัฐ ตลอดจนผู้มีอำนาจสั่นคลอนรัฐ สิ่งที่ควรทำคือต้องมองภาพรวมว่าใครต้องการอะไร และสิ่งที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ จะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการมาบางส่วน หรือเสียสิ่งที่ตัวเองต้องการไปทั้งหมด ถ้าไม่คิด ถ้าไม่พยายามอ่านภาพรวมให้ทะลุ ก็อาจตัดสินใจเพื่อแพ้ชนะไปวันๆ ทุกวันนี้แม้คนวงในก็ต้องติดตามกันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมงว่าเกมจะพลิกไปทางไหน กระทั่งลืมหมดแล้วว่าธงที่ต้องการหลังชัยชนะคืออะไรกันแน่ อำนาจการปกครอง หรือว่าระบอบการปกครองเดิม หรือว่าระบอบการปกครองใหม่ การลืมธงนั่นแหละคือการหักธงถัดมาคือวงกลมรอบชั้นใน ได้แก่ผู้มีใจฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตอนนี้ประเทศเราไม่ใช่มีแค่ฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ไม่ใช่มีแต่รัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่มีฝ่ายเลือกระบอบการปกครองเก่ากับระบอบการปกครองใหม่ ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของ ‘เอาใคร’ แต่กลายเป็นว่า ‘เอาอะไร’ ไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคืออะไรที่เราต้องการจริงๆ

วงกลมรอบนอก คือคนที่ไม่มีใจฝักใฝ่ฝ่ายใด อยากอยู่เย็นเป็นสุข ต่างคนต่างทำมาหากินไปตามอัตภาพ วงกลมชั้นนี้คือประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ในปัจจุบันจะสนับสนุนความต้องการของตัวเองได้ สิ่งที่ควรทำจึงเป็นการระวังไม่ให้ตัวเองกระถดเลื่อนตัวเองจากความเป็นวงกลมรอบนอกเข้าไปเป็นวงกลมรอบชั้นในที่เห็นอะไรแบบหน้ามืดตามัวเราต้องเข้าใจว่าในทางปฏิบัติแล้ว ประชาธิปไตยคือการเปิดโอกาสให้แย่งอำนาจกัน อุดมคติทางการเมืองมาทีหลัง หมายความว่ารัฐบาลคือผู้ได้อำนาจมาชั่วคราว ส่วนฝ่ายค้านคือผู้พยายามแย่งอำนาจมาให้ได้ตอนนี้ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าเคยมีการแย่งอำนาจมาอย่างไม่เป็นธรรม และตนก็อยากได้ความเป็นธรรมคืน วิธีการทำให้คนเลือกข้างนั้น นักการเมืองจะมุ่งตีบุคคลผู้กุมอำนาจหลัก หรือผู้ที่จะมีสิทธิ์มาแย่งอำนาจ เวลานักการเมือง ขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลังตั้งแต่ครั้งยังสนิทกันมาแฉ บางทีคุณฟังแล้วจะนึกแค้นว่าทำไมมันเลวระยำขนาดนี้ จนลืมนึกไปว่าเรากำลังฟังนักแย่งอำนาจเขาแฉไส้แฉพุงกัน แน่ใจหรือว่าคนแฉเขาไม่ข้ามช่วงที่ตัวเองก็ทำเหมือนๆ กับคนถูกแฉมาก่อน และบางทีอาจจะกำลังทำหนักกว่าด้วยซ้ำ ความเกลียดจะทำให้เราลืมตั้งคำถามสำคัญมากมาย

นักการเมืองในระบอบประชา-ธิปไตยค้นพบว่าวิธีง่ายที่สุดที่จะชนะ ไม่ใช่พยายามสร้างภาพดีให้ตัวเอง แต่เป็นการขุดคุ้ยเรื่องเสียๆ สร้างภาพเสียหาย ให้ศัตรูทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะคนไทยนั้นมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือถ้ารู้สึกว่าได้รู้ไส้รู้พุงใคร เราจะฉลาดขึ้น หูตาสว่างขึ้น และการรู้ไส้รู้พุงก็มักนำไปสู่ความเกลียดชังตัวบุคคลที่รุนแรงมากขณะมีความเกลียดคนเราจะเริ่มมีความคิดวิปริตเพราะความเกลียด จนเผลอทำอะไรที่น่าเกลียดเสียเอง ถ้าเราเข้าใจภาพรวมว่าในเกมนี้มีแต่คนคิดว่าจะชนะมันยังไง เราก็จะไม่หลงฟังข้อมูลโจมตีแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจังมากเกินไป รู้สึกอยู่แต่ว่าข้อมูลที่ได้รับมา ก็เพียงเพื่อดึงดูดกระแสสนับสนุนข้างตนเท่านั้นทุกคนมีข้อเสียหรือพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ถ้าเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ เราก็อภัยได้หมด และเมื่อจะต้องมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราก็จะไม่เคลื่อนไหวด้วยความเกลียดชัง หรือมีอคติจนฟังอะไรจากอีกฝั่งไม่รู้เรื่อง รู้เรื่องแต่ที่ฝั่งเดียวกันพูดคนส่วนใหญ่ต่อสู้เพื่อความเชื่อของตัวเอง คือรบชนะเพื่อให้ได้ชื่อว่าตัวเองคิดถูกต้อง ฉะนั้นก่อนจะเชื่ออะไร ก็ควรเชื่อตอนหูตาเราสว่างอยู่ ถ้าเห็นในขณะหูตาสว่างว่าไม่มีข้างไหนให้น่าเชื่อ ก็ขอให้เลือกเชื่อความเป็นธรรม ความไม่เบียดเบียนกันและรู้จักให้อภัย

GM : ความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือแม้แต่กระทั่งที่ภาคใต้ของเรา กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ ศาสนากำลังถูกเพิ่มหรือลดบทบาทอย่างไรในโลกเสรีนิยมทุนนิยม

ดังตฤณ : ผมคิดว่าพวกเราไม่ได้เกิด

ในยุคที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางศาสนา ถ้าเกิดทัน จะพบว่ายุคของเราถือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนับว่าเบาบางมาก ถือว่าอยู่ในยุคที่มีความโชคดีพอสมควร จะหาอ่านหาฟังคำสอนใดๆ ก็ง่ายด้วย ไม่ต้องนั่งรถม้าหรือเดินขาลากข้ามเมือง กว่าจะได้ฟังเทศนาธรรมเหมือนคนยุคก่อน แต่ความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดขึ้นมา มาจากความเชื่อที่เรายึดถือว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ผู้ใดขัดแย้ง มันผู้นั้นย่อมเป็นศัตรู หรือกระทั่งไม่อาจอยู่ร่วมโลกกัน ต้องฆ่าให้ตาย

พื้นฐานของมนุษย์คืออยากได้ดี พอได้ดีแล้วก็อยากได้หน้าได้ตา พอได้หน้าได้ตาก็อยากให้ผู้คนมาศรัทธา ถ้าดูในตัวของศาสนาพุทธเอง ไม่ได้สอนให้อยากได้ดี ได้หน้าตา ได้ศรัทธา แต่เป็นมนุษย์แล้วมันอดไม่ได้ และศาสนาก็มักเป็นเครื่องมือที่ดี คุณลองไปเล่นเกมซิมประเภทสร้างอาณาจักรสิ เขาจะแนะนำคุณตั้งแต่เริ่มบรรทัดแรกเลยว่าถ้าอยากปกครองคน ให้หาศาสนามาทำให้คนเชื่อให้ได้ก่อน พอคนเชื่อแล้วอำนาจปกครองจะตามมาเอง คนก็เป็นเสียอย่างนี้ มองไม่เห็นเป้าหมายอันเป็นแก่นของศาสนา เห็นแต่เปลือกที่เอามาสนองตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งสมัยไหนกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดเมื่อเกลียดศาสนาไหน ก็ยกกองทัพไปฆ่าล้างบาง เผาล้างเมืองกันไปเลย สมัยนี้ไม่มีกษัตริย์ที่เป็นแบบนั้น มีแต่คนที่กุมอำนาจทางศาสนา ถ้าไม่พอใจศาสนาที่มาแย่งคนในพื้นที่ ก็ต้องรบกัน ทำลายกัน ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้อย่าไปมองว่าเป็นสัญญาณเตือนอะไร ขอให้มองเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มีมาทุกยุคทุกสมัยมากกว่า

GM : คุณสนใจในหลักคำสอนของศาสนาอื่นบ้างไหม ทำไมคำสอนของศาสนาอื่นๆ ถึงไม่กระทบใจคุณ เช่นเดียวกับปรัชญาพุทธ

ดังตฤณ : ผมเคยอยากรู้จักทุกศาสนาให้ทะลุปรุโปร่ง จะได้เอาไว้สนทนากับทุกคนได้ถูก ไม่ต้องขัดแย้งกัน มาหาจุดร่วมดีกว่า แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณจะศึกษาศาสนาไหนให้ทะลุปรุโปร่ง แม้ทางภาคทฤษฎีใช้เวลากี่สิบปีก็ไม่พอ เพราะมันจะโยงใยไปหมด ทั้งหลักการ ทั้งประวัติศาสตร์ ทั้งวิวัฒนาการ ถ้าอยากได้ชื่อว่าคุณรู้รอบ รู้ลึก รู้จริง คุณต้องอุทิศตัวอ่านตลอดชีวิต พูดคุยตลอดชีวิต และเดินทางตลอดชีวิต

นอกเหนือจากเรื่องทฤษฎี มันยังมีเรื่องการปฏิบัติ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนกว่าทฤษฎีเป็นไหนๆ เพราะมันคือการเลือกใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่เลือกจำเลือกเชื่ออย่างเดียว อย่างถ้าคุณเข้าถึงที่สุดของการปฏิบัติทางพุทธได้ แปลว่าจบความสงสัยทุกสิ่งอัน ถ้าขืนบอกว่าคุณจบแล้วและยังอยากใจกว้างไปลองปฏิบัติกับศาสนาอื่นอีก นั่นแสดงว่าคุณไม่จบจริง คุณเข้าใจผิด หรือไม่คุณก็ลวงโลกทุกศาสนาสอนให้คนคิดดี พูดดี ทำดี แต่ความดีของศาสนาไม่เหมือนกัน เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางต่างกัน เราต้องไม่ฝืนความจริงตรงนี้ และรู้ตัวเองว่าศรัทธาของเราตั้งอยู่ในเส้นทางคุณงามความดีแบบไหน ก็เลือกแบบนั้น อย่างกรณีของผม ชีวิตไม่ได้เริ่มจากความเชื่อทางศาสนา แต่เริ่มจากความอยากรู้ว่าทำอย่างไรจะไม่ต้องทรมานใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์ และศาสนาพุทธก็เป็นคำตอบแรก แม้ผมจะยังเดินทางไปไม่ถึงคำตอบ

GM : วิกฤติศรัทธาทางศาสนาจะเกิดขึ้นอีกไหม และคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นเพราะอะไร หรือว่าตอนนี้กำลังเกิดอยู่ บทบาทของศาสนาในโลกยุคใหม่ควรเป็นอย่างไร

ดังตฤณ : เราต้องช่วยกันดูว่าวิกฤติศรัทธาทางศาสนาเกิดขึ้นจากอะไร จากอดีตถึงปัจจุบันมีอยู่ 2 อย่าง หนึ่ง, คือ ศรัทธาไม่ตรงกัน สอง, คือ ผู้เป็นที่ตั้งของศรัทธาประสบภาวะล้มละลาย ทั้งสองกรณีไม่มีทางยุติ สิ่งที่เราทำได้คือว่ากันที่ปัจจุบัน ที่ตัวเอง และคนรอบตัว ทำความเข้าใจให้ถูกที่สุด ความเข้าใจที่ถูกนั่นแหละจะพาเราออกจากหายนะทางศรัทธา และเป็นเรื่องเฉพาะตน น่าดีใจเฉพาะตน ไปทำให้คนหมู่มากไม่ได้

GM : ท่ามกลางความก้าวหน้าของสื่อทุกแขนงและเทคโนโลยี ศาสนาควรปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด โดยเฉพาะศาสนาพุทธนั้นเมื่อเทียบกับศาสนาอื่นๆ แล้ว ดูเหมือนความสามารถในการปรับตัวนั้นแตกต่างกันมาก

ดังตฤณ : การปรับตัวของศาสนาพุทธเป็นไปได้ยาก เพราะของเราจุดหมายสำคัญเป็นไปในทางทิ้งวัตถุ ขณะที่สังคมปัจจุบันนิยมคือไขว่คว้าหาวัตถุ ถ้าเราตามวัตถุมากเกินไป ภาพรวมหรือภาพสูงสุดก็เสีย แต่ถ้าไม่ตามวัตถุเลย เราก็ไม่อยู่ในโลกปัจจุบัน ถ้าใครจะอาศัยวัตถุเป็นเครื่องล่อ อันนี้ก็ต้องท่องไว้ เราตามเขาไปเพื่อตามตัวเขามา เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเคยล่อใจพระนันทะด้วยนางฟ้า บอกว่าถ้าเธอบวช เราตถาคตเป็นประกันว่าเธอจะได้แบบนี้หลังจากกายแตก พอพระนันทะบวชจริง เข้าใจจริง ปฏิบัติจริง ก็สำเร็จอรหัตผล

นี่ก็แสดงว่าเราเอาโลกมาเป็นเหยื่อล่อให้เข้าทางธรรมได้ ไม่ใช่ไม่ได้เทคโน-โลยีไปถึงไหน คนของเราก็พร้อมจะฉลาดพอตามไปถึงนั่น ไม่ใช่ว่าเป็นพุทธแล้วฉลาดแต่เรื่องธรรมแล้วโง่เรื่องเทคโนโลยี สำคัญที่ว่าพอฉลาดเรื่องเทคโนโลยีแล้ว เรามี ‘วิธีใช้เทคโนโลยี’ กันอย่างไร โดยสรุปย่นย่อที่สุดก็คือถ้าเราสื่อสารเป็น เทคโนโลยีก็ช่วยให้เราสื่อสารกับคนได้มาก กว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าเราสื่อสารเป็นรูปแบบการปรับตัวจะตามมา แต่ทุกวันนี้เราเน้นสร้างภาพให้เป็น ซื้อใจกันให้ได้ การสื่อสารเลยไม่ค่อยเกิด เกิดแต่ตัวบุคคล เมื่อบุคคลล้มละลายทางศรัทธา กลุ่มคนก็แตกกระเจิง มันเป็นกันเสียอย่างนี้

GM : ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่สูง น่าจะไปด้วยกันได้กับโลกสมัยใหม่ที่มักอ้างถึงเหตุและผลในทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

ดังตฤณ : พุทธไม่ใช่วิทยาศาสตร์โดยแท้มาตั้งแต่เริ่มปักธง แต่วิทยาศาสตร์ช่วยให้พุทธดูเป็นแก่นสารหนักแน่นขึ้น เช่น ในระดับควอนตัมฟิสิกส์ เขาพบว่าเนื้อตัว น้ำเลือด น้ำเหลือง กระดูกกระเดี้ยวของเราทั้งหมด ประกอบขึ้นด้วยโมเลกุลและอะตอมที่กำลังสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มี ‘อนุภาคเล็กที่สุด’ เหมือนเม็ดดินเม็ดทรายให้จับต้อง มันมีแต่การทำปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคด้วยการสร้างและทำลายอนุภาคอื่น แต่เรายังสำคัญผิด นึกว่ามีตัวเราเป็นก้อนๆ ที่ยิ่งใหญ่อยู่ แท้จริงเราเป็นแค่ก้อนมายาที่พร้อมจะแตกดับเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยืนยันและทำให้เห็นภาพอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ชัดขึ้น หรืออย่างที่ใครสงสัยว่าสมองกับจิตเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า วิทยา-ศาสตร์ก็บอกได้ว่าถ้ามีแต่สมองอย่างเดียว คุณไม่มีทางพิมพ์สัมผัสรัวๆ เร็วๆ ได้ เพราะสัญญาณไฟฟ้าซึ่งนำคำสั่งจากสมองมาถึงนิ้วนั้น มันช้ากว่าที่คุณรัวนิ้วถี่ๆ เยอะเลย อันนี้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนถึงบางอ้อไปแล้ว ขณะที่อีกส่วนยังดื้อ ยังพยายามสร้างคำอธิบายความจริงนี้ว่าเป็นความจำระดับกล้ามเนื้อบ้าง อะไรบ้าง ก็ต้องเป็นเรื่องอภิปรายระหว่างนักวิทยาศาสตร์กันต่อไป แต่สำหรับศาสนาเราถือว่าได้หลักฐานชิ้นเยี่ยมที่บ่งว่าร่างกายไม่ได้ถูกควบคุมด้วยสมองอย่างเดียว ตรงข้าม สมองเป็น ‘ร่างกายส่วนหนึ่ง’ ที่มีใจครองอีกทีต่างหากวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาต่างพูดเรื่องความจริงเหมือนกัน เพียงแต่วิทยาศาสตร์พูดถึงความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่จับต้องได้เพื่อให้เข้าใจและอธิบายได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเรา ถ้าเราต้องการอะไรจะให้ทำท่าไหนถึงจะได้มา ส่วนพุทธพูดถึงความจริงเกี่ยวกับทุกข์และการดับทุกข์ ซึ่งมีทั้งส่วนที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้จุดประสงค์สูงสุดของพุทธศาสนาคือ ทำปรากฏการณ์ล้างผลาญเครื่องพันธนาการ ที่ร้อยรัดดวงจิตของเราไว้กับปวงทุกข์ ให้ขาดสิ้นไป

GM : แก่นแกนที่แท้จริงของพุทธ-ศาสนาคืออะไร บางคนพูดถึงเรื่องความว่าง ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อความฟุ้งซ่าน

ดังตฤณ : ผมคิดว่าแก่นแกนของพุทธไม่ได้นำพาเราไปสู่ความว่างนะ แต่ให้ไปสู่การดับทุกข์ อันถือเป็นบรมสุขที่แท้จริง พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง มีอยู่ แต่ไปจินตนาการเป็นสามเหลี่ยมหรือวงกลมอะไรแบบที่ตาเราเห็นและคุ้นเคยไม่ได้ หาใช่ ‘ว่างแบบไม่มีอะไรเลย’ ก็ไม่ใช่ การว่างแบบไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงจินตนาการอย่างหนึ่งของจิต มีคนเข้าฌานด้วยความหมายรู้หมายจำแบบนี้ได้ เรียกว่าเป็นอรูปฌานระดับ ‘อากิญจิญญายตนะ’ แต่นิพพานเป็นของมีจริงอยู่ก่อนจินตนาการ หมายความว่าต่อให้ไม่มีมนุษย์เกิดมาจินตนาการ นิพพานก็คงความเป็นนิพพานอยู่อย่างนั้น ท่านเรียกว่าเป็นมหาสมุทรสุญตาไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอะไรๆ อยู่เหนือการมีและการไม่มีตามความรู้สึกอันจำกัดของเราวาดไป

จริงๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ครับว่า ท่านไม่อยากพูดถึงนิพพานนัก เพราะคนฟังจะฟุ้งซ่านเปล่าประโยชน์ เป็นเรื่อง อจินไตย คือจินตนาการแล้วหัวแตกเปล่า แต่ท่านให้แนวทางคิดถึงนิพพานไว้ว่า ให้ระลึกถึงนิพพานโดยความเป็นบรมสุข อย่าคิดว่าเป็นทุกข์ จงคิดถึงนิพพานโดยความเป็นของจริงเพราะไม่เลอะเลือนไป อย่าคิดถึงนิพพานว่าเป็นความเท็จเหมือนอย่างกายใจที่เปื่อยเน่าเลอะเลือนได้ นิพพานเป็นของดีเพราะไม่ต้องเป็นทุกข์อีก ไม่ต้องเกิดสภาพนรกขึ้นอีก ไม่มีภาวะใดที่ปรุงแต่งบีบคั้นให้เกิดความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอีกคุณเข้าใจได้เดี๋ยวนี้ว่ามันดีอย่างไร แต่คุณจะไม่เข้าถึงได้ด้วยเพียงการทำความเข้าใจ แต่ต้องเอาชีวิตทั้งหมดทุ่มให้กับเส้นทางแห่งการเข้าถึง ซึ่งเราแต่ละคนมีอินทรีย์อ่อนแก่ต่างกัน เราเป็นฆราวาสก็ฟังหรืออ่านแนวสอนแบบอนุปุพพิกกถาให้มาก เห็นช่องเจริญสติรู้กายใจได้เมื่อไหร่ก็เอาเมื่อนั้น เพาะนิสัยพอใจเห็นปัจจุบันไปเรื่อยๆ ก็เลิกนิสัยพอใจฟุ้งซ่านถึงนิพพานในกาลหน้าได้เอง

GM : สมาธิและการทำวิปัสสนาเป็นทางหนึ่งในการรักษาโรคบางโรคให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้ คุณคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงไหม

ดังตฤณ : คุณรู้ไหมว่า เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นกับกายใจ แล้วเราไม่สะเทือนเข้าไปถึงจิต รู้ไหมว่าจะรู้สึกอย่างไร… เป็นสุขสบายขนาดไหน การไม่รู้นั่นแหละคือการที่พวกเราไม่อาจเข้าใจว่าประโยชน์ ของวิปัสสนาไปได้สูงสุดแค่ไหนกันแน่ แทนที่เราจะพูดถึงประโยชน์ของวิปัสสนา ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายของวิปัสสนาล่ะ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นกุศโลบายที่สำคัญมาก

วิปัสสนาคือการเห็นกายใจและของปรุงแต่งอื่นๆ นอกกายใจนี้ตามจริง คือเห็นว่ามันไม่เที่ยงสักอย่าง ไม่ใช่ตัวเราสักอย่าง ไม่มีตัวเราที่ไหนสักแห่ง การเห็นในที่นี้ไม่ใช่นึกคิดเอา เช่น บางทีแกล้งจินตนาการถึงลมหายใจได้ ทั้งที่พักหยุดลมหายใจอยู่ แต่ถ้า ‘รู้ลมหายใจ’ นี่ต้องมีสัมผัสระหว่างลมหายใจกับช่องทางเดินลมจริงๆ รู้สึกถึงสัมผัสนั้นจริงๆ ว่ากำลังเป็นขาเข้าหรือขาออก เป็นต้น เราเห็นลมหายใจ ความรู้สึกอึดอัดหรือสบาย จิตสงบหรือฟุ้งซ่าน ไม่ใช่เพื่อหยุดอยู่แค่นั้น แต่ต้องดูให้รู้จริงด้วยว่าทั้งหมดทั้งปวงมันหายไปเป็นชุดๆ ไม่ซ้ำกันเลยตั้งแต่เกิดจนตาย เห็นเรื่อยๆ นี่โดยความเป็นอย่างนั้น แรงดึงดูดที่เชื่อมให้จิตติดกับกายใจก็ค่อยๆ อ่อนกำลังลง จนกระทั่งไม่เหลือเลย จิตเป็นอิสระเป็นวูบๆ หรือเป็นอิสระอย่าง

เด็ดขาด นั่นแหละปรากฏการณ์อันแสดงอยู่ในตัวเอง ว่าวิปัสสนาเป็นประโยชน์ได้แค่ไหน

เรื่องรักษาโรคเครียด ผลิตเอน-ดอร์ฟินขึ้นมารักษาได้สารพัด ความผิดปกติทางกายนั้น มันแค่ประโยชน์ตื้นๆ การไม่ต้องทนอยู่ในสภาพอันเป็นทุกข์อีกต่างหาก เป็นสิ่งที่ล้ำลึกกว่า ถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ในระดับหยุดความฟุ้งซ่าน ยุติความเครียดได้ คนสมัยนี้จะเห็นค่ากัน แต่คนโบราณตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้น ท่านยุติทุกข์ถึงระดับ ‘มีจิตพรากจากขันธ์’ กันได้มาก แม้นั่งคุยกันก็ไม่รู้สึกมีมโนภาพว่าเป็นตัวผู้พูด เป็นชายเป็นหญิงตามแก้วเสียง ถึงระดับนั้นพวกท่านก็สรรเสริญพุทธศาสนาว่าเป็นเลิศที่สุดเป็นธรรมดา

GM : ความสนใจเรื่องการเขียนงานในเชิงศาสนาเริ่มมาได้อย่างไร

ดังตฤณ : เรื่องการเขียน ผมสนใจมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนอยู่ประถมหก ผมก็เขียนนิยายให้เพื่อนๆ อ่านบ้าง เขียนให้ญาติๆ อ่าน เป็นเรื่องนิยายเพ้อฝันแบบเด็กๆ มีผจญภัยบ้างอะไรบ้าง แต่เขียนไม่เคยจบ เป็นเรื่องของความคัน อยากระบายออกมากกว่า ก็มีคนชอบนะมีเพื่อนเข้าคิวรออ่านเลย แต่งานเขียนเมื่อตอนที่โตแล้วนี่แตกต่างกัน พออ่านมากขึ้น ทำให้ตาสว่างขึ้นความอยากเขียนจึงเริ่มจากที่ว่าผมอยากจดบันทึกสิ่งที่เราไปเจอมาว่าเราได้ข้อสรุปอะไรมาบ้างเพื่อเตือนตัวเอง โดยจะพยายามเขียนโดยใช้คำให้น้อยที่สุด สั้นที่สุด และได้ความหมายอย่างที่เราต้องการ ก็จดมาเรื่อยๆ จนเมื่อมีโอกาสไปบวชเมื่อตอนอายุสัก 20 ตอนที่บวชก็เขียนสิ่งที่มันเป็นความคิดส่วนตัวเกี่ยวกับแนวการปฏิบัติ พอเพื่อนพระได้มาอ่าน ก็บอกว่าอ่านแล้วก็เหมือนมีแรงดึงดูดให้เข้าไปอยู่ในนั้น ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าเอาไว้เตือนตัวเองให้รู้ว่าเราเคยมีปฏิกิริยาทางความคิดแบบนี้ผมก็เขียนมาเรื่อยๆ ตั้งเป้าแค่ว่าอย่างน้อยก็ให้ได้เขียนวันละบรรทัด เวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเล่มสมุดเล่มเล็กๆ จุดที่สร้างแรงบันดาลใจจริงๆ คือตอนที่เพื่อนสนิทขอไปอ่าน แล้วเขาตอบกลับมาว่าเขาได้อะไรจากเล่มนี้มากเลย มันทำให้เราภูมิใจ ทีนี้จากงานเขียนไว้อ่านเอง ก็เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

เวลานั้นผมอ่านนิตยสารโลกทิพย์อยู่แล้วและผมรู้ข่าวมาว่าทางสำนักพิมพ์โลกทิพย์เองกำลังจะเปิดนิตยสารเล่มใหม่ ชื่อ นิตยสารพ้นโลก ผมคิดว่า

ถ้าเราลองเขียนอะไรไปเสนอในช่วงนั้น โอกาสที่เราจะได้พิจารณาก็คงมากขึ้น ว่าแล้วก็เขียนบทความชื่อ ‘ปฏิบัติธรรมด้วยกระดาษ’ เป็นเรื่องของการบันทึกเรื่องอาการ ‘วาบคิด’ ของตัวเองในขณะนั้นๆ บนกระดาษ เพื่อกระตุ้นเตือนสติตัวเอง โดยจะต้องไม่มีการดัดแปลงหรือปรุงแต่งคำใดๆ แต่เมื่อเขียนเสร็จ ก็ขยำทิ้งแล้วค่อยเขียนใหม่ บทความนี้ยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษมาตรฐาน แต่ใช้เวลาเขียนอยู่ 3 เดือนสองสามวันหลังจากส่งบทความนี้ไปให้ทางนิตยสาร ทางกองบรรณาธิการก็โทรฯมาบอกว่า สนใจงานเขียนของผม แล้วก็อยากให้ช่วยเขียนต่ออีกได้ไหม แต่ในความคิดของเราตอนนั้นคือไม่เขียนแล้ว เพราะนี่ขนาดบทความเดียวเราใช้เวลาตั้ง 3 เดือน แล้วเขียนเรื่องธรรมะก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

GM : ตอนนั้นใช้นามปากกาว่าดังตฤณแล้ว

ดังตฤณ : ใช่ครับ ชื่อดังตฤณได้มาจากตัวเอกในนิยายของผมที่ผมเคยเขียนไว้นานมากแล้ว เหตุผลที่ใช้ชื่อนี้เพราะรู้สึกว่า ณ เวลานั้น ตัวละครตัวนี้มันไม่ใช่เรา อีกอย่างความหมายของคำว่า ‘ดังตฤณ’ ก็ดีด้วย เพราะแปลว่า ต้นหญ้า การเริ่มเขียนคราวนั้นก็เลยกลายเป็นภาระผูกพันว่าต้องเขียนทุกเดือน ซึ่งตอนนั้นเขียนก็เพราะอยากทำ ผมยังบอกทางนิตยสารว่า ไม่ต้องส่งเงินมาพอเขียนมาประมาณครึ่งปีมันมีเหตุการณ์ที่น่าตกใจคือทางบรรณาธิการนิตยสารโทรศัพท์มาหา บอกว่ามีนายพลนอกราชการคนหนึ่งอยากพบ ซึ่ง ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้จักผม ไม่มีใครเคยเห็นหน้าผมว่าเป็นอย่างไร ผมเข้าใจว่าผู้อ่านที่เป็นนายพลท่านนั้นคงคิดว่าผมอายุมากแล้ว ไม่ก็เป็นพระหรือเคยบวชเป็นพระมาก่อน ผมก็เริ่มตกใจว่า น่าจะมีคนอ่านไม่น้อยที่เข้าใจผิดแบบนี้ เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า แล้วทำไมเราไม่เขียนให้มันชัดลงไปว่า เราเป็นฆราวาส ผมก็เลยเริ่มใช้ความสามารถในการเขียนนิยายเข้ามาผสม ซึ่งผมชอบงานเขียนของ อาจารย์วศิน อินทสระ อยู่แล้ว ท่านก็เคยเขียนนิยายอิงธรรมะมาก่อน แล้วมันมีประโยชน์ มันเป็นขนมหวานที่คนอ่านจะได้รู้เรื่องธรรมะโดยไม่รู้ตัว เลยตัดสินใจว่าจะเขียน

GM : หนังสือ ‘เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน’ กลายเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จสูงมาก มันเปลี่ยนชีวิตของคุณมากน้อยแค่ไหน

ดังตฤณ : มันทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็เตรียมใจไว้แล้วว่าวันหนึ่งผมอาจอดตาย เพราะพอย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้วที่เริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ ตอนนั้นยังไม่มีนักเขียนใครเลี้ยงตัวด้วยหนังสือธรรมะได้เลย แต่ที่ยังทำอยู่ก็เพราะอยากหาคำตอบ แล้วพอได้คำตอบก็อยากจะเอาคำตอบไปให้คนอื่นได้รู้ พอใจที่ได้ทำ ตายก็ไม่เป็นไร พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะล้างกิเลสได้หมดนะ เปล่าเลย ผมก็เป็นคนธรรมดาๆ ยังมีความพอใจ ยังมีความสนุก

GM : ที่ผ่านมามีงานเขียนของนักเขียนชาวตะวันตกที่หยิบยืมเอาแนวความคิดทางพุทธไปใช้ในงานเขียนเชิงจิตวิญญาณ คุณคิดว่าการตีความของคนตะวันตกกับคนตะวันออกในเรื่องแนวปฏิบัติแบบพุทธแตกต่างกันอย่างไร

ดังตฤณ : นักเขียนบางท่านไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตกหรือตะวันออกก็ตาม มักไม่ประกาศตัวว่าเป็นสาวกของใคร งานส่วนมากอ่านแล้วดูดี แต่ทางปฏิบัติ

เพื่อที่จะรับมือกับทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นกลับไม่ชัดเจน อันนี้น่าสนใจเพราะส่วนมากนักเขียนแนวจิตวิญญาณจะพูดเหมือนกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏ และเป็นอยู่นั้นดีอยู่แล้ว แต่พุทธศาสนาไม่ได้พูดแบบนั้นเสียทีเดียว ทั้งหมดที่เป็นอยู่นั้นมีเอาไว้ให้ดู เพราะเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นโทษ ไม่ใช่ความมหัศจรรย์ ไม่ใช่ของลึกล้ำ

ฉะนั้นการอ่านงานเหล่านี้ ต้องคิดเปรียบเทียบให้มาก เราอาจเผลอไปยึดติดได้ง่ายๆ ซึ่งปรัชญาพุทธไม่ได้สอนแบบนั้น แต่ให้หาความจริงนำมาเปรียบเทียบ นี่คือข้อแตกต่างของแนวคิดแบบพุทธที่แท้ ผมไม่ได้โต้แย้งนะว่าคนที่เป็นนักคิด นักเขียนเหล่านี้เขาถึงหรือไม่ถึง จริงหรือไม่จริง แต่แค่จะบอกความแตกต่าง ว่าแนวความคิดแบบพุทธมันสืบมาได้เป็นพันๆ ปี เพราะมันมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าเราอย่าไปยึดมั่นในสิ่งที่เป็นของไม่เที่ยง คำพวกนี้พระพุทธเจ้าพูดซ้ำไปซ้ำมา แต่ว่าพูดแต่ละครั้งมันแตกต่างกัน แต่มันจะไม่หายไปไหน

GM : การเขียนนิยายเชิงธรรมะนั้น มีความยากง่าย แตกต่างจากการเขียนนิยายประเภทอื่นอย่างไร คุณเคยเขียนงานประเภทอื่นอีกหรือไม่

ดังตฤณ : นิยายแต่ละประเภทมีจุดประสงค์และปรัชญาต่างกัน ผมเคยเห็นวาทะเด็ดของฝรั่ง ที่บอกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายอย่างในปัจจุบัน

เกิดขึ้นจากความคิดฝันของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในอดีต ผมเคยเข้าใจและได้หลักในการเขียนนิยายวิทยา-ศาสตร์จากข้อสรุปสั้นๆ ของเฟรด โพห์ล (Fred Pohl) ว่านิยายวิทยาศาสตร์ดีๆ ไม่ควรช่วยให้แค่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะมีรถใช้ แต่ทำให้นึกออกด้วยว่าการจราจรที่ติดขัดอันเกิดจากการร่วมกันใช้รถมันเป็นอย่างไร (A good science fiction story should be able to predict not the automobile but the traffic jam.)

ข้อสรุปที่กระชับและกินใจของเฟรด โพห์ล ทำให้ผมได้ข้อคิดมากมาย เช่น ถ้าผมจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหายตัวและเดินทางข้ามมิติได้ ผมจะแสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติและมนุษย์ต่างดาวอีกมากมายมีหวังสูญพันธุ์เลยทีเดียว อาจจะภายในหนึ่งปีหรือสิบปีหลังเทคโนโลยีนี้กำเนิดขึ้น มันจะไม่ใช่อะไรแค่ที่คุณเห็นในเรื่องสตาร์เทร็คที่เอาเทคโนโลยีพรรค์นี้เดินทางขึ้นยานและลงจากยานเท่านั้น แต่มันจะถูกเอาไปสนองทุกรูปแบบตัณหาของคน อยากฆ่าใครก็แวบไปฆ่า อยากขโมยอะไรก็แวบไปขโมย อยากข่มขืนใครก็แวบไปข่มขืน นี่แหละคืออะไรที่จะเกิดขึ้นจริง แล้วก็เป็นสิ่งที่นักประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ขี้เกียจเอามาตีแผ่ เมื่อได้มุมมองว่าคุณค่าของนิยายวิทยาศาสตร์คือการวาดภาพให้คนอ่านเห็นอย่างกระจ่างว่า ‘อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า…’ผมก็มองย้อนมาถามตัวเองว่าคุณค่าของนิยายธรรมะล่ะ คืออะไร? ถึงวันนี้ผมคิดว่าได้คำตอบชัดครับ นิยายธรรมะที่ดี ไม่ใช่การวาดภาพความดีที่แตะต้องไม่ได้ แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างโลกดีๆ ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งที่จะเป็นเช่นนั้นได้ นิยายดังกล่าวต้องสนุก อ่านง่าย สนองความต้องการของคนอ่านเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยแทรกแรงบันดาลใจทางศาสนาเข้าไป ไม่ใช่เอาแรงบันดาลใจทางศาสนามาเป็นตัวตั้งเหมือนอย่างหนังสือธรรมะธรรมดาลำพังการเขียนเรื่องยากให้อ่านง่าย ก็นับว่าหินสุดขีดแล้ว แต่เขียนแบบตั้งใจเป็นแรงบันดาลให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบมากกว่านั้น บรรยายให้ละเอียดคงยาวเกิน แต่โดยใจความสรุปคือคุณต้องอยากทำจริง และไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน โดนต่อต้านกี่ครั้ง คุณต้องจำให้ได้ว่าความตั้งใจแรกเป็นอย่างไร เพราะถ้าลืมไปยาวๆ ช่วงเดียว คุณจะนึกไม่ออกและจำไม่ได้อีกเลย

GM : เคยไขว้เขว วอกแวกกับสิ่งที่ทำอยู่บ้างไหม แล้วถ้าหากเขว คุณทำอย่างไรที่จะดึงความคิดของคุณกลับมา

ดังตฤณ : สำหรับผมจะย้ำพูดแล้วพูดอีกทั้งกับสื่อ กับคนรอบข้าง และกับตัวเองว่า เราอยากให้คำตอบกับคนที่เคยมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตเหมือนกับเรา เราได้กุญแจจากพุทธศาสนา เราแค่อยากหยิบยื่นกุญแจดอกเดียวกันนี้ให้กับทุกคน ทุกวันนี้ผมดูใจตัวเอง ตื่นขึ้นมามีใจผูกพันอยู่กับอะไร เริ่มจากออกกำลังกาย กินข้าวเช้า แล้วจากนั้นก็ลงนั่งเขียนบทความ เขียนหนังสืองานของผมแจกฟรีบนอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้น (dungtrin.com) ถามว่ายังทำอยู่หรือเปล่า พัฒนาขึ้นหรือเปล่า อันนี้ต้องให้คนอ่านตัดสิน และอันเนื่องมาจากชีวิตทางพุทธของผมเริ่มต้นขึ้นจากการซื้อหนังสือธรรมะราคาถูกจากแผงหนังสือเพียงเล่มเดียว จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมต้องการสร้างอะไรแบบนั้นให้เกิดขึ้นกับคนร่วมสมัยบ้าง ถ้าถามว่ายังทำอยู่หรือเปล่า พัฒนาขึ้นหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องให้คนอ่านตัดสินเช่นกันส่วนเป้าหมายของชีวิต คือทำ ความรู้ให้แจ้งว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ผมยังทำอยู่หรือเปล่า พัฒนาขึ้นหรือเปล่า ข้อนี้มีแต่ตัวผมเองที่เห็น

ไม่สามารถบอกหรืออวดอ้างให้ใครทราบ ผมพูดได้โดยไม่เก้อเขินว่าผมไม่ได้มุ่งเป้าหลักของชีวิตด้วยทางตรง เพราะกำลังอยู่ในช่วงความพอใจสร้างคำตอบเบื้องต้นให้คนอื่นอยู่ ผมไม่ถือว่านี่คือการไขว้เขว แต่ถือว่าอยู่ในกระบวนการสนองความต้องการในชีวิตตน ซึ่งเป็นเส้นทางเฉพาะตัว เมื่อสนองได้พอ วันหนึ่ง ก็ค่อยว่ากันเรื่องธงสุดท้ายของเรา

GM : กระแสหนังสือธรรมะที่มีมากขึ้น สะท้อนอะไรบ้าง หนังสือออกมาในตลาดมากมาย แต่ทำไมสังคมเรายังมีแต่ความขัดแย้ง

ดังตฤณ : มีอยู่หลายประเด็นด้วยกันครับ ข้อแรก คนที่อ่านหนังสือธรรมะส่วนมาก เป็นคนค่อนข้างมีการศึกษา เราคาดหวังว่าให้วินมอเตอร์ไซค์มานั่งอ่านหนังสือธรรมะก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะในชีวิตเขามีเรื่องปากท้องให้คิดถึงมากกว่าเรื่องธรรมะที่สำคัญเราไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ด้วยหนังสือธรรมะเล่มเดียว นั่นคือข้อแรก ข้อสองคือธรรมะไม่ได้เข้าถึงคนทุกคนได้ ข้อสามเมื่อเข้าถึงแล้วไม่ใช่ว่าคนคนนั้นจะยอมเดินทางตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจมีการยอมรับธรรมะแค่บางส่วน หรือว่าธรรมะอาจจะเข้าไปช่วยในการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ แล้วข้อสี่ อันนี้สำคัญจริงๆ คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจธรรมะได้อย่างถูกต้องการท่องจำบทคำสอนได้ไม่ใช่สิ่งตัดสิน แต่มันคือการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับกุศลธรรมต่างหากที่บอกว่าคุณเข้าใจธรรมะ แค่สี่ข้อนี้ อย่าพูดแค่ว่ามหนังสือธรรมะเพิ่มมากขึ้นเลย ต่อให้โลกถูกล้างด้วยแสงขาวของพุทธศาสนา ก็อย่าหวังเลยว่าการรบราฆ่าฟันจะหมดลง มันก็มีอยู่ดี เพราะว่าคนส่วนมากตัดสินใจโดยใช้อำนาจ ตัณหาของตนมากกว่าใช้กุศลจิตพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระองค์เป็นเพียงแค่ผู้ชี้ทางว่าทางไหนเป็นทางแห่งความสุข ว่าทางไหนเป็นทางแห่งความทุกข์ แต่ถ้าคนอยากจะเชื่อหรือไม่ก็ตามแต่ ศาสนาพุทธไม่บังคับใคร สุดท้ายก็มีศรัทธาลงใจแล้วว่านี่แหละใช่แน่

GM : แนวทางการปฏิบัติของพระท่านใดหรือบุคคลใดที่คุณชื่นชมเป็นพิเศษ

ดังตฤณ : ความจริงผมรู้จักพระน้อย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือปฏิปทาแนวทางปฏิบัติหลากหลาย แต่ที่ผมชื่นชมเป็นพิเศษและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช เหตุผลคือท่านทำได้ในสิ่งที่ผมกับท่านเคยพูดคุยกันไว้ก่อนท่านบวช นั่นคือทำให้คนร่วมสมัยเลิกละเมอเพ้อพกไปถึงนิพพานในชาติหน้า แต่ให้ขวนขวายขุดค้นหานิพพานเอาจากชาตินี้ นิพพานที่กายใจนี้ปิดบังไว้ และที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางเข้าถึงไว้ ก็ยังไม่หายไปไหน เพียงแต่ไม่ค่อยมีพระหรือชาวบ้านพูดถึงกันมากนัก หลวงพ่อปราโมทย์ท่านทำให้คนพูดถึงมรรคผลนิพพานกันได้กว้างขวางทั่วประเทศ และไม่ใช่พูดกันแบบลมๆ แล้งๆ แต่พูดกันแบบลงมือปฏิบัติจริง อยู่ในร่องในรอยของพระพุทธเจ้าด้วย

GM : กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช กับหลายๆ ฝ่ายและการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสอนของท่าน คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

ดังตฤณ : เรื่องการเมืองและการศาสนานั้น ผมพบสัจธรรมอยู่ข้อหนึ่ง คือคนส่วนใหญ่จะเลือกเชื่อตามความศรัทธาในตัวบุคคล ไม่ใช่ตามการไตร่ตรองในธรรมอันเป็นของกลางภาพลักษณ์ทางศาสนาเป็นเรื่องอ่อนไหวและบาดใจคน ลองนึกดูตอนคุณไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย แต่ได้ยินเสียงร่ำลือว่าพระรูปนั้นดี แม่ชีรูปนี้ดัง คุณกำลังจะไปกราบท่านอยู่แล้ว แต่คนใกล้ตัวส่งเสียงทักว่า “เฮ้ย! แน่ใจเหรอ ท่านกำลังมีเรื่องอยู่นะ มีคนว่าท่านปาราชิกนะ” แค่นี้คุณก็จะแกว่ง มองท่านด้วยความระแวง

คนส่วนมากมีเวลาแค่รับรู้เรื่องภาพ แต่ไม่มีกำลังใจจะเข้าให้ถึงรายละเอียดทั้งหมด ในทางศาสนา ภาพของคุณจำเป็นต้องอยู่ในระดับผู้วิเศษที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ไร้มลทิน ถึงจะกุมศรัทธาในใจคนส่วนใหญ่ไว้ได้ หากพิสูจน์ได้ว่ามีมลทินแม้แต่นิดเดียว ศรัทธาก็จะหวั่นไหว หายไปบางส่วนหรือทั้งหมดแทบจะทันทีทีนี้มาดูข้อเท็จจริงกันบ้าง เมื่อศรัทธาไม่ตรงกันก็พร้อมจะไม่ชอบกัน และถ้าไม่ชอบกันเสียอย่าง เราจะขุดเอาเรื่องไหนในชีวิตใครมาด่ากันก็ได้หมด การจี้กันที่ข้อผิดพลาดนั้น ถามว่าใครบ้างไม่เคยผิดพลาด ไม่เคยพูดพลาด

ไม่เคยพูดผิด ไม่เคยพูดแล้วคลาดเคลื่อนไปจากเดิม เวลาฟังข้อกล่าวหา ขอให้ดูตัวข้อกล่าวหาด้วยว่ามันสมเหตุสมผลไหมกับการเอากันให้ตาย

คนส่วนใหญ่พยายามถามหาคนดี แต่ไม่ได้พยายามเป็นคนดี และเมื่อไม่พยายาม คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าทำดีมันมีอุปสรรคอย่างไร ข้อจำกัดในชีวิตแต่ละคนมีขนาดไหน แต่ละคนหวังว่าจะมีผู้นำทางศาสนา หรือผู้นำทางจิตวิญญาณที่เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ไม่มีประวัติด่างพร้อย พอจับผิดอะไรได้หน่อยก็จะทุบให้พัง ไม่ดูว่าผลงานทางศาสนาของใครมีน้ำหนักเกินข้อผิดพลาดบางอย่างไปแค่ไหนผมคิดว่าคนดีตัดสินคุณจากผลงาน แต่คนพาลจะตัดสินคุณจากเสียงลือ โลกนี้เต็มไปด้วยบัณฑิตหรือคนพาล เราก็วัดกันจากดัชนีชี้ขาดทางศาสนานี่แหละ อันนี้เราพูดได้ครอบคลุมทุกกรณี เว้นไว้แต่ทำผิดอาบัติปาราชิก หากพิสูจน์ได้มีการตั้งอธิกรณ์ชำระความกันโดยสงฆ์ แล้วเปิดเผยแก่สาธารณะได้ อันนี้ต่อให้สร้างคุณงามความดีมาขนาดไหน ก็ต้องสึกครองจีวรต่อไม่ได้

ผมฟังข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับหลวงพ่อปราโมทย์มา แล้วเทียบเคียงกับพระวินัยด้วยตนเอง ตลอดจนฟังพระผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือวินิจฉัย ไม่ใช่

กล่าวหาลอยๆ แล้วตีความตามชอบใจของตน ก็พบว่าท่านไม่มีความผิดพลาดขนาดปาราชิกแน่ๆ ถ้าจะมีก็แค่ความพลาดพลั้งแบบ human error ซึ่งคุณไปดูใครที่ไหนในโลก เขาก็มีกันหมด

GM : บทบาทของสงฆ์ในสังคมไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร ดูเหมือนมีไม่น้อย ที่สงฆ์กำลังออกนอกลู่นอกทาง

ดังตฤณ : ผมว่าเมืองไทยเรายังไม่ใช่เมืองพุทธที่สมบูรณ์ เราไปฝากความหวัง ไว้กับพระสงฆ์องค์เจ้าหมด เราต้องเปลี่ยนมุมมองกันใหม่ ฆราวาสนี่แหละตัวชี้เป็นชี้ตายของศาสนาถามว่าเกิดมาคนเราเป็นพระเลยไหม มันไม่ใช่ เป็นฆราวาสมาก่อนทั้งนั้น ตอนเป็นฆราวาสเข้าใจพุทธอย่างไร บวชไปก็เป็นพระแบบนั้นทุกวันนี้ฆราวาสเข้าใจพุทธอย่างไร พุทธมีไว้เอาญาติไปเผาที่วัด มีไว้ใส่บาตรให้สบายใจ มีไว้ทำบุญใส่ซอง พอฆราวาสเข้าใจแค่นี้ บวชเป็นพระก็เป็นพระที่สวดอภิธรรมเป็น เดินบิณฑบาตเป็น แล้วก็รับซองญาติโยมมาเข้าบัญชีธนาคารของตน เรื่องการเทศน์ ก็ต้องดูว่าญาติโยมแถววัดชอบเรื่องไหน ก็พยายามตามใจ จะได้มีคนมาฟัง มาทำบุญกับวัดมากๆ เวลาที่เหลือก็เป็นเรื่องส่วนตัว

แต่ถ้าฆราวาสรู้ว่าการให้ทานไม่ใช่แค่ไปทำบุญที่วัด การรักษาศีลทำกันได้เดี๋ยวนี้โดยไม่ต้องสมาทานที่วัด และการเจริญสติก็ทำได้ที่กายใจนี้ไม่ต้องไปเข้าคอร์สหรือนอนค้างที่วัดเสียก่อน อันนี้คนบวชวันแรกจะเริ่มมีสิทธิ์รู้ มีสิทธิ์เข้าใจ และมีสิทธิ์เชื่อ ว่ากติกาที่ต้องตกลงกับพระพุทธเจ้าในวันบวช คือฉันเข้ามาบวชเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่ประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากนี้ ผมว่าอย่าไปโทษพระสงฆ์ที่ออกนอกลู่นอกทางกันมาก ให้โทษฆราวาสที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวกันเป็นส่วนใหญ่จะดีกว่า

GM : เห็นคุณพูดถึงเรื่อง ภพนี้ ภพหน้า อยู่บ่อยครั้ง นั่นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในศาสนาพุทธหรือไม่ ในหลักธรรมของพุทธศาสนา ดูเหมือนจะเน้นให้เราเห็นจริงในปัจจุบันมากกว่า สิ่งเหล่านั้นเอื้อต่อการเข้าถึงแก่นของธรรมได้อย่างไร

ดังตฤณ : ในสมัยพุทธกาล พระพุทธ-เจ้าจะสอนการเจริญสติให้อยู่กับปัจจุบันอย่างเดียวจริงๆ เฉพาะกับภิกษุเท่านั้น แต่สำหรับฆราวาสหรือชาวบ้านหัวดำ ท่านจะมีแนวการสอนอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า ‘อนุปุพพิกกถา’ เป็นแนวสอนสำหรับชาวบ้านที่ท่านเล็งว่าพอมีวาสนาจะหันมาเอาดีทางบวชได้ สรุปคือชาวบ้านที่ตัดสินใจบวชกันก็เพราะอนุปุพพิกกถาถ้าศึกษาประวัติศาสตร์สมัยพุทธ-กาลจะเห็นว่ามีคนออกบวช เพราะอยู่ดีๆ อยากบวชกันน้อยมาก พันคนหมื่นคนจะมีสักหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ที่ฟังอนุ-ปุพพิกกถาแล้วออกบวชนี่นับไม่ถ้วน ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเรามามองกันแบบที่เห็นในโลกความจริง คือชาวบ้านไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน จะไม่เชื่อเรื่องคำตอบเกี่ยวกับชีวิตจากใคร ถ้าไม่มีใครตอบเรื่องที่มาที่ไปของชีวิตได้ชัด และด้วยท่าทีของผู้รู้จริงและพระพุทธเจ้าดูเป็นผู้รู้จริงสำหรับชาวบ้านก็เพราะอนุปุพ-พิกกถานี่เอง สำหรับปัญญาชนคนมีการศึกษาสูงๆ ในปัจจุบัน คำตอบสุดท้ายคือความเชื่อส่วนตัวของแต่ละคน

แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาอย่างละเอียด จะพบว่าคำตอบสุดท้ายคือความจริงขั้นสูงสุดที่ไม่เปลี่ยนตามเวลา ไม่เปลี่ยนตามยุคสมัย และไม่แปรไปเพราะใครเชื่ออย่างไร (อนุปุพพิกกถา คือ ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อเตรียมจิตเตรียมปัญญาของผู้ฟังให้พร้อมยกขึ้นรับรู้อริยสัจ อันเป็นแก่นสารของธรรมะในพุทธศาสนา เนื้อหาของ ‘อนุปุพพิกกถา’ มีการพรรณนาถึงทาน ศีล สวรรค์อันเป็นผลของทานและศีล แล้วจึงยกขึ้นไปถึงโทษของกาม ตลอดจนวิธีการออกจากกาม อันเหมารวมถึงสวรรค์ชั้นฟ้าด้วย)ยกตัวอย่าง ปัญญาชนยุคปัจจุบันพอฟังว่าพุทธศาสนาเน้นกันเรื่องสติในปัจจุบัน ก็จะสรุปด้วยความเชื่อของตนหรือของกลุ่ม ว่าพุทธศาสนาไม่มีอะไรมากไปกว่าการ ‘ทำใจ’ หรือพูดง่ายๆ คือ ‘คิดให้อยู่ในปัจจุบัน’ แต่จริงๆ การอยู่กับปัจจุบันของพุทธมีรายละเอียดวิธีการอย่างชัดเจน ก่อนอื่นต้องตกลงกันว่ามีสติอยู่กับปัจจุบันนั้น คือปัจจุบันของกายใจ หายใจเข้าออกแต่ละครั้งอึดอัดหรือสบาย ใจที่เป็นปัจจุบันนี้อยู่ในสภาพสงบหรือฟุ้งซ่าน ร้อนหรือเย็น อยากเสพกามหรือปลอดโปร่งจากความอยากทางกาม เป็นต้น เมื่อรู้ว่าสภาพรายละเอียด ก็ต้องรู้ต่อไปด้วยว่าสภาพนั้นมีความคงที่หรือว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

การเห็นอย่างแจ่มชัดเข้ามาในกายใจนี้เอง คือการรู้แจ่มแจ้งในเรื่องของชาตินี้ เมื่อแจ่มแจ้งชาตินี้ค่อยมีกำลังสมาธิมากพอจะระลึกว่าก่อนมีชาตินี้ ต้องอาศัยความสว่างของบุญ หรือความมืดของบาป มาเป็นตัวบันดาล การรู้แจ่มแจ้ง แบบนั้นแหละเรียกว่า ‘พิจารณาตามเหตุปัจจัย’ ในแบบที่พระพุทธเจ้าทำในคืนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์เห็นชัดด้วยสมาธิขั้นสูงและญาณที่บริสุทธิ์ว่าบุญบาปเป็นเหตุให้เกิดกายใจในแต่ละชาติ กายใจในแต่ละชาติเป็นเหยื่อล่อให้จิตยึดว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรา สรุปคือจะรู้จริงเรื่องชาติก่อนชาติหน้า ก็ต้องเริ่มจากการลงลึกเข้ามาในชาตินี้ อันมีกายใจ

ในวินาทีปัจจุบันก่อน

GM : เราเห็นจากทั้งกระดานสนทนาในลานธรรม หรือในสถานที่ที่คุณไปบรรยาย พบว่าปัญหาเรื่องความรัก ความสัมพันธ์เป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ ทำไมเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องราว วนเวียนให้เราคิดได้อยู่ตลอดเวลา

ดังตฤณ : ความรักที่ผิดพลาดเป็นปัญหาระดับโลก มันนำมาซึ่งการหย่าร้าง และการมองหน้ากันไม่ติด มันนำมาซึ่งการคบชู้และการฆ่าแกงกัน มันนำมาซึ่งคำว่า ‘มารหัวขน’ มันนำมาซึ่งเด็กบ้ายิงปืนกราดใส่เพื่อนและอาจารย์ และมันอาจจะนำมาซึ่งผู้บริหารระดับโลกที่ส่วนลึกไม่เห็นค่าว่าจะมีโลกนี้ไปทำไมการเข้าใจความรักที่ถูกต้องเป็นประตูมาสู่ธรรมะ คนมีความทุกข์จากรักจำนวนนับไม่ถ้วน พอตาสว่างเพราะเห็นอาการของใจที่ยึดติดไปเปล่าๆ และรู้ทางให้ใจคลายจากอาการยึดเสียได้ ก็เหมือนลืมตาขึ้นในโลกอีกใบที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กลุ่มคนเหล่านี้ไม่จำกัดเพศและวัย แสดงว่าคนเรามีปัญหาเรื่องความรักกันได้ตลอดชีวิต และเมื่อออกจากปัญหาความรักเพราะธรรมะได้ พวกเขาก็จะหันมารักธรรมะกันไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งได้คนรักใหม่ที่รักธรรมะอันเดียวกัน เป็นสุขเยี่ยงคนมีธรรมะจริงร่วมกัน

บรรพชิต แปลว่า ผู้สละเรือน พระศาสดาวางกฎไว้ว่าห้ามมีคู่ ถ้ามีคู่ระหว่างบวชคือต้องสึก และกลับมาบวชอีกไม่ได้

ส่วนฆราวาส แปลว่า ผู้ครองเรือนร่วมกัน โลกรุมมองว่าควรมีคู่ ถ้าไม่มีโดนหาว่าแปลก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนกังวลว่าถ้าตัวเองไม่มีคู่จะโดนสังคมโห่ จึงต้องรีบพิสูจน์ตัว รีบๆ มีคู่ครองกัน ทางธรรมชาติบีบให้ฆราวาสอยากหาเพศตรงข้ามมาเติมเต็มความสนุกทางกาย และเติมเต็มความสุขสบายทางใจ ปัญหาคือเราหาคนที่พอดีทั้งทางกายกับทางใจกับเราได้ยากอันนี้พระพุทธเจ้าก็แนะว่าถ้าไม่อยากยุ่งยากใจไปตลอดชีวิตนี้และอยากได้หลักประกันในชีวิตต่อไป ก็ให้หาใครสักคนบำเพ็ญบารมีให้เสมอกัน ทั้งทางศรัทธา (ปักใจในทางดี) ศีล (ห้ามใจจากบาป) จาคะ (มีน้ำใจต่อกัน) และปัญญา (ฝึกใจให้ตั้งมั่นรู้ความจริงทั้งระดับหยาบและประณีต) หากหาได้และมีแก่ใจบำเพ็ญบารมีร่วมกัน คุณจะไม่กลัวการพลัดพรากทางกายเพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามีสายใยที่เหนียวแน่นเหลืออยู่หลังกายแตกอย่างแน่นอน

GM : ในฐานะที่คุณเขียนเรื่องของความตาย คุณมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

ดังตฤณ : ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการพลัดพราก เลยไม่ได้เตรียมอะไรเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะในชีวิตมีบทเรียนมาหลายครั้งว่า ต่อให้รักแค่ไหนก็ผิดใจกันได้ และต่อให้พยายามเพื่อให้อยู่ด้วยกันโดยดีเพียงใด ถ้ามีแรงผลักมากระทำมากกว่าแรงดึงดูด ธรรมชาติก็ต้องให้กระเด็นจากกันไปจนได้ และความตายเป็นแรงผลักที่รุนแรงมาก ต่อให้มีเทคโนโลยีดีแค่ไหน ฝึกวิชาอยู่ยงคงกระพันไปอีกพันสำนัก ความตายก็ยังเป็นสิ่งทรงพลัง

สำหรับผมเองไม่ได้ทำใจไว้ล่วงหน้า แต่มองเลยว่าแต่ละคนที่เรารักนั้น ถ้าเขาต้องตายในวันพรุ่งนี้ เราควรทำอะไรในวันนี้เพื่อจะไม่ต้องเสียใจใน 24 ชั่วโมงต่อมา ยกตัวอย่าง เช่นคุณแม่ท่านเคยถามผมทางโทรศัพท์ว่าท่านจะตายเมื่อไหร่ ปกติคนถามแบบนี้ผมไม่รู้ ไม่สนใจ แต่พอเป็นแม่ตัวเองถาม ผมก็เกิดสังหรณ์ว่าเหลืออีกสองปี พอรู้สึกอย่างนั้น ผมก็ใช้เวลาสองปีทุ่มเททุกอย่าง เพื่อแม่และที่คิดว่าดีที่สุดที่ทำให้ท่าน คือเขียน ‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ ให้ท่านอ่าน ผมดีใจที่ท่านอ่านทุกคำและเป็นสุขที่ท่านเข้าใจเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ คือเตรียมตัวให้ท่านก่อนตาย ท่านตายอย่างสบายและผมไม่รู้สึกเป็นห่วง ไม่รู้สึก ว่ายังมีอะไรติดค้างลืมทำเพื่อแม่แม้แต่นิดเดียว พอท่านตายผมก็หายใจหายคอได้ เลิกเขียนเตรียมเสบียงฯ เหมือนจะให้แม่รู้ด้วยว่าเขียนอะไรยากๆ ทุกอาทิตย์ไม่เว้นเลยเป็นเวลา 3 ปีนั้น เหตุผลก็เพราะแม่คนเดียวผมคิดว่าแต่ละคนต้องใช้ความสามารถของตัวเอง มีวิธีของตัวเอง ไม่ใช่มีรูปแบบตายตัวอย่างของพระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าท่านตอบแทนคุณบิดรมารดาแล้ว ด้วยการทำให้พวกท่านบรรลุมรรคผล มีที่พึ่งอันเป็นที่สุดแด่องค์ท่านเอง

GM : ในชีวิตจริงการครองสติให้ได้อยู่ตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก คุณคิดว่ามีวิธีการอย่างไรในการประคองสติให้อยู่กับตัว

ดังตฤณ : ไม่มีวิธีนั้นครับ พอพูดถึงการประคองสติให้อยู่กับตัวตลอดเวลา ธรรมดาคนเราจะจงใจล็อกการรับรู้ไว้กับอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งทำได้พักเดียวก็หมดแรง ทางที่ถูกนั้น มีวิธีที่จะปลูกให้สติค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ รู้อะไรได้ให้รู้อันนั้นก่อนพระพุทธเจ้าบอกว่าถ้ายังรู้อะไรไม่ได้ก็ให้มีสติดูเอา หายใจเข้าอยู่หรือหายใจออกอยู่ ที่หายใจนั้นยาวหรือสั้น ว่ากันตามจริง ไม่ใช่ว่ากันตามอยาก คนฝึกรู้ลมหายใจไม่เข้าใจกัน ไปบังคับให้ลมเข้าออกทั้งที่ร่างกายมันยังไม่ทันพร้อม ไม่ทันอยากเรียกลมเข้า ไม่ทันอยากระบายลมออก มันก็อึดอัด แน่นอก แล้วก็นึกว่าตัวเองไม่มีวาสนาพอจะทำ หรือบางคนรู้ลมได้อย่างสบายเป็นปกติ ก็ไปติดความสุขอันเกิดจากการรู้สึกถึงลมได้เรื่อยๆ อีก

อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสให้ดูว่าความอึดอัดหรือความสบายอันเกิดจากการเจริญสติรู้ลมมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมีปีติ เดี๋ยวมีความแห้งแล้ง ยากจะเอาแน่เอานอน พอเราค่อยๆ สังเกตสุขทุกข์ผ่านลมหายใจในแต่ละครั้งเป็น สติของเราก็จะค่อยๆ ละเอียดขึ้นตามลำดับ ดูสภาพจิตใจตัวเองได้ว่าสงบหรือฟุ้งซ่านอยู่ กายใจแต่ละขณะมีความเกิดความดับของอะไรปรากฏให้รู้ อย่างนี้สติก็เจริญเต็มที่ เพราะถึงจุดหนึ่งแม้แต่ความเคร่งเครียด ความฟุ้งซ่าน ก็เอามารู้ เอามาเจริญสติได้ นี่ถึงจะเรียกว่ามีสติได้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ไปเก็งว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดสติได้ตลอดเวลา

GM : พุทธแบบไทย มีทั้งพุทธ พราหมณ์ และผี ทั้งยังเต็มไปด้วยพิธีกรรม เราจะเข้าถึงแก่นแกนที่จริงของธรรมของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

ดังตฤณ : คำตอบคือทำอย่างไรถึงจะทำให้ทุกคนเห็น ‘จุดเชื่อมต่อ’ จากตัวเอง สู่พิธีกรรมและเห็นเบื้องหลังของกำแพงพิธีกรรมว่าคืออะไร ทำอย่างไรถึงจะสร้างทางตรงให้เขาวิ่งออกจากบ้านแล้วไปถึงที่หมายโดยแต่ละคนต่างมีเส้นทางเฉพาะของตัวเองคนเราพึ่งพาพิธีกรรมเพราะส่วนหนึ่ง เชื่อว่านั่นเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ แต่สิ่งสำคัญคือผมอยากให้มองไปที่ ‘ความจริง’ มากกว่า มองอย่างยอมรับว่าขณะนี้ตัวเราเป็นอย่างไร อย่าปฏิเสธตัวเอง ไม่สร้างกลไกปกป้องตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่ว่าพอปฏิบัติธรรม ไปวัดแล้วก็หลอกตัวเองว่าฉันมีความสุข สร้างภาพว่าคนที่สนใจศาสนานั้นดีแล้ว มีความสุขแล้ว ทุกข์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็ไม่ยอมรับ แต่ปกปิดไว้ นี่ก็เป็นกำแพงอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าหากยอมรับตามจริงเรื่องมันก็จะง่ายเข้า อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ว่า ให้สงฆ์ปฏิบัติธรรมโดยปราศจากราคะ แต่เมื่อไหร่ ที่มีราคะก็ให้ยอมรับให้เห็นว่ามันมีอยู่ เดี๋ยวมันก็หายไปได้ เมื่อจิตมีโทสะ ก็ให้ยอมรับว่ามีความโกรธ อย่าปฏิเสธ ขอให้รู้ทัน หรือถ้ายังมองไม่ออกก็ให้ดูว่าตอนนี้เราอึดอัดหรือสบายดีอยู่

คนส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับว่าตัวเองอึดอัดเพราะรู้สึกว่าชีวิตฉันดีแล้ว หรืออีกทางหนึ่งก็ยอมรับไปว่าฉันต้องอึดอัดอยู่แบบนี้ตลอดไป ถูกล็อกไว้ เช่น คนที่เป็นโรคจิต เชื่อว่าฉันไม่มีทางพ้นจากความรู้สึกแบบนี้ได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์กดดันอยู่ทั้งวันทั้งคืน ทั้งที่จริงๆ แล้วความทุกข์ก็ไม่ใช่ของเที่ยง การที่เรายอมรับว่าเราอึดอัดอยู่หรือว่าสบายอยู่ มันเป็นการสังเกตตัวของตน ความคิดแบบนี้แหละที่จะเป็นการปฏิวัติอุปาทานของตัวเอง แล้วก็จะเริ่มมีทางเชื่อมระหว่างพิธีกรรมกับคำสอน การยอมรับใจเข้ามาดูกายใจของตัวเองนี่แหละ คือแก่นสารของพุทธศาสนา

GM : ชีวิตส่วนตัวคุณเป็นอย่างไร คนในครอบครัวคุณสนใจธรรมะมากน้อยแค่ไหน

ดังตฤณ : คุณพ่อของผมสนใจและครองตัวอยู่บนเส้นทางธรรมะตั้งแต่ยังหนุ่ม คุณแม่ของผมเคยพูดไว้ก่อนตายว่าพอเข้าใจธรรมะแล้วอยากทิ้งสมบัติพัสถานทั้งหมดที่มีอยู่บริจาคเป็นทาน ส่วนผมเพิ่งแต่งงานเมื่อปลายปี 2551 ภรรยาสวดมนต์ก่อนไปทำงานทุกวัน กับทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรมทุกคืนหลังเลิกงาน ปัจจุบันเราทำสำนักพิมพ์ฮาวฟาร์ร่วมกัน เธอเป็นคนตรวจงานหนังสือ จัดการประสานงานติดต่อเกี่ยวกับหนังสือของผมทั้งหมด ผมเขียนอย่างเดียว

GM : ในอนาคตสักร้อยปี คุณคิดว่าศาสนาจะยังมีอิทธิพลกับมนุษย์อยู่ไหม เมื่อรัฐสมัยใหม่และวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

ดังตฤณ : อีกร้อยปีมนุษย์ก็ต้องการคำตอบเหมือนเดิม คือเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน ยังอยู่แล้วควรทำอะไร ถ้ามีใครตอบได้อย่างน่าเชื่อถือและพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ทางจิตหรือทางกาย คำตอบนั้นก็จะเป็นศาสนาของมนุษย์ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต

ทุกศาสนาสอนให้คนทำดี แต่ความดีของศาสนาไม่เหมือนกัน เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางต่างกัน เราต้องไม่ฝืนความจริงตรงนี้ และรู้ตัวเองว่าศรัทธาของเราตั้งอยู่ในเส้นทางคุณงามความดีแบบไหน ก็เลือกแบบนั้น

ผมคิดว่าแก่นแกนของพุทธไม่ได้นำพาเราไปสู่ความว่างนะ แต่ให้ไปสู่การดับทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง มีอยู่ แต่ไปจินตนาการเป็นสามเหลี่ยมหรือวงกลมอะไรแบบที่ตาเห็นและคุ้นเคย ไม่ได้

เมืองไทยยังไม่ใช่เมืองพุทธที่สมบูรณ์ เราไปฝากความหวังไว้กับพระสงฆ์องค์เจ้าหมด เราต้องเปลี่ยนมุมมองกันใหม่ ฆราวาสนี่แหละตัวชี้เป็นชี้ตายของศาสนา ถามว่าเกิดมาคนเราเป็นพระเลยไหม ไม่ใช่ เป็นฆราวาสมาก่อนทั้งนั้น

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ