fbpx

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล My Darling Siam

ช่วงปลายปีที่แล้ว ขณะที่การเมืองกำลังร้อนระอุข่าวหนังสือพิมพ์พาดหัวเรื่องของผู้สมัครพรรคการเมืองไม่เว้นแต่ละวัน แลดูเหมือนสายตาทุกคู่ของคนประเทศนี้จับจ้องอยู่อย่างไม่คลาดสายตา

ทว่าในช่วงเวลาเดียวกัน เสียงอื้ออึงเล็กๆ ดังอยู่หน้าโรงหนัง เสียงเริ่มดังจนกลบเสียงป๊อปคอร์นที่กำลังแตกเม็ด และดูจะดังขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติของคนดูหนังบ้านเราอีกครั้ง

‘รักแห่งสยาม’ คือหนังเรื่องที่ว่า จากหนังที่ดูจะเงียบเชียบกลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ต่างพูดถึง ในเว็บบอร์ดพันทิป กระทู้ที่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกือบพันกระทู้ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ‘รักแห่งสยาม’ ยังกลายเป็นหนังไทยในรอบหลายปีที่มีคนกลับไปดูซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคนดูซ้ำ 2 รอบในวันเดียว ทั้งๆ ที่หนังมีความยาวกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ที่ว่ากันว่าอาจเป็นหนังไทยที่ยาวที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ออกฉาย (หากไม่นับรวมหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรและสุริโยไท) เรียกว่าเข้าฉายแบบไม่กลัวขาดทุน เพราะด้วยความยาวขนาดนี้ และจำนวนโรงที่ไม่ได้มากมายนัก แต่กลายเป็นว่ารักแห่งสยาม ถึงตอนนี้พูดได้เต็มปากว่าเป็นหนังที่ไม่ขาดทุน   เบื้องหลังความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ จำต้องเอ่ยถึงผู้กำกับ คนเขียนบท คนทำเพลงประกอบ และทำทุกๆ อย่างให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นมา นั่นคือ มะเดี่ยว (1) – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หนังเรื่องล่าสุดก่อน

‘รักแห่งสยาม’ ก็คือ ‘13 เกมสยอง’ หนังที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในตลาดต่างประเทศ (แต่ในบ้านเราขาดทุน) จนฮอลลีวู้ดขอซื้อลิขสิทธิ์บทหนังเพื่อเตรียมการสร้างในอนาคต มะเดี่ยวเป็นที่รู้จักกันดีในเหล่าคนรักหนังอินดี้ เขาเคยทำหนังประกวดหลายต่อหลายเรื่อง ก่อนที่จะเขยิบตัวเองมาทำหนังใหญ่

ขณะที่กำลังทำต้นฉบับนี้อยู่ ‘รักแห่งสยาม’ ถูกส่งไปให้คณะกรรมการของเทศกาลระดับโลกอย่าง เบอร์ลิน ฟิล์ม เฟสติวัล ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้คัดเลือกเพื่อให้ร่วมฉายในเทศกาล พวกเราคงต้องเอาใจช่วยให้หนังเรื่องนี้ไปได้ไกลกว่าสยามสแควร์  

สำหรับอายุ 26 ปีของมะเดี่ยว เรื่องราวในชีวิตของเขาซับซ้อน น่าสนใจไม่แพ้กับหนัง ภายใต้ผมสีทองที่ถูกย้อมจนเสียและหน้าตาที่ดูเอาเรื่อง ทว่าพอเริ่มพูดจาก็เดาได้ว่ามะเดี่ยวสนุกกว่าที่คิด เปิดกว้างและพูดอย่างที่คิด ว่าแต่คุณไม่อยาก รู้จักเขาหน่อยเลยหรือ มาครับมามานั่งคุยกับเขาด้วยกันดีกว่า

GM : เล่าชีวิตตอนเด็กๆ ของคุณให้เราฟังหน่อย

มะเดี่ยว : ตอนเด็กๆ ชีวิตมีความสุขแต่ไม่สบายนัก มีบางช่วงเหมือนกันที่ต้องระหกระเหเร่ร่อนอยู่พักหนึ่ง คุณพ่อทำรับเหมาต้องย้ายที่อยู่กันบ่อยๆ ตามจังหวัดต่างๆ ก็จะมีลูกน้องปุเลงๆ ไปด้วยกัน ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ความอะไรมาก รู้แค่ว่าทำไมโลเกชั่นรอบตัวเรามันเปลี่ยนบ่อยจังวะ ภาพที่จำได้ในวัยเด็กก็คือ ภาพที่เรานั่งในรถแล้วมองวิวผ่านหน้าต่าง เห็นคนข้างทาง เห็นโน่นนี่ พอนึกถึงตอนนี้ก็รู้สึกดีว่าได้รู้จักชีวิตที่ต้องดิ้นรน แต่เราก็มีความสุข ความที่แม่เป็นครูก็ค่อนข้างเอาใจใส่ ชอบอ่านหนังสือให้เราฟัง ชอบเล่านิทาน อีกอย่างคือพี่น้องเยอะ ทั้งพี่น้องจริงๆ และไม่จริง ยั้วเยี้ยเต็มบ้านไปหมด เริ่มมาลงหลักปักฐานจริงๆ ก็ตอนที่เราต้องเข้าโรงเรียนแล้ว

GM : มีเรื่องอะไรที่จำได้ขึ้นใจในวัยเด็กบ้างไหม

มะเดี่ยว : ถ้าเป็นเด็กน้อยเลย ภาพที่นึกถึงคงนึกถึงเรื่องความตาย ภาพที่ติดตาเราเสมอเป็นเหมือนภาพลองช็อตในหนัง เป็นภาพที่พักคนงานของพ่อที่เรามักไปเล่นแถวนั้นบ่อยๆ สักพักก็มีคนไปที่ห้องห้องหนึ่งแล้วก็วิ่งเข้าวิ่งออกกันอยู่อย่างนั้นดูวุ่นวาย คนก็มุงกันเต็มไปหมด เราก็ได้แต่ยืนอยู่ห่างๆ มารู้ตอนหลังว่า พี่คนงานคนหนึ่งที่เรารู้จักกินยาตาย นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้ว่า อ๋อ…นี่หรือคือความตาย ก็เริ่มสงสัยว่าพี่คนนั้นทำไมถึงอยากตาย ทำไมเขากินยาจนตาย เริ่มมีคำถามต่อสิ่งรอบตัวว่า เราเกิดมาทำไม อะไรอย่างนี้ นี่คงเป็นเรื่องที่จำขึ้นใจที่สุด

GM : ตอนเด็กๆ คุณเป็นคนยังไง

มะเดี่ยว : เด็กๆ เลยไม่ดื้อนะ ออกแนวเหม่อเลย จนบราเดอร์ (2) ที่โรงเรียนตั้งฉายาว่า ไอ้บัฟฟาโล่ ชอบนั่งเหม่อ มองก้อนเมฆ มองท้องฟ้าอะไรแบบนั้น ครูสั่งการบ้านก็ไม่ค่อยทำ แล้วก็ร้ายเอาเรื่อง ใครมาล้อไอ้โง่ ไอ้บื้อ อะไรแบบนี้เราก็ซัดเลย หัวร้างข้างแตกก็มี จนโรงเรียนต้องเรียกผู้ปกครองมาพบ แต่พอโตมาก็ไม่หายนะ กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ (หัวเราะ) คือถ้าครูสั่งการบ้านก็ไม่ทำ ยื่นมาบังคับนี่ไม่ทำเลย แล้วไม่สนใจเรื่องทำโทษด้วย จะตีก็ตีไปไม่สน

GM : แล้วที่บ้านนับถือศาสนาคริสต์หรือเปล่า ถึงเลือกที่จะไปเรียนในโรงเรียนคริสต์

มะเดี่ยว : เปล่าเลยครับ ที่บ้านก็นับถือพุทธ แต่ว่าพ่อแม่คงอยากให้เรียนที่ที่ดีที่สุดมากกว่า ซึ่งตอนนั้นก็คือโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (3) ซึ่งก็เป็นโชคดีของเราเพราะเป็นโรงเรียนที่มีกิจกรรมให้ร่วมเยอะ เราก็เลือกเล่นดนตรี คือเริ่มตั้งแต่ ป.4 ป.5 เล่นมาเรื่อย เล่นมาหมด ทั้งเป่าปี่ ดนตรีไทย สีไวโอลิน อยากรู้อยากลองไปหมด จนท้ายที่สุดก็มาอยู่วงโยธวาทิตกระทั่งจบมัธยมปลาย

GM : การเรียนโรงเรียนคริสต์มีผลกับการมองโลกของคุณมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพราะสังเกตว่าในหนังหลายๆ เรื่องของคุณมักแทรกเรื่องของความเชื่อ ศรัทธา เข้ามาเกี่ยว ข้องตลอดเวลา ตั้งแต่ ‘บ้านเก่า’ (4) มาถึง ‘คน ผี ปีศาจ’ ‘13 เกมสยอง’ หรือแม้แต่ ‘รักแห่งสยาม’

มะเดี่ยว : มีนะ คือมันอาจจะมาแบบโดยไม่รู้ตัว ระหว่างที่เรียนที่มงฟอร์ตก็จะต้องไปเล่นดนตรีที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ แรกๆ แม่ก็ด่าเหมือนกันว่า วันอาทิตย์แทนที่จะอยู่บ้าน เรากลับตะลอนๆ เล่นดนตรี ร้องเพลงตามโบสถ์ แต่มันสนุกมาก มันได้ทำอะไรร่วมกันกับเพื่อนๆ พอเล่นเสร็จ เด็กๆ อย่างเราก็อยากจะทโมนกัน แต่ก็ทำไม่ได้เพราะอยู่ในโบสถ์ ถ้าทำนี่บราเดอร์เตะแน่ๆ ก็ต้องนั่งฟังเงียบๆ แล้วมันก็คงซึมซับไปโดยอัตโนมัติ ที่บ้านเองก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับศาสนา วันพระก็ต้องไปวัด วันเกิดก็ต้องไปวัด เหมือนสังคมชนบทต่างจังหวัดที่ผูกพันกับวัด เราก็ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งหมดทั้งมวลศาสนามีส่วนในชีวิตเรา และคงส่งผลกับงานของเราโดยไม่รู้ตัว

GM : มีนักวิจารณ์บางท่าน สังเกตว่าในงานหลายๆ เรื่องของคุณ มักมีประเด็นเรื่องของศาสนาและความเชื่อมาเป็นประเด็นหลัก

มะเดี่ยว : จริงๆ ใครๆ ก็สามารถตีความไปทางไหนก็ได้ เพราะพอหนังมันออกฉาย มันก็กลายเป็นของมวลชนไปแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจะบอกในหนังก็คือ ทุกวันนี้คนเรานับถือศาสนากันแต่ลมปาก เราฟังบาลีไม่รู้เรื่อง เราไม่สนใจคำสอน วิธียึดมั่นของคนสมัยนี้คือยึดมั่นในพิธีกรรม ยึดมั่นในการบริจาคเท่านั้น ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าเราเข้าถึง แต่เราจะบอกว่าสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนสมัยนี้คือความรัก ความรักที่เราจะไปยึดอยู่กับใครก็ได้ ความรักจะเป็นแบบไหนก็ได้ ขอให้เรามีที่ยึดเหนี่ยวก็พอ

อีกอย่างคือเราเชื่อว่าความรักเป็นบททดสอบของพระเจ้า พระเจ้าประทานความรักให้เราแล้วก็เอามันกลับไปเพื่อทำให้มนุษย์อย่างเราแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งมันคงไม่ใช่เรื่องของศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรอก เราพยายามมองให้ก้าวข้ามผ่านกรอบของศาสนาไป

เช่นเดียวกับเรื่องเพศในหนังรักแห่งสยาม เราจะไม่พูดว่านี่คือความรักของเกย์ แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องของจิตวิญญาณของคนสองคน พูดถึงเรื่องความผูกพัน ผมถึงบอกเสมอว่าผมไม่ได้ทำหนังเกย์ ศาสนาก็เช่นกัน ประเด็นเดียวกัน ไม่ว่าจะศาสนาอะไรก็ตาม เราต้องอาศัยความรักในการยึดเหนี่ยวคนเข้าด้วยกัน จริงๆ เราคิดว่างานของเราที่ออกไปมันไม่ได้มาจากตัวเราทั้งหมดหรอก เราก็เป็นผลิตผลหนึ่งของสังคมที่เสี้ยมสอนเรา ที่มันขัดเกลาเรา (Socialization) (5) ซึ่งมันก็อาจส่งผ่านมาถึงงานเราทั้งโดยที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีใครถูกผิดนะเรื่องการตีความหนังของเรา เพราะบางทีมันก็ทำให้เราได้แง่มุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่นเราได้อ่านที่คุณโตมร (6) วิจารณ์เรื่องศาสนาในหนังรักแห่งสยาม ก็ทำให้เราได้นึกกลับไปเหมือนกันว่า หากสังเกตดีๆ หนังของผมเกือบทุกเรื่องจะพูดถึงเรื่องของพระเจ้าหมดเลย ซึ่งเราอาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่อาจจะเป็นปมในใจที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

GM : เล่าได้ไหม ?

มะเดี่ยว : เราก็มักนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่โรงเรียน ตอน ม.3 มีบราเดอร์คนหนึ่ง เอาจริงเอาจังกับการปราบตุ๊ดมาก ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศก็จะโดนเรียกมาคุยให้ปรับพฤติกรรมแล้วก็แจ้งผู้ปกครอง แล้วถ้าใครไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียนต่อ ม.4 มันก็เกิดขึ้นกับเราและเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ด้วย ตัวเราเองไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่กับเพื่อนเรานี่ได้รับผลกระทบมาก จากที่เคยเป็นเด็กดี เรียนเก่ง ก็เปลี่ยนไปเลย กลายเป็นมีปัญหากับทางบ้านเพราะพ่อแม่รับไม่ได้ เริ่มลงไม้ลงมือกับเด็ก โรงเรียนเองก็เหมือนตั้งใจจะให้ทุกคนรับรู้ว่านักเรียนคนนี้ทำผิด แต่ในความรู้สึกของเด็กๆ เราว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด ไม่มีการอธิบายนอกจากห้ามและบอกว่ามันไม่เหมาะสม มันทำให้เด็กเริ่มมีคำถามแล้วว่าเขาทำผิดอะไร ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะตามเกมของบราเดอร์ท่านนั้นไป เด็กหลายคนก็เตลิดเปิดเปิงไปเลย กลายเป็นเด็กมีปัญหา ติดยาก็มี ทั้งๆ ที่มันน่าจะไปได้ดีกว่านี้ ซึ่งเรื่องความขัดแย้งในแง่ของความคิดต่อศาสนาพวกนี้ อาจถูกถ่ายทอดลงในงานของเราแบบไม่รู้ตัวก็เป็นไปได้ เพราะมันกลายเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในหัวของเรา ทุกวันนี้เวลาที่เราจะนึกถึงบราเดอร์สักคน บราเดอร์คนนี้จะเป็นคนแรกที่เรานึกถึง

GM : แล้วทำไมคุณถึงสนอกสนใจเรื่องของพระเจ้า

มะเดี่ยว : คำถามหนึ่งที่เรามักถามตัวเองเสมอๆ คือเราสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้จริงหรือ เช่นว่าเมื่อคืนฝนตก ต้นไม้ล้มทับหน้าบ้าน เราออกจากบ้านไม่ได้ ไอ้เรื่องแบบนี้ใครเป็นคนลิขิต หรืออย่างเมื่อวานนั่งฟัง จส. 100 อยู่ในรถกับเพื่อนก็มีข่าวคนขับรถมอเตอร์- ไซค์ตกลงมาจากสะพานแล้วโดนรถทับตาย เพื่อนที่นั่งมาในรถกับเราอยู่ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า “แกว่าชีวิตคนเรา มีคนอื่นกำหนดให้เราไว้รึเปล่าวะ” ซึ่งก็เป็นประโยคเดียวกับที่เราถามตัวเองมาตลอด ตั้งแต่เด็กจนโตว่า ตกลงชีวิตเป็นของเราจริงไหม แล้วหากมีใครสักคนมาลิขิตชีวิตเรา คนคนนั้นคงตลกมาก

GM : แล้วตอนนี้มีคำตอบบ้างหรือยัง

มะเดี่ยว : จริงๆ เราไม่ได้ลิขิตชีวิตของเราเองหรอก แล้วคนบนนั้นก็ไม่ได้ลิขิตชีวิตเราด้วย คนบนนั้นอาจจะให้ทางเลือกแล้วเราก็เลือกว่าจะทำหรือไม่ทำมัน ซึ่งความคิดแบบนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของเรา งานที่ออกมาก็อาจสะท้อนออกมาว่า มันมีเรื่องของการตั้งคำถามกับพระเจ้า การมีชีวิตอยู่ การเลือกทางเดินของชีวิต อย่างใน 12 13 และ 14 ตัวละครหนึ่งที่หนีไปอยู่ในโลกของ 13 คือตัวละครที่มีปัญหากับพระเจ้า แล้วก็ไปตั้งตัวเองเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ จริงๆ มันเป็นการวิพากษ์สังคมยุคใหม่ เป็นสังคมที่ทุกคนมีตัวตน อยู่ในอินเตอร์เน็ต ที่ซึ่งทุกคนสามารถตั้งตัวเป็นพระเจ้าได้ ด้วยการสร้างความเชื่อศรัทธาอะไรบางอย่างขึ้นมา นี่ก็เป็นเรื่องของการตั้งคำถามท้าทายความเชื่อของมนุษย์เรา ซึ่งคงจะโดนด่าอีกรอบใน 14 แน่ๆ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วคนเราทุกคนผูกพันกับศาสนามาตลอดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ศาสนาเป็นเรื่องของความรัก ศาสนาเป็นเรื่องของดนตรีในวันอาทิตย์ ศาสนาคือการไปวัดกับพ่อแม่ในวันพระใหญ่ ซึ่งเราก็เลยได้เห็นอะไรหลายหลากที่ปนๆ กันอยู่

GM : ส่วนไหนในการทำงานที่คุณให้ความสำคัญมากที่สุด

มะเดี่ยว : ให้ความสำคัญทุกส่วน ไม่งั้นปีปีหนึ่งอาจทำงานได้เยอะเรื่องกว่านี้ (หัวเราะ) ว่ากันตั้งแต่บทเลย ทุกไดอะล็อก แต่ก็ไม่ได้เป๊ะขนาดแก้ไม่ได้นะครับ ยังสามารถแก้ได้อีกเมื่อคุยกับนักแสดงแล้วนักแสดงรู้สึกว่าไม่ใช่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน คือเราเชื่อในนักแสดงที่เราร่วมงานด้วยทุกคน เขาก็เป็นศิลปินเหมือนที่เราเป็นด้วยคนหนึ่ง ดังนั้น วิธีการตีความบุคลิกของตัวละครอาจจะแตกต่างจากเรา อย่างพี่น้อย (กฤษฎา สุโกศล แคลปป์) ตอนที่ร่วมงานกันใน ‘13 เกมสยอง’ เขาก็มีภาพของตัวละครของเขาอยู่ประมาณหนึ่ง แล้วเราก็ต้องจูนกันประมาณหนึ่ง เรื่องเล็กน้อยเช่น เสื้อผ้า รองเท้า เขาจะมีมุมที่ไม่เหมือนเรา เขาคิดว่าตัวละครตัวนี้น่าจะใส่เสื้อแบบนี้ รองเท้าแบบนี้มากกว่า เรารู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมา เขาไม่ได้ห่วงหล่อ แต่เขาเห็นว่าตัวละครนี้มันคิดแบบนี้ มันก็น่าจะแต่งแบบนี้มากกว่า ซึ่งเราก็เชื่อในตัวพี่น้อย นี่เป็นความมหัศจรรย์ของการแสดงนะ ถ้าเราไม่ใช่นักแสดงเราจะเข้าไม่ถึง ดังนั้น เราก็ต้องเคารพเขา แต่ในขณะเดียวกันนักแสดงก็จะต้องเคารพในการทำงานของเราเช่นกัน

GM : คุณได้อะไรจากการทำงานกับนักแสดง

มะเดี่ยว : ความลึกซึ้งของการตีความและประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาที่เอามาใช้ในการทำงาน อย่างพี่นก-สินจัย พี่นกช่วยเราได้มากในเรื่องของการตีความบทละคร เช่นในเรื่องของความเห็นของพี่นกเกี่ยวกับสุนีย์ หลังจากพี่นกอ่านบทเสร็จ ผมถามในความเห็นของพี่นก ในแง่ของความเป็นแม่ ว่าถ้าลูกพี่นกหายออกจากบ้านไป แล้วพี่นกเป็นห่วงว่ามันจะเป็นอะไรไหม พี่นกจะออกจากบ้านไปตามหาไหม โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปไหนเลยนะ พี่นกบอกพี่นกออก ต้องออกไปที่ไหนสักที่ อย่างฉากที่สุนีย์ออกไปตามลูก บางคนอาจจะมองว่า ออกไปตามทำไม ไปอาร์ซีเอ …ไปทำไม (หัวเราะ) แต่แบบ…(นิ่งไป) ความรักของคนเป็นพ่อเป็นแม่ สามารถทำในสิ่งที่เราเองไม่มีวันเข้าใจหรอกว่าทำไปทำไม อย่างตอนที่พ่อเราขายโรงสีที่กิจการไปได้ดีมาก เป็นโรงสีขนาดใหญ่มากในเชียงใหม่เพื่อแม่จะได้ดีขึ้นจากภูมิแพ้ ซึ่งบางทีเราก็มองว่ามันไม่มีตรรกะไม่มีเหตุผล เพราะมันมีทางอื่นที่ดีกว่านี้ สำหรับเราคือไม่มีเหตุผล สิ่งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้จากนักแสดง แต่การทำงานกำกับเด็กๆ ก็จะอีกแบบหนึ่ง สังเกตว่าเรามักเลือกนักแสดงที่ไม่เคยเล่นหนังหรือเรียนการแสดงมาก่อน เด็กๆ พวกนี้หัวสมองเขาจะว่างเปล่ามากๆ เราก็สามารถบอกไปได้เลยว่า มึงไม่ต้องคิดอะไรมาก สมมุติว่ามึงไม่ใช่มึง แต่เป็นแบบเพื่อนมึง มันเป็นยังไง ลองไปดูพฤติกรรมของเพื่อนมึง ลองถามมันสิว่า

มันคิดยังไง แล้วมึงเล่นแบบนี้ เล่นเป็นตัวนี้

GM : หนังของคุณมักเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย ตั้งแต่สมัยที่คุณเริ่มทำหนังสั้น มาจนกระทั่งตอนที่คุณทำ 12 ก็มีเรื่องของสีในหนังที่ทำให้เราได้คิดหรือความกำกวมของการเล่าเรื่อง มาจนกระทั่งถึง ‘รักแห่งสยาม’ ดูเหมือนว่า คุณสนุกกับการหยอดสัญลักษณ์ไว้ในฉากต่างๆ ทั้งๆ ที่บางฉากกินเวลาในหนังเพียงวินาทีเดียว

มะเดี่ยว : เป็นความสนุกของเรา หนังเป็นงานศิลปะ เป็นงานที่เรารัก เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้สึกเหนื่อยเลย มันอิน เหมือนศิลปินวาดรูปคนหนึ่งที่กำลังวาดรูปเหมือน แล้วเขาก็ใส่รายละเอียดของแสงเงาลงไปในรูป เหมือนกัน ยิ่งเราได้เขียนบท ได้กำกับ เราก็ยิ่งอินไปกับมัน แล้วเราเชื่อว่างานที่เราทำเป็นงานศิลปะ เราไม่ได้ทำงานที่ออกมาเพื่อค้าขายเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยก็ให้คนเรียนฟิล์มได้เอาไปศึกษาต่อบ้างว่ามันเป็นอย่างไร แล้วผมก็ถือว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะ เราเองก็เป็นคนที่สนใจในศิลปะ จริงๆ ภาพยนตร์เองก็เป็นการรวมศาสตร์ของศิลปะเอาไว้เกือบทุกแขนง เฟรม 1 เฟรมของภาพในหนังคือองค์ประกอบของภาพที่จำลองมาจากภาพวาด แสงมาแบบนี้เพื่อบอกอะไร มันมาจากไหนเป็นยังไง เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่อยู่ในหนังดีๆ สักเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ชุดที่อาม่าใส่ บ้านที่ดูฝรั่ง เปียโนที่อาม่าเล่น ทุกอย่างมีความหมายหมดแล้ว โคมไฟ ตุ๊กตาโดเรมี มีหมด

GM : เหมือนคุณสนุกกับการหลอกคนดู

มะเดี่ยว : ถูกต้อง งานศิลปะไม่ควรจะดูแล้วผ่านไป นั่นมันคือโปสเตอร์ไม่ใช่งานศิลปะ ผมว่าผมสนุกกับการได้รู้ว่า ลีโอนาร์โด ดาวินชี (7) ทิ้งอะไรไว้ให้เราตีความในงานของเขา เขาอาจจะกำลังนั่งหัวเราะอยู่ก็ได้ เรอนัวร์ (8) โกยา (9) ผมว่าศิลปินจริงๆ ทุกคนเขาคิดหมดล่ะ

GM : งานศิลปะของใครที่มีอิทธิพลกับความคิดของคุณมากที่สุด

มะเดี่ยว : เราชอบหนังของ คริสตอฟ เคียสลอฟสกี้ (10) ที่เราอุทิศหนังเรื่องรักแห่งสยามให้เขา อย่างมีบางฉากเช่นฉากผึ้งไต่หลอด จริงๆ ไม่ได้คิดเอง จริงๆ แล้วเราเอาของเคียสลอฟสกี้มาใช้ทั้งดุ้น เพราะหนังของเขาเรื่องบลู (Blue) ที่ดูตอน ม.ปลาย ซึ่งส่งผลกับชีวิตเรามาก ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่ก็รู้สึกได้ถึงอารมณ์ของหนัง ทึ่งไปกับการล้อเล่นกับชีวิตคน แล้วยิ่งพอได้มาดู ‘บัญญัติ 10 ประการ’ ของเคียสลอฟสกี้ก็ยิ่งทึ่งว่าทำไมเขาถึงเข้าใจชีวิตคนได้ขนาดนี้ กระแทกแก่นของมนุษย์เสียแตกกระจาย หนังบางเรื่องเขาสะเทือนใจ บางเรื่องสนุก บางเรื่องหัวเราะ บางเรื่องน่าเย้ยหยัน เราได้อะไรจากคนคนนี้เยอะ และหนังเรื่องนี้ก็ควรจะมีอะไรให้เขานิดนึง ก็เลยตั้งใจเอางานของเขามาทั้งดุ้นเลยเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า กูได้มาจากคนนี้

อีกคนหนึ่งที่ชอบมากก็คือ ฟรานซิสโก เดอ โกยา เป็นศิลปินนักวาดภาพชาวสเปน ภาพของเขาจะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ความโหดร้ายความตาย รูปที่ผมชอบอย่างชุดคาปริโชสนี่เป็นอะไรที่โดนมาก เป็นงานภาพพิมพ์โลหะ เป็นชุดๆ ที่วิพากษ์ศาสนาและการเมืองในยุคนั้น หรืออย่างรูปดัชเชส ออฟ อัลบา (11) ที่เป็นรูปผู้หญิงยืนชี้อะไรสักอย่างที่พื้น ปรากฏว่าเธอยืนชี้ชื่อของโกยาอยู่ ซึ่งงานของโกยาเป็นงานที่ดูแล้วแปลกประหลาด แต่ชวนตีความ ดึงดูดเราโดยที่ไม่รู้ตัว ดูแล้วมันรู้สึกว่าเป็นงานที่เต็มไปด้วยการประชดประชัน และรู้สึกว่าอย่างหนึ่งที่เรามีคล้ายๆ กับความคิดของโกยาก็คือความไม่ประนีประนอม

GM : หนังของคุณหลายเรื่องมักมีบางอย่างเกี่ยวเนื่องกันอยู่ พันพัวกันไปมาเช่นการใช้ชื่อ ‘เซนต์นิโคลาส’ (12) เป็นชื่อโรงเรียน โดยปรากฏทั้งในหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ใน earthcore และ 12 หรือนักแสดงบางคนที่ดูเหมือนคุณจะแวะเวียนมาใช้เขาบ่อยๆ ในบทบาทที่ดูจะเหมือนเดิมแต่แตกต่างในบางประเด็น

มะเดี่ยว : (หัวเราะ) จริงๆ ไม่มีอะไร หรืออาจจะมีก็ได้ (หัวเราะยังไม่หยุด) เป็นแค่ความตั้งใจของผมที่ต้องการให้หนังของผมแต่ละเรื่องมีความเกี่ยวเนื่องกันบางอย่าง เช่น เซนต์นิโคลาส คือซานตาคลอส เป็นเซนต์ของความใจดี มีเมตตา หรืออาจจะเป็นด้านของการถูกทรมานก็ได้…ใช่ไหม

GM : นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องถามคุณมากกว่า

มะเดี่ยว : งั้นคุณไปรอดูใน 14 (13) เองดีกว่า (หัวเราะ) ไอ้ความเกี่ยวเนื่องแบบนี้ยังจะมีต่อไปเรื่อยๆ ในงานของผม ไม่รู้สิ ผมว่ามันเป็นความสนุกของผมที่อยากให้คนดูตามติดว่า มันจะมีอะไรใหม่ๆ อยู่ในหนังของผมบ้าง

GM : สิ่งที่สังเกตอีกอย่างคือ คุณมักสนใจเรื่องวัยของคนในช่วง coming of age คุณสนใจอะไรเป็นพิเศษกับชีวิตในวัยนี้หรือ

มะเดี่ยว : ช่วงพรีทีนจนถึงวัยทีนเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก มันเป็นวัตถุดิบชั้นดีของเรา จริงๆ ชีวิตเราเพิ่งมาหายเกเรเมื่อไม่นานมานี้เอง เป็นช่วงชีวิตที่ได้ลองอะไรมากมาย เยอะมาก ทั้งดีทั้งร้าย

GM : ลองนี่ลองขนาดไหน

มะเดี่ยว : คงไม่ต้องให้บอกมั้งครับว่าขนาดไหน เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรทำตาม เอาเป็นว่าทุกอย่างที่คนว่าดี ว่าเหี้ยนี่ลองมาหมดแล้ว เรายังถือว่าเราโชคดีนะที่สามารถหลุดออกมาจากสิ่งที่จะทำให้เราแย่ไปกว่านั้น ฉะนั้น ช่วงวัยทีนของเราเป็นช่วงของการหล่อหลอมให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ อะไรเด็ดดวงที่พอจะนึกออก มันมักจะมาจากช่วงวัยนั้นเสมอ แต่ตอนนี้ก็ใกล้จะหมดแล้วล่ะ (หัวเราะ) ‘รักแห่งสยาม’ อาจจะเป็นเรื่องสุดท้ายของเราก็ได้ที่จะพูดถึง coming of age ของวัยรุ่น เพราะตอนนี้เราก็มีวัตถุดิบใหม่ที่เราอยากเล่าเข้ามาแทน อนาคตเราอาจทำหนังเรื่องของคนวัยทำงาน วัยเบญจเพส หนังคงจะเปลี่ยนไปตามการเรียนรู้ชีวิตของเรา หนังของเราส่วนหนึ่งเราสร้างมันมาจากการขุดประสบการณ์ตรงๆ มาทำ เพราะมันต้องเป็นเรื่องที่เราเชื่อ แต่ถ้าจะให้เขียนอะไร ทำอะไรที่เราเองไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกับมันมากนัก ก็ต้องทำการบ้านหนัก เช่นตอนที่เขียนบท ‘บอดี้ ศพ#19’ (14) ก็ต้องรีเสิร์ช ต้องหาข้อมูลน่าดู แต่ก็ยังไม่รู้สึกเหมือนกับที่เราทำเองทั้งหมด เปรียบเทียบกับ ‘รักแห่งสยาม’ ซึ่งเราจะรู้ทุกอย่างเลยว่าใครเป็นยังไงมายังไง

GM : ย้อนกลับไปที่การทำหนังเรื่องแรกของคุณ ทำไมอยู่ดีๆ ถึงสนใจมาทำหนัง เพราะคนที่รู้จักคุณมาตั้งแต่เด็กๆ จะคิดว่าความเป็นไปได้ที่คุณจะไปเป็นนักดนตรีดูจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

มะเดี่ยว : ไม่รู้เหมือนกัน นี่ก็เป็นความสงสัยต่อพระเจ้าเหมือนกันว่า เฮ้ย! กูเล่นดนตรีมาตั้งกี่ปี ไม่ได้เป็นนักร้อง ไม่ได้ออกเทป แล้วทำไมมาทำหนัง แล้วแม่งมีคนมาให้กูทำตลอดเวลา (หัวเราะ) จริงๆ ก็เคยคิดว่าเราน่าจะเอาดีกับการเป็นนักดนตรีแล้วเหมือนกัน ก่อนเอนทรานซ์อาจารย์ที่โรงเรียนก็ทำเรื่องจะขอทุนให้เราไปเรียนดนตรีที่ญี่ปุ่น แต่พอมานั่งคิดจริงๆ เฮ้ย! ชีวิตเหนื่อยไปหรือเปล่าวะ นี่กูเล่นดนตรีมาห้าหกปีแล้ว แล้วจะอยู่กับมันไปตลอดชีวิตเลยเหรอ มันมีอะไรอย่างอื่นอีกหรือเปล่า เลยตัดสินใจว่าอย่าเลย ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เลือกแบบแม่ไม่รู้ด้วย เพราะแม่อยากให้เรียนรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดูเป็นท่านทูตหรูหราตามประสาคนเป็นครู (หัวเราะ) แล้วพอมาอยู่ที่นิเทศ ใครๆ ที่นี่ก็ทำหนังกัน เราก็ตั้งปณิธานว่า ถ้าเรื่องแรกมันออกมาห่วย ก็จะเลิกทำเลย จะไปทำอย่างอื่น แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้หยุดทำหนังเลย แต่ก็แฮปปี้ครับ ไม่ได้รู้สึกฝืนอะไร ว่าไปอาชีพน่าอิจฉานะ เพราะจะมีอาชีพไหนอีกที่คนเสียเงินมาดูความฝันของเรา

GM : มีคนร่ำลือกันว่าคุณทำหนัง ‘รักแห่งสยาม’ โดยใส่ฉากจูบลงเพื่อสนองความอยากของตัวเอง

มะเดี่ยว : เปล่าเลย มาถึงจุดตอนนี้การทำหนังอย่าง ‘รักแห่งสยาม’ ไม่ใช่เรื่องของการอยากได้วัตถุหรือการอยาก เหมือนอย่างเด็กชายใน ‘มอเตอร์ไซค์ฮ่าง’ (15) ที่อยากได้มอเตอร์ไซค์ เหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ แต่เป็นเรื่องของการค้นหาตัวตนข้างใน เรามองข้ามเรื่องวัตถุ มองข้ามศาสนา มองข้ามเรื่องเพศ ก็ทำไมล่ะ ทำไมเวลาที่เราพูดถึงหนังรักเราต้องทำหนังรักชายหญิง คือจริงๆ หนังกำลังตั้งคำถามกับสังคมว่า ทำไมความรักในโลกนี้มีแค่เรื่องของชายหนุ่มหญิงสาวเท่านั้นหรือ เราจะแบ่งแยกกันไปถึงไหน ทุกวันนี้ที่เราทะเลาะกันอยู่ก็เพราะเราแบ่งแยกกันว่ามึงไม่ใช่พวกกู กูไม่ใช่พวกมึง ฉะนั้น ความรักความเข้าใจคนอื่นนี่ล่ะจะเชื่อมสิ่งเหล่านี้เข้าหากัน

GM : คุณจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังเกย์ แม้จะมีฉากจูบอยู่ในหนัง คุณก็เลยไม่บอกให้ใครรู้เสียเลยว่ามีฉากนั้นอยู่

มะเดี่ยว : (หัวเราะ) จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องของการตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ตอนแรกมีการพูดถึงกันมากเหมือนกันเกี่ยวกับการโปรโมตรักแห่งสยาม แต่ก็ได้ข้อสรุปที่ว่า หนึ่ง, หนังเรื่องนี้มันเล่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้ เพราะถ้าเล่ามันจะไม่เหลืออะไรให้คนดูรู้สึกตื่นเต้นเลย เพราะเป็นหนังเรื่อยๆ ไม่ได้มีอะไรแบบ…โอ้โฮ! หวือหวาแบบนั้น สอง, ใช่ หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังเกย์ ฉะนั้น มันไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เราต้องไปโปรโมตฉากนั้นเพื่อจะบอกให้ใครๆ รู้ว่ามีฉากแบบนี้อยู่ในหนัง ที่สำคัญเราเรียนรู้ว่า คนไทยเองรับไม่ได้หรอกกับการที่จะออกมาบอกใครๆ ว่า ‘นี่เป็นหนังตุ๊ด ชั้นเป็นตุ๊ด ชั้นจะไปดู’ คนไทยไม่รับแน่ๆ ฉะนั้น ก็คือให้ไปลุ้นกันในโรงเอาเองดีกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราทำใจไว้แล้วว่าต้องมีคนกลับมาด่าเราแน่ๆ ว่า เฮ้ย! คุณหลอกดาวนี่นา (หัวเราะ) ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะเราเชื่อว่าคนดูหนังเคยโดนหลอกเข้าไปดูหนัง เพราะหนังตัวอย่างที่ดูดีแต่หนังห่วยกว่านี้ในโรงมาแล้ว แต่เขารับไม่ได้ต่างหากที่จะเห็นฉากนั้นอยู่ในหนัง ซึ่งดันเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องอีกต่างหาก แต่มันจะไม่มีก็ไม่ได้เพราะเป็นจุดเปลี่ยนของหนังในครึ่งหลังทั้งหมด ส่งผลกับตัวละครทุกตัวในหนัง ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่เข้าใจว่าทำไมสุนีย์ต้องรีบขับรถไปหามิวในวันรุ่งขึ้นอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง ทำไมมิวถึงเปลี่ยนไป ทำไมโต้งถึงเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าตัดฉากนั้นไปนี่ จบเห่เลย

อีกอย่างถ้ามองในแง่ของการดำเนินเรื่อง ในแง่ของศาสตร์การทำหนังแล้ว หนังมันเอื่อยมาขนาดนี้แล้ว การมีฉากนั้นมันทำให้หนังไปถึงจุดพีค ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ส่งให้มันดูเป็นฉากที่เอิกเกริกใดๆ เลย ไม่มีเพลงประกอบ แช่กล้องไว้อย่างนั้น ภาพที่คนดูเห็น เกือบจะเป็นภาพเดียวกับที่สุนีย์เห็น เราไม่ได้ทำออกมาบนความเพ้อฝันที่ไม่มีเหตุผล ฉะนั้น มันอยู่ที่คนดูแล้วละว่าใจคนดูคิดต่อฉากนี้อย่างไร หากคนดูคิดว่านี่เป็นการแสดงความรักของเด็กที่อาจยังไม่รู้จักมันดีพอ คุณก็อาจจะเข้าใจ รับได้ แต่หากคุณดูแล้วรู้สึกรังเกียจ น่าทุเรศขยะแขยง นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่คุณจะได้ไปจากหนังเรื่องนี้ ฉะนั้น คุณจะนั่งดูต่อหรือว่าจะลุกออกไปจากโรงนั่นก็เป็นสิทธิ์ของคุณ เป็นอคติของคน แล้วเราไม่โกรธด้วย ถ้าคนดูด่าเรา เราก็ด่าเขาได้เหมือนกันว่า อ้าว! ก็กูจะทำ มึงรับไม่ได้ก็อย่าดู มนุษย์เราจะแสดงความรักต่อกันมันผิดตรงไหน  

GM : แล้วความรักของคุณคืออะไร มีอยู่จริงหรือเปล่า

มะเดี่ยว : มันมีอยู่จริงสิ เราเคยผ่านมาแล้ว และเราก็รู้ว่ามันมีอยู่จริง ที่เราพูดไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ นะ เราอ่านมาเยอะ และพยายามทำความเข้าใจกับมัน ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์ว่าร่างกายหลั่งสารโน่นนี่นั่นออกมาเมื่อเรามีรัก อะไรแบบนั้น แต่สุดท้ายเราก็ได้ข้อสรุปว่าบางครั้งความรักมันไม่มีตรรกะ ไม่มีเหตุผลอะไรเลย เราไม่รู้หรอกว่าความรักคืออะไร แต่ที่แน่ๆ มันทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา

GM : ไม่ใช่ความหลง ?

มะเดี่ยว : ความรักมันก็ต้องมีความหลงอยู่ในนั้น ตัวละครอย่างหญิงใน ‘รักแห่งสยาม’ ก็เริ่มจากความหลง หลงชอบหนุ่มข้างบ้านคนหนึ่ง แต่ต่อมาความหลงมันก็เปลี่ยนมาเป็นความรักความเข้าใจ นี่คือสิ่งที่มนุษย์เราต้องเจอ

GM : แล้วความงามล่ะ เพราะดูจากศิลปินที่คุณชอบอย่าง โกยา ความงามของคุณดูแตกต่างจากที่คนส่วนใหญ่เขาคิดกัน

มะเดี่ยว : ความงามของผม…ให้นึกตอนนี้นึกไม่ออก แต่ถ้าถามเราจะนึกถึงหนังเรื่อง อเมริกันบิวตี้ (American Beauty) (16) ฉะนั้น เราอาจจะต้องไปดูด้วยกันสักที บางครั้งความงามของผมมันไม่ใช่อะไรที่ง้ามงาม คงไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น แต่ละคนมองความงามในรูปแบบที่แตกต่างกัน

GM : อนุมานจากสิ่งที่คุณชอบ ดูเหมือนคุณเป็นคนหมกมุ่นกับความคิดตัวเองอยู่พอดู

มะเดี่ยว : ผมผ่านช่วงชีวิตนั้นมาแล้ว เด็กๆ ตอนอายุสักสิบสามสิบสี่อาจจะใช่ เป็นช่วงเวลาของการเป็นดักแด้ เก็บตัวเองอยู่ในห้อง ไปไหนก็จะมีหูฟังยัดหูอยู่ในโลกส่วนตัว แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว ตอนนี้ชอบอยู่กับเพื่อน เริ่มเข้าสู่วัยเหงาแล้ว (หัวเราะ) อีกอย่างการทำงานแบบนี้ เราคิดมากเกินไปไม่ได้ ต้องมั่นคงในความคิด ไม่ใช่ว่าใครมาพูดอะไรหน่อยก็หวั่นไหว เก็บไปคิด แบบนั้นไม่ดีกับงานของเราแน่ เพราะการเป็นผู้กำกับชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เราต้องควบคุมคนอื่น ซึ่งบางครั้งอาจจะมีคำแบบแทงใจ เสียดสี

ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องควบคุม แถมพอหนังออกไป แน่นอนว่าต้องมีทั้งเสียงก่นด่า ถ้ามัวแต่คิดมากนี่อยู่ไม่ได้แน่ๆ

GM : แล้วตัวคุณเองเป็นคนมีอัตตามากไหม

มะเดี่ยว : ก็ประมาณหนึ่ง สมัยก่อนไม่ได้ดั่งใจนี่โวยวายเลย แต่ตอนนี้ผมเรียนรู้ที่จะชนกับใครโดยไม่ใช้อารมณ์แบบนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องของจุดยืนมากกว่า

GM : หนังคุณเป็นแบบไหน คุณว่าหนังของคุณเป็นหนังตลาดไหม   

มะเดี่ยว : เราว่ามันอยู่กึ่งกลาง คือมันไม่ได้อาร์ตมากจนคนดูดูไม่ได้ แต่ว่ามันก็ไม่ได้แมสมากจนใครๆ จะสนุกกับมัน มันมีความลักลั่นอยู่ หนังแต่ละเรื่องของเรา ถ้าพูดถึงรายได้มันไม่ได้ดีมากนัก 13 เองในบ้านเราก็ขาดทุน แต่เราไม่แคร์ มันเป็นหนังที่เราอยากทำ เป็นสไตล์หนังของเรา ในตลาดมันก็ควรมีหนังแบบนี้อยู่บ้าง ไม่ใช่ว่ามีแต่หนังผี หนังตลก

GM : มีหนังแนวไหนบ้างที่คุณอยากทำอีก

มะเดี่ยว : ผมอยากทำหนังตลก แต่คงไม่ใช่แบบโปงลางสะอิ้งแน่ๆ มันคงเป็นตลกจังหวะ ตลกเสียดสี ตลกแบบวิถีชีวิตแบบนั้นมากกว่า ก็คิดว่าจะทำในอนาคตครับ แต่ว่าคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะต้องเอามหากาพย์ เรื่อง 14 ให้เสร็จก่อน (หัวเราะ)

GM : หนังเรื่องนี้ทำให้เพลงประกอบที่คุณทำเองโด่งดังขึ้นมามาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คุณเองเคยทำเพลงมาบ้าง ถ้าจะถามว่าอนาคตคุณคิดออกเทปไหม ก็คงพอจะถามได้สิ

มะเดี่ยว : ก็มีคิดอยู่ มีคนมาชวนเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ก็เคยคุยกับก้านคอคลับไว้ครับ ตั้งแต่นานแล้ว แต่ก็ไม่ได้คุยเป็นจริงเป็นจัง ก็คงต้องดูกันต่อครับ เพราะงานเยอะมาก

GM : เปรียบเทียบหนังกับดนตรี สำหรับคุณมันเหมือนหรือแตกต่างกันไหม

มะเดี่ยว : ไม่เหมือนกันนะ ดนตรีสำหรับผมตอบสนองจินตนาการของเราได้ดีกว่า เพราะเราไม่มีภาพเป็นตัวชี้นำ แต่ข้อดีของหนังคือ มันจะพูดได้เยอะกว่าดนตรี

GM : อะไรบ้างที่คุณคิดว่าขาดหายไปจากวงการหนังไทยในปัจจุบัน

มะเดี่ยว : บทดีๆ และเพลงสกอร์ดีๆ ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีใครพิถีพิถันเรื่องดนตรีประกอบสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องสำคัญ แต่นอกนั้น หนังไทยสู้ต่างประเทศได้สบาย หนังฮ่องกงยังมาทำแล็บที่เมืองไทยเลย ยกเว้นบทที่ไม่มีใครกล้ามาทำ (หัวเราะ)

GM : ทำไมบทหนังดีๆ จึงกลายเป็นเรื่องหายากในวงการหนังไทย

มะเดี่ยว : เพราะทุกคนมุ่งอยากเป็นผู้กำกับ ฉะนั้น คนที่จะเอาจริงเอาจังเรื่องบทก็เลยมีน้อย แล้วใครที่เขียนบทจริงๆ จะรู้เลยว่ามันแตกต่างจากการเขียนนวนิยายมากมันเหมือนหมากับแมวเลยนะ คนไทยเรายังมีความเข้าใจในการเรียบเรียงบทน้อยและแคบ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สอนอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับในฮอลลีวู้ดซึ่งให้ความสำคัญกับบทมาก ทำให้เขาสามารถผลิตบทหนังดีๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง (17) บทและประเภทวิธีการเขียนก็ไม่เหมือนกัน คนเขียนต้องเข้าใจหนังในแต่ละประเภท การเขียนบทหนังแอ็คชั่นก็ไม่เหมือนกับการเขียนบทหนังตลก บทหนังรักก็อีกแบบ คือมันไม่สามารถรวมกันอยู่ในคนคนเดียวกันได้หรอก อย่างบทหนังตลกที่ดี เราว่าอย่างคลิก (Click) (18) หรือฟิฟตี้เฟิร์สเดทส์ (50 First Dates) (19) บทหนังแอ็คชั่นดีๆ อย่างไดฮาร์ด (Die Hard) (20) ถึงแม้ว่าจะดูเวอร์ แต่เวลาดูเราก็เชื่อตื่นเต้นไปกับหนัง

บ้านเรามันไม่มีองค์ความรู้เหล่านี้เพื่อพัฒนาคนของเราให้เก่ง ทั้งที่จริงๆ คนไทยทำหนังดรามาดีนะครับ ไม่เชื่อลองตามไปดูหนังเก่าๆ สมัย สรพงษ์ ชาตรี เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ยังเป็นพระเอก-นางเอกกันอยู่ หนังสมัยก่อนมีการเล่าเรื่องราว ที่มาที่ไป แต่หนังไทยสมัยนี้ขายแต่หน้าตาเพื่อให้คนไปดู ขายแอ็คชั่นสองสามฉากเพื่อให้คนไปดู ขายผีหลอก ขายมุกตลกสองสามแก๊กเพื่อให้คนไปดู ซึ่งมันฉาบฉวยมากแต่ก็โทษหนังอย่างเดียวไม่ได้เพราะคนสมัยนี้ก็ชอบความฉาบฉวย อยากให้ใส่ใจพัฒนาบทกันนานๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทไหนก็ตาม คุณไม่ต้องดรามาทุกเรื่อง บทหนังตลกดีๆ ในเมืองไทยอย่างแสบสนิทฯ (21) อยากให้มันมีอย่างนั้นมากๆ หนังไทยจะได้โต

GM : แต่ขณะเดียวกันดูเหมือนภาครัฐจะพยายามควบคุมหนังไม่ให้โต ด้วยการจำกัดสิทธิ์ของคนทำหนัง ในเรื่องพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (22) ที่คนในวงการหนังพยายามคัดค้านกันอยู่

มะเดี่ยว : ผมว่าเป็นเรื่องงี่เง่าปัญญาอ่อนที่สุด ไม่รู้ว่าคิดได้ยังไง ในสังคมเสรีนิยมที่บ้านเมืองอื่น เขาไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้ว บ้านเราเหมือนกำลังถอยหลังกลับ ปีนี้เรารู้สึกโกรธแค้นมากที่หนังของคุณเจ้ย เรื่อง ‘แสงศตวรรษ’ (23) โดนเซ็นเซอร์ ทั้งๆ ที่เป็นหนังที่ไม่ได้มีอะไรเสื่อมเสีย หนังคุณเจ้ยเป็นศิลปะจริงๆ แล้วต้องดูในโรงเท่านั้นด้วยถึงจะได้อารมณ์สุดๆ เป็นหนังที่เพียวมาก แล้วถามว่ากองเซ็นเซอร์มีสิทธิ์อะไรไปทำอย่างนั้นกับงานศิลปะ (24) ถ้ากองเซ็นเซอร์มานั่งหั่นหนังเรานี่ เรายังพอเข้าใจได้ว่าภาพของเราในหนังอาจล่อแหลมไป แต่ในหนังของคุณเจ้ยนี่มันไม่มีอะไรที่น่าจะไปเซ็นเซอร์ หนังเขาไม่ได้มีอะไรที่เลวร้ายกับสังคมเลย ไม่ได้พูดโป้ปดมดเท็จ คุณเจ้ยเองเป็นคนทำหนังที่ต้องบอกว่าเขาไม่มีทางสู้อยู่แล้ว เป็นหนังอิสระไม่มีค่ายช่วยหนุน ตัวคนเดียว พวกคุณยังอาศัยอำนาจบาตรใหญ่ไปจัดการเซ็นเซอร์เขา ตัวกองเซ็นเซอร์เองก็ยังมีความกังขาเรื่องความรู้ความเข้าใจในศิลปะ ที่จะตัดสินงานของคนอื่นแบบนั้น

GM : แล้วเราจะช่วยกันอย่างไรดี

มะเดี่ยว : ก็ทำหนังไปอย่างที่เราอยากทำ อยากตัดก็ตัดไป (หัวเราะ) ต้องยืนหยัด อยู่บนหนทางของเรา เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายรัฐก็จะไม่ฟังเสียงของพวกเราหรอก ต่อให้ร้องแรกแหกกระเชอก็คงไม่สนใจ ถ้าไม่ให้คนไทยได้ดู เราก็ไปให้คนอื่นดูก็ได้ ในโลกนี้ยังมีคนอยากดูหนังไทยอีกตั้งเยอะตั้งแยะ ก็ให้มันรู้ไปว่าสังคมจะไม่เจริญเพราะใคร เราเชื่อว่าคนที่ตั้งใจทำหนังจริงๆ เรากำลังทำหน้าที่สะท้อนภาพสังคม เราอยากให้รู้ว่าสังคมเรากำลังเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่เอาเรื่องจริงมาพูด เราก็จะอยู่ในโลกของความฝันตลอดเวลา แบบ…สังคมดี มีมานะ มานี ปิติ ชูใจ อะไรแบบนั้น

คนที่เติบโตมากับโลกที่เป็นอุดมคติ ไม่ได้มองโลกในความเป็นจริงนั้น ก็จะเติบโตมา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็จะพยายามเปลี่ยนสังคมให้เป็นอุดมคติในแบบที่เขาต้องการ มันไม่ใช่ครับ มันไม่มีแล้ว ที่ทุกวันนี้เรายังแย่อยู่ เพราะเราไม่มองโลกด้วยสายตาของความเป็นจริง ทุกวันนี้มีวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์ เอาก้อนหินปากระจกรถตู้จนมีคนตาย นี่สิ! คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ นี่คือความจริงของโลกที่คุณต้องเผชิญกับมัน ไม่ใช่หลบมัน แล้วไปห้ามคนอื่นว่า อย่าไปดูนะ แบบนี้มันไม่ใช่ทางแก้ สังคมต้องเปิดโอกาสให้คนได้เลือกสิถึงจะถูก ฉะนั้น อย่าไปแคร์ อย่าไปสนใจ ด่าได้ก็ด่า เราไม่เห็นต้องไปเข้าใจคนที่ไม่เคยพยายามจะเข้าใจคนอื่นเลย

อย่างตอนที่รักแห่งสยามออกไป คนที่ชอบก็สนับสนุนเรา คนที่ไม่ชอบก็ด่าเรา แล้วถามว่าหนังเรื่องนี้มันเลวร้ายกับสังคมมากไหม มันก็แค่เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่คนรู้สึกกับมัน มันเป็นศิลปะ มันคือความบันเทิง มันก็แค่นั้น เราไม่ได้ปั๊มยาบ้าขายนี่นา

GM : ตอนนี้คุณกลายเป็นคนที่ทุกคนรู้จักมากขึ้น กดดันไหมกับ 14 ที่กำลังจะทำต่อไป

มะเดี่ยว : ไม่เลย ไม่รู้สึกอะไร เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเรากำลังจะทำอะไร เราต้องมั่นใจในงานที่เราทำ หากเราไม่มั่นใจแล้วใครจะมามั่นใจกับเรา ฉะนั้น ก็ต้องเชื่อตัวเราเองก่อน

GM : อนาคตของคุณจะเป็นอย่างไร ?

มะเดี่ยว : จริงๆ เลยนะ ผมไม่เคยคิดมากเรื่องอนาคตเลย ผมว่าเราต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วเดี๋ยวสิ่งที่ตามมามันจะดีเอง ทุกวันนี้มีอะไรต้องรับผิดชอบก็ทำไป

GM : ถ้าฮอลลีวู้ดมาชวนคุณไป คุณ…

มะเดี่ยว : อ้าว! ก็ไปสิครับ เราพร้อมที่จะกระโดดเข้าไปลองในสิ่งที่เราไม่เคยสัมผัสอยู่แล้ว เราไม่ได้สนใจเรื่องเงินทองเท่าไหร่ แต่ความรู้ที่จะได้มันมีมากกว่า นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเข้ามาทำหนัง

GM : ว่าแต่ว่าตอนนี้คุณมีแฟนหรือยัง

มะเดี่ยว : ถ้าไม่นับแฟนหนัง แม่สั่งไว้ว่าให้เลือกที่เราคิดว่าดีที่สุด เราก็จะตอบว่า ยังไม่พร้อม ให้เป็นเพื่อนสนิทไปก่อนดีกว่า (หัวเราะ) มากกว่ามะเดี่ยวที่คุณต้องรู้

1. ในหนังเรื่องลี้ (2546) หนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขา คุณจะเห็นชื่อเครดิตของมะเดี่ยวขึ้นมา โดยมีชื่อกลางว่า ‘แมททิว’ (Mathew) มะเดี่ยวบอกว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่เพื่อนฝรั่งใช้เรียกเพราะว่ามะเดี่ยวดูจะเรียกยากไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นลูกครึ่งชาติไหนแต่อย่างไร

2. บราเดอร์ (Brother) หรือ ‘ภราดา’ ในภาษาไทยเป็นคำเรียกนักบวชในคณะ

ภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย และมีเฉพาะนักบวชชายเท่านั้น

3. โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (Montfort College) เป็นโรงเรียน

แห่งที่ 3 ที่คณะนักบวชเซนต์คาเบรียลก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยภราดา ไมเคิลและภราดาฮีแลร์ ชื่อ ‘มงฟอร์ต’ นั้นได้มาจากชื่อของ นักบุญ หลุยส์ มารี กรียอง เดอ มงฟอร์ต เกิดที่ตำบลมงฟอร์ต ประเทศฝรั่งเศส ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ใน ปี พ.ศ. 2243 และสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2255 เป็นที่รู้จักทั่วไปในนาม ‘คุณพ่อมงฟอร์ต’ นักบวชชาวฝรั่งเศสที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในเด็ก และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล’ ซึ่งเป็นคณะที่เน้นการจัดการศึกษาเพื่อเน้นคติธรรมของชีวิตโดยใช้หลัก

‘God Alone’ แปลว่า ‘พระเจ้าเท่านั้น’ (พระเจ้าเท่านั้น = สัจธรรม หรือ ความรักสากล)

4. ‘บ้านเก่า’ เป็นหนังสั้นขนาดยาวเรื่องแรกของมะเดี่ยวที่กำกับ ว่าด้วยเด็กที่ตายแล้วแต่วิญญาณยังไม่หมดห่วง ยมทูตจึงให้เวลา 7 วันในการกลับมาก่อนจะกลับบ้านเก่า

5. Socialization เป็นคำที่เริ่มปรากฏมาตั้งแต่พจนานุกรมสมัยกรีก โดยเพลโตเป็นผู้บัญญัติใช้ แต่ผู้ที่ทำให้คำคำนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1920 หมายถึงกระบวนการการเรียนรู้ทางสังคมของมนุษย์ที่ได้รับมาจากครอบครัว สภาพแวดล้อม ระบบโครงสร้างทางประเพณี สังคม บรรทัดฐานของกลุ่มคน หล่อหลอมให้มนุษย์เราเข้าใจภาษา มาตรฐาน จริยธรรม ความคิด ทัศนคติต่อสังคม

6. ใช่ครับ, เป็นคนเดียวกับที่คุณคิด โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร GM ซึ่งเขียนบทวิจารณ์หนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ไว้ในกรุงเทพธุรกิจ ในชื่อ ‘รักแห่งสยาม ความรักของเกย์คาทอลิก’

7. ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) ศิลปินชาวอิตาเลียน เกิดในช่วง ปี ค.ศ. 1452-1519 เป็นนักปราชญ์และศิลปินผู้มีความสามารถรอบด้าน ผลงานของเขามีตั้งแต่งานทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาพวาด โดยเฉพาะผลงานด้านการวาดภาพนั้นว่ากันว่าเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ซึ่งจูงใจให้ผู้ดูสามารถตีความไปได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น The Last Supper, Virgin of the Rocks, หรือภาพที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดอย่าง โมนาลิซ่า (Mona Lisa) ความกำกวมในภาพของดาวินชีเป็นแรงบันดาลใจให้ แดน บราวน์ นำมาผูกเรื่องจนกลายเป็นนวนิยายขายดีในชื่อ The Da Vinci Code ในปี ค.ศ. 2003 ปัจจุบันขายไปแล้วกว่า 60 ล้านเล่มทั่วโลก

8. เรอนัวร์ หรือชื่อเต็มว่า ปิแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre- Auguste Renoir ค.ศ. 1841-1919) ศิลปินนักวาดภาพชาวฝรั่งเศส เป็นที่รู้กันว่าเขาคือหนึ่งในศิลปินในกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้สีสันที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินในแบบฉับพลัน งานของเรอนัวร์ส่วนมากนำเสนอด้านที่สวยงาม อ่อนหวานของธรรมชาติ และผู้หญิง ทว่าว่ากันว่า แท้จริงแล้วภาพของเรอนัวร์สะท้อนวิถีชีวิตและวิพากษ์ระบบศักดินาของฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18

9. โกยา มีชื่อเต็มว่า ฟราน-ซิสโก โจเซ่ เดอ โกยา ลูเซนเตส (Francisco José de Goya Lucientes ค.ศ. 1746-1828) ศิลปินชาวฝรั่งเศส ซึ่งโด่งดังจากการเขียนภาพในช่วงปี ค.ศ. 1793-1794 ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า Fantasy and Invention ซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังป่วยจากอาการสมองอักเสบ ประกอบกับการรักษาที่ค่อนข้างทารุณและสภาพสงครามกลางเมืองในสเปน สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้งานของโกยาในช่วงนั้นสะท้อนด้านมืดของสังคม งานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมากคือ คาปริโชส (Caprichos) งานภาพพิมพ์กว่า 80 ภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บป่วยของสังคมและของตัวเขาเอง ภาพนี้ไม่ได้ถูกนำแสดง ในที่สุด ผู้ที่ซื้อภาพชุดนี้ไปทั้งหมดคือกษัตริย์ คาร์ลอส ที่ 6

10. คริสตอฟ เคียสลอฟสกี้ (ค.ศ. 1941-1996) ผู้กำกับชาวโปแลนด์ เขาเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับด้วยการทำหนังสารคดีและผลิตรายการโทรทัศน์ในโปแลนด์ หนังที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมากก็คือหนังไตรภาค บลู ไวท์ เรด ในปี 1994 ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมและยังคว้ารางวัลในเทศกาลหนังเวนิสและเบอร์ลินอีกด้วย บลู (Blue) เป็นภาคแรกของหนังไตรภาค 3 สี ว่าด้วยผู้หญิงคนหนึ่ง (นำแสดงโดย จูลี่ บินอช) ที่ต้องสูญเสียสามีในอุบัติเหตุและภายหลังเธอค้นพบความลับบางอย่างของสามีที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสานฝันการแต่งซิมโฟนีของสามีเธอจนสำเร็จ

11. Portrait of the Duchess of Alba (1795) ชื่อเต็มของเธอคือ Maria del Pilar Teresa Cayetana de Silva y Alvarez de Toledo, Duchess d’Alba ในรูปที่เธอกำลังชี้ลงไปนั้น เธอกำลังชี้ลงไปที่ชื่อของเธอและโกยาผู้วาด ที่เขียนอยู่บนทราย

12. เซนต์นิโคลาส มีหลากหลายชื่อ เช่น บิชอป ออฟ ไมรา (Bishop of Myra) แต่ชื่อที่รู้จักกันดีก็คือ ซานตาคลอส (Santa Claus) ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาเยอรมัน ซึ่งแปลว่า เซนต์นิโคลาส เขาเกิดในช่วงศตวรรษที่ 3 หรือ 4 ในดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตุรกี เซนต์นิโคลาสได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการให้ เพราะสมัยที่เซนต์นิโคลาสยังมีชีวิตอยู่ ท่านมักนำสิ่งของที่หาได้ไปบริจาคให้กับคนยากไร้เสมอๆ จนภายหลังถูกกล่าวหาจากศาสนจักรว่าเป็นพวกนอกรีตและโดนประหารอย่างโหดเหี้ยม จึงมีการรำลึกถึงนักบุญเซนต์นิโคลาส ทุกวันที่ 6 ของเดือนธันวาคม ในบางประเทศเช่นเนเธอร์แลนด์จะมีการมอบของขวัญให้แก่กันในวันนี้ด้วย

13. หนังภาคสุดท้ายในบรรดาหนังจตุภาคของมะเดี่ยว อันได้แก่ earthcore (หรือ 11), 12, 13 และ 14 โดยหนังกำหนดเปิดกล้องในช่วงกลางปีหน้า หนังจะมีส่วนเชื่อมโยงกับตัวละครใน 11 และ 12 มากกว่า 13

14. บอดี้ ศพ#19 (GTH-2550) เป็นหนังแนว ไซโค-ฮอเรอร์ เรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่ฝันเห็นเหตุการณ์บางอย่างซ้ำๆ ทุกครั้งที่หลับตา ทว่าเรื่องราวที่เขารับรู้นั้นไม่ปะติดปะต่อกัน จึงทำให้เขาต้องหาคำตอบกับเรื่องนี้ด้วยวิธีการต่างๆ หนังเรื่องนี้เขาร่วมเขียนบทกับ เอก-เอกสิทธิ์ ไทยรัฐ ที่เคยร่วมงานกัน ใน 11-14

15. หนังสั้นขนาดยาวอีกเรื่องหนึ่งของมะเดี่ยวสมัยที่เริ่มการทำงานในฐานะผู้กำกับมือสมัครเล่น หนังเล่าเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่อยากมีมอเตอร์ไซค์ เพื่อจะได้เข้าแก๊งมอเตอร์ไซค์แบบเพื่อนสนิทที่เขาชื่นชม แต่กลับกลายเป็นว่าเรื่องราวทั้งหมดบานปลายและไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด

16. American Beauty ภาพยนตร์ในปี 1999 กำกับโดย แซม เมนเดส (Sam Mendes) หนังจงใจเสียดสีสังคมอเมริกันที่เต็มไปด้วยความหน้าไหว้หลังหลอก ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว ผ่านครอบครัวหนึ่งที่ดูภายนอกเหมือนจะมีพร้อมทุกอย่าง แต่แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยปัญหา

17. เป็นที่รู้กันว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการนัดหยุดงานประท้วงของบรรดาคนเขียนบทของฮอลลีวู้ดในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เขียนบท จนเกิดปัญหาว่า บรรดาซีรีส์ในสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่สามารถออกอากาศได้ เพราะไม่มีบทสำหรับแสดง ซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Gray’s Anatomy ของสถานี CBS ก็ระงับการออกอากาศไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเนื่องจากไม่มีบท (ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้อยู่ก็ยังไม่เลิกประท้วง) คาดการณ์กันว่าหากยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องรายได้ อาจส่งผลกระทบต่อการประกาศผลรางวัลใหญ่ๆ ที่กำลังจะมีในเร็ววันนี้ อย่างเช่น รางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 65 ในวันที่ 13 เดือนนี้

18. Click (2006) กำกับการแสดงโดย แฟรงก์ โคราชี่ (Frank Coraci) เขียนบทโดย สตีฟ โกเรน (Steve Koren) และ มาร์ก โอ’คีฟ (Mark O’Keefe) ทั้งคู่เคยเขียนบทร่วมกันมาก่อนในหนัง Bruce Almighty ก่อนมาร่วมงานกันในหนังตลกเรื่องนี้ที่แสดงนำโดย อดัม แซนด์เลอร์ (Adam Sandler) ว่าด้วยสถาปนิกที่มีรีโมตที่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองให้เดินหน้าถอยหลังได้ เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขา Best Achievement in Makeup

19. 50 First Dates (2004) กำกับโดย ปีเตอร์ ซีกัล (Peter Segal) และ จอร์จ วิง (George Wing) ซึ่งกำลังจะมีหนังใหม่ที่ชื่อ High T ร่วมกับ สตีฟ คาร์เรล ที่โด่งดังจากซีรีส์ The Office

20. Die Hard ปัจจุบันออกมาแล้วทั้งหมด 4 ภาค คือภาคแรกในปี ค.ศ. 1988, Die Hard 2 ในปี ค.ศ. 1990, Die Hard : With a Vengeance ในปี ค.ศ. 1995 และล่าสุด Live Free or Die Hard เมื่อปีที่แล้ว ทั้ง 4 ภาคไม่ได้ใช้คนเขียนบทชุดเดิม เหมือนดาราแสดงนำ ปฐมบทภาคแรกนั้นเริ่มจากการดัดแปลงนวนิยายของ โรเดอริก ทอร์ป (Roderick Thorp) นอกนั้นเป็นการเขียนบทขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยบุคลิกของตัวละครตัวเดิมนั่นคือ จอห์น แม็คเคลน (John McClane นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส) เป็นตัวผูกเรื่อง

21. เขียนบทโดย พิง ลำพระเพลิง

22. กรณีที่เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ได้ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการพิจารณาพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาถึงรายละเอียดของพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยเฉพาะในมาตรา 7, 26, 29, 30 ที่ลิดรอนสิทธิในการนำเสนอวีดิทัศน์ต่างๆ จนอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว ความสามารถในการเข้าถึงสื่ออย่างเสรี โดยเฉพาะสิทธิที่เยาวชนจะได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ รู้จักการวิเคราะห์ และการสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด จนมีคนแซวว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นฉบับ ‘เก็บกด’

23. แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) กำกับโดย เจ้ย-อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนจากทางการกรุงเวียนนา เป็นหนึ่งในผลงานของผู้กำกับ 6 คนจาก 6 ชาติทั่วโลก (ปารากวัย อิหร่าน ชาด ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย) ที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล ‘นิว คราวน์ โฮป’ ในโอกาสเฉลิมฉลอง 250 ปีชาตกาลของ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท คีตกวีชาวออสเตรีย ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ขณะที่ ‘แสงศตวรรษ’ ในบ้านเราที่แต่เดิมมีกำหนดฉาย 19 เมษายน 2550 ถูกกองเซ็นเซอร์ยื่นคำขาดว่าต้องมีการตัดบางส่วนในหนังออก จนสุดท้ายถูกห้ามฉายในที่สุด แต่ในต่างประเทศ ‘แสงศตวรรษ’ กวาดรางวัลมาแล้วทั้งรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจากงาน เอเชียน ฟิล์มส์ อวอร์ดส์ ที่ฮ่องกง และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Lotus du Meuilleur Film-Grand Prix ในงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียโดวิลล์ ครั้งที่ 9 ที่ประเทศฝรั่งเศส หนังบอกเล่ารายละเอียดของชีวิตที่ดูจะไม่น่าสนใจของหมอใน 2 โรงพยาบาล ซึ่งผู้กำกับได้แรงบันดาลใจมาจากพ่อแม่ของเขาซึ่งเป็นหมอด้วยกันทั้งคู่ เจ้ยเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ในฐานะคนทำหนัง ผมปฏิบัติกับหนังของผมประดุจลูกชายและลูกสาว เมื่อผมให้กำเนิดเขา พวกเขาก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ผมไม่ใส่ใจว่าผู้คนจะรักหรือเกลียดลูกของผม ตราบใดที่ผมสร้างเขาขึ้นมาด้วยความตั้งใจและความพยายามอย่างสูงสุด ถ้าลูกๆ ของผมไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศของเขาเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ก็ปล่อยเขาเป็นอิสระ ผมเชื่อว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นในแบบอย่างที่เขาเป็น มันไม่มีเหตุผลเลยที่ต้องทำให้พวกเขาพิกลพิการจากระบบแห่งความกลัวหรือความละโมบ มิฉะนั้นแล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่คนสักคนหนึ่งจะสร้างงานศิลปะต่อไป”

24. ฉากที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์ในหนังเรื่อง ‘แสงศตวรรษ’มีอยู่ด้วยกัน 4 ฉาก อันได้แก่ ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์

ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลก่อนที่ผู้หญิงจะต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัดจนเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และฉากพระเล่นเครื่องร่อน

“สิ่งที่เราต้องการจะบอกในหนังก็คือ ทุกวันนี้คนเรานับถือศาสนากันแต่ลมปาก เราฟังบาลีไม่รู้เรื่อง เราไม่สนใจคำสอน วิธียึดมั่นของคนสมัยนี้คือยึดมั่นในพิธีกรรม”

“กองเซ็นเซอร์อาศัยอำนาจบาตรใหญ่ไปจัดการเซ็นเซอร์เขา ทั้งๆ ที่ตัวกองฯเองก็ยังมีความกังขาเรื่องความรู้ความเข้าใจในศิลปะ ที่จะตัดสินงานคนอื่นแบบนั้น”

“เราเชื่อว่าคนที่ตั้งใจทำหนังจริงๆ กำลังทำหน้าที่สะท้อนภาพสังคม เราอยากให้รู้ว่าสังคมกำลังเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่เอาเรื่องจริงมาพูด เราก็จะอยู่ในโลกของความฝันตลอดเวลา”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ