คุยกับ ‘แนนโน๊ะ’ หรือ คิทตี้ – ชิชา อมาตยกุล ในประเด็น การศึกษาไทย / ค่า GDP / นิยามของเฟมินิสต์ / เพศทางเลือก
คุณอาจจะรู้จักหน้าค่าตาของเธอจากบทบาทเด็กนักเรียนสาวผมบ๊อบสั้นมั่นหน้าที่ทั้งซ่าและแรงส์ชื่อ ‘แนนโน๊ะ’ ในซีรีส์เรื่อง ‘เด็กใหม่’ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมไปเมื่อปีที่ผ่านมา ทว่า GM ยังอยากให้คุณได้ทำความรู้จักสาววัยเบญจเพสคนนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้คุณมอง ‘แนนโน๊ะ’ หรือ คิทตี้ – ชิชา อมาตยกุล เปลี่ยนไป
Reasons to Read
- คุณอาจจะรู้จักหน้าค่าตาของเธอจากบทบาทเด็กนักเรียนสาวผมบ๊อบสั้นมั่นหน้าที่ทั้งซ่าและแรงส์ชื่อ ‘แนนโน๊ะ’ ในซีรีส์เรื่อง ‘เด็กใหม่’ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมไปเมื่อปีที่ผ่านมา ทว่า GM ยังอยากให้คุณได้ทำความรู้จักสาววัยเบญจเพสคนนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้คุณมอง ‘แนนโน๊ะ’ หรือ คิทตี้ – ชิชา อมาตยกุล เปลี่ยนไป
- เพราะเธอไม่ได้มีแค่มุมของความเป็นนักแสดงสาวมั่นพ่วงนามสกุลดังเพียงอย่างเดียว แต่ยังเคยเป็นเขียนบท เป็น Script Consult และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ ที่มีความคิดความอ่านไม่ธรรมดา
GM : ในฐานะที่คุณเคยรับบทเป็น แนนโน๊ะ คุณมีทัศนคติเกี่ยวกับวงการศึกษาไทยอย่างไรบ้าง
ชิชา : ระบบการศึกษาไทย คิทมองว่ามันไม่มีอะไรถูกหรือผิด ไม่ได้มีอะไรเป็นแบบแผนแน่ชัดที่จะบอกได้ว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุด คิทมองว่ามันคือการที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นทางผู้ใหญ่หรือตัวเด็กเอง ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว แล้วก็ต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะฉะนั้น ระบบที่เคยใช้มันอาจจะไม่เวิร์กสำหรับปัจจุบัน แล้วระบบการศึกษาที่มีอยู่ในตอนนี้ก็อาจจะยังต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับอนาคตต่อไป
GM : คำว่า Feminist ในศตวรรษที่ 21 ในทัศนคติของคุณ คิดว่ามันหมายความว่าอะไร
ชิชา : มันคือการยอมรับความเท่าเทียมทางเพศของทุกเพศอย่างเท่าเทียมกันค่ะ มันไม่ใช่การมองว่า ผู้หญิงจะต้องอยู่เหนือผู้ชาย เพราะว่าที่ผ่านมาผู้ชายเคยอยู่เหนือผู้หญิงมาก่อน คิทมองว่ามันคือการยอมรับกัน ให้เกียรติกันทางเพศ ที่ทุกคนสามารถที่จะเท่าเทียมกัน ยืนอยู่อย่างสง่างามข้างๆ กัน โดยที่ไม่ต้องเหยียบให้ใครต่ำกว่า หรือว่าขึ้นไปอยู่สูงกว่าใคร
GM : อยากให้คุณลองให้ความเห็นเกี่ยวกับความสุขมวลรวมประชาชาติ กับตัวเลข GDP คิดว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน และเพราะอะไร
ชิชา : GDP คือ Gross Domestic Product ใช่ไหมคะ GDP ก็สามารถวัดรายได้ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยที่ไม่สนใจว่า รายได้มาจากคนที่เป็นคนสัญชาติประเทศนี้หรือไม่ใช่ก็ตาม ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง คิทมองว่าจริงๆ แล้วค่าความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้นไม่ใช่เพราะว่าคนมีเงินเยอะขึ้น เป็นเพราะว่าทุกคนมีความสุขมากขึ้น และเมื่อคนมีความสุข เราก็จะสามารถจัดการกับชีวิตได้ หมายความว่า สุขภาพดีขึ้น การก่ออาชญากรรมต่างๆ ลดน้อยลง ประชาชนโดยรวมมีความสุข คิทมองว่านั่นน่าจะเป็นประเทศที่น่าอยู่มากกว่าประเทศที่มีรายได้สูงๆ แต่ว่าค่าความสุขต่ำ
GM : ทัศนะเรื่องความแตกต่างทางด้านเพศของคนยุคนี้ คุณมองอย่างไรบ้าง
ชิชา : คิทมองว่ามันก็เปิดกว้างมากขึ้นจากที่ผ่านมาขึ้นเรื่อยๆ นะ เราให้การยอมรับเพศทางเลือกต่างๆ มากขึ้น เราเห็นเพศทางเลือกก้าวขึ้นไปเป็นคนใหญ่คนโต เป็นผู้อาวุโสในวงการฐานะต่างๆ หลายๆ ครั้งเราได้เห็นเพศทางเลือกเป็นครู เป็นบุคคลที่เมื่อก่อนเรามองว่า เพศทางเลือกอาจจะไม่เหมาะสมกับอาชีพเหล่านี้ด้วยซ้ำ คิทมองว่าในเมื่อเขาพิสูจน์ความสามารถของเขาได้ เขาก็ควรได้รับการยอมรับ ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่โตมาน่าจะไม่ได้มีความรู้สึกถึงว่า เพศมีแค่ 2 เพศ ผู้ชายกับผู้หญิงอีกต่อไป คิทเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่จะเปิดกว้างมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
GM : ถ้าพูดถึงความฝันหรือความมุ่งหวังของคุณ มีอะไรที่อยากทำให้มันสำเร็จบ้างไหม
ชิชา : คิทเหรอคะ คิทมีความฝันอยากจะเป็นผู้กำกับฯ อยากจะทำหนังสักเรื่องที่เราภูมิใจที่จะเล่ามันออกมา ภูมิใจที่จะได้ทำมัน แล้วขณะเดียวกันก็หวังว่า หนังเรื่องนั้นจะสามารถให้อะไรกับคนดูได้ในทางใดทางหนึ่ง
GM : ทราบมาว่าคุณเคยเป็น Script Consult กับเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ ชอบอะไรมากที่สุด
ชิชา : จริงๆ คิทเขียนบท เป็น Consult แล้วก็เป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ คิทชอบทั้ง 3 งาน มีความแตกต่างกัน คิทมองว่าการเขียนบทเอง ก็คือการที่เราสามารถที่จะสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาได้ เราสามารถเป็นพระเจ้าได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เวลาที่เราควบคุมบทอยู่ การเป็น Script Consult มันเป็นการที่เราต้องมองมันอย่างเท่าเทียม ไม่เอนเอียงไปด้วยความรู้สึกของตัวเองว่าเราชอบหรือไม่ชอบ มันมีความเป็นคนตัดสิน เป็นศาล ส่วนงานหน้ากองฯ คิทรู้สึกว่าสนุก มันเป็นงานที่ ถ้าเราทำเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ เราอยู่หน้ากองฯ เราไม่เคยง่วง เราไม่เคยรู้สึกว่าเหนื่อย เพราะว่าเรามีอะไรต้องทำทุกวินาที แล้วขณะเดียวกัน ทั้ง 3 งาน ก็ทำให้คิทได้รู้ว่า ตอนที่มีชื่อขึ้นมาในเพลงช่วง End Credit มันน่าภูมิใจมาก ทั้ง 3 งานทำให้สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ เกิดขึ้นได้จริงๆ
GM : สมมุติว่าให้คุณเขียนบทหนังของตัวเอง คิดว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังแนวไหน แล้วตอนจบมันจะเป็นอย่างไร
ชิชา : คิทเองก็ยังไม่รู้เลยค่ะว่าจะเขียนอะไร (หัวเราะ)
GM : อยากรู้ว่า นิยามความเป็นตัวตนของคุณเป็นแบบไหน
ชิชา : ก็เป็นคิทตี้ค่ะ เพราะคิทมีคนเดียวในโลกค่ะ คิทอาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่ว่าไม่มีใครเป็นคิทได้ดีเท่าที่คิทเป็น
GM : ชอบอะไรในตัวเองที่สุด
ชิชา : ชอบอะไรเหรอคะ ชอบตัวเองมั้งคะ หมายถึงว่าชอบที่ตัวเองสามารถที่จะเป็นตัวเอง แล้วก็รับมันได้ ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีกับตัวเอง ก็พยายามจะยอมรับมัน พยายามจะอยู่กับมันให้ได้ เพราะว่าก็ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ค่ะ
GM : ระหว่างแคมเปญ Don’t tell me how to dress กับแคมเปญ Me Too คุณชอบอันไหนมากกว่ากัน
ชิชา : คิทชอบแคมเปญหนึ่งชื่อว่า I Weigh เป็นของนักแสดงที่ชื่อว่า Jameela Jamil เขาทำแคมเปญนี้เพื่อจะบอกคนว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ คุณจะผ่านเรื่องราวอะไรมา ทุกคนจะมีมูลค่า มีคุณค่ามากกว่าน้ำหนักตัว หรือมากกว่าสิ่งที่คนภายนอกมองเห็นเรา เขาก็ทำแคมเปญโดยที่เห็นว่ามัน Encourage มาก ก็เหมือน Me Too ที่มีผู้หญิงออกมาเพื่อที่จะบอกว่า ฉันเคยโดนอะไรมาบ้าง ฉันคงถึงเวลายอมรับใช่ไหม สำหรับคนที่เจอเรื่องร้ายๆ แล้วขณะเดียวกัน Don’t tell me how to dress ก็เป็นการ Encourage ผู้หญิงแบบกล้าที่จะแต่งตัวโดยที่ แล้วก็เหมือนบอกให้คนอื่นเลิกมาตัดสินเขา แต่คิทมองว่า I Weigh คือการยอมรับตัวเอง คือก่อนที่จะก้าวไปทำแคมเปญอะไรได้ คิทมองว่าการยอมรับตัวเอง รักตัวเอง แล้วก็อยู่กับสิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ ยอมรับมันได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แล้วไม่ว่าคุณจะเคยเจอเรื่องร้ายๆ หรือไม่ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะมี คือการให้เกียรติตัวเอง
GM : ดูเหมือนคุณค่อนข้างที่จะสนใจเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมนุษย์ ความคิดของมนุษย์
ชิชา : คิทว่าทุกคนก็ต้องสนใจมันหรือเปล่าคะ เพราะทุกคนก็เกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกอย่างที่เราคิดเป็นมนุษย์ เป็นการกระทำของมนุษย์หมด