มิตรภาพในแบบที่เราเข้าใจว่าไม่เข้าใจเฉลียง
เจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยม, เกี๊ยง-เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์, แต๋ง-ภูษิต ไล้ทอง, นก-ฉัตรชัย ดุริยประณีต,
จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง และ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค 6 หนุ่มใหญ่ในนาม ‘เฉลียง’ พร้อมใจกันกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้ง หลังจากที่พวกเขาห่างหายกันไปนานถึง 9 ปีแน่นอนว่าการกลับมาคราวนี้ พวกเขาคงจะต้องมีประเด็นอะไรที่พิเศษมากๆ จนทำให้พวกเขาถวิลหาการกลับมาร่วมกันร้องและเล่น เพื่อสื่อสารความคิดไปถึงเหล่าแฟนเพลง
ในกระแสสังคมปัจจุบันถ้าได้ลองย้อนกลับไปฟังเพลงเก่าๆ ของพวกเขา ตั้งแต่ อื่นๆ อีกมากมาย, ต้นชบากับคนตาบอด, เข้าใจ, เอกเขนก, นิทานหิ่งห้อย, นายไข่เจียว เรื่อยไปจนถึงเพลงเร่ขายฝัน ฯลฯถึงแม้
พวกเขาจะปากแข็ง ชอบอำกันเองว่าเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเล่นๆ ไม่มีอะไรจริงจัง แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
พวกมันล้วนถูกแฟนเพลงนำไปตีความกันออกไปมากมาย และหลายคนเชื่อว่าพวกเขากำลังสื่อสารถึงภูมิปัญญาบางอย่าง ที่จะตอบคำถามให้กับยุคสมัยความแตกต่างหลากหลาย ความจริงที่แท้ ความงาม
ตามสายตาของผู้มอง สุขนิยม การงานที่รัก แพสชั่น กำลังใจ และการมีชีวิตที่ดี ฯลฯ ผู้คนในเจเนอเรชั่น
ของเรา เติบโตมาพร้อมกับความคิดที่แอบแฝงไว้ในบทเพลงของพวกเขา จึงนับได้ว่าพวกเขามีอิทธิพล
ไม่น้อยเลยสำหรับสังคมทุกวันนี้
GM ได้นัดพบกับ 6 หนุ่มใหญ่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พวกเขามาพร้อมกับสไตล์ที่เหมือนเดิม
คือเป็นตัวโน้ตอารมณ์ดี คณะดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเนื้อหา ท่วงทำนอง รวมทั้งบุคลิกที่
โดดเด่นบนเวที ตลอด 3 ทศวรรษการเดินทางของวงที่มีเส้นทางไม่เหมือนใคร
เหล่าหนุ่มใหญ่อยู่กันพร้อมหน้า เสียงกีตาร์โปร่ง คละเคล้าอูคูเลเล่ เครื่องเป่า ดังสลับกับการสนทนาถามตอบแบบเฮฮา
พวกเขาอำกันเองไปมา ปล่อยมุกล้อเล่นกัน และพานหยิบจับทุกคำถามของ GM ไปขยำขยี้ให้กลายเป็นคำตอบเฮฮา ตามสไตล์อารมณ์ดี
อย่างไรก็ตาม เรารู้อย่างแน่นอนว่ามันมีสาระบางอย่างแอบแฝงไว้ เปิดให้เราในฐานะผู้ถาม และคุณในฐานะผู้อ่าน ได้นำไปตีความกันต่ออีกเยอะเลย
Good Old Days
GM เริ่มต้นการสนทนาด้วยการพาทุกคนย้อนกลับไปในปี 2543 นึกถึงภาพในคอนเสิร์ต
‘เรื่องราวบนแผ่นไม้’ มีเพลงพิเศษที่บอกเล่าความเป็นเฉลียง เนื้อเพลงบอกเอาไว้ว่า
“เฉลียงดูเอียงๆ เหมือนแอ่นแล้ว แต่ว่าแผ่นไม้ยังแข็งแรงอยู่”
ทุกคนดีใจที่เรายังจำเพลงนั้นได้ พวกเขาปล่อยหัวเราะ
คำโตออกมาพร้อมกัน จากนั้นคำตอบถูกยิงออกมาราวกับกระสุนที่ไม่มีหมด
GM : ตอนนี้ได้ผ่านมาจนปี 2559 สภาพของสมาชิกทุกคนในวงเฉลียงเป็นอย่างไรบ้าง
เจี๊ยบ : ปะๆ กันไปบ้างแล้ว คงปะๆ กันไปนิดหน่อยแล้วล่ะ
แต๋ง : ไอ้คนที่แอ่นๆ ไปแล้ว ตอนนี้ก็คงพังไปแล้ว
เจี๊ยบ : ความหมายจริงๆ ของเพลงนั้น ก็คือเฉลียงเราไม่ใช่แค่ 6 คนนี้ก็ได้ ตัวเพลงของเรายังคงอยู่ ใครจะมาคัฟเวอร์ มาร้องกัน ก็คงไปเปลี่ยนชื่อไม่ได้ ใครจะมาร้องก็ยังเป็นเฉลียงอยู่ ในความหมายของพวกเราในตอนนั้นน่ะนะ ซึ่งพวกเรายังร้องได้อยู่
แต๋ง : จริงเหรอ!!??
จุ้ย : นี่เรายังตอบไม่ตรงคำถามเขาเลยนะ
เกี๊ยง : คืออย่างนี้ครับ จริงๆ แล้ว พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ แต่งให้พวกเราว่า เราเป็นไม้ที่แอ่นแล้ว หมายความว่าพวกเราเป็นไม้ที่เริ่มแก่แล้ว
เจี๊ยบ : โอ้โฮ! ลึกๆ มันก็คงหมายความแบบนั้น เฉลียงก็คือไอ้จิกนั่นแหละ ส่วนพวกเราก็เป็นไม้ที่แอ่นๆ
จุ้ย : เดี๋ยวๆ คือ GM เขาถามว่าพวกเรายังโอเคกันดีอยู่ไหม
ดี้ : ก็พวกผมมันแก่แล้ว ก็เลยมีปัญหาเรื่องสุขภาพอะไรต่างๆ ก็ตามนั้น แต่ว่าพวกเรายังอยู่ทนนะ คือยังไม่ตาย
เปิดฉากการสนทนาด้วยการแย่งกันตอบไปมาแบบนี้ ทำเอา GM ไปต่อไม่ถูกเลย โชคยังดีที่ได้วีรบุรุษสุดหล่อของวงมาช่วยดึงกลับมาเข้าประเด็น
เกี๊ยง : มันอย่างนี้นะ เฉลียงยังอยู่ เฉลียงยังอยู่ ยังแอ่นอยู่ (หัวเราะ)
ดี้ : คือเสื่อมไปตามสภาพ แต่ยังไม่ตาย
เจี๊ยบ : ยังร้องได้อยู่นะ ผมยังร้องเพลงไม่ต้องลดคีย์
ดี้ : นี่ก็ลดคีย์อยู่นี่
เจี๊ยบ : มีบ้าง (ทำเสียงต่ำๆ)
นก : ไม่ลดแล้ว นี่แต่งดนตรีไม่ให้ลดคีย์ แล้วก็ร้องไม่ได้
ดี้ : ตกลงว่าพวกมึงจะคุยกันเอง หรือให้ GM เขาถาม (หัวเราะ)
Searching for Meaning
จากกันไปนาน 9 ปี เมื่อ 6 หนุ่มใหญ่กลับมานั่งล้อมวงกัน การสนทนาก็เลยลื่นไหลไปในทางเถลไถลเสียมากกว่าจะจริงจัง GM พยายามดึงพวกเขากลับมา เพื่อจะสอบถามกันให้แน่ใจว่า
บทเพลงของพวกเขานั้นต้องการสื่อสารอะไร และทำไมแฟนเพลงจึงหลงรัก ติดตามพวกเขามาอย่างยาวนาน
GM : เฉลียงเป็นคณะดนตรีที่เดินทางมายาวนาน มีแฟนเพลงถามหาอยู่เสมอตั้งแต่ไหน
แต่ไร หากมองกลับไปแล้ว อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เป็นอมตะแบบนี้
เกี๊ยง : ไม่เลย ไม่จริงเลยครับ จริงๆ แล้วเฉลียงเป็นวงที่มีแฟนเพลงกลุ่มเล็กๆ ไม่กว้างเลยนะ เพียงแต่ว่ากลุ่มนั้นเขารักเราจริง เขาก็เลยตาม ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่กว้างเลย ไปถามคนอื่นนอกจากกลุ่มนี้ออกไป เขาก็ไม่อยากดูเฉลียงหรอก
แต๋ง : ใช่ๆ เขาไม่อยากดู เพราะว่าเขาไม่รู้จักเรา
เจี๊ยบ : รักเฉลียงน้อยๆ แต่รักนานๆ
GM : แล้วอะไรคือจุดแข็งที่ทำให้แฟนเพลงกลุ่มนี้มีความเหนียวแน่นล่ะ
แต๋ง : อืมม์…เป็นคำถามที่ดี (นิ่งคิดไม่ตอบอะไร ส่ายหัว)
จุ้ย : ผมว่าคุณน่าจะลองไปถามน้าทิวา (ทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสารสีสัน)
แต๋ง : ผมว่าความเป็นเฉลียง มันมีอยู่สองอย่าง คือวงเฉลียงกับเพลงเฉลียง ถ้าเพลงเนี่ย ส่วนใหญ่เป็นของคุณประภาส ชลศรานนท์เขาแต่งไว้ ส่วนวงเฉลียงเนี่ย เราก็มีกัน 6 คนที่นั่งกันอยู่นี่ และมีพี่เล็ก-สมชาย ศักดิกุล อีกคนที่เคยเป็นนักร้องวงเฉลียงเพราะฉะนั้น คนที่ชอบเราก็คงจะชอบสองอย่างนี้ บางคนที่เขาชอบแต่เพลง เขาก็ไม่สนใจหรอกว่าพวกเราจะมีหรือไม่มี แต่ว่าคนที่ชอบวงเฉลียงเนี่ย ก็คงต้องรอให้นานๆ ทีถึงจะได้รวมตัวกันสักทีหนึ่ง พอรวมกันครั้งใด คนก็จะรู้สึกว่าตื่นเต้นเพราะว่าไม่ได้ดูนาน อย่างครั้งล่าสุด ก็ประมาณเกือบสิบปีแล้วใช่ไหม ตั้งแต่ที่เราแยกกันเมื่อประมาณปี 2535 มาถึงปี 2559 เรากลับมารวมกันแค่ 4 ครั้งเอง ความคิดถึงของคนที่ชอบวงก็เลยอาจจะรู้สึกว่า แหม! นานๆ จะได้รวมตัวกันสักทีหนึ่ง ก็กระตือรือร้น หรือว่าแสดงความยินดีที่ได้เจอกันเท่านั้นเอง แต่คนอื่นๆ นอกนั้นที่เขาไม่รู้จัก ก็ไม่รู้จักเลย
ดี้ : มีทั้งคนที่แย่งกันซื้อบัตรจะเป็นจะตาย กับมีคนที่เอาไปให้เขาฟรีๆ เขาไม่เอา ก็มี
เกี๊ยง : แล้ว GM ได้ตั๋วเราไว้หรือยัง (GM เราซื้อไว้แล้ว 2 ใบ) ไว้เราอัพเกรดให้แบบตั๋วเครื่องบินเลยจากบิสเนสคลาสไปเป็นเฟิร์สคลาส
GM : สิ่งหนึ่งที่เป็นลายเซ็นของเพลงเฉลียง คือการเล่าเรื่องในเนื้อเพลงที่เน้นสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ อะไรที่ทำให้พวกคุณจับประเด็นนี้มาตลอด
ดี้ : ถ้าจะให้เท้าความ มันก็เป็นการละเล่นของเด็กๆ อย่างเรา สมัยเป็นเด็กนักศึกษา เป็นนิสิตปีหนึ่งปีสอง เราก็นั่งเล่นกีตาร์กัน ร้องเพลงกัน แต่งเพลงกันแบบไม่มีกรอบ ไม่มีประเด็น จนได้กลายมาเป็นเนื้อร้องว่ากล้วยข่งกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก คุณต้องรู้ว่าเมื่อก่อนโน้น มันก็ไม่ได้มีสงครามพันครั้งอะไรแบบนั้นหรอก เรายังร้องกันแบบพวกขี้เมา เหมือนร้องเพลงเชียร์ เหมือนกับคนที่แต่งเพลง ฝนตกหยิมๆ ยายฉิมเก็บเห็ด ตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดอะไรยิ่งใหญ่ เพียงแต่เราได้คนฟังที่เก็บเอาไปตีความ คนฟังช่วยเราตีความออกมา
แต๋ง : คิดบ้างเปล่า (หันไปแซวเจี๊ยบที่นั่งเล่นกีตาร์อยู่ข้างๆ)
เจี๊ยบ : ไม่มี ไม่มี ไม่คิด ผมนี่รอร้องอย่างเดียวเลย (หัวเราะ)
ดี้ : ผมเองเป็นคนเล่นกีตาร์ จิกก็เล่นบ้าง และเป็นคนแต่งเพลง ตั้งแต่สมัยนั้น พอแต่งเสร็จ เราก็เอามาอวดเพื่อน เอามาทดลองร้องเล่นกัน เราพยายามพูดถึงเรื่องง่ายๆ เล่าง่ายๆ กล้วยน้ำว้าเวลาสุกงอม
ลัลลัลลา ลัลลัลลัลลา เป็นเพลงที่เราเอามาร้องเฮฮากันอย่างเดียว พอแต่งเอาไว้เยอะเข้าๆ
ก็เลยพบว่ามันมีหลายเพลงที่ประมาณว่า เออๆ เข้าท่าดีเว้ย เราค่อยๆ เอามาปรับใหม่ให้มันดูดีขึ้น
แต๋ง : เออ…งั้นผมขอถามบ้างนะ ผมอยากรู้ว่าแล้วไอ้เพลง ‘เข้าใจ’ ที่ดี้แต่งสมัยนั้นน่ะดี้ได้คิดอะไรบ้างไหม
ดี้ : เพลง ‘เข้าใจ’ ผมแต่งเพราะเป็นเรื่องของเพื่อนคนหนึ่ง คือคนอย่างผมเนี่ย ถ้าไม่มีคนบอกให้ทำอะไร ผมก็จะไม่ทำอะไรเลย ที่เป็นนักแต่งเพลงมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะว่ามีพวกเพื่อนๆ ยุ ปกติผมก็แค่เล่นกีตาร์แล้วร้องเพลงฝรั่งให้พวกมันนี่แหละฟังกัน (ชี้ไปที่เพื่อนๆ สมาชิก ภาพวันคืนเก่าๆ ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ อบอวลขึ้นมาทันที)
พอวันหนึ่ง พวกมันก็ยุให้แต่งเพลงนี้ เป็นเพลงที่แต่งให้เพื่อน เพราะว่าเพื่อนคนหนึ่งมีเคสแบบนี้เลย ก็ไม่ได้คิดว่าจะเอามาเป็นเพลงเฉลียง แค่แต่งไปอย่างนั้นเอง แล้วก็ร้องออกมา คือในตอนนั้น ทุกอย่างเกิดจากความที่ว่าไม่ได้คิดอะไรเลยจริงๆ
แต๋ง : แล้วพอต่อมาถึงยุคที่สองที่เริ่มมีจุ้ยเข้ามา จุ้ยเนี่ยเป็นคนทำให้เพลงเฉลียงเพราะขึ้น โดยเฉพาะเพลงเที่ยวละไม
GM : พอมีพี่จุ้ยเข้ามา ก็ถือเป็นยุคที่วงเฉลียงเน้นขายหน้าตา ได้รับการขนานนามว่าเป็นบอยแบนด์ยุคบุกเบิกของเมืองไทยใช่ไหม
เกี๊ยง : (หัวเราะ) นั่นเป็นเรื่องที่เราพูดแซวกันเองมากกว่า
แต๋ง : ตายแล้ว ตายแล้ว จุ้ยช่วยตอบหน่อย
จุ้ย : เฉลียงมันมีคอนเซ็ปต์ ถ้าจะตอบให้ตรงประเด็น ก็คือว่าเพลงที่เราแต่งๆ กันน่ะ มันมีมากกว่านี้เยอะแยะเลย แต่ว่าเมื่อวงเรามีคอนเซ็ปต์ เราก็เลยเลือกเพลงที่อยู่ในคอนเซ็ปต์ ส่งผลให้เราเป็นที่จดจำ มีบุคลิกเฉพาะตัว แต่ไม่ได้แปลว่าเพลงที่แต่งจะมีเรื่องเดียว มีหมด ทั้งตลกมาก ตลกน้อย ตลกไร้สาระ ตลกมีสาระ ไม่ตลกเลย ซึ้งไม่แปลก ซึ้งแปลกๆ คือเราขีดคอนเซ็ปต์ของวงเป็นแบบนี้
เพลงที่อยู่ในคอนเซ็ปต์เท่านั้น ที่จะผ่านเข้ารอบมาอยู่ในอัลบั้มได้ ผมเองก็จะแต่งเพลงให้คนอื่นร้อง เพลงอาจจะประสบความสำเร็จ มีคนฟังชอบมาก หรือพี่ดี้จะแต่งเพลงให้มาช่าร้องจนโด่งดัง แต่ถ้าจะมาอยู่ในนามเฉลียง เราก็จะไม่เอาแบบนั้นทั้งหมดมาใส่ เพราะฉะนั้น เราก็เลยมีแนวทางอยู่ตั้งแต่แรก
ดี้ : คือเฉลียงเราประสบความสำเร็จมาก ในการที่ทำให้ยอดขายไม่สูงน่ะ (หัวเราะ) เพราะว่าเราไม่ได้ตั้งใจไงล่ะ เพราะว่าเราไม่มีใครตั้งใจที่จะมาปั้นวง เฮ้ย! เรามาเป็นดารากัน เรามาเป็นนักร้องกัน แบบนั้นไม่มี
เจี๊ยบ : คือที่ผ่านมา ทำเพลงรักแล้วก็สู้เขาไม่ได้ ว่าง่ายๆ คือถ้าจะให้ไปทางเพลงรัก แบบให้วัยรุ่นฟังแล้วน้ำหูน้ำตาเรี่ยราดมันไม่ใช่ เราก็เลยเขียนเพลงแบบให้มันเป็นเรื่องปกติ พูดเรื่องความรักที่ดูเป็นเรื่องธรรมดา คนรักกันเดี๋ยวก็มีทะเลาะกันบ้าง เดี๋ยวก็มีงอนมีอะไรเป็นเรื่องธรรมดามากกว่า
แต๋ง : อยากขอความเห็นจากเฉลียงคนสุดท้ายด้วยนะ ว่าเขาคิดอย่างไร (พูดจบก็ผายมือไปทาง นก-ฉัตรชัย ดุริยประณีต)
ดี้ : เฮ้ย! เดี๋ยวๆ กูชอบแบบนี้มากเลย มีคนมาถาม แล้วมีพิธีกรช่วยเสริมด้วย (หัวเราะ)
GM : ผลงานเพลงที่เกิดจากการที่พวกคุณบอกว่าไม่ได้คิดอะไรเลย แต่กลับถูกคนฟังนำไปตีความกลายเป็นความคิดอะไรมากมาย คุณทำได้อย่างไร
แต๋ง : ไม่ว่าจะเป็นเพลงของเฉลียง เพลงของคาราบาว หรือเพลงของใครก็ตาม บางทีมันไปตรงใจกับคนฟัง
บางคน เพลงนั้นอาจจะทำให้เขามีความรู้สึกเป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่เขาจะไปต่อยอดในชีวิต
ผมคิดว่าเพลงเฉลียงก็เป็นกลุ่มหนึ่ง เป็นนักดนตรีกลุ่มหนึ่งที่มีเพลงมาให้ผู้ฟัง ฟังแล้วมีผู้ฟังหลายคน
เอาไปเกิดการต่อยอด บางคนบอกเปลี่ยนชีวิตเลย บางคนบอกว่าเขามีกำลังใจที่จะสู้กับชีวิตเพราะว่าเพลงเพลงนี้ ผมว่าในฐานะคนที่สื่อเรื่องเพลงไปสู่ผู้คนนะ ก็ยินดีอยู่แล้วที่ทุกคนเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีขึ้นจากสิ่งที่พวกเราร้องเพลง
GM : ยกตัวอย่าง ‘นายไข่เจียว’ มันให้คำตอบกับสังคมที่มองหาความสำเร็จ คนอย่างนายไข่เจียว ที่ฝึกฝนเพียงอย่างเดียว ทำอะไรให้มันดีจะยังอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อได้ไหมครับ
ดี้ : มันมีบางสิ่งที่เป็นสัจธรรม ลบล้างไม่ได้ อย่างเรื่องการที่จะทำอะไรต้องแน่วแน่ ต้องจริงจังกับมัน แต่ถามว่าจำเป็นต้องอย่างเดียวไหม ไม่จำเป็นต้องอย่างเดียว แต่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ให้มันชัดไป เพราะว่าถ้าคุณไม่เก่งอะไรสักอย่าง มันเจ๊งแหงๆ อยู่แล้ว แต่เก่งอย่างเดียว เก่งสองอย่าง เก่งสามอย่างก็ได้ ยิ่งสมัยนี้เก่งได้หลายๆ อย่างก็โอเค ถือเป็นโอกาส แต่ว่าประเด็นสำคัญคือ เฮ้ย! เอาจริงดิ เอาจริงกับมัน มันก็ได้ไปอย่างนั้น เพียงแต่ว่าพูดภาษา พี่จิกเขาก็พูดภาษาให้มันเป็นเรื่องเป็นราวอะไรที่จับต้องง่าย
จุ้ย : แต่จริงๆ แล้ว มันก็เป็นแค่ในเพลงนะ คุณเคยเห็นนายไข่เจียวตัวจริงๆ ที่ประสบความสำเร็จจริงๆ หรือเปล่า
นก : อืมม์…ในความสำเร็จ มันอาจจะต้องมีอย่างอื่นด้วยนะ
ดี้ : อ้าว! จุ้ยดันมาหักมุมตอนท้าย
จุ้ย : ก็คงมีนายไข่เจียวที่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จใหญ่โต เอาแค่พอไปได้ ที่มันสวยงาม ก็เพราะว่ามันเป็นเพลงไง
ดี้ : ไม่นะ ถ้านายไข่เจียวทำจริงๆ มีการตลาดที่จริงจัง ใส่ความคิดสร้างสรรค์ อะไรมันก็เกิดขึ้นนะ
จุ้ย : ก็นั่นไง นายไข่เจียวมันก็เลยต้องเก่งเรื่องการตลาด เรื่องแพ็กเกจจิ้งด้วย อย่างที่บอกคุณฟังเพลง คุณก็เคลิ้มไปตามเพลง อย่างนั้นแหละ
ดี้ : เอ้อ…ยอมๆ
จุ้ย : ผมถึงบอก ถ้าคุณชอบอะไร คุณเชื่ออะไร มันก็ถูกส่วนหนึ่งของคุณ แต่ว่ามันไม่ได้ถูกทั้งหมด สังคมมันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว คุณก็ต้องเรียนรู้ ศึกษาเพิ่มเติม ไปอบรมอะไรเพิ่มเติม มีความรู้อย่าง Entrepreneur อะไรก็ว่ากันไป
ดี้ : เดี๋ยวๆ มันคืออะไรนะ
จุ้ย : อะไรนะ อันเตอร์เออ เออ มันคืออะไรนะ (หัวเราะ)
เกี๊ยง : ออง–เตอ–เพอ-เนอ Entrepreneur เจ้าของกิจการไง
นก : แต่ละคำถามที่ถามมาเนี่ย ยากนะ คนที่ตอบดีที่สุดคือพี่จิก-ประภาส
จุ้ย : ไม่นะ เขาถามมาดีแล้ว แต่พวกเราดันตอบไม่ได้เอง (ตัดบทครั้งนี้เรียกเสียงหัวเราะครืนได้อีกระลอก)
นก : ก็ตอบไม่ได้อ่ะ ยากไป ยากไป
Timeless Friendship
ถ้าจะแซวว่าพวกเขาแก่แล้ว พวกเขาก็จะอารมณ์ดี ไม่ถือโกรธ แถมยังจะอำตัวเองเพิ่มเติมให้เราด้วยซ้ำ อายุอานามที่มากขึ้นของหนุ่มทั้ง 6 และตำนานของวง ทำให้พวกเขาเห็นการเปลี่ยนผ่าน
ของแต่ละยุคสมัย เห็นสิ่งที่เปลี่ยนไป และเห็นสิ่งที่ยังอยู่คงเดิม
บรรยากาศบ้านเมืองและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่มีบางเพลงของพวกเขา
ได้แสดงให้เห็นถึงบางสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
GM : มาถึงปี 2559 คุณว่าเฉลียงยังสอดคล้องกับยุคสมัยของคนเจนวาย ยุคดิจิทัล ยุคสตาร์ทอัพ อะไรพวกนี้อีกไหม
จุ้ย : ถ้าภาษาพระเขาเรียก อกาลิโก (พร้อมยิ้มกริ่ม)
ดี้ : เอาอีกแล้ว จุ้ยมีความรู้อีกแล้ว เมื่อกี้ Entrepreneur นี่อกาลิโกอีกละ
จุ้ย : คือบางเรื่อง บางประเด็น มันไม่มีกาลเวลาไง คุณรักแม่ คุณรักลูก ประเด็นแบบนี้ คุณแต่งเพลงในสมัยไหนก็ได้ เรื่องแอบรักเพื่อนก็อีกอย่าง อีก 150 ปี คุณก็ยังต้องแอบรักเพื่อน เข้าใจไหม ไม่รักแต่คิดถึง มันก็
เป็นได้ เพียงแต่ว่าในเพลงก็อย่าไปบอกว่าให้เธอส่งเพจเจอร์หาฉัน หรือเธอไม่ต้องนวลอย่างดวงจันทร์ เพราะว่าต่อไปอีก 300 ปี มันก็ยังมีพระจันทร์อยู่ตรงนั้นมันอยู่ที่ว่าตอนเราฝังเนื้อหาเข้าไปในเพลง เราลงในรายละเอียดมากแค่ไหน ถ้าเราไม่ได้ฝังแฟชั่นไว้ในคำ ในภาษา ไปย้อนฟังดูสิ มันไม่ได้มีแบบว่ากดไลค์เธอ อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้อยู่แล้วไง มันเป็นภาษากลางๆ แล้วเพลงที่ทำใหม่มามีอะไรพวกนี้หรือเปล่า นี่ก็แต่งมาใหม่อีกสองสามเพลงนะ (หันไปถามแต๋ง)
แต๋ง : อะไร แต่งไม่เป็น
จุ้ย : ก็เพลงที่มี ปลาทูในตู้เย็น น่ะ
แต๋ง : ปลาทูในตู้เย็น นี่ก็อกาลิโกนะ (หัวเราะ)
GM : ในโชว์ของเฉลียงทุกครั้ง ไฮไลท์อย่างหนึ่งที่แฟนๆ รอดู คือช่วงเพลง ‘นิทานหิ่งห้อย’ ที่มักจะมีการพูดเสียดสีสังคมและการเมือง ปีนี้ยังเต็มที่ไหม
แต๋ง : ถ้ากล้าก็เอาสิ
เจี๊ยบ : ทำได้นะ มันเป็นเรื่องปกติ
จุ้ย : มันเป็นอกาลิโก
เจี๊ยบ : ไม่มีกาลเวลาอยู่แล้วละ ไอ้เรื่องการประชดคนเนี่ย (หัวเราะ) ความดี ความเลว เวลาเราด่า เราก็เลือกด่าความเลว เรามีพวกเยอะอยู่แล้วละ เพราะว่าคนเลวที่ซื้อบัตรมานั่งดูเราคงมีน้อยกว่า เราก็ด่าความเลวได้ไง
ดี้ : เรื่องประชดเสียดสี มันก็เป็นการแสดงความเห็นรูปแบบหนึ่ง ทุกๆ คน ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ก็ควรจะมีความเห็นอะไรกับสังคมได้ทั้งนั้น
แต๋ง : คุณรอดูนะ ช่วงเพลง ‘นิทานหิ่งห้อย’ จะอยู่บนเวทีแค่ 4 คน
นก : ทำไมอ่ะ พี่กลัวเหรอ? (เขาทำหน้าสงสัย)
แต๋ง : เปล่าๆ ก็เขาห้ามชุมนุมเกิน 5 คนไง
GM : คุณคิดว่าบรรยากาศในบ้านเมืองเราตอนนี้เคร่งเครียดเกินไปไหม อารมณ์ขันของเราเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน
เจี๊ยบ : ช่างมัน อารมณ์ขันนี่เป็นเรื่องส่วนบุคคลเลย ใครจะขำก็ขำ แต่ถ้าใครไม่ขำ ไปคิดอย่างอื่น ก็ถือเป็นเรื่องของเขา มีสิทธิ์คิดต่างกันทุกเรื่องแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าเราขำของเรา ก็ฉันขำของฉันคนเดียวอย่างนี้ เมื่อก่อนผมเคยโดนพวกนี้มันอำ เราไปออกรายการทีวีของ JSL มันเตี๊ยมกันว่าเวลาพี่เจี๊ยบพูดอะไรห้ามขำนะ ให้เงียบๆ แล้วเวลาเกี๊ยงพูดอะไรให้เฮฮาตลอด ผมไม่รู้ตัวเลย ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังถูกแกล้ง คือมันเคยชินมาก การเป็นพิธีกรต้องรับอะไรแบบนี้ให้ได้แบบนี้
พูดอะไรไป แล้วเฮ้ย! เงียบเว้ย… เฮ้ย! เงียบเว้ย ไม่ใช่แบบว่า โอ๊ย!เราต้องไปร้องไห้อยู่หลังเวที อะไรแบบนี้ไม่เคย
ดี้ : ทุกวันนี้เรามีไอ้เนี่ย (ยกสมาร์ทโฟนขึ้นมา) เรามีสังคมออนไลน์ สังคมแทนที่ชนิดใหม่ มันเปิดโลกให้เห็นอะไรเยอะมาก มีทั้งที่ไม่ขำ แล้วก็มีทั้งที่ขำเยอะมาก รวมถึงสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะขำได้ ไม่เคยคิดว่าจะมีให้เห็น ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น สิ่งที่ชั่วช้าสามานย์ ไม่คิดว่าชั่วชีวิตนี้จะเคยได้เห็นก็มาได้เห็นกัน มันออกมาไม่มีลิมิต
เพราะฉะนั้น ถามว่าขำไหม เรามีเรื่องให้ขำตลอด ยิ่งตอนนี้ ผมคิดว่าคนไทยกำลังอยากขำด้วยนะ อารมณ์ขันไม่ได้เปลี่ยนไปหรอก เพียงแต่เราได้เห็นมากขึ้น มุกชั่วๆ อะไรนี่มันก็มีมาตลอดกาลสมัยอยู่แล้ว เซ็กซ์สัปดนก็ไปดูที่อินเดีย รูปแกะสลักกามสูตร นั่นมันสี่พันปีมาแล้ว ท่านี่ยากกว่าสมัยนี้อีก
นก : ขอภาพตัวอย่างด้วยครับพี่ดี้ (หัวเราะ)
ดี้ : ท่ายากมากเลย มีตีลังกาด้วย มีล่อม้าด้วยนะ พวกทหารที่ไปรบอ่ะ ไม่มีผู้หญิงไง งั้นเอาม้าก็ได้วะ
นก : พอแล้วพี่ ติดเรทแล้ว
เจี๊ยบ : แล้วทำไมมึงไม่ขี่ม้ากลับเข้าเมืองวะ ในเมืองก็มีสาวๆ
ดี้ : เออ…เนอะ ก็เขาต้องรบอยู่ไง มันไกลมาก กลับไปไม่ทัน
เจี๊ยบ : มันไม่ใช่ว่าพอมีสมาร์ทโฟนแล้วทำให้เราเห็นอะไรเยอะขึ้นนะส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องที่เราเคยเห็นมาแล้วทั้งนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ พวกที่พาดหัวว่า ‘เปิดคลิปนี้ดูรับรองเงิบ’ พอเปิดไปดู อะไรวะ เงิบตรงไหน กูไม่เห็นเงิบเลย ก็เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วทั้งนั้น อะไรอย่างนี้
แต๋ง : เส้นลึกไปเปล่า เจี๊ยบ เส้นลึกไปเปล่า
นก : มันคงเป็นเรื่องของวัยแล้วละพี่
เจี๊ยบ : อือ…ก็สงสัย พวกเด็กรุ่นใหม่เปิดเข้าไปดู เขาบอกโอ้โฮ! สุดยอด เงิบเลย ภาพตัดกลับมาที่เรา เงิบไรวะ เงิบพ่อมึงสิ อ้าว! ก็กูนี่เอง รุ่นพ่อพวกมึงได้แล้ว
GM : พวกคุณมองเด็กรุ่นใหม่ยังไง
แต๋ง : ธรรมดา เรื่องปกติ
เจี๊ยบ : เราก็ชอบพูดว่าอะไรนะ เด็กสมัยนี้ เด็กสมัยนี้ เราเคยพูดกันมาทุกคน พูดกันมาทุกรุ่น ทุกสมัย
แต๋ง : อธิบายอย่างนี้ดีกว่า อย่างมุกตลกของวงเฉลียง คนรุ่นพ่อของผมก็ไม่ขำนะ ตอนที่เฉลียงเล่นๆ ขำกัน คนดูหัวเราะกันใหญ่ พ่อผมดูแล้วงง
มันขำตรงไหนวะ ก็เรื่องปกติธรรมดา เวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สิ่งที่มันเปลี่ยนไปแล้ว คนในแต่ละยุค ก็เสพอะไรที่แตกต่างกัน
เจี๊ยบ : แล้วที่เราจะเล่นคอนเสิร์ตกันคราวนี้เนี่ย คนเขาจะชอบกันเปล่าวะ (หัวเราะ)
GM : เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน แบบนี้ต้องซ้อม ต้องเตรียมตัว เตรียมมุกกันอย่างหนักเลยสิครับ
เกี๊ยง : ก็อยากซ้อมนะ แต่ว่ายังไม่ได้ซ้อมเลย (หัวเราะ) อย่างผมเองตอนอยู่ที่บ้าน ก็ซ้อมไปเองก่อน เพื่อที่จะให้มันคุ้นมือ เพราะว่าเราหยุดมานานมาก ไม่เคยมือ เหมือนเล่นกีฬาไม่ได้เล่นนานๆ
นก : ผมลืมคอร์ดว่ะ
เกี๊ยง : ใช่ๆ ลืม
ดี้ : แต่ผมไม่เคยลืมคอร์ดเลยนะ แต่ดันลืมเนื้อ คอร์ดนี่จำได้หมด แค่ตอนกลับมาซ้อมกีตาร์ ก็จะเจ็บนิ้วหน่อยเท่านั้น
GM : ถามในมุมกลับ วงเฉลียงเองอยากตีตั๋วเข้าไปดูคอนเสิร์ตของเฉลียงบ้างไหม
เกี๊ยง : อยาก ผมอยากดู (ตอบทันที)
จุ้ย : ยกมือทันทีราวกับเด็กนักเรียนที่ส่งสัญญาณบอก ‘คุณครูสารภี’ ว่าเขามีคำตอบ
ดี้ : (ส่ายหน้า)
เกี๊ยง : อ้าว! พี่ไม่อยากดูเหรอครับ
ดี้ : ไม่อยากดู (ทำหน้าเรียบเฉย ยืนยันคำเดิม)
จุ้ย : แต่ผมอยากดู
เกี๊ยง : พี่จุ้ยชอบเฉลียงใช่ไหม
จุ้ย : ชอบเลยละ แบบนี้
เจี๊ยบ : ผมก็จะไปดู (วางกีตาร์ลงบนตัก ทำสีหน้าจริงจัง)
ดี้ : เออๆ โอเค กูดูด้วยก็ได้ (หัวเราะ)
GM : เดี๋ยวนะ ทำไมพี่ดี้ถึงไม่อยากดูคอนเสิร์ตวงเฉลียง
พอสิ้นคำถาม ในห้องเงียบกริบ ทุกคนรอฟังคำตอบจากหัวหน้าวง นิติพงษ์ ห่อนาค
ดี้ : คือผมเป็นคนขี้เกียจนั่งดูอะไรนานๆ ขี้เกียจ คอนเสิร์ตพี่เบิร์ด เขาให้ตั๋วมา เรายังขี้เกียจไปเลย อีกอย่างหนึ่ง คือกูก็รู้จักพวกมึง กูรู้จักมึงมากแล้ว ก็เลยไม่ได้อยากดู (เขาหันไปมองเพื่อนร่วมวงแต่ละคน)
บอกตรงๆ ผมไม่ได้เป็นแฟนเพลงวงเฉลียงนะ ผมไม่ค่อยฟังเพลงใหม่ๆ เท่าไรด้วย ฟังแต่เฉพาะเพลงเก่าตั้งแต่รุ่นที่ผมเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น คือเพลงฝรั่งยุค ’70s อะไรพวกนี้ แม้กระทั่งเพลงอื่นๆ ที่ตัวเองแต่ง จะมานั่งเสียบหูฟังอะไรแบบนี้ ก็ไม่ค่อยนะ แทบจะไม่เคยเลย เพลงเฉลียงจะเอากลับมาฟังเยอะๆ ก็ตอนจะมาเล่นคอนเสิร์ตนี่แหละ เพราะว่าต้องแกะ ต้องร้อง มันถึงจำเนื้อไม่ค่อยได้ไง ไม่เฉพาะวงเฉลียงเราเองหรอก
แต๋ง : พี่พูดดีๆ นะ พูดดีๆ (ชี้มาที่เครื่องอัดเสียง)
ดี้ : ก็นี่ไง ก็เพราะรู้จักกันดีอยู่แล้ว เลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ไม่ได้เป็นแฟน แต่ถ้าอย่าง พอล แม็กคาร์ตนีย์ มา กูจะไปดูนะ
เกี๊ยง : ถ้า ดิ อีเกิลส์ มา?
ดี้ : ดิ อีเกิลส์ เออ…ดู เพราะเราเป็นแฟนเขาไง
นก : ผมอยากดู ตลกดี ผมมักจะรู้สึกแบบนี้นะ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดู ที่ได้ดูเฉลียงแบบใกล้ที่สุดเลย เพราะได้ขึ้นไปบนเวที ไปยืนข้างๆ กัน ไม่รู้เพราะอะไร มันอธิบายยาก แต่ว่าพวกพี่ๆ สนุก ผมขำ
เกี๊ยง : รู้สึกคล้ายๆ กัน เวลาอยู่บนเวที ผมก็หัวเราะจนแบบไม่รู้จะอย่างไรแล้ว คิดว่าถ้ายิ่งเราได้ไปนั่งดูสบายๆ คงจะยิ่งมีความสุขมาก คือตัวเองไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรอยู่บนเวที ไปนั่งดูอยู่เฉยๆ เหมือนเวลาเอาวิดีโอกลับมาเปิดดู ก็ขำมาก
ดี้ : ขำว่า?
แต๋ง : ขำว่านี่กูทำไปได้ไง
จุ้ย : อย่างแรกคือความรับผิดชอบไง เป็นคนดูจะสบายกว่า อยากดูขอดูอย่างเดียวได้ไหม อยากนั่งอยู่ข้างล่างเป็นผู้ชมแถวหน้าสุด ถ้าสวมบท
คนดู เรามีสิทธิเต็มที่ ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ถ้าชอบก็นั่งไปยาวๆ ปรบมือ ขำ ประทับใจ แต่ถ้าไม่ชอบ ถ้าเบื่อๆ ก็เดินไปเข้าห้องน้ำ ใครจะมาว่าอะไรเรา แต่ถ้าเราเป็นคนอยู่บนเวที ถ้าจะไปเข้าห้องน้ำ มันไม่ได้นะ จะทิ้งเวทีไปได้ยังไง
ดี้ : คราวนี้ได้นะ คนดูคงเข้าใจ เราแก่แล้ว
เจี๊ยบ : ก็ต่อมลูกหมากแย่แล้ว เดี๋ยวจะระเบิด
จุ้ย : อย่างช่วง ‘นิทานหิ่งห้อย’ ก็ไม่ได้ชอบนะ บางอย่างมันไม่ถูกจริตกันกับตัวเราเอง แต่เราต้องร่วมกันทำงานเป็นทีม เราต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ร่วม เหมือนการเล่นฟุตบอล จะเลี้ยงอยู่คนเดียว จะเข้าไปจัดการตามที่ตัวเองต้องการทั้งหมดไม่ได้หรอก ต้องดูว่าทีมตกลงกันแล้วจะเล่นสไตล์ไหน ใครทำหน้าที่อะไรบ้าง เราก็เล่นตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่สไตล์ที่ชอบ แต่ต้องเล่น เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของทีม ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด
Grow OldTogether
มิตรภาพไม่ว่าจะแน่นแฟ้นยาวนานแค่ไหน ก็ต้องถึงวันแยกย้ายจากลา
อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะพวกเขายังรักกัน ทุกคนจึงยอมกลับมาร่วมงานกันนานๆ ครั้ง เฉลียงทั้ง 6 คน แสดงให้เห็นว่าการเติบโตขึ้น คือการที่แต่ละคนก็ต้องการเส้นทางและพื้นที่ในการเติบโต
ของตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงกลับมาแบ่งปันความสุขและทุกข์ด้วยกันสักครั้ง
GM : การมารวมวงกันแบบนี้ แต่ละคนก็ต้องลดทอนตัวเองลงไปบ้างใช่ไหม
จุ้ย : มันไม่ได้เป็นตัวเราทั้งหมด และเป็นตัวเราเองทั้งหมดก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงบางส่วนของในตัวตนของเรา เรียกได้เต็มที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ว่าเราอยากให้วงนี้เป็นอย่างไร เวลารวมกันเป็นวงแล้ว มันไม่มีการเปลี่ยนตัว ไม่มีการออกมาพัก ไม่มีตัวสำรองมาลงเล่นแทน ซึ่งจริงๆ ผมอยากให้เป็นอย่างนั้นนะ ลองนึกภาพสิ มีโค้ชวงเฉลียงอยู่คนหนึ่ง แล้วคอยแก้เกม เอ้า! ไอ้นก มึงออกมา ส่งไอ้เกี๊ยงลงไป ทำแบบทีมวอลเลย์บอลไทยไง
GM : บางครั้ง ในความสัมพันธ์ก็ต้องมีพักครึ่ง มีตัวสำรองบ้างเนอะ
จุ้ย : ใช่เลย ออกมาพักก่อน แล้วค่อยกลับลงไปใหม่ คราวนี้จะตบอย่างเดียวเลย สะใจ อะไรอย่างนี้
แต๋ง : คือพวกเราไม่ใช่นักดนตรีอาชีพที่เล่นด้วยกันทุกวัน จะว่าไป มันก็ตั้งแต่แรกแล้วที่เรามารวมกัน 5-6 คน มันเป็นการเฉพาะกิจขึ้นมา
ดี้ : พวกเราเป็นมืออาชีพนะ…แต่เป็นอาชีพอื่น (หัวเราะ)
แต๋ง : เออ…ถูก แล้วอีกอย่างที่สำคัญ ผมคิดว่าความคาดหวังของคนฟังเพลงในยุคนี้มีมากขึ้น หมายความว่ายังไง คือเมื่อตอนที่เราออกเพลงกัน ความสามารถระดับเรา กับตลาดในตอนนั้น มันก็ประมาณ
นั้นละ เพียงพอสมเหตุผล ไม่น่าเกลียด แต่ดูตลาดดนตรีตอนนี้สิ ทุกวันนี้ เด็กๆ เนี่ยเก่ง ความสามารถเขาสูงขึ้น เพราะฉะนั้น เราไปเล่นอะไรง่ายๆ เล่นผิดเป่าเพี้ยน มันอายเด็กนะ
ดี้ : เฮ้ย! จริงๆ แล้วที่เขามาดูเฉลียง ก็ตรงนี้แหละ
นก : หรือเปล่า (หัวเราะ)
GM : ทราบมาว่าเฉลียงมีผลงานเพลงใหม่ด้วย เพลงใหม่ของพวกคุณต้องการจะสื่อสารประเด็นอะไร
เกี๊ยง : ตอนนี้มีพี่จิกแต่งเพลงหนึ่ง แล้วก็พี่ดี้แต่งอีกหนึ่งเพลงของพี่จิกชื่อเพลง ‘ไม่นานนี้เอง’ ของพี่ดี้ชื่อ ‘เข้าใจว่าไม่เข้าใจ’
ดี้ : อ๋อ! ก็ไม่มีอะไรมาก ประเด็นแรกที่พี่จิกเขาชอบแต่งเนี่ย เป็นการรำลึกถึงความหลัง ส่วนของผมเนี่ย จะในเชิงความแตกต่างและการอยู่ร่วมกัน คือเราอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นภายในวง หรือในชีวิตจริง เราแตกต่างกันได้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจกันก็ได้
แต่สำคัญที่สุด ขอให้เข้าใจว่าเราไม่เข้าใจ แล้วก็จบ คือมึงจะคิด
แบบนี้ อืมม์…อืมม์…กูก็เข้าใจแล้วละว่าไม่เข้าใจมึง แล้วเราก็หาเรื่องอื่นๆ คุยกันไป เราเป็นเพื่อนกันได้ รักกันได้ เป็นแฟนกันยังได้ ก็เลยตั้งชื่อเพลงว่า
‘เข้าใจว่าไม่เข้าใจ’ เพราะเราเข้าใจก็รักกัน ไม่เข้าใจก็รักกัน
เกี๊ยง : ความหมายและอารมณ์ก็คล้ายๆ ‘ไม่รักแต่คิดถึง’ อะไรประมาณนั้น
ดี้ : ประมาณนั้น (หัวเราะ)
นก : ส่วนของพี่จิก ก็จากจุดเริ่มต้นของวง ที่มาจากนั่งเล่นกีตาร์เอาสนุก
สมัยจุดเริ่มต้นปีหนึ่ง พวกเราผ่านเรื่องราวอะไรกันมามากมาย แต่ความรู้สึก
มันเหมือนเราเพิ่งมานั่งเล่นกันอยู่หยกๆ นี่เอง เหมือนไม่นานนี้เอง นี่เรามากันไกลขนาดนี้แล้ว มาถึงตรงนี้แล้ว
จุ้ย : คอนเซ็ปต์เต็มๆ ก็คือ เฮ้ย! นี่เรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง
นก : ใช่ๆ
GM : คุณคิดว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เพลงไหนที่สะท้อนตัวตนของวงเฉลียงได้ดีที่สุด
ดี้ : ถ้าโดยคาแรคเตอร์นะ เพลงแรกที่นึกถึง พี่ว่าเพลงที่เป็นเฉลียงมากคือ ‘อื่นๆ อีกมากมาย’
นก : ใช่ๆ นี่คือบทสรุปของวง
ดี้ : ผมเองคิดแบบนี้นะ ไม่รู้คนอื่นคิดไง
แต๋ง : คิดเหมือนกัน
จุ้ย : อือ…ผมก็คิดเหมือนกันเลย
ดี้ : คิดเหมือนกันหมดเลยเหรอ เออ…ดีๆ จะได้ไม่ต้องคุยเยอะ
GM : งั้นผมขออีกสักเพลง คาดว่าพวกคุณคงคิดไม่เหมือนกันบ้าง
คุณว่าเพลงไหนของเฉลียง ที่เป็นคำตอบสำหรับคำถามของคนยุคนี้บ้าง
เจี๊ยบ : อันนี้ผมขอแย่งตอบก่อนเลยดีกว่า จะได้รอด เพลง ‘ฝากเอาไว้’ เพราะผมรู้สึกว่าคนรุ่นผมทำอะไรไม่ค่อยได้แล้วละ ต้องเป็นคนรุ่นพวกคุณแล้ว
ดี้ : ฝากไว้ก่อน (หันไปมองหน้าเจี๊ยบ) ฝากไว้ก่อนเถอะมึง (หัวเราะ)
เจี๊ยบ : เพลงนี้มันบอกว่าถึงเวลาของพวกเราแล้ว ที่จะต้องฝากคนรุ่นหลังให้เขาทำแล้วกัน แล้วผมก็หวังเอาไว้ว่า อยากให้มีคนฟังเพลงเรา แล้วคิดว่า เฮ้ย! พี่ๆ เขาฝากสิ่งนี้ให้เราทำต่อนะเว้ย เรามาลงมือทำ
เรื่องดีๆ ดูแลโลก ดูแลคนใกล้ชิด แล้วหลังจากนั้น เขาก็จะฝากรุ่นถัดๆ ไป ได้อีก น่าจะเป็นฝากกันต่อๆ ไปแบบนั้น พวกเรื่องสภาพแวดล้อมอะไรอย่างนี้
นก : ดีๆ ผมเอาด้วย ผมเอาเพลงนี้แหละ (หัวเราะ)
แต๋ง : ผมชอบ ‘รู้สึกสบายดี’ อย่างแรกก็คือสไตล์ดนตรีที่ทำให้คนรู้สึกว่าเพลงเฉลียงนี่แบบนี้ (กลิ่นแจ๊สผสมเครื่องเป่า) แล้วเนื้อเพลงก็เป็น
เรื่องจริง ที่เราทุกคนต้องอยู่ร่วมกันให้ได้กับความหลากหลาย มีทั้งชอบ ไม่ชอบ คิดเหมือน คิดต่าง ไหนๆ ก็ต้องอยู่ด้วยกันแล้ว ก็คิดให้มันสบายๆ แค่นั้นเอง
GM : จะว่าไปแล้ว เพลงของเฉลียงบอกเราให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายมานานแล้วนะ ตั้งแต่ก่อนที่สังคมไทยจะมีปัญหาความขัดแย้งอย่างทุกวันนี้
แต๋ง : ก็มันเรื่องจริงนี่
นก : ผมเชื่อว่าเรื่องง่ายๆ แบบนี้แหละ ที่จะเป็นคำตอบของยุคสมัยนี้เป็นการแก้ปัญหาได้เลย ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ เนี่ย หากฟังดีๆ คิดตามไปเป็นท่อนๆ มันเป็นการแก้ปัญหาระหว่างคนกับคนได้
ดี้ : มันเป็นเรื่องของทัศนคตินะ
นก : ใช่ๆ ถ้าเราตั้งธงไว้ว่าจะพยายามทำความเข้าใจ ลองเชื่อว่า
บางสิ่งที่เกิดขึ้น คนทำเขาอาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ที่เขาต้องทำอย่างนี้ คงไม่มีใครทำเรื่องไม่ดีหากไม่จำเป็น เหมือนกับเรื่องที่เราไม่เข้าใจ ว่าทำไปได้อย่างไร หากลองคิดในมุมต่างในมุมคนทำ เชื่อว่าเขาต้องมีเหตุผลสนับสนุน รับรองว่าเราเองจะไม่รีบด่วนสรุป แล้วไม่รีบไปตัดสินว่าเขาถูกเขาผิด คิดแบบนี้น่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ มันเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน…หรือเปล่า?
GM : อย่างตอนเด็กๆ ที่เราหนีโรงเรียน เราก็อ้างเพลงเฉลียงว่า เราต้องไปช่วยแม่ทำงาน หรืออาจารย์สอนไม่สนุกอะไรแบบนี้ใช่ไหม
เกี๊ยง : เออ…เห็นไหม มีคนเอาเพลงพวกเราไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ด้วย (หัวเราะ)
GM : เท่าที่พวกคุณอยู่ร่วมกันมา 30 ปี ภาพจำที่ชัดที่สุดในหัวของคุณคืออะไร
เจี๊ยบ : จริงๆ แล้ว ในเวลาส่วนใหญ่ พวกเราอยู่กันแบบเดี่ยวๆ นะ
ไม่ค่อยมีตราเฉลียงแปะตัวเองเท่าไร บางทีคนเขาก็เรียกเราว่า เฮ้ย!
นี่เฉลียง นี่คือหนึ่งในเฉลียง อันนั้นมันตามมาทีหลัง คำโปรยของเรา
เป็นตัวตนแต่ละคน
นก : สำหรับผม ภาพจำคือวันที่ไปถ่ายโฆษณาเป๊ปซี่ เมื่อครั้งที่เฉลียง
เล่นหนังโฆษณา
ดี้ : จุ้ยล่ะ นึกถึงอะไร
จุ้ย : ภาพจำเหรอ…จำไม่ได้แล้ว
แต๋ง : คำถามข้อนี้ยากเกินไป
ดี้ : ภาพจำก็คือตอนที่เขาถ่ายรูปเราลง
แต๋ง : ภาพจำคือภาพถ่ายที่มีพวกเรา 6 คน เล่นดนตรีอยู่หน้าเวทีแล้วมีจอขึ้นภาพด้านหลัง มีคนดูอยู่ตรงหน้าเรา พวกเขากำลังยิ้มมีความสนุก หัวเราะกัน คนดูข้างล่างก็เช่นกัน เป็นภาพที่มองครั้งไหนก็มีเรื่องราวต่างๆ มันออกมาเอง
ดี้ : เป็นเพียงแค่ภาพจำ จำไว้ แล้วหลังจากนั้นก็แยกย้ายไปทำมาหากิน ก็ไม่เป็นเฉลียงแล้ว ไอ้นี่ก็ไปทำไอ้นั่น ไอ้นั่นก็ไปทำไอ้โน่น ก็ไม่ใช่เฉลียง
เฉลียงโชว์
2534 อัลบั้ม ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า คือสตูดิโออัลบั้มชิ้นสุดท้ายในนามวงเฉลียง ทางวงได้รวมตัวกันครบสมาชิกจัดคอนเสิร์ตไม่บ่อยนัก นับได้เพียง 3 ครั้ง
เริ่มต้นกับ คอนเสิร์ตแก้คิดถึง…ฉลองสิบกว่าปีเฉลียง แสดงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ครั้งนั้นมีเพลงพิเศษแต่งโดย นิติพงษ์ ห่อนาค เพื่อโชว์ดังกล่าว ก็คือ ‘ไม่รักแต่คิดถึง’จากนั้นใช้เวลาอีก 7 ปี พวกเขาขึ้นเวทีอีกครั้ง ในคอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ แสดงที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 2 และ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ถือเป็นโชว์ที่จารึกประวัติศาสตร์มากมายของวง เริ่มจาก สมชาย ศักดิกุล ประกาศนี่คือคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายที่จะขึ้นเล่นในนาม ‘เฉลียง’ นิติพงษ์ ห่อนาค ประกาศอำลาตำแหน่งหัวหน้าวง และส่งให้แก่ ชาญดนู ไล้ทอง ลูกชายของ แต๋ง-ภูษิต ไล้ทอง ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงอังกอร์ แฟนๆ เฉลียงยังได้เห็นภาพของ ประภาส ชลศรานนท์ ขึ้นบนเวทีร่วมร้องเพลงพิเศษ ‘เรื่องราวบนแผ่นไม้’ ที่แต่งขึ้นเพื่อโชว์ดังกล่าว
เว้นวรรคอีกหลายอึดใจ ปล่อยให้แฟนๆ นับนิ้วรอ จน 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เฉลียงครบวงขึ้นคอนเสิร์ตอีกครั้ง โดยจับมือกับสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดประสงค์
หารายได้สนับสนุนด้านการศึกษาของคณะ มีชื่อโชว์ว่า ‘เหตุเกิด…ที่เฉลียง’ พร้อมมีนิยาม ‘ดนตรีบำบัด ถาปัดจัด เฉลียงโชว์’
ล่วงเลยเกือบครบทศวรรษ เฉลียงกลับมาอีกครั้งกับ ‘ปรากฏการณ์เฉลียง’ ขึ้นโชว์ 17-18 กันยายน พ.ศ. 2559 นี้ รวม 3 รอบ ณ สังเวียน สยามพารากอน ฮอลล์ สร้างปรากฏการณ์สมชื่องาน เพราะบัตร
จองหมดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน