Q&A สุขภาพการเงินยุค COVID-19
เรื่อง : โชติ เวสสวานิชกูล
ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์
จากหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์’ แห่งเดอะ มันนี่ โค้ช (The Money Coach) พลิกผันตัวเองมาเป็นโค้ชการเงิน ภายใต้ธงความคิดที่ชัดสุดแก่นว่าอยากช่วยแก้ปัญหาสุขภาพการเงินของคนไทย ที่บางครั้งอาจมองปัญหาบางอย่างแบบเส้นผมบังภูเขา โดยผ่านภาษาบ้านๆ!! ที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่ายแบบไม่ต้องแปลด้วยความที่โค้ชหนุ่มรู้จัก ‘หนี้’ มาตั้งแต่วัยใส แต่ก็จัดการมันได้อย่างเรียบง่าย ทำให้เขากลายเป็นอีกหนึ่งคนที่แข็งแกร่งกับแทบทุกเหตุการณ์วิกฤติที่ผ่านเข้ามาชีวิต จนหลายคนยกให้เขาเป็นโค้ชนักบริหารสุขภาพการเงิน ที่ทำให้ผู้คนเกิด ‘ความสุข’ และนั่นจึงเป็นที่มาที่ GM อยากชวนเขามานั่งคุยกันแบบ Q&A ในสถานการณ์เรื่องเงินทองยุควิกฤติ COVID-19 ในขณะนี้
วิกฤติปี ’40 คุณเอาตัวรอดมาได้อย่างไรในช่วงที่เพิ่งเป็นเด็กจบใหม่ และแถมต้องแบกหนี้ที่บ้านไว้บนบ่า
จักรพงษ์ : ช่วงปี 2540 เป็นช่วงที่ผมเพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ (จบวิศวะ) จากนั้นก็มาเริ่มทำงานเป็นพนักงานประจำเหมือนวัยรุ่นจบใหม่ทั่วไป แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคนทั่วไปคือที่ ‘บ้านล้มละลาย’ ในช่วงปี ’40 บางคนเวลาเจอปัญหาแบบนี้ ก็เริ่มคิดจะหาทางแก้หนี้ด้วยการหารายได้เพิ่ม แต่อันนี้ประสบการณ์ตรงเลยนะ ไม่มีคนติดหนี้ที่ไหน มีแรงหรือมีความคิดจะไปหารายได้เพิ่มหรอก อย่างผมเองตอนนั้นที่บ้านเป็นหนี้ธุรกิจจากการค้าขายอะไหล่ยนต์ร่วม 18 ล้านบาท ถามหน่อย ผมจะมีปัญญาหารายได้เท่าไร ถึงจะมาโปะมันหมดที่สำคัญคุณรู้ไหมว่า ในเชิงจิตวิทยา ถ้าคนที่ล้ม เป็นหนี้ เป็นคนทั่วไป เขาไม่แคร์อาชีพ ให้ไปนั่งปิ้งลูกชิ้นขาย เขาก็ทำ แต่บางคนเป็นคนรวย คุณคิดว่าเขาจะกล้าพูดคำว่า ‘อะไรก็ทำ’ หรือเปล่า ผมว่าไม่
เมื่อการหารายได้มันไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เราเจอแสงสว่าง ผมก็บิดตำราการจัดการหนี้ โดยมองข้ามเรื่องการหารายได้ไปก่อน จากนั้นก็เดินเข้าไปคุยกับธนาคารเพื่อเปิดฉากเจรจาในตำราที่มันไม่มี หมายความว่าอะไร? เวลาที่เราคุยกับธนาคาร ถ้าเราไม่ถามอะไรเขามาก สิ่งที่เขานำเสนอมา มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับไป แต่เอาเข้าจริงๆ เราสามารถเจรจาได้มากกว่านั้น ผมเรียกว่ามากกว่าเงื่อนไขที่แบงก์ประกาศไว้ด้วย เหมือนกับมาตรการเยียวยาของแบงก์ เพื่อช่วยคนลำบากในช่วง COVID-19 ตอนนี้ ถ้าเราคุยตามเงื่อนไข มันก็ได้ตามที่เขาให้ แต่ถ้าเราบุกเข้าไปที่สาขา แล้วพูดแบบ ‘แบไต๋’ ว่า เราต้องการอะไร เราจะมีโอกาสได้สิ่งที่ต้องการ และผมทำแบบนั้น จากนั้นพอได้สิ่งที่เราอยากได้แล้ว ก็ค่อยมาหาทางสู้ต่อ ซึ่งผมสู้มาประมาณ 7-8 ปี จนเคลียร์หนี้ทั้งหมดลงได้
เดินเข้าแบงก์นี่คือเข้าไปทำอะไร เพราะถ้าใครที่แบกหนี้อยู่ แล้วให้ไปแบงก์ มันก็หนีไม่พ้นไปกู้หนี้มาแก้หนี้อยู่ดี
จักรพงษ์ : อันนี้คลาสสิกเคสเลยครับ ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่มีโอกาสเจอวิกฤติหนี้ แบบว่าที่บ้านทำธุรกิจแล้วเจ๊ง ทุกคนอยากทำตัวเป็นลูกกตัญญู (ผมก็เคยคิด) เลยกู้เงิน (ทำงานประจำแล้วจะได้วงเงินกู้) เพื่อมาช่วยที่บ้าน อันนี้บอกเลยว่าอย่าทำ!! เพราะมันจะพังกันทั้งครอบครัวเนื่องจากหนี้ธุรกิจกับหนี้บุคคลมันไม่เหมือนกัน หนี้ธุรกิจ ถ้าคุณไม่ได้เซ็นเช็คกู้เพื่อออกไปช่วยธุรกิจ ล้มก็คือล้ม ปล่อยเป็นคดีความทางแพ่งกันไป เต็มที่ก็ขายธุรกิจ ขายโรงงาน ขายของทิ้ง แล้วค่อยกลับมาเริ่มใหม่ แต่หนี้บุคคลเซ็นเงินออกมาแล้ว ถ้าคุณหาเงินกลับไปโปะไม่ได้ตามรอบกำหนด อันนี้แย่แน่นอน คุณจะไม่เหลือบ้านหรือเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อตั้งหลักใหม่
แก้หนี้ได้ปุ๊บ เลยบรรลุจนอยากเข้าสู่หนทางแบบศาสดาด้านการเงินเลยสินะ
จักรพงษ์ : (หัวเราะ) ไม่ถึงขนาดนั้นครับ แต่การต่อสู้ตรงนั้นมันทำให้ผมเห็นว่า เฮ้ย! จริงๆ แล้วมันมีองค์ความรู้ทางด้านการเงินที่คนไทยยังไม่รู้และไม่เข้าใจอยู่อีกมากนี่หว่า เพราะที่ผ่านมาคนไทยถูกสอนอย่างเดียวคือตั้งใจเรียนจะได้มีงานดีๆ ทำ ทั้งๆ ที่ ‘การหารายได้’ มันเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้่น แต่เอาเข้าจริงมันมีอีกตั้ง 3 ส่วนที่ช่วยบริหารจัดการสุขภาพการเงินเราได้ เช่น การใช้จ่าย การออม และลงทุน
คุณคิดว่าประสบการณ์การจัดการหนี้ของคุณที่ผ่านมา มันเพียงพอจนสามารถกลายเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินได้เลยหรือ
จักรพงษ์ : ผมแค่มองว่า การที่เราได้แก้ปัญหากับตัวเองและผ่านพ้นมันไปได้ มันไม่ใช่แค่ประสบการณ์ แต่มันเป็นเรื่องที่เราเอะใจว่า ทำไมเรื่องนี้มันไม่มีใครสอนให้เราหาทางออกได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องเทคนิคชั้นสูง แต่มันเป็นเรื่องของความเข้าใจเท่านั้นเองอย่างผมเองแก้หนี้จากติดลบ 18 ล้าน จนหนี้หมด แล้วตอนที่หนี้หมดสักช่วงปี 2548 ผมก็ค่อยหารายได้ต่อ หาช่องทางการเจรจา การหาเงินแบบไหนที่มันจะมีโอกาสทำให้หนี้หมดเร็ว ลงทุนในหุ้นไหม ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าไหม มีธุรกิจสัก 2-3 ตัวที่ทั้งช่วยระบายหนี้และสร้างรายได้ให้กับเราด้วยไหม ผมจะคิดต่อเป็นเฟสๆ หลังจากผมเจรจาเรื่องหนี้ได้ก่อน
ทั้งหมดนี้ผมทำตั้งแต่ตอนติดลบเลยนะ นั่นจึงทำให้ผมมั่นใจว่าสูตรทางการเงินของแต่ละคนยังไงก็ไม่เหมือนกัน แต่มันมีหลักให้เข้าใจการบริหารสุขภาพด้านการเงินที่เหมือนกัน แล้วถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะจัดการทุกปัญหาได้หมด แล้วผมก็ใช้หลักความเข้าใจ (เดี๋ยวจะเล่ารายละเอียดให้ฟัง) เปิดให้คนเข้ามาถาม-ตอบ และสุดท้ายมันก็ยิ่งย้ำสิ่งที่คิดอยู่ในใจ คือ ทุกคนเจอปัญหาคล้ายๆ กันกับเรา และเราตอบคำถามนั้นไป มันช่วยเขาได้จริง นั่นจึงเป็นที่มาของการเริ่มต้น The Money Coach อย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีก่อน
เสน่ห์ของ The Money Coach คืออะไร
จักรพงษ์ : ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าคำว่าโค้ชของผมไม่ได้หมายถึงกูรู แต่หมายถึงโค้ชแบบทีมฟุตบอลที่ชอบแก้เกมและแก้ปัญหาต่างๆ ในแมตช์การแข่งขัน เพราะผมชอบอารมณ์ของโค้ชที่ยืนตะโกนด่าอยู่ข้างๆ มันทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย คุยง่าย ประมาณว่า “เฮ้ย! ทำแบบนี้มันผิด เดี๋ยวเจ๊งนะ” เตือนกันง่ายๆ ที่สำคัญผมจะสื่อสารเรื่องการเงินด้วยภาษาที่เป็นมนุษย์ที่สุด เพราะในยุคนี้เรามีที่ปรึกษาการเงินที่เก่งมากเต็มไปหมด แต่เหมือนเหมาะกับคนอีกระดับ ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องการเงินมันควรเป็นเรื่องที่คนทั่วไปควรได้รู้แบบง่ายๆ ฉะนั้นความคิดที่อยากจะเล่าเรื่อง และให้คำปรึกษาทางการเงินแบบ ‘ภาษามนุษย์’ เลยเป็นตัวจุดประกายให้ผมอยากทำ บางคนอาจจะงงว่าอะไรคือภาษามนุษย์ มันก็แค่หลีกเลี่ยงประเภทไทยคำ อังกฤษคำ หรือศัพท์เข้าใจยากๆ เช่น บริหารสภาพคล่อง โหยอะไรวะ…งง…จริงๆ มันก็คือ ทำอย่างไรให้เรามีกินมีใช้ อะไรแบบนี้ เป็นต้น
ตั้งแต่โค้ชลูกศิษย์มา มีกรณีศึกษาไหนที่โดนใจบ้าง
จักรพงษ์ : เป็นเคสเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เพิ่งเรียนจบมาเหมือนผมเป๊ะเลย แล้วก็มีหนี้แบบผมเลย ปัญหาของเขาคือที่บ้านทำธุรกิจแล้วเป็นหนี้ แล้วบ้านที่อยู่ก็กำลังจะถูกยึด ผมจึงถามเขาเลยว่า ถ้านำบ้านของคุณไปประเมินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จะมีมูลค่าเท่าไร เขาบอกว่ามีการตีราคาในตลาดไว้ 15 ล้านบาทนี่กลายเป็นเกมพลิกเลยนะ เพราะ 15 ล้านบาทนั้น มันจะช่วยแก้ปัญหาได้ทันที แต่แน่นอนว่าผมพูดแบบนี้เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมองว่ามันไม่ดี เพราะมันเหมือนขายทรัพย์สมบัติกิน แต่ผมอยากให้ลองปรับความคิดใหม่ เพราะถ้านี่คือช่วงวิกฤติของคุณ การแบกสินทรัพย์ที่มีราคาไว้ แล้วใช้ประโยชน์กับมันได้ไม่เต็มที่ มันก็คือภาระ ตอนนี้คุณมีหนี้ 8 ล้านบาท ถ้าคุณขายออก เอาแค่ 12 ล้านบาทก็พอ ไม่ต้องถึง 15 ล้านบาท เพราะคงปล่อยยาก คุณจะยังเหลือเงินอีก 4 ล้านบาทหลังจากนั้นก็มาดูธุรกิจที่ทำเป็นอย่างไร ธุรกิจไหนไปได้หรือไปไม่ได้บ้าง ถ้าดูแล้วตัวไหนไปไม่ได้ จงเก็บเงิน 4 ล้านไว้ แล้วไปเริ่มต้นกับลู่ทางธุรกิจใหม่ สุดท้ายเขาทำตาม และก็ทำได้
ทำไมรู้สึกว่าการโค้ชของคุณ เหมือนจะไม่ได้สอนให้เรารวยเลย
จักรพงษ์ : จริงๆ หลักการโค้ชของผมไม่ใช่การสอนให้คุณมีเงิน 100 ล้าน (เพราะผมก็ยังมีไม่ถึง 555) แต่ผมสอนให้คนเรา ‘มี’ อย่างเหมาะสม คุณรู้ไหมว่าทุกวันนี้คนไทยไม่ได้มีฐานด้านสุขภาพการเงินที่ดีมากนักนะ คนไทยกว่า 80-90% ของประเทศมีเงินเก็บไม่เกิน 5 หมื่นบาท นั่นหมายความว่าความรวยยังไม่ใช่คำตอบในเร็ววัน แต่ภาระชีวิตติดหนี้ และภาระที่ต้องประคองชีวิตในแต่ละวัน อันนี้คือของจริงที่คนไทยกำลังประสบอยู่ฉะนั้น การที่เราได้เข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ มันจึงสำคัญมาก เพราะสิ่งที่ผมแฮปปี้ คือ ถ้าวิธีของเราช่วยให้เขาอยู่รอดได้ มีรายได้ที่นำไปใช้กับรายจ่ายได้อย่างพอเหมาะ มีเงินเหลือเก็บ และบริหารจัดการเงินเหลือเก็บได้อย่างถูกต้อง ตรงนั้นแหละถึงจะเข้าไปสู่ความมั่งคั่ง และนั่นถึงจะทำให้คุณมีสุขภาพทางการเงินที่ดีได้
มาคุยกันในเรื่องของ COVID-19 ดีกว่า ตอนนี้เราทุกคนกำลังเผชิญวิกฤติที่หนักหนามาก คนไทยหลายคนออกมากังวลในเรื่องของการไม่มีงานทำ แถมยังมีภาระข้างหลังอีกเพียบเลย หนี้บ้าน หนี้รถ งานไม่มี เงินไม่มี แล้วอนาคตก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไรกับ COVID-19 และเหมือนจะเป็นโจทย์ที่ยังหาทางแก้ยาก โค้ชมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
จักรพงษ์ : จริงๆ ถ้าคุณเป็นคนที่เข้าใจเรื่องการเงิน หรือโชคดีได้เรียนรู้เรื่องการเงินในระดับหนึ่ง จะรับรู้ได้เลยว่าวิกฤติ COVID-19 มันรุนแรงกว่าวิกฤติปี ’40 อย่างมาก เพราะมันเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ หรือวิกฤติสุขภาพที่ไปทับซ้อนกับวิกฤติของการเงิน
ความยากของมันจึงเป็นเรื่องของ ‘ความชัดเจน’ อย่างปี ’40 ผมรู้ได้อย่างชัดเจนว่า ธนาคารเจ๊ง ธุรกิจล้ม คนตกงาน แต่เรายังรู้ว่าจะออกไปจุดใด หางานที่ไหน เราทำอะไรได้บ้าง แต่กับ COVID-19 มันไม่ใช่ ตอนนี้เราออกจากบ้านไปไหนก็ไม่ได้ หางานตอนนี้ก็ไม่ได้ ไม่มีใครมารับแน่ๆ เศรษฐกิจทุกอย่างมันหยุดแบบหยุดจริงๆ นะ แล้วที่สำคัญคือเราไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไร มันเลยเกิดปัญหาเรื่องการช่วยเหลือด้วย เช่น งบอัดฉีด หรือการช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐเขาก็คงกะไม่ถูกและทำให้ล่าช้านี่แหละ
เมื่อมันไม่มีความชัดเจน เท่ากับเราต้องหันกลับมาพึ่งตัวเอง
จักรพงษ์ : พูดตรงๆ นะ ไม่ว่าวิกฤติประเภทไหนจะผ่านมา คนที่จะอยู่รอดเสมอคือคนที่บริหารจัดการเงินของตัวเองได้ดี เพราะเขาจะมีเงินสำรองกันไว้นานมากๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็คงมีการสอนให้คนยุคใหม่ต้องเริ่มออมเงิน หรือสำรองเงินไว้ใช้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 3-6 เดือน หรือประมาณ 6-12 เดือน แล้วแต่ใครจะไหว แต่ส่วนตัวผมแนะนำให้อยู่ที่สัก 6-12 เดือน
ระยะเวลา 6-12 เดือน หมายถึงเราต้องมีเงินเก็บจากฐานรายได้ของเราใช่ไหม
จักรพงษ์ : ผมอยากให้มองละเอียดกว่านั้น โดยประเมินค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายล่วงหน้า 6 เดือนไปเลย หมายถึงหาเงินหรือเปล่า? ไม่เชิง เพราะเงินจะหามามากหรือน้อย มันจะขึ้นอยู่ที่การประมาณการค่าใช้จ่าย เช่น ต่อจากนี้ 6 เดือนคุณต้องกินต้องใช้อะไรบ้าง ต้องใช้หนี้ใครบ้าง เช่น สมมุติต่อเราต้องมีค่ากินอยู่ 200 บาท เดือนหนึ่งก็ต้องเก็บไว้เฉพาะค่ากิน 6,000 บาท เป็นต้นอยากให้ลองกางออกมาชัดๆ ว่าถึงตัวเลขในช่วง 6 เดือนข้างหน้า แล้วคุณจะรู้ว่าคุณต้องใช้เงินและหาเงินเท่าไร ซึ่งมันต่างจากการนำเงินเดือนหรือรายได้ประจำ 6 เดือนของคุณมาคำนวณ แล้วเงินก้อนนั้นแหละคือเงินที่จะทำให้คุณพออยู่ได้…ถ้าใครทำได้ ยินดีด้วย คุณมีแผนรองรับการเงินในชีวิตช่วงนี้ได้ในระดับหนึ่ง
กางออกมาแล้วตัวเลขเกิดติดลบทำอย่างไร
จักรพงษ์ : คำถามนี้น่าสนใจนะ บางคนอาจจะมองข้าม และคิดว่าถ้าวางแผนไว้แล้ว มันคงไม่มีติดลบหรอก แต่อย่างที่บอก หลายๆ คนคิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นบวกเข้ามา อย่าลืมนะว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้ แต่สิ่งที่แน่ชัด คือ เราต้องกินต้องอยู่ฉะนั้นรายจ่ายตัวไหนในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็น บีบออกได้บีบออกไปเลย ซึ่งผมว่าทุกคนน่าจะแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่มันไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพราะผมขอบอกไว้ก่อนเลยว่าภาวะโรคระบาดเนี่ยถ้าเทียบความรุนแรง ก็เป็นรองเพียงแค่สงครามเท่านั้นนะดังนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นจริงของชีวิตก่อน ซึ่งส่วนตัวผมยกให้ ‘รายจ่ายด้านการกินใช้’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตตอนนี้ เพราะประสบการณ์ปี ’40 บอกผมว่า ถ้าท้องมันว่าง มันทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นคุณต้องอิ่ม ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ นาทีนี้จะหนี้จะอะไรก็ช่างมันไปก่อน บางคนกลัวเครดิตบูโร โถ…ช่วงนี้เอาชีวิตก่อนเถอะพ่อคุณ
แบบนี้ประเภทการลงทุนเพื่ออนาคตที่หลายๆ คนชอบแนะนำให้เราทำไว้เพื่ออนาคต ตอนนี้ต้องทำอย่างไรต่อ
จักรพงษ์ : คำถามนี้ดีครับ จริงๆ การลงทุนและการออมมันสำคัญนะครับ แต่ในช่วงวิกฤติแบบนี้ ผมก็ต้องย้ำเหมือนเดิมว่าให้มองปัจจุบันไว้มากๆ ก่อน รายจ่ายที่ยังไม่จำเป็น บีบได้ บีบไปเลย ผมจะยกตัวอย่างหลายๆ กรณีให้นึกภาพตามแล้วกันอย่างวันนี้ถ้าเช่าบ้านอยู่ คุณไปยกมือไหว้เจ้าของบ้านเลย สมัยผมนะ “พี่ๆ เดือนนี้ไม่ไหวจริงๆ ขอผลัดไปเดือนหนึ่งก่อนนะ” โจทย์ของโลกการเงินนั้นมันง่ายๆ ถ้า ‘เจรจา’ เท่ากับ ‘มีโอกาส’ ได้ แต่ถ้าไม่พูดอะไรเลยก็เท่ากับต้องทำตามเกณฑ์สัญญาไปตามระเบียบ กฎนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้ให้เช่านะ เจ้าหนี้ก็ต้องใช้แบบนี้เหมือนกัน
ขอไล่ต่อเลย แล้ว ‘เงินออม’ ล่ะ
จักรพงษ์ : ใครมีตัดออมเป็นประจำทุกเดือน ตอนนี้เบรกเอาไว้ก่อน หรือลดลงมานิดนึง เพราะตอนนี้มันเป็นช่วงพิเศษ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ลองถามตัวเองเลยว่า ถ้ากันเงินมาออมแล้วเดือดร้อนไหม ถ้าเดือดร้อนปุ๊บ…เบรกปั๊บเลย
ประกันล่ะ อันนี้โดนบังคับจ่ายนะ
จักรพงษ์ : ค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ อย่างเช่นประกัน หลายๆ บริษัทประกัน เขาจะให้เราเริ่มติดต่อเพื่อเจรจาผ่อนปรนแล้วนะ เช่น ถ้าใครถึงงวดที่จะต้องจ่ายแล้วไม่มีเงินจ่าย ก็ไปบอกเขา เขาให้เลื่อนไป 120 วันหรือ 90 วัน ตามแต่ละเจ้า โดยความคุ้มครองยังเหมือนเดิมเท่าเดิมแต่ทั้งหมดทั้งมวลก็อย่างที่บอกไป คือ ลองกางค่าใช้จ่ายออกมาว่าอะไรที่คุณต้องใช้ ถ้าไม่กางออกมามันจะมองไม่เห็น เอาแบบเบสิกๆ เลย หากระดาษมานั่งกาง วาด เขียน จดมันเลย อย่าไปคิดว่าเราจำได้ทุกเรื่อง หรือสมองมันประมวลได้ทุกอย่าง…มันไม่จริง!! เพราะถึงตอนที่เราทุกข์ขึ้นมานะ หัวโคตรมึนเลย
วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้เหมือนทำให้คนเราต้องมานั่งวาดแผนชีวิตขึ้นใหม่ยังไงยังงั้น
จักรพงษ์ : ต่อให้หมดวิกฤตินี้ไป ผมว่าเราก็ควรจะต้องทำต่อนะ เพราะการได้ลองกางตารางชีวิตและค่าใช้จ่ายช่วงในอนาคตไว้ มันจะทำให้เรามองเห็น ‘ความเป็นจริงของชีวิต’ ว่าอะไรคือรายจ่ายประจำ และอะไรเป็นรายจ่ายแค่บางช่วงเวลา เช่น ค่าเทอมลูก มันเป็นค่าใช้จ่ายบางช่วงเวลา และอะไรที่เป็นรายจ่ายลวงตา อย่างวัตถุนิยมพอเราเห็นภาพ เราก็จะเริ่มมาวางแผนชีวิตตามที่ผมบอก ซึ่งส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับตัวเลขที่เราแบกไม่ไหว เช่นหนี้ ถ้าอุดไม่อยู่ ผ่อนไม่ไหว ชีวิตเราพังแน่ๆ (ถ้าผ่อนปกติไหว ผ่อนปกติไป) ต้องหาทางจัดการมันให้ได้ เช่น จ่ายเฉพาะดอกได้ไหม เพราะเมื่อต้นยังค้างอยู่ ยังไงเขาก็ต้องคิดดอกเบี้ยอยู่แล้ว แต่เราได้อากาศหายใจเพิ่มขึ้นแต่ถ้าเกิดว่าดอกเบี้ยมันมีมูลค่าใกล้กับงวดมาก เช่น เราบอกว่าส่งบ้านไป 10,000 บาท ดอกเบี้ยก็ 7,000-8,000 บาทแล้ว อย่างนี้มันใกล้กันมาก เราก็อาจจะเลือกพักชำระทั้งก้อน ทั้งต้นและดอก พักมันไปเลย แต่ตอนพักหนี้เขาก็ยังคิดดอกเบี้ยอยู่นะ (อันนี้ต้องยอมรับ) แต่ว่ามันก็จะไปต่อช่วงท้ายสัญญา เช่น เราผ่อนบ้าน 360 เดือน มันก็จะย้ายไปต่อเดือนที่ 361แต่ๆๆ…ผมแชร์แบบตรงไปตรงมาเลยนะ พอเข้าเดือนที่ 360 เราไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อต่อรองหนี้ส่วนของเดือน 361 ว่าจะให้ไปในทิศทางแบบที่เราต้องการได้อีกด้วย
คุณทำให้เรารู้สึกว่าศาสตร์ของการเจรจา สามารถชนะได้ทุกอย่าง
จักรพงษ์ : เพราะโลกในปี ’40 มันสอนผมแบบนี้ คือ ถ้าไม่ขอเจรจา ก็ต้องไปจ่ายหนี้ ซึ่งการเจรจาอาจประสบความสำเร็จหรืออาจจะไม่ก็ได้ แต่ว่าถ้าคุณเจรจาบ่อยๆ คุณจะเก่งขึ้น เอาง่ายๆ สมัยผมเป็นหนี้ตอนปี ’40 ดอกเบี้ยที่เหลือก้อนสุดท้ายของผมได้เกิดการเจรจากับเจ้าหนี้ว่า ผมไม่อยากจ่ายอ่ะพี่! ปล่อยให้มันจบๆ กันไปเลยได้ไหม เพราะพี่ก็อยากจบกับผม ผมก็อยากจบกับพี่ อย่าคาราคาซังเลย ถ้าพี่ตัดดอกที่เหลือไป ผมจ่ายเงินต้นก้อนนี้หมดเลย พี่ได้เงินสดไปปล่อยกู้ลูกค้าคนอื่นต่อนะ เป็นต้น เรื่องพวกนี้มันคุยได้หมดแหละ เอาจริงๆ ตอนนี้คุณจะไปขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือจะไปขอเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก มันทำได้หมด แต่ทุกเรื่องมัน Case by Case มันคือการเจรจาทั้งนั้น แต่นี่คือวิชาที่คนไทยไม่ได้เรียนไง
รู้เรื่องการจัดการเงินที่มีพอแล้ว หาวิธีสร้างรายได้ในช่วงนี้ให้หน่อย
จักรพงษ์ : เอิ่มมม…ถ้าเปรียบเทียบปี ’40 กับปี ’63 ผมมองว่าปี ’63 เป็นวิกฤติที่ดุเดือดก็จริง แต่โอกาสแฝงก็เยอะกว่าเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นสมัยก่อนผมจะหางานสักอย่าง ผมก็ต้องออกไปของานคนอื่นทำ แต่สมัยนี้เรามีอินเทอร์เน็ต เรามีโซเชียลมีเดีย ผมใช้มันหาเงินได้ยกตัวอย่าง ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส เพิ่งตกงานจาก COVID-19 มาแบบสดๆ ร้อนๆ เลย เพราะฟิตเนสที่ทำอยู่ปิด ตอนนี้เขามาเปิดไลฟ์โชว์การฟิตเนสในห้องของตัวเองวันละ 45 นาที มีลูกค้ากรูเข้ามาดู ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบจริงๆ จากนั้นเขาทำเฟซบุ๊กกลุ่มปิด (ถ้าสมัยก่อนมันทำไม่ได้) แล้วมีเทคนิคเฉพาะในการทำให้หุ่นดีได้แบบไลฟ์ปกติไม่ได้บอก ถ้าใครอยากรู้ ก็โอนเงินและเข้ากลุ่มปิดมา นี่คือการหารายได้แล้วนะ
แต่นั่นคือคนที่มีทักษะเฉพาะนะโค้ช ถ้าเป็นพนักงานกินเงินเดือนทั่วไปแล้วตกงานมา เขาอาจจะไม่มีทักษะส่วนตัวไปสร้างรายได้แบบนั้น
จักรพงษ์ : คุณรู้ไหมว่าโจทย์นิดเดียวของคนที่หารายได้เสริมไม่ได้…อยู่ที่ตรงไหน เพราะหลายคนที่มาปรึกษาผมเรื่องนี้ ชอบถามอยู่คำถามเดียวว่า ‘ทำอะไรดี’ผมก็จะบอกไปตลอดว่า ไปถามคนอื่นว่าทำอะไรดี คุณกับเขามีทักษะเดียวกันหรือ ถามอยู่นั่นแหละว่า โค้ช…ทำอะไรดี? (ของขึ้น)
โห…ไม่ถามแล้วดีกว่า (หยอกๆๆ)
จักรพงษ์ : (หัวเราะ) ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพน่ะ เพราะประเด็นมันอยู่ที่ว่า ถ้าผมบอกไปแล้วว่าคุณควรทำอะไร แล้วคุณจะทำได้จริงหรือ อย่างทักษะแบบที่ผมมี และคุณไม่ได้เรียนหรือยังไม่ได้เคยใช้มันทำงานจริง แล้วผมแนะให้มาทำโค้ชการเงิน คุณก็ไม่น่าจะทำได้ทันที จริงไหมฉะนั้นคำถามที่คุณต้องถามตัวเอง คือ ‘คุณทำอะไรได้บ้าง?’ อย่าถามคนอื่นว่าทำอะไรดี การเปลี่ยนคำถามนี่มันสำคัญกับชีวิตมากเลยนะ เราทำอะไรได้บ้าง!! แล้วค่อยเอาการตลาดไปจับกับสิ่งที่คุณทำได้ อย่างลูกศิษย์ผมอีกคนเป็นพยาบาล อยู่ห้องคลอด เป็นหนี้ล้นพ้นตัวเลยเขาถามว่าจะแก้หนี้ยังไงดีโค้ช ผมถามว่าทำอะไรเป็นบ้างเขาบอก ‘หนูอยู่ห้องคลอดมาทั้งชีวิต’ ผมนั่งคุยกับเขานานเอาเรื่องนะ สิ่งที่เขาทำเกี่ยวกับเรื่องการคลอดและห้องคลอดมันฟังเพลินและอินมาก ผมจึงบอกเขาไปว่า คุณเก่งเรื่องนี้ ก็ทำเพจให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แล้วก็เริ่มถ่ายวิดีโอเล่าไป เขาถาม “ถ่ายวิดีโอทำอย่างไร?” ผมบอกเคยเซลฟี่ตัวเองป่ะ? ก็เปลี่ยนจากการถ่ายเซลฟี่เป็นถ่ายวิดีโอก็เท่านั้นแหละ แล้วเล่าเรื่องอะไรดีล่ะ อยู่ห้องคลอดเราก็เล่าเรื่องการคลอดไง คนจะคลอดต้องเตรียมตัวอย่างไร หยิบเอามาวันละเรื่อง ก็บอกเขาไป สอนไป เขาถามว่าถ่ายที่ไหน ผมบอกถ่ายที่โรงพยาบาลไปเลย เอาห้องคลอดนั่นแหละจะได้อินๆ
มีเทคนิคอื่นแทรกเสริมเข้าไปให้เขาด้วยไหม
จักรพงษ์ : ไม่มีเทคนิค แต่บอกให้ทำอย่างใส่ใจ ถ้าคิดจะเริ่มเป็นจริงเป็นจัง อย่างใครคิดจะทำลง YouTube ผมบอกเขาให้เตรียมวิดีโอล่วงหน้าไว้ก่อนเลยสัก 30 ตอนและบอกเขาว่า ‘ควรลงทุกวันนะ’ ให้คนดูรู้ไปเลยว่าเที่ยงจะต้องเจอเรา อะไรทำนองนี้ แล้ววันนี้สอนอาบน้ำเด็ก วันนี้สอนโน่นนี่นั่น ต้องพูดคุยกับคนที่เราอยากคุยกับเขา มาถึงวันนี้แฟนเพจเขาปาไป 7 หมื่นกว่าคน เริ่มมีคนให้เขาไปเป็นที่ปรึกษา เพราะยิ่งกับสถานการณ์แบบนี้ คนท้องโคตรกลัวเลย ไม่กล้าไปโรงพยาบาล เก็บค่าที่ปรึกษาหัวละ 900 บาท ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ไลน์คุยสดได้ตลอดเวลา แล้วตอนนี้มีคุณแม่มือใหม่ที่เขาดูแลอยู่ประมาณ 40-50 ราย แถมวิดีโอที่นำไปลง YouTube ก็สร้างรายได้ให้อีกทาง เห็นไหมว่ามันมีโอกาสอยู่ฉะนั้นอย่าถามว่าเราควร ‘ทำอะไรดี’ แต่ลองถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง อันนี้แหละคือหัวใจเลย
บางคนที่ลองค้นหาตัวตน ความชอบ และเริ่มรู้ว่าเราทำอะไรบ้างอย่างที่คุณบอก แต่กังวลกับการรับมือกับสังคมสาธารณะ เช่น ไม่รู้ว่าที่ทำไปจะดีไหม จะมีคนชอบไหม จะมีใครมาด่าเรา
จักรพงษ์ : จำที่ผมเล่าเคสพยาบาลที่เขาเอาทักษะชีวิตเขามาเล่าออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เล่าได้อย่างสนุกและทำให้คนฟังมีความสุข จนผมอินเลยได้ไหม นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของใครสักคนที่อยากจะหาโอกาสในโซเชียลมีเดีย อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องผลลัพธ์จากคนอื่นเยอะ โดยเฉพาะอย่าเพิ่งไปคิดเรื่องรายได้หรือเงินมากเกินไป…ทำไม? เพราะถ้าเราไปคิดเรื่องเงินเมื่อไหร่ มันจะทำให้เราปิดกั้นความเป็นธรรมชาติของตัวเอง เราจะกังวล กลัว และคิดว่าตัวเองจะทำได้หรือ อย่างเป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส ใครจะมาดูเรา เพราะมีเทรนเนอร์เก่งๆ ในตลาดเยอะแยะ หรืออย่างการทำอาหารมีคนทำเก่งกว่าเราเยอะแยะ แล้วใครจะมาดูเราการคิดถึงเรื่องเงินหรือรายได้ มันไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราก็หวังรายได้จริง แต่การคิดแล้วทำให้ตัวตนของเราหายไป และไปคิดแทนคนอื่นว่าเราคงไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ สู้ใครเขาไม่น่าจะได้ นั่นจะทำให้คุณไม่มีโอกาสได้เริ่มผมอยากฝากทุกคนที่กำลังมองโซเชียลมีเดียเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ว่า แค่คุณสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาจากความชื่นชอบของคุณ ไม่ใช่แค่การทำโซเชียลมีเดียเท่านั้นนะ แต่มันหมายถึงทุกๆ เรื่อง นั่นหมายความว่า คุณก็คือหนึ่งในคนเก่งที่จะมีคนพร้อมติดตามหรือเป็นลูกค้าของคุณแล้วนะเอาง่ายๆ อย่างอาชีพโค้ชแบบผม มันจะมีทั้งตลาดบน กลาง และล่าง มีคนรุ่นเดอะ กับเด็กรุ่นใหม่เต็มไปหมด ที่ผมจะบอกคือโซเชียลมีเดียมันได้ช่วยให้คุณมีที่ยืนด้วยศักยภาพแบบที่เรามี และเป้าหมายของเราก็คือการซัพพอร์ตคนที่ต้องการระดับของทักษะประมาณนี้ฉะนั้นเวลาที่มีใคร (เกรียนโซเชียลฯ) มาบ่นมาเมนต์แบบ เฮ้ย! ไม่เห็นเก่งเลย งั้นๆ ว่ะ จงบอกตัวเองไว้ว่าเขาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเรา เพราะคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราจะ ‘ขอบคุณ’ เราด้วยความจริงใจในสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอฉะนั้นโลกหลัง COVID-19 มันจะเป็นโลกของคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีของ แล้วใช้เครื่องมือทางออนไลน์มาเป็นส่วนผสมในการประกอบกิจการเล็กๆ ขึ้นด้วยตัวเอง พร้อมๆ ไปกับทำงานประจำไปด้วย แล้วพอมันเวิร์ก ก็สามารถขยายตัวออกมาทำเป็นอาชีพหลัก ไม่ต้องไปคิดว่าเราต้องมีฐานลูกค้าหรือผู้ชมเป็นแสนเป็นล้านด้วย เอาแค่หลักพันหลักหมื่น แล้วเขาเป็นคนของคุณจริงๆ แค่นี้ก็รวยจะแย่แล้ว…
รู้สึกว่าวิกฤติตอนนี้มันไม่ได้มีแต่เรื่องลบ แต่มันมอบมุมมองแง่บวกให้กับชีวิตในหลายๆ บริบทพอสมควร
จักรพงษ์ : ผมเชื่อเช่นนั้นนะ มันเหมือนกับทำให้เราได้กลับมาทบทวนคุณค่าในตัวเรา และคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา พอวิกฤตินี้หมดไป ผมว่าคนเราจะใช้ชีวิตแบบวางแผนมากขึ้น ไม่ประมาทในการใช้จ่าย เราจะหวงงานมากขึ้น จะขยัน และไม่เกี่ยงงาน เราจะรักคนรอบข้างที่เราเคยเกลียดได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญเราจะไม่รู้สึกเอาชีวิตไปเปรียบเทียบกับใครด้วย
ส่วนตัวของคุณแล้ว คิดว่าปลายทาง ‘ความสุข’ ที่แท้จริงของการบริหารจัดการชีวิตและการเงินได้อย่างลงตัวมันจะมีหน้าตาอย่างไร
จักรพงษ์ : ถ้าเอามาตรฐานจากตัวผม (ปีนี้อายุ 46) เรามีความรู้สึกว่าพอหาเงินไปเยอะๆ แล้วมาถึงจุดจุดหนึ่ง จะเริ่มรู้จักและเข้าใจตัวเองว่าความสุขมันไม่ได้ขึ้นกับการมีบ้านหลังใหญ่ๆ หรือมีซูเปอร์คาร์ ผมแค่มีรถสักคันขับจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ก็พอ หรือบ้านที่มีขนาดในการใส่ความสุขให้แก่คนในครอบครัวแบบพอเหมาะ ผมได้มีความสุขกับการเหลือเงินเก็บ และพอจะพาภรรยาและลูกๆ ไปเที่ยวต่างประเทศได้ทุกปี มันคือความสุขที่เกิดจากความพอใจของเรา โดยไม่ไปเปรียบเทียบกับใคร
ผมอยากให้ข้อคิดของความสุขกับคำ 2 คำอย่าง ‘สัมพัทธ์’ กับ ‘สัมบูรณ์’ แล้วกัน ลองนั่งถามตัวเองในช่วง COVID-19 นี้ก็ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ เพื่อที่เราจะได้วางแผนชีวิตกับมันอย่างจริงจัง
พูดแบบนี้ มันเหมือนกับว่ามายาคติทางสังคมที่ร่างสภาพแวดล้อมและวัตถุนิยมบางอย่างให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิยามความสุข ดูเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเลยสินะ
จักรพงษ์ : อันนี้แล้วแต่บุคคล แต่ผมแค่อยากให้ลองแยกความหมายของ ‘สัมบูรณ์’ กับ ‘สัมพัทธ์’ ให้ออก ถ้าคุณเป็นคนที่มองโลกแบบสัมพัทธ์เมื่อไร เท่ากับว่าความต้องการของคุณมันจะไม่มีวันสิ้นสุด เช่น วันนี้เราไปเที่ยวได้ถ่ายรูปอยู่ที่ฮอกไกโด แต่สักพักเพื่อนยิงรูปขึ้นเฟซมาว่าอยู่สวิตเซอร์แลนด์ โห…เรารู้สึกว่าฮอกไกโดดูต่ำต้อยทันที อย่างนี้แหละเขาเรียกว่า ‘สัมพัทธ์’ แต่กลับกัน ถ้าเราพอใจกับมุมสวยๆ ของฮอกไกโดและสไลด์รูปเพื่อนทิ้งไปโดยไม่ใส่ใจอะไร สุขกับสิ่งที่เราเลือกและอยู่ตรงหน้า รู้สึกว่าเราพอกับมันจริง อย่างผมเอง แค่พอมีเงินกิน ใช้จ่าย ซื้อของ พาภรรยากับลูกๆ เที่ยวต่างประเทศได้ปีละครั้ง แค่นี้ผมก็โอเคแล้ว มันคือ ‘สัมบูรณ์’ แต่ก็อย่างว่าอีกนั่นแหละ ความหมายของความสุขในชีวิตแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน
นี่คือบทสรุปสำหรับทางออกในช่วงวิกฤติ COVID-19 หรือแม้แต่วิกฤติอื่นๆ ในอนาคตได้เลยใช่ไหม
จักรพงษ์ : ก็คงต้องย้ำอีกว่า ความสุขที่แท้จริงที่สุดทางการเงิน คือเราจะต้องไม่รู้สึกอิจฉาใครที่เขามีมากกว่า ผมว่าแค่นี้พอแล้ว อย่างผมเองถึงจะเป็นโค้ชการเงิน ผมก็ไม่เคยสอนให้ใครต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และไม่ได้ให้เขามุ่งหวังว่าจะต้องรวยด้วย เพราะนิยามความรวยของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน บางคนอาจจะบอกว่า 10 ล้านเขาก็รวยแล้ว บางคนบอก 100 ล้านยังไม่รวยเลย บางคนบอกมีกินมีใช้ก็รวยแล้วผมแค่อยากให้เราตั้งโจทย์กับชีวิตก่อน ว่าอยากให้มันเป็นอย่างไร แล้วเงินแค่ไหนถึงจะไปตอบโจทย์ชีวิตแบบที่เราอยากจะได้ มันจะได้ ‘ความสุข’ ที่พอดีที่ทำให้คุณอยู่รอดในทุกๆ สถานการ