ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ทำไมวิทยาศาสตร์-วิทยาศาสตร์ทำไม
ต้องยอมรับว่า สังคมไทยถูกมองว่าเป็นสังคม ‘ไสย-ใส’ คือทั้งซื่อใสและคิดแบบคุณไสยไปด้วยในตัว ความซื่อใสเป็นคุณสมบัติที่ดี และที่จริง คุณไสยก็ไม่เลวนัก ถ้าเราจะทำความรู้จักมันอย่างถ่องแท้
ปัญหาก็คือ เรามักจะเข้าหา ‘ไสย’ อย่าง ‘ใสๆ’ ไม่รู้เท่าทัน แล้วในที่สุด เราก็มักหลงใหลอย่างใสซื่อ ซึ่งเป็นความหลงใหลชนิดพันธุ์ที่ทั้งน่ารักและน่ากลัว น่ารักเพราะเป็นความหลงที่บริสุทธิ์ และน่าพรั่นกลัวด้วยความบริสุทธิ์เดียวกันในโลกที่การตลาดเป็นธงนำ สิ่งที่ทำให้เราหลงใหลได้เช่นเดียวกับ ‘ไสย’ มีความหมายกว้างขวาง ซับซ้อน และแนบเนียนมากขึ้น เราถูกหลอกอยู่ทุกวี่วัน ไม่ใช่ด้วยผีหรือหมอผี แต่ด้วยความคิดและกระแสที่มองไม่เห็น มันพุ่งผ่านอายตนะเข้ามากระทบภายในของเราตลอดเวลาด้วยยุทธวิธีต่างๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อล้วงเอาเงินในกระเป๋าของเราเท่านั้น แต่ยังล้วงเอาความคิด ความเชื่อ ศรัทธา ปัญญา ออกไปจากสมองของเรา เหลือทิ้งความคิดผิดเพี้ยนไว้ (ไม่ว่าจะอยู่ในนามของมายาคติหรือมิจฉาทิฐิ)
ให้เป็นสมบัติ ถ้าเราอ่อนแอ เราก็จะเชื่อง่าย แล้วเราก็หลงคำถามก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรดี
ปลายปีอย่างนี้ GM เลือกคุยกับคนที่ (ถูก) ขนานนามว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาไม่ใช่คนเคร่งขรึมเดินลูบหนวดเคราอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เป็นผู้ชายอารมณ์ดีที่ร่ำเรียนมาด้านวัสดุศาสตร์จนจบปริญญาเอกจาก Georgia Institute of Technology และทำงานให้กับ MTEC (National Metal and Materials Technology Center) หรือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งพูดได้ว่าเป็น ‘ขุมกำลัง’ ของนักวิทยาศาสตร์ เป็น ‘แนวหน้า’ ในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ของประเทศนี้
ผู้ชายคนนี้ใช้เวลาเขียนหนังสือมากมาย ตัวอักษรอารมณ์ดี ขี้สงสัย แต่เคร่งครัดวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ของเขาปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, นิตยสารสารคดี และในพ็อกเก็ตบุ๊ค อีกหลากหลาย ที่สำคัญ เขายังใช้เวลาว่างในการ ‘พับกระดาษ’ แบบออริกามิ อันมีนัยทางคณิตศาสตร์ซ่อนอยู่อีกด้วย
ในปีที่ผ่านมา เขาลุกขึ้นท้วงติงความผิดพลาดในหนังสือที่มีเนื้อหาอ้างถึงวิทยาศาสตร์บางเล่มผ่านการสัมภาษณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ บทความในนิตยสาร และบันทึกในเว็บ จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมไทยควรขบคิดใคร่ครวญให้ดี ว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่อย่างซื่อใสเกินไปหรือเปล่าซื่อใสจนพร้อมจะหลงใหล…
หรือว่าวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง แบบที่ช่างสงสัย แบบที่เป็นไปตามกาลามสูตร ซุกซน ไม่ทิ้งการมองโลกแบบเด็กๆ ไม่มี ‘กรอบ’ กดบังคับให้ต้องยอมรับ จึงพร้อมตั้งคำถามท้าทายกรอบเก่าได้เสมอกับสิ่งที่เห็น ราวกับเพิ่งพบพานสิ่งนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต, หรือเป็นวิธีคิดแบบนี้-ที่จะช่วยให้เรายังคงความ ‘ซื่อใส’ ต่อไปได้โดยไม่ ‘หลง’ กับอะไรง่ายดายเกินไปนักทำไมวิทยาศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ทำไม นั้น, เป็นทั้งคำถามและคำตอบอยู่ในตัวของมันเองและเป็นทั้งคำถามและคำตอบ ที่ผสานรวมอยู่ในตัวของผู้ชายคนนี้ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ! ทำไมวิทยาศาสตร์
GM : อย่างคุณ เวลากรอกเอกสารช่องอาชีพ คุณกรอกว่าอะไร นักวิทยา- ศาสตร์? เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ไหม นักวิทยาศาสตร์คือใคร
บัญชา : คำนี้น่าสนใจมาก คุณคิดว่านักวิทยาศาสตร์คือใคร นักวิทยาศาสตร์กับนักวิจัยต่างกันยังไง
นักวิจัยเป็นคนที่ทำการศึกษาและค้นคว้าหาความจริงในเรื่องหนึ่งๆ โดยมีเป้าหมายในการที่จะตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่ตั้งขึ้นมา งานวิจัยอาจเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ ก็ได้ เช่น งานวิจัยด้านสังคม งานวิจัยด้านนโยบาย งานวิจัยด้านการตลาด
ทีนี้ถามว่าผมเป็นนักวิทยาศาสตร์มั้ย ถ้าเอาแบบเคร่งครัดเลย ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์อาชีพ เขาจะถือว่านักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานวิจัย สร้างความรู้ใหม่ แบบนี้ผมก็ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์แล้ว เพราะตอนนี้ผมไม่ได้ทำงานวิจัย คือไม่ได้สร้างความรู้ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์
แต่คนส่วนใหญ่ก็จะเรียกผมว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือบางทีผมก็หลุดปากเรียกตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ตอนหลังไม่กล้าเรียกแล้ว (หัวเราะ) ผมทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ คำที่เหมาะกว่า คือ นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Science Communicator) แต่อาชีพที่เป็นทางการสำหรับกรอกเอกสารคือ นักวิชาการ ครับ
GM : นักวิทยาศาสตร์ยังแบ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือบริสุทธิ์อย่างที่เราเรียนสมัยเด็กๆ ไหม
บัญชา : คำพวกนี้ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ เพราะบ่อยครั้งก็แบ่งยากนะครับ คือมีตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่สังเคราะห์สารเคมี หรือพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ที่เอาไปใช้งานจริงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ศึกษาเชิงลึกด้วย การแบ่งนักวิทยาศาสตร์เป็นประยุกต์หรือบริสุทธิ์อาจใช้ได้กับงานที่ชัดเจนจริงๆ เช่น การคิดค้นทฤษฎีทางฟิสิกส์ หรือการสร้างสิ่งประดิษฐ์
ผมคิดเล่นๆ ว่า คำพวกนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อคนพูดต้องการจะบอกว่า ทำประยุกต์ซะมั่งสิ จะได้เอาไปใช้งานได้จริงซะที (หัวเราะ) อย่างในบ้านเรา หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์อาจถูกถามว่า คุณเอาเงินภาษีไปเยอะแยะแล้วทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง ถ้าตอบด้วยคำว่าวิจัยเชิงประยุกต์จะฟังดูดีกว่าวิจัยเชิงพื้นฐานเยอะเลย
GM : แปลว่าสังคมไทยหรือรัฐไทยอาจไม่ได้ต้องการนักวิทยาศาสตร์มากเท่าเทคนิเชียน
บัญชา : เทคนิเชียน (technician) หมายถึง ช่าง ที่ถามนี่น่าจะหมายถึง เทคโนโลจิสต์ (technologist) ใช่ไหมครับ คือเป็นคนที่ทำของที่นำไปใช้ได้จริงเป็นหลัก
สังคมไทย คำว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปะปนกันไปหมดเลย อะไรก็ตามที่ไฮเทคเป็นวิทยาศาสตร์ไปหมด ถ้าจะเอานิยามให้ชัดๆ พระบางรูป อย่างเช่น ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ จะแยกชัดเจนเลยว่า วิทยาศาสตร์ คือ การใฝ่หาความรู้ความจริงของธรรมชาติ ส่วนเทคโนโลยีคือการประยุกต์ใช้ความรู้นั้น แต่จริงๆ แล้วคนที่มีเทคโนโลยีอาจจะไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าไรก็ได้นะ คือทำเป็น แต่ไม่รู้ว่าทำไม เช่น คนจีนสมัยก่อนทำดินปืนอาจจะไม่รู้ว่ามันคือสารเคมีอะไร มีปฏิกิริยาเคมีอย่างไร แต่รู้ว่าแบบนี้มันจะระเบิดได้ เอาไปจุดเป็นประทัดได้ หรือช่างตีเหล็กโบราณอาจจะตีดาบชั้นเยี่ยมออกมาได้ แต่ไม่รู้ว่าการตีดาบ การนำดาบร้อนๆ จุ่มน้ำนั้นมันไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรในเนื้อเหล็กกล้า
GM : สังคมไทยต้องการทั้งวิทยา- ศาสตร์และเทคโนโลยี คุณมองว่าสองอย่างนี้สมดุลกันไหมในสังคมไทย
บัญชา : เราขาดความรู้พื้นฐานและวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เลย มีความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือ เราคิดว่าอะไรก็ตามที่ฟังเป็นเหตุเป็นผลนั่นคือวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นเลยนะ คนที่อธิบายอะไรบางอย่างเป็นตุเป็นตะ ฟังดูน่าเชื่อถือ อาจจะกำลังทำในสิ่งที่สวนทางกับวิทยาศาสตร์อยู่ก็ได้ เช่น เลือกยกตัวอย่างบางชิ้นมาสนับสนุนความเชื่อของตนแล้วอ้างว่าเป็นสถิติ หรือจับเรื่องราวต่างๆ มาเทียบกันแบบจับแพะชนแกะ โดยไม่ดูบริบทการใช้งานของเรื่องนั้นๆ
GM : วิธีคิดทางวิทยาศาสตร์คืออะไร มนุษย์ทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิทยา-ศาสตร์จะฝึกได้อย่างไร
บัญชา : คนชอบพูดกันว่าต้องเริ่มจากช่างสังเกต คิดแบบมีเหตุมีผล แต่ในมุมมองของผมนะครับ หนึ่ง, ผมคิดว่าคุณต้องเป็น Skeptic คือเป็นพวกขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ วิทยาศาสตร์จะเกิดความก้าวหน้าครั้งใหญ่ หรือ Break- through แต่ละครั้ง จะต้องไม่เชื่อในสิ่งที่มีมาก่อนเสมอ หรืออาจจะเชื่อ แต่สงสัยว่ามันใช้ได้ในเงื่อนไขอะไร อย่างกรณีทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์กับกลศาสตร์ของนิวตัน ซึ่งจริงๆ แล้ว
ถ้าอัตราเร็วต่ำๆ หรือแรงโน้มถ่วงอ่อนๆ ทฤษฎีของนิวตันก็ใช้ได้นะ แต่ถ้าเร็วใกล้อัตราเร็วแสง หรือแรงโน้มถ่วงสูงๆ อย่างหลุมดำ ก็ต้องหันไปหาทฤษฎีของไอน์สไตน์
การเป็นพวกขี้สงสัยนั้นไม่ได้บอกว่าคนอื่นผิด แต่สงสัยว่าถ้าเขาจะพูดถูก จะถูกภายใต้เงื่อนไขอะไรหรือบริบทไหน ถ้าออกนอกบริบทแล้วยังถูกอยู่ไหม ถ้าใช้ไม่ได้ แล้วหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้นคืออะไรสอง, ในทางวิทยาศาสตร์ เราต้องแยกให้ได้ระหว่าง Fact คือข้อเท็จจริง กับ Interpretation คือการตีความ แล้วอีกอันหนึ่ง คือ Speculation หรือ การคาดเดา สามอย่างนี้ดูเผินๆ เหมือนแยกจากกันได้ง่าย แต่เอาเข้าจริงอาจตีกันนะ ยกตัวอย่างเรื่อง Fact คือสิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกัน แต่ประทานโทษ ผมคุยกับคนคนหนึ่งที่มีศรัทธาในทางศาสนามาก เขาคิดว่าผมผิดหวังจากศาสนาพุทธ ก็เลยชวนผมเปลี่ยนศาสนาไปเป็นศาสนาแบบเอกเทวนิยม ผมก็เลยแกล้งแหย่ไปเล่นๆ ว่า คุณรู้มั้ยว่าความคิดเรื่องเอก-เทวนิยม (Monotheism) หรือพระเจ้าองค์เดียวอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาโซโรอัสเตอร์ก็ได้นะ คือตอนยิวไปเป็นทาสในบาบิลอน แล้วพระเจ้าไซรัสมหาราชแห่งเปอร์เซียมาปลดปล่อย พระเจ้าไซรัสก็เลยถูกยกย่องให้เป็นเมสไซอาห์องค์หนึ่ง ก็เลยมีคนสันนิษฐานว่าเป็นไปได้ที่ความคิดจากศาสนาโซโรอัส-เตอร์ได้เข้าไปปะปนกับความคิดของยิวเขาก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะเอกเทวนิยมมีมาตั้งแต่อดัมกับอีฟแล้ว โอ้โห! ผมชอบคำอธิบายนี้มากเลย คุณเข้าใจมั้ย อดัมกับอีฟของเขาคือ Fact แต่อดัมกับอีฟในมุมมองของวิทยาศาสตร์ เป็น Speculation หรืออย่างเก่งเป็นแค่ Interpretation ไม่ใช่ Fact เพราะคุณหาตัวอดัมกับอีฟไม่เจอ แต่เขาเชื่อว่าอดัมกับอีฟคือ Fact เพราะพระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้า พระเจ้าสร้างโลกคือ Fact ส่วนวิวัฒนาการคือ Speculation จริงๆ แล้ววิวัฒนาการในทางวิทยาศาสตร์เป็น Fact นะครับ ส่วนกลไกการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน นั้นเป็น Interpretation ที่ถูกปรับจนกลายเป็น Theory
GM : เหมือนคุยกันอยู่บนคนละกรอบ คนละ Paradigm ใช่ไหม
บัญชา : ใช่ครับ แต่ผมมีหลักอย่างนี้ คือผมจะพยายามเข้าใจคุณว่าถ้าคุณนับถืออย่างนี้ มีความเชื่ออย่างนี้ นั่นก็เป็น Fact ของคุณ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ เราอาจถือว่า Fact ของคุณเป็นเพียง Theory หรือ Speculation เท่านั้น แต่ถ้าคุณต้องการให้ใครเข้าใจคุณ หรือแม้แต่ต้องการโน้มนำใคร คุณจะต้องเข้าใจเขาก่อนด้วย
ผมบอกใครๆ เสมอเลยว่า คุณอย่าด่วนเชื่อในสิ่งที่ผมบอก ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมก็มีกรอบหรือ Paradigm แบบหนึ่ง ส่วน Paradigm ของคุณอาจไม่เหมือนผม ผมขอฟังก่อนว่าความจริงของคุณเป็นอย่างไร เราจะได้คุยกันได้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมาเถียงกัน หักล้างกันอย่างงี่เง่า ถ้าคุยในบริบทของคุณก็โอเคนะ แต่ถ้าคุณอยากคุยในบริบทของเรา เช่นจะมาหักล้างทฤษฎีหรือหักล้างความเชื่อของเรา คุณก็ต้องเข้าใจเราก่อนว่าอะไรเป็นอะไร
GM : เหมือนกับควรจะถอยออกมาดูก่อนว่า ตัวเรายืนอยู่ตรงไหน ฐานที่มั่นทางความคิดของเราอยู่ตรงไหน ก่อนจะไปคุยกับคนอื่น
บัญชา : ใช่แล้ว จะว่าไปแล้วตอนนี้ผมออกไปไกลกว่าวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะบางอย่างผมก็ไม่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์ถูกต้อง จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์นั่นแหละที่สอนผม คือ วิทยาศาสตร์ทำให้ความรู้ความเข้าใจเดิมกลายเป็นแค่กรณีจำเพาะเสมอเลย เพราะการค้นพบครั้งสำคัญทุกครั้ง มักจะให้มุมมองใหม่ๆ ตามมา คือไม่ใช่ว่าของเดิมผิด แต่อาจจะถูกเฉพาะในบางเงื่อนไข
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า คนที่ไปต่างประเทศครั้งแรก จะเฮ้ย! อะไรวะ อังกฤษหน้าร้อนทำไมสองทุ่มดวงอาทิตย์มันยังไม่ตกเลย เพราะสำหรับคนไทยเรา มันเมกเซ้นส์มากที่พระอาทิตย์จะขึ้นตอนหกโมงเช้า ตกตอนหกโมงเย็น แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรไง และหากคิดถึงเรื่องดวงอาทิตย์เที่ยงคืนในประเทศแถบขั้วโลก ก็จะร้องอ๋อ…
ถ้าคุณอยู่ในกรอบกรอบหนึ่งจนกระทั่งเคยชิน ไม่เคยได้ยินได้ฟังอย่างอื่น คุณก็คิดว่าคุณถูก แล้วคุณก็ถูกจริงๆ ด้วยนะ ถูกภายใต้กรอบของคุณไง สำหรับคนไทย หรือคนที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร ดวงอาทิตย์ก็ตกตอนหกโมงเย็นบวกลบนิดหน่อย ไม่มีวันไหนที่สองทุ่มแล้วดวงอาทิตย์ยังค้างฟ้าอยู่ เพราะฉะนั้นคำว่าถูกผิด ในหลายกรณีมันมีกรอบ มีบริบทของมันอยู่ นี่คือวิทยาศาสตร์
GM : คุณคิดว่าสังคมไทยโดยรวมมีวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
บัญชา : เรามักจะสับสนระหว่างการมีเหตุมีผลกับวิทยาศาสตร์ แล้วเราก็ขาดความเข้าใจว่า ข้อความที่อ้างๆ กันอยู่นั้นมันเป็นข้อเท็จจริง เป็นทฤษฎี หรือเป็นการคาดเดา ยิ่งไปกว่านั้น แค่เนื้อหาความรู้ก็อ่อนเสียแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีคิดนะ
เมื่อคอนเซ็ปต์ผิด (Misconception) นานๆ เข้าก็กลายเป็นมายาคติ (Myth) ผมชอบยกตัวอย่างเรื่องฟ้าผ่าบ่อยๆ เช่น ที่เชื่อกันว่าถ้าคุณใส่สร้อยคอโลหะ ฟ้าจะผ่าคุณ อันนี้ไม่จริง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเราสับสนระหว่างตัวนำไฟฟ้า คือโลหะ กับตัวล่อฟ้าผ่า เพราะตัวนำไฟฟ้าที่เป็นโลหะกับตัวล่อฟ้าผ่า บางทีก็เป็นสิ่งเดียวกัน อย่างสายล่อฟ้าเป็นโลหะด้วย ล่อฟ้าผ่าด้วย แต่ตัวล่อฟ้าผ่าไม่จำเป็นต้องเป็นตัวนำไฟฟ้าเสมอไป อย่างต้นไม้สูงๆ นี่ถูกฟ้าผ่าประจำเลย ต้นไม้เป็นโลหะหรือตัวนำไฟฟ้าที่ดีมั้ย ก็ไม่ใช่ ประเด็นก็คือว่าต้นไม้สูงจึงทำให้มีโอกาสที่จะโดนฟ้าผ่ามากหน่อย พอพื้นฐาน ความรู้ไม่ถูกต้อง ความจริงกับมายาคติ
ก็ปะปนกัน แต่เรื่องนี้ในต่างประเทศก็เป็นเหมือนกันนะครับอีกตัวอย่างหนึ่งก็พวกโฆษณาสินค้าซึ่งอ้างสรรพคุณต่างๆ โดยพาดพิงคำศัพท์ทางเคมี ชีวเคมี ฟิสิกส์ โอ้โห! มีชื่อวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นเลย แถมยังผ่านการรับรองโดยสถาบันต่างๆ อีกต่างหาก คนที่ไม่รู้ว่าที่อ้างจริงเท็จแค่ไหน ก็อาจจะเชื่อตามได้ง่ายทีเดียว สินค้าที่โฆษณาเกินจริงจะเป็นอย่างนี้เยอะ เล่นกับความไม่รู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาความรู้ แต่ตรงนี้ก็มีทางป้องกันอยู่บ้าง ถ้าเรามี Skeptical Mind คือ สงสัยเอาไว้ก่อน
GM : เหมือนสังคมไทยมองวิทยาศาสตร์สองขั้ว ขั้วหนึ่งคือยกย่องมากๆ คือเห็นอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็เชื่อถือ อีกขั้วก็คือเป็นภาพลบ ทำร้ายคน สร้างมลพิษ ฯลฯ เลยเหมือนเรามองวิทยาศาสตร์เป็นสองขั้ว สวิงไปสวิงมา
บัญชา : เราเชื่อเพราะว่าฟังดูมีเหตุผล ผ่านการรับรองจากสถาบันแล้ว ก็อ้างกันไป อีกขั้วที่ทำร้ายคน เช่น เมลามีน ซึ่งเป็นข่าวดังในช่วงที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำร้ายคนอย่างสารเมลามีนที่อยู่ผิดที่ผิดทางมันเป็นผลผลิตนะ ไม่ใช่ตัววิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์
ประเด็นที่สำคัญคือ วิทยาศาสตร์ที่แท้ให้ความสำคัญกับหลักฐาน คิดลอยๆ ไม่พอนะครับ จะต้องมีหลักฐาน ผมขอยกตัวอย่างละครไทยที่เกี่ยวกับผี บางเรื่องดูเหมือนพยายามจะบอกเราว่าตัวเอกไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ โดยตามบทเป็นจิตแพทย์ แต่ในหนังกลับนำเสนอชัดๆ เลยว่ามีผี มีวิญญาณ แต่ขอโทษนะครับ อุปาทานหมู่ หรือ Mass Hysteria นี่มีกลไกการเกิดชัดเจน เป็นกันทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในบ้านเรา
เล่าแบบย่อๆ ก็คือ อุปาทานหมู่ในกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งมีความเชื่อเหมือนๆ กัน เช่น เป็นนักบวช เป็นแม่ชี เป็นเด็กในโรงเรียน หรือเป็นคนทำงานในโรงงานเดียวกัน จุดสำคัญก็คือ ต้องมีความกดดันอะไรบางอย่างที่ทำให้คนเหล่านี้พูดออกมาไม่ได้ เช่น ถ้าเป็นนักบวช ก็ถูกความเชื่อทางศาสนากดเอาไว้ ถ้าเป็นเด็ก ก็พูดเรื่องครูที่ทำเรื่องชั่วๆ ไม่ได้ แต่ในที่สุดก็จะระเบิดออกมา อุปาทานหมู่จะเริ่มจากคนแรกที่เรียกว่า คนเหนี่ยวนำ แล้วคนอื่นๆ ก็เป็นตาม
แม้กลไกทางจิตวิทยาจะรู้กันชัดเจนแล้ว วิธีแก้ไขก็รู้ แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังเชื่อเรื่องผีเข้า คือถ้าพูดง่ายๆ ว่าผีเข้าก็พอได้ แต่ถามว่าไหนล่ะผี
GM : ไหนๆ ก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว ต้องถามว่าคุณเชื่อเรื่องผีไหม
บัญชา : ถ้ายกเรื่อง ‘ผี’ ที่นักสังคม- วิทยาตีความกันว่าเป็นกฎเกณฑ์ของชุมชนออกไป แล้วพูดถึง ‘ผี’ ในความหมายที่เข้าใจกัน
ผมเชื่อว่าผีอยู่ในตัวเรา ผีคือสิ่งที่จิตเราสร้างขึ้นมา เอาง่ายๆ เช่น ถ้าคุณลองอยู่คนเดียว ปิดไฟทั้งห้อง แล้วยืนหน้ากระจก จุดเทียนสักเล่มแล้วจ้องหน้าตัวเองให้นานพอ ผมเชื่อว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ทนไม่ได้ อาจจะเกิดภาพหลอนหรือเกิดความรู้สึกบางอย่างที่น่ากลัวขึ้น ผมว่านั่นคือกำเนิดของผีล่ะ
ทีนี้ถ้าถามว่าผี ‘มีจริง’ มั้ย อันนี้ก็น่าสนใจนะ ต้องตอบว่ามีสำหรับคนที่เจอมัน เพราะว่ามันเกิดขึ้นในจิตของเขา
GM : แสดงว่าผีไม่ใช่ของสากล
บัญชา : ผีเป็นของสากลในแง่ที่ว่าทุกคนมีโอกาสเป็นได้อย่างนั้นหมด เพราะคนคือคน แต่ผีไม่ใช่เรื่องทางกายภาพที่จับต้องได้ แต่ผีในวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ใช่ของสากล ถ้าคิดว่าสากล ก็ต้องตอบคำถามว่าเหตุไฉนฝรั่งถึงไม่มีผีกระสือ หรือถ้าตีความเลยไปถึงเรื่องเทวดา ก็ต้องถามว่าเหตุไฉนเทวดาฝรั่งจึงติดปีกและมีวงๆ อยู่เหนือหัว เหตุไฉนเทวดาผู้หญิงของไทยจึงโนบราผีหรือเทวดาแบบนี้ถูกสร้างโดยบริบททางสังคมด้วย และพร้อมที่จะผุดขึ้นมาเพราะว่าคุณถูกหล่อหลอมมาพร้อมกันทั้งร่างกาย สมอง และสังคม
GM : แล้ววิทยาศาสตร์มีคำอธิบายเรื่องชีวิตหลังความตายอย่างไร
บัญชา : ผมไม่ได้ตามเรื่องนี้มากเท่าไหร่ แต่ผมตามเรื่องกลับชาติมาเกิดว่าวิทยาศาสตร์ศึกษาอย่างไร วิทยาศาสตร์พยายามอย่างนี้ครับ มี 3 แบบหลักๆ
แบบแรก คือเวลาบางคนถูกสะกดจิต เขาจะเล่าเรื่องที่ราวกับว่าเป็นอดีตชาติของเขา แบบนี้เรียกว่า Past Life Regression คือสะกดจิตให้ระลึกถึงอดีตชาติ
แบบที่สอง คือเด็กอายุประมาณ 3-7 ขวบ จะเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าตัวเองเคยเป็นคนนั้นคนนี้มาก่อน แบบนี้อินเดียมีมาก พม่า ไทย ก็มี ฝรั่งมีบ้างแต่น้อยกว่า ส่วนแบบที่สามนี่ก็น่าสนใจ คือ มีการอ้างว่าแผลเป็นของคนบางคนเป็นผลมาจากเหตุการณ์ในอดีตชาติ เช่น ก่อนตายถูกยิง หรือขับรถไปชนต้นไม้ พอเกิดใหม่ก็ทำให้เกิดแผลในบริเวณที่เคยได้รับบาดเจ็บนั้น วิทยาศาสตร์จะเข้าไปตรวจสอบอย่างน้อย 3 แบบนี้
ในแบบแรก เรื่องสะกดจิตระลึกชาติ พบว่ามีแนวโน้มที่จะไม่ใช่เยอะ เพราะว่าเกิด False Memory คือความจำปลอมขึ้นมาเยอะมาก คุณเคยสังเกตมั้ยว่าบางทีเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่ง คนสองคนพูดไม่ตรงกัน หรือแม้แต่คนคนเดียวกัน เวลาเหตุการณ์ผ่านไป กลับไปเล่าเรื่องเดิมจะมีรายละเอียดแตกต่างไป บางอย่างหายไป บางอย่างก็เพิ่มเข้ามา คือมีความจำเลอะเลือน เรื่องสะกดจิตระลึกชาติ ความน่าเชื่อถือจึงค่อนข้างต่ำ
ส่วนแบบที่สอง ที่อ้างว่าเคยเกิดเป็นคนในอดีตชาตินั้น มีหมอชื่อ เอียน สตีเวนสัน ในอเมริกาไปตรวจสอบกรณีที่กล่าวอ้างในอินเดีย สมมุติว่าเด็กคนหนึ่งในครอบครัวหนึ่งบอกว่าเขาเคยเกิดอยู่ในอีกครอบครัวอื่นมาก่อน คุณหมอที่ไปตรวจสอบก็ต้องมั่นใจว่าสองครอบครัวนี้ยังไม่เคยพบปะหรือคุยกัน คือพอมีข้ออ้างปั๊บก็ต้องรีบไปตรวจสอบเลย แล้วเช็กว่าเด็กพูดถูกต้องแค่ไหน มันมีกรณีที่น่าสงสัยหลายกรณีเหมือนกันที่ดูเหมือนจะยังอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมเด็กพูดได้ถูกต้องเยอะขนาดนั้น เช่น เคยเกิดเป็นผู้หญิงที่เสียชีวิตหลังจากคลอดบุตรคนแรก หรือว่ารู้ที่ซุกซ่อนของใช้ส่วนตัวในบ้าน แล้วก็ในบ้าน อะไรทำนองนี้
แบบที่สามคือรอยแผลเป็น อันนี้วิทยาศาสตร์ก็ไปตรวจสอบโดยไปดูบันทึกของทางการ เช่น เอกสารของตำรวจ แต่กรณีแผลเป็นต้องมีมากกว่าหนึ่งแห่งขึ้นไป คือถ้ามีแผลเป็นสองหรือสามแผลตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ น้ำหนักของคำกล่าวอ้างมันก็เยอะขึ้น คือไม่ได้สรุปว่าใช่นะครับ คือถ้าเป็นเหตุบังเอิญ ก็เป็นเหตุบังเอิญที่น่าทึ่งทีเดียว
แต่ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แบบ Skeptic (หัวเราะ) ในวัฒนธรรมไทยเราจะอ้างว่า บางคนเคยเป็นคนเป็นสัตว์บางอย่างมาก่อน เช่น ปลาบู่ทอง แต่ไม่มีแมลง ไม่มีไดโนเสาร์ ไม่มีอาร์มาดิลโล หรือสัตว์ที่เราไม่รู้จัก เราเป็นแต่สิ่งที่คุ้นเคยใกล้ๆ ตัว ไม่ได้บอกว่าไม่เชื่อนะ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น
บางวัฒนธรรมไปไกลถึงขนาดว่าบางคนอ้างว่าเคยเกิดเป็นต้นไม้มาก่อน อย่างพิธา-กอรัส นักปรัชญากรีกที่เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และเจ้าลัทธิ ก็อ้างว่าเคยเกิดเป็นต้นไม้มาก่อน เรื่องนี้ท่านพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เขียนไว้ในหนังสือ ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก อย่างนี้ก็แสดงว่าความเชื่อที่ว่าบางคนเคยเกิดเป็นต้นไม้ก็มีอยู่ ถ้าจำไม่ผิดเรื่องปลาบู่ทองก็มีว่าเคยเกิดเป็นต้นมะเขือใช่ไหมครับ
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า หากการกลับชาติมาเกิดเป็นจริง เหตุไฉนมันไม่เป็นสากลจนทุกชาติทุกภาษาพูดตรงกัน เช่น หรือหากเกิดเป็นต้นไม้ได้ ทำไมจึงไม่มีใครอ้างว่าเคยเกิดเป็นกะหล่ำปลีมาก่อน (หัวเราะ) พูดเล่นนะครับตัวอย่างหลังนี้
แต่หากการกลับชาติมาเกิดไม่เป็นจริง ทำไมจึงอธิบายหลายกรณีไม่ได้เสียที เพราะฉะนั้น ผมอยู่ระหว่างเชื่อกับไม่เชื่อว่ามีจริง ผมวางใจไว้ตรงกลางๆ แต่ค่อนข้างไปทางไม่เชื่อมากกว่า อีกอย่างคือเรื่อง Reincarnation หรือการกลับชาติมาเกิดนี่เป็นคอนเซ็ปต์ มาจากศาสนาพราหมณ์นะ แล้วพุทธกับเชนก็รับไป แต่คอนเซ็ปต์นี้ไม่มีในศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม ถ้าจะมีในบางกลุ่มที่ถือกันว่านอกรีต ก็เป็นการนำแนวคิดนี้เข้ามาจากกรีก ศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม มีเรื่อง Resurrection คือฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาในวันพิพากษา
GM : จริงๆ แล้วมีเรื่องมากมายเลยที่ดูเหมือนว่าเมกเซ้นส์ น่าเชื่อถือ คนจึงพร้อมจะเชื่อ แล้วเราจะฝึกอย่างไรให้ตัวเราเป็นคนที่ Skeptic หรือขี้สงสัย
บัญชา : ก่อนอื่นอย่าเพิ่งตั้งสมมุติฐานว่าการเป็น Skeptic นี่ดีนะ (หัวเราะ) เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน การเป็นคนขี้สงสัยมากๆ มันทำให้ขาดศรัทธาบางอย่างได้ แต่ถ้าต้องการฝึก ก็อาจทำได้ด้วยการมองเรื่องเรื่องหนึ่งด้วยสายตาของคนในวัฒนธรรมอื่น หรือด้วยสายตาของคนในวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ต่างสถานภาพกัน ความขี้สงสัยเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คุณตั้งต้นในการหาความรู้ใหม่ที่อาจจะทำให้ไม่ติดในกรอบเดิมได้
GM : แปลว่ามันอาจจะเพิ่มทุกข์ให้เราได้น่ะสิ เพราะเห็นอะไรก็สงสัยไปหมด
บัญชา : เพิ่มทุกข์มั้ย เป็นไปได้เหมือนกันนะ เพราะถ้าเราทำใจบางเรื่องไม่ได้ เราก็อาจจะเป็นทุกข์ แต่เราสามารถทำใจให้กว้างๆ ว่าเราอาจจะผิดได้นะ ผมเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าผมอาจจะเข้าใจเรื่องต่างๆ ไม่ถูกต้องเยอะแยะ ทำไมรู้มั้ย เพราะมนุษย์มีแนวโน้มจะคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอ แล้วจะเป็นไปได้หรือที่ว่าผมจะวิเศษกว่าคนอื่น เป็นไปไม่ได้เลย
ยกตัวอย่างดีกว่า คนไทยที่นับถือพุทธถูกสอนว่าพวกเรามีบุญมาก เพราะเกิดมาในบวรพุทธศาสนา ผมมานั่งนึกดูนะ เอ! นี่มันการตลาดหรือเปล่าหนอ คนไทยมีอะไรวิเศษกว่าชาวบ้านหรือ ถึงได้มีบุญมาอยู่ในบวรพุทธศาสนา นั่นหนึ่งนะ สอง, สมมุติว่าเรามีบุญจริง แล้วชาวพุทธที่เขาอยู่ในพุทธศาสนานิกาย
อื่นล่ะ อย่างมหายานของจีน พระพุทธเจ้ายังอยู่นะ ที่แดนสุขาวดีโน่น หรือวัชรยาน (ตันตระ) ของทิเบต ที่พระโพธิสัตว์มีชายาได้ มีพระนางตารา ชาวพุทธนิกายอื่นเขาพูดอย่างเดียวกันได้ไหม คือ พวกเรามีบุญมากเลยนะ เกิดในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ซึ่งเหนือกว่าพุทธเถรวาทและพุทธมหายาน !
GM : ดูเหมือนคุณสนใจเรื่องศาสนามาก
บัญชา : ศาสนาน่าสนใจ เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดโยงอารยธรรมมนุษย์มานับพันปี ความเป็นมนุษย์ของเรามันมีเรื่องจิตวิญญาณอยู่ด้วย ความเชื่อที่เป็นระบบขึ้นมาก็คือ ลัทธิ พอเป็นระบบใหญ่มากมีประเพณีและข้อปฏิบัติซับซ้อนจนกลายเป็นวิถีชีวิตก็คือ ศาสนาผมเชื่อว่าถ้าอยากจะเข้าใจคน ทั้งในระดับปัจเจก หรือในระดับวัฒนธรรม หรือแม้แต่อารยธรรม ก็จำเป็นต้องเข้าไปถึงตรงที่เป็นจิตวิญญาณของเขาเลย แม้แต่คนที่บอกว่าไม่มีศาสนา นั่นก็เป็นศาสนาหนึ่งของเขา เพราะเป็นความเชื่อของเขาวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาความจริงของธรรมชาติ แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ยังมีสังคม ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายสัพเพเหระ คิดเรื่องจริงจังบ้าง เรื่องฟุ้งซ่านบ้าง นินทาคนโน้นคนนี้บ้าง มีทั้งเมตตาทั้งอิจฉาปะปนกันไป ซึ่งวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่ไปถึงขั้นนั้น คือแม้จิตวิทยาจะพยายามศึกษาว่าทำไมจิตมนุษย์ถึงมีอารมณ์ มีความรู้สึก แต่ก็ยังมีมิติอื่นอีกเยอะที่ยังไม่เข้าใจ วิทยาศาสตร์เป็นเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของอารยธรรมมนุษย์ ในมุมมองของผม ศาสนานี่ใหญ่กว่าวิทยาศาสตร์
ดูอย่าง จอร์จ สมูท (George Smoot) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อสองปีก่อน เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยม แต่เป็นคนมีศรัทธาในศาสนามาก เวลาเขาเห็นภาพรังสีไมโครเวฟฉากหลังที่หลงเหลือมาจากบิ๊กแบงที่สามารถนำไปอธิบายโครงสร้างของเอกภพได้ เขาก็บอกว่า หากคุณเคร่งศาสนา นี่เสมือนการพบกับพระเจ้า คือ ได้สัมผัสและเข้าใจผลงานของพระองค์ เห็นมั้ยว่าพอเชื่อถือศรัทธาอย่างนี้ การตีความต่างๆ ก็จะเป็นไปตามที่คุณเชื่อ
GM : เป็นเพราะอุ่นใจกว่าที่ได้มีที่พึ่งบางอย่างไหม เพราะบางทีการเป็นอิสระก็เป็นทุกข์ขนาดหนักได้เหมือนกัน
บัญชา : ใช่, อย่างที่ ไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ไง ไมเคิล ไรท์ เป็นนักเขียนที่ชื่นชอบอันดับต้นๆ ของผมนะ อีกคนคือ คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ผมชอบมากๆ เพราะนักเขียนเหล่านี้ไปสืบหาข้อมูลใหม่ๆ หรือไม่ก็มีมุมมองแปลกๆ ที่มีเหตุผลน่าสนใจกลับมาที่คำถาม…ไมเคิล ไรท์ บอกว่าตั้งแต่ปฏิเสธคริสต์ศาสนามานี่ ตัวเองรู้สึกอิจฉาคนอื่นที่ยังมีที่ยึดเหนี่ยว แต่ตัวเองไร้ศาสนา ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว แต่จริงๆ แล้วที่ผมว่าเขายึดเหนี่ยวอยู่ก็คือความเชื่อของเขานั่นแหละคำถามคุณนี่ดีมากเลย ผมชอบบอกเพื่อนๆ ว่าผมไม่มีศาสนา แต่เอาเข้าจริง ผมนี่ Very Religious เลย ผมนับถือพระศิวะนะ คือแม้จะไม่เชื่อว่าพระศิวะมีตัวตนจริง แต่ผมนับถือว่าในแง่สัญลักษณ์ ที่ผู้คนนับแต่อดีตจำนวนมากให้ความเชื่อถือศรัทธา
GM : ทำไมถึงเป็นพระศิวะ ทำไมไม่เป็นพระพรหม หรือพระนารายณ์
บัญชา : ที่ชอบพระศิวะคงเป็นเพราะท่านเป็นศิลปินดีมั้ง (หัวเราะ) พระศิวะมีสีสัน ดูอย่างปางศิวนาฏราช หรือปางอรรถนารีศวรนั่นสิ พระพรหมนี่ผมเข้าใจว่าถูกสร้างขึ้นมาทีหลังพระอินทร์ด้วยซ้ำ พระอินทร์นี่เก่าแก่มากนะ ผมเคยค้นไปเจอเรื่องของพระอินทร์ โอ้โฮ! ตื่นตะลึงเลย คุณเคยอ่านเรื่องของฮิตไทต์ (Hittite) มั้ย ฮิตไทต์เป็นชาวอินโดยูโรเปียนกลุ่มหนึ่งที่เคยฟัดกับอียิปต์ แต่เก่งขนาดอียิปต์ข่มไม่ลง มีอยู่ครั้งหนึ่งฮิตไทต์รบกับมิตทันนี (Mitanni) ซึ่งมีชนชั้นนำเป็นชาวอินโดยูโรเปียน ปรากฏว่าเข่นกันไม่ลง ฮิตไทต์กับมิตทันนีก็เลยทำสนธิสัญญาสงบศึกขึ้นมา เพราะยิ่งรบไปก็ยิ่งเสียหายทั้งคู่ ในสัญญานั้นมีการอ้างถึงเทพหลายองค์ เช่น อินทรา วรุณา และนาสัตยะ นี่คือปี 1380 ก่อนคริสต์ศักราช คือกว่าสามพันปีมาแล้ว ผมอ่านแล้วขนลุกเลย คือถ้าเป็นพวกพราหมณ์มีพระอินทร์ก็ไม่เห็นแปลก ก็ในศาสนาพราหมณ์มีอยู่แล้วนี่ แต่นี่ฮิตไทต์นะ เฮ้ย! มีเทพอินทราด้วยเว้ย !
มีการตีความว่า เทพพวกที่เก่ามากๆ มักเกี่ยวกับธรรมชาติ อย่างอินทราหรือพระอินทร์ก็มีวัชระหรือสายฟ้าเป็นอาวุธ เทพวรุณาก็พระพิรุณ ส่วนเทพนาสัตยะ (Nasatyas) เป็นฝาแฝด มีร่างกายเป็นคน หัวเป็นม้า
นี่น่าจะเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลเรื่องสายฟ้าก็น่าสนใจนะ เทพของพวกอินโดยูโรเปียนจะมีบางองค์มีอาวุธเป็นสายฟ้า เช่น ชาวอารยันมีพระอินทร์ทรงวัชระ ชาวกรีกมีเทพบดีซุสซึ่งใช้สายฟ้าเป็นอาวุธ ส่วนชาวนอร์สก็มีเทพทอร์ซึ่งใช้สายฟ้าเป็นอาวุธเช่นกัน เวลามีใครไหว้บูชาเทพเหล่านี้ แม้ผมจะไม่ไหว้ตาม แต่จะนึกในใจว่า นี่คือบุคลาธิษฐานของสิ่งที่มีความสำคัญต่ออารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่ยุครุ่งอรุณเลย
GM : ดูเหมือนคุณจะสนใจเรื่องต่างๆ กว้างขวางมาก แต่เป็นความสนใจที่เข้าถึงด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์
บัญชา : ใช่, แก่นเป็นวิทยาศาสตร์ คือ มีหลักฐาน มีการคาดคะเน มีการตรวจสอบ คือถ้าอันไหนที่ไม่มั่นใจ ก็จะบอกว่าตอนนี้ความรู้ของเราเป็นแค่การคาดเดา เราอาจจะคิดว่ามันน่าจะใช่ แต่ถ้าไปถามคนที่รู้จริงเขาอาจจะบอกว่ามันเป็นแค่ความบังเอิญ แต่ถ้าเกิดว่าความเข้าใจนั้นถูกยืนยันด้วยหลักฐานจากงานวิจัย หรือว่าคนในฟิลด์ยืนยัน ผมก็จะดีใจแล้วว่าเราเข้าใจเรื่องราวหนึ่งๆ มากขึ้นเรื่อยๆ มันสนุก มนุษย์นี่ถ้าปากอิ่มและไม่มีปัญหาอะไรมาวุ่นวายจนทำอะไรไม่ได้ก็จะเสาะแสวงหาความรู้ไปเรื่อยๆ คุณเชื่อไหมว่าขนาดแม่ค้าหรือคนขับแท็กซี่ยังคุยเรื่องที่เป็นความรู้ได้เลย
ผมชอบเรื่องลมฟ้าอากาศ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมอึ้ง คือนั่งแท็กซี่ไปแถวสุขุมวิท คนขับแท็กซี่มองเมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งข้างบนมันจะยื่นออกมาทางที่เราอยู่ ผมเองยังไม่นึกอะไรด้วยซ้ำไป แต่คุณพี่คนขับพูดขึ้นว่า มันกำลังจะมาทิศทางนี้แล้ว (ตบโต๊ะ) โอ้โห! ผมถามเลยว่า ขอโทษครับ คุณพี่สังเกตมานานแล้วเหรอครับ แท็กซี่บอกใช่ ก็ถ้าส่วนบนของเมฆมันชี้มาทางนี้เมื่อไหร่ แปลว่ามันกำลังจะมาทางนี้ นี่คือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เลย เพราะเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) หรือเมฆฝนฟ้าคะนอง กระแสลมข้างบนที่มันพัดยอดเมฆไปทางไหน มันมักจะพาก้อนใหญ่ไปทางนั้น
ผมว่ามนุษย์เราทุกคนฉลาด แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในแง่ของการศึกษา แต่ถ้าได้เห็นอะไรมากๆ เข้า ก็จะเกิดเป็นรูปแบบ (Patterning) ขึ้นมา ความรู้ก็จะผุดออกมาจากรูปแบบนั้น คือถึงแม้จะไม่รู้ทั้งระบบเหมือนนักอุตุนิยมวิทยา แต่เขาเข้าใจ ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ตื่นเต้นมาก คุณพี่แท็กซี่เข้าใจว่าต้องดูทิศทางลมอย่างนั้นอย่างนี้ ประสบการณ์ของเขาเป็นครู เป็นคนขับแท็กซี่ธรรมดา ซึ่งไม่ธรรมดาทีเดียว
ผมก็เลยคิดว่า เป็นไปได้มั้ยที่ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด ไม่ว่าแม่ค้า กระเป๋ารถเมล์ หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ บางทีสิ่งที่เขาหลุดปากเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคุ้นเคยมากๆ ออกมา มันคมชัดยิ่งกว่าคำพูดของนักปราชญ์ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขาสัมผัสทุกวันจนเข้าถึงแก่น
GM : ดูเหมือนคุณสนใจเรื่องลมฟ้าอากาศมากทีเดียว เพราะเขียนถึงเรื่องนี้บ่อยๆ
บัญชา : ผมชอบมองเมฆ มองท้องฟ้าครับ แล้วก็พบว่ามีอีกหลายๆ คนเป็นเหมือนกัน ยิ่งถ้าเรารู้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้นๆ ก็จะทำให้เห็นความงามถึง 2 ระดับ คือ ระดับตาเห็น และระดับที่ลึกลงไป เช่น เมฆสีรุ้ง (Irisation) ซึ่งมีสีสันสวยงามมากสำหรับคนทั่วไปนั้น เราก็เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง
บทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์บ่อยๆ เกิดจากการที่ผมรู้สึกว่า เรื่องฝนฟ้า อากาศร้อนหนาว รวมทั้งพายุต่างๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ และเราก็ได้ฟังพยากรณ์อากาศกันทุกวัน แต่เอาเข้าจริงแล้วบางทีก็ไม่ค่อยเข้าใจอย่างคำว่า ‘ลมพัดสอบ’ นี่สอบอะไรหว่า? หรือ ‘ร่องความกดอากาศต่ำ’ ก็รู้ว่าเกี่ยวกับฝนตก แต่ทำไมหนอ? นี่ยังไม่นับชื่อพายุอีกสารพัด ตั้งแต่ พายุฤดูร้อน ดีเปรสชั่น โซนร้อน ไต้ฝุ่น ไซโคลน เฮอริเคน ทอร์นาโด ส่วนล่าสุดก็ นาคเล่นน้ำ ที่เป็นข่าวในบ้านเราบ่อยมากขึ้น ขนาดออกรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ของคุณสรยุทธเลย
เรื่องลมฟ้าอากาศนี่ผมได้ครูดีครับ คือเมื่อหลายปีก่อนตอนที่เป็นพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ในช่อง Nation Channel ผมได้ไปสัมภาษณ์ คุณจรูญ เลาหเลิศชัย ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ผมขอให้คุณจรูญช่วยอธิบายการอ่านแผนที่อากาศ ความหมายของศัพท์ต่างๆ ทางอุตุนิยมวิทยา ปรากฏว่าคุณจรูญค่อยๆ อธิบายจนผมเข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจแบบสุดๆ ไปศึกษาต่อด้วยตัวเอง เก็บข่าว และสะสมหนังสือไว้จำนวนมาก จนในที่สุดเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเรื่องลมฟ้าอากาศไปได้เล่มหนึ่ง
GM : แล้วเรื่อง ชมรมคนรักมวลเมฆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
บัญชา : ผมเปิดเว็บบล็อกชื่อ ชายผู้หลงรักมวลเมฆ ใน GotoKnow (http://gotoknow.org/blog/weather) ก็นำบทความที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วมาลงในบล็อก แล้วก็เติมภาพเมฆและปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าสนใจเข้าไป พร้อมคำอธิบายแบบง่ายๆ ปรากฏว่าได้เพื่อนที่หลงรักเมฆและท้องฟ้ามาร่วมแจมมากมาย เพราะเว็บนี้นอกจากจะมีภาพสวยๆ แล้ว บ่อยครั้งยังมีคำอธิบายเพิ่มเติม เช่น เมฆรูปจานบิน (UFO Cloud) เกิดขึ้นได้ยังไง บางทีก็วิเคราะห์ข่าว เช่น ข่าวฟ้าผ่า และพายุนาคเล่นน้ำ (Waterspout) เรื่องฟ้าผ่าและนาคเล่นน้ำนี่ผมให้ข้อมูลละเอียด จนทำให้ได้ออกทีวีไปถึง 4 ครั้ง
เพื่อนๆ ที่ชอบท้องฟ้ามีทั้งในบ้านเราไปจนถึงคนไทยที่อยู่ที่ฮาวายโน่นเลยครับ ส่งภาพเมฆและท้องฟ้ามาลงในบล็อกอยู่เรื่อยๆ ผมก็เสนอว่าตั้งชมรมคนรักมวลเมฆกันดีกว่า ขอค่าสมาชิกเป็นภาพเมฆหรือท้องฟ้าที่ถ่ายเองก็พอ บอกสถานที่ เวลา และความรู้สึกขณะเก็บภาพมาด้วยนิดหน่อยให้ได้บรรยากาศ เอามาแบ่งปันและประชันกันนิดๆเชื่อไหมครับว่า มีสมาชิกชมรมบางคนโดนเพื่อนถามว่า เฮ้ย! แกเป็นอะไรไปนี่ ถ่ายภาพท้องฟ้าได้ทั้งวัน !
GM : คุณคิดอย่างไรกับการที่มีคนพูดถึงเรื่องอากาศแปรปรวน เช่น หิมะตก ในทางวิทยาศาสตร์จะอธิบายอย่างไร
บัญชา : เรื่องสภาพอากาศแปรปรวนใครๆ ก็พูดกันนะครับ แต่ถ้าคนพูดให้ข้อมูลทางวิชาการแถมไปด้วยก็จะดีกว่า
อย่างเรื่องหิมะ ลองมามองภาพกว้างกันก่อนดีกว่า คือน้ำแข็งที่ตกลงมาจากท้องฟ้านั้นมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะอุณหภูมิจากพื้นผิวโลกและสูงขึ้นไปในขณะนั้นเป็นสำคัญ เช่น ถ้าเดิมทีเม็ดน้ำของเหลวตกลงมาจากฐานเมฆ แต่มาเจออากาศเย็นจัดใกล้พื้นจนทำให้เม็ดน้ำกลายเป็นเม็ดน้ำแข็ง แบบนี้ฝรั่งเรียกว่า สลีต (Sleet) ภาษาไทยเรียกว่า ฝนน้ำแข็งสมมุติต่อไปว่า เม็ดน้ำเย็นลงจนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่ไม่กลายเป็นน้ำแข็ง แบบนี้เป็นไปได้นะครับ ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า ของเหลวเย็นยิ่งยวด (Supercooled Liquid) แต่พอเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดนี้ตกกระทบกิ่งไม้ ใบไม้ สายไฟ หรือ พื้นดิน ก็จะกลายเป็นน้ำแข็งเคลือบผิวสิ่งที่ตกกระทบทันที คล้ายๆ น้ำตาลบางๆ ที่เคลือบโดนัทนั่นแหละครับ อย่างนี้ฝรั่งเรียกว่า ฟรีซซิ่งเรน (Freezing Rain) ภาษาไทยก็ว่า ฝนเยือกแข็ง
ฝนเยือกแข็งนี่สำคัญมากนะครับ คือ ในต่างประเทศ ถ้าเกิดบนพื้นถนน ก็อาจทำให้รถลื่นไถลเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าเกิดบนปีกของเครื่องบิน ก็อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนของกระแสอากาศที่ไหลผ่านปีก จนทำให้เครื่องบินเสียการทรงตัวตกลงมาได้ เรื่องนี้คนไทยไม่ค่อยได้ยินกันเลยใช่ไหมล่ะครับคุณจะเห็นว่า นักวิชาการ สื่อสารมวลชน และระบบการศึกษาในบ้านเรา แทบไม่ได้กล่าวถึงแง่มุมเหล่านี้เลย แต่ถ้าใครก็ตามที่คิดว่าภาวะโลกร้อนทำให้สภาพลมฟ้าอากาศแปรปรวน ก็คงต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย ไม่ใช่แค่พูดว่าหิมะอาจจะตกในเมืองไทย นี่ยังไม่นับน้ำแข็งแบบอื่นๆ ที่อาจตกลงมาได้ เช่น ลูกเห็บ (Hail) และลูกเห็บอ่อน (Graupel) นะครับ ส่วนหิมะ ผมให้ลองไปค้นคว้าดูเองว่าเกิดขึ้นได้ยังไง บอกหมดเดี๋ยวไม่สนุกวิทยาศาสตร์ทำไม
GM : คุณเป็นคนที่ออกโรงมาท้วงติงเรื่องความถูกต้องของข้อมูลในหนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’ และ ‘ฟิสิกส์นิวตัน’ ของทันตแพทย์สม สุจีรา ซึ่งเป็นหนังสือขายดีทั้งสองเล่ม อยากทราบว่าคุณเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และตอนนี้เรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว
บัญชา : คือตอนที่หนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’ พิมพ์ออกมาได้ประมาณสี่ห้าครั้ง บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้โทรฯมาหาผม บอกว่าขอให้ช่วยแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษได้ไหม ผมก็บอกไปว่าภาษาอังกฤษของผมไม่ดีถึงขนาดนั้น คือเป็นฟิสิกส์ล้วนๆ ก็อาจเป็นไปได้ แต่ถ้ามีศัพท์ศาสนาและอื่นๆ ผมทำไม่ได้หรอกแต่จุดสำคัญที่สุดอยู่ตรงนี้ครับ คือ หากคุณคิดจะโกอินเตอร์ และอยากจะให้คนอ่านหันมาสนใจพุทธศาสนา โดยใช้วิทยาศาสตร์ยุคใหม่นำ เรื่องวิทยา-ศาสตร์ของคุณจะต้องถูกต้องก่อน คนอ่านที่มีความรู้จึงจะหันมาฟังพุทธศาสนาที่คุณอยากนำเสนอว่าเป็นยังไง
แต่ถ้าเกิดวิทยาศาสตร์ของคุณไม่ดี จับแพะชนแกะ แถมผิดเพี้ยนเละเทะ คนอ่านที่มีความรู้ก็จะถามว่า ขนาดวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แม่นยำขนาดนี้ยังอาการหนักขนาดนี้ แล้วเรื่องทางศาสนาจะเชื่อถือได้แค่ไหน
หนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธ-เจ้าเห็น’ มีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่บิดเบือนมากอย่างไม่น่าเชื่อนะครับ แต่คนไทยเรานั้นมักจะไม่ไปฟัดใครเปรี้ยงๆ ตรงๆ ผมก็ใช้วิธีนุ่มนวลโดยบอกคุณบรรณาธิการไปว่า วิทยาศาสตร์ผิดเยอะมากนะครับ คุณควรหาคนมาช่วยแก้ไขก่อน แล้วค่อยมาว่ากันอีกทีเรื่องแปล เขาก็ครับๆ แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็ยังมองแง่ดีช่วยคิดต่อ ก็โทรฯไปหาอีกครั้งโดยบอกว่าผมขอคุยกับผู้เขียนดีมั้ย เพราะดูประวัติแล้วเขาเป็นรุ่นน้องเตรียมอุดมฯสองปี บรรณาธิการก็บอกว่าดีสิ อาจารย์คุยกับผู้เขียน มีอะไรก็ช่วยกันไปเลย แล้วผมก็คุยกับผู้เขียน
ทันตแพทย์สมบอกว่าได้เลยครับพี่ ผิดตรงไหนพี่ลิสต์มาเลย ผมก็นึกในใจว่า มันไม่ได้ผิดเพี้ยนนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งแก้ได้ไม่ยากนะ แต่มันเป็นที่วิธีคิดของทั้งเล่ม ซึ่งผู้เขียนพยายามชี้นำผู้อ่านโดยใช้สำนวนที่อ่านง่าย แต่ละเลยการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่องนี้ภายหลังผมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไปแล้วว่า จุดสำคัญในแง่ของการทำหนังสือก็คือ หนังสือเล่มนี้ขาดการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ ทั้งๆ ที่มีการอ้างถึงความรู้ระดับสูงมากมายตลอดทั้งเล่ม วิทยาศาสตร์ที่อ้างถึงนี่ไม่ใช่แค่ระดับมัธยมนะครับ แต่เป็นความรู้ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือสูงกว่านั้นก็มี
ความผิดพลาดมีในแทบทุกเรื่องที่อ้างถึง ไม่ว่าทฤษฎีเคออส ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทฤษฎีควอนตัม เทอร์โม
ไดนามิกส์ เรื่องนี้ผมเคยยกตัวอย่างผ่านสื่อไปแล้ว ประเด็นสำคัญก็คือ ความผิดพลาดเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ได้ข้อสรุปอย่างที่ชื่อหนังสืออ้างไว้ได้มีบางแง่มุมในการนำเสนอที่น่าคิด เช่น หน้า 58 บอกว่า “พระพุทธองค์ค้นพบคุณสมบัติของแสงมาก่อน และทรงเตือนว่า อย่าหลงติดกับอภินิหารของแสง แสงเป็นส่วนหนึ่งของนิมิต อภิญญา อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เป็นอุปสรรคต่อการหลุดพ้น” ข้อความนี้ใครที่สนใจพุทธศาสนาลองไปค้นหลักฐานมายืนยันหน่อย หรืออาจนำไปวิเคราะห์ต่อว่าทำไมจึงเขียนเช่นนี้ หรือหน้า 179 ก็บอกว่า “การประทับรอยพระบาทบนแผ่นหินไปทั่วโลก ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความจริงของเรื่องกราวิตอน” ซึ่งตีความได้ว่า รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้นมา เป็นเพราะพระพุทธเจ้าสร้างกราวิตอน หรือ อนุภาคความโน้มถ่วง ทำให้ดินหรือหินตรงนั้นยุบลงไปเป็นรอยพระพุทธบาท
คุณจะเห็นว่า ผู้เขียนกำลังเล่นกับความไม่รู้ของคนอ่านส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ว่ากราวิตอนคืออะไร และกำลังคาดเดาแบบ Wild Speculation คือ คาดเดาแบบหลุดโลกมากทีเดียว
มองในอีกแง่หนึ่งก็คือผู้เขียนมีจินตนาการสูงมาก แต่เขาใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจประเด็นวิชาการให้ถูกต้องน้อยเกินไป เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองนะ เพราะผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์คอลัมน์กาย-ใจ ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไว้ว่า “ผมค้นกว่าหนึ่งร้อยเล่ม ผมเป็นคนอ่านหนังสือไว การอ่านหนังสือต้องหาประเด็นให้ได้ อ่านครั้งแรก ผมจะใช้วิธีสแกนสิ่งสำคัญก่อน แล้วรอบสองอ่านเก็บความไม่กี่จุด ต่างจากเมื่อก่อนผมจะอ่านหมดทุกอย่าง อ่านทีละบรรทัดโดยไม่สแกน ไม่ไหวหรอกครับ เพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลเยอะ เทคนิคนี้ใช้ได้กับทุกอาชีพ ต้องมองหาจุดสำคัญให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะหลง แต่ประสบการณ์จะบอกเราเองว่าจุดไหนสำคัญ”
เทคนิคของผู้เขียนอาจจะใช้ได้สำหรับคนที่มีพื้นฐานและรู้เรื่องในเรื่องนั้นดีมากๆ นะครับ แต่ถ้าพื้นฐานไม่ดี ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเลือกเอาเฉพาะข้อความที่สนับสนุนความเชื่อของตนเองมาใช้
แต่เรื่องที่ทำให้ผู้เขียนและสำนักพิมพ์รู้ตัวอย่างชัดเจนคือ กรณีหนังสือ ‘ฟิสิกส์นิวตัน’ ครับ เล่มนี้ปกระบุว่าเขียนมาเพื่อเสริมหลักสูตรวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย
เป็นฟิสิกส์แค่ระดับ ม.4 เท่านั้น แต่ผิดมโหฬารเลย ผิดคอนเซ็ปต์เรื่องแรงกิริยา-ปฏิกิริยา ผิดคอนเซ็ปต์การหมุนของวัตถุ (Rotational Motion) กับการเคลื่อนที่เป็นวงกลม (Circular Motion) ใช้คำสับสนระหว่างมวลและน้ำหนัก และยังมีการพิสูจน์สูตรผิดอีกด้วย น่าห่วงทีเดียวสำหรับผู้เรียนที่เป็นเยาวชนซึ่งอาจรู้ไม่เท่าทัน
ในที่สุดก็มีผู้รู้คนหนึ่งในห้องหว้ากอ Pantip.com ชื่อ ศล เขาทนไม่ได้บอกขอเป็นฮีโร่หน่อยเถอะ ยอมซื้อหนังสือ แล้วเขียนแก้ไขไปกว่า 20 หน้าในเว็บ นี่เฉพาะบางบทเท่านั้นนะครับเรื่องนี้พอผู้เขียนทราบก็ต้องยอมรับ เพราะมันผิดชัดๆ เลย ก็เลยแจ้งสำนักพิมพ์ไปว่าขอระงับการพิมพ์เพิ่มเอาไว้ก่อน ตอนนั้นหนังสือเล่มนี้พิมพ์ไป 3 ครั้งแล้ว ทางสำนักพิมพ์ก็เลยได้จังหวะขอระงับการพิมพ์เพิ่มเล่ม ‘ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น’ ด้วย
แต่ล่าสุดไปเข้าร้านนายอินทร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2551) ได้เห็นในโฆษณาในโบรชัวร์ โดยหนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’ ยังวางขายอยู่ ผมก็โทรฯไปหาผู้บริหารท่านหนึ่งของบริษัทเลย เรียนท่านไปว่า หนังสือเล่มนี้ขัดกับปรัชญาพื้นฐานของบริษัทที่มีปณิธานมุ่งผลิตหนังสือที่มีคุณภาพนะครับ
ผมถือว่าความรู้นี่ศักดิ์สิทธิ์นะ ศักดิ์สิทธิ์ในแง่ที่ว่า กว่ามนุษย์จะได้ความรู้ที่ถูกต้องมา คนโบราณเขาต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้ ตรวจสอบ และสั่งสมกันมานาน
อีกอย่าง หนังสือเมื่อผลิตขึ้นมาแล้ว จะมีอายุยืนยาวกว่าชั่วชีวิตของคนคนหนึ่ง หรือแม้แต่องค์กรที่ผลิตมันขึ้นมา ส่งผลกระทบต่อคนมากกว่า 1 รุ่นครับ ผมเชื่ออย่างนั้น
GM : คุณวิเคราะห์ได้ไหมว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงขายดี เป็นไปได้ไหมว่า สังคมไทยเหมือนคนขาดที่พึ่ง
บัญชา : สไตล์การเขียนแบบเอาใจคนอ่าน คือ เขียนเสมือนยกย่องพระพุทธองค์ไว้สูงเหนือสิ่งอื่นๆ แต่ลองคิดในอีกมุมนะครับว่า ถ้าสิ่งที่กล่าวอ้างไม่เป็นจริงจำนวนมากซะแล้ว จะหมายความว่ายังไง แล้ว
ในส่วนข้อความต่างๆ ที่อ้างถึงพุทธศาสนา บางข้อความเข้าข่ายสัทธรรมปฏิรูปหรือไม่ ต้องวานให้ผู้รู้ทางศาสนาไปตรวจสอบแบบดูบ้าง ส่วนเหตุผลอื่นๆ ก็คงเป็นการตลาดที่ดี และมีสื่อสารมวลชนส่วนหนึ่งสนับสนุนด้วย
มีเรื่องเล็กๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ อาจารย์ระวี ภาวิไล ไปเขียนคำนิยมให้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าหนังสือน่าจะมีข้อมูลเชื่อถือได้ เท่าที่ผมทราบอาจารย์ระวีเป็นคนที่มีความรู้ฟิสิกส์ดี เวลาอาจารย์เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา อาจารย์ยังบอกชัดเจนว่าจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนาที่บอกว่ามีเป็นชั้นๆ เป็นเขาพระสุเมรุไม่สามารถประนีประนอมเข้ากันได้กับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ว่าจะขอตีความใหม่ว่า ระดับชั้นของนรกสวรรค์คือระดับจิตของมนุษย์
เรื่องนี้ทำให้ผมมีข้อสรุปชัดเจนว่า อาจารย์ระวีท่านไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด แต่คงเข้าใจว่าผู้เขียนมีเจตนาดี ก็เลยเขียนคำนิยมให้
GM : คุณไม่ถูกกระแสต่อต้านกลับจากคนอ่านที่เป็นแฟนหนังสือบ้างหรือ
บัญชา : เท่าที่ผ่านมาผมโชคดีนะ คือ ปรากฏว่ามีคนเข้ามาเชียร์มากกว่า คือ เขาอึดอัดกันมานานแล้ว แต่ที่โดนต่อต้านเล็กๆ ก็มีเหมือนกัน อย่างในเว็บวิชาการดอทคอม ขนาดผมเขียนเรื่องทางฟิสิกส์ล้วนๆ ก็มีคนแสดงความคิดเห็นว่า อ๋อ! คุณว่าพระพุทธเจ้าโกหกเหรอ หมายความว่าเขายึดหนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’ เป็นคัมภีร์ยืนยันว่า พระพุทธศาสนาเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ และพระพุทธเจ้าทรงค้นพบทุกสิ่งมาหมดแล้วก่อนนักวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มาแตะหนังสือเล่มนี้ แสดงว่าคนนั้นไม่ได้แตะผู้เขียนอย่างเดียว แต่กำลังแตะพระพุทธเจ้าด้วย โอ้โฮ! อย่างน้อยมีคนไทยบางคนเป็นอย่างนี้นะ
GM : ในช่วงครบรอบ 100 ปีไอน์สไตน์ ดูเหมือนมีหนังสือไอน์สไตน์เทียบกับพุทธศาสนาออกมาเยอะมาก
บัญชา : จริงๆ ไม่แปลก เพราะว่าฟิสิกส์ทฤษฎี พอถึงจุดหนึ่งแล้วคือปรัชญา ฟิสิกส์ทฤษฎีถามว่าจักรวาลมีกำเนิดมายังไง ถามคำถามเดียวกับนักปรัชญาเลย อย่างน้อยๆ ก็ปรัชญาสายอินเดียและกรีก เช่น กรีกพูดถึงเรื่องปฐมธาตุ ส่วนสายทางจีนนั้นไม่ใช่ เพราะจีนจะพยายามตอบปัญหาว่าคนและสังคมควรจะดำเนินไปอย่างไรจึงจะสงบสุข เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะปรัชญาจีนเกิดในยุคชุนชิว-จั้นกว๋อ ซึ่งมีการรบพุ่งระหว่างแคว้นต่างๆอย่างมาก
GM : คุณเคยบอกว่า ไอน์สไตน์เป็นโลโก้ของความฉลาดของมนุษยชาติ แต่ในเวลาเดียวกันมนุษย์ทั่วไปก็ไม่รู้หรอกว่าไอน์สไตน์คิดค้นอะไร สองอย่างนี้ขัดแย้งกันไหม
บัญชา : แห่ตามกันไงครับ เขาว่าเก่งก็เก่ง แต่เก่งยังไงหว่า จริงๆ แล้วยังไม่ต้องพูดถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพก็ได้นะ เชื่อมั้ยว่า การที่เรามองท้องฟ้าแล้วเป็นสีฟ้าไอน์สไตน์เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เขาคิดทฤษฎีขึ้นมาว่า ถ้าเรามีสสารเป็นตัวกลางที่กระจายอยู่ทั่วไป เมื่อมีแสงมาปั๊บ แสงสีต่างกันจะกระเจิงไม่เท่ากัน แสงสีแดง เหลือง ส้ม จะมีแนวโน้มพุ่งไปตรงๆ แต่ว่า ม่วง ฟ้า จะกระจายออกไปทั่ว เพราะฉะนั้นเวลากลางวัน แสงสีแดงก็จะพุ่งผ่านไป แต่ว่าแสงสีฟ้าจะกระจายไปทั่วฟ้า เราเลยเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า
อย่างเลเซอร์ ไอน์สไตน์คิดหลักการของเลเซอร์ได้ยังไงก่อนที่อุปกรณ์เลเซอร์จะถูกผลิตจริงกว่า 30 ปี ไอน์สไตน์จินตนาการว่า อิเล็กตรอนเวลาถูกกระตุ้น มันจะขึ้นไปที่ระดับพลังงานอีกชั้นหนึ่งซึ่งมีพลังงานสูงกว่า แล้วสักพักมันก็ต้องตกลงมาอยู่ที่ระดับต่ำลง ซึ่งจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแสง ไอน์สไตน์เสนอว่า ถ้ากระตุ้นให้มันขึ้นไปเยอะๆ อยู่สักพักหนึ่ง แล้วปล่อยมาพร้อมๆกัน แสงที่มันก็ต้องออกมาพร้อมๆกันด้วยเฟสเดียวกันเป๊ะเลย ความเข้มของแสงจะสูงมาก ตอนหลังจึงมีวิศวกรนำมาประยุกต์กับไมโครเวฟก่อน เรียกว่า เมเซอร์ ต่อมาถึงทำกับแสงที่ตามองเห็น เรียกว่าเลเซอร์ คือเวลาพูดถึงไอน์สไตน์คนมักจะอ้างถึงเรื่องยากๆ อย่างอวกาศโค้ง เวลาบิดเบี้ยว อะไรพวกนั้น แต่เรื่องอื่นๆ ที่ใกล้ตัว เขาคิดด้วยนะครับ
GM : อยากให้คุณลองทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายหน่อย ด้วยการอธิบายว่าสมการยอดฮิตอย่าง E=mc2 จริงแล้วมันคืออะไร สำคัญอย่างไร
บัญชา : สมการนี้เป็นสมการวิทยา-ศาสตร์ที่ถูกอ้างมากที่สุดเลยนะครับ เป็นผลพลอยได้แถมมาจากทฤษฎีสัมพัทธ-ภาพพิเศษของไอน์สไตน์
ตัว m ในสมการคือ mass เรียกว่า มวล หรือ มวลสาร มีหน่วยเป็นกิโลกรัม เป็นสิ่งที่ต้านการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ ภาษาฟิสิกส์เรียกว่า ความ เฉื่อย (Inertia) หมายความว่า ของสองชิ้น อันหนึ่งมวลน้อย อันหนึ่งมวลมาก ถ้าคุณออกแรงผลักเท่าๆ กัน อันที่มวลน้อยจะมีความเร็วเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า เพราะต้านแรงน้อยกว่า ส่วนอันที่มวลมากจะมีความเร็วเปลี่ยนแปลงไปน้อยกว่า เพราะต้านแรงมากกว่า
ส่วน E คือ Energy หรือ พลังงาน มีหน่วยเป็นจูล เป็นสิ่งที่สามารถทำงานได้ เช่น พลังงานลม ผลักให้ใบพัดกังหันหมุนได้ สมการนี้ E=mc2 บอกคุณว่า มวล m เปลี่ยนเป็นพลังงาน E ได้ แล้วได้เยอะด้วย เพราะว่า c หรือความเร็วแสงมีค่ามาก ยิ่งยกกำลัง 2 ยิ่งมากใหญ่ พลังงานนิวเคลียร์ทั้งกรณีระเบิดหรือกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็อิงตามสมการนี้ พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ บนโลกก็อิงตามสมการนี้ จริงๆ แล้ว แม้แต่ปฏิกิริยาเคมีที่ดูดหรือคายความร้อน ถ้าคิดแบบละเอียดตามฟิสิกส์ ก็ใช้สมการนี้ได้เช่นกัน
กรณีของดวงอาทิตย์นี้น่าสนใจ เดิมทีมีคนพยายามอธิบายว่า ดวงอาทิตย์คล้ายถ่านลุกแดงๆ อยู่หรือเปล่า คือเป็นปฏิกิริยาเคมี แต่ก็พบว่าปฏิกิริยาเคมีให้ความร้อนไม่พอ และไม่นานเชื้อเพลิงก็จะหมด นานไม่ถึงห้าพันล้านปี จนกระทั่งสมการ E=mc2 โผล่ขึ้นมา ก็มีนักฟิสิกส์คิดได้ว่าถ้าเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม แล้วได้พลังงานออกมาตามสมการนี้ พลังงานก็มากเพียงพอ แล้วก็ยาวนานมากพอที่โลกจะพัฒนาจนเกิด
มีชีวิตขึ้นมาได้ นี่ลึกเลยนะ เป็นกึ่งๆปรัชญาเลยว่า พลังงานที่เราได้มา มาจากดวงอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่ พลังงานในพืชก็มาจากดวงอาทิตย์ พลังงานจากดวงอาทิตย์มาจากไหน ก็มาจากนิวเคลียร์ ฟิวชั่นและเป็นไปตามสมการ E=mc2
ทีนี้ในแง่ปรัชญา น่าสนใจมากเลยว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นว่าต่างกัน แท้จริงแล้วบางอย่างมันคือเรื่องเดียวกัน มวลกับพลังงานคืออันเดียวกัน แต่อยู่ใน 2 รูปแบบ ไอน์สไตน์พูดอย่างนั้นเลยนะ เป็น Manifestation คือมันโผล่หน้ามาให้เราเห็นในสภาพต่างกันเท่านั้นเอง ฟิสิกส์มีสมมุติฐานลึกๆ อยู่ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูแตกต่างกันนั้น ที่แท้แล้วคือสิ่งเดียวกัน เช่น มวลกับพลังงานนี่ไอน์สไตน์พบ แต่ก่อนหน้า E=mc2 ก็พบว่าแม่เหล็กกับไฟฟ้าคือสิ่งเดียวกัน ถ้าเราผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในขดลวด จะเกิดสนาม
แม่เหล็กขึ้นมารอบๆ หรือถ้าเกิดมีสนามแม่เหล็ก เอาลวดโลหะไปเคลื่อนที่ผ่าน ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นมา
แล้วฟิสิกส์ยังเจออะไรอีก ถ้ามองแบบไอน์สไตน์ก็ต้องบอกว่า อวกาศกับเวลาเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนฟิสิกส์ควอนตัมบอกว่าอนุภาคกับคลื่นก็คือสิ่งเดียวกัน บางสภาวะทำตัวเป็นคลื่น บางสภาวะทำตัวเป็นอนุภาค อย่างอิเล็กตรอนซึ่งปกติจะถือว่าเป็นอนุภาค เป็นเม็ดๆ แต่พอผ่านผลึกของสสารก็ทำตัวเป็นคลื่นได้ หรือแสงซึ่งปกติเป็นคลื่น แต่ในปรากฏการณ์โฟโต้อิเล็กทริก แสงทำตัวเป็นอนุภาคโฟตอนฟิสิกส์นี่รวมหลายอย่างเข้าด้วยกันเลย เพราะฉะนั้นในแง่ปรัชญา สมการ E=mc2 จึงเป็นตัวอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏต่อสายตามนุษย์ที่แตกต่างกัน แท้จริงแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน
GM : เราเข้าใจมวลกับพลังงานได้ค่อนข้างง่าย แต่ในทางฟิสิกส์แล้ว เวลาคืออะไร
บัญชา : โอ้โห! คำถามนี้ยากนะ นักฟิสิกส์บอกว่า เวลานี่นิยามยากมากเลย แต่ช่วงของเวลา หรือ Time Interval นิยามได้ง่ายกว่า แต่ในทางวิทยาศาสตร์ เวลามีมากกว่าฟิสิกส์นะครับ อย่างเวลาเราคุยกันเพลินๆ หรือว่าเรานั่งดูหนังสนุกๆ เวลาดูเหมือนจะผ่านไปรวดเร็ว อย่างที่ไอน์สไตน์บอก อันนั้นเป็น Psychological Time หรือเวลาจิตใจรู้สึก ไม่ใช่เวลาทางกายภาพ หรือ Physical Time ในทางฟิสิกส์ ส่วนเวลาที่คิดจากการที่เอกภพขยายตัวเรียกว่า Cosmological Time เป็นลูกศรกาลเวลาที่บอกว่าเอกภพขยายตัวไป ค่าเอนโทรปี (Entropy) จะเพิ่มขึ้น ก็เป็นเวลาแบบหนึ่งเวลามันมีเสน่ห์ด้วยแหละ จะว่าไปแล้วมนุษย์เป็นทาสของเวลา น่าสนใจว่าหลักอนิจจังก็อิงกับเวลานะ ถ้าคุณหยุดเวลาได้จริงๆ ก็น่าสงสัยว่าอนิจจังจะหายไปมั้ย
ผมเจอหลักอนิจจังในทางฟิสิกส์เลยนะ อยู่ในวิชากลศาสตร์เชิงสถิติ หรือ Statistical Mechanics อย่างน้ำแก้วหนึ่ง คนทั่วไปก็รู้ว่าถ้าปล่อยไว้ มันก็ค่อยๆ ระเหยไป แต่นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าที่มันระเหยก็เพราะโมเลกุลของน้ำที่ผิวออกไปมากกว่าไอน้ำที่กลับเข้ามาเกาะที่ผิว แต่ถ้าเรารู้ลึกลงไปอีกว่า โมเลกุลของน้ำที่อยู่ในแก้วไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีการสั่น หมุน แล้วยังเคลื่อนที่ ชนกันสะเปะสะปะเต็มไปหมดเลย อนิจจังก็คือว่า ณ เวลานี้ กับเวลาถัดไป มันคนละสภาพกัน ปริมาณก็ไม่เท่ากัน โมเลกุลตัวหนึ่งๆ ก็อยู่คนละที่ แต่ที่เราไม่เห็นอนิจจังอย่างจะเป็นเพราะอายตนะของเรา เช่น ตา ไม่สามารถตรวจจับของเล็กๆ นั้นได้ แต่เรารู้ถึงอนิจจัง เพราะประสบการณ์บอกเราว่า พอเวลาผ่านไปนานๆ น้ำระเหยไปหมด แต่เราไม่เคยเห็นโมเลกุลของน้ำหลุดออกไปด้วยตาของเราเอง ยกเว้นน้ำที่เดือดกลายเป็นไอออกมา กรณีนี้เราไม่เห็น เพราะมันเล็กและเร็วเกินกว่าที่จะเห็นได้
ทีนี้มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ Plate Tectonics หรือการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลก เราอยู่แบบนี้ โลกนี้ก็อยู่นิ่งๆ ดี ยกเว้นเกิดแผ่นดินไหว แต่ว่านักธรณีวิทยาบอกว่าเปลือกโลกกำลังเคลื่อนที่อยู่นะ แต่ช้ามาก แต่ถ้าเกิดดูสเกลเวลาในระดับสิบล้านหรือร้อยล้านปี เราก็จะเห็นมันเคลื่อนที่ได้ กรณีนี้คือเกิดช้าเกินไปและใหญ่เกินไป ทำให้คนมองไม่เห็น แต่มันเป็นอนิจจังเหมือนกัน
อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเวลา มันจะทำ ให้เราเข้าใจได้เยอะมาก วิวัฒนาการก็เกี่ยวกับเวลา ถ้าคุณมองที่จุดเดียวหรือ ช่วงสั้นๆ คุณจะไม่เห็นมัน แต่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน มองเห็นถอยย้อนไปไกลว่าสิ่งมีชีวิตต้องเกิดวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ แต่กว่าจะเห็นอย่างนั้นได้ เขาก็ต้องเดินทางมาก เห็นแผ่นดิน เห็นความหลากหลายของพืชและสัตว์หลายๆ แบบ แล้วสังเคราะห์ความรู้ขึ้นมา
คนที่คิดถึงเรื่องเวลาได้อย่างชัดเจน ผมคิดว่าจะเห็นมิติอะไรที่เกินความเป็นมนุษย์โดยทั่วไป จริงๆ จะว่าไปไม่ต้องพูดถึงวิทยาศาสตร์ก็ได้นะ สมมุติว่าพูดถึงนักการเมือง ถ้าคุณเป็นนักการเมืองเฮงซวย คุณก็คิดแค่ว่าเลือกตั้งคราวหน้าจะโกงกลับมายังไงดี แต่ถ้าคุณเป็นนักการเมืองชั้นดี คุณจะคิดถึงคนอีกรุ่นหนึ่งหรือรุ่นถัดไปเลยว่า อยากจะให้เขามีสังคมที่ยุติธรรม มีสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
GM : คุณเคยเขียนเรื่อง ทักษิณ vs ไอน์สไตน์ คุณคิดว่าคนสองคนนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
บัญชา : ไม่มีอะไรหรอก (หัวเราะ) จริงๆ ผมต้องการจะยกคำพูดของไอน์สไตน์มามากกว่า เขาเคยบอกว่า การเมืองเรื่องชั่วครู่อยู่ไม่นาน สมการสัจจะทรงคงนิรันดร์ แปลมาจาก Politic is for the moment; an equation is for eternity. มักจะอธิบายกันว่า ไอน์สไตน์พูดหลังจากได้รับเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอล แต่จริงๆ อาจจะพูดก่อนนั้นก็ได้นะ คนที่แปลประโยคนี้คือ อาจารย์ ดร. พัฒนะ ภวะนันท์ ผมจำได้เลย เพราะอ่านเจอข้อความนี้ตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน อยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่ง อาจารย์แปลได้ไพเราะมากเลยแต่ผมชอบเอาคำพูดนี้ไปล้อว่า การเมืองมันอยู่ไม่นานก็จริง แต่ผลของการเมืองนานจิ๊บเป๋งเลยว่ะ (หัวเราะ) ทักษิณอยู่ในอำนาจแค่ไม่กี่ปี แต่ผลกระทบจนถึงตอนนี้ยังคงอยู่เลย
GM : คุณคิดว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์บ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง
บัญชา : ผมฝันเห็นว่า จะมีคนที่มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราว เล่าเรื่องสนุก มายืนเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง คล้ายๆ เป็นเดี่ยวไมโครโฟนวิทยาศาสตร์เป็นรอบๆ ในทำนองว่า รู้มั้ยว่าที่คุณเห็นมันไม่ใช่แค่นี้นะ ลองมาดูนี่กันดีกว่า แล้วคนก็มามุงๆ กันแล้วก็เล่าเรื่อง หรือสาธิตให้ดู ผมเคยได้ยินมาว่า ในต่างประเทศ พวกผู้ใหญ่ที่มีความรู้ พอแก่ตัวเข้า บางวันไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ ไปเล่าให้เด็กๆฟัง มันมีชีวิต อะไรก็ตามที่มีชีวิต มันมีเสน่ห์
คุณรู้จักเฮนรี่ ฟอร์ด มั้ยครับ พูดถึงเขาปั๊บจะนึกถึงรถยนต์ฟอร์ดโมเดลทีคืออย่างนี้ เฮนรี่ ฟอร์ด เป็นคนเชื่อเรื่องกลับชาติมาเกิด แล้วเขาบอกว่าอัจฉริย-ภาพของเขาหรือของใครก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นมาในชาตินี้ชาติเดียว อัจฉริยภาพที่คุณเห็นเกิดจากการสั่งสมมา เขาบอกว่าก่อนหน้าที่จะมาเจอเรื่อง Reincar- nation เขารู้สึกหดหู่ เพราะถ้าเกิดมาหนเดียวแล้วตายไปเลย แล้วสิ่งที่อยากจะทำอีกเยอะแยะล่ะ มันก็สูญไปหมดเลยสิ แต่พอมีเรื่องกลับชาติมาเกิด เขารู้สึกมีกำลังใจ เพราะว่าเดี๋ยวเขาก็กลับมาเกิดใหม่ มาทำงานต่อยอดจากชีวิตนี้ เรื่องที่น่าสนใจก็คือ เฮนรี่ ฟอร์ด มีฮีโร่อยู่ในใจ คนคนนั้นก็คือ โทมัส อัลวา เอดิสัน ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ชั้นยอด ให้ทายว่า เฮนรี่ ฟอร์ด สะสมของอะไรที่มาจากเอดิสัน
GM : หลอดไฟ ?
บัญชา : ไม่ใช่ครับ (หัวเราะ) เป็นของที่จับต้องไม่ได้ แต่มาจากเอดิสัน นั่นก็คือ Last Breath หรือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเอดิสัน! ด้วยความชื่นชมมาก แล้วคงจะรู้จักครอบครัว จึงขอให้ลูกเอดิสันให้เก็บลมหายใจสุดท้ายของเอดิสันเอาไว้ในหลอดแก้ว ฟังแล้วน่าขนลุกนะ…แต่ถ้าเรามองกลับไปว่า เฮนรี่ ฟอร์ด เชื่อเรื่องกลับชาติมาเกิดก็ไม่แปลก ลมหายใจสุดท้ายของเอดิสันมันมีหนึ่งเดียว เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ผมตีความว่า ถ้า เฮนรี่ ฟอร์ด เชื่อเรื่องกลับชาติมาเกิดจริง ก็แสดงว่าเขาต้องเชื่อว่าเอดิสันจะกลับมาเกิดใหม่ แล้วลมหายใจนี้ก็คือสัญลักษณ์ของชีวิตก่อนหน้านั้นกลับไปที่เรื่องมิวเซียม ผมเชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์เลยว่า ถ้ามิวเซียมมีเรื่องเล่าสนุกๆ สัก 10 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งต่างๆ ที่เราไปดูนี่ โอ้โห! คุณจะเดินออกจากมิวเซียมไปด้วยความรู้สึกอีกแบบหนึ่งเลย มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นมิติของมนุษย์ ของจิตวิญญาณ ของสังคม เป็นแรงบันดาลใจ ได้มุมมองใหม่ๆมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ซึ่งจะถูกประหารด้วยกิโยติน เข้าใจว่าเป็นลาวัวซีเย (Lavoisier) เขาสั่งเพื่อนร่วมงานไว้ ด้วยความที่อยากรู้ว่า คนที่ถูกบั่นคอนี่ตายทันทีเลยมั้ย หรือว่ายังมีชีวิตอยู่อีกแป๊บนึง คือตอนที่หัวหลุดมา บางทีสมองน่าจะทำงานอยู่อีกแป๊บนึง เพราะว่าเลือดยังเลี้ยงหัวอยู่ เขาบอกเพื่อนว่า พอถูกบั่นคอปั๊บ ให้ไปถามหัวเขาเลยว่ายังคิดได้หรือยังรู้เรื่องอยู่มั้ย ถ้ายังรู้เรื่องก็ให้ทำอะไรออกมาให้รู้เลย อย่างพูดหรือกะพริบตา เขามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากเลย คือจะตายอยู่แล้ว แต่ก็ขออุทิศตนให้กับวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คนอื่นรู้ จะได้ต่อยอดไปอีก เป็นคนที่มองในมิติกาลเวลาที่มันลึกกว่าปกติ คือไหนๆ ตัวเองก็ต้องตายด้วยกิโยตินอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวเกิดพูดหรือกะพริบตาขึ้นมาได้ คนก็จะรู้ว่า อ๋อ! ยังอยู่ได้อีกนานแค่ไหน คนรุ่นหลังก็นำความรู้นี้ไปต่อยอด อีกได้ คนที่อยากรู้อะไรจริงๆ จะเป็นอย่างนี้เสมอ
GM : ตอนนี้คนส่วนใหญ่น่าจะอยากรู้เรื่องการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ของ CERN กับเครื่องเร่งอนุภาค ว่ามันจะสร้างหายนะให้โลกด้วยหลุมดำได้ไหม
บัญชา : เรื่องหลุมดำนี่คาดการณ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 หรือก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะเมื่อโปรตอนเข้ามาชนกันนั้น ถ้ามองในบริเวณแคบๆ มวลต่อปริมาตรมันเยอะมาก ทำให้เกิดความโน้มถ่วงสูงสุดๆ จนอาจเกิดหลุมดำจิ๋วขึ้นมาได้ แต่หลุมดำจิ๋วนี้จะเกิดได้ก็ต้องมีเงื่อนไขพิเศษนะ เช่น จะต้องมีมิติเสริม (Extra Dimension) คือมากกว่าสี่มิติของไอน์สไตน์ คือ กว้าง ยาว สูง แล้วก็เวลา ต้องมีมากกว่านั้นแล้วพลังงานก็ต้องสูงพอด้วย แต่ว่าแม้หลุมดำจิ๋วจะเกิดขึ้นจริง ก็จะสลายตายไปเกือบทันทีเลยใน0.00000000000000 000000000001 วินาที คือมีเลข 0 หลังจุดทศนิยมทั้งหมด 25 ตัว เกิดขึ้นมาปั๊บแล้วหายไปเลย คนเรากะพริบตานี่แค่ 0.1 วินาที
โดยสรุปคือ เรื่องหลุมดำที่ CERN ไม่น่ากลัวเลยครับ แต่ถ้าเจอจริง กลับเป็นว่านักฟิสิกส์ที่ทำงานด้านทฤษฎีสตริงจะชอบใจด้วยซ้ำ เพราะแสดงให้เห็นว่ามิติเสริมในทฤษฎีสตริงน่าจะมีจริง
GM : นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเจออนุภาคที่เรียกว่า ฮิกส์โบซอน แต่สตีเฟน ฮอว์กิง ออกมาวางเงินพนันว่าจะไม่เจอ คุณคิดว่าจะเจอไหม
บัญชา : ผมถามเพื่อนนักฟิสิกส์ดู เขาบอกว่าถ้าไม่เจอก็แปลกแล้ว (หัวเราะ) ควรจะเจอ ถ้าไม่เจอ มันจะทำให้เกิดคำถามว่าทำไมถึงไม่เจอ ผมว่าฮอว์กิงแกล้งท้าพนันให้ตื่นเต้นซะมากกว่า
GM : ถ้าไม่เจอก็ต้องกลับไปรื้อทฤษฎีใหม่หรือ
บัญชา : อาจจะไม่ถึงกับรื้อ แต่ก็จะแปลกใจว่าทำไมไม่เจอ เพราะที่ผ่านมา ทฤษฎีที่ใช้อธิบายอนุภาคพวกนี้เขาเรียกว่า Standard Model ตัว S ใหญ่ M ใหญ่นะ เพราะเป็นชื่อเฉพาะ ทฤษฎีนี้ทำนายว่ามีอนุภาคทุกอย่างถูกต้องหมด ยกเว้นตัวนี้ตัวเดียว คือ ฮิกส์โบซอน หากเจอฮิกส์โบซอนก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นน้อยที่สุดในบรรดาวัตถุประสงค์หลักๆ คล้ายกับว่าเป็นของตายอยู่แล้ว แต่ถ้าเจอหลุมดำจิ๋ว เจอแม่เหล็กขั้วเดียว หรือเจออะไรแปลกๆ นี่สิอาจจะตื่นเต้นกันมากกว่านี้
GM : จริงๆ แล้ว ฮิกส์โบซอน คืออะไร ทำไมคนถึงเรียก ฮิกส์โบซอน ว่าเป็นอนุภาคพระเจ้า
บัญชา : คนตั้งชื่อเล่นฮิกส์โบซอนว่า God Particle คือ ลีออน เลเดอร์แมน (Leon Lederman) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ผมไม่รู้ว่าทำไมเรียกอย่างนี้นะ แต่อนุภาคตัวนี้เชื่อกันว่ามันเป็นตัวทำให้เกิดมวล ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานมากเลยนะ คือมวลมีพฤติกรรมยังไงเราพอจะรู้ อย่างเช่นมวลต้านทานการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ อย่างที่ว่าไปแล้ว และถ้ามวลอยู่ในสนามความโน้มถ่วง วัตถุที่มีมวลมากก็จะหนักกว่าวัตถุที่มีมวลน้อยกว่า แต่ทำไมสสารต้องมีมวลด้วย คำถามนี้ลึกเลยนะ
ทีนี้ฮิกส์โบซอนคือตัวที่อธิบายว่าทำไมถึงมีมวลด้วยกลไกฮิกส์ หรือ Higgs Mechanism ซึ่งอธิบายง่ายๆ ได้ว่า มันมีสนามฮิกส์หรือ Higgs Field อยู่ เหมือนคนสองคน คนหนึ่งเท้าเปล่า อีกคนหนึ่งใส่รองเท้าหนักๆ เดินลุยในโคลน แล้วสนามฮิกส์คือโคลนหนืดๆ นั่น สองคนนี้จะเดินได้ไม่เหมือนกัน เท้าเปล่าอาจจะไปได้ง่ายหน่อย แต่รองเท้าหนักๆ โคลนจะเข้าไปติด ก็ไปได้ช้ากว่า เปรียบเหมือนอนุภาคสองอนุภาคอยู่ในสนามฮิกส์เหมือนกัน ตัวหนึ่งไปได้เร็ว มันก็เลยเบา อีกตัวถูกหน่วงเยอะ มันก็เลยหนัก เพราะสนามฮิกส์มันหน่วงเอาไว้ ถ้าเจอฮิกส์โบซอน ก็แสดงว่าสนามฮิกส์ก็น่าจะมีจริง แล้วกลไกฮิกส์ที่ทำให้อนุภาคมีมวลไม่เท่ากัน
ก็น่าจะเป็นจริงได้ คืออธิบายเรื่องมวลได้ จริงๆ คำอธิบายมีหมดแล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมายังไม่เจอฮิกส์โบซอน
GM : คุยเรื่องหนักๆ มามากแล้ว หันมาคุยเรื่องเบาๆ บ้างดีกว่า คือเรื่องกระดาษ เห็นว่าคุณชอบพับกระดาษแบบออริกามิ
บัญชา : เป็น Passion ครับ (ยิ้ม) เดี๋ยวนะ ขอทักทายก่อนนิดนึง สวัสดีครับ (หยิบกระดาษออริกามิที่พับเป็นรูปปากขึ้นมาขยับ) เคยเห็นอันนี้มั้ย ออริกามิ พับกระดาษนี่ไม่ใช่แค่พับนก พับปลา ดอกไม้ พับเล่นๆ อย่างนี้ก็มี (หยิบออริกามิอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมา) ตัวนี้พับให้คุณเลยนะ ตัวนี้เป็นแบบซับซ้อน ออกแบบโดยนักฟิสิกส์ที่ชอบพับกระดาษ แล้วในที่สุดก็เลิกฟิสิกส์เลย มาเป็นออริกามิสต์เต็มตัว ชื่อ โรเบิร์ต เจ. แลง (Robert J. Lang) ดูออกมั้ยครับว่าเป็นอะไร
GM : น่าจะเป็นนกอินทรี
บัญชา : ขอบคุณมาก เป็นอินทรีทองน่ะครับ บางคนก็ว่าเหยี่ยว ตอนพับครั้งแรก ก็ให้ภรรยาผมดู ถามว่าตัวอะไร เธอบอก อีแร้งเหรอ (หัวเราะ) โอ้โห! เหี่ยวเลยเรา
GM : ทำไมคุณถึงชอบการพับกระดาษ
บัญชา : พับกระดาษให้ความรู้สึกว่าเราสร้างอะไรขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนได้จากของเรียบง่ายอย่างกระดาษแผ่นแบนๆ ผมชอบพับกระดาษตั้งแต่เด็ก แต่มาเริ่มจริงจังเมื่อสักสองปีที่แล้ว ตอนเด็กประมาณ 11 ขวบ จำได้ว่าไปเจอแบบพับในนิตยสารวิทยาศาสตร์ ชื่อ ‘ทักษะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี’ ของ SE-ED ในทักษะฯนี่ บางเล่มจะมีพับกระดาษอยู่ แล้วมีพับปู พับปู! เฮ้ย! มันเจ๋งกว่าพับนกเยอะเลย จำได้ว่ามีลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งอายุสัก 9 ขวบ มานั่งพับด้วยกันสักสองสามชั่วโมงมั้ง พอพับได้ก็ดีใจกันมากเลย แต่เนื่องจากว่าในบ้านเราไม่มีหนังสือดีๆ ผมก็เว้นว่างไปนาน จนไปอยู่ต่างประเทศก็ไปซื้อหนังสือพับกระดาษมา พับอีกนิดหน่อย ไม่เยอะมาก
สักสองปีก่อน NECTEC จัดค่ายให้ลูกหลานใน สวทช. ก็ไปช่วยเขา ไปสอนพับกระดาษ ความบ้าพับกระดาษก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปซื้อหนังสือมาเยอะแยะ แล้วมาเปิดบล็อกทีหลัง ปรากฏว่าคนชอบกันเยอะเลย เคยขึ้นอันดับหนึ่งของ gotoknow ด้วย ออริกามิเข้าไปแค่สามเดือนก็ไปแซงคนอื่น เข้าใจว่าคนที่เข้ามาส่วนใหญ่ไม่ต้องคอมเมนต์มาก แต่ว่ามาดูแบบแล้วก็ก๊อบปี้ทันที (หัวเราะ) เอาไปพริ้นต์แล้วพับเล่นออริกามิมีประโยชน์ ช่วยฝึกสมาธิได้ จะพับเล่นสนุกๆ ก็ได้ อย่างพับเครื่องบินกระดาษ ตอนพับก็ต้องนิ่งๆ แต่ตอนเล่นก็วิ่งกันสนุก
GM : ออริกามิมีวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่ไหม
บัญชา : ถ้าเราแกะแบบพับกางออกมา มันจะมีรูปแบบบางอย่างซ่อนอยู่ อย่างรอยพับพวกนี้ จะเห็นว่ามันมีเส้น มีมุม ทั้งเส้นทั้งมุมมีความสัมพันธ์ทางคณิต- ศาสตร์หมดเลยเส้นจะมีสองแบบหลัก คือ เส้นนูนขึ้นกับเส้นเว้าลง แบบนูนขึ้นเรียกว่า Mountain เพราะฝรั่งมองเป็นภูเขา แบบเว้าลงจะเรียกว่า Valley เพราะฝรั่งมองเป็นหุบเขา โดย ณ จุดที่เส้นพบกันจำนวนเส้น Mountain Fold กับเส้น Valley Fold จะต่างกันอยู่สองเสมอ อย่างเช่นตรงนี้ถ้าเรานับ Mountain Fold ได้สี่ ส่วน Valley Fold ได้สอง สี่ลบสองก็ได้สอง เป็นไปตามทฤษฎี หรืออย่างมุมต่างๆ ถ้าเอามุมต่างๆ มาบวกลบสลับกันไปเรื่อย ผลรวมของมันจะได้ศูนย์เสมอ นอกจากนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์อื่นๆ อีก เช่น ถ้าเราระบายสีพื้นที่ต่างๆ โดยที่พื้นที่ติดกันห้ามใช้สีเดียวกัน ก็พบว่าเราใช้สีแค่สองสีก็พอแล้ว เป็นต้นมีการนำเทคนิคการพับกระดาษไปดีไซน์เป็นสิ่งของต่างๆ อย่างเช่นตัวทำบอลลูนหลอดเลือด เวลาขยายหลอดเลือด เวลาเข้าไปมันต้องหุบอยู่ แต่ตอนที่ใช้งานต้องกางออกเพื่อดันหลอดเลือดให้ถ่างออกมา คนใช้งานคือหมอ คนผลิตคือวิศวกร แต่คนออกแบบกลไกหุบ-กาง คือ ออริกามิสต์ หรือนักพับกระดาษ สามคนนี่ก็ทำงานและเขียนบทความวิชาการด้วยกัน นี่เป็นตัวอย่างการนำออริกามิไปใช้ประโยชน์
เวลาผมไปสอนเด็กๆ จะไม่ได้สอนแค่ให้พับโมเดลสวยๆ ความสวยงามหรือความสนุกนี่เอาไปล่อไง แต่ผมจะแทรกความรู้ทางวิชาการเข้าไปด้วย อย่างเด็กนักเรียนนักศึกษาในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ ในเด็ก 60 คน จะมีอยู่ 5-6 คน ที่สนใจพิสูจน์สมการคณิตศาสตร์ว่าจริงมั้ยที่บอกว่า
มุมนั้นบวกมุมนี้แล้วได้อย่างนี้ เรื่องนี้คุณทรงกลด (บางยี่ขัน) บ.ก. a day เขาเข้าใจผม และรู้ว่าเรื่องออริกามินี่ จริงๆ แล้วผมกำลังสอนวิทยาศาสตร์ต่างหาก
ผมรู้จักนักพับกระดาษคนไทยชื่อ ปอม เขาออกแบบโมเดลพับกระดาษเองเป็นรูปพระพิฆเนศวร ปอมพับกระดาษมาตั้งแต่เล็ก แต่บอกว่าเขาทำตามคนอื่นมานานแล้ว ก็อยากออกแบบเองบ้าง คำถามคือทำไมทำพระพิฆเนศวร เหตุผลก็คือ เพราะเป็นเทพสัญลักษณ์ของศิลปวิทยาการทั้งปวง มีการปิดทองด้วยนะ ผมเข้าใจเขานะเพราะผมก็ถือว่าพระพิฆเนศวรเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ของมนุษย์ คือเรากำลังยกย่องความรู้ของมนุษย์ที่สั่งสมกันมาในรูปของตัวแทน เหมือนคนรักหนังสือจะไม่มีวันเหยียบหนังสือ หากมีคนถามว่าหนังสือศักดิ์สิทธิ์ยังไงถึงห้ามเหยียบ หนังสือไม่ได้ศักดิ์-สิทธิ์หรอก แต่ว่าหนังสือให้ความรู้กับเรา
มีนักพับกระดาษฝรั่งเศสที่เก่งมากคนหนึ่ง แล้วญี่ปุ่นนี่ชอบคนเก่ง เชิญไปเยือนญี่ปุ่น ชมวัฒนธรรม พบผู้คนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พอไปสวนญี่ปุ่นซึ่งบ่อน้ำมีปลาคาร์พ นักพับกระดาษฝรั่งเศสคนนี้ก็ไปยืนจ้องอยู่นานมาก เขาเคยเห็นปลาคาร์พ แต่ว่าครั้งนี้รู้สึกไม่เหมือนครั้งอื่น ก็เลยขอกระดาษ แล้วก็พับแบบด้นออกมาจนเป็นปลาคาร์พ พอใส่สีลงไปนี่ยังกับปลาคาร์พตัวจริงว่ายน้ำอยู่เลย หลังจากนั้นปลาคาร์พชุดนั้นก็ออกตระเวนไปอเมริกา ยุโรป เป็นแรงบันดาลใจของศิลปินอัจฉริยะจริงๆ
เรื่องนี้ผมชอบเล่าเสริมเวลาที่ถูกเชิญไปพูดเรื่องการพัฒนาอัจฉริยภาพสำหรับเด็ก ผมบอกคนเก่งนี่ก็คงพอจะสร้างได้หรอกถ้าเราเลี้ยงดีๆ แต่ว่าอัจฉริยะนี่สร้างไม่ได้นะครับ (หัวเราะ) อัจฉริยะอุปโลกน์ การตลาดสร้างได้ (เน้นเสียง) แต่อัจฉริยะแท้จริงสร้างไม่ได้ ต้อง born to be เท่านั้น
GM : แต่เดี๋ยวนี้เขาก็สร้างอัจฉริยะกันเยอะไม่ใช่หรือ
บัญชา : อัจฉริยะอุปโลกน์แบบไทยๆ ไง เราดึงคำว่าอัจฉริยะลงมาต่ำมากเลย เหลือแค่ระดับ Talented คือคนส่วนมากทั่วไปอาจจะเก่งระดับหนึ่ง ถ้าเก่งเหนือปกติก็เป็น Talented ถ้าเก่งเหนือขึ้นไปอีกก็เป็น Gifted แต่ถ้าโดดเด่นขนาดที่คนทั้งโลกต้องหันมามองแบบไอน์สไตน์ แบบโมซาร์ต แบบรามานุจัน นี่สร้างไม่ได้หรอก แต่คุณทำลายได้นะ (หัวเราะ) อันนี้ความเชื่อผมนะ อัจฉริยะนี่ทำลายได้ ถ้าเขามีศักยภาพที่จะเป็น แต่บังเอิญโภชนาการไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ให้ หรือไม่ได้พบกับสิ่งที่เขามีพรสวรรค์ทางด้านนั้นอยู่คุณกำลังกดความเป็นอัจฉริยะของเขา
GM : สุดท้าย คุณมีอะไรอยากถามหรือตั้งเป็นโจทย์ให้กับสังคมไทยบ้างไหม
บัญชา : มีคำหนึ่ง คือ ‘จิตสาธารณะ’ คือคนอื่นอาจจะบอกว่า สังคมไทยต้องสร้างนวัตกรรม ทำโน่นทำนี่ ทำให้มั่งคั่งอะไรก็ตาม แต่ผมว่าถ้ายังขาดจิตสาธารณะอยู่ หายนะแน่ๆ ครับ จิตสาธารณะเป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ ไม่ถ่มน้ำลายลงบนถนน ไปจนถึงระดับนโยบายของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์กับสังคมจริงๆ ไม่ใช่มีวาระซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์ทับซ้อน จิตสาธารณะอยู่ในทุกระดับเลย แทรกตั้งแต่ปัจเจกบุคคลจนถึงองค์กรในทุกเรื่อง คำเดียวเลย ผมคิดว่าเราน่าจะทำให้เรื่องนี้เป็นสันดานประจำชาติ
ของไทย ผมมีความเชื่อว่า ญี่ปุ่น เกาหลี ที่เขาสร้างชาติขึ้นมาจนกระทั่งเป็นโลกที่หนึ่ง ไม่ใช่เพราะมันสมองของเขาดีเลิศอะไรกว่าเราหรอก คนเก่งๆ เราก็มี แต่ผมว่าสังคมเขามีจิตสาธารณะมากกว่าเรา
“เราขาดความรู้พื้นฐานและวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เลย มีความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือ เราคิดว่าอะไรก็ตามที่ฟังเป็นเหตุเป็นผลนั่นคือวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นเลยนะ”
“ถ้าคุณอยู่ในกรอบหนึ่งจนกระทั่งเคยชิน ไม่เคยได้ยินได้ฟังอย่างอื่น คุณก็คิดว่าคุณถูก แล้วคุณก็ถูกจริงๆ ด้วยนะ ถูกภายใต้กรอบของคุณไง”
“ใครก็ตามที่คิดว่าภาวะโลกร้อนทำให้สภาพลมฟ้าอากาศแปรปรวน ก็คงต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย ไม่ใช่แค่พูดว่าหิมะอาจจะตกในเมืองไทย”
“ผมถือว่าความรู้ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ในแง่ที่ว่า กว่ามนุษย์จะได้ความรู้ที่ถูกต้องมา คนโบราณต้องใช้ความพยายามเรียนรู้ ตรวจสอบ และสั่งสมกันมานาน”
“คนยึดหนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’ เป็นคัมภีร์ยืนยันว่า พระพุทธศาสนาเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ ใครมาแตะหนังสือเล่มนี้ แสดงว่าคนนั้นกำลังแตะพระพุทธเจ้าด้วย อย่างน้อยมีคนไทยบางคนเป็นอย่างนี้”
“สมการ E=mc2 เป็นตัวอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏต่อสายตามนุษย์ที่แตกต่างกัน แท้จริงแล้วคือสิ่งเดียวกัน”
“เราดึงคำว่าอัจฉริยะลงมาต่ำมากเลย คนส่วนมากทั่วไปอาจเก่งระดับหนึ่ง แต่ถ้าโดดเด่นขนาดไอน์สไตน์ โมซาร์ต นี่สร้างไม่ได้ แต่คุณทำลายได้นะ”
KNOWING HIM
GM : เล่าประวัติการเรียนของคุณให้ฟังได้ไหม
บัญชา : ผมเป็นเด็กเตรียมอุดมฯครับ พวกเด็กเตรียมอุดมฯสายวิทย์มักจะเลือกเรียนหมอ วิศวะ ทันตะ บัญชี อะไรพวกนี้ แต่ผมอยากเป็นครูวิทยาศาสตร์ พอบอกครูท่านหนึ่งชื่อ ครูอังคณา ซึ่งผมนับถือมาก ครูก็บอกถ้าเธออยากจะเป็นครูวิทยาศาสตร์ ควรไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์ก่อน แล้วค่อยไปต่อทางด้านครู เออ…ครูแนะนำดีมากเลย ครูยังบอกว่าเธอเรียนฟิสิกส์เถอะ เออ! แปลกนะ ผมไม่เคยรู้ตัวว่าชอบเรียนฟิสิกส์นะ จริงๆ แล้วคณิตศาสตร์นี่ค่อนข้างเด่นกว่าอย่างอื่น แต่ครูคงมองเห็นอะไร
บางอย่างในตัวเราว่าน่าจะเรียนฟิสิกส์ ไม่รู้ครูดูจากอะไร ถ้าให้เดา คิดว่าครูคงดูจากวิธีการคิด วิธีการถาม
GM : แสดงว่าคุณเป็นคนที่เห็นอะไรก็สงสัย
บัญชา : ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าชอบถามอะไรแปลกๆ คิดอะไรแตกต่างจากเขาเรื่อย อย่างหนังสือเคมีสอนว่าอากาศเป็นสารละลาย ผมก็บอกว่าอากาศเป็นของผสม เพราะอากาศมีฝุ่นละอองปนอยู่ด้วยเสมอ
ผมเอนทรานซ์เลือกคณะวิทยาศาสตร์สามอันดับแรกแล้วพอเลย ก็เข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ไป แล้วเลือกฟิสิกส์ เพื่อนๆ เตรียมฯก็น่ารักเหลือเกิน ถามว่าเอ็งจะไปทำอะไรวะ
ก่อนจบตรีได้ทุน พสวท. ทุนส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ไปเรียน ต่างประเทศ สนุกมาก ทั้งวิธีการสอน เพื่อน ห้องสมุดของเขามีหนังสือดีๆ ให้อ่าน ห้องแล็บที่พร้อมก็มีส่วน การได้ลงมือทำก็สำคัญ การเรียนที่มีของจริงจับต้องได้นี่มันจะทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นทุนระบุไปเลยว่า ให้ไปเรียนด้านวัสดุศาสตร์ แล้วต้องกลับมา สวทช. ทำงานที่ MTEC ซึ่งมีอาจารย์ ดร. หริส สูตะบุตร เป็นผู้อำนวยการ ตอนนั้นอุทยานวิทยา-ศาสตร์ยังไม่มี ก็อยู่ที่ถนนโยธี หลังกระทรวงวิทย์ฯ สอนหนังสือ ทำวารสาร จัดสัมมนาบ้าง งานสำคัญก็คือ เริ่มสร้างแล็บ ช่วยรุ่นพี่ที่มาก่อน คือ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ซึ่งเป็น Mentor ของผมเลย
GM : มาเริ่ม เขียนหนังสือได้อย่างไร
บัญชา : เริ่มจริงๆ ที่ MTEC ทำวารสารรายสามเดือน เป็นวารสารที่ผมสร้างขึ้นมาเองเมื่อสิบปีกว่าก่อน ผมคิดว่าหน่วยงานของรัฐมันน่าจะมีวารสารของตัวเองออกอย่างน้อยๆ สักสามเดือนครั้งก็ยังดี เพื่อจะได้เห็นความก้าวหน้า ผู้ใหญ่ก็ใจดี บอกว่าทำเลย แล้วก็ทำมาสิบกว่าปีแล้ว ต่อเนื่องเลย
GM : จากเล่มนี้แล้วไปเขียนที่อื่นได้อย่างไร
บัญชา : ก็จะมีที่ UpDATE ที่เขามาสัมภาษณ์ก่อน แล้วก็เขียนให้เขาอยู่พักหนึ่ง แต่ที่จริงจังก็คือ นิตยสารสารคดี และ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือตอนนั้นทางเครือเนชั่นเขาเชิญ สวทช. ไปให้ความรู้กับผู้บริหารกับนักข่าว ปรากฏว่าเพื่อนผมจาก BIOTEC จาก NECTEC เขาก็คุยในฟิลด์ของเขา แต่ผมก็เหมือนกับที่เขียนน่ะ ไปถึงก็เอาวิทยาศาสตร์ไปคุยให้ฟัง ตั้งแต่จักรวาล อะตอม ปรัชญา เต๋าของฟิสิกส์อะไรพวกนี้ โยงมันหมดทุกอย่าง เป็นคนเดียวที่พูดอะไรทำนองนี้ แล้วก็เล่นกลวิทยาศาสตร์ให้ดูด้วย ปรากฏว่า
กองบรรณาธิการของจุดประกาย คือ คุณประจวบ วังใจ คุณอนันต์ ลือประดิษฐ์ เดินมาหาผมเลยว่า อาจารย์คุยสนุกดี มาเขียนให้เราดีกว่า (หัวเราะ) จริงๆ แล้วคงเป็นเพราะเรื่องที่คุยมันตรงกับสิ่งที่หนังสือพิมพ์ต้องการ ก็เลยได้เขียน
GM : คุณเขียนได้ทันทีตั้งแต่เริ่มต้นเลยหรือ
บัญชา : เขียนจากเรื่องที่เรารู้ หรือมีข้อมูลก่อน ตอนแรกก็ค่อนข้างสะเปะสะปะ แต่ตอนหลังก็จับทางได้ว่า ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์หัวสีดีกว่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่ชาวบ้านสนใจผมพยายามหามุมมองที่แตกต่าง อย่างเช่นตอนภราดรดังใหม่ๆ ผมก็เขียนในทำนองที่ว่ามาดูกันดีกว่าว่าภราดรเก่งยังไง ถ้าดูแค่เรื่องลูกเสิร์ฟนี่ ลูกเอชมันจะต้องทั้งแรงทั้งเร็วทั้งสปิน ปรากฏว่าต่างประเทศนี่เขาแรงค์เลยนะ บียอน บอร์ก หรือว่าอังเดร อากัสซี่
มีความเร็วต้นในการเสิร์ฟกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง สปินที่ใส่เข้าไปมันหมุนเร็วเท่าไหร่ เขียนเรื่องนี้ออกไป ก็ไม่รู้ว่ามันดีแค่ไหน แต่ปรากฏว่า คุณจิราภรณ์ เจริญเดช พอเจอหน้าผมบอก โอ้โห! อาจารย์ เยี่ยมมากเลย พี่อยากรู้มานานแล้วว่า ลูกเสิร์ฟสองร้อยของภราดรคืออะไร ผมเข้าใจว่าบ่อยครั้งที่ศัพท์ของคนในวงการที่พูดๆ กันนั้น คนอื่นเขาฟังไม่รู้เรื่องนะแม้จะดูเหมือนเป็นศัพท์ง่ายๆ ก็ตามที ผมเข้าใจว่าทุกฟิลด์น่าจะเป็นอย่างนี้หมด
GM : คุณเรียนด้านวัสดุศาสตร์ ทำไมถึงได้อธิบายเรื่องต่างๆ ได้กว้างขวาง อย่างชีววิทยาบ้าง เรื่องเชิงสังคมบ้าง
บัญชา : ก็ต้องระวังนะ แต่เชื่อว่าคงไม่เพี้ยนมาก คือถ้าออกห่างเรื่องที่เรารู้มาก ผมก็จะหาหนังสือมาอ่าน หรือถามที่ปรึกษา อย่างเรื่องทาง BIOTEC ผมก็ถาม ดร. นำชัย (ชีววิวรรธน์ ผู้เชี่ยวชาญจาก BIOTEC) หรือเรื่องทางอุตุนิยมวิทยา ผมก็ถาม คุณจรูญ เลาหเลิศชัยแต่ว่าวิทยาศาสตร์ให้วิธีคิดไง โดยคุณต้องเข้าใจหลักการ และเข้าใจว่ามันใช้ในบริบทไหน
GM : แต่นักเขียนที่คุณชื่นชอบดูเหมือนจะเป็นแนวสังคมวิทยามานุษยวิทยา อย่าง ไมเคิล ไรท์ หรือ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
บัญชา : ผมชอบงานเขียนที่มีความลึกและมีข้อมูลสดใหม่ แบบคุณนิพัทธ์พร หรือมีการตีความที่เป็นกระแสรองอยู่ด้วย แบบที่ ไมเคิล ไรท์ เขียน การตีความกระแสหลักหาอ่านที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นการคาดเดา ก็บอกมาเลยว่าผู้เขียนขอเดาอย่างนี้ คนอ่านจะได้นำข้อมูลหรือข้อคิดเห็นไปต่อยอดได้อย่างถูกต้อง
GM : นักเขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์ที่คุณชอบ และแนะนำให้อ่านมีใครบ้าง
บัญชา : ถ้าเป็นฝรั่งก็ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) และ ดร. จอหน์ กริบบิน (Dr. John Gribbin) ส่วนนักเขียนไทยที่ชอบมากก็อย่าง อ.วิชัย หโยดม ซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นเก่า แต่มีอารมณ์ขันอย่างน่าทึ่ง ถ้าเป็นรุ่นใหม่ ก็อย่าง แทนไท ประเสริฐกุล และ ดร. นำชัย ชีว-วิวรรธน์ ส่วนอาจารย์ ดร. สุทัศน์ ยกส้าน นั้น ท่านเขียนประวัตินักคณิตศาสตร์ได้ยอดเยี่ยมมาก ตามอ่านจากนิตยสาร MY MATHS ได้ถ้าเป็นหนังสือแปลแนววิทยาศาสตร์ ผมอยากเชียร์ชุดหนังสือของมติชน เพราะอย่างน้อยต้นฉบับที่เลือกมานี่แจ๋วๆ ทั้งนั้น คนแปลก็เลือกได้เหมาะสมด้วยครับ
ต่างประเทศเขาเรียนที่ School of Materials Science and Engineering, Georgia Institute of Technology
เขียนหนังสือหนังสือของ ดร. บัญชา มีหลายเล่ม ล้วนแต่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุก (มากๆ) เช่น กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง, มิติคู่ขนาน, สอนวิทย์ คิดสนุก, คณิตกล คณิตกวน ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังเป็นบรรณาธิการ (และร่วมเขียน) ในวารสาร ‘เทคโนโลยี วัสดุ’ ของ MTEC อีกด้วย