อริยะ พนมยงค์ GOOGLING THE GOOGLE GUY
ความเร็วได้มอบความสำราญแบบสมัยใหม่อย่างแท้จริง
ข้อความสั้นๆ ของนักเขียนชาวอังกฤษ สะท้อนความเป็นจริงในโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี และดูเหมือนความจริงข้อนี้ คงไม่มีใครรู้ดี
ไปกว่าคนที่คลุกคลีอยู่ในโลกของความเร็ว แต่ความเร็วที่ว่า ไม่ได้อยู่บนถนน ไม่ได้อยู่บนลู่วิ่ง หรืออยู่บนทางหลวงเส้นไหน ความเร็วที่ว่าลอยล่องอยู่ในอากาศและกลายเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของธุรกิจสมัยใหม่
ใช่แล้วครับ เรากำลังพูดถึงธุรกิจออนไลน์ที่เริ่มเติบโตมากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ทำรายได้จากการขายโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตนั่นคือ กูเกิล 10 ปีมานี้แม้ธุรกิจของสหรัฐฯ จะย่ำแย่ แต่กูเกิลโตสวนกระแส
กูเกิลเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกๆ ด้าน ทั้งการให้บริการผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ การรุกตลาดสมาร์ทโฟน การเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทเทคโนโลยีรายเล็กรายย่อย และยังคงสถานภาพที่ดูน่ารักด้วยการเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่มีคนอยากทำงานด้วยมากที่สุด ฯลฯ ด้วยหลายปัจจัยนั่นทำให้ในปี 2551 กูเกิลสามารถเติบโตและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเกินกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือเป็นตัวเลขที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อและยิ่งคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น กูเกิลก็คงโตได้อีกไกลเพราะลำพังแค่ทุกวันนี้ คำว่า ‘กูเกิล’ ได้กลายเป็นคำสามัญธรรมดาไปแล้ว มันใช้แทนคำว่า ‘หาข้อมูล’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
การเปิดสาขาของกูเกิลในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า กูเกิลกำลังมองเห็นอะไรในประเทศไทย
คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าหัวเรือใหญ่ของกูเกิลประเทศไทย อริยะ พนมยงค์ อดีตผู้บริหารในกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ที่ตัดสินใจมาร่วมบุกเบิกธุรกิจให้กับกูเกิลประเทศไทยท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจออนไลน์และธุรกิจโมบายพาณิชย์ที่ต่างช่วงชิงกันที่เนื้อหาและความเร็ว GM และอริยะปลีกตัวเองมาจิบกาแฟยามสาย พยายามไม่รู้สึกผิดกับการปิดโทรศัพท์มือถือและคุยกันเรื่องชีวิตที่หมุนเร็วขึ้นของพวกเรา
GM : ตั้งแต่มาทำงานกับกูเกิล ชีวิตยุ่งขึ้นไหมครับ
อริยะ : ก็ยุ่งไม่น้อยครับ เพราะอยู่ในโหมดที่เป็น Start up ทุกอย่างเราอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว ทั้งออฟฟิศ ทั้งคน ทั้งการคุยกับลูกค้า ทุกอย่างมันอยู่ในช่วงตั้งไข่ ต้องออกแรงเยอะ แต่มันก็เป็นช่วงที่สนุกที่สุด แล้วทุกคนที่เข้ามาก็คิดอย่างนี้ มันเป็นจังหวะที่เรียกว่านาทีทองก็ว่าได้ เป็นประสบการณ์ที่มันจะอยู่กับเรา การที่เราบอกว่าเราเป็นกลุ่มเริ่มต้น เริ่มศึกษา ผมบอกกับทุกคนในทีมตลอดว่า ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด แต่ขณะเดียวกันมันก็จะเป็นช่วงสนุกที่สุด
GM : เล่าย้อนกลับไปถึงการเริ่มต้นทำงานในแวดวงธุรกิจสารสนเทศ คุณเข้ามาได้อย่างไร
อริยะ : ผมเกิดที่ฝรั่งเศส การเรียนศึกษาจะอยู่ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ พอเรียนจบที่ลอนดอนก็ไปทำงานที่โรมาเนีย กับออเรนจ์ แล้วกลับมาทำงานที่ฝรั่งเศสสักพักเป็นบริษัทเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ช่วงนั้นก็เป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะ ได้ยินว่าทางออเรนจ์จะมาเปิดตัวที่เมืองไทย ซึ่งผมคิดอยู่แล้วว่าอยากกลับมาที่ไทย ก็ถือโอกาสกลับมาเมื่อปี 2001
GM : ทำไมถึงอยากกลับมา
อริยะ : ผมรู้สึกมาตลอดว่าผมเป็นคนไทย แม้จะเรียนและเติบโตที่ต่างประเทศเรียกว่าทั้งชีวิตก็ว่าได้ แต่รู้สึกตลอดว่าเป็นคนไทย…ก็เป็นอารมณ์ที่อธิบายลำบาก มันเหมือนความเป็นฝรั่งเศสและไทยผสมปนเปกันอยู่ข้างใน แต่โชคดีที่ครอบครัวสอนให้พูดไทยตั้งแต่เด็ก แล้วเราก็กลับมาที่ประเทศไทยเรื่อยๆ อีกด้วย ประวัติของครอบครัวเราอาจทำให้เรารู้สึกตลอดว่าเราเป็นคนไทยกลับมาก็มาทำออเรนจ์จนเป็นทรู ผมเริ่มทำตั้งแต่การตลาดของโทรศัพท์มือถือ จากนั้นก็มาทำเรื่อง Convergence ที่ถือเป็นกลยุทธ์หลักของทรู ทำมา 10 ปี รวมๆ แล้วอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 14 ปี ก่อนจะย้ายมาที่กูเกิล เดือนกรกฎาคม 2011 ก็มาอยู่กับกูเกิลประเทศไทย
ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ คือผมอยู่บริษัทที่เป็น Start up มาตลอด ตอนอยู่ที่ออเรนจ์เมืองไทยก็เป็น Start up จนผ่านไป 10 ปี อยู่ดีๆ ก็ต้องมาทำกูเกิลประเทศไทย ซึ่งวันนั้นก็มีอยู่ไม่กี่คน มันก็คนละอารมณ์กันเลย จากบริษัทที่มีคนประมาณ 16,000 คน แต่ก็เป็นเรื่องที่สนุก ตรงที่ว่ามันเป็นทั้งจุดเริ่มต้น แต่ทำงานภายใต้บริษัทใหญ่
GM : คิดอยู่นานไหมครับกับการเปลี่ยนงานครั้งนี้ เพราะทรูก็เป็น Comfort Zone ของคุณไปแล้ว
อริยะ : ผมพูดมาตลอดว่าถ้าผมไม่อยู่ทรู ก็คงออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ไม่เคยคิดว่าจะมีออพชั่นอื่น อย่างกูเกิลนี่ก็ไม่ได้คิดเลย แต่พอโอกาสเข้ามาแล้วแน่นอน นี่คือกูเกิล เป็นองค์กรที่ผมนับถือด้วยอยู่แล้ว แต่ก็ใช้เวลาตัดสินใจนานพอสมควร ทุกคนอาจคิดว่าคงตัดสินใจไม่ยาก เพราะถึงแม้เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้วยกัน แต่มันก็เป็นธุรกิจคนละแบบ แถมยังเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่หมด ทุกอย่างใหม่ ทั้งธุรกิจ ทั้งทีมงาน แต่ก็ท้าทาย เสน่ห์ของการทำงานมันอยู่ตรงนี้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ กูเกิลเป็นอะไรที่ผมชอบและเหมาะกับตัวผม ผมอยู่ในวงการมือถือมาตลอด จนมาถึงจุดที่พฤติกรรมของคนใช้มือถือเข้าอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เราเห็นแล้วว่าโลกออนไลน์และออฟไลน์กำลังกลายเป็นสิ่งเดียวกัน มันมีแนวโน้มที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ผมอยากรู้ ยิ่งกูเกิลด้วยแล้ว…วันนี้ กูเกิลกลายเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ นึกอะไรไม่ออกก็ต้องเข้ากูเกิล การที่เราได้เข้ามาอยู่บริษัทที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์มันท้าทายและน่าสนใจ
GM : ก่อนหน้านั้นกูเกิลดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างไร
อริยะ : เราพึ่งอยู่ 2 ช่องทาง หนึ่งคือพันธมิตรของเราที่นี่ ซึ่งขายบริการของกูเกิลอยู่แล้ว ก็ต้องขอบคุณพันธมิตรของเราที่ทำให้เห็นว่าเมืองไทยเป็นตลาดใหญ่ อีกส่วนจะเป็นทีมงานที่สิงคโปร์ คอยบินเข้าบินออก ซึ่งเป็นข้อเสียเวลามีคนติดต่อกับกูเกิลก็ต้องไป-กลับสิงคโปร์ ไม่ก็ต้องโทรฯ ไป การสื่อสารไม่สะดวก การมาเปิดใน เมืองไทย ก็ทำให้ทุกอย่างง่ายเข้า คนไทยย่อมเข้าใจคนไทยมากกว่า
GM : กูเกิลเห็นอะไรในประเทศไทย สังเกตเห็นว่าในระยะหลัง กูเกิลให้ความสำคัญกับตลาดในเมืองไทยมาก เช่น การเปิดตัวโฆษณาทางโทรทัศน์ครั้งแรกของกูเกิลก็ทำที่นี่ อะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมืองไทยกำลังเป็นที่น่าจับตามอง
อริยะ : มันมีตัวเลขบางอย่างที่ฟ้อง ประการแรกคือ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยวันนี้คือ 1 ใน 3 ของประชากร มีประมาณ 20-25 ล้านคน อัตราการเติบโตนั้นเร็วมาก อย่างที่สองคือคนที่เข้าอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ หากย้อนไปดูเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สมาร์ทโฟนยังไม่มีใครรู้จัก แต่วันนี้เรามีร้อยละ 28 ของประชากรที่ใช้ ซึ่งถือว่าเยอะมาก อีกทั้งตัวเลขประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนก็เติบโตค่อนข้างเร็วมาก สิ่งที่เราเห็นอีกเรื่องหนึ่งคืองบการตลาดทั้งหมดในบ้านเราอยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท แต่ออนไลน์อยู่ที่ราว 1-3% ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตซึ่งมีถึง 1 ใน 3 ของประชากร แต่งบที่ใช้กับธุรกิจออนไลน์อยู่แค่ 1% มันไม่สมดุลกัน
งานวิจัยล่าสุดจาก AC Nielsen ทำการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตในเมืองไทย พบว่ากลุ่มที่อยู่ในโลกออนไลน์ใน 1 สัปดาห์ ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ต 17 ชั่วโมง ในขณะใช้เวลาดูโทรทัศน์ประมาณ 11 ชั่วโมง ซึ่งน่าสนใจมากว่าช่วงที่มีการใช้งานสูงสุด เป็นช่วงเวลาเดียวกับการดูโทรทัศน์ นั่นคือหลังจาก 6 โมงเย็นเป็นต้นไป มันบอกเราได้ 2 อย่าง คือพฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในบ้านเราเป็นแบบ Multi-tasking เวลาที่เราดูข่าวหรือดูละคร จะมีการใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุด เพราะผู้บริโภคพอเห็นข่าวหรือโฆษณาทางโทรทัศน์ เขาก็จะเข้าไปค้นต่อในอินเตอร์เน็ต เขาอยากรู้ว่าสินค้าวางขายที่ไหน ราคาเท่าไหร่ รายละเอียดเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ เขาอาจหยิบโทรศัพท์มือถือเสิร์ชหาข้อมูล ทุกวันนี้คนใจร้อน ทุกอย่างที่เราอยากรู้อยากเห็น เราต้องรู้ทันที
เราไม่ได้ดูทีวีอย่างเดียวอีกต่อไป เราดูทีวี ใช้อินเตอร์เน็ต ใช้สมาร์ทโฟน ใช้แท็บเล็ตในเวลาเดียวกัน ในวันนี้ถ้าคุณจะให้ผู้บริโภคสนใจ คุณจะใช้จอใหญ่อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องไปทุกจอ จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ จอแท็บเล็ต จนถึงบนจอโทรศัพท์
GM : พฤติกรรมแบบนี้เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นของโลกเหมือนกันหรือเปล่า แล้วทำไมคนไทยถึงกลายเป็นคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเยอะขนาดนี้ มีปัจจัยอะไรทำให้เรากลายเป็นคนเสพติดอินเตอร์เน็ต
อริยะ : เหมือนกันทั้งโลกครับ แต่ว่าโดยพฤติกรรมของคนไทยถ้าเราเริ่มรับอะไรเข้ามาสักอย่าง คนไทยจะไม่ยั้ง (หัวเราะ) อีกปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าในบ้านเรา แพ็คเกจอินเตอร์เน็ตมักเป็นแบบใช้ได้ไม่อั้น ซึ่งหากถ้าเทียบกับต่างประเทศจะมีลิมิตกว่า เทียบกันแล้ว เราใช้บริการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในราคาที่คนใช้ค่อนข้างสบายใจ
GM : แต่ก็มีข้อมูลออกมาว่า เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนในประเทศ ค่าบริการโทรศัพท์ในเมืองไทยถือว่าไม่ถูก
อริยะ : ถ้าเราพูดถึงรายเดือน 500-600 บาทต่อเดือนก็ต้องถือว่าไม่ถูกแต่ก็ไม่แพง คนถึงใช้เยอะขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งที่อาจจะกระตุ้นพฤติกรรมการใช้ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น เราจะเห็นเลยว่าอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเหตุจลาจล น้ำท่วม ช่องทางที่จะหาข้อมูลได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด และมีความหลากหลายที่สุดคือ
อินเตอร์เน็ต เราไปคอยดูข่าวทางวิทยุหรือทีวีอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องการรู้ทันที อันนี้เป็นอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนเราดูสื่อเป็นเวลา เราอ่านข่าวเป็นเวลา ซื้อหนังสือพิมพ์ตอนเช้า ดูข่าวตอนเช้า ตอนเย็น แต่วันนี้มันไม่ใช่ วันนี้ผมอยากดูข่าวตอนนี้เลย ตอนที่เราสัมภาษณ์อยู่ ผมเปิดมือถือก็ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องคอย ทุกอย่างมันคือ Now ผมอยากรู้ราคาคอนโดฯ แถวสุขุมวิท ผมอยากรู้ราคารถรุ่นใหม่ ทุกอย่างมันอยู่ในอินเตอร์เน็ต แล้วกลายเป็นช่องทางที่คนเชื่อถือ เพราะอะไร เพราะช่องทางหรือข้อมูลมีค่อนข้างหลากหลาย แล้วในฐานะผู้ใช้ เราก็เลือกได้ว่าจะเชื่อช่องทางไหน ผมอาจจะเอาข้อมูลมาชนกันดูจากหลายเว็บ ดูจากโซเชียลเน็ตเวิร์กจากคนที่เขาคุยกัน แล้วค่อยตัดสินใจ นี่คือพฤติกรรมใหม่
GM : ความสำเร็จของกูเกิลที่มาถึงทุกวันนี้ได้มาจากอะไร
อริยะ : ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ กูเกิลอยู่กับเรามา 13 ปีแล้ว วันนี้เราใช้งานกูเกิลตลอดทั้งวัน ทุกวัน จนคนไม่ค่อยนึกถึงเพราะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว เปรียบเทียบก็เหมือนภรรยาที่แต่งงานมาหลายปี แล้วเรามักจะมองข้ามคุณค่าของเขาไป (หัวเราะ)สิ่งที่ทำให้เราอยู่ในใจของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตคือความเรียบง่าย เคยสังเกตไหมครับไอคอนหน้า google.co.th หรือ google.com จะเป็นหน้าที่เรียบ ไม่มีรูป ไม่มีวิดีโอ ไม่มี pop-up ไม่มีอะไรเลย นี่คือหนึ่งในเรื่องที่กูเกิลทำด้วยจุดประสงค์คือเน้นไปที่ผู้ใช้งาน สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกคนต้องการคือความเร็ว มันต้องเร็ว ถ้าหน้าแรกของเว็บคุณใส่ทั้งวิดีโอ รูปภาพ ลูกเล่นมากมาย กว่าจะโหลดขึ้นมาก็ช้า และโดยมากหากอืดมากๆ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็จะปิด ไม่คอย ในโลกอินเตอร์เน็ตเรานับเป็นวินาที เราต้องการให้ใครก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเข้าอินเตอร์เน็ตจากที่ไหน device อะไร ไม่ว่าความเร็วสูงหรือต่ำก็ต้องเข้าได้
ประการที่สองคือความเกี่ยวข้องตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้สนใจ ผมกล้าพูดว่าเราคือเว็บไซต์เดียวในโลกที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการออกจากหน้าเว็บของเราให้เร็วที่สุด ยิ่งคุณออกไปเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งหมายความว่าเราทำหน้าที่นั้นได้ดีเท่านั้น ไม่ต้องกลับมาด้วย กดปุ๊บแล้วไปเลย พอผู้ใช้ได้ข้อมูล เราจะจัดเรียงข้อมูลให้ จากสิ่งที่ใกล้เคียงที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุดลงไป เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้ใช้คาดหวังจากกูเกิล
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่กูเกิลทำ เกี่ยวกับการกลอกตาของผู้ใช้งานบนหน้าอินเตอร์เน็ต เราดูว่าเขามองไปที่ไหนในหน้านั้นๆ ตั้งแต่วินาทีที่ 1-20 สิ่งที่พบคือ สิ่งที่อยู่ข้างบน ส่วนใหญ่สิ่งที่คนคลิกคืออะไรที่อยู่ข้างบน ฉะนั้นหากว่าผู้ใช้คลิกเว็บไซต์ที่เราจัดอันดับให้แล้วเขาไม่กลับมาที่หน้าเว็บเก่า แสดงว่าการค้นหาของเราตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แล้วข้อมูลตรงนี้มันก็จะเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา เกือบทุกวินาที ฉะนั้นเราต้องแน่ใจว่าข้อมูลที่เราโชว์ ต้องตรงหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด แต่กว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ได้ เบื้องหลังเรามีกองทัพวิศวกรคอยดูแลอยู่
GM : ทุกวันนี้มีคนใช้กูเกิลนาทีละกี่คนทั่วโลก
อริยะ : ผมไม่ทราบขนาดนั้น แต่บอกได้ว่าถ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้เสิร์ชเอนจิ้นสูงสุด
GM : หลายคนเป็นห่วงเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กูเกิลคิดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง
อริยะ : เราไม่ได้ดูสิ่งที่เป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ แต่สิ่งที่เราทำคือเราเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ทั่วโลก แล้วเราจัดอันดับ ซึ่งเป็นอัลกอริธึมที่มีวิศวกรออกแบบ ซึ่งมันรวมผลกว่า 100 ปัจจัย เพื่อหาข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้อง แต่หลักใหญ่คือต้องเป็นข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด เกี่ยวข้องที่สุดกับความต้องการของผู้ใช้ เราไม่มีการใช้ข้อมูลส่วนตัวแน่นอน เพราะเรารู้ว่าในมุมมองของผู้ใช้ เรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญอยู่แล้ว
GM : บริการของกูเกิลทุกวันนี้มันมีเยอะมาก จนบางทีเราก็สับสนว่าอันไหนเป็นของกูเกิลบ้าง
อริยะ : จริงๆ แล้วไม่ได้เยอะไปกว่าสมัยก่อน มันเยอะมาแต่ไหนแต่ไร แต่คนจะไม่ค่อยรู้จัก เรามีสินค้าและบริการประมาณ 70 กว่าบริการค่อนข้างหลากหลาย ถ้าให้ผมไล่ ก็คงไล่ไม่หมด ซึ่งหน้าที่หนึ่งของเราในการมาเปิดออฟฟิศในเมืองไทยคือ เราพยายามเข้าถึงคนให้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนไทยชอบพบปะเห็นหน้า ชอบคุยกัน แต่เราเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจบนออนไลน์เสียส่วนมาก ฉะนั้นกูเกิลก็ต้องปรับตัว เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้งานเมืองไทยมากขึ้น เพราะคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับการติดต่อแบบออนไลน์
GM : ประเทศอื่นไม่เป็นแบบนี้
อริยะ : น้อยกว่าครับ ถ้าเปรียบเทียบกัน อย่างอเมริกาสัดส่วนของคนที่อยู่ในโลกออนไลน์มีสัดส่วนเยอะกว่า พฤติกรรมของเขาค่อนข้างคุ้นเคยกับวัฒนธรรมออนไลน์ แต่ถ้าเรามาดูในเมืองไทย แล้วต้องยอมรับว่าถึงแม้อินเตอร์เน็ตจะอยู่มานาน แต่เราพูดได้เลยว่าเรายังอยู่ในจุดเริ่มต้น นี่คือเหตุผลที่ว่า วันนี้ถ้าเราต้องการให้คนมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเราก็ต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น การทำโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ถือเป็นโฆษณาทีวีชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ของกูเกิล แล้วมาเปิดตัวในเมืองไทย อันนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เราใช้ เพื่อจะบอกว่าการที่เราจะให้คนมาใช้ออนไลน์มากขึ้น เราก็ต้องพึ่งโลกออฟไลน์ด้วย ไม่งั้นเราจะไปคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เพราะทุกวันนี้เรายังพึ่งสื่อออฟไลน์ค่อนข้างเยอะ ถ้าเราต้องการคุยกับเขา เราก็ต้องตามพฤติกรรมของเขา เราใช้ออฟไลน์ไปคุยเพื่อชวนให้เข้ามาในโลกออนไลน์มากขึ้น
ในเวลาเดียวกันผมมองว่าออฟไลน์กับออนไลน์มันเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ ดูอย่างพวกเรา เราใช้อินเตอร์เน็ตแทบจะทุกวัน แทบจะตลอดเวลา
GM : เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะกูเกิลก็เป็นบริษัทที่เติบโตมาจากธุรกิจออนไลน์เป็นหลัก แต่การที่กูเกิลส่งสัญญาณว่าจะก้าวไปสู่ออฟไลน์มากขึ้นเพื่อที่จะลิงค์สองโลกนี้เข้าด้วยกัน…คุณวางแผนสำหรับการทำธุรกิจในประเทศไทยไว้อย่างไรบ้าง
อริยะ : ในเชิงของธุรกิจ เราคงไม่ได้แตะในส่วนออฟไลน์ขนาดนั้น สิ่งที่เราใช้ก็คือเราใช้โลกออนไลน์ในการเข้าถึงผู้ใช้มากกว่า อย่างตัวอย่างเรื่องโฆษณาของกูเกิลโครม อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ในเชิงของผู้ประกอบการ เราก็มีโครงการอีกอันหนึ่งที่เรียกว่า ‘ธุรกิจไทย Go Online’ สิ่งที่เราทำก็คือ ชักชวนให้ SME หรือธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางเข้ามามีตัวตนในโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะปัจจุบันบ้านเรามี SME อยู่ราว 3 ล้านกว่าบริษัท 9 ใน 10 ไม่มีตัวตนในโลกอินเตอร์เน็ต ล่าสุดผมเพิ่งเจอลูกค้ารายหนึ่ง เป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก อยู่ในเมืองไทย แต่ไม่มีเว็บไซต์ ได้ยินอย่างนั้นแล้วผมนี่แทบเดินต่อไม่ถูกเลย (หัวเราะ) ตกใจมาก
ฉะนั้น! โครงการ ‘ธุรกิจไทย Go Online’ จะเป็น One Stop Shop เราต้องการให้เจ้าของธุรกิจที่ยังไม่มีตัวตนในโลกอินเตอร์เน็ต เข้ามาในโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่กูเกิลร่วมมือกับหลายๆ องค์กร ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน เราทำให้ทุกอย่าง ไม่มี Email-address เราสร้างให้ ไม่มีเว็บไซต์ เราสร้างให้ คุณเอาสินค้ามา เราถ่ายรูปให้ โพสต์ขึ้นเว็บไซต์ให้เลย สมมุติคุณต้องการเงินกู้เพื่อที่จะทำธุรกิจ K-Bank ก็เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของเรา คุณต้องการให้มีระบบส่งสินค้าไปถึงลูกค้า เราแนะนำให้ได้ เหมือนเราช่วยเซตระบบให้เลย และเราทำให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
GM : แล้วกูเกิลจะได้รายได้มาจากไหน
อริยะ : ในช่วงเริ่มต้น เรายังไม่ได้หวังเรื่องนี้ เรามองว่าวันนี้ต้องให้คนมามีตัวตนในโลกออนไลน์ก่อน ถ้าคนยังไม่เข้ามาในโลกออนไลน์
รายได้ก็ไม่เกิด เหมือนเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องผลักดันให้คนมีตัวตนในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นก่อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามผลักดัน ตอนเราคุยกับผู้ประกอบการ จริงๆ แล้วโดยพื้นฐาน มันง่ายมาก คุณอย่าไปคิดอะไรซับซ้อนว่าออนไลน์คือสื่อใหม่แล้วยุ่งยาก ต้องคิดใหม่ว่าในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจ ในฐานะที่คุณเป็นนักการตลาด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือลูกค้า ลูกค้าคุณอยู่ตรงไหน คุณก็ควรจะอยู่ตรงนั้น นี่คือพื้นฐานง่ายๆ ว่าทำไมคุณควรเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์ก็เพราะลูกค้าคุณอยู่ในโลกออนไลน์
นอกจากเรื่องไม่มีความรู้แล้ว ผมว่าอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของความกลัว เราต้องช่วยเขาไม่ให้กลัว ถ้าเราไม่ช่วยให้ผู้ประกอบการบริษัทไทยพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดโลก เราจะไม่ทันคนอื่นๆ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้เราไม่ได้พูดถึงการทำธุรกิจแบบเดิมที่มีลูกค้าอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือในเมืองไทย เรากำลังพูดถึงลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลกโลกออนไลน์ตอนนี้มันก็เหมือนรถไฟที่ออกวิ่งไปแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะขึ้นไหม หรือจะปล่อยมันผ่านไป แต่ที่แน่นอนคือมันหยุดไม่ได้
GM : คิดว่าอีกกี่ปี ที่คุณคิดว่าน่าจะเริ่มอยู่ตัว
อริยะ : มองการเติบโตของตลาดนี้กับประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีออฟฟิศอยู่ อย่างสิงคโปร์ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ก่อนที่จะอยู่ในสถานะที่ธุรกิจเติบโตมาก ตอนนี้ที่นั่นมีพนักงานเกือบ 300 คน อเมริกาใช้เวลา 10 ปีได้มั้ง แต่ระยะเวลามันร่นลงเรื่อยๆ และผมก็คาดหวังว่าการที่เรียนรู้จากประเทศอื่นๆ เราก็จะทำให้ทุกอย่างมันเร็วขึ้นเรื่อยๆ แต่บอกไม่ได้เหมือนกันว่าจะใช้เวลากี่ปี แต่บอกว่าการได้เรียนรู้จากที่อื่นจะช่วยเรา เพราะสิ่งที่เราเจอเป็นสิ่งที่ทีมอื่นๆ เจอกันมาแล้วทั่วโลก เราก็เริ่มก้าวทีละก้าวครับ ตอนนี้เราจับมือกับเดอะเนชั่น เริ่มขายบริการ AdWords
GM : ศักยภาพของประเทศไทย รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้อย่างเรื่องของการประมูล 3G หรือการจัดสรรคลื่นความถี่ คุณมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
อริยะ : ผมว่ามองได้ 2 มุม ยอมรับว่ามันมีเรื่องของอัตราการเติบโต ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐ ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบอกว่า ที่ผ่านมาค่อนข้างมีเรื่องของการผูกขาดอยู่พอควร แต่ถ้าเรามาดูวันนี้ นโยบายของรัฐบาลมันกำลังไปในทางที่ดี เพราะเรากำลังพูดถึงว่าประเทศไทยมีบรอดแบนด์ครอบคลุมทั่วประเทศ 80-85% ในระยะเวลา 3-4 ปี ซึ่งถ้าทำได้มันก็จะเห็นผลชัดมาก ในแง่นโยบายถือว่ามาถูกทาง เพราะการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ AEC มีคู่แข่งอยู่รอบบ้านมากมาย อินเตอร์เน็ตคือเครื่องมืออันหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าสู่ตลาดโลกได้
GM : มีคนเคยบอกว่าการที่ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตมากขึ้นได้
อริยะ : ถูกต้อง จริงๆ มันได้ 2 ส่วนนะครับ หนึ่งคือมันได้ในมุมมองของเศรษฐกิจ แน่นอน, ยิ่งผู้ประกอบการเข้าไปสู่โลกอินเตอร์เน็ตและขยายโอกาสของตัวเอง สิ่งที่ตามมาก็คือ รายได้ ยอดขาย อะไรอีกเยอะแยะ โอกาสก็มากขึ้น ทุกคนได้หมด เพราะฉะนั้นแน่นอนในแง่ของเศรษฐกิจในประเทศไทยจะได้ในส่วนของตรงนี้อยู่แล้วอีกมุมมองหนึ่งที่ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกูเกิลคือ เราต้องการให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีฐานะ ไม่มีฐานะ อยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่ต่างจังหวัด เพราะอันนี้คือความเท่าเทียม ผมว่าอินเตอร์เน็ตมันทำให้คนเราเท่าเทียมกันมากขึ้นเรื่องหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นการสนับสนุนที่ดีนอกจากเรื่องบรอดแบนด์ก็คือการสนับสนุนพวกธุรกิจ SME เพราะธุรกิจ SME ที่เรากำลังพูดถึง 3 ล้านกว่าธุรกิจ มันเหมือนกองหนุนของประเทศ การที่เรามีการสนับสนุนให้เขามีตัวตนในโลกออนไลน์ ขยายโอกาส ขยายธุรกิจบนโลกอินเตอร์เน็ตอันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
GM : แล้วหากเป็นเรื่องความฉลาด คุณคิดว่าอินเตอร์เน็ตทำให้คนฉลาดขึ้นจริงไหม
อริยะ : มันก็ทั้งใช่และไม่ใช่ครับ อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาได้เร็วที่สุดเยอะที่สุด ได้ดังใจที่สุด แล้วข้อมูลใน
โลกอินเตอร์เน็ตมีละเอียดมาก จะลงในเชิงลึกก็ทำได้ มันอยู่ที่คนใช้ว่าจะเข้าไปถึงตรงนั้นหรือเปล่า มันเหมือนเครื่องมือ ทุกอย่างอยู่ที่คนใช้ เราจะใช้ในทางที่มีประโยชน์ก็อยู่ที่เรา คนใช้ก็ต้องมีวิจารณญาณ ยกตัวอย่างผมเอง เรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยมาตลอดคือเรื่องการกินไข่ กินไข่เยอะๆ จริงๆ แล้วมันดีหรือไม่ดีกับสุขภาพกันแน่ พ่อแม่ผมก็มีความเชื่อว่ากินไข่เยอะๆ ไม่ดี แต่วันนี้ผมจะถามใครหรือไปหาจากที่ไหน ผมก็หาจากอินเตอร์เน็ตนี่ล่ะ จากนั้นคนที่จะตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็คืออยู่ที่เราเอง
GM : มีอะไรที่รัฐควรเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนเข้าถึงทรัพยากรคือข้อมูลข่าวสารได้ดีขึ้น
อริยะ : อยากให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียม อันนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
GM : หากมองในแง่ของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ดูเหมือนประเทศไทยจะเล่นบทบาทเป็นผู้รับเทคโนโลยีมาใช้ มากกว่าเป็นผู้สร้าง คุณคิดว่าประเทศควรเตรียมความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการพัฒนาบุคลากรเพื่อพร้อมกับโลกในอนาคต
อริยะ : ถามว่าดีเวลลอปเปอร์ในประเทศไทยมีคุณภาพไหม มีนะครับ มีฝีมือด้วย แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือการสนับสนุน เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องช่วยกันทำให้ดีขึ้น กูเกิลเองก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยดีเวลลอปเปอร์มาสองสามปีแล้ว เป็นสิ่งที่เราพยายามส่งเสริมด้วยการจัดเวิร์กช็อป จัดเทรนนิ่ง เพื่อให้ดีเวลลอปเปอร์คนไทยได้พัฒนาฝีมือและเรียนรู้ว่าอุปกรณ์หรือบริการใหม่ๆ อะไรที่เขาใช้ได้บ้าง
วันนี้สิ่งที่เราเริ่มเห็น คือบางบริษัทที่เติบโตจากอินเตอร์เน็ตแล้วประสบความสำเร็จ ต้องการที่จะสนับสนุนดีเวลลอปเปอร์รายใหม่ๆ ก็มีให้เงินทุน ให้ความรู้ เรื่องพวกนี้มันต้องผลักดันหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่กูเกิล ไม่ใช่แค่รัฐบาล คือมันต้องเป็นสิ่งที่เหมือนเป็นจิตวิญญาณ หรือทุกคนควรจะรู้สึกรับผิดชอบในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน บริษัทไทยด้วยกัน
GM : คนชอบพูดถึง Google Culture อยากรู้ว่าวัฒนธรรมที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมกูเกิล จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ในแง่ของคนที่เข้ามาทำงาน มันสัมผัสได้จริงหรือเปล่า
อริยะ : จริงหรือเปล่า ตอบได้เลยว่าจริง ในกูเกิลเราจะเรียกกันว่า Googly ซึ่งความเป็น Googly จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ทัศนคติของคน คน Googly เป็นคนที่คิดอยู่ตลอดเวลา คิดแก้ปัญหา และเชื่อว่านวัตกรรมไม่จำเป็นต้องมาจากวิศวกรอย่างเดียว เรามีปากมีเสียงเท่ากันหมด ทั้งคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ หรือคนที่อยู่มานาน รูปแบบการทำงาน เราก็จะไม่มีผู้ใหญ่ เราไม่มีเด็ก เราไม่ค่อยสนใจว่าใครเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง มันอยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน และทำงานเป็นทีมได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานอยู่ที่ไทย สิงคโปร์ หรือสหรัฐอเมริกา คนที่เข้ามาต้องมีความสามารถที่จะทำงานกับคนที่แก่กว่า เด็กกว่า หรือคนที่อยู่คนละประเทศ นี่คือวิธีการทำงานของเรา
GM : แต่ในสังคมไทยที่เน้นเรื่องระบบอาวุโส มันใช้ได้จริงไหม
อริยะ : ทุกวันนี้เราก็ทำอยู่ ในเมืองไทยเรามีทีมอยู่ประมาณ 15 คน
ตั้งแต่อายุ 23 จน 40 ต้นๆ สิ่งที่พยายามเน้น คือทุกคนต้องออกเสียงได้ ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก แต่ทุกคนต้องเคารพซึ่งกันและกัน เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเลือกคนเข้ามาทำงาน ผมว่าทุกคนที่เคยได้ยินกระบวนการสัมภาษณ์งานของกูเกิล จะรู้สึกว่ามันเหมือนนิยาย อย่างที่เจอกับตัวเอง ตั้งแต่ทำงานมาก็เพิ่งเคยเจอการสัมภาษณ์ที่มีคนมาสัมภาษณ์ผมเยอะขนาดนี้ แต่จริงๆ แล้วพอเราเข้าไปแล้วมันบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของกูเกิลด้วย ก่อนจะเข้ามาก็จะสงสัยว่าทำไมต้องขนาดนี้ แต่พอเข้ามาแล้วก็เข้าใจว่า อ๋อ…มันเป็นเพราะอย่างนี้ คนที่มาสัมภาษณ์หลายๆ คนจะเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในแผนกเรา เป็นคนที่เราอาจไม่ได้มี
โอกาสทำงานกับเขาเลยก็ได้ ต่างแผนกกันเลย ต่างประเทศด้วย เหตุผลที่ทำอย่างนี้ คือเขาต้องการรู้ว่าคนที่เข้ามาสามารถคุยสื่อสาร
รู้เรื่องไหมกับคนที่อยู่สิงคโปร์ อเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ เมืองไทย อันนี้คือเหตุผลที่อาจจะมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะ แต่พอเรามาทำงานก็เข้าใจแล้วว่ากูเกิลเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของคน
GM : เหมือนพยายามเซต Ecosystem ให้ดีไว้ก่อน
อริยะ : ใช่ครับ และยิ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีความคิดแบบลูกน้อง เจ้านาย คนที่เข้ามาจะต้องรู้สึก Comfortable กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอย่างนี้
ไม่ใช่ว่าจะต้องคอยมีคนสั่ง มันจะไม่มีคนมาสั่ง แต่คุณต้องทำงานได้ แต่ยอมรับว่าแรกๆ สำหรับคนไทยก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ก็อาจจะเกร็ง คิดว่าเฮ้ย! เราจะทำได้จริงหรือเปล่า แต่สักพักคนก็จะกล้าพูดมากขึ้น
ถ้าใครเคยเห็นออฟฟิศของกูเกิลที่อเมริกาตามยูทูบ จะเห็นว่ามันเป็นออฟฟิศที่มีทั้งโซนให้เล่น โซนให้พักผ่อน โซนกินข้าวอะไรต่ออะไร สิ่งพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ มันเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ สิ่งที่เราต้องทำก็คือถ่ายทอดความเป็น Googly ให้ออฟฟิศประเทศไทย ผสมให้เข้ากับความเป็นไทย ไม่ใช่ว่าเราเอาทุกอย่างจากต่างประเทศแล้วดีหมด ต้องปรับเปลี่ยน คือเวลาทำงานเราก็ทำหนัก แต่รู้สึกสนุกกับมัน อย่างช่วงบ่ายวันศุกร์ผมก็จะพยายามบอกทุกคนให้ลุกออกจากโต๊ะไปเฮฮา ไปผ่อนคลายบ้าง คือเวลาทำงานเราก็ทำกันหนักจริงๆ มันจะทำให้ทุกคนอยากทำงาน มี Passion ในการทำงาน อันนี้เป็นอีกหนึ่ง DNA สำคัญของคนกูเกิล ต้องมี Passion ตอนนี้มันกลายเป็นว่าวันศุกร์ผมต้องบังคับให้คนออกจากออฟฟิศ
GM : มีโอกาสได้เจอ Larry Page หรือยังครับ
อริยะ : ขอเล่าเลยครับ (หัวเราะ) ในกูเกิลผมว่าผมเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีมาก เริ่มงานต้นเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ภายในระยะเวลา 3 อาทิตย์ ได้เจอ Eric Schmidt บางคนทำงานมานานยังไม่มีโอกาสได้เจอด้วยซ้ำ สองเดือนที่ผ่านมาผมไป สำนักงานใหญ่ของกูเกิลที่ Mountain View ก็ได้เจอ Larry Page ทั้งที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เจอ ผมนั่งประชุมอยู่ เห็นฝรั่งคนหนึ่งเดินมา ผมก็คิด เฮ้ย! ใช่หรือเปล่า ก็งงๆ ไม่แน่ใจก็เพราะว่าเขาใส่กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ เสื้อ T-shirt มา นี่คือสไตล์กูเกิลจริงๆ พอเดินมาก็รู้เลยว่าใช่ เขาก็เดินมาคุยกับผู้บริหารอีกคนหนึ่ง แล้วเขาก็แนะนำให้ผมรู้จัก ก็เลยได้คุยกัน โชคดีมาก ทั้งสองคนเป็นคนน่ารักมาก อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมชอบในตัวผู้บริหารของกูเกิล คือเป็นกันเอง ใส่ใจในรายละเอียด ใส่ใจกับบุคลากรที่อยู่ในองค์กร
GM : นักวิเคราะห์และคอลัมนิสต์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายต่อหลายเล่มในต่างประเทศ ลงความเห็นว่าธุรกิจไอทีหลังยุคสตีฟ จ็อบส์ กูเกิลจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลก คุณคิดว่ามันมีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
อริยะ : ถ้าถามเรื่องอนาคต ผมไม่กล้าพูดเพราะโลกสมัยนี้มันไปเร็วมาก เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างมันไปเร็วมาก จากเบอร์ 1 อาจจะหลุดจากแวดวงธุรกิจได้เลย ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด แต่ถ้าดูจากชีวิตประจำวันของเราทุกคน กูเกิลมันอยู่ในชีวิตของเราไปแล้ว มันเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราไปมากพอสมควร
GM : ทราบว่ากูเกิลในบางประเทศ เช่น จีน หรือเยอรมนี มีการบล็อกเนื้อหาบางอย่าง เพื่อให้เหมาะกับสภาพสังคมวัฒนธรรม เช่น ในจีนจะไม่มีเนื้อหาเรื่องการปฏิวัติ หรือในเยอรมนีก็จะไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนาซี ในเมืองไทยมีแบบนี้หรือเปล่า
อริยะ : ในเมืองไทยเราก็ไม่ได้บล็อกข้อมูลอะไร อาจจะมีบางเรื่องที่เราให้ความร่วมมือมากกว่า เช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
GM : เคยมีคนสงสัยไหมว่าเซิร์ฟเวอร์กูเกิลใหญ่ขนาดไหน
อริยะ : ผมก็ยังสงสัยเลยครับ (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าใหญ่ขนาดไหน แต่ต้องใหญ่มากแน่ๆ
GM : ถึงกับมีคนพูดว่า ถ้าอยากโจมตีสหรัฐฯ ไม่ต้องทำอะไรมาก หาทางทำให้กูเกิลล่มให้ได้แค่นั้นพอแล้ว
อริยะ : อันนี้ก็ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งของวิศวกรกูเกิล ในการคิดแผนสำรวจแบบ 1 2 3 4 5 6 7 เผื่อเอาไว้ ถ้าเกิดว่าที่นี่เกิดปัญหาหรือล่มขึ้นมา เราจะมีแผนอื่นรองรับอยู่แล้ว จริงๆ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่กูเกิลมองว่ามันเป็นโอกาส หลายครั้งที่เราได้เรียนรู้จากแฮ็กเกอร์ว่าเรายังมีจุดอ่อนตรงไหนอยู่ เราจะได้ทำให้ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น กูเกิลมีการตั้งรางวัลสำหรับแฮ็กเกอร์เลยที่สามารถบอกได้ว่าที่ไหนคือจุดอ่อน เราทำแบบนี้จน Chrome Browser ได้รับการโหวตว่าเป็นเบราว์เซอร์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก เพราะเราไม่ได้คิดแค่ว่าเราจะต้องมีวิศวกรที่เก่งแต่อย่างเดียว เรามองว่าเราต้องรวมความคิด รวมไอเดียจากคนอื่นๆ เพื่อให้เบราว์เซอร์ของเราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง และแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ
GM : โลกทุกวันนี้ กระแสเรื่องของ Convergence มันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริการของกูเกิลวางแผนไว้หรือเปล่าที่จะทำให้มันเป็น Convergence มากกว่านี้
อริยะ : จริงๆ มันเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้แล้ว ตอนนี้สิ่งที่เห็นก็คือเวลาเราล็อกอิน เราล็อกอินแค่ครั้งเดียว ก็สามารถใช้บริการของกูเกิลได้ทั้งหมดเลยโดยที่ไม่ต้องล็อกอินใหม่ เราจะเริ่มเห็นแล้ว แล้วการที่เราจะแชร์ระหว่างในแต่ละบริการก็จะง่ายขึ้น ตั้งแต่ Google+ Gmail YouTube Google Docs มันเริ่ม Convert กัน ตอนนี้ฟีเจอร์ที่เห็นง่ายที่สุดก็คือฟีเจอร์ล็อกอิน แล้วก็จะเริ่มมีฟีเจอร์ที่จะแฝงเข้าไปในทุกๆ บริการที่จะทำให้มันใช้ได้ง่ายขึ้น
GM : กับการรุกตลาดฮาร์ดแวร์ของกูเกิล เป็นยังไงบ้าง ที่เราเริ่มเห็นไปซื้อธุรกิจของ Motorola การเริ่มทำมือถือเอง คิดว่าเป็นสิ่งที่กูเกิลถนัดหรือเปล่า
อริยะ : สิ่งที่เราเน้นมาตลอดยังไม่เปลี่ยน คือยังเน้น Partnership ที่เรามีกับพันธมิตรที่เป็น Android ของเราทุกยี่ห้อ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เพราะฉะนั้นตรงนี้เหมือนเดิม เพราะจุดเด่นของ Android มันอยู่ตรงที่ว่า เราเปิดให้ทุกคนทำ อันนี้คือเหตุผลที่ Android ขยายตัวได้เร็ว เป็นสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรจะไปแตะ เพราะความสำเร็จของ Android มาจากพาร์ตเนอร์ของเราช่วยกันผลักดัน ไม่มีการทับไลน์ โมเดลอันนี้เป็นหัวใจของ Android อยู่แล้ว ถ้าเราคิดจะเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ มันจะส่งผลกระทบกับเราในด้านที่แย่มากกว่าด้านที่ดี
GM : มองในแง่ธุรกิจออนไลน์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพรวมเป็นอย่างไรกับการเข้าสู่ AEC อะไรคือความท้าทายของประเทศไทย
ที่รอเราอยู่
อริยะ : ผมว่าคงกลับมาที่ประเด็นเดิม คือ ให้ผู้ประกอบการมาอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตให้มากขึ้น พยายามใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการเตรียมตัวเข้าสู่ AEC จริงๆ แล้วต่อให้ไม่มี AEC มันก็เป็นสิ่งที่คุณต้องทำอยู่แล้ว เพราะตลาดหรือว่าการแข่งขันมันมาจากทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ AEC จะช่วยมากระตุ้นให้คนรู้สึกตื่นตัวกันมากขึ้น สิ่งที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือทุกนโยบายที่เราพูดถึง เช่น บรอดแบนด์ 85% สนับสนุนธุรกิจ SME
พวกนี้มาถูกทางหมด สิ่งที่ต้องทำก็คือเดินสายนี้แล้วผลักดัน ถ้าเราไปตามนี้ ผมว่าไม่มีอะไรที่จะมาเป็นอุปสรรค
GM : คิดว่าเราเริ่มช้าไปหรือเปล่า
อริยะ : มันพูดลำบากว่าอะไรเร็ว ช้า มันอยู่ที่อัตราการเติบโต คือเราเห็นว่าภายในระยะเวลาแค่สามสี่ปีมานี้ เรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตเราไล่ทันค่าเฉลี่ยของโลกในภาพรวมไปแล้ว และเติบโตอย่างรวดเร็วมาก มันไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่ความคิดของคนมากกว่า ว่าเราจะผลักดันไปทางนี้หรือเปล่า
GM : คุณคิดอย่างไร กับโครงการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล
อริยะ : ผมคงตอบลึกๆ ไม่ได้ แต่ถ้าโดยไอเดีย มันเป็นความคิดที่ดี ถ้าสามารถวาง Infrastructure ได้อย่างที่มันควรจะเป็น มันเป็นสิ่งที่พาเด็กๆ พานักศึกษาเข้าไปสู่โลกอินเตอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ต้องบอกว่าเขาเกิดมาในโลกอินเตอร์เน็ต เขาจะใช้อุปกรณ์พวกนี้ได้เร็วมาก สิ่งที่ต้องทำก็คือสนับสนุนคนในเจเนอเรชั่นนี้ ให้เขาเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี อย่างวันนี้ถ้าใครมีลูกก็จะเห็นเลย เด็กสมัยนี้เราแทบไม่ต้องอธิบายว่าใช้ยังไง หลานผมนี่ใช้แท็บเล็ตได้แบบเป็นเรื่องธรรมชาติ ลูกน้องผมมีลูก ลูกก็พยายามจะไปสไลด์จอทีวี ผู้ใหญ่ที่เดิมให้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช้ แต่ใช้แท็บเล็ตได้ กลายเป็นผู้ใหญ่วันนี้เข้าอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น แม่ผมเมื่อวันก่อนก็เริ่มถามเรื่องไอโฟน(หัวเราะ) นี่คือเสน่ห์ของการสื่อสารยุคใหม่ มันคือสิ่งที่เราจะเห็นได้มากขึ้น
GM : มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงหรือเปล่าครับ
อริยะ : ขอแค่ให้ทำตามแผนที่วางแผนไว้ สร้าง Ecosystem ที่ดี สร้างเนื้อหาให้ดี เข้าถึงอย่างทั่วถึง ในเชิงไอเดียผมว่าทุกอย่างวางมาถูกทาง การเอาความรู้ไปอยู่ในมือของเด็กๆ มันไม่มีทางผิด
GM : ดูเหมือนว่าธุรกิจดิจิตอลยังมีโอกาสอีกเยอะมากที่จะโต
อริยะ : เยอะมากครับ โมเมนตัมมันกำลังมา ไม่ว่าจะเอเยนซี่ โฆษณา หรือคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอื่นๆ คิดเห็นเดียวกันว่า มันมาแล้ว อินเตอร์เน็ตในบ้านเราเติบโต ทุกคนพยายามผลักดันตรงนี้ให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนกันในทันทีทันใด เพราะแต่ละคนก็มี Comfort Zone อยู่ แต่สิ่งที่จะเป็นแรงผลักดันคือผู้ใช้ มันถึงจุดที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วว่าผู้ใช้ของคุณอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต ถ้าคุณไม่เข้าไปคุยกับเขา มันก็จะมีรายอื่นที่ทำ ถ้าไม่ทำ มันจะไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ
GM : จริงๆ แล้วบริการกูเกิลเองก็มีหลายตัวที่ไม่ประสบความสำเร็จ กูเกิลจัดการกับความล้มเหลวตรงนี้อย่างไรบ้าง เราได้เรียนรู้
จากความล้มเหลวของกูเกิลอย่างไร
อริยะ : ผมมองว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ นั่นคือสิ่งที่ผมได้จากกูเกิลนะ คือเราไม่กลัวที่จะลอง เวลาลองไปมันก็ต้องมีบ้างที่ทำผิดพลาด แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นอย่างไร บางอย่างผมก็คิดเหมือนกันว่า กูเกิลจะทำไปทำไม เช่นหลายบริการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Map ซึ่งตอนแรกผมก็งงว่า ดูเหมือนมันไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจของกูเกิลโดยตรง แต่ในที่สุดวันนี้ เราทำมาแล้วจะเห็นว่า Google Map เป็นหนึ่งในบริการที่คนไทยใช้เยอะ แล้วมันไม่ใช่แค่คนไทย คนทั่วโลกก็ใช้เหมือนกัน
Google Map กับ Street View มันมีเรื่องราวด้วยนะ ที่มาคือ Larry Page ขับรถไปทำงาน ขับไปแล้วเห็นสิ่งแวดล้อมระหว่างทางแล้วก็คิดว่า มันคงดีถ้าเราสามารถจับมันมาไว้ในอินเตอร์เน็ตให้คนเห็นได้ Street View เลยเกิดจากการเริ่มต้นที่ทุกคนงงว่า แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร แต่ตอนนี้กลายเป็นบริการที่มีคนใช้มากที่สุดอย่างหนึ่งของกูเกิล ที่น่าสนใจคือจุดต่าง อย่างจุดท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไม่มีโอกาสได้เห็น วันนี้ เราดูได้ มันเป็นบริการที่น่าทึ่ง เหมือนเราไปเดินอยู่ตรงนั้น
GM : เชื่อว่าคนรุ่นเจเนอเรชั่น X จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ มาก เราโตมาตั้งแต่สังคมที่ไม่มีโทรศัพท์ มาจนวันนี้ที่มีทุกอย่าง เร็วมาก มีอะไรบ้างไหมที่คุณเห็นว่าน่ากังวล
อริยะ : เป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้ เหมือนทุกๆ เครื่องมือที่เรามี เราต้องมีวิจารณญาณในการใช้ มันคือทั้งเรื่องดี-ไม่ดี ผมอยากจะให้คนใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือส่งเสริมในสิ่งดีๆ อย่าไปใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ผิด
GM : คิดว่าโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันจะมีช่วงที่หมดความนิยมหรือเปล่า หรือจะมีอะไรต่อจากนี้อีกหรือเปล่า
อริยะ : คงไม่ แต่คงเห็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในทางไหนยังไม่แน่ใจ แต่คงมีอยู่แล้ว โซเชียลเน็ตเวิร์กมันเป็นอะไรที่สะท้อนพฤติกรรมของคน การที่เราเอาสังคมออฟไลน์ของเรามาอยู่ในโลกออนไลน์ ตราบใดที่เรายังมีสังคมอยู่ มันก็น่าจะอยู่ได้
GM : สถานการณ์ของ Google+ เป็นอย่างไรบ้างครับ มีคนบอกว่าจะเข้ามาแทนเฟซบุ๊ค เพราะมีจุดแข็งในเรื่อง Privacy เวลาผ่านไป กูเกิลพลัสไม่ได้เปรี้ยงปร้างอย่างที่คิดหรือเปล่า
อริยะ : กูเกิลพลัสไม่ได้สร้างมาเพื่อเอามาแทนผู้ใช้เฟซบุ๊ค สิ่งที่เราทำคือเสนอสิ่งที่แตกต่าง หากมองให้ดีบริการของเราทั้งหมดกูเกิลไม่ใช่เจ้าของเนื้อหา แต่เรามีแพลตฟอร์มให้คุณเข้ามาใช้งาน กูเกิลพลัสเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่แตกต่างจากผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ อย่างฟีเจอร์ที่ค่อนข้างโดดเด่นก็คือ Hangout เป็นเหมือนวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่สามารถคุยพร้อมกันได้หลายๆ คน ซึ่งปกติการวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มันต้องลงทุนสูง แต่นี่คุณสามารถวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ผ่านเบราว์เซอร์คุณได้ ขอให้มีอินเตอร์เน็ต เป็นอะไรที่น่าทึ่งนะ แล้วก็เป็นวิธีการที่เราใช้คุยกับออฟฟิศต่างประเทศด้วย กูเกิลพลัสถือว่ามีอัตราการเติบโตที่น่าทึ่ง ภายในระยะเวลา 6 เดือน เรามีผู้ใช้งานประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลก
GM : อุตสาหกรรมไอที มันมียุคหนึ่งซึ่งเป็นยุคของอะเมซอน กูเกิล หรือแอปเปิ้ล คนเหล่านี้กลายเป็นตัวอย่างของคนที่โตมากับธุรกิจออนไลน์และเทคโนโลยี ในอนาคตยังจะมีช่องทางใหม่ๆ ให้มีโมกูลแบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม
อริยะ : มันมีอยู่แล้ว อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของคน ตอนนี้ผมก็คิดว่ายังมีคนอีกมากซุ่มทำงานเงียบๆ อยู่ในโรงรถของคุณป้าเพื่อทำอะไร
สักอย่างซึ่งเขาอาจประสบความสำเร็จในอนาคต บอกได้เลยว่าหลายๆ บริษัทเลยที่ยิ่งใหญ่มาได้ในทุกวันนี้ ก่อนหน้านั้นก็ไม่มีใครคิดหรอกว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ ทุกอย่างมันเริ่มด้วยไอเดีย ด้วยใจรัก ด้วยความอยากสร้างอะไรที่มันแปลกใหม่ เสน่ห์ของโลกสมัยนี้ คืออินเตอร์เน็ตเป็นโลกไร้พรมแดน
มันทำให้โอกาสมีมากขึ้น อย่างคนที่คิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ตลาดของเขามันก็ไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศ ตลาดของเขาคือตลาดโลก นี่คือโอกาสที่เกิดขึ้น
GM : มีคนเคยบอกว่า ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์และ
อินเตอร์เน็ต เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว หลังจากนี้ จะมีอะไรอีกไหมที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา
อริยะ : ผมว่าการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์โมบายล์ต่างๆ กับอินเตอร์เน็ต จะทำให้ทุกอย่างที่เราทำมาอยู่ในมือเราทั้งหมด ทั้งเรื่องงาน ทั้งเรื่องส่วนตัว ผมคิดว่านวัตกรรมน่าจะมาทางนี้ อนาคตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะเป็นทุกอย่าง เราเห็นการเติบโตเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด มันโตอย่างรวดเร็ว คือถ้าคุณเริ่มใช้แล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้มันต่อ มันคือความสะดวกสบาย ทุกอย่างอยู่ในนี้ ใช้แล้วเปลี่ยนยาก
ปัจจัยสำคัญอีกประการคือเทคโนโลยีเรื่อง Cloud Computing จะเป็นลำดับต่อไปที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลทั้งหมด
ของเรา ไม่ว่าจะเข้าจากที่ไหน มันติดตัวเราไปได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเข้าจาก device ไหน ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น
GM : ถ้าให้นับชั่วโมงในการออนไลน์ของคุณตอนนี้ล่ะวันๆ หนึ่งคุณออนไลน์กี่ชั่วโมง
อริยะ : ผมใช้เวลาออนไลน์น้อยลง ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ช่วงนี้เหมือนเราอยู่ในช่วงที่วิ่งอยู่ เข้าหาพันธมิตร ลูกค้า ทำให้ผมใช้เวลาออฟไลนมากกว่าเพื่อไปอธิบายเรื่องโลกออนไลน์นี่แหละ (หัวเราะ)
GM : เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณ มีแผนที่จะรีไทร์ให้เร็วเพื่อไปทำอะไรอย่างอื่น
อริยะ : ตอนนี้เวลาเริ่มร่นลง ร่นลงเรื่อยๆ (หัวเราะ) คือถ้าได้ก็ดี เราก็จะได้มีเวลาใช้ชีวิตเราเยอะขึ้น
GM : เรื่องอย่างอื่นหมายถึงเรื่องการเมืองไหมครับ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า โดยนามสกุล ‘พนมยงค์’ แล้ว ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญเรื่องการเมืองไทย คุณสนใจอยากเป็นนักการเมืองกับเขาไหม
อริยะ : การเมืองเป็นความสนใจส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ผมยังไม่พร้อม ขอเป็นกลาง ด้วยความที่เราสวมหมวกกูเกิลอยู่ด้วย ยังไม่อยากออกความเห็นอะไร แต่บอกได้เลยว่าแม้แต่นักการเมืองก็เริ่มเข้ามาสู่โลกออนไลน์มากขึ้น นักการเมืองจะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกันเยอะขึ้น ข่าวสารก็จะพึ่งโลกออนไลน์มากขึ้น มันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า ไม่ว่าวงการไหน ธุรกิจออนไลน์มันมาแน่นอน
GM : อีก 5 ปีถัดจากนี้ ธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
อริยะ : ถ้าเรายึดนโยบายของรัฐบาล 4 ปีจากนี้ ต้องมีบรอดแบนด์ 85% หากเป็นอย่างนั้นผมว่าเมืองไทยจะสุดยอด การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนจะมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายจะมากกว่าคอมพิวเตอร์ ลองคิดดูว่าหากคนที่อยู่ต่างจังหวัด ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หมด มันจะเปิดโอกาสให้มหาศาลสำหรับคนไทย ข้อมูล เนื้อหา การที่คนเข้าถึงได้ มันจะเปลี่ยนความคิดทัศนคติของคนด้วย