fbpx

‘จองที่จอดอย่างง่ายๆ ด้วย ‘กรวย’ เพียงหนึ่งอัน กับ อภิราม สีตกะลิน’

เรื่อง : สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์ ภาพ : อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

และยิ่งมันหลุดออกมาจากปากของชายหนุ่มด้วยแล้ว ยิ่งชวนให้คิดไปได้ แต่สำหรับ อ๊อง-อภิราม สีตกะลิน กรรมการผู้จัดการบริษัท ปาร์คทูโก จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจองที่จอดรถแบบ 5G ภายใต้ชื่อ ‘park2go’ เขาย้ำกับ GM ว่า ‘กรวย’ ของเขาไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เมื่อพิจารณาจากแนวคิดที่ต่อยอดออกมาเป็นผลสัมฤทธิ์สุดท้าย ก็ยิ่งทำให้เรามองเห็นภาพของความล้ำสมัย และสะดวกสบาย ที่มาพร้อมกับ ‘กรวย’ เพียงหนึ่งใบได้อย่างชัดเจนขึ้น

“ตอนนี้เรามีผู้ลงทะเบียนในระบบกว่า 400 จุดแล้ว” อ๊อง-อภิราม กล่าวในยามบ่ายของวันสบายๆ ที่สำนักงานใหญ่ GM เมื่อเราถามถึงยอดผู้ลงทะเบียนพื้นที่สำหรับให้จองที่จอดรถ

“ถ้านับยอดผู้ลงทะเบียนจริงก็กว่าแสนราย และมี Active User อยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเยอะมาก” อ๊องกล่าวย้ำด้วยความมั่นใจ เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ความมุ่งมั่นและไอเดียสามารถส่งผ่านออกมาจนรู้สึกได้แม้ในขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่ โดยเน้นย้ำว่าโมเดลธุรกิจของ park2go นั้นเรียกว่าเป็นครั้งแรก ‘ในโลก’ ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“เราทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ประกอบการลงทุนน้อยที่สุด และได้ผลตอบแทนกลับไป จากนั้น รายได้คือแบ่งกันอย่างละครึ่งๆ ซึ่งอันนี้เราไม่ได้ไปแตะในส่วนของค่าบริการที่ผู้ประกอบการคิดสำหรับที่จอดนั้นๆ คิดแค่เมื่อใช้แอปพลิเคชันเท่านั้น’ อ๊องอธิบายเสริม

สำหรับชีวิตคนเมือง เรื่องที่จอดรถถือเป็นสิ่งคอขาดบาดตาย ภายใต้สาธารณูปโภคการเดินทางขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้แอปพลิเคชัน park2go สามารถแทรกตัวเข้าไปได้อย่างแนบเนียน

โดยปกติ คนเราคิดเรื่องการจองที่จอดรถเอาไว้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อย่างเร็วสุดคือในช่วง 10 นาที” อ๊องพูดถึงแนวคิดเบื้องหลังสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว “ซึ่งแอปพลิเคชันตัวนี้ของเราเข้าไปช่วยเสริมความสะดวกให้กับผู้ใช้งานและผู้ประกอบการให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะมันง่ายและสะดวกกว่าที่จะไปจองที่จอดรถแบบเป็นรายปี ขอแค่คุณมีแอปพลิเคชันก็สามารถจองที่จอดรถได้เลย”

สำหรับในแง่เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน park2go นี้ค่อนข้างเป็นการ Disrupt ที่อะลุ่มอล่วยและประนีประนอมพอสมควร เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งอ๊องเห็นด้วยในจุดนี้

“park2go ถือเป็นโมเดลแรกของเรา เป็นเวอร์ชัน 1.0 สำหรับแอปพลิเคชันที่จอดรถ” อ๊องตอบ “มันยังมีช่องว่างให้พัฒนาต่อยอดออกไปได้ แต่ถ้าถามว่าผมเป็น Disruptor หรือไม่ ก็ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น อย่างมากที่สุดก็คือ Disrupt ธุรกิจไม้กั้น ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเพิ่มเมื่อใช้แอปพลิเคชันของเรา”

พูดถึงการ Disrupt แล้ว เราถามอ๊องว่าเหนื่อยหรือไม่กับโลก 5G ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน ที่ที่ทุกสิ่งพร้อมจะ ถูกเขี่ยหายตกขอบไปในเวลาอันรวดเร็ว คำตอบของเขาเป็นสิ่งที่พอคาดเดาได้

“เหนื่อยครับ ในยุคนี้แผนต่างๆ เขียนล่วงหน้าได้มากสุดเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น และโลกจะมีคนอยู่ 2 ประเภท คือคนที่ถูก Disrupt และคนที่จะไป Disrupt ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ Apple กับผลิตภัณฑ์ iPod ที่พวกเขา Disrupt ตัวเองด้วย iPhone โดยไม่ต้องรอให้ใครมาทำให้”

นอกเหนือจากนั้น หนุ่มอ๊องยังกล่าวเสริมด้วยว่า ในอนาคตห้วงเวลาและระยะห่างระหว่างการ Disrupt แต่ละครั้งจะสั้นและรวดเร็วขึ้น

“ระยะห่างระหว่าง CD กับ iPod นั้นกินเวลากว่า 2 ทศวรรษ แต่กับ iPod ไป iPhone ใช้เวลาเพียง 5 ปี ยิ่งกับแวดวงความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีนี้ มันจะยิ่งเร็วจนเราสัมผัสได้เลย”

เราถามอ๊องเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เขาได้ ‘พลาด’ ในเส้นทางตลอดสิบปีที่อยู่ในตลาดอันเกี่ยวข้องกับที่จอดรถ ไปจนถึงแอปพลิเคชัน park2go ตัวนี้ ซึ่งเขาตอบข้อกังขานี้ได้อย่างชัดเจน

“เดิมทีเดียวสำหรับ park2go เราใช้โมเดลธุรกิจแบบ Airbnb คือจองที่จอดเป็นรายเดือน แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น พฤติกรรมของผู้จอดรถไม่เหมือนการจองโรงแรมหรือที่พัก เราเคยพลาดไปใส่ระบบ Internet of Things ที่เพิ่มต้นทุนไปโดยไม่จำเป็น จนสุดท้ายมาลงเอยที่ ‘กรวย’ เพียงใบเดียวอย่างที่เห็นอยู่”

สำหรับคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ เราถามเจาะลงไปว่าเขามีคำแนะนำใดที่อยากจะให้สำหรับผู้ที่คิดอยากเป็นผู้ประกอบการ หรือกระโดดลงมาในธุรกิจนวัตกรรมแบบนี้บ้างหรือไม่ ซึ่งเขาตอบแทบจะทันที

“พร้อมจะเจ๊งครับ” อ๊องตอบพลางหัวเราะ “คือคุณต้องไปให้สุดทางจริงๆ มันมีคำพูดของ อีลอน มัสก์ ที่ผมชอบมากๆ คือถ้าคุณคิดจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คุณต้องไปให้ถึงจุดที่คุณจะต้องพลาด มันเหมือนการหัดขี่จักรยาน ที่กว่าจะขี่เป็นก็ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายรอบ ใครจะคาดหวังว่ามาถึงลงมือทำ แล้วทำสำเร็จปังๆ แบบยิงลูกแฮตทริกเข้า 3 ลูกซ้อน สำเร็จอย่างง่ายดายไปหมดนั้น บอกเลยว่าไม่มีทาง”

สำหรับโลกแห่งการสร้างสรรค์ การสร้างแอปพลิเคชันเป็นโลกที่ใครก็สามารถก้าวเข้ามาได้ มีตัวอย่างของ ‘ทุนต่างชาติ’ อยู่มากมายที่เข้ามาปักธงพื้นที่แอปพลิเคชันในประเทศไทย เราถามอ๊องว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

“นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ เพราะมันไม่มีอะไรมาห้ามไม่ให้คุณทำการสลับหรือย้ายไปใช้แอปพลิเคชันอื่นๆ ได้เลย ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความต้องการล้วนๆ” อ๊องอธิบาย “คือ คุณต้องเป็นนวัตกรรมจริงๆ และใหม่จริงๆ เพราะปลาใหญ่รอเขมือบคุณอยู่ในทุกฝีก้าว หรือจะพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับใช้ในประเทศอย่างเดียวก็ได้ แต่ก็จะออกไปข้างนอกได้ยาก
นี่เป็นสิ่งที่ยังเป็นปัญหา”

ดูเป็นโจทย์ที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางใดแต่สำหรับ park2go มีทิศทางที่ค่อนข้างสดใสอยู่พอสมควร เราถามเพิ่มเติมว่าเขาคาดหวังสิ่งใดในอีก 5 ปีข้างหน้า

“อย่างแรกเลยที่หวังไว้คือหลุดออกไปจากกรุงเทพฯ เป็นระดับประเทศให้ได้ก่อน แล้วพอเรียบร้อยเมื่อไรค่อยมาว่ากันหน้างาน แต่มันยากนะครับ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะออกไปข้างนอก แต่มันก็เป็นเรื่องยากทีเดียว ด้วยเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ยังไม่ได้แข็งแรงมากพอที่จะผลักดันให้เราออกไป แต่ก็ยังคงหวังเอาไว้อยู่นะครับ”

สุดท้ายนี้ GM ถามผู้บริหารวัยหนุ่มว่าคิดจะทำสิ่งใดต่อไปในอนาคต นี่เป็นอีกข้อที่เราได้รับคำตอบเร็ว แบบไม่เสียเวลา

“เอาเท่านี้ก่อนดีกว่าครับ แค่นี้ก็ภาระเต็มมือแล้ว ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่นหรอก ผมอยู่กับแวดวงที่จอดรถมานานเสียจนคนเขาเรียกผมเป็น Mr.Park ไปแล้ว” อ๊องตอบพร้อมหัวเราะ

เรื่องที่จอดรถเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในยุคสมัยปัจจุบัน และ อ๊อง-อภิราม สีตกะลิน ก็เดินเข้ามาเสริมในความต้องการนี้ได้อย่างถูกจุด เปลี่ยนเรื่องเล็กๆ ให้กลายเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาลได้ด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ บวกประสบการณ์ที่สั่งสมมาพอตัว แล้วคุณล่ะ วันนี้พร้อมจะเปลี่ยนพื้นที่ และ ‘กรวย’ ใบหนึ่ง ให้เป็นที่จอดรถแล้วหรือยัง?

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ