อนุช อาภาภิรม บางคำถามในปัจจุบันถึงอนาคตในศตวรรษที่ 21
ภาค 1 เท้าความถึงอดีต
การมองอนาคต (Foresight) กลายเป็นอีกคำหนึ่งที่พูดถึง กันมากในสหรัฐอเมริกา ในโมงยามที่โลกเต็มไปด้วยปัญหา หลายคนเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับอนาคตศึกษา (Futurology)
น่าจะเป็นทางออกที่สวยงาม
ทางหนึ่ง ที่ทำให้มนุษยชาติรอดพ้นจากวิกฤติ
หน่วยงานอย่าง RAND Corporation หรือ NIC (National Intelligence Council) ของสหรัฐอเมริกาที่ทำการศึกษาวิจัยในศาสตร์ต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานของมูลสำหรับการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ การศึกษา สังคมศาสตร์ กลายเป็นหน่วยงานที่มีความหมายอย่างมากของสหรัฐอเมริกา โมเดลในการศึกษาเรื่องอนาคตในสหรัฐอเมริกาเริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 และกลายเป็นแบบอย่างให้อีกหลายประเทศในเอเชียนำไปใช้เพื่อการวางแผนพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน
ไม่รู้ว่าเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และศาสนาพุทธสอนให้เราอยู่กับปัจจุบันหรืออย่างไร ทำให้ประเทศไทยหาหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ได้น้อยมาก แม้กระทั่งผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ดูท่าจะมีท่านผู้นี้เพียงท่านเดียว
บทความพิเศษ เรื่อง ‘อนาคตศึกษาในศตวรรษที่ 21’ ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ อยู่ในมติชนสุดสัปดาห์ เขียนโดย อนุช อาภาภิรม นักคิดนักเขียนอีกท่านหนึ่งที่ศึกษาเรื่องอนาคตศึกษาอย่างจริงจัง
จะว่าไปแล้วอนุชอาจเปรียบได้กับ เวนเดลล์ เบลล์ (Wendell Bell เกิดเมื่อปี 1924) ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยา ของมหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘รากฐานของอนาคตศึกษา’ (Foundations of Futures Studies : Human Science for New Era ได้รับการยกย่องว่าเป็น
ผู้ที่ทำให้อนาคตศึกษา (Futurology) ในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว)
ความน่าสนใจของเบลล์คือ การนำเอาทั้ง ปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และจริยธรรมโยงเข้าด้วยกัน ทำให้การศึกษาเรื่องอนาคตนั้นครอบคลุม กว้างขวางและกว้างไกล
ไม่แตกต่างกัน สิ่งที่อนุชได้เขียนไว้ในบทความของท่าน ที่กระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของคนไทยหลายคนไม่น้อย งานเขียนของท่านโยงใยเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง และมันน่าเสียดายไม่น้อยหากไม่มีใครสนใจที่จะพูดถึงเรื่องอนาคตศึกษา เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังละเลยเรื่องอนาคตของชาติ…ไม่สิ อนาคตของมนุษยชาติ
และอนาคตมาถึงแน่ครับพี่น้อง แถมมันน่าสะพรึงกลัวกว่าที่เราคิดเสียด้วย
ภาค 2 พูดคุยเรื่องปัจจุบัน
GM : อนาคตศึกษาเป็นเรื่องของการใช้ศาสตร์หลากหลายแขนงมาวิเคราะห์ ตีความปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ต่างประเทศมีการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในบ้้านเราโอกาสที่การศึกษาที่เน้นการมองแบบองค์รวมแบบนี้จะมีเกิดขึ้นไหม
อนุช : คือหากเรามองว่าสำคัญ มันก็จะเกิดขึ้น แต่หากคนยังไม่รู้สึกว่ามันสำคัญ ก็ไม่มีสิทธิ์เกิดขึ้น เพราะแม้ว่าคุณอยากให้มันเกิด ทุ่มเงินลงไป แต่ไม่มีใครสนใจ เป็นเรื่องไกลตัว คนก็เอาเงินไปให้กับหมอดูดีกว่า ซึ่งถ้านับกันจริงๆ เงินที่หมอดูได้ไปน่าจะมากกว่าเงินที่จะเอามาใช้ในการตั้งสถาบันอนาคตศึกษาเสียอีก ทั้งที่จริงๆ เกือบทุกประเทศมีการสร้างสถาบันศึกษาเกี่ยวกับอนาคตศึกษาขึ้นมา สถาบันพวกนี้ทำหน้าที่คล้ายกับสำนักคิด ทำหน้าที่ในการทำนายอนาคตให้กับผู้นำประเทศหรือรัฐของเราที่เขานับว่าเป็นอนาคตศึกษาก็น่าจะมีอยู่สองแห่งเท่านั้นที่ถือว่าเข้าข่าย (บัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) และศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค เคยทำการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีอุบัติใหม่ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และ GM PLUS เคยนำผลงานเผยแพร่ในเล่มเดือนธันวาคม 2549)
GM : ในสังคมพหุลักษณ์ ไร้รากอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทำไมการศึกษาแบบองค์รวมหรือการศึกษาเรื่องอนาคตศึกษาถึงได้พัฒนา จนกลายเป็นประเทศชั้นนำที่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังได้
อนุช : ผมว่าส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญด้วยก็คือ สังคมอเมริกันมีประชาธิปไตย อันนี้เป็นจุดแข็งของเขา ระบอบประชาธิปไตยมันมีข้อดีคือสามารถระดมพลังของคนมาได้ค่อนข้างกว้างขวางหลากหลาย แต่หากคุณปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจแล้วเอาคนเก่งคนดีขึ้นมาปกครอง ยังไงๆ มันก็ยังแคบกว่า คนชั้นล่างก็จะเป็นเพียงคนรับนโยบายไปใช้ มันไม่ได้สมบูรณ์ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ยากไม่ดีเท่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งน่าจะเป็นระบอบที่ดีที่สุดในตอนนี้ นั่นทำให้เขาแตกต่างจากเราทั้งๆ ที่รากทางวัฒนธรรมของเราไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่าเขา
GM : ทำไมตะวันออกเราไม่มีเซ้นส์แบบนี้
อนุช : ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันนะว่าทำไมเราไม่มีความตระหนักเรื่องความเสมอภาครุนแรงเหมือนในตะวันออก แต่ผมคิดว่าในช่วงเวลาที่ยาวนาน ตะวันออกก็ไม่เคยถูกท้าทายแบบจริงๆ จังๆ พอถึงศตวรรษที่ 18 ที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามา เราก็ต้านกันไม่อยู่ ขณะที่ของเก่าที่เราทำมาหลายพันปีก็ยังใช้ได้ เลยยักแย่ยักยันกันอยู่
GM : การอธิบายในแบบอนาคตศึกษา มักมีการใช้ทฤษฎีต่างๆ มาเชื่อมโยงกัน ทั้งทฤษฎีทางฟิสิกส์ กลศาสตร์ ทฤษฎีทางสังคม แม้กระทั่งพุทธคติก็นำมาใช้ได้ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อย
อนุช : โลกนี้อาจดูเหมือนมีทฤษฎีมากมาย แต่แก่นหลักของมันคือเรื่องของการย้ายไปมาของพลังงานและสสาร เช่น ต้นไม้หากมันจะโต มันก็ต้องดึงพลังงานจากที่อื่น จากดิน แสงแดด น้ำ เพื่อใช้สังเคราะห์แสง เปลี่ยนเป็นพลังงาน สังคมก็เหมือนกัน เมืองจะโตได้ก็ด้วยการดึงพลังงานจากชายขอบ ทั้งแรงงานทรัพยากรมาทำให้เมืองโต นี่เป็นเรื่องพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจ ความเป็นมาเป็นไปของธรรมชาติ
GM : หากยึดตามหลักที่คุณพูด คนชายขอบหรือคนที่อ่อนแอกว่าคงแย่
อนุช : มันก็ต้องเบียดเบียนกันเป็นทอดๆ เหมือนกับทฤษฎีวิวัฒนาการว่าไว้ว่า คนแข็งแรงกว่าเท่านั้นจึงจะอยู่รอด สังคมก็เป็นแบบนั้น คนชายขอบก็ต้องดิ้น พวกเขาอาจอพยพมาอยู่ที่ศูนย์กลาง มาหาเงิน แล้วก็ส่งเงินกลับไปที่ชายขอบ คนชายขอบก็อาจหาแหล่งพลังงาน สสารใหม่ๆ เช่น การรุกล้ำพื้นที่ป่า เมื่อในเมืองขยายตัวไปเรื่อยๆ การบุกรุกของคนชายขอบก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้ กินไปเป็นทอดๆ
GM : หากมองย้อนกลับมาเมืองไทย องค์ความรู้ในแบบอนาคตศึกษานี้ อีกนานเท่าไหร่ที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง หรือเห็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น
อนุช : จริงๆ แล้วระบบการศึกษาจะเปลี่ยนช้ามาก มันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก่อน แล้วการเปลี่ยนทางสังคมจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ สื่อมวลชนจะไวกว่า แต่หากสื่อมวลชนไทยยังมองใกล้ไม่มองไกล ยังมองแคบไม่มองกว้าง คุณก็บอกเองว่า ไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึง แสดงว่ามันมีพื้นที่ในสังคมน้อยมาก สื่อมวลชนบ้านเรายังมองแคบและใกล้ พอมันเป็นอย่างนี้ก็ยากที่จะไปเสริมระบบการศึกษา
GM : แก่นในการศึกษาอนาคตศึกษามันมีประโยชน์อย่างไร ทำให้เราได้เห็นอะไรบ้าง
อนุช : มันทำให้เรามีจิตสำนึกอนาคต การมีจิตสำนึกอนาคตคือการเข้าใจแก่นของการเปลี่ยนแปลงว่า ระบบที่มีพลังงานมากมันจะลดลงไปเป็นระบบที่พลังงานน้อยเสมอ และมนุษย์เราสร้างสังคมจากระบบที่มีพลังงานมาก ทุกวันนี้เราใช้พลังงานเกินกว่าที่โลกจะให้เราได้ แต่ว่าการที่เราใช้พลังงานมาก มันก็สร้างพลวัตรให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเข้าใจและยอมรับปรากฏการณ์แบบนี้ อาจพอช่วยลดความอึดอัดในชีวิตลงได้บ้าง
GM : ยังไงครับ
อนุช : ก็เช่นว่า มนุษย์เราถ้าเผื่อมีความอยากมาก อยากมีรถยนต์ใช้ มีเครื่องดูดฝุ่น มีเครื่องซักผ้า เราต้องทำงานมากขึ้น หาเงินมากขึ้น ซึ่งเราต้องยอมรับพลวัตรนั้น หากไม่อยากเป็นแบบนั้น ก็ต้องหาทางหยุด
GM : เท่าที่อ่านงานของคุณมุมมองหลายๆ อย่างมีเรื่องของคติพุทธเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เช่นเรื่องของทฤษฎีอนัตตากับการประยุกต์ใช้ในอนาคตศึกษา ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจทีเดียว
อนุช : จริงๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ก็ได้รับอิทธิพลเรื่องนี้ไปมาก ทฤษฎีอนัตตาถือเป็นสุดยอดของการค้นพบของพระพุทธเจ้า มันเป็นการมองโลกแบบง่ายๆ ง่ายจนทุกคนมองข้ามไปว่า ทุกๆ อย่างล้วนไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น ผมเองยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธมาส่วนหนึ่ง เหมือนกัน
GM : แล้วเมืองพุทธอย่างประเทศไทย วิถีพุทธชาวบ้านจะสามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากความโกลาหล ของโลกได้ไหม
อนุช : ไม่ได้ พุทธศาสนาบ้านเราเป็นพุทธที่เน้นพุทธบูชา คือเน้นทำบุญ ทำพิธี แต่ไม่ได้เน้นในการศึกษาทำความเข้าใจกับหลักคิด เรามาไกลกว่าไตรภูมิพระร่วงนิดหน่อย (หัวเราะ) ศาสนาพุทธบ้านเรายังไม่ไปถึงไหน เรื่องที่ลึกซึ้งก็คงต้องอาศัยเวลามาก เพราะจริงๆ คติพุทธมันทำลายความหยิ่งทะนงในความเป็นมนุษย์ ความเป็นสัตว์วิเศษ คล้ายๆ กับทฤษฎีวิวัฒนาการ เพราะแก่นของทฤษฎีเหล่านี้คือ มนุษย์ก็เป็นสัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง ไม่ได้เห็นว่ามนุษย์เป็นสิ่งวิเศษ หาตัวตนอะไรไม่ได้ ไอ้ที่คิดว่าตัวตนเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องคิดไปเอง แต่จริงๆ ไม่ใช่ แต่พุทธแบบไทยๆ มันก็พอมีประโยชน์อยู่บ้าง ตรงที่สอนให้เราเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ช่วยให้เราปล่อยวางได้บ้าง
GM : ทั้งๆ ที่บ้านเราน่าจะพัฒนาองค์ความรู้นี้ ให้ปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้มากกว่านี้
อนุช : ก็เพราะเขาไม่เสียดายองค์ความรู้พวกนี้ หลายคนไม่ได้อยากรู้ ไม่ได้สนใจ หรือเขาอาจมีเรื่องอื่นที่น่าสนใจกว่า เช่นว่าคนในสังคมอาจอยากรู้ว่า น้องแตงโมร้องไห้เพราะเลิกกับใครมากกว่ามาฟังเรื่องอนัตตา
GM : ฟังดูน่าเศร้า
อนุช : ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปบอกว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ควรทำเลย อันนั้นจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าในการไปบังคับให้ใครคิดเหมือนเรา หากมีความคิดเห็นก็จงแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่ขู่เข็ญบังคับ เพราะพื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน
GM : ในความคิดเห็นของนักอนาคตศึกษาเช่นคุณ คุณคิดว่าโลกของเรากำลังจะเดินไปทางไหน
อนุช : โลกของเรากำลังเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ วิกฤติใหญ่ๆ มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกันซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกันไปหมด อย่างแรกคือ การล่มสลายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งวางตัวเป็นผู้จัดการโลก ซึ่งพอคนจัดระเบียบโลกทรุด ก็จะพลอยมีคนโน้นคนนี้อยากขึ้นมาเป็นบ้าง มันก็เลยปั่นป่วน ใครมีอำนาจก็อยากมาจัดการ คล้ายๆ กับตอนที่อังกฤษยังเป็น จักรภพใหญ่ ช่วงนั้นอังกฤษก็เข้ามาจัดการโลกเหมือนกัน แล้วก็ทรุดอย่างนี้ พอทรุดก็เกิดสงครามโลกถึง 2 ครั้ง จนในที่สุดก็พ่ายไป ทำให้สหรัฐฯขึ้นมาแทนที่ ความปั่นป่วนในโลกมักจะเกิดขึ้นเมื่อคนจัดระเบียบนั้นเริ่มอ่อนแอ
วิกฤติที่สอง ก็คือวิกฤติเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ เราเกรงกันว่า วิกฤติครั้งนี้จะไม่ใช่วัฏจักรของระบบเศรษฐกิจ แต่อาจเป็นการเสื่อมถอยของทุนนิยม ซึ่งแปลว่ามันจะแก้ยากมาก
วิกฤติที่สามคือ เรื่องสิ่งแวดล้อมความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรม- ชาติ ปัจจัยหลักนั้นอยู่ที่น้ำมัน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนโลก ตอนนี้แม้ราคาจะถูกลง แต่เป็นการลดลง เพราะไม่มีใครซื้อ แต่พอเศรษฐกิจฟื้นน้ำมันก็แพงขึ้นมาอีกเพราะคนใช้มาก ตอนเศรษฐกิจทรุดก็ไม่มีใครอยากไปพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทน แต่พอเศรษฐกิจดี น้ำมันก็แพงขึ้นมาก็เตรียมการไม่ทันแล้ว มันก็เลยวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินกว่าที่โลกจะให้เราได้
วิกฤติสุดท้าย เป็นเรื่องของช่องว่างทางสังคม ทุกวันนี้มันกว้างขึ้นเรื่อยๆ คนรวยคนจนห่างกันออกไปทุกที เมื่อห่างกันมากก็ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา
GM : ทั้งหมดส่งผลอย่างไรกับโลก
อนุช : ปัญหาต่างๆ จะแก้ยากขึ้น ไม่ว่าปัญหาอะไรก็ตาม
GM : ตั้งแต่ลูกงอแง พ่อแม่ทะเลาะกันยันปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ
อนุช : ใช่, วิกฤติที่เราเจอตอนนี้ส่งผลกับทั้งโลก ประเทศไทยเราก็ไม่เว้น และนี่เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ ว่าจะสามารถใช้พลังสติปัญญาในการแก้ปัญหาที่แก้ได้ยากพวกนี้อย่างไร จริงๆ เราก็พอเห็นทางออกอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
GM : ทางออกนั้น เราต้องทำอย่างไรกันบ้าง
“ผมคิดว่าใน 30 ปีข้างหน้า เป็นช่วงของการปั่นป่วนใหญ่ อาจเกิดสงครามใหญ่อีกครั้ง ระบบเศรษฐกิจโลกล้มเหลว และปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม”
อนุช : คือมนุษย์ต้องพัฒนาพลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ และสุดท้ายเราต้องจัดสถาปัตยกรรมการเมืองโลกใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
GM : เช่นที่คุณเคยบอกว่ามีแนวโน้มที่เราจะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลโลก
อนุช : ใช่, แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน มันก็พอมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้าง เช่น สหประชาชาติ แต่ไม่รู้ว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็นรัฐบาลโลกได้หรือเปล่า หรืออาจแตกดับไปก็ได้ ซึ่งก็มีคนเสนอทฤษฎีการจัดระเบียบโลกในหลายแบบ เช่นทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ทฤษฎีโลกที่สอง หมายถึงให้เอาประเทศโลกที่หนึ่งร่วมมือกับประเทศที่เกิดใหม่ ที่มีความเข้มแข็งในระบบตลาด 4 ประเทศ หรือที่เรียกว่า BRIC (หมายถึง บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China)) มาช่วยกันจัดระเบียบโลก ส่วนที่เหลือก็เป็นย่อยไป ก็จัดการตามความเหมาะสม มีคนพูดเยอะหลายคนบอกว่าจริงๆ ไม่ต้องขนาดนั้นก็ยังได้ แค่สหรัฐ อเมริกากับจีนร่วมมือกันก็จัดระเบียบโลกได้แล้ว แต่ผมว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น
GM : ฟังที่คุณพูดแล้ว อนาคตของโลกนี้ดูวุ่นวาย
อนุช : ก็วุ่นวาย
GM : ท่ามกลางความโกลาหลอย่างนี้ เราควรจะทำอย่างไร คุณมีคำแนะนำสำหรับคนวัยหนุ่มสาวที่กำลังจะสร้างครอบครัวและต้องอยู่ในโลกนี้ไปอีก อย่างน้อยๆ ก็ 30-40 ปี
อนุช : ก็ต้องยอมรับความโกลาหล แล้วถ้าเผื่อชีวิตมันยุ่งนัก ก็หยุดชีวิตเป็นช่วงๆ ที่เรียกว่าการพักผ่อน เราต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักปล่อยวาง
GM : ในช่วงชีวิตของเราจะได้เห็นความสงบสุขไหม
อนุช : ผมคิดว่าใน 30 ปีข้างหน้า เป็นช่วงของการปั่นป่วนใหญ่ อาจเกิดสงครามใหญ่อีกครั้ง ระบบเศรษฐกิจโลกจะล้มเหลว และปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมแต่มันก็มีด้านดีคือในช่วงเวลาของการปั่นป่วนนี้ มนุษย์ก็จะพยายามหาทางออก ว่าเราจะเอายังไงกับชีวิต
GM : แล้วกับประเทศไทย บ้านเมืองเราจะเดินไปทางไหน ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง
อนุช : มันพูดยาก ตอนนี้กระแสฟาสซิสม์ก็มี หรือกระแสแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็มี มีทั้งสองแบบ ตอนนี้กำลังสู้กัน ผมทายไม่ออก ดูไม่ออก เพราะแต่ไหนแต่ไรมาผู้ปกครองมีแนวโน้มเป็นฟาสซิสม์ แต่ประชาชนมีแนวโน้มต้องการประชา-ธิปไตย แล้วการต่อสู้มันมักก้ำกึ่งกัน ขึ้นกับว่าใครมีเทคโนโลยีในการต่อสู้กันในระดับไหน คนข้างล่างก็พยายามลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตนมีอิสระมากขึ้น ส่วนคนข้างบนก็คอยกดเอาไว้ ไม่อยากสูญเสียอำนาจ มันเป็นอย่างนี้มานานมากแล้ว
GM : ตอนนี้เรามีรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีที่ดูเหมือนได้รับการยอมรับมากขึ้น คุณคิดว่ามันจะสามารถเปลี่ยนอะไรได้มากไหม
อนุช : เปลี่ยนลำบาก ปมมันมีหลายอย่าง เอาแค่ปมเดียวอย่างเช่นเรื่องประชาธิปไตยก็ยังยาก ถ้าเผื่อเราไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ต่อ ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างอื่นได้
GM : แสดงว่าในมุมมองของคุณ ประเทศไทยเรายังไม่มีประชาธิปไตยเลย
อนุช : เราเพิ่งผ่านการก่อรัฐประหารมาไม่นาน เรื่องราวก็วุ่นวายมาตลอด ก็เห็นมีการเสนอทางออกมากมาย แต่ดูเหมือนไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ผมว่าเราคงต้องใช้เวลาอีกนาน
GM : ถามตรงๆ ว่าสำหรับคุณ เมืองไทยทุกวันนี้น่าอยู่ไหม
อนุช : อืมม์…มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเทียบกับอะไร หากเทียบกับอิรัก บ้านเราก็คงน่าอยู่กว่า (หัวเราะ) แต่ถ้าเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ประเทศเราเคยน่าอยู่กว่าคนอื่นเยอะนะ แต่ตอนนี้ภาพนั้นมันเบลอ
GM : มันเกิดจากอะไรครับ ระบอบทักษิณหรือเพราะระบบศีลธรรมที่ล้มเหลว
อนุช : มันคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรเพียงอย่างเดียว มันมีหลายเรื่องมาก เอาแบบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เราเคยผ่านการก้าวยาวๆ มาแล้ว พอถึงเวลาหนึ่ง เราก็ก้าวแบบนั้นไม่ออกอีกแล้ว พูดแบบเห็นภาพง่ายๆ แบบนั้นนะ แต่เราก็ยังนำหน้าเขาอยู่นะแต่เส้นมันเริ่มไม่ชัดแค่นั้นเอง
GM : มุมมองของคุณเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ณ ตอนนี้กับเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วแตกต่างกันมากไหม
อนุช : ตอนที่ผมหนุ่มแน่น ผมมีโมเดลว่าจะสร้างสังคมแบบหนึ่ง ตอนนั้นการมีโมเดลของเรา มันทำให้เราผยองว่า เราจะแก้ไขอะไรได้ ทำอะไรได้ แต่จริงๆ เราทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้มันไม่มีโมเดลแล้ว โลกมันซับซ้อนกว่านั้น เดิมทีที่เราคิดว่าใช่ แต่ก็ไม่ใช่ และทั้งโลกก็ไม่เป็นจริง แต่ผมก็ไม่ได้ทุกข์กับความผิดหวัง ผมก็ศึกษามันต่อว่า ทำไมมันถึงไม่เป็นอย่างที่เราคิด ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเพราะมันซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก แล้วการศึกษาก็เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง และโดยมากก็เป็นการสนับสนุนอำนาจรัฐ
GM : แล้วอย่างนี้มีอะไรจริงไหมในโลกนี้
อนุช : ความจริงก็มี ก็จริงตามที่สมมุติ (ยิ้ม) เราสมมุติขึ้นมาว่าให้มันจริง มันก็จะจริงตามนั้น
ภาค 2 ทำนายอนาคต
GM : ทีนี้เราอยากรู้ว่า มนุษย์เราพอมีทางออกให้กับความโกลาหลนี้ไหมครับ
อนุช : สำหรับผม ผมมีสมมุติฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะพอเป็นทางรอดได้บ้าง คือตอนนี้ในโลกเรามีระบบใหญ่ๆ อยู่ 3 ระบบคือ ระบบตลาด ระบบรัฐ และระบบประชาสังคม
ที่แล้วมาระบบตลาดมักอยู่ใต้อำนาจรัฐและการเมือง แต่ตอนนี้ดูเหมือนระบบตลาดมันใหญ่ขึ้นมากจนมีอิทธิพลไม่น้อยกับรัฐและระบบการเมือง ผมคิดว่าใน 30 ปีข้างหน้าทางออกหนึ่งที่จะทำให้สังคมอยู่รอดก็คือ เราต้องเอาระบบประชาสังคมซึ่งเป็นระบบที่มาจากรากหญ้า ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยว เป็นระบบประชาธิปไตยโดยแท้จริง มาผนวกกับระบบตลาดกับระบบรัฐให้ได้ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง สร้่างธุรกิจ บนพื้นฐานของประชาสังคม
GM : การทำแบบนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรครับ
อนุช : จริงๆ ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน และอาจมีคนเสนอโมเดลที่เป็นทางออกของวิกฤติในหลากหลายรูปแบบ แต่นี่เป็นมุมมอง ส่วนตัวของผมว่ามันสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้และเชื่อว่ามันจะเป็นทางรอดของมนุษย์ เพราะหากเราไม่สามารถเอาประชาสังคมมารวมกับระบบตลาดหรือระบบรัฐได้ เป็นไปได้มากว่าเราอาจจะต้องทิ้งมนุษย์จำนวนมากไว้เบื้องหลัง เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่มีอำนาจการต่อรองในสังคม ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และจำนวนของคนกลุ่มนี้อาจเป็นหลายพันล้านคน
GM : สังคมอาจจะแย่ลงไปอีก
อนุช : ก็ไม่รู้ว่าแย่ไหม แต่ว่ามันก็จะไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องการ
GM : ฟังดูอนาคตของเราไม่ค่อยสวยงามนัก แต่ก็ดูเหมือนทุกคนก็เพิกเฉยต่อความโกลาหลที่กำลังจะเกิดขึ้น ดูเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว ไกลตัวเราเกินกว่าที่เราจะทำอะไรได้ ความโกลาหลนี้ เราอาจอยู่แค่ฐานะผู้มอง และตามเกมมันไป
อนุช : ก็ไม่เป็นไร คุณก็ได้คำตอบแล้วไงว่าคุณจะตามเกม
GM : แต่ไอ้การตามเกมของเรา มันก็ทำให้เรามีคำถามว่า เราจะอยู่ได้ไหม เราจะมีความสุขกับชีวิตของเราหรือเปล่า
อนุช : อันนี้ก็เป็นความกังวลกับระบบที่มีอยู่ว่ามันไม่สามารถตอบคำถามของเราได้ จริงๆ ส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะมันก็ตอบยาก เพราะอำนาจรัฐมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
“การเป็นคนไร้รากนี่ละถึงจะอยู่ได้ การเป็นคนมีรากแล้วปรับตัวไม่ค่อยได้ อยู่ไม่ได้ในสมัยนี้ ทำอะไรก็ขัดใจไปหมด ติดโน่น ติดนี่ ไอ้โน่น-ไอ้นี่ก็ไม่ได้ อยู่ลำบาก”
GM : สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของอำนาจรัฐคืออะไร
อนุช : รัฐซึ่งเป็นศูนย์กลางทางอำนาจ สูญเสียการผูกขาดไปสองอย่าง หนึ่งคืออำนาจการผูกขาดความรุนแรง และสองคืออำนาจการผูกขาดข่าวสาร ทำให้ภาคประชาชนหรือประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้น
GM : อำนาจในการเข้าถึงข่าวสาร เรายังพอนึกภาพออกว่า ช่องทางการติดต่อใหม่ๆ อย่างอินเตอร์เน็ตน่าจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น แต่เราอยากให้คุณขยายความถึงเรื่องการสูญเสียอำนาจในการใช้ความรุนแรงของชนชั้นปกครองว่าเป็นอย่างไร
อนุช : สมัยก่อนเราจะเห็นว่า รัฐเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง คนอื่นใช้ไม่ได้ หากใช้ก็จะโดนกำราบปราบปรามอย่างหนัก สมมุติว่าไปฆ่ากัน รัฐจะถือว่าประชาชนใช้ความรุนแรง รัฐก็จะเข้ามาแทรกแซง แต่ตอนนี้อำนาจรัฐลดลง การใช้ความรุนแรงในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อท้าทายอำนาจรัฐมีมากขึ้น เช่นว่าการก่อการร้ายแบบองค์การใต้ดิน การทำระเบิดพลีชีพ ซึ่งรัฐจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ยากมาก
GM : ซึ่งเชื่อว่ารูปของรัฐในอนาคต อาจไม่ใช่อย่างที่เราเห็น ณ ปัจจุบันนี้
อนุช : ก็ต้องปรับตัว แต่มันก็ขึ้นกับหลายๆ อย่าง ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ก็มีคนที่พูดไว้หลายแบบ เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มผู้นำอย่างกลุ่มประเทศ G20 หรือความพยายามในการจัดตั้งสมัชชาสังคมโลก (World Social Forum)
คนกลุ่มนี้ก็พยายามหาแนวทางใหม่ๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองสังคม ขึ้นมาแทนรัฐแบบเก่า แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน
Thai Futurology
ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? นี่คือข้อสรุปคร่าวๆ จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
พ.ศ. 2559 – พลังงาน
43,558 คือจำนวนเมกะวัตต์ ที่คาดว่าประเทศไทยต้องการจะใช้ในปีนั้น ในขณะที่ปัจจุบันเราสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 34,000 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันยังมีครัวเรือนราว 2.9 ล้านครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งร้อยละ 88.2 ของพลังงานที่ใช้มาจากพลังงานฟอสซิล
พ.ศ. 2562 – สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันคนกรุงเทพฯทิ้งขยะโดยเฉลี่ยวันละเกือบ 2 กิโลกรัม และหากเรายังทิ้งกันอยู่อย่างนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนขยะจะเพิ่มมากขึ้นอีก 1.5 เท่า และปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากที่สุด เพราะแนวโน้มของเศรษฐกิจที่โตขึ้น สวนทางกับพื้นที่การทิ้งขยะและความอ่อนแอของรัฐที่ไม่สามารถสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2563 – ประชากร
มีการคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรอย่างมโหฬารหลังจากนี้ เพราะจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยคาดว่าในปี 2563 เราจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 17 ล้านคน ซึ่งหากไม่มีการวางแผนให้ดี จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากขาดแรงงานในภาคการผลิต
พ.ศ. 2563 – การค้า
ประเด็นที่จะกลายเป็นหมัดเด็ดของการต่อสู้บนสังเวียนการค้าในอนาคตก็คือ การกีดกันทางการค้า และการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองธุรกิจ ทั้งในระดับมหภาค และจุลภาค การกีดกันทางการค้าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์และคุณภาพของสินค้าจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญของการค้าในระดับโลก
GM : หลายครั้งที่เราอดคิดไม่ได้ว่า อนาคตศึกษาของคุณดูเหนือจริงคุณรู้สึกแบบนั้นไหมว่าเรื่องราวที่คุณเขียนมันดูเป็นไปไม่ได้
อนุช : อนาคตมันมีหลายแบบ มันมีทั้งที่เป็นไปได้ อนาคตที่กำลังจะเป็น และอนาคตที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นบางอย่างที่เราต้องการ มันอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ คือถ้าเผื่อเราบอกว่าคนมันจนมากนัก ก็ทิ้งคนจนพวกนี้ไว้ข้างหลังแล้วกัน
เราต้องทิ้งคนค่อนโลกแล้วอย่างนี้ถ้าถามว่านี่เป็นสังคมที่เราอยากได้ไหม ก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าเผื่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจบอกว่าใช่ โดยบอกว่าอาจแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นเยอะ คัดเอาแต่คนรวย เราก็คงได้เห็นอนาคตอีกแบบ
GM : แล้วคนจนจะทำอย่างไร
อนุช : ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องสนใจ เพราะเราไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น แต่คราวนี้คนร้อยละ 80 ของโลกที่เป็นคนจน ก็มีสิทธิ์เลือกอนาคตเหมืิอนกัน ถึงมีความพยายามว่าการพัฒนาโลกใหม่ เราต้องพามนุษย์ไปด้วยกันหมด
GM : ดูยุ่งยากและเป็นไปไม่ได้
อนุช : ก็ไม่มีใครรู้
GM : ฟังๆ แล้ว เหมือนคุณปลงกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นรอบตัว
อนุช : จริงๆ มันเป็นความเข้าใจมากกว่า พอเห็นอะไรมามากก็รู้สึกว่ามันเหมือนเดิม สังคมเราผ่านมา 50 ปีก็ยังเห็นการต่อสู้กันของคนข้างบนกับคนข้างล่าง คนข้างล่างก็อยากขยับขยาย คนข้างบนก็อยากกดเอาไว้
GM : ถ้าโลกเป็นมนุษย์สักคนหนึ่ง เขาคงเป็นมนุษย์ที่ปั่นป่วนพอดู
อนุช : ก็คงอย่างนั้น และเป็นมนุษย์ที่รอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
GM : คุณคิดว่าจะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ในการเปลี่ยนแปลง
อนุช : เราน่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในครึ่งแรกของศตวรรษนี้
GM : นานขนาดนั้น! งั้นที่โอบามาบอกว่าอีกสองสามปีจะเห็นการเปลี่ยน แปลงก็คงเป็นเรื่องโกหกพกลม
อนุช : ไม่จริง อาจเปลี่ยนบ้างนิดหน่อยแต่ไม่ถึงขนาดนั้น โอบามาเป็นพวกเซ็นตริก คือพวกที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเมื่อเทียบกับ จอร์จ บุช ซึ่งเป็นขวาจัด โอบามาก็กระเถิบมานิดหน่อย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะไม่เห็นอะไรมากนัก คิดว่าโอบามาจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เขาทำในตอนนี้
GM : เงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ที่เขาใส่ลงในระบบ ก็อาจไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก
อนุช : โอ…อันนี้เป็นอีกเรื่องละ เป็นเรื่องยากกว่ามาก ต้องปรับกันอีกยกใหญ่
GM : แสดงว่าปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้มันพอจะมีทางออกเฉพาะหน้าให้เราบ้างไหมครับ ในช่วงสองสามปีนี้
อนุช : ไม่มีทาง ทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะพีคตอนไหน มันน่าจะลงไปแย่กว่านี้
GM : ฟังอย่างนี้แล้วเราควรจะขายรถกันดีไหมครับ ?
อนุช : หัวเราะ
ภาค 3 อนาคตของอนาคต
GM : คุณคิดว่าในศตวรรษหน้า โลกของเราจะเป็นอย่างไร
อนุช : เดายากมาก มันมีปัจจัยที่เราไม่สามารเดาได้อีกสองอย่าง เช่นว่า สงครามใหญ่ ซึ่งผมคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างมาก และเมื่อเกิดขึ้น เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดโลกเสียหายไม่มาก มนุษย์ยัง Go On ได้ เหมือนกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่สอง ก็ยังพอเห็นทางไป แต่หากว่าอารยธรรมของมนุษยชาติโดนทำลายไปมากหรือหายไปเลย ก็ไม่รู้ว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ของเรา จะสร้างได้มากน้อยแค่ไหน จะเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะถึงแม้วิทยาการบางอย่างยังอยู่ แต่ถ้าหาคนใช้ไม่เป็น มันก็ไม่มีประโยชน์ ไอ้ความรู้ที่เคยเป็นปกติ อย่างแคลคูลัสที่เคยสอนกันอยู่ในชั้นเรียน แม้ว่าจะเหลือสูตรอยู่แต่คนใช้ไม่เป็น ก็ไม่มีความหมาย
GM : โอกาสที่จะเกิดสงครามนั้นเป็นไปได้ไหม
อนุช : ผมคิดว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามนั้นมีอยู่เกินครึ่ง และเราน่าจะได้เห็นใจกันในช่วง 100 ปีนี้
GM : เป็นไปได้ไหมที่จะไม่เกิด
อนุช : ผมคิดว่าอย่างไรมันก็จะเกิด แต่จะเสียหายมากหรือน้อยนั่นยังเดาไม่ได้ แต่เป็นสงครามใหญ่ เป็นการรบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจใหญ่ ไม่ใช่สงครามอย่างที่รบกันอยู่ในปัจจุบัน ที่ประเทศมหาอำนาจรบกับประเทศเล็กๆ ไม่ก็มหาอำนาจรบกันโดยผ่านตัวแทนที่เรียกว่า Proxy War อย่างทุกวันนี้
GM : แล้วประชาคมโลกที่ตั้งขึ้นอย่างสหประชาชาติ ไม่สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้มหาสงครามเกิดขึ้นได้
อนุช : ต้านไม่อยู่ ยังไม่มีกำลังมากพอ ที่จะต้านได้ ตอนนี้โลกเรามันเหมือนไฟไหม้ป่า ทุกวันนี้มันก็ยังไหม้อยู่ แต่หากว่ามันไหม้หมดแล้ว ไม่มีอะไรจะไหม้มันก็จะดับ แต่มันก็มีความเสียหาย หากฟื้นได้ก็ดีไป หากไม่ได้ก็แย่กันหน่อย ยังคาดเดาค่อนข้างยาก
GM : สังคมอนาคตในอีก 100 ปีของคุณคงไม่เหมือนในนวนิยายของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก สังคมอารยะอาจคงจะไม่เกิดขึ้น
อนุช : ไม่เหมือน และมันก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวขัดขวาง ทั้งสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น หรือภัยโรคระบาด ภัยพิบัติจากธรรมชาติ เหล่านี้ยังไม่รุนแรงเท่าการเกิดสงคราม หากมองในแง่ดีหน่อย ศตวรรษหน้าเมื่อเราสามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างได้หมด เราก็จะมีสังคมมนุษย์ที่ทุกคนอยู่แล้ว พอมีความสุขได้บ้าง
GM : ฟังดูเหมือนว่าเราต้องเจอปัญหาอะไรอีกมาก
อนุช : ใช่ครับ แต่ผมไม่ได้หมายถึงว่าพอเกิดสงครามแล้ว ทุกอย่างจะจบสิ้น เพราะเราไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ในตอนนี้ ผมว่าทุกคนพยายามที่จะหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว เพราะคงไม่อยากให้เกิดความเสียหายมาก เพราะแค่สงครามย่อยๆ เช่นอิสราเอลจะโจมตีอิหร่าน ผมว่ามันก็เพียงพอที่จะเป็นชนวนทำให้เกิดความวุ่นวายได้ เช่นว่ามีคนเสียประโยชน์จากราคาน้ำมันแพงและหลายคนอาจไม่พอใจประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างรัสเซีย ซึ่งก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างอื่นต่อไปอีก
GM : แล้วอย่างนี้ เราควรจะมีลูกกันไหม (หัวเราะ)
อนุช : ก็ไม่เป็นไร เวลามันไม่เกิดวิกฤติเราก็ทำตัวเหมือนกับว่าวิกฤติจะไม่เกิด แต่ว่าเวลาวิกฤติเกิดเราก็รู้สึกว่าวิกฤติมันยาวนานไม่สิ้นสุด แต่จริงๆ มันมีจุดสิ้นสุด ทุกอย่างมีจุดจบ เพียงแต่เรารู้สึกเหมือนว่ามันยาวนานไม่จบสิ้น ความจริงเวลานั้น สั้นนิดเดียว 30 ปี หากมองดูในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นถือว่าสั้นมาก เมื่อเทียบกับ 5,000 ปีของอารยธรรมมนุษย์ เราแค่อยู่ตรงนั้นพอดี 30-40 ปีนี้สั้นมาก ฉะนั้น คุณอยากมีลูกก็มีไป โลกยังต้องดำเนินต่อไป อยากจะทำอะไรก็ทำ
GM : แล้วส่วนอื่นๆ ในสังคมจะเป็นอย่างไร
อนุช : แน่นอนว่าการเข้าถึงข่าวสารจะเป็นตัวเปลี่ยนโลก ในอนาคตวัฒนธรรมกระแสหลักอาจจะไม่ขลังแล้ว เพราะชนชั้นล่างเข้าถึงข่าวสาร เขาก็จะเลือกข่าวสารเฉพาะที่เอื้อประโยชน์กับการดำเนินชีวิต ฉะนั้นก็ต้องปรับตัวกันไป อย่างทุกวันนี้ผมก็ต้่องปรับตัวให้เข้ากับสังคมแบบดิจิตอล ทุกวันนี้ผมเหมือนเป็นผู้ลี้ภัยในโลกไซเบอร์สเปซ (หัวเราะ) โลกทุกวันนี้ไม่ใช่โลกของผม เป็นโลกของเด็กสมัยนี้
GM : แต่เด็กสมัยนี้ก็กลายเป็นคนที่ไร้ราก จนบางครั้งดูไม่มีสาระแก่นสาร
อนุช : การเป็นคนไร้รากนี่ละถึงจะอยู่ได้ การเป็นคนมีราก แล้วปรับตัวไม่ค่อยได้อยู่ไม่ได้ในสมัยนี้ ทำอะไรก็ขัดใจไปหมด ใครมีรากเยอะๆ ก็ติดโน่น ติดนี่-ไอ้โน่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ อยู่ลำบาก เด็กสมัยนี้เขาโตมาในสังคมที่เป็นแบบไร้รากขึ้นทุกวัน เขาเลยถูกหล่อหลอมให้เป็นแบบนั้น
GM : แล้วอย่างนี้คนที่มีรากต้องทำอย่างไร
อนุช : ก็ต้องดูอย่างพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีราก อยากไปไหนก็เหาะไป นั่นคือไร้ราก ผมก็พยายามอยู่อย่างไร้ราก เอารากออกบ้าง แต่มันก็ไม่ได้ง่ายๆ ก็ต้องค่อยทำไป ยึดว่าอะไรๆ ก็ได้ ทีนี้พอมันมีรากน้อยจนกระทั่งลอยได้ ประเด็นก็อยู่ที่ว่าจะลอยอย่างไร ลอยอย่างมีจุดหมายได้อย่างไร มันยากตรงนี้ คนที่รู้เยอะๆ แล้วสามารถสลัดความยุ่งยากของตัวเองออกไปได้ก็จะเบา ที่เรามีปัญหากันทุกวันนี้ก็เพราะเรามีรากพะรุงพะรังไปหมดนี่ละ
GM : คุณค่าเก่าๆ ล่ะ มันจะยังอยู่ไหม
อนุช : สิ่งเก่าๆ มักจะถูกนำมาพูดถึงในเรื่องใหม่ๆ เสมอ อย่างทฤษฎีใหม่ๆ ก็ถูกอธิบาย และถูกนำมาใช่ในทฤษฎีใหม่นี่ละ เพราะทฤษฎีใหม่ก็หยิบมาจากของเก่าทั้งนั้น ดีไม่ดีมีสัดส่วนของเก่ามากกว่าของใหม่เสียด้วยซ้ำ
GM : แสดงว่าเงื่อนไขที่จะเกิดแนวความคิดใหม่ๆ ในอนาคต อย่างเช่น ความพยายามของ สตีเฟน ฮอว์กิง ในการคิดทฤษฎีที่สามารถอธิบายทุกสิ่งได้ในทางฟิสิกส์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสิครับ เพราะต่างมีคนคิดมาหมดแล้ว แล้วยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาเรื่องแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้
อนุช : ก็ไม่ใช่ของง่าย เริ่มต้นสังคมต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ขาดไม่ได้ หากไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ มันยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก เช่นเรื่องของการศึกษาอะไรต่างๆ อย่างที่คุณพูด
อนาคตที่พึงประสงค์
องค์การสหประชาชาติ ได้สร้างสำนักงานโครงการแห่งสหัสวรรษขึ้นเพื่อติดตามการปฏิบัติให้ลุล่วงตามคำประกาศแห่งศตวรรษขององค์การสหประชาชาติ (United Nation Millennium Declaration) เพื่อนำโลกไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ ว่าแต่ กฎอนาคตที่พึงประสงค์นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง? จริงๆ แล้วมันมีอยู่ไม่กี่ข้อและเราสามารถช่วยกันได้คนละไม้คนละมือด้วย นั่นคือ
1. จงสร้างสันติภาพ และยึดมั่นในหลักการการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ถือเป็นอย่างแรกที่มนุษย์สามารถทำได้ในทันทีและง่ายที่สุด สหประชาชาติจึงจัดไว้เป็นข้อแรกของการปฏิบัติ
2. จงเป็นประชาธิปไตย ในที่นี้ต้องเป็นประชาธิไตยที่มาจากประชาชนที่หลากหลายอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
3. จงสร้างความเป็นธรรม สหประชาชาติบอกว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่จัดไว้เป็นอันดับ 3 เพราะเป็นสิ่งที่ทำยาก และต้องอาศัยเวลานานที่สุด
4. จงสร้างความไพบูลย์ มนุษย์ยังสามารถก้าวหน้าไปอีกยาวไกล มีผู้เสนอว่าอารยธรรมนั้นมี 3 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่งที่มนุษย์ใช้พลังงานทั้งหมดในโลก ระดับที่สองคือมนุษย์สามารถใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ได้โดยตรง และระดับที่สามคือมนุษย์ใช้พลังงานจากดาวทั้งหลายในกาแล็กซี ปัจจุบันอารยธรรมของเรายังไม่สามารถใช้ได้ถึงระดับที่หนึ่ง
5. จงประสานอดีต ปัจจุบันและอนาคต อย่าให้อดีตครอบงำปัจจุบัน อย่าให้ผลได้ในปัจจุบันครอบผลได้ในอนาคต และอย่าให้อนาคตก่อความกังวลกับปัจจุบันมากเกินไป