fbpx

ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ฤดูร้อนมาถึงอีกแล้ว คุณคิดว่า ปีนี้ฤดูร้อนจะร้อนร้ายสักแค่ไหน เมื่อเราอยู่ใน ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่พูดกันเกร่อสังคมไทย • ในช่วงที่ผ่านมา ใครๆ ก็พูดกันถึงภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะหลังจากหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ออกมา ทำให้เรารู้สึก inconvenient หรือตะครั่นตะครอเนื้อตัว ไม่รู้ว่าภัยพิบัติต่างๆ จะเกิดขึ้นกับเราเท่าไหร่ • เหมือนถูกวางระเบิดเวลาเอาไว้ • ปีที่แล้วเกิดลานีญา ทำให้ฝนตกหนัก แผ่นดินถล่มอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มาปีนี้ ลานีญาเปลี่ยนฉับพลันกลายเป็นเอลนีโญ เหมือนโลกกำลังพลิกฝ่ามือ ทำเอามนุษย์ที่เปรียบเสมือนลูกไก่ในกำมือ โลกก็หวาดผวา • ภาพน้ำแข็งขั้วโลกกำลังจะละลาย น้ำทะเลจะท่วมสูง อากาศจะแปรปรวน แถมผีซ้ำด้ำพลอยด้วยแผ่นดินไหวถี่กระชั้น • ทั้งหมดนี้คือชะตากรรมที่มนุษย์ต้องเผชิญหรือ?

ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เขาเป็นผู้อำนวยการศูนย์เครือข่าย งานวิเคราะห์ วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลง ของเปลือกโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า START อันเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก • เขาจะมาเล่าให้ GM ฟังว่าเหตุการณ์ต่างๆ ย่ำแย่เหลือแสนเกินรักษา หรือว่าที่แท้แล้ว ยังไม่มีอะไรสายเกินไป ถ้าเราลุกขึ้นร่วมมือกันแก้ไขเสียแต่วันนี้ • ดร. อานนท์ สำเร็จปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยฮาวาย ในด้านสมุทรศาสตร์ แต่แปรผันความสนใจจากเฉพาะสมุทรศาสตร์ มาสู่ความสนใจการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่าและเกี่ยวพันกับมหาสมุทรโดยตรง นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ • ว่ากันว่า โลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส และทำให้น้ำทะเลเพิ่มระดับขึ้น มหันตภัยต่างๆ กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ • แต่ทุกอย่าง

เลวร้ายถึงเพียงนั้นจริงหรือ • นอกจากอากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อยแล้ว ข้อมูลทางวิทยา- ศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงบ่อยได้ไม่แพ้กัน • เราจึงยังต้องรอดูไปก่อน • ว่าแต่ว่า, เรื่องไหนควรกังวลสนใจ เรื่องไหนไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุ • ไปคุยกับผู้ชายคนนี้กัน ! •

GM : หนังเรื่อง An Inconvenient Truth ของ อัล กอร์ ทำให้คนตกใจและตระหนักเรื่องโลกร้อนกันอย่างจริงจัง ในความเห็นของคุณ ข้อมูลในหนังเรื่องนี้ถูกต้องแล้ว หรือว่ามากน้อยเกินไปอย่างไรไหม

ดร. อานนท์ : ข้อมูลในหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าทั้งหมดไม่มีการนำเสนออะไรที่ผมเห็นว่าผิดอย่างเด่นชัด แต่บางเรื่องมีการนำเสนอที่ทำให้ดูเหมือนมันเกิดขึ้นรุนแรง แต่ผมมองว่าเป็นเทคนิคเพื่อทำให้เรื่องดูน่าสนใจ ทำให้คนตระหนัก ยกตัวอย่างเรื่องคาร์บอน อันนั้นผมว่าไม่ผิด อันนั้นตรงและเป็นการนำเสนอที่ดีด้วย ที่กราฟพุ่งขึ้นสูงจนเขาต้องใช้ลิฟต์ขึ้นไปข้างบน นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้ว แต่ว่าพอเขาใช้วิธีนำเสนอแบบมีการเคลื่อนไหว มันได้อารมณ์ อันนี้ผมว่าเป็นวิธีที่ดี แต่มีอีกอันหนึ่งที่อาจจะบอกความจริงไม่หมด คุณเห็นภาพหนึ่ง ตอนที่เขาไปถ่ายน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ที่มันทลายโครมๆๆ ลงมา ดูมากมาย เหมือนกับว่าถ้าเผื่อน้ำแข็งมันทลายลงมาขนาดนี้ ไม่นานทวีปแอนตาร์กติกาก็คงหมด เพราะว่าแต่ละก้อนใหญ่เป็นกิโลฯ ที่เขาไปถ่าย แต่ว่าในความเป็นจริง ทุกๆ ปีมันจะมีหิมะตกทับถม เพราะฉะนั้นมันจะมีหิมะขึ้นมาชดเชยหิมะที่มันทลายลงมาเหมือนกัน

และจากรายงานล่าสุดของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) จากการประชุมที่ฝรั่งเศส ตอนนี้เนื่องจากว่าโลกมันอุ่นขึ้น น้ำทะเลก็ร้อนขึ้นนิดหน่อย เพราะฉะนั้นการระเหยของน้ำเยอะขึ้น การที่น้ำระเหยเยอะขึ้นส่วนหนึ่งก็ทำให้หิมะไปตกที่ในแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้นด้วย ก็เท่ากับว่ามันไปชดเชยที่มันแตกทลายออกมา มันอาจจะละลายมาก แต่ที่ลงมาชดเชยก็เยอะ เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ปริมาณน้ำแข็งสะสมที่แอนตาร์กติกากับที่กรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเกาะน้ำแข็งใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองของโลก ยังไม่ลดลงมากเหมือนอย่างที่เราเคยคิดไว้ ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตมันจะไม่ลดลง แต่ที่มันลดลงไม่มากกว่านี้เพราะว่าหิมะตกใหม่มันยังชดเชยได้พอ แต่ถ้าเผื่อมันละลายมากขึ้น ไอ้ที่ชดเชยมันอาจจะไม่พอ นี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้มันยังชดเชยได้ในระดับที่พอใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นความรู้ใหม่

GM : ถ้าอย่างนั้นที่มีข่าวว่า อีก 50 ปี น้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายหมดก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

ดร. อานนท์ : ขั้วโลกเหนือคงยังไม่ใช่ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ กับกรีนแลนด์ ในอีก 50 ปี คงยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็คือน้ำแข็งที่ยอดเขา พวกธารน้ำแข็งนี่ลดชัดเจน น้ำแข็งส่วนใหญ่ที่ลดลงคือน้ำแข็งบนยอดเขาและน้ำแข็งที่ปกคลุมเขตทุนดร้า ซึ่งไม่ใช่เขตที่ขั้วโลกจริงๆ แต่เป็นเขตละติจูดสูงๆ ซึ่งเป็นเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) คือเป็นพื้นที่ที่ดินแข็งตัวเป็นน้ำแข็งอย่างถาวร ตรงนี้พวกธารน้ำแข็งและเพอร์มาฟรอสต์จะลดลงจริง แต่ไม่ใช่ที่ขั้วโลก ผลกระทบที่ตามมาก็คือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่สาเหตุหลักไม่ใช่เรื่องของการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลกใต้และกรีนแลนด์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเนื่องจากว่าน้ำทะเลมันอุ่นขึ้นแล้วมันก็ขยายตัวขึ้นเป็นหลัก

GM : สรุปว่าน้ำทะเลไม่น่าจะสูงขึ้นมากอย่างที่กลัวกันใช่ไหม

ดร. อานนท์ : จากการคาดการณ์ของ IPCC เช่นเดียวกัน อีก 100 ปีข้างหน้าไม่น่าจะเกิน 1 เมตร เต็มที่ เขามองอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นตัวเลขที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในอีก 100 ปีข้างหน้า

GM : ถ้าอย่างนั้น สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกยังไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงมากนักหรือ

ดร. อานนท์ : ไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกขนาดที่ว่าตอนนี้จะต้องทำอะไรกันอย่างรีบเร่งแล้ว มันเป็นเรื่องที่มันมาแน่ แต่ว่ายังมีเวลาให้เราเตรียมการได้ เรื่องที่สำคัญคือการที่จะแก้ไขปัญหาหรือเตรียมรับมือ ปัญหาคือไม่ใช่นึกจะทำวันนี้พรุ่งนี้ก็เริ่มได้ มันต้องมีการเตรียมการค่อนข้างเยอะ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของแต่ละประเทศ นโยบายเกี่ยวกับพวกการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง การวางผังเมือง การใช้พื้นที่ชายฝั่ง คุณก็รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศ ขนาดนโยบายเล็กๆ เรื่องหนึ่งยังใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีเลย เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงแต่ละเรื่องมันใช้เวลานานกว่าเราจะเปลี่ยนแปลง กว่าจะเข้าสู่กระบวนการทางด้านการวางนโยบาย ทุกอย่างพอดี เพราะฉะนั้นเราถึงต้องเริ่มคิดวันนี้ เริ่มทำวันนี้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าวันนี้เราจะต้องตระหนก ตระหนกไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหา การเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะใช้วิธี panic มันไม่ใช่ปัญหาฉุกเฉินเหมือนสึนามิ หรือพายุที่จะเข้ามาเป็นปัญหาเฉพาะหน้า

GM : คุณพูดถึง IPCC อยากให้อธิบายว่า IPCC เป็นองค์กรอะไร มากำหนดเรื่องโลกร้อน-ไม่ร้อนได้อย่างไร แล้วเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปอย่างไร

ดร. อานนท์ : IPCC เป็นองค์กรคู่ขนาน ถ้าพูดถึง IPCC ต้องพูดถึงอีกองค์กรหนึ่งด้วย คือ UNFCCC หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คำว่าอนุสัญญาคือเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล เป็นเรื่องของการเจรจา เป็นเรื่องของนักการต่างประเทศ นักการทูต นักการเมืองระหว่างประเทศมาเจรจากันว่าจะทำยังไง เพราะทุกคนรู้ว่า Climate Change มันเป็นปัญหา แต่คราวนี้การเจรจาสมัยใหม่มันใช้โวหาร ไม่เหมือนสมัยเก่าที่เอากำลังทหารมาตัดสิน การเจรจาในลักษณะนี้มันต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ แต่ UNFCCC เป็นนักการเมือง นักการทูตไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้นเพื่อจะแก้ปัญหานี้ ก็ตั้ง IPCC ขึ้นมา เป็นคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Intergovern- mental Panel on Climate Change เป็นวงของนักวิชาการ แต่ก็ไม่ใช่นักวิชาการอิสระ อย่างน้อยๆ ก็เป็นนักวิชาการที่หมวกใบหนึ่งเป็นหมวกของรัฐบาล คือกึ่งๆ เป็นนักวิชาการ ที่แต่ละประเทศส่งมา

GM : ถ้าอย่างนั้นไม่เจรจาผลประโยชน์ของประเทศตัวเองไปด้วยหรือ

ดร. อานนท์ : ไม่ถึงกับเจรจาผลประโยชน์ แต่ว่าก็เป็นคล้ายๆ กับเพื่อให้แน่ใจในข้อมูลทางวิชาการของแต่ละประเทศ เพราะในแต่ละประเทศก็มีงานวิชาการของตัวเองมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น ให้แน่ใจว่าข้อมูลในทางวิชาการระดับประเทศได้รับการเอาเข้าไปวิเคราะห์ร่วมกัน ไม่ใช่ให้ประเทศใหญ่เลือกว่าฉันจะเอาข้อมูลจากประเทศนี้ๆๆ เท่านั้น ให้มีการแย้งกันเชิงวิชาการ แต่ว่าวิชาการแล้วจะใช้ข้อมูลนึกเอาเองไม่ได้ แต่ก็เป็นวงเพื่อที่จะทำให้มันเกิดความยุติธรรมมากขึ้นในเรื่องวิชาการ ว่าไม่ใช่ให้เฉพาะประเทศใหญ่หรือบางประเทศสามารถที่จะ dominate วงการวิชาการได้ วงนี้หน้าที่หลักก็เป็นการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ IPCC จะไม่ทำงานวิจัยเอง แต่ว่าจะใช้งานวิจัย ดึงเอาผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้วในแต่ละประเทศมาวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดผลงานวิจัยมีไม่เพียงพอ เราก็ต้องวิเคราะห์สรุปไปตามที่มี แต่เราก็สามารถเสนอแนะได้ว่าเรื่องนี้มันยังขาดอยู่ ควรจะต้องมีการทำเพิ่ม

GM : คุณเคยบอกว่า IPCC มีความเห็นร่วมกันว่าโลกร้อนขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์

ดร. อานนท์ : มันเกิดขึ้นเพราะว่า เมื่อก่อนในการเจรจาวง UNFCCC ยังมีบางประเทศแย้งว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติได้ไหม เพราะว่าจริงๆ แล้ววัฏจักรตามธรรมชาติมันก็มี ในอดีตที่ผ่านมาเราก็เคยมีเวลาที่หนาว ยุคน้ำแข็ง ยุคที่ร้อน ยุคที่น้ำทะเลสูง น้ำทะเลต่ำ มันมี เพราะฉะนั้น บางคนก็บอกว่าบางทีนี่อาจจะเป็นอย่างนั้น คือทุกคนไม่เถียงว่าตอนนี้ วันนี้ มันร้อนกว่าเมื่อร้อยปีที่แล้ว เพราะข้อมูลยืนยันชัดเจน แต่ยังมีคนบางประเทศแย้งว่ามันอาจจะเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ เดี๋ยวมันก็ลงเอง มันร้อนขึ้นเดี๋ยวมันก็ลงเอง ไม่ต้องไปห่วงมันหรอก เพราะฉะนั้น ก็เลยมีการแย้งอย่างนี้ IPCC ที่ผ่านมา ในการวิเคราะห์ครั้งที่ 4 ในการจัดทำรายงานฉบับที่ 4 ใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นอันหนึ่งที่ศึกษาว่า ในที่สุดแล้วจากข้อมูลต่างๆ ดูลักษณะรูปแบบการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ เทียบกับปัจจัยอะไรต่างๆ แล้วยืนยันได้ชัดเจนว่า การที่มันร้อนขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มาจากธรรมชาติแน่นอน มาจากมนุษย์แน่นอน เพราะฉะนั้นหมายความว่าอะไร หมาย ความว่าต่อไปในการเจรจาระหว่างประเทศไม่ต้องเอาประเด็นนี้มาอ้างกันอีกแล้วว่ามันเป็นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ ตัดประเด็นนั้นออกไปได้ แต่มันยังมีประเด็นอื่น เพราะว่าในวงเจรจาระหว่างประเทศ แต่ละประเทศก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ทุกคนอาจจะเห็นว่าปัญหาโลกร้อนสำคัญ แต่เขาจะบอกว่า คุณแก้ก่อนก็แล้วกัน ผมขอทีหลังก็แล้วกัน มันก็เป็นอย่างนี้ ตัวอย่างเช่นประเทศจีน ผมไม่ผิดหรอกที่จะพูด เขาบอกว่าเขาเป็นประเทศที่เพิ่งเริ่มเกิด กำลังโต ในขณะที่ประเทศอย่างอเมริกา ยุโรปโตมาตั้งร้อยปีแล้ว คุณโตมาก่อน คุณก็ต้องรับผิดชอบก่อน แล้วผมค่อยตามมา ยังเป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันว่าใครจะแบ่งความรับผิดชอบ เพราะทุกคนรู้ว่าปัญหามาจากก๊าซเรือนกระจก แต่ทุกคนก็รู้ว่าถ้าเกิดตัดก๊าซเรือนกระจกมันจะกระทบเศรษฐกิจ ใครจะยอมเสียสละกันแค่ไหน อเมริกายังไม่ยอม เขาก็พยายามหาทางออก แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราฟังจากที่ประธานาธิบดีบุชแถลงที่รัฐสภาเมื่อประมาณ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ก็เป็นสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบุชมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากว่าไม่ยอมรับในเรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าเริ่มจะผ่อนลงมามากพอสมควรเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน มันอาจจะยังไม่มากถึงในระดับที่เราอยากจะเห็นเมื่อเทียบกับนโยบายสมัยที่ท่านรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ยังอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งนโยบายของประเทศค่อนข้างจะให้การแก้ปัญหาเรื่องของสภาพภูมิอากาศมากกว่านี้เยอะ

GM : เพิ่งมีข่าวว่า จากผลสำรวจ คนไทยรับรู้เรื่องภาวะโลกร้อนมากเป็นอันดับ 5 ของโลก คุณคิดว่าคนไทยตื่นตัวเรื่องนี้อย่างไร

ดร. อานนท์ : ผมว่าเป็นข้อที่ดี ตอนนี้เขาประเมินจากการที่มีสื่อออกไป แต่ผมมองว่าองค์ความรู้มันกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนที่พูดง่ายๆ ว่ามีความสนใจเรื่องการอ่าน เรื่องความรู้ต่างๆ คือเป็นคนที่มีระดับการศึกษาค่อนข้างมาก แต่ว่าความรู้มันไม่ได้ลงไปถึงคนในระดับที่มีศักยภาพต่ำในการปรับตัว เพราะว่าตอนนี้เขาก็ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องอยู่แล้ว จะหาที่ดิน จะอพยพไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มี ทุกวันนี้มีภัยพิบัติมาทีก็เดือดร้อน กลุ่มคนตรงนั้นที่เป็นกลุ่มที่ผมเชื่อว่ายังได้รับข้อมูลไม่พอ หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการหรือว่าสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านั้น อย่างเช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. หรือว่าหน่วยงาน ในระดับภูมิภาคเช่นหน่วยงานต่างๆ ในระดับอำเภอ ไม่ว่าจะเกษตรหรือพัฒนากร ข้อมูลตรงนี้มันยังลงไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นยังต้องใช้เวลา แต่ผมก็เห็นด้วยที่คนเริ่มรับรู้ในส่วนกลาง แล้วในที่สุดก็จะกระจายกันออกไป เรื่องการให้ความรู้กับคนจำนวนมากมันทำไม่ได้ภายในปีสองปี แต่ผมไม่อยากเป็นแบบไฟไหม้ฟาง เพราะถ้าไฟไหม้ฟางแล้วปีหน้ามีเรื่องใหม่กว่า ฮอตกว่า เรื่องนี้มันก็ตกไป อยากให้มันเป็นประเด็นในเรื่องของการพัฒนา ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ถ้ามองไปแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องของการที่เราพัฒนาไปอย่างไรให้มันปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมในอนาคตได้ สภาพแวดล้อมที่ว่าไม่ใช่เฉพาะภูมิอากาศ แต่รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความเชื่อ วัฒนธรรม ทุกอย่าง พวกนี้เป็นประเด็นที่จะต้องเอามาประกอบ ซึ่งตอนนี้สำหรับประเทศไทยเราก็ถือว่าไปได้ดีในระดับหนึ่ง จากที่เคยพัฒนาโดยเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งมาก่อน ก็เริ่มมีการใช้ประเด็นทางสังคม ประเด็นของมนุษย์มาเป็นตัวชี้วัดมากขึ้น

GM : ถ้า IPCC บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไม่ร้ายแรงมากถึงขนาดนั้น ทำไมภัยธรรมชาติต่างๆ ถึงเกิดให้เราเห็นมากและถี่ขึ้น อย่างปีที่แล้วเกิดปรากฏการณ์ลานีญา แต่ปีนี้เกิดเอลนีโญขึ้น

ดร. อานนท์ : คือระยะหลังเอลนีโญมันเกิดถี่ขึ้นอย่างชัดเจน ถี่ขึ้นกว่าในอดีตถึง 2 เท่า เมื่อก่อนเกิดประมาณ 6-7 ปีครั้ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นเอลนีโญ 2 ปีมาครั้งหนึ่ง ได้ยินกันบ่อยมาก ตั้งแต่ผมมาทำงานที่นี่ เกือบๆ 10 ปี มีเอลนีโญมา 3-4 ครั้งแล้ว เกิดทีก็มีนักข่าวมาคุยมาสัมภาษณ์ที

GM : เราเข้าใจง่ายๆ ว่า สำหรับประเทศไทย เอลนีโญคือแล้ง ส่วนลานีญาคือฝน ถูกต้องไหม

ดร. อานนท์ : สำหรับประเทศไทย จะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ แต่เดี๋ยวนี้มันเกิดถี่ขึ้น อย่างภาวะแล้งนี่ เมื่อก่อนไม่ใช่ไม่มี เอลนีโญเราก็รู้ว่ามันมีมานานแล้ว แต่เมื่อก่อนไม่ได้ถี่ขนาดนี้ อาจจะมีแล้ง แล้วก็ปกติสบายไปสัก 3-4-5 ปี แล้วค่อยแล้งอีกที แต่นี่มันถี่มากขึ้น ถามว่าทำไม อันนี้ตอบอย่างหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงชัดๆ ไม่ได้ มีแต่คำอธิบายอ้อมๆ ตั้งเป็นสมมุติฐานว่ามันน่าจะเป็นเพราะอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะถ้าหากว่าเรารู้ถึงสาเหตุของเอลนีโญที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไรแน่ เราจะคาดการณ์ได้นานกว่านี้ ตอนนี้เอลนีโญเราคาดการณ์ล่วงหน้าได้ประมาณ 12 เดือน เอลนีโญดีอย่างหนึ่งที่เรารู้ล่วงหน้า รับมือได้ ก็ถือว่ายังดี ไม่ได้เป็นอะไร เซอร์ไพรส์การคาดการณ์การเกิดเอลนีโญนั้นยาก แต่การคาดการณ์ผลกระทบของเอลนีโญยิ่งยากกว่า เพราะไม่ได้หมายความว่า สมมุติปีนี้เกิดเอลนีโญแล้วจะต้องเหมือนกันทุกปี ดูง่ายๆ อย่างฝนในประเทศไทย มันไม่ได้ขึ้นกับเอลนีโญอย่างเดียว

เอลนีโญต้นกำเนิดมันอยู่ที่มหา- สมุทรแปซิฟิก แต่มันมีปัจจัยในท้องถิ่นและปัจจัยในมหาสมุทรอินเดียที่เป็นตัวกำหนดร่วมด้วย มันต้องเข้าใจปัจจัยอื่นๆ ด้วย เอลนีโญก็คือกระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็นที่ไปอยู่ในที่ที่มันไม่ควรจะอยู่ มันเปลี่ยนที่ไปเลย ทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าน้ำอุ่น-น้ำเย็นในมหาสมุทร

เป็นตัวกำหนดการไหลเวียนของอากาศ ของลมต่างๆ พอน้ำอุ่นโยกย้ายที่ไป ทิศทางลมมันก็เปลี่ยน พอทิศทางลมเปลี่ยน ที่เคยมีลมก็ไม่มี ที่ไม่เคยมีก็มี ตรงไหนที่น้ำมันอุ่น อากาศตรงนั้นก็จะอุ่น ลมก็จะพัดเข้าหาบริเวณที่เป็นน้ำอุ่น น้ำอุ่นก็จะทำให้พายุรุนแรงขึ้น เพราะพายุต่างๆ ไม่ว่าจะพายุไต้ฝุ่น พายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดีย พวกนี้ต้องได้รับพลังงานจากน้ำทะเล น้ำมันอุ่นมากขึ้น พายุก็จะรุนแรงมากขึ้น

GM : เอลนีโญเกิดได้ทุกมหาสมุทรไหม

ดร. อานนท์ : ถ้าเผื่อเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก เราจะเรียกว่า เอลนีโญ ถ้าเกิดในมหาสมุทรอินเดีย เราเรียกว่า อินเดียน โอเชียนไดโพล (Indian Ocean Dipole) ลักษณะมันจะคล้ายๆ เอลนีโญ แต่เกิดในสเกลที่เล็กกว่า เนื่องจากมหาสมุทรแปซิฟิกมันใหญ่ ผลกระทบก็เลยรุนแรงไปทั้งโลก แต่ว่ามหาสมุทรอินเดียเล็กกว่า อะไรที่เกิดขึ้นตรงนี้จึงไม่มีผลกระทบ กว้างขวางไปถึงทั้งโลก แต่ในประเทศไทยเราต้องมองทั้งสองอัน แล้วยังต้องมองอย่างอื่นอีก ถึงบอกว่าเป็นเอลนีโญแล้วมันจึงไม่เหมือนกันทุกปี ถ้าเป็นอินเดียนโอเชียนไดโพล มันจะทำให้ลมมรสุมพัดเข้ามาหาประเทศไทยมาก เป็นเอลนีโญแต่อาจจะมีฝนมากก็ได้ เพราะว่ามรสุมขึ้นกับมหาสมุทรอินเดียเป็นหลัก แต่คราวนี้ความสัมพันธ์ของเอลนีโญในแปซิฟิกกับอินเดียนโอเชียนไดโพลในมหาสมุทรอินเดีย เรายังรู้ไม่ชัดเจนว่ามันสัมพันธ์กันหรือเปล่า เพราะบางปีมันก็ไปคนละทางกัน

ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาอีกเยอะ แต่อย่างน้อยเราก็พยายามเอาอะไรที่เรารู้มาบอก ถึงเรายังรู้ไม่สมบูรณ์ก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น เวลาประชาชนทั่วไปฟังการคาดการณ์ โดยเฉพาะการคาดการณ์ภูมิอากาศที่เรียกว่าระยะกลางและระยะยาวคือตั้งแต่

6-18 เดือน อย่าไปคิดว่ามันต้องแม่น แต่เป็นแนวทางเพื่ออย่างน้อยๆ เตรียมพร้อมไว้ อย่างเช่นเรารู้ว่าปีนี้เป็นเอลนีโญ มันก็มีแนวโน้มว่าจะแล้ง ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มเห็นถ้าดูข่าวหนังสือพิมพ์ จะเห็นว่าหลายๆ พื้นที่เริ่มแล้ง แต่ว่าต้องแยกให้ออก บางที่มันแล้งทุกปี ไม่ว่าจะโน่หรือไม่โน่มันก็แล้ง อันนี้ก็มี เพราะฉะนั้นพื้นที่ไหนที่มันแล้งอยู่แล้ว คุณก็ไม่ต้องมากังวลหรอกว่ามันจะแล้งหรือไม่แล้ง

แต่ว่ามันจะมีพื้นที่ที่โดยปกติไม่แล้ง มันอาจจะแล้งขึ้นมาได้ พื้นที่ตรงนี้เรากังวลมากกว่า เพราะพื้นที่ที่ไม่เคยแล้ง พอแล้งเข้าทีมันไม่พร้อม หมู่บ้านหรืออำเภอหรือจังหวัดที่ปกติเขาแล้งทุกปี เขามีระบบของเขาว่าจะไปขนน้ำมาจากไหน ทำอะไร ยังไง การเกษตรเขาเตรียมพร้อม ไอ้ที่ที่มันไม่เคยแล้งแล้วมันแล้งนี่สิยุ่ง เหมือนอย่างเช่นแถวอุตรดิตถ์ โดยปกติแล้วพื้นที่ตรงนี้ไม่เคยมีฝนตกหนักเป็นพิเศษอย่างนั้น พอมันเกิดไปตกหนักในพื้นที่ที่โดยปกติแล้วไม่มี ก็เลยหนัก ความพร้อมไม่ค่อยมีเพราะว่าไม่เคยมี เลยเสียหายรุนแรง ฝนจำนวนเท่ากัน แต่ถ้าไปตกในพื้นที่ที่ปกติเขาก็ตกเยอะอยู่แล้วก็ไม่เป็น อย่างเช่นปีที่แล้วปลายๆ ปี มีเรื่องลมแรงเข้ามาแถวนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเรื่องมาจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง คลื่นขนาดประมาณ 3 เมตร

โดยปกติถ้าเป็นฝั่งทะเลอันดามัน คลื่น 3 เมตรหน้าลมมรสุมนี่สบายๆ แต่แถวนครศรีธรรมราชมันไม่ค่อยมี 3 เมตร พอมี 3 เมตรก็เลยเกิดความเสียหาย ความเสียหายจึงไม่ได้ขึ้นกับขนาดของภัยพิบัติเท่านั้น แต่ว่าขึ้นกับความพร้อมในการรับมือด้วย

GM : ตกลงว่าในอีก 6-18 เดือนข้างหน้า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ดร. อานนท์ : เราคาดการณ์ว่าภาวะแล้งโดยรวมของทั้งประเทศจะมีเฉพาะต้นปี ในช่วงปลายปีภาวการณ์ของฝนน่าจะกลับมาปกติ คงไม่ถึงกับมีฝนมาก คงมีบ้าง แต่ว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงกับสภาวะแล้งของแหล่งน้ำ ก็ยังต้องให้แน่ใจว่ามีน้ำกักเก็บไว้พอจนถึงปลายปี ถ้าเผื่อดูโดยรวม จะมีภาวการณ์แห้งแล้งเฉพาะช่วงต้นปี พอหมดจากเดือนพฤษภาฯ มิถุนาฯไปแล้ว ฝนระลอกสองจะมา คือประเทศไทยเราจะมีฝนต้นปี แล้วก็จะทิ้งช่วง แล้วก็จะมีปลายปีซึ่งเป็นฝนระลอกใหญ่ตั้งแต่สิงหาฯ กันยาฯ พอตุลาฯน่าจะกลับมาในเกณฑ์ปกติ คือต้องให้แน่ใจว่าช่วงต้นปีเราระมัดระวังเรื่องนี้ และผมว่าเรื่องที่ต้องตามคือเรื่องไฟป่า ยังต้องติดตามไปจนกว่าจะหมดเดือนเมษาฯ พฤษภาฯไปแล้ว เรื่องไฟผมยังเป็นกังวลมากๆ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานอย่างกรมอุทยาน กรมป่าไม้จะไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าพื้นที่มันกว้าง แล้วเราก็ไม่ค่อยรู้ว่าตรงไหนมันจะเกิดขึ้น ที่จริงการที่มีไฟป่าเกิดผมยังไม่ค่อยกังวล ผมว่ามันมีได้บ้าง แต่ต้องอย่าให้มันลาม เท่าที่สังเกตดูปีนี้เราก็คุมได้ดี

GM : สภาพภูมิอากาศจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไหม เช่นร้อนก็จะร้อนมากขึ้น หนาวก็จะหนาวมากขึ้น ฝนก็จะรุนแรงมากขึ้น

ดร. อานนท์ : หนาวมากขึ้นคงไม่ใช่ หน้าหนาวยังมีอยู่ แต่มันจะไม่หนาวเท่าที่เคยเป็น แต่หน้าร้อนในประเทศไทยอุณหภูมิสูงสุดจะไม่เพิ่มขึ้น ในประเทศไทยเราสูงสุดอาจจะแตะ 40 องศาเซลเซียสต้นๆ จะไม่ขึ้นไป 47-48 เพียงแต่ว่าหน้าร้อนจะยาวขึ้น คำว่าร้อนมากขึ้นผมว่าเป็นคำพูดที่ไม่ค่อยถูก เราคาดการณ์ว่าหน้าร้อนมันจะยาวขึ้นมากกว่า อุณหภูมิน่าจะยังอยู่ที่ 40 ต้นๆ ซึ่งในอดีตมันก็เคยมี 42-43 ไม่ใช่เรื่องแปลก กรุงเทพฯก็เคยมี 43 แต่จะเกิดยาวขึ้น ขณะที่หน้าหนาวจะไม่หนาวมากเท่าที่เคยเป็น อย่างพื้นที่ที่ต่ำสุดเคยเหลือ 2 องศา ก็อาจจะลงมาไม่ถึง 2 แล้ว อาจจะเป็น 3 หรือเป็น 4 แล้วช่วงเวลาที่หนาวก็จะสั้นลง

แต่ว่าในเรื่องของน้ำ ต้องดูแยกเป็น 2 เรื่อง ฝนที่มากับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้คือฝนตามฤดูกาล น่าจะมีมากขึ้น นั่นหมายความว่าจังหวัดที่อยู่ชายทะเลจะมีฝนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ ภาคตะวันออก เช่นตั้งแต่จันทบุรีลงไปจนถึงประเทศกัมพูชา แต่จังหวัดที่เป็นจังหวัดเงาฝนก็ยังไม่ได้รับอานิสงส์นี้ อย่างเช่นประจวบคีรีขันธ์ไปจนถึงเพชรบุรีเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกน้อย ก็จะยังมีฝนตกน้อย เพราะภูเขายังไม่เปลี่ยน ภูเขามันบังฝนอยู่เหมือนเดิม ส่วนฝนที่มาจากลมพายุ จากสถิติระยะหลังพบว่าเรามีมากขึ้นเล็กน้อย แต่ว่ายังไม่ค่อยชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน หรือพายุดีเปรสชั่น มันเข้ามาในประเทศไทยดูเหมือนจะถี่มากขึ้น แต่ว่าอันนี้ข้อมูลมันยังไม่ชัดเจน และอีกอย่าง ตามทฤษฎีแล้วน่าจะมีพายุน้อยลง แต่ปรากฏว่าตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราสังเกตหรือตรวจวัดได้ในปัจจุบันมันยังไม่ค่อยสอดคล้องกับความเชื่อทางด้านวิชาการ

GM : ทำไมตามทฤษฎีถึงคิดว่าจะมีพายุน้อยลง

ดร. อานนท์ : เพราะว่าพายุจะพัดขึ้นเหนือ มากขึ้น ทิศทางมันจะเข้าไปแถวเมืองจีน เนื่องจากอากาศบริเวณเส้นศูนย์สูตร

มันจะร้อนกว่า เลยดันเอาพายุขึ้นไปทางเหนือมากขึ้น อันนี้เป็นหลักการทางฟิสิกส์ แต่อย่างที่บอก หลักการทางฟิสิกส์ที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเขามอง เขาไม่ได้มองลงมาถึงปัจจัยของภูมิภาค เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนในเรื่องเส้นทางพายุ  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นงานที่ยังขาดอยู่มาก ที่ตามทฤษฎีคาดว่าพายุจะเคลื่อนที่ ขึ้นเหนือมากขึ้น เป็นเพราะเชื่อว่าความกดอากาศสูงจะน้อยลง อากาศเย็นจะไม่แผ่ลงมาดันพายุให้ลงมาทางใต้ พายุจึงเคลื่อนที่ขึ้นไปทางเหนือ แต่ที่ไม่เป็นไปตามทฤษฎี เราคาดว่าความกดอากาศสูงที่มีอยู่ตอนกลางของทวีปเอเชีย มันไม่ได้ถูกกำหนดเพียงจากพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์และเรื่องของก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสภาพภูมิประเทศ เป็นเรื่องของความร้อนที่สะสมอยู่ในพื้นแผ่นดินที่มันจะต้องคายออกมาต่างๆ ด้วย พวกนี้เป็นปัจจัยระดับท้องถิ่น แล้วผลของปัจจัยพวกนี้กับระบบลม ระบบพายุเรายังมีน้อย เรายังไม่ได้ศึกษาชัด ผมถึงบอกว่า ตอนนี้ไม่ได้หมายความว่านักวิทยาศาสตร์ ตอบได้ทุกเรื่อง แต่ว่าเราพยายามที่จะให้ภาพรวมเท่าที่เรารู้ ณ วันนี้

GM : ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือการกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนไหม

ดร. อานนท์ : การกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมา เรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล การเคลื่อนตัวของน้ำทะเล ต้องถือว่ามีผล มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง แต่เมื่อเทียบกับเรื่องของการทรุดตัวของแผ่นดิน การก่อสร้าง การทำกิจกรรมของมนุษย์บริเวณชายฝั่ง ตรงนั้นยังมากกว่าอยู่ แต่ที่เรามองว่าในอนาคต สมมุติระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเนื่องจากน้ำแข็งละลาย หรือเพราะการขยายตัวของน้ำก็ตาม สมมุติว่ามันเพิ่มสูงขึ้น 30-50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราน่าจะเห็นได้ภายในชั่วชีวิต น่าจะประมาณภายใน 20-30 ปี คงถึงประมาณ 30 เซนติเมตร เพราะว่าตอนนี้มันเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2-3 มิลลิเมตรต่อปี แต่ว่าต่อไปจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็น 6-7 มิลลิเมตรต่อปี อาจจะถึง 10 มิลลิเมตรต่อปีก็ได้ ถ้าถึงตอนนั้น 10 มิลลิเมตรต่อปี 30 เซนติเมตรก็แค่ 30 ปี แล้วยังมีเรื่องของพายุที่มันเข้ามามาก พายุเข้ามาทีก็เกิด สตอร์มเซิร์จ (Storm Surge) แล้วถ้าน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ก็ไปเร่งการกัดเซาะ ลมมรสุมที่แรงขึ้นก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมทั้งทำให้คลื่นแรงขึ้น คลื่นเป็นปัจจัยสำคัญของการกัดเซาะ ทั้งสองประเด็นที่เกี่ยวกับการกัดเซาะคือระดับน้ำกับคลื่น ระดับน้ำยิ่งสูง คลื่นยิ่งแรง การกัดเซาะยิ่งรุนแรง ถ้าเผื่อเรามีอะไรไปดักตะกอนไว้อีก อย่างเช่นเขื่อน หรือการสร้างท่าเทียบเรือ หรือว่าสันกันคลื่นอะไรต่างๆ ตะกอนที่จะมาชดเชยไม่เข้ามา ไอ้ที่ถูกกัดออกไปไม่มีอะไรมาชดเชยก็หายไปเรื่อย

GM : สตอร์มเซิร์จกับคลื่นใหญ่ๆ ในอ่าวไทยช่วงฤดูหนาวปีที่แล้ว ที่เรียกว่าสเวลลิ่ง (Swelling) เป็นสิ่งเดียวกันไหม

ดร. อานนท์ : ไม่ใช่ครับ สตอร์มเซิร์จเกิดขึ้นเนื่องจากพายุ พายุที่เราพูดถึงหมายถึงพายุหมุนเกิดขึ้นเนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนที่เข้ามาบริเวณนั้น ทำให้มีความกดอากาศต่ำ ก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสเวลล์เกิดขึ้นเนื่องจากลม คลื่นที่เกิดจากลมมีทั้งคลื่นเล็กคลื่นใหญ่ปนกันหมด แต่ว่าพอหลังจากเกิดคลื่นขึ้นมาแล้ว คลื่นที่เป็นคลื่นลูกใหญ่มีความยาวคลื่นมาก มันจะเคลื่อนที่เร็วกว่าในกรณีที่อยู่ในน้ำลึก มันก็จะวิ่งออกมาก่อน เราก็จะได้คลื่นที่มีขนาดเท่าๆ กันวิ่งมาเป็นช่วง ตอนแรกคลื่นมันปนกันหมดทั้งเล็กใหญ่ แต่เนื่องจากคลื่นที่วิ่งเร็วมันจะวิ่งออกมาก่อน แล้วคลื่นเล็กวิ่งออกมาทีหลัง เพราะฉะนั้นก็จะเป็นการคัดสรรขนาดคลื่น อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในไทย เป็นคลื่นที่เรียกว่าสเวลล์ เพราะว่าลมมรสุมพัดแรง แล้วมันพัดในทะเลจีนใต้หรือในอ่าวไทย เราจึงเห็นว่าเกิดคลื่นใหญ่เข้ามาโดยที่บางครั้งไม่มีลม ถ้าเผื่อสังเกตในหลายพื้นที่อย่างที่นครศรีธรรมราช เวลาดูโทรทัศน์ ต้นมะพร้าวไม่กระดิกเลย แต่คลื่นตูมๆๆ เข้ามา นั่นเป็นตัวอย่างของคลื่นที่เราเรียกว่าสเวลล์

GM : ถ้าอย่างนั้น สเวลล์ก็น่าจะน่ากลัวกว่าสตอร์มเซิร์จ เพราะสามารถเกิดได้คราวละนานๆ กว่า

ดร. อานนท์ : นานกว่าครับ แล้วเกิดขึ้นที่ไหนเราก็ไม่รู้ มันอาจจะเกิดขึ้นที่ไกลๆ ก็ได้ ถ้าเผื่อลมแรง มันก็มีโอกาสที่จะเกิดสเวลล์เข้ามาได้เยอะ แต่สเวลล์ ใหญ่ๆ ในฝั่งอ่าวไทยเรามักจะไม่ค่อยเจอ เราจะเจอฝั่งอันดามันมากกว่า แต่ว่าในหลายๆ ที่ สเวลล์เป็นคลื่นที่เขาใช้เล่นกระดานโต้คลื่นกัน เหมือนอย่างในฮาวาย ในออสเตรเลีย เพราะคลื่นในอ่าวไทยเป็นแบบคลื่นลมที่เป็นคลื่นเล็กคลื่นใหญ่ปนกันหมด มันโต้คลื่นไม่ได้ มันกะไม่ได้ว่าจะยังไง แต่อย่างที่ฮาวายที่คุณเห็นคลื่นลูกใหญ่ๆ พวกนี้เป็นคลื่นสเวลล์ทั้งนั้น แล้วคลื่นพวกนี้มันจะเท่าๆ กัน

GM : ถ้าอย่างนั้น คลื่นใหญ่ที่เกิดขึ้นในอันดามันในช่วงฤดูฝนก็เป็นสเวลล์ทั้งหมด ใช่ไหม

ดร. อานนท์ : ครับ เป็นสเวลล์ทั้งหมด มันเกิดขึ้นปกติ เพียงแต่ว่าพอมาเกิดในอ่าวไทย เราไม่เคยเจอมาก่อน แล้วพอมันเข้ามา นอกจากทำให้น้ำท่วมแล้ว ยังทำให้เกิดการกัดเซาะ โดยธรรมชาติชายหาดที่เป็นธรรมชาติจริงๆ เวลามีคลื่นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสเวลล์หรือเป็นสตอร์มเซิร์จก็ตามเข้ามา มันจะมีการกัดเซาะ บางส่วนมีการทับถมของทราย แต่ถ้าเผื่อเราไม่ไปยุ่งอะไรกับมัน ในที่สุดมันจะกลับไปสู่ภาวะสมดุล แต่คราวนี้ถ้าเผื่อเราไปสร้างอะไรดักเอาไว้ ไอ้ที่ไปแล้วบางทีมันไปเลย ถนนติดทะเลก็เป็นปัจจัยที่บางครั้งทำให้มีการกัดเซาะของชายฝั่งได้เหมือนกัน บางทีคุณอาจจะคิดว่ามันเกี่ยวอะไร ถนนอยู่บนบก แต่ถ้าเรามองชายหาด มันเป็นระบบเดียวกันต่อเนื่อง บางครั้งชายหาดบริเวณที่ติดกับน้ำ ฤดูหนึ่งน้ำอาจพัดทรายออกไป ทรายจากแผ่นดินจะไหลลงไปทดแทน อีกฤดูหนึ่งมีลมพัด ก็พัดเอาทรายกลับขึ้นไป

จริงๆ แล้วหาดมันมีการเคลื่อนที่ตลอด พอเราไปสร้างถนนหรือเอาอะไรไปล็อกมันปั๊บ การเคลื่อนที่ของทรายบนหาดถูกขัดขวาง เพราะฉะนั้น เมื่อทรายข้างล่างหายไปแล้วข้างบนไม่ลงมาแทน ข้างล่างก็โบ๋ ผมไม่ได้พูดว่าการสร้างนั้นสร้างไม่ได้ แต่ว่าต้องมีการศึกษา บางที่หาดมันคงที่แล้ว คือมีต้นไม้ มีอะไรขึ้นอย่างถาวรแล้ว การสร้างก็น่าจะสร้างได้ง่ายกว่า แต่หาดบางแห่งเราจะเห็นว่ามันยังไม่นิ่ง มีแต่ผักบุ้งทะเล พวกไม้ล้มลุก หาดแบบนี้ทรายยังมีโอกาสเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้

GM : ถ้าน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้น 30 เซนติเมตร คุณคิดว่าจะมีผลอย่างไรต่อกรุงเทพฯบ้าง

ดร. อานนท์ : ผลต่อกรุงเทพฯอย่างหนึ่งคือการระบายน้ำ การที่น้ำทะเลเพิ่มขึ้น 30 เซนติเมตร ทำให้การระบายน้ำออกยากขึ้นแน่ ไม่ใช่แค่เรื่องของน้ำเค็มจะท่วมเข้ามา แต่การระบายน้ำที่เป็นน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำฝนที่เราจะเอาออกมันจะยากขึ้น พูดง่ายๆ กรุงเทพฯต้องสูบน้ำ เพิ่มขึ้นอีก 30 เซนติเมตร เพราะ 30 เซนติเมตรที่ขึ้นมามันจะดันระดับน้ำใต้ดินให้ขึ้นมาโดยประมาณเท่าๆ กัน แล้วน้ำเค็มที่จะรุกเข้ามาในแม่น้ำต่างๆ ก็มีมากขึ้น เราไม่รู้เหมือนกันว่าจะรุกไปไกลเท่าไร แต่เราหวังว่าคงไม่รุกไปไกลถึงคลองประปาที่เชียงราก ที่ปทุมธานี ซึ่งเดี๋ยวนี้บางปีมันยังจะไปถึงแล้วเลย ถ้าเผื่อบางปีทางกรมชลประทานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขาไม่ปล่อยน้ำออกมาดันไว้ มันไปถึงนะครับ

เพราะฉะนั้น เรื่องของการบริหารจัดสรรน้ำก็ยากขึ้น น้ำที่มีอยู่ในมือตอนนี้ อาจจะมีเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่ว่าต้องจัดสรรให้คนเยอะขึ้น การจัดการน้ำยากขึ้น อาจจะต้องคิดแล้วว่า เราต้องย้ายปากคลองประปาออกไปอีกไหม ตอนนี้ปากคลองประปามันอยู่เชียงราก ขุดเพิ่มไปอีกให้ไปอยู่แถวอ่างทองโน่นเลยได้ไหม เพื่อให้ชัวร์ว่าน้ำเค็มมันรุกไม่ถึง การขยายคลองประปาเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าจะคุ้มกว่าที่ทุกปีจะต้องเอาน้ำจืดลงมาไล่น้ำเค็มไหม แต่โครงการขุดคลองประปาขึ้นไปมันเป็นเมกะโปรเจ็กต์ ก็ต้องมาคิดดู

GM : แล้ววิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรไหม

ดร. อานนท์ : ผมว่าวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯคงจะเปลี่ยนยาก เพราะว่าปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯไม่ใช่ภูมิอากาศแล้ว แต่เป็นเรื่องเวลาทำงาน รถติด การใช้ชีวิตแบบเมือง เราตัดขาดไปจากธรรมชาติแล้วตอนนี้ ทุกอย่างเป็น

สิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นหมดเลย เราคอนโทรลทุกอย่าง รอบกรุงเทพฯเรามีการสร้างเขื่อนล้อมหมดแล้ว มีอะไรก็สูบน้ำออก เราอาจจะปรับในแง่การใช้ชีวิต การใช้ทรัพยากรได้บ้างนิดหน่อย ผมว่าคนกรุงเทพฯไม่มีช่องว่างจะไปปรับอะไรได้มาก แต่ว่าคนที่น่าจะได้รับผลกระทบมาก น่าจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับธรรมชาติมากกว่า ไม่ว่าคนที่อยู่บริเวณชายฝั่ง คนที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน คนที่อยู่ริมแม่น้ำที่การควบคุมยังไปไม่ถึง แต่ชีวิตในกรุงเทพฯ สมมุติฝนตกเยอะขึ้นก็นั่งรถ อยู่ในตึก การสูบน้ำก็เป็นหน้าที่ของ กทม. เขาทำ ก็คงต้องอยู่กันแบบนี้ มองไม่เห็นว่าเราจะปรับไปได้มากเท่าไร

GM : แปลว่าคนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงก่อน คือคนในชนบทที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหา

ดร. อานนท์ : ใช่ครับ คนที่อยู่ในชนบทได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งโดยอ้อมก็เพราะคนในเมือง แล้วถ้าเผื่อเราไม่แก้ปัญหา ก็จะมีการอพยพเข้าเมืองมากขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญหาในเมืองสืบเนื่องต่อไปอีก เราก็คงต้องไปแก้ปัญหาในชนบท ให้คนในชนบทอยู่ได้อย่างมีความสุข ถ้าเขาอยู่ได้ มีกิน มีใช้ มีอาชีพที่ดี มีความมั่นคง ก็จะทำให้ปัญหาลดลง ตอนนี้ปัญหาของการกระจายทรัพยากรของเราไม่ดี มันถึงได้มีปัญหาว่าคนต้องเข้ามาอยู่ในเมือง ต้องมาหารายได้ ต่อไปอาจจะมีคนอพยพเข้ามามากขึ้น เพราะพื้นที่ที่เขาเคยอยู่มันอยู่ไม่ได้ มันหายหมดแล้ว น้ำทะเลมันท่วม น้ำมันเค็ม จะให้เขาไปไหน ก็ต้องอพยพเข้ามาในเมือง

GM : คุณคิดว่าระบบเตือนภัย การบรรเทาสาธารณภัยของเราเป็นอย่างไร เพียงพอแล้วหรือยัง

ดร. อานนท์ : ระบบเตือนภัยระยะสั้น ถามผมว่าเพียงพอไหม ผมว่ายังไม่เพียงพอ ต้องมีการปรับปรุงทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นต้องแม่นกว่านี้ ต้องทั่วถึงกว่านี้ และต้องอยู่ในรูปแบบที่คนเข้าใจได้ง่าย เรื่องพายุ ดินถล่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนนี้ไม่มีการปรับปรุง มันก็มีการปรับปรุงนะ แต่หมายความว่ายังต้องสนับสนุนให้เขาปรับปรุงต่อไป ส่วนการเตือนภัยระยะกลางและระยะยาวตอนนี้มีไหม ไม่มีเลย ต้องมีครับ ต้องมีให้ดีขึ้น ต้องเตือนภัยได้มากกว่านี้ จะบอกว่าปีนี้เป็นเอลนีโญในประเทศไทย น้ำจะมีน้อย ก็ต้องให้ชัดลงไปว่าน้อยที่ไหน น้อยประมาณเท่าไร ฝนเดือนไหนจะเริ่มมา สมมุติเชียงใหม่ฝนอาจจะมาสายหน่อย อาจจะมาประมาณกลางเดือนพฤษภาคม มันต้องมีข้อมูลลงไปในระดับจังหวัด ตอนนี้ข้อมูลการพยากรณ์ยังเป็นในระดับภาคอยู่หรือยังไม่ถึงระดับภาคที่แท้ด้วย เรามีศูนย์อุตุนิยมวิทยาประจำภูมิภาค แต่ศูนย์อุตุฯตอนนี้ก็ยังไม่มีขีดความสามารถพอที่จะพยากรณ์ลงไปถึงระดับจังหวัด ต่อไปแต่ละจังหวัดน่าจะมีระบบพยากรณ์อากาศหรือพยากรณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติของตัวเอง ถามว่าเทคโนโลยีมีไหมตอนนี้ มี แต่ว่าอยู่ที่จะทำยังไงให้คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานตรงนี้ได้ มันไม่ยาก แต่ว่าก็ต้องใช้การพัฒนาคนและระบบอีกหน่อย

GM : ปีที่แล้วมีข่าวฮือฮาเรื่อง มัด โวลคาโน (Mud Volcano) ทำให้หลายคนกลัวเรื่องสึนามิ ตอนนี้มีการสำรวจมัด โวลคาโน กันอย่างจริงจังหรือยัง

ดร. อานนท์ : ยังครับ วันที่ 20 มีนาคมนี้ เราจะออกไปสำรวจอย่างจริงจัง เพราะว่ากว่าที่จะได้เงิน เรื่องเครื่องมืออะไรต่างๆ ก็ต้องใช้เวลา เราได้รับความร่วมมือจากกรมทรัพยากรธรณี ให้ยืมเครื่องมือกับบุคลากรด้วย แต่กว่าจะจัดเรือได้ก็นาน เพราะเรือเต็ม ฝั่งอันดามันปีหนึ่งออกทะเลได้แค่ไม่กี่เดือน เมื่อออกไปได้ คนก็จองกันเต็มไปหมด เรือที่ไปทำงานวิจัยทุกงานแห่กันมาแย่งชั่วโมงเรือกันวุ่นวาย เพราะมีเรืออยู่ลำเดียว ทุกคนก็ต้องใช้ลำนี้หมด

เรื่องมัด โวลคาโน ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ที่แน่ๆ ก็คือ มันเป็นเนินเขาใต้น้ำแน่นอน แล้วมันถูกปกคลุมด้วยโคลนหรือมัดขนาดใหญ่ ฐานกว้างประมาณ 700-800 เมตร สูงประมาณ 70 เมตร ดูในโครงสร้างมันก็มีความเป็นไปได้ เพราะมันสมมาตรกัน 2 ด้าน ถ้าเผื่อมันเป็นหินแกรนิตที่โผล่ขึ้นมา มันก็น่าจะมีลักษณะที่เป็นหินตะปุ่มตะป่ำมากกว่าจะสมมาตรกัน 2 ด้านอย่างนี้ อันนี้เราก็ต้องศึกษา เราถึงบอกว่าข้อมูลยังมีแค่นิดเดียวเอง ยังต้องหารายละเอียดของตะกอนแถวนั้นในที่ตื้น

GM : การสมมาตรบอกอะไรกับเรา

ดร. อานนท์ : การที่มันจะสมมาตรได้ แปลว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเองในบริเวณนั้น ไม่น่าจะเป็นหินโผล่ เพราะหินโผล่มันขึ้นมาเป็นก้อนเอียงซ้ายเอียงขวายังไงก็ได้ เราเจอ 3 ลูก ลูกใหญ่ 1 ลูก แต่ว่าพื้นที่ที่เราสำรวจมันเล็กแค่นิดเดียว ยังมีอีกเยอะที่เรายังไม่ได้สำรวจ วิธีการก็คือใช้เครื่องหยั่งน้ำแบบหลายความถี่ เราก็จะได้ค่าจากหลายมุมมอง แล้วมันก็โอเวอร์ เลย์ (over lay) ซ้อนกันทำเป็นภาพ 3 มิติ ขึ้นมา แต่อีกอันหนึ่งที่เรายังมีข้อมูลละเอียดไม่พอคือข้อมูลของชั้นตะกอน เพราะเครื่องมือที่เราใช้คราวที่แล้ว ชั้นตะกอนเราลงไปได้ไม่ลึกเพราะกำลังส่งของเครื่องมือมันต่ำ แต่ถ้าเผื่อเครื่องมือที่เรายืมจากกรมทรัพยากรธรณีเป็นเครื่องมือที่มีกำลังส่งสูงกว่า มันก็จะทะลุทะลวงชั้นตะกอนได้ลึกกว่า เราก็จะได้เห็นว่าชั้นตะกอนจริงๆ มีความแน่น ความพรุนยังไงบ้าง

GM : มีโอกาสจะพังทลายไหม

ดร. อานนท์ : อันนั้นด้วย แล้วก็ดูว่ามันมีลักษณะของการไหลของโคลนขึ้นมา การพุขึ้นมาของโคลนมาก-น้อยยังไง ก็จะมีการหย่อนเครื่องมือไปเก็บดินตรงนั้นขึ้นมาด้วย เอามาศึกษาว่ามันคืออะไรแน่ เพราะคราวที่แล้วเครื่องมือที่เราใช้เก็บก็เล็กมาก แล้วก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจไปศึกษาไอ้นี่ เราตั้งใจจะไปศึกษาเรื่องอื่น เผอิญไปเจอไอ้นี่

GM : มีโอกาสเกิดสึนามิอีกไหม

ดร. อานนท์ : เรื่องของสึนามิยังเป็น

ไปได้ เพราะว่าแผ่นดินที่เคลื่อนไปแล้วไม่ได้หมายความว่ามันหยุดไหว ปัจจุบัน ในบริเวณแนวรอยเลื่อนอันนั้นก็ยังมีการไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่ามันจะถี่มาก-น้อย ก็ยังมีรอยเลื่อนอีกหลายรอย

ที่เราค่อนข้างจะเชื่อว่ายังมีพลังอยู่ สามารถที่จะเคลื่อนได้ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่เคลื่อน อย่างรอยเลื่อนสะแกง เป็นรอยเลื่อน

ที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่ผมศึกษา นั่นเป็นเหตุผลอันหนึ่งว่า ทำไมถึงมีความเป็นไปได้ว่ามันจะเป็นพุโคลนหรือมัด โวลคาโน รอยเลื่อนที่มันยังแอ็คทีฟอยู่มันจะมีลักษณะนี้เกิดขึ้น อย่างเช่นแถวระนองซึ่งมีน้ำพุร้อนหลายที่ แถวกระบี่ก็มีน้ำพุร้อนเพราะรอยเลื่อนตรงนั้น แม้ว่าตอนนี้มันไม่เลื่อน แต่ว่าก็ยังแอ็คทีฟอยู่ น้ำที่ซึมลงไป ก็ไปกระทบกับความร้อนข้างล่าง แล้วพุขึ้นมา ตรงไหนที่เรามีบ่อน้ำร้อน ก็เป็นข้อมูล เป็นหลักฐานอันหนึ่งว่ารอยเลื่อนมันยังแอ็คทีฟ

GM : พุโคลนที่ว่าไม่ใช่ภูเขาไฟ

ดร. อานนท์ : ไม่ใช่ มันคือโคลนเดือดหรือบ่อน้ำร้อน ลักษณะเดียวกับบ่อน้ำร้อนคือน้ำซึมลงไป ไม่ใช่แมกมา (magma) หรือหินร้อนที่ระเบิดเป็นภูเขาไฟ

GM : การเกิดแผ่นดินไหวในระยะนี้ถี่ขึ้น พ้องกับภาวะโลกร้อน จริงๆ แล้ว 2 อย่างนี้มีความสัมพันธ์กันไหม

ดร. อานนท์ : ไม่น่ามี เพราะว่าแผ่นดินไหวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ถ้าเผื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะรุนแรงถึงขนาดทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกว่านี้เยอะ ต้องเกิดการละลายของน้ำแข็งฉับพลัน อย่างในอเมริกาเหนือแถบแคนาดา มันมีพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง น้ำแข็งมันหนักมาก กดแผ่นหินเอาไว้ เมื่อน้ำแข็งละลาย มันเกิดการรีบาวนด์ (rebound) หรือเด้งกลับของแผ่นดินตรงนั้น ก็อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ปัจจุบันนี้ก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในแคนาดา ในอเมริกา คำว่า ฉับพลัน ทางธรณีวิทยานี่หลายร้อยปี หลายพันปีนะครับ

GM : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ มากแค่ไหน เช่น พฤติกรรมของสัตว์ การอพยพย้ายถิ่น หรือโรคระบาด

ดร. อานนท์ : เรื่องของโรคเป็นเรื่องที่เรากังวลค่อนข้างมาก แล้วเรารู้น้อย เพราะว่าสัตว์ขนาดใหญ่โดยปกติแล้วจะมีความทนทาน เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแค่ประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส สัตว์ขนาดใหญ่อย่างมนุษย์หรือวัวควายไม่ค่อยกระทบมาก แต่พวกแมลง แบคทีเรีย เชื้อรา พวกนี้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง 2-3 องศา มีผลต่อการแพร่พันธุ์ของมันมาก บางพวกอาจตายไปเลย บางพวกก็โตได้เร็วขึ้นแบบผิดหูผิดตา เพราะฉะนั้น ทั้งโรคสัตว์ โรคพืชที่มากับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กพวกนี้ เป็นเรื่องที่ต้องดูให้ละเอียด มีโรคหลายอย่างที่สาธารณสุขเขารู้เลยว่าเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิอย่างชัดเจน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นนิดเดียวโรคพวกนี้มาได้มาก แต่ผมไม่มีความรู้ด้านนี้มากนัก อีกอันหนึ่ง เวลาเต่าไข่ มันจะฟักอยู่ในทราย การที่มันจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้เต่าเป็นเพศเดียวกันหมดเลย แต่ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าก็ต้องมีการศึกษา มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่อุณหภูมิมีผลกับวงจรชีวิตของมัน

ในเมืองไทยที่มีการศึกษาเยอะก็อย่างเรื่องปะการังฟอกขาว เรื่องไลเคนส์ เชื้อราบางชนิดก็มีการศึกษา แต่ว่าก็ยังไม่เป็นระบบมากนัก พวกเชื้อราพวกนี้ภาพรวมของมันในระบบนิเวศน์ยังไม่ชัด แต่ผมก็พยายามยุให้นักชีวะเขาศึกษาเกี่ยวกับพวกสิ่งมีชีวิต

ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในดิน เพราะมันมีความสำคัญต่อการทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ดินต้องมีพวกนี้เข้าไปคอยกัดกินซากพืชซากสัตว์แล้วทำให้ดินร่วนซุย ถ้าเผื่อร้อนขึ้นแล้วพวกนี้มันตายหมด ถึงแม้ว่าเรามองไม่เห็น ผมว่ามันมีบทบาทที่สำคัญกับระบบนิเวศน์เยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องของโรคอย่างเดียว เรื่องของความอุดมสมบูรณ์ด้วย แล้วถ้าเผื่อดินเสียความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว มันเสียถาวร พันธุ์พืชเรายังผสมหาพันธุ์ใหม่ปลูกได้ สมมุติอากาศร้อน ฝนมาก-น้อย ฤดูเปลี่ยน ข้าวพันธุ์นี้อยู่ไม่ได้ เราเลือกเปลี่ยนเอาพันธุ์นั้นมาปลูกแทน แต่ถ้าดินเสีย เอาพันธุ์ไหนมาปลูกก็ไม่ขึ้น อันนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขากำลังศึกษาอยู่

อย่างเรื่องยุงก็เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ มีการศึกษาเรื่องโรคไข้เลือดออกที่เวียดนามว่าเอลนีโญกับไข้เลือดออกสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนเลย เพราะว่าเอลนีโญมันจะร้อน ก็ไปกระตุ้นให้ยุงแพร่พันธุ์ออกลูกออกหลานดีในช่วงนั้น มันก็จะทำให้โรคระบาดมากขึ้น

GM : เวลาพูดเรื่องโลกร้อน เรามักจะพูดกันเฉพาะข้อเสียหรือภัยพิบัติต่างๆ ภาวะโลกร้อนไม่มีข้อดีบ้างเลยหรือ

ดร. อานนท์ : ข้อดีก็มีครับ เพราะว่าในหลายๆ พื้นที่ฝนจะมากขึ้น การการเกษตรก็น่าจะดีขึ้น เพราะที่ที่ไม่เคยมีฝนก็อาจจะมีฝนมากขึ้นได้ อุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นในอากาศก็ทำให้พืชบางชนิดโตเร็วขึ้น มันก็เป็นประโยชน์ได้ แต่อย่างที่บอก เราต้องรู้จักปรับตัว เพราะถ้าเผื่อมันดีขึ้น แต่เราไม่ปรับตัวให้ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มันเกิดขึ้น ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เรามักจะมองว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ดี เพราะเราชอบอยู่แบบเดิมๆ ความเชื่ออะไรเปลี่ยนมักจะไม่ดี แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร ถ้าเผื่อสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน แล้วเราสามารถปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ ก็อยู่รอด มันเป็นเรื่องของวิวัฒนาการ ความอยู่รอดของคนที่มีการปรับตัวได้ดีที่สุด

GM : คุณคิดว่าโลกน่าจะปรับตัวได้อย่างที่เราคิดไม่ถึงไหม อย่างกรณีรูรั่วโอโซน พอเราลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ทำลายโอโซนได้ไม่นาน รูโหว่ก็ซ่อมแซมตัวเองได้เร็ว ในกรณีภาวะโลกร้อน เราอาจไม่จำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกมากมายนักก็ได้ แล้วโลกก็จะเยียวยาตัวเอง

ดร. อานนท์ : อันนี้มีการพูดกันที่ใน IPCC เหมือนกันว่า สมมุติเราหยุดปล่อยหรือว่าลดการปล่อยแล้ว โลกมันจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลใหม่ได้ดีขนาดไหน เขาพบว่าในกรณีของก๊าซเรือนกระจกมันไม่เร็วเท่าโอโซน โอโซนเห็นได้ชัดว่าพอเราลดจำนวนลงแล้วไม่นานมันก็คืนตัวได้ค่อนข้างดี แต่กรณีของคาร์บอน- ไดออกไซด์ เขาบอกว่า แม้ ณ วันนี้ทุกคนหยุดปล่อย คือปล่อยคาร์บอนได- ออกไซด์เป็นศูนย์เลย คาร์บอนได- ออกไซด์ในอากาศก็ยังจะเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างช้าๆ ประมาณ 100 ปีถึงจะเข้าสู่ภาวะสมดุลและนิ่ง ยังไม่ลดกลับคืน จะลดกลับลงมาอีกทีไม่รู้เมื่อไหร่

เรื่องการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์มันเกิดขึ้นช้า เพราะว่าตัวควบคุมสำคัญคือมหาสมุทร ถ้าเป็นโอโซน ทุกอย่างอยู่บนอากาศหมด มหาสมุทรไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องโอโซน ภูมิอากาศมันถึงเปลี่ยนแปลงเร็ว อะไรขึ้นไปปุ๊บ ไม่นานก็ตกกลับมา แต่ว่ามหาสมุทรมันเคลื่อนช้า น้ำในมหาสมุทร กว่ามันจะจมลงไป กว่าจะดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในมหาสมุทรลึกๆ ใช้เวลาเป็นหมื่นปี เพราะฉะนั้น พอมหาสมุทรเป็นตัวควบคุมที่สำคัญ อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกจึงไม่เร็วอย่างกรณีของโอโซน ถึงบอกว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แก้แล้วเห็นผลในทันที

GM : โลกในวันที่คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นจนเข้าสู่สมดุลใหม่ จะมีสภาพเป็นอย่างไร

ดร. อานนท์ : มันอยู่ที่ว่าเราจะให้สมดุลอยู่ตรงไหน เขาเชื่อกันว่า ในความเป็นจริงจะอยู่ที่ราวๆ สัก 500-600 ppm (ส่วนในล้านส่วน) คือประมาณเกือบๆ 2 เท่าของวันนี้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิยังเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็น่าจะอยู่ในขอบเขตที่ยังพอรับได้ น้ำทะเลก็เพิ่มสูงขึ้นไม่เกิน 1 เมตร พวกมองโลกในแง่ดีเชื่อว่ามันจะไปนิ่งที่ตรงนั้น พวกมองโลกในแง่ไม่ดีมองว่ามันจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตกลงกันไม่ได้ บ้างก็บอกว่ามันจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็เป็นไปได้ แต่เท่าที่ผ่านมาไม่มีใครบอกว่ามันจะลด แน่นอนว่าไม่มีทางที่จะลด ตอนนี้มันเพิ่มขึ้นอย่างนั้น คณะทำงานชุดที่ 3 จะมาประชุมกันที่กรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคม จะคาดการณ์ออกมาว่า แนวโน้มของโลกจะเป็นอย่างไร ตอนนี้เรายังไม่รู้ ผมยังไม่เห็นรายงานฉบับนั้น

GM : คุณเป็นพวกมองโลกในแง่ดีหรือในแง่ร้าย

ดร. อานนท์ : ผมอาจจะไม่ได้มองในแง่ดีขนาดที่ว่า คาร์บอนไดออกไซด์จะนิ่งที่ระดับคนที่มองโลกในแง่ดีมากๆ เขามอง คือเขาบอกว่าอยู่แค่ 400 ppm มันจะนิ่งแล้ว ผมเชื่อว่ามันคงจะนิ่งอยู่ที่ประมาณ 600-700 ประมาณ 2 เท่า แต่กว่าจะนิ่งตรงนั้นคงอีกประมาณ 100 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเรายังต้องคุยกันอีกนาน ความเปลี่ยนแปลงตรงนั้นมันไม่ได้รุนแรงถึงขนาดจะทำให้มนุษย์โลกสูญพันธุ์ แต่ว่าจะมีคนเดือดร้อนสัก 1 ใน 4 ของประชากรโลกจะได้รับผลกระทบ อาจต้องอพยพย้ายถิ่น ต้องมีการปรับวิถีชีวิตอย่างรุนแรง มีการย้ายที่อยู่อาศัย รวมทั้งผู้คน 1 ใน 4 ของประเทศไทยด้วย ถ้าเผื่อคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 เท่าจริงๆ พื้นที่บริเวณชายฝั่งจะอพยพมาก ถ้าเรามีการกัดเซาะ พื้นที่ชายฝั่งหายไปทั่วประเทศเฉลี่ยประมาณ 10 เมตร โอ้โฮ! ผมว่าคนที่ได้รับผลกระทบต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในช่วงระหว่าง 0-10 เมตรจากชายฝั่ง

GM : คุณเคยวาดภาพสถานการณ์เลวร้ายที่สุดของกรุงเทพฯเอาไว้ว่าอาจเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ ที่นิวออร์ลีนส์ได้ ยังคิดอย่างนั้นอยู่ไหม

ดร. อานนท์ : นั่นเป็น worst case scenario นะ เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือมีพายุเข้ามาตอนช่วงน้ำขึ้น เพราะพายุจะเข้ามาปลายปีแล้วมาประดังกับน้ำฝน น้ำจากเหนือลงมาพอดี ถ้าเผื่อเป็นวัน 15 ค่ำ น้ำทะเลขึ้นสูงอีก อย่างสมมุติมีพายุเข้ามา

วันลอยกระทง เพราะวันลอยกระทงเป็นวันที่น้ำทะเลในกรุงเทพฯสูงสุด มีพายุเข้ามาวันนั้น น้ำจากเหนือก็กำลังไหลบ่า ถ้าจะเกิดก็ช่วงปลายปีที่ทุกอย่างประจวบเหมาะ เป็นพายุในคืนลอยกระทง ซึ่งเป็นไปได้ เพราะว่าน้ำเหนือก็มาพอดี ความกดอากาศสูงก็อาจจะลงมาอีก ทำให้พายุมันวนอยู่ข้างล่าง แต่ก็คงไม่ง่ายนักที่ทุกอย่างจะเกิดตรงกันพอดี เรายังโชคดีที่พายุส่วนใหญ่ที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาวันที่มีน้ำสูงมาก

เวลาสร้างบ้าน สร้างหลังหนึ่งมันอยู่นาน คุณต้องมองว่าพื้นที่ตรงนี้อีก 20 ปี 30 ปีข้างหน้ามันเป็นยังไง ถ้าเผื่อเรารู้สภาพตรงนี้ เรื่องของการออกแบบมันจะสามารถทำให้เหมาะสมได้ จะเน้นชายทะเลนิดหนึ่งเพราะพื้นฐานผมเป็นวิทยาศาสตร์ทางทะเล พื้นที่

ที่จะมีความเสี่ยงในเรื่องการกัดเซาะคือพื้นที่ที่ราบมากๆ คือที่ราบชายทะเลออกไปในทะเลน้ำก็ตื้นออกไปไกล โดยภาพรวมพวกนี้มีความเสี่ยงต่อการท่วมและการกัดเซาะสูงกว่า แต่พื้นที่ไหนที่เป็นหาดชันๆ ออกไปนิดเดียวน้ำก็ลึกลงไปเลย อย่างนั้นความเสี่ยงจะน้อยกว่า อันนี้เป็นภาพโดยรวมๆ ต้องไปดูเป็นที่ที่ไป

ส่วนบนเขา น่าจะดูเรื่องของต้นไม้ เรื่องแปลนในอนาคต แต่บนเขา ผลกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศน่าจะน้อยกว่าผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ใครจะมาตัดไม้เตียนไปเมื่อไหร่ ปัญหาที่ผ่านมาอาจจะเป็นเพราะการปลูกป่า

ทำโดยภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ใช่ธุระ แต่ผมว่าการปลูกป่าต้องกระจายออกไปให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นดูแล ให้ท้องถิ่นได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เมื่อเขาได้ผลประโยชน์ เขาก็ต้องดูแลด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เรื่องป่าชุมชนตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จากมุมมองผม ผมเชื่อว่าเป็นระบบที่สอดคล้องกับการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นระบบที่ยั่งยืน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว แต่เรานำแนวคิดนี้มาทำเป็นรูปธรรม ถ้าเผื่อเรามองรายงานในต่างประเทศที่อื่นๆ แนวโน้มก็มากันอย่างนี้แล้วทั้งนั้น เพียงแต่ของเราอาจจะล้ำหน้าที่อื่นๆ เพราะเรามีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ซึ่งเราน่าจะใช้เป็นข้อได้เปรียบว่าจะกระจายความเสี่ยงยังไง

ปัญหาที่ผมมองว่ามันไม่ยั่งยืนเลยคือการทำอะไรเพื่อตอบสนองการตลาด ยุคนี้ปลูกมันสำปะหลัง ทุกคนก็ปลูกมันสำปะหลังหมด ไม่มีความหลากหลาย ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพราะมีคนรับซื้อแน่นอน แต่ถ้ามองในแง่การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือความแปรปรวนของสภาพธรรมชาติแล้ว การทำอะไรเชิงเดี่ยวไม่ดี ทำอะไรอย่าให้มันสุดขั้ว ผมไม่ได้หมายความว่าหันกลับไปปลูกทุกอย่างหมด เชิงเดี่ยวมันก็ยังต้องมี เพราะทุกคนยังต้องการเงินสด แต่อาจต้องแบ่งว่าปลูกเชิงเดี่ยวสักเท่านี้ แล้วกันพื้นที่ไว้จำนวนหนึ่งทำอะไรเพื่อให้มีความหลากหลาย

ผมมีโครงการที่จะทำที่พังงา เราจะเอาทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศน์ ชุมชน เอามาทุกอย่างเป็นพื้นที่ แล้วเราจะวิเคราะห์ความอ่อนไหว ว่าถ้าเผื่อเราทำระบบนี้แล้ว จะมีตัวบ่งชี้อะไรต่อความเสี่ยงด้านต่างๆ

ทั้งภาวะคุกคามจากภัยธรรมชาติ จากสังคม จากการตลาด ทุกๆ ด้าน หมู่บ้านตอนนี้เขามีอยู่แล้ว เราไปช่วยเสริม ไปประสานแล้วก็เพิ่มอะไรนิดหน่อย ไปทำในเชิงงานวิจัยโดยเรามีเครื่องมือที่จะไปวัดความยั่งยืนหรือความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร

GM : ภาวะคุกคามทางสังคมพอพยากรณ์ได้ แต่ภาวะคุกคามทางธรรมชาติบอกได้อย่างไร

ดร. อานนท์ :  เอาง่ายๆ ป่าบางอย่างมันก็ช่วยป้องกันสึนามิ ป้องกันสตอร์มเซิร์จได้ อย่างฝั่งอันดามัน ชาวบ้านออกทะเลได้ไม่เกิน 6 เดือน อีก 6 เดือนเป็นหน้ามรสุม เขาออกทะเลไม่ได้ เขาจะหากินกับอะไร สิ่งที่เขาทำอยู่ได้ตอนนี้คือหากินกับการเก็บหอยตามป่าชายเลน เป็นรายได้เสริม เพราะฉะนั้นการที่เราสร้างระบบนิเวศน์ขึ้นมา เหมือนเป็นการสร้างเซฟวิ่ง (saving) ให้เขา สมมุติเกิดมีพายุมาแรงปีนี้จนออกทะเลไม่ได้ 8 เดือนจะทำยังไง

ปัจจุบันนี้ป่าชายเลนอาจจะพอเลี้ยง 6 เดือน จะให้เป็น 8 เดือน ต้องขยายขึ้นมาอีกเท่าไร อันนี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ ตอนนี้ชาวฝั่งอันดามันเขายังอยู่ได้ เพราะว่าช่วงที่ออกทะเลไม่ได้มีป่า มีแม่น้ำ มีชายหาดที่จะมาเก็บหอย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมาก การทำอย่างนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะคนในพื้นที่ แต่มันเชื่อมโยงมาถึงคนในเมืองด้วย เพราะถ้าเผื่อเราไม่แก้ปัญหาของคนในท้องถิ่น ปัญหาท้องถิ่นมันก็จะทะลักเข้ามาในเมือง เป็นปัญหาลูกโซ่กันไปทั้งหมด

GM : แล้วในแง่ของการเตือนภัยจากธรรมชาติ มีการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้างไหม อย่างที่ชาวมอแกนจะรู้ถึงสัญญาณเตือนจากสึนามิล่วงหน้า

ดร. อานนท์ : เท่าที่เห็นตอนนี้ไม่ค่อยมีมากนัก อาจเพราะว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเฉพาะหน้า เขารู้ว่าถ้าฟ้ามันแดง หรือลมมาอย่างนี้แสดงว่าพายุกำลังมา เขาจะมีความรู้เชื่อมโยงลักษณะนี้ แต่ภัยพิบัติในรูปองค์รวมยังไม่ค่อยเห็น แต่มีบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ เช่น ดอกไม้บานเร็ว-บานช้า

ผมเคยคุยกับสถาบันมานุษยวิทยาสิรินธร มีคนสนใจอยากจะศึกษางานพวกนี้เหมือนกันเพราะเชื่อว่ามี แต่เรายังไม่ได้รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ ที่จริงอาจจะมีแต่ผมไม่ทราบ แต่เท่าที่เห็นยังไม่ชัด ยังไม่ได้ลงเป็นจริงเป็นจัง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า น้ำลดสึนามิจะมา อันนั้นก็เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ชาวเลเท่านั้นที่รู้ ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้ อีกอย่างที่เรามีปัญหาคือว่าชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ที่ชุมชนชายฝั่งทะเลไม่ได้เป็นพื้นเพเดิม เพิ่งอพยพมาอยู่จากที่อื่นๆ ก็มีเยอะ องค์ความรู้พื้นบ้านพื้นถิ่นจริงๆ บางทีมันหายไป

บูรณาการความรู้สู้โลกร้อน

“น้ำแข็งสะสมที่แอนตาร์กติกากับกรีนแลนด์ยังไม่ลดลงมากเหมือนที่เคยคิดไว้ เพราะว่าหิมะตกใหม่มันยังชดเชยพอแต่ถ้ามันละลายมากขึ้นไอ้ที่ชดเชยอาจไม่พอ”

“โลกร้อนขึ้น ณ ปัจจุบันนี้มาจากมนุษย์แน่นอน ต่อไปในการเจรจาระหว่างประเทศไม่ต้องมาอ้างอีกแล้วว่ามันเป็นเองตามธรรมชาติไม่ใช่”

“หน้าร้อนจะยาวขึ้น คำว่าร้อนมากขึ้นผมว่าเป็นคำพูดที่ไม่ค่อยถูก เราคาดว่าหน้าร้อนจะยาวขึ้นมากกว่าส่วนหน้าหนาวจะไม่หนาวมากเท่าที่เคยเป็น”

“เรื่องของสึนามิยังเป็นไปได้ เพราะแผ่นดินที่เคลื่อนไปแล้วไม่ได้หมายความว่ามันหยุดไหว ปัจจุบัน ในบริเวณแนวรอยเลื่อนนั้นก็ยังมีการไหวอย่างต่อเนื่อง”

“1 ใน 4 ของประชากรโลกจะได้รับผลกระทบ อาจต้องอพยพย้ายถิ่น ต้องมีการปรับวิถีชีวิตอย่างรุนแรงรวมทั้งผู้คน 1 ใน 4

ของประเทศไทยด้วย”

START องค์กรบูรณาการ

GM : อยากให้คุณเล่าถึง START ให้ฟังว่าทำงานครอบคลุมแค่ไหนบ้าง

ดร. อานนท์ : คำว่า START ย่อมาจากคำว่า global change SysTem for Analysis, Research, and Training เป็นเครือข่ายนานาชาติ เมื่อหลายปีก่อน นานาชาติพบว่า งานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงจากการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงที่ดิน การเปลี่ยนแปลงของทะเล การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง ทรัพยากรประมง อะไรต่างๆ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันทั้งโลก คำว่าโกลบอลเชนจ์ (global change) คือปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโลก เกิดขึ้นเหมือนๆ กัน มันมีหลายเรื่องมาก ทีนี้ก็มีงานวิจัยในระดับโลกหรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทางยุโรป อเมริกาเหนือ งานวิจัยไปไกลเลย แต่ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีอะไรเลย ทั้งที่บางส่วนก็เป็นสาเหตุของปัญหา แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากที่อื่นๆ แล้วประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย เราก็หาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้มีการเชื่อมโยงความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ แล้วถ่ายทอดออกมา วิธีการอย่างหนึ่งคือต้องมีเครือข่าย เชื่อมโยงให้ได้ เครือข่ายนี้จึงเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว สำนักงานเลขาธิการใหญ่ของ START อยู่ที่ วอชิงตัน ดี.ซี. แล้วเขาก็แบ่งโลกออกเป็นโซนๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ประกอบด้วยประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งหมด รวมทั้งบางส่วนของออสเตรเลียและไต้หวันด้วย เราเป็นเครือข่ายนักวิชาการ ในประเทศไทยมีข้อตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แล้วก็จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจะมาตั้งศูนย์สำหรับภูมิภาคนี้ที่จุฬาฯ จุฬาฯก็ตกลงว่าจะให้สถานที่ แล้วก็สนับสนุนอาจารย์มาช่วยงานที่นี่ นิสิตก็สามารถที่จะมาเรียน มาทำงานวิจัย ทำวิทยานิพนธ์กับเราได้ ก็เป็นความร่วมมือร่วมกัน

GM : ไม่ได้ทำเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เท่านั้น ?

ดร. อานนท์ : ไม่เฉพาะปัญหาทางวิทยาศาสตร์ครับ ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงสังคมมากกว่าปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าผมจะมาจากคณะวิทยาศาสตร์ แต่ START ไม่ได้มองปัญหาของโลกว่าเป็นปัญหาในเชิงวิทยาศาสตร์ มันเป็นปัญหาเชิงสังคมที่ต้องการความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เข้าไปประกอบมากกว่า จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับสังคม อย่างการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศ คนก็เป็นคนทำ แล้วก็คนอีกนั่นแหละที่ได้รับผลกระทบ ตัวหลักมันอยู่ที่คน เราต้องแก้ที่คน แล้วก็ในแง่ศาสตร์ต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง วิทยาศาสตร์ต้องเกี่ยวข้องทั้งหมด ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ในขณะเดียวกันด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ การให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ สื่อสารมวลชน มันเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้นเลย

การที่เราหลายสาขา ก็จะต้องมีใครทำหน้าที่ประสาน นั่นคือบทบาทของเรา คือเอาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมานั่งคุยกัน ทำความเข้าใจกัน เพราะแต่ละคนที่มามีความรู้ลึก แต่การให้คนรู้ลึกแต่ละศาสตร์มานั่งคุยกันไม่ใช่เรื่องง่าย เราก็ต้องพยายามเข้าใจแต่ละปัญหา แล้วก็ข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย หน้าที่เราเหมือนกับเป็นตัวกลาง อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การที่เราจะรู้ว่าอนาคตภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไปอย่างไร มันต้องอาศัยความรู้ทางฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์เอามาคำนวณ นิสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์กายภาพมักจะไม่พอใจในผล ได้แค่นี้ก็จะต้องเอาต่อให้แค่นี้ คือทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับบางศาสตร์ เช่น นักการเกษตร เขาอาจจะบอกว่าแค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว เราก็ต้องพยายามให้เขาทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าเกษตรต้องการแค่นี้ จริงๆ แล้วยากกว่านี้ เช่น วิทยาศาสตร์กับสังคม เศรษฐศาสตร์กับชุมชน เพราะฉะนั้น กว่าที่แต่ละฝ่ายจะเข้าใจกันได้ ใช้เวลานาน

GM : แล้วตัวงานวิจัยของ START จริงๆ คืออะไร

ดร. อานนท์ : นี่แหละครับคืองานวิจัย เดี๋ยวนี้งานพวกนี้เราพยายามจะผลักดันให้ยอมรับว่าคืองานวิจัยด้วย เพราะการได้มาซึ่งวิธีการอย่างนี้ เราต้องไปลองไปศึกษา ลองผิดลองถูก ต้องมีการตั้งสมมุติฐาน แล้วก็มีออกไปลองทำดูว่าวิธีการนี้มันใช้ได้ไหม หลายอย่างที่เราลองไปทำแล้วมันไม่ได้ ก็ต้องเขียนรายงานว่าทำไมถึงใช้ไม่ได้ แล้วในขณะเดียวกัน เราสนับสนุนคนที่ทำวิจัยในเชิงลึกในแต่ละเรื่อง งานวิจัยมันซ้อนกันเป็นหลายระดับ ไม่ใช่ประเทศไทยของเราไม่มีงานวิจัย แต่ว่างานวิจัยที่สำคัญไม่สามารถสื่อออกไปให้คนใช้ประโยชน์ได้ การจะเอางานวิจัยไปขยายผลหรือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ต้องมีงานวิจัยอีกขั้นหนึ่งที่เราเรียกว่าเป็น โพลิซีรีเสิร์ช (policy research) เป็นงานวิจัยเชิงนโยบาย งานที่เราทำยังไม่ถึงขั้นโพลิซีรีเสิร์ช แต่เป็นงานวิจัยที่เรียกว่า อิน-ทิเกรเต็ดรีเสิร์ช (integrated research) หรืองานวิจัยเชิงบูรณาการ คือการนำเอาข้อมูลจากหลากหลาย เอามารวมกันให้มันได้เป็นองค์ความรู้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ