International Day of the Disappeared (วันผู้สูญหายสากล): เพราะไม่ควรมีใครต้อง ‘ถูกลืมหาย’ อย่างลำพัง…
ในความเป็นไปของสังคม ผู้คนมากหน้าหลายตา มาอยู่รวมในที่เดียวกัน ในกฎและระเบียบที่ใช้ร่วมกัน แน่นอนว่า เมื่อการรวมกลุ่มใหญ่ขึ้น มันย่อมไม่สามารถจดจำ หรือรับรู้ได้อย่างทั่วถึง ว่าใครเป็นใคร และ ‘การสูญหาย’ คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ จากหลายกรณี แต่ด้วยความก้าวหน้าด้านการติดต่อสื่อสาร ปัญหาด้านการสูญหาย สามารถแก้ไขได้ จากความร่วมมือจากหลายๆ กลุ่มของสังคม
หากแต่… ถ้าการสูญหายดังกล่าว เป็น ‘การบังคับสูญหาย’ เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่มีจุดประสงค์ไม่สู้ดี หรือเกิดขึ้น ในช่วงที่เกิดสภาวะความขัดแย้งหรือสงคราม การหายไป ก็อาจจะกลายเป็นชั่วกาล ไม่สามารถตามตัวกลับมาได้อีก…
ปัญหาการบังคับสูญหาย คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นสากล จนทำให้ทุกวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็นวัน ‘ผู้สูญหายสากล’ หรือ International Day of the Disappeared ที่ปัญหาการสูญหาย บังคับสูญหาย และการเรียกร้องต่อนานาชาติ ให้ใส่ใจต่อปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
วันผู้สูญหายสากล หรือ International Day of the Disappeared มีจุดเริ่มต้นจากความเคลื่อนไหวของกลุ่ม FEDEFAM อันเป็นกลุ่ม NGO ที่จัดตั้งขึ้นในปี 1981 ณ คอสตา ริก้า ที่เรียกร้อง เคลื่อนไหว และรณรงค์ให้ตระหนักรู้ถึงการบังคับสูญหาย การกักขังหน่วงเหนี่ยว และการลักพาตัวในประเทศแถบละตินอเมริกา
ในช่วงเวลาดังกล่าว ปัญหาการบังคับสูญหายในประเทศแถบละตินอเมริกา ถือได้ว่าเป็นประเด็นหลักใหญ่สำคัญ ทั้งจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล ไปจนถึงการใช้อำนาจของภาครัฐอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งกลุ่ม FEDEFAM ก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้าใจ จำนวนอาสาสมัคร จนถึงได้รับรู้ถึงจำนวนของ ‘ผู้ถูกบังคับสูญหาย’ ที่มากกว่าที่คิดไว้
อนึ่ง การบังคับสูญหาย จัดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับที่ร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามกฏหมายระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหาบสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from enforced Disappearance- CPED) ซึ่งสิทธิที่ถูกริดรอนออกไป มีดังต่อไปนี้
- -สิทธิในการได้รับการคุ้มครองทางกฏมาย
- -สิทธิในการเสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล
- -สิทธิในการไม่ถูกทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
- -สิทธิในการมีชีวิต เมื่อผู้สูญหายถูกสังหาร
- -สิทธิในสถานภาพของตน
- -สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม
- -สิทธิในการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิ
- -สิทธิที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มีการบังคับให้สูญหาย
เหล่านี้ จัดได้ว่ามีนัยสำคัญอย่างยิ่ง นั่นเพราะแม้ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูญหาย และถูกบังคับให้สูญหายตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ยังมีคงมีจำนวนอย่างต่อเนื่อง เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาร์, สถานการณ์สงครามในยูเครน, การบังคับใช้กฏหมายในประเทศแถบละตินอเมริกา เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่ได้มีการลงนามในอนุสัญญา CPED ในปี 2555 แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่มีการผ่านกฏหมายบังคับสูญหาย ที่ได้รับพิจารณาและผ่านวาระไปแล้ว ก็เป็นนิมิตหมายอันดี ว่าคดีและกรณีของผู้ถูกบังคับสูญหาย ทั้งจากอดีต และที่จะเกิดในอนาคต จะมีจำนวนที่ลดน้อยลงไป
แต่เพราะเหตุใด การสูญหาย หรือบังคับสูญหาย จึงยังเกิดขึ้น แม้ในเวลาปัจจุบัน?
การบังคับสูญหาย หรือการสูญหายไปจากสังคมโดยมิเต็มใจยินยอม นอกเหนือจากจะสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมโดยรวมแล้ว ในส่วนของผู้เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัวของผู้สูญหาย ยังได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง
และการบังคับสูญหาย ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในประเทศที่อำนาจรัฐปราศจากความเที่ยงธรรม และความเหลื่อมล้ำ มีมากจนเกิดช่องว่างทางกฎหมาย ที่ผู้ถูกกระทำ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
วันผู้สูญหายสากล อาจจะมีเพียงปีละหนึ่งครั้ง แต่สำหรับครอบครัวของผู้สูญหาย และตัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย อาจจะยาวนานราวกับชั่วนิรันดร์ การตระหนักรู้ในสถานการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะแม้ว่าไม่อาจจะแน่ใจ ว่าตัวผู้สูญหาย จะยังมีชีวิตอยู่ หรือจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม …
แต่การได้รับทราบชะตากรรม และรู้ว่าผู้สูญหาย มีปลายทางอย่างไร ก็อาจจะเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับผู้ที่ยังคงอยู่ ให้ก้าวเดินต่อไป โดยไม่มีห่วงอาลัย และความยุติธรรม จะถูกบังคับใช้ เพื่อไม่ให้ใคร ต้องถูก ‘หายสาบสูญ’ ไปโดยไม่เต็มใจอีกก็เป็นได้