มองเทคโนโลยี ‘AI’ และทิศทางแห่งแวดวงดิจิตอลไทยไปกับ วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง’
เรื่อง: สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์
ภาพ: สรรค์ภพ จิรวรรณธร
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีนั้น รวดเร็ว ฉับไว และสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแวดวงต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีล่าสุดอย่าง ‘AI’ หรือ ‘Artificial Intelligence’ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นที่กล่าวถึง ใช้งาน และทำการ ‘Disrupt’ งานของสาขาต่างๆ อย่างน่าตื่นตระหนก ทั้งในด้านคุณภาพ ปริมาณ และความเร็ว
เช่นนั้นแล้ว เหล่ามนุษยชาติควรจะต้องรู้สึกและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร? และคือสิ่งที่จะมาทดแทนแรงงานคน หรือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นจริงหรือไม่?
GM Live มาร่วมหาคำตอบในจากการพูดคุยกับ เอ – วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing และผู้ก่อตั้งบริษัท Impact Mind AI ที่ให้มุมมอง แนวคิด จนถึงมิติรอบด้านของสิ่งที่เรียกว่า AI ซึ่งดูเหมือนว่าในเวลาอีกไม่กี่ปี ก็อาจจะกลายมาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของมนุษยชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทคสัมภาษณ์นี้
อยากให้ช่วยแนะนำตัวโดยคร่าวๆ ในเบื้องต้น
วรสุวิทธิ์ : ผมคุ้นเคยและทำงานในแวดวง Tech มาได้ประมาณสิบกว่าปีครับ โดยเริ่มต้นจากการทำงานที่ True และ DTAC ในส่วนของ Innovation ราวๆ ช่วงปี 2011 จากนั้นก็ตัดสินใจลาออกมาทำบริษัทของตัวเอง เป็นที่ปรึกษาอิสระในเรื่อง Tech และ Digital Marketing แล้วค่อยขยับมาที่แวดวง Startup โดยได้รวมงานกับทาง AIS จัดงานประกวดด้าน Startup เรียกว่าคลุกคลีกับแวดวงมาโดยตลอด
หลังจากนั้น ตัดสินใจเปิดบริษัท Startup ทำ Video Streaming ที่ชื่อ Prime Time ซึ่งมีรูปแบบคล้าย Netflix โดยได้เงินลงทุนจากในตลาดหลักทรัพย์มาจำนวนหนึ่ง ก็ทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งจนถึงปี 2014-2015 ผมก็ตัดสินใจเดินทางไปซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อไปสัมผัสและเรียนรู้กับ Tech Scene ระดับยักษ์ของโลก โดยเฉพาะที่ Silicon Valley อยู่ประมาณหกเดือน ก็ทั้งทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ Startup คนไทยซึ่งอยู่ที่นั่น และเข้าฟังงานสัมนาด้าน Tech ระดับใหญ่ ผมไปเกือบทุกงาน ทำให้มีโอกาสได้เจอเหล่า Venture Capital จนถึงผู้ก่อตั้งบริษัทชื่อดังหลายต่อหลายเจ้า เลยเกิดแนวคิดว่า สิ่งที่เมืองไทยยังขาด คือกลุ่มของการบ่มเพาะบริษัทหรือ Incubator และ Accelerator
จากนั้น พอกลับมาที่เมืองไทย ก็เลยเริ่มธุรกิจของการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจ Startup กับ Venture Capital ที่มีความต้องการพ้องกัน ให้มาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกัน เป็นคนกลางที่คัดเลือกทั้งสองฝั่ง จนกระทั่ง COVID-19 แพร่ระบาด ก็เป็นจังหวะที่ทำ Digital Academy จนมาถึงปีนี้ ที่เทคโนโลยีด้าน AI กำลังมาแรงและเป็นที่กล่าวถึง รวมถึงได้ศึกษาด้านนี้มาสักระยะแล้ว ผมเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะมาเปลี่ยนโลก และเปลี่ยนด้านธุรกิจให้มี ศักภาพมากยิ่งขึ้น จนตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทชื่อ Impact Mind AI ที่สหรัฐอเมริกา โดยพิจารณาจากแง่ของฐานลูกค้าในระดับสากล
Impact Mind AI ทำอะไรหรือมีผลิตภัณฑ์แบบใดบ้าง
วรสุวิทธิ์ : โดยหลักแล้ว ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะอิงกับเทคโนโลยีของ AI ไม่ว่าจะเป็น AI Chatbot หรือ Automate Content Creator รวมถึง Internal ChatGPT อันเป็นการนำ ChatGPT ที่เป็น Open-Source มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อใช้ในระดับองค์กร
อธิบายคำว่า AI หรือ Artificial Intelligence สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวง Tech สิ่งนี้คืออะไร
วรสุวิทธิ์ : ถ้าแปลอย่างตรงตัวคือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ อันเป็นความพยายามที่จะเลียนแบบความรู้ ความคิด และการกระทำของมนุษย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการเรียนรู้ผ่านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ อย่างเช่น ChatGPT เองนั้น ก็เป็นเพียงชื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท OpenAI หรือจะมองว่า AI คือ ‘Large-Language Model’ อันเป็นการผสมผสานข้อมูลจากหลายๆ ภาษา หลายๆ แหล่งที่มา จนกลายเป็นการเชื่อมโยงข้อมูล ตั้งแต่ข้อมูลตามอินเตอร์เนท แหล่งวิจัย ฯลฯ จนกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ถ้าค้นหาว่า ‘อาหารจีน’ มีส่วนผสมอะไรบ้าง ก็จะเกิดจากการนำข้อมูลในแหล่งต่างๆ มาผสมผสานกัน จนได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ใกล้เคียงกับความจริง
ผลตอบรับจากการเปิดบริษัท Impact Mind AI
วรสุวิทธิ์ : เป็นไปได้ด้วยดีทีเดียวครับ มีคนติดต่อเข้ามาจำนวนมาก อาจเพราะ AI ในเวลานี้ คือเทรนด์ที่กำลังมาแรงในโลกแห่งการทำงานและโลกของ Tech บริษัทต่างๆ หาวิธีที่จะนำ AI เข้ามาใช้งาน ซึ่งหลายบริษัท หลายองค์กร ก็ตั้ง Priority หรือความสำคัญของ AI ในการใช้งานมาเป็นลำดับต้นๆ เลยก็มี
การใช้ระบบ AI สำหรับผู้ประกอบการเดี่ยว (Solopreneur) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและกำลังงานเท่ากับองค์กรระดับใหญ่นั้น มีการชี้วัดที่เห็นผลได้จริงมากน้อยเพียงใด
วรสุวิทธิ์ : ถ้าวัดเป็นตัวเลขที่ชัดเจนนั้น Solopreneur หรือผู้ประกอบการเดี่ยวซึ่งสามารถใช้ระบบ AI ได้อย่างคล่องแคล่ว จะสามารถทดแทนแรงงานที่จะต้องมีได้ประมาณ 10 คนขึ้นไป เพราะไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารองค์กรผ่านอีเมล์ หรือการเขียน business plan ซึ่งการใช้ระบบ AI สามารถเข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เร็วขึ้น ดีขึ้น ง่ายขึ้น
เช่นนั้นแล้ว Solopreneur หรือผู้ประกอบการเดี่ยว จะต้องมี Know-How หรือความรู้ในเชิงเทคนิคมากน้อยเพียงใด จึงจะสามารถไปถึงจุดของประสิทธิภาพที่ว่าได้
วรสุวิทธิ์ : จริงๆ แค่ ChatGPT ในปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าใช้งานง่ายมากนะครับ เพราะสามารถพิมพ์สั่งการแบบภาษาที่ใช้กันทั่วไปโดยไม่ต้องใช้ภาษาทางเทคนิคใดๆ อันนั้นคือระดับพื้นฐาน แต่ถ้าผู้ประกอบการมีความรู้เรื่อง Prompt ที่จะใช้ เพื่อเขียน Interface หรือระบบสั่งการสมองของ AI ได้ จะมีความได้เปรียบที่มากกว่า และได้เนื้องานที่หลากหลายกว่า เช่น การสั่งให้ AI ทำชุดสไลด์ข้อมูลงาน หรือการออกแบบ User Experiences เป็นเลย์เอาท์ของเว็บไซต์ที่สามารถใช้งานได้จริง
มีผลงานวิจัยหรือข้อมูลในระดับสากล ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการทำงานที่ผ่านการใช้ AI ออกมาบ้างหรือไม่ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา และจำนวนชี้วัดทางสถิติเป็นไปในทิศทางใด
วรสุวิทธิ์ : ถ้าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจก็เริ่มมีการวิจัยและเก็บผลเกี่ยวกับการใช้ AI ซึ่งใช้ในเชิงธุรกิจ ว่าสามารถประหยัดต้นทุนได้เท่าไร รวมถึงที่น่าสนใจกว่าคือ จำนวนชิ้นงานที่ได้ จากการใช้ AI ในฐานะผู้สร้างงานหรือ Creator เช่น การทำคลิปวิดีโอในสมัยก่อน สัปดาห์หนึ่ง อาจจะได้ประมาณหนึ่งถึงสองคลิป แต่พอนำ AI เข้ามาใช้งานแล้ว สามารถเพิ่มปริมาณขึ้นอีกเป็นห้าหรือสิบเท่าภายในหนึ่งวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
หลายคนความหวาดกลัวว่า ‘AI กำลังมา และจะมาแย่งงานมนุษย์’ ส่วนตัวมีมุมมองกับเรื่องนี้อย่างไร และควรจะต้องปรับตัว หรือต้องระวังการนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือ Exploit มากแค่ไหน
วรสุวิทธิ์ : เรื่อง AI จะเข้ามาทดแทนหรือไม่นั้นมีสัญญาณหลายครั้งว่า ความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้สูงมาก อย่างปีที่แล้ว ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า AI จะสามารถสร้างคลิปวิดีโอหรือรูปภาพในระดับที่สามารถใช้งานได้ หรือแม้กระทั่งสร้างนักแสดงตัวแทนที่สามารถใช้งานได้ โดยการจ่ายค่าจ้างเพียงครั้งเดียว กลายเป็นประเด็นการประท้วงของฮอลลีวู้ดในขณะนี้ ซึ่งส่วนตัวผมก็เชื่อว่า จุดประสงค์แรกเริ่ม ไม่ใช่การนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง อย่างเช่น AI Voice Cloning ที่เริ่มต้นเพื่อประโยชน์ในแวดวงการศึกษา ก็เริ่มมีมิจฉาชีพนำไปใช้หากิน หรือกลุ่มองค์กรที่ต้องการลดต้นทุนอย่างมาก จนกระทบกับคนที่ทำงานจริงๆ
ปัญหาของการถูก Exploit นั้น อาจจะสามารถแก้ไขได้ด้วยข้อกฎหมาย เช่นนั้นแล้ว ข้อกฎหมายนี้ ตามทันความเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาของ AI มากน้อยเพียงใด
วรสุวิทธิ์ : ต้องบอกว่าการกำหนดข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับ AI นั้น ตามไม่ทันการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ผมเริ่มต้นอย่างง่ายๆ นะครับว่าหน่วยงานไหนจะเป็นคนกำกับ จะเป็น กสทช. เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอินเตอร์เนทหรือเปล่า หรือว่าเป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสื่อ แค่ใครเป็นเจ้าภาพก็ยังตอบยาก หรือแม้กระทั่งในระดับสากลเอง ก็มีความพยายามที่จะตามความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ทัน
เช่น OpenAI ที่ไปคุยกับกระทรวงเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เกี่ยวกับการกำหนดตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน เพราะประเทศต้องการเป็นผู้นำทางด้านนี้ หรือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีจำนวนฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก แต่ระดับความสัมพันธ์ของประชาชนกับข้อมูลอยู่ในระนาบเชิงเดี่ยว รัฐเป็นผู้กำหนด ก็น่าสนใจว่าถ้านำ AI ไปใช้แล้ว จะกำหนดตัวบทกฎหมายอย่างไร
บางครั้ง ChatGPT เอง ก็มีระดับความไม่แน่นอนด้านข้อมูลค่อนข้างสูง จากฐานข้อมูลที่ถูกใส่เข้าไปอย่างไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก เช่นนี้จะเชื่อถือ AI ได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะต้องมีตัวบทกฎหมายที่ทำให้ข้อมูล AI มีความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่
วรสุวิทธิ์ : อันที่จริงแล้ว AI Provider หรือผู้ให้บริการด้าน AI ไม่ได้มีแค่ OpenAI นะครับ ยังมีอีกหลายเจ้า ที่มีรูปแบบ และกฎระเบียบของการให้ข้อมูลที่มีความรัดกุมมากขึ้น บางแห่งก็คัดเลือกข้อมูลโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมด้านข้อมูล ทำให้มีข้อมูลที่ทั้งถูกต้อง และไม่ผิดกฎหมาย เช่น บางครั้ง ใช้ AI ค้นหา CD-Keys ของระบบปฏิบัติการณ์ Windows มาได้อย่างง่ายๆ ในระบบหนึ่ง แต่ในระบบที่ถูกกำกับด้วยจริยธรรมทางข้อมูล สิ่งเหล่านี้จะไม่ถูกนำเข้าและแสดงผลออกมาอย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องความถูกต้องของข้อมูลนั้น แม้ทางตัวบทกฎหมายอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่การให้ความสำคัญจากฝั่งผู้ใช้ ก็เริ่มมีมากขึ้น การให้ข้อมูลที่ผิด การแก้ไขให้ถูกต้อง มีจริยธรรม และถูกต้องตามหลัก จะเพิ่มมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป
ประเด็นเกี่ยวกับ ‘Concious AI’ หรือ ‘AI ที่ตื่นรู้ มีความเป็นมนุษย์’ เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงและถกเถียงกันมานาน เราอยู่ห่างจากการตื่นรู้ที่ว่านั้นมากแค่ไหน หรือว่าใกล้กว่าที่คิด
วรสุวิทธิ์ : AI เองก็มีนิยามความฉลาดของมันเอง ซึ่งในปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่ยังไม่สามารถคิดแทนคนได้ในบางประเด็น แต่ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่า อาจจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ที่มนุษยชาติและระบบ AI จะสามารถไปถึงจุดนั้น
เมื่อเวลานั้นมาถึง ถ้า AI ‘ตื่นรู้’ ควรจะวางระดับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI เอาไว้ในระดับใด
วรสุวิทธิ์ : ถ้าให้ผมวิเคราะห์และคาดเดา มนุษยชาติอาจจะไม่ได้อยากพัฒนาให้ AI ไปถึงระดับความฉลาดขนาดนั้น แต่ถ้าไปถึงจะต้องมีระบบป้องกัน (Safeguard) เพื่อไม่ให้ไปได้ไกลกว่านั้น
มองภาพระยะไกลประมาณ 5 ปีข้างหน้าของบริษัท Impact Mind AI ไว้อย่างไร และคาดหวังอะไรบ้าง
วรสุวิทธิ์ : อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น การเปิด Impact Mind AI เกิดจากความใฝ่ใจและสนใจในเทคโนโลยี AI เลยอาจจะไม่ได้มองภาพบริษัทที่ใหญ่โตในระดับองค์กร แต่มองว่าเป็นบริษัทที่คล่องตัว เป็นที่ปรึกษา เป็นจุดแข็ง ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการและองค์กรเกี่ยวกับการนำ AI ไปใช้งาน
เป้าหมายปลายทางที่ต้องการเห็นในด้านการใช้งาน AI ซึ่งกล่าวกันว่ากำลัง ‘จะปฏิวัติโลก’ คือสิ่งใด
วรสุวิทธิ์ : โดยส่วนตัว บริษัทของผมคือระดับใช้งานและแนะนำ แต่สำหรับคนที่คิดค้นมีหลากหลายมาก ในแต่ละแวดวง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
จากที่เคยทำงานเป็น Digital Marketing ให้กับองค์กรใหญ่ๆ จนมาถึงธุรกิจ Startup ด้านเทคโนโลยี โดยประสบการณ์แล้ว อะไรคือ ‘สัญญาณ’ ที่บ่งบอกว่าเทคโนโลยีตัวนั้นๆ กำลังจะมาแรง
วรสุวิทธิ์ : สิ่งที่จะเป็นตัวบอกว่าเทคโนโลยีใดๆ นั้น ‘Matter’ หรือมีความสำคัญจริงๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย คือการที่เทคโนโลยีนั้นๆ สามารถตอบโจทย์ ‘Painpoint’ หรือแก้ปัญหาที่หลายคนเจอร่วมกัน อย่างเช่น AI นั้นเห็นชัดเจนว่าสามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง และเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ และนั่นเป็นสาเหตุที่เทคโนโลยีบางอย่าง เช่น Metaverse เริ่มซบเซาลงไป เพราะไม่ได้ตอบโจทย์หรือ Painpoint มากเพียงพอ
สิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับแวดวงเทคโนโลยีของประเทศไทย เกี่ยวกับการใช้งาน AI คือสิ่งใด
วรสุวิทธิ์ : ผมพยายามจะมองให้รอบด้านหลายมิติ เช่น AI Literacy หรือความเท่าทัน AI ในบ้านเราคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำแพงด้านภาษา การเรียนรู้การใช้งานก็จะอยู่ในแวดวงจำกัด ต่างจากที่อื่นๆ เช่น ที่อินเดีย มีการนำเอา ChatGPT เข้าสู่หลักสูตรการสอนระดับประถมศึกษา เพื่อให้เขียน Prompt และใช้งานได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งประเทศไทยเอง ก็ควรจะต้องเริ่มต้นพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะนำเอาสิ่งนี้ มาผนวกเข้าสู่หลักสูตรได้บ้างแล้ว เพราะไม่ช้าก็เร็ว สิ่งนี้จะต้องมา เช่นเดียวกับการมาถึงของอินเตอร์เนท, Google หรือ Wikipedia ที่เคยเป็นมาโดยตลอด
แต่ผมก็ยังเชื่ออยู่เสมอนะว่าขอเพียงแค่ใช้งาน AI แม้แค่เพียงสำหรับการทำงาน Productivity หรือเนื้องาน ผลประกอบการและการพัฒนาประเทศจะพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมากๆ
การพัฒนาด้าน AI ของประเทศไทย จะเป็นไปในทิศทางอย่างที่ต้องการ เพื่อการพัฒนาประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำงานได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงกระแสที่มาเพียงชั่วคราว แล้วผ่านไป
วรสุวิทธิ์ : ในจุดนี้ ก็ยังย้ำว่าการศึกษาคือเรื่องสำคัญครับ อย่างเช่นในตอนที่ Digital Marketing เข้ามาใหม่ๆ นั้น กว่าที่คนจะรู้จัก กว่าที่จะใช้กันเป็น กว่าที่จะเข้าใจกันจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาศึกษาและเรียนรู้กันยาวนานพอสมควร ผ่านการลองผิดลองถูก ซึ่งถ้ามีการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรม เปิดกว้าง ก็จะเป็นไปในทางที่เหมาะสมได้ดีกว่า
ในมุมมองส่วนตัว คำว่า Digital Marketing ปัจจุบัน แตกต่างจากช่วงสิบกว่าปีที่แล้วมากน้อยเพียงใด
วรสุวิทธิ์ : Digital Marketing หรือการตลาดดิจิตอล เมื่อมาผนวกรวมเข้ากับ AI จะจบที่สองประเด็นหลักใหญ่คือ ‘ความแม่นยำ’ กับ ‘การเป็นส่วนบุคคล’ ที่เป็นจุดขายของการตลาดสมัยใหม่ ซึ่ง AI จะเข้ามาช่วยในเรื่องการ Automate หรือการจัดการอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น
คิดหรือไม่ว่าแวดวง Digital Marketing ที่เคยคลุกคลีเมื่อสิบกว่าปีก่อน จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายถึงเพียงนี้
วรสุวิทธิ์ : ยอมรับว่าไม่ได้นึกภาพในทางนี้เลยครับ สมัยก่อน Digital Marketing ก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสื่อ จากแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบโซเชียล จนถึงรูปแบบการคิดค้นและสร้างเนื้อหา แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามา ก็ทำให้คนต้องศึกษา ปรับตัว และพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่มองในอีกแง่ ก็อาจจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ประกอบการที่อาจไม่ได้มีศักยภาพที่จะตามได้ทันอยู่พอสมควร จากการที่ผมไปสัมมนามาหลายครั้ง ผู้ประกอบการหลายรายสนใจกันมากๆ แต่ติดตรงที่ว่า จะเริ่มอย่างไร
เช่นนั้นแล้วจะเริ่มอย่างไร
วรสุวิทธิ์ : ถ้าให้แนะนำ ผมแนะนำให้เริ่มจาก ChatGPT ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะคำสั่งและการใช้งานนั้นง่าย เหมือนการพูดคุยกับคนด้วยกัน อยากได้ผลลัพธ์แบบใด ก็ฝึกฝนการเขียน Prompt อาจจะไม่ต้องเขียนละเอียดถึงขั้นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถ้าทำได้ก็ถือว่าดี แต่เอาแค่ระดับพื้นฐาน ฝึกเขียนแล้วดูผลลัพธ์ แล้วพิจารณาว่าจะเอามาใช้สำหรับงานด้านใด เช่น ใช้งานด้านคอนเทนต์ ใช้งานด้านการตลาด เท่านั้นก็ถือว่าล้ำหน้าไปเยอะแล้วครับ
แบ่งเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างไร
วรสุวิทธิ์ : ไม่ได้แบ่งตายตัวนะครับ ก็ปนๆ กันไป บางครั้งเสาร์อาทิตย์ทำงาน หยุดวันธรรมดาก็มี พยายามให้มีความยืดหยุ่น เป็น ‘Work-Life Integration’ ส่วนพักผ่อนแบบไหน ก็คือพาตัวเองออกจากโลกของงานเลย แค่นั่งดูซีรีส์ยาวๆ สักช่วง ก็ถือว่าได้เดินออกมาพักผ่อนแล้ว
หลักที่ยึดถือในชีวิตการทำงาน
ตลอดเวลาที่ทำงานมานั้น ผมพยายามคิดเสมอว่า ทุกบริษัท ควรจะมี ‘ระบบ’ เพื่อดำเนินการเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่เป็นระบบที่รับรู้ร่วมกัน เพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด เช่น บางแห่งอาจจะส่งงานด้วย Microsoft Words บันทึกความคืบหน้าผ่าน Microsoft Excel คุยงานผ่าน Slacks นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Workflow’ ซึ่ง AI สามารถนำมาใช้เพื่อร้อยเรียงและจัดการระบบเหล่านี้ให้มีความรวดเร็ว สะดวก และง่ายยิ่งขึ้น อย่างของผม มีคนจำนวนจำกัด จะทำอย่างไรที่จะให้มีระบบ Workflow เป็นของตัวเองเหมือนบริษัททั่วไป
สิ่งที่คนทำงานสายเทคโนโลยีต้องยึดถือคือสิ่งใดวรสุวิทธิ์ : คิดเสมอว่าเทคโนโลยีนั้น เปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนเร็ว ปีนี้เป็นอย่างหนึ่ง ปีหน้าอาจจะกลายเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งหมดก็ต้องยึดอยู่กับหลักที่ว่า จะนำไปใช้งาน และแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าแค่ใช้ตามเทรนด์ ถ้าหมดเทรนด์ ก็จบกัน