ตลาดหัวตะเข้ : จากถ่านเถ้า สู่ย่างก้าวแห่งศิลปะ
‘ที่นี่ดังขึ้นมาได้เพราะแมวน่ะ’ พี่เจ้าของร้านสี่แยกหัวตะเข้ กล่าวพร้อมโชว์วิดีโอแมวน้อยที่กำลังว่ายน้ำในริมคลอง ในขณะที่เรากำลังสดชื่นกับเครื่องดื่ม เรานึกทึ่งในความสามารถของแมวน้อยตัวนั้น ท่ามกลางบรรยากาศลมพัดเอื่อยๆ ที่ผ่านผิวของเราจากการตัดกันของคลองประเวศบุรีรมย์และคลองปลาทิว และอดประหลาดใจไม่ได้ ว่า ‘ตลาดเก่าหัวตะเข้’ แห่งย่านลาดกระบังแห่งนี้ ที่ดูห่างไกลปืนเที่ยง อยู่ริมสุดของเขตกรุงเทพมหานคร จะกลายมาเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางศิลปะและวัฒนธรรม

นับย้อนกลับไปห้าหรือหกปีก่อน มันคงเป็นการยาก ที่ชุมชนบ้านริมน้ำแห่งนี้ จะปรากฏขึ้นบน Google Map แต่ในวันนี้ มันยืนหยัดอย่างท้าทาย พร้อมหอบหิ้วประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และความทรงจำ ไม่ใช่หลักสิบ แต่เป็นหลักร้อยปี ผ่านช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ ดำดิ่งถึงจุดต่ำสุด และฟื้นตัวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งย่านน่ารักที่เราอยากจะเชิญชวนให้ได้มาค้นพบเสน่ห์ของมัน มันคือการเดินทางของชีวิต ที่ผสมผสานศิลปะ และวัฒนธรรมอันหลากหลายได้อย่างลงตัว
และนี่… คือเรื่องราวของมัน
อดีตอันเรืองรอง ริมสองฝั่งคลองหัวตะเข้

นับย้อนกลับไปนับร้อยปี หลังการขุดคลองประเวศบุรีรมย์โดยพระราชดำริของล้นเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ชุมชนริมน้ำหัวตะเข้ ได้กลายเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ที่รวมความหลากหลายทางชาติพันธุ์เอาไว้อย่างหนาแน่น ไม่ว่าจะชาวไทย ชาวมอญ ชาวจีน ที่ตั้งรกรากอยู่ริมสองฝั่ง ขนานยาวไปกับแนวของลำคลอง

ชุมชนริมน้ำหัวตะเข้ ทำอาชีพหลักอย่างการเกษตรกรรม การปลูกข้าว เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ที่ได้ผลดี จากดินที่อุดมสมบูรณ์ สืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงห้วงเวลาปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาบริเวณใกล้เคียงอย่างวิทยาลัยช่างศิลป์ และมหาวิทยาลัยเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังคงความคึกคัก และเป็นแหล่งพักสินค้าที่สำคัญ ที่แม้จะมีการตัดถนนลาดกระบังผ่าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตื่นตัวของชุมชนต้องกระทบกระเทือนแต่อย่างใด

‘ที่นี่รวมคนจากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะจีนแต้จิ๋ว หรือจีนแคะที่มาพร้อมงานฝีมือช่างไม้’ คุณอำภา บุณยเกศ หรือ ‘ป้าอ้อย’ ผู้ประสานงานแห่งกลุ่มคนรักชุมชนหัวตะเข้ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาทางด้านชาติพันธุ์ของผู้คนจากสมัยแต่เก่าก่อน ป้าอ้อยเป็นคนหนึ่งที่อยู่อาศัย และเติบโตมากับชุมชนหัวตะเข้มาตั้งแต่ยังเด็ก และได้เห็นช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ของย่านแห่งนี้ด้วยสองตาของตนเอง

‘ชีวิตสมัยก่อนนั้นคึกคักมาก มีตลาดน้ำ มีโรงเรียน มีธนาคาร การเดินทางก็สามารถไปได้ทั้งทางน้ำและทางรถไฟ เวลาใครจะไปทำฟันก็จะไปที่แปดริ้ว หรือถ้าไปหาหมอก็นั่งรถไฟเข้าเมืองไปโรงพยาบาลจุฬาฯ’ ป้าอ้อยบรรยายถึงชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว
เรานั่งฟังพร้อมจิบน้ำกลีบบัว หนึ่งในของหาทานยากอันแสนสดชื่นอย่างตั้งอกตั้งใจ พลางจินตนาการภาพตามไปยังอดีตอันแสงห่างไกล พยายามเชื่อมโยงสถานที่แห่งนี้ในภาพของวันวาน
ดำดิ่งสู่จุดต่ำสุด ฉุดไปสู่ความเป็นถ่านเถ้า




แต่ก็คงเช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งบนโลก ที่ล้วนมีวัฏจักรของมันเอง ชุมชนริมคลองหัวตะเข้เองก็ไม่อาจพ้นความจริงข้อนี้ เมื่อโศกนาฏกรรมบางอย่างได้เกิดขึ้น ส่งผลให้ทุกสิ่งสลายกลายเป็นเพียง ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’
‘ชุมชนตลาดหัวตะเข้เคยเกิดเพลิงไหม้หลายหลังคาเรือนในช่วงปี 2556 เป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้เป็นอย่างมาก’ ป้าอ้อยกล่าวถึงช่วงเวลาอันดำมืดนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว บวกกับการตัดผ่านของเส้นทางสัญจรทางบก ส่งผลให้หลายครอบครัว ย้ายถิ่นฐานออกไปจากชุมชน ไม่แม้แต่จะเหลียวหลังกลับมา

‘เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เพราะจากย่านที่เคยคึกคัก กลายมาเป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่ร้างผู้คน เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด’ ป้าอ้อยอธิบายสิ่งที่ตามมาหลังเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ‘เราเป็นคนที่อยู่อาศัยในย่านแห่งนี้ ก็อดคิดไม่ได้ ว่าจะทำอย่างไร ที่จะให้ชุมชนแห่งนี้ฟื้นคืนกลับมา เพราะสภาพในตอนนั้น มันแย่เอามากๆ เรียกว่าไม่มีความหวัง หน่วยงานภาครัฐก็ไม่เหลียวแล เป็นจุดอับที่รถวิ่งผ่านห่างไกลจากสายตาและความสนใจใดๆ’
ฟื้นคืนสู่ชีวิตด้วยศิลปะ
หากแต่ท่ามกลางวิกฤติ ก็ยังมีโอกาส และโอกาส เป็นเรื่องของการลงมือทำ ซึ่งป้าอ้อย ก็เป็นคนแรกๆ ที่เป็นแม่งานหลัก ในการจัดตั้งกลุ่ม ‘คนรักชุมชนหัวตะเข้’ ขึ้น โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ภายในชุมชน นั่นคืองานศิลปะ เข้ามาเป็นปัจจัยในการฟื้นฟูดังกล่าว
‘เราเริ่มต้นเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ในตอนแรก ใครเห็นก็บอกว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทำไม่ได้หรอก ต้องคนที่มีอำนาจในการสั่งการ แต่เราก็คิดว่า คุณค่าทางวัฒนธรรมนั้นคือสิ่งที่สืบทอดต่อกันมา ชาวบ้านเองก็อยู่ใกล้กับวิทยาลัยช่างศิลป์ รู้จักคุณค่าของงานศิลปะ ทำไมเราจะใช้จุดนี้มาเปลี่ยนเป็นจุดเด่นไม่ได้’

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ มาในวันนี้ ชุมชนริมน้ำหัวตะเข้ ได้กลายมาเป็นตลาดหัวตะเข้ ที่แม้ว่าจะไม่ได้คึกคักมากเทียบเท่ากับวันวาน แต่ก็เต็มไปด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายทางศิลปะและประวัติศาสตร์ที่สามารถสัมผัสได้ ร้านรวงต่างๆ ให้อารมณ์ของความ Vintage ที่น่าโหยหา มีร้านขายอุปกรณ์ศิลปะเอเฟรม มีงานประติมากรรมที่ทำจากพลาสติกเหลือใช้ และมีงานภาพกราฟิตี้สีสันสดใสแทรกตัวอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ทั่วไปของย่าน
และตลาดหัวตะเข้ ก็ได้รับการฟื้นคืน ด้วยคุณค่าของงานศิลปะเช่นนั้นเอง
ย่างก้าวสู่อนาคต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
ในวันนี้ ตลาดหัวตะเข้ คืออีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นไปด้วยศิลปะ และบอกเล่าด้วยน้ำเสียงของประวัติศาสตร์ที่โอบรับทั้งเวลาอันเรืองรอง รอยด่างอันบอบช้ำ และการดิ้นรนจนส่งผลสำเร็จ เราอดสงสัยไม่ได้ ว่าย่างก้าวต่อไปของตลาดหัวตะเข้นั้น จะเป็นไปในทิศทางใด
‘ทุกวันนี้ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพราะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราก็อาศัยกันไปตามอัตภาพ อาจจะไม่ได้คึกคักเฉกเช่นเดียวกับเวลาในอดีต แต่ก็พออยู่ได้’ ป้าอ้อยอธิบายถึงสภาพการณ์ของย่าน และทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไป
‘ถามว่าถ้าความเป็นศิลปะของหัวตะเข้จะหายไปในอนาคต ก็คงรู้สึกเสียดาย แต่ไม่ได้เสียใจ เพราะเราก็ทำในส่วนที่สามารถทำได้อย่างเต็มกำลังและภูมิใจไปกับมัน’

เรายืนชมคงริบบิ้นลายมอญและว่าวใบไม้ สองศิลปะจากยุคโบราณที่สืบทอดต่อกันมา ในโรงไม้ระหัดวิดน้ำ หนึ่งในสถานที่ที่ตกทอดจากยุคอดีตกาล สายลมยังคงพัดเอื่อยๆ ไม่โหมกรรโชกแรก แต่เย็นสบายอย่างเรื่อยๆ มีแดดร้อนบ้างเป็นบางจุด แต่นั่นก็คือชีวิต ที่ต้องมีการผสมผสานหลากหลายรสชาติ หลากหลายเรื่องราว ที่ประกอบเข้ากันให้กลมครบถ้วนและสมบูรณ์
เราพลันนึกถึงวิดีโอที่เจ้าของร้านอาหารสี่แยกหัวตะเข้เปิดโชว์ให้พวกเราดูก่อนหน้านั้นไม่ได้ ภาพของแมวน้อยน่ารัก ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในลำคลอง เป็นของประหลาดที่หาดูได้ยาก เมื่อพิจารณาว่าไม่ใช่แมวทุกตัว ที่จะสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว
ตลาดหัวตะเข้จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ก็คงยากที่จะบอก แต่ในเวลานี้ มันยืนหยัดได้ด้วยสองมือที่ลงแรงแข็งขัน พลิกฟื้นจากถ่านเถ้า และโอบรับเรื่องราวเพื่อบอกเล่าส่งมอบ เพื่อไม่ให้ถูกลืม และลบเลือนไปตามกาลเวลา และการมาเยือนของเราในครั้งนี้ ก็อาจจะเพื่อเป็นประจักษ์พยานการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพียงการฟื้นฟู แต่เป็นความสู้ไม่ยอมถอย เพื่อให้ร่องรอยประวัติศาสตร์ยังคงสืบเนื่องต่อไป

