How to select the right gemstone
เริ่มต้นจากความใคร่รู้แปรเปลี่ยนไปเป็นความสนใจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คุณเยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ หรือ พี่เก๋ นักอัญมณีศาสตร์ผู้จบการศึกษาจากสถาบัน Graduate Gemologist (Gemological Institute of America), FGA (A Fellow of Gemological Association of Great Britain) และ Certified Diamond Grader (HRD, Antwerp) ผู้มากประสบการณ์ด้านอัญมณี และกรรมการบริหาร TREZ Jewelry สยามพารากอน ให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความทันสมัย พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตรงใจลูกค้า เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้รับ ก่อเกิดเป็นความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและร้าน TREZ Jewelry ที่มี มาอย่างยาวนาน
TREZ Jewelry ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 บริเวณชั้น 1 สยามพารากอน ซึ่งคำว่า TREZ มาจาก Treasure หมายถึง ‘สมบัติ’ โดย TREZ Jewelry มีการจำหน่ายสินค้าประเภทจิวเวลรี่ อัญมณี ผลึกแร่ และรับบริการงานสั่งทำ รวมทั้งให้บริการตรวจสอบวิเคราะห์อัญมณี จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณี สอดคล้องกับบุคลิกภาพ ด้านความซื่อสัตย์ (Intrigrity) เปิดเผยข้อมูลอัญมณีด้วยความโปร่งใส ทั้งในเรื่องของแหล่งที่มาและการปรับปรุงคุณภาพอัญมณี ด้านการใส่ใจ (Detail-oriented) มีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนและรายละเอียดของการทำงาน เลือกสรรวัตถุดิบมาเป็นอย่างดี ให้บริการด้วยความอบอุ่นและเป็นมิตร ด้านการร่วมสมัย (Contemporary) คือการนำความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจด้านอัญมณีมาปรับใช้ได้อย่างผสมผสานและกลมกลืนกับยุคปัจจุบัน และความยั่งยืน (Sustainability) โดยการคัดสรรแหล่งที่มาของต้นกำเนิดเหมืองอัญมณี ที่มีความโปร่งใส ไม่เอาเปรียบแรงงานที่อ่อนแอและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อความยั่งยืนในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Made with Love, Guided by Gemologists” ความรักของผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณี
นอกจากนี้ทางร้าน TREZ Jewelry ยังได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจสอบวิเคราะห์อัญมณี มีชื่อว่า Thailand Gemological Laboratory (TGL) อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน จากมาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (GIT) และมาตรฐาน ISO17025 โดยการนำเครื่องมือขั้นสูงมาใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์และออกใบรับรองอัญมณีและเครื่องประดับ
อัญมณีคืออะไร ?
อัญมณีคือแร่รัตนชาติที่มาจากแร่ธาตุต่างๆที่อยู่ภายใต้พื้นโลกและนำมาเจียระไนขัดมันหรือแกะสลักเป็นรูปต่างๆให้มีลักษณะสวยงามซึ่งไม่ใช่แร่ทุกชนิดบนโลกที่จะสามารถนำมาทำเป็นอัญมณีได้ เพราะอัญมณีจะต้องมีเป็นวัตถุที่มีความสวยงาม คงทน และหายากด้วยนั่นเอง(สาราณุกรมโลกอัญมณีสถาบัน อัญมณีวิทย์ (ประเทศไทย), 2538.)
อัญมณีต่างจากแร่อย่างไร ?
แร่ คือธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ ที่มีสถานะเป็นของแข็ง เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีโครงสร้างภายในเป็นผลึก มีสูตรเคมีและสมบัติอื่นๆ ที่แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด (Learning module on Earth Science and Astronomy(LESA), 2553.) ซึ่งแตกต่างจากอัญมณีที่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ สวยงาม คงทน หายาก ดังที่กล่าวไปในข้างต้น
นอกจากนี้เรายังสามารถเชื่อมโยงอัญมณีแต่ละประเภทไปถึงเรื่องความเชื่อได้อีกด้วย เช่น อัญมณีประจำเดือนเกิด หากสวมใส่อัญมณีที่ตรงกับเดือนเกิด จะช่วยส่งเสริมด้านที่ดีแก่ผู้สวมใส่ให้ดียิ่งขึ้นหรือช่วย บดบังข้อเสียให้แก่ผู้สวมใส่ได้เช่นเดียวกัน (อัญมณีในเครื่องประดับ Gems in jewelry, 2552.)
มกราคม (January ) | การ์เนต โกเมน (Garnet) | ความเป็นนิรันดร์ |
กุมภาพันธ์ (February) | อะมีทิสต์ (Amethyst) | ความฉลาด |
มีนาคม (March ) | อะคัวมารีน (Aquamarine) | จิตใจสงบ |
เมษายน (April) | เพชร (Diamond) | ความสำเร็จ |
พฤษภาคม (May) | มรกต (Emerald) | ความเมตตากรุณา |
มิถุนายน (June) | มุกหรือมูนสโตน (Pearl or Moonstone) | ความสง่างาม |
กรกฎาคม (July ) | ทับทิม (Ruby) | มีอำนาจ |
สิงหาคม (August ) | เพอริดอท (Peridot) | ความเห็นอกเห็นใจ |
กันยายน (September) | ซัปไฟร์ (Sapphire) | การถ่ายทอดอารมณ์ |
ตุลาคม (October) | โอปอหรือโอปอล (Opal) | ความบริสุทธิ์ |
พฤศจิกายน (November) | โทแพสหรือซิทริน (Topaz or Citrine) | ความอุดมสมบูรณ์ |
ธันวาคม (December) | เทอร์ควอยซ์หรือแทนซาไนต์ (Turquoise or Tanzanite) | ความคิดสร้างสรรค์ |
ไม่ได้มีแต่อัญมณีประจำเดือนเกิดเท่านั้น เรายังสามารถเชื่อมโยงไปถึงจักระ ซึ่งจักระคือ พลังงานในร่างกายของเราที่หมุนวนจากจุดศูนย์กลางของร่างไปยังอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย จักระนั้นประกอบไปด้วยจุดสำคัญต่างๆ 7 จุด เรียงตัวกันอยู่ในร่างกายตามแนวดิ่งและมีความสัมพันธ์กับอัญมณี ที่จะสามารถช่วยในการบำบัดโรคต่างๆได้ (รูปที่ 2)
1) The Base Chakra มีตำแหน่งอยู่บริเวณกระดูกสันหลัง ก้นกบ มีความเชื่อมโยงกับอัญมณีสีแดง เช่น ทับทิม และโกเมน ส่งเสริมในเรื่องความอดทนและกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้น
2) The Sacral Chakra มีตำแหน่งอยู่บริเวณต่ำกว่าสะดือลงมา โดยเฉพาะในส่วนของอวัยวะเพศ ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ มีอัญมณีสีส้มเป็นตัวแทนของจักระบริเวณดังกล่าว เช่น ปะการัง ช่วยในเรื่องความคิด และการตอบสนองทางอารมณ์
3) The Solar Plexus Chakra มีตำแหน่งอยู่บริเวณลิ้นปี่ สะดือ และกระเพาะอาหาร โดยมีอัญมณีสีเหลืองเป็นจุดเชื่อมโยงกับจักระดังกล่าว เช่น ซิทริน บุษราคัม ช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างปกติ ควบคุมกรดในกระเพาะ เสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและความอุดมสมบูรณ์
4) The Heart Chakra มีตำแหน่งอยู่บริเวณหัวใจ มีอัญมณีสีเขียวที่จะช่วยเรื่องการลดภาวะความเครียดของจิตใจได้เป็นอย่างดี รวมถึงสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อัญมณีที่มีความเชื่อมโยงกับจักระนี้ได้แก่ มรกต และ เพอริดอท
5) The Throat Chakra มีตำแหน่งอยู่บริเวณกระดูกต้นคอ หรือบริเวณคอหอย ช่วยในเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางการพูด การสื่อสาร การติดต่อประสานงาน และการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมีอัญมณีที่มีสีฟ้าเป็นตัวแทนของบริเวณดังกล่าว เช่น ไพลิน อะความารีน และบลูโทแพส
6) The Brow Chakra เป็นตัวแทนของอัญมณีสีน้ำเงินเข้ม มีตำแหน่งอยู่บริเวณกึ่งกลางหน้าผาก ช่วยในด้านการจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์ที่ดี สำหรับอัญมณีที่ถูกนำมาใช้ คือลาพิส ลาซูลี
7) The Crown Chakra มีตำแหน่งอยู่ที่บริเวณกึ่งกลางศีรษะ ช่วยในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสติปัญญา ความรู้สึกนึกคิด ความจำ เป็นศูนย์ควบคุมพลังงานจักระทั้งหมด โดยมีอัญมณีสีม่วงเป็นตัวแทนของบริเวณดังกล่าว เช่น อเมทิสต์ (The little pocket book of crystal chakra healing, 2559.)
นอกจากจะได้รู้วิธีการเลือกอัญมณีให้เหมาะสมกับตัวเราแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาในการเลือกอัญมณีคือการสังเกตลักษณะอัญมณีสังเคราะห์ อัญมณีเลียนแบบ การปรับปรุงคุณภาพอัญมณีและอัญมณีอินทรีย์ว่าคืออะไรแตกต่างกันอย่างไรและสามารถใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือพื้นฐานอะไรตรวจสอบได้บ้างในการจำแนกอัญมณีดังกล่าวออกจากอัญมณีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้นั่นเอง
สิ่งสำคัญที่นักอัญมณีศาสตร์มักพกติดตัวอยู่เสมอคือ
- Loupe หรือกล้องกำลังขยายขนาด 10x เพื่อใช้ในการตรวจสอบสิ่งที่อยู่ภายในตัวอัญมณีได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ลักษณะตำหนิ (วิเคราะห์อัญมณี SGS สถาบันอัญมณีวิทย์, 2538.)
- Tweezer หรือที่คีบอัญมณีเพื่อใช้ในการหยิบหรือจับอัญมณี
- Gemstone Cleaning Cloth ผ้าสำหรับเช็ดอัญมณี เพื่อให้อัญมณีมีความสะอาด ไร้ฝุ่น เมื่อส่องแล้วจะได้ไม่สับสนกับร่องรอยฝุ่นที่เกาะอยู่ตามอัญมณีกับรอยตำหนิ
- Gemstone Torch ไฟฉายสำหรับส่องอัญมณี เพื่อให้เห็นผลึกคริสตัลหรือตำหนิด้านในได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อัญมณีสังเคราะห์คืออะไร ?
อัญมณีสังเคราะห์คืออัญมณีที่สร้างขึ้นจากมนุษย์ โดยมีค่าเคมีและสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางแสง เหมือนกับอัญมณีธรรมชาติ เช่น คอรันดัมสังเคราะห์ ควอทซ์สังเคราะห์และมรกตสังเคราะห์ เป็นต้น (Burapha Gemological Laboratory (BGL), 2561.) สามารถแยกได้จากตำหนิหรือมลทินภายในอัญมณี ตัวอย่างลักษณะมลทินที่พบในอัญมณีธรรมชาติ ได้แก่ แถบสีแนวเส้นตรง (Straight color banding) และมลทินผลึก (Crystal) ส่วนลักษณะตัวอย่างของมลทินที่พบได้ใน อัญมณีสังเคราะห์ ได้แก่ แนวเส้นโค้ง (Curved Striation) และมลทินฟองอากาศ (Gas Bubble)
อัญมณีเลียนแบบคืออะไร ?
อัญมณีเลียนแบบ คืออัญมณีที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบธรรมชาติไม่มีโครงสร้างทางเคมีและกายภาพเหมือนธรรมชาติ เพียงแต่มีลักษณะดูคล้ายอัญมณีธรรมชาติเท่านั้น เช่น อัญมณีที่นำมาเลียนแบบส่วนใหญ่ทำมาจากแก้ว พลาสติก หรือการนำอัญมณีราคาถูกมาจำหน่ายแทนอัญมณีราคาแพงเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น การนำโกเมนมาจำหน่ายแทนทับทิม เพราะมีลักษณะภายนอกที่เหมือนกันนั่นเอง (สารานุกรมภาพพลอยแท้พลอยเทียม, 2545.) เช่น ลักษณะคล้ายเปลือกส้ม (Orange peel) บริเวณพื้นผิวพลาสติกและพื้นผิวแก้ว
การปรับปรุงคุณภาพคืออะไร ?
การปรับปรุงคุณภาพอัญมณี คือการนำอัญมณีมาผ่านกรรมวิธีหลายรูปแบบ เพื่อให้อัญมณีมีความสวยงาม มีลักษณะที่ดูดีมากขึ้นและเพื่อเพิ่มมูลค่าของอัญมณีดังกล่าว ได้แก่ การอุดรอยแตกด้วยแก้วตะกั่ว
อัญมณีอินทรีย์คืออะไร ?
ไม่ใช่อัญมณีทุกชนิดที่ก่อตัวมาจากผลึกเพียงเท่านั้น ยังมีอัญมณีอีกชนิดหนึ่งที่ก่อตัวมาจากธรรมชาติหรือจากสิ่งมีชีวิตโดยตรง ซึ่งเราเรียกอัญมณีเหล่านี้ว่า อัญมณีอินทรีย์ โดยจะพบลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอัญมณีเหล่านี้ได้ (What Are Organic Gemstones, American Gem Society, 2560.) เช่น ลักษณะคล้ายรอยนิ้วมือในไข่มุก (Platy Structure) แนวเส้นขนานในปะการัง (Parallel Growth Lines) รอยเส้นโค้งในงาสัตว์ (Engine Turning) และลักษณะของอำพันที่เกิดจากการปรับปรุงคุณภาพตามรอยแตก (Sun spangle)