‘แดดเดือดทะลุองศา กับ “โรค” ที่มาพร้อมอากาศร้อน และวิธีป้องกัน ก่อนไปเที่ยวพักผ่อน’
เรื่องโดย : นายแพทย์พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน มีทั้งโรคและการเจ็บป่วยที่เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง และภัยสุขภาพที่เป็นผลพวงของอากาศที่ร้อนขึ้น เช่น ปัญหาหมอกควันจากไฟป่า การจมน้ำ หรือโรคติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งโรคหรือภาวะเหล่านี้มีตั้งแต่ความรุนแรงน้อย หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ตัวอย่างของโรคหรือภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. โรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด) พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน อาการของโรคลมแดด ได้แก่ ผิวหนังร้อนแห้ง เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน และชัก ซึ่งในบางรายอาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคฮีทสโตรก ควรรีบนำผู้มีอาการเข้าที่ร่ม โทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 และปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจัดท่านอนราบและยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน และเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
2. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เนื่องจากในสภาวะที่มีอากาศร้อน เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้ดี โรคที่พบบ่อย เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย อาการของโรคกลุ่มนี้ เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง อุจจาระพบมูกและเลือดปน บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการขาดน้ำหรือติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสำรวจกลิ่น รสของอาหารทุกครั้งก่อนรับประทาน
3. โรคที่เป็นผลกระทบจากหมอกควัน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ ที่อาจพบอาการบ่อยขึ้นหรือโรคที่เป็นอยู่เดิมทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรติดตามภาวะมลพิษในอากาศ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องสัมผัสกับหมอกควัน ใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ได้หากจำเป็นต้องไปสัมผัสกับมลภาวะ
4. อุบัติเหตุและการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอะไรบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงอากาศร้อนแบบนี้
– ผู้สูงอายุ
– เด็กเล็ก
– ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือโรคอ้วน
– ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะหรือยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
– ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน
- ในทางการแพทย์ เมื่อออกจากห้องแอร์ มาสัมผัสอากาศร้อนทันทีเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทันทีไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างที่เข้าใจกัน สิ่งที่ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ในฤดูหนาวที่อากาศแห้งและอุณหภูมิต่ำลง ทำให้เชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตและเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าช่วงฤดูร้อน ทำให้มีโอกาสเป็นไข้หวัดมากขึ้น
- อาการฮีทสโตรก กับอาการสโตรก มีอาการแตกต่างหรือใกล้เคียงกันอย่างไร
ฮีทสโตรก และสโตรกแม้มีชื่อคล้ายกัน แต่เป็นคนละโรคกันโดยสิ้นเชิง อาการของฮีทสโตรกนั้นได้แก่ ผิวหนังร้อนแห้ง เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน ชัก หรือหมดสติ และมักจะพบในช่วงฤดูร้อนหรือในผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกล้างแจ้ง ในขณะที่สโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมองนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการสับสน ชัก หรือหมดสติได้เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นฮีทสโตรก โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน สิ่งสำคัญคือทั้ง 2 ภาวะเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการนำส่งโรงพยาบาลทันที
- สิ่งที่คุณหมอต้องการฝากถึงผู้ป่วยและไม่ป่วยทั้งหลายในภาวะอากาศร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเช่นทุกวันนี้
อากาศร้อน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่อุณหภูมิสูงสุดเกินกว่า 40 องศานั้นค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรวมถึงผู้ที่ดูแลใกล้ชิดคนเหล่านี้ ควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษในภาวะอากาศร้อนแบบนี้ ดื่มน้ำมากๆ อยู่ในที่ร่มและเย็น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากในช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน และที่สำคัญคือรู้วิธีสังเกตอาการของโรคที่มากับความร้อนต่างๆ รู้หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทร 1669 เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์