fbpx

HG Robotics นวัตกรรมหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

เอชจี โรโบติกส์ ผลิตและพัฒนาคิดค้นหุ่นยนต์ และอากาศยานแบบไร้คนขับ (Unmanned aerial vehicle) โดยทีมวิศวกรไทยที่มีประสบการณ์ดำรงอยู่มายาวนานมากกว่า 10 ปี โดยเป็นโดรนเพื่อการเกษตรและการสำรวจสำหรับเกษตรกรไทยนำมาใช้และสร้างมูลค่าผลผลิตทางการ เกษตรที่เพิ่มพูน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมี ดร.มหิศร เป็นผู้นำ พร้อมด้วยทีมงานนับร้อยชีวิตที่มี Passion เกี่ยวกับหุ่นยนต์อย่างแรงกล้า มีความจริงใจในการทำงาน พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ตื่นขึ้นมาทำงานทุกวันโดยไม่มีคำว่าเบื่อหน่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเทศและชีวิตของใครบางคนให้ดีขึ้น โดยใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือ

“จุดเริ่มต้นเกิดจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่แข่งขันหุ่นยนต์ Robocup ที่มีการจัดแข่งขันในประเทศไทย ช่วงต้นปี ค.ศ. 2000-2003 เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มารวมกลุ่มกันซึ่งสลับกันได้แชมป์รายการ หลังจากนั้นในช่วงประมาณปี 2006-2008 ต่างก็เติบโตแยกย้ายไปเรียนต่อในต่างประเทศทั้งที่ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป แต่ยังมีการติดต่อพูดคุยกันตลอด ซึ่งทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการจัดตั้งบริษัท หลังจากนั้นปี ค.ศ. 2011 ก็ได้มีการจดทะเบียนบริษัทขึ้นมาซึ่งเรายึดกับหลักการ “First Who, Then What” ซึ่งเป็นคำพูดที่อยู่ในหนังสือ Good to Great ที่เขียนโดย Jim Collins ซึ่งมียอดขายมากกว่าสี่ล้านเล่มทั่วโลก หมายถึงการที่เราต้องหาคนที่เหมาะสมมาร่วมมือกันในการทำงานก่อน แล้วจึงค่อยมาดูว่าคนเหล่านั้นแต่ละคนจะมาทำอะไรร่วมกันบ้าง”

เป็นตัวเลือกเพื่อถึงวันที่ได้รับเลือก

เมื่อพวกเขาชาวหุ่นยนต์ตัดสินใจกระโดดเพื่อทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน เรียกได้ว่า เป็นการกระโจนขึ้นรถโดยที่ยังไม่รู้ว่า ควรจะมุ่งสู่เหนือ ใต้ ออก หรือตก ดี รู้แต่เพียงว่า พวกเขามีพลขับที่รู้เรื่องเส้นทาง มีนายช่างที่รู้เรื่องเครื่องยนต์ และมีเส้นทางที่ต้องฝ่าฟันไป การผจญภัยจึงเริ่มต้นขึ้น

“เราเริ่มต้นจากการจัดตั้งบริษัท ใครมีโปรเจ็คอะไรให้ทำก็มาคุยกัน ช่วงแรกๆ เหมือนเป็น R&D ด้วย ใครที่ตามหาบริษัทเกี่ยวกับหุ่นยนต์ เราเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีไม่มากนักในตลาด​ ทำให้ได้ทำงานกับหน่วยงานต่างๆ หลายแห่ง อย่างกองทัพอากาศ แต่โปรเจ็คที่เริ่มทำให้เราเข้าสู่วงการเกษตรจริงๆ ไม่ใช่โดรนเกษตรแต่เป็นเรือดำน้ำ ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการพูดคุยกับคณบดี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้บริหารบริษัทท่านหนึ่งได้ถามกับทางเกษตรศาสตร์เพื่อหาทีมที่จะดูแลเรื่องของโดรนการเกษตร อาจารย์ก็เลยแนะนำบริษัทเราให้เข้าไปคุย นับเป็นจุดเริ่มต้นและทำให้เราได้เข้าไปสำรวจตลาดการเกษตรของประเทศไทยมากขึ้น แล้วเราก็พบว่า ภาคเกษตรของไทยเป็นตลาดที่มีความต้องการหุ่นยนต์หลายหมื่น หลายแสนล้านตัว

ยกตัวอย่างง่ายๆ กิจกรรมในการปลูกข้าว เตรียมดิน เพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นหว่านเมล็ด หรือว่าปักชำ การดูแลรักษาอย่างการฉีดพ่นฆ่าวัชพืช ควบคุมวัชพืช ใส่ปุ๋ย ฉีดสารเพิ่มเสริมความแข็งแรง แล้วก็กำจัดแมลงตามความจำเป็น แล้วก็เก็บเกี่ยว ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ทั้งเหนื่อยยากและอันตราย ดังนั้น ตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าถ้ามีหุ่นยนต์มารองรับ จะเป็นทางเลือกที่ดีแน่นอน”

บริษัทที่เติบโตในตลาดที่เปลี่ยนแปลง

ตลาดทางการเกษตรเติบโตแต่ใช่ว่าทุกบริษัทเติบโตตามไปด้วย สำหรับ เอชจี โรโบติกส์

หนึ่งปีสู่สิบปี จากหนึ่งคนสู่ร้อยคน หนึ่งล้านสู่ร้อยล้าน นับเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่จำนวนตัวเลขหรือปริมาณที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ ความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำให้พวกเขาแตกต่าง

“เรา Raise Fund มาแล้วสามครั้ง รวมประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณสองร้อยเจ็ดสิบล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงานประมาณหนึ่งร้อยคน ยอดขายบริษัทก่อนโควิด-19 สูงสุดรวมประมาณ หนึ่งร้อยสิบล้านบาท ในมุมของธุรกิจ เรามีโดรนที่ขายไปแล้วในตลาดเกือบสองร้อยตัว สูงสุดในเชิง Market share อยู่ที่ประมาณ 7%

อย่างไรก็ตาม บริษัทขณะนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยน Business Model แต่สิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดของเราคือ Core Technology แล้วก็ R&D รวมทั้งทีมงานทุกคนที่เรามี​ ตอนนี้จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ออกมา​ เพื่อเจาะส่วนแบ่งการตลาด ตลาดโดรนการเกษตรของไทย​เป็นตลาดค่อนข้างใหญ่มากๆ เติบโตปีละ 200% ถ้าปีที่แล้วมีความต้องการหนึ่งร้อยตัวปีนี้จะมีลูกค้าต้องการเพิ่มอีกหนึ่งร้อยตัวหรือสองร้อยตัว เรากำลังพูดถึงตลาดที่มีมูลค่าประมาณสอง ถึงสี่หมื่นล้านบาทซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกห้าปีจากนี้​”

มูลค่าของสิ่งที่ทำ

ไม่เพียงเพราะมองเห็นภาพที่ใหญ่กว่า มุมมองที่กว้างไกลกว่า แต่เหนืออื่นใด พวกเขาหลงใหลในสิ่งที่ทำ ไม่น่าแปลกใจเมื่อ เอชจี โรโบติกส์ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตอบโจทย์ตรงใจและเป็นที่ต้องการของตลาด และจะค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่การเป็นผู้นำบริษัทหุ่นยนต์ที่จะครองใจเกษตรกรไทยในอีกไม่ช้า

“หนึ่งสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ตอบโจทย์ Passion ทางธุรกิจได้ ทำให้เรารวบรวมคนที่สนใจเรื่องหุ่นยนต์มาอยู่ด้วยกันได้ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากท้าทาย แต่พอเราสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง คนทำก็ภูมิใจ ผลงานของพวกเราสามารถทดแทนเรื่องของการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะถ้าเราบอกว่าตอนนี้ตลาดโดรนในแวดวงการเกษตรของไทยจะ

มีมูลค่าสามสี่หมื่นล้านบาทแล้วไม่มีบริษัทไทยทำได้เลย ต้องนำเข้าทั้งหมด เท่ากับเราเสียดุลให้ต่างประเทศหนึ่งปีประมาณสามสี่หมื่นล้านบาท

ถ้ามองในแง่การตลาด ก็ต้องบอกว่า โดรนของเรายังไม่ได้เป็นเจ้าตลาด เราก็ค่อยๆ ทดแทน แต่ที่เราทำ R&D ก็เหมือนเราสร้าง Ecosystem ให้กับวงการเกษตร พูดให้เห็นภาพ ต้องบอกว่าเราผลิตโดรนให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานของประเทศได้มากกว่า ซึ่งก็จะนำไปสู่โดรนที่มีคุณภาพดี ราคาจับต้องได้มากกว่า บริการหลังการขาย รวมถึงอะไหล่ที่ใช้คำว่าสมเหตุสมผล ไม่ใช่เฉพาะแค่ฮาร์ดแวร์แต่ซอฟท์แวร์ในการโดรนบินขึ้นหนึ่งลำเพื่อฉีดพ่นทางการเกษตรคือข้อมูลที่มีค่า มหาศาลของประเทศไทย คนๆ หนึ่งทำอะไร ฉีดตรงไหน ในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลนี้เป็นความสำคัญของประเทศไทย ถ้าวันนี้โดรนต่างชาติมาบินเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ทำให้รู้หมดเลยว่ามีใครทำเกษตรตรงไหน เริ่มฉีดเมื่อไหร่ ข้อมูลตรงนี้นำไปสู่ Community Output ของประเทศได้ ชาวต่างชาติก็จะเห็นตลาดและความเป็นไปของการทำเกษตรของไทย ซึ่งไม่ควรตกไปอยู่ในมือของพวกเขา”

เส้นทางสายโดรนที่กว่าจะโดน

สิบกว่าปีที่ยืนหยัดอยู่ในวงการนวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร ย่อมพบพานมาแล้วทุกฤดูร้อน หนาว ฝน ฝ่าฟันมาแล้วทั้งพายุที่ถาโถม เส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ แสงแดดที่แผดเผา ถ้าไม่แข็งแกร่ง ไม่ยืนหยัด ย่อมมาไม่ถึงวันนี้และยากที่จะไปต่อให้ถึงวันพรุ่งนี้

“พอเป็นสตาร์ทอัพก็ต้องใช้ทุนเยอะครับ บริษัทใกล้ตายมาหลายรอบ เส้นทางสายนี้ไม่ได้สวยงามหรอกครับ ผมผ่านมาหมดแล้ว คอนโดไปอยู่ในแบงค์ ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน ต้องลดเงินเดือน ต้องตัดเงินเดือน ต้องเลื่อนการจ่ายเงินเดือน ต้องไปไหว้วอนคนนั้นคนนี้มาจ่าย มีครบทุกอย่างตามที่ธุรกิจสตาร์ทอัพควรจะต้องมี

สิ่งที่ยังยึดใจเราไว้ คือ ความตั้งใจในการทำงานของทุกคนในบริษัท ความตั้งใจจริง ของผู้ร่วมก่อตั้งทุกคน และความจริงใจในการทำงานของเรา และเราเป็นบริษัทที่โชคดี มีคนเอ็นดู คอยให้คำปรึกษา คำแนะนำทั้งทางตรงทางอ้อม แนะนำให้สู้เพื่อหาทางออกของปัญหา เราได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานหลายแห่งรวมทั้ง NIA มีนักลงทุนที่เข้าใจในสิ่งที่ต้องจ่ายต่อสิ่งที่เราทำ มี Angel Investor ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือให้ข้อมูลทั้งในเชิงการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็คอะไรต่างๆ ความไม่รู้ว่าไม่รู้อะไรของ ซีอีโอมือใหม่ พูดง่ายๆ เราก็มีโค้ช เราก็ยังใช้คำว่าค่อยๆ เรียนรู้  ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก พลาดก็หาทางแก้ จัดการต่อไป แล้วมันก็จะดีเอง”

 

รายละเอียดเพิ่มเติม :

 https://www.hiveground.com/

https://baiyaphytopharm.com/

https://www.facebook.com/hiveground/

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ