Her-story 2475 : อันที่จริงผู้หญิงก็ก่อการปฏิวัติ
เรื่อง : ชานันท์ ยอดหงษ์
ท่ามกลางกระแสพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 และสัญลักษณ์กำเนิดระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ตั้งแต่ถอนหมุดคณะราษฎร แล้วเอาหมุดหน้าใสอะไรก็ไม่รู้มาแปะไว้แทนในเดือนเมษายน ปี 2560 ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2561 อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ถูกอุ้มหายไป แถมก่อนจะปิดศักราช 2562 ไม่นาน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ยังมีท่าทีจะย้ายอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ พระยาพหลพลพยุหเสนาอยู่รอมร่อ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ
อันที่จริงผลผลิตและสัญลักษณ์ของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 มีมากกว่านั้นและยากที่จะลบเลือน เพราะอยู่ร่วมกับการดำเนินชีวิตกับเราแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น เวลาออกนอกบ้านก็สวมรองเท้า ผู้ชายสวมเสื้อ ไม่นุ่งแต่ผ้าขาวม้าหรือกางเกงในกางเกงนอนตัวเดียว ผู้หญิงก็ไม่กระโจมอกหรือใส่ชุดชั้นในตัวเดียวเดินโทงๆ นอกบ้าน มารยาทการเข้าคิวต่อแถว คำทักทายว่า ‘สวัสดี’ โภชนาการกินอาหารครบ 5 หมู่ การจดทะเบียนสมรส ผัวเดียวเมียเดียว วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม เพลงชาติ กรมศิลปากร ธนาคารแห่งชาติ เวทีนางสาวไทย วันแม่แห่งชาติ ไปจนถึงตลาดนัดกรุงเทพสุดสัปดาห์ ที่ปัจจุบันคือตลาดนัดสวนจตุจักรนั่นแหละ
แม้คณะนักปฏิวัตินาม ‘คณะราษฎร’ จะเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่ผู้หญิงก็มีบทบาทเช่นกันในการปฏิวัติ เพียงแต่ประวัติศาสตร์ไม่ค่อยพูดถึง เหมือนที่เฟมินิสต์ชอบหยอกว่า History คือ His-story ไม่ใช่ Her-story
อันที่จริงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกผู้หญิงเปิดหน้าสู้ โดยไม่ต้องปลอมตัวเป็นชายลงสนามรบ พวกเธอใช้ความรู้ความสามารถจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ในโรงเรียนฝึกหัดแม่บ้านแม่เรือน ที่ตั้งโดยคณะมิชชันนารีอเมริกัน คณะกรรมการเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ตั้งแต่ปี 2408
และเมื่อหนังสือพิมพ์ที่เป็นสิ่งใหม่มากได้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ทำให้ราษฎรตื่นตัว ใช้พื้นที่ใหม่นี้ในการแลกเปลี่ยนความรู้และวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแบบฟาดๆ ซึ่งเฟียสกว่า # ใน Twitter ปัจจุบันหลายเท่า และเมื่อราษฎรหญิงอ่านออกเขียนได้ พวกเธอไม่เพียงเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ยังออกนิตยสารผู้หญิงขึ้นเองที่วิจารณ์การเมืองได้เผ็ด ไม่แพ้ผู้ชาย เสียดสีทั้งรัฐบาลและสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย พร้อมกับให้ความรู้ทางกฎหมาย และเหตุบ้านการเมืองในและต่างประเทศ เช่น นิตยสารรายสัปดาห์ ‘สตรีไทย’ และนิตยสารราย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ‘สตรีศัพท์’
พวกเธอกลายเป็นอีกตัวเร่งปฏิกิริยาให้ ‘คณะราษฎร’ เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และสาวๆ บางคนก็ไปเป็นแฟน หรือแต่งงานกับหนุ่มๆ ในคณะราษฎรเลยก็มี ซึ่งในฐานะศรีภรรยา พวกเธอบางคนก็เป็นเพื่อนคู่คิดให้คำปรึกษาหารือ คอยตักเตือนให้กำลังใจในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และช่วยเหลือเท่าที่ผู้หญิงจะสามารถทำได้ในยามที่สามีตกที่นั่งลำบาก
ในช่วงจะปฏิวัติ บางนางก็เป็น Spy สืบราชการลับเพื่อให้ง่ายในการวางแผน และเมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว บางนางก็คอยรายงานความเคลื่อนไหวมาแจ้งคณะราษฎรว่า กลุ่มการเมืองเก่าพยายามช่วงชิงอำนาจคืน และเมื่อกลุ่มอำนาจเก่าลุกฮือแต่งทัพมุ่งสู่กรุงเทพฯ จะยึดอำนาจรัฐบาล บรรดาพลเมืองตามเส้นทางก็พร้อมเป็นจิตอาสาจับอาวุธสกัดกั้น ประชาชนจังหวัดต่างๆ ก็บริจาคเงิน อาหาร ผลไม้ ขนมหวาน ยา ยาหอม บุหรี่ ไปจนถึงกระดาษเพื่อห่อข้าวลำเลียงอาหารไปยังแนวหน้าของสมรภูมิ
ประชาชนหญิงที่บ้านอยู่ตามเส้นทางก่อนจะถึงกรุงเทพฯ ต่างเข้าไปเป็นอาสาสมัครในกองเสบียงเลี้ยงทหารที่รัฐบาลส่งมาปราบกลุ่มกบฏ แม่บ้านบางคนถึงขั้นบริจาคแหวนแต่งงานให้รัฐบาลขายเพื่อสมทบทุนในการปราบกบฏก็มีระบอบการปกครองใหม่ไม่เพียงจะทำให้ผู้หญิงมีสิทธิพลเมือง สามารถเลือกตั้งได้เหมือนกับพวกผู้ชายพร้อมกัน ไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหว เดินขบวน ยื่นหนังสือต่อรัฐสภา ไม่เหมือนประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ที่สิทธิพลเมืองชายหญิงมาไม่พร้อมกัน รัฐบาลคณะราษฎรยังสร้างกิจกรรมนอกบ้านให้ผู้หญิงออกมามีส่วนร่วมในการสร้างชาติอีกด้วย เพราะหญิงชนชั้นกลางอ่านออกเขียนได้ยุคนั้น พ่อแม่มักหวงไม่ให้ออกจากบ้าน อยากให้เป็นแต่แม่ศรีเรือนอย่างเดียว
เวทีประกวดนางสาวสยาม – นางสาวไทยก็เป็นอีกพื้นที่นอกบ้านกระตุ้นให้ผู้หญิงกล้าปรากฏตัวกลางค่ำกลางคืน มีการตั้งโรงเรียนรัฐฝึกหัดวิชาแม่บ้านแม่เรือน รวมทั้งสำนักและสโมสรสำหรับผู้หญิงถึงผู้หญิง ให้ผู้หญิงที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกนโยบายที่เกี่ยวกับการยกระดับสถานภาพสตรีและคุณภาพชีวิต สร้างตำรา ความรู้ กระจายข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมณ์การปฏิวัติ ตั้งแต่การพิจารณาเลือกคู่ครอง การใช้ชีวิตคู่ การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ คลอดลูก วิธีเลี้ยงเด็ก การดูแลบ้านเรือน โภชนาการ สุขอนามัย ไปจนถึงการเลือกเครื่องประดับเครื่องแต่งกาย
เสื้อผ้าหน้าผม และยังเป็นศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนหญิง เพื่อช่วยเหลือเยียวยาแก้ไขปัญหาให้เท่ากับว่าหลังปฏิวัติมา ผู้หญิงหลายคนหันมามีบทบาทสำคัญเป็นนักวิชาการและนักสังคมสงเคราะห์ ผลิตความรู้และสร้างสาธารณประโยชน์มากขึ้น ซึ่งงานช่วยเหลือสังคม ถูกมองว่าเป็นงานที่เข้ากันได้ดีกับ ‘ความเป็นหญิง’ ว่าผู้หญิงมีความเห็นอกเห็นใจเอื้ออาทรมากกว่า และผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วมักเป็นแม่บ้านแม่เรือน ขณะที่ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงน่าจะมีเวลาว่างมากกว่าผู้ชาย ในสายตาผู้ชายโดยเฉพาะรัฐบาลที่มีแต่ผู้ชาย
งานสังคมสงเคราะห์จึงเป็นพื้นที่สาธารณะอีกแห่งที่ดึงผู้หญิงจากบ้านเรือน โดยเฉพาะคุณหญิงคุณนายที่มีฐานะและหญิงรับใช้ไม่ต้องทำงานบ้านเอง ออกมาทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ สนับสนุนรัฐบาลร่วมกับผู้ชาย และกลายเป็นตัวแทนของรัฐในการเข้าถึงประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ และสร้างความเป็นกันเอง ขณะเดียวกันสังคมสงเคราะห์ก็มีนัยของวิชาชีพและรัฐสวัสดิการมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเจตนารมณ์ปฏิวัติ 2475
นอกจากสมาคมแม่บ้านคุณหญิงคุณนายสังคมสงเคราะห์จะมีบทบาทในการสร้างชาติ บรรดาสาวใช้แรงงานเอง ก็ยังได้รวมตัวกันก่อตั้ง ‘สหพันธ์กรรมกรหญิง’ ในปี 2494 เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เคลื่อนไหวเรียกร้องค่าคุ้มครองสวัสดิการที่พึงได้ จนพวกเธอได้รับความช่วยเหลือ เช่นถ้ามีบุตรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 150 บาท พร้อมอุปกรณ์เลี้ยงลูก เมื่อเจ็บป่วยสามารถนำใบเสร็จมาเบิกเงินได้ หรือถ้าเสียชีวิตก็จะได้รับค่าทำศพ 500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินมากโขในยุคนั้น
นอกจากนี้สหพันธ์ก็ได้สร้างโรงเรียนสำหรับลูกกรรมกรในสลัมให้ได้มีการศึกษา ตั้งโรงเรียนส่งเสริมอาชีพ เช่น ตัดผม ตัดเสื้อ การบ้านการเรือน มารยาทและการปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ การครัว การทอผ้าเย็บปักถักร้อย สหพันธ์ยังช่วยเหลือผู้ขายบริการทางเพศทางด้านการแพทย์และจัดหาอาชีพฝึกฝนตามความถนัด หรือส่งกลับภูมิลำเนาตามความต้องการอีกด้วย
ต่อมาสหพันธ์เคลื่อนไหวให้รัฐบาลออก พ.ร.บ. แรงงานฉบับแรก คือ พ.ร.บ. แรงงาน พ.ศ. 2499 เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานในมิติต่างๆ เช่น กำหนดการจ้างแรงงาน สนับสนุนสหภาพแรงงานและสหพันธ์ คุ้มครองสิทธิในการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำหนดการจ้างแรงงานหญิง และคุ้มครองความปลอดภัย อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดรัฐประหาร 2500 ที่เป็นการล้มล้างคณะราษฎรอย่างถอนรากถอนโคน คณะรัฐประหารก็ได้ยกเลิกมรดกคณะราษฎรหลายๆ อย่าง รวมทั้ง ยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วย ทำให้สหภาพแรงงาน และสหพันธ์กรรมกรหญิงสิ้นสุดลง
จากนั้นรัฐสวัสดิการและวิชาชีพในนามสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ที่เคยเฟื่องฟู และดำเนินการโดยผู้หญิงก็ค่อยๆ ซบเซาลง และถูกทำให้กลายเป็นระบบอุปถัมภ์แทนที่เป็นเรื่องของการบริจาคและการพึ่งพิง ไม่ได้ก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ในระยะยาวบางทีวลีที่ว่า ‘เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี’ เอาไว้ใช้กับยุคคณะราษฎร ช่วงปี 2475-2500 น่าจะเหมาะสมดี