fbpx

การเติบโตของคนจีนสยามสู่รากฐานวัฒนธรรมชนชั้นนำในสังคม

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

เรื่อง: สุธามาส ทวินันท์ ภาพ: พิชญุตม์ คชารักษ์

หากย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะในทางการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจ แต่ละยุคสมัย ล้วนมีคนจีนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวบนหน้าประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งปัจจุบัน ชนชั้นนำของไทยต่างก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่บรรพบุรุษอพยพเข้ามาตั้งแต่ครั้นประเทศยังใช้ชื่อ ‘สยาม’

กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในไทยจึงมีบทบาททางสังคมและวัฒนธรรม เป็นอันมาก โดยเฉพาะการผสานกลมกลืนระหว่างความเป็นจีน กับความเป็นไทยอย่างไม่แยกออกจากกัน

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ และประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล ‘ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีมุมมองว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนจีนผูกโยงกับชนชั้นนำทางสังคม และจะส่งผลให้วัฒนธรรมจีนกลายมาเป็นวัฒนธรรมชนชั้นนำที่ไม่โดนเบียดขับ

ทว่าในศตวรรษที่ 21 ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอันหมุนเร็ว ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นจีนในไทยเริ่มหายไป พร้อมกับการมาของคนจีนใหม่ที่อยู่ในรูปของเงินทุน คำถามสำคัญก็คือว่า จีนเก่าก้าวสู่อำนาจได้อย่างไร แล้วจีนใหม่ ที่เข้ามานั้นส่งผลอย่างไรในเชิงสังคมและวัฒนธรรมไทยที่เปลี่ยนไป

จริงไหมกับคำกล่าวที่ว่าคนจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมีความกลืนกลายทางเชื้อชาติโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน แต่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย

เรื่องนี้มันก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วยเยอะมากเหมือนกัน เพราะเขาก็อาจมองว่าเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เรียนภาษาจีนหรือทำธุรกิจกับจีนเต็มไปหมดเลย แล้วจะบอกว่าเราไม่เป็นจีนได้ยังไง แต่ว่ากรณีที่เราพูดถึงก็คือว่า การเรียนภาษาจีนที่เกิดขึ้นหรือการไปเมืองจีนนั้น มันเกิดขึ้นหลังจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นภาษาจีนแมนดารินที่ทุกคนเรียน เป็นภาษาราชการของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ใช่ภาษาของบรรพชนเรา ภาษาของบรรพชนเราคือ ภาษาแต้จิ๋ว ภาษาฮกเกี้ยน ภาษาไหหลำ ที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นมาก ความเป็นจีนในศตวรรษที่ 21 กับความเป็นจีนตอนที่บรรพชนเราย้ายมามันจึงคนละอย่างกันเลย

แต่เหตุผลที่ในสังคมไทยมีคำว่ากลืนกลายมากกว่าคนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ นั้น อาจจะเป็นเพราะว่า คนรุ่นวาสนาหรือรุ่นคุณไม่ได้พูดภาษาจีนของบรรพชนอยู่ที่บ้านกันแล้ว ในขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยังมีการใช้ภาษาพวกนี้อยู่ ถึงแม้ว่าเขาจะมีการเรียนภาษาจีนแมนดารินกันเยอะมากเหมือนกัน แต่ว่าเราก็มีเพื่อนหลายคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเราที่พูดภาษาแต้จิ๋วอยู่ที่บ้าน หรืออย่างน้อยก็ฟังพ่อแม่พูดรู้เรื่อง แต่ที่ไทยเรารู้สึกว่าจะมีลักษณะนี้น้อยกว่ามาก เพราะว่าวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยเป็นวัฒนธรรมเจ้าสัว

ทีนี้เจ้าสัวก็มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำทางการเมือง มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกเจ้าสัวต่างๆ นานาที่แต่งงานเข้าไปอยู่กับชนชั้นปกครอง แม้กระทั่งในช่วงหลังๆ เจ้าสัวก็มีอิทธิพลต่อนักการเมือง หรือมีความสัมพันธ์กับกองทัพ ถ้าเราไปดูในสมัยสงครามเย็น เราก็จะเห็นว่าจอมพลถนอม กิตติขจร หรือจอมพลประภาส จารุเสถียร ไปนั่งอยู่บอร์ดบริหารรัฐวิสาหกิจเยอะมาก และก็มีความสัมพันธ์กับคนเชื้อสายจีนที่เป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจอยู่

ดังนั้น พอวัฒนธรรมของคนจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชนชั้นนำ มันก็เลยไม่ใช่วัฒนธรรมที่ถูกเบียดขับ เพราะว่าคนที่จะถูก Discriminate คือคนชายขอบ คนจน คนกลุ่มน้อยที่ไม่มีเงิน แต่ว่าคนจีนในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้าคนจีนในประเทศไทยที่จะถูกเบียดขับก็คือ คนจีนที่ไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ หรือคนจีนที่ต่อต้านรัฐ อย่างเช่นในสมัยยุคสงครามเย็นก็อาจเคยได้ยินคำว่า ‘โจรจีนคอมมิวนิสต์’ หรือได้ยินว่าในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีคนเชื้อสายจีนอยู่เยอะ หรือได้ยินว่าคนชนชั้นกรรมาชีพ ที่เป็นเชื้อสายจีนมีแนวโน้มที่จะไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนเหล่านี้ก็จะถูกรัฐปราบ

คนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นชนชั้นนักธุรกิจเหมือนกัน แต่ความต่างอะไรที่ทำให้คนจีนในไทย ไม่เกิดความขัดแย้งกับคนไทย อย่างเช่นกรณีประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นเพราะว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร คือสมัยจักรวรรดินิยม พวกจักรวรรดิทั้งหมดอย่างอังกฤษ ดัตช์ ทั้งฝรั่งเศส ที่มามีอาณานิคมในตะวันออกเฉียงใต้ เขาเข้ามายึดเมืองขึ้นในเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ก็เพราะว่าเขาอยากค้าขายกับจีน ดังนั้นเมื่อเขามายึดเมืองขึ้นได้แล้ว เจ้าอาณานิคมเหล่านี้จึงใช้คนจีนเป็นเอเย่นต์ทำการค้าอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นในโลกอาณานิคมทั้งหมด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าจีนหรือคนจีนโพ้นทะเล จึงเหมือนเป็นชนชั้นพิเศษที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าค้าขายให้เจ้าอาณานิคม

รัฐบาลสยามสมัยนั้นหรือประมาณรัชกาลที่ 4-6 ก็ทำแบบเดียวกัน คือใช้คนจีนโพ้นทะเลที่เป็นคนจีนอยู่ในสยามอยู่แล้วกับคนจีนที่อยู่ภายใต้เจ้าอาณานิคม แต่เข้ามาทำธุรกิจเป็นเอเย่นต์ในการค้าของสยาม ไม่ว่าจะค้าขายกับจีนหรือแข่งขันกับเจ้าอาณานิคมต่างๆ แต่สยามมีลักษณะที่น่าสนใจก็คือ เนื่องจากเราไม่ได้เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ว่ามีการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคม ดังนั้นคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนจีนในประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคมอยากจะย้ายมาอยู่สยาม เพราะว่าถ้าคุณเป็นคนจีนอยู่ที่มาลายาซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษก็ควบคุมคุณได้ แต่ถ้าย้ายมาอยู่สยาม รัฐบาลอังกฤษก็ควบคุมไม่ได้ถนัดนัก เพราะว่ารัฐบาลสยาม
เป็นเอกราชอยู่

ในขณะเดียวกันถ้าเข้ามาอยู่ในสยามแล้ว รัฐบาลสยามก็ควบคุมคุณไม่ได้ถนัดเท่าไร เพราะว่าคุณมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ดังนั้นมันก็เลยมีอิสระสองต่อ

คนจีนที่เป็นพลเมืองภายใต้เจ้าอาณานิคมจำนวนมาก จึงอยากจะย้ายมาอยู่สยาม และก็กลายเป็นว่ากลุ่มนี้แหละ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสยามแข่งขันกับเจ้าอาณานิคมต่างๆ ได้ ซึ่งอันนี้สำคัญมาก เพราะเวลาที่เราบอกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 เราต้องค้าขายแข่งกับพม่าหรือมาลายา เราหมายถึงแข่งกับอังกฤษนะ เราค้าขายกับเวียดนาม หมายถึงเราค้าขายกับฝรั่งเศส เราค้าขายกับอินเดียตะวันออก หมายถึงเราค้าขายแข่งกับจักรวรรดิดัตช์ ซึ่งมันใหญ่มาก ดังนั้นการที่เราจะแข่งขันกับเขาได้ เราต้องใช้เครือข่ายนายทุนจีนโพ้นทะเลเหล่านี้

ประเด็นก็คือว่าประเทศเพื่อนบ้านเราต่างๆ พอหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว เขาได้เอกราชขึ้นมา คนพื้นเมืองจึงได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลปกครองตัวเอง ทีนี้คนพื้นเมืองเขาก็มีความรู้สึกว่าสมัยเจ้าอาณานิคม เราเป็นประชาชนชั้นสองในบ้านตัวเอง แล้วคนจีนกลายเป็นได้อภิสิทธิ์ต่างๆ นานา เป็นเหมือนกับลูกรักของเจ้าอาณานิคม มันก็เลยเกิดการเอาคืน ว่าเราต้องให้สิทธิคนพื้นเมืองก่อน เราจะไม่ให้คนจีนมีอภิสิทธิ์อีกต่อไป ก็เลยมีนโยบายอะไรต่างๆ ออกมา อย่างที่มาเลเซีย ก็มีนโยบายเอื้อประโยชน์ให้คนเชื้อสายมลายูมากกว่าคนจีน หรือในอินโดนีเซียเมื่อปี 1965 ก็มีการปราบปรามคนจีนอย่างรุนแรง และในฟิลิปปินส์ก็มีการปราบปรามคนจีนเช่นเดียวกัน

แต่ประเทศไทยเราไม่มีโมเมนต์ของการได้เอกราชไง ดังนั้น ชนชั้นนำที่มีอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ก็เป็นชนชั้นนำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็มีการแต่งงาน มีเครือข่ายอะไรต่างๆ กับคนจีน วัฒนธรรมของคนจีนที่เป็นวัฒนธรรมเจ้าสัวมันก็เลยเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นนำไปแล้ว ดังนั้นก็เลยไม่มีโมเมนต์ที่คนไทยรู้สึกว่าเราเป็นประชากรชั้นสอง แล้วคนจีนได้โอกาสโน่นนี่นั่น

ทำไมในอดีตแนวคิดจากต่างประเทศถึงเข้ามาสู่สยามผ่านชุมชนจีน เช่น กบฏ ร.ศ. 130 ที่ได้รับอิทธิพลหลายอย่างจากการปฏิวัติจีน

ต้องเล่าย้อนกลับไปว่าช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-6 คน ที่มีตังค์มักจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก นั่นก็หมายความว่าความรู้สมัยใหม่ก็จะเข้ามาสู่สังคมไทยผ่านการที่ลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เจ้าสัวต่างๆ ไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาเมืองไทย แต่ถ้าครอบครัวไหนที่ไม่มีตังค์เยอะขนาดนั้นก็จะส่งลูกเข้าโรงเรียนคริสต์แทน หรือถ้ามีตังค์น้อยกว่านั้นอีกก็จะส่งลูกไปโรงเรียนจีน เพราะในสมัยนั้นโรงเรียนรัฐบาลมีไม่มาก หรือไม่ก็เป็นโรงเรียนวัดไปเลย

แต่โรงเรียนจีนได้เปรียบตรงที่ในประเทศจีนมีวัฒนธรรมของการแปลความรู้จากต่างประเทศเป็นภาษาจีนเยอะมาก และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ พวกงานคลาสสิกของนักปราชญ์ต่างๆ แปลเป็นจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ดังนั้นถ้าคุณเรียนโรงเรียนจีน คุณก็สามารถเข้าถึง จอห์น ล็อค อดัม สมิธ คาร์ล มาร์กซ์ อะไรต่างๆ นานาที่แปลเป็นภาษาจีนได้

ในขณะที่คุณเรียนโรงเรียนไทย มันไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้อ่านเป็นภาษาไทย หรือไม่งั้นคุณก็ต้องไปเข้าโรงเรียนคริสต์ ซึ่งโรงเรียนคริสต์ก็อาจจะมีประเด็นทางศาสนาที่ไม่เห็นด้วยกับสังคมนิยม ดังนั้นก็จะเลือกความรู้บางอย่างที่อยากให้คุณรู้ และทางด้านชนชั้นนำทั้งหลายที่ไปเรียนต่างประเทศกลับมา เขาก็คงจะไม่มาเผยแพร่ความรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะปฏิวัติสังคมนิยมได้ เพราะมันขัดแย้งกับสถานภาพของเขา

ดังนั้นความรู้ด้านปรัชญาการเมือง ด้านสังคมนิยม ด้านอนาธิปไตยต่างๆ ช่องทางที่มันจะเข้ามาถึงชนชั้นล่างที่ไม่มีตังค์ได้มากที่สุดก็คือผ่านระบบการศึกษาของจีน ก็เลยทำให้เกิดประเด็นดังกล่าว

คนจีนโพ้นทะเลเมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยาม นานวันเข้ามีการประยุกต์หรือผสมผสานทางวัฒนธรรมให้เข้ากับคนไทยเดิมอย่างไรบ้าง เพราะทราบมาว่าการแต่งงานเข้าบ้านผู้ชายเป็นวัฒนธรรมของคนจีน แต่จริงๆ แล้วการแต่งงานแบบไทย สมัยก่อนจะนิยมแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิงมากกว่า เรื่องนี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

จริงๆ มันมีรากฐานว่าสยามตั้งแต่โบราณกาลมา เราใช้ระบบไพร่ คือถ้าคุณเป็นผู้ชายอายุ 15-70 ปี หรือตามที่เขากำหนด คุณต้องถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานให้กับรัฐบาล หรือถ้ามีสงคราม คุณก็ต้องไปรบ บางครั้งหนักถึงขั้นเข้าเดือนเว้นเดือนเลยก็มี แล้วการไปเกณฑ์แรงงานไพร่ไม่ใช่ว่าคุณไปรับราชการนะ เพราะหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน แต่เป็นการใช้แรงเสียภาษีในรูปแบบหนึ่งในฐานะเป็นพลเมืองของอาณาจักรนี้ ซึ่งหมายความว่าคนสยามห้ามย้ายที่อยู่ อยู่ที่ไหนก็ต้องติดที่ดิน เพราะรัฐจะได้สามารถเรียกคุณมาใช้แรงงานได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้มันก็มีผลในสารบบของสังคมที่อยู่ภายใต้ระบบไพร่ เพราะคนที่ไม่ต้องเกณฑ์แรงงานก็คือพวกมูลนาย ขุนนาง หรือเจ้า ที่มีหน้าที่ออกรบเป็นแม่ทัพหรือบริหารประเทศก็ว่าไป ฉะนั้นคนที่เหลือทั้งหมดก็เป็นไพร่หมด ซึ่งหมายความว่าอะไร หมายความว่าสังคมนี้ไม่มีชนชั้นกลาง ไม่มีใครที่จะส่งของ ขายของ เป็นพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นหมู่ชนที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นพ่อค้า ก็เป็นคนต่างชาติโดยอัตโนมัติ

ทีนี้คนต่างชาติที่มาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ยังไม่มีประเทศสยามก็คือคนจีน ซึ่งก็เลยเป็นเหตุให้สยามสมัยอยุธยา สมัยสุโขทัยมีชาวต่างชาติจำพวกอื่นๆ มาค้าขาย แต่ชาวต่างชาติทั้งหมดถูกอนุญาตให้มาค้าขายเฉพาะที่เมืองท่าเท่านั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในพระราช-อาณาจักร เพราะถือว่าเป็นคนต่างชาติ แต่ว่าคนจีนพิเศษกว่าคนอื่นๆ เพราะเรารู้จักกันแล้ว คนจีนจึงเข้าไปค้าขายได้ในพระราชอาณาจักร หรือทำอะไรก็ได้ในประเทศ ในขณะเดียวกันคนจีนก็ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไพร่ด้วย เพราะว่าเป็นชาวต่างชาติ ดังนั้นพอมีศักดิ์มีสถานะพิเศษอย่างนี้ คนจีนจึงมีการผสมกลมกลืนไปกับชนชั้นนำของสยาม เพราะพอรวยขึ้นก็แต่งงานเข้าไปในกลุ่มชนชั้นนำ ตรงนี้เองที่เกิดวัฒนธรรมแต่งเข้าบ้านผู้ชาย โดยมองว่าเป็นสิ่งที่คนชนชั้นสูง คนมีตังค์เขาทำกัน ในขณะที่การแต่งเข้าบ้านผู้หญิงเป็นการแต่งงานของชนชั้นกรรมาชีพ

พอสังคมมันเป็นเมืองมากขึ้น และมีการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 จนทำให้มีการประกอบอาชีพต่างๆ มากขึ้น วัฒนธรรมของคนเมืองในการแต่งงานก็เริ่มแพร่หลายออก ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของสยามที่มากับระบบไพร่กลายเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นล่างไป ยุคนี้เราก็เลยรู้สึกว่าใครๆ ก็แต่งเข้าบ้านผู้ชายกันทั้งนั้น

โครงสร้างในครอบครัวของคนจีนแต่เดิมเปลี่ยนไปไหมเมื่อมีการแต่งงานกับคนไทย และปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ไม่ยกมรดกให้ลูกสาว หรือให้ความสำคัญ กับลูกชายมากกว่า

ก็แล้วแต่ว่าครอบครัวนั้นๆ เข้มข้นในความเป็นจีนมากขนาดไหน ที่ไม่มีแบ่งมรดกให้ลูกสาวเลยก็ยังมีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ามีลูกน้อยลงแล้วถ้ามีลูกคนเดียวแล้วเป็นลูกสาวมันก็จะยึดตามขนบธรรมเนียมเดิมก็ไม่ได้เท่าไหร่ และอีกอย่างที่อาจจะทำให้ความเข้มข้นของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เจือจางลงบ้าง เพราะว่าช่วงศตวรรษที่ 19-20 ที่มีการแต่งงานกันของคนจีนกับคนไทย ทำให้แม่ที่เป็นคนไทยบางทีก็จะเอาวัฒนธรรมของตัวเองเข้ามา และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือโดยมากผู้หญิงจะมีอายุขัยยืนยาวมากกว่าผู้ชาย

ถ้าเป็นเจ้าสัวเชื้อสายจีนที่แต่งงานกับผู้หญิงไทย ความเป็นไปได้ก็คือเจ้าสัวจะตายก่อนเมียเจ้าสัว ทีนี้ถ้าเจ้าสัวไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ว่าจะแบ่งมรดกให้ใครบ้าง ตามกฎหมายทรัพย์สมบัติ สมบัติครึ่งหนึ่งก็จะไปที่คู่สมรส แล้วอีกครึ่งถึงแบ่งกันระหว่างลูกกี่คนก็ว่าไป ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมียเจ้าสัวที่เป็นคนไทยอาจจะดำเนินการตามแบบไทย ซึ่งก็มีงานวิจัยหรือสารคดีที่ทำออกมาแล้วเหมือนกันว่าครอบครัวจีนบางคน ครอบครัวที่ค่อนข้างมีตังค์ จริงๆ มีการยกมรดกให้ลูกสาวหมดเลย เพราะเป็นการให้จากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก

เหมือนกับว่าสินทรัพย์ต่างๆ ของครอบครัวนี้จะเปลี่ยนนามสกุลกันไปทุกรุ่น เพราะว่าให้กับลูกสาวแล้วลูกสาวแต่งงาน แล้วลูกสาวก็ให้กับลูกสาวตัวเองต่อไปอีก ก็มีการผสมผสานกันในลักษณะนี้

ความชายเป็นใหญ่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างไร เพราะเคยเห็นคุณให้สัมภาษณ์ว่าสถานภาพของผู้หญิงในจีนแผ่นดินใหญ่ดีกว่าของผู้หญิงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกทั้งหมด

ตรงนี้เป็นคุณูปการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมองว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นี้เป็นสิ่งที่มากับลัทธิขงจื๊อ หรือเป็นสิ่งที่มากับสังคมศักดินา ดังนั้นเขาจึงมองว่าการที่ผู้ชายมีเมียหลายคนเป็นศักดินามาก เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนในสังคม และก็ตามทฤษฎีนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของคนจน ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นว่าควรจะต่อต้านการกดขี่ข่มเหงผู้หญิงด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะยังมีความชายเป็นใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาโดยตลอด แต่ในพื้นฐานของกฎหมายก็ยกระดับของผู้หญิงขึ้นมามาก ซึ่งที่น่าสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของกฎหมายการหย่า หรือกฎหมายผัวเดียวเมียเดียวนั้น เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำตั้งแต่ยุคแรกๆ เลย

ในขณะที่ไต้หวันเพิ่งจะมีกฎหมายผัวเดียวเมียเดียวในทศวรรษ 1980 คือล่าช้ามากๆ หรือในญี่ปุ่นหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อเมริกาเข้ามาบริหารก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีความพยายามที่จะลดทอนความชายเป็นใหญ่ในกฎหมายครอบครัวไปพอสมควร แต่ว่าก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางวัฒนธรรมมากเท่ากับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำ ดังนั้น ในกรณีของญี่ปุ่น เราก็อาจจะได้ยินว่า Career Women ในญี่ปุ่นมันน้อย หรือถ้ามีแนวโน้มก็คือไปเป็น Office Lady ชงกาแฟ ทำงานบริการต่างๆ โดยไม่ได้ขึ้นไปถึงตำแหน่งผู้บริหาร เพราะว่าเมื่อถึงวัยหนึ่งก็ต้องแต่งงาน พอแต่งงานก็ถูกคาดหวังว่าต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ดูแลสามี การทำงานไปพร้อมกันจึงลำบาก ผู้หญิงในเกาหลีใต้ก็เป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน

อีกอย่างที่สำคัญก็คือว่าการหย่าร้างที่ยังคงเป็นตราบาปของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกส่วนมากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้การหย่าร้างเป็นเรื่องปกติมาก และการแต่งงานใหม่ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่ตัวเองสงสัย ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่า แต่คิดว่าส่วนหนึ่งทุนนิยมของเอเชียตะวันออกมันผูกกับระบบครอบครัวมาก เหมือนคนจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีธุรกิจครอบครัว มีระบบกงสี แล้วพอทุนนิยมมันผูกกับครอบครัวมาก ก็เลยมีแนวโน้มที่จะรับเอาวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่จากระบบครอบครัวจากระบบกงสีมาด้วย เราคิดว่านี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่พอตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาใหม่ๆ ในความต่อต้านชนชั้น ในความต่อต้านทุนนิยมทั้งหมด ก็คือจะไม่เอาระบบกงสีเลย และเมื่อไม่เอาระบบกงสี มันก็ลดทอนความชายเป็นใหญ่ของสังคมไปได้เยอะ

อีกอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนมากก็คือนโยบายลูกคนเดียวที่มีมาหลายสิบปีในจีนนั้นหมายความว่าถ้าคุณมีลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวหรือลูกชาย ก็ต้องให้มรดกคนนี้แหละ และการมีลูกคนเดียวก็ไม่สามารถทำกิจการค้าบริหารสินทรัพย์แบบกงสีได้สะดวกนัก เพราะไม่ได้มีเครือข่ายญาติที่จะยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อน นี่เองที่อาจจะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สถานภาพของผู้หญิงในประเทศที่อย่างน้อยเคยเป็นคอมมิวนิสต์อย่างจีนมันสูงกว่าผู้หญิงภายในเอเชียตะวันออกอื่นๆ

เมื่อคนจีนโพ้นทะเลเลือกมาอยู่เมืองไทยเพราะส่วนหนึ่งเราไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด แต่ในปัจจุบันคนจีนยุคใหม่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ไทยนั้นมีจุดประสงค์อะไร

คงมีต่างๆ กันออกไป แต่ก็เคยมีคนทำงานวิจัยเรื่องนี้เป็นชิ้นเป็นอันพอสมควร เท่าที่ฟังอย่างแรกที่ต่างกันมากคือ คนจีนที่มาอยู่ห้วยขวาง รัชดาฯ ในศตวรรษที่ 21 เขาถือพาสปอร์ตสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามา และไม่มีความต้องการที่จะได้สัญชาติไทย เพราะว่าพาสปอร์ตสาธารณรัฐประชาชนจีนเดี๋ยวนี้มันมีพลังมาก การเป็นคนจีนมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องอับอายแล้ว ซึ่งต่างจากคนจีนที่มาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้น ที่เข้ามาอยู่ไทยเพราะต้องการจะได้สถานะเป็นพลเมือง ดังนั้นข้อนี้จึงต่างกัน

แต่มาด้วยเหตุอะไรบ้างนั้น ส่วนใหญ่มาด้วยเหตุทางธุรกิจ ซึ่งก็เป็นสาเหตุเดียวกับที่มีคนจีนจำนวนมากไปแอฟริกา คือเขาบอกว่าอยู่ในเมืองจีนการแข่งขันมันสูงมาก ดังนั้นเขาแข่งกันทำธุรกิจกับคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันไม่โหดเท่าที่เมืองจีน มันยังมีโอกาสที่จะพัฒนาหรือร่ำรวยขึ้นมาได้ และในตอนหลังเราอาจได้ยินว่ามีทุนจีนเข้ามา Take Over มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย หรือมีการดำเนินคอร์สวิชาปริญญาตรีและปริญญาโทที่การเรียนการสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมดเพื่อมุ่งจะรับนักเรียนจีนที่มาเรียนที่ไทย เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้เข้าง่ายกว่าที่เมืองจีน เพราะการแข่งขันเขาสูง

แต่ก็มีคนที่รู้สึกว่าอยู่สบายกว่า อากาศดีกว่า อาหาร อร่อยกว่า สามารถมาอยู่ใกล้ธรรมชาติได้มากกว่า อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชียงใหม่เป็นที่ต้องตาต้องใจมากของคนจีน และก็เคยมีคนทำวิทยานิพนธ์หนังเรื่อง Lost in Thailand แล้วพบว่าหนังเรื่องนี้ทำให้คนจีนพากันแห่มาเที่ยวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เต็มไปหมด จนทำให้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเยอะมากหลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉาย

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือทำให้คนจีนมีความรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นฐานรากทางจิตวิทยาที่เขาสามารถมาค้นหาการตอบสนองทางจิตวิญญาณจากแถวนี้ได้ เพราะว่าในยุคเหมา เจ๋อตุง ที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยการเผาวัด เผาโบสถ์เพื่อต่อต้านวัฒนธรรมเก่า วัฒนธรรมศักดินานั้นทำให้คนจีนเจเนอเรชันหนึ่งไหว้เจ้าไม่เป็นเลย ไม่รู้ว่าพิธีเช็งเม้ง หรือทำบ๊ะจ่างทำอย่างไร พวกเขาก็เลยต้องมาเรียนรู้ใหม่จากคนจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ศาลเจ้าบูชาบรรพชนต้องทำอย่างไร มีพิธีกรรมอย่างไร ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยก็มีคนจีนอยู่เยอะมากที่สามารถให้ข้อมูลตรงนี้ได้

ทั้งนี้ไทยเองก็มีความรู้ด้านจิตวิญญาณอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองพุทธสามารถใส่บาตร เข้าวัดได้ ทั้งยังมีเทวรูปที่ไปบูชาขอนั่นขอนี่ ตรงนี้จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจีนชอบมาไทย แล้วเราก็จะเห็นว่าเส้นถนนราชดำริ ตรงเซ็นทรัลเวิลด์ จะมีแผนที่เลยว่าไหว้เจ้าที่ไหนได้บ้าง นั่นคือทำมาเพื่อนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ

ทำไมเมื่อก่อนการเป็นคนจีนถึงเป็นเรื่องน่าอาย แต่พอในช่วงศตวรรษที่ 21 หลายคนอยากจะเป็นคนจีนกันขึ้นมา

สมัยก่อนประเทศจีนไม่มีพื้นที่ในนานาอารยประเทศที่ได้รับความชื่นชม เพราะว่ามีสงครามกลางเมือง ราชวงศ์ชิงล่มสลาย เริ่มเป็นสาธารณรัฐฯจีน เสร็จแล้วก็สงครามเย็น คือมีเรื่องราวยุ่งยากวุ่นวายเยอะมาก มันเป็นยุคที่ถ้าคนถือพาสปอร์ตสาธารณรัฐประชาชนจีน คุณไปไหนในโลกนี้ได้ลำบากมาก และมีแนวโน้มว่าจะไม่มีตังค์ แต่ว่าในยุคนี้ จีนเป็นประเทศที่เกือบจะรวยที่สุดในโลก รัฐบาลก็มีอำนาจสูงมาก ดังนั้นถ้าคุณมีอะไรไปเกี่ยวกับจีนได้บ้าง มันก็จะทำให้คุณดูดี

แล้วก็มีนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากที่ใช้เครือข่ายความบรรพชนเป็นคนจีน เพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถไปขยายตลาด ไปขยายทุน หรือทำงานร่วมกับจีนได้ ดังนั้นคิดว่าพอประเทศจีน รัฐชาติจีน และเศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมา มันก็เลยทำให้ความเป็นจีนเป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ทุกวันนี้คนก็เลยอยากที่จะแสดงออกถึงความเป็นจีนมากขึ้น

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจีนใหม่กับคนจีนเก่าบนเมือง ที่มีคนจีนอยู่เยอะอย่างกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะว่ามีนักเรียนจีนที่มาเรียนปริญญาโทและทำวิทยานิพนธ์ไว้โดยการไปเก็บข้อมูลสัมภาษณ์คนจีนใน 5 พื้นที่ที่คนจีนชอบไปในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีสนามบินสุวรรณภูมิ วัดโพธิ์ เยาวราช ห้วยขวาง และพระพรหมเอราวัณ เขาพบว่าในพื้นที่ทั้งหมดเหล่านี้ ความรู้สึกที่ Negative มากที่สุดมาจากเยาวราช คนจีนในเยาวราชมีความรู้สึกว่าเราไม่เหมือนกัน เราเป็นคนจีนคนละอย่างกัน แล้วเราก็จะถูกทุนจีน Take Over ซึ่งก็จะมีความขัดแย้งตรงนี้พอสมควร

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นว่าในพื้นที่อื่นๆ อย่างพระพรหมเอราวัณ หรือวัดโพธิ์ คนที่ให้บริการนักท่องเที่ยวแถวนั้น เขาไม่ได้ขายความเป็นจีน เขาจึงไม่ต้องกังวลเรื่องอัตลักษณ์ ในขณะที่คนที่ทำกิจการท่องเที่ยวต่างๆ อยู่ที่เยาวราช เมื่อเยาวราชขายความเป็นจีนก็จะต้องตระหนักในอัตลักษณ์ความเป็นจีนของตัวเองอยู่ และก็จะต้องบอกว่า ความเป็นจีนของฉันกับความเป็นจีนของคนจีนใหม่ที่เข้ามาไม่เหมือนกัน เพราะถ้าเหมือนกันมันก็ขายไม่ได้ใช่ไหม

ดังนั้น อย่างแรกเลยคือ มีการแข่งขันกันว่าเราไม่เหมือนกันนะ สอง, พอเริ่มมีคนจีนใหม่เข้ามาเยอะขึ้น แถวห้วยขวางเรามีตลาดจีนเกิดขึ้นจนเริ่มแน่นแล้ว จึงเริ่มมีทุนจีนที่มองว่าเยาวราชนี่นักท่องเที่ยวจีนชอบมามากเลย เราอาจจะมาทำธุรกิจท่องเที่ยวแถวนี้ก็ได้ ซึ่งพอเริ่มมีทุนจากแผ่นดินใหญ่เข้ามา ที่ทุนหนากว่า พร้อมกว่า แถมเคลมความเป็นจีนได้ด้วย มันก็เลยจะนำไปสู่การมาแข่งกันทางธุรกิจในเยาวราช เยาวราชตอนนี้จึงมีนายทุนจีนใหม่เข้ามา Take Over กับคนจีนโพ้นทะเลแต่เดิมที่ขายความเป็นจีนโพ้นทะเล

เราคิดว่าอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การมีอยู่และประสบความสำเร็จของคนจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย แต่เดิมมันสำคัญกับการสร้างสัมพันธภาพหรือเป็นพันธมิตร กับชนชั้นนำทางการเมืองมาก ดังนั้นก็จะมีความรู้สึกว่าเจ้าสัวอะไรต่างๆ เป็นชนชั้นนำ เป็นคนที่อยู่ใกล้อำนาจทางการเมือง ถ้าเราไปพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร เราจะเห็นว่า 4 ใน 6 ห้อง จัดแสดงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนเยาวราช คนจีนสำเพ็งกับราชวงศ์ คือเป็น Identity ที่เขาภาคภูมิใจว่าเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้นนำ

ทีนี้คนจีนที่มาใหม่ไม่มีตรงนี้เลย แต่แม้ไม่มีตรงนี้ก็ยังมีเงินเยอะกว่า ก็ยังอยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ซึ่งมันไม่ถูกต้องตามขนบที่ควรจะเป็น ไม่ถูกต้องในที่นี้หมายความว่า เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนมาถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไอเดียก็คือว่าถ้าคุณทำธุรกิจ แล้วคุณมีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำทางการเมือง คุณจะรวย ส่วนคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่มีคอนเนคชันทางการเมืองจะจน ดังนั้นชนชั้นมันจึงเห็นชัดเจน คนจีนที่มีความสัมพันธ์กับชนชั้นทางการเมืองก็อยู่ข้างบน คนจีนที่ไม่มีความสัมพันธ์กับชนชั้นทางการเมืองก็เป็นกุลี เป็นกรรมกรที่อยู่ชั้นล่างไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการมาของคนจีนใหม่ศตวรรษที่ 21 นั้น มาจากเมืองจีนเลย ถือพาสปอร์ตจีนเลย ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับชนชั้นนำทางการเมืองของไทยเลย แต่ว่าฉันรวยกว่า (หัวเราะ) แล้วมันก็เกิดความรู้สึกที่ว่าพวกนี้หยาบคาย สกปรก โน่นนี่นั่น ไม่มีวัฒนธรรม ไม่เหมือนจีนเก่าที่มีวัฒนธรรมมากกว่า ซึ่งคำว่าวัฒนธรรมหรือคำว่ามารยาท มันก็มาจากการที่เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำทางการเมือง มีความชาววังอะไรแบบนั้น ก็เลยรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของเราไม่เหมือนกับคนจีนที่มาใหม่

อันนี้เป็นปัญหาของศตวรรษที่ 21 ที่คนสามารถมีเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดี ซึ่งทำให้คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ดีแต่ว่าไม่ค่อยมีเงินแล้วเนี่ย ไม่ค่อยสบายใจ ดังนั้น มันจึงเป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก เพราะในเมื่อขายของให้นักท่องเที่ยวจีน เพราะอยากได้เงินเขา แต่ก็รู้สึกว่าเขาไม่มีวัฒนธรรม นี่จึงเป็นที่มาสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

คนจีนใหม่มาเมืองไทยเพื่อตามหาอัตลักษณ์ความเป็นจีนที่จีนได้สูญเสียไปจากการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ ณ ปัจจุบันอัตลักษณ์ความเป็นจีนในไทยก็ทยอยหายไปเช่นกัน คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

คิดว่ามันก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ปัญหาก็คือว่าอัตลักษณ์หลายอย่างมันถูกนำมากลายเป็นสินค้า อย่างการแสดงงิ้ว ถ้าจะดำรงอยู่ได้ ก็ต้องทำให้นักท่องเที่ยวดู คนในชุมชนก็ไม่ได้จะเอนเตอร์เทนตัวเองด้วยงิ้วแล้ว เพราะอยู่บ้านดู YouTube ง่ายกว่า ดังนั้นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ที่จะคงอยู่ได้ คือต้องขายนักท่องเที่ยว แล้วพอขายนักท่องเที่ยวมันก็ไม่ได้ขายเป็นเวอร์ชันในชีวิตประจำวัน เพราะว่าความเป็นจริงของชีวิตประจำวันมันไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันก็เลยเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งมีเพื่อไว้โชว์ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์

ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ก็คือเช็งเม้ง แต่เช็งเม้งนี่ก็น้อยลงแล้ว เพราะพอลูกหลานของคนจีนที่เสียชีวิตปลายศตวรรษที่ 20 หรือต้นศตวรรษที่ 21 แนวโน้มก็คือจัดงานแบบเผา ตามวัฒนธรรมพุทธ ไม่ได้จัดแบบเดิมแล้ว ดังนั้นเป็นไปได้ว่าต่อไปอีก 2-3 เจเนอเรชัน เขาก็อาจจะเลิกเช็งเม้งไปเลยก็ได้ หรือว่าเช็งเม้งอาจจะไม่ได้เป็นงานใหญ่มาก มันก็เลยเป็นเหตุให้วัฒนธรรมเหล่านี้หายไป เพราะว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มันก็เหมือนความเป็นไทยหลายอย่างที่เราหายไปเหมือนกัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ