คิดดูให้ดี!!Google เตือนสหรัฐฯ ถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงจากการแบน Huawei

ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิลกำลังผลักดันให้การแบนหัวเว่ยได้รับการยกเว้น เพราะกังวลว่าการแบนหัวเว่ยเช่นนี้จะส่งผลให้สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลได้ในอนาคต ซึ่งนั่นหมายถึงภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น
Reasons to Read
- กูเกิลกังวลว่าการที่หัวเว่ยจะพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองในชื่อ ‘Hongmeng’ นั้น อาจเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเจาะระบบมากขึ้น และนั่นก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย
- ผู้บริการหัวเว่ยเผยว่ากูเกิลกำลังทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไข และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหากกูเกิลและรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถหาทางออกได้

ดูเหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ สำหรับผลกระทบจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพื่อปกป้องระบบอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐฯ จากการคุกคามของเทคโนโลยีต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ชื่อของหัวเว่ย (Huawei) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีนและบริษัทในเครืออีก 67 แห่ง ถูกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำในทันที และตามมาด้วยข่าวใหญ่ที่กูเกิล (Google) ประกาศตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจหัวเว่ย
และที่บอกว่าดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ ก็เพราะว่าไม่กี่วันที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทม์ (Financial Times) รายงานข่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิลสามรายซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม กำลังผลักดันให้การแบนหัวเว่ยได้รับการยกเว้น เพราะกังวลว่าการแบนหัวเว่ยเช่นนี้จะส่งผลให้สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลได้ในอนาคต และการที่หัวเว่ยจะพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองในชื่อ ‘Hongmeng’ นั้น อาจะเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเจาะระบบมากขึ้นและนั่นก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเหลียง หัว (Liang Hua ) ประธานฝ่ายบริการด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ย กล่าวกับผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของหัวเว่ยว่า
“กูเกิลกำลังทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไข ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค หากกูเกิลและรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถหาทางออกได้ ในระยะสั้นจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของเรา แต่ในระยะยาวเราจะต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการและระบบนิเวศของเราเอง”
ทั้งนี้ นายเหลียงระบุเพิ่มเติมว่า หัวเว่ยไม่ได้เจรจาโดยตรงกับรัฐบาลสหรัฐฯ และกำลังรอดูว่าการเจรจาของกูเกิลนั้นมีทิศทางอย่างไร แต่หากหัวเว่ยต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการเองเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

จากสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อกูเกิลหากหัวเว่ยมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการเวอร์ชันของตัวเองจริงๆ เช่น กูเกิลจะไม่สามารถควบคุมหัวเว่ยได้ จึงไม่สามารถจัดการการอัพเกรดเรื่องความปลอดภัยได้ ไม่สามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการและสร้างรายได้จากการโฆษณาได้
