fbpx

มาถึงจุดนี้ได้อย่างไรย้อนไทม์ไลน์ก่อน Google แยกทาง Huawei

ไล่เรียงไทม์ไลน์กันหน่อย ว่าก่อนที่ Google จะประกาศแยกทางกับ Huawei จนสะเทือนวงการไอทีในวันนี้ มีเหตุการณ์และข่าวอะไรเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 เป็นต้นมาบ้าง

Reasons to Read

  • กูเกิลประกาศยุติการสนับสนุนโทรศัพท์ของหัวเว่ย หลัง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ออกคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ติดตั้งอุปกรณ์ที่ผลิตโดยต่างชาติที่อาจทำให้ความมั่นคงของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง
  • เหตุผลที่สหรัฐรวมถึงหลายอีกประเทศไม่อ้าแขนรับหัวเว่ย เนื่องจากกังวลว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจจะติดอุปกรณ์ลับบางอย่างที่ทำให้ข้อมูลลับรั่วไหลได้ ลองมาย้อนดูไทม์ไลน์กันดีกว่าว่าหัวเว่ยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

กลายเป็นข่าวร้อนสะเทือนวงการไอทีเลยทีเดียว เมื่อกูเกิล (Google) ประกาศยุติการสนับสนุนโทรศัพท์ของหัวเว่ย (Huawei) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้หัวเว่ยทั่วโลกกังวลว่าโทรศัพท์หัวเว่ยจะไม่สามารถอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เวอร์ชันต่อไปได้ รวมถึงอาจจะไม่สามารถใช้แอปพลิเคชันของกูเกิลได้ ก่อนที่หัวเว่ยจะออกแถลงการณ์ ยืนยันว่าจะยังอัปเดตซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยและบริการหลังการขายแก่ผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตของหัวเว่ยที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดต่อไป ครอบคลุมถึงโมเดลที่ได้จำหน่ายออกไปแล้วและที่ยังรอการจัดจำหน่ายอยู่ในสต๊อกทั่วโลก

ทั้งนี้ การแยกทางกันของสองยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ติดตั้งอุปกรณ์ที่ผลิตโดยต่างชาติที่อาจทำให้ความมั่นคงของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หัวเว่ยและบริษัทที่เกี่ยวข้องกว่า 70 บริษัทถูกขึ้นบัญชีดำในสหรัฐทันที

ปัจจุบันหัวเว่ยเป็นผู้จัดจำหน่ายด้านโทรคมนาคมอันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอันดับสองของโลก แต่เหตุผลที่สหรัฐรวมถึงหลายอีกประเทศไม่อ้าแขนรับหัวเว่ย เนื่องจากกังวลว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจจะถูกติดอุปกรณ์ลับบางอย่างที่ทำให้ข้อมูลลับรั่วไหลได้ เพราะ ‘เหริน เจิ้งเฟย’ (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย นั้นถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนมากเกินไป และในปี 2017 รัฐบาลจีนก็ได้ออกกฎหมายบังคับให้บริษัทสัญชาติจีนต้องส่งมอบข้อมูลทุกอย่างให้รัฐบาลหากมีการร้องขอ

สำหรับประเทศที่มีการแบนอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และล่าสุดก็คือสหรัฐอเมริกา แม้ว่าที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ปฏิเสธข้อหาการกระทำผิดกฎหมายมาโดยตลอดและยังไม่เคยมีการพบหลักฐานในเรื่องนี้ก็ตาม

ลองมาย้อนดูไทม์ไลน์กันดีกว่าว่าหัวเว่ยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? โดยขอไล่เรียงเหตุการณ์และข่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 เป็นต้นมา ดังนี้

3 มกราคม 2019 :

มีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้คำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อสั่งแบนหัวเว่ยและ ZTE ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

4 มกราคม 2019 :

วุฒิสภาสหรัฐออกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยีจีน

8 มกราคม 2019 :

ในงาน CES 2019 หัวเว่ยประกาศสู้เพื่อที่จะอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วยแล็ปท็อปและแท็บเล็ต

11 มกราคม 2019 :

พนักงานระดับสูงของหัวเว่ยในโปแลนด์ถูกจับกุมในข้อหาจารกรรมข้อมูลของประเทศ ก่อนจะถูกไล่ออกในเวลาต่อมา

23 มกราคม 2019 :

เหมิง หวันโจว (Meng Wanzhou) ลูกสาวของ เหริน เจิ้งเฟย และผู้อำนวยการสายการเงินของหัวเว่ยที่ถูกจับกุมที่หลังใช้บริษัท Skycom Tech บริษัทลูกของหัวเว่ยในฮ่องกง หลอกให้สถาบันการเงินบางแห่งในสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับประเทศอิหร่านซึ่งถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ระหว่างปี 2009-2014 อาจถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกา

29 มกราคม 2019 :

สหรัฐสั่งฟ้องหัวเว่ย 23 ข้อหา ที่เกี่ยวข้องกับการจารกรรมข้อมูล, การฟอกเงิน และฉ้อโกง

6 กุมภาพันธ์ 2019 :

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนให้ประเทศในยุโรปใช้อุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ย

19-21 กุมภาพันธ์ 2019 :

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีทางที่สหรัฐฯ จะบดขยี้เราได้” รวมถึงกล่าวว่าการจับกุมลูกสาวของเขามีสาเหตุมาจากเรื่องการเมือง และสหรัฐฯ ปฏิบัติต่อ 5G เหมือนกับเทคโนโลยีของทหาร

21 กุมภาพันธ์ 2019 :

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมก์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) กล่าวว่า ประเทศที่ใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยนั้นถือว่ามีความเสี่ยงต่อสหรัฐอเมริกา

8 มีนาคม 2019 :

หัวเว่ยฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการห้ามใช้อุปกรณ์

14 มีนาคม 2019 :

หัวเว่ยกำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง ในกรณีที่ไม่สามารถใช้แอนดรอยด์หรือวินโดว์สได้

29 มีนาคม 2019 :

หัวเว่ยตอกกลับสหรัฐฯ เป็นพวก ‘ขี้แพ้ชวนตี’ เพราะเทคโนโลยีสู้ไม่ได้

8 เมษายน 2019 :

มีรายงานข่าวว่าหัวเว่ยเปิดขายชิป 5G ให้กับแอปเปิล

21 เมษายน 2019 :

สำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA หน่วยงานราชการด้านข่าวกรองต่างชาติพลเรือนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รายงานว่าหัวเว่ยได้รับทุนจากความมั่นคงของรัฐจีน

24 เมษายน 2019 :

สหราชอาณาจักรอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน 5G ได้อย่างจำกัด และหลายวันต่อมาจีนได้ผลักดันให้สหราชอาณาจักรปล่อยให้หัวเว่ยเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ 5G

30 เมษายน 2019 :

มีรายงานข่าวระบุว่า Vodafone กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติของอังกฤษ พบประตูหลัง (รูรั่วของระบบรักษาความมั่นคงที่ผู้ออกแบบหรือผู้ดูแลจงใจทิ้งไว้) ซ่อนอยู่บนอุปกรณ์ของหัวเว่ย

3 พฤษภาคม 2019 :

หลายประเทศร่างข้อเสนอความปลอดภัย 5G เนื่องจากสหรัฐฯ เตือนภัยคุกคามของหัวเว่ยอีกครั้ง

8 พฤษภาคม 2019 :

การเปิดตัว 5G ในสหราชอาณาจักรอาจเผชิญความล่าช้า เนื่องจากการสอบสวนหัวเว่ย

15 พฤษภาคม 2019 :

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแบนหัวเว่ยด้วยคำสั่งความมั่นคงแห่งชาติ

16 พฤษภาคม 2019 :

หัวเว่ยระบุ การแบนของสหรัฐฯ จะมีผลเสียต่องานและบริษัทในอเมริกา

19 พฤษภาคม 2019 :

กูเกิลรายงานว่าจะตัดอุปกรณ์ของหัวเว่ยออกจากการอัปเดตของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในอนาคต

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ