fbpx

Glocal Connectivity เศรษฐกิจโฉมใหม่ ในวาระที่ ‘คนไม่เคลื่อน แต่ของขยับ’ กับความคุ้นชินแบบ New Normal

คงไม่เกินความคาดหมายที่ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจแพลตฟอร์ม ติด1ใน10 ธุรกิจดาวรุ่งแห่งปี 2564ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แน่นอนว่าสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยวิถี New Normal ต้องเว้นระยะห่าง สามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ สั่งอาหารมาส่งที่บ้าน โอนเงินผ่านแอพพลิเคชัน พฤติกรรมเหล่านี้คือความปกติใหม่ที่คนไทยส่วนหนึ่งคุ้นชินแล้ว ทั้งนี้ในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าธุรกิจจัดส่งอาหารขยายตัวร้อยละ 78.0-84.0 หรือจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารอยู่ที่ 66-68 ล้านครั้ง หรือมีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้ในสภาวะที่คนไม่ออกนอกบ้าน หรือจำกัดการเดินทางจากสภาวะอันไม่ปรกติ แต่การขับเคลื่อนของ ‘สิ่งของ’ กลับเพิ่มขึ้น และทบเท่าขึ้นเป็นทวีคูณ จึงจัดได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องอยู่กับมันอีกนาน การปรับตัวของภาคการผลิต ภาคผู้จัดจำหน่าย จนถึงภาคของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และแม้ว่าทุกสิ่งจะกลับสู่สถานการณ์อันเป็นปกติก่อน COVID-19 จะย่างกรายเข้ามา แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่า วิถี ‘ใหม่’ เหล่านี้ จะยังคงอยู่ และดำเนินต่อไป 

แพลตฟอร์มรับส่งอาหารขยายบริการทั่วประเทศ

เรื่องกิน เรื่องใหญ่ แม้เกิดวิกฤติภัยใดๆ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ‘อาหาร’ และในสภาวะที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ การสั่ง ‘อาหารออนไลน์’ ผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ ที่เคยได้รับความนิยมอยู่เป็นทุนเดิม ก็เพิ่มกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างมีตัวเลขเป็นนัยสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธุรกิจส่งอาหารมีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท แกร็บเชื่อว่ามูลค่าตลาดจริงมีแนวโน้มสูงกว่านี้ เนื่องจากผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการใช้บริการ และเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในวงกว้างยิ่งขึ้น ด้วยยอดขายสมาร์ทโฟนของไทยที่ค่อนข้างสูง มีการเติบโตที่น่าสนใจ เมื่อนับจากเดือนมกราคม 2563 จนถึงเดือนธันวาคม 2563 จำนวนผู้ใช้บริการต่อเดือนเพิ่มขึ้น 2 เท่า จำนวนพาร์ทเนอร์ร้านอาหารบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 4 เท่า จำนวนการเรียกใช้บริการแกร็บฟู้ดเพิ่มขึ้น 2 เท่า จำนวนจังหวัดที่ให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 3 เท่า รวม 48 เมือง ใน 47 จังหวัด ทั่วประเทศไทย และปัจจุบัน แอปพลิเคชันแกร็บมีจำนวนยอดดาวน์โหลดรวมอยู่ที่กว่า 15 ล้านครั้ง จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทยกล่าวให้ข้อมูล

แพลตฟอร์ม รับส่งอาหารที่มาแรงอย่าง ฟู้ดแพนด้า เบอร์รองในธุรกิจประกาศความสำเร็จในการขยายสาขาครบ 77 จังหวัดแล้วในปี 2020 อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หลังจากนี้ กำลังขยายพื้นที่ให้บริการในแต่ละจังหวัดให้มากขึ้น มุ่งการทำการตลาดแบบ 360 องศา และเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง โดยจะศึกษาว่าผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่นั้น มีพฤติกรรมในการเสพสื่ออย่างไร ต้องใช้สื่อประเภทไหนถึงจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของเราได้ ในต่างจังหวัดอาจจะต้องเน้นสื่อวิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นป้ายขนาดใหญ่ หรือการใช้รถยนต์ขับไปตามหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อแนะนำบริการ และแจกส่วนลดให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้จริง

ทั้ง 2 แบรนด์ เป็นแพลตฟอร์มอยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาดมีจำนวนไรด์เดอร์คนขับหลักแสนใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับค่าจีพี ที่หักในเรทที่ไม่เกิน 30-35 เปอร์เซนต์ ซึ่งค่าจีพีนั้นเจ้าของแพลตฟอร์มระบุว่าเป็นรายได้ที่ต้องนำไปแบ่งกับไรด์เดอร์ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม

จะเห็นได้ว่า จากสองแอปพลิเคชันรายใหญ่ ต่างได้ประโยชน์ลาสร้างการเติบโตเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้ใช้บริการ แต่ทั้งนี้ ในทางภาครัฐเองก็ไม่ได้อยู่เฉย เพราะทางกรมไปรษณีย์ไทย ได้จัดตั้งบริษัท ‘ไปรษณีย์ไทย Distribution’ และพัฒนาแอปพลิเคชันที่ร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าอาหารสด และผู้ค้าอาหาร Street Food เพื่อใช้ความได้เปรียบทางด้าน Logistics ในการจัดส่งสินค้าแบบครบวงจร ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมไปรษณีย์ไทยมีความเชี่ยวชาญ และมี Infrastructure รองรับเอาไว้แล้ว

ก้าวต่อไปแพลตฟอร์มรับส่งอาหารเป็นซุปเปอร์แอพฯ

ก้าวต่อไปของแพลตฟอร์มรับส่งอาหารในอนาคต เริ่มพัฒนาให้เป็นซุปเปอร์แอพมากขึ้น มีการใช้บิ๊กดาต้า เพื่อเสิร์ฟความสะดวกให้ลูกค้าที่มีอยู่ นอกเหนือจากการรับซื้ออาหารจากร้านทั่วไป ต่อยอดให้มีครัวกลาง ที่รวมร้านอาหารยอดนิยมมารวมกัน รับเฉพาะออเดอร์ดิลิเวอร์รี่เท่านั้น เน้นตั้งแต่ย่านที่มีชุมชนหนาแน่น พร้อมกับเปิดมินิมาร์ทของตัวเองเพื่อรองรับความต้องการด้านสินค้าอุปโภคบริโภคของลูกค้า

ในปีที่ผ่านมาฟู้ดแพนด้าได้เปิด “แพนด้ามาร์ท”รับส่งสินค้าอุปโภคบริโภค การันตีการส่งภายใน 20 นาที นำร่องเปิด 7 โลเคชั่นในกรุงเทพฯ อาทิ ลาดพร้าว,งามวงศ์วาน,บางนา และธนบุรี ต่อยอดความสำเร็จจากสิงคโปร์ที่ได้เปิดให้บริการมาเกือบ 1 ปี มีการเติบโต 20-25 เท่า และนำมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าขยาย “แพนด้า มาร์ท” ให้ในครอบคลุม 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้เปิดที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตแล้วในขณะนี้

ในขณะเดียวกัน “แกร็บ” ก็ไม่รอให้ตกเป็นรอง มีบริการ แกร็บมาร์ท โดยชูจุดเด่น พร้อมส่งของสดจากซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำภายใน 25 นาที ด้วยสโลแกน สดพร้อมซิ่ง อยู่นิ่งๆ พร้อมซิ่งไปหา โดยสามารถซื้อสินค้าจาก Tops Market, Central Food Hall, Tops Daily รวมทั้ง FamilyMart ทำให้การปรุงอาหารได้วัตถุดิบที่สดทันใจ ได้รสชาติของอาหารอย่างแท้ทรู ละลายพฤติกรรมคุณแม่บ้านที่ชอบซื้ออาหารตุนจากซุปเปอร์มารเกตทิ้งไว้ในตู้เย็น

นอกจากนั้น แกร็บ ประเทศไทย ประกาศว่าในปี2564 จะเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด GROW ใน 4 ด้านนั่นคือ หนึ่ง ต่อยอดความเป็นผู้นำธุรกิจรับ-ส่งอาหาร (G – GrabFood Leadership) จะรักษาจุดแข็งในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งยังคงจุดเด่นในด้านคอนเซ็ปต์สนุกสนาน และเพิ่มเมนูพิเศษที่มีเฉพาะบนแกร็บฟู้ดเท่านั้น (Signature Menu) กว่า 300 เมนู, สอง แกร็บจะปรับกระบวนการลงทะเบียนให้ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บและกระบวนการจ่ายเงินให้แก่พาร์ทเนอร์ร้านอาหารได้สะดวกรวดเร็ว, สาม ขยายบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค (O – Opportunities for new business) โดยตั้งเป้าขยายสาขาของครัวกลางหรือ GrabKitchenเป็น 8 สาขาในปีนี้ (ปัจจุบันมีสาขาสามย่าน สาขาวิภาวดีรังสิต สาขาทองหล่อ สาขา SS Center สุคนธสวัสดิ์ สาขา Vanilla Moon ถนนจันทน์ และสาขาพาต้า สาขาพหลโยธิน ) รวมไปถึงการขยายบริการ GrabMart ให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภทยิ่งขึ้น  พร้อมเตรียมขยายบริการ อีวอลเล็ต เปิดตัวผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ เช่น บริการสินเชื่อแก่พาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้ใช้งาน รวมไปถึงบริการประกันและการลงทุน โดยให้ห้พาร์ทเนอร์คนขับและพาร์ทเนอร์ร้านค้ากว่า 400,000 รายสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของแกร็บในการเข้าถึงบริการทางการเงิน เช่น บริการผ่อนชำระโทรศัพท์มือถือและบริการสินเชื่อเงินสด และสุดท้ายคือ ส่งเสริมทักษะดิจิทัลเพื่อสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 (W – Digital Workforce development in support of Thailand 4.0) เพื่อให้เกิดการต่อยอดต่อไปแม้จะผ่านวิกฤติ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม

ในแพลตฟอร์มรับส่งอาหารยังมีช่องว่างในตลาด

ทั้งแกร็บฟู้ดและฟู้ดแพนด้า พยายามจะทะยานไปสู่ซุปเปอร์แอพอย่างเต็มที่ แต่ในตลาดฟู้ดดิลิเวอร์รีนั้น ยีงมีช่องว่างสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในด้านกำลังคนและเงินทุน เช่น Gojek แพลตฟอร์มรับส่งอาหารจากอินโดนีเซียที่มีพาร์ทเนอร์คนขับประมาณ 50,000 ราย และไลน์แมนที่มีบริการครอบคลุม 36 จังหวัด ซึ่งการทำตลาดในปี 2564 จากการสำรวจของทีมGojek พบว่าทั้งราคาและโปรโมชั่นเป็นปัจจัยที่ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญลดลง แต่ปัจจัยที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น คือด้านตัวเลือกของอาหาร ความหลากหลาย ความสะดวกสบาย และประสบการณ์การใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายหลัก Gojek ประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นหน้าเก่าอย่าง LINE MAN Wongnai กำหนดทิศทางการทำตลาดแบบเฉพาะตัวไม่แข่งขันในสงครามราคามากนัก แต่จะใช้วิธีเพิ่มตัวเลือกด้านโปรโมชันให้หลากหลายในทุกๆ สัปดาห์ และสร้างความแตกต่างโดยการนำเสนอ Exclusive Menu ร่วมกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารแบรนด์ดัง วางขายเฉพาะบน LINE MANเท่านั้น รวมไปถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ด้วยกิจกรรมลุ้นรางวัลกินฟรีหรือส่วนลดบนแอปพลิเคชัน เช่น แคมเปญเปิดฟินอิ่มฟรี และ Happy Box

แน่นอนว่าในการแข่งขันนั้น แม้จะมีช่องว่าง แต่ Segment ที่ดูเหมือนจะกว้างขวางและเติบโตเหล่านี้ ก็อาจจะถึงจุดขีดจำกัด ที่กลยุทธ์ทางด้านการตลาดแบบเดิมๆ หรือการชูจุดเด่นเรื่องการเข้าถึงผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ นั่นหมายรวมถึงราคา โปรโมชัน และอื่นๆ ซึ่งเราคงจะได้เห็นนวัตกรรมจากบรรดาผู้ให้บริการในรอบระยะเวลาอีกสองถึงสามปีข้างหน้า ที่น่าลุ้นน่าติดตามอยู่ไม่น้อยอย่างแน่นอน

ธุรกิจับรับส่งพัสดุเติบโตไปพร้อม E-Commerce

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคการผลิต ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างงาน แต่ธุรกิจที่เติบโตในวิกฤติเช่นนี้ คือบริการรับส่งพัสดุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการสั่งสินค้าแบบออนไลน์ผ่านระบบ Marketplace ทั้งหลายผ่านระบบ Mobile ได้รับความนิยมอย่างสูง จากการที่คนไม่ออกจากบ้าน และความาสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้าหลากชนิด ในตัวเลือกที่หลากหลาย ทั้งประเภท โปรโมชัน จนถึงราคา นั่นทำให้การมาถึงของ COVID-19 ดูจะเป็นผลในเชิงบวกกับธุรกิจขนส่งพัสดุและ E-Commerce อย่างเห็นได้ชัด  

จากการวิเคราะห์ SCBEIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2563 มูลค่าตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 35% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการซื้อขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ส ที่มูลค่าตลาดยังเติบโตต่อเนื่องราว 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็น 1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันมีบริษัทรับส่งพัสดุทั้งของไทยและต่างชาติเข้ามาในธุรกิจนี้หลากหลายแบรนด์ ซึ่งบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด รองลงมาเป็น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) ล่าสุดได้เข็นบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์ราคาหุ้น (KEX) เพิ่ม 132 .14เปอร์เซ็นต์ จากราคาไอพีโอหุ้นละ 28 บาทบวกเพิ่มไป 73 บาท นอกจากนี้ยังลาซาด้า เอ็กซ์เพรส (Lazada Express) และผู้เล่นรายกลางอื่น ๆ อีกหลายราย เช่น เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express), ดีเอสแอล อีคอมเมิรซ์ (DHL e-commerce), นิ่มเอ็กซ์เพรส (Nim Express), และนินจาแวน (Ninja van)

อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังมีบริษัทรับส่งพัสดุรายใหญ่จากต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย เช่น เบสท์ โลจิสติกส์ (Best logistics) และแฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) จากจีนเป็นหุ้นส่วน, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งอันดับ 1 จากอินโดนีเซีย, และซีเจ โลจิสติกส์ (CJ logistics) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่จากเกาหลีใต้ที่ได้ร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ของไทย

 โดยบริษัทจากต่างชาติได้เน้นทำการตลาดที่ไปรษณีย์ไทยทำไม่ได้ คือ วันปิดบริการ (แต่มีบางสาขาเปิดให้บริการ 24 ชม.) บริษัทเหล่านั้นเน้นเปิดให้บริการ 365 วันและรุกขยายสาขาในตรอกซอกซอย ในหมู่บ้าน รวมทั้งมีบริการรับส่งพัสดุถึงบ้าน อำนวยความสะดวกให้แม่ค้าออนไลน์ นอกจากนี้ยังแข่งขันเรื่องความรวดเร็วในการขนส่ง แบบ Sameday ภายใน 1 วันพัสดุต้องถึงมือลูกค้า

แต่กระนั้น การตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย Distribution ของกรมไปรษณีย์ไทยที่จัดตั้งมาแล้ว 6 ปี ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายอยู่ไม่น้อย เมื่อกรมไปรษณีย์ไทยเลือกที่จะไม่เป็น ‘คู่แข่งขัน’ ในตลาดการขนส่ง แต่เลือกจะทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ให้บริการหลังบ้าน’ ที่บรรดาผู้ให้บริการขนส่งทั้งหลาย สามารถลดความยุ่งยากในส่วนของคลังสินค้า, การแพ็คหีบห่อ จนถึงการจัดส่งเข้าระบบ ซึ่งทางกรมไปรษณีย์ไทยก็ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการหลากหลายเจ้า ผ่าน API ในการพัฒนาระบบที่สามารถใช้ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็น ‘เส้นเลือด’ เบื้องหลัง อันเป็นทิศทางที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะแม้บริษัทต่างๆ จะมีเงินทุนและกำลังคน แต่ในสภาวะเช่นนี้ การลดต้นทุนก็ยังจัดว่าเป็นสิ่งจำเป็น และทำให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

บทบาทของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในสภาวะวิกฤติ COVID-19

ภาคการขนส่งในระดับสากลเองก็ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องมีการปรับตัวอย่างสูง เพราะวิกฤติ COVID-19 นั้น ส่งผลกระทบในภูมิภาคต่างๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงไปโดยเร็ววัน แต่อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น คนไม่เคลื่อน แต่สินค้ายังต้องเคลื่อน และการขนส่งทางน้ำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับย่อย ที่จะมองข้ามไปไม่ได้ ซึ่งทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในวาระที่จะครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ก็เร่งที่จะพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับในจุดนี้ โดยจะพัฒนาและบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง (Intermodal Transport) ที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Transit & Transshipment) โดยมุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ในองค์รวมและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการนำเข้าส่งออก เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งที่ลดการใช้พลังงาน เพิ่มพลังงานสะอาด และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 จะต้องเร่งผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาลในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern economic Corridor Development :EEC) ให้เป็น เขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในอนาคตต่อไป อันเป็นโครงการเร่งด่วนที่ทางการท่าเรือจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่อาจรอช้าได้

ในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เองนั้น ทางการท่าเรือก็มีแผนงานที่จะเร่งพัฒนาในการบริหารงานขององค์กรใน เชิงธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตัล และขยายธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางน้ำและระบบโลจิสติกส์ กระจายการขนส่งทางถนนและทางรางไปสู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการพัฒนาสินทรัพย์

ในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร เพิ่มผลตอบแทนและรายได้จากสินทรัพย์ต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายและลงทุน พัฒนาและขยายบริการธุรกิจ มุ่งเน้นการทำการตลาดเชิงรุก รวมทั้งการบริหารท่าเรือภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือ เชียงของ จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาตรฐาน มุ่งเน้นให้ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือหลักฝั่งอันดามันที่ได้มาตรฐาน จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายความร่วมมือกับท่าเรือพันธมิตร ยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสู่กลุ่ม ประเทศ BIMSTEC สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ของประเทศ

จะเห็นได้ว่า เหล่านี้ เป็นโครงการใหญ่ ที่ทางการท่าเรือกำลังเตรียมเอาไว้ เพื่อให้พร้อมสอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสภาวะ New Normal ที่กำลังดำเนินไป และอาจจะดำเนินต่อไป แม้จะผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม

ปริมาณสินค้าที่ไหลเวียนในระบบ กับการรับมือของภาคธุรกิจ

แน่นอนว่าการ ‘เคลื่อน’ ของสินค้าและพัศดุต่างๆ ในสภาวะ New Normal นั้น มีแนวโน้มที่จะทวีคูณขึ้นเป็นอีกหลายเท่าตัวตามระยะเวลาที่เราจะต้องอยู่กับวิกฤติ COVID-19 นี้กันต่อไป เช่นนั้นแล้ว ภาคธุรกิจที่ดำเนินการให้บริการด้านการขนส่ง จะปรับตัว และรับมือกับสภาพการเติบโตที่ ‘ดิ่งขึ้น’ อย่างก้าวกระโดดอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันมีแนวโน้มเช่นนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกมาตั้งแต่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

ในปี 2563 แฟลช เอ็กซ์เพรส มียอดส่งรวมทั้งปีมากกว่า 300 ล้านชิ้นนำส่งพัสดุให้กับลูกค้าทั่วประเทศรวมระยะทางกว่า 230 ล้านกิโลเมตร หรือเติบโตขึ้นกว่า 500% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าบวกกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 6,000 ล้านบาท ในปี 2564 นี้ คาดการณ์ว่ารายได้ต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท และมีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น ซึ่งเติบโตเกินกว่า 2 เท่าจากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้น ต่อวัน

ในจุดนี้ จะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจขนส่งพัสดุของปี2564 ตลาดโลจิสติกส์ และตลาด E-Commerce ยังเติบโตต่อไปได้อย่างมหาศาล แม้ว่าประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ โควิด-19 อยู่ก็ตามและตลาดขนส่งพัสดุในปีนี้ยังจะมีการแข่งขันกันใน 3 เรื่องหลัก คือ ราคา คุณภาพและความคุ้มค่าในการให้บริการ รวมไปถึงเรื่องความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการมากที่สุด

แฟลช เอ็กซ์เพรส ยังเพิ่มเม็ดเงินลงทุนอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายจุดกระจายสินค้า โดยจะเน้นไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น การเพิ่มคลังคัดแยกพัสดุ และศูนย์กระจายพัสดุ รวมไปถึงการเพิ่มจุด รับส่งพัสดุทั่วประเทศ มีการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ตลอดจนการลงทุนด้านบุคลากรเพื่อสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมในธุรกิจ พร้อมกันนี้ยังเร่งวางแผนทิศทางในด้านการให้บริการ บริการรับส่งพัสดุในวันเดียว

กำลังซื้อที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจรับส่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (online platform) มากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ E-commerce รายใหญ่ เช่น Lazada, Shopee, JD Central, Priceza และการค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย (social commerce) อย่าง Facebook, Line, Instagram รวมถึงในหน้าเว็บไซต์ของแต่ละร้านค้าเอง โดยตัวเลข ในปี 2563 บริการขนส่งพัสดุมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นการจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ ทั้ง เทศกาลช้อปปิ้งเอาใจคนโสด 11.11 ของ Lazada, 12.12 Birthday Sale ของ Shopee, และ Black Friday ทำให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวัน

น.ส.สนิฎา มานิกิจภิญโญ รองประธานอาวุโสฝ่ายคลังสินค้าและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าหลังมหกรรมชอปปิงแห่งปี11.11 Biggest One-Day Sale สามารถจัดการออเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นถึง 35 % โดยมีปัจจัยพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย บนพื้นที่คลังสินค้า ขนาด 24,000 ตรม. หรือประมาณ 5 สนามฟุตบอล ตั้งอยู่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทปราการ เก็บสินค้าจากแบรนด์ต่างๆถึง 700 แบรนด์ที่จำหน่ายบน LazMall รวมถึงสินค้าอีก 50,000 รายการสินค้าจากหลายหมวดหมู่ อาทิ สินค้าอุปโภค บริโภค อุปกรณ์ถ่ายภาพ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และเครื่องประดับ โดยนำระบบการจัดการคลังสินค้า ดาเบ๋า Dabao (Dabao Warehouse Management System ) สำหรับควบคุมสินค้าคงคลัง ระบุตำแหน่งสินค้าเมื่อได้รับคำสั่งซื้อ และช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนร้านค้าเข้ามาขายในลาซาด้า 90,000 ราย โดย ลาซาด้า ใช้เวลาจัดการจนออกมาเป็นกล่องที่สามารถส่งได้ประมาณ 2 ชม.ในปี 2563 จากเดิมในปี 2015 ที่เปิดให้บริการใช้เวลา 4 ชั่วโมงหรือกรณีที่ลูกค้าสั่งสินค้าชิ้นเดียวใช้เวลา 14 นาที

ตัวเลขเหล่านี้ เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในสภาวะที่คนไม่อาจเคลื่อน แต่สินค้ายังคงมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน และเม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในระบบนั้น ก็มีอยู่เป็นจำนวนที่มากยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ที่ผ่านมา และภายใต้การเติบโตของเทคโนโลยีระบบ Mobile บวกกับความคุ้นเคยของผู้คน สิ่งเหล่านี้ อาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘ทางเลือก’ แต่อาจจะเป็น ‘พฤติกรรมใหม่’ ในการบริโภคและการใช้จ่าย ที่เหล่านักการตลาดควรให้ความใส่ใจอย่างเป็นสำคัญ

ไม่นับรวมการมาถึงของระบบสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ที่เริ่มมีผู้ให้บริการรายต่างๆ และเริ่มมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ้างแล้ว แม้จะยังเป็นสิ่งที่ ‘Volatile’ หรือมีความเปราะบางในมูลค่า แต่ในอนาคตภายภาคหน้า เมื่อมันปรับกลับสู่ฐาน (Fundamental) มันก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยอย่างแน่นอน

รถไฟฟ้าสายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อปรากฏการณ์แห่งการเดินทาง

อนึ่ง แม้ว่าคนจะ ‘ไม่เคลื่อน’ ตามวิถีปกติ แต่ภาคการขนส่งภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคทางบกและการรถไฟนั้น ยังเป็นตัวจักรสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแม้ผู้ให้บริการจะมีเหล่าผู้ขนส่งในระบบอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง แต่การขนส่งสินค้าและพัศดุในจำนวนมาก การรถไฟก็ยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่คุ้มค่าทั้งในแง่ของปริมาณและต้นทุน และนั่นเป็นวาระสำคัญที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับปี 2564 นี้ กับ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ที่จะเปิดให้บริการหลังจากก่อสร้างมาเป็นระยะเวลามานาน พร้อมปลดระวางสถานีกลางหัวลำโพง ลดความสำคัญลง และย้ายภาคการขนส่งมายังสถานีกลางแห่งใหม่นี้แทน

กระทรวงคมนาคมระบุไทม์ไลน์ของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร(กม.) และบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ซึ่งในเดือนมีนาคม2564 จะเปิดเดินรถเสมือนจริง กรกฎาคม2564 เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี ก่อนจะเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารในเดือน พฤศจิกายน 2564 ในอัตรา 14-42 บาท โดยประชาชนจะเดินทางจากบางซื่อไปรังสิตในเวลา 30 นาที คาดว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 86,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการเท่ากับว่าสถานีกลางบางซื่อ จะเปิดให้บริการด้วยหลังจากที่ใช้เวลาก่อสร้างมานับ 10 ปีเต็ม (เริ่มตอกเสาเข็ม ปี 2553)

สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่สุดในอาเซียน มีพื้นที่ทั้งหมด 2,475 ไร่ ขณะที่สถานีกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพง มีพื้นที่ 120 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวมของสถานีกลางบางซื่ออยู่ 304,000 ตารางเมตร โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 34,142 ล้านบาท มีทั้งหมด 24 ชานชลา เป็นอาคาร 4 ชั้น ภายในสถานีกลางบางซื่อประกอบด้วย 3 ชั้น คือชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารและจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพฯ ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยจะรองรับผู้โดยสาร 624,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน ในปี 2575

รวมถึงรถไฟฟ้าหลากสีที่สามารถเดินทางเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อได้ ซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อยู่ห่างประมาณ 300 เมตร เดินประมาณ 4 นาที รถไฟฟ้าสายสีเขียวห่างประมาณ 1000 เมตร เดินประมาณ 10 นาที (เท่ากับเวลาที่ฟังเพลง 2 เพลง) รถไฟฟ้าสายสีม่วง ห่างประมาณ 1000 เมตร เดินประมาณ 10 นาที รวมทั้งยังใกล้กับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต ) นอกจากนี้ที่ตั้งของสถานีกลางบางซื่อยังสามารถใช้บริการด่วนศรีรัช และ ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ได้โดยสะดวกอีกด้วย

สำหรับสถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่ ซึ่งเป็นบึงน้ำรวม 14,000 ตารางเมตร มีชั้นใต้ดิน 72,000 ตารางเมตร จอดรถยนต์ได้ 1,681 คัน และที่จอดรถคนพิการ 19 คันรวมทั้งหมด 1,700 คัน อย่างไรก็ตามในส่วนของสถานีกลางบางซื่อยังได้เตรียมพร้อมวางระบบรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง,สุวรรณภูมิ,อู่ตะเภา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571) ไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแค่สร้างคานยกระดับเข้ามาเชื่อมต่อเท่านั้น

นี่อาจจะนับได้ว่าเป็น ‘เมกะโปรเจ็กต์’ ชิ้นสำคัญของภาคการรถไฟ ที่ดำเนินกิจการมานับร้อยปีขนานใหญ่ เพราะมันถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องมีการปรับปรุงในส่วนของ Infrastructure เพื่อรองรับความต้องการ ไม่ใช่แค่ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หากแต่เป็นอีกหลายปีให้หลัง เป็น ‘ฐานราก’ ของภาคการขนส่งที่จะเติบโตต่อไป แม้สิ้นภาวะวิกฤติ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม

คนไม่เคลื่อน แต่ของขยับ: สภาวะใหม่ที่จะกลายเป็นความเคยชิน

ในยุค 5G คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “แพลตฟอร์ม” ซึ่งรวมสิ่งต้องการทั้งอุปโภค-บริโภคและบริการต่างๆ อยู่บนหน้าจอมือถือ ทำให้สะดวกสบายไม่ต้องพาตัวเองออกจากบ้านไปห้างสรรพสินค้า ร้านอหาร แต่จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “ไรด์เดอร์”  รวมทั้งบริษัทรับส่งพัสดุต่างๆ ทำหน้าที่นำสินค้าข้างต้นมาส่งถึงประตูบ้าน กลายเป็นปรากฏการณ์คนไม่เคลื่อนแต่สิ่งของเคลื่อนไหว  ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่  นำไปสู่การเกิดอาชีพรวมทั้งสกิลการทำงานแบบใหม่ เช่นเดียวกับการเดินทางเมื่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าหลากสีเปิดให้บริการครบในปี 2566 ก็จะเป็นมาช่วยยกระดับการเดินทางของผู้คนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้สะดวกสบายมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ คือปรากฏการณ์สำคัญ ที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้เสียแต่เนิ่นๆ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สภาวะ ‘คนไม่เคลื่อน แต่ของขยับ’ นั้น เป็นธรรมชาติของวิถีเศรษฐกิจ เมื่อการบริโภคสินค้าและพัสดุยังคงเป็นความจำเป็น แม้ในห้วงวิกฤติ ระยะเวลาที่บ่มเพาะพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จะค่อยๆ แปรสภาพให้กลายเป็น ‘ความเคยชิน’ และมันจะเป็นโฉมหน้าใหม่ของระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และวิถีการใช้ชีวิตของชาวไทยนับจากนี้ต่อไปอีกอย่างแน่นอน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ