Future Industries ย่างก้าวใหม่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
เรื่อง : นายิกา (คอลัมน์ Scoop จาก GM Magazineเล่มที่ 516 เดือนธันวาคม2566)
New Industries อุตสาหกรรมใหญ่ อุตสาหกรรมใหม่ แห่งอนาคต เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็ย่อมส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลผลิตที่มากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเปิดทางให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์และบริการที่ผนวกรวมเข้ากับการมาถึงของเทคโนโลยีนั้นๆ
อุตสาหกรรมใหม่ (New Industries) จึงไม่ได้ใหม่แค่เพียงด้านผลิตภาพ แต่ยังมาพร้อมกับแนวคิดในการเข้าถึงและปฏิบัติแบบใหม่ ที่จะต้องให้ความใส่ใจอย่างเป็นสำคัญ
มองอนาคตเศรษฐกิจไทย 3 ปี ยังไม่เทิร์นอะราวด์เทียบก่อนโควิด

ข้อมูลจาก วิจัยกรุงศรี ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงปีพ.ศ. 2567-2569 โตเฉลี่ยปีละ 3.4% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีก่อนเกิดการระบาด COVID-19 ที่ 3.7% โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวต่อเนื่องภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น เป็น 35.6 ล้านคนในปีพ.ศ. 2567 และ 40 ล้านคนในปีพ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดเมื่อปีพ.ศ. 2562
ส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคภาคเอกชนเติบโตตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด BCG
10 Next-Gen Industry บิ๊กชาเลนจ์อนาคตเศรษฐกิจไทย

เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หลุดกรอบประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลได้กำหนดกลยุทธ์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกมาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตหรือ New Engine of Growth ประกอบด้วย First s-curve การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ 5 อุตสาหกรรมได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ , อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ,อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรม First s curve ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยก้าวกระโดดได้สะดวก จำเป็นต้องมีในส่วนของ new s- curve หรือการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ,อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ , อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ,อุตสาหกรรมดิจิตอลและอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
แม้จะมีการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงยังต้องใช้เวลาในการตั้งต้นและทำให้แต่ละอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่พอจะมีภาพชัดเจนแล้วในประเทศไทย อาทิ
รถยนต์ไฟฟ้า EV โตสวยแข่งดุเสี่ยง “แบรนด์จีน” ยึดตลาด

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า EV นับเป็นอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงและเห็นภาพการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดย ttb analytics ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ EV ในปีพ.ศ. 2567 จะอยู่ที่ 103,182 คัน หรือขยายตัว 36.3% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์อีวีเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13.4% และคาดว่ายอดขายรถยนต์ EVในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 25.5% ในปีพ.ศ. 2573
สิ่งที่น่ากังวลคือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศจีน ซึ่งเปิดช่องให้ไทยสามารถนำเข้ารถยนต์อีวีจากจีนในราคาที่ถูกกว่าการผลิตเองในประเทศ ทังนี้ในปีพ.ศ. 2566 จีนสามารถผลิตรถยนต์อีวีได้มากกว่า 5 ล้านคัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรถยนต์อีวีที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ที่ 7.25 แสนคันภายในปี พ.ศ. 2573 ผ่านนโยบาย 30@30
แต่เม็ดเงินที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อผลิตรถยนต์อีวีแบตเตอรี่ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2566 ยังค่อนข้างน้อย มีเพียง 1 แสนล้านบาท หรือ 5% ของมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเท่านั้น ซึ่งนอกจากแผนการผลิตรถยนต์ EV อาจไม่สามารถชดเชยจำนวนรถยนต์สันดาป ที่กำลังจะหายไปจากสายพานการผลิตแล้ว แนวโน้มต้นทุนการผลิตรถยนต์ EVในไทยยังคงแพงกว่าเมื่อเทียบกับจีนอย่างมีนัยะ
Medical and Wellness Tourism

Medical Hub เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งระยะหลังมีการขยายไปยังส่วนของ Wellness Tourism ด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งทั้งด้านการท่องเที่ยวและการรักษา
โดยภาครัฐได้วางมาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาผ่านมาตรการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย รวม 90 วันสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวม 4 ราย กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ,รัฐกาตาร์,รัฐคูเวต ,รัฐสุลต่านโอมาน,ราชอาณาจักรบาห์เรนและราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย กลุ่มประเทศ CLMV ในส่วนของกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) นำร่อง 14 ประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนีสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี โดยต่ออายุครั้งแรก 5 ปี และครั้งที่สอง 5 ปี รวมเป็น 10 ปี
โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. มุ่งเป้าขยายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเมืองรอง โดยล่าสุดเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีมติสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาผลักดันเมืองระนองเป็น Wellness City เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.เตรียมยกระดับ “ระนอง” ด้วยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองรองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของภาคใต้ โดดเด่นด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความเป็น “ระนองมหานครแห่งน้ำแร่”
มีการตั้งเป้าเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวจังหวัดระนองเป็น 7,000 ล้านบาทในปีนี้ผ่านการ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ได้15% พร้อมกับเตรียมเจาะตลาดตะวันออกกลางซึ่งชื่นชอบบรรยากาศความสดชื่นของป่าเขา หาดทรายชายทะเล ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีระยะเวลาพำนักนาน เพิ่มเติมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเดิม ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ จีน และสวิตเซอร์แลนด์
Future Food เมกะเทรนด์มาแรงเสริมความมั่นคงด้านอาหาร

จากรายงานจาก State of Food Security and Nutrition in the World (SOFI) ระบุว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 มีประชากรอีก 122 ล้านคนที่ต้องอดอยาก แม้ว่าจำนวนผู้อดอยากทั่วโลกจะคงที่ระหว่างปี พ.ศ. 2564-2565 แต่หลายภูมิภาคกลับเผชิญกับวิกฤติอาหารที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดความรุนแรงระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ทำให้ทุกประเทศเริ่มตื่นตัวในการเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างเข้มข้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน 30 ประเทศทั่วโลกได้จำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศของตัวเอง ขณะที่ธนาคารโลก ได้เคยมีการประเมินไว้ว่า ปี พ.ศ 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี
สำหรับประเทศไทยในระยะ 3-5 ที่ผ่านมามีความพยายามคิดค้นอาหารใหม่หรือ “Future Food” เพื่อรับมือกับการขาดแคลนในอนาคตโดยภาพที่เห็นชัดเจนคือ แพลนต์เบส (Plant-based) หรือโปรตีนจากพืชที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดในปี 2563 ทั้งสตาร์ทอัพและบริษัทอาหารขนาดใหญ่ลงมาจับจองพื้นที่กันอย่างหนาแน่น ก่อนที่ความนิยมจะลดลงเนื่องจากราคาที่แพงและรสชาติยังไม่ตอบโจทย์ ซึ่งในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดมีการปรับตัวให้ แพลนต์เบส เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นโดยพัฒนาเป็นอาหารพร้อมทานจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อในราคาที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น “อินโนบิก” จากกลุ่มปตท. Meat Zero จากค่าย CPF และ “มอร์มีท” ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยและได้จับมือกับวีฟู้ด ของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน
แต่ตลาดที่น่าจับตามองและมีกะแสร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ “โปรตีนจากแมลง” ซึ่งทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีพ.ศ. 2570 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 33.4% ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 โดย FAO ได้เริ่มส่งเสริมให้แมลงเป็น “แหล่งโภชนาการที่ยังไม่ได้สำรวจ ซึ่งสามารถช่วย แก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลก” และประกาศให้แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผยว่าการเติบโตอาหารแห่งอนาคต 5 ปีย้อนหลังโตเฉลี่ย 5% อย่างไรก็ตามปัจจุบันด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง ภาวะความขัดแย้งของโลก อาจทำให้อาหารอนาคตจะเติบโตไม่มากนัก
ทั้งนี้ประเทศไทยแบ่งอาหารอนาคตออกเป็น 4 ประเภทคือFunctional Food, medical food ,Organic Food และ Nova food สัดส่วนสูงสุดและเติบโตดีที่สุดอยู่ในกลุ่มFunctional Food โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโพรไบโอติกส์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
ส่วนอาหารจากแมลงยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างตลาด ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการนำแมลงมาบดเป็นผงแล้วนำไปผสมในอาหารอื่น ทั้งนี้การเติบโตจะเกิดขึ้นหลังจากมีองค์ความรู้มากขึ้นหรือสามารถขึ้นทะเบียนNova food ชนิดใหม่ได้เรื่อยๆ นี่คือจุดเริ่มต้นของประเทศไทยในการสร้างมาตรฐาน
“ตอนนี้เรามีมาตรฐานฟาร์มแมลง เริ่มขึ้นทะเบียนในยุโรปสำหรับแมลงตามสายพันธุ์ เช่น จิ้งหรีด นั่นหมายความว่าไทยเริ่มส่งออกได้ จากนั้นจะเริ่มโปรโมตให้เป็นที่รู้จักต่อไป”
BCG ไม่ใช่เทรนด์แต่เป็นโมเดลภาคบังคับ

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ 2564ประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่จะพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ส่งผลให้ BCG กลายเป็นภาคบังคับให้ทุกอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่เป็นแค่เทรนด์เหมือนในอดีต ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และพิจราณาเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันภาคการเงิน ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการพิจารณา สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจก็เลือกให้สินเชื่อกับธุรกิจสีเขียวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่เพียงแค่นั้น ทางด้านกฏหมายส่งออกในบางประเทศยังมีการกีดกันทางการค้า โดยไม่อนุญาตนำเข้าสินค้าของบริษัทที่ไม่มีการดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่มีคาร์บอนเครดิตเข้าประเทศ ส่งผลให้ทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต้องปรับโมเดลธุรกิจให้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ BCG ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แม้แต่ภาคสถาบันการเงินยังต้องเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับ BCG โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า “EXIM BANK มุ่งเป้าในการเป็น Green Development Bank จึงเริ่มต้นผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อย ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่กับการสานพลังกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างระบบนิเวศครบวงจรที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย”
และอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังตกที่นั่งลำบากคือ “ออฟฟิศเก่าให้เช่า” โดยฐานข้อมูลของ JLL ระบุว่าการเช่าพื้นที่สำนักงานใหม่กว่า 90% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นในอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถเรียกค่าเช่าเฉลี่ยได้สูงกว่าอาคารระดับเดียวกันถึง 14% จึงก่อให้เกิดแรงกดดันมากยิ่งขึ้นต่ออาคารเก่าที่ยังไม่ได้รับรองตามมาตรฐาน ESG
“เรื่องของ ESG ทั้งGreen Building และ Sustainable ต่างๆ ในอดีตเคยเป็นแค่ Touching Point ,Highlight และกิมมิคเสริมเพื่อสร้างจุดขาย แต่ทุกวันนี้ ESG กลายเป็นมาตราฐานใหม่ที่ทุกโครงการต้องคำนึงถึง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2019 – 2023 จะเห็นว่ากว่า 90%ของธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานเกิดขึ้นใน Green Building ทั้งสิ้น นอกจากนี้โรงแรมซึ่งเป็นแอสเสสที่ดำเนินการเรื่อง Green ยากมากเพราะเชื่อมโยงกับความฟุ่มเฟือยเพื่อทรีสลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่วันนี้ลักซัวรี่โฮเทลหรือโรงแรมระดับสูงมีแพลนจริงจังที่จะลดคาร์บอน แสดงให้เห็นชัดว่าแม้แต่แอสเสสที่ทำยากก็ยังต้องทำ ที่สำคัญกลุ่มทุนต่างๆ ที่จำเป็นหรือต้องการที่จะเข้ามาซื้อโรงแรมในเมืองไทยแทบจะฟิกซ์ว่า จะพิจราณาเฉพาะโรงแรมที่มี ESG standard เท่านั้น” นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด หรือJLL (บริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการการทุนด้านอสังหาริมทรัพย์) กล่าวปิดท้าย
