อาหาร ความรัก และหน้าที่กับภารกิจใหม่ครั้งใหญ่ของ ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี
รู้จักตัวตนอีกด้านหนึ่งของนักธุรกิจหนุ่ม ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้มองเห็นศักยภาพในอาหารที่ที่จะปลุกปั้นเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้ในระดับโลก
Reasons to Read
- รู้จักตัวตนอีกด้านหนึ่งของนักธุรกิจหนุ่ม ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้มองเห็นศักยภาพในอาหารที่ที่จะปลุกปั้นเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้ในระดับโลก
- Food Factors คือ หนึ่งในธุรกิจหลักในเครือบุญรอดที่จะใช้ศักยภาพทางอาหารของประเทศไทย สร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยอีกมากมาย
ความรัก ความชอบ กับ ภาระ ความรับผิดชอบ เปรียบเสมือนศิลปะที่ทุกคนจะต้องสร้างสมดุลให้กับชีวิต ให้สามารถบาลานซ์ทั้งสองฝั่งได้อย่างลงตัว และกับชายหนุ่มคนนี้ ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาหลากหลาย ทั้งในฐานะทายาทธุรกิจเครื่องดื่มระดับแสนล้าน พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักแข่งรถ เจ้าของร้านอาหารที่ทำด้วยใจรักอย่างพิถีพิถัน
ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมของ ‘ต๊อด’ – ปิติ ภิรมย์ภักดี ในวัย 40 ปี ที่ยังมีความอยากรู้ อยากลอง ซึ่งความรักในอาหารที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่ในครอบครัว ทำให้เขาไม่ลังเลที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำของ Food Factors 1 ใน 6 ธุรกิจหลักของเครือบุญรอด ที่รวมธุรกิจทางด้านอาหารแบบครบวงจร ให้มาอยู่ภายใต้การบริหารงานเดียวกัน พร้อมจัดกระบวนทัพใหม่ และตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 5,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
อาหารไทยกลายพันธุ์ ปมในใจของนักเรียนไทยในต่างแดน
หากย้อนกลับไป ความผูกพันกับอาหารไทยของแต่ละคนน่าจะมาจากครอบครัว ที่แต่ละบ้านก็จะมีคุณย่า คุณยาย ที่มีสูตรตำราอาหารเฉพาะของแต่ละบ้าน และสำหรับบ้านภิรมย์ภักดี เด็กชายต๊อด ก็ผูกพันกับอาหารไทย สูตรของคุณย่าที่เขาได้เห็น ได้ทานมาตั้งแต่เด็ก จนเติบโตไปเรียนต่อต่างประเทศ การหาอาหารไทยในแบบที่คุ้นเคย คงหนีไม่พ้นจะต้องลงมือทำทานเอง เพราะมาตรฐานอาหารไทยในต่างประเทศนั้นก็ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะเจออาหารไทยที่กลายพันธุ์ไปมากขนาดไหน
“ช่วงเวลาที่ผมไปเรียนต่างประเทศ สิ่งที่ผมเจอมาเสมอก็คือ ร้านอาหารไทยในยุโรป ร้านอาหารไทยในอเมริกา ไม่ได้เป็นเจ้าของโดยคนไทยเสมอไป แต่เป็นคนเวียดนามบ้าง คนลาวบ้าง แล้วอาหารก็ไม่ใช่อาหารไทยจริงๆ อย่างการที่ผมมาทำซอสของตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลือบแคลงใจว่าทำไมเราไม่มีซอสพริกที่มันเป็นพริกจริงๆ แต่เป็นซอสรสเปรี้ยวหวาน ส่วนซอสพริกในต่างประเทศก็เผ็ดแบบกินไม่ได้ มันเป็นสองสิ่งที่ฝังอยู่ในใจพอสมควร ก็เลยกลายเป็นธุรกิจส่วนตัว ที่ทำร้าน R-HAAN และที่ทำซอสต๊อดขึ้นมา พอได้มาทำตรงนี้เราก็เห็นภาพธุรกิจอาหารไทยชัดขึ้น อาหารไทยเป็นอาหารที่ทั่วโลกยอมรับ แต่อาหารไทยหลายๆ ที่ทั่วโลก กลายเป็นอาหารลูกครึ่ง ไม่ใช่ไทยแบบที่เราอยากให้เป็น คืออาจจะเพราะผมถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยคุณย่า ที่ชอบทำอาหาร ที่บ้านก็เลยมีความชื่นชอบ พอโตขึ้นมา มีเวลา มีโอกาส ก็เลยอยากทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และได้รับโอกาสในการมาดูธุรกิจอาหาร Food Factors ด้วย”
Food Factors โรงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ธุรกิจอาหารรอวันแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา
แบรนด์สินค้าและโปรดักต์ทางด้านอาหารในเครือบุญรอดนั้น นับว่ามีชื่อเสียงไม่น้อยหน้าใครในท้องตลอด เราชอบไปเจอเพื่อนที่ร้าน EST.33 ชอบไปกินขนมที่ร้าน Farm Design เราซื้อข้าวตรา1000ดี เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ และในแง่ของธุรกิจเมื่อมีการเติบโตก็ต้องมีการจัดระบบระเบียบ เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย มีทิศทางที่ชัดเจนร่วมกัน
“เราเข้ามาสู่ธุรกิจอาหารในฐานะของดีเวลอปเปอร์ เป็นคนที่เข้ามาพัฒนาธุรกิจอาหารจากพื้นฐาน มากกว่าเข้ามาในฐานะของนักลงทุน สิ่งที่ผมทำก็คือ การควบรวมกิจการของเราให้เป็นหมวดหมู่ ภายใต้ Food Factors โดยในแต่ละธุรกิจก็สามารถสร้าง network ให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำมา ก็คือพยายามรวบรวมธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มให้อยู่ในพอร์ทเดียวกันทั้งหมด อย่างตัวร้านอาหารของเราก็ยังเล็กมาก มีมูลค่าอยู่ 500ล้านบาท และถ้าพูดถึงองค์รวม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และที่บุญรอดถือหุ้นอยู่ จะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจที่ใหม่มากๆ สำหรับเครือบุญรอด เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะเติบโต โจทย์ที่ผมได้รับก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้ธุรกิจนี้มันตั้งต้นและทะยานต่อไปได้
“เมื่อเรามีธุรกิจหลักที่เติบโตมั่นคงเหมือนต้นไม้ใหญ่แล้ว เราก็ต้องไปตามหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ในท้องตลาด จะเกี่ยวกับธุรกิจเดิมหรือไม่ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท หลังจากนั้นก็พยายามปลูกเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นให้เติบโต สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ การควบรวมองค์กรของตัวเอง ที่มีพอร์ททางด้านอาหารและเครื่องดื่มอยู่กว่า 4,500 ล้าน ให้แข็งแรงที่สุด อะไรที่เป็นส่วนเกิน หรือที่ไม่ลงตัว เราก็ต้อง reorganize ตัวเอง หลังจากนั้นเราถึงจะมาดูว่าจุดแข็ง หรือ core business อะไรของเราที่สามารถตอบโจทย์”
ธุรกิจอาหารครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
การมีความสามารถในการผลิต การวิจัยพัฒนา การขนส่งสินค้า การจัดจำหน่าย การทำการตลาด ย่อมเป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจที่ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาคนนอก และยังสามารถใช้ต่อยอดเพื่อแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อจิ๊กซอว์ทั้งหมดครบแล้ว Food Factors ที่นำโดย ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี ก็พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบ
“เราเพิ่งสร้างศูนย์นวัตกรรมทางด้านอาหาร มีการทำซอส ทำสินค้า Ready-to-eat และ Ready-to-cook ที่จะเป็นโปรดักต์ที่แตกไลน์ไป งานของเราจึงมีการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้อาหารอยู่ในสภาพที่สด ใหม่ อร่อย เพราะมันเป็นสาระสำคัญมากๆ ในการรับประทานอาหาร และความแตกต่างของเมืองไทย ก็คือ เรามีร้านอาหารทั่วไปหมด รวมถึงร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย มีแอปรับสั่งอาหาร ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารได้ง่าย ดังนั้น สินค้าที่เราจะผลิตออกมา อับดับแรกเลยคือ ต้องอร่อย ราคาไม่เกี่ยวว่าจะต้องสูงหรือต่ำ อันนั้นค่อยมาว่ากัน เราจึงมีศูนย์นวัตกรรม เมื่อได้นวัตกรรมแล้วเราก็ค่อยนำไปสู่การผลิตในรูปแบบของโรงงาน เรามีโรงงาน แต่แบ่งเป็นการรับทำงาน OEM และการผลิตแบรนด์สินค้าของตัวเอง”
ตั้งเป้าหมายสร้าง ECOSYSTEM ให้ธุรกิจอาหาร
“ผมพยายามที่จะพัฒนา hardware ของระบบ food industry ซึ่งในเมืองไทยก็มีเจ้าที่ใหญ่มาก แต่เขาก็จะทำเฉพาะสเกลใหญ่ๆ เขาก็จะไม่มองในสเกลเล็ก หรือในลักษณะของ startup ผมจึงมองว่านี่เป็นช่องว่าง ที่ Food Factors สามารถให้บริการกับธุรกิจ SME ธุรกิจ startup สามารถพัฒนาร้านค้าต่างๆ แล้วเติบโตไปพร้อมกันได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องสามารถกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภค ถ้าสินค้าของเรามีคุณภาพดี เราถูกวางในที่ที่เหมาะสม ผมเชื่อว่าสินค้าของเราจะถูกหยิบจากชั้นวางแน่นอน”
คุณต๊อด ได้ฉายภาพให้เราเห็นถึงภาพรวมของธุรกิจอาหาร ในมุมของการทำงานแบบครบวงจรในสไตล์ Food Factors ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจอาหารในประเทศไทยได้อย่างดี ว่าบ้านเรายังมีศักยภาพอีกมาก หากมีความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจอาหารด้วยกัน และการบริหารจัดการที่ดีพอ ทุกๆ องค์กร ก็สามารถที่จะเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างมั่นคง
“ผมมองว่าภาพรวมเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็เป็นงานที่หนักอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นสเกลที่ใหญ่มาก หลักๆ ที่ผ่านมาเรามีหลายบริษัทแต่แยกกันทำงาน ตอนนี้เราจะรวมทุกบริษัทให้มาอยู่ภายใต้ Food Factors เรามีศูนย์กลางในการพัฒนาธุรกิจ ภายใน 3 ปี ยอดขายของเราต้องทะลุ 5,000 ล้านบาท ผมต้องการให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน มีไดเรคชั่นที่ชัดเจน และต้องมีพาร์ทเนอร์ ผมไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง เราสามารถสร้างความร่วมมือกันได้ เป็นการเติบโตไปด้วยกัน”