fbpx

‘Exercise to better Men’s Health: ออกกำลังกายถูกวิถี สร้างสุขอนามัยที่ดีสำหรับเพศชาย’

เมื่อพูดกันถึงเรื่องของสุขภาพร่างกายกับ ‘สมรรถภาพทางเพศ’ แล้วนั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกมาสนทนากันบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมรรถภาพทางเพศของเพศชาย ที่อายุยิ่งมาก ความเสื่อมถอยก็ยิ่งปรากฏชัด บวกรวมกับการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ‘การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ’ ก็กลายเป็นผลสืบเนื่องที่ตามมา

กิตติ สนใจจิตร์ นักกายภาพบำบัด สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ลักษณะอาการ และแนวทางการแก้ไข ซึ่งเราขอนำเสนอให้ทุกท่าน โดยเฉพาะคุณผู้ชาย ได้ทราบในบทความชิ้นนี้

//ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คืออะไร//

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) คือภาวะที่อวัยวะทางเพศ ไม่สามารถแข็งตัว หรือทำงานได้ตามอย่างเป็นปรกติ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางเพศ หรือปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะไอหรือจาม (Stress Urinary Incontinence) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่มีผลเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น การออกแรงเบ่ง ไอ จามวิ่ง ยืน หรือเดิน เป็นต้น

สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง โดยกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จะเกี่ยวพันกับการทำงานของกล้ามเนื้อ Ischiocavernosus และ Bulbocavernosus ที่เกี่ยวกับการแข็งตัวขององคชาติ ซึ่งถ้ากล้ามเนื้อส่วนเหล่านี้อ่อนแรง การบังคับให้องคชาติทำงานได้อย่างเป็นปกติ ก็จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นด้วยเช่นกัน

//ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในประเทศไทย มีมากแค่ไหน//

ในประเทศไทย มีการสำรวจและพบว่า ชายไทยอายุระหว่าง 40-70 ปี มีปัญหานี้กว่าร้อยละ 52 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มาก แต่ก็เป็นปัญหาที่มีการเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน้อย อาจจะเพราะไม่รู้จะไปปรึกษาใคร หรืออับอายเกินกว่าที่จะไปพบแพทย์ ก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ไม่กล้าออกไปทำกิจกรรมหรือเข้าสังคม และส่งผลต่อชีวิตของคู่สมรสที่นำไปสู่การหย่าร้างได้

นอกเหนือจากนั้น จากการศึกษาทางการแพทย์ยังพบว่า ผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะมีภาวะของโรคเรื้อรังแทรกซ้อนตามมาในอนาคต เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

//แนวทางการแก้ไขภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ//

การแก้ไขภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มักแก้ไขที่ต้นเหตุ คือการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อรอบๆ รวมถึงเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย เพื่อก่อให้เกิดการกระตุ้นการไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือด ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นเวลา 30 นาทีต่อครั้ง และอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ มีผลดีอย่างมากในการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรนในร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพในการแข็งตัวขององคชาติ และเพิ่มระดับอารมณ์ทางเพศให้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มการไหลเวียดโลหิตที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่จะตามมาในอนาคตอย่างโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย

อนึ่ง การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เพื่อแก้ไขภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น ต้องทำอย่างต่อเนื่องและใช้เวลา อย่างน้อย 3-6 เดือน จึงจะเห็นผล และควรควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การปรับสภาวะจิตใจให้ห่างไกลจากความเครียด และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นต้น

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย อาจจะเป็นเรื่องที่ดูน่ากลัว และไม่น่าปรารถนา แต่ก็เป็นภาวะที่สามารถรักษา และป้องกันได้ ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ยกตัวอย่างไปในข้างต้น เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีชีวิตอย่างผึ่งผายและองอาจ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยความอับอายอันใดอีกต่อไป

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ