6 ปัจจัยพัฒนาองค์กรธุรกิจอย่างยั่งยืนในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2567 กับความสำเร็จที่เลือนราง
โดย : ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน
เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนะครับ สำหรับวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก (WORLD ENVIRONMENT DAY) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเรา
ย้อนกลับไปกว่า 50 ปี เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม มนุษยชาติอย่างเราๆ จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ขึ้นที่กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ.2515 เพื่อให้เกิดความร่วมมือและรู้ทันเหตุการณ์วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ พร้อมเรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ “UN Conference on the Human Environment”
และในการนี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม และต่อยอดมาสู่ประเด็นความยั่งยืน ประเด็น Climate change และประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ วันนี้..วันที่ 5 มิถุนายน 2567 วันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2567 ได้มีการให้ความสำคัญกับแนวคิด “Our land. Our future. We are #GenerationRestoration เพื่อร่วมกัน “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง” land restoration, stopping desertification and building drought resilience.
ทั้งนี้การเดินหน้าสู่ความสำเร็จที่กล่าวถึงข้างต้น รวมไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทขององค์กรหรือธุรกิจยั่งยืน (Sustainable business or organization) มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมองถึงสัดส่วนกว่า 80% world GDP ที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ รวมถึงความพร้อมในการลงทุนเพื่อปรับลดและปรับตัวให้สอดคล้องกับปริมาณการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกจาก 5 sectors สำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงานและขนส่ง (73.2%) ภาคการผลิตอุตสาหกรรม (5.2%) ภาคการเกษตรป่าไม้และการใช้ที่ดิน (18.4) และภาคการจัดการของเสีย (3.2%) ซึ่งถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นได้ว่า แหล่งกำเนิดกระจายตัวอยู่หรือเชื่อมโยงโดยตรงกับการปรับลดและปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันอย่างมาก หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ยิ่งองค์กรหรือธุรกิจใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งให้ความสำคัญและลงมือทำอย่างจริงจังมากขึ้นเท่านั้นครับ
ในปัจจุบัน ประเด็นความมั่นคงระดับโลก (World security) และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จัดเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เกือบทุกประเทศ และองค์กรธุรกิจทั่วโลก กังวลทั้งยังมองเป็นข้อจำกัดสำคัญของปัจจัยนำเข้า (Input factor) ในการวางแผนยุทธศาสตร์องค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด Environmental, social, and governance หรือ ESG เพื่อทำให้องค์กรเดินหน้าสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายสุดท้ายนั่นคือ การสร้างศักยภาพทางการเงินขององค์กรในระยะยาว (Long term corporate financial performance) ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
แน่นอนว่า ถ้าองค์กรหรือธุรกิจยังไม่สามารถหาจุดสมดุลหรือยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ (เพื่อแสวงหาผลตอบแทนหรือกำไร) ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง สังคม และประเทศได้แล้วนั้น โอกาสที่ความสำเร็จจากการรณรงค์ประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่กล่าวถึงข้างต้น คงยากอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้น ! หรือไม่ก็กลายเป็นอีก 1 ปีของการเรียกร้องที่สูญเปล่า
ถ้าถามผมในฐานะผู้เขียนว่า องค์กรธุรกิจทำอะไร ? หรือต้องใส่ใจกับประเด็นอะไร ? เพื่อตอบโจทย์องค์กรของตนเองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนที่ยากและซับซ้อนขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในปัจจุบัน ผมขอตอบด้วย 6 ข้อแห่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยสามารถสรุปได้เป็น 6S ดังนี้ (1) Source (2) Supervisor (3) Skills (4) Share holder (5) Supply chain และ (6) System
1.Source : การให้ความสำคัญกับวัตถุดิบต้นทางที่สะอาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการแสวงหาต้นทุนทางการเงินที่เชื่อมโยงกับเรื่อง Green หรือ Sustainability ซึ่งเป็นสิ่งแรกๆ ที่องค์กรจะต้องเร่งวางแผนและลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์เร็วที่สุด เพราะคำตอบที่ได้รับจากเรื่อง Source นี้ นับเป็นผลบวกกับองค์กรแบบ Quick win และอยู่ในการกำกับดูแลและขอบเขตการดำเนินการขององค์กร
2.Supervisor : การให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้นำ การวางแผนผู้สืบทอด (Succession plan) รวมถึงการเฟ้นหาคณะกรรมการบริษัทหรือองค์กรที่มีความรู้ความสามารถ (Skill matrix ) ในด้านการบริหารองค์กรยั่งยืน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญขององค์กร รวมถึงเป็นการช่วยสร้างการยอมรับและการรับรู้ในวงกว้างถึงจุดยืนขององค์กรในระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญและใส่ใจกับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และธรรมาภิบาลการบริหารองค์กรอย่างมาก
3.Skills : การสร้างกลไกต่างๆ ในการเพิ่มพูลความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะของบุคลากร (ทั้งคนเก่า และการ recruit คนใหม่) เพื่อรองรับแนวทางยุทธศาสตร์ใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มการเปลี่ยนแปลงขององค์กร นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายขององค์กร เพื่อตอบโจทย์การ Decoulping กล่าวคือ เพิ่มผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ (EBITDA) แต่มีค่าการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก (GHGs) ที่ลดลง รวมถึงกฏระเบียบใหม่ๆ ที่เข้มข้นและจริงจังมากยิ่งขึ้น
4.Supply chain : การที่องค์กรไม่ว่าระดับไหนก็ตาม จะประสบความสำเร็จในการประยุกต์แนวคิด ESG รวมถึงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ของผลิตภัณฑ์หรือองค์กร ซึ่งส่งเสริมการสร้างมูลค่าแบรนด์ขององค์กร (Corporate brand valuation) กล่าวได้ว่า การให้ความสำคัญและบูรณาการทั้งต้นน้ำ (up-stream) และปลายน้ำ (down-stream) ควรต้องขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนและการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกร่วมกันตลอดทั้ง Supply chain ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ขององค์กร ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้กำลังจะกลายเป็น Burden ใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมี SMEs จำนวนกว่า 3 ล้านราย รวมถึงเป็นฐานการผลิตหรือ OEM ให้กับหลายแบรนด์ นอกจากนี้ ยังควรต้องพิจารณาถึงประเด็นในด้านของการฟอกเขียว (green wash) หรือสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่เชื่อมโยงกับ supply chain อีกด้วย
5.Share holder : การให้ความสำคัญจากผู้ถือหุ้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้บริหารองค์กรต้องใส่ใจและออกแบบกลยุทธในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจถึง purpose หรือ vision ในการทำธุรกิจยั่งยืนขององค์กร เนื่องจากการปรับกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงานภายในองค์กรเพื่อให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจส่งผลต่อกำไรที่ลดลงในบางช่วงเวลา หรือการลงทุนเพื่อความยั่งยืนขององค์กร ทั้งนี้ ควรหาวิธีสื่อสาร รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วม และขอคำแนะนำจากกลุ่มผู้ถือหุ้นถึงการเดินหน้าธุรกิจที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยง และสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่
6.System : การออกแบบยุทธศาสตร์องค์กร และการวางระบบที่เชื่อมต่อ (connect the dots) ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น นับเป็นประเด็นปิดท้ายที่สำคัญ จึงมีความต้องการองค์ความรู้และประสบการณ์จากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหลากหลายแพลตฟอร์ม เพื่อแสวงหาแนวคิดและแนวทางใหม่ในการปรัยเปลี่ยนองค์กรหรือธุรกิจสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Transformation) สำหรับประเด็นนี้ ผมได้ออกแบบรายวิชา CEM : Co-operate Environmental Management และได้ทำการเรียนการสอนให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงให้กับนิสิต นักศึกษา มากว่า 10 ปี ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญของ System เนื่องจากองค์ประกอบนี้ จะเป็นส่วนถักทอและประสานปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น เพื่อการสร้างและต่อยอดธุรกิจยั่งยืน
จากข้อมูลข้างต้นที่ผมได้เขียนถึงนั้น โดยสรุปแล้ว การประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด 6S สามารถนำไปใช้เป็นแกนในการพิจารณาว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคอขวด (bottlenecks) ของการพัฒนาองค์กรหรือไม่ ? อย่างไร ? เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์เป้าหมายการรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่นับวันจะยิ่งออกห่างจากความเป็นจริงเข้าไปทุกที !!
ภาพบางส่วนจาก https://pixabay.com/
https://th.pngtree.com/