สิ่งสำคัญ ที่ทุกคนต้องมี
เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา
ในโลกทุกวันนี้ เราจะเห็นสภาวะ Fundamentalism หรือความ ‘หัวรุนแรง’ ในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
คนสูงวัยก็ยึดมั่นในโลกสูงวัยของตัวเองและปรามาสเด็กรุ่นใหม่ พอๆ กับที่เด็กรุ่นใหม่ก็ยึดมั่นในโลกยุคใหม่ของตัวเองและปรามาสคนรุ่นก่อน
คำถามก็คือ – แล้วเราจะอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างไร
ถ้าเราไปดูคำแนะนำหรือคำทำนาย ว่าทักษะอะไรเป็นทักษะสำคัญของโลกในอนาคตบ้าง เราจะพบคำแนะนำเต็มไปหมด ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนอาจมีคำแนะนำที่แตกต่างกันไปหลายเรื่อง ใครเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะแนะนำว่าต้องมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง ใครเชี่ยวชาญเรื่องการแพทย์หรือสาธารณสุข ก็จะแนะนำว่ามนุษย์เราต้องมีทักษะหรือความรู้เรื่องนี้เพิ่ม ส่วนผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลหรือ Data ทั้งหลาย ก็จะแนะนำว่าทักษะสำคัญที่สุดคือการมีความรู้เชิงข้อมูล หรือ Data Literacy เพราะโลกในอนาคตจะยิ่งขับเคี่ยวกันเข้มข้นอยู่บนโลกออนไลน์
แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหนก็ตาม คำแนะนำหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกันก็คืือ มนุษย์เราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งขึ้นมาให้ได้
ทักษะที่ว่าก็คือ Emotional Intelligence
คำนี้แปลตรงตัวได้ว่า ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ ซึ่งในหนังสือ On Emotional Intelligence ของ Harvard Business Review เคยบอกไว้ว่า ผู้นำเก่งๆ แต่ละคนอาจมีบุคลิกและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่แทบทุกคนมีร่วมกัน ก็คือทักษะเรื่องความฉลาดทางอารมณ์นี้นี่เอง
มีการศึกษาของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจขนาดใหญ่ของโลก พบว่าไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหนก็ตามทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ทักษะที่แต่ละอุตสาหกรรมต้องการมากที่สุด และจะเติบโตขึ้นมากถึงราว 26% (ตั้งแต่ปี 2016-2030) ก็คือความฉลาดทางอารมณ์นี่เอง
มันคือทักษะแบบ Soft Skill ที่ทำให้คนเรารู้จักทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักถึงจุดแข็งและจุดบกพร่องของตัวเองได้ด้วย รู้ว่าตัวเองมีความอ่อนแอตรงไหน ต้องให้คนอื่นมาเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองตรงไหน และเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่ ‘ลูกค้า’ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเราต้องการนั้น แท้จริงแล้วมันคืออะไร จะได้ตอบสนองได้ดีที่สุด ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ในขณะเกิดโรคระบาดใหญ่ที่คุกคามมนุษย์ครั้งนี้ ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ ต้องเผชิญกับการคุกคามใหญ่ แต่ละหน่วยงานตอบสนองออกมาอย่างไร มีความฉลาดทางอารมณ์มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ หรือเลยขึ้นไปถึงระดับผู้นำประเทศทั้งหลาย
ความฉลาดทางอารมณ์นั้น มีผู้แยกแยะเอาไว้ว่ามีอยู่ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือการตระหนักรู้ในตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีข้อดีข้อเสียอย่างไรโดยไม่หลอกตัวเอง ผู้นำจำนวนมากเป็นเหมือนพระราชาใส่เสื้อผ้าล่องหนในนิทาน คือไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังเปลือยกายอยู่ เพราะถูกคนที่ห้อมล้อมรอบข้างป้อยอหลอกลวง ผู้นำแบบนี้จึงตระหนักรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองได้ยาก เพราะเผลอคิดว่าตัวเองมีแต่จุดแข็ง
เรื่องที่สองก็คือการรู้จักควบคุมตัวเอง ซึ่งถ้าขาดการตระหนักรู้ในข้อแรกเสียแล้วก็จะควบคุมได้ยาก ถัดจากนั้นคือการมีแรงจูงใจจากภายใน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ทำงานประสบความสำเร็จ รวมไปถึงการมีทักษะทางสังคมที่ดี สามารถประสานความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและคนอื่น และระหว่างคนอื่นกับคนอื่นได้ แต่ทักษะที่สำคัญที่สุดในเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ก็คือการมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น อย่างที่เรียกว่ามี Empathy นั่นเอง
แล้ว Empathy คืออะไร?
“พวกมันนั่งอยู่ตรงข้ามกัน ยื่นปากออกมาสัมผัสกันและกัน ตัวหนึ่งเอามือไปจับไหล่ของอีกตัวหนึ่ง แล้วพวกมันก็กอดกันกลมในอ้อมแขนของกัน หลังจากนั้นพวกมันก็ยืนขึ้น แต่ละตัววางแขนโอบไหล่ของอีกตัวไว้ เชิดหัวขึ้น อ้าปาก แล้วตะโกนออกมาอย่างพึงพอใจ”
ตอนหนึ่งจาก The Expression of the Emotions in Man and Animals โดย ชาลส์ ดาร์วิน เขาเล่าถึงความสัมพันธ์ของชิมแปนซีสองตัว
เรามักคิดว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีีชีวิตชนิดเดียวที่มี Empathy หรือมีความเข้าอกเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
แต่จริงๆ แล้ว มีหลักฐานมากมายที่บอกว่า สัตว์อื่นก็มี Empathy เช่นเดียวกัน
ฟรานซ์ เดอ วาล (Frans de Waal) แห่งมหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University) เคยเล่าเรื่องชิมแปนซีสองตัวที่ถูกขังไว้ นอกกรงระหว่างเกิดพายุฝน ปรากฏว่านักไพรเมตวิทยาอย่าง วูล์ฟกัง โคห์เลอร์ (Wolfgang Kohler) ไปพบเข้า เขาเห็นเจ้าสัตว์สองตัวนี้สั่นเทาและชุ่มโชกอยู่ข้างนอก เลยเปิดประตูให้พวกมัน แทนที่พวกมันจะรีบเข้ามาข้างใน ทั้งสองตัวกลับหยุดแล้วเข้ามากอดเขาอย่างกระตือรือร้นก่อน
เดอ วาล ยังเคยเล่าถึงกอริลลาตัวเมียชื่อ บินติฮัว (Binti Jua) ไว้ในหนังสือ Our Inner Ape ด้วย มันกลายเป็นสัตว์ดังระดับโลกเมื่อมันช่วยเด็กคนหนึ่งที่ตกลงไปในบ่อจัดแสดงที่สวนสัตว์บรูคฟิลด์ในชิคาโก มันไม่ได้ทำร้ายเด็ก
ยังมีลิงโบโนโบอีกตัวหนึ่ง ที่เจอนกบินชนกระจกตกลงมาสลบ แต่ลิงไม่ได้ทำร้ายนก ทว่าพยายามช่วยให้มันบินขึ้นได้จนนกฟื้นและบินจากไป
เรื่องพวกนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นหรอกที่มี Empathy แต่สัตว์ก็มี Empathy ด้วยเหมือนกัน เพราะมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เหนือกว่าสัญชาตญาณทั่วไป
คนเยอรมันมีคำเรียกการรับรู้สภาวะอารมณ์ของอีกฝ่ายอย่างใกล้ชิด หรือเจ้า Empathy นี้ว่า Einfuhlung ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘รู้สึกเข้าไปในอีกฝ่าย’ ซึ่งในวิทยาศาสตร์ทางสมอง คำว่า ‘อารมณ์’ ก็คือการตอบสนองทางเซลล์ประสาทหรือต่อมไร้ท่อต่อสิ่งเร้าหนึ่งๆ หน้าที่ของมันก็คือการควบคุมโลกภายในของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในโลกภายนอก
อารมณ์ก็เลยไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการรับสัมผัสในทางกายภาพ แล้วแสดงออกมาเป็นความรู้สึก โดยความรู้สึกหนึ่งๆ คือการตระหนักรู้ถึงการมีอารมณ์นั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ความสามารถที่จะหยั่งรู้ความคิด ความรู้สึก และเจตนาของคนอื่นนั้น พัฒนาขึ้นในมนุษย์ตอนเราอายุราวๆ สองขวบ นั่นคือช่วงเวลาเดียวกับที่เราเริ่มตระหนักถึงตัวเองในกระจก ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงตัวตนและความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกและเจตนาของคนอื่น จึงอาจเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน
คำถามก็คือ แล้วอะไรเป็นตัวการทำให้เรารับรู้ความรู้สึกของ ‘คนอื่นๆ’ ได้
คำตอบก็คือ ‘เซลล์ประสาทกระจก’
ในทศวรรษ 1980s นักสรีรประสาทวิทยาอย่าง เกียโคโม ริซโซลัตตี (Giacomo Rizzolatti) เคยทดลองกับลิงกัง โดยการสอดขั้วไฟฟ้าเข้าไปที่สมองของลิงโดยตรง แล้วให้มันถือวัตถุต่างๆ หลายแบบ การวัดค่าในสมองที่แม่นยำมากทำให้ริซโซลัตตีและทีมงานแยกแยะเซลล์ประสาทเฉพาะของลิงได้ว่าตรงไหนถูกกระตุ้นในเวลาไหน
จากการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์พบบางสิ่่่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน นั่นคือเมื่อนักวิจัยคนหนึ่งหยิบถั่วเพื่อจะยื่นให้กับลิง ระบบประสาทเดียวกันที่ควบคุมการเคลื่อนที่ในสมองลิงก็ทำงานไปด้วย มันเหมือนกับตัวลิงเองเป็นผู้หยิบถั่วเอง แถมเซลล์ประสาทที่ทำงานตอนลิงหยิบถั่วใส่ปาก ก็ทำงานด้วยเหมือนกันเมื่อนักวิจัยหยิบถั่วใส่ปากตัวเอง
ริซโซลัตตีตั้งชื่อเซลล์เหล่านี้ว่า ‘เซลล์ประสาทกระจก’ หรือ mirror neurons ซึ่งก็คือตัวการสำคัญในการทำให้เรา ‘สะท้อน’ สิ่งที่คนอื่นทำเข้ามาในตัวเรา เหมือนกับการส่องกระจกเห็นตัวเราเอง
ต่อมาภายหลังมีการค้นพบว่า สมองอีกหลายต่อหลายส่วนทำงานแบบเดียวกันนี้ ทำให้เรามีความรู้สึก ‘คิดถึงคนอื่น’ หรือ ‘พยายามทำความเข้าใจคนอื่น’ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ แม้แต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้เพราะเซลล์ประสาทกระจกเหล่านี้ทำงานนั่นเอง
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เวลาเราดูหนังแล้วเห็นตัวละครถูกตีหัว เราอาจรู้สึกหวาดเสียว นั่นก็คือการทำงานแบบเดียวกันนี้ หรือยกตัวอย่างให้ง่ายขึ้นไปอีก ก็คือเวลาเราเห็นคนกินของเปรี้ยว เราจะรู้สึกเข็ดฟันไปด้วยทั้งที่เราไม่ได้กินของเหล่านั้นเลย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้นี่เองที่คือเรื่องของ Empathy โดยเฉพาะเมื่อเราให้ความหมายของ Empathy ว่าคือการ ‘เข้าใจลึกเข้าไปในคนอื่น’
ดังนั้น ในโลกแห่งอนาคต ทั้ง Emotional Intelligence และ Empathy จึงจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
มนุษย์ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความเข้าอกเข้าใจกัน
ซึ่งนับวันก็จะหายากมากขึ้นเรื่อยๆ